ได้ทราบวงษ์ตระกูลเมืองไทรบุรีว่า พระองคมหาวังษา (๑) มาแต่เมืองโรม เปนผู้ตั้งเมือง เดิมเรียกว่า เมืองเกดะ คือ เมืองไทรบุรี เกดะนั้นเปนภาษาแขกอาหรับ แปลว่า จานดอกไม้ ที่ตั้งเมืองนั้นเรียกว่า ลังกาซูก อยู่ทิศเหนือกวาลามุดา พระองค์มหาวังษามีบุตรชาย ๑ ชื่อ พระองค์มหาโพธิสัตว์ (๒) พระองค์มหาโพธิสัตว์นี้ พระองค์มหาวังษา ผู้เปนบิดา ยกให้เปนเจ้าเมืองแทน แล้วพระองค์มหาวังษาก็กลับไปเมืองโรม พระองค์มหาโพธิสัตว์นั้นมีบุตรชาย ๓ บุตรหญิง ๑ รวม ๔ คน ชื่อปรากฎแต่บุตรชายที่ ๓ เรียกว่า พระศรีมหาวังษา ๑ (๓) พระศรีมหาวังษาได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี ตั้งเมืองอยู่ที่สะรูดำ ทิศเหนือกวาลามุดา พระศรีมหาวังษามีบุตรชายชื่อ พระศรีมหาอินทรวังษา ๑ (๔) พระศรีมหาอินทรวังษาได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี ตั้งเมืองอยู่ที่กลางอมัดกวาลามุดา พระศรีมหาอินทรวังษามีบุตรชายชื่อ พระองค์มหายาดดาหรา (๕) พระองค์มหายาดดาหราได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี ตั้งเมืองอยู่ที่โคตาโอร์กวาลามุดา พระองค์มหายาดดาหรามีบุตรชายชื่อ พระองค์มหาโพธิสัตว์ (๖) พระองค์มหาโพธิสัตว์ได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี ตั้งเมืองอยู่ที่โคตาโอร์กวาลามุดา พระองค์มหาโพธิสัตว์มีบุตรชายชื่อ พระองค์มหาวังษา (๗) ลำดับวงษ์ตระกูลเจ้าเมืองไทรบุรีตั้งแต่ที่ ๑ มาถึงที่ ๖ นี้ ถือพระพุทธสาสนา ที่ฝังศพหามีไม่
ลำดับวงษ์ตระกูลเจ้าเมืองไทรบุรีตั้งแต่องค์ที่ ๗ ตลอดมา ถือสาสนามหะมัด มีที่ฝังศพ เรียกว่า บาระหุม
ที่ ๗ พระองค์มหาวังษา ได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เปลี่ยนเปนธรรมเนียมอิศลาม ถือสาสนามหะมัด เปลี่ยนชื่อเรียกว่า สุลต่านมูนฟานซะ ตั้งเมืองอยู่ที่ปากน้ำกวาลามุดา สุลต่านมูนฟานซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูมูอัดลำซะ ๑ ตนกูมหะมัดซะ ๑ ตนกูสุไลยมานซะ ๑ รวม ๓ คน
ที่ ๘ ตนกูมูอัดลำซะ ได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกชื่อว่า สุลต่านมูอัดลำซะ น้องชายชื่อ ตนกูมะหมุดซะ เปนรายามุดา ตั้งเมืองอยู่ที่คลองเกดะใหม่ แต่น้องที่ ๓ ชื่อ ตนกูสุไลยมานซะ นั้น ได้เปนพระยาอยู่ที่ปูเลาลังกาวี คือ เกาะนางกาวี ขึ้นแก่เมืองไทรบุรี สุลต่านมูอัดลำซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูมหะมัดซะ ๑
ที่ ๙ ตนกูมหะมัดซะได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกชื่อว่า สุลต่านมหะมัดซะ ตั้งเมืองอยู่ที่คลองเกดะใหม่ สุลต่านมหะมัดซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูมันโลซะ ๑
ที่ ๑๐ ตนกูมันโลซะได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกชื่อว่า สุลต่านมันโลซะ ตั้งเมืองอยู่ที่คลองเกดะใหม่ สุลต่านมันโลซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูมหะมุดซะ ๑
ที่ ๑๑ ตนกูมหะมุดซะได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านมหะมุดซะ ตั้งเมืองอยู่ที่คลองเกดะใหม่ สุลต่านมหะมุดซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูสุไลยมันซะ ๑
ที่ ๑๒ ตนกูสุไลยมันซะได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกชื่อว่า สุลต่านสุไลยมันซะ ตั้งเมืองอยู่ที่สปูเตะ มีบุตรชายชื่อ ตนกูรายาอุดินมหะมัดซะ ๑ เจ้าเมืองอาแจยกทัพมาตีเมืองไทรบุรีแตก เจ้าเมืองอาแจจับสุลต่านสุไลยมันซะได้ พาไปไว้เมืองอาแจ แต่ตนกูรายาอุดินมหะมัดซะหนีได้ สุลต่านสุไลยมันซะถึงแก่กรรมที่เมืองอาแจ ยกชื่อศพว่า บาระหุมสะปูเตะ
ที่ ๑๓ ตนกูรายาอุดินมหะมัดซะได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านรายาอุดินมหะมัดซะ ตั้งเมืองอยู่ที่นาคอ สุลต่านรายาอุดินมหะมัดซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูมหัยยิตดินมันโซร์ซะ ๑ สุลต่านรายาอุดินมหะมัดซะถึงแก่กรรม ยกชื่อศพว่า บาระหุมนาคอ
ที่ ๑๔ ตนกูมหัยยิตดินมันโซร์ซะได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านมหัยยิตดินมันโซร์ซะ ตั้งเมืองอยู่บ้านนาสา แขวงเมืองปลิศ สุลต่านมหัยยิตดินมันโซร์ซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูลิยาอุดินมัดรำซะ ๑
ที่ ๑๕ ตนกูลิยาอุดินมัดรำซะได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านลิยาอุดินมัดรำซะ ตั้งอยู่เมืองเดิม สุลต่านลิยาอุดินมัดรำซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูอะตาอินลามหะมัดซะ ๑ ตนกูอะมัดตายุดินมัดรำซะ ๑ สุลต่านลิยาอุดินมัดรำซะถึงแก่กรรม ยกศพชื่อว่า บาระหุมกาบะลี
ที่ ๑๖ ตนกูอะตาอินลามหะมัดซะ ได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านอะตาอินลามหะมัดซะ ตั้งเมืองอยู่ปูเลาปินัง คือ เกาะหมาก สุลต่านอะตาอินลามหะมัดซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูมหะมัดยิหวา ๑ สุลต่านอะตาอินลามหะมัดซะถึงแก่กรรม ยกศพชื่อว่า บาระหุมปูเลาปินัง
ที่ ๑๗ ตนกูอมัดตายุดินมัดรำซะ ผู้น้องสุลต่านอะตาอินลามหะมัดซะ ได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านอะมัดตายุดินมัดรำซะ ตั้งเมืองอยู่ที่ปุเลาลิบง คือ เกาะลิบง บุตรไม่ปรากฎ สุลต่านอะมัดตายุดินมัดรำซะถึงแก่กรรม ยกศพชื่อว่า บาระหุมลิบง
ที่ ๑๘ ตนกูมหะมัดยิหวา บุตรสุลต่านอะตาอินลามหะมัดซะ ได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านมหะมัดยิหวากัยนันอาดิลินมูอัดลำซะ ตั้งเมืองอยู่ที่กายัง เมืองปลิศ แล้วมาตั้งอยู่ที่กอตาสตาอิก สุลต่านมหะมัดยิหวากัยนันอาดิลินมูอัดลำซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูอัปดลลา ๑ ตนกูลิยาอุดิน ๑ สองคน สุลต่านมหะมัดยิหวากัยนันอาดิลินมูอัดลำซะถึงแก่กรรม ยกศพชื่อว่า บาระหุมกาหยัง
ที่ ๑๙ ตนกูอัปดลลาได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านอัปดลลามัดรำซะ ตั้งเมืองอยู่ที่ปากน้ำคลองเกดะ เรียกว่า โกสะต ตนกูลิยาอุดิน ผู้น้อง เปนรายามุดา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองปลิศ สุลต่านอัปดลลามัดรำซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูยาหรา[วซ 1] ตนกูปะแงหรัน[วซ 2] ตนกูปัศนู[วซ 3] ตนกูปเหม[วซ 4] ตนกูสะเลหมัน[วซ 5] ตนกูซู ตนกูโดด[วซ 6] ตนกูม่อม ตนกูอามัด[วซ 7] ตนกูยะโส[วซ 8] รวม ๑๐ คน สุลต่านอัปดลลามัดรำซะถึงแก่กรรม ยกชื่อศพว่า บาระหุมมุเกจปินัง
ที่ ๒๐ ตนกูลิยาอุดิน รายามุดา ได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านลิยาอุดินมูอัดรำซะ[วซ 9] บุตรไม่ปรากฎ สุลต่านลิยาอุดินมูอัดรำซะถึงแก่กรรม ยกศพชื่อว่า บาระหุมปลิศ
