Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow มนุษยศาสตร์ arrow แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมภูเก็ต 10 แหล่ง
แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมภูเก็ต 10 แหล่ง PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 12 สิงหาคม 2020

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

ภาพ พช.ถลาง  

ภาพ ทั้ง ๑๐ แหล่งศิลวัฒนธรรม

  
  

 

 

 

 

 


 

 

 

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

เป็นแหล่งการเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวในภูเก็ตที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีภูเก็ตและฝั่งทะเลอันดามัน โดยจัดแสดงผ่านโบราณวัตถุและวัตถุที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการภายในตัวอาคารและส่วนจัดแสดงกลางแจ้ง รวมทั้งตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญทองด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น

ที่ตั้ง

เลขที่ 217 หมู่ที่ 3 บ้านท่าเรือ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 83110

ประวัติ

ในปี พ..2525 กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ ส่วนราชการ เอกชนและองค์กรประชาชนในท้องถิ่น มีแนวคิดให้มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อรวบรวมจัดแสดงและให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและเชิดชูเกียรติ ในวาระที่ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร จะครบ 200 ปี วีรสตรีเมืองถลาง  ในปี พ..2528

กรมศิลปากรดำเนินการออกแบบและก่อสร้างตัวอาคารในเดือนสิงหาคม พ..2528 แล้วเสร็จเดือนมิถุนายน พ..2529 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2532 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ถลาง

การจัดแสดง

1.ห้องโถง ประวัติศาสตร์ชาติไทยและวัฒนธรรม

2.ธรณีวิทยาเกาะภูเก็ตและโบราณคดีฝั่งทะเลอันดามัน

3.วีรสตรีเมืองถลาง

4.ชาวจีนกับพัฒนาการเมืองภูเก็ต

5.คนภูเก็ต

การจัดแสดงด้ารนอกอาคาร จะมี

1.บ้านและเรือของชาวเล ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในฝั่งอันดามัน โดยจำลองบ้าน และมีเรือที่ใช้งานจริง จัดแสดงไว้นอกอาคาร

2.วัตถุที่ได้จากภัยพิบัติสึนามิ จัดแสดงไว้ด้านนอกอาคารโดยทำหลังคาคลุมไว้

วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ/สิ่งที่น่าสนใจ

1.ประติมากรรมพระนารายณ์ ทำจากศิลา เป็นศิลปะปัลลวะ อายุอยู่ช่วงพุทธศตวรรษ 15-16 สูง 2.35 เมตร พร้อมเทพบริวาร พบที่เขาพระนารายณ์ อ.กะปง จ.พังงา แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อ ค้าขาย และการรับอารยธรรมจากอินเดียของชุมชนริมฝั่งทะเลอันดามัน

2.ภาชนะดินเผาและเครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบที่ถ้ำหลังโรงเรียน อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ และลูกปัด พบที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

3.อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง สถาปนิกได้ออกแบบโดยดัดแปลงรูปแบบอาคารเรือนไทยพื้นถิ่นภาคใต้มาประยุกต์เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยคงลักษณะเรือนไม้มีหลังคา 3 ด้าน ได้แก่ ด้านหน้าสลักเป็นรูปจั่ว การยกพื้น รูปทรงและพื้นผิวของหลังคา ฝาของอาคารทำเป็นลวดลายไม้ไผ่ขัดแตะโดยมีต้นแบบมาจากบ้านขุนมรดก (นายกลอน วัลยะเพ็ชร์) ถือเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนท้องถิ่นชาวภูเก็ตโดยแท้

อาคารหลังนี้ออกแบบโดยนายอุดม สกุลพาณิชย์ ได้รับรางวัล Gold Medal เป็นรางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจากสมาคมสถาปนิคสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในงานนิทรรศการ สถาปนิค 30”

 

 

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต

        

 

      
    
      
   
   
    

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต

    แหล่งการเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวด้านธรณีวิทยา การอพยพย้ายถิ่นของชาวจีนเข้ามาในภูเก็ต การทำเหมืองแร่และวิถีชีวิตชาวเหมืองแร่ นำเสนอเรื่องราวผ่านการจัดแสดงนิทรรศการแบบกึ่งมีชีวิตด้วยข้าวของเครื่องใช้ วัตถุมงคล เครื่องมือการทำเหมืองแร่ การจำลองเหมืองแร่ประเภทต่าง ๆ จัดแสดงทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร

ที่ตั้ง

    45 หมู่ 5 ถนนสายกะทู้-เกาะแก้ว ตำบลกะทู้ และตำบลเกาะแก้ว จังหวัดภูเก็ต ติดกับสนามกอล์ฟล็อกปาล์มกะทู้

ประวัติ

    เทศบาลตำบลกะทู้ ดำเนินการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ บนพื้นที่ เหมืองท่อสูงซึ่งเป็นเหมืองเก่า มีเนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ อยู่ระหว่างตำบลกะทู้กับบ้านเกาะแก้ว ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวคิดเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างประวัติศาสตร์ชุมชน

 

การจัดแสดง

    พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่จัดการแสดงทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร

การจัดแสดงภายนอกอาคาร (Outdoor) มีรางเหมืองแร่จำลอง ลานการเรียนรู้กลางแจ้ง ขุมเหมือง เครื่องมือและอุปกรณ์การทำเหมืองแร่ พืชพันธุ์ไม้

ส่วนการจัดแสดงภายในอาคาร (Indoor) “อังมอเหลาบ้านเศรษฐีนายหัวเหมือง มีห้องจัดแสดง ดังนี้

