Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
การรักษาโรคของชาวเล : ดร.อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์   
จันทร์, 25 ธันวาคม 2017
อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร
.
การรักษาโรคของชาวเล
ดร.อรุณรัตน์ สรรเพชร
 .
สรุป
 .
 ขั้นก่อนการบำบัดรักษา
1. การวินิจฉัยโรค
1.1 การวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง
เมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน มีน้ำมูกไหล เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ก็สามารถวินิจฉัยได้เองว่า เป็นไข้หวัด ก็ไม่จำเป็นต้องให้หมอวินิจฉัย
1.2 การวินิจฉัยโรคด้วยหมอ
ผู้ป่วยที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้เอง จำเป็นต้องรับการบำบัดรักษากับหมอ หมอจะวินิจฉัยโรค โดยการพูดคุยกับผู้ป่วยหรือญาติพี่น้องเพื่อสอบถามอาการป่วย คอยสังเกตอาการ และสอบถามประวัติการรักษาหรือผลการตรวจรักษาจากแหล่งอื่นที่ผู้ป่วยเคยไปรับการบำบัดรักษาก่อนที่จะมารับการบำบัดรักษากับหมอ เช่น ป่วยเป็นโรคอะไร มีอาการอย่างไรบ้าง เป็นต้น เมื่อหมอสอบถามอาการ ผู้ป่วยจะเล่าให้ฟังว่า เมื่อมีรอบเดือน จะปวดท้องน้อย มีอาการหนาวสลับกับร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร และเป็นไข้อยู่หลายวัน กินยาหลายขนานแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น จึงมาให้หมอตรวจ หมอจะสังเกตสีหน้า และอาการของผู้ป่วย ตลอดทั้งขอดูฝ่ามือของผู้ป่วย จากนั้นหมอจะใช้ประสบการณ์ และความชำนาญ วินิจฉัยลักษณะอาการป่วย จนมีความมั่นใจว่าผู้ป่วยเป็นไข้ทับระดู หมอจึงบอกให้ผู้ป่วยทราบว่าจะรักษาด้วยวิธีใด เพื่อเป็นการบอกให้ผู้ป่วยและญาติได้เตรียมตัยวมาพักรักษาที่บ้านของหมอ หรือบางรายหมอต้องเดินทางไปรักษาที่บ้านของผู้ป่วย หรือหมอนัดเวลาให้ผู้ป่วยมับการรักษา ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของผู้ป่วยในการเดินทางมารับการบำบัดรักษา เมื่อผู้ป่วยทราบว่าต้องรับการบำบัดรักษาจากหมอ ผู้ป่วยจะต้องจัดขันหมากมามอบให้หมอเป็นลำดับต่อไป
2. การจัดขันหมาก
2.1 การจัดขันหมากของผู้ป่วย
การมารับบริการบำบัดรักษากับหมอ ผู้ป่วยต้องมอบ “ขันหมากครู” หรือ “ตั้งเชี่ยน” จำนวน 1 ขัน ให้หมอ โดยผู้ป่วยหรือญาติพี่น้องเป็นผู้เตรียมมาตามที่หมอกำหนด เครื่องประกอบขันหมากจะมีความแตกต่างกันไปตามความเชื่อของหมอแต่ละคน ผู้ป่วยจะตั้งเชี่ยนหรือจัดหมากครูในกรณีที่ขอให้หมอรักษา ประกอบด้วยเครื่องขันหมาก ได้แก่ หมากพลู 1 คำ ยาสูบใบจาก 1 มวน และยาเหนียด 1 คำ ส่วนเทียน 1 เล่มนั้น จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรค เช่น ถ้าถูกคุณ (เป็นพิธีทำร้ายผู้อื่น โดยเสกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปในตัวหรือฝังรูปฝังรอย เช่น ทำให้บ้า หรือทำให้เจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น) เครื่องประกอบขันหมากจะต้องมีเทียน 
เครื่องประกอบขันหมากครู ประกอบด้วย หมากพลู 3 คำ ยาสูบใบจาก 3 มวน ยาเหนียด 3 คำ เทียน 1 เล่ม ข้าวตอก 1 กำ กำยานพอประมาณ และเพิ่มหัวไพล 1 หัว สำหรับผู้ป่วยหนัก ส่วนจำนวนเงินที่ใส่ในขันหมากจะมากหรือน้อยแล้วแต่ชนิดของโรค 
เครื่องประกอบขันหมากครู มีดังนี้ หมากพลู 3 คำ ยาสูบใบจาก 3 มวน และเทียน 1 เล่ม ผู้ป่วยจะนำเครื่องขันหมากทั้งหมดใส่จานหรือพานมอบให้หมอเพื่อขอให้หมอรักษา การจัดขันหมากครูจึงเป็นการเชิญหมอเพื่อขอให้บำบัดรักษาโรคในการรับขันหมากจากผู้ป่วย หมอจะรับขันหมากครูหรือการตั้งเชี่ยนจากผู้ป่วยแล้วยกขึ้นเหนือศีรษะ หันหน้าไปทางหิ้งครู (เป็นที่สิงสถิตย์วิญญาณครู) เพื่อบอกกล่าวครูอาจารย์ จากนั้นจึงวางขันหมากไว้หน้าหิ้ง หรือบนหิ้งบูชาครู เป็นอันเสร็จพิธีการรับขันหมากครูจากผู้ป่วย ซึ่งขันหมากครูนี้หมอบางคนเชื่อว่าถ้าวางไว้ตรงไหนแล้วห้ามเคลื่อนย้ายเด็ดขาด หากมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจะต้องจัดขันหมากมาให้ใหม่ ขณะที่มอบขันหมากครูให้หมอ ผู้ป่วยจะบนบานพร้อมกันไปด้วย
2.2 การจัดขันหมากของหมอ
อาการทางจิต 
เป็นต้นว่า ถูกผีเข้า ถูกคุณ หมอจะต้องจัดเตรียมหมากพลู ผ้าขาว ผ้าดำ ด้ายดิบ เทียน และกำยาน ไว้สำหรับ “ตั้งเชี่ยน” หรือ “ขันหมากครู” และไว้ประกอบพิธีกรรมในการบำบัดรักษา ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามความเชื่อของหมอแต่ละคน ในกรณีที่หมอเจ็บป่วยและบำบัดรักษาด้วยตนเอง หมอต้องจัดขันหมากครูเช่นเดียวกัน ซึ่งเครื่องขันหมากประกอบด้วย หมากพลู 3 คน ยาสูบใบจาก 3 มวน เทียน 1 เล่ม และยาเหนียด 1 คำ ส่วนเงินแล้วแต่จะใส่ 
ปวดศีรษะ
ในกรณีที่เพื่อนบ้านซึ่งไม่ใช่หมอช่วยบำบัดรักษา แต่เป็นผู้มีความรู้ในการใช้คาถาบำบัดรักษาอาการปวดศีรษะ จะบอกกล่าววิญญาณบรรพบุรุษเพื่อขออนุญาตบำบัดรักษาโรคให้ผู้ป่วย โดยที่ผู้ป่วยและผู้ที่บำบัดรักษาไม่ต้องจัดขันหมากครู ถ้าผู้ป่วยขอให้ช่วยรักษา ตนจะบอกกล่าววิญญาณบรรพบุรุษ คือ โต๊ะทวด โต๊ะย่า และพ่อแม่ ขออนุญาตบำบัดรักษา และขอให้วิญญาณบรรพบุรุษช่วยดลบันดาลให้รักษาหาย ในการบอกกล่าวตนจะหันหน้าไปทางหัวนอน (ทิศใต้) โดยทั้งผู้ป่วยและผู้บำบัดรักษาไม่ต้องตั้งเชี่ยนหรือจัดขันหมากครู
3. การบนบาน
ชาวเลจะบนบานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูอาจารย์ช่วยเหลือให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงหรือพันธะสัญญาที่ชาวเลได้ให้ไว้ต่อสิ่งเร้นลับเหนือธรรมชาติ ในที่นี้เป็นวิญญาณครูหมอ และวิญญาณบรรพบุรุษ (โต๊ะ) เพื่อขออำนาจคุ้มครองให้พ้นจากความเจ็บป่วยที่กำลังประสบอยู่ โดยมีพันธะสัญญาว่าถ้าสำเร็จจะตอบแทนด้วยการทำนู่หรี (ทำบุญ) รำรองเง็ง นอนหาด (การไปประกอบพิธีของชาวเล) และให้ผ้าขาวเพื่อให้หมอห้อยคอตอนเก็บยาสมุนไพร หรือให้ผ้าดำเพื่อให้หมอไว้บูชาครูอาจารย์ที่หิ้งครู เป็นต้น
4. การหาและการเตรียมสมุนไพร
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับโรคและพืชสมุนไพร รวมทั้งมีประสบการณ์ในการบำบัดรักษาโรค สามารถบำบัดรักษาโรคได้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยต้องจัดหาและเตรียมสมุนไพรสดจากป่าหรือชายทะเลใกล้หมู่บ้าน เช่น ใบลิ้นห่าน ใบกาหยีเล ต้นถั่วเล และต้นลำเจียก เป็นต้น ส่วนสมุนไพรที่ได้จากทะเล เช่น ขนเม่นทะเล ปูลม หอยเบี้ย และกระดองหมึก เป็นต้น สมุนไพรที่ได้จากหมู่บ้าน เช่น ใบยาหมู (ใบฝรั่ง) ใบตำลึง ใบหมรุย ใบนุ่น หญ้าดอกขาว (ต้นสาบเสือ) และผลจำมะดะ (สับปะรด) เป็นต้น หรืออาจจะซื้อมาจากร้านจำหน่ายสมุนไพรในตลาด การเก็บสมุนไพรจะมีการถือเคล็ด คือ ในการเก็บสมุนไพรต้องขออนุญาตจากเจ้าที่เจ้าทางและสมุนไพรที่จะเก็บ และต้องพูดเอาเคล็ด ด้วยคำพูดว่า “จะขอเอาไปรักษา” แล้วตอบเองว่า “เอาไปได้” จึงจะเก็บสมุนไพรนั้น จึงสามารถเก็บได้ โดยไม่ให้เงาของผู้เก็บทับสมุนไพรในขณะที่เก็บ เพราะเชื่อว่าจะทำให้โรคหายช้า และการเก็บยอดยาหมู (ฝรั่ง) เพื่อรักษาอาการท้องเสีย ให้เก็บตอนช่วงน้ำทะเลลด (น้ำลง) โดยที่ผู้ป่วยต้องคาบยอดยาหมู (ฝรั่ง) แล้วดึงออกจากต้นพร้อมทั้งกลั้นลมหายใจ และขณะที่เก็บต้องไม่ให้เงาของผู้เก็บทับสมุนไพร
การเก็บสมุนไพรจากทุกแหล่งเป็นการเตรียมเครื่องยาสำหรับใช้ในการบำบัดรักษาโรค โดยไม่ต้องผ่านพิธีกรรมการปลุกเสก
หมอจะต้องจัดหาและเตรียมสุมนไพรที่จะใช้ทำยาเช่นเดียวกัน การเก็บสมุนไพรเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคเริม จะต้องเก็บเวลาบ่ายขณะที่น้ำทะเลลด (น้ำลง) และต้องเก็บสมุนไพรด้วยมือขวา พร้อมทั้งท่องคาถาประกอบว่า “สูญ นะสูญ ท่านต้องไปด้วยสูญ ถ้าว่าเป็นเริมจริงขอให้หาย” 
การหาสมุนไพรจากป่าหรือชายทะเลเพื่อเตรียมไปประกอบเป็นยา ขณะที่หมอเก็บสมุนไพรจะต้องพาผ้าขาวยาว 1 เมตร ห้อยคอไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ครูรู้ว่าเป็นศิษย์ และตอนเก็บสมุนไพรจะต้องขออนุญาตจากเจ้าที่เจ้าทางก่อน จึงจะเก็บได้ เมื่อได้สมุนไพรมาแล้วก็เตรียมไว้สำหรับประกอบเป็นยาต่อไป โดยต้องผ่านพิธีกรรมการปลุกเสกจากหมอก่อน จึงจะนำไปบำบัดรักษาผู้ป่วยได้
5. การเตรียมตัวของหมอ
กรณีที่หมอจะต้องเดินทางไปบำบัดรักษาที่บ้านของผู้ป่วย ซึ่งอยู่ต่างหมู่บ้าน หมออาจเดินทางไปเองหรือญาติพี่น้องของผู้ป่วยมารับ แล้วแต่จะตกลงกัน ซึ่งหมอต้องเตรียมอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาตามอาการของโรค เป็นต้นว่า ไปรักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก ก็ต้องเตรียมน้ำมันสำหรับทาหรือนวด หรือรักษาโรคประจำเดือนไม่ปกติ ต้องเตรียมสมุนไพร เช่น ใบชะพลู รากต้นมะพร้าว รากต้นกล้วย เป็นต้น หมอบางคนจะมีผู้ช่วยติดตามไปด้วย 1 คน เช่น เพื่อไปรักษาผู้ป่วยชาวเลที่มีอาการทางจิต ซึ่งหมอได้วินิจฉัยแล้วว่าถูกคุณ การบำบัดรักษาหมอจะต้องไปพักอยู่ที่บ้านของผู้ป่วยหรือบ้านใกล้ ๆ กับบ้านของผู้ป่วย เพื่อความสะดวกในการดูแลและบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ใกล้ชิด จึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วย คือ ภรรยา เพื่อทำหน้าที่ดูแลเรื่องการจัดขันหมากครู การเตรียมสมุนไพร การจัดการเรื่องอาหารและเสื้อผ้า เพราะไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการรักษาได้
6. การเตรียมตัวของผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่มารับการบำบัดรักษากับหมอ อาจเดินทางมารับการบำบัดรักษาด้วยตนเอง หรือญาติพี่น้องเป็นผู้พามา ในกรณีที่ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านของหมอ ผู้ป่วยต้องจัดเตรียมเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม เป็นต้น และอาจมีญาติพี่น้อง 1 คน เพื่อคอยช่วยเหลือผู้ป่วย ดูแลเรื่องอาหาร เสื้อผ้า และประสานงานกับหมอ
 
