Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
การทำเหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 มกราคม 2008

การทำเหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ต

ไชยยุทธ ปิ่นประดับ
-----------------------


การทำเหมืองแร่ในประเทศไทยมีกันมานานนับแต่โบราณกาลแล้วแต่เป็นการทำอย่างไม่เป็นล่ำเป็นสัน สำหรับแร่ที่รู้จักง่าย เช่น ทองและเหล็ก ชาวไทยมีความรู้กันมาแต่ก่อนแล้ว รู้จักการหลอมถลุงเพื่อใช้งาน  แต่ก็ไม่เป็นอุตสาหกรรมขึ้นได้  เพราะชาวไทยโบราณเป็นคนมักน้อย สันโดษ แร่บางอย่างพระมหากษัตริย์ ในครั้งนั้นส่งคนไปทำ เพื่อเป็นประโยชน์เข้าท้องพระคลังโดยตรง บางอย่างก็ปล่อยให้ชาวบ้าน ขุดขึ้นมาทำเครื่องใช้ไม้สอยกันเอง หรืออยู่ที่ห่างไกลก็ปล่อยให้ทำเหมือง โดยเสียภาษีต่อเจ้าเมืองที่นั้นในสมัยประเทศราชต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ มาถวายต่อพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ประเทศราชเหล่านี้ต้องขุดแร่บางอย่างซึ่งเป็นของแปลกมีเฉพาะประเทศรวบรวมมาถวายเป็นบรรณาการก็มี ฯลฯ (วิชา  เศรษฐบุตร ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๑)

 

 สำหรับโลหะสัมฤทธิ์ที่ได้พบในสมัยทวาราวดี ตลอดจนศรีวิชัยนั้น พอจะสันนิษฐานได้จากเรื่อง JUNK CEYLON ของ GERINI (JOURNAL OF SIAM SOCIEIY ๑๙๐๕) ซึ่งกล่าวถึงดีบุกว่ามีคนรู้จักมาแต่โบราณกาลแล้ว ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลคงจะมีการอพยพชาวอินเดียเดินทางเข้ามาแหลมในบริเวณตะกั่วป่ามาออกทางสุราษฎร์ และน่าเชื่อได้ว่าชนชาวทวารวดี ซึ่งเป็นเชื้อสายอินเดียโบราณนั้นคงจะได้พบแร่ดีบุก ตามทางที่ผ่าน เมืองตะกั่วป่านั้นในสมัยโบราณเรียกว่า ตะโกลา เป็นเมืองที่เจริญพอใช้ ขณะนี้เราได้เคยพบแผ่นหินศิลาสลักเป็นรูปพระนารายณ์ ยังจมดินอยู่ในคลองเหล ในเขตอำเภอกะปงเมืองเก่า ๆ ในบริเวณ ก็ยังมีร่องรอยให้เห็น ฯลฯ

 ต่อจากสมัยทวาราวดี เป็นสมัยศรีวิชัย ซึ่งมีอาณาเขตแผ่ไปทางใต้ของคาบสมุทร คือตั้งแต่ไชยาไปจนถึงหมู่ เกาะอินโดนิเซีย ในสมัยนี้มีความเจริญมาก ฯลฯ

 สมัยเชียงแสนสุโขทัย สมัยนี้เป็นสมัยเริ่มประวัติศาสตร์ของไทย ราชธานีแห่งแรกของชาติไทย ตั้งที่เชียงแสน แล้วต่อมาได้ขยับขยายมาเป็นใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีราชธานีที่สุโขทัย ตอนใต้ และที่เชียงใหม่ สำหรับแคว้นล้านนา สมัยเชียงแสน เป็นสมัยที่มีการผลิตทองสัมฤทธิ์มาก ฯลฯ (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖  หน้า ๕)

 สำหรับอาณาจักรสุโขทัย และล้านนาซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนอาณาจักรเชียงแสนนั้น หลักฐานความเจริญทางการใช้แร่คงมีปรากฏอยู่แต่ปฏิมากรรมเป็นส่วนใหญ่ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแห่งกล่าวถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของทองคำ ฯลฯ

 ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา มีคำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองว่า   " ในสมัยเมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ฝรั่งและญี่ปุ่นยังไม่มาค้าขาย แต่การไปมาค้าขายกับเมืองจีน เมืองแขก เมืองชวา มลายู ตลอดจนอินเดีย เปอร์เซีย และลังกา ไปมาถึงกันนานมาแล้วพวกเหล่านี้ที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยก็คงจะมีประเพณีที่ชอบให้ชาวต่างประเทศไปมาค้าขายดูเป็นความนิยมที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย "   (สำนักนายกรัฐมนตรี ประวัติการค้าไทย - หอการค้าไทย ๒๕๑๑ หน้า ๘๕)

 ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้แสดงไว้แล้วว่าแร่เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการล่าเมืองขึ้น สเปญที่ส่งกองทัพไปยึดครองอเมริกาได้ก็เพราะข่าวลือความสมบูรณ์ของแร่เงิน อังกฤษไปครอบครองอาฟริกาได้ก็เพราะทองและภูมิภาคอาเซียตะวันออกไกลนี้ถึงแม้ประวัติศาสตร์จะปรากฏว่า ฝรั่งต้องการมาค้าขายทางนี้ก็เพราะเครื่องเทศเป็นส่วนใหญ่ก็จริง แร่ดีบุกในภูมิภาคแหลมทองนี้ เป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งที่ฝรั่งสนใจมาก ดังปรากฏใน เอกสารหลายฉบับ เช่นของ Ferrandes Mendez Pinto ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยใน ค.ศ. ๑๕๑๘ หรือของ Joost Schouten ผู้จัดการคนหนึ่งของบริษัท Dutch East India Company และสมัยหนึ่งชนชาติฮอลันดาได้สัมปทานใน ค.ศ. ๑๖๗๕ (แผ่นดินพระนารายณ์มหาราช) ให้มีสิทธิรับซื้อดีบุกในเขตชุมพร ไชยา บ้านดอน และกาญจนดิษฐ์ ส่วนที่ภูเก็ตก็มอบให้ฝรั่งเศสดำเนินการซื้อดีบุกได้แต่ฝ่ายเดียวใน ค.ศ. ๑๖๘๓ - ๑๖๘๙ (แผ่นดินพระนารายณ์มหาราช) ฉะนั้นเมื่อหวลรำลึกไปถึงการแผ่ขยายตัวของจักรวรรดินิยมในอดีตแล้ว การที่ประเทศไทยรอดพ้นจากภัยนี้ได้ตลอดมา ทั้ง ๆ ที่มีของที่ชาวตะวันตกต้องการอย่างยิ่งหลายอย่าง จึงเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖  หน้า ๒)

 สมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ได้มีกฎหมายส่วยอากรเป็นประโยชน์ของแผ่นดินมีมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้วหลายบท ฯลฯ เช่น ส่วยนั้นคือ ยอมให้บุคคลบางจำพวกส่งสิ่งของซึ่งรัฐบาลต้องการใช้แทนที่คนเหล่านั้นต้องมาประจำทำราชการด้วย แรงคนของตนยกตัวอย่างเช่น ยอมอนุญาตให้ราษฎร   "หาดินมูลค้างคาว"  อันมีตามถ้ำที่ภูเขา มาหุงดินประสิวส่งหลวงสำหรับทำดินปืน หรือเช่นยอมให้ราษฎรชาวเมืองถลางหาดีบุกอันมีมากในเกาะนั้นส่งหลวงสำหรับทำลูกปืนแทนแรงรับราชการเป็นต้น อัตราส่วยที่ต้องส่งคงกำหนดเท่าราคาที่ต้องจ้างคนรับราชการแทนตัว (สำนักนายกรัฐมนตรี ประวัติการค้าไทย - หอการค้าไทย ๒๕๑๑ หน้า ๙๒)


 ได้มีหลักฐานเกี่ยวกับแร่มีมากขึ้นในสมัยอยุธยานี้เอง นอกจากจะปรากฏในพงศาวดารของไทยแล้ว ยังมีบันทึกเหตุการณ์ที่ชาวต่างประเทศซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี กับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาหรือได้เข้ามาตั้งทำมาหากินแล้ว เพราะเป็นสมัยที่ไทยได้เริ่มมีการติดต่อกับชาวยุโรป ซึ่งกำลังขยายอิทธิพลมาทางตะวันออกไกลนี้ การติดต่อเป็นสัญญาทางพระราชไมตรี กับชาวยุโรปครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๐๖๑  พระเจ้ามานูแอล ให้คอร์เตเดอโคแอลโล เป็นราชทูตเข้ามา ได้มีการทำสัญญาพระราชไมตรี กับ โปรตุเกสขึ้นในปีนั้น ไทยได้อนุญาตให้พวกโปรตุเกสตั้งห้างร้านรับซื้อจำหน่ายสินค้าได้ที่กรุงศรีอยุธยา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และมะริด สินค้าที่โปรตุเกสรับซื้อมาจากทางใต้โดยเฉพาะนครศรีธรรมราชนั้นมีแร่ดีบุก ชาวโปรตุเกส เรียกแร่ดีบุกว่า คาเลี่ยม (CALAEM)  ซึ่งมีอยู่ที่เมืองถลาง (GUNSALAN) (สุทธิดา กระแสชัย ศิลปากร ๒๕๒๒ หน้า ๔๓) เป็นสินค้านำ ซึ่งต่อมาโปรตุเกสอยู่ได้ไม่นานก็เสื่อมอำนาจ หลังจากนี้บ้านเมืองต้องตกอยู่ในภาวะสงครามกับพม่าจนเสียเอกราช


 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกู้เอกราชกลับคืนมาได้ ถึงสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ บ้านเมืองก็สงบ ได้มีการค้าขายกับชาวยุโรปมากขึ้น สเปนและพวกฮอลันดาเข้ามาตั้งทำการค้าขายในกรุงศรีอยุธยามีความสัมพันธ์ (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๗ ) กันมากถึงกับส่งราชทูตไทยไปประเทศฮอลแลนด์ ในปี พ.ศ. ๒๑๕๐ ต่อจากนั้น ๕ ปี ชาวอังกฤษเข้ามาตั้งสาขาบริษัท อีสท์อินเดีย คอมปนี ที่พระนครศรีอยุธยา และปัตตานี ในระยะหลังนี้ เมื่อว่างสงคราม มีการขุดแร่ดีบุกในภาคใต้มากขึ้นโดยทางยุโรปต้องการดีบุกจากทางภาคนี้ไปทำภาชนะต่าง ๆ ใน ปี พ.ศ. ๒๑๖๙ พวกฮอลันดามีอำนาจมากขึ้นทางตะวันออกไกล บริษัท ดัสท์อีสท์อินเดียได้ตั้งสถานีไว้สินค้าที่ปากน้ำเจ้าพระยา เรียกว่า   (NEW AMSTERDAM ) และยังตั้งสาขาขึ้นที่เกาะภูเก็ตและนครศรีธรรมราช เพื่อทำการค้ารับซื้อแร่ดีบุก แทนพวกโปรตุเกสต่อมาจึงได้เสื่อมอำนาจลงในประเทศไทย ที่ภูเก็ตปรากฏตามบันทึกของเชวาเลียเดอโชมอง ราชทูตฝรั่งเศสแจ้งว่า พวกฮอลันดาดำเนินการไปได้แค่ปี พ.ศ. ๒๒๑๐ ก็เกิดวิวาทกับชาวเมือง เลยถูกฆ่าตายหมด


 ความอุดมสมบูรณ์ในทางแร่ของประเทศไทยสมัยนั้นมีบันทึกไว้มากในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เพราะเป็นสมัยที่รุ่งเรื่องมากได้มีการติดต่อกับชาวยุโรปมากขึ้น และยิ่ง คอนแสตน ติน ฟอน คอน มารับราชการจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช    ก็ได้มีการติดต่อกับพระเจ้า หลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสอย่างแน่นแฟ้น มีราชทูตมาติดต่อกับเมืองไทยอย่างพิธีการถึง ๒ ครั้ง ทางฝ่ายฝรั่งเศสได้มีจดหมายเหตุบันทึกการเดินทาง และสภาวะบ้านเมืองไทยในครั้งนั้นหลายฉบับ เขียนโดยคณะราชทูต และบันดาพ่อค้าฝรั่งเศสที่มาค้าขายอยู่ในกรุง ราชทูตฝรั่งเศสคนแรก คือ เชวาเลียเดอโชมอง ได้มาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.  ๒๒๒๘ ได้ทำสัญญาฉบับแรกกับไทย เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ปี เดียวกัน ที่ลพบุรี ข้อความในสัญญามีอยู่ข้อหนึ่งเกี่ยวกับการค้าแร่ดีบุก ที่ภูเก็ต ฝรั่งเศสขอให้บริษัท ฝรั่งเศส (COMPAGME DERINDIS) ได้ผูกขาดการค้าแร่ดีบุกที่ภูเก็ตแต่ฝ่ายเดียวและบริษัทขอปลูกห้างขึ้นในเมืองนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนฝ่ายไทยบริษัทฝรั่งเศส จะต้องส่งเรือจากคอรอมันเดลในอินเดีย บันทุกสินค้าต่าง ๆ มายังเมืองภูเก็ตปีละ ๑ ลำ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงอนุญาตให้ตามคำขอ แต่ข้อบังคับให้ฝรั่งเศสส่งแบบแปลนห้างที่จะสร้างมาขออนุมัติเสียก่อน และจะเปลี่ยนแปลงแบบไม่ได้ ฝ่ายบริษัทจะต้องนำสินค้าที่จำเป็นมาขายแก่พลเมืองภูเก็ต และเขตเมืองขึ้นของภูเก็ต ถ้าบริษัทผิดสัญญา อนุญาตให้ชาวเมืองภูเก็ตค้าขายกับชาวต่างประเทศอื่นได้ พระองค์จะทรงเก็บภาษีแร่ดีบุกจากภูเก็ตตามธรรมเนียมที่เคยเก็บมาก่อนได้อีก ราคาซื้อขายแร่ดีบุกในประเทศไทยขณะนั้นมีบันทึกของ เวเรด์ ซึ่งมากับราชทูตเขียนไว้ว่าราคาหาบละ ๑๕ ปอนด์ฝรั่งเศสซึ่งควรจะเป็นราคาหาบละ ๑๐๕ บาท ในสมัยนี้ (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๘)


 เมอซิเออร์ ลาลูแบร์ ราชทูตคนที่ ๒ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเดินทางมากรุงศรีอยุธยา พร้อมกับออกพระวิสูตรสุนทรหรือ "โกษาปาน" ได้บันทึกไว้ในหนังสือประวัติการสัมพันธ์กับราชอาณาจักรไทยในระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๐ - ๒๒๓๑ ว่า "ไม่มีประเทศใดจะมีชื่อเสียงว่าร่ำรวยด้วยเหมืองแร่ดีบุกมากกว่าประเทศสยาม… ดูจากพระพุทธรูป และโลหะที่หลอมต่าง ๆ แล้วเห็นได้ว่าเป็นฝีมือการผลิตมาตั้งแต่สมัยก่อน….มีการพบบ่อแร่เก่าและซากเตาถลุงแทบทุกวัน ฯลฯ (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๙)


เมื่อเป็นที่รู้จักกันว่า เมืองสยามมีชื่อเสียง กิตติศัพท์ มาแต่โบราณกาลว่า มีแร่ธาตุมั่งคั่งสมบูรณ์ จนเป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า "สุวรรณภูมิ" มาตั้งแต่ ครั้งพุทธกาลเรามีหลักฐานประจักษ์พยานไม่มากนักแต่ก็เป็นหลักฐานโดยตรงที่ชี้ชัดเจนพอให้เราได้รู้ว่าการขุดร่อนหาแร่กันเมื่อใด และการร่อนหาแร่มาอย่างไร


 ดังในหนังสือพงศาวดาร ฝรั่งเศสได้บันทึกที่เมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒๖ เดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๖๘๖ พ.ศ. (๒๒๒๙) ฯลฯ ในระหว่างเวลาที่มองซิเออร์เรอเนแชบอโน มารักษาการอยู่ในเมืองนี้ (ภูเก็ต) ฯลฯ ชาวเกาะนี้ซึ่งเป็นคนอาศัยอยู่ตามป่าตามดงไม่ทำการงานที่แปลกแต่อย่างใดเลย ทั้งวิชาความรู้ก็ไม่ต้องเสาะแสวงหา การที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็เพียงแต่ตัดไม้ฟืน ทำนาและขุดดิน เพื่อร่อนหาแร่ดีบุก เท่านั้น แร่ดีบุกนี้เป็นสิ่งสำคัญของเมืองนี้ และได้เกิดมีการค้าขาย และชาวเมืองที่อยู่ได้เลี้ยงชีพไปได้ก็โดยอาศัยแร่ดีบุกนั้นเอง เพราะพวกชาวเมืองขุดแร่ดีบุกได้ก็เอาแร่ดีบุก นั้นไปแลกเปลี่ยนกับพ่อค้า     ซึ่งนำสินค้ามาจากภายนอก     เพื่อเอามาแลกเปลี่ยนกับแร่ดีบุก นั่นเอง (ประชุมพงศาวดาร จดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศสในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เล่ม ๒๖ คุรุสภา ๒๕๑๑ : ๓๘ - ๔๐ หน้า)


 การร่อนแร่ ของชาวภูเก็ต นั้นได้ปรากฏมาแต่โบราณดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างชัดเจน จนทำให้พวกยุโรป ได้เดินทางเข้ามาหลายชาติ หลายสมัยเพื่อเข้ามาทำการค้าขายกับแร่ดีบุก ซึ่งชาวเมืองภูเก็ต ขุดร่อนหามาได้ ในสมัยต่อมาทางราชการได้ออกพระราชบัญญัติให้มีใบอนุญาตร่อนแร่ ใบอนุญาตสำรวจแร่ และขอประทานบัตร จนมีมาถึงทุกวันนี้ ดังนี้อาชีพการร่อนแร่นั้น จะต้องมีอุปกรณ์ ในการร่อนแร่ ดังนี้


 เลียงสำหรับร่อนหาแร่  มีกะลาใส่แร่ และเหล็กขูดเพื่อไว้ขูดดินทรายตามลำธาร ตามคลองหรือตามท้ายรางเหมืองนั้น เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับเครื่องอุปกรณ์แยกแร่ตัวอย่างในการทำเหมืองแร่ดีบุก โดยตรง แต่บางครั้งผู้จัดการเหมืองเพียงแต่นำมาทดลองตรวจดูแร่หน้าเหมืองเป็นบางครั้งเท่านั้นแต่ถ้าหากผู้จัดการดูแลเหมืองเป็นผู้ชำนาญการดูแร่หรือกะสะ ที่มีแร่ดีบุกเจือปน ในดินอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เลียงแต่อย่างใด
 แต่เลียงร่อนแร่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันแพร่หลายสำหรับการ่อนหาแร่ดีบุกตามลำธาร ลำคลอง หรือบนภูเขาในช่วงฤดูฝน ที่น้ำฝนได้ชักลากดินแร่มากองตกอยู่ตามลำธารหรือแอ่งเล็ก ๆ หรือตามท้ายรางเหมืองที่กู้แร่ และยังใช้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แยกแร่หรือล้างแร่ในเวลาทำการเจาะสำรวจแหล่งแร่อีกด้วย
 ตามปกติ "เลียง" จะทำขึ้นด้วยไม้ชนิดเบา ๆ และเนื้อเหนียว มีรูปร่างลักษณะความกว้างตั้งแต่ ๒๔ นิ้ว ไม่เกิน ๓๐ นิ้ว ความหนาประมาณ ๕/๑๖ นิ้ว ท้องลึกประมาณ ๓ นิ้ว  คล้ายกับ เลียงร่อนทองนั้นเอง การร่อนหาแร่ส่วนใหญ่ เป็นผู้หญิงเกือบ ๑๐๐%  ต้องใช้เลียงร่อนหาแร่ หรือแยกแร่ด้วยเลียงเมื่อได้ไปร่อนหาแร่มาได้โดยเฉพาะชาวบ้านที่ยากจนต้องหาเข้ากินค่ำ ด้วยความจำเป็นจะต้องล้างหรือแยกแร่ด้วยเลียง แต่จะล้างหรือแยกแร่ให้สะอาด หรือให้ได้ผลเพียงใดก็ตามก็ขึ้นอยู่กับผู้ร่อนแร่มีความชำนาญแค่ไหนของผู้ใช้ และวิธีการร่อนแร่ อาจจะกล่าวได้ว่า พอให้ทราบเป็นสังเขปดังนี้ คือ เอาดินหินแร่ กรวด ทราย ที่ปนกันอยู่ใช้เลียงคุ้ยขึ้นมา แต่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคนที่มีกำลังยกไหวหรือไม่ แล้วจะนำ ดินหิน แร่ กรวด ทราย ร่อนในน้ำตรงบริเวณ ท้ายราง หรือตามลำธารหรือ แอ่ง แล้วทำการ แยกเอาหิน ก้อนใหญ่ ทิ้งออกก่อน หลังจากนั้น จึงใช้มือทั้งสองข้างจับเลียงภายในน้ำ ในลักษณะที่ทำให้แร่ และกรวดทราย เกิดการเคลื่อนไหว และแกว่งหมุนตัวไปรอบ ๆ เลียง ซึ่งจะทำให้แร่นั้นซึ่งหนักกว่า ตกลงไปในก้นเลียง  ส่วนทรายจะวิ่งวนอยู่ข้างบน และในเมื่อ คนร่อนแร่ทำให้เรียงนั้นเอียง เล็กน้อย น้ำที่วนอยู่ก็จะพาเอามูลดินทรายออกไปทีละน้อย ๆ จนเหลือแต่แร่ดีบุก ซึ่งมีทรายปนอยู่เพียงเล็กน้อย เมื่อคนร่อนแร่ได้ออกไปร่อนหาแร่ ตามท้ายรางเหมือง ทุกวัน แร่ที่ร่อนมาได้ก็เก็บสะสมเอาไว้ หลาย ๆ วัน จึงจะนำไปล้างด้วยเครื่องมือด้วย "ไถ้" ให้สะอาด อีกครั้ง ต่อไป แต่สำหรับผู้ที่มีความชำนาญในการร่อนแร่โดยใช้เลียง ก็สามารถแยกแร่โดยการร่อนแร่ให้สะอาด จะได้แร่ดีบุกชนิดหยาบ ๆ เพื่อนำไปขาย มาปะทั้งชีวิต ในครอบครัว ส่วนแร่ดีบุกที่เม็ดละเอียดนั้น จะต้องนำไปล้างด้วย "ไถ้" ดังได้กล่าวมาแล้ว แร่ดีบุก จึงจะสะอาด


 ในระหว่างทำการล้างแร่ให้สะอาดนั้น แร่ดีบุกที่ร่อนมานั้นย่อมมี แร่ธาตุสิ่งอื่น เจือปนอยู่ เช่น แร่อิลมิไนท์ โมนาไซท์ รูไทล์  เซอร์ค่อน การ์เหนต ฯลฯ แร่ธาตุเหล่านี้จะเก็บกองกองปนเอาไว้ต่างหาก โดยชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถแยกแร่ธาตุ เหล่านั้นออกมาได้ จึงจำเป็น ต้องรอให้มีผู้มาซื้อขี้แร่ เหล่านั้นในราคาถูก ๆ เพียงค่าขนมค่ากาแฟ เท่านั้น (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๑๗๖)


 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาะภูเก็ต เป็นแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์ มากที่สุดในประเทศไทยจนนานาประเทศ ยอมรับมาตั้งแต่โบราณ ว่าเกาะภูเก็ต มีแร่ดีบุกเป็นสินค้าออกแลกเปลี่ยน ด้วยสินค้าและของอื่น ๆ จากต่างประเทศ จึงทำให้เหมืองแร่ประเภทต่าง ๆ ได้พัฒนาขึ้นมามากตามลำดับจนทำให้คนร่อนหาแร่ โดยเฉพาะผู้หญิง จะออกจากบ้านไปร่อนแร่ ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีเหมืองสูบ เช่น ตำบลกะทู้ ตำบลเชิงทะเล ตำบลฉลอง ตำบลรัษฎา สะปำ และเขตอำเภอเมือง ซึ่งเป็นอาชีพเป็นล่ำ เป็นสัน จนกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพหลักของคนร่อนหาแร่ดีบุกในสมัยนั้น จนทำให้บรรดาพ่อค้ารับซื้อแร่ดีบุก จำนวนหลายร้านด้วยกัน จากคนร่อนแร่ที่หามาได้ จนทำให้เศรษฐกิจของชุมชนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้นจากท้องที่ที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุก จากความพยายามของคน ร่อนหาแร่ ซึ่งได้เก็บสะสมแร่ไว้ ได้ซื้อทองสร้างบ้านเรือนหรือ ขายแร่ดีบุกแล้วเก็บเงินไว้ต่อไป ภูเก็ตเฟื่องฟูจากการทำเหมืองแร่ และคนร่อนแร่ดีบุกจึงนับได้ว่าแร่ดีบุก มีบทบาทสำคัญและมีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองภูเก็ต และตามตำบลต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาเจริญขึ้นมาตามลำดับ     จนกระทั่งการทำเหมืองแร่ดีบุกของจังหวัดภูเก็ตต้องหยุดชงักลงไปด้วยราคาแร่ดีบุกตกต่ำ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เข้ามาแทนที่ จึงทำให้บรรดาพ่อค้า นายเหมือง และประชาชน นั้นไปประกอบ อาชีพธุรกิจในด้านการท่องเที่ยวต่อจากการทำเหมืองแร่และการร่อนหาแร่ดีบุก โดยสิ้นเชิง


 สมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อกรุงศรีอยุธยา แตกเพราะพม่าเป็นครั้งที่ ๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต้องรวมกำลัง กอบกู้อิสระภาพขึ้นใหม่ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้สร้างวงศ์จักรกรีขึ้น ไทยต้องรบพุ่งกับพม่าการทำเหมืองแร่ต้องหยุดชะงักติดต่อกันมาหลายปี
 เอกสารถลางฉบับหนึ่งบอกให้รู้ว่าเกาะถลางมีเหล็กเป็นสินค้าออก แต่เห็นจะไม่มากเหมือนทางเหนือ เอกสารฉบับนี้มีความตอนหนึ่งว่า "ครั้นถึง ณ เดือน ๓ เดือน ๔  ตูข้าจะเอาดีบุกและเหล็กส่งให้"


 ดีบุกเป็นแร่โลหะที่ครองความสำคัญอันดับที่สอง นายยอน  ครอเฟิด กล่าวว่า เขาเชื่อว่าแร่นี้เกิดในเทือกเขาหินแกรนิต ซึ่งผ่านตลอดแหลมมลายู ที่คนไทยขุดหามาได้นั้นไม่ได้กระเทาะเอาจากภูเขา แต่ได้จากลานแร่อันเป็นที่สะสมของแร่ซึ่งหลุดมาจากหิน  นายยอน ครอเฟิดกล่าวต่อไปว่า เหมืองดีบุกที่อุดมที่สุดอยู่ในเกาะถลาง พบกระแสแร่อยู่ในชั้นอย่างเดียวกันกับที่เกาะบังกาของวิลันดา  เข้าใจว่าความอุดมสมบูรณ์คงพอ ๆ กัน นอกจากที่เกาะถลาง ยังมีที่สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพร และไชยา


 นายครอเฟิด กล่าวถึงเหมืองดีบุกที่เกาะถลางว่า กระแสแร่มักจะปะปนกับเศษหิน แกรนิตและหินเขี้ยว หนุมาน อยู่ใต้พื้นดินลงไปราว ๑๐ ถึง ๓๐ ฟุต และอยู่บนชั้นดินเหนียว สีขาว ๆ เหมือนอย่างที่พบในบังกา ฟรานซิส ไลท์ เจ้าเมืองเกาะหมากคนแรกกล่าวในรายงานฉบับหนึ่งว่า ดีบุกที่ขุดได้ในเกาะถลางเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๗  มีจำนวน ๔,๐๐๐ หาบ หรือ ๒๓๘ ตัน ครอเฟิด ลงความเห็นว่าไทยน่าจะได้ดีบุกจากเกาะถลางเป็นจำนวนใกล้เคียงกับที่เกาะบังกา เพราะอุดมสมบูรณ์ พอ ๆ กัน เหตุที่ได้น้อยกว่าเป็นเพราะที่เกาะถลางใช้คนไทย (ก็ต้องเป็นพวกขุนนาง) คุมงาน ส่วนที่เกาะบังกาให้คนจีน ซึ่งเข้าใจงานดีกว่า และขยันขันแข็งมากกว่าเป็นคนคุม


 จะเห็นว่า นายยอนครอเฟิด ยกย่องคนจีนว่ารู้งาน และขยันงานกว่าคนไทย แต่เราก็ไม่น่าจะโกรธเคืองเขา เพราะมันเป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นแห่งหนตำบลใด ที่คนจีนเข้าไปทำมาหากิน ดูเงินทอง และผลิตผลต่าง ๆ มันช่างไหลพรั่งพรูเข้ามาอยู่ในกำมือของคนจีน ทั้ง ๆ ที่คนไทยเคยทำมาหากินในที่นั้นมาตั้งแต่ สมัยปู่ย่าตายาย แต่ไม่เคยรู้จักคำว่า "รวย" สักครั้งเดียว (ชัย  เรืองศิลป์ ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๔๕๓ ด้านเศรษฐกิจ ๒๕๒๗ หน้า ๑๐๑)


นายเจมส์สก๊อตต์ได้กล่าวไว้ในจดหมายซึ่งเขียนถึง ลอร์ด ยอร์ช แมคคาร์เน่ ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม  ๒๓๒๘  (ค.ศ. ๑๗๘๕)  ว่าฟรานซิส ไล้ท์เป็นเพื่อนสนิทของพระยาถลาง  (เจ้าเมืองถลาง) "สมัยท้าวเทพกระษัตรี  ท้าวศรีสุนทร"   และเป็นผู้ที่ชาวเกาะถลางรู้จักมักคุ้นและให้ความเคารพนับถือ การค้าขายกับด้านฟรานซิส ไลท์ ได้ค้าข้าวเป็นสินค้าสำคัญ โดยซื้อขายชำระกันด้วยแร่ดีบุกแทน เพราะเมืองถลางอุดมไปด้วยแร่ดีบุกมากนอกจากจะค้าขายอย่างปกติธรรมดาแล้ว กัปตันฟรานซิส ไลท์ยังเป็นธุระช่วยติดต่อซื้อปืนให้แก่ไทยด้วย ฯลฯ   (นันทา วรเนติวงศ์ ฟรานซิส ไลท์ ๒๔๑๗ หน้า  ๗)


เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย พม่าไม่สามารถยกทัพมารุกรานไทยได้ เพราะเกิดความไม่สงบในประเทศของตน แต่ก็ยังส่งทหารเป็นกองโจรมาปล้นสดมภ์หัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก อันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมดีบุกจนราษฎรไม่เป็นอันทำมาหากิน
ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ พม่ามีกรณีพิพาทกับอังกฤษทางไทย จึงได้มีโอกาสปรับปรุงประเทศขึ้น (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๑๐ )


พระองค์ทรงกวดขันในเรื่องภาษีอาจเอาเปรียบราษฎรได้รับสั่งไว้ว่า "ถ้าราษฎรขุดร่อนแม่แร่ดีบุก จะเอามาตวงขึ้นโรงกลวงสูบถลุงมากน้อยเท่าใดให้หลวงรัตนเศรษฐีคิดค่าแร่ให้กับราษฎรให้ครบ อย่าให้ทำฎีกา (คือตั๋วเงิน) ให้แก่ราษฎรใช้สอยแทนเงิน แทนดีบุก และขันเฟือง ลูกตุ้ม คันวิสัย สำหรับตวงแม่แร่ ชั่งดีบุกนั้น มีอยู่สำหรับโรงกลวงแล้ว ให้หลวงรัตนเศรษฐีเอาขันเฟืองลูกตุ้มคันวิสัยของหลวง ซึ่งให้ออกมาสำหรับโรงกลวงนั้น มาใช้สอยสำหรับตวงแม่แร่ดีบุกของราษฎร อย่าให้ขันเฟืองลูกตุ้มใหญ่แปลกปลอมมาตวงแร่ดีบุกของราษฎรให้เหลือเกิน การส่งอากรดีบุกเข้ายังกรุงเทพฯ นั้นมีคำสั่งให้ส่งปีละสองงวด งวดละครึ่งแต่ถ้าจะส่งเงินเข้าไปแทนดีบุกก็ยอม โดยคิดราคาแร่ดีบุกให้ภาราละ ๔๘ เหรียญมลายู สมัยนั้นหน่วยในการซื้อขายแร่ดีบุกคิดกันเป็นภารา ซึ่งหนัก ๓๕๐ ชั่ง และอากรดีบุกที่หลวงรัตนเศรษฐีต้องส่งต่อรัฐบาลคงเป็นปีละประมาณ ๒๓๐๐๐ บาทเท่านั้นเอง  (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๑๑ )
 ร้อยโทเจมส์ โลว์  เป็นชาวอังกฤษได้เดินทางมาเกาะถลาง เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๗ (ค.ศ. ๑๘๒๔) ในสมัยของกัปตันฟอร์เรสท์ เกาะถลางทำดีบุกได้ประมาณปีละ ๕๐๐ ตัน ซึ่งตามอัตราข้างบนนี้ ก็ต้องสามารถให้ภาษีแก่พระเจ้าแผ่นดินสยาม และประชาชนของพระองค์ได้ถึง ๗๖,๒๒๔ เหรียญ เป็นอย่างน้อย (นันทา วรเนติวงศ์ จดหมายเหตุ เจมส์โล ๒๕๑๙ หน้า ๓๗)
 การทำการขุดแร่นั้นเป็นการเสี่ยงโชค พวกคนขุดแร่ต้องขุดลงไปถึงความลึกต่าง ๆ กันจาก ๑๐ ฟุต ถึง ๑๐๐ ฟุต และตอนนั้นพวกเขาก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับความสำเร็จได้พบสินแร่  ในรูปวงกลมกว้างใหญ่หรือในกลุ่มก้นรูปรี ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่าว่าคนขุดแร่เหล่านี้ไม่เคยพยายามขุดทางข้าง ๆ จากก้นบ่อเลย แต่ได้เก็บสินแร่ที่พบเท่านั้น และแล้วขุดอีกหลุมหนึ่งต่อไป (นันทา วรเนติวงศ์ จดหมายเหตุเจมส์ โล ๒๕๑๙ หน้า ๓๘)
 พวกนายเหมืองใครจะต้องการกรรมกรก็ไปว่าจ้าง (ซื้อ) จากบริษัท การหากรรมกรก็สะดวกลงไปถึงพวกนายเหมืองที่ไม่สามารถจะไปหากุลีได้เองถึงเมืองจีน เป็นเหตุให้การทำเหมืองแร่ดีบุกเจริญขึ้น และมีจำนวนจีนกุลีในแดนอังกฤษ เมืองสิงคโปร์และเมืองปีนังตั้งหมื่นตั้งแสน เมื่อบำรุงการทำเหมืองแร่ดีบุกในหัวเมืองไทยจึงอาศัยไปจ้างกรรมกรที่เมืองปีนัง หรือรับพวกกรรมกรที่หนีนายจ้างทางแดนอังกฤษมาใช้ เป็นเหตุให้เกิดมีจีนใหม่เป็นพลเมืองเพิ่มขึ้นในหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเป็นอันมาก โดยเฉพาะเมืองภูเก็ตถึงมีจีนใหม่มากกว่าจำนวนพลเมืองที่มีอยู่แต่เดิม  (สมภพ  จันทร์ประภา ข่าวสารโลหะกิจ ๒๕๐๕ หน้า ๑๒)
 การขุดแร่ดีบุกนั้นจำต้องมีน้ำให้พอล้างแยกดินทรายออกจากแร่ จึงจะได้ดีบุกใครจะขุดแร่ดีบุกจำต้องคิดหาเหมืองน้ำก่อน จึงเรียกการขุดแร่ดีบุกว่า "ทำเหมือง" แล้วเลยเรียกบริเวณที่ขุดแร่ว่า "เหมือง" ด้วยประการฉะนี้ ลักษณะทำเหมือง เป็น ๓ อย่าง ต่างกันเรียกว่า "เหมืองแล่น" อย่างหนึ่ง "เหมืองคล้า" อย่างหนึ่ง และ "เหมืองใหญ่" อีกอย่างหนึ่ง เหมืองแล่นนั้นสำหรับคนจนทำ รู้ว่าแร่มีที่ไหนถึงเวลาฝนตกก็ไปขุด อาศัยน้ำฝนที่ไหลหรือที่ขังอยู่ล้างเอาแร่มาขาย เหมืองคล้านั้นอาศัยเหมืองน้ำอันมีอยู่โดยธรรมดา เช่น ลำธาร เป็นต้น (สมภพ  จันทร์ประภา ข่าวสารโลหะกิจ ๒๕๐๕ หน้า ๑๐)
 เมื่อนักแสวงโชคชาวจีนขึ้นเกาะภูเก็ตแล้ว พากันมองหางานที่ตนถนัด ส่วนมากรับจ้างเป็นกุลีขุด และแบกหาม ตามเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งในสมัยนั้น เหมืองแร่ดีบุกส่วนใหญ่เป็นเหมืองแล่น เหมืองปล่อง และเหมืองหาบ (ลักษณะวิธีการทำเหมืองปล่อง ต้องขุดอุโมงลงไปลักษณะเดียวกับการทำเหมืองถ่านหินในยุโรป) ซึ่งต้องใช้แรงงานมากมาย แรงงานจากคนท้องถิ่นไม่เพียงพอ กุลีอพยพมาจากต่างแดน จึงทะลักเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย บรรยากาศของเกาะภูเก็ตที่เคยสงบ กลับคึกคักด้วยชุมนุมของกุลีจีน เช่นโรงเหล้า โรงยาฝิ่น ซ่องโสเภณี โรงหวย บ่อนเบี้ย ฯลฯ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ ประเทืองอารมณ์ เพิ่มชีวิตชีวาและเติมความหวังของกรรมกรให้เกิดขึ้น และเติบโตเคียงคู่ไปกับชุมชน จนรัฐบาล กลางมีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ
 เมื่อคนจีนเป็นนักแสวงโชคที่เข้ามาเป็นกุลี เหมืองสมัยนั้น มีสภาพเลวร้ายมาก เจ้าของเหมืองแร่สมัยก่อน ๆ ไม่ได้ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีเหมือนเดี๋ยวนี้ แร่ดีบุกตอนนั้นราคาไม่ดีนักเจ้าของเหมืองต้องกดราคาค่าจ้างกุลี หรือกระทั่งโกงไม่จ่ายค่าแรงเลยก็มี พวกกุลี ต้องเป็นหนี้สินกันจนเหลือแต่ตัวต้องทำงานต่างทาส ทั้งยังถูกกดขี่ข่มเหง เหยียดหยามว่าเป็นไพร่ชั้นต่ำ ความกดดันเหล่านี้กลายเป็นพลังที่ทำให้เกิดการร่วมกลุ่มต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ ของตนมีหัวหน้าใหญ่ ควบคุมแบ่งเป็นก๊กหลาย กลุ่ม ในสายตาของทางราชการมองว่าเป็นอั้งยี่นั่นเอง เป็นกลุ่มมาเฟีย ยกพวกจับอาวุธเข้าตีกัน เรียกร้องความเป็นธรรม และรักษาผลประโยชน์ของตน มีการยกพวกตีกัน เป็นประจำ อั้งยี่เกาะภูเก็ต มีก๊กใหญ่ ๒ ก๊ก คือ ยี่หิ้น ปุ้นเถ๋าก้ง กับยี่หิ้น ก๊กเกี้ยนเต็ก ซึ่งบาดหมางใจกัน เพราะแย่งสายน้ำทำเหมืองแร่ ถึงขนาดยกพวกตีกัน มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๓๙๘ - ๒๔๑๐ จนครั้งสุดท้ายเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๑๙ โดยอั้งยี่ยี่หิ้นปุ้นเถ๋าก้ง ถูกอั้งยี่ ยี่หิ้นเกี้ยนเต็ก เอาไฟเผาตายเป็นจำนวนนับร้อย ๆ คน ผู้ที่รอดชีวิต ได้ร่วมใจกันสร้างศาลเพื่อเชิญวิญญาณของเพื่อนร่วมสาบานที่ถูกไฟเผาตาย ให้มาสิ่งสถิต และเรียกศาลนี้ว่าศาลเจ้าต่องย่องสู แปลว่า วีรชนผู้กล้าหาญ ศาลนี้ยังปรากฏ อยู่ทุกวันนี้ ที่ตำบลกะทู้ วีระชนเหล่านี้เองเป็นบรรพบุรุษของคนตั้งครึ่ง ค่อนเกาะภูเก็ตในปัจจุบัน
 ขบวนการอั้งยี่ที่เกิดที่ภูเก็ต น่าจะมองได้ว่าเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นเพื่อคัดค้านการเอารัดเอาเปรียบของระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดของชนชั้นนายทุน และขุนนาง การปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม คนโดยมิได้ มีจุดมุ่งหมายการเมืองแฝงอยู่เหมือนอั้งยี่ที่อื่น ๆ (สุวลัย ปิ่นประดับ เกาะมหาสมบัติ ๒๕๒๔ หน้า ๘๘ - ๘๙)
บนเกาะภูเก็ตได้พบสินแร่ดีบุกมีสถานที่หลายแห่ง ดังต่อไปนี้คือ
พิตตอง (PITTONG) (ป่าตอง) ท่าเกรียน (TAKRE-AN) ซัพพาม (SAPPAM) (สะปำ) บ้านเขียน (BAN KHEAN) (บ้านเคียน) บ้านด่าน (BANDAN) บ้านนาใน (BANNANAI) บ้านละพาน (BAN LAPHAN) บ้านนายาง (BANNAYANG) บ้านสาโก (BANSAKO) (บ้านสาคู) บ้านขุนยาง (BANKHOONYANG) กมรา (KAMRA) กะทุง (KATOONG) (กะทู้) ชะลุง (CHALOONG) (ฉลอง) ปากคล้า (PAKKRA) ใกล้เกาะทุมบู (PULOTUMBOO) ทิลลอง ใกล้ปากพระ (TILLONG)และโพคลา (PHOKLAE) ตรงข้ามกับแผ่นดินใหญ่ (นันทา วรเนติวงศ์ จดหมายเหตุ เจมส์ โล ๒๕๑๗ หน้า ๓๘)
 ในรัชกาลที่ ๔ การทำเหมืองดีบุกขยายตัวมากขึ้น กว่าเดิมเพราะมีคนจีนอพยพมาทำเหมืองในภูเก็ต พังงา ระนอง ตะกั่วป่ากันมาก แร่ดีบุกได้มีบทบาทมากขึ้นในแผ่นดินนี้  คือแทนที่จะส่งไปขายเป็นดีบุกปีก  หรือเอามาผสมหล่อพระอย่างแต่ก่อนกลับเอามาใช้เป็นเงินตราใน
พ.ศ. ๒๔๐๕ ฯลฯ (วิชา  เศรษฐบุตร ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ ๒๕๐๖ หน้า ๑๓)
 ประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) เรื่องเปลี่ยนอัตราเก็บค่าภาคหลวงดีบุกเงินเหรียญเป็นเงินบาท ในมณฑลภูเก็ต    (สมภพ   จันทร์ประภา ข่าวสารโลหะกิจ ๒๕๐๕ หน้า ๓๗)

ประกาศตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา
----------------------------------------------
 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมราชโลหกิจ และภูมิวิทยาขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการจะเป็นกรมที่ตรวจตราบรรดาการที่เกี่ยวข้องด้วยแร่ โลหะ - ธาตุ ทั้งประทานบัตร และสัญญาอาทานในการแร่โลหธาตุ และภูมิวิทยาทั้งปวง ในพระราชอาณาจักรสยาม
 ศาลาที่ว่าการสำหรับกรมจะได้ตั้งอยู่ ณ กรุงเทพฯ ที่ตึกใหญ่ศุลกสถานชั้นบนบรรดาชนทั้งหลายที่มีธุระการเกี่ยวข้องกับกรมนี้ จะมายังที่ว่าการในระหว่างเวลา ๔ โมงเช้า จนเที่ยง และเวลาบ่าย ๒ โมง จนบ่าย ๔ โมง ตามเวลาที่ว่าการเปิด และบรรดาหนังสือไปมากับกรมนี้ ให้เขียนถึงเจ้าพนักงานกรมราชโลหกิจ และภูมิวิทยา และหมายมุมซองว่าในราชการเทอญ.