ที่ ๒๑ ตนกูปะแงหรัน บุตรสุลต่านอัปดลลามัดรำซะ (๑๙) ได้เปนเจ้าเมืองไทรบุรี เรียกว่า สุลต่านอะหมัดตายุดินฮาเลมซะ[วซ 10] ตั้งเมืองอยู่ปากน้ำเมืองเกดะ ตนกูปราเหม[วซ 4] ได้เปนรายามุดา[วซ 11] ตนกูปัศนู[วซ 3] ได้เปนเจ้าเมืองสตูน สุลต่านอะหะมัดตายุดินฮาเลมซะมีบุตรชายชื่อ ตนกูอัปดลลา[วซ 12] ตนกูยากป[วซ 13] ตนกูไซนาระชิด[วซ 14] ไทยเรียกว่า ตนกูคาวี ๓ คน รายามุดาป่วยถึงแก่กรรมณะเมืองไทรบุรี พระยาไทรบุรีนั้น โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศเปนเจ้าพระยาไทรบุรี
ณปีมะเสง เบญจศก ศักราช ๑๑๙๕ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตนกูม่อม น้องเจ้าพระยาไทรบุรี มาฟ้องต่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราช[วซ 15] ว่า เจ้าพระยาไทรบุรีเปนใจด้วยพม่า เจ้าพระยาไทรบุรีทราบความแล้วแขงเมือง ถึงกำหนดปีไม่ส่งต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ จึงโปรดเกล้าฯ เกณฑ์กองทัพหัวเมืองให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเปนแม่ทัพยกไปตีเมืองไทรบุรี เจ้าพระยาไทรบุรีแตกหนีไปอยู่เมืองมะลากา โปรดเกล้าฯ ให้พระบริรักษ์ภูเบศร์ บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ไปเปนพระยาไทรบุรี (๒๒)
นายนุด มหาดเล็ก บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เปนพระเสนานุชิต ผู้ช่วยราชการ อยู่ได้ประมาณ ๒–๓ ปี ณะปีวอก อัฐศก ศักราช ๑๑๙๘ ตนกูเดน บุตรตนกูราหยา[วซ 1] พี่เจ้าพระยาไทรบุรีปะแงหรันแต่ต่างมารดากัน มาเกลี้ยกล่อมพวกแขกเมืองไทรบุรีกำเริบขึ้น แล้วเข้าตีเมืองไทรบุรี โปรดให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายใต้ยกไปช่วยพระยาไทรบุรีรบตนกูเดน ๆ ตายแล้ว กองทัพแขกพวกตนกูเดนหนีไปเมืองมะลากา ณะปีจอ สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๐๐ ตนกูมัดสาอัด บุตรตนกูโดดด[วซ 6] น้องเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงหรัน แต่ต่างมารดากัน กับหวันมาลี มาเกลี้ยกล่อมแขกเกาะนางกาวีแลแขกในเมืองไทรบุรีเข้าด้วย แล้วรบชิงเอาเมืองไทรบุรีได้ พระยาไทรบุรีบอกมายังเมืองนครศรีธรรมราช ๆ บอกส่งเข้ามาณะกรุงเทพฯ แต่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช[วซ 15] ป่วย ไปไม่ได้ จึงให้พระวิชิตสรไกรยกกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชกับกองทัพหัวเมืองไปช่วยพระยาไทรบุรี พระยาเสนานุชิตยังรบสู้กันอยู่ ณะปีกุน เอกศก ๑๒๐๑ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชกับพระยาศรีพิพัฒน์เปนแม่ทัพยกกองทัพกรุงเทพฯ ออกไปถึงเมืองสงขลา แล้วทราบข่าวไปถึงเมืองไทรบุรี ตนกูมัดสาอัด หวันมาลี ออกจากเมืองไทรบุรีหนีไป เจ้าพระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ ก็หยุดทัพฟังราชการอยู่ณะเมืองสงขลา ภายหลัง เจ้าพระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ จึงได้แบ่งกองทัพยกขึ้นไปจัดการเมืองไทรบุรี เห็นว่า พระยาไทรบุรี พระเสนานุชิต เปนไทย จะให้รักษาเมืองไทรบุรีต่อไป บุตรหลานเจ้าพระยาไทรบุรีก็จะมารบกวนย่ำยีแก่บ้านเมืองอิก จึงแยกแขวงอำเภอเมืองไทรบุรีออกเปน ๑๒ มุเกม[วซ 16] ตั้งตนกูอาสันเปนเจ้าเมืองกะปังปาสู[วซ 17] เมือง ๑ ตั้งเสศอุเซนเปนเจ้าเมืองปลิศ[วซ 18] เมือง ๑ ตั้งตนกูมัดอาเก็บ[วซ 19] เปนเจ้าเมืองสตูนเมือง ๑ ให้อยู่ใต้บังคับเมืองนครศรีธรรมราช เปน ๔ เมืองทั้งเมืองไทรบุรี ตนกูอาหนุ่ม[วซ 20] ซึ่งไพร่บ้านพลเมืองรักใคร่นับถือนั้น ให้ว่าราชการเมืองไทรบุรี (๒๓)
เจ้าพระยายมราช พระยาศรีพิพัฒน์ จึงพาพระยาไทรบุรี พระเสนานุชิต กลับมาณะกรุงเทพฯ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แล้วโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระยาไทรบุรีเปนพระยาบริรักษ์ภูธร ผู้สำเร็จราชการเมืองพังงา ตั้งพระเสนานุชิตเปนผู้ช่วยราชการตามสร้อยชื่อเดิม
เมื่อพระยศภักดี ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระเสนานุชิตเปนพระยาเสนานุชิต ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า
ณะปีฉลู ตรีศก ศักราช ๑๒๐๓ เจ้าพระยาไทรบุรีปะแงหรันแต่งให้ตนกูดาอิ[วซ 21] ผู้บุตร ตนกูมัดอาเก็บ[วซ 19] ผู้หลาน ถือหนังสืออ่อนน้อมมายังเมืองนครศรีธรรมราชฉบับ ๑ เมืองสงขลาฉบับ ๑ เจ้าพระยาไทรบุรีสารภาพรับผิด ขอพาบุตรหลานเข้ามาทำราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ณะเมืองไทรบุรีตามเดิม เจ้าพระยานครศรีธรรมราช[วซ 22] พระยาสงขลา บอกส่งหนังสือเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงหรันเข้ามาณะกรุงเทพฯ
ครั้นนำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระยาสงขลา มีหนังสือตอบให้ตนกูดาอิ ตนกูมัดอาเก็บ ถือกลับไปให้เจ้าพระยาไทรบุรีว่า ได้ส่งหนังสือเจ้าพระยาไทรบุรีเข้ามาณะกรุงเทพฯ ท่านเสนาบดีปฤกษาเห็นว่า เจ้าพระยาไทรบุรีทำความผิดต่อแผ่นดิน รู้สึกโทษ ส่งแต่หนังสือมาอ่อนน้อม ไม่แต่งบุตรหลานเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทรับผิดนั้น ไม่ควรนำหนังสือเจ้าพระยาไทรบุรีขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แล้วเจ้าพระยาไทรบุรีจึงมีหนังสือแต่งให้ตนกูดาอิ ตนกูอาเก็บ นายไพร่ ๑๓ คน มาด้วยเรือจินดากองแก้วทางเมืองสิงคโปร์ถึงกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ มีท้องตราตอบยกพระราชทานโทษ ให้เจ้าพระยาไทรบุรีพาบุตรหลานมาอยู่เมืองไทรบุรีตามเดิม
เมื่อเจ้าพระยาไทรบุรีพาบุตรหลานมาถึงเมืองไทรบุรีแล้ว โปรดเกล้าฯ มีท้องตราพระคชสีห์ออกไปถึงเจ้าพระยาไทรบุรียกพระราชทานโทษเจ้าพระยาไทรบุรีทั้งบุตรหลาน มอบเมืองไทรบุรีให้แก่เจ้าพระยาไทรบุรี ตั้งตนกูอัปดลลา[วซ 12] เปนรายามุดา[วซ 11] ตั้งตนกูดาอิ[วซ 21] เปนพระอินทรวิไชย ครั้งนั้น พระยากะปังปาสูถึงแก่กรรม จึงตั้งตนกูอาหนุ่ม[วซ 20] ซึ่งว่าราชการเมืองไทรบุรีนั้น เปนพระยากะปังปาสู ตั้งตนกูมัด บุตรพระยากะปังปาสู เปนพระวิเสศวังษา ผู้ช่วยราชการ อยู่ได้ ๒ ปี เจ้าพระยาไทรบุรีกับรายามุดาถึงแก่กรรม บุตรหลาน ศรีตวันกรมการ เรียกชื่อศพเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงหรันว่า บารหุมอะโลสตา
ณปีมโรง ฉศก ศักราช ๑๒๐๖ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงพาตนกูดาอิ[วซ 21] ผู้เป็นพระอินทรวิไชย เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระอินทรวิไชยเปนพระยาไทรบุรี (๒๔)
