Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ไหว้ครูหมอหนังตะลุงป่าตอง PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 10 สิงหาคม 2009

ไหว้ครูหมอหนังตะลุงป่าตอง

 

อรุณรัตน์  สรรเพ็ชร : นักวิชาการพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต

2539

 

การเกิดขึ้นของพิธีกรรมไหว้ครูหมอหนังตะลุง บ้านโคกขาม ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ตอนแรกเกิดจากความเชื่อใน รูปหนัง ก่อน ดังที่ อุดม  หนูทอง (๒๕๓๓ : ๔๒-๔๒) ได้กล่าวถึง ความเชื่อเกี่ยวกับรูปหนังไว้ว่า รูปหนังตะลุงจะมีอำนาจลี้ลับสิงอยู่ โดยเฉพาะรูปหนังที่ใช้ประกอบพิธีกรรมจะขลังมาก ซึ่งได้แก่  รูปฤๅษีหน้าน้ำ ฤๅษีหน้าไฟ พระราม ทศกัณฐ์ ปราย หน้าบท เจ้าเมือง เทวดา และตัวตลกบางตัว เช่น เณรพอน เปลือย และสีแก้ว รูปเหล่านี้สังเกตได้ง่าย คือ มีผ้าแดงบ้าง ขาวบ้าง ด้ายสายสิญจน์บ้าง พันเอวไว้และบางตัวมีขี้เทียนติดกรัง


          ความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของรูปหนังไม่ได้มีเฉพาะนายหนังเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนในครอบครัวและชาวบ้านโดยทั่วไปด้วย   จากความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้เกิดพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงตามมา จุดประสงค์ของการทำพิธีที่สำคัญ คือ เพื่อบูชาครูและเพื่อแสดงความกตัญญูต่อวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วรวมทั้งเป็นการรวมญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกลให้มาพบกันและยังเป็นการแก้บนของบรรดาลูกหลานและคนทั่วไปที่นับถือครูหมอหนังตะลุงที่ได้บนบานเอาไว้

          ผลของการไม่ปฏิบัติ มีความเชื่อกันว่าชีวิตและครอบครัวจะไม่สงบสุข มีวิญญาณมาปรากฏให้เห็นอยู่เสมอๆ หรือจะเจ็บป่วยไม่มีสาเหตุ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ถูกของ นั่นเอง


 
องค์ประกอบของพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุง


 พิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงบ้านโคกขาม ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีองค์ประกอบของการทำพิธีดังต่อไปนี้


 ๑. คนทรง ร่างทรง หรือม้าทรง เป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของตัวละครต่างๆ ที่มาร่วมพิธี คนที่เป็นร่างทรงส่วนใหญ่มักเป็นลูกหลานและเครือญาติของผู้จัดพิธีไหว้ครู หรืออาจเป็นผู้ที่มีความเคารพศรัทธาในพิธีไหว้ครู ซึ่งร่างทรงไม่จำกัดว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายรวมทั้งไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้เน้นเอาความเชื่อและความศรัทธาเป็นสำคัญ


 ๒. ตัวละครที่มาเข้าทรง การประกอบพิธีต้องมีการเชื้อ (เชิญ) ตัวละคร (รูปหนัง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ เช่น พระราม พระลักษณ์ นางสีดา นางมณโฑ ฤๅษี ลิงดำ ลิงขาว เทวดา ทศกัณฐ์ พิราพหน้าไฟ พิราพหน้าทอง พิราพป่า พิเภก มารีศ หนุมาน อินทรชิต สุครีพ ท้าวทศรถ และนนทุก เป็นต้น


 ๓. ระยะเวลาของการทำพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุง พิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงจะประกอบพิธีในวันพฤหัสบดีแรกของเดือน ๓ ทุกๆ ๓ ปี ถ้าวันพฤหัสบดีไหนตรงกับวันพระจะไม่ประกอบพิธีก็เลื่อนไปประกอบพฤหัสบดีถัดไป


 การประกอบพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงกำหนดให้อยู่ในระยะเวลา ๒ คืน โดยคืนแรก เป็นการเตรียมของใช้เครื่องบูชาสังเวย เซ่นสรวงเพื่อถวายให้ครูหมอหนังแต่ละตัวที่มาร่วมพิธี


 พิธีในคืนแรกมีการเชื้อ (เชิญ) ท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าในการควบคุมดูแลงานพิธีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย การเชื้อ (เชิญ) ท้าวเวสสุวรรณประทับร่างทรงก็เพื่อให้มาตรวจดูความเรียบร้อยของการเตรียมงาน ถ้ามีสิ่งใดขาดตกบกพร่องทำให้ท้าวเวสสุวรรณไม่พอใจจะได้แก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง สำหรับการประกอบพิธีในคืนที่สองจะประกอบพิธีบนโรงหนัง  ในคืนแรกจะประกอบพิธีบนบ้าน


 ๔. โรงพิธีหรือโรงครู โรงที่ใช้สำหรับประกอบพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงมีลักษณะเหมือนกับโรงหนังตะลุงโดยทั่วไปทุกประการกล่าวคือ มีการปลูกเสายกขึ้นสูงจากพื้นพอประมาณมีหลังคา มีจอหนัง กล่าวได้ว่าโรงพิธี คือ โรงหนังนั่นเอง ขนาดของโรงพิธีไม่จำกัด ขนาดขึ้นอยู่กับจำนวนของร่างทรง เพราะในคืนแรกจะมีการเล่นหนังตะลุงของนายหนังเพื่อแก้เหมย (แก้บน) และในคืนที่สองเมื่อหนังตะลุงเลิกเล่นแล้วจึงใช้โรงหนังเป็นโรงพิธี โดยยกจอหนังตลบขึ้นไปไว้บนเพดานหลังคาโรง ส่วนพื้นโรงพิธีปูด้วยผ้าขาวไว้สำหรับวางอุปกรณ์ในการประกอบพิธีและเครื่องเซ่นสรวงบูชา เช่น แป้ง น้ำหอม วางไว้หน้าร่างทรง เป็นต้น ส่วนผลไม้จะแขวนไว้ตรงกลางโรงพิธี


 ๕. อุปกรณ์ในการประกอบพิธี  คืนที่สองของการประกอบพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุง มีการตั้งภูมิขึ้น ๒ ที่ เป็นการตั้งภูมิที่ประกอบขึ้นมาง่ายๆ โดยยกเสาไม้ขึ้น ๓ เสา ส่วนเครื่องบูชาที่วางไว้ในการตั้งภูมิประกอบด้วยข้าว ยำ แกงปลา ของหวาน ขนม อ้อย ถั่วและงา ของเหล่านี้บรรจุไว้ในกระทงทำด้วยใบมะพร้าว มีธงสีแดงเล็กๆ ปักอยู่รอบๆกระทง การตั้งภูมิจะตั้งด้านหน้าทางซ้ายของโรงพิธีห่างจากโรงพิธีพอประมาณ นอกจากการตั้งภูมิแล้ว อุปกรณ์ในการประกอบพิธี ได้แก่ สายสิญจน์ หม้อน้ำมนต์ หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ ทราย ข้าวสาร ไม้เท้า มีดหมอ และผ้าขาว


