ร่วมด้วยช่วยคิดสร้าง พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ดีบุก กะทู้สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ 08-1326-2549; 083 1025-606
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้
ขุมเหมืองนี้มีดีบุก เป็นป้ายแรก ท่านรู้ได้อย่างไรว่ามีดีบุก? เป็นป้ายที่ ๒ ในอังมอเหลาช่วยท่านได้? เป็นป้ายที่ ๓
การตั้งคำถาม เป็นการช่วยสมองให้คิดหาคำตอบ เป็นการกระตุ้นอินทรีย์ให้เตรียมความพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงทั้งที่ตนคิดเอง เพื่อนเป็นคนบอก หรือพิพิธภัณฑ์เป็นผู้บอก คำตอบถูกหรือผิดยังไม่สำคัญเท่าการที่ทำให้คนได้คิด พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ก็จักใช้แนวคิดเป็นหลักคิดเพื่อก่อให้เกิดแสงสว่างทางปัญญาทั้งความรู้และบันเทิงรื่นเริงอารมณ์ โสกราตีส เป็นอาจารย์ให้นักปรัชญาเพลโต้เจริญรอยตาม อริสโตเติ้ลเป็นหลานศิษย์ มีอเล็กทรานเดอร์มหาราชเป็นเหลนศิษย์ แม้ศิษย์ หลานศิษย์และเหลนศิษย์ ไม่ได้นำหลักคิดในการตั้งคำถามของโสกาตีสไปใช้ดั่งโสกราตีส แต่ก็ทำให้คนอีกซีกโลกรู้จักชื่อของท่านว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก ลูกศิษย์ของโสกราตีสจำนวนมาก เกิดการเรียนรู้จนกระทั่งพบความรู้ด้วยตนเองจากการตอบคำถามของโสกราตีสด้วยตนเอง โสกราตีสจะไม่บอกองค์ความรู้ใด ๆ ให้ศิษย์ แม้ลูกศิษย์จะถามนำ แต่โสกราตีสก็จะสวนถามย้อนให้ลูกศิษย์ผู้ถามตอบคำถามในขณะนั้น การสนทนาของครูและศิษย์ต้องใช้สมองตลอดเวลา ครูสามารถตรวจสอบความถูกต้องในองค์ความรู้ได้ทันทีที่ลูกศิษย์ตอบ เมื่อเป็นคำตอบที่ไม่ชัด ครูก็จักป้อนคำถามเพิ่มจนศิษย์ตอบได้ถูกต้อง ศิษย์จะได้รับความรู้ไปทันทีพร้อมการประเมินผลของครูทันทีเช่นกัน
ในอดีต ชาวบ้านทั่วไปได้ใช้ภูมิปัญญาในการตั้งคำถามเพื่อสร้างความฉลาดให้อนุชนสืบมาด้วยการมีปริศนาคำทาย เช่น สองตีนเดินมาหลังคามุงจาก, สี่ตีนเดินมาหลังคามุงเบื้อง, แปดตีนเดินมาหลังคามุงสังกะสี, เอวบางร่างน้อย ทำรังห้อยอยู่ชายคา, เจ็ดคุ้งพญาแขวน เจ็ดแคว้นพญานา เหาะลอยข้ามฟ้า สาว่าพญาเจ็ดตน กะรั่ย? เมื่อไปถึงโรงเรียน ครูก็จะใช้คำถามฝึกสมองศิษย์ด้วยวิชาเลขคณิตคิดในใจ อย่างน้อยเช้าละ ๕ ข้อเป็นประจำ ปัจจุบัน มีรายการโทรทัศน์บ้าง วิทยุบ้าง ได้ใช้คำถามเพื่อรับทราบปฏิกิริยาย้อนกลับของผู้ฟัง ตอบถูกก็จะได้รับรางวัลเป็นของสมนาคุณสมองต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน บางรายการประยุกต์ใช้ ๒๐ คำถาม เปลี่ยนเป็นนำวัตถุธรรมมาเป็นตัวกระตุ้นตั้งคำถามและให้ผู้คนคิดหาคำตอบ จนกลายเป็น "ถูกต้องแล้ว ค-รั-บ- - -"