พระราชทานเครื่องยศพานทอง ตั้งตนกูสาอิด บุตรตนกูยาโกบ[วซ 13] เปนรายามุดา[วซ 11] พระราชทานเครื่องยศครอบทอง ตั้งตนกูปราเฮม[วซ 4] บุตรพระยาอภัยนุราช เปนพระยาอินทรวิไชย พระราชทานเครื่องยศครอบทอง พระยาไทรบุรีดาอิมีบุตรชายชื่อ ตนกูอามัด[วซ 23] ตนกูเดน ตนกูยาโกบ[วซ 24] ตนกูยุโสะ[วซ 25] รวม ๔ คน ณปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาไทรบุรีดาอิถึงอาสัญกรรม บุตรหลาน ศรีตวันกรมการ เรียกชื่อศพพระยาไทรบุรีดาอิว่า บารหุมไซนาระชิต
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุลศักราช ๑๒๑๗ ปีเถาะ สัปตศก เจ้าพระยานครศรีธรรมราชพาตนกูอามัด ตนกูเดน เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูอามัดเปนพระยาไทรบุรี (๒๕)
พระราชทานเครื่องยศพานทอง ตั้งตนกูเดนเปนพระเกไดสวรินทร์ ผู้ช่วยราชการ พระราชทานเครื่องยศครอบทอง ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบมา ณปีมเมีย สัมฤทธิศก พระยาไทรบุรีพาตนกูยาโกบเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท โปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูยาโกบเปนพระชลสินธุสงครามไชย ผู้ช่วยราชการ พระราชทานเครื่องยศครอบทอง
ณปีมแม เอกศก พระยากะปังปาสู[วซ 26] ถึงแก่กรรม พระยาไทรบุรี[วซ 23] เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเมืองกะปังปาสูให้รวมเข้าอยู่ในเมืองไทรบุรีตามเดิม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองกะปังปาสูพระราชทานพระยาไทรบุรี ต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ ก็เพิ่มเข้าในเมืองไทรบุรีต่อมา แต่พระยาไทรบุรีผู้นี้เปนผู้เข้าออกในกรุงเทพฯ เนือง ๆ เหมือนกับผู้สำเร็จราชการหัวเมืองไทย โดยสานเรือกลไฟมาทางเมืองสิงคโปร์บ้าง เดินมาลงเรือณเมืองสงขลาบ้าง โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไทรบุรีเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเหมือนขุนนางไทยทุกครั้ง เปนการคุ้นเคยสนิทต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท
ณปีจอ จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๒๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์พร้อมด้วยท่านเสนาบดีเห็นว่า ระยะทางแต่เมืองสงขลาไปเมืองไทรบุรีควรทำให้เปนทางหลวง ราษฎรลูกค้าจะได้ไปมาง่าย มีราชการสิ่งใดเกิดขึ้นจะได้เดินไปมาทันราชการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขอแรงไพร่แขกเมืองไทรบุรี เมืองปลิศ เมืองสตูน ให้พระยาไทรบุรีทำทางแต่เมืองไทรบุรีมาถึงพรมแดนเมืองสงขลา พระราชทานเงินอากรรังนกเมืองสตูนให้พระยาไทรบุรีใช้สอยในการทำทาง ๓ ปี เปนเงิน ๑๕๐๐๐ เหรียญ ฝ่ายเมืองสงขลาขอแรงไพร่เมืองสงขลา ยกส่วยตั้งแต่ปีจอ จัตวาศก ไป ๓ ปี แลให้ขอแรงไพร่เมืองแขกซึ่งขึ้นแก่เมืองสงขลา ให้เจ้าพระยาสงขลาทำทางแต่เมืองสงขลาไปถึงพรมแดนเมืองไทรบุรีประจบกัน มีสพานข้ามคลองทั้งสองฝ่าย ให้ไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าวานิชเดินไปมาสดวก
ครั้นณวันเสาร์ ขึ้นห้าค่ำ เดือนยี่ ปีมแม ตรีศก ศักราช ๑๒๓๓[วซ 27] ในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทางชลมารคด้วยเรือกลไฟชื่อ บางกอก เปนเรือพระที่นั่ง เรือรบชื่อ สยามูประสดัมภ์ เรือรบชื่อ พิทยัมรณยุทธ เปนเรือตามเสด็จในกระบวน ไปประพาศเมืองสิงคโปร์ เมืองเกาะหมาก เมืองรางงูน เมืองกาลักตา แลเมืองอื่น ๆ ในประเทศอินเดีย[วซ 28] ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับมา ได้เสด็จประพาศเมืองพังงา เมืองภูเก็จ แล้วเรือพระที่นั่งมาทอดปากน้ำเมืองไทรบุรี พระยาไทรบุรีรับเสด็จประพาศเมืองไทรบุรี แลพระยาไทรบุรีกับพี่น้องจัดที่ถวายเปนที่ประทับ แล้วเลี้ยงดูข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั่วกัน ทรงประทับแรมราตรีหนึ่ง แล้วเสด็จทางสถลมารคซึ่งทำใหม่ ด้วยกระบวนรถ ม้า ช้าง ซึ่งกรมพระกลาโหมเกณฑ์เมืองสงขลา เมืองไทรบุรี เมืองปลิศ เมืองสตูน รับส่งเสด็จนั้น มาประทับร้อนแรมณพลับพลาค่ายหลวงตามระยะทาง เสด็จมาลงเรือพระที่นั่งกลไฟชื่อ ไรซิงซัน ณเมืองสงขลา มารดาพระยาไทรบุรี แลพระยาไทรบุรี พี่น้อง ศรีตวันกรมการ ตามส่งเสด็จจนถึงเมืองสงขลา เสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ามากรุงเทพฯ ณวันเสาร์ ขึ้นเจ็ดค่ำ เดือนห้า ปีวอก ยังเปนตรีศก[วซ 29]
ณปีวอก จัตวาศก ศักราช ๑๒๓๔ โปรดเกล้าฯ มีท้องตราให้พระยาไทรบุรี[วซ 23] เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ ครั้งนั้น เมืองไทรบุรี พระยาไทรบุรี หวันมหะมัดเมรัน[วซ 30] มารดาพระยาไทรบุรี ตนกูปอ หญิง[วซ 31] พี่น้อง ตนกูสะมะแอ เสมียน นายไพร่รวม ๔๐ คน เมืองปลิศ ลิเยกนุด บุตรพระยาปลิศ ซึ่งเปนบุตรเขยพระยาไทรบุรี ตนกูอัปดลลา นายไพร่รวมทั้งสิ้นเปน ๔๕ คน
ณวันศุกร แรมสิบค่ำ เดือนสิบ ปีวอก จัตวาศก[วซ 32] เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานราชทินนามเลื่อนยศพระยาไทรบุรีเปนเจ้าพระยาไทรบุรี ยกเมืองไทรบุรีออกจากเมืองนครศรีธรรมราชมาขึ้นแก่กรุงเทพฯ[วซ 33]
ในคำประกาศราชทินนามเจ้าพระยาไทรบุรีนั้นว่า "ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๑๔ พรรษา ปัตยุบันกาล วานรสังวัจฉัร ภัทรบทมาศ กาฬปักษ์ ทศมีดิถี ศุกรวาร[วซ 32] บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงษ์ วรุตมพงษบริพัตร วรขัติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระยาไทรบุรีมีความสวามิภักดิ์คุ้นเคยสนิทในสมเด็จพระบรมชนกนารถ บรมบพิตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเนือง ๆ จนตลอดเวลารัชกาลนั้น ครั้นมาถึงในรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกไปประพาศถึงเมืองปินัง พระยาไทรบุรีได้จัดการแต่งที่บ้านเรือนถวายให้เปนที่ประทับแลรับรองเลี้ยงดูข้าทูลลอองธุลีพระบาท บรรดาที่ตามเสด็จพระราชดำเนินทั้งสิ้น ให้อยู่เปนศุขสบายสมควรแก่พระบรมราชเกียรติยศครั้งหนึ่งแล้ว ครั้นเสด็จกลับจากเมืองกาลักตามาประพาศณเมืองไทรบุรี พระยาไทรบุรีได้จัดที่ประทับแลรับรองสนองพระเดชพระคุณโดยความจงรักภักดี แลเลี้ยงดูข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงให้อยู่เย็นเปนศุขตลอดเวลาเสด็จประทับอยู่ แลได้ตามส่งเสด็จพระราชดำเนินกลับมาจนถึงเมืองสงขลา อนึ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นการบ้านเมืองซึ่งพระยาไทรบุรีทำนุบำรุงขึ้นใหม่ เปนตึกกว้านร้านเรือนเกษมสมบูรณ์งามดีเจริญขึ้นกว่าแต่ก่อน