Skip to content

Phuketdata

default color
Home
ลูกปัด PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 19 กรกฎาคม 2009

 ลูกปัด





















“ลูกปัด” ....ถนิมพิมพาภรณ์แห่งโลกโบราณ


           วันนี้ผมขอเชิญชวนชาว Blog OKNation มาร่วมกันสัมผัสกับเรื่องราวของ "ลูกปัด" เครื่องประดับอันสวยงาม มากคุณค่าด้วยความเชื่อของมนุษย์จากอดีตเริ่มแรกของ"สังคมและวัฒนธรรม"มาจนถึงโลกในปัจจุบัน 

.

         นั่นก็เพราะ  "ลูกปัด"  คือประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมของมนุษย์ในหลาย ๆ สังคมที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก แต่จะเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกันอย่างไรนั้น กรุณาอดทนอ่านไปเรื่อย ๆ กับ Entry ที่แสนยืดยาวนี้นะครับ

         ลูกปัด (Beads) เป็นชื่อเรียกของเครื่องประดับประเภทหนึ่ง และน่าจะยืนยันได้ว่าเป็น "ประดิษฐกรรม" ที่เกิดขึ้นจากงานฝีมือทางศิลปะชิ้นแรกของ มนุษยชาติเลยทีเดียว

        ลูกปัดในยุคแรก ๆ นั้นอาจจะประดิษฐ์ขึ้นจาก เปลือกไข่ ไม้ กระดูกสัตว์ งา ฟัน หอย ปะการัง เมล็ดพืช ดินปั้นเผา หินท้องถิ่น หินกึ่งรัตนชาติ ในยุคหลัง ๆ ก็จะเพิ่มเติมวัตถุดิบด้วยแก้วน้ำเคลือบ แก้วหลอม โลหะหลอมนานาชนิด จนถึงยุคเซรามิคและพลาสติกในปัจจุบัน

              เมื่อตกแต่งหลาย ๆ กรรมวิธีจนได้รูปร่างที่พอใจแล้ว ลูกปัดก็จะต้องมี   “รู ” (Hole) ถึงจะเรียกว่าลูกปัดได้อย่างสมบูรณ์นะครับ ไม่ว่าจะเกิดจากการหลอมหรือการเจาะก็ตาม เพื่อให้ร้อยเชือกได้ แต่ถ้าไม่มีรู บางครั้งเราก็ยอมยกให้เป็น"ลูกปัด" กับเขาบ้าง ในกรณีที่ยังประดิษฐ์ไม่เสร็จ หรือแกะสลักไว้สำหรับเอาเชือกมาพันร้อยหรือพันตามส่วนข้อโดยเฉพาะ เช่นรูปสัตว์ประจำตระกูล

           เข้าใจได้ว่า เมื่อมนุษย์เริ่มที่จะรักสวยรักงามหรือเริ่มมองหาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาประกอบกิจกรรมทางความเชื่อและประเพณีในยุคโบราณแล้ว ลูกปัดน่าจะถูกเลือกมาก่อนเป็นอันดับแรก เราจึงค้นพบลูกปัดเก่าแก่ในชุมชนดั้งเดิมของมนุษย์ จากการศึกษาหลายต่อหลายครั้ง
 

         เราพบหลักฐานที่พอจะบอกได้ว่า ประวัติศาสตร์ของลูกปัดน่าจะเริ่มต้นเมื่อประมาณ 40,000 ปี ที่ผ่านมา ลูกปัดดังกล่าวพบอยู่ในถ้ำของประเทศแถบยุโรปตอนกลางและตะวันออก เชื่อว่าเป็นลูกปัดในพิธีกรรมของมนุษย์ นีแอนเดอธัล ในช่วงเวลา "ยุคน้ำแข็ง (Upper Paleolithic period)"  มีร่องรอยการตกแต่งลูกปัดให้เป็นรูปสัตว์และรูปร่างแปลกตา บางทีก็พบเปลือกหอยตระกูล"หอยแครง"ที่เจาะรูไว้สำหรับร้อยเชือก

       ในส่วนอื่น ๆของโลกก็พบลูกปัดในยุคแรก ๆ บ้างแต่ก็ประปรายไม่มากนัก เช่นในประเทศอินเดียในช่วงเวลา 20,000 – 30,000 ปี เราพบลูกปัดที่ทำขึ้นจากเปลือกไข่นก ในประเทศเกาหลีและประเทศจีน ในช่วง 15,000 – 20,000 ปี ก็พบลูกปัดที่ทำจากระดูกสัตว์ ฟันสัตว์ ในทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาเหนือ ก็พบลูกปัดกระดูกสัตว์กระจายตัวอยู่ จึงสรุปได้ว่าลูกปัดในยุคแรก ๆ ใช้วัสดุจากธรรมชาติประเภท ฟันสัตว์ เขี้ยวสัตว์ งา กระดูกสัตว์ หอยน้ำจืด หอยทะเล ซึ่งทั้งหมดก็เป็นวัตถุดิบตามธรรมชาติรอบ ๆ ตัวพวกเขาเองนั่นแหละ ความสวยงามของลูกปัดในยุคแรกนี้ ยังคงไม่สะกิดตาสะกิดใจของเราในยุคปัจจุบันเท่าใดนัก แต่ถ้าเป็นสายตาของคนในอดีตแล้วล่ะก็ น่าจะมีความสำคัญอย่างมากเลยทีเดียวครับ