      กระทรวงเกษตราธิการ
     วันที่ ๑ มกราคม  รัตนโกสินทรศก ๒๔ ๑๑๐
           พระยาภาสกรวงษ์ ที่เกษตราธิบดี
      ผู้รับพระบรมราชโองการ

 (สมภพ  จันทร์ประภา ข่าวสารโลหะกิจ ๒๕๐๕ หน้า ๑๗)

 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเกี่ยวข้องบังคับบัญชากรมโลหกิจในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกรมโลหกิจสังกัดอยู่ รวมเวลา ๑๓ ปีเศษ นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ถึง พ.ศ. ๒๔๕๒ สมัยนั้นได้มีการออกพระราชบัญญัติฉบับแรกเพื่อการทำเหมืองแร่ ใน ร.ศ. ๑๒๐ ได้เปิดสาขากองราชโลหกิจและเกษตรมณฑลขึ้นที่ภูเก็ตเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๔๔๑    (สมภพ
จันทร์ประภา ข่าวสารโลหะกิจ ๒๕๐๕ หน้า ก)

การอนุญาตให้ทำแร่
 ในต้นรัชกาลที่ ๕ มาทางรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติ การทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๔๔ ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการทำเหมืองแร่ ฯลฯ จึงได้มีประกาศ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๔๕  ให้ใช้พระราชบัญญัติ การทำเหมืองแร่ใน ๑๒ มณฑล และต่อมาได้ทยอย ประกาศเพิ่มเป็น ๑๗ มณฑล เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๕๙  พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้บัญญัติให้มีการอนุญาต สิทธิเหมืองแร่รวม ๓ ประเภท คือ
 ๑. ใบอนุญาตร่อนแร่ เป็นใบอนุญาตประเภทที่ถือว่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว โอนให้บุคคลอื่นไม่ได้ เพื่อให้ผู้ถือร่อนแร่และโลหะในที่ว่างตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมราชโลหะกิจ และภูมิวิทยา เป็นผู้ออก มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันออก ในการร่อนแร่ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ และจะต้องเสียค่าภาคหลวง สำหรับแร่ หรือโลหะที่ร่อนได้ ตามวิธีการที่กำหนด ผู้ใดฝ่าฝืนทำการร่อนแร่ และโลหะโดยไม่มีใบอนุญาตต้องได้รับโทษปรับครั้งละ ๔๐ บาท (จารุอุดม เรืองสุวรรณ กฎหมายแร่ฯ ๑๐๐ ปี ทรัพยากรธรณี หน้า ๒๖๗)
 ๒. อาชญาบัตรตรวจแร่ ซึ่งเป็นหนังสือ สำคัญที่ออกให้แก่ ผู้ขอเพื่อให้ผู้ถือมีสิทธิทำการสำรวจหรือตรวจแร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมราชโลหะกิจ และภูมิวิทยา เป็นผู้ออกมี ๒ ประเภท  คือ อาชญาบัตรตรวจแร่ และอาชญาบัตรผูกขาดแร่ อาชญาบัตรตรวจแร่ธรรมดา ให้สิทธิผู้ถือในการตรวจแร่ในที่ว่างภายในท้องที่ อำเภอหรือจังหวัดใดตามที่กำหนดไว้ในอาชญาบัตรเป็นสิทธิ เฉพาะตัวโอนให้แก่ บุคคลอื่นไม่ได้ ผู้ประสงค์ ขอรับอาชญาบัตรจะต้องไปยื่นคำขอ ณ สำนักงานท้องที่ ตามแบบพิมพ์ที่กำหนดไว้ด้วยตนเอง หรือจะให้ผู้รับมอบอำนาจไปยื่นขอแทนก็ได้ เจ้าหน้าที่ของกรมราชโลหะกิจ และภูมิวิทยาเป็นผู้ออกมีอายุ ๑ ปี และขอต่อได้ครั้งละไม่เกิน ๑ ปี ในการตรวจแร่ ผู้ถืออาชญาบัตรจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอาชญาบัตร หรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับครั้งละ ๔๐ บาท ผู้ใดตรวจแร่โดยไม่มีอาชญาบัตร หรือตรวจแร่ ขยายอาณาเขตมีโทษปรับครั้งละ ๘๐ บาท
 ส่วนการยื่นขอ อาชญาบัตร ผูกขาด ตรวจแร่นั้น ผู้ขอหรือ รับมอบจะต้องแนบ แผนที่ รายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่ที่ยื่นขอ แสดงจุดแนวเขต สภาพของการใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นที่ว่างเปล่า หรือเป็นที่ที่บุคคลอื่นมีเจ้าของโดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอท้องที่รับรองมาพร้อมกับคำขอ เจ้าหน้าที่ของกรมราชโลหะกิจและภูมิวิทยาเป็นผู้ออกมีอายุ ๑ ปี อาจขอต่ออายุได้ไม่เกิน ๑ ปี แต่จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้า อาญาบัตรผูกขาด ตรวจแร่มีเนื้อที่แปลงละไม่เกิน ๓,๐๐๐ ไร่ ผู้ถือสิทธิมีหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ถืออาชญาบัตร ตรวจแร่ ธรรมดา จะเพิ่มมากกว่าก็เพราะสิทธิให้คุ้มถึงลูกจ้างและสิทธิที่สามารถผูกขาดสำรวจแร่ในพื้นที่ ตามอาชญาบัตรนั้นได้แต่ผู้เดียว (จารุอุดม เรืองสุวรรณ กฎหมายแร่ฯ ๑๐๐ ปี ทรัพยากรธรณี หน้า ๒๖๘)
 ๓. ประธานบัตรทำเหมือง ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญที่ออกให้แก่ผู้ขอ เพื่อให้มีสิทธิทำเหมืองในเขตพื้นที่ที่กำหนด ผู้ที่ประสงค์ที่จะยื่นขอประทานบัตรทำเหมือง จะต้องส่งคำขอตามแบบที่กำหนดไปยังสำนักงานท้องที่พร้อมทั้งค่าธรรมเนียม และแนบหลักฐานต่าง  ๆ บางประการ เช่น หลักฐานการพบแร่ และแผนที่ภูมิประเทศของพื้นที่ตามคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง คำรับรองของผู้ว่าราชการจังหวัดท้องที่ว่าพื้นที่ตามคำขอไม่ได้เป็นพื้นที่ที่อยู่ภายในเขตประทานบัตรของผู้อื่น ที่มีอายุอยู่ หลักฐานแห่งทุนทรัพย์และฐานะอาชีพของผู้ขอรวมทั้งหลักฐานด้านเงินทุนที่จะนำมาใช้ให้เพียงพอเหมาะสมกับโครงการทำเหมืองในพื้นที่ตามคำขอนั้น ประทานบัตรเหมืองมีอายุไม่เกิน ๒๕ ปี ต้องเสียค่าใช้พื้นที่ตามอัตรากำหนด และต้องชำระค่าภาคหลวงสำหรับแร่หลักได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เมื่อคำขอได้รับความเห็นชอบเบื้องต้นแล้ว ผู้ขอจะได้รับแจ้งจากสำนักงานท้องที่ว่าจะให้ผู้ขอทำการรังวัด กำหนดเขตพื้นที่เพื่อทำแผนที่ในประทานบัตรเอง หรือจะให้ช่างรังวัด ของทางราชการ ดำเนินการให้  หากเป็นการสั่งให้ผู้ขอดำเนินการรังวัด กำหนดเขต จะกำหนดระยะเวลา ที่จะต้องรังวัดให้แล้วเสร็จมาด้วย (แต่ต้องไม่เกินกว่า ๑ ปี) ผู้ขอจะต้องดำเนินการดังกล่าว และส่งรายละเอียด แสดงหลักฐานการรังวัดและแผนที่ที่ขึ้นรูป อัตราส่วน ๑ : ๒๐๐  แสดงรายละเอียดของพื้นที่แนวของสายแร่ และแสดงที่ตั้งของการก่อสร้างต่าง ๆ ตามโครงการทำเหมือง ซึ่งมีคำรับรอง ความถูกต้อง ให้สำนักงานท้องถิ่นภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากเป็นกรณีที่แจ้งว่า ทางราชการจะเป็นผู้ดำเนินการรังวัดกำหนดเขต ผู้ขอจะต้องชำระค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งอาจสั่งให้ผู้ขอวางเงินจำนวนนี้ล่วงหน้าก็ได้ ขนาดของพื้นที่ประทานบัตรจะต้องไม่เกิน ๑๐๐ ไร่ สำหรับคำขอ การทำเหมืองในสายแร่ และไม่เกิน ๓๐๐ ไร่ สำหรับ คำขอทำเหมืองในลานแร่ หรือถ่านหิน หรือแร่เหล็ก  ทั้งนี้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ให้มีเนื้อที่มากว่านี้ได้ (จารุอุดม เรืองสุวรรณ กฎหมายแร่ฯ ๑๐๐ ปี ทรัพยากรธรณี หน้า ๒๖๘)
 ผู้ถือประทานบัตรจะต้อง เปิดการทำเหมืองไม่น้อยกว่า ปีละ ๖ เดือน หรือ ๑๒ เดือน ใน ๒ ปี ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ให้หยุด การทำเหมืองชั่วคราว และผู้ถือประทานบัตรต้องจัดให้มีผู้ชำนาญในการ ด้านเหมืองแร่ เป็นผู้จัดการคนหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบในการทำเหมืองแร่ มาตรานี้ได้ถูกยกเลิกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙  รัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้โอนประทานบัตร ออกคำสั่งและกำหนดวิธีการ เรียกเก็บค่าภาคหลวง และค่าธรรมเนียม ตามกฎหมาย ต่าง ๆ ได้มีการปรับปรุงอัตราค่าภาคหลวงแร่บางชนิด เดิมกำหนดให้มีการเรียกเก็บค่าภาคหลวงแร่ดีบุกเป็นเงินเหรียญปีนังต่อหาบ และต่อมาเปลี่ยนเป็นเงินบาท ต่อหาบ ให้ทำราคาแร่ดีบุกที่ซื้อขายกันเป็นราคาสูงที่ปีนังเป็นราคาแร่ดีบุกที่นำมาเทียบตารางแสดงพิกัดเก็บค่าภาคหลวง ซึ่งได้ประกาศให้มณฑลต่าง ๆ ใช้เพื่อเป็นเกณฑ์เรียกเก็บค่าภาคหลวง โดยอัตราค่าภาคหลวง ตามตารางดังกล่าวนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเมื่อราคาแร่ดีบุกสูงขึ้น ซึ่งโดยปกติจะอยู่ประมาณ ร้อยละ ๑๐-๑๕ ของราคาแร่ดีบุก ส่วนแร่ตะกั่วและแร่สังกะสี  เรียกเก็บเมตริกตันละ ๑ บาท และแร่พลวง หาบละ ๑ บาท  ฯลฯ (จารุอุดม เรืองสุวรรณ กฎหมายแร่ฯ ๑๐๐ ปี ทรัพยากรธรณี หน้า  ๒๖๙)
 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์  พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  ทรงเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓) ในการนี้ทรงเสด็จประพาส เมืองภูเก็ต
เมื่อวันที่ ๓๐ วันพุธเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ตี ๑๑ ออกเรือจากตะกั่วป่า เดินทางปากปันส่วนเขาว่าหลีอ๋งปักกรุยแข็งแรงดีมาก จนพระชลยุทธหยอดเต็มที เมื่อเลี้ยวออกมาเกาะภูเก็ต ฝนตกที่เกาะมืดเป็นหย่อม ๆ มีลมรวย ๆ เรือคลอนบ้างเล็กน้อย คนที่แย ๆ ในการคลื่นเมากันหง่อย ๆ สังเกตดูตั้งแต่เห็นเขาชัดมาไม่มีที่เป็นเขาไม้ทึบ เป็นรอยตัดทำไร่ไปทุกเขา แผนที่พระชลยุทธทำมีตำบลบ้านละเอียด ฝนที่เกาะตกมากลมค่อยจัดขึ้น ๆ  แต่พอเข้าในอ่าวภูเก็ตเสียหาไม่เห็นจะถูกคลื่นบ้างที่เกาะตะเภาน้อย  พระอนุรักษ์ทำไลตเฮาท์กับเรือด่านและเสาธงขึ้นไว้ดูงามดี แต่จะเป็นประโยชน์อันใดหรือไม่ยังไม่ทราบ ที่เขาโต๊ะแซเป็นของพระยาวิชิตสงครามทำไว้แต่เดิม พังเสียก็ทำขึ้นใหม่มีเสาธงเหมือนกัน บรรดาอ่าวในหัวเมืองของเราในแถบนี้แล้วที่นี่เป็นดีกว่าทุกแห่ง มีเรือเมล์ปีนังทอดอยู่ ๒ ลำ ๆ ใหญ่ชื่อโรซา เป็นเรือจีน ห้างจ๊กมอ ลำย่อมชื่อเบสี เป็นเรือจีนห้างบั้นชินที่ปีนังทั้ง ๒ ลำ และไม่เดินเป็นกำหนด แย่งกันอยู่เสมอมักจะมาพร้อมกัน ๒ ลำ อยู่ใน ๕ วันมาถึงครั้ง ๑ บรรทุกดีบุกขาออกขาเข้าบรรทุกข้าวและสินค้าเกาะหมากต่าง ๆ เรือเซหัวพระยาระนองก็แวะเหมือนกัน ถ้าไม่มีสินค้าอันใดก็รับหนังสือเมล์ไป (ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๙ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗  หน้า ๑๒๔ - ๑๒๕)
 พระยาศรีสรราชกับพระอนุรักษ์โยธาลงมา แต่เราติดเขียนหนังสือบอกที่จะส่งเมล์พรุ่งนี้ ให้คอยอยู่จนค่ำจึงได้พบพระยาศรีสรราชมาเรือโรซา ว่าเจ้าของไม่เอาค่าเช่าเพราะเป็นข้าหลวงมาราชการ มาถึงวันที่ ๒๘ ต่อว่าพระอนุรักษ์ด้วยมีผู้กล่าวโทษว่าไม่เอาใจใส่การงาน ถามถึงถนนก็ว่าโทรม แต่คราวนี้พวกจีนหัวหน้าช่วยกันทำ จะไปได้ถึงกระทู้ทาง ๒๒๐ เส้น แต่ทางอยู่ข้างอ่อน ฝนตกกลางคืนติด ๆ กันมาเห็นจะลำบากบ้าง แต่กำหนดว่าจะไป ฝนตกตั้งแต่บ่าย ๕ โมงจน ๔ ทุ่มจึงได้หาย แต่ไม่มากถึงซู่ซ่าเป็นแต่พรำมากบ้างน้อยบ้างเป็นคราว ๆ
เขียนหนังสือถวายเสด็จยายฉบับ ๑ ท่านเล็กฉบับ ๑ บอกข่าวในการที่มาเบ็ดเตล็ดนอกเรื่อง จดหมายถึงกรมหลวงให้คิดการที่จะไปเมืองแขกในโปรเตคชั่นอังกฤษ และว่าด้วยเรื่องมรดกพระยาภูเก็ต เงินหลวงค้างให้คิดพูดเสียแฉะอยู่จนป่านนี้ และบอกเรื่องนายตาดบุตรพระยาภูเก็ตจะไปฟ้องมรดก พี่ป้าน้าอาพาหนีไปปีนัง ดูเชื่อถือกันว่าเป็นสัปเยกอังกฤษได้หนังสือไปเป็นสำคัญ ฟังเจ็บหูเต็มที่หนังสือบอกวันนี้ถึง ๖๖ หน้ากระดาษฟุลสแกบ คิดย่นวันที่จะไปต่อไปเพราะเห็นเค้าลมวันนี้จะชวนเปลี่ยนอยู่แล้ว (ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๙ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗  หน้า ๑๒๖)
กลางคืนจุดไฟที่ไลตเฮาท์ทั้ง ๒ แห่ง ดวงก็โตพอใช้ที่พลับพลาหรืออะไรบ้างบนบกจุดไฟสว่าง
 เรือจ้างที่นี่มีลงมา ๒ ลำตอมตามแบบ เป็นเรือ ตุ้งกัง เหมือนที่ปีนัง
 วันที่ ๑ เดือนพฤษภาคม วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เช้ากำหนดว่าจะขึ้นฝนตกเลยนอนเสียจนเช้า ๒ โมง จึงได้ตื่นกินข้าวแล้วฝนหายสนิท ๒ โมงเศษขึ้นบก เรือทอดห่างฝั่งไมล์ครึ่ง มีทุ่นปักรายทางเข้ามาจนถึงตะพาน ที่แห่ง ๑ เป็นที่ทราย เวลาน้ำลงแห้งใช้เป็นอู่เรือ เพราะที่อื่นเป็นเลนทั้งนั้น เรือจอดที่ตะพานทำแอบมากับตะพานหินของเก่ายาวกว่า ๒ เส้น เพราะคลองตื้นดินล้างแร่ ที่หน้าตึกเจ้าที่มีทหารกรุงเทพฯ ที่ออกมาอยู่ กับกรมการและพวกจีนหัวหน้าต้นแซ่มาคอยรับหลายสิบคน มีโปลิศแขกซิกรับแถวหนึ่งด้วย เดินตามทางที่ดาดปะรำและซุ้มใบไม้มาจนตลอดถึงโรงทหาร ทหารแต่ก่อนอยู่ที่ใกล้ออฟฟิศข้าหลวงเจ็บเป็นโรคบวมมากนักจึงได้ย้ายมาตั้งที่นี้ เป็นที่เหมืองดีบุกเก่าริมทะเล แต่โดยขุดแผ่นดินกันพลอนไปจนเหมือนกับปทุมวัน แต่ที่นี่ดีกว่าที่มีมูลดินกองสูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นเนินไปหมดทั้งนั้น ตามห้วงและคลองทั้งปวงที่แก้ไขบรรจบบ้างก็เป็นน้ำจืดขังลงไปจนริมทะเล ในทะเลเป็นหาดทราย เวลาน้ำขึ้นเป็นเกาะเล็ก ๆ น้อยออกไปมาก ปลูกต้นไม้ต่าง ๆ ทำทางเลียบไปเอากรวดวาง ๒ ข้างเป็นเหมือนสวน มีเรือนมีศาลาเป็นหย่อม ๆ ดูเป็นสวนฝรั่งหรือจีนรอบ พลับพลาโรงทหารจัดเป็นที่เลี้ยงแห่ง ๑ ปลูกโรงทหารแห่ง ๑ กระโจมแตรทำด้วยไม้จริง ๒ หลัง ที่ พลับพลาทำ ฯลฯ ที่หน้าพลับพลามีตะพานเสือกข้ามยาวใหญ่ มีเซนตรีบอก ซรายไปตามลูกเนิน แต่ข้างหลังมีรั้วกั้นไม้รอบใกล้กับเหมืองหลวงบำรุงที่กำลังทำงานแลดูจากพลับพลาได้ เครื่องตกแต่งพลับพลาเป็นอย่างปีนัง อยู่ข้างจะทำเรียบร้อยงดงามมาก จนเฟอร์นิเจอร์ก็มีพร้อมทุกอย่าง เป็นของหลวงบ้างของเก็บที่นี่บ้าง พวกจีนมาช่วยตกแต่งบ้าง ต้นไม้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ตั้ง ๒ ข้างกระได การที่ทำ พลับพลาและทำถนนนี้พวกจีนออกทุนทำมาก กรมการไทยเป็นแต่แรงทำการที่ทำเตรียมนั้นมาก คือทำ พลับพลาที่ท่าเรือทาง ๓๒๕ เส้นแห่ง ๑ ตั้งแต่ท่าเรือถึงถลาง ๑๘๒ เส้นแห่ง ๑ ที่วัดมงคลนิมิตแห่ง ๑ ที่กระทู้ทาง ๒๒๒ เส้นแห่ง ๑ ที่เขาโต๊ะแซ (มีเสาธง) แห่ง ๑ ที่เกาะตะเภาแห่ง ๑ เดิมคิดว่าจะไปที่กระทู้ แต่ครั้นเมื่อขึ้นมาถึงให้ไปตรวจดูว่าทางเป็นหล่มหลายแห่ง ตกลงเป็นเลิกไม่ได้ไป (ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๙ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗  หน้า ๑๒๗ - ๑๒๙)
 เดินมาตามทางดูร้อนมาก แต่แดดก็ไม่ออก ต่อขึ้นมาถึงพลับพลาจึงมีลมพัดเย็นสบายดี พอกรมการและจีนมาหาผู้ที่เป็นคนหัวหน้าอยู่ในพวกจีนที่ออกหน้าอยู่ ๓ คน คือ หลวงบำรุงจีนคน ๑ จีนตันเลี่ยน กี่ ลูกหลวงอร่ามคนเก่า ๑ จีนตันเพ็กเกียดลูกหลวงอร่ามคนนี้คน ๑ หลวงสุนทรจีน ประชาปลัด ดูตึง ๆ ไป พวกจีนหัวหน้าอีกประมาณ ๒๐ คนเศษ มีคนที่ได้ยินชื่อเสมอคือ จีนลิมเถคน ๑ อ้ายจีนตันเอียนเยียนอยู่ที่ตลาด เป็นคนทำภาษีอยู่ไม่มาหา มันถือว่าเป็น สัปเยกอังกฤษ แต่งแต่บ้านและโรงบ่อน ตัวออกหน้ารับอยู่หน้าบ้าน กรมการไทยมีพระยศภักดีเป็นผู้ใหญ่คนเดียวนอกนั้นก็เป็นนอนกอมมิศชันหลวงอินมนตรีคน ๑ เป็นเสมียนออฟฟิศคอเวอนเมนต์มาช้านานกับนายตาดลูกพระยาภูเก็ต ของถวายที่เข้มขันอยู่ก็คือหลวงอร่ามสาครเขตต์ตัวไปเจ็บอยู่ที่ปีนังให้ลูกเอารถ ๔ ล้อรถ ๑ กับม้าคู่ ๑ มาให้จีนตันเลี่ยนกีตู้ไม้มะริด ๒ ใบ เจ้าคนนี้ปากคำแข็งแรงมาก นอกนั้นเป็นแต่สัปเพเหระ ไต่ถามกันด้วยการทำเหมืองดีบุก และอื่น ๆ นายตาดถวายตัว    และกัปตันเวเบอมาหาแปลกหน้าจำไม่ได้แก่หัวล้านหมด เมื่อมาคราวก่อนดูยังไม่แก่หัวก็ไม่ล้าน (ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๙ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗  หน้า ๑๓๐)

 ไม่ได้เอนเลย กินของกลางวันแล้วให้สัญญาบัตรจีนตันเลียนกี่ เป็นหลวงขจรจีนสกล จีนตันเพ็กเกียด เป็นหลวงพิทักษ์จีนประชา ที่นายอำเภอจีนทั้ง ๒ คน และแจกของแจกเสื้อทั้งพวกกรมการและจีนกัปตันเวอเบอก็ไห้ด้วย
 บ่าย ๓ โมงไปดูเหมืองหลังพลับพลาที่จีนเรียกว่า "ไฮปา"  เป็นเหมืองของหลวงบำรุง ว่าทำมา ๒๕ ปีแล้ว ทำที่อื่นอีกเป็น ๕ ตำบลด้วยกัน ใช้คน ๑๓๐๐ คน แต่เหมืองนี้เหมืองเดียว ว่าคนอยู่ใน ๙๐๐ ได้แร่ปีละ ๔๐ คลวง ๆ ละ ๕๐ หาบ ในเหมืองเดียวถ้าได้อย่างมาก ๒๙ ถังอย่างน้อย ๗ ถัง ที่นี่ขุดลึกกว่าระนองมาก ตั้งแต่หลังดินลงไปถึงแร่ ๗ วา ๒ ศอก ที่ซึ่งกำลังขุดอยู่นั้นกว้างเส้นเศษเกือบ ๒ เส้นยาวเกือบ ๔ เส้น มีตะพานข้าม ๓ ตะพาน ตะพาน ๑ มีทางเดิน ๒ สาย คือไปสาย ๑ มาสาย ๑ จีนขนดินเดินเนื่องกันมิได้ขาด ดินที่ขนนี้คือขุดดินหน้าแร่เท่านั้น เขาจ้างเป็นรายวันไม่ได้เหมาเลย วันหนึ่งอยู่ในอย่างสูงเพียง ๒๙ เซนต์ อย่างต่ำ ๒๐ เซนต์ตามคนที่หมั่นและเกียจคร้าน ที่ระนองก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน แต่คนอย่างต่ำที่สุดได้ถึงเดือนละเหรียญ เห็นจะกดขี่กันได้มากกว่าที่นี่ ส่วนการที่ขุดแร่นั้นเป็นคนละเรื่องกันกับที่ขุดดินทีเดียว ในเหมืองที่ไปดูนี้ขุดอยู่ ๒ แห่ง ฟันดินเป็นทางเดินขึ้นมาหารางที่ล้าง รางนี้ตั้งอยู่สูงขึ้นมาจากที่ขุดกว่ากึ่งทางที่จะขึ้นถึงดินข้างบนสักหน่อยหนึ่ง ใช้รางใหญ่กว้างสักศอกเศษ แร่เป็นเม็ดใหญ่และดูได้มากกว่าระนองมากว่าแร่ ๑๐๐ ชั่งได้ดีบุกถึง ๕๕ ชั่ง ศิลาที่ขุดขึ้นมามีแร่ปนก็มีมาก ที่เป็นเช่นนี้ว่าบางแห่งเป็น ถ้าเช่นนี้ก้อนศิลาที่ร่อนขึ้นจากรางต้องเลือกอีกชั้น ๑ ถ้ามีแร่ติดเอาไปตำล้างต่างหาก แต่ถามถึงกระเดื่องที่ใช้แรงน้ำว่าไม่มี ใช้ตำด้วยแรงคน ถึงการที่ตำตะกรันชั้นหลังก็ใช้ตำด้วยแรงคนเหมือนกัน แต่เขาไม่ขายเหมือนที่ตะกั่วป่า ที่นี่มีสูบน้ำ กลไฟ ๓ สูบ ตั้งอยู่ที่บ่อนี้ใกล้หลังพลับพลาสูบ ๑ ได้ไปดูเห็นเป็นอย่าง Locomotive ร้าน J.H. Gwynn Hammersmith Iron Works London. ขนาดสูบ ๘ นิ้ว หมุนสูบเซนติฟิวคัล ขนาดพอ ๘ นิ้ว สูบน้ำในเหมืองขึ้นมาลงรางไปล้างแร่ ปลายรางไปลงในเหมืองกรองสูบขึ้นมาล้างใหม่ ราคาเครื่องสูบนี้ ๒๖๐๐ เหรียญ เหมืองนี้น่าดูกว่าระนองมาก แต่การที่จะไต่ถามอะไรประดักประเดิดเต็มที เพราะพูดเสียงและสำนวนชาวนอกนี้ก็พอใช้อยู่แล้วซ้ำเจ๊กพูดเข้าด้วยฟังยากกว่าสวดมนตร์มอญมาก โก๋ถึงกับถังเรียก "ถอง" เกือบหมดปัญญา การที่ทำใช้ลูกจ้างเช่นนี้เป็นอย่างเช่นเมืองระนองทำ
ยังมีอีกอย่าง ๑ ที่จีนตันเลียน กี่ ทำ เรียกว่าอย่าง "โจปูน" คือทำข้าวกันกับลูกจ้าง ปันกันดังนี้ นายเหมืองต้องลงทุนซื้อเครื่องมือจ้างนายการที่ ๑ ที่ ๒ จ้างคนทำกับข้าว จ้างสานปุ้งกี๋ ค่าข้าวสาร ทำโรงกงสีให้ลูกจ้างอยู่ ต้องรองทุนให้ลูกจ้าง แต่ถ้ารองไป ๙๐ เซนต์คิดเป็น เหรียญหนึ่ง แต่กับข้าว ยาฝิ่นยาแดงเป็นของลูกจ้างซื้อเอง (ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๙ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗  หน้า ๑๓๑ - ๑๓๓)
 วิธีที่ทำนั้นคือลูกจ้างขุดแร่ได้เท่าใด ต้องมาถลุงที่โรงคลองของนายเหมือง ต้องเสียค่าเช่าโรงให้นายเหมืองคลองละ ๓๐ เหรียญ (ถ้าไม่ใช่ โจปูนเรียกค่าเช่าคลองละ ๓ - ๔ เหรียญเหมือนที่ตะกั่วป่า) ถลุงได้เนื้อดีบุกเท่าใดปันส่วนเป็นของนายเหมือง ๕๙ ลูกจ้าง ๔๑ ส่วน แต่ส่วนที่แบ่งนี้ไม่แน่ ถ้าเหมืองดีได้เนื้อดีบุกดีนายเหมืองเอาส่วนมากขึ้น ถ้าเหมืองไม่ดีต้องปันส่วนให้ลูกจ้างมากขึ้นดีบุกที่เป็นส่วนของลูกจ้างก็ต้องมอบให้นายเหมืองไปขายที่เกาะหมาก ได้ราคาเท่าใดนายเหมืองหักค่าที่ทดรองให้ลูกจ้าง เหลือเป็นส่วนของลูกจ้างเท่าใดนายเหมืองเก็บไว้ถึงปีคิดบัญชีแจกกันครั้ง ๑
 อีกอย่าง ๑ เรียก " โจเท่อ " เหมือนกันกับอย่างโน้นแปลกแต่ลูกจ้างได้แร่เท่าใดต้องมาขายให้กับนายเหมือง ขายกำหนดราคา ๒๘ ชั่งจีนต่อเหรียญกับ ๓๐ เซนต์ แต่ราคาไม่เป็นกำหนดเท่านี้แน่ตามเวลาราคาตลาดขึ้นลง ถ้าเช่นนี้นายเหมืองถลุงเองขายเอง
 เวลาไม่พอที่จะถามขาดไปอีกหลายอย่าง จีนที่ทำเหมืองใหญ่ไม่มากคนนัก ที่มาหาวันนี้เป็นคนที่ทำเหมืองแล่นมาก เหมืองแล่นนั้นถ้าถูกที่ดีก็มีกำไรมาก ลางทีก็ไม่ได้เลย
 ผู้ที่ทำกู้เงินที่ปีนังมากเสียดอกเบี้ยเดือน ๑ ร้อยละเหรียญครึ่ง ไม่ช้าก็ต้นชนดอก แต่เดี๋ยวนี้ว่าไม่ใคร่ให้กู้ เพราะแร่ดีที่ "แด่ ๆ" ไม่ใครมี
 ที่เหมืองเหล่านี้ดูไม่มีตาน้ำที่ตกริน ๆ เหมือนกับที่ระนอง แต่เขาว่าขุด ๆ ลงไปน้ำทะเลมักจะพลุ่งขึ้นมาเพราะที่ทำนี้ชิดทะเลทีเดียวจนตามที่หน้าพลับพลาที่ขุดแล้วอยู่กับหาดทรายที่จมน้ำทะเลทีเดียว ต้องตั้งคันบังน้ำตั้งกองสูบน้ำทำจนได้ เดิมเมื่อยกโรงทหารลงมาตั้งที่นี้หลวงบำรุงมาหวงแหนว่าเป็นที่ของตัว แต่พระชลยุทธไม่ฟังก็เป็นสงบไป (ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๙ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗  หน้า ๑๓๔)
กลับมาจากที่ดูเหมืองอยู่ข้างจะเย็นมาก แต่เว้นไม่ได้ ต้องเดินลงตามทางที่เขาทำเลียบไปริมน้ำและในส่วนที่ทหารปลูกต้นไม้ไว้ มีกล้วยอ้อยและผักต่าง ๆ จนไม้ดอกมีมะลิซ้อน ดาวเรืองมาก มีคลองเข้ามาแต่ทะเลถึงที่ห้วงน้ำได้ ๒ แห่ง ห้วงข้างนอกนี้เป็นน้ำเค็ม ที่ข้างในเขามีประตูคั่นไว้ ที่แลเห็นวันนี้ ๒ ทาง ที่ขังน้ำไว้นี้สำหรับสูบกลับไปใช้ในการเหมืองอีก ถ้ามากเหลือเกินก็ไขปล่อยไปเสีย ดูการที่ระวังน้ำเป็นการสำคัญใหญ่ยิ่ง เป็นสิ่งที่จะเกิดวิวาทบาดทะลุงอะไรได้หมดทั้งนั้น
เหมืองที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้เขายื่นจำนวนว่าเป็นเหมืองใหญ่ ๖๒ ตำบล เหมืองน้อย ๖๙ ตำบล รวม ๑๓๑ เหมือง มีคนทำการอยู่ในเหมืองทั้งสิ้น ๘๙๘๔ คน มากกว่าที่ตะกั่วป่าครึ่ง ๑ ที่โน่นเขาว่า ๔๐๐๐ คน มากกว่าระนอง ๓ เท่า (ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๙ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗  หน้า ๑๓๕)

จำนวนคนเข้าออกในปีกลายนี้ตกไปว่าเพราะน้ำไม่ดีเรียกบัญชีมาดูได้ ๒ จำนวนพอเทียบปี คือ
ปีชวดสัมฤทธิศก ๒๑ จีนเข้า ๗๐๖๐ คน ออก ๔๔๖๘ คน เข้ามากกว่าออก ๒๕๙๒ คน
รัตนโกสินทร์ศก ๒๒  ๑๐๘ เข้า ๕๖๙๐ คน ออก ๖๘๑๘ คน ออกมากกว่าเข้า ๑๒๐๙ คน
คิดใน ๒ ปีที่เป็นดีปี ๑ ไม่ดีปี ๑ คนเข้าและออกหักกันยังเหลือติดเมืองอยู่ ๑๔๖๔ คนแต่จำนวนสำมะโนครัวที่ตรวจใหม่ ได้ตรวจแต่ภูเก็ตกับกะทู้ที่อื่นเป็นบัญชีเก่าเพราะธุระแต่ตรวจรับเสด็จได้จำนวนที่ยื่นคือ
ไทย จีน แขก ใน ๘ อำเภอเมืองภูเก็ต ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่รวม ๕๙๑ เชิงเรือน เป็นจำนวนคน ๒๒๗๗ คน (ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๙ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗  หน้า ๑๓๖)
ที่ตั้งโรงตึกร้านแถว ตลาดใหญ่เมืองภูเก็ต ตึก ๓๑๑ หลัง เรือน ๓๖๗ หลัง รวม ๖๗๘ ชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ที่อยู่ ๒๗๖๗ คน
ที่ตลาดกะทู้เป็นจำนวนตึก ๒๖ หลัง โรงร้าน ๑๑๒ หลัง รวม ๑๓๘ คนชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ที่อยู่ ๖๒๓ คน
ไปขึ้นรถที่เชิงเนินกลับลงตามทาง ที่ดาดปะรำผ้าขาว แล้วเลี้ยวไปข้างเรือนเจ้าท่า ผ่านไปในกลางเหมืองทั้ง ๒ ข้าง ดูแผ่นดินขุดกันจนพลอนไปหมด ข้างคลองก็จนตกคลอง ข้างทะเลก็จนตกทะเล ที่ตามปากเหมืองกำลังทำการมีโรงจีนเป็นหย่อม ๆ ที่เป็นเหมืองเก่าปลูกต้นมะพร้าวตามขอบบ้าง มีโรงจีนเจ้าของเกวียนรับจ้างบรรทุกข้าวหลายโรง มีเกวียนกระบือล้ออย่างรถ พื้นกระดานไม่มีพนักเช่นใช้บรรทุกดีบุก และบรรทุกของขึ้นไปเขาวังที่ระนองหลายสิบเกวียน สำหรับรับจ้างบรรทุกข้าวสารขึ้นไปที่ตลาด เขาปักฉลากระยะทางไม่ทีละ ๑๐ เส้นหรือ ๕๐ ปักที่ละเส้น นับเข้าไปได้ ๒๕ เส้นถึงบ้านหลวงบำรุงอยู่ต้นทาง ที่กว้างใหญ่ปลูกต้นมะพร้าวเต็มทั้งบ้าน มีตึกและโรงหลังคามุงกระเบื้องใหญ่ ๆ หลายหลัง จีนนั่งอยู่หน้าบ้านมาก ที่ริมรั้วบ้านทำเป็นคลองน้ำคล้ายกับที่ไขน้ำมาเข้าเหมือง กว้างสัก ๓ ศอกเศษหรือ ๔ ศอกกว่าเป็นที่สำหรับอาบกิน เห็นจีนลงอาบอยู่ลึกนั่งเสมออก แต่สายที่ลงไปล้างแร่นั้นว่าไปทางหลังบ้าน ดูอยู่ข้างจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ถึงสวนมะพร้าวซึ่งมีทุกบ้านล้วนแต่งาม ๆ ก็เพราะจะอาศัยสายน้ำนี้ซึมซาบด้วยเหมือนกัน ต่อขึ้นไปแลเห็นบ้านหลวงอร่าม บ้านตันเลี่ยนกี่ ล้วนแต่ตึกโต ๆ แต่เป็นอย่างแคมโค้งทั้งนั้น ที่บ้านเลี่ยนกี่ก็มีคลองขุดเข้ามาตัน ว่าขุดใหม่ลงเขื่อนหิน เพราะโรงตีตราดีบุกอยู่ที่หน้าบ้าน เขาดีตราแล้วบรรทุกไปลงเรือทีเดียว เข้าไปจนเรือนกัปตันเวเบอ อยู่ริมประตูคอเวอนเมนต์ออฟฟิศ ทางสัก ๓๐ เส้นเศษเป็นปากตลาด เป็นตึกตลอดทั้งสองฟาก ผู้คนแน่นหนามาก ขายของกินเป็นพื้น ไม่ต้องกล่าวยืดยาวคือตลาดสำเพ็งเรานี่เอง (ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทางบก ทางเรือ รอบแหลมมลายู ร.ศ. ๑๐๙ เล่ม ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗  หน้า ๑๓๘)


 สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเลือกได้มิสเตอร์ เฮนรี่ ยอช สก๊อต วิศวกร เหมืองแร่ชาวอังกฤษ ทำสัญญาจ้างไว้ในราชการกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๔๑ โดยให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนเจ้ากรมราชโลหกิจฯ อยู่ปีหนึ่งก่อน เพื่อเรียนรู้ราชการปีต่อไปจึงจะให้รับหน้าที่เป็นเจ้ากรม มิสเตอร์ สก๊อต ได้ทำประโยชน์ในด้านโลหกิจมาก (สมภพ  จันทร์ประภา ข่าวสารโลหะกิจ ๒๕๐๕ หน้า ๔๙)
ในสมัยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ MR. H.G. SCOTT เจ้ากรมโลหกิจซึ่งปฏิบัติหน้าที่มานานถึง  ๙   ปี  ทำให้ผลผลิตแร่ดีบุกเริ่มมากขึ้น  และนับว่าการทำเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมเป็นล่ำเป็นสันได้ในรัชกาลที่ ๖ (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ   ๒๕๐๖ หน้า ๑๗ )
 จากจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เสด็จเมืองภูเก็ตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) ฯลฯ
 วันที่ ๒๘ เมษายน รัตนโกสินทร ศก ๔๒ ๑๒๘  เช้าวันนี้ได้เสด็จไปเปิดถนนอีกสายหนึ่ง คือสายที่ไปอำเภอกระทู้ จากที่ประทับไปถึงหัวถนนต้องผ่านไปทางตลาดในเมือง ส่วนการพิธีเปิดก็อย่างเดียวกันกับ การเปิดถนนเทพกษัตรีย์ ถนนสายกระทู้นี้ผ่านไปทางเหมืองดีบุกโดยมากและผ่านวัดเก็จ ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองภูเก็ตเก่า เพราะฉะนั้นนับว่าเป็นถนนที่เชื่อมเมืองภูเก็ตเก่ากับใหม่ พระราชทานชื่อว่า "ถนนวิชิตสงคราม" ตามนามท่านพระยาจางวางเมืองภูเก็ตซึ่งเป็นผู้ได้ตั้งเมืองภูเก็ตใหม่นี้ขึ้นเป็นเมือง
 เสร็จพิธีเปิดถนนแล้ว ทรงรถยนต์ไปตามถนนนั้นเป็นถนนดีโรยศิลาแล้วตลอด รูปถนนนี้เปรียบเหมือนบ่วงบาศบ่วงอยู่ในหุบเขาโอบเหมืองและหมู่บ้านกระทู้ไว้ ปลายเชือกยื่นเข้ามาต่อกับตลาดในเมือง รวมระยะทางถนนทั้งสิ้นสองร้อยเส้นเศษ ถนนนี้ถ้าไม่ผ่านไปในขุมเหมืองก็ไปริม ๆ เห็นเหมืองเกือบตลอดทาง แต่ก็มีที่งาม ๆ น่าดูอยู่มาก ถ้าจะว่าถึงความงามกันแล้ว เมื่อวานนี้สู้ไม่ได้ วันนี้มีเขามาก เพราะฉะนั้นก็มีห้วยหุบมาก ตอนเมื่อเข้าในแดนอำเภอกระทู้แล้วได้สักหน่อย ถนนผ่าไปในเขา พอโผล่ออกไปราวกับเปิดฉากละคร เขาซ้อนกันเป็นวงรอบ  แล ๆ ไปราวกับจะไม่มีทางออก ถนนเลียบวงไปตามไหล่เขาข้างหนึ่ง แลดูลงไปที่พื้นหุบคล้ายดูแผนที่ ซึ่งได้ดุนเนินให้นูน ๆ ขึ้นมาเพื่อให้แลเห็นง่าย ๆ ฉะนั้น ไปต่ออีกหน่อยถึงทางสามแพรกริมวัดเก็จมีโรงพักตำรวจภูธรอยู่ตรงนี้โรงหนึ่ง ได้ขับรถไปทางแพรกซ้าย เข้าไปในวงเขาอีกชั้นหนึ่งใหญ่กว่าวงที่แล้วมา แต่ไม่งามกว่า ต่อไปอีกไม่ช้ามีถนนแยกเลี้ยวซ้ายขึ้นไปจนถึงเชิงเขาน้ำตก ลงจากรถที่เชิงเขานี้ ทูลกระหม่อมทรงพระเก้าอี้หามพวกตามเสด็จเดินขึ้นไป แต่เจ้าคุณเทศายอมแพ้ในการที่จะเดินต้องขึ้นรถม้า  ม้าลากรถจริง แต่ต้องมีคนรุนท้ายอีกหลายคน
 ถึงน้ำตก พอแลดูน้ำลำธาร มีต้นไม้ร่มรื่นชื่นใจหายเหนื่อยหายร้อนทันที ที่น้ำตกนั้นมีรางไม้ต่อออกมาเพื่อให้ตกตรงก้อนศิลาก้อนหนึ่ง พอเหมาะเป็นแท่นที่นั่งอาบ กับที่แอ่งนั้นได้ก่อเป็นทำนบกั้นน้ำไว้เป็นตอน ๆ ทูลกระหม่อมเสด็จลงสรงในอ่างบนและที่น้ำตก พวกที่ตามเสด็จก็ได้ลงอาบด้วย ช่างสนุกและสบายเสียจริง ๆ พากันนึกเสียดายว่าไม่มีที่เช่นนี้อยู่ใกล้ ๆ บางกอก เจ้าคุณรัษฎาก็ได้ลงอาบ รูปร่างท่านงามจริงๆ พวกตามเสด็จพากันไปช่วยอาบให้ท่าน ร้องกันว่าสรงน้ำพระสังข์กระจาย อยู่ข้างจะเฮฮากันมาก แต่ใต้เท้ากรุณาไม่ได้อาบ ขึ้นชื่อว่าน้ำที่ไม่ได้เจือน้ำร้อนท่านอาบไม่ได้เลย ตั้งแต่ท่านกลับมาจากยุโรปเคยอาบแต่น้ำที่เจือน้ำร้อนท่านว่ายิ่งเป็นน้ำลำธารเช่นนี้ท่านอาบไม่ได้เป็นอันขาด เพราะจะเย็นเฉียบเหลือทน ผมสังเกตดูเมื่อเวลาลงไปอาบกัน ท่านนั่งดูอยู่ดูเหมือนท่านจะออกหนาวแทน ส่วนตัวท่านเองนั้นท่านว่าถึงแม้จะให้สินจ้างท่านสักหมื่นเหรียญก็ไม่อาบ ท่านพูดดูเหมือนผู้ที่อาบนั้นตัวเป็นเหล็กเป็นหลาย จึงลงไปแช่อยู่ในน้ำแข็งได้ ผมเชื่อว่าถ้าให้ท่านอาบจริง ๆ ก็คงจะเจ็บ เพราะใจท่านตั้งมั่นไว้เสียแล้วว่า "หนาว! หนาว!" ต่อให้น้ำนั้นร้อนเป็นน้ำต้มท่านก็คงรู้สึกว่าเย็นริม ๆ น้ำแข็ง แม้จะให้เอามือจุ่มลงไปในน้ำก็ดูเหมือนจะไม่สมัคร เป็นธรรมเนียมใต้เท้ากรุณาท่านอยู่ข้างจะเชื่อตาท่านมาก ตาท่านเป็นอย่างไรใจท่านก็ตั้งมั่นอยู่เช่นนั้น ผมได้เคยสังเกตมาแล้วว่า กับข้าวหรือขนมทุก ๆ ชนิด ถ้าสีงามท่านจึงจะชมว่าอร่อย ถ้าท่านไม่ชอบสีจะบอกท่านว่าอร่อยสักเพียงไรท่านก็ไม่ใคร่สมัครลอง หรือถึงลองก็บอกว่าไม่อร่อย เมื่อแรก ๆ ผมเข้าใจว่าท่านแกล้งพูดเล่น แต่เมื่อสังเกตมานาน ๆ ก็เห็นว่าไม่มีแกล้งอยู่ในนั้นเลยเป็นนิสัยของท่านเช่นนี้เท่านั้น
 สรงแล้วประทับพักอยู่ที่พลับพลาริมธาร กำนันจัดน้ำชาถวายและเลี้ยงทั่วกัน ท่านหลงจู๊ (หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าหลวงคลัง) ได้ขึ้นไปช่วยในการเลี้ยงอย่างแข็งแรง เพราะกำนันเป็นลูกสมุนของท่าน คือเป็นผู้รับจำหน่ายยาฝิ่นที่อำเภอกระทู้ ท่านหลงจู๊ สั่งน้ำแข็งขึ้นไปเลี้ยงเสียหมด จนท่านเจ้าเมืองไม่มีจำมาเลี้ยงที่พลับพลาประทับแรมนี้


 ประทับอยู่จนบ่ายโมงเสด็จกลับ ทรงรถไปตามถนนวิชิตสงครามอีก แวะทอดพระเนตรที่ว่าการอำเภอครู่หนึ่ง แล้วเสด็จต่อไป ผ่านตลาดกระทู้ซึ่งมีบ้านเรือนร้านมากสองฟากถนน เป็นหมู่บ้านใหญ่มาก ต่อจากตลาดมาอีกหน่อยผ่านวัดเก็จซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองภูเก็ตเก่า แล้วกลับมาลงทางเดิม การไปมาวันนี้นับว่าไม่มีเหตุการณ์อันใด นอกจากคุณจางวางรถม้าเกือบทับสุกรตัวหนึ่ง แต่สุกรนั้นรูปพรรณสัณฐานก็ไม่แปลกไปจากธรรมดา (จดหมายเหตุ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ของสมเด็จพระปรเมนมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๐๖ หน้า ๑๐๔)


 จากศาลารัฐบาล ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเหมืองของ อำแดงหั้ว ซึ่งอยู่ริมฝั่งลำน้ำภูเก็ต ไม่ห่างจากฝั่งอ่าวนัก มีดินเป็นคันอยู่ระหว่างขุมเหมืองกับลำน้ำ ได้ทราบว่าพอขุดแร่หมดขุมนี้แล้ว เขาจะอนุญาตขุดที่ในลำน้ำเดี๋ยวนี้ จะขุดคลองให้ลำน้ำเดินไปใหม่ ทางที่เป็นขุมเหมืองอยู่เดี๋ยวนี้ แม่น้ำภูเก็ตนี้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเล่นได้ตามใจเช่นนี้เอง ชอบกลอยู่เหมืองอำแดงหั้วที่ไปทอดพระเนตรวันนี้ ก็พอเป็นอย่างให้เห็นว่าเหมืองเดี๋ยวนี้ทำอย่างไรกัน วิธีทำดูก็ไม่เป็นวิธีที่แปลกหรือพิสดารอะไร เมื่อผมมาเที่ยวทางนี้ ๒๐ ปี ล่วงมาแล้ว ผมได้เคยดูเหมืองแห่งหนึ่ง ก็จำได้เป็นอย่างที่เห็นวันนี้เอง คือขุดเป็นขุมลงไปอย่างขุดสระนั้นเอง ก่อนที่จะถึงดีบุกต้องขุดดินที่ทับอยู่เป็นแผ่นข้างบนนั้นเสียก่อน ใช้จอบอย่างจีนฟันแล้วขนดินลงบุ้งกี๋หาบไปเทให้ห่างออกไปจากที่ตรงที่ขุดผู้ขนดินไปตามตะพานซึ่งทำเป็นคู่ เดินไปสายหนึ่ง กลับสายหนึ่งเพื่อมิให้โดนกันกลางทาง ตะพานนั้นบางทีสูง ๆ มาก ใช้กระดานทอดแผ่นเดียวโดยมากคนขน เดินไต่เดียะ ๆ ไปรวดเร็วน่าดูจริง ๆ ดูขุดราวกับเครื่องจักร เมื่อพ้นดินลงไปแล้ว ถึงชั้นทรายกับหิน ซึ่งมีแร่ปนอยู่ในนั้น วิธีขุดและขนก็อย่างเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว แต่ไม่ไปเทลงเป็นกองไว้เฉย ๆ อย่างดิน ต้องไปเทลงในรางน้ำที่สำหรับล้าง รางนี้ทำด้วยไม้ต่ออกมาจากเชือกน้ำที่ทำไขลงมาจากเขา รางวางระดับเท ๆ ให้น้ำไหลเรื่อย พอเททรายที่มีแร่ปนอยู่นั้นลงไปในรางน้ำก็พัดทรายลงไป ส่วนแร่หนักไม่ไหลไปตามน้ำ แต่ต้องคอยคุ้ยอยู่เสมอ ถ้าไม่คุ้ยทรายมาเกาะกันจนแน่นไม่ไหลลงไปน้ำก็จะพาดีบุกลงไปเสีย พอล้างเห็นว่าดีบุกแยกจากทรายมากพอแล้ว ก็ตักขึ้น ส่วนลูกหินที่ติดลงไปด้วยในราง เก็บขึ้นกองไว้สำหรับรัฐบาลใช้ทำถนน วิธีที่ทำเมื่อไปดูด้วยตา ดูเข้าใจง่ายกว่าฟังเขาเล่าเป็นอันมาก (จดหมายเหตุ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ของสมเด็จพระปรเมนมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๐๖ หน้า ๑๐๙ -๑๑๐)
ในส่วนคำที่ใช้ในเรื่องทำเหมืองนี้ ควรอธิบายให้แจ่มแจ้งอยู่บ้าง คำว่าเหมืองนี้เอง ถ้าผู้ที่ออกมาทางนี้ใหม่ฟังมักฉงน เพราะตามความเข้าใจโดยมาก เหมืองแปลว่าคลองน้ำเล็ก ๆ แต่ที่ตามแถบนี้ คำว่าเหมืองใช้เป็นชื่อของบ่อแร่ทั่วไปส่วนคลองน้ำที่ไขมาใช้ล้างแร่ ซึ่งตามความจริงควรจะเป็นเหมืองนั้นเรียกกันว่าเชือกน้ำ เชือกน้ำที่ใช้ในการทำเหมืองเช่นนี้ มักทำต่อมาไกล ๆ เช่นที่ในภูเก็ตนี้ ทำเชือกน้ำต่อลงมาจากเขาทางกระทู้ทั้งนั้น เมื่อทำมาไกล ๆ เช่นนี้ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีความลำบากในการรักษาเป็นอย่างยิ่ง เชือกน้ำเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเหตุวิวาทกันได้มาก คือลักปิดหรือตัดเชือกน้ำกันเป็นต้น ผมยังจำได้ว่าได้ฟังเขาเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งที่ทางเมืองระนองเกิดลักตัดเชือกน้ำกัน เป็นเหตุใหญ่จนยกพวกตีกันถึงล้มตาย และเจ็บกันมากทั้งสองฝ่าย การที่จะรังแกกันจะทำอย่างไรให้เจ็บแค้นเท่าตัดหรือปิดเชือกน้ำไม่มีเลย เพราะตัดหนทางที่จะได้ผลประโยชน์อย่างสำคัญ เท่ากับตัดอาหาร การทำเหมืองถ้าไม่มีเชือกน้ำก็ทำไปไม่ได้ ในเวลานี้ก็ยังมีเป็นความกันเรื่องเชือกน้ำอยู่บ้าง แต่ที่จะถึงรบกันนั้นน้อย (จดหมายเหตุ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ของสมเด็จพระปรเมนมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๐๖ หน้า ๑๑๑)


เวลาบ่ายเสด็จโดยรถม้าไปที่ท่าโรงภาษี ทรงเรือกรรเชียงออกไปทอดพระเนตรเรือขุดแร่ ของบริษัททองคาฮาร์เบอร์ตินเดร็ดยิง ซึ่งทำการขุดดีบุกในอ่าวภูเก็ต เร็วนี้คล้ายเรือที่ใช้ขุดคลอง แต่มีเครื่องล้างแร่แกมอยู่ด้วย ส่วนเครื่องขุดนั้นไม่ผิดอะไรกับเครื่องขุดคลอง คือมีถังติดไว้กับสายโซ่เดินวนตามวิธีเดียวกับระหัดน้ำ ของไทย ๆ เรานั้นเองดินและทรายที่ตักขึ้นมานั้น ขึ้นไปเทลงในรางใหญ่อันหนึ่งในรางนี้มีลูกกลิ้งกลวงเจาะรูปรุรอบตัว ในลูกกลิ้งมีท่อน้ำ สูบน้ำขึ้นไปพ่นออกตามท่อนี้ พอดินและทรายจากถังตกลงไปในลูกกลิ้งนี้ ถูกน้ำฉีดล้างดินและทรายไหลลงรางไป แร่กับกากที่หนักก็ลอดรูตกลงไปที่รางชั้นล่างนี้อีกชั้นหนึ่ง ในรางชั้นล่างนี้มีน้ำไหลอยู่เสมอ พอตกถึงรางชั้นล่างนี้ ก็ใช้ล้างโดยวิธีเดียวกับที่จีนทำนั้นเอง น่าดูเครื่องจักรของเขาจริง ๆ และนึกเปรียบวิธีฝรั่งกับวิธีจีนช่างผิดกันจริง ๆ ของฝรั่งใช้แรงคนน้อยแต่ได้เนื้อมาก ของจีนใช้คนมากแต่ได้เนื้อแร่น้อย ที่เหมืองอำแดงหั้วที่ไปดูเมื่อเช้านี้ ใช้กุลีตั้งร้อยขึ้นไป ส่วนในเรือขุดนั้นเขาใช้คนรวมเบ็ดเสร็จเห็นจะสัก ๑๒ คนได้ เขามีเรืออยู่บัดนี้ ๓ ลำ แต่ยังเสียอยู่ลำหนึ่ง คงใช้ได้อยู่ ๒ ลำ แต่ถึงกระนั้นยังได้เนื้อแร่มากมายนักหนา ภายในสามวันที่แล้วมานี้ ได้เนื้อแร่ ๘ ตัน ซึ่งเป็นอย่างประหลาด น่าชมความอุตสาหของเขาที่พยายามขุดแร่ขึ้นมาจากพื้นทะเล ที่ตรงที่เรือซึ่งเสด็จไปทอดพระเนตรขุดอยู่นั้น เดิมพระพิไสยได้ขุดอยู่ แต่ต้องเลิกไปเพราะเปลืองโสหุ้ยมากนัก ต้องใช้กุลีกว่าพัน ที่พระพิไสยขุดแล้วทิ้งแล้ว เขายังมาขุดได้อีกเป็นก่ายเป็นกอง นึกไปนึกมาก็ยอมว่าต้องสรรเสริญความเพียรของเขา แต่ก็อดนึกอนาถใจไม่ได้ ทรัพย์อยู่ในแผ่นดินของเรา พวกเราขุดขึ้นมาไม่ได้ ต้องให้คนต่างชาติต่างภาษามาขุดขึ้น เงินที่ควรจะตกอยู่ในเมืองเราก็ต้องปล่อยให้ออกไปเสีย จริงอยู่รัฐบาลของเราก็เก็บภาษีได้มาก แต่ส่วนที่ได้น้อยนัก และส่วนภาษีที่รัฐบาลจะเก็บได้นั้น ถึงใคร ๆ ทำก็คงจะต้องได้เสมอกัน เพราะฉะนั้นฝรั่งหรือไทยหรือจีนทำก็เหมือนกัน ยิ่งนึกไปก็ใจยิ่งนึกเสียดายหนักขึ้น ยิ่งพูดไปก็จะยิ่งเพ้อเจ้อ เพราะฉะนั้นผมของดไว้ดีกว่า ฯลฯ (จดหมายเหตุ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ของสมเด็จพระปรเมนมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๕๐๖ หน้า ๑๑๒ - ๑๑๓)


 พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครั้งที่ดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช) กราบบังคมทูลรายงานกิจการเหมืองแร่ของมณฑลภูเก็จ ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒)
       
 วังสราญรมย์
ที่ ๙/๑๗
     วันที่ ๑๔ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๘
 ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
 ในขณะนี้ข้าพระพุทธเจ้าไปเที่ยวตามหัวเมืองต่าง ๆ ในมณฑลภูเก็ตคราวนี้ ได้สังเกตดูวิธีการจัดการของเจ้าพนักงานกรมโลหกิจ ไปทุกเมืองจนถึงเมืองภูเก็จ ซึ่งเป็นกรมบัญชาการแร่เป็นที่สุด เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า วิธีที่จัดอยู่เดี๋ยวนี้เป็นแต่จดเทบียนเหมืองแร่ คือมีแผนที่ไว้ว่าเหมืองของผู้ใดอยู่ตำบลไหน  กว้างยาวเท่าใด เหนือใต้ตวันออกตวันตกจดไหน ถ้าใครไปขออนุญาตทำเหมืองแร่ใหม่ในตำบลใดก็มีเจ้าพนักงานไปวัดกำหนดที่ให้เป็นเขตรกับมีตัวอย่าง เปลือกดิน ขุยแร่ เนื้อแร่ดีบุก แห่งเหมืองนั้น ๆ บรรจุบอกไว้เป็นตำบล ๆ อย่างเอ๊กซหิบิชั่นเท่านั้น หาได้จัดอย่างกรมที่ชำนาญการแร่ สืบค้นหาแร่อื่น ๆ นอกจากดีบุกทั่วไปทั้งพระราชอาณาจักร์ ให้สมกับนามของกรมไม่
 อนึ่ง เจ้าพนักงานโดยมากเป็นคนใหม่แต่ยุโรปคงล้วนเป็นผู้ที่ได้เล่าเรียนในวิชาแร่มาแล้วจริงแต่ก็เป็นผู้ที่ขาดความชำนิชำนาญ ถึงจะอย่างไรก็ยังมิได้ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า ได้ทำอะไรนอกจากวัดแผนที่ มีฝรั่งหลายคนรับว่าได้ความรู้ - ความชำนาญจากพวกจีนนายเหมืองในเรืองดีบุกนี้มาก ก็เมื่อกรมราชโลหกิจทำการแต่เพียงออกอนุญาตบัตร์ ประทานบัตร์ กับบรรทึกเทบียนตำบลกว้างยาวแห่งเหมืองนั้น ๆ ตามที่ได้ปรากฏนี้ ก็ไม่แปลกอะไรกับเทบียนที่ดินผิดกันก็แต่นากับเหมือง เพราะฉนั้น คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าจะรวมเข้าไว้ในกระทรวงเกษตราธิการ หอเทบียนใดอยู่ในมณฑลที่มีแร่มาก ก็ตั้งเจ้ากรมหอเทบียนนั้นคนหนึ่ง แล้วมีผู้ช่วยที่ชำนิชำนาญการการนาการส่วนเป็นหัวหน้าแพนกที่ดินแพนกหนึ่ง ผู้ช่วยที่ชำนิชำนาญการแร่ธาตุ เป็นหัวหน้าแพนกเหมืองแร่อีกแพนกหนึ่ง เช่นนี้บางทีจะตัดการไช้จ่ายให้น้อยไปได้บ้างดอกกระมัง
 ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลพระกรุณามา ตามที่ได้สังเกตเห็นนี้จะคลาดเคลื่อนประการใด แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
 ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณา  โปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ
   ข้าพระพุทธเจ้า
         วชิราวุธ

        วังสราญรมย์
ที่ ๑๐/๑๘
     
วันที่ ๑๔ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๘

ขอเดชะฝ่าลอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

 ลายพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๑๔ เดือนนี้ ทรงตอบรับเรื่องกรมราชโลหะกิจและมีพระราชประสงค์จะทรงทราบความเห็นพระยารัษฎานุประดิษฐในเรื่องนี้ ได้รับพระราชทานทราบเกล้าฯ แล้ว พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้
 พระยารัษฎานุประดิษฐได้มีความเห็นเช่นที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลมานี้นานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาศก็ยังนิ่งอยู่ ครั้นข้าพระพุทธเจ้าได้พูดออกความเห็นเรื่องกรมราชโลหะกิจ ขึ้น พระยารัษฎาก็รับรองว่าตรงกับความเห็นของพระยารัษฎา แต่ยังมีความเห็นต่อไปอีกว่าควรจะมีผู้ที่มีความรู้ชำนิชำนาญ ในเรื่องแร่ธาตุนี้ออกเที่ยวตรวจตลอดไป ถ้าไปพบแร่ดีบุกหรือแร่ชนิดอื่นที่เป็นประโยชน์ในตำบลใด ก็ให้นำความเสนอต่อเทศาภิบาลมณฑลนั้นทราบไว้ ส่วนพระยารัษฎานั้น ถ้าทราบว่าในมณฑลภูเก็จมีแร่ดีบุกหรือแร่ธาตุอื่นที่ตำบลใดอีกแล้วก็จะได้ประกาศโฆษนา ชี้แจงคุณประโยชน์และทำแผนที่ให้ราษฎรทราบ เพื่อเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ราษฎรและประเทศต่อไป ได้ทราบความเห็นพระยารัษฎาแต่เท่านี้

 ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

     ข้าพระพุทธเจ้า
         วชิราวุธ

 

 การทำเหมืองแร่ดีบุกต้องอาศัยแรงงานจากชาวจีนได้มาตั้งหลักแหล่ง เฉพาะที่ภูเก็ตพอมีหลักฐาน แสดงจำนวนการเข้ามา ดังสำมโนครัวของเมืองภูเก็ต ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ฯลฯ ในมณฑลภูเก็ตมีชาวจีนถึง ๓๒,๔๐๘ คน ฯลฯ ที่ภูเก็ตนี้เป็นระยะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัย ในงานเหมืองแร่หลายประการ เช่น ราคาแร่ ดีบุกจะสูง จะต่ำและปีนั้น น้ำฝนจะมีพอหรือจะทำให้การล้างแร่ ได้ดีหรือไม่ ฯลฯ  (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ ประวัติความเป็นมาของอั้งยี่ กับศาลเจ้าต่องย่องสู ภูเก็ต  วิเศษออฟเซ็ทคอมพิว ภูเก็ต ๒๕๔๐ : ๑๔๔ หน้า)
 สงครามโลกครั้งที่ ๑ ช่วยให้ราคาแร่วุลแฟรม สูงขึ้นทำให้มีการค้นคว้าหาวุลแฟรม ทางภาคใต้มากขึ้น ราคาดีบุกเริ่มสูงขึ้น ฯลฯ แต่ในจังหวัดภูเก็ตไม่มีความสมบูรณ์มากพอที่จะทำเป็นอุตสาหกรรมหลักได้
 การทำเหมืองแร่ดีบุก ต้องการทุนทรัพย์ในการดำเนินงานแตกต่างกันตามขนาด และวิธีการทำเหมืองแร่ การทำเหมืองแล่นต้องการทุนน้อยที่สุด การทำเหมืองเรือขุด ต้องการทุนมากนับเป็นหลายสิบล้านบาท ในระยะที่เริ่มเปิดการทำเหมือง จำเป็นจะต้องมีเงินค่าดำเนินการด้วยจนกว่าจะสามารถผลิตแร่จำหน่ายได้ การลงทุนทำเหมืองจำเป็นจะต้องคิดให้รอบคอบถึงผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน ถ้าหากไม่ได้คิดถึงเรื่องตลาดแร่ ลักษณะ และความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ น้ำ การขนส่ง ความสามารถในการผลิตแร่ และค่าใช้จ่ายให้ละเอียดรอบคอบแล้ว ผู้ลงทุนอาจจะเสี่ยงต่อการขาดทุนได้ง่าย การทำเหมืองแร่แม้ว่าจะเป็นงานที่เสี่ยงกว่าประกอบอาชีพชนิดอื่น แต่ถ้าหากได้ใช้ความพินิจพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบดังที่กล่าวมาแต่ต้น กับใช้ความระมัดระวังในการคิดเห็นแต่ในส่วนที่ดีไว้บ้างแล้ว
 การลงทุนดำเนินงานเหมืองแร่จะปลอดภัยและจะได้รับผลตอบแทนเป็นอย่างดีการคิดพิจารณาถึงค่าใช้จ่าย เช่น ค่าซื้อเครื่องมือ เครื่องจักร ค่าดำเนินงาน ทำเหมืองแร่และแยกแร่ และอื่น ๆ อันจำเป็นในการทำเหมืองแร่นั้น ถ้าหากว่าแหล่งแร่นั้นยังมิได้เคยเปิดทำการเหมืองมาก่อน ผู้ลงทุนยังไม่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อาจจะคิดไม่ถูกต้อง หรือขาดตกบกพร่องในส่วนสำคัญไปได้ ทางที่ดีที่สุด ก่อนที่จะลงทุนหรือซื้อกิจการเหมืองแร่ควรจะได้ปรึกษาหารือนายช่างเหมืองแร่ที่มีความชำนาญทำการพิจารณาคิดคำนวนให้
 ตามที่ได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญที่จำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมาข้างต้นแล้วนี้ยังมีปัญหาปลีกย่อยที่ควรจะได้สอบสวนและเก็บไว้เป็นข้อพิจารณาประกอบด้วย เช่น เรื่องโรคภัยไข้เจ็บในแหล่งที่จะเปิดทำเหมือง เรื่องโจรผู้ร้าย หรือความไม่สะดวกจากผู้มีอิทธิพลในท้องที่ เรื่องคนงาน เพราะบางท้องที่หาคนงานได้ยาก ต้องไปจ้างมาจากต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกล เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้จะทำเหมืองจะต้องแก้ไขและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก  ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ : หน้า ๕๙)


วิธีทำเหมืองแร่
 การทำเหมืองแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ต อาจแบ่งเรียกชื่อเป็นวิธีต่าง ๆ ได้ ๕ วิธี คือ เหมืองแล่น เหมืองสูบ เหมืองเรือขุด เหมืองปล่อง เหมืองหาบ ชื่อวิธีทำเหมืองเหล่านี้ เป็นที่ทราบกันทั่วไปในวงการผู้ประกอบอาชีพทางเหมืองแร่ และกรมโลหกิจได้มีคำอธิบายไว้เป็นบรรทัดฐานเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด การอธิบายต่อไปนี้จะพยายามอธิบายพอให้เป็นที่เข้าใจว่าวิธีทำเหมืองชนิดนั้นเป็นอย่างไร ในสาระสำคัญ อันจะทำให้ผู้สนใจในเรื่องเหมืองแร่ได้ใช้เป็นหลักในการพิจารณาจะลงทุนทำเหมืองแร่ เพราะการอธิบายวิธีทำเหมืองโดยการเขียนคำบรรยายและรูปภาพประกอบนั้นผู้อ่านจะเข้าใจไม่ได้แจ่มแจ้ง นอกจากจะได้ไปดูกิจการทำเหมืองชนิดต่าง ๆ ด้วยตนเอง
 ในแหล่งลานแร่และแหล่งแร่เปลือกดิน ผู้ทำเหมืองใช้วิธีเหมืองแล่น เหมืองสูบ  เหมืองฉีด การทำตามวิธีที่สามนี้ ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมากในการขุดพังดินและล้างแร่ วิธีเหมืองปล่องและเหมืองหาบ ใช้ทำในแหล่งลานแร่เหมือนกัน แต่เวลานี้วิธีเหมืองปล่องได้เลิกทำหมดสิ้นแล้ว ส่วนวิธีเหมืองหาบยังคงมีทำกันอยู่บ้าง แต่เปิดทำในแหล่งแร่ที่ไม่ใช่เป็นลานแร่หรือแหล่งแร่เปลือกดิน วิธีเหมืองเรือขุดเป็นวิธีทำเหมืองในแหล่งลานแร่ที่ใหญ่ที่สุด (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ : หน้า ๖๐)

การขุดเอาสินแร่
 สินแร่  หมายถึง  ส่วนที่มีแร่ดีบุกซึ่งอาจมีหินแข็งหรือแร่ชนิดอื่นปนอยู่หรือถ้าในแหล่งลานแร่ก็มีพวกดินกรวดทรายปนอยู่เป็นส่วนใหญ่ หิน ดินกรวดทราย และแร่อื่น ๆ ที่ปนอยู่ด้วยก็เพราะในการขุดไม่อาจจะขุดเอาแต่เฉพาะแร่ที่ต้องการได้ และส่วนใดที่จะถือเป็นสินแร่ได้ก็ต่อเมื่อส่วนนั้นมีปริมาณแร่ที่ต้องการ ในที่นี้ก็คือแร่ดีบุก (Cassiterite) อยู่เพียงพอที่อาจจะนำไปล้างแต่งหรือแยกออกเป็นแร่สะอาดและจำหน่ายได้กำไร
 ในแหล่งแร่เปลือกดินหรือแหล่งลานแร่ โดยการผุพังตามธรรมชาติ แร่ดีบุกได้แตกแยก ออกจากหินหรือแร่ชนิดอื่น ๆ และถูกน้ำชะพามาสะสมอยู่รวมกับพวกดินกรวดทราย และแร่ชนิดอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบเป็นแร่เหล็กอิลเมไนท์ แร่เซอร์ค่อน แร่การ์เหน็ต แร่โมนาไซ้ด์ การสะสมตัวของพวกแร่และกรวดทรายเหล่านี้ทับถมเป็นชั้นหนา ความหนาอาจมีตั้งแต่ ๒ ฟุต - ๑๒๐ ฟุต หรือกว่านั้น แต่ที่เปิดทำเหมืองแร่ดีบุกกันในเวลานี้ ความลึกของลานแร่ไม่เกิน ๑๐๐ ฟุต การขุดพังดินของแหล่งลานแร่ หรือแหล่งแร่เปลือกดินทำได้หลายวิธีกล่าวคือ ใช้แรงคนขุดโดยใช้ชะแลง จอบแทงและขุดดิน ใช้เครื่องจักรขุด เช่น ใช้รถขุด (Excavator, Dragline) เรือขุด (Dredge) ใช้แรงน้ำโดยชักน้ำมาจากที่สูงเข้ากระบอกฉีดหรือใช้เครื่องสูบสูบน้ำส่งเข้ากระบอกฉีด ฉีดพังดินหน้าเหมือง
 แหล่งแร่ที่เป็นทาง เป็นลำ เป็นสาย แหล่งแร่สัมผัส แหล่งแร่ที่มีแร่เป็นส่วนประกอบของเนื้อหิน ส่วนมากเป็นแร่ที่อยู่ในหินแข็ง การที่จะขุดด้วยแรงคน แรงเครื่องจักร หรือแรงน้ำ ย่อมทำไม่ได้ ต้องใช้วิธีเจาะและระเบิดออกมาให้แตกเป็นก้อนเล็กๆ การระเบิดหินและแร่มีวิธีการเจาะ การใช้ดินระเบิด การจุดระเบิด ต่าง ๆ  กันตามชนิดของหินและแร่
 ความต้องการในเรื่องปริมาณและขนาดของก้อนสินแร่และในเรื่องความปลอดภัยการปฏิบัติเกี่ยวกับการระเบิดแร่จำเป็นจะต้องจ้างผู้ชำนาญและจะต้องระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด แต่ถ้าเป็นแหล่งแร่ที่หินผุมาก ก็อาจจะใช้วิธีขุดด้วยแรงคน เครื่องจักร หรือแรงน้ำ เช่นการทำเหมืองใน   "คลา"  ซึ่งเป็นหินแกรนิต หินเป๊กมาไต้ท์   และมีแร่ดีบุกอยู่ในเนื้อหิน หิน  "คลา"  ผุมากจนใช้น้ำฉีดหรือแรงคนขุดพังลงได้ง่าย เช่น เดียวกับการฉีดพังดินในแหล่งลานแร่
 เครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการขุดแร่ มีแตกต่างกันหลายชนิด ซึ่งสามารถจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและลักษณะของหินและแร่ และปริมาณของสินแร่ที่จะผลิต เครื่องมือเครื่องจักรที่สำคัญในการขุดแร่ได้แก่รถขุด รถแทร็กเตอร์ สำหรับโกยแร่ใส่รถบรรทุก (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ : หน้า ๖๐ - ๖๑)

การเก็บขังมูลดินทราย 
 การทำเหมืองสูบมีมูลดินทรายจากการทำเหมืองมาก จำเป็นจะต้องสร้างที่เก็บขังถ้าหากไม่ใช้ขุมเหมืองเก่าเป็นที่เก็บขังก็จำเป็นจะต้องสร้างทำนบกั้นรอบบริเวณที่ราบที่จะใช้เป็นที่เก็บขังมูลดินทราย มูลดินทรายส่วนใหญ่จะกองสูงตอนท้ายราง กู้แร่แล้วค่อยลาดลงไปสู่บริเวณที่เก็บขังน้ำขุ่นข้น น้ำที่ใหลออกจากที่เก็บขังมูลดินทรายจะต้องเป็นน้ำใสพอสมควรไม่มีตะกอนเกิน ๘๐๐ เกรนต่อน้ำ ๑ ควอต ทั้งนี้เป็นการป้องกันไม่ให้มูลดินทรายไหลลงทางน้ำซึ่งจะทำให้ทางน้ำตื้นเขิน และขุ่นข้นจนเป็นที่เดือดร้อนแก่ผู้ใช้น้ำ  (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้  ๒๕๔๐ : หน้า ๖๑)