แลได้เปนผู้ชักชวนพระยาแลศรีตวันกรมการเมืองใกล้เคียงรวบรวมไพร่พลชาวเมืองแขกทำทางมาแต่เมืองไทรบุรีจนตกถึงแดนเมืองสงขลาเรียบร้อยงามดีแล้วโดยเร็ว เปนที่ลูกค้าวานิชได้เดินไปมาสบาย เปนความชอบต่อแผ่นดินอย่างหนึ่ง แลมีความสวามิภักดิ์คุ้นเคยสนิทต่อกรุงเทพฯ ยิ่งกว่ามลายูประเทศราชอื่น ๆ มีความชอบเปนอันมาก สมควรจะยกเปนประเทศราชใหญ่อันหนึ่งได้ จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อนพระยาไทรขึ้นเปนเจ้าพระยา มีอิศริยยศอย่างสูง รับราชทินนามตามตำแหน่งว่า เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมะหะมัด รัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวงษ์ผดุง ทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขตร ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี ได้รับเครื่องราชอิศริยยศอย่างสูงในสยามชื่อ มหาสุราภรณ์ ไว้เปนเกียรติยศของกรุงเทพฯ แลให้ยกจากเมืองนครศรีธรรมราชมาขึ้นกรุงเทพฯ ได้บังคับบัญชาญาติพี่น้องแลศรีตวันกรมการทั้งปวงบรรดาอยู่ในเขตรแดนเมืองไทรบุรีทั้งสิ้นโดยยุติธรรมแลชอบด้วยราชการ จงเว้นการควรเว้น แลอุส่าห์ประพฤติการควรประพฤติ แลรักษาความซื่อสัตย์สุจริตต่อกรุงเทพฯ ตามอย่างเจ้าเมืองแต่ก่อนจงทุกประการเทอญ
แลให้ญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ทั้งปวง มีความสมัคสโมสร ช่วยเจ้าพระยาไทรบุรีคิดอ่านการนคร แลราษฎรมลายูนาครี ให้เกษมศรีสมบูรณ์ มีความเจริญขึ้นโดยยุติธรรม แลจงฟังบังคับบัญชาการงานทั้งปวงที่ชอบด้วยราชการ ขอให้สิ่งซึ่งเปนต้นเหตุเปนประธานในโลกย์จงอนุเคราะห์รักษาเจ้าพระยาไทรบุรี แลญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ทั้งปวง ให้เจริญศุขสวัสดิ์พิพัฒมงคลทุกประการ พระราชทานอิศริยยศตั้งมาณวันศุกร แรมสิบค่ำ เดือนสิบ ปีวอก จัตวาศก[วซ 32] เปนปีที่ ๔ ในราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศักราช ๑๒๓๔ เปนวันที่ ๑๔๐๖ ในรัชกาลปัตยุบันนี้" แล้วพระราชทานเจ้าพระยาไทรบุรี เครื่องอิศริยยศชื่อ มหาสุราภรณ์[วซ 34] พระราชทานสัญญาบัตรลิเยกนุด บุตรพระยาปลิศ เปนที่พระสุรินทรวังษา ผู้ช่วยราชการเมืองปลิศ แต่หวันมหะมัดเมรัน ตนกูปอ เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง โปรดเกล้าฯ พระราชทานหวันมหะมัดเมรัน พานทอง[วซ 35]
ณวันศุกร ขึ้นสองค่ำ เดือนสิบเอ็ด ปีวอก จัตวาศก[วซ 36] เจ้าพระยาไทรบุรี พระสุรินทรวังษา เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย หวันมหะมัดเมรัน ตนกูปอ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายใน กราบถวายบังคมลากลับออกไปเมืองไทรบุรี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชวังสรรค์ จางวางกรมอาษาจาม เปนข้าหลวงไปด้วยเรือรบชื่อ พิทยัมรณยุทธ ส่งเจ้าพระยาไทรบุรีให้สมเกียรติยศ ให้พระยาราชวังสรรค์เชิญเครื่องอิศริยยศไปพระราชทานพระยาสตูน พระยาปลิศ พระเกไดสวรินทร์ด้วย คือ พระยาสตูน เครื่องอิศริยยศชื่อ นิภาภรณ์ เปนความชอบในราชการแผ่นดิน พระยาปลิศ เครื่องอิศริยยศชื่อ นิภาภรณ์ เปนความชอบในราชการแผ่นดิน พระเกไดสวรินทร์ เครื่องอิศริยยศชื่อ มัณฑนาภรณ์ เปนความชอบในราชการแผ่นดิน เรือพิทยัมรณยุทธใช้จักรออกจากกรุงเทพฯ ณวันศุกร ขึ้นเก้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด ปีวอก จัตวาศก
เมื่อณปีจอ ฉศก ศักราช ๑๒๓๖ พระสุนทรรายา[วซ 37] ผู้ช่วยราชการเมืองปลิศ มีหนังสือมายังเมืองนครศรีธรรมราช ๆ ส่งเข้ามาณกรุงเทพฯ ว่า พระยาปลิศป่วยเปนโรคชราถึงแก่กรรมณวันพุฒ ขึ้นสามค่ำ เดือนสิบสอง ปีจอ ฉศก พระสุนทรรายา บุตรหลานญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ได้ฝังศพพระยาปลิศตามธรรมเนียมมลายูแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ มีท้องตราถึงเมืองนครศรีธรรมราช มอบราชการบ้านเมืองให้พระสุนทรรายา ซึ่งเปนบุตรผู้ใหญ่พระยาปลิศ ปกครองญาติพี่น้องบุตรหลาน ศรีตวันกรมการ บังคับบัญชาราชการบ้านเมืองต่อไป พระยาปลิศมีบุตรชายชื่อ พระสุนทรรายา ๑ พระสุรินทรวังษา ๑ สิเยศอารน ๑ สิเยศตาปา ๑ รวม ๔ คน[วซ 38]
ณปีชวด อัฐศก ที่เมืองเประ เจ้านายแขกเกิดวิวาทกัน คอเวอนแมนต์[วซ 39] อังกฤษยกทัพมาปราบปราม กองทัพแขกเอาปืนยิงมิศเตอร์เบิก[วซ 40] เรสิเดนต์อังกฤษ[วซ 41] ตาย เจ้านายแขกรบกับกองทัพอังกฤษ สู้กองทัพอังกฤษไม่ได้ พากันหลบหนีเข้าอยู่ในป่า รายาอิศมาแอ รายาแลหลา[วซ 42] กับสมัคพรรคพวก หนีมาอยู่ณตำบลเขตรแดนเมืองเประ แต่ใกล้กับที่ยารม แขวงเมืองรามันห์ กองทัพอังกฤษตามไปไม่ได้ โปรดเกล้าฯ ให้มีท้องตราประกาศเมืองแขกประเทศราชที่ใกล้เคียงไม่ให้เจ้าเมือง กรมการ คบแขกเประ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระนราธิราชภักดี กรมพระกลาโหม เปนข้าหลวงออกไปฟังราชการอยู่เมืองแขก เกาวนา[วซ 43] เมืองสิงคโปร์ขอให้เจ้าพระยาไทรบุรีเกลี้ยกล่อมรายาอิศมาแอกับสมัคพรรคพวกมาส่งให้แก่เกาวนา[วซ 44] เจ้าพระยาไทรบุรี[วซ 45] จึงให้ตนกูศรีตวันกรมการไปเกลี้ยกล่อม ได้ตัวรายาอิศมาแอกับสมัคพรรคพวกมาส่งให้เกาวนา ภายหลัง รายาแลหลากับพรรคพวกออกหาอังกฤษ[วซ 46]
ณปีชวด อัฐศก ศักราช ๑๒๓๘ ถึงกำหนดแขกเมืองประเทศราชส่งต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ ทุกเมือง พระสุนทรรายา ผู้ช่วยราชการ สิเยศอารน สิเยศตาปา ผู้น้อง คุมต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการเมืองปลิศ กับเครื่องยศพระยาปลิศ เข้ามาณเมืองนครศรีธรรมราช พระยานครศรีธรรมราชจึงมีใบบอกให้กรมการ ล่าม นำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า พระสุนทรรายาว่าราชการรักษาบ้านเมืองปกครองญาติพี่น้องมาเรียบร้อย ควรเพิ่มยศขึ้นเปนผู้ใหญ่ได้ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสัญญาบัตรตั้งพระสุนทรรายาเปนพระยาวิเสศสงครามรามวิชิต วิลิศมาหรา พระยาปลิศ พระราชทานเครื่องยศครอบทอง[วซ 47] พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสิเยศอารนเปนที่พระศักดาดุลยฤทธิ์ ผู้ช่วยราชการเมืองปลิศ