         เวลาล่วงเลยไปจนพ้นยุคน้ำแข็ง ( Post - Pleistocene Period ) เมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว มนุษย์เรายังคงใช้เวลาส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่กับการเอาตัวให้รอดจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย หาของกินแย่งอาหารกับสัตว์ป่าหรือไม่ก็จับสัตว์ป่ามากินซะ

         เผลอ ๆ ยังใช้ประโยชน์จากหนัง กระดูก และส่วนต่าง ๆ ของมัน (มาทำลูกปัด)ได้อีก !!!

        อีกทั้งยังต้องสร้างที่อยู่อาศัยป้องกันความหนาวเหน็บ ความร้อน ความแห้งแล้งและฝนที่ตกอย่างไม่ลืมหูลืมตาในฤดูมรสุม แต่เราก็ยังพบเห็นว่า มีหลาย ๆ กลุ่มชุมชนดั้งเดิมของโลก ยังคงรักความสวยความงามอยู่ จึงพบหลักฐานลูกปัดกระดูกสัตว์และวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นหลังยุคน้ำแข็งทั้งที่เอเซียใต้ เอเซียตะวันออก อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ไหล่ทวีปซุนดา- ซาฮูล (ประเทศไทยเรื่อยไปจนถึงหมู่เกาะอินโด )

       การสะสมวัฒนธรรมของมนุษย์ตามภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มเป็นรูปร่างขึ้นอย่างชัดเจนหลังช่วงเวลาอันโหดร้ายจากยุคน้ำแข็ง ชุมชนดั้งเดิมที่กระจัดกระจายตามส่วนต่าง ๆ ของโลก เริ่มเดินทางอพยพเข้าหาความอุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำและที่ดินอันกว้างใหญ่ที่เพียงพอต่อการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร และนั่น ก็จะเป็นช่วงแรกของการเริ่มต้นยุคเกษตรกรรมของมนุษย์นั่นเอง

         ชุมชนโบราณหลาย ๆกลุ่มต่างเลือกอาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำสำคัญของโลก ความอุดมสมบูรณ์ของตะกอนแม่น้ำและปัจจัยทางธรรมชาติที่เอื้ออำนวยต่อการตั้งถิ่นฐาน จึงก่อให้เกิดสังคมเกษตรกรรมยุคแรกของโลกขึ้นเมื่อประมาณ 7,000 ปีที่ผ่านมา

        ดังเช่นอารยธรรมอียิปต์แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ แสดงให้เห็นความเจริญเติบโตทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในโลกในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี          

         ในช่วงเวลาที่อารยธรรมของมนุษย์เริ่มต้นขึ้นทีละน้อยนี้ ลูกปัดก็เริ่มมีความหลากหลายทั้งรูปแบบและการเลือกสรรวัตถุดิบมากชนิดขึ้น "เอเซียใต้และเอเซียกลาง" น่าจะถูกขนานนามว่าเป็น"แหล่งกำเนิดลูกปัดของโลก"ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

        มนุษย์เริ่มมีเวลามากพอในการสร้างสรรค์งานฝีมือและมีแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์เครื่องประดับในช่วงเวลาที่สังคมสงบสุข ชนเผ่าดั้งเดิมในเอเซียใต้ก็ได้ค้นพบว่า บนพื้นแผ่นดินของเขา มีแร่ธาตุวัตถุดิบที่มีสีสันสวยงาม หาง่ายและเป็นที่ต้องการของผู้คนเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องประดับอันงดงาม   

         แหล่งผลิตลูกปัดหิน "กึ่งรัตนชาติ( Semi – Precious )" ของโลกจึงกำเนิดขึ้นที่เอเซียใต้ โดยใช้วัตถุดิบอย่าง หินในท้องถิ่น (Local Stone) หินกึ่งรัตนชาติประเภทคาลซีโดนี ( Chalcedony ) อะเกต ( Agate-Banded Agate ) คาเนเลี่ยน ( Carnelian ) โอนิกส์ ( Onyx ) จัสเปอร์( Jasper ) เหล่าควอทซ์ใสเนื้อละเอียด ( Rock Crystal ) ลาฟิสลาซูลี่ ( Lapid Lazuli ) อะเมทีส ( Amethyst ) เฟลสปาล์ ( Feldspar ) เทอคอยซ์ (Turquoise ) ฯลฯ รวมถึงโลหะกรรมต่าง ๆ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน และโลหะอื่น ๆ ต่างถูกบรรจง ขัดเกา ตกแต่งแกะสลักขึ้นเป็นลูกปัด เครื่องประดับอันทรงคุณค่า เพื่อบรรณาการความสวยงาม ความเชื่อ โชคลาภและประโยชน์นานับประการ       