 
 
 าทา
 
 
 
ว่านหางจระเข้
เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรค
สารบัญเนื้อหา
1. ยารักษาโรค
2. บรรณานุกรม
3. แหล่งข้อมูลอื่น
4. หมวดหมู่
การรักษาแผลที่ถูกพิษปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลาจ็องม็อง (ปลากระเบน) ปลามิ้นหลัง (ปลาดุกทะเล) โปะยักษ์ (ปลากะรังหัวโขน) โปะโนรา (ปลาสิงโต) เม่นทะเล แมงกระพรุนไฟ โดยการนำวุ้นที่อยู่ในว่านหางจระเข้ มาทาตรงบริเวณที่ถูกปลา หรือสัตว์ทะเลที่มีพิษ  จะช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนได้
บรรณานุกรม 
อรุณรัตน์  สรรเพ็ชร. การบำบัดรักษาโรคของชาวเลในจังหวัดภูเก็ต. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. สงขลา :
 มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2541 ถ่ายเอกสาร. 
หมวดหมู่
ชาวเล/ยาสมุนไพร
 
ยาเส้น (ยาฉุน) 
เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรค
สารบัญเนื้อหา
1. ยารักษาโรค
2. บรรณานุกรม
3. แหล่งข้อมูลอื่น
4. หมวดหมู่
การรักษาแผลที่ถูกพิษปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลาจ็องม็อง (ปลากระเบน) ปลามิ้นหลัง (ปลาดุกทะเล) โปะยักษ์ (ปลากะรังหัวโขน) โปะโนรา (ปลาสิงโต) เม่นทะเล แมงกระพรุนไฟ โดยเอายาเส้น (ยาฉุน) ชุบน้ำให้เปียกชุ่ม แล้วบีบเอาเฉพาะน้ำทาลงบริเวณที่ถูกปลาหรือสัตว์ทะเลที่มีพิษ 
บรรณานุกรม 
อรุณรัตน์  สรรเพ็ชร. การบำบัดรักษาโรคของชาวเลในจังหวัดภูเก็ต. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. สงขลา :
 มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2541 ถ่ายเอกสาร. 
หมวดหมู่
ชาวเล/ยาสมุนไพร
ใบสมสัย (สาบเสือ)
เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรค
สารบัญเนื้อหา
1. ยารักษาโรค
2. บรรณานุกรม
3. แหล่งข้อมูลอื่น
4. หมวดหมู่
การรักษาแผลที่ถูกพิษปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลาจ็องม็อง (ปลากระเบน) ปลามิ้นหลัง (ปลาดุกทะเล) โปะยักษ์ (ปลากะรังหัวโขน) โปะโนรา (ปลาสิงโต) เม่นทะเล แมงกระพรุนไฟ โดยนำใบสมสัย (สาบเสือ) มาขยี้กับปูนกินหมาก แล้วทาบริเวณที่ถูกปลาหรือสัตว์ทะเลที่มีพิษ
บรรณานุกรม 
อรุณรัตน์  สรรเพ็ชร. การบำบัดรักษาโรคของชาวเลในจังหวัดภูเก็ต. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. สงขลา :
 มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2541 ถ่ายเอกสาร. 
หมวดหมู่
ชาวเล/ยาสมุนไพร
น้ำตาลทรายแดง
เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรค
สารบัญเนื้อหา
1. ยารักษาโรค
2. บรรณานุกรม
3. แหล่งข้อมูลอื่น
4. หมวดหมู่
การรักษาแผลที่ถูกพิษปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลาจ็องม็อง (ปลากระเบน) ปลามิ้นหลัง (ปลาดุกทะเล) โปะยักษ์ (ปลากะรังหัวโขน) โปะโนรา (ปลาสิงโต) เม่นทะเล แมงกระพรุนไฟ โดยนำน้ำตาลทรายแดงละลายกับน้ำ  แล้วทาบริเวณที่ถูกปลาหรือสัตว์ทะเลที่มีพิษ
บรรณานุกรม 
อรุณรัตน์  สรรเพ็ชร. การบำบัดรักษาโรคของชาวเลในจังหวัดภูเก็ต. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. สงขลา :
 มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2541 ถ่ายเอกสาร. 
หมวดหมู่
ชาวเล/ยาสมุนไพร
น้ำยาเส้น (ยาฉุน) ผสมกับน้ำมะนาว
เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรค
สารบัญเนื้อหา
1. ยารักษาโรค
2. บรรณานุกรม
3. แหล่งข้อมูลอื่น
4. หมวดหมู่
 
 
การรักษาแผลที่ถูกพิษปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลาจ็องม็อง (ปลากระเบน) ปลามิ้นหลัง (ปลาดุกทะเล) โปะยักษ์ (ปลากะรังหัวโขน) โปะโนรา (ปลาสิงโต) เม่นทะเล แมงกระพรุนไฟ โดยการนำน้ำยาเส้น (ยาฉุน) ผสมกับน้ำมะนาว
 มาทาตรงบริเวณที่ภูกพิษปลา หรือสัตว์ทะเลบางชนิด จะช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนได้
บรรณานุกรม 
อรุณรัตน์  สรรเพ็ชร. การบำบัดรักษาโรคของชาวเลในจังหวัดภูเก็ต. ปริญญานิพนธ์ ศศ.ม. สงขลา :
 มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2541 ถ่ายเอกสาร. 
หมวดหมู่
ชาวเล/ยาสมุนไพร
 
