Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ผลงานชาวจีนในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 24 พฤษภาคม 2009

ผลงานชาวจีนในแผ่นดินภูเก็ต

หรินทร์ สุขวัจน์ สรุปจากคำบรรยายของสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

เมื่อ ๒ เมษายน ๒๕๕๒

 

 

 

                ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีคนเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทยมาตั้งแต่ราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (2347-2411)  เพราะเกาะน้อยห้าร้อยตารางกิโลเมตรแห่งนี้มีการทำเหมืองเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ซึ่งพัฒนาการการทำเหมืองหาบในช่วงเวลาดังกล่าวต้องใช้แรงงานกุลีจีนจำนวนมาก 

 

 

ในปี 2433 พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล 5 ได้เสด็จประพาสเมืองภูเก็จ ทรงพระราชนิพนธ์บันทึกความตอนหนึ่งว่า “...เป็นเมืองใหญ่โตแปลกกว่าที่เรามองเห็น 19 ปีมาแล้วมาก แต่เป็นเมืองจีนมีแต่เจ๊กมาก  ตึกรามบางแห่งเก่า บางแห่งใหม่ อยู่ข้างสกปรก  ถนนก็ว่าโทรมพึ่งแต่งขึ้นใหม่ แต่ทั้งแต่งแล้วเช่นนี้ก็ยังเต็มที ฝนตกลงมายังเป็นหล่มเป็นโคลนมาก จะต้องคิดแต่งใหม่ให้เสมออยู่จนได้ ...เหมืองที่ทำอยู่เดี๋ยวนี้ ยื่นบัญชีเป็นเหมืองใหญ่ 62 ตำบล เหมืองน้อย 69 ตำบล รวม 131 เหมือง มีคนทำการอยู่ในเหมืองทั้งสิ้น 8,984 คน มากกว่าที่ตะกั่วป่าเท่าตัวและที่ระนอง 3 เท่าตัว ...

 

             อาจารย์สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ รับเป็นองค์ปาฐกบรรยายให้แก่ชาวโรตารี่ทุ่งคาได้รับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับคุณูปการของชาวจีนและชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนแต่ในอดีตจนปัจจุบัน ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน เมืองภูเก็ต เมื่อคืนวันที่ 2 เมษายน 2552

นักประวัติศาสตร์นักสร้างพิพิธภัณฑ์ในภูเก็ตเริ่มการบรรยายด้วยการพาผู้ฟังย้อนกลับไปตั้งต้นตั้งแต่กำเนิดโลกเมื่อ 4,560 ล้านปีที่แล้ว เกิดปฐมชีวิตเมื่อ 4,300 ล้านปีที่แล้ว แล้วพัฒนาเป็นมนุษย์ยุคแรกๆ เมื่อ ๗ ล้านปีที่แล้ว จนมีมนุษย์ปักกิ่งที่ขุดค้นพบในประเทศจีน แล้วตั้งข้อสังเกตถึงความพิเศษของชาติพันธุ์อันอารยธรรมสืบทอดยืนยาวและมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกว่า นักวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยมยังไม่สามารถจะตรวจสอบในเรื่องภูมิปัญญาของพี่น้องชาวจีนในอดีตกาล เช่นเรื่องการฝังเข็ม  เทคโนโลยีในปัจจุบันยังตามไม่ทัน เค้ารู้ของเค้าอยู่นานแล้ว  บางทีพวกเราก็ละเลย ไปรับรู้ในเรื่องของทางฝ่ายยุโรปมากกว่า จนหลงลืมไปว่าพี่น้องชาวจีนในเอเชียมีอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ค่อนข้างจะมาก แล้วก็ส่งผลสืบมาจนปัจจุบัน  

 

 

 

 

