Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
เมืองถลางบางโรง PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 08 มิถุนายน 2009

เมืองถลางบางโรง

 

ประสิทธิ ชิณการณ์
ที่ปรึกษากลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ
๑๗ เมษายน ๒๕๔๔

 

เมื่อพระยาทุกรราช (เทียน) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดให้เป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง เจ้าเมืองถลาง ในปี พ.ศ.๒๓๓๒ แล้ว ก็ได้เคลื่อนย้ายผู้คนส่วนหนึ่งจากเมืองภูเก็จ (ที่บ้านสะปำ) และผู้คนส่วนใหญ่ จากเมืองถลางบ้านตะเคียน มาสร้างบ้านแปงถลางขึ้นใหม่ทางด้านตะวันออกของเกาะถลาง บริเวณแหลมมลายู,บ้านบางโรง,และบ้านผักฉีด ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ผู้เป็นเจ้าเมืองใหม่ในสายตระกูลใหม่ จะไม่ตั้งสถานที่ทำงานของคนในภูมิทำเลของเจ้าเมืองคนเก่า ซึ่งมีลูกหลานบริวารของเจ้าเมืองคนเก่าถือสิทธิครอบครองอยู่เมืองถลางบางโรง จึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๓๒ เป็นปฐมฤกษ์

พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง (เทียน ต้นสกุล ประทีป ณ ถลาง) ได้เป็นเจ้าเมืองถลางบางโรงอยู่ จนถึงปี พ.ศ.๒๓๕๒ ก็ถูกกองทัพพม่ายกเข้าตีปล้นสะดมเอาทรัพย์สินผู้คนไปจำนวนมาก โดยเฉพาะพม่าได้ดีบุกที่ถลุงแล้วเตรียมส่งขายต่างประเทศเป็นจำนวนน้ำหนักถึง ๓,๐๐๐ ปึก (ประมาณ ๑๘๐,๐๐๐ ชั่ง หรือ ๑,๘๐๐ หาบจีน หรือ ๕๑๔ ภารา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาปืนเยอรมัน ที่เมืองถลางสั่งซื้อจากกัปตันฟรานซิส ไล้ท์ ในสมัยนั้น ปืน ๖๒๖ กระบอก มีราคาเท่ากับดีบุก ๑๐๐ ภารา แล้ว ดีบุกจำนวน ๓,๐๐๐ ปึก ที่พม่าปล้นเอาไปนี้ จะซื้อปืนได้ประมาณ ๓,๑๓๐ กระบอกหรือมากกว่า) คำให้การของเชลยพม่าที่ไทยจับได้ ให้การว่า เจ้าเมืองถลางและครอบครัว (คือพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง) ถูกพม่าจับเอาตัวไปไว้ที่เมืองอังวะ เมืองถลางบางโรงถูกพม่าจุดไฟเผาเสียหมดสิ้น ชาวเมืองหนีไปทางพังงาและกระบี่เป็นส่วนใหญ่ เมืองจึงถูกทอดทิ้งให้เป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้นมา

 

ชาวถลางที่หนีไปทางฟากพังงานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้โปรดให้พระยาถลางบุญคง (ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นบุตรชายของพระยาณรงค์เรืองฤทธิศรีสิทธิสงคราม (ทองพูน) ที่ถูกถอดจากตำแหน่งเจ้าเมืองถลางเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๓๒) ออกมาเป็นเจ้าเมืองอยู่พักหนึ่ง (เพราะไม่ถือว่าเป็นเมืองถาวร) จนถึง พ.ศ. ๒๓๗๐ (ประมาณ ๑๘ ปี)

 

พ.ศ. ๒๓๗๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้ตั้งเมืองพังงาและให้ย้ายเมืองถลางที่แม่น้ำกราภูงา กลับมายังเกาะถลางตามเดิม โปรดให้พระยาถลางทอง (ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นบุตรอีกคนหนึ่งของพระยาณรงค์เรืองฤทธิศรีสิทธิสงคราม (ทองพูน) ออกมาเป็นเจ้าเมืองที่ “บ้านเมืองใหม่” บริเวณตอนเหนือของเกาะถลาง

 

ช่วงนี้เป็นระยะเวลาเดียวกันกับ พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (เจิม) ถึงแก่อนิจกรรมลง ณ เมืองถลางบ้านท่าเรือ และบุตรชายของพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (เจิม) ก็ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็จ อยู่ที่บ้านเก็จโห ซึ่งบริบูรณ์ไปด้วยสินแร่ดีบุกยิ่งนัก จึงมิได้โต้แย้งเรื่องตำแหน่งและอำนาจเหนือเมืองถลางแต่อย่างใด พ.ศ.๒๓๘๐ พระยางถลางทอง (สันนิษฐานว่า คงมีราชทินนาม “พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม” เช่นเดียวกับเจ้าเมืองคนก่อน) ถึงแก่อนิจกรรมลง จึงโปรดให้ นายฤกษ์ บุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันท์ จันโรจน์วงศ์) ขึ้นเป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม เจ้าเมืองถลางสืบต่อ

 

พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (ฤกษ์) จึงได้ตั้งเมืองขึ้นที่บริเวณเมืองถลางบางโรง ซึ่งเป็นมรดกเดิมของภริยา (คือ คุณทุ่ม บุตรี พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง เจ้าเมืองถลาง ที่ถูกพม่าจับเอาตัวไปเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒) เนื่องจากเป็นที่ดินของสายตระกูลทางภริยา จึงนับเป็นการสืบทอดมรดก ที่ถูกทอดทิ้งขาดผู้รับผิดชอบมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๕๒ เป็นการรื้อฟื้นเมืองถลางบางโรงให้กลับคืนสถานภาพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

ครั้นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (ฤกษ์ จันทโรจน์วงศ์) ถึงแก่อนิจกรรมลงในปี พ.ศ.๒๓๙๐ เมืองถลางบางโรง ก็ตกอยู่กับพระยาถลางทับ (ราชทินนามเดียวกันกับบิดา)

 

พ.ศ.๒๔๐๕–๒๔๒๒ พระยาถลางคิน ได้รับช่วงจากบิดา และ พ.ศ.๒๔๒๒–๒๔๓๓ พระยาถลางเกต รับช่วงตำแหน่งเจ้าเมืองจากพระยาถลางคินผู้เป็นพี่ชาย

 

พ.ศ.๒๔๓๓ พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (เกต) ถึงอนิจกรรม ทรงโปรดให้พระยศภักดี (หนู ณ ถลาง) ยกกระบัตรเมืองภูเก็จ ขึ้นเป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม เจ้าเมืองถลาง (ท่านผู้นี้เป็นผู้สืบตระกูลชั้นเหลนของพระยาณรงค์เรืองฤทธิศรีสิทธิสงคราม (ทองพูน) แห่งเมืองถลางบ้านดอน)

 

พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (หนู ณ ถลาง) จึงย้ายเมืองถลางจากบ้านบางโรง ไปอยู่ ณ บ้านดอน ซึ่งเป็นที่ดินมรดกของตระกูล ณ ถลาง มาแต่โบราณ เป็นการรื้อฟื้นความรุ่งเรืองให้แก่เมืองถลางบ้านดอนอีกครั้งหนึ่ง

 

เมืองถลางบางโรงจึงถูกทอดทิ้งไว้ในความดูแลของทายาทตระกูล จันทโรจน์วงศ์ ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองนอกทำเนียบสืบมาจนปัจจุบัน.

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้566
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1111
mod_vvisit_counterทั้งหมด10731285