การแต่งหรือล้างแยกแร่ 
 การล้างแร่หรือแยกแร่ของเหมืองที่เปิดทำในลานแร่หรือแหล่งแร่เปลือกดิน ไม่ยุ่งยากหรือต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักรในการล้างหรือแยกแร่มาก เพราะดังที่ได้ทราบมาแล้วว่าเม็ดแร่ดีบุกได้แยกออกจากหินและแร่อื่น ๆ อยู่แล้วตามธรรมชาติเพียงแต่ใช้แรงน้ำช่วยให้แยกหรือหลุดออกจากพวกดินกรวดทราย กับอาศัยความแตกต่างในเรื่องน้ำหนักของวัตถุที่อยู่ปนด้วยกัน ก็จะแยกเก็บเอาแร่ดีบุกได้โดยไม่ยาก แร่ดีบุกหนักประมาณ 6-7 เท่าของน้ำทีมีปริมาตรเท่ากัน และหนักกว่าทรายหรือหินประมาณ ๒ เท่า วิธีการทำเหมืองดีบุกในลานแร่ส่วนใหญ่เป็นการล้างและแยกแร่
 สำหรับเหมืองแร่ที่เปิดทำในแหล่งแร่ที่เป็นทาง เป็นสาย หรือแหล่งแร่สัมผัส แร่ดีบุก มักพบอยู่ในหินแข็ง และมีแร่ชนิดต่าง ๆ ปนอยู่ด้วย การที่จะทำให้เม็ดแร่ดีบุกหลุดออกจากหินหรือแยกออกจากชนิดอื่น จำเป็นต้องตำหรือบดจนละเอียด จนแร่ดีบุกแยกออกหรือหลุดออกเป็นเม็ดแร่ดีบุกโดยเฉพาะไม่มีหินหรือแร่อย่างอื่นติดอยู่ แล้วนำไปล้างหรือแยกโดยอาศัยแรงน้ำและหลักความแตกต่างของน้ำหนักของเม็ดแร่ดีบุกกับแร่และหินชนิดอื่น ๆ แหล่งแร่บางแห่งจำเป็นต้องใช้น้ำยาเคมี น้ำกรดช่วย หรือใช้วิธีที่เรียกว่าการลอยแร่ เพราะมีแร่ที่มีน้ำหนักเท่ากันหรือหนักกว่าแร่ดีบุกปนอยู่ด้วยซึ่งแยกโดยอาศัยหลักที่ว่าแร่ดีบุกหนักกว่าหรือความแตกต่างของน้ำหนักอย่างเดียวไม่ได้ผล

การใช้เครื่องแยกแร่แทนรางกู้แร่
 มีเหมืองสูบหลายเหมืองที่ได้ดัดแปลงวิธีการทำเหมืองสูบในส่วนที่เกี่ยวกับรางกู้แร่โดยใช้ไฮโดรไซโคลนกับจิ๊กแทนปรากฏว่าได้ผลดี ต่อไปเมื่อมีคนเข้าใจในการใช้จิ๊ก และไฮโดรไซโคลนมากขึ้น การใช้รางกู้แร่เหมืองสูบก็คงจะหมดไป  (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ : หน้า ๖๒)

 

เหมืองแล่น


 การทำเหมืองแล่นนี้จะเห็นว่าใช้เงินทุนในการทำเหมืองน้อย (ไม่รวมกับการที่ต้องใช้จ่ายในการขอประทานบัตร) ส่วนใหญ่ที่ใช้เงินได้แก่ค่าจ้างแรงงานในการตรวจลองแร่ทำคูชักน้ำ อ่างเก็บน้ำ ถางป่าบริเวณที่จะเปิดเหมืองและขุดหรือทำคูรางล้างแร่
 วิธีทำเหมืองแล่นเป็นการทำเหมืองที่ค่อนข้างง่าย และใช้เงินทุนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีทำเหมืองอื่น ๆ วิธีทำเหมืองแล่นเหมาะที่จะใช้เปิดทำในแหล่งแร่เปลือกดิน ซึ่งมักจะพบอยู่ตามลานเนินเขา หุบเขา กับในลำห้วย ที่มีความลาดพอที่จะให้มูลดิน ทรายอันเกิดจากการทำเหมืองพ้นออกไปจากรางหรือคูล้างแร่ได้
 การทำเหมืองแล่น อาจจะตั้งต้นทำขนาดเล็ก ๆ โดยใช้สมาชิกภายในครอบครัวเพียง 3-4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทำเหมืองแร่ที่สำคัญก็มีชะแลง จอบ มีด ฯลฯ การเลือกบริเวณที่จะตั้งต้นทำเหมืองแล่น จะเริ่มทำจากระดับต่ำขึ้นไปสู่ระดับสูง ทั้งนี้พอจะตรวจดูได้โดยสังเกตดูสภาพภูมิประเทศของบริเวณที่มีแร่และทดลองขุดหลุมตรวจดูพื้นหินดานซึ่งส่วนมากก็จะทราบดีแล้วตั้งแต่ได้ทำการตรวจลองแร่
 การทำเหมืองแล่นต้องใช้น้ำมาก บางแหล่งไม่มีน้ำต้องทำคูน้ำหรือลำรางรับน้ำมาจากที่ไกล ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนี้มาก การทำเหมืองแล่นที่มีทุนน้อยไม่อาจจะทำได้เหมืองแล่นเล็ก ๆ มักจะต้องอาศัยน้ำฝน ท้องถิ่นฝนตกชุก เช่นทางภาคใต้ของประเทศไทยมีระยะฝนตกนาน 6-8 เดือนในหนึ่งปี พอถึงหน้าแล้งน้ำน้อยหรือแห้งหมด การทำเหมืองต้องหยุดชั่วคราว บางแห่งอาจจะมีที่เหมาะทำอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในการทำเหมืองอาจจะทำได้วันละ ๔ ชั่วโมง หรือทำวันเว้นวัน เหมืองแล่นหลายเหมืองได้ชักน้ำจากที่สูงมาใช้ โดยต่อท่อรับน้ำมาตลอดระยะทาง ได้กำลังน้ำใช้ในการฉีดพังดินหน้าเหมืองด้วย ส่วนการทำเหมืองแล่นในทางน้ำ เช่น ลำห้วยหรือลำคลอง ถ้าเป็นลำน้ำที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี และดูเหมือนน้ำจะมีมากเกินต้องการเสียอีก เหมืองแล่นต้องการน้ำมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของดินกรวดทรายที่ต้องการจะขุดพังลงมาล้าง และลักษณะของดิน มีอัตราใช้ประมาณปริมาตรน้ำใช้ในการทำเหมืองโดยคิดประมาณการใช้น้ำ
 การขุดพังดินหน้าเหมืองของเหมืองแล่น ทำกันสองวิธี คือ ใช้คนแทงดินร่วมกับปล่อยน้ำไหลพาดหน้าเหมืองช่วยกัดเซาะให้ดินพังลงด้วย กับการใช้กระบอกฉีด ฉีดพังดินหน้าเหมือง การใช้กระบอกฉีดฉีดพังดินได้จำนวนดินมากหลายสิบเท่าของการใช้แรงคนขุดแทงดิน ดินที่ถูกพังลงมาจะแตกและกระจายออก และถูกน้ำพัดพาไปพร้อมกับแร่ดีบุกไปสู่คูหรือรางล้างแร่ ในระหว่างที่ไหลไปตามร่องก่อนถึงรางล้างแร่ มีคนงานคอยใช้จอบฟันดินที่ยังเป็นก้อนและต้องคอยเก็บก้อนกรวดขนาดโต หินใหญ่ รากไม้ ตอไม้ขึ้นวางกองไว้เป็นแห่ง โดยไม่ให้กีดขวางทางที่น้ำพาดินกรวดทราย และแร่ไปสู่คูร้างแร่
 คูหรือรางล้างแร่ จะต้องทำให้มีขนาดกว้าง (พื้นท้องรางหรือคู) และยาว และลาดพอสมควรที่จะทำการคัดเก็บแร่จากดินกรวดทรายที่น้ำพาไหลเข้ามาได้ดี ถ้าหากว่าไม่ต้องการจะขุดเป็นคูลงไปในพื้นดินดาน อาจจะทำเป็นรางไม้แทนก็ได้ ความยาวของคูหรือรางล้างแร่ไม่แน่นอน อาจจะมีตั้งแต่ ๓๐ ฟุต ถึง ๖๐ ฟุต หรือยาวกว่า ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของเม็ดแร่ดีบุกและลักษณะของดินทราย รางที่ยาวย่อมจะช่วยในการเก็บแร่ดีขึ้น ความลาดของคูหรือรางล้างแร่ประมาณ ๔-๘ องศา ถ้าลาดมากเกินไปกระแสน้ำที่ไหลผ่านจะเร็วไป อาจจะทำให้เม็ดแร่ขนาดเล็กไม่มีโอกาสฝังตัวลงบนพื้นท้องราง หรือถูกน้ำพัดพาข้ามวัตถุที่เอามาวางกั้นเป็นระยะตามพื้นที่ท้องคูไปได้ สิ่งที่ใช้ขวางกั้นนี้อาจจะเป็นไม้หรือหินก้อนวางเรียงกันก็ได้ ระยะที่วางสิ่งขวางกั้นประมาณ ๘-๑๐ ฟุต ในเริ่มแรก ผู้ทำเหมืองจะวางให้สูงกว่าพื้นท้องคูหรือรางล้างแร่ประมาณ ๑-๒ นิ้ว เมื่อเวลาปล่อยน้ำและดินกรวดทรายผ่านส่วนใหญ่รวมทั้งแร่จะตกอยู่ตามพื้นท้องคูหรือรางจนเต็มเสมอระดับไม้หรือหินที่ขวางกั้น ผู้ทำเหมืองจะวางไม้ขวางกั้นเพิ่มขึ้นอีกเป็นลำดับ นอกจากนั้น คนงานจะต้องคอยใช้จอบคุ้ยให้ดิน กรวดทรายหยุ่นตัวขึ้นเพื่อให้เม็ดแร่ดีบุกได้มีโอกาสแทรกตัวลงข้างล่าง และดินกรวดทรายจะถูกน้ำพัดพาออกไปทางท้ายคูหรือราง ข้อสำคัญของรางหรือคูล้างแร่เหมืองแล่น จะต้องเลือกสถานที่ปลายหรือท้ายรางหรือคูสามารถปล่อยดินกรวดทรายออกได้สะดวกตลอดเวลาถ้าไม่สามารถปล่อยออกได้สะดวกแล้ว จะเกิดผลทำให้มีมูลดินทรายกองทับถมขึ้นทางท้ายราง และในที่สุดทำให้รางหรือคูล้างแร่นี้ใช้ไม่ได้ สถานที่ที่เหมาะแก่การป้องกันท้ายรางตันหรือที่เรียกว่า "ท้ายตาย" นั้นได้แก่ลาดเขาหรือหุบเขา มีเหมืองแล่นหลายแห่งที่ภูมิประเทศบังคับ ต้องปล่อยให้ท้ายรางลงสู่ทางน้ำลำธาร ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะมูลดินทรายที่เก็บขังอยู่ในบริเวณทางน้ำจะไม่สามารถเก็บขังไว้ได้ตลอดไป
 การเก็บเอาแร่ในคูหรือรางล้างแร่ ซึ่งเรียกว่า "การกู้แร่" ผู้ทำเหมืองจะทำการกู้เอาแร่เมื่อสังเกตดูว่ามีแร่สะสมอยู่มากพอสมควรแล้ว ซึ่งอาจกินเวลา ๗-๓๐ วัน ตามความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ เวลาจะทำการกู้แร่จะหยุดการฉีดหรือแทงดินพังหน้าเหมืองหมดสิ้น ปล่อยแต่น้ำใสให้ไหลมาตามคูหรือรางกู้แร่ สิ่งที่ขวางกั้นคูรางแร่จะถูกเก็บขึ้นเป็นตอน ๆ ตั้งแต่ตอนต้นรางหรือคู ลงมาทางปลายราง และคนงานจะต้องมาช่วยกันเอาจอบคุ้ยและลากขึ้นลงพร้อมกับเก็บกรวดเป็นก้อนขึ้นจากคูหรือรางด้วย เมื่อประมาณว่ามูลดินทรายและหิน กรวดออกไปส่วนมากและแร่สะอาดตามสมควรแล้ว ปิดน้ำตักเอาแร่ส่งไปล้างอย่างละเอียดอีกครั้งในรางไม้ขนาดสั้น ซึ่งเรียกตามภาษามลายู ว่า แลงชูท (Lanchute) การล้างครั้งนี้จะได้แร่ที่ปราศจากทรายหรือแร่อื่นที่เบากว่า แต่มีแร่บางชนิดที่เบากว่าดีบุกเล็กน้อยทำการล้างแยกออกไม่ได้โดยใช้แลงชูท ก็จำเป็นจะต้องใช้วิธี  "ไถ้ "  แล้วนำไปทำให้แห้งและแยกเอาแร่เหล็กออกถ้ามี ด้วยแม่เหล็กเกือกม้าธรรมดาที่วางซ้อน ๆ กันหลายสิบตัว (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก  ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐  หน้า ๖๓ - ๖๔)

เหมืองรู หรือเหมืองปล่อง


 ในแหล่งลานแร่ที่ปรากฏว่ามีชั้นกระสะอยู่ลึกจากผิวดินมาก และจะเปิดเป็นเหมืองหาบแบบขุดดินเปิดเป็นบ่อหรือหลุมกว้างเพื่อเอาแร่ในชั้นกระสะไม่ได้ เพราะปริมาณดินที่จะต้องขุดและหาบมากเกินไป ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเปิดหน้าดินสูง ทำเหมืองไม่ได้กำไรในครั้งก่อนผู้ทำเหมืองหันไปใช้วิธีขุดปล่องสี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาว ๑ หลา ลงไปจนถึงชั้น กระสะและดินดาน แล้วทำการขุดเจาะอุโมงค์เข้าไปบนชั้นกระสะไปจนจดปลายปล่องที่ขุดเอาไว้ จากอุโมงค์จะขุดแยกออกไปเป็นระยะโดยเริ่มขุดตั้งแต่ระยะที่อยู่ไกลปล่องระบายน้ำและปล่องขนแร่ก่อน แล้วค่อยขยับใกล้เข้ามา ดินกระสะขุดได้จะถูกส่งขึ้นมาทางปล่องโดยการกว้านแบบกว้านไม้ (windlass) ส่วนการระบายน้ำนั้นมักใช้สูบ สูบขึ้นทางปล่องที่ ทำไว้พิเศษสำหรับการนี้ กระสะที่กว้านขึ้นมาก็นำไปล้างในรางล้างแร่ตามธรรมดา เพราะดินในลานแร่ไม่เกาะกันแน่นแข็ง และมักจะมีน้ำใต้ดินมากซึ่งเป็นการช่วยให้ดินยุบพังได้ง่ายยิ่งขึ้น การขุดปล่องและอุโมงค์จึงต้องมีการใช้ไม้กรุและค้ำยันให้แข็งแรง ในเวลานี้ การทำเหมืองปล่องได้เลิกกันหมดสิ้นแล้ว เพราะสามารถเปิดเป็นเหมืองสูบได้เอง และเป็นการทำเหมืองที่สะดวกและปลอดภัยกว่า (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก     ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ : หน้า ๖๕ )

 

เหมืองหาบ


 ในสมัยก่อนเมื่อประมาณ ๗๐ ปี ล่วงมาแล้ว การทำเหมืองในลานแร่ต้องใช้วิธีเปิดลอกเปลือกดินแบบขุดสระใหญ่ลงไปเป็นชั้น ๆ จนกระทั่งถึงชั้นที่กระสะแร่ ซึ่งมักจะเป็นชั้นที่มีกรวดหินและทรายปนอยู่กับแร่มาก และเป็นชั้นที่ผู้ทำเหมืองประสงค์จะขุดเอาไปล้างเอาแร่ การขุดสมัยนั้นไม่มีเครื่องมืออะไรอื่นนอกจากจอบ ชะแลง และสิ่งที่ใช้ในการขนส่ง คือปุ้งกี๋ คนจะใช้ไม้คานหาบขึ้นมาจากบ่อที่ขุด การใช้แรงคนขุดเปิดเปลือกดินต้องใช้คนงานเป็นจำนวนมาก ร้อยกว่าคน ถ้านึกดูภาพแล้วจะเห็นพื้นดินถูกขุดเป็นบ่อกว้างเป็นชั้นลงไปยังก้นบ่อ และมีคนงานหาบดินขึ้นลงติดต่อกันเป็นแถว เมื่อขุดจนถึงชั้นกระสะแล้ว ก็ทำการขุดลอกเอากระสะขึ้นมากองไว้ข้างรางไม้ซึ่งทำขึ้นสำหรับทำการล้างแร่ ถ้าปรากฏว่ามีน้ำในขุมเหมืองก็ทำการวิดออกโดยใช้ระหัดซึ่งหมุนด้วยแรงคนวิดเอาน้ำขึ้นไปเป็นทอด ๆ เพื่อให้ออกพ้นปากขุม ดังนั้นคำว่าเหมืองหาบในสมัยนั้นก็เป็นคำชื่อที่ใช้เรียกอย่างถูกต้องแต่วิธีการทำเหมืองหาบในลานแร่ค่อย ๆ เลิกกันไปจนหมดสิ้น เพราะต้องเสียค่าแรงงานมาก ทำการขุดแร่ได้ช้า
 การทำเหมืองหาบต่อมาได้มีความหมายถึงการทำเหมืองบนดินโดยวิธีการที่ต้องขุดพังดินหรือหิน ด้วยวิธีการใช้แรงคนหรือแรงเครื่องจักร แรงระเบิดและขนส่งไปยังที่ล้างแร่โดยไม่ใช้แรงน้ำ ถ้าท่านเคยเห็นการระเบิดหินมาทำถนนหรือการก่อสร้าง นั้นก็คือวิธีทำเหมืองหาบในเมื่อหินนั้นเป็นสินแร่ สำหรับการระเบิดเอาหินมาย่อยทำถนนหรือในการก่อสร้างต่าง ๆ เราเรียกว่าเหมืองหิน เพื่อให้แตกต่างไปจากเหมืองหาบ เพราะหินไม่ใช่แร่
 แหล่งแร่ที่เหมาะสมที่จะเปิดเป็นเหมืองหาบ ได้แก่ แหล่งแร่ที่มีแร่ดีบุกอยู่กระจัดกระจายหรือเป็นหย่อมอยู่ในหิน เช่น แหล่งแร่ที่มีแร่อยู่เป็นส่วนประกอบของเนื้อหินหรือแหล่งแร่ที่มีสินแร่เกาะกันแข็งหรือเกิดเป็นชั้นแข็งอยู่ใต้พื้นดิน เหมืองหาบที่เปิดทำในแหล่งแร่ดีบุกขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ มีเปิดทำการอยู่หลายเหมืองในแหล่งแร่หน้าเหมืองเป็นส่วนหนึ่งของภูเขา ถูกตัดเป็นชั้นแบบขั้นบันใด ฯลฯ การแยกเหล็กออกโดยใช้แม่เหล็กเกือกม้า แร่จากแหล่งแร่นี้มีเปอร์เซ็นต์ดีบุกต่ำประมาณ ๖๕-๖๘ เปอร์เซ็นต์ และมีแร่ชนิดอื่นปนอยู่บ้างเล็กน้อย เพราะไม่สามารถจะล้างแยกออกได้หมด
 เหมืองหาบขนาดเล็กผลิตแร่ดีบุกโดยวิธีการที่กล่าวมานี้ จะเสียค่าใช้จ่ายในการทำเหมืองผลิตแร่ประมาณเดือน ๕๐,๐๐๐ - ๖๐,๐๐๐ บาท การลงทุนส่วนใหญ่เป็นค่ารถบรรทุก เครื่องตำแร่ เครื่องยนต์ โรงเรือนต่าง ๆ และเตาเผาแร่ ซึ่งจะต้องใช้เงินประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ - ๕๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับเหมืองที่มีถนนเข้าไปถึง   (ไชยยุทธ   ปิ่นประดับ  การทำเหมืองแร่ดีบุก  ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้   ๒๕๔๐ : หน้า ๖๕ - ๖๖)

การลงทุน


 ตามที่ได้สังเกตมา วิธีที่คนหาแร่ ไทย จีน ฝรั่ง หาผิดกัน ไทยชอบหาเฉพาะตัวมาขายคนละเล็กละน้อย ใบอนุญาตร่อนหาแร่จึงมักออกให้คนไทยโดยมาก จีนมีน้อยฝรั่งเป็นไม่มี วิธีที่จีนโดยมากหาแร่ทำเหมืองนั้นไปเที่ยวตรวจดูโดยลำพังตน ที่ใดมีแร่ก็ไป ขุดร่อนแร่ทำเป็นเหมืองเล็ก ๆ เช่นที่เรียกว่า เหมืองแล่น  และเหมืองคลา ถ้าที่นั้นมีแร่น้อยทำพอหมดแร่ แล้วก็ย้ายไปหาทำที่อื่น ถ้าหากว่าเป็นที่มีแร่มากก็เรียกหาลูกจ้างเพิ่มเติมแลต่อทุนรอนทำออกไปจนเป็นเหมืองใหญ่ ด้วยวิธีค่อย ๆ เขยิบขึ้นไปตามผลที่ทำได้ ส่วนวิธีที่ฝรั่งทำเหมืองนั้นตั้งต้นคาดว่าแร่จะมีเท่าใด ก็ขอใบอนุญาตไปตรวจ ไปเที่ยวสืบสวนหรือวานคนในท้องที่พาไปดู จนพบว่ามีแร่อยู่ในที่ใดแล้วก็ขอใบอนุญาตผูกขาดเฉพาะตำบลนั้นเป็นวิธีพอหวงกันผู้อื่น เมื่อได้ตัวอย่างแร่มา ก็มาเที่ยวชักชวนพวกเพื่อนที่จะลงทุนรอนในชั้นต้นในการที่จะตั้งบริษัท แล้วขอประทานบัตร เมื่อได้ประทานบัตรไปแล้วก็ไปประกาศตั้งบริษัทกำหนดหุ้นและเรียกฟรีแชร์ ถ้าหาทุนได้ก็ตั้งผู้อำนวยการ และกรรมการเสียจนเสร็จแล้วจึงไปลงมือทำการเหมืองแร่ และซื้อแชร์ขายแชร์กันในเวลานั้น วิธีของฝรั่งอย่างนี้ วิธีฝรั่งผิดกับวิธีจีน ที่จีนตั้งต้นด้วยทุนน้อย หาผลได้เท่าใดก็ทำขยายออกไปตามผล ทำแต่พอเท่าที่ผลจะมีได้ แม้ต้องหยุดต้องเลิกการก็เสียน้อย หรือไม่เสียอะไรเลย ฝ่ายข้างวิธีฝรั่งนั้นเริ่มต้นก็ตั้งเป็นการใหญ่โตไปเสียตั้งแต่ก่อนเห็นผลว่าจะมีอย่างไร ถ้าไม่ได้ผลหรือผลไม่ได้ดังคาดก็ล้ม ผู้ที่ฉลาดได้รู้เห็นการก็ออกตัวไปได้ ผู้ที่โง่เขลาหลับตาเชื่อผู้อื่นลงทุนไปก็สูญเปล่า  ต่อที่เหมืองแร่ดีจริง ๆ จึงจะได้กำไร ตั้งแต่ตั้งกรมแร่มาจนทุกวันนี้  (สมภพ จันทร์ประภา ข่าวสารโลหะกิจ  ๒๕๐๕ หน้า ๗๘)
 การลงทุนทำเหมืองสูบขนาด ๘ นิ้ว ในแหล่งที่มีคมนาคมสะดวก จะใช้เงินประมาณ ๑ ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมค่าซื้อที่ดินแหล่งแร่ รายจ่ายส่วนสำคัญได้แก่ค่าสร้างรางกู้แร่ รวมทั้งค่าไม้ประมาณหนึ่งแสนบาทต่อหนึ่งราง ค่าเครื่องสูบ และค่าเครื่องยนต์ ค่าแม่เหล็กแยกแร่ ค่าใช้จ่ายในการทำเหมืองสูบในสมัยก่อนจะตกประมาณ ๕ - ๑๐ บาท ต่อดินหนึ่งลูกบาศก์หลา (ไชยยุทธ ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก  ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ : หน้า ๗๒)

การตรวจความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ดีบุกด้วยเครื่องเจาะบังกา


 เครื่องมือตรวจลองแร่ดีบุกในลานแร่และครา  ที่นิยมแพร่หลายในประเทศไทยนับเวลาชั่วอายุคนมาจนบัดนี้  ก็คือเครื่องเจาะลองแร่ชนิดเครื่องเจาะบังกา  ผู้บุกเบิกยุคดีบุกแห่งเกาะบังกาในชวา
 เครื่องมือนี้ทำงานด้วยแรงงานคน ๘ คนทำได้อย่างลึกถึงประมาณ ๙๐ ฟุต แข็งแรงพอควร ทำงานได้สะดวกรวดเร็ว ขนย้ายได้ง่ายทุกภูมิประเทศ ให้ผลในการตรวจลองเป็นที่เชื่อถือได้ ใช้ได้ทั้งบนเขา ที่ราบ ที่หล่ม และแม้ในทะเล
 ขนาด เครื่องเจาะบังกาซึ่งคนทำเหมืองทางภาคใต้ เรียกเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า "ตั๋ง" นั้น เท่าที่ใช้อยู่มีอยู่ ๓ ขนาด คือ ขนาด ๓  ๑/๒"  ส่วนขนาด ๖" นั้นเท่าที่เห็นก็มีบริษัทบิลลิตันนำมาใช้ก่อนเมื่อประมาณ ๔ ปีมานี้
 ส่วนประกอบของเครื่องมือ  ส่วนประกอบของขนาด ๓ ๑/๒" และขนาด ๖ นิ้ว แตกต่างกันไปบ้าง  และของบางอย่างที่เขาทำมา บางอย่างเราใช้ของอื่นแทน ตัดออกเสียบ้างก็มี ในที่นี้ขอกล่าวถึงส่วนประกอบของขนาด ๓ ๑/๒"  ที่ใช้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป เพื่อให้ทราบว่ามีอะไรบ้าง และเพื่อจะใช้เมื่อเวลาเตรียมเครื่องมือไปใช้ทำงาน และควรมีอะไหล่ที่จะใช้เปลี่ยนให้พร้อมดังนี้
๑. ตีนท่อ  ถ้ามีหินมาก ๆ  ๕ วันควรเปลี่ยนไปกลึงใหม่ ควรมีอะไหล่ ๒-๓ อัน
๒. ตีนปั๊ม  ถ้ามีหินมาก ๆ ประมาณไม่เกิน ๒๐ วันก็บู้หมด  แต่ถ้าทิ่มดินปนทรายใช้ไปก็คมดีเอง ควรมีอะไหล่ ๖-๘ อัน
๓. กุญแจจับเหล็กก้านปั๊ม  บางทีหัก  หรือใช้ไปประมาณ ๑ เดือนปากจะครากจะต้องส่งกลับไปซ่อมใหม่ ควรมีอะไหล่ ๒-๓ อัน
๔. รีเวทย้ำตีนปั๊ม (ถ้าปั๊มเป็นชนิดใช้รีเวท) เท่าที่ควร
นอกจากเครื่องมือบอริ่งแล้ว จะต้องมีการตัดแนววางเป็กหลุมบอริ่งด้วย  ซึ่งจำเป็นต้องมี
๑. พริสแมติคคอมปาสส์    ๑  อัน
๒. โซ่รังวัด      ๒  เส้น
๓. มีด ขวาน เลื่อสำหรับถางป่าพร้อมหินลับมีด ๑  ชุด
๔. ร่มสมุด  ดินสอ  ไม้บรรทัด  และ ฯลฯ
 การเตรียมคนงาน  เฉพาะคนทำบอริ่งมีทั้งหมดด้วยกัน ๘ คน ใน ๘ คนนี้จะมีหัวหน้าของเขา ๑ คน นอกจากนี้จะมีคนจดรายการหรือที่เขาเรียกเสมียนบอริ่งหรือนายเหมียนโต้ยตั๋ง ๑ คน คนหาบน้ำ หาบดิน ตวงดิน ๓-๕ คน สุดแต่น้ำใกล้ - ไกล คนล้างแร่ ๑ คน คนครัว ๑ คน จะต้องมีช่างทำแผนที่วางแนวหลุมบอริ่ง ๑ คน พร้อมคนงานอีก ๔-๕ คน แต่ถ้าไปทางไกลคนบอริ่งมักมี ๘ คน หัวหน้าลอยตัว ๑ คนเพื่อไว้แทนคนป่วยไข้ บางทีเขามี ๙ คน ผลัดกันหยุดวันละ ๑ คนเราต้องมีคนหุงข้าว (จงโพ่ว) ให้เขา ๑ คน เพราะเขาจะต้องลงงานแต่เช้า และจะต้องหาฟืนให้คนครัวด้วย จึงเมื่อปลูกกงสีก็ต้องเตรียมฟืนด้วย เพราะถ้าเกิดขาดฟืนต้องดึงให้คนบอริ่งหาฟืนเป็นงานนอกเวลา เขาเอาค่าแรงบอริ่งมาคิด แพงและเสียเวลาด้วย
 สำหรับการทำแผนที่วางหลุมบอริ่งนั้น มีคนทำแผนที่ดูเข็มทิศเป็นไป ๑ คน คนถางป่า โดยมากหาที่ไหนก็หาได้ แต่ถ้าจะเข้าไปที่ไม่มีมนุษย์อยู่ ก็ต้องหาคนถางป่าไปจากข้างนอก
  การเตรียมสถานที่  ก่อนบอริ่งจะต้องส่งคนไปเตรียมกงสีคนงานไว้ก่อน  เท่าที่ปลูกกัน มัก  ปลูกเป็นโรงยาวให้นอนเรียงกัน ๒ แถว ถ้ามีผู้หญิงล้างแร่หรือทำครัว ก็กั้นแยกห้องให้ต่างหาก การปลูกกงสีก็เหมือนปลูกบ้าน คือต้องเลือกสถานที่ คนมาก ๆ เรื่องใกล้น้ำเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรเลือกปลูกให้ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลาง หรือใกล้บริเวณที่จะสำรวจให้มากที่สุด เพื่อเมื่อเวลาลงและเลิกงานไม่ต้องเดินไกล ถ้าที่ใหญ่ก็ต้องแบ่งออกเป็นแปลงย่อยปลูกกงสีหลายหลัง ถ้างานไม่แน่นักก็ปลูกแต่พอร้ายพอดี  ใกล้ตลาดเช่าเขาอยู่ชั่วคราวถูกสตางค์กว่าก็ควรเช่า
  เมื่อจะเริ่มไชหลุมแรก  ควรกะดูด้วยตาก่อนว่าทำจากไหนแล้วต่อไปจึงจะทำงานสะดวกและมีแร่ตามได้ทันที การที่แร่จะก่อเกิดการรวมตัวกันได้มาก ๆ นั้น ประกอบด้วยเหตุหลายประการ  ดังเช่น
  ๑. แหล่งกำเนิดแร่ มีปริมาณแร่มากพอ  ที่เมื่อผุพังแล้วจะถูกชะล้างไปสะสมได้มาก ใน
                  การนี้เราก็จะต้องมีความรู้เรื่องการเกิดของแร่  และชนิดของหินที่นำแร่พอควร
  ๒. จะต้องมีพื้นภูมิประเทศบีบบังคับ  ส่งเสริมให้แร่ถูกพัดพามาสะสมรวมกันอยู่ไม่กระจัด
      กระจาย  และสามารถที่จะเปิดการทำเหมืองได้
  ๓. แร่บางแห่งเกิดและผุพังอยู่กับที่ เคยมีคนพบสายครากินเป็นเส้นอยู่ในดานก็มีแร่ที่ผุพัง
     อยู่กับที่มักเกิดเป็นยุ่มเป็นหย่อม  ภาษาจีนเขาว่า แร่รอยตีนหมา
  ๔. หินดานบางชนิดเรียบ เวลาแร่ตกสะสมตัว ความหนาของกระสะเกือบสม่ำเสมอกัน 
      แต่ดานบางชนิดเป็นหลุมเป็นบ่อ  หรือเป็นคลื่น  เวลากระสะเกิด  เกิดหนาบางไม่ค่อย
       เท่ากัน   เช่นดานดินปูน   หรือแม้ดานแกรหนิตก็มักเป็นคลื่น       กระสะหนาบ้างบาง 
       บ้าง ฯลฯ
  การวางระยะนั้น  อาศัยวิธีการทำเหมืองและสภาพของพื้นที่เป็นเกณฑ์ ที่ราบกว้างที่ดานสม่ำเสมอในหุบใหญ่หรือริมทะเล  แร่มักมีความสมบูรณ์เกือบสม่ำเสมอ  อย่างนี้ก็ไชห่างหน่อย  ถ้าเปิดเหมืองเรือขุด  เขาไชระหว่างหลุมในแถวห่างกัน ๒ ๑/๒ เชน หรือ ๓ เชน และระยะระหว่างแถวใช้ ๕ เชน หรือ ๖ เชน เป็น ๒ ๑/๒ เชน x ๕ เชน และ ๓ เชน x ๖ เชน ถ้าเป็นที่แคบและทำเหมืองสูบ ใช้ไช ๒ เชน x ๒ เชน และยิ่งถ้าเป็นที่ที่เคยทำแล้ว บางทีเขาไช ๑ เชน x ๑ เชน ก็มี
  เมื่อไชไปได้สักจำนวนหนึ่ง จะพอสันนิษฐานได้บ้างว่าควรกินไปในรูปใด  เช่นกินระหว่างร่องห้วยจนถึงตีนเนิน หรืออาจกิจขึ้นไปบนเนิน  เราก็พอจะบอกคนทำแผนที่ให้วางเป็กไปแนวทางที่ควรมีและจะดักจะตาม ไม่เป็นการตัดแนวแบบเรื่อยไปให้เสียเงินและเสียเวลาเปล่า
  การถางแนวทางบอริ่ง  จะต้องเก็บไม้ที่ฟันลงทับทิ้งออก ๒ ข้างทาง เขี่ยหนามและไม้ที่เกะกะออกให้หมด  ตามปรกติแล้วต้องตัดตอให้เสมอดิน  และเอาจอบขุดกิ่งไม้ใบไม้ตลอดจนตอเล็กตอน้อยออกจากทางให้หมด  เพื่อใช้เป็นทางเดินในการขนย้ายเครื่องไชแร่และใช้เป็นทางหาบน้ำหาบดินด้วย จะต้องมีความกว้างขนาดแบกปั๋วขวางเดินได้สะดวก  จะต้องหาที่ที่จะไปเอาน้ำให้แล้วทำทางเชื่อมโยงกับทางบอริ่ง  ทางแยกทำเครื่องหมายชี้ไว้  ทางเดินตรงไหนชันเอาจอบขุดเป็นขั้นบันได  เป็นหลุมเป็นบ่อต้องทำสะพานข้าม  ทำราวยึด  ที่ใดเป็นพลุเป็นหล่ม  ต้องตัดไม้ปูรองเดินให้ สำหรับที่หลุมบอริ่ง  ต้องถากถางบริเวณทำงานให้ในรัศมีประมาณ ๑ วา รอบหลุม  ทำที่สำหรับวางกระบะเทดิน  และตั้งตาชั่ง  ทางด้านใกล้น้ำ และทำที่วางท่อ  ปั๊มและเหล็กก้านเจาะทางด้านตรงกันข้าม  พร้อมกับตัดไม้เท่าแขน ๒ อัน วางเตรียมไว้สำหรับรองท่อให้ด้วย  บ่อที่จะตักเอาน้ำจะต้องขุดให้กว้างและให้ลึกพอควรพอที่จะเอากระป๋องจ้วงตักได้สะดวก  และกว้างพอที่จะล้างแร่ได้พร้อมทั้งทำที่สำหรับนั่งเลียงแร่ไว้ด้วย
  ไม้ที่ทำเป็กบอกหลุม  ควรใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดเท่าแขน  ยาวประมาณท่อนละ ๑.๒๐ เมตร เสี้ยมปลายด้านหนึ่งสำหรับตอกลงดิน  อีกปลายหนึ่งถากเหลือหัวเป็นหยักไว้เพื่อใช้เขียนชื่อหลุมด้วยสี  หยักที่หัวเก็บไว้บังฝนไม่ให้ถูกสีที่เขียน  ปักตรงจุดตัดของเส้นเหนือ - ใต้ กับเส้นออก - ตกพอดี แต่เนื่องจากหลักนี้ถอนได้ง่าย จึงนิยมถากต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดเขียนบอกหลุมกำกับไว้ เป็นการถาวรขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ชื่อหลุมที่เขียนด้วยสีที่ต้นไม้นี้ ประมาณ ๒ ปี เปลือกที่ถากไว้ก็จะงอกออกมาปิด หรือเป็นราบ้าง  หรือเวลาจะทำเหมืองก็จะต้องโค่นต้นไม้นี้ทิ้ง  จึงควรทำหมุดปูนซีเมนต์ ขนาดหมุดของกรมที่ดินฝัง  บางคนเขาใช้สังกะสีปั๊มเบอร์ตอกติดกับเสาปักไว้  ซึ่งใช้ได้ชั่วคราว วิธีที่ดีที่สุดคือเขียนเบอร์ใส่ในขวดเบียร์ ปิดจุกให้แน่นแล้วฝังลงในหลุมบอริ่ง  ขวดใบละไม่ถึงบาท  ถูกกว่าหมุดซีเมนต์  แต่เวลาฝังต้องกลบให้แน่น ฝนตกน้ำมาก ขวดซึ่งจุกฝาแน่นจะลอยขึ้นมา
 

 