        ต่อมาเมื่อราว 4,000 ปีที่แล้ว อารยธรรมอียิปต์โบราณและกลุ่มชุมชนดั้งเดิมของอารยธรรมลุ่มน้ำไทกรีส – ยูเฟตีส ได้สร้างสรรค์สิ่งทดแทน อัญมณีจากธรรมชาติ ด้วยการประดิษฐ์แก้วเคลือบหิน ผลึกแก้วหลอมเม็ด ที่ละเอียดอ่อนหลากสีสันและลวดลายมากขึ้น

         ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังปรากฏชุมชนดั้งเดิมในอารยธรรมที่ยังไม่ซับซ้อนล้าหลังอีกมากมายในหลายๆ พื้นที่ของโลกครับ ซึ่งต่างก็ยังคงผลิตลูกปัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นหินสีต่าง ๆ กระดูกสัตว์ ฟันสัตว์ เขี้ยว เขาสัตว์ ไม้ ลูกไม้ เปลือกหอยทะเล และนวัตกรรมจากโลหะง่าย ๆ กลุ่มชนเหล่านั้นยังไม่รู้จักลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ และวิธีการหลอมลูกปัดแก้วสีในช่วงเวลานี้

        จนถึงยุคทองของลูกปัดโลก ยุคที่ลูกปัดมีความหลากหลายและเป็นที่นิยมสูงสุด กำหนดอยู่ในราว 3,500 -3,000 ปีที่แล้วมา ปรากฏหลักฐานการผลิตลูกปัดหินและลูกปัดแก้วจำนวนมาก จากชุมชนโบราณที่รุ่งเรืองหลาย ๆ แห่ง ทั้งในอียิปต์ กรีก เอเซียไมเนอร์

       หลากอารยธรรมในเอเซียใต้เอง  ได้เริ่มผลิต ลูกปัดรูปตา (Eye Beads) จากแก้วและหินกึ่งรัตนชาติ ลูกปัดขีดเส้นสีขาวบนพื้นคาเนเลี่ยนสีส้ม เป็นครั้งแรก

        ชาวโฟลินิเซีย (Phoenicia) ในเอเซียตะวันตก นักเดินเรือและพ่อค้าผู้ยิ่งใหญ่ของโลกยุคโบราณ ได้สร้างลูกปัดแก้วที่มีเทคนิคการผลิตที่ซับซ้อนขึ้น ผสมผสานลวดลายแก้วเป็นลูกปัดรูปร่างต่าง ๆ เช่นรูปมนต์ตา (Magical Eye Beads) ลูกปัดแก้วรูปเทพเจ้า และ รูปสัตว์หลาย ๆ แบบ ในยุโรปใต้ก็ปรากฏลูกปัดแก้วหน้าเทพเจ้าของชาวกรีก (Greece) ลูกปัดทองคำลวดลายวิจิตร และลูกปัดแก้วหลายมนต์ตา (Stratified Eye Glass Beads)ของชาวอีทรัสกัน (Etruscan) รวมถึงลูกปัดแก้วสลับสีเทคนิคชั้นสูงของจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire)

         ลูกปัดแก้วของโรมันที่สามารถเลียนแบบลวดลายของหินกึ่งรัตนชาติอะเกตและโอนิกส์ได้อย่างลงตัว รวมทั้งการสร้างลูกปัดแก้วโมเสอิค (Mosaic Glass Beads) ที่มีความหลากหลายของสีและชั้นของลวดลาย ลูกปัดหน้าคนและลูกปัดแก้วนานาชนิดของโรมันนี้ ได้เดินทางไปตามเส้นทางการค้าโบราณเกือบจะรอบโลกโดยเฉพาะการส่งอิทธิพลให้กับเอเซียตามเส้นทางสายผ้าไหม ( Silk Road ) และสถานีการค้าทางทะเล

 

        ในเอเซียตะวันออก ชาวจีน (China) ได้ประดิษฐ์ ลูกปัดแก้วหลายมนต์ตา (Stratified eye glass beads) ซึ่งเป็นผลพวงของการติดต่อค้าขายบนเส้นทางสายผ้าไหมสู่กรุงโรม รวมทั้งลูกปัดหยกหิน เนพไฟท์( Nephrite) หินเซอร์เพนทายน์ (Serpertine) หยกหินโบราณทั้งสองอย่าง เป็นที่นิยมของชาวจีนในช่วงก่อนราชวงศ์หมิง ส่วนในทวีปอเมริกาและอเมริกาใต้ อารยธรรมอันซับซ้อนของชาวมายา ชาวอินคา และชนเผ่าอีกหลายต่อหลายกลุ่มวัฒนธรรม ตามแนวเทือกเขาแอนดีส ได้ประดิษฐ์ลูกปัดจากหยกหินเจดไดท์ เนพไฟท์ รวมทั้งผลิตลูกปัดและเครื่องประดับจากทองคำเป็นจำนวนมาก

          แต่อย่างไรก็ตาม หินกึ่งรัตนชาติอย่างอะเกตน้ำตาลวาวสลับเลื่อม คาเนเลี่ยนส้มสด และอื่น ๆ จากเอเซียใต้ ก็ยังคงครองหัวใจของชนดั้งเดิมทั่วโลกอยู่ อย่างไม่เสื่อมคลาย !!!