 
แผลที่ถูกพิษปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิด เช่น ปลาจ็องม็อง (ปลากระเบน) ปลามิ้นหลัง (ปลาดุกทะเล) โปะยักษ์ (ปลากะรังหัวโขน) โปะโนรา (ปลาสิงโต) เม่นทะเล แมงกระพรุนไฟ 
มูลปลาดุกทะเล
ผักบุ้งทะเลตำเอาเฉพาะน้ำ
โรคผิวหนัง
มะพร้าวขูด ใบชุมเห็ด และสุพรรณ (ยารักษาโรคผิวหนัง สีเหลือง กลิ่นแรง) นำมาตำรวมกัน 
เมล็ดกาแฟ ตำให้ละเอียด ใบตำลึงตำให้ละเอียดคั้นเอาเฉพาะน้ำ ถ่านไฟดำให้ละเอียดละลายด้วยน้ำมันมะพร้าว ข่าตำให้ละเอียดแล้วห่อผ้า ใบมะระตำให้ละเอียดคั้นเอาเฉพาะน้ำ ใบขนุน (เฉพาะที่หล่นใต้โคนต้น) เผาจนเป็นขี้เถ้า ขมิ้นตำให้ละเอียดละลายกับน้ำมันมะพร้าวให้เข้ากัน และหมากพลู เคี้ยวเอาเฉพาะน้ำ ใช้ทาบำบัดรักษาโรคผิวหนัง เช่น หิด กลาก และเกลื้อน เป็นต้น ให้ทาบริเวณที่เป็นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาการทุเลาลง
โรคท้องเสีย
ใบลูกชำ (กำชำ) เคี้ยวหรือบดให้ละเอียด ใช้ทาท้องของผู้ป่วย เพื่อบำบัดรักษาอาการท้องเสีย
แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
ขมิ้นตำให้ละเอียดละลายกับน้ำมันมะพร้าวเคี่ยวไฟตั้งไว้ให้เย็น น้ำปลาหรือซีอิ้ว น้ำมันมะพร้าวละลายกับปูน (กินหมาก) น้ำฝน น้ำมันหมู วุ้นจากว่านหางจระเข้ และน้ำปลาหรือน้ำซีอิ้วผสมกับนมข้นหวาน ใช้ทาบำบัดรักษาบาดแผลไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ให้ทาวันละ 2-3 ครั้ง จนกระทั่งแผลแห้ง แม้ว่าแผลจะแห้งแล้วก็ให้ทาไปเรื่อย ๆ จนกว่าแผลจะหายสนิท
ไอ
ปูน (กินหมาก) สีเสียด พลู และน้ำมะนาว ละลายให้เข้ากัน กระเทียมเผาไฟขยี้ให้พอแตก หมากพลูเคี้ยวให้ละเอียด ยอดม้ามิ (สาบเสือ) ปูน (กินหมาก) และสีเสียด ขยี้ในฝ่ามือให้ละเอียด ใบรำพง (ใบลำโพง) ปูน (กินหมาก) และสีเสียด ละลายกับน้ำ หมากพลูเคี้ยวเอาเฉพาะน้ำละลายกับสีเสียด และกำยานแช่ในน้ำล้างข้าวสาร ให้ทาคอ และทั่วร่างกาย บำบัดรักษาอาการไอ ในการทาให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง โดยหยิบมาทาที่กระหม่อม 3 ครั้ง ทาคอและทั่วร่างกาย 3 ครั้ง
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในผู้หญิง
รังบวบ กะลามะพร้าว และผ้าสีดำ เผารวมกัน ใช้ทาบำบัดรักษาโรคของผู้หญิงที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ โดยทาที่ท้องน้อย ให้ทาทุกวันและทาในช่วงเย็น ๆ เชื่อว่าถ้ารีบรักษาตั้งแต่เริ่มโรคจะหาย
ไข้หวัด
ใบหญ้าดอกขาว (ใบสาบเสือ) และปูน (กินหมาก) ขยี้รวมกัน ใบหมีด และปูน (กินหมาก) ขยี้รวมกัน ใช้ทาบำบัดรักษาไข้หวัด โดยทาคอและทั่วร่างกาย ให้ทาทุกวันจนอาการใช้หายดี
ปวดบริเวณที่ถูกกัดต่อย
วุ้นของว่านหางจระเข้ ยอดต้นลีด้าตะโด้ก (กล้วยไม้ป่า) ผสมน้ำเล็กน้อย ตำให้ละเอียด และน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาบำบัดรักษาอาการปวดบริเวณที่ถูกผึ้งหรือตะขาบกัดต่อย ให้ทาจนอาการปวดทุเลาลง
อาการหอบ
ใบรำพง (ใบลำโพง) ขยี้ให้ละเอียด กำยานแช่กับน้ำซาวข้าว ใช้ทาบำบัดรักษาโรคหอบ โดยใช้ยาทาให้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหู ง่ามมือ และง่ามเท้า ให้ทายามากกว่าบริเวณอื่น และให้ทาในขณะที่มีอาการหอบ
โรคเริม
เปลือกต้นเหรียงฝนให้เป็นผงละลายกับน้ำ รากต้นกาแบะ (ต้นเหมร ภูเก็ต เรียกต้น มงเคร กรุงเทพ เรียกต้น โพรกเพรง) รมควันกำยาน แล้วฝนให้เป็นผงละลายกับน้ำ ใช้ทาบำบัดรักษาโรคเริม ให้ทายาบริเวณที่เป็นจนกระทั่งแผลแห้ง
โรคตาแดง
น้ำลายถ่มใส่ฝ่ามือแล้วถูทั้งสองมือ น้ำเกลือ น้ำปัสสาวะตัวเอง เปลือกต้นไม้ป่าทุกชนิดฝนกับหินให้เป็นผง  ใช้ทาที่ตา บำบัดรักษาโรคตาแดง
ลมพิษ
ขี้เถ้าละลายน้ำ เกลือละลายน้ำ ใช้ทาบำบัดรักษาลมพิษ ให้ใช้ยาทาทั่วร่างกาย จนกระทั่งอาการบวมทุเลาลง
โรคทางเดินปัสสาวะ
ขนเม่นทะเลฝนให้เป็นผงละลายกับน้ำมะนาวและสารส้ม ทิ้งให้ตกตะกอน เอาเฉพาะน้ำขุ่น ใช้ทาบริเวณอวัยวะเพศของผู้ชาย บำบัดรักษาโรคทางเดินปัสสาวะไม่ปกติ ให้ทาไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการจะทุเลาลง
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นท้อง
ขมิ้น ปูน (กินหมาก) และหมาก เคี้ยวเอาเฉพาะน้ำ ขี้เถ้าจากเตาหุงข้าว โดยใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วกลาง และนิ้วนาง หยิบใส่ในมือซ้าย 3 ครั้ง ใช้น้ำมันก๊าดเล็กน้อยละลายให้เข้ากัน และหมากพลูเคี้ยวเอาเฉพาะน้ำ ใช้ทาที่หลังและทาที่ท้องของผู้ป่วย บำบัดรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นท้อง
โรคคางทูม
ครามละลายน้ำ และปูน (กินหมาก) ละลายน้ำ ใช้ทาบำบัดรักษาโรคคางทูม ให้ทายาบริเวณที่เป็นคางทูม วันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเช้าและตอนเย็นให้ทาจนกระทั่งอาการบวมทุเลาลง
โรคอีสุกอีใส
หัวกะทิจากมะพร้าว ใบกาฝากกับข้าวสารตำให้ละเอียด และแกนข้าวโพดเผาแช่น้ำ ใช้ทาบำบัดรักษาอีสุกอีใส (ไข้หัด) โดยเอายาทาให้ทั่วร่างกายผู้ป้วยเพื่อให้ตุ่มอีสุกอีใสออกมาให้หมด
ของมีคม 
น้ำยาเส้น (ยาฉุน) ใบสุกใส (สาบเสือ) ขยี้กับปูน (กินหมาก) เขม่าไฟกับเกลือละลายน้ำเล็กน้อย และน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาเพื่อสมานแผนที่ฉีกขาดจากของมีคม
ระดูขาว
หมากพลูเคี้ยวให้ละเอียดเอาเฉพาะน้ำหมาก กระดองหมึกฝนละลายกับสารส้ม ใช้ทาที่ท้องน้อย และช่องคลอด วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน บำบัดรักษาอาการระดูขาวไม่ปกติ
 
โรคพยาธิในเด็ก
ยาเส้น (ยาฉุน) เผาจนเป็นขี้เถ้าละลายกับน้ำมันก๊าด ใบและลูกหวาดตำให้ละเอียด ยาเส้น (ยาฉุน) ตำกับกระเทียม ปูน (กินหมาก) ตำรวมกันในกะลามะพร้าว ใช้ทาที่คอและท้องเด็ก ให้ทายาในตอนกลางคืน ใช้บำบัดรักษาโรคพยาธิในเด็ก
อาการบวม
เปลือกต้นมะขาม โดยใช้ขวานสับจากต้น มาฝนละลายน้ำ และผักเสี้ยนผี ตำให้ละเอียด คั้นเอาเฉพาะน้ำ ใช้ทาทั่วร่างกาย บำบัดรักษาอาการบวม
เลือดกำเดา
ใบพลู ขยี้ให้พอแตก ใช้ทาบริเวณใต้จมูก เพื่อระงับเลือดกำเดา
การพอก
อาการเจ็บปวดบริเวณที่ถูกพิษ
ใบสมสัย (สาบเสือ) ย่างไฟพอเหี่ยว บาจัน (กะปิ) เครื่องแกงเผ็ด ยอดตำลึงตำพอแตกใบพังพอน (หนุมานพังพอน) ตำให้ละเอียดผสมสุราขาว เห็ดทุกชนิดตำให้ละเอียด พริกแห้ง บาจัน (กะปิ) ปลาย่าง หอม กระเทียม ตำรวมกันให้ละเอียด และปูลม ตำกับบาจัน (กะปิ) เป็นต้น พอกบริเวณที่ถูกพิษปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิด ให้พอกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาการเจ็บปวดทุเลาลง
โรคผิวหนัง
มันของปูลม พอกฝีจะทำให้ฝีแตกโดยไม่เปื่อย ใบพลูลนไฟพอเหี่ยวขยี้ให้ละเอียด หญ้าไมยราบตำให้ละเอียด เป็นต้น ใช้พอกบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง เช่น หิด กลาก เกลื้อน เป็นต้น ให้พอกทุกวันจนหายดี
ท้องเสีย
ใบลำชำ (กำชำ) เคี้ยวหรือบดให้ละเอียด ใช้พอกที่กระหม่อมของผู้ป่วย บำบัดรักษาอาการท้องเสีย
สุนัขบ้ากัด
ใบมะรุม ปูน (กินหมาก) ตำรวมกัน ใบพริกขี้หนูผสมน้ำเล็กน้อยตำให้ละเอียด เป็นต้น ใช้พอกบริเวณที่ถูกสุนัขบ้ากัด ให้พอกอยู่ประมาณ 3 วัน
ถูกไฟ้ไหม้ น้ำร้อนลวก
ทรายละเอียดจากชายทะเลแช่น้ำประมาณ 10 นาที ใช้พอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ให้พอกทิ้งไว้จนกว่าจะหายปวด
เริม
ใบนุ่น ขมิ้น และข้าวสาร 7 เม็ด ตำรวมกันให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณที่เป็นเริม ให้พอกทุกวันจนกระทั่งแผลแห้ง
รอบเดือนไม่ปกติ
ใบนุ่น เอามาขยำหรือตำให้พอแตก แล้วแช่น้ำ ใช้พอกไว้บนศีรษะของผู้ป่วย รักษารอบเดือนไม่ปกติ
อาการปวดบริเวณที่ถูกกัดต่อย
เม็ดมะขามฝนละลายน้ำเล็กน้อย ใช้พอกบริเวณที่ถูกผึ้ง ตะขาบ กัดต่อย ให้พอกจนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง
รักษาไข้หวัด
ยอดเบา (พืชพื้นบ้านชนิดหนึ่ง) ตำให้ละเอียด ละลายกับน้ำเล็กน้อย ขยำให้เป็นเมือก ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ใบพริกขี้หนูและข้าวสาร ตำให้ละเอียด ใบหญ้าคาตำให้ละเอียด ยอดหวาด (ยอดสะหวาด) กับข้าวสาร 7 เม็ด แช่น้ำจนพอง ตำให้ละเอียด เป็นต้น ใช้พอกกระหม่อมเด็ก รักษาไข้หวัด การพอกต้องให้เป็นวงกลม และเว้นให้เป็นรูไว้ตรงกลางกระหม่อม
อาการตกเลือด
ใบหนาด ลนไฟแล้วต้ม ใช้พอกบนศีรษะผู้ป่วยผู้หญิงที่มีอาการตกเลือด ให้พอกไว้ทั้งกลางวันและกลางคืน
เป็นลม
ต้นหัวว่าว (กระแตไต่ไม้) ตากน้ำค้าง หรือแช่น้ำไว้หนึ่งคืน จากนั้นตำให้ละเอียด ใช้พอกศีรษะของผู้ป่วยที่เป็นลม
ข้อที่เจ็บ
ใบพลับพลึงทะเล 3 ใบ ผ่าเป็น 2 ซีก เอาเข็มเย็บผ้าเจาะใบพลับพลึงให้เป็นรูทั่วทั้งใบ ลนไฟจนน้ำจากใบพลับพลึงไหล ใช้พอกบริเวณข้อที่เจ็บ
 
การรมควัน
บาดแผลที่ถูกพิษ
ใบหาระบิน (สาบเสือ) ใบมะขาม มูลกระบือแห้ง อะไกบาห้าย (กัลปังหา) เขาควายนำมาฝน และใบกาหยีเล เป็นต้น โดยเอาสมุนไพรดังกล่าวมาสุมไฟแล้วเอาบริเวณบาดแผลที่ถูกพิษปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิด รมควัน
โรคผิวหนัง
ใบแซะล้า (แซะ) สุมไฟ หรือต้นกาฝากต้มน้ำให้เดือด ใช้รมควันรักษาโรคผิวหนัง
อาการเจ็บปวดจากแมลงกัดต่อย
กิ่งไม้แห้งสุมไฟ ให้ผู้ป่วยนอนบนแคร่ที่ควันไฟสามารถทะลุผ่านได้ โดยให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าให้น้อยชิ้น ให้ทำจนกว่าอาการปวดทุเลาลงเป็นการบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดจากแมลงมีพิษกัดต่อย
โรคริดสีดวงทวาร
หัวอุตพิด ใบลำโพง และเศษถ้วยกระเบื้อง ตำรวมกันพอแหลก สุมไฟ แล้วทำกระบอกไม้ไผ่ ให้คนเป็นริดสีดวงทวารนั่งให้ตรงรูกระบอกไม้ไผ่ให้ควันขึ้นไปทางรูกระบอก เป็นการบำบัดรักษาโรคริดสีดวงทวาร
การแช่
ถูกพิษ
ใบมะขามต้มพออุ่น หญ้าเรือบิน (สาบเสือ) ต้มน้ำ ใบมะเขือหนามต้มพออุ่น และใบกาหยีเลต้มพออุ่น เป็นต้น เอาบริเวณที่ถูกพิษปลาหรือสัตว์ทะเลบางชนิด แช่น้ำต้มสมุนไพร
การพ่น
กลากหรือเกลื้อน
ผลอ่อนของมะพร้าวเคี้ยวพร้อมหมากพลู ยาเส้น (ยาฉุน) ปูน (กินหมาก) และสีเสียด เคี้ยวรวมกัน ก่อนพ่นยาต้องขูดบริเวณที่เป็นกลากหรือเกลื้อนให้เลือดซึม จึงพ่นยาลงไป ให้พ่นจนกระทั่งหายดี จึงหยุดทำ
 
ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ข้าวสารเคี้ยวให้ละเอียด พ่นบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ให้พ่นไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหายปวดและหายแสบ
เริม
ยอดกำ (พืชพื้นบ้านชนิดหนึ่ง) เคี้ยวพร้อมหมากพลูให้ละเอียด หัวจุกพร้าว (ส่วนขั้วของผลมะพร้าว) เคี้ยวพร้อมหมากพลูให้ละเอียด แล้วพ่นบริเวณที่เป็นเริม ให้พ่นวันละ 3 ครั้ง คือ เช้า เที่ยง และเย็น
การอาบ
โรคผิวหนัง
ใบมะขามและใบขนุน ต้มรวมกันขนานหนึ่ง น้ำเค็มอีกขนานหนึ่ง ทั้ง 2 ขนาน ใช้อาบรักษาโรคผิวหนัง เช่น หิด กลาก และเกลื้อน เป็นต้น 
ไข้หวัด
ใบหญ้าคา ต้มน้ำทิ้งไว้ให้อุ่น ใช้อาบรักษาไข้หวัด
การกิน
ท้องเสีย
ใบยาหมู (ฝรั่ง) เปลือกต้นตัดมือ (หูกวาง) ต้มใส่เกลือเล็กน้อย ให้ผู้ป่วยกินรักษาอาการท้องเสีย
ใบยาหมู (ฝรั่ง) และยอดพรุ ยอดกาหยี (ยอดมะม่วงหิมพานต์) ดอกโกงกาง ใบลูกซำ (กำซำ) และเปลือกต้นมะขามสด เป็นต้น ใช้เคี้ยวกินดิบ ๆ รักษาอาการท้องเสีย
โรคของชายที่เกิดจากเพศสัมพันธ์
ขนหมูเล (ขนเม่นทะเล) ฝนให้เป็นผงละลายกับน้ำมะนาว หญ้าเกรย (หญ้าเจ้าชู้) รากมะละกอ สารส้ม หญ้างับ (หญ้าไมยราบ) และหัวสับปะรด ต้มน้ำให้ผู้ป่วยกินวันละ 3 เวลา หลังอาหาร และกล้วยน้ำว้าทั้งลูกปอกเปลือกผ่าครึ่งใส่หางจิ้งจกประกบให้สนิท กินก่อนอาหาร ให้กินทุวัน จนกระทั่งหาย ใช้บำบัดรักษาโรคของชายที่เกิดจากเพศสัมพันธ์
ไข้หวัด
ยอดยาหมู (ฝรั่ง) เคี้ยวกินดิบ ๆ บำบัดรักษาไข้หวัด
ว่านหนวดเสือ รากขี้กา และหัวหญ้าเขี้ยวหมู ตำรวมกัน ต้นวานรามสูญ แช่น้ำให้ผู้ป่วยกินวันละ 3 เวลา หลังอาหาร ให้กินจนกระทั่งไข้หวัดหายดี
หอบ 
มดแดงทั้งรัง ตั้งไฟให้ไหม้เล็กน้อย ต้มกับน้ำให้เดือด กินวันละ 3 ครั้ง หอยแครงชนิดกลม หญ้าคาเล (หญ้าคาที่ขึ้นเฉพาะริมทะเล) ต้มน้ำ กินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร และขี้แก้ (สัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง) ย่างให้สุก แล้วบดให้ละเอียดละลายกับสุราขาว น้ำผึ้งรวงหรือน้ำยาเส้น (ยาฉุน) กินวันละ 3 ครั้ง ใช้บำบัดรักษาโรคหอบ
ลมพิษ
ขี้เถ้าละลายน้ำ ทิ้งให้ตกตะกอน ใช้กิน บำบัดรักษาลมพิษ
โรคทางเดินปัสสาวะไม่ปกติ
หญ้าคาและหญาไมยราบ เปลือกหอยในทะเลทุกชนิด ต้มน้ำ กินได้ตลอดเวลา หัวย่านัด (สับปะรด) รากลำเจียก (ปาหนันทะเล) และผักขม (ผักโขม) ต้มกับสารส้ม กินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ขนเม่นทะเลฝนให้เป็นผงละลายกับน้ำมะนาวและสารส้ม ทิ้งให้ตกตะกอน หอยเบี้ยแก้ (หอยเบี้ย) ฝนละลายกับน้ำ ทิ้งให้ตกตะกอน เอาเฉพาะน้ำใส กินได้ตลอดเวลา ผลจำมะดะ (สับปะรด) บำบัดรักษาโรคทางเดินปัสสาวะไม่ปกติ
โรคริดสีดวงทวาร
หญ้างับ (ไมยราบ) ทั้งต้น ฟ้าทะลายโจร และน้ำผึ้งรวง ต้มน้ำ กินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ใช้บำบัดรักษาโรคริดสีดวงทวาร
โรคความดันสูง
ต้มกาฝากสับให้เป็นชิ้น รมกำยาน ว่านรามสูญ มะเขือพวงทั้งต้น ว่านทั้งต้นสับให้ละเอียด รมกำยาน และใบขี้เหล็ก แช่น้ำ กินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ใบชะพลูต้มรวมกับเกลือ กินวันละ 3 ครั้ง บำบัดรักษาโรคความดันสู
โรคเบาหวาน
ราก ต้น และใบของโหระพา ต้นอ้อ สับปนกัน รมกำยาน แช่น้ำรวมกัน กินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เป็นยาตัดรากโรคเบาหวาน
ระดูไม่ปกติ
หมากพลู เคี้ยวให้ละเอียด กินให้หมดทั้งน้ำทั้งชาน ใช้บำบัดรักษาระดูไม่ปกติ
มือเท้าชาไม่มีแรง
สารส้มละลายกับน้ำ กินวันละ 1 ครั้ง
ถั่วเขียว กระเทียมตำให้ละเอียด และน้ำตาลทรายแดง ต้มรวมกัน กินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ใช้บำบัดรักษาอาการมือเท้าชาไม่มีแรง
เด็กมีพยาธิ
กระเทียมทุบพอบุบ ใบพลู และน้ำตาลทรายแดง ต้มรวมกัน ใบรำพง (ลำโพง) ย่างไฟตำรวมกับหมากพลู จนมีน้ำ ให้เด็กกินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ใช้บำบัดรักษาเด็กมีพยาธิ
รอบเดือนไม่ปกติ
ใบชะพลู รากต้นมะพร้าว รากต้นหมาก รากต้นกล้วย เปลือกยาหมู (ฝรั่ง) ยอดยาหมู (ฝรั่ง) สารส้ม และน้ำตาลกรวด ต้มน้ำ ขิง ข่า และหัวกระทือ ดองกับสุราขาว รากต้นดาวนตะโบะบูหมี้ (พืชพื้นบ้านชนิดหนึ่ง) ซอยให้ละเอียด แล้วตำรวมกับกระเทียมและพริกไทยเอามาห่อด้วยหมากพลูให้ผู้ป่วยกิน วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเย็น บำบัดรักษารอบเดือนไม่ปกติ
เจ็บคอ
รากต้นหมรุย เคี้ยวกินดิบ ๆ ตาเบ็ดที่ขึ้นสนิมเผาไฟให้แดง แช่น้ำ กินวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร บำบัดรักษาอาการเจ็บคอ
ลมบ้าหมู
ต้นยาปู (ต้นมันปู) และรากต้นเจ็ดชั้น ต้มน้ำรวมกัน กินวันละ 3 ครั้ง บำบัดรักษาโรคลมบ้าหมู
ไม่มีแรง อ่อนเพลีย ตัวเหลือง
เนื้อเต่าทะเลผัดกับขิง ให้ผู้ป่วยกินเป็นประจำ บำบัดรักษาอาการไม่มีแรง อ่อนเพลีย และตัวเหลือง
อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว
อวัยวะเพศของเต่าทะเลตัวผู้ย่างไฟให้แข็ง ดองกับสุรา หรือหางจิ้งจกดองกับสุราขาว กินวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน บำบัดรักษาอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว
ปวดท้อง
กะลามะพร้าวตัวเมียเผาไฟให้เป็นถ่าน แช่น้ำ ใบพลูตำให้ละเอียดผสมกับสุรา น้ำตาลทรายแดงละลายกับสุราขาว และหญ้าเขี้ยวหมูต้มน้ำ กินวันละ 3 ครั้ง บำบัดรักษาอาการปวดท้อง
 
ท้องผูก
มะขามเปียก ส้มเขียวหวาน ใบชุมเห็ด กินก่อนอาหาร บำบัดรักษาอาการท้องผูก
การบ้วน
ปวดฟัน
น้ำเค็ม เปลือกต้นกาหยีเลต้มน้ำ หัวหญ้าส้อพง (เลา) ต้มกับเกลือ รากหรือใบของต้นแก้มหมอ (เหงือกปลาหมอ) ต้มจนน้ำเป็นสีเขียว รากต้นถั่วเล (ถั่วทะเล) ต้มน้ำ และรากต้นตาลโตนดต้มกับเกลือ ใช้อมบ้วนปากตอนเช้าหรือขณะที่ปวดฟัน
การอุด
ฟันที่เป็นรู
ยาเส้น (ยาฉุน) ผสมกับเกลือ เกลือ ส้มควาย (ส้มแขก) หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนเม่นทะเล ฝนให้เป็นผงผสมกับเกลือและพริกไทยป่นละลายให้เข้ากัน รากต้นตาลโตนดตำให้ละเอียด พริกไทยกับเกลือตำให้ละเอียด ตะไคร้กับเกลือตำให้ละเอียด กระดองหมึกฝนให้เป็นผงละลายกับน้ำมะนาวและเกลือ ใบชาบ้านตำ และกระดองหมึกฝนให้เป็นผงใช้อุดฟันที่เป็นรู ให้ทำซ้ำ ๆ กัน จนกระทั่งอาการทุเลา
เลือดกำเดาไหล
ใบพลู ม้วนแล้วอุดรูจมูก ระงับเลือดกำเดาไหล
 