การใช้ศัพท์เฉพาะอาชีพ หรือศัพท์ภาษาถิ่นในแวดวงพื้นที่นั้น ๆ ก็จะทำให้คนต่างอาชีพหรือต่างถิ่นเกิดความสงสัย นี่ก็เป็นเบื้องต้นแห่งการตั้งคำถามอันคอยกระตุ้นให้สมองคิดหาคำตอบอีกรูปแบบหนึ่ง การใช้คำ "ขุมเหมือง" "ขุดล่อง" "อังมอเหลา" "อังมอโห้ย" "อังมอต๊าน" "ขี้กาง" "เชี้ยม" ในพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ก็บังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน นายประเสริฐ ขาวกิจไพศาล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกะทู้ ได้จัดทำแผนแม่บทพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่เสนอจังหวัดภูเก็ตพิจารณาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ พิจารณากันยาวนานจนได้รับงบประมาณสร้างในปี พ.ศ.๒๕๔๙ สถาปานิกในกองช่างของเทศบาลตำบลกะทู้ได้ถอดแบบความคิดของผู้ร่วมก่อร่างสร้างพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ออกเป็นอาคาร ๑ ชั้นครึ่ง มีจิ่มแจ้ขนาดใหญ่ ๒ เท่าสนามบาสเก็ตบอลอยู่ตรงกลางอาคาร มีหอประชุมน้อยบรรจุคนได้ประมาณ ๑๐๐ คน ก่อสร้างให้แล้วเสร็จกลางปี พ.ศ.๒๕๕๐ ในพื้นที่เหมืองเก่ากลางช่องหุบเขานางพันธุรัตน์กับพืดเขาเก็ตหนี ระหว่างสนามกอล์ฟในอำเภอกะทู้กับบ้านเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต มีบริเวณพื้นที่ประมาณ ๔๐๐ ไร่ ด้านติดกับถนนสาธารณะระหว่างบ้านเกาะแก้วกับกะทู้ จัดสร้างเป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ ตั้งใจจะให้เป็นสวนสนุกน้ำของเด็ก ๆ มีน้ำพุ น้ำตก ท้ายรางเหมืองแร่ ร่อนแร่ เพื่อการสาธิตการได้แร่ดีบุก มีที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้ใหญ่ มีการนวดฝ่าเท้าใช้ยาสมุนไพรอันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน มีขุมเหมืองขนาดเล็ก ตั้งใจว่าน่าจะสร้างเรือขุดแร่ดีบุกให้ลอยลำเป็นสง่าอยู่ในขุมเหมืองนั้น มีเรือกอจ๊านเป็นสะพานและ/หรือยานพาหนะ ให้ผู้สนใจเคลื่อนย้ายตนเข้ารับความรู้และรับเครื่องดื่ม เรือขุดแร่นี้จะกลายเป็นโกปี้เตี๊ยมหรือเจี๊ยะเหลาก็ได้ ซีกขวามือเป็นโกปี้เตี๊ยม ส่วนซีกซ้ายมือของคนเข้าเยี่ยมชมเป็นควนเขา คิดกันว่าควรสร้างอ๊ามขนาดเท่าของจริงโดยจำลองรูปแบบเก่าของอ๊ามในทูไว้ที่นี่ไว้จัดกิจกรรมสาธิตเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวเหมืองที่เกี่ยวกับอ๊ามพระจีนเช่นประเพณีกินผัก ประเพณีผ้อต่อ การแก้เหมรยของนายหัวเหมือง สร้างโรงหนังควายไว้ตรงข้ามหน้าอ๊าม วันที่สาธิตการเชิดหนังควาย จะมีการขายอาหาร