การไชแร่

เขาแบ่งหน้าที่กันดังนี้


  คนไชแร่ ๘ คน แบ่งออกเป็น ๒ พวก ๆ ละ ๔ คน ผลัดกันขึ้นไปปั๊มดินหมู่ละท่อ หรือผลัดกันทำหมู่ละ ๕ ฟุต หรือ ๒ เมตร (ท่อขนาด ๓ ๑/๒" ยาวท่อนละ ๕ ฟุต  ส่วนท่อขนาด ๖" ยาวท่อนละ ๒ เมตร) การผลัดกันเช่นนี้ เอาบุญกรรมว่า ธรรมดาเปลือกดินมักอ่อน  ดินบางชั้นเป็นดินขี้ตมอ่อน พอต่อท่อคนยังไม่ทันขึ้น ท่อจมลงเองก็มี อย่างนี้ขึ้นไปทิ่มไม่กี่ปั๊มก็ลงหมดท่อ  กินเวลาบางทีไม่ถึง ๕ นาที แต่ดินบางชั้นเป็นทรายไหลมาก  เก็บขึ้นมาเท่าใดเข้ามาอีกมากมายหลายเท่า เหล็กก้านเจาะลอยสูงพ้นมาร์ค  (รอยขีดเสมอตีนท่อ) ไป ๓-๔ ฟุตก็มี  ถ้าโดยทรายไหลอย่างนี้ ต้องรับทำอย่างรวดเร็ว  บางทีตั้งชั่วโมงสองชั่วโมงหรือชั้นกระสะที่มีหินใหญ่ทับกันแน่น  เครื่องมือที่ใช้เป็นเหล็กเวลาทิ่มถูกหินจะกระดอนและสะบัด  ต้องกดหางกุญแจให้แน่น  มือแตกมือซ้นก็ตอนนี้ กว่าจะได้แต่ละฟุตบางทีเป็นชั่วโมงถ้าโดนชั้นกระสะก็กรรมหน่อย การเปลี่ยนคนละท่อ  คราวเคราะห์ร้ายบางทีถูกทิ่มกระสะเกือบทุกหลุมไปเกือบตลอดเดือน  จึงบางทีถ้ากระสะหินใหญ่หนา  หรือทรายไหลมากจนเหลือแรงที่พวกเดียวจะทนทิ่ม ๆ เป็นครึ่งค่อนวัน  เขาก็อาจตกลงผลัดทำพวกละครึ่งหรือ ๑ ชั่วโมงก็ได้
  เมื่อทำหมดท่อนหนึ่ง ๆ ก่อนที่คนบนจะลงมา ทุกคนเขาจะวางกุญแจของเขาไว้ที่มุมของตัวบนปั๋ว แล้วจึงลงมา  ยกปั๋วออกพร้อมทั้งกุญแจวางอยู่ที่นั้น เมื่อต่อท่อเสร็จยกปั๋วขึ้นไปใหม่ กุญแจจะต้องติดไปด้วย  แต่ถ้าเมื่อคนล่างเปลี่ยนขึ้นไปทำและไม่มีกุญแจอยู่บนปั๋ว  ก่อนอื่นจะต้องส่งกุญแจขึ้นก่อน จากนั้นคนคู่กุญแจ ๔ ส่งน้ำ  กุญแจ ๔ รับกรอกลงในรูท่อแล้วคืนถังเปล่าแก่คนส่งเอาไปเก็บ  แล้วคนคู่กุญแจ  ๑ ส่งปั๊ม  กุญแจ ๔ รับด้วยมือเอาแหย่ลงในรูท่อ กุญแจ ๑ เอากุญแจจับคอปั๊มหย่อนลงขัดห้อยไว้บนหัวท่อ  คนคู่กุญแจ ๒ ส่งเหล็กก้านเจาะท่อนแรก กุญแจ ๒ รับ ยกเข้าต่อเกลียวกับปั๊ม  ทุกคนช่วยหมุนด้วยด้วย ๒ มือ กุญแจ ๑ จับกุญแจที่ผูกคอปั๊มแน่น  กุญแจ ๒ เป็นคนผูกเกลียว ให้แน่นด้วยกุญแจ  แล้วกุญแจ ๒ หย่อนปั๊มลง ถ้ายังมีเหล็กต้องต่ออีก คนคู่กุญแจ ๓ ส่งเหล็กอันต่อไปให้คนกุญแจ ๓ รับมาต่อ ทุกคนช่วยหมุน  แล้วกุญแจ ๑ ผูกเกลียว และหย่อนปั๊มลง ทำอย่างนี้จนถึงก็เริ่มเก็บดิน
  คนเทปั๊มข้างล่างนั้น ปรกติเขาผลัดหมุนเวียนกันมาเท  เมื่อเทต้องพยายามอย่าให้หกหมดแล้วเช็ดเกลียวให้หมดดินด้วยกระสอบเปียก  แล้วควรลองกระแทกน้ำดูด้วยว่าลิ้นทำงานได้สะดวกดี ซักกระสอบบิดให้แห้งเสียบขาปั๊มไว้ และคอยเอาใจใส่คอยส่งปั๊มนั้นเพื่อเปลี่ยนกับปั๊มที่เต็ม จึงเป็นอันหมดธุระเรื่องเทปั๊มนั้นของคนนั้น
  คนหาบน้ำ หาบดินนั้น เขาแบ่งคนหนึ่งออกมาเป็นคนตวงดิน  มีหน้าที่ถ่ายดินจากกระบะลงถัง ตวงและเอาไปชั่ง เมื่อดินเปลี่ยนชั้นครั้งหนึ่ง ๆ หรือ "หมดปั่น"  ตัดเอาปั๊มสุดท้ายรวมตวงล้างกระบะให้หมดเป็นชั้น ๆ ไปไม่ปนกัน เมื่อชั่งวัดแล้วให้คนหาบน้ำหาบดินหาบเอาไปให้คนล้างแร่  คนนี้จะต้องช่วยคนล้างขยำดิน ล้างในกระป๋อง  เอาน้ำใสใส่ลงไปแล้วขยำ  รินน้ำขุ่นทิ้ง ทำจนเหลือแต่ทรายสะอาด  หมดธุระขยำแล้วก็หาบน้ำกลับมาให้คนไชแร่
  เมื่อเริ่มเอาท่อลงดิน ใช้เสียมขุดนำก่อน ดินที่ได้ถ้าเป็นชั้นเดียวกันก็เก็บรวมกันถ้าเกิดไม่เหมือนกันก็แยกชั้นกันเสีย แล้วแยกชั้นดินบนไปตวงและวัดความหนาจดลงสมุดไว้ชั้นล่างคงยังไม่หมดชั้น เก็บไว้รวมกับที่จะได้ใหม่จากการเก็บด้วยปั๊ม  ดินที่ขุดได้จากเสียมต่อความลึกระยะหนึ่ง ๆ ย่อมได้ปริมาตรมากกว่าเก็บได้จากปั๊มในระยะลึกเท่ากัน  ถ้าเปลือกดินนี้ไม่มีแร่จะตวงเอาทั้งหมดหรือแบ่งมาบางส่วนก็ไม่เป็นปัญหาอะไร  แต่ถ้ามีแร่และใช้วัดปริมาตรจากการคำนวณจาก ขนาดของตีนท่อ  จะต้องเอามาคลุกกันแล้วแบ่งเอามาตามสมควรกับที่จะได้จากการปั๊มโดยมีระยะลึกเท่ากัน และถ้าใช้าวิธีวัดปริมาตรด้วยการตวงแล้ว เก็บเอามาล้างทั้งหมด  หรือจะแบ่งมาตวงสักราว ๑๐ ลิตรก็ได้
  ขณะที่คนข้างบนกำลังทิ่มและท่อกำลังลง คนคุมจะต้องคอยดู  และฟังเสียงปั๊มกระแทกดินแต่ละฟุตที่ผ่านไปว่าท่อลงเร็วช้าสม่ำเสมอประการใด ฟังเสียงปั๊มว่ายังอยู่ในชั้นดิน  ชั้นทราย หรือชั้นกระสะ คนทิ่มปั๊มอาศัยจากการกระเทือนมือและเสียง  เขาจะรู้ว่าดินเปลี่ยนชั้นเมื่อใดพอรู้ว่าดินเปลี่ยนชั้น เขาจะต้องหยุดการทิ่มอย่างแรงเปลี่ยนเป็น "เก็บ" เก็บดินจากการทิ่มที่กระจัดกระจาย  สูง ๆ ต่ำ ๆ ที่ในท่อขึ้นให้หมด  เอาตัวอย่างที่ได้ใส่กระบะรวมกับดินชั้นเดียวกันกับที่ได้จากปั๊มก่อน ๆ แล้วเอาตวงล้างกระบะเอาดินนี้ล้าง
  คนคุมจะต้องคอยดูด้วยว่า ตอนดินเปลี่ยนชั้นนั้น ปั๊มโก่ยเถาหรือล้ำหน้าตีนท่อหรือเปล่า ถ้าปั๊มล้ำหน้า ต้องหมุนท่อให้ลงเสียให้ตีนท่อกับตีนปั๊มเสมอกันพอดี  โดยดูจากมาร์คที่หมายไว้ที่เหล็กก้านปั๊มให้พอดีกับหัวท่อ   ทั้งนี้เพื่อจดความลึกที่แท้จริงเมื่อเริ่มถึงชั้นใหม่ได้ถูก
  เมื่อทำจากดินอ่อนไปพบดินแข็ง  หรือกระสะแน่นท่อที่กำลังลงเร็วจะช้าลงหรือหยุดกึก พร้อมทั้งเสียงปั๊มกินดินและความกระเทือนมือของคนทิ่มจะผิดไป  เราหมายตาฟุตที่ลงของท่อขณะนั้นไว้ บันทึกพอเป็นเลา ๆ ว่า สงสัยว่าดินจะเปลี่ยนเมื่อลึกเท่าใด  ให้ปั๊มเก็บดินขึ้นจนตีนปั๊มพอดีกับตีนท่อ เอาดินมาดู ถ้าดินเปลี่ยนชั้นแน่น เอาความลึกของท่อขณะนั้นตั้งลบด้วยความลึกเมื่อเริ่มถึงหลังดินชั้นนั้น ก็จะได้ความหนาของชั้นดินที่ทำมาแล้วนั้น
  ถ้าทำจากแข็งไปหาอ่อน  คนทิ่มกำลังทิ่มเต็มแรง คนล่างก็กำลังหมุน  พอทะลุชั้นดินแข็งยั้งมือไม่ทัน ปั๊มจะพรวดทะลุดินอ่อนลงไป ท่อจะลงวูบทันที บางทีลงวูบจนมิดท่อก็มี จะต้องรีบหมายตาเพียงความลึกของท่อเมื่อเริ่มวูบลงทันที ตัดชั้นดินแข็งเอาแค่นั้น แร่การวูบลงบางครั้งก็ไม่มาก  และมันอาจหลอกเราก็ได้  เช่นในการทำชั้นทรายร่วนและกระสะร่วน  ปรกติท่อจะลงได้พอสมควร แต่อาจเกิดมีทรายจับตัวแน่น  พอทิ่มชั้นจับตัวนี้ทะลุ  ท่อจะวูบลงเร็วเหมือนกัน อย่างนี้เราจะรู้ได้ว่าเปลี่ยนชั้นดินจริงหรือไม่ก็ต้องเอาดินจากปั๊มมาดูก่อนเท่านั้น
  เกี่ยวกับการล้างแร่ตัวอย่าง ดินตัวอย่างที่ตวงวัดแต่ละชั้น ๆ นั้น ให้คนหาบน้ำหาบไปให้คนล้างแร่ล้าง  ถ้าคนล้างแร่ไปล้างในห้วยที่ไกลออกไป การส่งดินตัวอย่างไปเรื่อย ๆ อาจพลั้งเผลอปนกันหรือสับกันได้ จึงมักมีข้อตกลงกันว่า ดินที่ส่งไปเรื่อย ๆ นั้นเป็นดินของชั้นไหนบ้าง  โดยเมื่อส่งดินชั้นแรก (ปั่น ๑) ไปล้าง  ถ้ายังไม่มีกระดาษเขียนกำกับมาว่าเป็นดินชั้นไหน ก็ถือว่าเป็นดินของชั้น ๑ อยู่เรื่อย เพื่อเมื่อถึงครั้งสุดท้ายตัดปั่น ๑ เมื่อใดคนคุมบอริ่งจะเขียนเบอร์ด้วยกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ด้วยดินสอดำกำกับมาด้วย เช่นเขียนว่า "หลุม ๑๐ ตัวอย่าง ๑"  เป็นต้น แสดงว่าหมดตัวอย่างที่ ๑ เท่านั้นเอง ดินที่ส่งมาอีกจะเป็นตัวอย่างชั้นใหม่  จนกว่าป้ายชั้นใหม่จะมาก็เป็นอันหมดชั้นนั้น  คนล้างเมื่อล้างแร่แต่ละชั้นได้เท่าใด  ก็เก็บแยกไว้เป็นตัวอย่าง ๆ โดยใส่กะลาแยกจากกัน และเอาป้ายกระดาษของชั้นนั้น  ๆ ใส่ไว้ในกระลานั้น ให้รู้ว่าเป็นแร่ของชั้นไหน  แล้วคืนแก่คนคุมบอริ่งไปล้างสะอาดต่อไป
  คนล้างดินตัวอย่างจากหลุมบอริ่งต้องเป็นคนที่เคยและชำนาญมาก การล้างใช้ล้างด้วยเลียง ก่อนล้างจะต้องเอาน้ำใสใส่ลงไปขยำ ๆ แล้วรินน้ำเลนทิ้ง  เติมน้ำใสลงไปใหม่ขยำอีก ทำอย่างนี้จนได้ทรายที่สะอาดน้ำไม่ขุ่น จึงเอาลงล้างเลียง การล้างจะต้องล้างทีละน้อย ๆ ประมาณครั้งละ ๑ ลิตร ไม่ควรล้างจนสะอาดทีเดียว  ล้างพอสถานประมาณ เก็บไว้ทั้งแร่และขี้ตมโดยมีทรายติดมาบ้าง  เพราะล้างในห้วยถ้าล้างสะอาดแร่จะหลุดไปกับน้ำห้วย เอามาล้างที่บ้าน ล้างแล้วเอาขี้ที่หลุดไปมาล้างซ้ำล้างซากก็ยังได้  ล้างได้ครั้งหนึ่งก็ใส่กะลาไว้ที่หนึ่ง รวมกันจนหมดดินของชั้นนั้น แล้วเอาแม่เหล็กดูดเหล็กจากปั๊มที่ลึกรวมมาขึ้นเสีย น้ำที่ล้างแร่ต้องเป็นน้ำสะอาด  ถ้าขุ่นจะพาแร่ออก  บางคนเขาก็ย่างให้แห้งตรงนั้นเอง  แล้วใส่ถุงโดยเอาป้ายใส่รวมไปด้วย  เอากลับไปล้างสะอาดที่บ้าน
  การล้างสะอาดต้องทำอย่างพิถีพิถันมาก ใช้ล้างด้วยกะลาที่ทำอย่างดี  ถ้าแร่มากก็ใช้ไถ้ขนาดเล็ก  ขนาด ประมาณ ๒", ๓" และ ๔" ล้างในชามกะละมังที่เคลือบขาวเห็นได้ง่าย  ถ้ายังมีพวกอิลเมไนท์หรือขี้เขียวและกาเหน็ตหรือทรายแดง  และโมนาไซ้ท์  หรือขี้เหลือง  ย่างตัวอย่างนั้นให้แห้ง  ใช้แม่เหล็กไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่ดูดออกให้หมด เมื่อสะอาดดีแล้วชั่งและลงสมุดไว้ และเก็บตัวอย่างนั้นแยกรวมไว้เป็นห่อ ๆ เพื่อไว้ตรวจสอบภายหลังเมื่อสงสัย แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่าแร่นั้นสะอาดดี หรืออยากรู้เปอร์เซ็นต์ของเนื้อดีบุกเอาทั้งหมดมาตัวอย่างละตามส่วน  เอามาคลุกเคล้ากัน  แล้วเอาไปวิเคราะห์หาเปอร์เซ็นต์ของโลหะดีบุก ถือมาตรฐานคำนวณราคาแร่จาก ๗๒%
  การล้างดินตัวอย่างที่หน้างานนั้น  บางแห่งเขาไม่เอาไปล้างในห้วย  แต่ใช้ถังเปลขนาดใหญ่ใส่น้ำให้เต็ม ล้างกันที่ตรงข้างหลุม  คนคุมบอริ่งจะได้คุมการล้างไปด้วยแบบนี้คนตักน้ำต้องตักมามากกว่าปรกติ  เพราะจะต้องเอาน้ำขยำดิน  และต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำในถังบ่อย ๆ น้ำขุ่นใช้ล้างแร่ไม่ดีจะพาแร่ออกได้  คนล้างเลียงในถังเปลต้องเคยจึงจะล้างได้เพราะน้ำเป็นคลื่นกระฉอกเมื่อล้างชั้นหนึ่ง ๆ หมดลง ก็โกยเอาทรายที่ตกลงก้นถังมาล้างใหม่ซ้ำซากจนหมดจริง  ถ้าต้องการรู้ว่ามีทรายกี่เปอร์เซ็นต์ก็เอาทรายจากก้นถังมาตวงดู  จะรู้ได้ว่าดินชั้นนั้น ๆ มีทรายกี่เปอร์เซ็นต์  และจะให้ดีขึ้นเอาไปผ่านตะแกรง  ก็จะได้ว่ามีทรายขนาดเท่าใดกี่เปอร์เซ็นต์  เวลาจะใช้เครื่องแต่งแร่  เช่นออกแบบจิ๊ก  หรือออกแบบรางเก็บแร่ จะได้รู้ว่าควรจะให้รางกว้างและเอียงขนาดใดจึงจะเหมาะ
  เมื่อไชจนถึงดานนั้น บางคนเก็บกะว่าพอหมดทรายในท่อ  ก็ทิ่มอย่างแรงให้ดานอุดตีนปั๊มขึ้นมาดูก็เลิก  แต่บางคนเมื่อถึงดาน เขานิยมเก็บขึ้นมาล้างดูทันที ถ้ายังมีแร่อยู่อีกก็ให้เอาปั๊มลงไปเก็บแร่ขึ้นมาจนหมด  เอากันจนล้างไม่มีแร่จึงจะให้ถอนท่อ  หรือภาษาเขาว่า "โหล้ถิ"  ได้ และบางคนเมื่อถึงดาน เขาให้ตีท่อให้จมลงไปในดานประมาณ  ๑ ฟุต  (ถ้าดานนั้นไม่เป็นชนิดที่จับท่อจนถอนไม่ขึ้น)  แล้วถอนท่อให้ดานอุดตีนขึ้นมาเพื่อเอาแร่ที่ตกค้างขึ้นมาทั้งหมด
  เรื่องเก็บแร่ขึ้นให้หมดเมื่อถึงดาน  เพราะทราบแล้วว่าแร่หนัก  และชั้นกระสะถ้าเป็นกระสะร่วนแร่จะตกลง ๆ ถึงแม้ปั๊มจะเก็บดานขึ้นมาได้  แต่แร่อาจจะจมแทรกดาน หรือหลงอยู่ตามตีนท่อ  ดังนั้นบางคนเขาจึงพยายามเก็บให้หมด ถ้าใช้วิธีตวงดิน  ถ้าเป็นดานอ่อน จะเก็บแร่จนหมดจริง ๆ ก็ต้องปั๊มเอาดานขึ้นมามาก  ปริมาตรดินที่ไม่มีแร่ (ดาน) จะไปรวมกับปริมาตรกระสะที่ตวงได้ ถ้าคิดค่าทั้งอย่างนี้ ค่าจะต่ำกว่าเป็นจริง จึงต้องพิจารณาว่าผ่านดาน  เก็บดานขึ้นมาอีกเท่าใด  เช่น  ผ่าดานลงไปอีก ๒ ฟุต ปรกติ ๒ ฟุตได้ดินกี่ลิตร เอาปริมาตรของดานนั้นหักออกเสียก่อน  แล้วจึงเอาไปคำนวณ  ก็จะได้ค่าใกล้เคียงขึ้น
  การขยำดินตัวอย่างนั้น ดินเหนียวบางชั้นมีแร่ด้วย จะต้องขยำกันย่ำแย่ การขยำดินเป็นของน่าเบื่อ  คนขยำพอลับตาคนคุมขี้เกียจก็โยนทิ้งไปเลย  จึงต้องระวังไว้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อมีแร่ในดินเหนียว  บางคนขยำนานเท่าใดเขาจับเวลาไว้ ทั้งนี้เพื่อเทียบรู้เอาเองว่าเหนียวขนาดไหน  ความเหนียวของดินเกี่ยวพันกับการทำเหมืองมาก ถ้าทำเหมืองเรือขุด เวลาดินเหนียวผ่านลูกแร่ง ถ้าเหนียวพอร้ายพอดี น้ำที่ฉีดในลูกแร่งจะฉีดดินนั้นละลายหมด แต่ถ้าเหนียวเกินไปฉีดไม่ละลาย  ดินนั้นจะคลุกพาแร่ออกทิ้งท้ายลูกแร่งไป  และถ้าเป็นเหมืองสูบฉีด ฉีดไม่คอยพังง่าย  และเมื่อพัง กลิ้งไปบนรางก็คลุกพาแร่ออกท้ายรางเหมือนกัน  เรื่องความเหนียวนี้เราไม่เคยมียูนิตเกี่ยวกับการทำเหมืองว่าเหนียวขนาดใด  ถ้าจะมีการเอาดินไปลองดูและตั้งยูนิตกันเสีย  ว่าเหนียวเท่านั้นยูนิต  ใช้แรงน้ำเท่านั้นเท่านี้ปอนด์/ตารางนิ้วปากกระบอกฉีดเท่านั้นนิ้ว ฉีดจะทะลุได้ชั่วโมงละกี่ลูกบาศก์หลา  อาจจะช่วยในการคำนวณปริมาณดินที่ทำในเดือนหนึ่ง ๆ ให้ผิดพลาดน้อยลงได้มาก ที่ว่าทำเหมืองสูบ ๘" เดือนหนึ่งได้ดิน  ๒๕,๐๐๐ คิว  ถ้าทำดินเหนียวตัวเลขนี้ใช้ไม่ได้  คุณจินดา  แสงเถกิง เคยบอกว่า ทำดินเหนียวเดือนหนึ่งจะได้ดินราวหมื่นหรือหมื่นสองพันคิวเท่านั้น  แต่นั่นแหละก็ยังเอาตัวเลขไม่ได้อยู่ดี  เพราะเหนียวนั้นเหนียวแค่ไหน 
  ขณะนี้แทบทุกเหมืองเรื่องน้ำขุ่นเป็นปัญหาใหญ่ และต้องมีงบประมาณสำหรับน้ำขุ่นเดือนหนึ่ง ๆ มิใช่น้อย  จึงเมื่อได้ดินตัวอย่างมา  เมื่อขยำแล้วจะต้องมาลองดูว่า ทิ้งไว้นานเท่าใดจะตกตัว อันนี้ก็น่าจะมียูนิตการตกตัวของตะกอนและน่าจะมีการค้นคว้าถึงการทำให้ตกตะกอนเร็วเข้า  เกี่ยวกับเหมืองเหมือนกัน
  ในการไชแร่นั้น  ถ้าเราซื้อที่จากเขา  เคยมีการโกงเอาแร่ใส่ลงไป  เขาอาจลักใส่ได้หลายทาง  เช่น ติดสินบนคนงานไชแร่ คนหาบน้ำ คนล้างแร่  ดะไปจนถึงคนคุม หรือบางทีทำไม่ถึงดานคาค้างคืนไว้ เขาก็ให้คนเอาแร่ใส่ลงในท่อ   การป้องกันคนโกงป้องกันยากต้องไว้ใจกันเท่านั้นจึงจะทำได้ อาจอาศัยการผิดสังเกต  ความผิดปรกติของคนของสีแร่ขนาดแร่ที่ผิดจากหลุมอื่น ๆ หรือเกิดมีในดินที่ผิดขึ้นไป  เวลาเลิกงานถ้าทำยังไม่ถึงดานดินที่ได้ขึ้นมาควรล้างให้หมด ปากท่อเอาผ้าปิดผูกตีตราไว้ ปรกติแล้วเขามักทำล่วงเวลาจนถึงดาน
  บางครั้งคนบอริ่งก็โกงเจ้าของที่เสียเอง  คือไชแล้วพบว่ามีแร่  ก็บอกว่าไม่มี  ไชไม่ถึงกระสะบ้าง  ล้างแร่ทิ้งเสียบ้าง  โกหกเอาดื้อ ๆ บ้าง แล้วหาเพื่อนสนิททำไปขอไชอีก ๒-๓ หนใคร ๆ ก็ว่าไม่มี เจ้าของที่ซึ่งโดยมากจับป่าไว้ขาย  ทนภาษีที่ดินไม่ไหวก็คืน  ทีนี้คนไชก็ไปขอประทานบัตรคุลมเอาใหม่
  การวัดปริมาตรของดิน
  จุดประสงค์ในการไชแร่ก็คือ  ต้องการรู้ว่าดินหนึ่งลูกบาศก์หลามีแร่กี่ชั่งหรือ ๑ ลบ.เมตรมีแร่กี่กิโลกรัม  นอกจากนั้นยังต้องการทราบสภาพของดินนั้นว่า เหนียว  แข็ง  อ่อนมีหินมาก ดานแข็ง  อ่อน ฯลฯ ประการใด
  วีธีตวงแบบคิดง่าย ๆ ปกติเปลือกดินจะหนักประมาณลิตรละ ๑.๗-๑.๘ กก. กระสะจะหนักประมาณลิตรละ ๒ กก.  มีเศษบ้างนิดหน่อย  ในวิธีนี้คือถัวเฉลี่ยไปเลยได้ว่าดินของหลุมนั้นหนักลิตรละ ๒ กก.  เรามาทำสูตรสำเร็จอย่างวิธีที่ ๕ เหมือนกันแต่เพราะน้ำ ๑ ลิตร หนัก ๑ กก. ดิน ๑ ลิตร หนัก ๒ กก.  ทำให้คิดได้ง่าย
  ใช้ถังตวง ๑๐ ลิตรแบบวิธีที่ ๕ สมมุตว่าถังหนัก ๑.๘ กก. เมื่อได้ดินมา  เอาใส่น้ำให้เต็ม  ชั่งสมมุติว่าได้หนัก ๑๖.๕  ลิตร  วิธีคิดก็คือเอา  ๑๑.๘  (๑๐ + ๑.๘) ลบ, ๑๐  เป็นขนาดจุของถังตวง ๑.๘  เป็นน้ำหนักของถังตวง เราจะได้ปริมาตรของดินนั้นทันที คือดินนั้นจะ =  (๑๖.๕-๑๑.๘) = ๔.๗ ลิตร
  จะใช้วิธีวัดปริมาตรดินวิธีไหนก็ตาม สำหรับดินอย่างนั้น  สำหรับคนไชถ้าได้ค่าตามที่ตัวคิดออกมาเท่านั้น   แล้วทำเหมืองได้ ก็ใช้วิธีนั้นของตัวเรื่อยไปก็ได้   เช่นทำที่ดินเหนียวใช้ท่อปาก ขนาด ๔ ๑/๔" ถัวแล้วได้แร่ต่อท่อ ๑ ท่อน ๑/๖ กลักไม้ขีดไฟทำแล้วมีกำไรได้ ๑๐๐ หาบต่อเดือน ก็ทำโดยใช้วิธีนั้นเรื่อยไปสำหรับที่ดินเหนียวแบบนั้น  ถ้าไชได้ถ้าเกิดเป็นท่อหนึ่งได้ ๑/๓ กลักไม้ขีดไฟ เดือนหนึ่งก็ได้ ๒๐๐ หาบ ไม่ผิดเหมือนกัน
  วิธีที่ดีที่สุด ไชแล้วควรขุดหลุมเช็ดดู ขุดให้รูเสมอลงไป  เอาดินทั้งหมดมาล้าง ถัวเฉลี่ยแร่ทั้งหลุมดูว่าตรงกับที่ไชหรือไม่ เช็คเป็นบางหลุม นอกจากเช็คดูแล้ว  จะเห็นว่าชั้นดินชั้นหินจริง ๆ เรียงตัวกันอย่างไร  กระสะมีหินใหญ่มาก เท่าใด  ขนาดใด ถ้าผลจากบอริ่งกับขุดหลุมลองผิดกันมาก เพราะมีหินใหญ่ในกระสะมาก หินนี้แทนที่ทราย  เวลาที่ปั๊มขึ้นมาเราได้แต่ทรายและหินเล็กมาถัวเฉลี่ยค่า และคิดปริมาตรของกระสะตามความลึก  เวลาทำจริงมีหินใหญ่แทนที่ทรายไป ๕๐-๖๐% ได้ทรายน้อยลงไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ได้แร่น้อยลงไปกว่าที่คำนวณตั้งครึ่งเหมือนกัน ผลจากบอริ่งที่ผิดไปจากขุดลองทั้งหลุม ผิดไปเพราะหินมาแทนที่เท่าใด ก็ต้องตัด% ที่ผิดของหินออก
  อีกประการหนึ่ง สำหรับที่ราบกว้าง  เมื่อเอาค่าลงมาในบอริ่งแปลนแล้ว ได้ค่าเสมอ ๆ กันไป แต่มีหลุมใดหลุมหนึ่งกระโดยสูงผิดเพื่อน เขามักไขดักว่าติดไปกว้างเท่าใด  เพราะกลัวแร่ไปตกหลุมอยู่ตรงนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นเอาค่าของหลุมนั้นมาคิดไม่ได้  แต่ถ้าเป็นที่ในลำห้วยบางหลุมจะติดก็ติด บางหลุมบทจะไม่ติดก็ไม่ติด  เพราะเกิดจากน้ำเซาะไปเซาะมา ในที่นี้คิดรวมกันไปเลยไม่ตัด ถือว่าผลมีกับไม่มีถัวกันไปแล้ว
  การทำ SELECTED AREA และการคำนวณปริมาณแร่และเนื้อดิน
  ก่อนที่จะ select ที่ จะต้องดูประสิทธิภาพของวิธีการทำเหมืองของเราก่อน  เช่นจะทำเหมืองสูบ  ๘" ถ้าดินอ่อน  เราอาจจะทำได้เดือนละ ๒๐,๐๐๐ ลบ.เมตร ที่มีความสมบูรณ์ประมาณ ๐.๓ KG/M๓ ก็พอจะได้แร่เดือนละประมาณ ๖ ตัน จึงถ้าหลุมใดได้ค่ามากกว่า ๐.๓ กก./ม๓ อยู่ในบริเวณหลุมดี  แต่ในการทำเหมืองเราจำเป็นต้องทำเข้าไปตรงหลุมไม่ดีด้วย  ก็จะเป็นต้องเอาหลุมนั้นรวมเข้าในบริเวณเนื้อที่ทำการด้วย
  ถือว่าค่าของหลุมหนึ่ง ๆ มีแร่กินไปจนถึงครึ่งทางของหลุมข้างเคียงรอบตัว ดังนั้นในการแบ่งเขตที่จะทำออกจากที่ที่ไม่ทำแร่ จึงแบ่งเขตกันตรงกลางระหว่างหลุมทั้ง ๒ การทำ selected area ของจุด ๆ หนึ่ง ได้แสดงอยู่ในเอกสารประกอบหมายเลข ๔ แล้ว พร้อมทั้งวิธีคิดหาค่าถัวเฉลี่ยความลึก  คิดเนื้อดิน  คิดปริมาณแร่ทั้งหมดในดิน  ราคาของแร่ทั้งหมดเวลาทำงานและทุนที่จะคืน
  สำหรับการ select ที่ในลำห้วย  ซึ่งมีแร่เฉพาะในที่ราบระหว่างตีนเนิน ๒ ข้าง ไม่มีแร่กินขึ้นมา เนื้อที่ที่จะ select เราไม่คิดกินออกไปถึงครึ่งทางระหว่างหลุม  ถ้าทำได้จะต้องทำแผนที่คลุมบริเวณที่ราบที่จะมีแร่เพียงแค่ตีนเนิน  แล้วเอาเนื้อที่นี้มาคิด  เอาค่าของทุกหลุมที่อยู่ในเนื้อที่นี้  เฉพาะที่อยู่ในตารางมาคิดเฉลี่ย
 การทำระดับผิวดินและการทำระดับดาน
 หลังจากตรวจลองและเห็นว่าได้ผลแล้วจะทำงาน  นอกจากทำแผนที่บริเวณทั้งหมดควรหาระดับพื้นที่ตรงเป็กหลุมบอริ่งทุกหลุมให้รู้ว่าแต่ละจุดที่ทำการบอริ่งสูงต่ำกว่ากันเพียงใดโดยการปักจุด DATUM ขึ้น ๑ จุด สมมุติว่าระดับของ DATUM นั้นเป็น ๑๐๐ เมตร ไล่ระดับจาดหลุมนี้ไปยังทุกหลุม เราก็จะได้ระดับเปรียบเทียบทั้งหมด  เมื่อเอาความลึกของแต่ละหลุมที่ตรวจไชได้  ไปลบออกจากระดับของผิวดินของมัน เราก็จะได้ระดับเปรียบเทียบของดานทั้งหมด  จากนี้เราก็จะรู้ว่าดานหลุมไหนต่ำหลุมไหนสูง  เมื่อเบิกเปลือกดินออกทำเหมืองไปแล้ว  จุดไหนบนดานจะเป็นจุดลึกที่สุด ถ้าทำได้เราก็ตั้งเครื่องและเอาหัวดูดลงที่จุดนั้น  ก็จะช่วยในการต้องผ่ารางนำแร่น้อยลงเป็นต้น
 


เหมืองสูบ


 เหมืองสูบเป็นวิธีทำเหมืองในลานแร่ที่สำคัญมากวิธีหนึ่ง เป็นวิธีที่นิยมทำกันแพร่หลายในประเทศไทย และประเทศสหพันธรัฐมลายูซึ่งผลิตแร่ดีบุกได้มากที่สุดของโลก เมื่อพูดถึงส่วนสำคัญของวิธีการทำเหมืองแล้วก็ไม่แตกต่างไปจากการทำเหมืองแล่น วิธีทำเหมืองแล่นดังได้กล่าวมาแล้ว ต้องอาศัยสภาพภูมิประเทศตามธรรมชาติมากที่สุด แต่วิธีเหมืองสูบเป็นวิธีการทำเหมืองแล่นที่ดัดแปลงเพื่อทำเหมืองแร่ในที่ที่สภาพภูมิประเทศไม่อำนวยให้ดังเช่นในแหล่งลานแร่ที่ต้องเปิดทำโดยวิธีเหมืองหาบและเหมืองปล่องมาแล้วในครั้งก่อน
 ก่อนที่จะลงมือทำเหมืองสูบ ผู้ทำเหมืองจะต้องตรวจลองแร่ให้ละเอียด เพื่อทราบระดับของดินดาน ความลึกของดินดานหรือชั้นกระสะจากผิวดิน ลักษณะดินมีหินใหญ่ ดินเหนียวมากหรือไม่ และสามารถจะฉีดพังได้สะดวกหรือไม่ และสิ่งที่สำคัญที่สุดมีแร่ดีบุกอยู่ เป็นปริมาณเท่าใด และจะทำเหมืองได้กี่ปี จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนดีหรือไม่ เมื่อเลือกเนื้อที่ที่จะทำเหมืองได้แล้ว ขั้นต่อไปจะต้องพยายามหาที่ตั้งต้นเริ่มทำเหมือง โดยพยายามเลือกตั้งต้นที่จุดซึ่งมีดินดานอยู่ลึกที่สุดและไม่ห่างจากที่ที่จะใช้เป็นที่เก็บขังมูลดินทรายจากการทำเหมือง แล้วทำการสร้างรางล้างแร่ (Palong) ขึ้น ตั้งเครื่องยนต์และสูบ (Gravel Pump) ขุดหลุมตรงปลายท่อดูดขึ้นก่อนพอเป็นบ่อสำหรับสูบดินกรวดทรายขึ้น ใช้กระบอกฉีด ฉีดพังดินขยายบ่อให้กว้างออกและลึกลง จนถึงพื้นดินดาน ซึ่งในระยะนั้นบ่อก็ขยายออกเป็นขุมเหมืองกว้าง ปฏิบัติการฉีดพังหน้าเหมืองมาลงบ่อสูบ เป็นการดำเนินงานเต็มที่ เครื่องยนต์สำหรับสูบดินนั้นอาจจะต้องเลื่อนลงมาตั้งต่ำลงมาในขุมตามเครื่องสูบ (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่  ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ : หน้า ๖๖ - ๖๗)

 

หน้าเหมืองสูบ


 การพังดินหน้าเหมืองของเหมืองสูบ ใช้แรงน้ำจากระบอกฉีด ฉีดพังดินและทำการกวาดให้ไหลไปตามล่องไปสู่บ่อสูบ ขนาดของปลายกระบอกฉีด (Nezzle) ใช้ขนาด ๑  ๑/๒ - ๓ นิ้ว แรงดันน้ำประมาณ ๓๐ - ๑๐๐ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว สำหรับดินกรวดทรายที่ไม่แน่นหรือเกาะกันแข็งมาก แรงน้ำขนาด ๓๐ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว จะฉีดได้ดี สำหรับดินกรวดทรายที่มีเชื้อประสานติดกันแน่นหรือมีดินเหนียวปนอยู่มาก จะต้องใช้แรงน้ำสูงขนาด ๘๐ - ๙๐ ปอนด์ต่อตางรางนิ้ว จึงจะได้ผล น้ำที่ส่งเข้ากระบอกฉีดอาจจะมาจากน้ำในที่สูงต่อท่อลงมายังเหมือง ในกรณีเช่นนี้พอจะคิดความดันน้ำได้จากการวัดความสูง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น แต่เหมืองสูบส่วนมากไม่มีโอกาสที่จะใช้น้ำจากที่สูง ต้องอาศัยตั้งเครื่องสูบหอยโข่ง สูบน้ำจากขุมเก็บน้ำหรือลำคลองส่งไปยังกระบอกฉีด แรงน้ำจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับกำลังของเครื่องสูบ กระบอกฉีดจะมีรูปร่างคล้ายปืนใหญ่ ลำกระบอกยาวประมาณ ๓ - ๗  ฟุต ตรงปลายมีเกลียวสำหรับเอาปลายกระบอกฉีด (Nezzle) ขนาดต่าง ๆ ใส่ ส่วนที่ต่อกับท่อน้ำเป็นเหล็กหล่อทำเป็นท่อข้องอ เพื่อให้กระบอกฉีดตั้งขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ - ๓ ฟุต ตัวกระบอกฉีดสามารถหมุนในแนวราบได้รอบตัว ขยับปลายกระบอกฉีดขึ้นได้ประมาณ ๕๐ องศา และกดต่ำลงได้ประมาณ ๑๐ องศา กับระดับราบของกระบอกฉีดกระบอกฉีดที่ใช้ฉีดกัดเซาะเข้าไปในเนื้อดิน เพื่อให้ดินตอนบนพังลงมาเอง ควรจะใช้กระบอกฉีดที่มีปลายกระบอกฉีดขนาดเล็ก ๑ ๑/๒ - ๒ นิ้ว ส่วนการผลักดันและกวาดดินกรวดทรายลงไปสู่บ่อสูบนั้น ในการฉีดพังดินหน้าเหมืองควรจะมีกระบอกฉีด ๒ กระบอก การตั้งกระบอกฉีดจะต้องตั้งให้ห่างหน้าเหมืองพอสมควร และเพื่อความปลอดภัย สำหรับ หน้าเมืองที่สูงมากขนาด ๕๐ ฟุต ขึ้นไป มักจะทำการฉีดเป็นชั้น ๆ เพื่อความปลอดภัยของคนงาน


 ปัญหาที่มักจะประสบบ่อยครั้งในการฉีดหน้าเหมืองได้แก่หินก้อนทั้งเล็กและใหญ่มีอยู่ในแหล่งลานแร่ บางแห่งมีหินมากทำให้การฉีดพังดินหน้าเหมืองได้น้อย และต้องเสียเวลาในการเก็บก้อนหิน หินก้อนที่ใช้คนงานเก็บ ก็จะถูกเก็บกองไว้เป็นแห่งไม่ให้กีดขวางการทำงานที่หน้าเหมืองและร่องทางน้ำของดินกรวดทรายไปยังบ่อสูบ บางครั้งหินก้อนใหญ่มากไม่สามารถจะขยับเขยื้อน โดยแรงคนงานได้ ก็ต้องปล่อยทิ้งไว้และใช้น้ำฉีดรอบ ๆ ก้อนหินนั้น เพื่อกวาดแร่ออกไม่ให้ติดค้างอยู่ใต้หิน ผู้ทำเหมืองใช้ลวดสลิงขึงบนเสาไม้แข็งแรงและแขวนรอกเดินสายลวดหย่อนตะกร้าทำด้วยลวดเหล็กขึ้นลงในขุมเหมือง ช่วยให้คนงานในการขนเอาหินขึ้นจากขุมเหมือง หรือขนย้ายหินไปกองยังที่อื่นภายในขุม
 การฉีดพังดิน ต้องพยายามฉีดให้ดินพังลงและกวาดดันลงร่องให้ไหลไปยังบ่อสูบหรือมีปริมาณพอดีกับสมรรถภาพของเครื่องสูบ และให้มีส่วนผสมของดินกรวดทรายกับน้ำให้พอเหมาะสำหรับรางล้างแร่ แต่โดยปกติในขุมเหมืองมีน้ำใต้ดินซึมออกมาตลอดเวลาบางเหมืองน้ำไหลเข้าขุมเหมืองมากจนท่วมพื้นดินดาน ต้องสูบทิ้ง หรือใช้เครื่องสูบขนาดใหญ่สูบให้ทันกับปริมาตรน้ำไหลเข้าและดินกรวดทรายจากหน้าเหมือง ถ้าเป็นเหมืองที่มีน้ำไม่พอ ก็จำเป็นต้องต่อท่อน้ำมาคอยเพิ่มเติมให้แก่บ่อสูบ (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้  ๒๕๔๐ หน้า ๖๗ - ๖๘)

 