การล้าง
โรคตาแดง
ตาเบ็ดที่ใช้งานแล้ว แช่ในโอ่งน้ำ ตะปูเผาไฟให้ร้อน แช่ในโอ่งน้ำ และน้ำเกลือ บำบัดรักษาโรคตาแดง ใช้ล้างหน้าในตอนเช้าทุกวัน ให้ทำจนกระทั่งหาย
ระดูขาวไม่ปกติ
ให้ลงแช่และล้างอวัยวะเพศในน้ำเค็มบริเวณที่มีปลากระเบนอาศัยอยู่มาก บำบัดรักษาอาการระดูขาวไม่ปกติ
การหยอด
โรคตาแดง
น้ำนมแม่ ใช้หยอดตา บำบัดรักษาโรคตาแดง
โรคหูน้ำหนวก
กระเทียมทุบให้พอแตกเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว ตอนเคี่ยวให้เคี่ยวในฝาหอย ลูกทองหลางฝนละลายกับน้ำ หยอดในหูของผู้ป่วย น้ำมันจันทน์หอม ใบลิ้นห่าน บีบเอาเฉพาะน้ำ ยอดตาลโตนดตำให้พอมีน้ำ หอมทุบพอแตกเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าว และใบต้นลีด้าตะโด้ก (กล้วยไม้ป่า) ย่างไฟบีบน้ำ แล้วใช้หยอดหูของผู้ป่วย วันละหลาย ๆ ครั้ง บำบัดรักษาโรคหูน้ำหนวก
การประคบ
ท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นท้อง
ข้าวสารกับเกลือ คั่วให้มีสีดำ แล้วห่อด้วยผ้า ใช้ประคบที่หน้าอกและชายโครงของผู้ป่วย ให้ทำไปเรื่อย ๆ จนอาการทุเลา บำบัดรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นท้อง
โรคตาแดง
ทรายชายทะเล ห่อผ้า ใช้ประคบตา บำบัดรักษาโรคตาแดง
ไข้หวัด
ยอดอ่อนของมะขาม ต้มให้อุ่นแล้วห่อผ้า ใช้ประคบร่างกายของผู้ป่วยเพื่อช่วยลดความร้อน บำบัดรักษาโรคไข้หวัด
การหมัก
หมักผม
ใบน้อยหน่าตำให้ละเอียดผสมกับสุราขาว ใบน้อยหน่าตำให้ละเอียด และลูกเหม็นตำให้ละเอียด หมักผมทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง จึงล้างออกด้วยน้ำธรรมดาแล้วสระผม
 