ฝ่ายเมืองสตูน พระยาสตูน[วซ 48] มีหนังสือบอกให้พระปักษาวาสะวารณินทร์[วซ 49] ผู้ช่วยราชการ ซึ่งเปนบุตรผู้ใหญ่ คุมต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการเมืองสตูน เข้ามาเมืองนครศรีธรรมราช ๆ มีใบบอกให้กรมการ ล่าม นำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย พระยาสตูนมีหนังสือบอกมาว่า ทุกวันนี้ พระยาสตูนชราตามืด จะว่าราชการบ้านเมืองไปมิได้ ขอรับพระราชทานพระปักษาวาสะวารณินทร์ว่าราชการบ้านเมืองต่อไป จึงทรงพระราชดำริห์ว่า พระยาสตูนรักษาบ้านเมืองมา มิได้มีเหตุเกี่ยวข้องแก่บ้านเมืองพระราชอาณาเขตรแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ควรจัดการให้สมความปราถนาพระยาสตูน จึงจะชอบ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระปักษาวาสะวารณินทร์เปนพระยาอภัยนุราชชาติรายาภักดี ศรีอินดาราวิยาหยา พระยาสตูน ให้เอาเครื่องยศพระยาสตูนคนเก่าพระราชทานพระยาสตูนใหม่[วซ 50] แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเพิ่มยศพระยาสตูนคนเก่าขึ้นเปนพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ มหินทราธิรายานุวัตร ศรีสกลรัฐมหาปธานาธิการ ไพศาลสุนทรจริต สยามพิชิตภักดี จางวางเมืองสตูน พระราชทานเครื่องยศพานทอง[วซ 51] โปรดเกล้าฯ ให้มอบสัญญาบัตรเครื่องยศพระยาสตูนคนใหม่ออกไปพระราชทานณเมืองสตูน[วซ 52]
ณวันอาทิตย์ ขึ้นสิบสามค่ำ เดือนสี่ จุลศักราช ๑๒๓๘ ปีชวด อัฐศก จีนเมืองภูเก็จขบถ ฆ่าฟันไพร่บ้านพลเมือง เอาไฟเผากุฎีวิหารตึกเรือนโรงกรมการ ราษฎรแตกตื่นเปนอันมาก
เจ้าหมื่นเสมอใจราช[วซ 53] ข้าหลวงรักษาราชการเมืองภูเก็จ มีหนังสือบอกข่าวราชการขอกองทัพเมืองไทร เมืองปลิศ เมืองสตูน มาช่วยระงับจีนขบถเมืองภูเก็จ เจ้าพระยาไทรบุรีแต่งให้ตนกูสะมะแอ ๑ ตนกูมุซา ๑ หวันอาหวัง ๑ หวันอาหยา ๑ หวันอาม่าน ๑ รวม ๕ นาย ไพร่ ๓๓๕ คน กองหนึ่ง หวันมัดกายิด ๑ เสกมะหมัด ๑ รวม ๒ นาย ไพร่ ๒๒๐ กองหนึ่ง พระชลสินธุสงครามไชย นาย ๑ ไพร่ ๕๐๐ คน กองหนึ่ง พระยาปลิศแต่งให้เสกอามิต ๑ เสกมะหมัด ๑ ผู้น้อง ๒ นาย ไพร่ ๔๐๐ กองหนึ่ง พระยาสตูนแต่งให้ตนกูอามิต ๑ ตนกูมะหมัด ๑ ผู้น้อง ๒ นาย ไพร่ ๒๖๐ คน กองหนึ่ง รีบไปถึงเมืองภูเก็จทันราชการ แล้วเจ้าพระยาไทรบุรีได้ไปปฤกษาราชการกับข้าหลวงเมืองภูเก็จ เจ้าพระยาไทรบุรี พระยาปลิศ พระยาสตูน นายทัพนายกองมีความชอบในราชการแผ่นดิน
จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดเครื่องอิศริยยศพระแสงปืน เงินตรา เสื้อผ้า มอบให้พระอมรวิไสยสรเดช เจ้ากรมทหารปืนใหญ่ เปนข้าหลวงคุมออกไปพระราชทานเจ้าพระยาไทรบุรี พระแสงปืนมีเครื่องพร้อมหีบหนึ่ง เงินตรา ๕๐ ชั่ง พระชลสินธุสงครามไชย ตราช้างเผือกสยามชั้นที่ ๓ ชื่อ นิภาภรณ์ ตนกูสะมะแอ มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ ชื่อ วิจิตราภรณ์ ตนกูมุซา มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ ชื่อ วิจิตราภรณ์ หวันอาหยา ๑ หวันอาม่าน ๑ หวันมหะมัดอายิด ๑ เสกมะหมัด ๑ หวันอาหวัง ๑ เสื้ออัตลัดคนละตัว พระยาวิเสศสงคราม ช้างเผือกสยามชั้นที่ ๔ ชื่อ ภูษนาภรณ์ เสกอามิต มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ ชื่อ วิจิตราภรณ์ เสกมะหมัด มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ ชื่อ วิจิตราภรณ์ พระยาอภัยนุราช พระยาสตูน ช้างเผือกสยามชั้นที่ ๔ ชื่อ ภูษานาภรณ์ ตนกูฮามิด มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ ชื่อ วิจิตราภรณ์ ตนกูมะหมัด มงกุฎสยามชั้นที่ ๕ ชื่อ วิจิตราภรณ์ โดยสมควรแก่ความชอบ
ณปีขาล สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐ ปี เจ้าพระยาไทรบุรีมีหนังสือบอกให้พระชลสินธุสงครามไชย ผู้ช่วยราชการ ถือมาว่า วันคมิด[วซ 54] เดือนดนหิยะ[วซ 55] ที่ ๑๑ ศักราชแขก ๑๒๙๓ ปี ตรงกับวันพุฒ ขึ้นสิบสามค่ำ เดือนอ้าย ปีชวด อัฐศก รายามุดาเมืองไทรบุรีป่วยถึงแก่กรรม ขอรับพระราชทานพระชลสินธุสงครามไชยเปนที่รายามุดาทำราชการสนองพระเดชพระคุณต่อไป
ณวันจันทร์ แรมสิบสามค่ำ เดือนยี่ ปีขาล สัมฤทธิศก[วซ 56] โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระชลสินธุสงครามไชยเปนที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดาเมืองไทรบุรี พระราชทานเครื่องยศครอบทอง[วซ 57]
ณปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๒๔๑ ปี เจ้าพระยาไทรบุรีมีหนังสือมาว่า ณวันศุกร ขึ้นสามค่ำ เดือนเจ็ด ปีเถาะ เอกศก[วซ 58] หวันมหะมัดเมรัน[วซ 30] มารดาเจ้าพระยาไทรบุรี ป่วยเปนโรคป่วงใหญ่ถึงแก่อนิจกรรม มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้หลวงโกชาอิศหากคุมเงินสลึงออกไปพระราชทานเจ้าพระยาไทรบุรีทำบุญให้ทานในการศพหวันมหะมัดเมรัน ๕ ชั่ง[วซ 59]
ณปีเถาะ เอกศก พระเกไดสวรินทร์ พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา พระเกษตรไทรสถลบุรินทร์ เมืองไทรบุรี มีหนังสือบอกมาว่า เจ้าพระยาไทรบุรี[วซ 23] ป่วยมาช้านาน ณวันอาทิตย์ ขึ้นสี่ค่ำ เดือนแปด ปีเถาะ เอกศก เจ้าพระยาไทรบุรีถึงอาสัญกรรม
มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงษ์[วซ 60] ข้าหลวงเมืองตรัง รีบไปฟังราชการณเมืองไทรบุรีเพื่อจะได้รงับการวิวาทแลให้เปนการรักษาปรองดองบุตรหลานญาติพี่น้องเจ้าพระยาไทรบุรีมิให้แตกร้าวกัน ให้พระเกไดสวรินทร์ พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา พระเกษตรไทรสถลบุรินทร์ ปฤกษาญาติพี่น้องผู้ที่จะได้สืบตระกูลเจ้าพระยาไทรบุรีต่อไป
พระยามนตรีสุริยวงษ์[วซ 61] ข้าหลวง มีหนังสือบอกให้หลวงโกชาอิศหากถือมาว่า ราชการเมืองไทรบุรีเรียบร้อยแล้ว พระยาสตูน พระยาปลิศ พระอินทรวิไชย พระเกไดสวรินทร์ พระเสนีณรงค์ฤทธิ พระเกษตรไทรสถลบุรินทร์ ตนกูอาเก ลงชื่อประทับตราปฤกษาเห็นพร้อมกันว่า เจ้าพระยาไทรบุรีมีบุตรชายใหญ่ ๒ คน ๆ หนึ่ง ชื่อ ตนกูไซนาระชิด[วซ 62] อายุได้ ๒๒ ปี คนหนึ่งชื่อ ตนกูฮามิด[วซ 63] อายุ ๑๖ ปี ตนกูไซนาระชิดเปนพี่ ควรจะรับราชการสนองพระเดชพระคุณแทนเจ้าพระยาไทรบุรีต่อไป ตนกูฮามิดเปนน้องควรรับราชการรองลงมา พระเกไดสวรินทร์ พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา ขอพาตนกูไซนาระชิด ตนกูฮามิด เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระยามนตรีสุริยวงษ์ ข้าหลวง ส่งคำปฤกษาเข้ามาณะกรุงเทพฯ แล้ว
จึงมีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้พระอมรวิไสยสรเดช เจ้ากรมทหารปืนใหญ่ ซึ่งเปนข้าหลวงไปรักษาราชการหัวเมืองทะเลตวันตก คุมเงินสลึงออกไปพระราชทานพระเกไดสวรินทร์ พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา พระเกษตรไทรสถลบุรินทร์ ทำบุญให้ทานในการศพเจ้าพระยาไทรบุรี เงิน ๑๐ ชั่ง[วซ 64] ให้หลวงลักษมานา เจ้ากรมอาษาจาม คุมเรือมุระธาวะสิทธิสวัสดิ์ออกไปรับพระเกไดสวรินทร์ พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา ตนกูไซนาระชิด ตนกูฮามิด กับหวันอาหลี ศรีตวันกรมการ คุมต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการเมืองไทรบุรี ณท่าเมืองสงขลาเข้ามาณะกรุงเทพฯ ให้พระเกษตรไทรสถลบุรินทร์รักษาราชการเมืองไทรบุรี เรือมุระธาวะสิทธิสวัสดิ์รับพระเกไดสวรินทร์ พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา พาตนกูไซนาระชิด ตนกูฮามิด ตนกูกาเซม น้องตนกูไซนาระชิดนาย ๑ แขกเมือง แลต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ณวันอังคาร ขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบ ปีเถาะ เอกศก[วซ 65]