อาจารย์สมหมายเล่าถึงความรับรู้ที่เปลี่ยนไปและชี้ให้เห็นบทบาทของภูเก็ตในทางการเมืองยุคนั้นว่า ตอนผมเรียนหนังสือ ผมยังเข้าใจว่าโปรตุเกสคือชาติแรกเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ที่เดินทางเข้ามาในแถบนี้ ฮอลันดาตามมา ฝรั่งเศสตามมา แล้วก็อังกฤษ  ผมเข้าใจว่า 4 ชาตินี้เข้าไปที่กรุงเทพฯ และอยุธยาก่อน  แต่เมื่อได้ศึกษาแผนที่แล้ว ภูเก็ตหรือถลางเป็นที่รับแขกบ้านแขกเมืองเป็นแห่งแรกมาตั้งแต่อดีตกาล โปรตุเกส เข้ามา พ.ศ.๒๐๕๔ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  กระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในปี พ.ศ.๒๑๕๐ มีชาวฮอลันดาเข้ามาเป็นชาติที่ ๒ และในปี พ.ศ.๒๒๒๘ มีการซื้อขายแร่ดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีชาวฝรั่งเศสมาตั้งห้างรับซื้อแร่ดีบุกเป็นการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในจังหวัดภูเก็ต เมื่อต่างชาติเข้ามา เมืองถลางจึงได้ส่งข่าวไปยังเจ้าพญาเมืองนครศรีธรรมราชว่ากลุ่มชาติเหล่านั้น ประสงค์จะเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา สมควรที่จะให้เข้าไปอยุธยาไหม  นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างถลางเมืองแรกที่รับแขกเมืองกับนครศรีธรรมราชและเมืองหลวง 

 

 

 

 

ชื่อเกาะถลางมีปรากฏหลักฐานจังค์ซีลอนจากแผนที่เดินเรือของคลอดิอุส ปโตเลมี มาตั้งแต่ พ.ศ.๗๐๐  หลวงจีนผ่านไปสืบพระพุทธศาสนาในลังกา เรียกเกาะถลางเป็นสำเนียงจีนว่า ซิลัน  ภายหลังชาวไทยเรียกเป็นสลางและฉลาง  หลังรัชกาลที่ 3 เมื่อพี่น้องชาวจีนทะลักเข้ามาอยู่ในเกาะภูเก็ตมากแล้วก่อน 150 ปีนั้น ฉลางก็เป็นถลางสืบมา

 

 

องค์ปาฐกยังได้ฟื้นประวัติศาสตร์การเมืองยุคอาณานิคมตะวันตกถึงสาเหตุหนึ่งของการอพยพออกนอกประเทศของชาวจีนว่า ฝิ่นเป็นพืชที่เกิดขึ้นในย่านทะเลเมดิเตอเรเนียน เข้ามาสู่เอเชียโดยแพทย์ชาวอาหรับ แพทย์ใช้ฝิ่นเป็นยารักษาโรค แล้วนำไปขยายพันธุ์เจริญงอกงามในประเทศอินเดีย  เมื่ออังกฤษครอบครองอินเดียแล้วก็บังคับให้อินเดียปลูกฝิ่น แล้วก็เอาฝิ่นไปมอมเมาชาวจีนต่อ  ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงจำเป็นต้องรักษาแผ่นดินจีนรักษาคนจีนไม่ให้เสพติดฝิ่นอันเป็นต้นเหตุให้เศรษฐกิจจีนตกต่ำอย่างมาก จักรพรรดิเต้ากวง(道光) จึงทรงสั่งให้ทำลายฝิ่น เมื่อ พ.ศ.2382  อังกฤษไม่ยอมรับ จึงหาเรื่องข่มเหงรังแกจีนทุกประการ  ในที่สุดชาวจีนก็เหมือนกับผึ้งแตกรัง อพยพจากมาตุภูมิออกไปทั่วโลกตั้งแต่ก่อน 150 ปีที่แล้ว พี่น้องชาวจีนฮกเกี้ยนก็ทะลักเข้ามาไทย ผ่านทางสิงคโปร์ มะละกา ปีนัง แล้วเข้าสู่เกาะภูเก็ต

