Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ประเพณีลอยเรือชาวเลภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 03 มิถุนายน 2009

ประเพณีลอยเรือชาวเลภูเก็ต

 อรุณรัตน์  สรรเพ็ชร                

สำนักงานศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต 

ภาพลอยเรือ พ.ศ.๒๕๕๕

ภาคใต้ของประเทศไทยมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ดินแดนของภาคใต้มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นภาคใต้ฝั่งตะวันออกหรือภาคใต้ฝั่งตะวันตก ภาคใต้ซึ่งเปรียบเสมือนด้ามขวานทองของไทยจึงมีความสำคัญตั้งแต่ในสมัยอดีตสืบมาจนถึงปรัตยุบัน

ภาคใต้มีสภาพทางภูมิศาสตร์ประกอบไปด้วยภูเขา ที่ราบ แม่น้ำ และทะเล ซึ่งมีความเหมือนและแตกต่างกันทั้งทางด้านของทะเลฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก  โดยที่ทั้งสองฝั่งทะเลต่างก็มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นไม่เหมือนกัน

 

ภาคใต้ฝั่งตะวันตกหรือที่เรียกอีกชื่อว่า "ฝั่งทะเลอันดามัน" ประกอบไปด้วยจังหวัด สตูล ตรัง กระบี่ ระนอง พังงา และภูเก็ต ลักษณะภูมิประเทศพื้นที่ชายฝั่งเกิดจากการยุบตัวต่ำกว่าระดับเดิม ชายฝั่งจึงแคบและชันลึก เว้าแหว่ง มีแหลมและอ่าวสลับกัน มีเกาะอยู่ใกล้ชายฝั่งมาก เช่น เกาะภูเก็ต เกาะพระทอง เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ เกาะสุกร เกาะลันตา และเกาะตะรุเตา เป็นต้น หาดทรายมีน้อย และชายฝั่งลาดชัน มีแม่น้ำสายสั้น ๆ ไหลเชี่ยวจึง ไม่เหมาะในการทำกสิกรรม

 

 สภาพภูมิอากาศของภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นเขตซึ่งได้รับอิทธิพลของลม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ฝนจึงตกมากโดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม มีฤดูกาลเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูร้อน (แล้ง) และฤดูฝน  

แนวภูเขาชายฝั่งทะเลตะวันตก มีแนวทิวเขาภูเก็ต ซึ่งมีความยาวประมาณ ๕๑๗ กิโลเมตร เป็นแนวเขาที่แยกจากแนวเขาตะนาวศรีตรงปากแม่น้ำปากจั่น ในจังหวัดชุมพร ลักษณะของภูเขาเป็นเนินที่ไม่สูงมาก มีหินอัคนีดันตัวขึ้นมาหลายแห่ง ตามแนวเทือกเขาจึงเกิดมีแร่ดีบุกและแร่วุลแฟรมอยู่หลายแห่ง ซึ่งเป็นผลผลิตทาง เศรษฐกิจที่สำคัญของบริเวณนี้ และยังมีหินปูนเป็นภูเขาโดด ๆ ในจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา ซึ่งมีลักษณะสวยงามแปลกตา

 ทรัพยากรธรรมชาติของภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นป่าไม้เขตร้อนชื้นหรือ ป่าดงดิบ รองลงมาเป็นป่าชายเลนน้ำเค็ม ป่าโกงกาง และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าว ประชากรของฝั่งทะเลตะวันตกส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ที่อพยพมาจากจีนตอนใต้ คือ แถบมลฑลฟูเอี๋ยน อพยพเข้ามาเพื่อรับจ้างทำเหมืองแร่ดีบุก และจีนอีกพวกหนึ่งที่อพยพเข้ามาอีกเป็นจำนวนมากในช่วงที่ประเทศ่ไทยกำลังขาดแคลนคนงานในการหาบแร่ในเหมืองแร่ดีบุก คือ จีนแคะ ที่อพยพมาจากจีนตอนใต้เช่นเดียวกัน และชาวจีนเหล่านี้ก็ยังยึดถือ วัฒนธรรมและประเพณีของจีนไว้อย่างเคร่งครัด  ส่วนชาวไทยอิสลาม และชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวเล และซาไก ก็ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม และประเพณี เฉพาะของตนเองไว้เช่นเดียวกันประเพณีของชาวภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีลักษณะผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ไทยและจีน ที่เห็นได้ชัดเจน เช่น-ประเพณีกินผักหรือกินเจ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทยเชื้อสายจีนในฝั่งทะเลตะวันตก โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน-ประเพณีแต่งงานแบบธรรมเนียมจีน โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต มีการแต่งตัวของเจ้าสาวที่รับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีจีนในปีนังมาแต่ง ซึ่งมีชุดเจ้าสาวที่วิจิตรอลังการ (ในอดีต) เครื่องประดับบางอย่างของเจ้าสาวในวันแต่งงานที่สวยงามมาก เช่น แหวนบาเยะ (แหวนแต่งงานเป็นเหลี่ยมชิ้นข้าวเหนียวตัด) กิมตู้น (จี้) ปิ่นตั้ง (เข็มกลัด) หรือดอกไม้ไหวที่ติดผมเจ้าสาว โกสัง (กระดุมทองที่ใช้ร้อยกับเสื้อ) และต่างหูแบบหางหงส์ เป็นต้น