          ในช่วงระยะเวลาเดียว อารยธรรมโบราณในลุ่มน้ำสินธุของเอเซียใต้ ได้ผลิตและส่งออกลูกปัดเข้ามาสู่แผ่นดิน"สุวรรณภูมิ" พร้อม ๆ กับการเข้ามาของศิลปวัฒนธรรม ผู้คนหลากหลายและศาสนาความเชื่ออันสลับซับซ้อนในเวลาต่อมา

          แหล่งผลิตจากเอเซียใต้นี้ อยู่ที่ หุบเขาสินธุ (ประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย)บริเวณดังกล่าว มีการผลิตลูกปัดจากหินกึ่งรัตนชาติมาตั้งแต่ราว 4,500 ปี และยังคงผลิตกันอยู่จนถึงในปัจจุบัน

        ลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติที่สำคัญของอารยธรรมเอเซียใต้ในยุคนี้แรก ๆ ก็คือ หินกึ่งรัตนชาติประเภทอะเกต สีน้ำตาลวาวสลับเลื่อม โอนิกซ์สีดำขาวตัดเส้นชั้นสวยงาม คาร์เนเลี่ยนสีส้มสด และคริโซเพรสสีเขียวตองอ่อนใส ลาปิสลาซูลี่สีน้ำเงิน อะเมทิสพลอยดอกตะแบกสีม่วง และอื่น ๆ

       หินกึ่งรัตนชาติที่เรียกว่า อะเกตหรือโอนิกซ์ รวมทั้งคาเนเลี่ยนนี้ ในภาษาไทยจะเรียกรวมว่า "โมรา" ก่อนจะถูกบรรจงแต่งแต้มประดิษฐกรรมเป็นลูกปัดเม็ดเล็กเม็ดน้อย จะต้องผ่านกรรมวิธีในการเปลี่ยนแปลงเนื้อใน จากการสังเกตและประสบการณ์ของคนในยุคโบราณ พวกเขาพบว่า เมื่อขุดหินกึ่งรัตนชาติดังกล่าวขึ้นมาจากพิ้นดิน สภาพเดิมของหินจะมีสีซีดจางและไม่มีสีสันสวยงามอย่างที่ต้องการ ชาวเอเซียใต้จะนำหินมาผ่านกรรมวิธีการ"หุง"โดยให้ความร้อนผ่านหินทีละน้อย แต่เป็นระยะเวลายาวนาน

       ถ้าเป็นโอนิกซ์หรือแบน์ดอะเกต (Banded Agate) แล้ว จะนำไปผสมรวมอยู่กับภาชนะดินเผาที่บรรจุด้วยกากน้ำตาล (หรือน้ำผึ้ง)เคี่ยว ใช้ระยะเวลาหุงนานจนกระทั่งกรดน้ำตาลดังกล่าวจะแทรกซึมเข้าสู่เนื้อหินอย่างช้า ๆ ส่วนใดของหินที่มีความหนาแน่นกว่าก็จะรับน้ำตาลได้น้อยในขณะที่ส่วนที่มีความหนาแน่นน้อยก็จะรับน้ำตาลได้มากกว่า จนกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อนใสไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ในขณะที่บางส่วนของหินที่มีผลึกใหญ่จะปล่อยให้กรดน้ำตาลผ่านเลยไปทั้งหมด ส่วนที่ไม่ยอมให้น้ำตาลผ่านจึงยังคงปรากฏเป็นสีขาวหรือสีใสดังเดิม กรรมวิธีดังกล่าวจะสามารถกระทำต่อเนื่อง เมื่อนำลูกปัดไปแช่รวมกับกรดซัลฟูลิค(Sulphuric) ทำให้เนื้อของหินกลายเป็นสีดำ (Carbonize) ด้วยกระบวนการความร้อน โดยยังคงมีเส้นสีขาวปรากฏอยู่ตามชั้นที่ไม่ยอมรับกรดน้ำตาล

        ส่วนคาเนเลี่ยนสีส้มนั้น เป็นคาลซีโดนีเนื้อละเอียดที่มีแร่เฮมาไตท์ผสมอยู่ในอัตราสูง เมื่อนำมาหุงแล้วจะเพิ่มสีส้มให้แสดสดยิ่งขึ้นกว่าเดิม หลังจากนั้นจึงนำหินมาสกัด ขัดแต่งให้เป็นรูปร่างของลูกปัดตามที่ต้อง แล้วจึงนำไปเจาะรูด้วยวิธีสว่านเจาะหัวเพชร (bow drill)ใช้เครื่องมือที่ประดิษฐ์ขึ้นจากไม้ มีรอกและตัวหมุน มีแกนเหล็กสำหรับใส่หัวเจาะที่เป็นเพชร ใช้น้ำและผงอะเกตในการหล่อลื่นขัดสีในระหว่างขั้นตอนการเจาะครับ