1.ห้องนายหัวเหมือง แสดงถึงชีวิตชาวภูเก็ต  เปรียบเสมือนห้องรับแขกจะมีโต๊ะเก้าอี้มุก ตู้โชว์ลับแล เครื่องใช้ไม้สอย หน้าพระ (หิ้งพระ) วัตถุของมีค่าต่าง ๆ

2.ห้องเรืองรองธรณี แสดงระบบสุริยจักรวาล กำเนิดโลก สิ่งมีชีวิต การเกิดหินดินแร่ วิวัฒนาการของมนุษย์

3.ห้องปฐพีเหมืองแร่ จำลองเหมืองประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เหมืองปล่อง เหมืองรู เหมืองอุโมงค์ เหมืองหาบ เหมืองสูบ เหมืองฉีด และเหมืองเรือขุด

4.ห้องเปลี่ยนแปรแร่ธาตุ แสดงขั้นตอนการถลุงแร่ ตัวอย่างแร่ดีบุก อุปกรณ์ทำความสะอาดแร่ ผลิตภัณฑ์ การแปรรูปจากดีบุก

5.ห้องชาญฉลาดนาวาชีวิต แสดงถึงการอพยพย้ายถิ่นของชาวจีนเข้ามาสู่เกาะภูเก็ต การค้าขายทางเรือสำเภา

6.ห้องวิถีชีวิต สะท้อนให้เห็น วิถีชีวิตชุมชนชาวไทยและชาวจีนยุคเหมืองแร่รุ่งเรือง จำลอง ตลาด ร้านค้า ศาลเจ้า การแสดงมหรสพอุปรากรจีน และอาชีพของคนพื้นถิ่น

7.ห้องเยี่ยมชมยลวัฒนธรรม จัดแสดงการแต่งกายเสื้อผ้าแบบบาบ๋า เอกสารจดหมายเหตุเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่

8.เลิศล้ำภูมิปัญญา จัดเป็นห้องสมุดที่รวบรวมเอกสารเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นและหนังสือทั่วไป

วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ/สิ่งที่น่าสนใจ

a. ตัวอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรกีส  หรืออังมอเหลาภายใต้แนวคิดขัดแสดงให้เป็นบ้านของนายหัวเหมือง

2.ภายนอกอาคารที่จัดแสดงเครื่องจักรการทำเหมืองแร่และพื้นที่รอบอาคารที่เป็นเหมืองแร่เก่า

3.ห้องเรืองรองธรณี จำลองระบบสุริยจักรวาล การกำเนิดสิ่งมีชีวิตและหินดินแร่ต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นพัฒนาการไปสู่การทำเหมืองแร่

4.ห้องปฐพีเหมืองแร่ มีการจำลองเหมืองแร่ทุกประเภทไว้เพื่อให้ศึกษา

 

 

 

พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์

 

      
    
      
    
    

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์

แหล่งการเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมอันดามันรากเหง้าของชาวภูเก็ตพื้นถิ่นหรือชาวเพอรานากัน นำเสนอผ่านสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการจัดกิจกรรมหมุนเวียน

ที่ตั้ง

อาคารชาร์เตอร์ดแบงค์ ถนนพังงา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 83000

ประวัติ

ธนาคารชาร์เตอร์ด สร้างขึ้นเมื่อพ.. 2452 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต กราบบังคมทูลขอพระราชอนุญาตสร้างธนาคารแห่งนี้ขึ้นเพื่อรองรับการทำธุรกรรมการเงิน

สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตมอบพื้นที่บริเวณนี้ให้เทศบาลนครภูเก็ตปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองภูเก็ต

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชทานนามให้ว่า พิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์เสด็จพระราช

ดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560

การจัดแสดง

อาคารพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์ เป็นอาคาร 2 ชั้น การจัดแสดงจะมี 6 ห้อง 5 ห้องแรกอยู่ชั้น 2 ส่วนห้องที่ 6 อยู่ชั้น 1

ห้องจัดแสดงชั้น2 มี 5 ห้อง ประกอบด้วย

1.                  ห้องพลัดพราก เป็นเรื่องราวของชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามายังประเทศไทย ผ่านช่องแคบมะละกามายังเกาะภูเก็ต นำเสนอผ่านจอโปรเจกเตอร์ด้วยภาพและเสียงเสมือนจริง

2.                  ห้องรากใหม่ เป็นห้องที่ให้ความหมายของคำว่า เพอรานากันซึ่งหมายถึง เกิดที่นี่โดยสะท้อนให้เห็นถึงชาวจีนเมื่อเข้ามาสู่ภูเก็ตแล้ว ทำงานรับจ้างเป็นกุลีและค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นนายเหมืองที่ร่ำรวยและมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ

3.                  ห้องฉิมแจ้ คำว่า"ฉิมแจ้" หมายถึง บ่อน้ำกลางบ้านห้องนี้จำลองภาพฉิมแจ้ในบ้านของคนภูเก็ตที่มีการเจาะช่องอากาศกลางตัวบ้านเพื่อให้อากาศถ่ายเทและแสงส่องเข้ามา เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตกและตะวันออก

4.                  ห้องผ้า จะมีหุ่นสวมใส่ผ้าที่เป็นอัตลักษณ์การแต่งกายของชาวภูเก็ต เรียกว่า การแต่งกายแบบบาบ๋า-ย่าหยาลักษณะของเสื้อ จะเป็นเสื้อคอตั้ง ผ้าหนา ปักฉลุลวดลายสวยงาม ผ้าถุงจะเป็นผ้าปาเต๊ะที่มีลวดลายดอกไม้หรือสัตว์มงคล