การสูบดินกรวดทราย


 เครื่องสูบในเวลานี้นิยมใช้ขนาด ๘ - ๑๐ นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดของท่อดูดหรือเครื่องสูบตัวเครื่องสูบจะตั้งอยู่สูงจากพื้นดินดานของขุมเหมือง ประมาณ ๑๐ ฟุต ปลายท่อดูดจะจุ่มอยู่ในบ่อสูบ ส่วนท่อส่งวางเอียงบนโครงไม้ขึ้นไปสู่รางล้างแร่ เครื่องสูบกรวดทรายนี้ขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซล ถ้าขุมเหมืองไม่ลึกเกินไป เครื่องยนต์ดีเซลจะมีแท่นเครื่องอยู่ที่ขอบขุมเหมือง และใช้สายพานหมุนเครื่องสูบ กำลังเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ขึ้นอยู่กับระยะความสูงจากปลายท่อสูบถึงปลายท่อส่ง ถ้าจะประมาณกำลังแรงม้าที่ต้องใช้ในการเดินเครื่องสูบเพื่อสูบดินกรวดวทรายขึ้นสู่รางล้างแร่ อาจคิดประมาณได้ดังนี้ สำหรับสูบขนาด ๖ นิ้ว ใช้ ๐.๘ แรงม้าต่อความสูง ๑ ฟุต สูบขนาด ๘ นิ้ว ใช้ ๑.๒ แรงม้าต่อความสูง ๑ ฟุต สูบ ๑๐ นิ้ว ใช้ ๒.๐ แรงม้าต่อความสูง ๑ ฟุต แต่ในการคิดหากำลังเครื่องสูบจะต้องคิดกำลังเผื่อขาด สำหรับความสูงที่อาจจะเปลี่ยนแปลงสูงเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ต้องทำขุม กรวดทรายที่สูบขึ้นมาหรือขนาดของสูบ รางกู้แร่ของเหมืองสูบขนาด ๘ นิ้ว ที่ทำกันอยู่ในเวลานี้ มีขนาดกว้าง ๘-๑๐ ฟุต ยาว ๑๖๐-๒๔๐ ฟุต บางเหมืองทำเป็นรางกู้แร่ ๒ รางติดกัน เรียกว่ารางคู่ จะมีความกว้างเป็น ๒ เท่า คือ ๑๖-๒๐ ฟุต ความลาดของรางประมาณ ๓-๕ องศา ตอนหัวรางจะทำเป็นสามเหลี่ยมสำหรับรับน้ำและดิน กรวดทราย จากรางซึ่งต่อมาจากที่รับน้ำและดินกรวดทรายจากปลายท่อส่งของเครื่องสูบน้ำ และดินกรวดทรายจากปลายท่อส่งผ่านตะแกรงเหล็กทำเอาไว้สำหรับคัดหินกรวดที่เป็นก้อนโตกว่า ๑/๒ นิ้วออก ส่วนที่ลอดตะแกรงก็ลงรางไปสู่หัวรางกู้แร่ รางรับน้ำและดินกรวดทรายนี้มีขนาดกว้างประมาณ ๓ ฟุต และลาดกว่ารางกู้แร่เล็กน้อย ประมาณ ๑/๒ - ๑ องศา สามเหลี่ยมตอนหัวรางกู้แร่ที่ลาดกว่ารางกู้แร่ ประมาณ ๑/๔ - ๑/๒ องศา ตอนที่สามเหลี่ยมหัวรางต่อกับรางกู้แร่มีไม้กระดานกั้นสูงกว่าขอบของรางกู้แร่ และมีทางระบายน้ำลงรางน้ำซึ่งทำไว้ข้างรางกู้แร่ หรือตรงกลางรางกู้แร่ที่เป็นรางคู่ รางนั้นมีไว้สำหรับระบายน้ำที่ไม่ต้องการออกโดยที่ไม่ให้ผ่านรางกู้แร่ น้ำและดินกรวดทรายจะลงมาสะสมอยู่ในตอนสามเหลี่ยมหัวราง พอมีดินกรวดทรายสะสมอยู่เป็นปริมาณพอสมควร เปิดไม้กระดานประตูให้ไหลลงรางกู้แร่ในเวลาที่น้ำดินกรวดทราย คนงานจะใช้กระบอกฉีดขนาดเล็กทำการฉีดลงไปในดินกรวดทรายที่อยู่บนรางกู้แร่ เพื่อให้ดินกรวดทรายหยุ่นตัวไม่ทับถมกันแน่นเม็ดแร่ดีบุกจะมีโอกาสแทรกตัวลงอยู่ข้างใต้ทราย รางกู้แร่มีไม้ขนาด ๒ นิ้ว x ๓ นิ้ว วางกั้นขวางรางเป็นตอน ๆ ห่างกันประมาณ ๘ ฟุต ไม้ขวางกั้นนี้วางทับสูงเพิ่มขึ้นตามปริมาณดินทรายและแร่ในรางที่กั้นด้วยไม้ (Riffle) เป็นตอน ๆ นี้ ช่วงที่อยู่ใกล้หัวรางจะมีแร่ดีบุกตกอยู่มาก และค่อยลดน้อยไปจนถึง ตอนปลายรางกู้แร่ซึ่งมีแร่อยู่เพียงเล็กน้อย (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ หน้า ๖๙ - ๗๐)

การกู้แร่


 เมื่อประมาณว่ามีดินทรายและแร่บนรางกู้แร่พอสมควร ก็จัดการกู้เอาแร่เสียครั้งหนึ่ง ระยะเวลาที่จะทำการกู้อาจจะเป็น ๓-๗ วัน ๑๕ วัน หรือ ๒๐ วันครั้ง แล้วแต่แหล่งแร่ส่วนที่เปิดฉีดหน้าเหมืองสมบูรณ์เพียงใด ถ้ามีแร่มากอาจต้องทำการกู้ ๓-๔ วัน ครั้ง เมื่อจะทำการกู้แร่ ทางหน้าเหมืองจะต้องหยุดฉีดพังดิน ปล่อยให้เครื่องสูบ สูบแต่น้ำขึ้นมาปล่อยล้างแร่บนรางกู้แร่ คนงานจะต้องมาช่วยกันใช้จอบหรือกระบอกฉีดขนาดเล็กฉีดคุ้ยให้ดินทรายออกไปเมื่อเห็นว่าเหลือดินทรายอยู่ไม่มากซึ่งในเวลานั้นอาจจะมีแร่ดีบุก (Cassiterite) อยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ บางแหล่งมีแร่ชนิดอิลเมไนท์มาก แร่ที่กู้ได้อาจมีแร่ดีบุกไม่ถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เพราะแร่อิลเมไนท์หนักกว่าทรายและส่วนมากจะตกค้างอยู่บนรางกู้แร่ปนกับแร่ดีบุก (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  การทำเหมืองแร่ดีบุก  ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ : หน้า ๗๑)

 

เหมืองเรือขุด


 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน ปี พ.ศ. ๒๔๓๕  ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย การปรับปรุงการปกครองต่อมาก็ได้มีส่วนทำให้การทำเหมืองแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ตทันสมัย และตั้งอยู่ในระเบียบแบบแผนและมีประสิทธิภาพ  ซึ่งแม้ในปัจจุบันนี้  ก็ยากที่จะเปรียบเทียบได้


 ประมาณปี ค.ศ. ๑๙๐๕ (พ.ศ. ๒๔๔๘) เมื่อได้มีการทำเหมืองหาบกันแพร่หลาย เหมืองแร่ที่อุดมสมบูรณ์ได้ร่อยหรอลงไป การทำเหมืองซึ่งเคยมีศูนย์กลางอยู่ตามลุ่มแม่น้ำถลาง ได้ย้ายมายังตำบลกะทู้ และทุ่งคา แหล่งแร่ที่สำคัญที่ไม่เคยมีการขุด ก็คือ ที่ดินในเขตศาลากลางทุ่งคา อันเป็นที่ตั้งสถานีตำรวจ ที่ทำการไปรษณีย์ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ชักชวนให้มีการลงทุนทำเหมือง


 กัปตัน เอดวาร์ด ที. ไมลส์ ชาวออสเตรเลียซึ่งได้เดินทางมาทำธุรกิจที่ปีนัง ได้รับเชิญให้มาสำรวจและมีความเห็นว่าการย้ายอาคารบ้านเรือนของทางราชการ ไม่น่าจะคุ้มกับการทำเหมืองแร่ แต่กลับไปสนใจในการทำเหมืองหาบในอ่าวทุ่งคา ซึ่งในขณะนั้นใช้ทำนบกั้นน้ำเค็มเป็นบริเวณประมาณ ๓๒๐ ไร่ เพื่อทำเหมืองหาบ และใช้คนงานหลายร้อยคนเป็นแรงงานขุด กัปตันไมลส์ เชื่อว่าแหล่งแร่ดีบุกซึ่งสะสมตามทางน้ำเดิมใต้บริเวณศาลากลางและเหมืองหาบชายฝั่ง คงจะเป็นสายออกไปในอ่าวทุ่งคา พ้นบริเวณที่มีการทำเหมืองอยู่แล้ว


 ตามประวัติศาสตร์แต่ดั้งเดิม นับแต่ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งห้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๑ (ค.ศ. ๑๖๐๘) ไม่ปรากฏว่ามีชาวยุโรปเคยเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกในประเทศสยาม แต่เข้ามาเป็นคนกลางรับซื้อดีบุกไปขายเท่านั้นกัปตันไมลส์ จึงได้ทดสอบความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ในอ่าวทุ่งคาและเมื่อได้ผลยืนยันความคิดเดิมก็เริ่มดำเนินการเจรจาขอสัมปทานพิเศษ


เมื่อหม่อมฉันพบกัปตันไมลส์โล่เลียงดูได้ความว่า วิธีขุดแร่ด้วยใช้เรือขุดนั้นเขาใช้กันในตัสเมเนียหลายแห่งเป็นการใช้ได้แน่ หม่อมฉันเห็นว่าที่ในท้องทะเลอ่าวภูเก็ตมีแร่ดีบุกมาก ข้อนี้ใคร ๆ ก็รู้กันมาแต่ก่อน แต่หากไม่มีใครสามารถจะขุดได้ ทิ้งไว้ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าอนุญาตให้กัปตันไมลส์ขุดสำเร็จได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง ถ้ากัปตันไมลส์ทำการไม่สำเร็จ ความเสียหายก็อยู่แต่กับตัวเขารัฐบาลไม่ต้องเสียหายอะไรด้วย เพราะฉะนั้นควรให้กัปตันไมลส์ลองขุดแร่ดีบุกในอ่าวภูเก็ตดู เมื่อกัปตันไมลส์ได้อนุญาตแล้วกลับไปหาทุนที่ออสเตรเลีย และไปว่าให้ต่อเรือขุดส่งมาคุมที่อู่ตำบลไปรในแขวงเมืองปีนัง คุมเครื่องขุดแล้วเสร็จประจวบเวลาหม่อมฉันออกมารับเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกลับจากยุโรปครั้งหลัง กัปตันไมลส์ได้เชิญหม่อมฉันไปทำพิธีเปิดเดินเครื่องขุดแล้วส่งเครื่องนั้นไปยังเมืองภูเก็ต เป็นเรือเครื่องขุดลำแรกที่มีทางแหลมมลายูนี้ เดิมใช้ขุดแต่ในท้องทะเล ทีหลังเกิดความคิดเอาเรือขึ้นไปขุดบนบกด้วย ขุดสระพอให้เรือลอยขุดดีบุกไปข้างหน้า เอาดินที่ขุดมาถมข้างหลัง ตัดค่าใช้จ่ายในการขุดแร่ดีบุกลงได้เป็นอันมาก (สมภพ   จันทร์ประภา  ข่าวสารโลหะกิจ  ๒๕๐๕  หน้า ๖๕)


 ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปฏิวัติครั้งใหญ่ ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ มีนายเรือออสเตรเลีย ชื่อ (CAPTAIN EDWARD T. MILES) ได้นำเรือขุดแร่ดีบุก เข้ามาเป็นลำแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ เขาได้จดทะเบียนตั้งบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ขึ้น  ครั้งสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์  และได้รับความสำเร็จอย่างดี       จึงทำให้เกิดมีเรือขุดแร่ดีบุก   มาดำเนินงานอีกหลายลำในประเทศไทย (วิชา  เศรษฐบุตร ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ ๒๕๐๖ หน้า ๑๗)


 การที่กัปตันไมลส์ นำเรือขุดเข้ามาทำเหมืองแร่ในอ่าวทุ่งคาได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๗) นั้น จึงเป็นการใช้เรือขุดทำเหมืองแร่ในทะเล แห่งแรกในโลก และเป็นการเปิดเหมืองแบบใหม่ได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียง ๓ ปี นับตั้งแต่เริ่มสำรวจย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงความเชื่อมั่นในความมั่นคงของบ้านเมือง และแสดงถึงประสิทธิภาพของการบริหารของรัฐบาลสยาม


 ภายใน พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๑) ได้มีเรือขุดเดินในทะเลขุดแร่ดีบุกอยู่ในอ่าวทุ่งคารวมถึง ๕ ลำ      (ราชัน   กาญจนะวณิชย์    ดีบุกกับภูเก็ตในสมัยรัตนโกสินทร์    ๑๐๐   ปี    กรมทรัพยากรธรณี หน้า ๒๒๓ - ๒๒๔)


 การทำเหมืองเรือขุด เป็นการทำเหมืองที่ต้องลงทุนสูงมากสำหรับเหมืองที่เปิดทำในแหล่งลานแร่ เฉพาะเรือขุดหนึ่งลำขนาดที่ขุดดินกรวดทรายได้ ๑๕๐,๐๐๐ ลูกบาศก์หลาต่อเดือน ขุดได้ลึก ๖๐ ฟุต จะมีราคาร่วม ๓๐ ล้านบาท ดังนั้นก่อนที่จะลงมือเตรียมการเพื่อเปิดทำเหมืองเรือขุด จำเป็นจะต้องมีแหล่งแร่ดีบุกในลานแร่ใหญ่พอสมควร พอที่จะเปิดทำเหมืองขุดแร่ด้วยเรือขุดได้ ๒๕ ปีเป็นอย่างน้อย แต่อาจจะลงทุนได้ต่ำกว่า ถ้าหากซื้อเรือขุดที่ใช้แล้ว


 โดยที่เรือขุดสามารถขุดดินกรวดทรายได้ปริมาณสูง แหล่งแร่ดีบุกที่มีความสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ เช่นมีแร่ดีบุกประมาณ ๐.๒๕ ชั่ง ต่อดินกรวดทรายหนึ่งลูกบาศก์หลา ก็สามารถจะเปิดดำเนินการมีกำไรได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยราคาแร่ดีบุกที่ไม่ตกต่ำไปกว่าราคาในปัจจุบัน (หาบจีนละ ๑,๘๐๐ บาท) ค่าใช้จ่ายในการทำเหมืองเรือขุดดินเฉลี่ยแล้ว ประมาณ ๒ - ๕ บาท ต่อดินกรวดทรายที่ขุดหนึ่งลูกบาศก์หลา (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  การทำเหมืองแร่ดีบุก  ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ หน้า ๗๒)


 เรือขุดโดยมากจะต้องมาสร้างหรือประกอบขึ้น  ณ  ที่จะเปิดทำเหมือง เว้นแต่แหล่งลานแร่ที่อยู่ติดทะเล อาจจะสั่งซื้อเป็นเรือขุดที่ต่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว และใช้เรือลากจูงมาทำการขุดได้เลย ลักษณะเรือขุดเป็นโรงงานมากกว่าเรือ แต่เป็นโรงงานที่ลอยอยู่ในน้ำในอู่ที่ขุดขึ้น ส่วนสำคัญของเรือขุดได้แก่เครื่องขุดแร่อันได้แก่บันใด (Ladder) ซึ่งมีพวงลูกกระเชอเคลื่อนที่วางอยู่ ตะแกรงหมุน (Trommel) สำหรับคัดขนาดดินกรวดทราย เครื่องล้างแร่ได้แก่ จิ๊ก (Jigs) หรือรางกู้แร่ (Palongs) และรางปล่อยมูลดินทรายทิ้ง เรือตามที่กล่าวมานี้เป็นเรือขุดชนิดที่เรียกกันว่า เรือขุดใช้ลูกกระเชอ (Bucket Dredge) ซึ่งนิยมใช้ขุดแร่ดีบุก ในลานแร่ เรือขุดใช้ก้ามปู (Grab Dredge) วิธีการทำงานของเรือขุดใช้ลูกกระเชอยุ่งยากหรือซับซ้อน บันใดพวงลูกกระเชอทางหัวเรือขยับขึ้นลงได้ เพื่อให้ลูกกระเชอขุดดินกรวดทรายกะสะหรืออู่เรือขุดได้ตามระดับที่ต้องการ ดินกรวดทรายที่ลูกกระเชอขุดขึ้นมาแต่ละลูกจะถูกเทลงที่รับทางปลายด้านบนของบันใด ซึ่งเป็นที่ลูกกระเชอพลิกคว่ำเคลื่อนที่ไปใต้บันใดแบบสายพานไม่รู้จักจบ ดินกรวดทรายจากที่รองรับ (Chute) ไหลเข้าไปยังตะแกรงหมุน ซึ่งหมุนรอบช้า และมีน้ำฉีดภายในให้ดินทรายที่จับเป็นก้อนแตกออกจากกัน รูตะแกรงขนาดไม่เกิน ๑/๒ นิ้ว ส่วนที่ลอดรูตะแกรงหมุนจะลงไปสู่จิ๊ก (Jigs) ชุดแรก ซึ่งมีอยู่หลายสิบตัวทำการแยกเอาแร่ดีบุกออกจากน้ำและดินกรวดทรายที่ผ่านมาจากตะแกรงหมุน ส่วนที่ผ่านจิ๊กชุดที่จะไหลไปลงรางมูลดินทราย ไปทิ้งทางท้ายเรือเช่นเดียวกับดินหินที่ไม่ลอดตะแกรงหมุน แร่และทรายที่จิ๊กชุดแรกแยกเอาไว้นี้จะถูกส่งไปแยกที่จิ๊กชุดที่ ๒ และผลของจิ๊กชุดที่ ๒ จะถูกแยกเป็นครั้งสุดท้ายด้วยจิ๊กอีกชุดหนึ่ง ได้เป็นแร่สะอาดของเรือขุด ซึ่งจะมีแร่ดีบุกอยู่ประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่งไปล้างยังโรงล้างแร่ต่อไป


 การเคลื่อนไหวของเรือขุดอาศัยสายลวดสลิงซึ่งมีอยู่ห้าสาย เป็นสายหัวสำหรับดึงให้เรือเดินหน้าหนึ่งสาย เป็นสายข้างขวาและซ้ายข้างละสองสาย  สำหรับเคลื่อนลำเรือขุดไปทางขวาและซ้ายสายลวดสลิงเป็นลวดเหล็กกล้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ ๑/๒ นิ้ว ถึง ๒ นิ้ว ยาวเส้นละประมาณ ๑๐๐ เมตร แต่เส้นสายหัวจะต้องยาวเป็นพิเศษอย่างน้อยไม่น้อยกว่า ๒๐๐ เมตร


 การล้างแร่ภายในโรงล้างแร่เหมืองเรือขุด เป็นไปอย่างเดียวกับการล้างแร่ในโรงล้างแร่ของเหมืองสูบ


 แหล่งแร่ดีบุกในทะเลบริเวณอ่าวหรือชายฝั่งที่น้ำไม่ลึก เรือขุดใช้ลูกกระเชอทำการขุดได้ผลดี ที่จังหวัดภูเก็ตมีเรือขุดใช้ลูกกระเชอ และเรือขุดใช้ก้ามปูทำการขุดอยู่ในทะเล ๒ ลำในระดับน้ำลึกประมาณ ๘๐ - ๑๐๐ ฟุต ปรากฏว่าทำการขุดแร่ดีบุกได้ดีทั้งสองลำ สำหรับเรือขุดก้ามปูลำนี้ได้สร้างขึ้นเป็นแบบใหม่ ไม่เหมือนเรือขุดทั่ว ๆ ไป รูปร่างเป็นเรือเดินทะเลเพราะเอาเรือบันทุกน้ำมันมาดัดแปลง ตอนหัวเรือมีก้ามปูขนาด ๔ ลูกบาศก์หลา ๒ ตัว สำหรับปล่อยลงไปงับเอาดินท้องทะเลขึ้นมา ส่วนเครื่องมือแยกแร่และการทำงานภายในเรือเป็นไปเช่นเดียวกับเรือขุดใช้ลูกกระเชอ เรือขุดใช้ก้ามปูชนิดนี้ใช้ทำการขุดแร่ในระดับน้ำลึกมากได้ และเข้าใจว่าในระดับน้ำลึกที่เรือขุดใช้ลูกกระเชอไม่สามารถขุดได้ เรือขุดลำนี้คงยังขุดได้ดี (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ  ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ หน้า ๗๓)
 การทำเหมืองเรือขุดแร่ดีบุกเป็นของอังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งขยายการลงทุนไปทั่วปักษ์ใต้ และเหมืองสูบของชาวจีนมีเปิดมากขึ้นแทนที่เหมืองปล่องและเหมืองหาบ ในการที่คนต่างชาติเข้ามาทำเหมืองมากมาย เช่นนี้ และหาคนไทยแท้ที่จะทำเหมืองได้ยาก   พระบาทสมเด็จพระมหาธิราชเจ้า จึงได้มีพระบรมราชโองการสงวน บริเวณเหมืองจังหวัดชุมพรขึ้นมา มิให้มีการทำเหมืองแร่หรือสงวน บริเวณนี้ไว้ให้คนไทยในอนาคต (วิชา เศรษฐบุตร ครบรอบ ๗๒ ปี ๒๕๐๖ หน้า ๑๙)
 เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ สมัยรัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จมณฑลภูเก็ตนั้นไม่มีหลักฐานให้ปรากฏชัดเจนมากกว่านี้นอกจากภาพถ่ายที่อ้างในหนังสือดังกล่าวและในราชกิจจานุเบกษาจึงได้นำมาประมวลเรียบเรียงตามคำบรรยายดังในภาพ ดังนี้ ในการเสด็จมณฑลภูเก็ตครั้งนี้ มีข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ประชาชน และนักเรียนโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย ตั้งแถวเคยรับเสด็จ (วรวุธ  วิสิฐพานิชกรรม ๑๐๐ ปี ภูเก็ตวิทยาลัย กรุงเทพฯ ๒๕๔๐ หน้า ๗๘)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ ทอดพระเนตร เรือขุดแร่ที่มณฑลภูเก็ต (ทวีศักดิ์  เสนาณรงค์ ถลางภูเก็ตและชายฝั่งทะเลอันดามันฯ กรมศิลปากรอัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด ๒๕๓๒ หน้า ๑๐๖ -๑๐๗)
เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๑ เวลา ๑๐.๑๐ น. เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพลับพลาที่ประทับไปยังตำบลกะทู้ ทอดพระเนตรการทำเหมืองด้วย เรือขุดขนาดใหญ่ และเป็นแบบใหม่ ใช้เครื่องยนต์ประกอบกับเครื่องไฟฟ้า ของบริษัทกะทู้ทิน เมื่อเสด็จถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต (พระยานครราชเสนี (สหัส สิงหเสนี) กราบบังคมทูล เบิกผู้จัดการของบริษัทเฝ้าทูลละออง ธุลีพระบาทแล้ว ผู้จัดการนำเสด็จทอดพระเนตรเรือขุด กราบบังคมทูล ชี้แจงถึงคุณวิเศษของเรือขุด เสร็จแล้ว (พระองค์ได้ทรงทำพิธีปล่อยเรือขุดแร่ลงอู่เรือด้วยในวันนั้น ตรงข้ามโรงเรียนกะทู้วิทยา) ประทับเสวยเครื่องว่าง แล้วเสด็จกลับสู่ที่ประทับแรม เวลา ๑๒.๓๐ น. (ราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๔๕ มีนาคม ๒๔๗๑ หน้า ๔๐๕๙)
 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การทำเหมืองที่นาลึก (เข้าใจว่าตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง) และพลับพลารับเสด็จที่อ่าวมะขาม (อำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ต) (ทวีศักดิ์  เสนาณรงค์ ถลางภูเก็ตและชายฝั่งทะเลอันดามันฯ กรมศิลปากรอัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด ๒๕๓๒ หน้า ๑๐๘ -๑๐๙)
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมัยเศรษฐกิจตกต่ำราคาดีบุกที่สูงขึ้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ และในระยะหลังนั้น ทำให้ผู้ประกอบการทำเหมืองลงทุนขยายกิจการไปมากขึ้น และการผลิตสูงเป็นลำดับ ครั้นสงครามสงบลง ภาวะการณ์ของโลกเข้าสู่ระดับปกติแล้ว ความต้องการแร่ยุทธปัจจัยก็หมดไป
 เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น กองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้าประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ มีบริษัทค้าแร่ดีบุกของเครือจักรภพอังกฤษอยู่ในเมืองภูเก็ต หลายบริษัท คือ
 -บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ทินเดรดยิง ลิมิเต็ด
 -บริษัท ซะเทินคินตา คินโวลิเดเต็ด ลิมิเต็ด
 -บริษัท ภูเก็ตทินเดรดยิง ลิมิเต็ด
 -บริษัท กะทู้ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด และกมราทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด
 -บริษัท ตินเลทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด
 -บริษัท ปีนังไมนิ่งคอปอเรชั่น ลิมิเต็ด
 -บริษัท ระเงงทินเดรดยิง ลิมิเต็ด
 -บริษัท สเตรท เทรดดิง ลิมิเต็ด
 -บริษัท อีส เตอร์สเมลติง  ลิมิเต็ด
 (ราชัน กาญจนะวานิชย์ ดีบุกกับภูเก็ตในสองร้อยปีที่แล้วมา  เปิดศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒ เมษายน ๒๕๔๐ หน้า ๘๑)
 เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๗๔ โครงการควบคุมดีบุกนี้มีต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น จึงเลิกล้มไปโดยปริยายเพื่อปฏิบัติตามโครงการ รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติ ควบคุมแร่ดีบุก พ.ศ. ๒๔๗๙ ขึ้นใช้  และยังคงใช้บังคับมาตราบเท่าทุกวันนี้ (ราชัน กาญจนะวานิชย์  ดีบุกกับภูเก็ตในสองร้อยปีที่แล้วมา  เปิดศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้  ๒๕๔๐ หน้า ๑๙)

การทำแร่ดีบุกให้สะอาด
 การทำเหมืองแร่ดีบุกนั้น ตามที่ได้แบ่งเรียกชื่อ เป็นวิธีต่าง ๆ ได้ ๕ ชื่อคือ เหมืองแล่น เหมืองหาบ  เหมืองปล่อง เหมืองสูบฉีด เหมืองเรือขุดแล้วนั้น  การทำเหมืองแร่ ดีบุกในแหล่งลานแร่ และแหล่งแร่ เปลือกดิน ซึ่งการทำเหมืองแร่ แบ่งงานที่สำคัญออกเป็น ๒ ส่วน คือ งานขุดเอาสินแร่ดีบุก กับงานการแต่งแร่ หรือล้างแยกแร่ให้เป็นแร่สะอาดเพื่อ  จำหน่าย การขุดเอาสินแร่ หมายถึงส่วนที่มีแร่ดีบุก ซึ่งอาจมีหินแข็ง หรือแร่ชนิดอื่นปนอยู่ หรือถ้าในแหล่งลานแร่ ก็มีพวกดินกรวดทรายปนอยู่เป็นส่วนใหญ่ และแร่อื่น ๆ ที่ปนอยู่ด้วย ก็เพราะในการขุดไม่อาจจะเอาแต่เฉพาะแร่ที่ต้องการได้ และส่วนใดที่จะถือเป็นสินแร่ได้ก็ต่อเมื่อ ส่วนนั้นมีปริมาณแร่ที่ต้องการ ในที่นี้ก็คือแร่ดีบุก (CASSITERITE) อยู่เพียงพอที่จะนำไปล้างแต่งหรือแยกออกเป็นแร่สะอาด และจำหน่ายได้กำไร (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๙๐)
 การแต่งแร่หรือแยกแร่ ของเหมืองที่เปิดทำในลานแร่หรือแหล่งแร่เปลือกดิน ไม่ยุ่งยากหรือต้องใช้เครื่องมือ เครื่องจักร ในการล้างหรือแยกแร่มาก เพราะว่าเม็ดแร่ดีบุกได้แยกออกจากหิน และแร่อื่น ๆ อยู่แล้วตามธรรมชาติ เพียงแต่ใช้แรงน้ำช่วยให้แยกหรือหลุดออกจากดินกรวดทรายกับความอาศัย ความแตกต่างในเรื่องของน้ำหนักของวัตถุเจือปนด้วยกันก็แยกเก็บเอาแร่ดีบุกได้โดยไม่ยาก แร่ดีบุกหนักประมาณ ๖-๗ เท่าของน้ำที่มีปริมาตรเท่ากัน และหนักกว่าทรายหรือหิน ๒ เท่า วิธีการทำเหมืองแร่ดีบุก ในลานแร่ส่วนใหญ่เป็นการล้างและแยกแร่ด้วยเครื่อง (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๙๑)
 ตามธรรมชาติแร่ดีบุกที่มีอยู่ตามแหล่งทั่วไปย่อมจะอยู่รวมกับดิน หิน กรวด ทรายและแร่อย่างอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นแร่ที่มีราคา หรือไม่มีราคาก็ได้ ดังนั้นในการผลิตแร่ดีบุกออกจำหน่ายหรือส่งไปถลุง จึงจำเป็นที่จะต้องให้แร่ดีบุกนั้นมีความสะอาด โดยวิธีแยกเอาดิน หิน กรวด ทราย และแร่อย่างอื่นที่ปนอยู่ออกไป (เก็บกองไว้ต่างหาก) ส่วนแร่ดีบุกที่แยกเอาสิ่งเจือปนต่าง ๆ ออกไปแล้วนั้น จะเหลือแต่แร่ดีบุกที่มีเปอร์เซ็นสูง เหมาะแก่การส่งออกไปจำหน่ายได้ในราคาที่ดี พร้อมกับนำแร่ดีบุกที่สะอาด สามารถนำไปถลุง เอาโลหะดีบุกได้จากแร่ที่สะอาด จะได้มีความบริสุทธิ์ดีกว่าโลหะที่ถลุงได้จากแร่สกปรก หรือแร่ที่มีสิ่งอื่นเจือปน (วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี กรมโลหกิจ  ๒๕๐๖ หน้า ๑๔๒)

 

เตาย่างแร่


 รูปร่างเป็นเตาเหล็กรูปกรวยคว่ำมีปล่องตรงกลาง ใช้เหล็กตะแกรงห่าง ๆ กั้นรอบนอกกรวยเป็นที่ใส่แร่ โดยก่อไฟด้วยไม้ฟืน แร่ที่ถูกย่างแห้งแล้วจะร่วงลงมาทางรูตะแกรงจากนั้นก็นำไปเข้าเครื่องไฟฟ้า แม่เหล็กแยกแร่เป็นโมนาไซ้ท์ โคลัมไบ้ท์ แทนตาไล้ท์ และแร่อื่น ๆ แม่เหล็กแยกแร่มีหลายแบบ เช่นแบบใช้จานแก้ว แบบใช้สายพาน แร่สะอาดที่ผ่านการแยกด้วยแม่เหล็กแล้ว นำบรรจุเข้าถุงกระสอบผ้าใบ ถุงละ ๖๐ กิโลกรัม เท่ากับ ๑ หาบจีนตามปกติก็เป็นแร่ที่ส่งจำหน่ายได้ แร่จากแหล่งลานแร่ของประเทศที่ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ หรือโรงถลุงแร่ดีบุกที่ภูเก็ต ปรากฏว่ามีเปอร์เซ็นต์โลหะดีบุก ระหว่าง ๗๒ - ๗๔ (เรียก "น้ำแร่") (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุกศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐  หน้า ๗๑)

พระราชดำรัสเสด็จเหมืองแร่ของรัชกาลที่ ๙
 ใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นปี แห่งประวัติศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดของกรม ได้รับแรงดลใจให้พัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ของประเทศให้ครบระบบ โครงการตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกหรือพาณิชย์ก็เป็นผลส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ด้วย เดือนมีนาคม ปีนี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสภาคใต้ นับเป็นการประกอบ พระราชภารกิจตามโบราณราชประเพณีที่มีสืบกันมาว่า หลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระมหากษัตริย์จะต้องเสด็จเยี่ยมราชราษฎรในภาคต่าง ๆ ของประเทศ กำหนดการครั้งนั้นมีว่า มีพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินชมการทำเหมืองแร่ดีบุก อันเป็นอาชีพหลักของภาคใต้ ทางกรมโลหกิจได้จัดแผนให้ได้เสด็จทอดพระเนตร การทำเหมือง แร่ดีบุก        ด้วยเรือขุดของบริษัทไซมิสทิน ที่ตำบลบางนอน อำเภอเมืองจังหวัดระนอง (ซึ่งนายราชัน กาญจนะวณิชย์ ในนามบริษัทฯ  ได้รับเสด็จ และถวายการดำเนินงานของเรือขุดแร่ดีบุกในครั้งนั้น) ในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๐๒ เพราะเป็นเรือขุดลำเดียวที่กำลังขุดอยู่ใกล้ทางหลวง ที่ขบวนเสด็จผ่าน และในวันที่ ๙ มีนาคม ได้เสด็จทอดพระเนตร การทำเหมือง สูบของเหมืองเจ้าฟ้า ที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต (วิชา เศรษฐบุตร ๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี หน้า ๒๘)
 การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนิน โดยรถยนต์พระที่นั่งเลียบฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่ระนองถึงภูเก็ต ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นภูมิประเทศ อันเป็นแหล่งกำเหนิดแร่ดีบุก ทั้งภูเขาและลานแร่ พระองค์ทรงเข้าพระทัยดีถึงความยาก ลำบาก และวิริยะอุตสาหของผู้ทำเหมือง ไม่ว่าบริษัทใหญ่ของเศรษฐี หรือชาวบ้านที่ร่อนหาแร่ในท้องห้วย หรือท้ายราง ผู้หาเช้ากินค่ำ ที่เหมืองเจ้าฟ้า ของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ เจ้าของเหมืองได้จัดการปราบเนินดิน ด้านหนึ่งของหุบเขากะทู้ สร้างศาลาที่ประทับชั่วคราวบนเนินดิน สำหรับเป็นที่ประทับทอดพระเนตรชมการฉีดดินในขุมเหมืองด้วยแรงน้ำ ทรงเห็นดินทราย และแร่ ไหลไปตามร่องน้ำจนถึงโรงสูบ จนถูกสูบขึ้นไปบนราง ล้างแร่ หลวงอนุภาษภูเก็ตการ ได้กราบบังคมทูล กิจการโดยใกล้ชิด ทำให้บรรดา ประชาราษฎร ที่รายล้อมอยู่ต่างชื่นชม โสมนัสในพระราชจริยวัตรได้เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงซักถาม ข้าแผ่นดินตลอดเวลา (วิชา เศรษฐบุตร ๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี หน้า ๒๙) พิมพ์ตามต้นฉบับ หรือเหมืองอยู่ระหว่างเขตแดนตำบลกะทู้ กับอำเภอเมืองภูเก็ต
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงนึกถึงแต่เรื่อง ของภาคใต้ที่กำลังทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมอยู่ แต่ทรงซักถามผู้ที่เข้ามาเฝ้าใกล้ชิดเลยไปถึงเรื่องใหญ่กว่า คือปัญหาที่ว่าทำไมไทยเราจึงทำแต่เหมืองแร่ในภาคใต้เท่านั้น ในเมื่อภูเขาชนิดเดียวกันก็มีในภาคอื่น ๆ เช่น ภาคเหนือบ้าง ทำไมเราต้องส่งแร่ดีบุกไปขายโรงถลุงที่ปีนัง ทำไมไม่ถลุงเป็นโลหะใช้เสียเองในประเทศหรือเราทำแผ่น เหล็กขาย ทำดีบุกให้เป็นกระป๋อง บรรจุอาหาร ที่ ฝรั่งเขาทำมาขายเรา จะได้มีโรงงานเกิดขึ้นในประเทศ ราษฎรจะได้มีงานทำมากขึ้น แล้วถ่านหิน น้ำมันเล่าจะไม่มีในประเทศเราบ้างเชียวหรือ ฯลฯ พระราชปุจฉาเหล่านี้ หมายถึง พระราชปณิทานที่จะได้เห็นประเทศไทยนั้นพัฒนาอุตสาหกรรม แร่ให้กว้างขวางเจริญเติบโตขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ และคำตอบ อยู่ที่กรมโลหกิจนั่นเอง ฯลฯ (วิชา  เศรษฐบุตร ๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี หน้า ๓๐)
 ในที่สุดบริษัทสหรัฐอเมริกานี้ตกลงเข้ามาลงทุน ตั้ง บริษัท ดำเนินกิจการถลุงแร่ดีบุก โดยไม่มีทั้งภาครัฐบาล และผู้ทำเหมืองร่วม บริษัทตั้งชื่อว่า (THAI LAND SMELTING AND REFINING CO LTD.) มีชื่อย่อเรียกกันว่า "THAISARCO" และได้จัดตั้งโรงถลุงอยู่ที่ภูเก็ต จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๐๖ ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน เมื่อ ๖ กันยายน ๒๕๐๖ ได้สิทธิและประโยชน์ เช่นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมประเภทอื่น ทั้งนี้ บริษัทรับเงื่อนไขกับรัฐบาลว่าจะใช้อัตราค่าถลุง ค่าธรรมเนียมตลอดจนราคาซื้อขายตามแบบของโรงถลุงแร่ดีบุกที่ปีนัง ซึ่งผู้ทำเหมืองทั้งประเทศเคยเป็นลูกค้าโดยตลอดมา และรัฐบาลรับประกันว่าจะประกาศ กำหนดให้การส่งออกแร่ดีบุกของประเทศ เป็นในรูป โลหะเท่านั้น เพื่อบังคับไม่ให้ส่งเป็นแร่ออกไปขายต่างประเทศเงือนไขของรัฐบาลดังกล่าวนี้ได้เอามาจากมาเลเซีย เพื่อนบ้านของเรา ที่คุ้มครองโรงถลุงของอังกฤษที่ปีนังนั่นเอง (วิชา เศรษฐบุตร ๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี หน้า ๓๑ )
 โรงถลุงดีบุกเปิดทำการเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทย ได้ถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตดีบุกแท่ง ออกขายตลาดลอนดอนใช้ตรา (THAISARCO) เป็นเครื่องหมาย ชาวเหมืองภูเก็ตไม่ต้องเอาแร่ดีบุกใส่กระสอบส่งลงเรือไปขายปีนังอีกแล้ว ไทยเราไม่ต้องเสียค่าขนส่งแร่ออกนอกประเทศต่อไป ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลได้เก็บค่าภาคหลวง ตามเปอร์เซ็นต์ ความบริสุทธิ์ของแร่ ใครล้างแร่ได้สะอาด น้ำแร่จะสูงก็จะได้รับค่าแร่มากกว่าคนที่ส่งแร่สกปรก แต่ก่อนที่รัฐบาลเก็บค่าภาคหลวง เพียงถือเอาความบริสุทธิ์ ของแร่ดีบุกในแร่เพียง ๗๒% เมื่อถลุงเองที่ภูเก็ต ปรากฏว่าน้ำแร่จริงที่ส่งไปขายโรงถลุงสูงกว่า ๗๒% ทั้งรัฐบาลเลยได้ค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้นจากค่าน้ำแร่ที่ผู้ทำเหมืองไม่เคยเสียมาก่อนมีสถิติแสดงได้ว่า ๑๗ ปี แรกที่บริษัท ดำเนินการมา รัฐบาลได้รับค่าภาคหลวงเพิ่มถึง ๔๗๕ ล้านกว่าบาท กับทั้งเงินที่ผู้ทำเหมืองได้จากการขายจริง เป็นจำนวนเท่าใดปรากฏอยู่ในบัญชี ของโรงถลุง ที่ภูเก็ต ทำให้กรมสรรพากร พลอยได้รับ อนิสงส์ด้วยอีกกรมหนึ่ง จากนั้นเราได้เห็นมีการตั้งโรงงาน (TIN PLATE) โรงทำตะกั่วบัดกรี ฯลฯ  เกิดขึ้นอีกมากมาย คุณบัณฑิตย์ วัฒนศัพท์ เมื่อเกษียณ อายุราชการแล้ว ได้ตั้งโรงงาน บริษัท สยามพิวเตอร์ ผลิตพิวเตอร์ด้วยดีบุกแท่งจาก  (THAISARCO) ที่ภูเก็ต ทำชื่อเสียง แก่ประเทศไทย ในต่างประเทศ จากวันนี้ (วิชา เศรษฐบุตร ๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี หน้า ๓๒)
 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปชมกิจการ (THAISACARCO)  เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ด้วยความพอพระทัย

 