       เมื่อลูกปัดถูกเจาะจนมี "รู" แล้ว จึงจะนำลูกปัดที่ผ่านการเจาะไปปัดเงาด้วยผงอะเกตละเอียดผสมน้ำ ขัดด้วยมือมนุษย์บนหนังสัตว์หรือบนหินขัดเพื่อเพิ่มความมันวาวของพื้นผิว ต่อมาก็พัฒนาวิธีการปัดเงา ด้วยการใช้ถุงหนังสัตว์เย็บ ด้านในบรรจุด้วยผงอะเกตละเอียดและน้ำที่มีส่วนผสมของสารขัดผิว นำลูกปัดใส่ถุงปัดเงา การขัดสีภายในถุงหนังสัตว์จะช่วยให้พื้นผิวของลูกปัดมันแวววาวเช่นเดียวกัน

         การผลิตลูกปัด Etched Beads หรือลูกปัดขีดเส้นสี เริ่มขึ้นเมื่อราว 3,500 ปี ลูกปัดดังกล่าวจะมี 2 กรรมวิธี คือ ในยุคแรก ๆ ของการผลิตลูกปัดขีดเส้นสี ใช้กรรมวิธีในการ ขีดสกัด (Etching) ลงไปบนลูกปัดทำให้เกิดเป็นร่องหินและเติมสารเคมีผสมบางตัวที่ให้สีขาวและสีดำ ลงไปบนเส้นที่ขีดสกัดนั้น พร้อมกับนำหินอะเกตไปผ่านกระบวนการหุงน้ำตาลหรือกรดซัลฟูลิคอีกที เป็นกรรมวิธีเริ่มแรกและเก่าแก่ที่สุดของการผลิตลูกปัดขีดเส้นสีขาว

        ต่อมาอีกประมาณ 500 ปี จึงเกิดกรรมวิธีทางเคมีโบราณในการใช้กรดโซดาเขียนไปบนลูกปัดอะเกตที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการความร้อนหรือหุง ขีดลายตามความพอใจของผู้สร้างสรรค์งาน ตัวกรดโซดาจะซึมลงเฉพาะผิวหน้าของลูกปัด เมื่อผ่านกระบวนการหุงแล้ว จะปรากฏสนิมหินสีขาวบนเนื้อสีดำหรือสีส้มแสด(ในกรณีที่ใช้หินคาเนเลี่ยน) สีขาวจะเด่นชัดหรือไม่ก็จะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของกรดซัลฟูลิค

        กรรมวิธีที่สองอยู่ในช่วงประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว การผลิตลูกปัดขีดเส้นสีจะใช้แค่ขี้ผึ้งผสมกรดโซดาหรือสารเคมีบางอย่างติดทับไว้บนพื้นผิวที่ต้องการสร้างลวดลายก่อนจะนำไปหุงกับกรดน้ำตาลหรือหุงเฉพาะความร้อน คล้าย ๆ กับการทำลวดลายผ้าบาติกในปัจจุบัน กรรมวิธีนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเอเซียใต้ ทั้งยังแพร่กระจายตัวออกไปสู่ พุกาม ธิเบตและเขตวัฒนธรรมหิมาลัยในเวลาต่อมา

         ในบรรดาลูกปัดขีดเส้นสีขาว Etched Beads ลูกปัดสีส้ม – ดำ ขีดเส้นขาว หรือ "จุงซี (Chung dZi)" เป็นลูกปัดที่หาได้ยากและน่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางความเชื่อในสมัยโบราณ เนื่องจากมีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม มีจำนวนน้อยและหายาก ทั้งยังคงปรากฏความเชื่อสืบเนื่องมาในเขตเอเซียใต้อย่างชัดเจน ในเรื่องของพลัง อำนาจเหนือธรรมชาติ จึงเชื่อได้ว่าลูกปัดขีดเส้นสีแบบดังกล่าวเป็นตัวแทนแสดงสถานะอันสูงส่งทางสังคมและอำนาจวาสนาของผู้ครอบครอง

         ซึ่งในเวลาต่อมา ลูกปัดส้มดำขีดขาวรวมทั้งลูกปัดลายขีดเส้นสีขาวแบบโซดากัดผิวได้กระจายตัวเข้าสู่ธิเบต เนปาล กลายมาเป็นลูกปัดที่ทรงคุณค่าในโลกแห่งอำนาจเหนือธรรมชาติที่เราเรียกว่า ซีบรีซ (dZi Beads) หรือ "เพียวซี"(Pure dZi) ซึ่งนั่นก็คือ "ลูกปัดมนต์ตา (Magical Eye Beads)" อีกประเภทหนึ่ง มีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นขีดขาว เป็นจังหวะลวดลายเฉพาะ มีวงกลมเป็นความหมาย "ตา" ตั้งแต่ 1 – 12 ตา ลูกปัดซีบรีซแบบนี้ เป็นที่รู้จักกันดีของผู้ที่นิยมและชื่นชอบลูกปัดโบราณและลูกปัดตระกูลธิเบตเนปาลในปัจจุบันครับ

         หลายท่านก็คงเคยเห็น เพราะขายอยู่ดาษดื่นในช่วงนี้!!!