การบำบัดรักษาด้วยจิตบำบัด
เป็นการบำบัดรักษาด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ เช่น การปัดรังควาน ท่องคาถา ทำน้ำมนต์ เข้าทรง บนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสะเดาะห์เคราะห์ เป็นต้น การบำบัดรักษาด้วยวิธีเหล่านี้ สืบเนื่องมาจากชาวเลเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจาก “ผีกิน” การบำบัดรักษาจึงต้องให้หมอปัดรังควานเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดี หรือขับไล่ผีให้ออกจากร่างกายของผู้ป่วย หรือติดต่อกับวิญญาณเพื่อหาสาเหตุของการเจ็บป่วย
การบำบัดรักษาด้วยจิตบำบัดแบ่งได้ตามวิธีการรักษา ได้แก่ การปัดรังควานประกอบคาถา การปัดรังควานประกอบคาถาควบคู่กับการบีบนวดและทาน้ำมัน การเสกคาถาสำหรับสมุนไพร การทำน้ำมนต์ และการเข้าทรง ได้ดังนี้
1. การปัดรังควานประกอบคาถา
ชาวเลใช้การปัดรังควานประกอบคาถาเพื่อบำบัดรักษาโรคหลายประเภท เช่น บาดแผล แมลงมีพิษกัดต่อย ปวดประจำเดือน ปวดศีรษะ โรคผิวหนัง ปวดท้อง ไข้ป้าง ฝี และฟกช้ำ เป็นต้น โดยมีวิธีการบำบัดรักษาดังนี้
ถูกพิษปลา หรือสัตว์ทะเลบางชนิด 
ผู้ป่วยตั้งเชี่ยนเพื่อขอรับการบำบัดรักษา หมอจะจัดหมากพลูให้ 1 คำ วางไว้ในเชี่ยนเพื่อทิ้งสาเบด (สาเหตุที่เกิด) จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนหงาย หมอจะนั่งอยู่เหนือศีรษะผู้ป่วยเพื่อเรียกพิษออกจากร่างกายเป็นระยะ เริ่มเรียกพิษด้วยการใช้มือซ้ายบีบไล่จากศีรษะลงไปปลายเท้า ส่วนมือขวาถือหมากพลู 1 คำ ซึ่งได้จัดไว้ในเชี่ยน หมอจับที่ปลายเท้าของผู้ป่วย พร้อมท่องคาถา 3 จบ และเป่าที่แผล 3 ครั้ง เมื่อท่องคาถาครบ 3 จบ ให้ญาติผู้ป่วยซึ่งนั่งอยู่ปลายเท้าของผู้ป่วยรับหมากพลูจากหมอ ไปทิ้งในทะเลให้ไกลจากบ้าน และการรักษาผู้ถูกพิษปลา ผู้ป่วยจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าบ้าน ต้องรออยู่นอกบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าคนถูกพิษปลาจะถูกผีพลอยมา ทำให้คนอื่นซึ่งมีเคราะห์อาจจะได้รับเคราะห์เพิ่ม หมอจึงต้องทำพิธีบำบัดรักษานอกบ้าน โดยผู้ป่วยต้องตั้งเชี่ยนขอรับการบำบัดรักษา หมอจะรับเชี่ยนไว้ แล้วอธิษฐานขอให้สิ่งที่ติดตามผู้ป่วยกลับไปและหมอจะเป็นผู้พาเชี่ยนไปลอยน้ำที่บริเวณชายหาดด้วยตนเอง ส่วนคาถาในการปัดรังควานผู้ป่วยที่ถูกพิษปลา ว่าดังนี้ “เฮ้ สมิละ อูติ อูกาว่าบูฮะ บิลาปารี” ท่องคาถา 3 จบ พร้อมทั้งใช้มือลูบแผลลงล่างและเป่าที่แผล 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จการบำบัดรักษา
ถูกแมลงมีพิษ 
เช่น ผึ้ง ตะขาบ เป็นต้นกัดต่อย มีคาถาในการบำบัดรักษา ดังนี้ “ระงับ โมระงับ นะโม ทายะ โอม ประสิทธี กูและ” ท่องคาถาครบ 3 จบ พร้อมทั้งเป่าบริเวณที่มีอาการเจ็บ 3 ครั้ง เป็นการเรียกพิษออกจากร่างกาย หรือคาถา “เฮ้ สมิละ อูติอูกาว่า บูฮะ บิลาปารี” ท่องคาถา 3 จบ พร้อมทั้งใช้มือลูบร่างกายของผู้ป่วยจากหน้าอกลงปลายเท้าและเป่าที่แผล 3 ครั้ง
อาการปวดประจำเดือน
ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยจะนั่งหรือนอนก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก หมอจะใช้มือขวากดที่ท้องน้อยแล้วลูบลงล่างพร้อมท่องคาถาว่า “โตะไส กาไหน ตูลุด ยาลัด” ท่องคาถา 3 จบ พร้อมเป่าที่ท้องน้อย 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีการบำบัดรักษา
อาการปวดท้อง
ในการบำบัดรักษาจะให้ผู้ป่วยนอนหงาย หมอจะใช้หัวแม่มือขวากดที่สะดือของผู้ป่วยพร้อมท่องคาถา ดังนี้ “มึงอย่าอยู่ มึงไป มึงอย่าอยู่บ้านกู ถ้ามึงอยู่ กูจะฆ่ามึง” เมื่อท่องคาถาครบ 3 จบ หมอจะใช้มือขวาปัดที่ขาทั้งสองข้างลงไปที่ปลายเท้าของผู้ป่วย 3 ครั้ง ซึ่งจะใช้เวลาในการบำบัดรักษาประมาณ 3 วัน
อาการเท้าแพลง
ในการบำบัดรักษาหมอจะให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนก็ได้ ซึ่งหมอจะท่องคาถา ดังนี้ “เฮนำบา ซีลำนา ฮะนะ ปาซัง นะตู ละติ กิ่งงะตู้ กู้สะมิงัด” ท่องคาถา 3 จบ แล้วจึงเป่าลงบริเวณที่เท้าแพลง 3 ครั้ง ใช้เวลาในการบำบัดรักษาประมาณ 3-7 วัน
อาการปวดศีรษะ
ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยจะนั่งหรือนอนก็ได้ หมอจะใช้มือขวาบีบบริเวณหน้าผากทางซ้ายของผู้ป่วยไปทางขวา พร้อมท่องคาถา 3 จบ คาถามีว่าดังนี้ “นะสูญ โมสูญ เจ็บหัวทั้งมูล โอมสิทธีกู ครูอาจารย์ สิทธีกูเอย” เมื่อท่องคาถาจบเป่าที่ศีรษะผู้ป่วย 3 ครั้ง จากนั้นหมอใช้นิ้วหัวแม่มือขวาแตะกลางเพดานปาก 1 ครั้ง และโคนฟันกรามเข้าซ้าย 1 ครั้ง แล้วจึงเอานิ้วหัวแม่มือมาแตะหน้าผากผู้ป่วย พร้อมท่องคาถา 3 จบว่า “มะทู กูหลุด ยาหลัด” จึงเป่าที่หน้าผากผู้ป่วย 3 ครั้ง การที่หมอใช้นิ้วแตะเพดานปาก เพื่อกันของไม่ดีไม่ให้เข้าสิงผู้ป่วย เช่น ผีชิน เป็นต้น
ไข้ป้าง (ไข้มาเลเรีย)
ในการบำบัดรักษาหมอจะให้ผู้ป่วยนอน โดยหมอจะนั่งอยู่ในระดับเดียวกับหน้าอกของผู้ป่วย แล้วท่องคาถาว่า “นโม สูญ นะสูญ ให้หายด้วยสูญ” หมอจะท่องคาถาจนครบ 3 จบ แล้วจึงใช้มือปัดจากหน้าอกถึงปลายเท้าผู้ป่วย 3 ครั้ง ใช้เวลาในการบำบัดรักษาประมาณ 3-7 วัน 
โรคพยาธิในเด็ก
ก่อนบำบัดรักษา หมอจะทำพิธีบูชาครู เป็นอันดับแรก จากนั้นหมอจะให้เด็กนั่งหรือนอนแล้วแต่สะดวก แล้วท่องคาถาพร้อมปัดรังควานให้เด็ก ซึ่งมีคาถาดังนี้ “ครูหมออาจารย์ เดือนทอง เดือนเงิน ครูหมออาจารย์ช่วยปัดด้วย” ท่องคาถา 3 จบ หมอเป่าที่ท้องเด็ก 3 ครั้ง ใช้ปูน (กินหมาก) วาดเป็นรูปกากบาท หลังจากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือขวากดลงที่ท้องเด็ก 3 ครั้ง จะบำบัดรักษาตอนกลางคืน ประมาณ 3 คืน 
ฝี
ในการบำบัดรักษาหมอจะให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอน โดยหมอจะนั่งอยู่บริเวณเหนือแผลของผู้ป่วย แล้วท่องคาถาดังนี้ “เฮนำบา ซีลำนา ฮะนะ ปาซัง นะตู ละติ กิ่งงะตู้ กู้สะมิงัด” ท่องคาถาครบ 3  จบ แล้วเป่าที่แผล 3 ครั้ง จะท่องคาถาและปัดรังควานจนแผลยุบใช้เวลาในการบำบัดรักษาประมาณ 3 วัน
โรคผิวหนัง
เช่น หิด กลาก และเกลื้อน เป็นต้น ให้ทำในขณะที่อาบน้ำ ซึ่งคาถามีดังนี้ “มึงอย่าอยู่นะ มึงไปเสียนะ” ท่องคาถาครบ 3 จบ ใช้มือปัดตั้งแต่ศีรษะลงไปถึงปลายเท้า 3 ครั้ง
อาการฟกช้ำ
หมอเอาปูน (กินหมาก) ป้ายที่ใบจาก (ยาสูบ) วางไว้ใกล้ตัวหมอ ให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอน หมอจะท่องคาถาดังนี้ “เฮนำบา ซีลำนา ฮะนะ ปาซัง นะตู ละติ กิ่งงะตู้ กู้สะมิงัด” ท่องคาถาครบ 3  จบ เป่าบริเวณที่ฟกช้ำ 3 ครั้ง จากนั้นเอาปูน (กินหมาก) ที่ป้ายไว้ในใบจาก (ยาสูบ) วาดเป็นรูปกากบาทบริเวณที่ฟกช้ำ ใช้เวลาในการบำบัดรักษาประมาณ 3 วัน 
ห้ามเลือดที่ถูกของมีคมบาด
การบำบัดรักษาทำได้โดยใช้มือหยิบที่แผล พร้อมท่องคาถาดังนี้ “ระงับเหอระงับ ไม่ระงับ งับไม่ได้ ให้หยุดนะ ไม่หยุดไม่ได้ หยุดนะ” เมื่อท่องคาถาครบ 3 จบ จึงคลายมือที่หยิบแผลออก เสร็จพิธีการบำบัดรักษา
2. การปัดรังควานประกอบคาถาควบคู่กับการบีบนวดและทาน้ำมัน
อาการปวดศีรษะ
หมอใช้มือทั้งสองข้างบีบนวดบริเวณขมับของผู้ป่วย พร้อมท่องคาถาว่า “บิสสิมินลา กูลังไวย บาเกะบาล่า” ท่องคาถา 3 จบ เป่าบริเวณขมับผู้ป่วย 3 ครั้ง ให้ทำตอนเช้ามืด 1 ครั้ง และก่อนตะวันตกดิน 1 ครั้ง
หมอจะใช้มือทั้งสองข้างบีบนวดที่ท้ายทอยและคอของผู้ป่วยควบคู่กับการท่องคาถา มีคาถาในการบำบัดรักษาว่า “คำอยู่ อย่าอยู่ ให้ไป” เมื่อท่องคาถาครบ 3 จบ หมอจะใช้มือลากปัดที่ขาผู้ป่วยลงไป 3 ครั้ง เพื่อเป็นการขับไล่ความเจ็บปวดให้ออกไปจากร่างกายของผู้ป่วย
ผู้ป่วยนั่งให้หมอบีบนวด หมอใช้มือทั้งสองข้างบีบนวดที่ขมับของผู้ป่วย บีบเรื่อยลงมาถึงหน้าผาก ใช้นิ้วหัวแม่มือคลึงหน้าผากผู้ป่วย พร้อมท่องคาถาว่า “บิสมินลา สะและบูงัง ซาลาอีนี่ ปานะ ปานะ บูงังฮาตู กะลิ่ง ฮาลิ่ง กิลิ่ง กู้สะมิงัด” เมื่อท่องคาถาครบ 3 จบ หมอจะเป่าที่ศีรษะผู้ป่วย 3 ครั้ง
โรคเจ็บกระดูก และเจ็บตามข้อ
ในการบำบัดรักษาหมอจะใช้มือทั้งสองข้างบีบบริเวณที่เจ็บลงมาจนถึงปลายเท้าของผู้ป่วย พร้อมท่องคาถา ซึ่งมีคาถาดังนี้ “บิสมินลา อีกูละกิปี อันบูร็อก อันสะติ กูอันติ ตูตาฮัน ตงบาเละ หม้อเด หม้อด” ท่องคาถาจนครบ 3 จบ เป็นอันเสร็จพิธีบำบัดรักษา ส่วนคำว่า “หม้อด หม้อด” ในตอนท้ายของคาถามีความหมายว่าให้กลับไป เป็นการไล่ผีที่ทำให้เจ็บออกจากร่างกายของผู้ป่วย
ในการบำบัดรักษาหมอจะให้ผู้ป่วยนอนหงาย จากนั้นหมอจะใช้เท้าขวาเหยียบบริเวณที่เจ็บ พร้อมท่องคาถาดังนี้ “มึงต้องไป ไม่ไปไม่ได้” เมื่อท่องคาถาครบ 3 จบ หมอจะใช้มือขวาปัดที่ขาทั้งสองข้างลงไปที่ปลายเท้าของผู้ป่วย 3 ครั้ง ใช้เวลาในการบำบัดรักษาประมาณ 3-7 วัน 
อาการปวดเอว
ผู้ป่วยนั่งเหยียดขาทั้งสองข้างมาข้างหน้า เอามือทั้งสองข้างวางไว้ที่สะโพก กลั้นลมหายใจ พร้อมท่องคาถาดังนี้ “ปะ” เอามือตบที่สะโพกทั้งสองข้าง “มะ” เอามือตบที่หน้าขาทั้งสองข้าง “โฮ” เอามือตบที่หัวเข่าและข้อเท้า ซึ่งผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
อาการกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก และเท้าแพลง
ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยจะนั่งหรือนอนก็ได้ หมอจะใช้น้ำมันมะพร้าวเคี่ยวทาบริเวณที่มีอาการเจ็บ และใช้มือทั้งสองข้างบีบนวด พร้อมท่องคาถาดังนี้ “ให้บายแหละ ให้ไป อย่าอยู่เลย” หมอจะท่องคาถา 3 จบ แล้วใช้มือขวาปัดจากหน้าอกลงไปที่ปลายเท้าของผู้ป่วย 3 ครั้ง เสร็จพิธีการบำบัดรักษา สำหรับมะพร้าวที่ใช้เคี่ยวเพื่อทำน้ำมันไว้ทา ใช้มะพร้าวสุกตัวเมีย และให้เคี่ยวน้ำมันในวันพุธกลางวัน เพราะเชื่อว่าจะทำให้ขลังและหายเร็วขึ้น
มดลูกแห้ง เข้าอู่เร็ว
สำหรับผู้หญิงที่คลอดบุตรใหม่ ๆ การบำบัดรักษาจะใช้การท่องคาถาควบคู่กับการคัดท้อง และการอยู่ไฟ ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยตั้งเชี่ยนขอให้หมอรักษา หมอทำพิธีบูชาครู และยกเชี่ยนให้ครู พร้อมทั้งบอกกล่าวขอรักษา เริ่มบำบัดรักษาโดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย หมอจะใช้เท้าข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ เหยียบที่หน้าขาของผู้ป่วยข้างซ้ายก่อน จะเหยียบกี่ครั้งก็ได้ เสร็จแล้วจึงมาเหยียบที่หน้าขาข้างขวาของผู้ป่วย แล้วจึงให้ผู้ป่วยนั่งหมอจะบีบหลัง และเอวของผู้ป่วย จากนั้นหมอจะคัดที่ท้องน้อยของผู้ป่วยด้วยมือทั้งสองข้าง พร้อมท่องคาถาว่า “บิสมินลา ตาแวอาละ ตาแวมูฮัมหมัด ตาแวฮูลูนัย รอซูลุลลอฮ์ บูกัดตูตาไวย ตูฮัดรุกะนา ตะไวยตะแก ตะนอรูแงะ บูเกะตางี สาว ๆ รูปูเต๊ะ บีวาตูฮัด ราอีตู้ ตูฮัด จะกานาบอย ตอยกีนาตาออบ อาดูอะนะอีตู้ ต็อดบัยบิมาบ็อยต็อด ไบบิมาดูอะดะอิตู กู้สะมิงัด” หมอจะท่องคาถา 3 จบ พร้อมเป่าที่หมากพลู ซึ่งผู้ป่วยได้จัดเตรียมไว้ 1 คำ 3 ครั้ง ให้ผู้ป่วยกิน ส่วนน้ำหมากที่เหลือเอามาที่ท้องน้อยของผู้ป่วย
3. การเสกคาถาสำหรับสมุนไพร
โรคคางทูม
ให้ใช้ปูน (กินหมาก) ละลายกับน้ำ พร้อมท่องคาถากำกับ 2 จบ คาถามีดังนี้ “บิสมินลา บูกะดะ อันอาตูบูกะล่า บูกะตะ วันอาตู เดอามูกะ กะโลเดอา ตางันกูกะจ้อด เดอากะจ้อด หือดือ” เมื่อท่องคาถาครบ 2 จบ หมอจะเป่าที่สมุนไพร 2 ครั้ง จากนั้นให้ผู้ป่วยทาสมุนไพรบริเวณที่บวม ในการทาให้ทาลง ห้ามทาขึ้น เพราะเชื่อว่าถ้าทาขึ้นพิษจะวิ่งขึ้นบนทำให้การรักษาโรคไม่หาย การบำบัดรักษาจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน
อาการไอ
เอาสมุนไพรที่จะใช้วางไว้ตรงหน้าหมอ หมอจะเสกคาถากำกับสมุนไพรนั้น ซึ่งมีคาถาดังนี้ “บิสมินลา โต๊ะอาดำ โต๊ะอาหวา นี่แหละทูบ่วย บาโต กูจิ กูลิ บาเกาะ กู้สะมิงัด” หมอจะท่องคาถาจนครบ 3 จบ เป่าที่สมุนไพร 3 ครั้ง จากนั้นจึงเอาสมุนไพรมาทาคอ
โรคผิวหนัง
การบำบัดรักษาหมอจะเสกหมากพลูให้ 1 คำ โดยเสกคาถากำกับ ซึ่งคาถามีดังนี้ “นะโม พุทโธ ภควะโต” เมื่อท่องคาถาครบ 3 จบ หมอจะใช้มือปัดลากจนศีรษะลงไปที่ปลายเท้าผู้ป่วย 3 ครั้ง จากนั้นให้ผู้ป่วยเคี้ยวหมากพลูที่เสกคาถาแล้ว หลังจากนั้นจึงเอาน้ำหมากพลูทาตัว 
อาการปวดท้องประจำเดือน
เอาสมุนไพรวางไว้ข้างหน้าหมอ หมอจะท่องคาถาดังนี้ “บิสมินลา อมพูรี คาพูรี อูรีกะจิอูรี สะปะสะบูกัน กวาสาบูกัน กวาสาอากู กวาสาอัลละ สาเกียนอูริกะจิ อูริบาสะ ปูลังบารีบาเละ ปูลังบาเละ บีปะเดะอัลละ” เมื่อหมอท่องคาถาครบ 3 จบ เป่าลงบนสมุนไพร 3 ครั้ง จึงนำสมุนไพรมาบำบัดรักษาเป็นลำดับต่อไป
4. การทำน้ำมนต์
ไข้ทับระดู
ในการบำบัดรักษาหมอจะทำพิธีบูชาครูอาจารย์เป็นอันดับแรก และบอกกล่าวครูอาจารย์เพื่อขอรักษา จากนั้นให้ผู้ป่วยนั่งหันห้าเข้าหาหมอ ซึ่งหน้าหมอมีขันน้ำมนต์วางอยู่ หมอจะเสกคาถากำกับในน้ำมนต์ ดังนี้ “โต๊ะนองโต๊ะชา โต๊ะมูหา ครูหมออาจารย์ช่วยด้วย ไข้ผ่าดู ดูผ่าไข้ ครูหมออาจารย์ช่วยด้วย” ท่องคาถาครบ 3 จบ หมอใช้ใบเฉียงพร้า (กระดูกไก่ดำ) หรือใบเงินใบทอง 3 กิ่ง จุ่มน้ำในขันพรมศีรษะผู้ป่วย 3 ครั้ง ส่วนน้ำที่เหลือจากพรมศีรษะผู้ป่วยให้ญาติผู้ป่วยนำไปทิ้งหน้าบ้านหมอให้หมด ใช้เวลาในการบำบัดรักษาประมาณ 3-7 วัน
5. การเข้าทรง
อาการทางจิต
ถ้าผู้ป่วยมีอาการทางจิตโดยไม่ทราบสาเหตุมาขอให้หมอบำบัดรักษา หมอจะให้ผู้ป่วยตั้งเชี่ยนเพื่อขอรับการบำบัดรักษา ซึ่งในเชี่ยนประกอบด้วย หมากพลู 3 คำ ใบจาก 3 มวน เทียน 1 เล่ม และข้าวสารที่คลุกขมิ้นจนเหลืองพอประมาณ มอบให้หมอ หมอจะรับเชี่ยนไว้นำไปบูชาครูและบอกกล่าวขออนุญาตรักา ขั้นตอนการบำบัดรักษา หมอจะให้ผู้ป่วยนอนหงาย หมอจะหยิบข้าวสามารมากำหนึ่ง ท่องคาถากำกับที่ข้าวสาร 3 จบ จากนั้นหมอจะซัดข้าวสารเริ่มตั้งแต่ศีรษะลงมาจนถึงปลายเท้าของผู้ป่วย 3 ครั้ง แล้วจึงหยิบหมากพลู 1 คำ ยาสูบใบจาก 1 มวน หมอท่องคาถากำกับ 3 จบ วางไว้ที่ฝ่าเท้าของผู้ป่วย หมอจะประกอบพิธีเรียกผีให้ออกจากร่างกายของผู้ป่วยให้มาอยู่ในหมากพลูและยาสูบใบจากด้วยการทำสมาธิ และการท่องคาถา 3 จบ จากนั้นให้ญาติของผู้ป่วยนำหมากพลูและใบจาก (ยาสูบ) ไปทิ้งในทะเลให้ไกลบ้านมากที่สุด ในขณะที่บำบัดรักษาเทียนจะต้องติดอยู่ตลอดเวลา 
อาการถูกคุณ หรือถูกผี
ผู้ป่วยจะตั้งเชี่ยนขอรับการบำบัดรักษาจากหมอ ซึ่งในเชี่ยนประกอบด้วย หมากพลู 3 คำ ใบจาก (ยาสูบ) 3 มวน กำยานพอประมาณ และเทียน 1 เล่ม มามอบให้หมอเพื่อขอให้หมอรักษา หมอจะรับไว้แล้วนำไปบูชาครู พร้อมบอกกล่าวครูเพื่อขอรักษาโรคให้ผู้ป่วย ขั้นตอนของการบำบัดรักษา หมอจะจุดเทียนและเผากำยาน จากนั้นทำสมาธิติดต่อกับวิญญาณครู เพื่อเชิญมาประทับทรง เมื่อครูมาประทับทรงแล้ว หมอจะไม่รู้สึกตัว วิญญาณครูที่มาประทับทรงจะเป็นผู้บำบัดรักษาด้วยการปัดรังควานประกอบคาถา โดยที่ผู้ป่วยจะนอนหงาย ร่างทรงนั่งอยู่ระดับเดียวกับหน้าอกของผู้ป่วย และเริ่มปัดจากศีรษะมาถึงปลายเท้าของผู้ป่วย 3 ครั้ง พร้อมท่องคาถา 3 จบ เสกน้ำมนต์ให้ดื่ม หรือเสกหมากพลูให้กิน วิญญญาณครูจะใช้เวลาในการบำบัดรักษาผู้ป่วย 3-7 วัน จะบำบัดรักษาให้เฉพาะเวลาบ่ายและเวลาเย็นเท่านั้น 
ผู้ป่วยตั้งเชี่ยนขอรับการบำบัดรักษาจากหมอซึ่งในเชี่ยนประกอบด้วย หมากพลู 3 คำ ใบจาก (ยาสูบ) 3 มวน ยาเส้น 3 คำ เทียน 1 เล่ม ข้าวตอก 1 กำ กำยานพอประมาณ และเงิน 200 บาท มอบให้หมอ หมอจะรับเชี่ยนไว้บูชาครู ขั้นตอนการบำบัดรักษา หมอจะใช้ผ้าพันศีรษะ 1 ผืน (เป็นผ้าประจำตัวของหมอ เรียนว่าผ้าบัน) ใส่สร้อยลูกประคำ 3 เส้น แล้วเริ่มบูชาครู โดยการจุดเทียนและเผากำยานบอกกล่าวครูคือโต๊ะตาหมี่ จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยนอนหงาย เอาหมากพลู 1 คำ ใบจาก 1 มวน และยาเส้น 1 คำ จากในเชี่ยนวางไว้ใต้ฝ่าเท้าของผู้ป่วย เริ่มบำบัดรักษาโดยทำสมาธิติดต่อกับครู เพื่อให้รู้ว่าผู้ป่วยถูกผีตนใดกระทำ จากนั้นใช้ใบเฉียงพร้า (กระดูกไก่ดำ) ปัดจากศีรษะลงไปถึงปลายเท้าของผู้ป่วย พร้อมท่องคาถาดังนี้ “บิสมินลา อะสัน อันอันอะละ ปูกันกวาสาอะกู กวาสาอะเกา กันกัน อินสินตัน ว้าบาและ ปิปะตะล่ะ” เมื่อท่องคาถาครบ 3 จบ และปัดรังควานครบ 3 ครั้ง หมอจะหยิบหมากพลู ใบจาก (ยาสูบ) และยาเส้น จากใต้ฝ่าเท้าของผู้ป่วย ให้ญาติของผู้ป่วยนำไปทิ้งในทะเลหรือในป่า ให้ไกลจากบ้านมากที่สุด เมื่อทิ้งแล้วห้ามหันกลับไปมอง เพราะเชื่อว่าถ้าหันกลับไปมองผีจะตามกลับมาสิงสู่ผู้ป่วยอีก และถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักมากถึงขั้นเพ้อ พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้สึกตัว ตอนตั้งเชี่ยนให้เพิ่มด้ายดิบ 1 กำ และหัวไพล 1 หัว การบำบัดรักษานอกจากจะปัดรังควานประกอบคาถาแล้ว หมอจะทำน้ำปูเละให้ผู้ป่วยอาบ ในการทำน้ำปูเละจะประกอบด้วย มะกรูด 3 ลูก มะนาว 3 ลูก ย่านสะบ้าพอประมาณ และเข็มเย็บผ้า 1 เล่ม เอาของทั้งหมดใส่ในน้ำ พร้อมท่องคาถาดังนี้ “บิสมินลา ยินบารอเอ เอสะราเอ มินกะเอ” ท่องคาถา 3 จบ พร้อมกันนั้นหมอจะเสกหมากพลูให้กิน 3 คำ และเสกด้ายดิบผูกข้อมือหรือผูกแขนให้ผู้ป่วย ถ้าหากผู้ป่วยอาบน้ำปูเละแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ให้เอาหัวไพลที่ผู้ป่วยตั้งเชี่ยนมาตำให้ละเอียดหมอจะท่องคาถากำกับ แล้วทาที่ฝ่าเท้าของผู้ป่วย จากนั้นหมอจะถามผีที่สิงผู้ป่วยว่าใครใช้ให้มา มาทำอะไร หมอจะถามจนได้คำตอบที่พอใจจึงประกอบพิธีปัดรังควานเพื่อขับไล่ผีให้ออกไป
 