ณวันจันทร์ แรมสิบสองค่ำ เดือนสิบสอง ปีเถาะ เอกศก เปนวันเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ประชุมตราพระจุลจอมเกล้าแลถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินบนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำแขกเมืองไทรบุรีเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระราชทานสัญญาบัตรแลเครื่องยศพระยาเกไดสวรินทร์เปนที่พระยายุทธการโกศล พหลพยุหรักษ์ อรรควรเดช พิเสศสิทธิรำบาญ บริหารบรมนารถราชโยธินทร์ ผู้กำกับทำนุบำรุงราชการเมืองไทรบุรี พระราชทานพานทอง[วซ 66]
พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา เปนที่พระยาสุรพลพิพิธ สรรพประสิทธิกิจพิจารณ์ ปรีชาญาณยุติธรรมพิทักษ์ อรรคมนตรี ผู้กำกับทำนุบำรุงราชการเมืองไทรบุรี พระราชทานพานทอง[วซ 67]
ตนกูไซนาระชิด[วซ 62] เปนที่พระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหะมัด รัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี (๒๖) พระราชทานพานทอง[วซ 68]
ตนกูฮามิด[วซ 63] เปนที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา[วซ 11] พระราชทานครอบทอง[วซ 69]
ตนกูกาเซมเปนพระชลสินธุสงครามไชย ผู้ช่วยราชการ พระราชทานครอบทอง[วซ 70]
ณวันอาทิตย์ ขึ้นสองค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ เอกศก แขกเมืองไทร เมืองปลิศ เมืองสตูน เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมลาณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย โปรดเกล้าฯ ให้[วซ 71] เรือรบชื่อ พิทยัมรณยุทธ ออกไปส่งถึงเมืองไทรบุรี[วซ 72]
ลุศักราช ๑๒๔๓ ปีมเสง ตรีศก พระยาไทรบุรีไซนาระชิดป่วยถึงอาสัญกรรม พระเสนีณรงค์ฤทธิ (ตนกูฮามิด) รายามุดา เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา มีอายุเจริญไวยนับได้ ๑๙ ปีแล้ว ควรตั้งพระเสรีณรงค์ฤทธิ รายามุดา ซึ่งญาติพี่น้องได้พร้อมกันยกย่องว่า เปนบุตรผู้ใหญ่ของเจ้าพระยาไทรบุรีแต่ก่อนนั้น ให้เปนเจ้าเมือง จะได้สืบวงษ์ตระกูลเจ้าพระยาไทรบุรีให้ปรากฏยืนยาวไปภายน่า
ครั้นณวันพฤหัศบดี ขึ้นสิบสามค่ำ เดือนสี่ ปีมเสง ตรีศก ศักราช ๑๒๔๓[วซ 73] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยลำดับ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดา เปนพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน มหะมัดรัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี (๒๗)
พระราชทานพานทองเปนเครื่องยศ ออกไปสำเร็จราชการรักษาบ้านเมือง ปกครองบุตรหลาน ญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ สืบไป
อนึ่ง ตำแหน่งผู้กำกับทำนุบำรุงราชการเมืองไทรบุรีแต่ก่อนนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ยกเสียทั้ง ๒ ตำแหน่ง ให้มอบราชการบ้านเมืองให้พระยาฤทธิสงครามรามภักดี พระยาไทรบุรี บังคับบัญชาเด็ดขาดแต่ผู้เดียว
ครั้นณปีรกา สัปตศก จุลศักราช ๑๒๔๗ พระยาฤทธิสงครามรามภักดี พระยาไทรบุรี แต่งให้ตนกูอับดลดานี ผู้น้อง กับศรีตวันกรมการ ๓ นาย คุมต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการ เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายณกรุงเทพฯ แลมีใบบอกลงวันอารบาอา[วซ 74] เดือนดลหิยะ[วซ 55] ที่ ๑๓ ศักราชมลายู ๑๓๐๒ ปี ตรงกับวันศุกร ขึ้นสิบค่ำ เดือนสิบ ปีรกา สัปตศก เข้ามาให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตำแหน่งที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดาเมืองไทรบุรี ว่างอยู่ ยังหามีตัวรับราชการสนองพระเดชพระคุณไม่ พระยาฤทธิสงครามรามภักดี พระยาไทรบุรี ได้ปฤกษาพระยาสุรพลพิพิธแลบรรดาญาติพี่น้องซึ่งเปนผู้ใหญ่กับศรีตวันกรมการเห็นพร้อมกันว่า ตนกูอับดลดานี ผู้น้องพระยาฤทธิสงครามรามภักดี พระยาไทรบุรี มีอายุสมควร ทั้งสติปัญญาก็หนักแน่น ควรเปนที่รายามุดาได้ พระยาฤทธิสงครามรามภักดี พระยาไทรบุรี ขอรับพระราชทานตนกูอับดลดานีเปนที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดาเมืองไทรบุรี จะได้ช่วยพระยาฤทธิสงครามรามภักดี พระยาไทรบุรี ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งตนกูอับดลดานีเปนที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ รายามุดาเมืองไทรบุรี พระราชทานคอบทอง[วซ 75] เปนเครื่องยศ ออกไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณตามตำแหน่ง
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๔ พระยาฤทธิสงครามรามภักดี พระยาไทรบุรี กับศรีตวันกรมการ เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทณกรุงเทพฯ ทรงพระราชดำริห์ว่า พระยาไทรบุรีได้บังคับบัญชาราชการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณมาช้านาน มีความชอบความดีมาก สมควรจะเลื่อนขึ้นเปนเจ้าพระยาได้
ครั้นวันที่ ๒๙ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๔ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดการประชุมพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทบรรดาที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า แลราชองครักษ์ มหาดเล็ก ตำรวจ กับเจ้าพนักงานต่าง ๆ ซึ่งมีน่าที่เกี่ยวในการนี้ เพื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรเพิ่มอิศริยยศพระยาไทรบุรีขึ้นเปนเจ้าพระยาไทรบุรี แลพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าด้วย เจ้าพนักงานได้จัดการที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมุขกระสันเบื้องบุรพทิศ ตั้งพระราชบัลลังก์ตรงผนังทิศตวันออก ภายในเสาน่าพระราชบัลลังก์เปนที่เจ้าพนักงานกระทรวงวังแลกรมพระตำรวจเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเบื้องซ้ายแห่งที่นี้ ตั้งแต่น่าพระราชบัลลังก์มาเปนที่เฝ้าแห่งพระบรมวงษานุวงษ์ ต่อน่าแห่งที่นั้นออกไปภายในเสาเปนที่เฝ้าแห่งข้าทูลลอองธุลีพระบาทฝ่ายทหารพลเรือน ทั้งสองฟากระหว่างเสาน่าพระราชบัลลังก์เบื้องขวาเปนที่เฝ้าแห่งคณาธิบดีของตราเครื่องราชอิศริยาภรณ์นี้แลเจ้าพนักงานกระทรวงมุรธาธร หลังพระราชบัลลังก์เปนที่เฝ้าแห่งราชองครักษ์ มหาดเล็ก แลชาวที่ มีทหารยืนแถวที่น่าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทด้วย
เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับเหนือพระราชบัลลังก์ เจ้าพนักงานชาวประโคม ๆ มหรทึกแลแตร ทหารทำเพลง[วซ 76] สรรเสริญพระบารมีแลถวายคำนับ พอสุดเสียงประโคมแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยเจ้าพนักงานกระทรวงวัง แลพระยามนตรีสุริยวงษ์ ล่าม นำพระยาฤทธิสงครามรามภักดี พระยาไทรบุรี เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท หลวงประสิทธิอักษรสาตร เจ้าพนักงานกระทรวงมุรธาธร อ่านประกาศดำเนินพระบรมราชโองการ เสร็จแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรอันเขียนด้วยใบกำกับสุพรรณบัตรแก่พระยาฤทธิสงครามรามภักดีให้รับตำแหน่งที่เจ้าพระยา มีนามดังจะได้แจ้งในประกาศที่จะกล่าวต่อไป แล้วพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่เจ้าพระยาไทรบุรีนั้น ครั้นพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์แล้ว มีพระราชดำรัสทรงแสดงพระราชปฏิสันถารในการที่ได้ทรงเลื่อนอิศริยยศเจ้าพระยาไทรบุรีครั้งนี้ แลพระราชทานพระบรมราชกระแสพระราชดำริห์ในการที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาไทรบุรีเข้าในพวกสมาชิกแห่งเครื่องราชอิศริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า แลพระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชทานพร ตามสมควร[วซ 77] ในประกาศเลื่อนยศพระยาไทรบุรีเปนเจ้าพระยาไทรบุรีนั้นมีความว่า "ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาลเปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๘ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทคตินิยม เอฬกะสังวัจฉระ ภัทรบทมาศ ชุษณปักษ ทสมีดิถี ครุวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ สิงหาคมมาศ เอกูนติงสติมมาศาหะคุณประเภท ปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริห์ว่า พระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหะมัด[วซ 78] รัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี เปนผู้ซึ่งได้ทรงคุ้นเคยแลทรงพระกรุณาโดยเฉภาะมาแต่ยังเยาว์ เพราะได้ทรงสังเกตเห็นอัธยาไศรยความมั่นคงหลักแหลมคล้ายคลึงกับเจ้าพระยาไทรบุรีผู้เปนบิดามาก เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เปนพระยาไทรบุรี ก็หวังพระราชหฤไทยอยู่ว่า พระยาไทรบุรีคงจะปกครองไพร่บ้านพลเมืองให้มีความผาสุก แลทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นโดยความอุสาหะ อย่างเจ้าพระยาไทรบุรีได้ทำมาแต่ก่อน
ตั้งแต่พระยาไทรบุรีได้บังคับบัญชาราชการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณมาจนบัดนี้ ก็ได้ถึง ๑๕ ปี การที่พระยาไทรบุรีได้ปกครองแลทำนุบำรุงบ้านเมืองก็มีผลเปนความเจริญขึ้นโดยลำดับ สมดังที่ได้มีพระราชหฤไทยหวังนั้นทุกประการ
อิกประการหนึ่ง พระยาไทรบุรีได้มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทประจักษ์แก่พระราชหฤไทยมาแต่ก่อนฉันใด พระยาไทรบุรีก็ได้คงรักษาความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทอยู่มิได้เคลื่อนคลาศ แลหมั่นเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเนือง ๆ
อนึ่ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาศหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตวันตก ได้เสด็จไปถึงเมืองไทรบุรี พระยาไทรบุรีก็ได้จัดการรับเสด็จโดยความเอื้อเฟื้อเต็มกำลังที่จะให้เปนพระเกียรติยศแลเปนศุขสำราญแก่บรรดาพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทซึ่งได้โดยเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นทั่วกัน มิได้คิดแก่ความลำบากเหน็จเหนื่อยประการใด
อนึ่ง สรรพราชการที่มีเกี่ยวข้องกับเมืองไทรบุรี ทั้งการภายนอกแลภายใน พระยาไทรบุรีได้ปฏิบัติราชการโดยความซื่อสัตย์สุจริต แลมีอัธยาไศรยโอบอ้อมอารี เปนที่รักใคร่สรรเสริญของพลเมือง แลบรรดาข้าราชการ แลชนทั้งปวงเปนอันมาก ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ความชอบความดีของพระยาไทรบุรีตามที่กล่าวมานี้ สมควรจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เพิ่มอิศริยยศพระราชทานพระยาไทรบุรีให้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ให้เปนแบบอย่างแก่หัวเมืองประเทศราชทั้งปวง แลให้เปนความยินดีแก่ศรีตวันกรมการ ไพร่บ้านพลเมือง เมืองไทรบุรีทั่วกัน
จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้เลื่อนพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหมัด รัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี ขึ้นเปนเจ้าพระยา มีอิศริยยศอย่างสูง รับราชทินนามตามตำแหน่งว่า เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมหมัด รัตนราชมุนินทร สุรินทรวิวงษ์ผดุง ทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขตร ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี ได้รับเครื่องราชอิศริยาภรณ์สำหรับตระกูลเปนวิสามัญสมาชิกตำแหน่งที่ ๑ ชื่อ ปฐมจุลจอมเกล้า เปนเครื่องราชอิศริยาภรณ์อย่างสูงสุดสำหรับข้าราชการในกรุงสยาม ให้เปนเกียรติยศของกรุงเทพมหานคร ได้บังคับบัญชาญาติพี่น้องแลศรีตวันกรมการทั้งปวงบรรดาอยู่ในเขตรแดนเมืองไทรบุรีทั้งสิ้น ตามที่เจ้าพระยาไทรบุรีแต่ก่อนได้บังคับบัญชามานั้น โดยยุติธรรมแลชอบด้วยราชการ จงเว้นการควรเว้น อุสาหะประพฤติการควรประพฤติ แลรักษาความซื่อสัตย์สุจริตต่อกรุงเทพมหานคร ตามอย่างตามธรรมเนียมเจ้าพระยาไทรบุรีแต่ก่อนจงทุกประการ
แลให้ญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ทั้งปวง มีความสมัคสโมสร ช่วยเจ้าพระยาไทรบุรีคิดอ่านการนคร แลราษฎรมลายูนาครี ให้เกษมศรีสมบูรณ์ มีความเจริญขึ้น โดยความพร้อมพรักสามัคคีธรรมสุจริตทุกประการ
ขอให้สิ่งซึ่งเปนเหตุเปนประธานในสกลโลกจงอนุเคราะห์รักษาเจ้าพระยาไทรบุรี แลญาติพี่น้อง ศรีตวันกรมการ ทั้งปวง ให้เจริญศุขสวัสดิ์พิพัฒมงคลทุกประการเทอญ"
ครั้นรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองไทรบุรี ๑ เมืองปลิศ ๑ เมืองสตูน ๑ รวม ๓ เมือง เปนมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลไทรบุรี โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรี เปนข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี มีข้อความตามกระแสพระราชดำริห์ในการตั้งมณฑลไทรบุรีแจ้งในประกาศที่นำมาลงไว้ต่อไปนี้