 

จังหวัดภูเก็ตเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่อยู่ในภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันตก เป็นจังหวัดที่มีประวัติ ศาสตร์ และเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๕๕๐ ตารางกิโลเมตร และมีเกาะใกล้เคียงเป็นเกาะบริวารอีก ๓๙ เกาะ ภูเก็ตอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามระยะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ (เพชรเกษม) ประมาณ ๘๗๖ กิโลเมตร ในอดีตภูเก็ตเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยแร่ดีบุก ประกอบกับเป็นจุดแวะพักที่จะผ่านไปมลายู อาณาจักรฟูนัน และอาณาจักรศรีวิชัย จากอดีตเป็นต้นมา ผู้คนต่างถิ่นได้อพยพผ่านมาแวะพักขุดแร่ขายบ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เมื่อสถานที่เอื้อประโยชน์ในการจอดพักเรือ จนทำให้เกิดมีชุมชน จากชุมชนเล็กก็กลายเป็นชุมชนใหญ่ กลายเป็นบ้านเป็นเมือง จากหลักฐานต่างๆ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมยุโรปที่มีอิทธิพลต่ออาณาบริเวณในท้องถิ่นภูเก็ต ประกอบกับอารยธรรมของอินเดีย จีน มลายู และไทยภาคใต้ได้ผสมผสานกันกลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นภูเก็ต จึงไม่แปลกที่ท้องถิ่นภูเก็ตจะมีไวโอลินบรรเลงประกอบการร่ายรำรองเง็งของกลุ่มชนเชื้อสายโอรังลาโอด และแม้ในปัจจุบันเหมืองแร่ในภูเก็ตจะลดบทบาททางด้านเศรษฐกิจลง แต่ภูเก็ตกลับมีสิ่งอื่นเข้ามาทดแทน สิ่งนั้นคือ การท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดภูเก็ตมีธรรมชาติที่สวยงามทั้งทะเล หาดทราย และเกาะแก่งต่าง ๆ ทำให้ชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ตเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ขจรขจายกันในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ

 

สถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดภูเก็ตมีอยู่หลายที่ เช่น แหลมพรหมเทพ หาดราไวย์ หาดป่าตอง วัดฉลอง เกาะสิเหร่ และหาดสุรินทร์ เป็นต้น ภูเก็ตนอกจากจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงามแล้ว ภูเก็ตยังเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีชนพื้นเมืองดั้งเดิมอาศัยอยู่ ชนพื้นเมืองที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือ ชาวเลหรือชาวไทยใหม่พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ได้กล่าวถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิมทางภาคใต้ของไทยว่า ประกอบไปด้วยชน ๔ พวก คือ กาฮาซี, ซาไก, เซียมัง, โอรังลาโอด ลักษณะของชนพื้นเมืองดั้งเดิมของภาคใต้ มีลักษณะ ดังนี้

๑. กาฮาซี จะมีผิวเนื้อดำแดง ตาโปนขาว ผมหยิก ร่างสูง หน้าบาน ฟัน แหลม ชอบกินเนื้อคนและสัตว์ มีนิสัยดุร้าย คนไทยเรียกว่า "ยักษ์"

๒. ซาไก มีผมหยิกดำ ตาโปนขาว ริมฝีปากหนา พวกนี้จะไม่มีนิสัยดุร้าย ทำเพิงเป็นที่พักอาศัย คนไทยเรียกว่า "เงาะ"

๓. เซียมัง คล้ายกับพวกซาไก แต่พวกนี้ชอบอยู่บนภูเขาสูง ๆ

๔. โอลังลาโอด อาศัยอยู่ตามเกาะและชายทะเล มีเรือเป็นพาหนะ เร่ร่อน อยู่ไม่เป็นที่ คนไทยเรียกว่า "ชาวน้ำ"

 

บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองที่สำคัญ นอกเหนือไปจากพวกนิกริโต หรือเซมังและซาไก และกลุ่มชนดั้งเดิมที่มีถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่แถบภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่ พวกเงาะ หรือเซมัง หรือซาไก อาศัยอยู่แถบบริเวณตอนกลางแถบป่า ในจังหวัดตรัง สตูล และชาวน้ำหรือชาวเลที่อาศัยอยู่ตามเกาะแถบชายฝั่งทะเลอันดา มัน ในเขต จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่และสตูล ไปถึงเขตมาเลเซีย และในเขต ประเทศสหภาพพม่า เกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย (เขมชาติ เทพไชย ๒๕๒๘ : ๒๔๖)ชาวเลเป็นชื่อเรียกของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่เป็นกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ดั้งเดิมของชาติมลายูที่ยังหลงเหลืออยู่ ชาวมลายูเรียกชาวเลว่า "โอรัง ละอุต" (ORANG-LAUT) แปลว่า "คนทะเล" (ราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๑๒ : ๖๒๒๕)ชาวเลเรียกตนเองว่าโมเค็น (MOKEN) หรือ เมาเค็น (MAWKEN) สิงคโปร์ เรียก (ORANG LAUT) หรือ รายัตเลาต์ (RAYAT LAUT) อินโดนีเซีย เรียก บาโจ (BADJO) บาโรก (BAROK) เซกะฮ์ (SEKAH) รายัต (RAYAT) หรือยูรู (JURU) ในสุมาตราเรียกรายัต (RAYAT) หรือกัวลา (KUALA) ชาวพม่าเรียกว่าเซลัง (SELANG) เซลอง (SELONG) หรือ เซลอน (SELON) (ฉันทัส ทองช่วย ๒๕๒๗ : ๒๕๔ อ้างจาก KENNEDY ๑๙๓๕ : ๓๐๘ - ๓๒๐) ในข้อเขียนของพันเอกเยรินีเรียกชาวน้ำ (สุเทพ ปานดิษฐ์และสมหมาย ปิ่นพุทธ ศิลป์ ๒๕๓๓ : ๕) ชาวเกาะบอร์เนียวเรียกดยัคทะเล (SEA DYAK) (เขมชาติ เทพไชย อ้างจากเจน จรจัด ๒๕๒๕ : ๔๗ - ๔๘)

 

ชาวภูเก็ตเรียกว่าชาวไทยใหม่และชาวเล การ ที่ชาวเลมีชีวิตเร่ร่อนพเนจรไปในท้องทะเลจึงได้รับสมญานามว่า SEA GYPSY อีกชื่อหนึ่ง ชาวเลจัดเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของประเทศไทยที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม มีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติอย่างเหนียวแน่น การสืบทอดความ เชื่อ ความศรัทธาและเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษให้ลูกหลานได้รับรู้มักใช้นิทานหรือ ตำนานเป็นสื่อ โดยเล่าจากปากต่อปากเพราะไม่มีการจดบันทึก (อาภรณ์ อุกฤษณ์ ๒๕๓๑ : ๗๑)

 

สำหรับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของชาวเลโดยทั่ว ๆ ไป ในครอบครัว หนึ่ง ๆ จะมีบิดา มารดา บุตร และตายาย ส่วนมากเมื่อแต่งงานแล้วจะแยกครอบครัว ออกไป ยกเว้นในกรณีที่ไม่มีใครอยู่กับพ่อแม่ การแยกครอบครัวจะแยกออกไปตั้งบ้าน เรือนอยู่ใกล้ ๆ กันในบริเวณชุมชนนั่นเอง เนื่องจากลักษณะบ้านของชาวเลเป็นบ้านที่ มีขนาดเล็กไม่สามารถอยู่รวมกันได้หลายคน ในครอบครัวของชาวเลผู้ชายจะเป็นผู้ทำ หน้าที่ออกไปทำงาน ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้าน แต่ในภาวะปัจจุบันผู้หญิงต้องมีส่วน ช่วยเหลือครอบครัวด้วยการช่วยทำงานหาเงินอาจจะเนื่องมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอพยพเร่ร่อนมาจากดินแดนแถบมลายู และภาษาชาวเลเป็นภาษาพูดสังกัด กลุ่มภาษามาลาโยโปลินิเซียน ซึ่งเป็นภาษาถิ่นเกี่ยวข้องกับภาษามลายู (ฉันทัส ทอง ช่วย ๒๕๒๘ : ๒๕๕) จึงมีสำเนียงภาษาคล้ายมลายูและอินโดนีเซีย ซึ่งภาษานี้มีพวก ชวา บาหลี มาดูรีส มักกะสัน บูกัส ตามเกาะต่าง ๆ พูดกันมาก คำบางคำคล้ายภาษา มลายู บางคำเป็นภาษาอินโดนีเซีย เป็นคำพูดที่สร้างขึ้นมาเอง มีคำศัพท์น้อย คำที่ใช้ พูดกันก็เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันและอาชีพการงานชาวเลประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับทะเล เช่น ตกเบ็ด วางลอบ ออกอวน ดำน้ำหาหอย กุ้ง ปลา ปู และรับจ้างเจ้าของกิจการที่มีเรืออวน ออกอวน และดำหาของ ทะเล เช่น ปะการัง กัลปังหา เปลือกหอย และปลาสวยงาม ผู้ชายชาวเลมีความสามารถในการดำน้ำ และต่อเรือ ส่วนผู้หญิงและเด็กจะมีความชำนาญในการตกเบ็ด และหาหอย (อมร ทวีศักดิ์ ๒๕๒๙ : ๒)