5.                  ห้องอาหาร นำเสนอด้วยการใช้เทคนิคการฉายภาพอาหารลงบนภาชนะ และอาหารก็เป็นอาหารของชาวเพอรานากันในภูเก็ตที่ผสมผสานวัฒนธรรมของชาวจีนฮกเกี้ยน มลายูและไทยถิ่นใต้ เช่น โอวต้าว ปอเปี๊ยะสด ผัดบังก๊วน ปลาเจี๋ยนตะไคร้ และแกงตูมี้ เป็นต้น

ชั้นล่าง ห้องที่ 6

-        ห้องมรดก

จัดแสดงเครื่องประดับของชาวเพอรานากัน ที่แสดงถึงฐานะและโอกาสที่ใช้ในงานสำคัญ ๆ เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยง ซึ่งจะจัดเป็นชุดให้เข้ากับเสื้อผ้า และยังมีตู้เชฟเก่าของธนาคารชาร์เตอร์ด จัดแสดงภายในห้องด้วย

อาคารฝั่งตรงข้าม เดิมเป็นสถานีตำรวจเก่าจะเป็นอาคาร 2 ชั้น มีหอนาฬิกาใหญ่อยู่ด้านบน ด้านในอาคารจะจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ห้องจัดแสดงจะมีทั้งชั้น 1 และชั้น 2

ชั้น 1 จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวในเขตเทศบาลนครภูเก็ต

ชั้น 2 จัดแสดงการกำเนิดของนครภูเก็ตผ่านพัฒนาการเมือง 4 ยุค (ป่า-เหมือง-เมือง-ท่องเที่ยว) แบ่งเป็น 8 โซน ดังนี้

1.                  ภูเก็ตนครา เล่าเรื่องเมือง 4 ยุค ผ่านภาพเก่าของนครภูเก็ตในอดีต

2.                  สถาปนานคร จากหลักฐานพระราชหัตเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการย้ายศูนย์กลางการปกครองภูเก็ต

3.                  ตำนานนคร การเกิดเมืองและเหตุของการย้ายเมือง

4.                  ย้ายนคร การย้ายนคร สมัยธนบุรี สมัยรัชกาลที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 4 จนมาอยู่ที่ นครภูเก็ต"ในปัจจุบัน

5.                  นครบนเหมือง ให้เห็นถึงการปรับปรุงบ้านเมืองครั้งสำคัญของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต

6.                  นครรุ่งเรือง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ ดีบุกนำมาซึ่งวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ จากผู้คนที่หลากหลาย

7.                  อวสานดีบุก นำเสนอเรื่องราวการสิ้นสุดของยุคดีบุกและเริ่มต้นบทบาทใหม่ของนครภูเก็ตจนถึงปัจจุบัน

8.                  มิวเซียมรีวิว เป็นส่วนที่ให้ผู้เข้าชมได้ร่วมทำกิจกรรมบนพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต

วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ/สิ่งที่น่าสนใจ

-อาคารจัดแสดงที่ทาสีเหลืองและมีหอนาฬิกาอยู่ด้านบน รวมถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาคารที่เป็นธนาคารแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต

-ห้องเพอรานากันนิทัศน์ ที่บอกกล่าวถึงความเป็นมาของคนบาบ๋าในภูเก็ต (ปีนังมะละกา,สิงคโปร์เรียกเพอรานากัน)

 

 

 

พิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา

  
  

 

 

 

 

 

 

    
   
    
   

 

 

 

 

 

 

 

 

 


คฤหาสน์ชินประชา

       แหล่งการเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวจีนภูเก็ต ปัจจุบันเจ้าของยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยแต่เปิดให้นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม บ้านชินประชา อาคารออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส ภายในบ้านตกแต่งและจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม

ที่ตั้ง

       96 ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ อ.เมือง จังหวัดภูเก็ต

ประวัติ

       พระพิทักษ์ชินประชา (ตันม่าเสียง) สร้าง “บ้านชินประชา” ในปีพ.ศ.2466 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 อาบ้านชินประชาเป็นอังมอเหลาหลังแรกของจังหวัดภูเก็ต วัสดุตกแต่งบ้านนำมาจากต่างประเทศ เช่น เฟอนิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเมืองจีน รั้วบ้านมาจากฮอลแลนด์ กระเบื้องปูพื้นมาจากอิตาลี เป็นต้น ปัจจุบันทายาทของพระพิทักษ์ชินประชารุ่นที่ 6 เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลแก่เยาวชน ผู้สนใจ และนักท่องเที่ยว

การจัดแสดง

       เจ้าของบ้านชินประชายังคงใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้จัดบ้านชินประชาเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งผู้เข้าชมจะได้สัมผัสวิถีความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านจริง ๆ  สิ่งของเครื่องใช้ก็ยังคงใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ผู้เข้าชมจึงเป็นนเสมือนแขกที่มาเยือน สามารถเดินชมบ้านได้เกือบทุกพื้นที่

-ภายในบ้านจะมีเฟอนิเจอร์ประดับมุกแท้จากประเทศจีน จานสมัยซูสีไทเฮา โต๊ะรับประทานอาหารจากปีนัง เตียงนอนโบราณ เปียนโนโบราณ  เป็นต้น

       -ตรงกลางบ้านจะมี “ฉิ่มแจ้” เปิดโล่งเพื่อให้ลมพัดและมีแสงสว่างเข้ามา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านภูเก็ต

       -ภาพเก่าบุคคลสำคัญในอดีตที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

       -กระเบื้องพื้นลายโบราณจากอิตาลี

       -เฉี้ยนา ฮั้วหนา หรือตะกร้าสานด้วยไม้ทาสีแดงและสีทองที่นำมาจัดตกแต่งบ้านอย่างลงตัวสวยงาม