ด้วยมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า
๑ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า หัวเมืองมลายูฝ่ายตวันตกมีอยู่ ๓ เมือง คือ เมืองไทรบุรี ๑ เมืองปลิศ ๑ เมืองสตูน ๑ แลหัวเมืองทั้ง ๓ นี้ควรจะจัดให้มีแบบแผนบังคับบัญชาการเปนอย่างเดียวกัน ให้ราชการบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
๒ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดูลฮามิด) มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทแลกรุงเทพมหานครเปนอันมากมาเนืองนิตย์ แลมีสติปัญญาอุสาหะจัดการเมืองไทรบุรีเจริญเรียบร้อยยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก
๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งให้เจ้าพระยาไทรบุรีเปนข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการเมืองปลิศ ๑ เมืองสตูน ๑ รวมทั้งเมืองไทรบุรีด้วย เปน ๓ เมือง
๔ ให้เจ้าพระยาไทรบุรีมีอำนาจที่จะตรวจตราบังคับบัญชาผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน แลมีคำสั่งให้จัดการบ้านเมืองตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตทุกอย่างเพื่อให้ราชการบ้านเมืองเหล่านั้นเรียบร้อยแลเจริญขึ้น แลให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน ศรีตวันกรมการหัวเมืองทั้ง ๒ นั้น ฟังบังคับบัญชาเจ้าพระยาไทรบุรีในที่ชอบด้วยราชการทุกประการ
๕ ผู้ว่าราชการเมืองปลิศแลเมืองสตูนคงมีอำนาจที่จะบังคับบัญชาว่ากล่าวศรีตวันกรมการไพร่บ้านพลเมืองนั้น ๆ แลรับผิดชอบในราชการบ้านเมืองทุกอย่าง แต่ต้องกระทำตามบังคับแลคำสั่งของเจ้าพระยาไทรบุรีตามบรรดาการที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น
๖ ต้นไม้เงินทองเมืองปลิศ เมืองสตูน ซึ่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองฝ่ายทะเลตวันตกเคยบอกส่งเข้ามากรุงเทพฯ นั้น แต่นี้ไป เมื่อถึงกำหนด ให้เจ้าพระยาไทรบุรีบอกนำส่งเข้ามากรุงเทพฯ
๗ ข้อราชการบ้านเมืองซึ่งผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน เคยมีใบบอกต่อข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายทะเลตวันตก เพื่อแจ้งข้อราชการหรือหารือราชการก็ดี หรือเพื่อให้บอกเข้ามากรุงเทพฯ ก็ดี แต่นี้ไป ให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน มีใบบอกไปยังเจ้าพระยาไทรบุรี เพื่อแจ้งข้อราชการหรือหารือราชการ หรือเพื่อให้บอกเข้ามากรุงเทพฯ เหมือนเช่นนั้น แต่ในราชการบางอย่างซึ่งเปนแบบแผนเคยมีท้องตราจากกรุงเทพฯ ตรงไปตามหัวเมืองก็ดี ที่หัวเมืองเคยบอกตรงเข้ามากรุงเทพฯ ก็ดี ก็ให้คงเปนไมตามแบบแผนเดิมนั้น แต่ต้องแจ้งความให้เจ้าพระยาไทรบุรีทราบด้วย
แต่การที่ว่ามาในข้อนี้ไม่เกี่ยวข้องถึงฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายร้องทุกข์หรือเพื่อจะกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทโดยเฉภาะ การเช่นนี้ย่อมเปนราชประเพณีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้แก่ข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั่วไปมิได้เลือกหน้า ใครจะถวายก็ได้ ไม่ห้ามปราม
๘ ผลประโยชน์ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน เคยได้ในตำแหน่งเท่าใด ให้คงได้อย่างแต่ก่อน ส่วนผลประโยชน์ซึ่งผู้ว่าราชการเมืองเหล่านั้นได้เคยให้ประจำตำแหน่งศรีตวันกรมการเท่าใด ถ้าศรีตวันกรมการเหล่านั้นยังรับราชการบ้านเมืองตามสมควรแก่น่าที่ ก็ให้คงได้รับผลประโยชน์ไปอย่างเดิม แลเงินผลประโยชน์ เงินภาษีอากร ที่ได้ในเมืองปลิศ เมืองสตูน มากน้อยเท่าใด เงินเมืองใด ให้จัดจ่ายใช้ราชการทำนุบำรุงในเมืองนั้น แลให้มีบาญชีทั้งรายรับแลรายจ่ายแยกออกเปนเมือง ๆ อย่าให้ปะปนกัน
๙ ตำแหน่งแลเกียรติยศบันดาศักดิ์ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน แลศรีตวันกรมการเมืองทั้งสองเมืองนั้น เคยมีมาประการใด ก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้น การที่จะเลือกสรรตั้งแต่งศรีตวันกรมการผู้ใหญ่ในเมืองปลิศแลเมืองสตูนนั้น ตำแหน่งใดว่างลง ให้เจ้าพระยาไทรบุรีปฤกษาหารือด้วยผู้ว่าราชการเมืองนั้นเลือกสรรผู้ซึ่งสมควร แล้วมีใบบอกเข้ามากราบบังคมทูล เมื่อทรงพระราชดำริห์เห็นขอบแล้ว ก็จะได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสัญญาบัตรตามธรรมเนียม ส่วนตั้งแต่งกรมการผู้น้อยนั้น ให้ผู้ว่าราชการเมืองปลิศ เมืองสตูน หารือต่อเจ้าพระยาไทรบุรี เมื่อเจ้าพระยาไทรบุรีเห็นชอบด้วยแล้ว ก็ตั้งได้
๑๐ เจ้าพระยาไทรบุรีต้องมีใบบอกรายงานการที่ได้จัดแลเหตุการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเขตแขวงเมืองปลิศแลเมืองสตูนเข้ามากราบบังคมทูลเนือง ๆ แลบรรดาการที่เจ้าพระยาไทรบุรีจะจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเมืองปลิศ เมืองสตูน ประการใด ก็ให้มีใบบอกเข้ามาขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน ตามแบบแผนขนบธรรมเนียมในราชการ
ประกาศมาแต่กระทรวงมหาดไทย วันที่ ๗ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๖
...
***
ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์
ต้นฉบับ พงษาวดารเมืองไทรบุรี
คำค้น
ไทรบุรีพงศาวดาร
ไทรบุรีพงษาวดาร
ปะแงรัน เจ้าพระยาไทรบุรี
สุลต่าน มรหุ่ม มรหุม บารหุม
เจ้าเมืองสตูล เจ้าเมืองสตูน
เกดะ เกดาห์ จานดอกไม้
มหาวังษา นับถือศาสนาพุทธ
นับถือศาสนาอิสลาม
พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง ณ นคร) ผู้สำเร็จราชการเมืองพังงา กราภูงา กระงา
ตั้งพระเสนานุชิต (นุช นุด ณ นคร) เป็นผู้ช่วยราชการเมืองพังงา ตะกั่วป่า
เมื่อพระยศภักดี ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า ถึงแก่กรรม
จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระเสนานุชิตเป็นพระยาเสนานุชิต ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วป่า
เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) มีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแลกรุงเทพมหานครเป็นอันมากมาเนืองนิตย์ แลมีสติปัญญาอุสาหะจัดการเมืองไทรบุรีเจริญเรียบร้อยยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เป็น มณฑลไทรบุรี
เจ้าพระยาไทรบุรี เป็น ข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลไทรบุรี สำเร็จราชการเมืองปลิศ ๑ เมืองสตูน ๑ รวมทั้ง เมืองไทรบุรี