 

ปัจจุบันชาวเลมีอาชีพหลากหลายผิดกับแต่ก่อนที่ลงทะเลเพียงอย่างเดียว ชาวเลในปัจจุบันเริ่มรู้จักการประหยัดกันบ้างแล้ว บางคนมีเงินฝากธนาคาร ชาวเลที่มีฐานะดีส่วนมากจะเป็นคนที่แต่งงานกับคนในท้องถิ่นชาวเลในภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันตก อาศัยอยู่ที่เกาะลิเป๊ะ จังหวัดสตูล เกาะ ลันตา เกาะจำ เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ บ้านน้ำเค็ม บ้านบางสัก บ้านบางขยะ อำเภอ ตะกั่วป่า หมู่เกาะพระทอง หมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี ในจังหวัดพังงา เดิมชาวเลอาศัยอยู่อย่างอิสระ ไม่ชอบคบค้าสมาคม กับกลุ่มชนอื่น ชอบอยู่ในหมู่หรือกลุ่มเดียวกัน มีการอพยพเคลื่อนย้ายทำมาหากินไม่เป็นหลักแหล่ง มีแบบแผน ภาษา และประเพณี เป็นของตนเอง ชาวเลมีการปกครองเป็นกลุ่ม ประกอบด้วยครอบครัวชาวเลตั้งแต่ ๓๐-๑๐๐ คน สำหรับกลุ่มชาวเลในจังหวัดภูเก็ตจากการสำรวจของนายสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ แบ่งกลุ่มชาวเลไว้ ๓ เผ่า และจำแนกตามภาษาดังนี้

๑. กลุ่มมอแกล๊น อาศัยอยู่ที่บ้านแหลมหลา บ้านนาเหนือ ตำบลไม้ขาว

๒. เผ่าโอรังลาโอด อาศัยอยู่ที่    

๒.๑ บ้านแหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ต เดิม อาศัยอยู่ที่หาดกลางเกาะสิเหร่     

๒.๒ บ้านสะปำ หมู่ ๓ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต    

๒.๓ บ้านราไวย์ หมู่ที่ ๒ ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต    

๒.๔ บ้านฉลอง หมู่ ๙ ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากบ้านราไวย์

๓. เผ่ามาซิงเรือง่าม บ้านราไวย์ มีบ้านเรือนอยู่ติดกับถนนปฏัก และกลุ่มโอรังลาโอด มาจากหมู่เกาะสุรินทร์  จังหวัดพังงา  และหมู่เกาะแถบตอนใต้ของพม่า

 

ประเพณีเปรียบเสมือนกระจกเงาของสังคมที่สามารถสะท้อนและถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ นิสัยใจคอ และสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ ในแต่ละยุคสมัยที่สืบทอดกันมาเป็นระยะ ทำให้ทราบถึงวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบัน จึงแสดงให้เห็นว่าประเพณีเป็นมรดกทางสังคม ซึ่งอนุชนรุ่นหลังได้รับช่วงสืบต่อจากบรรพบุรุษของตนให้เจริญงอกงาม โดยเฉพาะความเจริญงอกงามทางด้านจิตใจของผู้คนที่มีความสมัครสมานสามัคคี พร้อมใจกันปฏิบัติเพื่อดำรงไว้ซึ่งประเพณีแห่งท้องถิ่นตน และประเพณีจะบ่งให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นขนบธรรมเนียมประเพณีมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้สังคมอยู่กันอย่างมีความสุข เทศกาลกลางบ้านของชาวเลเผ่าโอรังลาโอดที่แหลมตุ๊กแก และบริเวณบ้านแหลมหลา ท่าฉัตรไชย จะมีพิธีลอยเรือ   จากการศึกษาของสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ (๒๕๒๘ : ๑๕๒ - ๑๕๘ )   เกี่ยวกับพิธีลอยเรือของชาวเลในจังหวัดภูเก็ต  พบว่ามีขั้นตอนและพิธีกรรมดังนี้

 

วันลอยเรือ

ชาวเลและชาวเลสิงห์มีประเพณีเกี่ยวกับเรือ ซึ่งชาวภูเก็ตเรียกว่า ประเพณีลอยเรือ หรือ พิธีลอยเรือสอดคล้องกันทั้งสองกลุ่ม  และประกอบพิธีลอยเรือในวันเดียวกันคือลอยเรือในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ กลุ่มชาวเลจะลอยเรือเวลา ๖.๐๐ น. ส่วนชาวเลสิงห์จะลอยเรือเวลา ๑๘.๐๐ น.