       ในช่วงนับตั้งแต่ 2,500 ปีเป็นต้นมา เกิดความนิยมในลูกปัดแก้วเป็นอย่างมาก มีเหตุผลมาจากอิทธิพลสำคัญของสถานีการค้ากรีกในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชที่ตั้งขึ้นที่อินเดียใต้

          สถานีการค้าดังกล่าวยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ลูกปัดแก้วของชาวกรีก - โรมัน - เอเซียไมเนอร์ได้แพร่กระจายเข้าสู่อินเดียและส่งต่อมายังสุวรรณภูมิในรูปของการค้าและการติดต่อทางวัฒนธรรม

        เมื่อความนิยมลูกปัดแก้วมีมากขึ้น จึงเกิดการผลิตลูกปัดแก้วในอินเดียโบราณ กรรมวิธีการผลิตเป็นการนำซิลิกา(ทรายขาวละเอียด)และด่างขี้เถ้า ปูนขาวรวมกับออกไซค์แร่ธาตุอื่น ๆ มาหลอมรวมด้วยวิธีที่แตกต่างกัน ชุมชนดั้งเดิมในแต่ละภูมิภาคก็จะค้นพบวิธีหลอมแก้วแตกต่างกันไป บ้างก็หลอมเข้าเบ้าหลอม บ้างก็หลอมพันแกนเหล็ก บ้างก็หลอมแบบม้วน แบบดึงแล้วยืดตัด และอีกหลากหลายรูปแบบวิธีการ

        การกำเนิดลูกปัดแก้วในช่วงเริ่มต้น เกิดขึ้นจากการลองผิดลองถูกของช่างโบราณในการหลอมโลหะ และบังเอิญเกิดแก้วขึ้นเคลือบผิวโลหะก่อนในช่วงแรก ๆ จนเมื่อช่างผู้ผลิตลูกปัดแก้วได้คันพบวัตถุดิบหลักรวมทั้งสนิมโลหะ และแร่ธาตุ ที่นำมาผสมทำให้เกิดสีสันต่าง ๆ แล้ว จึงเกิดการประดิษฐ์ลูกปัดแก้วอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เนื่องจากมีสีสวยงามกว่า มันวาวกว่าเมื่อนำไปปัดเงา หาวัตถุดิบได้ง่ายกว่า และกรรมวิธีที่ซับซ้อนน้อยกว่า ความนิยมลูกปัดแก้วจึงกระจายตัวไปพร้อม ๆ กับลูกปัดหินในช่วงแรก ๆ ของเส้นทางการค้า กระจายตัวทั่วมหาสมุทรอินเดียจรดแปซิฟิค เราจึงเรียกลูกปัดแก้วอินเดียนี้ว่า ลูกปัดแบบอินโด - แปซิฟิค (Indo-Pacific Beads) หรือลูกปัด"ลมทะเลสินค้า" เนื่องจากความง่ายของเทคนิคในการผลิต รวมถึงวัตถุดิบ 

        ในเวลาต่อมาแหล่งผลิตลูกปัดแก้วหลายหลากสีนี้จึงได้ขยายตัวมาอยู่ที่อินเดียภาคใต้ ลังกาและหลาย ๆ แห่งในภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งในพม่า เวียดนาม ฟิลลิปปินส์ อินโดนิเซีย และหมู่เกาะต่าง ๆ ในแปซิคฟิค

          เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันออกสิ้นสุดลง อำนาจของจักรวรรดิอิสลามขยายตัวขึ้น โลกอิสลามแห่งเอเซียตะวันตกหรือเอเซียไมเนอร์เป็นแหล่งกำเนิดเครื่องประดับและลูกปัดแก้วอันงดงามของโลกอีกแห่งหนึ่ง จึงได้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างอารยธรรมเอเซียและยุโรปขึ้น โลกแห่งสีสันของลูกปัดแก้วอันงดงามในช่วง1,000 ปีที่ผ่านมาต่างความหลากหลายอยู่ที่จินตนาการของรูปแบบและแรงบันดาลใจ

          ส่วนความหมายของ"ลูกปัด"นั้นก็ยังคงอยู่ที่ความสวยงาม ความเชื่อทางศาสนา ประเพณี ใช้ประกอบในพิธีกรรมของแต่ละชุมชน ในช่วงยุคมืดจนถึงยุคฟื้นฟูของยุโรป เมื่อสงครามครูเสดสิ้นสุดลง อารยธรรมของทั้งยุโรปและอิสลามต่างแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ลูกปัดแก้วของยุโรปผลิตขึ้นที่เมืองเวเนเซียของอิตาลี เป็นลูกปัดแก้วที่ผลิตลอกเลียนแบบมาจากความรุ่งเรืองของโรมันในอดีต ผสมผสานกับลวดลายใหม่ ๆ หลากหลายจากตะวันออก

        เมื่อถึงยุคของการล่าอาณานิคม ลูกปัดแก้วจากยุโรปได้กระจายตัวเข้าสู่แอฟริกาอย่างรวดเร็ว ลัทธิล่าอาณานิคมได้นำลูกปัดแก้วที่ผลิตเป็นจำนวนมากเกินความต้องการนี้ เป็นสินค้าไปแลกกับความอุดมสมบูรณ์ของชนเผ่าล้าหลังในทวีปแอฟริกา

          ดูเหมือนว่าชนเผ่าต่าง ๆ จะยอมรับและนิยมชมชอบในความสวยงามของลูกปัดแก้วหลากหลายแบบของยุโรปอย่างจริงจัง ถึงขนาดยอมตีค่ามนุษย์เป็นทาส แลกกับลูกปัดเลยทีเดียว!!!