 ๖. เครื่องบูชาหรือเครื่องสังเวยเซ่นสรวง สำหรับถวายตัวละครที่ประทับร่างทรงบนโรงพิธีประกอบด้วย บายศรี ๙ ชั้น (สำหรับไหว้ครู) บายศรีปากชาม หัวหมู มะพร้าวอ่อน สมุนไพร หนังสือบุด พานดอกไม้ หมากพลู ธูปเทียน สุราขาว สุราแดง ดอกไม้ (ยกเว้นดอกรัก) กระดานชนวน (สำหรับบูชาตัวละครพิเภก) ไข่ต้ม (สำหรับบูชาตัวตลกเปลือยสีแก้วและเณรพอน) ด้าย กระจก หวี (สำหรับบูชานางสีดาและนางมณโฑ) ผลไม้ต่างๆ ที่มีในฤดูกาล (สำหรับบูชาลิงดำลิงขาว) เช่น แตงโม สับปะรด ส้มเขียวหวาน เป็นต้น ขนมโค ขนมต้ม ขนมชั้น น้ำ ผัก และแกง ของบูชาเหล่านี้ไม่ได้ถูกกำหนดจำนวนว่าแต่ละอย่างจะมีเท่าใด และเป็นที่น่าสังเกตว่าเครื่องบูชาหรือเครื่องสังเวยเซ่นสรวงเหล่านี้ ส่วนใหญ่เกิดจากความเชื่อว่าตัวละครในหนังตะลุงแต่ละตัวมีความชอบอะไรเป็นพิเศษ เช่น ลิงดำลิงขาวชอบผลไม้ นางสีดาและนางมณโฑชอบแป้ง น้ำหอม หวีและกระจก ส่วนเปลือย สีแก้วและเณรพอนชอบไข่เป็ดต้มและสุรา เป็นต้น เครื่องบูชาหรือเครื่องสังเวยเซ่นสรวงจะจัดไว้ข้างหน้าด้านขวาและด้านซ้ายของโรงพิธี โดยแบ่งเป็นฝ่ายพระรามด้านขวาและฝ่ายทศกัณฐ์ด้านซ้าย


 ๗. เครื่องดนตรี เหมือนกับการแสดงหนังตะลุงโดยทั่วไป ได้แก่ ทับหน้าเดียว ๒ ใบ กลองขนาดเล็กสองหน้า ตั้งตีเพียงหน้าเดียวด้วยไม้ ๒ อัน ฆ้องนิ้งหน่องสองเต้า ๑ ชุด ฉิ่งฉับ ๑ คู่ และปี่ชวา ๑ เลา (ปัจจุบันเลิกใช้เพราะไม่มีผู้เป่าปี่ชวา)


 สำหรับเพลงที่มีความจำเป็นต้องใช้ในพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงนั้น สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์และประสิทธิ  ชิณการณ์ (๒๕๓๑ : ๓) กล่าวไว้ว่า


 เพลงเชิญครู สำหรับพิธีในวันไหว้ครูประจำปีโดยเฉพาะนักดนตรีจะใช้เพลงเชิญครู เป็นเพลงโหมโรงคั่นรายการขบวนเพลงต่างๆ ด้วย


 ๘. เครื่องแต่งตัวของร่างทรง ในอดีตร่างทรงจะไม่มีพิถีพิถันเรื่องเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ปัจจุบันร่างทรงทุกคนทั้งผู้หญิงผู้ชายต้องสวมใส่ชุดขาว ผู้หญิงใส่เสื้อสีขาวนุ่งกางเกงหรือผ้าถุงสีขาว พาดสไบสีขาว ส่วนผู้ชายใส่เสื้อสีขาวและนุ่งกางเกงสีขาว เช่นเดียวกัน
 
ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม
 คืนแรกประกอบพิธีกรรมในบ้าน
๑.     ผู้ประกอบพิธีกรรมจัดหิ้งบูชาครูเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น
๒.     ลูกหลานเครือญาติครูหมอหนังตะลุงและผู้เข้าร่วมพิธีกรรมนุ่งห่มชุดขาว นั่งเป็นแถวพร้อมกันหน้าหิ้งบูชาครู
๓.     เริ่มประกอบพิธีกรรมด้วยการสวดมนต์ทำวัตรเย็นจนจบ แล้วต่อด้วยการสวดคาถาชินบัญชรจนจบและสวดอิมินา (กรวดน้ำ)
๔.     ผู้นำในการประกอบพิธีกรรมประทับทรงในร่างของฤๅษีตาไฟ มาเพื่อตรวจพิธีการและเปิดโอกาสให้ลูกหลานซักถามปัญหาและข้อบกพร่องในการจัดพิธี
๕.     ร่างทรงลา (ออก) พิธีกรรมคืนแรกเสร็จสิ้นเวลาประมาณ ๒๓.๐๐ น.
     คืนที่ ๒ ประกอบพิธีบนโรงครู