 

การเตรียมสร้างเรือพิธี

ชาวเลจะใช้ไม้ทองหลางและไม้ระกำเป็นส่วนประกอบของเรือพิธี ส่วนชาวเลสิงห์จะใช้ไม้สักหินและต้นกล้วยเป็นส่วนประกอบของเรือพิธีชาวเลใช้ไม้ทองหลางเป็นโครงแกนของท้องเรือพิธี หัวเรือ ท้ายเรือและจังกูดมีความยาว ๕ - ๗ เมตร ใช้ไม้ระกำต่อเป็นตัวเรือกว้างประมาณ ๑ เมตร ความสูงระหว่างท้องเรือถึงกราบขอบเรือประมาณ ๗๐ ซม. ติดเสากระโดงเรือด้วยไม้ขนาดนิ้วหัวแม่มือ ๓ เสา สูงประมาณ ๒ เมตร มีผ้าขาวเป็นใบเรือชาวเลชายจะไปตัดไม้เพื่อประกอบเป็นเรือพิธีและไม้กายู่ฮาดั๊กในช่วงตอนเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ ช่วยกันแบบหามหรือบรรทุกเรือมากองไว้นอกหมู่บ้าน ใกล้เที่ยงจึงช่วยกันตัดถากและกลึงเกลาไม้ทองหลางให้เป็นโครงแกนท้องเรือ หัวเรือ ท้ายเรือและจังกูด และที่สำคัญคือการแกะสลักเป็นรูปคนสูงประมาณ ๘ นิ้ว จำนวน ๑๒ ตัวไว้เป็นฝีพายประจำเรือ พายไปสู่เมืองออกและเมืองพลัด” (กนก ชูลักษณ์ ๒๕๒๒ : ๙๑) เศษไม้ทองหลางที่เหลือจะแกะเป็นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น มีด จวัก หม้อ เตา ตะกร้า เป็นต้น ไม้ระกำที่ตัดมาเป็นทางยาวทางละ ๔ - ๖ เมตร จำนวนไม่ต่ำกว่า ๕๐ ทาง ชาวเลจะช่วยกันปอกลอกเอาเปลือกนอกทิ้ง ใช้ไส้ในไปประกอบเป็นลำเรือ ผูกไว้เป็นมัด ๆ เหลาไม้ไผ่เป็นซี่แทนตะปู เตรียมก้อนหินไว้ตอกแทนค้อน มีมีดพร้าและขวานไว้ตัดไม้ให้ได้ขนาดตามที่ต้องการในช่วงตอนเย็นเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ชาวเลทั้งหญิงชายป่าวร้องให้คนไปช่วยกันขนวัสดุที่จะประกอบเป็นเรือพิธีซึ่งกองอยู่นอกหมู่บ้านแห่เข้ามาในบริเวณพิธีกลางหมู่บ้าน หน้าขบวนแห่มีดนตรีพื้นเมืองนำหน้า เครื่องดนตรีเช่น รำมะนา ฆ้อง ฉิ่ง บรรเลงเป็นจังหวะให้ชาวเลรำเดินหน้าขบวนแห่ได้ ขบวนจะแห่ไปตามชายหาดจากที่กองไม้ไปจนใกล้หลาโต๊ะตามี่แล้วตั้งขบวนแห่เข้าหมู่บ้านจนถึงบริเวณพิธี ชาวเลชายช่วยกันตั้งโครงแกนท้องเรือ ใช้ไส้ไม้ระกำทั้งทางต่อประกอบเป็นลำเรือ ทุกคนตั้งใจต่อเรือกันอย่างจริงจังให้เรือพิธีเสร็จก่อนฟ้าสาง แต่เรือมักจะเสร็จก่อนพิธีลอยเรือหลายชั่วโมงชาวเลจะใช้เวลาประกอบเป็นเรือพิธีประมาณ ๘ ชั่วโมงส่วนชาวเลสิงห์จะใช้ต้นกล้วยทั้งต้นเป็นโครงแกนท้องเรือ ใช้ไม้สักหินขนาดหัวแม่มือเป็นแกนยึดต้นกล้วยไว้ด้วยกัน กราบข้างเรือจะใช้กาบกล้วยแทนกระดาษขนาบไว้ด้วยไม้สักหิน ผูกด้วยหวายนาท้ายเรือรูปทรงคล้ายเรือสำเภา หัวเรือทำด้วยก้านเครือกล้วยทั้งท่อน ความยาวของเรือพิธีจากหัวเรือจดท้ายเรือยาวประมาณ ๓ เมตร กว้าง ๑.๕๐ เมตร สูง ๑.๓๐ เมตร เมื่อติดตั้งเสากระโดงจะสูงเป็น ๒ เมตร มืดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ สิ่งของที่แต่ละครอบครัวจะเอาไปใส่ในเรือพิธีคือ ไส้ไม้ระกำที่แกะเป็นตุ๊กตาแทนคนในครอบครัวจำนวนเท่าสมาชิกในครัวเรือน เล็บ ผมและข้าวตอก ก่อนจะซัดข้าวตอกใส่เรือ ชาวเลจะกำข้าวตอกลูบไล้ตามตัวตั้งแต่หัวจดเท้าประดุจให้ข้าวตอกเอาความชั่วร้ายออกจากร่างไปสู่ข้าวตอกแล้วจึงซัดใส่เรือพิธีโต๊ะหมอมาสวดคาถาที่ท้ายเรือ เวลา ๖.๐๐ น. ชาวเลชายช่วยกันยกเรือพิธีแบกหามลงไปบรรทุกเรือหางยาวที่เตรียมไว้นำไปลอยเรือพิธีที่ทะเลลึกเป็นการกันไม่ให้ความชั่วร้ายในลำเรือพิธีนั้นย้อนกลับมาสู่หมู่บ้าน หากเรือพิธีย้อนกลับเข้าสู่หมู่บ้าน พวกชาวเลจะต้องเริ่มทำพิธีกันใหม่ การลอยเรือลงทะเลจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนชาวเลสิงห์จะเอาเสื้อผ้าเก่า ๆ ตุ๊กตากาบกล้วยแทนคนในครอบครัวจำนวนเท่าสมาชิกในครัวเรือนและกระทงน้ำไปใส่ไว้ในเรือพิธีตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น. ของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ เมื่อชาวเลสิงห์ทำพิธีที่หลาเรียบร้อยแล้วก็จะมาร่วมประกอบพิธีที่เรือพิธี ชาวเลสิงห์ถือจานใส่ข้าวสารซึ่งย้อมสีเป็นสีต่าง ๆ เช่น เหลือง แดง เขียว ฟ้า ส้ม เป็นต้นพร้อมด้วยด้ายสีแดงมามอบให้โต๊ะหมอสวดคาถาใสจานให้แล้วจึงเอาด้ายไปผูกข้อมือให้กับสมาชิกในครอบครัว และเอาข้าวสารที่ประกอบพิธีนี้ ห้ามคนเดินผ่านหัวเรือ โต๊ะหมอเดินวนรอบเรือวนซ้าย ๓ รอบ รอบสุดท้ายจะเปล่งเสียงนำโห่ทิศละลา ชาวเลสิงห์จะซัดข้าวสารที่เหลือใส่เรือพิธี รอสัญญาณจากโต๊ะหมอแล้วยกเรือพิธีไปบรรทุกเรือหางยาวไปลอยกลางทะเลลึกดุจเดียวกับกลุ่มชาวบ้านแหลมตุ๊กแกแต่มีข้อห้ามบอกต่อ ๆ กันว่า เมื่อส่งเรือลงน้ำแล้วจะหันกลับไปดูอีกไม่ได้