       จนถึงในปัจจุบัน เราจะพบเห็นถึงความหลากหลายของเครื่องประดับที่เราเรียกว่าลูกปัดนี้ ทั้งรูปแบบและวัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้ ในทุกสังคมและวัฒนธรรมของโลกครับ

        ในตะวันออกกลางและเอเซีย ลูกปัดยังคงเป็นเครื่องใช้ในการคลายความเครียดและแสดงสถานะทางสังคม ชาวอิสลาม ชาวคริสเตียน ชาวพุทธและหลากลัทธิศาสนา ลูกปัดยังคงปรากฏอยู่ในความเชื่อของการปฏิบัติธรรม ในการสวดภาวนา ในประเพณีการแต่งกาย พิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธ์

       ส่วนในเอเซียตะวันตกและยุโรป ลูกปัดรูปมนต์ตายังคงเป็นเครื่องหมายคุ้มครองภัยอันตรายจากการเดินทาง ส่วนมากจะทำขึ้นจากแก้วสีน้ำเงิน มีตากลมขาวมีตาดำด้านใน แขวนหรือพกติดตัวไปบนพาหนะเวลาเดินทาง หรือบ้างก็ประดับไว้ตามประตูทางเข้าออกของที่อยู่อาศัย

       ในสังคมแห่งความทันสมัย เราจะเห็น วัยเด็ก วัยรุ่น หรือแม้แต่วัยรุ่นแรก ที่ยังคงสนุกสนานกับการถักร้อย สอยเรียงเม็ดลูกปัด นำมาทำเครื่องใช้สอยและเครื่องประดับที่สร้างสรรค์ น่ารัก หลากหลายด้วยวัตถุดิบสีสันสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น แก้ว เซรามิค พลาสติกและวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ ทั้งที่ทำใช้เองและนำมาเป็นอาชีพเสริม

         ย้อนกลับมาอีกสักนิดนะครับ ประเทศไทยหรือแผ่นดินของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำต่าง ๆ ของภูมิภาคสุวรรณภูมิ เริ่มปรากฏร่องรอยของลูกปัดโบราณเมื่อราว 4,000 – 5,000 ปีที่ผ่านมาครับ

        ชุมชนโบราณในประเทศไทยมีหลักฐานการสร้างสรรค์ประดิษฐ์ลูกปัด  ถึงแม้ว่าจะขาดแคลนด้วยหินกึ่งรัตนชาติสีสันสวยงาม อารยธรรมแห่งความเอื้ออาทรเพราะความอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ได้สร้างงานประดิษฐกรรมลูกปัดและเคื่องประดับอื่น ๆ จากเปลือกหอยทะเลนานาชนิด หินจากท้องถิ่นในรูปของหลอดหิน (Long Cylindrical Stone Beads) ลูกปัดดินปั้นเผา กระดูกสัตว์ เขา ฟันสัตว์และวัสดุอื่น ๆ จากธรรมชาติ

         จนเมื่อราว 2,500 ปีที่แล้ว ผู้เจริญจากอารยธรรมทางตะวันตก (อินเดีย - กรีก -โรมัน) เริ่มเดินทางเข้ามาสู่แหลมทองอาณานิคม เข้าปฏิสังสรรค์กับชุมชนดั้งเดิม ยังผลให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ ผลักดันให้สังคมเกิดวิวัฒนาการขึ้นอย่างรวดเร็ว การค้า การปกครอง ความรู้ ภูมิปัญญา และสินค้าประเภทต่าง ๆ รวมทั้งลูกปัดที่มีรูปแบบหลากหลาย มีสีสันสวยงาม ต่างพรั่งพรูเข้าสู่แผ่นดินลุ่มเจ้าพระยา ลูกปัดและเครื่องประดับเนื้อเนพไพท์ เซอร์เพนทายน์หรือหยกหินและควอทซ์ใสจากชาวจีนทางตอนเหนือ อะเกตและโอนิกส์น้ำตาลวาวสลับเลื่อม คาเนเลี่ยนส้มแดงสดจากชมพูทวีป ลูกปัดขีดเส้นสีขาว (Etched beads)รวมด้วยลูกปัดแก้วหลากสีสัน จากดินแดนโพ้นทะเล ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้คนในสุวรรณภูมิ

        เวลาล่วงเข้า 1,500 – 2,000 ปี ที่ผ่านมา ในยุคสมัยก่อนทวารวดี (Pre Daravati Preriod) ยุคก่อนที่ชนชั้นและการแบ่งแยกมนุษย์จะเริ่มต้นอย่างชัดเจนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เวลานี้ อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของลูกปัดโบราณ ๆ ในภูมิภาคนี้