       -ห้องครัวที่ยังมีเตาไฟแบบโบราณ หรือเรียกว่า โพไฟ

 

วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ/สิ่งที่น่าสนใจ

ศิลปวัตถุภัณฑ์ภายในบ้านสะท้อนความเป็นเศรษฐีนายหัวเหมือง  บริษัทถ่ายทำภาพยนตร์จึงได้ใช้เป็นฉากภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น เขมรินทอินทิรา ชาติพันธ์มังกร มัสยา  ศิลปวัตถุภัณฑ์ทุกชิ้น อนุญาตให้ถ่ายภาพได้ เช่น เตียงนอนแบบจีน กระจกทวิภพ  พัดลมน้ำมันก๊าด  โทรศัพท์ย้อนยุค  พระเก้าอี้ที่เชื้อพระวงศ์เคยประทับ 

ในห้องครัว  มีครุภัณฑ์และเครื่องมือประกอบอาหารที่เคยใช้ตั้งแสดงไว้ประกอบการศึกษา  มีก้อนขี้กรางอันประกอบด้วยแทนทาลั่มก้อนใหญ่สุดในภูเก็ต

 

 

ย่านเมืองเก่าภูเก็ต

 

    
    
   

 

 

 

 

 

  
  

 

 

 

 

 

 


ย่านเมืองเก่าภูเก็ต

แหล่งการเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยว ที่อยู่ในย่านชุมชนกลางเมืองภูเก็ต มีอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานศิลปะตะวันตกและตะวันออกได้อย่างลงตัวสวยงามตลอดสองฝั่งถนนจนเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น

ที่ตั้ง

ช่วงที่ 1 ถนนภูเก็ต ถนนรัษฎาและถนนระนอง

ช่วงที่ 2 ถนนพังงา ถนนภูเก็ตและถนนมนตรี

ช่วงที่ 3 ถนนถลาง และซอยรมณีย์

ช่วงที่ 4 ถนนกระบี่ และถนนสตูล

ช่วงที่ 5 ถนนเยาวราชและตรอกสุ่นอุทิศ ถนนดีบุก

ประวัติ

ยุคที่กิจการเหมืองแร่รุ่งเรืองในสมัยของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)  เป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต ในช่วงปี พ.ศ.2445-2456  ภูเก็ตในยุคนั้นถือว่ามีความทันสมัยมากโดยเฉพาะการวางผังเมืองภูเก็ตใหม่ ในช่วงนั้นภูเก็ตติดต่อค้าขายกับเมืองปีนังจึงรับเอาศิลปวัฒนธรรมรวมถึงรูปแบบการก่อสร้างอาคารที่เคยเรียกว่าชิโนโปรตุกีสเข้ามา ซึ่งอาคารรูปแบบนี้สร้างโดยนักธุรกิจชาวจีนที่ร่ำรวยจากการทำเหมืองแร่ดีบุก

ย่านเมืองเก่าภูเก็ตเป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมไทย จีน มุสลิม อินเดีย และยุโรป

การจัดแสดง

  ย่านเมืองเก่าภูเก็ตเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดตลอดเส้นทางทั้ง 4 ช่วง สามารถชมอาคาร “เตี่ยมฉู่ รูปแบบชิโนโปรตุกีสทั้งสองฝั่งถนน ที่ชาวบ้านยังใช้ประกอบกิจรรมในชีวิตประจำวันเหมือนเช่นอดีตและเพิ่มเติมกิจกรรมหลายอย่างขึ้นมาเพื่อต้อนรับการท่องเที่ยว เช่น การจัดถนนคนเดินทุกวันอาทิตย์  การเปิดบ้านบางหลังให้เข้าชมภายในบ้านที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่อดีตให้ได้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์

วัตถุจัดแสดง/สิ่งที่น่าสนใจ

1.     อาคารสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสแบบตึกแถวหรือเตี่ยมฉู่ มีลักษณะโดดเด่นคือระหว่างบ้านจะมีซุ้มโค้งที่เป็นช่องทางเดินต่อเนื่องกันตลอด เรียกว่า “หง่อกากี่ หรือ “อาเขด ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ป้องกันแดดและลมฝน เนื่องจากภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นเมือง “ฝนแปดแดดสี่

1.1   หลังคาของอาคารจะมุงด้วยกระเบื้องดินเผาแผ่นโค้งรูปตัว U

1.2   ประตูหน้าต่างชั้นล่างทำด้วยไม้มีลวดลายจีน ชั้นบนจะเป็นบานหน้าต่างขนาดใหญ่ 2-3 ช่อง ยาวถึงพื้นห้อง

1.3   หัวเสาอาคารจะมีทั้งแบบคลาสสิค 3 แบบ คือแบบดอริก ไอโอนิค  และโครินเธียนที่มีลวดลายสวยงามแกะเป็นรูปดอกไม้ ใบไม้

1.4   ตุ๊กตาปูนปั้นลวดลายตุ๊กตาจีนที่อยู่บนคาน จะมีที่ร้านขายผ้าสิริรัตน์

1.5   หน้าบ้านจะสร้างตามลักษณะความเชื่อของคนจีน คือสร้างแบบพญามังกร มีประตูเป็นปาก หน้าต่างเป็นตา ช่องลมเป็นคิ้ว

2.     สตรีทอาร์ท (STREET ART) ที่วาดไว้บนผนังอาคารบอกเล่าถึงเรื่องราววิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของชาวภูเก็ต เช่น ประเพณีถือศีลกินผัก ตรุษจีน เสือ สิงโตเหนียน ประเพณีเดินเต่า หุ่นกาเหล้  อาม่ากับอาแปะขายโอวต๊าว