 

การรำรองเง็ง

ชาวเลและชาวเลสิงห์เรียกการร่ายรำของตนว่า รูเงะ หรือ รูเง้ก ชาวภูเก็ตเรียกว่า ร็องแง็ง ดนตรีที่ใช้บรรเลงในการรำร็องแง็งมีไวโอลิน ฆ้อง ฉิ่งและกรับไม้ เนื้อเพลงคล้ายภาษาของชาวมลายู เพลงเริ่มต้นในการรำร็องแง็งคือ วูก้าลากูวดัว ตามด้วยเพลง ลากูวมะอีนั่ง ลากูวอะนะอีกั้น หลังสามเพลงนี้แล้ว จึงอนุญาตให้ชาวเลชายขึ้นไปจับคู่ชาวเลหญิงรำร็องแง็งได้ การเต้นรำในช่วงเริ่มต้นเท่านั้นที่เป็นรำร็องแง็ง ถัดจากนั้นไปแล้วจะเป็นเพลงจังหวะต่าง ๆ ของเพลงไทยสากลและเต้นรำไปตามรูปแบบของสังคมเมืองยามราตรี (สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ๒๕๒๙:๒) ชาวเลหญิงผู้รำร็องแง็งนุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อแขนยาว เสื้อโปร่งบางมีลูกไม้ซึ่งเรียกกันว่าเสื้อลูกไม้รูปแบบคล้ายชุดยอหยา ในปัจจุบันชาวเลหญิงวัยรุ่นได้เปลี่ยนจากชุดที่กล่าวเป็นชุดสวมกระโปรงเสื้อรัดรูปทรงเปลี่ยนสีไปตามวัน คือ วันจันทร์ใช้สีเหลืองหรือวันอาทิตย์ใช้สีแดงเป็นต้น (สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ๒๕๒๔:๒) ส่วนชาวเลชายไม่ปรากฏว่าแต่งกายให้เห็นเป็นเอกลักษณ์อย่างใดเลยชาวเลจะรำร็องแง็งกันทั้งเด็กเล็ก ๆ ไปจนชรา เด็กเล็ก ๆ ที่ยังเดินไม่ได้ชาวเลก็จะอุ้มขึ้นไปรำจนหลับซบบ่า ชาวเลจะเริ่มรำร็องแง็งตั้งแต่คืนวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ บางส่วนจะรำวนรอบเรือพิธีตั้งแต่เริ่มวางแกนท้องเรือไปจนเรือพิธีเสร็จ เชื่อกันว่า ชาวเลที่รำรอบเรือพิธีมากรอบที่สุดจะได้บุญมากเท่าจำนวนรอบที่รำชาวเลสิงห์จะรำร็องแง็งในคืนวันขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ ไม่มีการรำรอบลำเรือพิธีหรือรำร็องแง็งในตอนกลางวันดุจเช่นกลุ่มชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแกการร้องและบรรเลงดนตรีรอบเรือปลาจั๊กและรอบไม้กันผี โดยโต๊ะหมอเป็นผู้นำในการ ปฏิบัติ การขับร้องบทเพลงรองเง็งด้วยเนื้อเรื่องที่มีคำขอขมาต่อความผิดและบาปของ เผ่าพันธุ์และเนื้อร้องที่กล่าวถึงการส่งเรือกลับไป "ฆูนุงณึรัย" การรำรองเง็งจึงสะท้อน ให้เห็นลักษณะทางวัฒนธรรมด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวเล และการรำ รองเง็งประกอบพิธีลอยเรือยังมีบทบาทหน้าที่ในโครงสร้างของวิถีชีวิตและความเชื่อของชุมชน เช่น มีบทบาทหน้าที่ในการบันทึกเรื่องราวและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ เส้นทางการอพยพ โยกย้ายและการตั้งถิ่นฐานของชาวเล ที่ปรากฏในเรื่องของบทรำ มะนาที่ใช้ร้องขับในพิธีลอยเรือ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่าง สมาชิก เพื่อฝึกหัดการเล่นรองเง็ง ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ในช่วงที่ว่างเว้นจากการออกทะเล   

 