        รัตนชาติของโลกโบราณที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ชุมชนหมู่บ้านชายฝั่งทะเลโบราณต่างกลายเป็น "สถานีการค้า" เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนและสะสมความงดงามไว้เป็นเวลายาวนาน ดังปรากฏหลักฐานมากมายในพื้นที่ปัจจุบัน ได้แก่ ชุมชนในลุ่มที่รอบลอนลูกคลื่นลุ่มน้ำลพบุรี ป่าสัก ชุมชนอู่ทองในลุ่มจระเข้สามพันและลุ่มแม่กลอง ชุมชนในลุ่มสงคราม,มูล,ชี ผู้คนในแหลมโพธิ์ตลอดทั้งฝั่งทะเลอันดามัน ฯลฯ

         อารยธรรมเริ่มสมานขึ้น มีการสร้างบ้านแปลงเมือง จัดระเบียบสังคมและแบ่งชนชั้นแรงงาน เข้าสู่อารยธรรม"ทวารวดี" และเมื่อเริ่มปรากฏรูปเคารพทางศาสนาและความเชื่อจากอินเดียอย่างชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ 9 – 10 เป็นต้นมา ลูกปัดโบราณก็เริ่มสาบสูญไป คติความเชื่อในลัทธิ ศาสนาใหม่ ๆ เข้ามาสู่รัฐในสุวรรณภูมิ

       ถึงผู้คนจะเริ่มหมดความนิยมในลูกปัดจากอินเดียและจีน แต่หลาย ๆ ส่วนของชุมชนดั้งเดิมที่ยังล้าหลังทางวัฒนธรรม ก็ยังคงปรากฏการฝังลูกปัดโบราณ วิญญาณและกาลเวลา รวมไว้กับผู้วายชนม์ครับ

       จนเมื่อประเพณีการฝังศพสิ้นสุดลง พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐต่าง ๆ กลุ่มชนกลุ่มใหม่เข้าผสมผสาน ครอบครองและปกครอง อัญมณี โลหกรรมและรัตนชาติใหม่ ๆ ต่างเข้ามาแทนที่ลูกปัดโบราณ เกิดรูปแบบของเครื่องประดับใหม่ตาม แฟชั่น ศาสนา ความเชื่อ ประเพณีของแต่ละท้องถิ่น สืบต่อมา 

         เป็นอย่างไรบ้างครับ เมื่อท่านได้อ่านและคงเริ่มเข้าใจเรื่องราวของ "ลูกปัด" ถนิมพิมพาภรณ์แห่งโลกโบราณกันบ้างแล้วนะครับ ท่านคงได้เห็นเรื่องราวของลูกปัด ที่เป็นเพียงแค่เครื่องประดับและรัตนชาติตัวเล็ก ๆ แต่ได้โลดแล่นไปบนละครฉากใหญ่ … อันได้แก่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเสมอมา

        เขาได้แสดงบทบาทมาแล้วทั่วโลกมากกว่าตัวแสดงใด ๆ เท่าที่เคยปรากฏ เขาแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนในอารมณ์และจิตใจของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาหรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม

       เขาเฝ้าติดตามสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเกษตรกรรม การตั้งถิ่นฐาน การต่อสู้กับสภาพแวดล้อม การค้าและการปกครอง ทั้งยังสะท้อนภาพของกลุ่มชนดั้งเดิม – กลุ่มชาติพันธุ์โบราณ ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมในภูมิภาคและในช่วงเวลาต่าง ๆ ของโลก

       "ลูกปัด"จึงมักจะไปปรากฏตัวร่วมอยู่ในเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในแต่ละอารยธรรมเสมอ

          เมื่อเราได้เพ่งมองลูกปัดที่ต้องมี "รูเจาะ" ในมือของเราเพียงเม็ดเดียวอย่างชื่นชมและใส่ใจแล้ว  ก็เสมือนกับว่า เรากำลังได้สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติในอดีต อรุณรุ่งของความเป็นมนุษย์จนถึงพวกเราในปัจจุบัน…......ที่บอกกับเราว่า

         ที่ใดที่มี"ลูกปัด"…ที่นั่นย่อมมีมนุษย์ และที่แห่งใดมีมนุษย์.... ที่แห่งนั้นย่อมมีวัฒนธรรม....ร่วมอยู่ด้วยเสมอครับ!!!

 

พรานลูกปัดอันดามัน

สุริยเทพลูกปัดจากอุบลราชธานี

อันดามันเชื่อมอ่าวไทย

โดย ศุภศรุต

 

อ้างอิง

http://images.google.co.th/imgres?imgurl=http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/192/7192/images/Beads/Bd16.jpg&imgrefurl=http://www.oknation.net/blog/print.php%3Fid%3D97710&usg=__YhWZvM1NB5QDySDrveNtqh4Hs0A=&h=332&w=510&sz=29&hl=th&start=6&um=1&tbnid=ZE15cQcEV3VMTM:&tbnh=85&tbnw=131&prev=/images%3Fq%3D%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%25B9%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%259B%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%25AB%25E0%25B8%2599%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2599%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%25A2%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%2587%26hl%3Dth%26sa%3DN%26um%3D1
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 02 กันยายน 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้117
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1598
mod_vvisit_counterทั้งหมด10720974