 หนังตะลุงเริ่มแสดงเพื่อแก้บน เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. หนังตะลุงหยุดแสดงและเริ่มประกอบพิธีกรรม ดังนี้
        ๑.     ผู้ร่วมประกอบพิธีช่วยกันแกะจอหนังตะลุงออกจากโรง แล้วตลบจอขึ้นไปขึงบนเพดานหลังคาโรงครู ซึ่งบนโรง ครูมีผลไม้แขวนอยู่หลายชนิด เช่น กล้วย ส้ม องุ่น เป็นต้น
        ๒.     ปูผ้าขาวที่พื้นโรงครูเพื่อวางของเซ่นไหว้บวงสรวง
        ๓.     ผู้ร่วมพิธีเริ่มขนบายศรีใหญ่ ๙ ชั้น (บายศรีไหว้ครู) บายศรีปากชามแจกันดอกไม้ ผลไม้ หัวหมู ๒ หัว (เป็นของ เจ้าบ้านที่ให้สถานที่ประกอบพิธีเท่านั้น) มะพร้าวอ่อน หินบดยาสมุนไพร หนังสือบุด พานดอกไม้ พานหมาก  พลู ไม้เท้า ธูปเทียน สายสิญจน์ หม้อน้ำมนต์ มีดหมอ เทียนเรือหงส์ เหล้าขาว น้ำมันงา กระดานชนวน พรม 
                    น้ำดื่ม ไข่ไก่ อาหารคาวหวาน ของทั้งหมดจัด  เป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา
        ๔.     ผู้ร่วมประกอบพิธีขึ้นไปนั่งบนโรงครู จากนั้นผู้นำเริ่มประกอบพิธีด้วยการสวดมนต์ร่วมกัน และเริ่มเชื้อเชิญตัว ละครให้มาประทับร่างทรง โดยการขับกลอนประกอบดนตรี
        ๕.     เริ่มมีตัวละครมาประทับร่างทรง เช่น ท้าวสนธยา เจ้าแม่สุชาดา นางสีดา พิราพ หน้าไฟ ท้าวเขี้ยวแก้ว พิราพหน้าทอง  เป็นต้น
        ๖.     จะมีการเชื้อเชิญตัวละครให้มาประทับร่างทรงไปเรื่อยๆ สลับกับการถวายของแก้บน และมีการรักษาอาการเจ็บป่วยกับร่างทรงบางคนด้วย
        ๗.     เมื่อตัวละครมาประทับร่างทรงครบทุกองค์แล้ว ลำดับสุดท้ายที่จะมาประทับร่างทรงเพื่อเป็นการอำลาคือ ฤๅษี  การไหว้ครูหมอหนังตะลุงก็เป็นอันเสร็จพิธี
       
พิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงบ้านโคกขาม ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ในอดีตจัดในเดือน ๓ ของทุกๆปี ปัจจุบันจัดในเดือน ๓ ของทุกๆ ๓ ปี และในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะจัดให้มีพิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงทุกๆ ๖ ปี ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ ภารกิจของคนที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมมีมากขึ้นตามยุคของโลกาภิวัฒน์ เครือญาติและลูกหลานย้ายออกไปทำมาหากินต่างฐิ่นมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่สุดเห็นจะ ไดแก่ ความเข้มข้นของความเชื่อและความศรัทธาในพิธีกรรมลดน้อยลงจากเดิมมาก


 พิธีไหว้ครูหมอหนังตะลุงบ้านโคกขาม เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นมานาน และมีการประกอบพิธีผ่านมาหลายช่วงอายุคน มีการรับช่วงสืบทอดปฏิบัติต่อเนื่องกันโดยตลอด เป็นสิ่งที่ลูกหลานของครูหมอหนังตะลุงทุกคนถือเป็นพันธกิจที่พึงกระทำเพื่อแสดงถึงความมีกตัญญุตาต่อวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งองค์ประกอบของพิธีกรรมนี้อาจปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างไปบ้างตามกาลเวลาเพื่อความสะดวก และเหมาะสม อันทำให้พิธีกรรมนี้มีบทบาทที่จะรับใช้สังคมต่อไป

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 11 สิงหาคม 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้605
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1233
mod_vvisit_counterทั้งหมด10681942