ขนมพื้นถิ่น ถั่วคั่ว ถั่วต้ม ขนมจาก เหนียวหลาม ทำจริง ขายจริง ที่หน้าโรงหนังควายแก้เหมรยนี่แหละ บางความคิด เสนอให้หลังคาอ๊ามมุงด้วยดีบุกเป็นแห่งแรกของโลก ผู้ศรัทธาถวายดีบุกมุงหลังคาอ๊ามโปรดเตรียมตัวบริจาค ขึ้นเนินสูงประมาณ ๑๕ เมตรเป็นระยะทาง ๑๐๐ เมตรจากซุ้มประตูทางเข้า จะเห็นอังมอเหลาตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าภูผาควนเหมืองเก่าสูง ๓๐ เมตร รถยนต์ผ่านหน้าอังมอเหลาไปลานจอดข้างผาเหมือง นี่คือ "อังมอเหลา" ช่วยท่านให้รื่นเริงสมองอยู่ในนี้ แข้บ ๆ เข้าตะ เดินวนไปทางซ้ายมือ เพื่อให้ขวามือเป็นจิ่มแจ้ ประดุจวนขวาหรือทักษิณาวัฏในอาคาร จะพบคำถามว่า ผลิตภัณฑ์ใดมีดีบุกผสม พิพิธภัณฑ์จะเสนอผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่ เช่นสร้อยทองคำจากเหมืองทอง เขี้ยวเสือเขี้ยวดาบจำลองด้วยดีบุกจากเหมืองลิกไนต์ แหวนบาเยะขนาดยักษ์วงแหวนดีบุกรองรับเพชรซีกด้วยทองคำ ยานอากาศเคลือบแทนทาลั่มจากเหมืองแร่ดีบุก เครื่องบินสงครามโลกครั้งที่ ๒ ของอังกฤษซึ่งตกที่ข้างโลตัส สร้างด้วยอะลูมิเนียม พลั่วไม้ร้อยปีจากเหมืองรูที่บางคู พลอยจากเหมืองพลอยจันทบรี นิลจากเหมืองกาญจนบุรี เหรียญพระศักดิ์สิทธิ์สร้างด้วย...จากเหมือง... เหล็กไหลจากถ้ำเขาเหนือ มรกตจากพระกรของฮ่องเต้ในฝัน นพรัตน์อัญมณีจากเหมืองทั่วไทย เครื่องดนตรีโลหะที่สัมผัสได้ สัมผัสแล้วเกิดเสียงอาจทำให้ท่านตกใจหรือสุนทรีย์โสตก็เลือกเอาเองได้ มัณฑกรจะเปลืองสมองเพื่อเนรมิตให้ผลิตภัณฑ์จัดวางอย่างมีสุนทรียภาพ ใช้พื้นที่ประมาณ ๓ ห้องแสดงผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่ ดีบุกอยู่ตรงไหน? อัญมณีอยู่ตรงไหน? ช่วยแคว็กมาหน่อย นักธรณีจะแสดงพื้นผิวโลกผ่าตัดให้เห็นชั้นระดับขององค์ประกอบธรณี สูงสุดเป็นยอดเขาเอฟเวอร์เรสต์บนเทือกเขาหิมาลัย มีหิมะปกคลุม ยอดเขาลดหลั่นลงมาจนเท่าระดับยอกเขาโต๊ะแซะ เพื่อบอกให้ทราบว่า ท่านถึงภูเก็จแล้วนะ มียอดเขาไม้เท้าสิบสองสูงจริง ๕๒๙ เมตร ยอดเขาหว้าสูง ๕๒๘ เมตร มีคลองบางใหญ่ไหลจากในทูไปออกปากบางที่อ๊ามสะพานหิน ในคลองบางใหญ่มีเรือกอจ๊านบรรทุกแร่ดีบุกลำเลียงไปส่งเรือใหญ่ในอ่าวภูเก็ต ผ่านเรือขุดแร่ลำแรกของโลกในอ่าวภูเก็ต ใต้ผิวพื้นดิน พื้นน้ำ ใต้หน้าผา ในภูเขา ใต้วัดเก็ตโฮ่ มีสายแร่ดีบุก เอาดีบุกจริงไปฝังไว้ ตรงไหนที่สายแร่ดีบุกโผล่ที่ผิวพื้น ก็มีเหมืองแล่นให้ดู ที่อยู่ลึกลงไปก็จะเจาะรูเป็นเหมืองรู ฝังอัญมณีอื่น ๆ ไว้ในที่ที่ธรณีมีในส่วนอื่นด้วย ผู้มีอัญมณีดิบ โปรดเตรียมตัวบริจาค ท่านรู้ได้ยังไง? ว่าดีบุกอยู่ที่ใด?