การถลุงแร่ดีบุก 


แร่ดีบุก (CASSITERITE) เป็นแร่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของสยามความต้องการแร่ดีบุกในอุตสาหกรรมมาแต่ดึกดำบรรพ์ทำให้การทำเหมืองแร่ดีบุก และเหมืองแร่ทองแดง เป็นการทำเหมืองแร่ที่เก่าแก่ที่สุดในสยาม และความต้องการแร่ดีบุกจากต่างประเทศที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ทำให้เหมืองแร่ดีบุกยืนยาวมาถึงทุกวันนี้  (เกษตร พิทักษ์ไพรวัน  ๑๐๐  ปี  กรมทรัพยากรธรณี  ๑๓๗ หน้า)
 แต่เดิมตามท้องที่ที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุก จะต้องมีการถลุงแร่เอง โดยผู้ทำการขุดหาแร่ในเขตที่นายอากรดีบุกประมูลได้ จะต้องนำแร่มาถลุงกับนายอากรดีบุกเขตนั้น ๆ ตามเหมืองใหญ่ ๆ บางแห่งมีเตาถลุงมีเตาถลุงเอง และรับแร่ดีบุกจากเหมืองเล็ก ๆ มาถลุงรวมด้วย คนถลุงแร่ดีบุกนั้นเป็นชาวจีน ส่วนวิธีการถลุงแร่ดีบุกแบบจีนนั้นใช้ก่อเตาด้วยดินรูปคล้ายกระบอกมีปลอกเหล็กรัดมีรูเจาข้างก้นเตาสำหรับให้โลหะไหลออกด้านตรงข้ามกับรูให้โลหะไหลออก มีรูสำหรับพ่นลมเข้าไปในเตา ซึ่งมีระดับสูงกว่าเล็กน้อย เอาสินแร่กับดีบุกปนกับถ่านไม้ใส่ตอนบนของเตาสลับกับเป็นชั้น ๆ สูบลมเข้าข้างเตา แร่ดีบุกจะละลายใหลออกทางรูก้นเตาแร่ที่ใหลออกมานี้จะถูกนำไปถลุงในวิธีการเดียวกันนี้อีก ๒-๓ วันมาในระยะหลังเมื่อนายเหมืองนิยมส่งแร่ดีบุกไปถลุงที่ปีนัง การถลุงแร่ดีบุก แบบนี้ จึงค่อยลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด (พรรณี  อวนสกุล  กิจการเหมืองแร่ดีบุกกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจภาคใต้ ประเทศไทย ๒๕๒๒ หน้า ๑๗๕)
 บริษัทสิงคโปรและปีนังสนใจรับซื้อแร่ดีบุกจากไทยไปถลุง แต่รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายจะให้บริษัทผูกขาดรับซื้อแร่ เพราะการนำแร่ดีบุกไปถลุงต่างเมืองทำให้ไทยเสียผลประโยชน์ ดังนั้นเมื่อมิสเตอร์ เจมส์ สวอต ผู้จัดการบริษัทสเตรทเชนเตรลมัน จำกัด มาขอรับผูกขาดซื้อแร่ดีบุกในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ รัฐบาลจึงไม่อนุญาต ในปีต่อมาพระยาทิพยโกษาผู้กำกับข้าหลวงรักษาราชการหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตก เคยเสนอให้รัฐจัดตั้งเตาถลุงอย่างฝรั่งได้ และเกรงว่าเจ้าของแร่ดีบุกจะไม่เต็มใจขายแร่ให้รัฐเพราะเคยให้ถลุงในเตาของชาวจีน อาจมีข้อกล่าวหาว่ารัฐบังคับขายได้
 เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ มีชาวเยอรมันชื่อ มิสเตอร์มิลลิงเฮาส์ มาขอตั้งโรงถลุงแร่ดีบุก แต่จะขอจดทะเบียนกรรมสิทธิในการติดเครื่องถลุงแร่ ขณะนั้นไทยยังไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ และเห็นเป็นความยุ่งยากที่จะต้องมาตั้งกฎหมายนี้ขึ้น จึงได้ปฏิเสธข้อเสนอของมิสเตอร์มิลลิงเฮาส์ไป
 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการถลุงแร่ดีบุกในประเทศไทยยังไม่ก้าวหน้าใช้วิธีการแบบเก่า และการถลุงแร่ดีบุกภายในเริ่มเสื่อมโทรมลง เมื่อนายเหมืองนิยมส่งสินแร่ดีบุกไปถลุงที่ปีนังมากขึ้น และการถลุงแร่ดีบุกก็หมดลงไป เมื่อมีการตั้งโรงถลุงแร่ของบริษัทเสตรทเทรดดิง กำปนีและบริษัทอิสเตนสเมลตกกำปนีที่สิงคโป และปีนัง ทั้งบริษัท ตั้งสาขารับซื้อแร่ในไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ รับซื้อแร่ดีบุก จากนายเหมือง และใช้วิธีให้เงินกู้แก่นายเมืองรับใช้ด้วยสินแร่ดีบุกเพื่อส่งไปถลุงต่อบริษัททั้งสองนี้ ไม่เพียงแต่จะผูกขาดการถลุงแร่ในมลายูเท่านั้น แต่รวมทั้งแร่ดีบุกจากหมู่เกาะอินเดียตะวันออก และจากไทยภายในเวลาไม่กี่ปี บริษัทรับซื้อสินแร่ดีบุกจากไทย ถึงจำนวนครึ่งหนึ่งของผลผลิตดีบุกทั้งหมด และกลายเป็นผู้ผูกขาดการถลุงแร่ดีบุกจากไทยในเวลาต่อมา ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๐  ไม่ปรากฎว่ามีสินแร่ดีบุกถลุงในประเทศไทยเลย (พรรณี  อวนสกุล  กิจการเหมืองแร่ดีบุกกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจภาคใต้ ประเทศไทย หน้า ๑๕๔-๑๕๕)


 การถลุงแร่ดีบุกของไทยตกอยู่ใต้อิทธิพลของมลายูเช่นนี้ นายขอเตียวหลิม พ่อค้าชาวภูเก็ต ได้เสนอให้ตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกขึ้นในเมืองภูเก็ตโดยยกเหตุผลของการเสียประโยชน์ และความลำบากจากการที่เอาสินแร่ดีบุกไปถลุงที่มลายูว่า
 ๑. ทำให้ราคาแร่ดีบุก ของไทยผูกพันกับผู้ซื้อที่มลายูที่กำหนดราคาเท่าใดก็ได้
 ๒. บริษัทถลุงแร่ดีบุกขึ้นค่าถลุงตามความพอใจ ในปีแรกที่เปิดสาขาในเมืองไทยคิดค่าถลุงสำหรับแร่ที่มีเนื้อดีบุก ๗๐% ขึ้นไปคิดหาบละ ๑.๒๕ เหรียญมาเลเซีย และแร่ที่มีเนื้อดีบุกต่ำกว่า ๗๐% คิดหาบละ ๑.๗๕ เหรียญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ ขึ้นราคาเป็น ๒.๗๕ เหรียญต่อหาบ สำหรับแร่ที่มีเนื้อแร่ดีบุก ๗๐% ขึ้นไป และราคา ๓ เหรียญต่อหาบ สำหรับแร่ดีบุกที่มีเนื้อแร่ต่ำกว่า ๗๐% ลงมา เมื่อทำการถลุงแล้ว ยังตีตราว่าเป็นแร่ดีบุกของมลายูมิใช่ดีบุกของไทย ประมาณว่าปีหนึ่งแร่ดีบุก จากมณฑลภูเก็ตส่งไปถลุงที่ปีนังไม่ต่ำกว่า ๒๔๐,๐๐๐ หาบ ปีหนึ่งต้องเสียค่าถลุงแร่เป็นเงินร่วมแสนบาท
 ๓. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากการถลุงแร่ดีบุกแล้ว ได้แก่การบรรจุถุงซึ่งต้องซื้อจากต่างประเทศ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๔๐๐,๐๐๐ ถุง (ราคาถุงใบละ ๖๐ สตางค์) ตลอดจนค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ดังนั้น การที่สินแร่ดีบุกส่งไปถลุงที่ต่างประเทศที่ ทำให้ไทยต้องเสียเงินร่วมล้านบาทต่อปี
 นายขอเตียวหลิม เสนอว่าหากไทยถลุงแร่ดีบุกเองจะเสียค่าถลุงเพียงหาบละ ๒ บาทเท่านั้น และจำนวนเงินที่ต้องเสียไปก็จะตกอยู่ภายในประเทศไทย แต่ปรากฎว่าปฏิกิริยาของรัฐบาลยังคงเฉยชา ไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ กรมโลหกิจยังคงรายงานว่ายังไม่มีการถลุงแร่ดีบุกในประเทศไทย (พรรณี  อวนสกุล  กิจการเหมืองแร่ดีบุกกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจภาคใต้ ประเทศไทย หน้า ๑๕๗)
 ในเอกสารของเฮนรี เบอร์นี่ ได้กล่าวว่าแร่ดีบุกจากพังงาไม่เคยถูกส่งเข้าไปในกรุงเทพฯ  นอกจากต้องการเป็นพิเศษ เช่นในกรณีที่พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามทรงสั่งให้ส่งเข้าไป ๑๐๐ หาบเพื่อมอบให้มิสเตอร์ ครอเฟิด เพื่อนำไปให้  ฯพณฯ ผู้สำเร็จราชการเป็นการตอบแทนสิ่งของที่ท่านผู้สำเร็จราชการส่งมาถวาย พระเจ้าอยู่หัว และจำนวนเท่ากับกำลังจะถูกส่งเข้าไปเพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน คุณพระปู่หนึ่งจากกรุงเทพฯ ได้รับสัมปทานการถลุงแร่ดีบุกที่พังงา
 จนเชื่อได้ว่าดีบุกทั้งหมดถูกส่งไปยังปีนัง เว้นแต่บางส่วนที่ทางกรุงเทพฯ มีความต้องการเพื่อใช้ในราชการเท่านั้น มีบางเวลาเหมือนกันที่เรือของพ่อค้าชาวพื้นเมืองจะเข้ามาซื้อดีบุกไปขายที่ฝั่งโคโรแมนเดล ราคาขายของแร่ดีบุก คือ ๕๐ ดอลล่าร์ ต่อหนึ่งหาบใหญ่ หรือเท่ากับ ๓  เปคุล กับ ๕๖ แคตตี้ ( ๑ เปคุลหนัก ๑๓๓ ๑/๓ ปอนด์ หรือ ๖,๐๔๘ กิโลกรัม ๑ แคตตี้  "ชั่งจีน"  หนักประมาณเท่ากับ ๖๐๐ กรัม) ผู้รับสัมปทานการถลุงแร่ดีบุก จะรับซื้อแร่ ๓ บุ้งกี๋ เต็ม ๆ ในราคา ๒  ดอลล่าร์  บุ้งกี๋หนักประมาณ ๑๔ หรือ ๑๕ แคตตี้ กำไรส่วนหนึ่งได้มาเพราะว่าเครื่องชั่งมันไม่ค่อยจะตรง ซึ่งรู้สึกว่าจะเป็นจำนวนมากเสียด้วย เมื่อก่อนนี้เจ้าของโรงถลุงแร่รับซื้อ ๓ บุ้งกี๋ ดอลล่าร์เดียวเท่านั้น ตั้งแต่เกาะภูเก็ตได้ภัยสงครามเป็นต้นมา พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทรงสั่งให้ขึ้นราคาให้กับกรรมกรที่ขุดแร่มาขายเป็นสองดอลล่าร์ แร่จะถูกหลอมไม่น้อยกว่าเจ็ดครั้ง และวิธีถลุงก็แบบเดียวกันกับมิสเตอร์ไล้ท์ บรรยายไว้เมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว ผลที่ได้ออกมาก็เหมือนกันคือ เป็นแร่ชนิด ๗ เปอร์เซ็น ที่พังงามีดีบุกมากเมื่อปีที่แล้วเก็บได้ถึง ๑,๐๐๐ หรือ ๑,๒๐๐ หาบ คนขุดแร่และคนขุดแร่และคนถลุงแร่ส่วนมากเป็นคนจีน ที่เกาะภูเก็ตคนขุดแร่ทำกันเป็นหลุม ๆ แต่ที่พังงาเขาขุดเป็นคูไปเลย พระยาถลางมีสิทธิ์ จะซื้อดีบุก จากโรงถลุงแร่ในราคาตายตัว หาบละ ๔๘ ดอลล่าร์ ท่านจะต้องการมากน้อยเท่าไรก็ได้ (น้อม   นิลรัตน ณ อยุธยาแปลเอกสารเฮนรี่ เบอร์นี่เล่ม ๒ ตอน ๓ กรมศิลปากร ๒๕๓๑ หน้า ๒๗๖-๒๗๗)

 จากการบรรยายคร่าว ๆ ของนายเจมส์โลดังต่อไปนี้ แสดงให้เห็นวิธีการถลุงสินแร่ เตาถลุง สูงประมาณ ๓ ฟุต ส่วนบนสุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางฟุตครึ่ง มีชั้นสินแร่และถ่านไม้หลายชั้นสลับกันนำใส่เข้าไปในเตา และสูบลมเข้าไปไม่หยุดหย่อน ระหว่างเวลา ๓ คืน และ ๔ วัน นั้นคือ ๔ วันขาดไป ๑ คืน หลังจากนั้น ๑๒ ชั่วโมง ดีบุกจะเริ่มไหลออกมาเล็กน้อย ใส่ถ่านหินเข้าไปในไฟถึง ๔ ครั้ง ก่อนที่ดีบุกทั้งหมดจะถูกคั้นดูดออกมา ระหว่างระยะเวลาข้างต้นนี้ ดีบุก ๕ ๑/๒ บาร์ฮาร์ (ตามน้ำหนักของดีบุก บาร์ฮาร์หนึ่งเฉลี่ยประมาณ ๓ หาบ และ ๕๐ ชั่ง) จะไหลออกมาหลังจากนั้นพวกคนงานก็หยุดทำงานไปหลายวันทีเดียว (นันทา  วรเนติวงศ์ จดหมายเหตุเจมส์โล หน้า ๓๙) การทำเหมืองในสมัยก่อน เช่น การร่อนแร่เหมือง แล่น เหมืองหาบ และเหมืองปล่อง (เหมืองรู) โดยเจ้าของเหมืองหรือเจ้าภาษีนั่นเองเป็นผู้ควบคุมกิจการเอง การทำงานมิได้ทำแต่เพียงการขุดแร่เท่านั้น ต้องถลุงแร่เองด้วย แล้วหลอมเป็นแท่งจึงจะส่งขายได้ ฯลฯ
 ดีบุกก้อนในสมัยโบราณ แร่ดีบุกที่ขุดได้บนเกาะภูเก็ตได้ถลุงเป็น โลหะดีบุกก้อนที่นั้นเสียก่อนแล้วจึงส่งไปกรุงศรีอยุธยา หรือส่งออกจำหน่ายต่างประเทศโลหะได้หล่อเป็นก้อนมีรูปร่างลักษณะ และขนาดต่างกัน (ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ ประเพณีกินผักศาลเจ้ากะทู้ภูเก็ต  ๒๕๓๓ : ๑๘๓ หน้า)
 เมื่อเราลองมองย้อนไปในอดีต ครั้งที่มีการถลุงแร่ดีบุก ยังเป็นแบบวิธีแบบเก่า คือมีเตาถลุงแบบที่ใช้ไม้ฝืนท่อนโต ๆ สุมอยู่ในใต้เตาเมื่อเผาดีบุกจนได้ที่ส่วนที่เป็นแร่ดีบุกจะหลอมละลายเหลือแร่ธาตุที่ไม่อาจหลอมละลายภายใต้อุณหภูมิเดียวกับแร่ดีบุกซึ่งจะลอยตัวปรับเป็นฟองเหนือดีบุกเหลว ฟองนี้เรียกว่า สะแหลก (SLAZE) ผู้ที่ควบคุมเตาถลุงแร่ดีบุกในสมัยโบราณ นั้นต้องคอยช้อน สะแหลกทิ้งอยู่ตลอดเวลา หรือปล่อยให้สะแหลกไหลออกมาเองตามท่อระบาย บ้างก็เรียกว่าขี้ตะกรัน
 น้ำแร่และกากแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ยังถลุงออกยังไม่หมด ก็จะรวมตัวกันกับสะแหลกดีบุก ครั้นถูกตักทิ้งก็จะไหลออกไปเหมือนกับลาวาของภูเขาไฟ เมื่อเย็นลงจะจับตัวแข็งขึ้นเกาะเป็นก้อนรูปทรงสีสันต่าง ๆ ทิ้งทับถมเกลื่อนกลาดตามเตาถลุงเหมือนกับเศษปูน ซิเม็นต์ที่ผสมแล้วใช้ไม่หมดจับแข็งตัวอยู่ตรงบริเวณที่ก่อสร้างอาคาร (สุวลัย  ปิ่นประดับ เกาะมหาสมบัติ ๒๕๒๔ หน้า ๙๔)
 ในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้กะเกณฑ์ให้พวกเจ้าของเหมืองทำถนนหนทางแลกเปลี่ยนกับการได้สัมปทานขุดแร่ บรรดาเหมืองต่าง ๆ จึงได้ขนสะแหลกดีบุกที่กองทิ้งเกะกะบริเวณเตาหลอมไม่ถมถนน หรือเอาไปถมที่สำหรับปลูกบ้านเรือน ถนนแทบทุกสาย ในเมืองภูเก็ตจึงสร้างทับบนกองสะแหลกดีบุกไปโดยปริยาย ไม่มีใครคาดคิดเลยว่า ระยะสองสามร้อยปีให้หลังจากนั้นมาสะแหลกดีบุกที่ถูกช้อนทิ้งเกลื่อนกลาดจนต้องเอามาถมที่ทำถนนนั้น จะกลายเป็นแร่ที่มีมูลค่ามหาศาลในตลาดโลกปัจจุบัน ราคาดีกว่าราคาแร่ดีบุกเสียอีก และนี่เองทำให้มีการประมูลขอขุดถนนทุก ๆ สายในตัวเมืองภูเก็ต
 การถลุงแร่ดีบุกในสมัยก่อนนั้น มีอยู่หลายแห่ง ที่อำเภอถลางที่บ้านพระยาวิชิตสงคราม  บ้านป่าสัก ตำบลเชิงทะเล อำเภอกะทู้ในบริเวณ ตลาดกะทู้ และอำเภอเมือง ได้ปรากฏว่าสะแหลก จากการถลุงแร่ดีบุก นั้นปรากฏว่า สะแหลก อำเภอกะทู้มีเปอร์เซ็นต์สูงถึง ๘ - ๙ เปอร์เซ็นต์ ส่วนสะแหลกในอำเภอเมืองภูเก็ตนั้น ๔ - ๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สะแหลกที่มีเปอร์เซ็นสูงที่มีคุณภาพนั้นมีสีลักษณะดังนี้ มีตั้งแต่สีขาว สีขาวปนสีน้ำเงินอ่อน ๆ สีน้ำเงิน สีน้ำตาลแก่ สีน้ำตาลอ่อน และสีดำ ส่วนสีดำเข้มแววนั้นเป็นสะแหลก เปอร์เซ็นต์ต่ำ ฉะนั้นสะแหลกขี้ตะกรันที่มีคุณภาพสูงจึงอยู่ที่ตำบลกะทู้
 สะแหลกดีบุกหรือขี้ตะกรัน มีแร่แทนทาไลท์ (TANTALITE) ผสมอยู่ด้วย แร่นี้เป็นแร่ยุทธปัจจัยใช้สำหรับทำยานอวกาศหรือหัวจรวดนำวิถี และขีปนาวุธ ต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะมีคุณสมบัติพิเศษที่ทนต่อความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ เสียดสีของอากาศได้สูงมาก
 สมัยคนที่ตื่นขี้ตะกรัน เฮโลกันไปขุดถนนจนเป็นข่าวพาดหัวหน้าหนังสือพิมพ์ เกือบทุกฉบับ ขี้ตะกรัน ถูกกดราคารับซื้อเพียงกิโลละ ๒ - ๓ บาท เอง ราคาได้เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน กก.ละ ๖๐ - ๗๐ บาท คนหลาย ๆ คนรวยไม่รู้ตัว จากการขายขี้ตะกรัน บ้านที่สร้างอยู่บนเตาถลุงเก่ามีขี้ตะกรัน ฝังอยู่เป็นมูลค่า ถึง ๒ - ๓ ล้านบาท เจ้าของบ้านไม่รีรอที่จะทุบพื้นทิ้ง ระดมกำลังขุดอย่างจริงจัง แม้แต่ใต้พื้นโรงแรม ก็ยังมีขี้ตะกรันฝังอยู่ในจำนวนมากถึงกับลงทุนขุดใต้ท้องคานลึกลงไป ถึง ๓ ฟุต โชคดียิ่งกว่าถูกลอตเตอร์รี่รางวัลที่ ๑ ในสมัยนั้นเสียอีก (สุวลัย  ปิ่นประดับ เกาะมหาสมบัติ ๒๕๒๔ หน้า ๙๔-๙๕)
 ต่อมาบริษัทยูเนี่ยน คาร์ไบด์ ได้เข้ามาสำรวจพบแหล่งแร่ในทะเลที่ใหญ่อีกแห่งหนึ่ง นอกชายฝั่งจังหวัดพังงา และไม่พบแหล่งแร่สำคัญในจังหวัดภูเก็ต แต่ต่อมาก็ได้สร้างโรงถลุงแร่ดีบุกใหญ่ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต ในนามของบริษัทไทยแลนด์สเมลติ้ง แอน์รีไฟนิง จำกัด เรียกย่อ ๆ ว่า ไทยซาโกดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นับเป็นครั้งแรกที่ภูเก็ตได้มีโรงถลุงที่ทันสมัย และนับเป็นครั้งแรกที่บริษัทได้เข้ามาตั้งกิจการทำเหมืองแร่ และถลุงแร่ดีบุกสำเร็จในประเทศไทย
 เมื่อบริษัทต่าง ๆ เห็นกลุ่มบริษัทยูเนี่ยนคาร์ไบด์ ได้ประสบความสำเร็จ ต่อมาได้มีบริษัทชาเตอร์คอน โวลิเคเต็ด ของอังกฤษ ร่วมทุนกับบริษัท เมธเลเฮมสตีล จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทอื่นได้เข้ามาสำรวจแหล่งแร่ในทะเลจังหวัดภูเก็ต หลังจากที่ได้รับประทานบัตร ที่อ่าวป่าตองและอ่าวกะรนแล้ว ก็เกิดการขัดแย้ง เพราะบริษัท ต้องการสัมประทานบัตรทั้งหมดก่อนเริ่ม ดำเนิน ตามข้อตกลงในการส่งเสริมการลงทุน แต่ทางราชการ แสดงท่าที่ว่าจะออกประทานบัตรที่ขอเพิ่มให้จนกว่าจะต่อเรือขุด แต่อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้ลงทุนรายนี้ก็สามารถขายกิจการให้คนไทยได้สำเร็จ โดยไม่ต้องเผชิญ กับปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะตามมาในภายหลัง   (ราชัน กาญจนะวานิชย์  ดีบุกกับภูเก็ตในสองร้อยปีที่แล้วมา  ศูนย์อนุรักษ์มรดกกะทู้ หน้า ๘๓)
 จากเอกสาร บริษัทไทยแลนด์แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด ได้ขอจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่อำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้ถือหุ้นประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่อาศัยอยู่ภายในจังหวัดภูเก็ต บริษัทได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนหน่วยงานราชการต่าง ๆ ให้ก่อสร้างโรงแต่งแร่ จากขี้ตะกรัน (SALAZE) เป็นกากจากแร่ดีบุกที่มีมูลค่าต่ำ ให้เป็นหัวแร่ และเคมีภัณฑ์ ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ฯลฯ (บริษัทไทยแลนด์แทนทาลัม  อินดัสตรี  จำกัด  เอกสารอัดสำเนา  หน้า ๑)
 กรรมวิธีในการผลิตมีหลายวิธี ซึ่งแตกต่างกันตามคุณสมบัติ ของวัตถุดิบที่ใช้ป้อนโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้แร่ตะกรัน จากไทยซาร์โก และอาจจะใช้แร่ธรรมชาติบ้างเท่าที่มีและหามาได้  ในที่สุดบริษัทไทยแลนด์แทนทาลัมอิสนดัสตรี จำกัดได้ประสบกับปัญหา จากการเดินขบวนประท้วงจากประชาชน และนักการเมืองบางคนจนทำให้เกิดการจลาจล ครั้งใหญ่ที่สุดในภูเก็ต จนในที่สุดโรงงานถูกเผาและได้เลิกกิจการไป และได้ย้ายไปสร้างโรงงานที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง
 นอกเหนือจากขี้ตะกรัน จากไทยซาร์โก้แล้ว ซึ่งในอดีตกาลในจังหวัดภูเก็ตได้ทำเหมือง ผลิตแร่ดีบุกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕๐๐ ปี ขึ้นไป ซึ่งคนจีนที่เข้ามาประกอบอาชีพ การทำเหมืองแร่ดีบุก พร้อมกับได้ถลุงแร่ดีบุกด้วยแล้วส่งไปยังกรุงศรีอยุธยา และส่งออกไปขายยังต่างประเทศ มาแล้วนั้น ส่วนนี้ตะกรันจากการถลุงในสมัยก่อน ๆ นั้น ประชาชนในสมัยนั้นยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์อันมีค่าของแร่ตะกรันอันมหาศาล ไปทิ้งตามที่ต่าง ๆ เกือบทั่วเมืองภูเก็ต ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
 ต่อมาเมื่อประชาชนรู้ถึงคุณค่าของขี้ตะกรันมีราคาขึ้น จึงได้ทำการขุดขี้ตะกรันขึ้นมาขายให้กับพวกนายหน้ารับซื้อขี้ตะกรันไปเป็นจำนวนมหาศาลจากจังหวัดภูเก็ต
 ประโยชน์จากขี้ตะกรัน ซึ่งได้ผ่านกรรมวิธีจากการแต่งแล้ว ออกมาเป็น แร่โคลัมไบท์ - แทนทาไลท์ (COLUMBITE - TANTALITE) การถลุงเอาโลหะ นิโอเบียม และแทนทาลัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่หายาก โลหะนิโอเบียม ใช้ในการทำโลหะผสมในการเชื่อมเหล็กกล้าคม และโลหะผสมที่มีความร้อนสูง เช่น ใช้ในเครื่องยนต์ไอพ่นต่าง ๆ ในโรงงานพลังงานปรมาณู ส่วนโลหะ แทนทาลัมนั้นทนต่อความกัดกร่อนของกรด จึงทำให้อุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในทางเคมี ใช้ทำแผ่นแทนกะโหลก และในหลอดอีเล็กโทรนิค ด้วย  (พิสุทธิ์  สุทัศน์  ณ  อยุธยา  แร่  กรมทรัพยากรธรณี รุ่งเรืองรัตน์ กรุงเทพฯ ๒๕๒๐ หน้า ๙๘-๙๙)


 
ประโยชน์ของแร่ดีบุก


 มนุษย์รู้จักนำดีบุกมาใช้เป็นประโยชน์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว เริ่มเอาแร่ดีบุกหลอม ทั้งนี้เนื่องจากยังขาดความรู้และการค้นคว้าทดลองในด้านโลหะวิทยา ในสมัยก่อนมนุษย์เอาแร่ดีบุกมาใช้ให้เป็นประโยชน์โดยอาศัยความเด่นชัดของมันเอง ขบวนการผลิตและค้นพบการนำแร่ดีบุกไปใช้งาน อุตสาหกรรมหลายประเภท   ยังผลให้ดีบุกมีความสำคัญ ต่อวงการอุตสาหกรรมตลอดมา (วิชา เศรษฐบุตร ดีบุก หน้า ๒๐๙)
 การใช้แร่ดีบุกในเชิงอุตสาหกรรม ต่าง ๆ มีดังนี้
 ๑. แผ่นเหล็กเคลือบด้วยแร่ดีบุก
 ๒. เคลือบผิวโลหะ
 ๓. โลหะบัดกรี
 ๔. โลหะผสม
 ๕. โลหะรองรับเพลา
 ๖. เคมีภัณฑ์และอื่น ๆ  (วิชา เศรษฐบุตร ดีบุกหน้า ๒๑๑)
 ชาวยุโรปโบราณได้แร่ดีบุกส่วนใหญ่จากประเทศอังกฤษซึ่งเป็นผู้ผลิตแร่ดีบุกอยู่ทางด้านทวีปเอเซีย

 

โลหะผสม


 แร่ดีบุกมีคุณสมบัติหลายประการ ฉะนั้นในการทำแร่ดีบุกไปผสมโลหะอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ จึงพิจารณาจากคุณสมบัติแต่ละอย่างของแร่ดีบุก เช่น ดีบุกมีสัมประสิทธิ์ ความฝืดน้อย จึงเหมาะที่จะนำไปใช้เป็นโลหะรองรับเพลา หรือศัพท์ท้องตลาดเรียกว่า (ตุ๊กตา) เนื่องจากแร่ดีบุกเป็นโลหะที่อ่อนเกินไป จึงต้องเติมโลหะอื่น เช่น ทองแดง และพลวง เข้าไปด้วย เพื่อให้โลหะผสมนั้น มีความแข็งตัวขึ้น
 คุณสมบัติที่เด่นอีกประการหนึ่งก็คือ แร่ดีบุก มีจุดหลอมต่ำ   ดังนั้นเพื่อนำไปผสมกับโลหะอื่น ๆ บางชนิด ฯลฯ โลหะผสมเหล่านี้ใช้งานได้หลายอย่าง (วิชา  เศรษฐบุตร ดีบุก หน้า ๒๑๗)
 จึงกล่าวได้ว่าจากแร่ดีบุกอื่นเป็นวัตถุซึ่งเป็นวัตถุดิบ ได้ผ่านวิธีการ ซึ่งผสมด้วยโลหะอื่น ๆ ด้วยกรรมการเคลือบแผ่นเหล็กด้วยแร่ดีบุกได้ขยายตัวขึ้นมากทั้งในยุโรป และเอเซียดังจะเห็นได้ว่า มีประเทศต่าง ๆ ผลิตอุตสาหกรรมด้านนี้เพียง ๑๔ ประเทศ แต่ปัจจุบันนี้ มีมากกว่า ๓๐ ประเทศขึ้นไป (วิชา เศรษฐบุตร ดีบุกหน้า ๒๑๐)
 กรมทรัพยากรธรณีได้ตั้งกองสิ่งแวดล้อมของกรมทรัพยากรธรณี ขึ้นเพื่อ ทำหน้าที่ศึกษาปัญหานี้โดยเฉพาะ และได้ปรับปรุงที่ ๆ เคยทีเหมืองแร่เลิกไปแล้ว มีเนื้อที่ ๓๕๕ ไร่ ในเมืองภูเก็ต เป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ให้ประชาชนชาวภูเก็ตได้ไปพักผ่อน เป็นตัวอย่างอยู่ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีการทำเหมืองแร่ในป่า พังกา หน้าตัวเมืองระนอง เสียก่อนแล้ว ตัวเมืองระนองคงจะไม่ขยายบริเวณ ได้กว้างขวางอย่างที่เห็นในปัจจุบัน  แม้แต่เมืองภูเก็ตเอง ถ้าไม่มีการทำเหมืองแร่ทั้งบนบก และในทะเลเสียก่อน คนภูเก็ตรุ่นปัจจุบันคงไม่สามารถ เป็นเจ้าของโรงแรม ชั้นเดอลุกซ์ มากมายทั้งในตัวเมือง และนอกเมือง  แถมยังได้สร้างสนาม กอล์ฟ ขึ้นแทนที่ทำเหมือง  เมื่อ  ๕๐  ปี  มาแล้ว  ที่หุบเขากะทู้ อีกด้วย (วิชา  เศรษฐบุตร ๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี หน้า ๔๗)
 เมื่อทราบเรื่องประวัติการขุดแร่ดีบุกจำนวนเหมือง และรายได้ จากการขุดแร่ดีบุก มาพอเป็นสังเขปแล้ว ผู้เขียนขอพาคุณผู้อ่านได้มีโอกาสทบทวนความจำที่เคยได้สัมผัสหรือที่เคยมีประสบการณ์ในการทำเหมืองมาแล้ว ไปชมการขุดแร่จากเหมืองจริง ๆ ดูบ้าง จากเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้
 สำหรับดูการขุดแร่ดีบุก ในสมัยปัจจุบันที่ได้มีโอกาส ไปชม เหมืองก็ไม่ต่างอะไรไปกว่าสมัยก่อนมากนัก คือเหมืองเจ้าฟ้า ซึ่งเป็นเหมืองแร่ ประเภท "เหมืองฉีด" หรือ "เหมืองสูบ" เหมืองเจ้าฟ้าเป็นเหมืองที่มีชื่อเสียง และมีทั้งขนาดใหญ่ เหมืองหนึ่ง " เจ้าฟ้า" นี้ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานให้เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ชื่อนี้ยังได้ปรากฏ ชื่อมาถึงปัจจุบันนี้
 เมื่อมองลงไปเห็นบ่อแร่ ลึกมีคนงานยืนฉีดน้ำเก็บหิน ดูแล ร่องน้ำที่พาดินทราย ไหลมาลงบ่อสูบ เครื่องขนาดใหญ่เข้าสู่เครื่องสูบเรียกว่า "มอเตอร์ " ทำหน้าที่สูบดิน หิน ทราย แร่ ขึ้นไป ตามท่อเหล็ก  ขนาด ๘ นิ้ว หรือ ๑๐ นิ้ว ขนาดยาวขึ้นไปบนรางแร่ ส่วนดินทราย แร่ จะตกลงในรางใหญ่  ส่วนหิน จะใช้คนคุ้ยออกหรือ เครื่องตะแกรงหมุนออกไปส่วนที่เป็นแร่ดีบุกและทรายจะตกอยู่ในราง ส่วนดินทราย ซึ่งเบากว่าแร่ดีบุก  จะไหลลงสู่ท้ายราง   พร้อมกับแร่ดีบุกบางส่วนที่ไหลพร้อมกับ ดินทราย  (มาลี  รักตะปุรณะทรัพย์ในดินสินในน้ำที่ภูเก็ต ๒๕๑๓ หน้า ๑๔)
 เมื่อผู้จัดการเหมืองจะทำการพิจารณา ว่าพื้นที่ ทำเหมืองนี้ มีความสมบูรณ์ ของแร่ดีบุกมาก จะทำการกู้แร่ ขึ้นจากรางแร่ เขาจะแบ่งเป็น ๗ วัน ครั้ง หรือ ๑๐ วัน ครั้ง แต่ถ้าความสมบูรณ์ ปานกลาง ทางผู้จัดการจะทำการกู้แร่ ๑๕ วัน ต่อครั้ง ในระหว่างทำการ กู้แร่ บนรางนั้น แร่ดีบุก เม็ดละเอียด ก็จะไหลออกสู่ท้ายราง จึงเป็นโอกาส ให้บรรดาเด็ก ๆ หรือผู้หญิง ที่มีอาชีพในการร่อนแร่ ตามท้ายรางเหมืองในวันกู้แร่ จะมีการไปร่อนแร่เป็นจำนวนมาก ส่วนวันปกติที่ทางเหมืองไม่มีการ กู้แร่ จะมีคนไปร่อนแร่ ราวประมาณ ๑๐ กว่าคน คนร่อนแร่ พวกนี้ จะหมุนเวียน กันไปร่อนแร่ ตามท้าย รางเหมือง ต่าง ๆ ในภูเก็ต

 นายสมาน บุราวาส (อดีตรองอธิบดีฝ่ายวิชาการกรมทรัพยากรธรณี) ได้เคยเขียนเรื่อง "เกาะดีบุก" ไว้มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ทุกวันนี้บนเกาะภูเก็ตมีพื้นที่ประทานบัตรอยู่ประมาณ ๖๐,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณ ๑๘ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกาะภูเก็ต มีเหมืองอยู่ ๒๙ เหมือง ในจำนวนนี้มีเหมืองเรือขุด ๔ ลำมีราษฎรราว ๆ ๑๐,๐๐๐ คน หรือประมาณ ๕๐ เปอร์เซนต์ของพลเมืองที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่…" และอีกตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า "จำนวนแร่ที่ขุดได้บนเกาะภูเก็ตนั้นปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในบันทึกของกัปตันฟอร์เรส (๒๓๒๗) ซึ่งกล่าวว่าภูเก็ตขายดีบุกเป็นสินค้าออกราวปีละ ๕๐๐ ตัน ตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น แต่ก่อนขายมากกว่านี้มากเยรินี (๒๔๔๘) กล่าวว่าการขุดแร่ดีบุกยิ่งตกต่ำมากไป เมื่อภูเก็ตถูกพม่าโจมตี (๒๓๒๘ - ๒๓๕๕) รวม ๔ ครั้ง แต่ต่อจากนั้นมาการขุดแร่ดีบุกก็คึกคักขึ้นอีก ราว ๆ พ.ศ. ๒๔๑๓ ภูเก็ตผลิตดีบุกได้ปีละ ๓,๖๐๐ ตัน และสิบปีต่อมาผลิตได้ถึงปีละ ๕,๐๐๐ ตัน อย่างไรก็ตามสถิตินี้ยืนอยู่ไม่นานก็ลดลงแล้วก็เพิ่มขึ้นหลายครั้ง สถิติการผลิตที่ดีที่สุดอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๘ และ ๒๔๖๒  ซึ่งภูเก็ตผลิตดีบุกได้ปีละ ๑๐,๐๐๐ ตันเศษ หรือคิดเป็นโลหะดีบุกกว่าปีละ ๗,๒๐๐ ตัน
 ทุกวันนี้ ประเทศไทยเป็นภาคีดีบุก การจำกัดดีบุก ทำให้การผลิตแร่ดีบุกของภูเก็ตต้อง จำกัด จำนวนตามโควต้า ที่ได้รับ และปีหนึ่งภูเก็ตจะผลิตแร่ดีบุกอยู่ในระหว่างปีละ ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ ตันเศษ ซึ่งเป็นมูลค่า ๑๓๐ ล้านบาท และมีเหตุผลที่ควรจะเชื่อถือได้ว่าภูเก็ตยังจะมีแร่ดีบุกทำรายได้ให้แก่ประเทศไทย ในอัตรานี้ไปได้อีกเป็นเวลานาน
 อย่างไรก็ตาม นั้นเป็นตัวเลขเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ในปัจจุบันตามรายงานของจังหวัดภูเก็ตปี ๒๕๑๑ ภูเก็ตมีพื้นที่ ประทานบัตรทำเหมืองแร่ดีบุก ๕๓๕ แปลง เนื้อที่ ๗๗.๙๐๖ ไร่ มีเหมืองแร่เรือขุด ๔ ลำ เหมืองสูบ ๕๓ ราง เหมืองแล่น ๖ เหมือง ผลิตแร่ดีบุกได้ ๑๑๔,๕๖๓ หาบ (ประมาณเกือบ ๗,๐๐๐ ตัน) คิดเป็นมูลค่า ๒๘๖,๔๐๘,๕๒๕ บาท (มาลี รักตะปูรณะ ทรัพย์ในดินสินในน้ำที่ภูเก็ต อ.ส.ท. ฉบับเที่ยวภูเก็ต ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๘ หน้า ๑๖)
ก่อนจะสิ้นการทำเหมืองแร่ดีบุกยุคสองร้อยปีที่กล่าวถึงนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับดีบุกในภูเก็ตอีกด้วยกล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีผู้คนเป็นจำนวนมากได้แตกตื่นไปขุดแร่ในทะเลในบริเวณอ่าวพันทรี และขยายไปถึงชายฝั่งหาดสุรินทร์และอ่าวกำมะรา ชั้นแรกก็ใช้คนดำ แต่ต่อมาก็ดัดแปลง มีแพไม้ไผ่ เรือหางยาว จนกระทั่งเป็นเรือเหล็กติดเครื่องสูบ เป็นเครื่องมือ
แต่ในเมื่อการดูดดำแรในจังหวัดพังงาได้ผลดีกว่า การดูดดำแร่ในจังหวัดภูเก็ตจึงค่อย ๆ ลดลงและปิดฉากลงในที่สุด