3.     ร้านอาหารพื้นเมืองในย่านเมืองเก่าทั้ง 4 ช่วง จะมีร้านอาหารพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและรสชาติดีอยู่ทุกเส้นทาง เช่น ร้านขายโอวเอ๋วที่ถนนเยาวราช, ร้านอาหารพื้นเมืองฮกลกเทียน ถนนเยาวราช, ร้านโรตีอรุณโภชนา ถนนถลาง เป็นต้น

 

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

 

 

 

 

  
  

 

 

 


กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเกาะสิเหร่

 

 

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

แหล่งการเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวส่วนราชการที่จัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นและเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าส่งเสริมและเผยแพร่งานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับด้านศิลปะวัฒนธรรม

ที่ตั้ง

       สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เลขที่ 21 หมู่ 6 ถนนเทพกระษัตรี ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000 โทรศัพท์ : 076-523 094-7 ต่อ 7200 หรือ 098-5150989

ประวัติ

เมื่อ พ.ศ.2518 อาจารย์ในภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูภูเก็ต ช่วยกันจัดนิทรรศการ วันชาวบ้านต่อมาได้จัดนิทรรศการ วิถีชีวิตชาวบ้านป่าตอง” “วิถีชีวิตชาวบ้านสาคู” “ย่ามและ ปฏิทิน

ปี พ.ศ.2519 จึงมีสิ่งของที่นำมาจัดนิทรรศการ ชีวิตไทยฝั่งทะเลตะวันตกครั้งที่ 1-2 ของหน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย โดยวิทยาลัยครูภูเก็ต ได้รับงบประมาณจากกองวัฒนธรรม กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างปี 2520-2521

เมื่อกองวัฒนธรรมได้รับการยกฐานะเป็นสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2522 ตามพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2522 มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม  พ.ศ.2523 หน่วยประเคราะห์ศูนย์ชุมนุมส่งเสริมวัฒนธรรมไทย วิทยาลัยครูภูเก็ต จึงเปลี่ยนไปเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2523 มีสถานที่ปฏิบัติงาน ณ หอพักชาย ซึ่งว่างอยู่ในวิทยาลัยครูภูเก็ต ตามคำสั่งวิทยาลัยครูภูเก็ต เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2523

ต่อมาในปี พ.ศ.2526 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูภูเก็ตตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ.2526 โดยกำหนดให้มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

ศึกษา ค้นคว้าและวิจัยงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม

อนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่วัฒนธรรม

ฝึกอบรมวิทยาการและบุคลากรด้านวัฒนธรรม

จัดและดำเนินการหอวัฒนธรรม

สนับสนุนและช่วยเหลือการดำเนินงาน ของศูนย์วัฒนธรรมอื่น หรือหน่วยงานอื่น

หน้าที่อื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดหรือสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

จากหน้าที่ในข้อ 4 ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตจึงมี หอวัฒนธรรมภูเก็จเป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้า เก็บรักษาและจัดนิทรรศการผลงานทางวัฒนธรรมทุกสาขา ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูภูเก็ตได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏภูเก็ต ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 จึงได้กำหนดให้มีสำนักศิลปะและวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหนึ่งตามโครงสร้างการบริหารงานของสถาบันราชภัฏภูเก็ต

ต่อมา ในปี พ.ศ.2547 สถาบันราชภัฏภูเก็ต ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 สำนักศิลปวัฒนธรรม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักศิลปะและวัฒนธรรมมีภารกิจหลักในการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ปัจจุบัน สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นอกจากจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นส่วนราชการหนึ่งของมหาวิทยาลัย ฯ แล้ว ยังปฏิบัติงานในฐานะเป็นศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ตและหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต อีกหน้าที่หนึ่งด้วย

 

ห้องจัดแสดง

ภายในศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต แบ่งการจัดแสดงเป็น 3 ชั้น ประกอบด้วย

ชั้น 1

1.1 ห้องนิทรรศการผ้าปาเต๊ะ จัดแสดงผ้าปาเต๊ะ การนำผ้าปาเต๊ะมาออกแบบเป็นชุดแต่งกาย  การเพ้นท์ลายผ้าปาเต๊ะเพื่อเพิ่มมูลค่า

1.2 ห้องรนไทยภูเก็ต แสดงรูปแบบบ้านจำลองของชาวภูเก็ตในอดีต

 ชั้นที่ 2

2.1 ห้องนิทรรศการวิถีชีวิตชาวเหมือง : ภาพถ่าย อุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ของชาวเหมือง ประวัติบุคคลสำคัญในวงการเหมืองแร่ภูเก็ต

2.2 ห้องนอนลูกสาวนายหัวภูเก็ต

ชั้นที่ 3

3.1 ห้องพุทธศาสน์ เป็นห้องปฏิบัติกิจกรรมทางพุทธศาสนา จัดแสดงหุ่นจำลองพระครูวิสุทธิวงศาจาริย์ ญาณมุนี (หลวงพ่อแช่ม) วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) แกะสลักจากไม้เทพทาโร ประวัติบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ จดหมายเหตุท้าวเทพกระษัตรี สมุดข่อย  ปืนใหญ่  ถ้วยชามลวดลายจีน

วิถีชีวิต พิธีกรรม ความเชื่อ ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

 วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ/สิ่งที่น่าสนใจ

-ประติมากรรมพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี (หลวงพ่อแช่ม) จากไม้เทพทาโรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

-ห้องผ้าปาเต๊ะ จัดแสดงผ้าปะเต๊ะ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงภาคใต้ ที่มีการประยุกต์ให้ร่วมสมัย และเพิ่มมูลค่าด้วยการเพ้นท์ลวดลายให้มีสีสันและสวยงามมากขึ้น