พิพิธภัณฑ์แสดงแผนที่ผิวดินด้านบนให้ท่านชี้ แล้วแสดงแผนภูมิรอยตัดผิวโลกให้ท่านดูอีก ท่านน่าจะชี้ถูกแนว แต่ชี้ผิดที่ พิพิธภัณฑ์ก็จะแสดงวิธีถ้ามต๋างให้ตนรู้ บอกปริมาณแร่ให้ท่านตัดสินใจขุดเอาแร่ ใช้พื้นที่แสดง ๒ ห้องเพื่ออธิบายกรรมวิธีการได้แร่จากใต้ดิน คือ เหมืองแล่น เหมืองรู เหมืองหาบ เหมืองฉีด เหมืองเรือขุด เหมืองเรือแพดูดแร่ ท่านรู้ได้ยังไงว่าชิ้นใดคือแร่ดีบุก? พิพิธภัณฑ์ก็จะเสนอแนะให้ท่านทดลองตามกรรมวิธีตรวจสอบแร่ทั้งเบื้องต้นและตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสินแร่ มีเครื่องมือทางฟิสิกส์(วิทยาศาสตร์กายภาพแขนงหนึ่งซึ่งกล่าวถึงสมบัติทางกายภาพของสารต่างๆ และพลังงาน) เช่นทุบ เคาะ ดีด ร่อน ซัด ใช้วิธีทางเคมี(วิทยาศาสตร์กายภาพแขนงหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวและสมบัติของสารต่างๆ ว่าประกอบกันขึ้นเป็นสารนั้นๆ ได้อย่างไร และเมื่อสารนั้นๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นสารอื่นได้ ปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เป็นอย่างไร ทั้งกล่าวถึงการที่จะสังเคราะห์สารนั้นๆ ขึ้นได้อย่างไรด้วย แบ่งออกเป็นสาขาต่างๆ อีกหลายสาขา เช่น เคมีอินทรีย์ เคมีอนินทรีย์ ชีวเคมี เคมีกายภาพ เคมีวิเคราะห์) ท่านก็จะได้ดีบุกบริสุทธิ์ตามมาตรฐาน เมื่อท่านทดลองแล้ว โชคดี ท่านก็ได้ของรางวัลเป็นขี้แร่ก็ได้นะ อ้าว อย่าดูถูกขี้แร่ไปนะ บางชิ้นแพงกว่าทองคำซะอีก ท่านจะนำดีบุกไปทำประโยชน์อะไร? ทำให้ดูหน่อยซิ
ท่านรับแร่ดีบุกไปจำนวนหนึ่ง ทดสอบ ตรวจสอบ ว่าใช่แน่แล้ว ท่านต้องคิดว่าจะหลอมดีบุกเป็นผลิตภัณฑ์ใด คิดได้ก็เขียนไว้ในกระดาษที่ท่านรับมา คิดไม่ออกใช่ไหม? ไม่เป็นไร มีให้ท่านเลือกเช่น หลอมเป็นกระดุม หลอมเป็นวัตถุมงคล ผสมทองแดงเป็นวงแหวน ทำเป็เครื่องประดับ เคลือบไว้ที่นาฬิกา เคลือบไว้ที่พวกกุญแจ พิพิธภัณฑ์มีช่างทองให้ท่านเสนอแบบ ชิ้นเล็ก ๆ กรรมวิธีง่าย ๆ รอรับไปได้เลย ใช้เวลานาน ก็จ่าหน้าซอง ชำระค่าขนส่งไว้ อีกสัปดาห์เดียวก็ถึงบ้านท่าน คนรู้เรื่องดีบุกมาตั้งแต่เมื่อไหร่? ผสมดีบุกกับโลหะอื่นในสัดส่วนต่าง ๆ เกิดอะไรขึ้น?