 
การบำบัดรักษาด้วยกายบำบัด
การประคบ
อาการฟกช้ำ 
จะใช้ผ้าม้วนเป็นก้อนกลม จ่อไว้ที่ปาก แล้วเป่าลงไปที่ผ้า นำผ้ามาประคบบริเวณที่ฟกช้ำหลาย ๆ ครั้ง จนอาการช้ำทุเลาลง 
สตรีที่คลอดบุตรใหม่ ๆ มดลูกเข้าอู่และแผลแห้งเร็ว 
ให้ใช้น้ำอุ่นใส่ขวดประคบที่ท้องน้อย หรือเอาหินเป็นก้อนเผาไฟ แล้วนำมาห่อผ้าประคบที่ท้องน้อย จะช่วยให้เลือดเสียที่คั่งค้างไฟลออกมาหมด
ปวดท้องประจำเดือน
ให้ใช้น้ำอุ่นใส่ขวดประคบที่ท้องน้อยหลาย ๆ ครั้ง หรือทำจนรู้สึกอาการทุเลาลง
การบีบนวด
เป็นลมหมดสติ
ให้บีบนวดเส้นเอ็นบริเวณขาและน่องของผู้ป่วย โดยนวดจากขาลงไปถึงปลายเท้า บีบนวดบริเวณท้ายทอย บีบนวดเส้นที่ข้างคอทั้งสองข้าง และบีบจับเส้นบริเวณใต้รักแร้ ให้บีบนวดเรื่อยมาจนถึงหลัง และฝ่าเท้าของผู้ป่วย ให้บีบนวดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสติ
 
ปวดศีรษะ
ให้บีบนวดที่บริเวณขมับและหน้าผากของผู้ป่วย ตลอดจนบีบนวดที่ท้ายทอย ต้นคอและหัวไหล่ ให้บีบนวดซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง จนอาการดีขึ้น 
ปวดฟัน
สามารถใช้การบีบนวดได้ โดยบีบนวดเส้นที่มือ ถ้าหากปวดฟันข้างซ้ายให้บีบเส้นที่มือข้างขวาระหว่างหัวแม่มือกับนิ้วชี้ และหากปวดฟันข้างขวา ให้บีบมือข้างซ้ายบริเวณเดียวกัน
อาการเจ็บในกระดูก
หมอจะบีบนวดด้วยมือทั้งสองข้าง โดยเริ่มบีบนวดจากบริเวณที่เจ็บเรื่อยมาจนถึงปลายเท้าของผู้ป่วย ให้บีบนวดซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง จนอาการดีขึ้น
การบีบนวดและทาน้ำมัน
อาการบวม เส้นตึง และปวดเอว ปวดหลัง
จะใช้น้ำมันมะพร้าวเคี่ยว หรือน้ำมันงาทาบริเวณที่บวม โดยหมอจะใช้มือทั้งสองข้างจับเส้นที่บวมหรือตึง และบริเวณเอวหรือหลัง   บีบนวดลงมาจนถึงปลายเท้า หมอจะจับเส้นและบีบนวดสลับกับการทาน้ำมันซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง
เท้าแพลง
หมอจะบีบนวดและทาน้ำมันมะพร้าวเคี่ยว โดยเริ่มทาน้ำมันและบีบเท้าที่แพลงด้วยมือทั้งสองข้าง บีบนวดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายเท้า หมอจะบีบนวดซ้ำกันหลาย ๆ ครั้งสลับกับการทาน้ำมัน
 