สมุดข่อย ที่หาชมได้ยาก ส่วนใหญ่จะบันทึกเป็นอักษรขอม เกี่ยวกับพระอภิธรรม ตำรายาภาษาไทย ไว้สำหรับศึกษาค้นคว้า และวิจัย

 

 

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบ้านเกาะสิเหร่

 

 

 

 

 

 

  
  

 

 

 

 

 


กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบ้านเกาะสิเหร่

แหล่งการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง “อุรักลาโว้ย” เด่นทางภาษา  วัฒนธรรม  และวิถีชีวิตที่ผูกพันกับทะเล

ที่ตั้ง

       ตั้งถิ่นฐานอยู่ปลายแหลมเกาะสิเหร่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต หมู่ 4 บ้านแหลมตุ๊กแก  ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000

ประวัติ

ในอดีต ชาวเลได้อพยพโยกย้ายเร่ร่อนไปจอดเรือและพักบนหาดทรายในฝั่งอันดามัน   กลุ่มหนึ่งได้ตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณหาดแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ ซึ่งเป็นเกาะบริวารของเกาะภูเก็ตทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับคลองท่าจีน

ชาวเลเรียกเกาะสิเหร่ว่า ปูเลาสิเหร่ หมายถึงเกาะพลู  มีประชากรกว่า 200 หลังคาเรือน

การจัดแสดง

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอุรักลาโว้ย บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ อาศัยในภูเก็ตมายาวนานหลายชั่วอายุคน ชุมชนที่อาศัยจึงเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์เปิดหรือพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่สามารถเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม  เทศกาลงานประเพณีของกลุ่มชนได้ตลอดเวลา

       แม้ว่ากลุ่มจะมีภาษาพูดเป็นของตัวเองที่ไม่มีภาษาเขียน แต่ก็พูดภาษาถิ่นใต้ เด็กชาวเลสื่อสารภาษาไทยกลางและภาษาอังกฤษเบื้องต้นได้บ้าง  ชาวเล เชื่อในเรื่องวิญญาณและสิ่งเหนือธรรมชาติ รักสงบ ประกอบอาชีพประมง ชีวิตผูกพันกับทะเล ความเชื่อและประเพณีจึงเกี่ยวพันกับท้องทะเล รวมไปถึงศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่เรียกว่า “รองเง็ง” ยังคงสืบสานถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นให้วัฒนธรรมของชนเผ่าไม่สูญหายไปกับกาลเวลา

 วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ/สิ่งที่น่าสนใจ

1.  ประเพณีลอยเรือ จัดในช่วงวันขึ้น 14 -15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้านโดยผู้ชายในชุมชนจะช่วยกันต่อ “เรือปลาจั๊ก” จากไม้ระกำบนฐานไม้ตีนเป็ด ชาวเลนำกับข้าว หมากพลู ข้าวตอก รูปสลักแทนตัวเท่าจำนวนคนในครอบครัว และตัดผมตัดเล็บใส่ไว้ในเรือเพื่อเป็นการลอยเคราะห์ออกจากชุมชน

การต่อเรือปราจั๊กถือเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาการสร้างเรือจากผู้เฒ่าและโต๊ะหมอให้คนหนุ่มในชุมชนได้เรียนรู้ ซึ่งเดิมเรือคือบ้านที่อยู่อาศัยในท้องทะเล พัฒนามาสร้างบ้านที่พักอาศัยบนพื้นหาด  เรือจึงมีหน้าที่เป็นพาหนะและเครื่องมือในการประกอบอาชีพ  ประเพณีลอยเรือยังเป็นการขอขมาต่อทะเล และขอให้จับปลาได้ตลอดปี  เป็นสายใยผูกพันกับบรรพชนวิถีกลมกลืนกับธรรมชาติ

2.  รองเง็ง เป็นระบำรำเต้นรื่นเริงบันเทิงของกลุ่มชนชาวเล อันแฝงด้วยการ

เลือกคู่ ที่มีในงานลอยเรือ  ฝ่ายชายมีความสามารถสร้างเรือปราจั๊กเป็นเรือหอรัก

จิ้ว ประโมงกิจ แม่เพลงแห่งอันดามัน หัวหน้ารองเง็งคณะพรสวรรค์ เป็นเป็นผู้ถ่ายทอดการเต้นและการร้องเพลงรองเง็งให้กับหนุ่มสาวในชุมชนได้สืบสานต่อ เช่น เพลงลาฆูดัว มะอีนัง อะนะอีกัน ตะล็อกต็อกต็อก ซีตีปาโย่ง บุหรงปูเต้ เป็นต้น

ศิลปะการแสดงรองเง็งยังคงรับใช้ชุมชนและสังคมอยู่ทุกครั้งที่มีประเพณีลอยเรือด้วยความเชื่อที่ว่าใครรำร้องรองเง็งรอบเรือปลาจั๊กได้มากรอบก็จะได้บุญมาก และยังแสดงในโอกาสอื่น ๆ ที่มีการจัดงานวัฒนธรรมภายในและภายนอกจังหวัดภูเก็ต

 

จิ้ว ประโมงกิจ ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นในการอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี

พ.ศ.2535 ซึ่งโปรดฯ ให้แม่จิ้ว ประโมงกิจเข้ารับพระราชทานรางวัลในพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน อันเป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลสืบมา

 

 

ท่องเที่ยวชุมชนวิถีชีวิตมุสลิมบ้านบางเทา

 

        
    
        
      
       

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ท่องเที่ยวชุมชนวิถีชีวิตมุสลิมบ้านบางเทา

