Skip to content

Phuketdata

default color
Home
อันดามันเชื่อมอ่าวไทย PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 22 พฤษภาคม 2009
 
ย่ำรอยว่าที่เมืองท่ามรดกโลก ปริศนาเส้นทางลัดอันดามันถึงอ่าวไทย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์22 พฤษภาคม 2552 07:47 น.

เส้นทางข้ามคาบสมุทรตะกั่วป่า-อ่าวบ้านดอน
เส้นทางคาบสมุทรฝั่งอันดามันบรรจบอ่าวไทย เป็นที่กล่าวโจษขานมานาน ว่า เป็นเส้นทางการเดินเรือที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และมีอดีตที่รุ่งโรจน์ อันปรากฏด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบ ซึ่งมีที่มาหลากหลาย ทั้งเครื่องถ้วยเปอร์เซีย เครื่องเคลือบจากเมืองจีนอายุกว่าพันปี เทวรูปสัญลักษณ์สำคัญของการเผยแผ่ศาสนาจากอินเดีย รวมถึงลูกปัดที่บ่งบอกถึงความเป็นเมืองท่าที่มีการติดต่อค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองในย่านนี้
 
http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1487599/ย่ำรอยว่าที่เมืองท่ามรดกโลก%20ปริศนาเส้นทางลัดอันดามันถึงอ่าวไทย
 
 

 
 
http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1487599/ย่ำรอยว่าที่เมืองท่ามรดกโลก%20ปริศนาเส้นทางลัดอันดามันถึงอ่าวไทย
 
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
ลูกปัดหินและแก้วจากทุ่งตึกปัจจุบันอยู่ในครอบครองของเอกชน

เทวรูปพระนารายณ์ซึ่งพบที่เขาพะเหนอ

พระนารายณ์ที่เขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดีสำนักที่ 15 ภูเก็ต

ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า

ปากแม่น้ำตะกั่วป่าปัจจุบันกลายเป็นจุดพักเรือประมง และต้อนรับนักท่องเที่ยว


      

       อย่างไรก็ตาม เส้นทางประวัติศาสตร์เส้นทางนี้ยังคงเต็มไปด้วยปริศนา ซึ่งบรรดานักโบราณคดีกำลังเร่งศึกษาหาข้อมูลถึงความเชื่อมโยงของเส้นทางและเมืองท่าต่างๆ จากปากแม่น้ำตะกั่วป่า ฝั่งอันดามัน เรื่อยไปจนถึงปากอ่าวบ้านดอนที่ทะลุชายฝั่งอ่าวไทย เส้นทางสำคัญไปประเทศจีนและอินเดีย
       
       **อดีตเมืองท่าสู่เส้นทางมรดกโลก
       
       เกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร บอกสาเหตุที่ต้องมีการตามรอยเส้นทางการค้าคาบสมุทรนั้น เพราะเป็นที่เชื่อได้ว่าจะต้องมีเส้นทางการค้าโบราณแหล่งต่างๆ ที่ตัดผ่านไปถึงประเทศมาเลเซีย กรมศิลปากรจึงได้เริ่มต้นที่เส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรก่อนเส้นทางอื่น ซึ่งหากประเทศไทยสามารถสำรวจและขุดค้นรวมทั้งพิสูจน์เส้นทางที่ตัดผ่านจากอันดามันสู่อ่าวไทยได้อย่างแน่ชัดแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าเส้นทางการค้าที่มีอายุกว่าพันปีนี้จะขอขึ้นเป็นมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งของไทย และเชื่อว่านี่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการไขปริศนาที่ว่า ศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ที่ใดกันแน่ระหว่าง ภาคใต้ของไทย หรือประเทศมาเลเซีย
       
       “จากการศึกษาเมืองท่าในสุราษฎร์ธานีถึงประเทศมาเลเซียจะทำให้เราจะมีคำตอบเกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัยที่ชัดเจนมากขึ้น การร้อยเรียงเรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นสัญญาณที่ดีหากจะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเชื่อมโยง 2 ประเทศ ซึ่งจะมีแต่ข้อดีทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน” อธิบดีกรมศิลปากร บอกอย่างมีความหวัง
       
       **ย่ำรอยอดีตแห่งเมืองท่าเก่า
       
       ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ทำหน้าที่เล่าย้อนถึงอดีตดินแดนภาคใต้ของไทยว่า เส้นทางเมืองท่าในภาคใต้มีเรื่องราวยาวนานนับ 2,000 ปีมาแล้ว โดยในระยะเริ่มต้นความรู้ด้านเส้นทางเดินเรือตลอดจนทิศทางลมของชาวเรือยังไม่แน่นอน ภูเขาทอง จ.ระนอง เนินเขาเล็กๆ ที่ซ่อนตัวหากจากฝั่งทะเลลึกเข้าไปในแผ่นดิน จึงเป็นจุดเมืองท่าแห่งแรกที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของฝั่งอันดามัน ลูกปัดแก้ว และเครื่องเคลือบจากลุ่มน้ำคงคาในอินเดีย
       
       จากนั้นราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชาวเรือพัฒนาการเรียนรู้ลมมรสุมที่แน่นอน ทำให้เกิดท่าเรือแห่งใหม่ ภูเขาทองจึงเริ่มได้รับความนิยมลดลง โดยมีเมืองท่าใหม่คือ ทุ่งตึก จ.พังงา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำตะกั่วป่า และเป็นทำเลทองที่สามารถหลบลมตะวันออกเพื่อจอดพักเรือและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้
       