การปฏิบัติตามข้อห้าม
บาดแผลถูกพิษปลา
ห้ามรับประทานปลาไม่มีเกล็ด เช่น ปลาทู ปลาดุกทะเล และปลากระเบน เป็นต้น เพราะจะทำให้แผลหายช้า
โรคเริม
ห้ามรับประทานเนื้อโค เนื้อกระบือ เป็ด ไก่ เนื้อสุกร และปลาไม่มีเกล็ด เช่น ปลาทู ปลาดุกทะเล เป็นต้น เพราะจะทำให้แผลเปื่อยและหายช้า
กระดูกหัก เท้าแพลง และบวม 
ห้ามรับประทานกล้วยทุกชนิด
ระดูขาวมาก
ห้ามรับประทานยอดมะม่วงหิมพานต์ และยอดกระถิน 
โรคเบาหวาน
ห้ามรับประทานอาหารหมักดอง และปลาไม่มีเกล็ด 
แผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้
ห้ามรับประทานเนื้อไก่ เนื้อกระบือ และปลาไม่มีเกล็ด
ไข้หัด (อีสุกอีใส)
ห้ามรับประทานเนื้อไก่ แต่ให้รับประทานเนื้อหมูแทน
โรคตาแดง 
ห้ามรับประทานเนื้อไก่ เพราะจะทำให้หายช้า
ไข้ทับระดู 
ห้ามรับประทานปลาไม่มีเกล็ด และหอยทุกชนิด
โรคผิวหนัง
ห้ามรับประทานปลาไม่มีเกล็ด เนื้อไก่ และเนื้อกระบือ
เพิ่งคลอดบุตรใหม่ ๆ
ห้ามรับประทานน้ำมะพร้าวอ่อน เพราะจะทำให้เลือดขึ้น และห้ามรับประทานปลาไม่มีเกล็ด เพราะจะทำให้แผลหายช้า
โรคคางทูม
ห้ามรับประทานอาหารทุกชนิดที่ห่อด้วยใบตอง
 
ขั้นหลังการบำบัดรักษา
1. การจัดขันหมากบูชาครู
ขันหมากบูชาครู มีเครื่องประกอบขันหมาก ได้แก่ หมากพลู 3 คำ เข็มเย็บผ้า 1 เล่ม เกลือหยาบ 1 เม็ด โดยเอาเข็มเย็บผ้าและเกลือหยาบห่อกระดาษให้มิดชิด ผ้าถุงสีดำ 1 ผืน ผ้าต้อหล้า (ผ้าเช็ดตัว) 1 ผืน ส่วนเงินแล้วแต่จะใส่ ผู้ป่วยจะนำขันหมากบูชาครูมามอบให้หมอด้วยตัวเอง หลังจากที่ได้รับการบำบัดรักษาจนหายจากโรค หมอจะรับขันหมากบูชาครูจากผู้ป่วยด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน เมื่อรับขันหมากบูชาครูแล้วหมอจะนำไปวางไว้ที่บนหิ้งหรือหน้าหิ้งครู และบอกกล่าวครู พร้อมทั้งมอบของทั้งหมดให้ครู ก่อนจะขออนุญาตจากครูเพื่อนำสิ่งของเหล่านั้นไปใช้ในโอกาสต่อไป
2. การให้ค่าสมนาคุณหมอ
ผู้ป่วยจะให้ผ้าขาวยาวหลาครึ่งไว้สำหรับให้หมอบูชาครู หรือใช้โพกศีรษะในเวลารักษาผู้ป่วย ส่วนเงินแล้วแต่ผู้ป่วยจะให้ และค่าสมนาคุณบางอย่างขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยบนบานอะไรเอาไว้ เมื่อหายก็จัดมาให้ตามที่ได้บนบาน หรือ
เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคที่มาขอให้บำบัดรักษา ผู้ป่วยจะให้ข้าวสาร และน้ำตาลทรายขาว ส่วนเงินแล้วแต่ผู้ป่วยจะให้ หรือ
เมื่อผู้ป่วยหายจากโรค จะให้ค่าสมนาคุณหมอ ดังนี้ กล้วยน้ำว้า 1 หวี ข้าวเหนียว และน้ำตาลทรายขาว ส่วนเงินแล้วแต่จะให้ หรือ
เมื่อผู้ป่วยหายจากโรค ส่วนใหญ่จะให้เงินหมอ
3. การแก้บน
ชาวเลจะแก้บนอยู่ 2 ประเภท คือ การทำนู่หรี (ทำบุญ) และการนอนหาด
3.1 การทำนู่หรี (ทำบุญ)
ผู้ป่วยที่มาบำบัดรักษาจะบนบานขอให้หายจากโรค ถ้าหายก็จะแก้บนด้วยการทำนู่หรี (ทำบุญ) ให้รับประทาน ด้วยแกงแพะ แกงไก่ หรือหุงข้าวเหนียวเหลือง ซึ่งเมื่อหายจริงต้องทำตามที่ได้ให้สัญญาไว้ โดยการทำอาหารแล้วเชิญหมอพร้อมกับชาวบ้านใกล้เคียงมารับประทานอาหารร่วมกัน ก่อนจะร่วมรับประทานอาหาร ผู้บนบานต้องเผากำยาน และออกชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้บนบานเอาไว้ พร้อมตั้งอาหารไว้ชุดหนึ่งเพื่อเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์
 
3.2 การนอนหาด
ในวันขึ้น 13 ค่ำ กลางวัน ชาวเลแต่ละครอบครัวจะสร้างกระท่อมพอกันน้ำค้างได้สำหรับนอนในช่วงกลางคืน โดยใช้วัสดุที่หาได้ในบริเวณนั้นมาสร้าง เช่น ใช้ทางมะพร้าวทำหลังคา เป็นต้น ส่วนกลางวันจะกลับมาประกอบอาชีพตามปกติ และจะเดินทางไปที่หาดอีกครั้งในเวลาเย็นประมาณ 18 นาฬิกา เพื่อมาประกอบอาหาร และประกอบพิธีกรรมร่วมกัน ซึ่งชาวเลจะไปประกอบพิธีและพักค้างคืนที่หาดกันทั้งครอบครัว โดยที่บ้านจะไม่มีผู้ใดพักอยู่เลยตลอดทั้ง 3 คืนที่ประกอบพิธีกรรม
พิธีในคืนแรก 13 ค่ำ
ชาวเลจะหุงข้าวเหนียวไปถวายโต๊ะหินลูกเดียว ที่หลาโต๊ะ (ศาลาที่ชาวเลสร้างขึ้นเพื่อให้วิญญาณโต๊ะหินลูกเดียวสิงสถิตย์) จากนั้นพิธีกรรมจะเริ่มขึ้นโดยการเชิญ (เชื้อ) วิญญาณโต๊ะหินลูกเดียวให้มาประทับร่างทราง โดยโต๊ะหมอ (หมอพื้นบ้าน) ประจำหมู่บ้าน 2 คน คือ แน็น ต้นเก และแขบ กินหรา เมื่อวิญญาณโต๊ะหินลูกเดียวมาประทับร่างทรงแล้ว ชาวเลที่บนบานเอาไว้จะเริ่มแก้บนกับร่างทราบ ซึ่งแล้วแต่ว่าได้สัญญาอะไรไว้ เช่น บนบานว่าถ้าหายจะรำรองเง็ง หรือรำวง ให้ดู ก็ต้องทำตามสัญญา หรือบนบานว่าจะทำอาหารให้โต๊ะหินลูกเดียวรับประทาน ก็ต้องทำอาหารมาให้ อาหารที่ทำมา เช่น ข้าว แกง ขนมจีน หมากพลู 3 คำ กำยาน น้ำหวาน น้ำเปล่า และธูปเทียน เป็นต้น อาหารที่บนบานให้โต๊ะหินลูกเดียวรับประทาน ต้องยกเว้นอาหารที่มีหมู เพราะชาวเลเชื่อว่าโต๊ะหินลูกเดียวเป็นมุสลิม เสร็จจากการแก้บน ชาวเลทุกคนที่บนบานไว้จะพากะแอ้แปนั้ง (ไม้หมากที่เหลาแล้วนำมาจากบ้าน) ยาวประมาณ 1 ศอก รวบรวมมาตั้งไว้ที่หลาโต๊ะ (ศาลาที่สิงสถิตย์วิญญาณโต๊ะหินลูกเดียว) เพื่อให้ร่างทรงรมควันกำยาน เมื่อรมควันกำยานเสร็จ กะแอแปนั้งจะเก็บไว้ที่หลาโต๊ะ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายจนกว่าจะเสร็จพิธีในตอนเช้าของวันขึ้น 1 ค่ำ และชาวเลที่บนบานไว้จุดเทียนคนละ 1 เล่ม ตั้งไว้ที่หลาโต๊ะ เสร็จพิธีกรรมการแก้บนในคืนแรก ส่วนชาวเลจะสนุกสนานด้วยการรำรองเง็ง และรำวงต่อจนเกือบสว่าง
 
คืนที่สอง 14 ค่ำ 
จะประกอบพิธีกรรมเช่นเดียวกับคืนแรก เหตุที่ประกอบพิธีกรรมเหมือนกับคืนแรกเพราะว่า ชาวเลที่อยู่ไกลอาจจะมาไม่ทันประกอบพิธีกรรมในคืนแรก ก็สามารถจะมาประกอบพิธีกรรมในคืนที่สองและคืนที่สามได้ หลังจากเสร็จพิธีกรรมแล้ว ชาวเลจะร้องรำและดื่มสุรากันอย่างสนุกสนานเกือบตลอดคืน ชาวเลชอบความสนุกสนานและงานรื่นเริงมาก เพราะฉะนั้นในการนอนหาดชาวเลจึงได้สนุกสนานกันเต็มที่ตั้งแต่ผู้ใหญ่ไปจนถึงเด็ก ๆ ซึ่งสามารถสนุกสนานได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวโดยตำหนิ เพราะทุกคนจะปฏิบัติเหมือนกัน
คืนที่สาม 15 ค่ำ 
พิธีกรรมเริ่มด้วยการเชิญโต๊ะหินลูกเดียวมาประทับร่างทราบ จากนั้นพิธีกรรมก็ดำเนินไปเหมือนสองคืนแรก จนเวลาประมาณ 3 ทุ่ม โต๊ะหินลูกเดียวบอกลา (คือขอออกจากร่างคนทรง) ก่อนที่ร่างทรงจะบอกลาผู้ป่วยจะบอกกล่าวกับร่างทรงว่า ขอให้หมดเหมรยหรือขาดเหมรยกันในปีนี้ จากนั้นร่างทรงลา (โต๊ะหินลูกเดียวออกจากร่างคนทรง) เป็นอันเสร็จพิธีกรรมในคืนสุดท้าย แต่ชาวเลยังประกอบกิจกรรมบันเทิงกันต่อจนเกือบสว่างจึงเข้านอน หรือบางคนไม่นอนเลยเพราะกลัวตื่นไม่ทันประกอบพิธีตอนเช้า
รุ่งเช้าของวันขึ้น 1 ค่ำ เวลาประมาณ 6 โมงเช้า ชาวเลที่ได้บนบานเอาไว้จะไปจุดเทียนที่หลาโต๊ะ พร้อมทั้งบอกว่า “ขอให้ขาดเหมรยกันตั้งแต่วันนี้” จากนั้นเอาไว้หมากซึ่งวางไว้ที่หลาโต๊ะไปทิ้งในทะเล พร้อมทั้งขอข้าวตอกจากโต๊ะหมอโปรยลงไปในทะเล เพื่อให้หมดพันธะสัญญาระหว่างผู้ป่วยกับสิ่งที่ได้บนบานเอาไว้ จากนั้นชาวเลจะรื้อที่พักชั่วคราวที่สร้างไว้ เก็บกวาดทำความสะอาดบริเวณสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม แล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน เป็นอันเสร็จการแก้บนด้วยการนอนหาดของชาวเลเผ่ามาชิงในจังหวัดภูเก็ต
 
 
***
มนุษยศาสตร์  ยารักษาโรคของชาวเล  
ยารักษาโรค
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1529
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1069
mod_vvisit_counterทั้งหมด10723455