ไม้ฮาดั๊ก

ชาวเลสิงห์ไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับไม้(กายู่)ฮาดั๊กเหมือนชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแกเมื่อชาวเลลอยเรือไปแล้วในตอนเช้า ตอนบ่ายในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ นั้น ชาวเลจะไปแห่ไม้กายู่ฮาดั๊กจำนวน ๗ ต้นซึ่งตัดเตรียมไว้พร้อมกับไม้สร้างเรือพิธีมาเตรียมไว้ประกอบพิธีปักไว้ชายหาดระหว่างหมู่บ้านกับทะเลในเช้าวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ไม้(กายู่)ฮาดั๊กเป็นไม้เสาขนาดต้นแขนยาวต้นละ ๒.๕ ๓ เมตร และใช้ไม้ขนาดเดียวกันยาว ๒ เมตรเป็นไม้ขวางเหมือนรูปไม้กางเขน ติดใบกะพ้อไว้ปลายไม้กางเขนทั้ง ๓ ปลาย ไม้ที่ติดทางขวางเปรียบเสมือนแขน ใบกะพ้อเปรียบเสมือนนิ้ว จะป้องกันโบกพัดไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บและผีร้ายทั้งหลายเข้ามาคุกคามหมู่บ้าน” (กนก ชูลักษณ์ ๒๕๒๒ : ๙๓) ในช่วง ๑ ปี ของการดำเนินชีวิต จะมีประเพณีที่มีความสำคัญสำหรับชาวเลมาก คือ ประเพณีลอยเรือ ซึ่งจะจัดให้มีเป็นประจำทุก ๆ ปี ในกลางเดือน ๖ และ เดือน ๑๑ ชาวเลจะจัดให้มีพิธีลอยเรือและสะเดาะเคราะห์ ชาวเลจะต่อเรือด้วยไม้ระกำ มีรูปร่างสวยงาม เรียกว่าเรือปลาจั๊ก ก่อนจะนำเรือไปลอยจะมีโต๊ะหมอเป็นผู้ทำพิธี หลังจากนั้นชาวบ้านจะใส่สิ่งของต่าง ๆ เช่น เล็บ ผม ข้าวตอก ขนม เศษสตางค์ หมาก พลู ไม้ขีดไฟ และไม้ระกำที่แกะสลักเป็นรูปคนแทนสมาชิกในครอบครัวของแต่ละครอบครัวใส่ลงไปในเรือแล้วอธิษฐานขอให้เคราะห์ร้ายลอยไปกับเรือ หลังจากนั้น ก็จะนำเรือไปลอยในทะเลลึก ในงานพิธีลอยเรือชาวเลทุกคนจะหยุดงานและมีการ ฉลองกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะตอนกลางคืนจะมีการรำรองเง็ง (ในอดีต) กันตลอดคืน จากการศึกษาเรื่องประเพณีลอยเรือของชาวเลในจังหวัดภูเก็ต  ของสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  พบว่าประเพณีลอยเรือในปัจจุบันนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอด การเรียนรู้ ในการสร้างเรือพิธีที่ต้องใช้ไม้ระกำเป็นการเรียน การสอนโดยธรรมชาติที่ผู้สูงอายุจะถ่ายทอดวิทยายุทธการสร้างเรือให้คนรุ่นถัดไป แต่เมื่อไม้ระกำหมดไปพร้อมป่าไม้ ความจำเป็นในการใช้เรือของชาวเลก็ลดลง และการต่อเรือไม้ระกำก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในวิถีชีวิต งานประเพณีจึงมีเพียงรูปแบบที่ขาดชีวิต เด็กชาวเลรุ่นใหม่จำเป็นต้องมองเห็นว่าเป็นสิ่งไร้ค่า การไปช่วยต่อเรือจึงมีเพียงผู้สูงอายุ ช่องว่างระหว่างวัยกำลังมีปัญหา งานสนุกสนานรื่นเริงที่ประกอบด้วยรองเง็ง ก็กลายเป็นเพลงลูกทุ่งลูกกรุงและสตริง หน้าที่ของประเพณีลอยเรือชาวเลที่เป็นบูรณาการชีวิตหมดอำนาจลงเพราะชาวเลกำลังเปลี่ยนไปเป็นสังคมบก มิใช่สังคมน้ำเหมือนก่อน หน้าที่ของประเพณีลอยเรือก็หมดไปด้วย เมื่อหน้าที่หลักของประเพณีลอยเรือหายไป หน้าที่รอง เช่น การทำความคุ้นเคยของหนุ่มสาวเพื่อรอรับการมีชีวิตคู่ก็เปลี่ยนไป การ ประกอบอาหารของสตรีก็ลดบทบาทลง บูรณาการด้าน "รองเง็ง" ก็ประสบวิกฤติ หมด อำนาจจูงใจชาวเลรุ่นใหม่ การแตกสลายของประเพณีลอยเรือกำลังคืบคลานเข้ามาเยือนหมู่บ้านชาวเลในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ..                             

 

บรรณานุกรม 

 

กนก  ชูลักษณ์ การลอยเรือของชาวเลเกาะสิเหร่ ใน  ประเพณีเกาะภูเก็ต  หน้า 145 -150  ภูเก็ต : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, 2531.

เขมชาติ  เทพไชย  ชาวเล : ชนเผ่าพื้นเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ ในรายงานสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง.  หน้า 246 - 253   กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้ว, 2528.

ฉันทัส  ทองช่วย  ชาวเลและภาษาชาวเลเกาะสิเหร่” . ใน   รายงานสัมมนาประวัติ ศาสตร์ถลาง.   หน้า 255 - 258   กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เรือนแก้ว, 2528.

ยี.อี.เยรินี. วิเคราะห์เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ถลาง.  แปลและเรียบเรียงโดยสุเทพ ปานดิษฐ์ และสมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์  ภูเก็ต : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, 2533  อัดสำเนา

ราชบัณฑิตยสถาน.  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม 10 . กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2512.

สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์. การลอยเรือชาวเล  ใน ประเพณีเกาะภูเก็ต หน้า 152 -158 ภูเก็ต :  ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, 2531.           

สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์. ชาวเล : การปรับตัว.  ภูเก็ต : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, 2528  4 หน้า อัดสำเนา

อมร  ทวีศักดิ์. ภาษาชาวเล. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์ปิ่นเกล้า, 2526.

อาภรณ์  อุกฤษณ์  ตำนานชาวเล เมืองโบราณ. 4 (3) 17, กรกฎาคม กันยายน 2531.          


               

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 05 พฤษภาคม 2012 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1779
mod_vvisit_counterทั้งหมด10692414