       “สิ่งที่บอกว่าทุ่งตึกเคยรุ่งเรืองมากคือมีเทวสถานที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ และเจอโบราณสถานอีก 8 แห่ง และพบสินค้าฟุ่มเฟือยของชนชั้นสูง เช่น โถแก้วที่ทรงคอคอดคาดว่าน่าจะใส่น้ำหอม เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ลูกปัดแก้วที่หาได้ยากและสวยงามที่สุดในประเทศไทย หากดูจากสิ่งที่เราพบบอกได้ว่าแถบนี้เคยเป็นจุดพักเรือที่สำคัญและมีชุมชนขนาดใหญ่อาศัยอยู่”
       
       ร.อ.บุณยฤทธิ์ บอกอีกว่า ทุ่งตึก หรือปากแม่น้ำตะกั่วป่าที่ถูกค้นพบนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นเส้นทางถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรจากอันดามันออกปากอ่าวไทยในขณะนั้นโดยไม่ต้องอ้อมเรือไกลไปถึงช่องแคบมะละกา จึงมีการขนถ่ายสินค้าผ่านลำเรือเล็กและล่องไปตามแม่น้ำซึ่งเป็นวิธีการหลบเลี่ยงกลุ่มโจรสลัดที่ชุกชุม
       
       “ความเป็นไปได้ของเส้นทางตะกั่วป่า ถึงอ่าวบ้านดอนมีค่อนข้างสูงเพราะเป็นเส้นทางที่มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับและโดยส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุและโบราณสถานที่อยู่ร่วมสมัยเดียวกันชัดเจนคืออยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ทั้งหมดต่างจากเส้นทางอื่นๆ ที่เคยขุดสำรวจ” หัวหน้ากลุ่มโบราณคดีภูเก็ต ยืนยัน
       
       **ไขปริศนาอดีต
       
       เพื่อพิสูจน์คำบอกเล่าเราได้เดินทางตามเส้นทางจากปากแม่น้ำตะกั่วป่าฝั่งอันดามันตามเส้นทางตัดข้ามเพื่อออกไปเมืองท่าอีกแห่งหนึ่ง สิ้นสุด ณ อ่าวบ้านดอน เมืองสุราษฎร์ธานี ที่นักโบราณคดีบอกว่าพบจุดพักเรือ ได้แก่ เขาพะเหนอ จุดตรงข้ามกับทุ่งตึก บริเวณที่พบเทวรูปพระนารายณ์ที่มีความสมบูรณ์งดงามมากองค์หนึ่ง
       
       นอกจากนี้ ในบริเวณต้นแม่น้ำตะกั่วป่าจุดที่คลองเหล และคลองรมณีย์ไหลมาบรรจบกันไม่ไกลจากทุ่งตึกมากนัก เนินเขาที่ชื่อว่าเขาเวียงคาดว่าจะเป็นจุดพักถ่ายสินค้าที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง เนื่องจากพบเทวรูปพระนารายณ์อีก 1 องค์ โดยมีหลักศิลาจารึกหลักที่ 26 ด้วย
       
       “ตามเส้นทางของการเดินทางในอดีตนั้นเป็นที่น่าสังเกตว่าจุดพักเรือหรือที่ตั้งเทวสถานนั้นส่วนใหญ่เป็นเทวรูปพระนารายณ์ ควนพุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ตั้งอยู่ใกล้ลุ่มน้ำพุมดวงและแม่น้ำตาปี ซึ่งพบพระพิมพ์ดินดิบ และเหรียญเงินอาหรับ พ.ศ.1310 เพิ่มเติมด้วย โดยจุดสิ้นสุดการถ่ายโอนสินค้า ณ แหลมโพธิ์ หรืออ่าวบ้านดอน เพื่อล่องทะเลต่อไปในอ่าวไทย”
       

       สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอุษาคเนย์ สรุปถึงความสำคัญของเส้นทางข้ามคาบสมุทร ว่า สาเหตุที่เส้นทางตะกั่วป่าถึงอ่าวบ้านดอนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งจนถึงขั้นเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลกนั้น เพราะเส้นทางข้ามคาบสมุทรเส้นนี้น่าจะถูกควบคุมด้วยอำนาจทางการเมืองโดยเมืองไชยา ซึ่งแผ่อำนาจไพศาลด้วยอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งต่อมาเส้นทางการค้านี้เป็นตัวแปรสำคัญเพื่อใช้อธิบายการก่อเกิด ความรุ่งเรือง ตลอดจนความเสื่อมถอยของเมืองไชยา
       
       ทั้งนี้ อธิบดีกรมศิลปากร เชื่อว่า การขุดค้นเส้นทางข้ามคาบสมุทรของสำนักโบราณคดีที่ 15 ภูเก็ต จะทำให้คนในท้องถิ่นสนใจและเริ่มหันมาเรียนรู้ ตลอดจนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุในแต่ละท้องที่ มีความภูมิใจในท้องถิ่น เข้าใจในความรู้ดั้งเดิมมากขึ้น ตลอดจนใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานวัฒนธรรม
       
       “เราไม่จำเป็นต้องอยู่กับอดีตตลอดไป แต่เราจำเป็นต้องศึกษาอดีตเพื่อนำมารับใช้ปัจจุบันและนำมาขับเคลื่อนและผลักดันอนาคต” อธิบดีกรมศิลปากร ทิ้งท้าย
       
       ..ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่ายังมีปริศนาอีกมากมายที่รอการค้นพบ ภายในหุบเขาลูกเล็กอีกนับไม่ถ้วนที่อาจซุกซ่อนตัวห่างจากชายทะเล รอเพียงผู้เสาะแสวงหาเรื่องราวมาบอกเล่ามายังสู่คนปัจจุบัน

http://www.norsorpor.com/ข่าว/n1487599/ย่ำรอยว่าที่เมืองท่ามรดกโลก%20ปริศนาเส้นทางลัดอันดามันถึงอ่าวไทย
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้787
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1233
mod_vvisit_counterทั้งหมด10682124