 

 

หลักฐานอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่าชาวจีนเข้ามาอยู่ในภูเก็ตมานานคือคำเรียกแตงโมว่า ลูกแตงจีนปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุแม่ปรางลูกสาวหัวปีของท้าวเทพกระษัตรีกว่า 200 ปีมาแล้ว

 

 

 

ความเข้มแข็งและการสืบทอดอารยธรรมของจีนมิได้มาจากปัจจัยของจำนวนประชากรมหาศาล ดินแดนอันกว้างใหญ่ กำลังทางทหาร และวิทยาการที่ก้าวหน้าเท่านั้น หากแต่ความลุ่มลึกในทางปรัชญาและการให้ความสำคัญกับสรรพวิชาอันรวมถึงภูมิปัญญาและจารีตในอดีตทั้งมวล คือเสาหลักแห่งความมั่นคง  

 

 

 

 

อินเดียให้พญานาคเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ในจีนก็ให้พญามังกรเป็นผู้ยิ่งใหญ่ จึงให้เกาะภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นเกาะพญามังกร เขาชี้แผนที่ให้ดูว่าส่วนตรงบริเวณแหลมพรหมเทพเป็นหัวพญามังกร ขาหน้าก็คือแถวแหลมพันวาและเกาะสิเหร่  แหลมยามูกับบริเวณ 3 แหลม(ที่เครื่องบินตกที่อ่าวปอ)นั้นเป็นขาหลัง เกาะนี้ก็เลยกลายเป็นพญามังกร

 

 

 

 

พวกเราก็คงจะทราบว่ามังกรตัวนี้มีหัวใจอยู่ตรงบริเวณใกล้โรงเรียนสตรีภูเก็ตที่ทำน้ำประปาติดกันกับเรือนจำ ตรงนี้ซินแสหมอดูบอกว่าหัวใจของพญามังกรอยู่ตรงเรือนจำเป็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคล ซินแสหมอดูจึงให้แก้ดวงเมืองด้วยการสร้างถนนต่อจากถนนมนตรีไปเชื่อมถนนดำรงที่หน้าเรือนจำ คือถนนสุทัศน์ให้เป็นหอกเสียบตรึงหัวใจมังกร 

 

 

 

 

อาจารย์สมหมายยังแนะนำให้ผู้สนใจศึกษาชีวิตชาวจีนรากหญ้าในภูเก็ตอ่านหนังสือซินแขะ วรรณกรรมเชิงสารคดีประวัติศาสตร์ชาวจีนภูเก็ตเล่มสำคัญของประสิทธิ ชิณการณ์ ทายาทชาวจีนผู้เป็นขุมทรัพย์วัฒนธรรมเมืองภูเก็จที่ได้ถ่ายทอดชีวิตกุลีจีนโพ้นทะเลที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ความรักขนบธรรมเนียมของคนจีนธรรมดาสามัญแห่งเกาะแก้วอันดามันในอดีตนับร้อยปี ที่ตรึงใจผู้อ่านชาวภูเก็ตโดยเฉพาะผู้ที่มีสำนึกผูกพันกับรากเหง้าวัฒนธรรมของท้องถิ่น

 

 

 

ชาวจีนยังได้ร่วมสร้างบ้านแปงเมืองด้วยสถาปัตยกรรมผสมยุโรปเสมือนพิพิธภัณฑ์กลางเมืองที่เรามักเรียกว่าชิโน-โปรตุกิส(ซึ่งเป็นการบัญญัติศัพท์ขัดกับหลักการนิยามทางวิชาการของสากล ที่ยังเป็นที่ถกเถียงในปัจจุบันว่าควรเรียกชิโน-ยูโรเปียน) ซึ่งหมู่ตึกแถวย่านเมืองเก่าของภูเก็ต ตรงบริเวณทางเดินหลังคาคลุมหน้าอาคารที่เรียกหง่อก่ากี่ หรืออาเขดนั้น อาจารย์ยืนยันว่า เท่าที่ตรวจสอบดูแล้วนะครับ ทั่วทั้งแผ่นดินสยามไม่มีอาเขดที่ไหนจะยาวเท่ากับอาเขดที่มีปรากฏอยู่ที่ถนนถลาง