แหล่งการเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตมุสลิม ที่สามารถสัมผัสถึงความเรียบง่ายในการดำเนินชีวิตของมุสลิมที่นี่ ที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมและผสมผสานวิถีชีวิตแบบใหม่ได้อย่างลงตัว

ประวัติ

         บริเวณนี้เดิมมีลำคลองที่คนในพื้นที่เรียกว่า “น้ำบาง” บริเวณที่ลุ่มริมน้ำบางแถบนี้ มีต้นเทาซึ่งเป็นพืชตระกูลหมากชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากเป็นไม้เนื้อแข็งนำมาทำบ้านเรือน ฟากเรือน ไม้สักหนะ (หรือแทงหนะ) ซี่คราด  คันธนู กรง ดักสัตว์ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า บางเทา เมื่อมีผู้คนเข้ามาอาศัยมากขึ้นจนเป็นหมู่บ้านก็เรียกหมู่บ้านนี้ว่าบ้านบางเทา แบ่งเป็นบ้านบางทองเหนือบ้านบางเทากลางและบ้านบางเทาใต้

บ้านบางเทา ประชากรในพื้นที่ร้อยละ 90 นับถือศาสนาอิสลาม มีมัสยิดมูการ์ร่ม เป็นศาสนสถานประจำชุมชน เป็นมัสยิดที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต

อาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่คือทำสวน เลี้ยงสัตว์ และประมงพื้นบ้าน

การจัดแสดง

เนื่องจากชุมชนมุสลิมบ้านบางเทาเป็นสถานที่เปิดสามารถเข้าชมได้เต็มพื้นที่ ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมุสลิม บ้านเรือน อาหาร การแต่งกาย ความศรัทธา และการประกอบอาชีพ สามารถเยี่ยมชมแปลงเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน สวนยางพารา ไร่สับปะรด สวนผลไม้ การเลี้ยงสัตว์เช่น เป็ดเทศ แพะ (ทั้งแพะนมและแพะเนื้อ) รวมทั้งการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแพะ ประทานอาหารพื้นเมืองหลากหลาย เช่น ข้าวยำใบพาโหม ขนมอาโป้ง เค้กจำปาดะ และยังเที่ยวชมธรรมชาติที่จุดชมวิวบางเทาภูผาวิว ซึ่งมองเห็นวิว 3 หาด ได้แก่หาดสุรินทร์ หาดลายันและหาดในทอน น้ำตก และชายหาดบางเทา

สิ่งที่น่าสนใจ

1.     มัสยิดมูการ์ร่ม เป็นมัสยิดที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวมุสลิมบางเทาในการปฏิบัติศาสนกิจ

2.     แปลงเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน สวนผลไม้

3.     อาหารพื้นเมืองได้แก่ข้าวยำใบพาโหม ซึ่งเป็นข้าวยำสูตรภูเก็ต ขนมอาโป้งขนมพื้นเมืองภูเก็ต และเค้กจำปาดะ

 

ศูนย์การเรียนรู้บ้านลิพอนใต้

 

      
     
   
      
    

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ศูนย์การเรียนรู้บ้านลิพอนใต้

แหล่งการเรียนรู้ที่ได้น้อมนำพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้   และเป็นแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแบบเยี่ยมชมวิถีชีวิต   เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับคนในชุมชน เช่น ร่วมทำอาหารพื้นบ้าน ร่วมทำผ้ามัดย้อม ร่วมแกะตัวหนังตะลุงและชมการแสดงหนังตะลุงฝั่งปละตก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสินค้าโอท็อปที่ชาวบ้านในชุมชนผลิตเองนำมาวางจำหน่ายให้เลือกซื้อเป็นของฝากอีกด้วย

ที่ตั้ง

หมู่ที่ 5 บ้านลิพอนใต้ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

ประวัติ

หมู่ที่ 5 บ้านลิพอนใต้ ได้รับงบประมาณจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้ดำเนินโครงการตามพระราชดำริเพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติ คณะกรรมการหมู่บ้านเข้ารับการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน เมื่อกลับจากศึกษาดูงาน คณะกรรมการหมู่บ้านประชุมลงมติให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯขึ้นในชุมชน

ต่อมานางอำพร ผสมทรัพย์ ประธานกลุ่ม ฯ ได้เข้าฝึกอบรมเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและได้รับใบงานจากพระบาทสมเด็จพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 จึงได้ตั้งปณิธานว่าจะทำศูนย์เรียนรู้เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเผยแพร่ให้กับกลุ่มผู้สนใจและคนในชุมชน จึงได้นำเงินทุนส่วนตัวจำนวนหนึ่งบริจาคให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ขึ้นในที่ดินของตนเอง เพื่อเป็นสถานที่ทำกิจกรรมอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในชุมชนจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ.2561 กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดสรรงบประมาณให้ชุมชนฝึกอบรมหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี และการท่องเที่ยวแบบ D-HOPE จนเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยงของสถาบันศึกษา  และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

การจัดแสดง

ศูนย์การเรียนรู้ ฯ บ้านลิพอนใต้ เป็นชุมชนที่มีวิถีชาวบ้านแบบเรียบง่าย ผู้คนเป็นมิตรเหมือนสังคมชนบทในอดีต  สามารถเข้าไปเรียนรู้และท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ยังมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ได้ทั้งพื้นที่