ท่านคิดบ้างนะ ..................................? ..................................? ..................................? พิพิธภัณฑ์จะบันทึกคำถามเหล่านี้ไว้ในฐานข้อมูล คำตอบหรือ? ค้นได้จาก ๒ ห้องใหญ่ คือห้องสมุดเหมืองกับห้องจดหมายเหตุ ในห้องจดหมายเหตุ จะเก็บรักษาลายลักษณ์ ๓ กลุ่มเป็น ๓ คลัง คือ คลังลายลักษณ์(จดหมายนายหัวเหมือง จดหมายติดต่อทั่วไปของชาวเหมือง กระดาษโพยเบอร์ ใบชำระหนี้ ใบขออนุญาตขนย้ายแร่) คลังภาพ(ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์) คลังแผนที่ จัดทำฐานข้อมูล(Data Base) ไว้ให้ท่านค้นหาใน www.kathutin.com และดูของจริงปฐมภูมิได้ในห้องดังกล่าว ส่วนนี้มีไว้เพื่อการศึกษาวิจัย ไว้ต้อนรับนักวิจัยทั่วไทย นักวิจัยทั่วโลก จะของบประมาณสร้างอังมอเหลาขนาดกลางไว้รอรับนักวิจัยระดับโลก พบปะกับนักวิจัยพวกเราในวันเวลาอันควรเพื่อแลกเปลี่ยนเสวนาวิชาการ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่จะรับผิดชอบสมองส่วนคิดประดิษฐ์ให้กับอนุชน และจักขอให้ส่วนจังหวัดดูแลรับผิดชอบสมองส่วนวิทยาศาสตร์ ในวันเวลาเหมาะสม พิพิธภัณฑ์จะเชิญแข่งขันประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ใช้วัสดุพื้นถิ่นประดิษฐ์ของเล่นเด็ก ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไม้สอย และผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ประหยัดพลังงานและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ จักติดตามสมองคิดประดิษฐ์เป็นรายบุคคลตั้งแต่เด็กปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบและขยายผลไปตามกำลังงบประมาณ สามห้องสุดท้ายเป็นการผสมผสานเพื่อเล่าเรื่องชายจีนจากแผ่นดินใหญ่จีนเข้ามาพบความสำเร็จในภูเก็ต ออกจากจีนโดยเรือสำเภา มีเรือสำเภาขนาดใหญ่ ภายในมีหุ่นบรรพชนจีนซี่โครงดุจบะกูด ออกจากเรือที่โคลงเคลงเป็นแรมเดือนขึ้นฝั่งบางเหนียว มาเป็นกุลีหาบในเหมืองหาบ แต่งงานมีลูกหลานสืบสกุล ด้วยความเป็นนักคิดประดิษฐ์ สายสกุลนี้จึงมีความสุขเป็นวิถีชีวิตชาวเหมือง หุ่นแต่ละตัว ตั้งใจไว้ว่าจะขออนุญาตหน้าของบรรพชนเหมืองมาจำลองไว้เป็นอนุสรณ์ หุ่นแต่ละตนจักแสดงให้เห็นศิลปะของการปั้น มีเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ สายตาบ่งบอกอารมณ์ ท่าทางที่ต้องลุ้นอย่าให้มีอันเป็นไป เช่น ชายบึกบึนขนแร่ปะทะกับก้าถาว แร่ร่วงออกจากถุง ตะแกตกใจรีบเอื้อมรับแร่ มองดูแล้วเหมือนตะแกจะร้องว่า อ้ายหยา หว้าม้ายซีเลี้ยว ด้านนอกอังมอเหลา มีกลุ่มอาคารบ้านจีนมุงจาก ห้องแถวแบบจีน อังมอเหลา จัดให้เป็นบ้านส้านในทู กิจกรรมอันใดที่ในทูมี ก็จักพยายามให้มี มีเจ้าหน้าแสดงตนเป็นชาวในทูที่ปฏิบัติงานจริงในร้านค้านั้น ๆ ผัดหมี่ พาวโกปี้ใส่หงูเหล้ง ขายแก็ตเหล้งเตี๋ยว ทอดบะอีโพะ ร้องขาย ต่าวกั๊วต่าวเหงกูฉ่ายโกยเตี๋ยวฮา ท่านคิดว่าไง? แจ้งใจส่งไปพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ กะทู้ ภูเก็ต ๘๓๑๒๐ ความสุขก็จะเป็นของท่านทันที. |