 

 

ในทางอักษรศาสตร์ ผู้บรรยายได้แสดงหนังสือที่มีความสำคัญยิ่งของชาวบูรพา เรียกว่าสมุดจีน นั่นก็คือวรรณคดีอันยิ่งใหญ่เรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นสำนวนของภูเก็ตเกือบทั้งสิ้น  กล่าวได้ว่าเป็นหนังสือรามเกียรติ์ฉบับแรกฉบับเดียวของโลกที่เป็นภาษาของภูเก็ตในสมุดจีน

 

 

ผลงานของพี่น้องชาวจีนยังปรากฏอยู่ที่วัดพระทอง อำเภอถลาง โดยผู้ที่มาเป็นเจ้าเมืองและสร้างวัดพระทองก็คือพระยาถลางคางเซ้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายซึ่งเชื่อว่าเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว  ในอดีต วัดพระทองมีการจัดงานวันตรุษจีนทุกปี มีหลักฐานเป็นปริศนาลายแทง ยักสามยักสี่ หามผีไปเผา ผีไม่ทันเน่า หอมฟุ้งตรลบผู้ใดคิดสบ ให้รับที่กบปากแดง ผู้ใดอยากมีแรง รับที่แล่งล่อคอ อธิบายได้ว่ามีการนำรูปเทพเจ้าจีนแกะสลักไม้ไปร่วมขบวนพิธีแห่พระด้วย  ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร  เคยเสด็จวัดพระทองเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2452 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จฯวัดพระทองเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2502

 

 

 

อาจารย์ผู้มีลมหายใจเข้าออกเป็นประวัติศาสตร์ยังได้เชื้อเชิญผู้ฟังไปชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ที่กะทู้ ซึ่งท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดมาตั้งแต่ก่อนมีโครงการตราบจนใกล้เสร็จสมบูรณ์ในปัจจุบัน  โดยชี้ว่าสถานที่แสดงมรดกที่มีค่ามากของภูเก็ตแห่งนี้ก็นับเป็นผลงานของลูกหลานชาวจีนภูเก็ตอีกสิ่งหนึ่ง.

 

 

 

 

ภาพประกอบและอ้างอิงภาพ

 

 จักรพรรดิเต้ากวงhttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%87 

สงครามฝิ่น พ.ศ.2382  (ภาพวาดเรือรบจีนถูกทำลายในสงครามฝิ่นครั้งแรก (พ.ศ. 2382 - พ.ศ. 2385)  ในhttp://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/1/16/Opiumwar.jpg 

จดหมายเหตุ  แตงจีน ในฉบับพญาเพชรคีรีhttp://culture.pkru.ac.th/~culture/picture/view.php?pid=3997 

จดหมายเหตุ แม่ปรางลูกสาวท้าวเทพกระษัตรี กล่าวถึงลูกแตงจีนhttp://culture.pkru.ac.th/~culture/picture/view.php?pid=194 ภาพฝังเข็มhttp://www.acupuncturelongevity.com/db5/00483/acupuncturelongevity.com/_uimages/AcupunctureMeridians.jpg 

ฝังเข็มhttp://media.photobucket.com/image/%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%259D%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2587%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2582%25E0%25B9%2587%25E0%25B8%25A1/i-m-nobody/20050725134710.jpg 

พระทองhttp://culture.pkru.ac.th/~culture/picture/view.php?pid=417 

กล้องสูบฝิ่นhttp://www.phuketdata.net/main/index.php?option=com_easygallery&act=photos&cid=3407&Itemid=26      

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 09 มิถุนายน 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้816
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1309
mod_vvisit_counterทั้งหมด10730424