สิ่งที่น่าสนใจ

1.หนังตะลุงปละตก (หนังตะลุงฝั่งตะวันตก ในจังหวัดภูเก็ต และพังงา) เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่แตกต่างไปจากหนังตะลุงฝั่งตะวันออก โดยการนำตัวหนังตะลุงหรือหนังควายมาเชิดบนจอผ้าเพื่อให้เป็นเงาและเล่าเรื่องราวด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่นสะท้อนเรื่องราวในสังคมตามยุคสมัย หรือแสดงเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เพื่อให้เกิดความบันเทิง และเพื่อพิธีกรรมการแก้เหมรย (แก้บน) ของคนในชุมชน ซึ่งยังคงสืบสานถ่ายทอดเพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมหายากไม่ให้สูญหายไปจากชุมชน

ตัวละครที่ใช้แสดง เช่น ฤๅษี หน้าน้ำ หน้าไฟ ลิงขาวลิงดำ เณรพอน กร้าง หย้องเกาะเป็นต้น

2.ผ้าปาเต๊ะเพ้นท์ เป็นการนำผ้าปาเต๊ะที่ผู้หญิงในชุมชนใช้ใส่เป็นผ้านุ่งในชีวิตประจำวันมาเพ้นท์เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มสีสันความสวยงามให้มากขึ้น

3. ปลาถ้ำ เป็นกรรมวิธีการถนอมอาหารของชาวบ้านลิพอนใต้ ที่นำปลามาแปรรูปโดยการวิธีการตุ๋นปลาให้นิ่มทั้งตัว เพื่อยืดอายุเก็บไว้กินได้นานยิ่งขึ้น

 

 

พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว

      
     
   
    
      
    

พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว

แหล่งการเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยว ที่รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับบรรพชนชาวจีน แบบชิโน-โปรตุกีส ภายในตัวอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และที่มาของชาวจีนที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ในรูปแบบนิทรรศการผ่านสื่อต่าง ๆ ภาพถ่าย วัตถุ และข้อมูลวัฒนธรรมประเพณี ของคนภูเก็ต

ที่ตั้ง

เลขที่ 28 ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โทร 076-211224

ประวัติ

อาคารพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว สร้างเมื่อปีพ.ศ.2477 เดิมเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต ที่ชาวจีนฮกเกี้ยนรุ่นแรก ๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่ในภูเก็ต ได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น บนหน้าจั่วอาคารเรียนมีรูปปั้นค้างคาวแดงหมายถึงการรู้หนังสือคือโชคอันยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นถึงการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ

         มูลนิธิสงเคราะห์ จังหวัดภูเก็ตและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ปรับปรุงอาคารและพื้นที่โดยรอบเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวและเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2551

         การจัดแสดง แบ่งเป็น 15 ส่วน ได้แก่

1.     ห้องจากแดนพญามังกร แสดงเส้นทางการเดินทางของชาวจีนมายังเกาะภูเก็ตในแต่ละยุค

2.     สายธารสัมพันธ์ การรวมกลุ่มช่วยเหลือกันของชาวจีน

3.     สัมพันธ์ภูเก็ตจีน ความสัมพันธ์อันดีของจีนกับภูเก็ต

4.     น้ำใจพี่น้อง ประวัติผู้อุปถัมภ์โรงเรียนในอดีต

5.     ดูอดีต ประวัติอาคารและโรงเรียน คติการสร้างบ้านของคนจีน

6.     วิถี ความหลากหลายของวิถีชีวิตชาวจีนผ่านอาชีพ วรรณกรรม ภูมิปัญญา

7.     หนึ่งยุคสมัย ความสำคัญของการทำเหมืองแร่

8.     สีสันทันกาย การแต่งงานของชาวบาบ๋าภูเก็ต

9.     ครูสุนปิ่น ประวัติและคณุปการของครูใหญ่โรงเรียนไทยหัว

10.   โรงเรียนจัน บรรยากาศห้องเรียนเก่า

11.   คนจันสร้างเมือง ความสวยงามของอาคารเก่าแก่ในเมืองภูเก็ต

12.   สืบทอด ประเพณีพิธีกรรมของชาวจีนภูเก็ต

13.   คาวหวาน อาหารคาวหวานของภูเก็ต

14.   สมาคมผู้ก่อตั้ง

วัตถุจัดแสดงที่มีความสำคัญ/สิ่งที่น่าสนใจ

1.     ตัวอาคาร  รูปแบบชิโนโปรตุกีส ฝังอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างมีซุ้มใหญ่ 3 ซุ้ม ช่องกรอบหน้าต่างด้านบนเป็นโรมัน บานหน้าต่างเป็นลวดลายเรขาคณิต ด้านในเป็นห้องโถงกว้างใหญ่ มีห้องปักซ้ายขวา มีบันไดขึ้นชั้นบน มีระเบียงที่มองลงมาเห็นด้านล่าง อาคารหลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2545 และอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ประจำปี พ.ศ.2551 กลางอาคารที่ตรงกับช่องเปิดโล่ง ล้อมรอบพื้นที่ว่าง ในหลังคา หลังคาทรงปั้นหยาผสมหลังคาจั่วมุมด้วยกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา

2.     ห้องสืบทอด แสดงเรื่องราวประเพณีพิธีกรรมของชาวจีน จุดเด่นคือ 3 วรรคทองอันยิ่งใหญ่เรื่องความกตัญญู ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นและคำสรุปของนักปราชญ์พูดถึงลัทธิขงจื้อและเต๋า ที่มีคุณค่าต่อจีน

***
มนุษยศาสตร์ 

ความเชื่อ . ต้นฉบับ Word : 10 แหล่งศิลปะวัฒนธรรมภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต . word ฉบับแก้ไข 10 แหล่งศิลปวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต  .
.
10 แหล่งศิลปะและวัฒนธรรม ภูเก็ต Word บับ มูนา สรรเพ็ชร .
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 13 ธันวาคม 2020 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1385
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10720644