ขณะนี้ที่ดินที่เรือขุด หรือเรือดูดดำแร่ได้เคยดำเนินการอยู่นั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งศาลากลางทุ่งคา หรือชายหาดอ่าวพันทรีกำลังกลายเป็นโรงแรมอันดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจากทั่วโลก เหมืองแร่ดีบุกต่าง ๆ ที่เหลืออยู่ในภูเก็ต ก็เป็นของบริษัทไทยแล้วทั้งสิ้น นอกจากโรงถลุงและการค้าดีบุกซึ่งยังคงเป็นของบริษัทต่างประเทศอยู่ ภูเก็ตซี่งเคยดำเนินตามรอยแบบของปีนังมาร่วม ๒๐๐ ปี ก็กำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเดินตามแบบอะไรต่อไป ในระยะ ๒๐๐ ปี ข้างหน้า แต่ดีบุกกับภูเก็ตก็จะยังคงจะมีความสัมพันธ์กันต่อไปอีก
ความปั่นป่วนในอุตสาหกรรมดีบุกในประเทศไทย ที่ไม่อาจมองข้างไปได้ คือมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับดีบุกในภูเก็ต คือ เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้มีผู้คนเป็นจำนวนมากได้แตกตื่นไปขุดแร่ในทะเลในบริเวณอ่าวพันทรี  และขยายไปถึงฝั่งหาดสุรินทร์ และอ่าวกำมะรา ในชั้นแรกได้ใช้คนดำน้ำลงไปขุด แต่ต่อมาก็ดัดแปลงใช้แพไม้ไผ่ เรือหางยาว จนกระทั่งได้ใช้เรือเหล็กติดเครื่องสูบเป็นอุปกรณ์ในการขุดแร่ แต่ต่อมาเมื่อปรากฏว่า การดูดดำแร่ในทะเลในจังหวัดพังงาได้ผลดีกว่า การดูดดำแร่ในจังหวัดภูเก็ตจึงค่อยลดลงจนปิดฉากเมื่อตลาดดีบุกได้ล้มลง
ขณะนี้ที่ดินที่เคยเป็นที่ทำเหมืองแร่ดีบุกอยู่เดิมมานั้นไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ที่ตำบลทุ่งคาเดิม หรือชายหาดอ่าวพันทรี หรือที่ราบกะทู้ ซึ่งเคยเป็นลานแร่ดีบุกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้กลายเป็นชุมชนที่สำคัญ หรือโรงแรมและสนามกอล์ฟที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจากนานาประเทศทั่วโลก กิจการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมดีบุกที่เหลืออยู่ในภูเก็ต ก็คงมีแค่โรงถลุงแร่ดีบุกที่แหลมกล้วยในหมู่บ้านแหลมพันวา ซึ่งต้องอาศัยการสั่งดีบุกจากต่างประเทศมาดำเนินการอยู่ ความเจริญทางด้านท่องเที่ยวของภูเก็ตในปัจจุบันนั้น มิได้เกิดจากธรรมชาติแต่อย่างเดียว เพราะโดยธรรมชาตินั้นภูเก็ตมิได้แตกต่างไปจากเกาะใหญ่ ๆ จำนวนมากในทะเลอันดามัน แต่ภูเก็ตโชคดีกว่าเกาะอื่น ๆ ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกในอดีตทั้งทางด้านบุคลากรและการคมนาคมขนส่งและการออมทรัพย์ (ราชัน   กาญจนะวณิชย์  ดีบุกกับภูเก็ตในสองร้อยปีที่แล้วมา  ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ หน้า ๘๔)
จึงขอสรุปว่า ตามประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต มีการขุดร่อนหาแร่ดีบุก มีมานานแล้ว และยังเชื่อกันว่านานกว่า ๕๐๐ ปี ด้วยซ้ำไป และประมาณกันว่า ได้ขุดแร่ดีบุกขึ้นมาใช้งาน นับเป็นล้านตัน อันกิจกรรมการทำเหมืองแร่ดีบุกของจังหวัดภูเก็ต เฉพาะ "แร่ดีบุก" ทำให้เศรษฐกิจ และแรงงานเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากความเจริญรุ่งเรืองของเมืองภูเก็ตเท่าที่เห็นกันมาจนถึงปัจจุบัน และอีกประการหนึ่ง เมืองภูเก็ตนับว่าเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศไทย เท่าที่ได้ทำการศึกษามา ทั้งนี้เพื่อยืนยันความจริง ผู้เขียนจึงใคร่ขอดัดเอา พระราชดำรัส จากจดหมายเหตุเรื่องสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ ๖) ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่าดังนี้

"เมืองภูเก็ตนี้เป็นเมืองดีบุกจริง ๆ ไปทางไหนก็พบแต่ขุมเหมืองดีบุกจนเกือบจะเดินทางหลีกขุมเหมืองไม่พ้น แต่เหมืองก็ทำประโยชน์ให้แก่เมืองภูเก็ตมาก ตึกรามมีขึ้นได้ก็เพราะเหมืองคนทำเหมืองรวยแล้วก็สร้างตึกขึ้น ถนนก็ดีได้ก็เพราะเหมืองโดยมาก เจ้าคุณเทศาฯ สั่งไม่ให้ทิ้งเสีย ให้เก็บมารวบรวมไว้ (เข้าใจว่าคงจะเป็นหินกะสะ) เมื่อต้องการก็ขนไปมาใช้โรยถนนไม่ต้องไปหาที่ไกล อีกประการหนึ่ง ถ้าใครขอทำเหมือง เจ้าคุณเทศาฯ ก็ขอให้รับสัญญาทำถนนให้ด้วยเพื่อใช้เนื้อที่ในการที่จะขุดแผ่นดิน โดยเหตุที่มีเหมืองมาก เมืองภูเก็ตจึงเจริญเร็วได้ถึงเพียงนี้"

 ชาวเหมืองเป็นผู้มีอุตสาหะ วิริยะสูง ทำงานอย่างที่เรียกว่าอาบเหงื่อต่างน้ำไม่คำนึงถึงฝนถึงแดด ไม่คำนึงถึงสิงห์สาราสัตว์ ไม่คำนึงถึงความไข้ และบางครั้งก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลก ชาวเหมืองต้องขุดค้นผืนแผ่นดินตั้งแต่ยอดเขาลงมาถึงท้องทะเล เพื่อได้มาสิ่งเดียว คือแร่ ชีวิตของชาวเหมืองเป็นชีวิตที่ไม่มีบาป เป็นชีวิตที่ดำเนินตามพระพุทธวจนะที่ว่า "ผู้หมั่นย่อมได้ทรัพย์"
 แร่ที่ชาวเหมืองขุดขึ้นมาและผู้ที่ร่อนหามาได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด คือดีบุก ดีบุกใช้ตั้งแต่การหล่อพระพุทธรูป มุงหลังคาพระที่นั่ง จนกระทั่งทำเงินตรา ดีบุกเป็นสินค้าออกชิ้นแรกของเมืองไทย ก่อนข้าว ก่อนไม้สัก ก่อนยางพารา ดีบุกมีคุณต่อเมืองไทยเอนกประการ
 จึงชี้ให้เห็นได้ว่า เมืองภูเก็ตมีแร่ดีบุก ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เหลือนับคณาที่จะกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาภูเก็ตมาโดยตลอด        ถึงแม้ปัจจุบัน ก็ยังมีแร่ดีบุกอยู่ทั่วไป แต่เนื่องจากอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตเข้ามาแทนที่ จึงทำให้ปัจจัยการทำเหมืองแร่ต้องทดถอยไปด้วยเหตุ อุปกรณ์การทำเหมืองแร่ ค่าที่ดิน และสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาท จึงทำให้กิจการทำเหมืองแร่ดีบุก ต้องหยุดไปในที่สุด

ศาลาว่าการมหาดไทย
ที่ ๒๘๙/๔๔๒๕๗
วันที่ ๒๙ เดือนมินาคม ร.ศ. ๑๑๕
  ข้าพระพุทธเจ้า      ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท
  ด้วยตามความในจดหมายข้าพระพุทธเจ้า-------------------ฉบับที่ ๒๕๙/๔๑๓๘๔


ลงวันที่ ๘ มินาคม ร.ศ. ๑๑๕ กราบบังคมทูลพระกรุณาด้วยเรื่องที่กระทรวงโยธาธิการขัดข้องในการที่จะส่งอินเยอเนียออกไปตรวจสายน้ำเหมืองทำแร่ เมืองพุเก็ตว่ามีการเต็มตัวถอนไม่ได้ แลข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ว่า ควรรอไว้ก่อนนั้น ความทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว
  บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใบบอกพระยาทิพย์โกษาฉบับที่ ๕๕๐/๒๑๔๖ ลงวันที่ ๑๒ มินาคม ร.ศ. ๑๑๕ ว่าผู้ทำเหมืองในเมืองพุเก็ด เมืองถลาง มักเกิดวิวาทแย่งชิงกันด้วยสายน้ำที่จะใช้ในการทำเหมือง มีเหตุการ เสมอตั้งแต่เดิมต่อมาจนทุกวันนี้ พระยาทิพย์โกษาจึงได้ประชุมกรมการ แลจีนที่เปนหัวน่านายเหมืองพร้อมกันเหนว่า ควรข้าหลวงจะออกประกาศห้ามอย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดปิดทำนบ เปิดทำนบขุดแยกสายน้ำเปลี่ยนแปลงก่อนเวลาที่ข้าหลวงจะได้ตรวจอนุญาตให้เปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้ระวังมิให้เสียประโยชน์ของผู้ที่ได้ทำเหมืองมาแต่เดิมแลระงับเหตุการวิวาทเรื่องแย่งชิงสายน้ำด้วย แม้ผู้ใดมีความประสงค์จะขุดแยกสายน้ำแลเปิดทำนบปิดทำนบเปลี่ยนแปลงในทางสายน้ำประการใด ให้มาแจ้งความต่อข้าหลวง เมื่อข้าหลวงได้ตรวจเหนว่าไม่เสียประโยชน์ของผู้ที่ได้ทำเหมืองมาแต่เดิมแล้ว จึงจะอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงได้ ความพิศดารแจ้งอยู่ในประกาศนั้นแล้ว พระยาทิพย์โกษาเหนด้วยเกล้าฯ ว่าในการทางสายน้ำนี้จะต้องใช้ข้อบังคับใบประกาศนี้ไปพลางกว่าจะได้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติบ่อแร่ มีความในใบบอกดังนี้
  ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ว่า   ที่พระยาทิพย์โกษาคิดจัดการตามใบบอกฉบับนี้เปนการดี ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายสำเนาประกาศหนึ่งฉบับทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท


  ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
   ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงราชานุภาพ
    เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย.

 

 

สำเนาประกาศที่  ๔๓๕๗๙ รับวันที่ ๒๔ มินาคมรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๕

ศาลาราชการเมืองพุเก็ด
หลวงวิจารณอาวุธ ว่าที่ข้าหลวงยุติธรรม
  ประกาศให้กรมการไทยจีน แลจีนหั้วน่านายเหมืองราษฎรในแขวงเมืองพุเก็ดแลเมืองถลางให้ทราบทั่วกันว่า
  ด้วยท่านพระยาทิพย์โกษา ผู้กำกับข้าหลวงรักษาราชการหัวเมืองฝ่ายทะเลตวันตกสั่งว่า ทางสายน้ำ แลลำน้ำ ลำคลอง ซึ่งผู้ขุดตักเอาน้ำมาทำเหมืองแร่ดีบุกนั้น มักเกิดทุ่มเถียงแลวิวาทกันในการชิงสายน้ำจนถึงล้มตายเปนเหตุมาแต่ก่อนเนืองเนือง ทำให้เกิดวิวาท ต้องเปนถ้อยความกันเสมอมา
  เพราะฉนั้นแต่นี้ต่อไป ขอให้นายเหมืองผู้ซึ่งทำเหมืองเข้าใจว่า ทางสายน้ำนั้นทุกแห่งทุกตำบล เปนของราชาธิปตัยทั้งสิ้นมิใช่ เปนของผู้หนึ่งผู้ใดเลอย ฝ่ายราชาธิปตัยก็ตั้งใจแต่จะอุดหนุนให้ผู้ซึ่งทำเหมืองนั้นได้น้ำทำเหมืองสมดังความประสงค์ เพื่อจะได้เปนประโยชน์ของผู้ซึ่งทำเหมืองอย่างหนึ่ง แลเปนประโยชน์ของราชาธิปตัยที่จะได้ภาษีอากรในการเหมืองเปนเงินแผ่นดินอย่างหนึ่ง
 เพราะฉะนั้นแต่วันประกาศนี้ไปห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดกั้นทำนบ แลเปิดทำนบแลขุดทางสายน้ำยักย้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง จากสายน้ำ ลำน้ำ ลำคลอง ซึ่งได้ทำไว้แต่เดิมนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน เวลาซึ่งพนักงานจะได้อนุญาตให้ทำแลเปลี่ยนแปลงนั้น ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมีความประสงค์จะได้สายน้ำไปทำเหมืองของตนแลปิดทำนบฤาเปิดทำนบเปลี่ยนแปลงหนึ่งอย่างใดทุกสิ่งทุกอย่าง โดยความต้องการ ให้ผู้นั้นมาชี้แจงต่อท่านข้าหลวงโดยความประสงค์ ท่านข้าหลวงจะได้ให้พนักงานไปตรวจในการซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อท่านข้าหลวงได้ให้พนักงานตรวจแล้ว เหนว่าความประสงค์ของผู้ซึ่งมาร้องขอเปลี่ยนแปลงสายน้ำนั้นจะไม่เปนที่เสียประโยชน์ของผู้อื่นในการซึ่งทำเหมืองนั้นแล้ว ท่านข้าหลวงก็ได้อนุญาตให้ทำเปลี่ยนแปลงโดยที่เหนสมควร ห้ามมิให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก่อการวิวาทแย่งชิงสายน้ำโดยพลการตนเองเปนอันขาด เมื่อมีผู้ใดขุดแปลงทางสายน้ำหรือกั้นทำนบ เปิดทำนบก่อนท่านข้าหลวงอนุญาต ก็ให้ผู้ซึ่งได้ใช้น้ำสายนั้นมาแต่เดิมนั้น มาแจ้งต่อท่านข้าหลวงฤาร้องฟ้อง จะได้ให้ไปจับผู้นั้นมาชำระไต่สวนเอาความจริง ห้ามมิให้จับกุมกันโดยพลการตนเองเปนอันขาด ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดมิได้ประพฤติตามประกาศนี้ จับได้ฤามีผู้มาร้องฟ้องชำระไต่สวนได้ความจริง จะปรับไหมลงโทษผู้ซึ่งกระทำผิดนั้นตามโทษานุโทษ.

ประกาศมาณะวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๕.


       กรมราชโลหกิจแลภูมิวิทยา

วันที่ ๑๕ ม.ค. ร.ศ. ๑๒๐

  ข้าพระพุทธเจ้า           ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท.

  ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้ให้มิศเตอรสก๊อตเจ้ากรมราชโลหกิจแลภูมิวิทยาออกไปตรวจราชการเหมืองแร่ในมณฑลภูเก็ต เมื่อปี ศก ๑๑๕ มิศเตอรกลับเข้ามาทำรายงานชี้แจงว่า การเก็บภาคหลวงดีบุกตามหัวเมืองในมณฑลภูเก็ตที่รัฐบาลเก็บจากลูกค้าเมื่อเอาดีบุกออกไปจำหน่ายต่างเมืองยังเป็นการคลาศเคลื่อนแลเก็บเกินนอกจากพระราชบัญญัติอยู่หลายประการ หาได้เก็บแต่ตามพระราชบัญญัติสำหรับการทำเหมืองแร่ไม่ การจะจัดการแก้ไขเพื่อให้ลงระเบียบเป็นอัตราสำหรับการเก็บภาคหลวงดีบุกในพื้นบ้านเมืองต่อไป.

  ข้าพระพุทธเจ้าได้มีตราถึงพระยารัษฎานุประดิษฐ ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภุเก็จให้จัดการไต่สวนดูว่า การเก็บภาคหลวงดีบุกแก่ลูกค้านอกพระราชบัญญัติแลกฎข้อบังคับที่รัฐบาลได้กำหนดไว้นั้นมูลเหตุเป็นอย่างไร และผู้ใดได้สั่งให้เก็บถ้ามีตราหรือข้อบังคับอย่างใดก็ให้ชี้แจงมา พระยารัษฎานุประดิษฐ ไต่สวนได้ความว่าการเก็บภาคหลวงนอกจากพระราชบัญญัติที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ซึ่งเคอยเป็นธรรมเนียมเก็บกันมาจนทุกวันนี้มี ๘ อย่าง คือ เก็บที่เมืองภูเก็จ ๓ อย่าง ๑ ค่ากุลีขนดีบุกปึกละ ๓ เซนต์ ๒ เก็บในเนื้อดีบุกปึกละ ๑ เซนต์ ๓ เก็บค่าเรือเมล์กลไฟในระหว่างเมืองภูเก็จกับเมืองปีนังเที่ยวละ ๒ เหรียญ เก็บที่เมืองพังงา ๓ อย่าง คือ ๑ เก็บในเนื้อดีบุกปึกละ ๑ เซนต์ ๒ เก็บค่าตีตราภาราละ ๑๒ เซนต์ ๓ เก็บค่าเตาถลุงแร่กลวงละ ๑๐ เหรียญ (กลวงหนึ่ง ๒๘๐ ขัน) เก็บที่เมืองตะกั่วป่า ๒ อย่าง คือ ๑ ค่าตรวจด่านเก็บในเนื้อดีบุกปึกละ ๑ เซนต์ ๒ ค่าภาษีด่านเก็บในเนื้อดีบุกปึกละ ๔ เซนต์ รวมภาคหลวง ๘ อย่างนี้ เป็นด้วยความดำริห์ของผู้ว่าราชการเมือง และเจ้าภาษีที่รับผูกขาดจากรัฐบาลแต่ก่อนได้จัดตั้งขึ้นไว้เอง จึงได้เป็นธรรมเนียมเก็บกันมาจนทุกวันนี้หาได้มีพระราชบัญญัติแลกฎข้อบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดไม่.
 
 เรื่องนี้ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ว่า การเก็บภาคหลวงดีบุกต่าง ๆ แก่ลูกค้านอกจากอัตราที่มีในพระราชบัญญัติ ๘ อย่างตามที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลมาแล้ว ถ้าจะให้คงเก็บต่อไปก็ไม่เป็นการสมควร ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้หาฤาต่อกระทรวงพระคลัง ขอยกเลิกการเก็บภาคหลวงต่าง ๆ นี้เสีย กระทรวงพระคลังก็เห็นชอบด้วยแล้ว เพราะฉนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตยกเลิกการเก็บภาคหลวงดีบุก ๘ อย่างนี้เสีย ให้คงเก็บแต่ตามพระราชบัญญัติ คือ ๑ ค่าภาคหลวงดีบุก ๒ ค่าตีตราดีบุก ๓ ค่าเผา ๔ ค่าตั๋ว เพื่อจะได้ลงระเบียบของการเก็บภาคหลวงดีบุกแลสดวกแก่ราษฎรที่จะประกอบการค้าขายสืบไป.

  ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ขอเดชะ
   ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงราชานุภาพ
   เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย.

 


  กรมราชโลหกิจแลภูมิวิทยา Royal Department of Mines
         and Geology
    No.          BANGKOK SAIM.
    นำเบอร์  ๓๐
    Date
    วันที่ ๒๖ เมษายนรัตนโกสินทรศก ๑๒๑

To

  ข้าพระพุทธเจ้า            ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท
  ด้วยตามความในพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตราไว้ใช้ในพระราชอณาเขตร เพื่อรักษาการทำเหมืองแร่ให้เปนที่เรียบร้อยสืบไปนั้น พระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าฯ
  แต่ตามความในหมวดที่ ๓ ของพระราชบัญญัติซึ่งว่าด้วยการร่อนหาแร่ต้องขออนุญาตแลเสียค่าธรรมเนียมต่อเจ้าพนักงานนั้น ข้าพระพุทธเจ้ามาเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าไม่ควรใช้ทั่วไปทุกมณฑล เพราะเหตุว่าบางมณฑลซึ่งเกิดมีแร่แต่เล็กน้อย ราษฎรที่เคอยได้ประกอบการร่อนหาแร่ เลี้ยงชีพอยู่แล้วนั้น ก็ได้แร่แต่เล็กน้อยหาพอแก่เงินที่จะเสียค่าใบอนุญาตไม่ส่วนการแต่ก่อนซึ่งล่วงแล้วมาบรรดาราษฎรที่ไปร่อนหาแร่ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งอย่างใด แม้แต่ไปร่อนหาแร่ได้เล็กน้อยก็พอได้จำหน่ายขายเลี้ยงชีพไปคราวหนึ่ง เพราะในมณฑลเหล่านั้นการค้าขายอย่างอื่น ๆ ก็ไม่ใคร่จะมีราษฎรมักประกอบการร่อนหาแร่เสียโดยมาก แต่หามีแร่พอเพียงที่จะเก็บเงินค่าใบอนุญตแก่ราษฎรทุก ๆ ตำบลไม่ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าถ้าจะจัดการเก็บเงินค่าใบอนุญาตร่อนแร่แก่ราษฎรตามความในหมวดที่ ๓ ของพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ทั่วไปแล้ว ราษฎรบรรดาที่ประกอบการร่อนหาแร่อยู่ในเวลานี้ก็จะเลิกการร่อนหาแร่ เสีย ด้วยเปนการลำบากแลได้ แร่ไม่พอแก่เงินที่เสียค่าใบอนุญาต เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เปนการขัดข้องอยู่ดังนี้ ควรจะแก้ไขเพิ่มเติมความในหมวดที่ ๓ ซึ่งว่าด้วยการขออนุญาตร่อนแร่ของพระราชบัญญัตินี้เสียใหม่ให้ใช้ได้แต่ในท้องที่ซึ่งจะประกาศให้ใช้โดยฉะเภาะ จึงจะเปนการสดวกแก่ราษฎรที่จะประกอบการร่อนหาแร่ต่อไป
  เพราะฉนั้น ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพิ่มเติมความในหมวดที่ ๓ ของพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ขึ้นใหม่ให้ได้ความชัด คือ "ความในหมวดนี้ใช้ได้แต่ในท้องที่ซึ่งเสนาบดีได้ประกาศให้ใช้โดยฉะเภาะ"   รวมความเข้ากับหมวดที่    ๓  ได้ความดังนี้ "หมวดที่ ๓ ว่าด้วยขอนุญาตร่อนหาแร่ ความในหมวดนี้ให้ใช้แต่ในท้องที่ซึ่งเสนาบดีจะได้ประกาศให้ใช้โดยฉะเภาะ"
  อนึ่งในตำบลซึ่งควรจะใช้พระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่หมวดที่ ๓ ได้ มีอยู่ ๔ ตำบล คือ ในตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง แขวงเมืองพังงา มณฑลภูเก็จ ๑. ในอำเภอโต๊ะโม๊ะ แขวงเมืองระแงะ บริเวณเจ็ดหัวเมือง ๑. ตำบลบางตะพาน ในอำเภอกำเหนิดนพคุณ มณฑลชุมพร ๑. ในอำเภอพนัศนิคม แขวงเมืองชลบุรี มณฑล ปาจิณ ๑. รวม ๔ ตำบลนี้มีราษฎรร่อนหาแร่ได้โดยมาก เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรจะออกประกาศให้เก็บเงินค่าใบอนุญาตร่อนแร่แก่ราษฎรใน ๔ ตำบลนี้ได้.
  ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างประกาศเก็บค่าใบอนุญาตร่อนแร่ตามความในพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่หมวดที่ ๓ มาพร้อมด้วยจดหมายนี้แล้ว ขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกเปนประกาศให้เก็บเงินค่าใบอนุญาตร่อนแร่ฉบับละ ๕ บาท แก่ราษฎรใน ๔ ตำบลซึ่งกราบบังคมทูลมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายนรัตนโกสินทรศก ๑๒๑ เปนต้นไป ?  ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

      ข้าพระพุทธเจ้า  ดำรงราชานุภาพ
          เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย.

 

 

 


กรมราชโลหกิจแลภูมวิทยา Royal Department of Mines    
               and Geology
No.       BANGKOK SIAM.
นำเบอร์ ๕๐๕๕
Date
วันที่  ๑๓ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๐

To.

  ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท
  ด้วยข้าพพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระราชหัตถ์เลขาที่ ๗/๑๑๑๒ ลงวันที่ ๑๑ เดือนก่อน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามความเห็นของมิศเตอร์สก๊อตเจ้ากรมราชโลหกิจแลภูมิวิทยาเรื่องมิศเตอร์ ยี.แฮมมินตันลอยขอความเห็นของรัฐบาลในการที่จะตรวจหาแร่ดีบุกใต้น้ำตามชายทะเล แหลมมลายูมณฑลภูเก็จนั้น พระเดชพระคุณเปนล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้
  ข้าพระพุทธเจ้าได้ให้มิศเตอร์สก๊อตมีหนังสือชี้แจงเหตุการไปยังมิศเตอร์ ยี. แฮมมินตันลอยแล้วว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้เขาด้วยประการใด ๆ บัดนี้มิศเตอร์ ยี. แฮมมินตันลอยได้ยื่นเรื่องราวต่อกรมราชโลหกิจ. ลงวันที่ ๒๒ ธันวาคมศกนี้อีกฉบับหนึ่งของเพิ่มเติมการขึ้นอีกหลายประการ คือ ๑ จะขออาชญาบัตรผูกขาดตรวจแร่ฉบับเดียวมีกำหนดใช้ได้จนถึงวันสิ้นเดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๒๔. ๒ เมื่อถึงวันสิ้นเดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๒๒ มิศเตอร์ ยี. แฮมมินตันลอยไม่นำเงินทุน ๓๐,๐๐๐ เหรียญมาให้รัฐบาลเห็น อาชญาบัตรผูกขาดตรวจแร่ฉบับนั้น เปนอันยกเลิก ๓ ขอเพิ่มจังหวัดการทำแร่ยาวขึ้นอีก ๑๐ ไมล์ รวมทั้งสิ้น เปนจังหวัดยาว ๒๐ ไมล์ ๔ ดีบุกจะทำได้ในชั้นแรก ๑๐๐๐ ตันขอยกภาคหลวง ถ้าครั้งที่ ๒ ทำได้ ๒๐๐๐ ตันขอเสียภาคหลวงร้อยละหนึ่ง ถ้าทำได้ครั้งที่ ๓. ๒๐๐๐ ตันขอเสียภาคหลวงร้อยละสองครึ่ง แล้วต่อไปจึงจะยอมเสียภาคหลวงเต็มตามอัตราที่ใช้ในมณฑลภูเก็จในเวลานั้น
  การที่มิศเตอร์ ยี. แฮมมินตันลอยของจังหวัดทำแร่ยาว ๒๐ ไมล์กับขอลดภาคหลวงดีบุกลงนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรอนุญาตจังหวัดการทำแร่ยาวฉะเภาะ ๓๐ ไมล์ ภาคหลวงดีบุกควรต้องเก็บเต็มตามอัตรา
  มิศเตอร์สก๊อตเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า การเก็บภาคหลวงดีบุกควรจะลดหย่อนให้บ้าง ในสองปีต้นจะไม่เก็บภาคหลวงเลย แต่สองปีหลังจะเก็บครึ่งหนึ่งของอัตราที่ใช้อยู่และต่อไปให้เสียภาคหลวงเต็มตามอัตราที่ใช้อยู่ในเวลานั้น ถ้ารัฐบาลจะไม่ลดหย่อนภาคหลวงให้บ้าง บางทีมิศเตอร์ ยี. แฮมมินตันลอยจะไม่ลงมือทำการเลย
  เพราะฉนั้น  ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย การจะควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
  ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

   ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงราชานุภาพ
                                       เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

      ศาลาว่าการมหาดไทย
ที่ ๑๕๘๕/๑๒๘๘๙
     วันที่ ๑๕ เดือนธันวาคม ร.ศ. ๑๒๘
  กราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการทรงทราบ
  ด้วยเกล้าฯ ได้รับใบบอกพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จที่ ๑๔๙/๓๘๒๙ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๘ บอกมาด้วยเรื่องบริษัทตองกาฮาเบอร์ ตินเดรตยิงกำปนี จะขอเปลี่ยนข้อความในสัญญาที่บริษัททำไว้กับรัฐบาล ในเรื่องที่บริษัทจะต้องขุดคลองและทำอู่เรือให้รัฐบาล โดยจะขอให้เงินแก่รัฐบาล ๒๐๐,๐๐๐ เหรียญมีความพิศดารแจ้งอยู่ในสำเนาใบบอกของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ซึ่งเกล้าฯ ได้ถวายมาพร้อมกับจดหมายนี้ด้วยแล้ว
  ตามใบบอกของพระยารัษฎาฉบับนี้ เกล้าฯ จะได้รอปฤกษากับกระทรวงเกษตราธิการต่อไป
  ขอได้ทรงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาท
    ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
     ดำรง
    เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

 

 

       ศาลารัฐบาลมณฑลภูเก็จ
ที่ ๑๔๙/๓๘๒๙
แพนกราชโลหกิจ  
 วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๘

  ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็จ บอกบปฏิบัตร์มายังท่านออกพันทนายเวรขอได้นำขึ้นกราบทูล พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงทราบไต้ฝ่าพระบาท
  ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้รับจดหมายบริษัทตองกาฮาเบอร์ตินเดรตยิงกัมปนีลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๘ ว่าผู้ถือแชร์ของบริษัทนี้ได้ทราบความตามรายงานของมิศเตอร์ฟรีแมน ในเรื่องที่บริษัทนี้จะต้องขุดคลองแลทำอู่เรือให้รัฐบาลตามสัญญาข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ ข้อ ๑๑ นั้น พากันเชื่อตามความเห็นมิศเตอร์ฟรีแมนเป็นอันมาก บริษัทนี้จำเป็นที่จะระงับการแก่งแย่งในระหว่างผู้ถือแชร์ โดยขอความกรุณาต่อรัฐบาลเปลี่ยนสัญญาซึ่งมีข้อความดังกล่าวแล้วเสีย ถ้ารัฐบาลยอมอนุญาต บริษัทจะยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐบาลเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ เหรียญ และรับสัญญาว่าจะรักษาร่องน้ำที่มีอยู่แล้วแต่เดิมให้ลึก ๓ ฟิตในเวลาน้ำแห้งถึงที่สุด และจะรักษาร่องน้ำที่เรือเคยทอดสมอแต่เดิมนั้นให้ลึกเท่าเดิมเสมอจนตลอดสิ้นอายุสัญญาของบริษัทที่มีอยู่แล้วนั้น บริษัทได้ตั้งให้กัปตันไมล์กับ มิศเตอร์เกรผู้อำนวยการ เป็นผู้แทนบริษัทมาตกลงกับรัฐบาลในการเรื่องนี้
  ข้าพระพุทธเจ้าได้มีจดหมายตอบไปว่า เรื่องนี้เป็นการสำคัญจำเป็นที่ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องนำความขึ้นหารือต่อกระทรวงเกษตร์พานิชการ แลกระทรวงมหาดไทยก่อนเมื่อได้ความตกลงประการใดจึงจะตอบให้ทราบ แลในระหว่างที่ข้าพระพุทธเจ้าหารือเข้ามายังกรุงเทพฯ นี้ บริษัทต้องเข้าใจว่า รัฐบาลไม่ได้ตกลงจะเปลี่ยนสัญญาตามที่ขอนั้น บริษัทจะต้องทำการตามสัญญาที่มีอยู่ทุกประการ และจะถือเอาการที่หารือกระทรวงเป็นโอกาศว่ารัฐบาลงดรอการขุดอู่ทำคลองให้นั้นไม่ได้ มีความหลายประการแจ้งอยู่ในจดหมายนั้นแล้ว
  เรื่องนี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เมืองภูเก็จเป็นเมืองเกาะได้อาไศรยสินค้าดีบุกอย่างเดียว แร่ดีบุกเป็นธรรมดาต้องหมดเวลาหนึ่งเป็นแน่ ถึงจะบำรุงการเพาะปลูกขึ้นแทนที่ก็คงดีเท่าเดิมไม่ได้เพราะที่ดินมีน้อย เมื่อแร่ดีบุกหมดลงวันใดการค้าขายคงน้อยลงตามกัน เรือเมล์ใหญ่ ๆ  คงจะไม่ใคร่เข้ามาด้วยไม่มีสินค้าพอบรรทุกการขุดอู่ทำคลองคงไม่สู้มีประโยชน์ แลเมื่อหมดอายุสัญญาแล้วรัฐบาลจะต้องรักษาอู่แลคลองนั้นเอง เกรงว่าจะได้ผลไม่พอแก่ค่ารักษา อีกประการหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่าต่อไปข้างน่า เมืองภูเก็จจะต้องยกไปตั้งอยู่ที่แม่น้ำปากพระตำบลแหลมมะพร้าวอำเภอถลางที่แห่งนี้พระยาบรมบาทบำรุงได้เห็นแลได้ทราบแผนที่ดีอยู่แล้ว ว่าเป็นที่น้ำลึกจอดเรือใหญ่ได้แลอ่าวก็งามดีมาก การที่บริษัทมาขอเปลี่ยนสัญญาแลยอให้ค่าเสียหายในเวลานี้ก็เป็นโอกาศอันดี ที่จะได้สร้างเมืองใหม่เสียในเวลาที่การค้าขายยังเจริญอยู่ แล้วทำรถรางลงมาติดต่อกับเมืองเก่าบำรุงการค้าขายให้เจริญยิ่งขึ้นอีก เมื่อถึงเวลาที่จะต้องย้ายเมืองภายหลังจะได้ไม่เป็นการลำบาก แต่ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าเงินที่บริษัทจะให้ค่าเสียหายนี้ยังน้อยนักไม่พอแก่การที่จะคิดสร้างเมืองได้ ถ้าจะยอมตามคำขอของบริษัทที่กล่าว ควรต้องเรียกค่าเสียหายเสียให้พอทำการได้ทีเดียวจะเป็นการดีมาก ตามความเห็นที่กราบทูลมานี้ถ้ายังเป็นการสงไสยในข้อความอย่างใด เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้เข้ามากรุงเทพมหานครในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะได้มากราบทูลชี้แจงข้อความโดยเลอียด ตามความเห็นที่ได้กราบทูลมานี้ยังไม่ทราบเกล้าฯ ว่า ปอลิธีของรัฐบาลจะเป็นประการใด เมื่อตกลงประการใดขอได้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพระพุทธเจ้าทราบพระกระแสทางโทรเลข เพราะบริษัทต้องการทราบความประสงค์ของรัฐบาลโดยเร็ว ข้าพระพุทธเจ้าได้มีใบบอกไปยังกระทรวงเกษตร์พานิชการ ฉบับหนึ่ง ความต้องกันแลให้มาปฤกษากับกระทรวงมหาดไทย

    ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
     ข้าพระพุทธเจ้า  (พระยารัษฎา)
                                   ข้าหลวงเทศาภิบาล
          ประทับตราประจำตำแหน่งมาเป็นสำคัญ

 

 


บรรณานุกรม

เกษตร พิทักษ์ไพรวัน สยามเป็นเมืองเหมืองแร่ ๑๐๐ ปีกรมทรัพยากรธรณี อัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ
กรุงเทพฯ ๒๗๘ หน้า
จดหมายเหตุเสด็จประพาสรอบแหลมมลายู  พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๐๙ องค์การค้าคุรุสภา ๒๕๐๗ : ๒๕๕ หน้า
จดหมายเสด็จ ประพาสหัวเมืองปักใต้  ร.ศ. ๑๒๘ ของสมเด็จ พระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระ
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์การค้าคุรุสภา ๒๕๐๖ : ๒๕๗ หน้า
ไชยยุทธ  ปิ่นประดับ การทำเหมืองแร่ดีบุก ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ ๒๕๔๐ : ๙๕ หน้า
____. ประเพณีกินผักของศาลเจ้ากะทู้ จ.ภูเก็ต ธินวุฒิ ภูเก็ต ๒๕๓๓ :๑๘๙ หน้า
____. ประวัติความเป็นมาของ อั้งยี่ กับศาลเจ้าต่องย่องสูภูเก็ต วิเศษออฟเซ็ท
             คอมพิว ภูเก็ต ๒๕๔๐ : ๑๔๔ หน้า
ทวีศักดิ์  เสนาณรงค์  ถลาง ภูเก็ตและชายฝั่งทะเลอันดามันฯ   กรมศิลปากรฯ    ในโอกาสสมเด็จพระ
เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์
สถานแห่งชาติ ถลาง ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๒  พริ้นติ้งกรุ๊ฟ กรุงเทพฯ   ๒๗๖ หน้า
นันทา  วรเนติวงศ์ แปล  ฟรานซิส ไลท์ ฯ กรมศิลปากร ๒๕๑๗ :  ๖๔ หน้า
____. แปล  จดหมายเหตุเจมส์โล กรมศิลปากร ๒๕๑๙ :  ๑๔๗ หน้า
ประชุมพงศาวดาร จดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศสในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เล่ม
๒๖ คุรุสภา ๒๕๑๑ : ๒๙๐ หน้า
พิสุทธิ์  สุทัศ ณ อยุธยา  แร่ กรมทรัพยากรธรณี รุ่งเรืองการพิมพ์ กรุงเทพฯ ๒๕๒๐ : ๒๗๒ หน้า
มาลี  รักตะปุรณะ  ทรัพย์ในดินสินในน้ำที่ภูเก็ต อนุสารฉบับพิเศษ เที่ยวเมืองภูเก็ต ประชาช่าง กรุงเทพฯ ๒๕๑๓ : ๘๒ หน้า
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๕ มีนาคม ๒๔๗๑ : ๔๐๕๙ หน้า
ราชัน  กาญจนะวานิชย์ ดีบุกกับภูเก็ต ในสมัยรัตน์โกสินทร์ ๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ กรุงเทพฯ ๒๗๘ หน้า
____. ดีบุกกับภูเก็ตในสองร้อยปีที่แล้วมา ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้  ๒๕๔๐ :  ๙๕หน้า)
วรวุธ  พิสิฐพานิชยกรรม ๑๐๐ ปี ภูเก็ตวิทยาลัย กรุงเทพฯ ๒๕๔๐ : ๑๙๕ หน้า
วิชา  เศรษฐบุตร  ครบรอบ ๗๒ ปี ข่าวสารกรมโลหกิจ ๒๕๐๖
____. ดีบุก เป็นอนุสรณ์ แด่นายยิบ อิน  ซอย   ไทยวัฒนาพานิชย์  กรุงเทพฯ ๒๒๐ หน้า
วิสิทธิ์  น้อยพันธุ์  ๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี พริ้นติ้งกรุ๊ฟ กรุงเทพฯ ๒๗๘ หน้า
สมภพ  จันทร์ประภา ข่าวสารโลหะกิจ ปีที่ ๗ (ฉบับที่ ๑๐) ตุลาคม ๒๕๐๕
สุธิดา  กระแสชัย  แปลการเดินทางของแจนฮูย์เจน ฟอนลินสโชเตน มายังหมู่เกาะอินเดียตะวัน
ออก ศิลปากรปีที่ ๒๖ เล่ม ๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ : ๑๔๒ หน้า
สุวลัย  ปิ่นประดับ เกาะมหาสมบัติวันคล้ายวันสถาปนาสโมสรไลออนส์ภูเก็ตครบรอบ ๑๐ ปี
และพิธีสถาปนาคณะกรรมการบริหารประจำปี ๒๕๒๔ - ๒๕๒๕
พระปฐมการ   พิมพ์ จ.นครปฐม ๒๕๒๔ : ๑๑๖ หน้า
สำนักนายกรัฐมนตรี  ประวัติการค้าไทย – หอการค้าไทย  พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิง
ศพ นายสง่า วรรณดิษฐ์ ท.ม.,ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๑๑
บพิธ จำกัด กรุงเทพฯ ๒๕๑๑ : ๓๐๐ หน้า

เอกสารอัดสำเนาบริษัท ไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสตรี จำกัด ๑๑ หน้า

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 10 มกราคม 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้564
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1456
mod_vvisit_counterทั้งหมด11414307