Skip to content

Phuketdata

default color
Home
Junk Ceylon จังค์ซีลอน PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 01 พฤษภาคม 2009

ถลาง : เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์

Historical  Retrospect of Junkceylon lsland

พันเอก จี.อี.เจรินี       : แต่ง
สุเทพ    ปานดิษฐ์      : แปล
สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์ : เกลา


ตอนที่ ๑
การขาดแคลนข้อมูลทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาะถลาง :ความไม่สนใจแหล่งข้อมูลเก่า

                ลักษณะประการหนึ่งที่ผู้ค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ของเกาะถลาง  ซึ่งเป็นเอกสารรุ่นใหม่ของประเทศไทยหรือในเอกสารที่ใช้อ้างอิงกันทั่วไป ประสบ  ก็คือการขาดแคลนเนื้อหาสาระของความรู้ที่จะนำมาสนับสนุนการค้นคว้าดังกล่าวเป็นอย่างมาก  แม้แต่งานที่ได้รวบรวมอย่างค่อนข้างระมัดระวังมากที่สุดก็ยังมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้  และข้อมูลต่างๆที่มีอยู่ก็ยังไม่เพียงพอทั้งในเรื่องลักษณะภูมิประเทศ การผลิตทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนที่อาศัยอยู่ในเกาะ 

               เป็นการดีที่ปัจจุบันแง่มุมต้น ๆ หลังของประวัติศาสตร์ได้รับความสนใจมากกว่าที่เป็นมา  แต่ก็นับว่าค่อนข้างช้าที่เราได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นทั้งที่เป็นเรื่องราวเก่าๆ ที่น่าสนใจของเกาะ  อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการนำมาเปิดเผยวัตถุประสงค์ของบทความนี้นอกจากจะเป็นความพยายามขั้นแรกที่จะแสดงว่า  ถ้าเราไม่สนใจแหล่งข้อมูลท้องถิ่น  ก็จะไม่มีวิธีการใดอีกที่จะรวบรวมหลักฐานที่สำคัญเกี่ยวกับนักเดินทางชาวยุโรปและนักเขียนในสมัยต่อมาได้  ถ้าผู้ศึกษาเพียงแต่ศึกษาจากหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว  เป็นสิ่งที่น่าประหลาดว่าไม่มีนักเขียนคนใดที่ได้เขียนเรื่องเมืองถลาง  (ซึ่งจะนำมาใช้อ้างอิง) จะได้คำนึงว่าสิ่งที่ได้เขียนขึ้นมานั้นมีประโยชน์อย่างน้อยก็เป็นแหล่งข้อมูลเก่าที่เข้าถึงได้ดีที่สุดและรู้จักกันดีที่สุดที่จะใช้อ้างอิง  ผลที่ได้รับจากการตรวจสอบหนังสือที่มีอย่างจำกัด ทำให้ข้าพเจ้าได้รับรู้ข้อมูลต่างๆที่อย่างน้อยก็พอจะหวังได้ว่าจะได้ประโยชน์มากจากข้อเขียนของชาวยุโรป  และจะได้ประโยชน์มากยิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีกถ้ามีการค้นคว้าเพิ่มเติมจากสิ่งตีพิมพ์และต้นฉบับที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่

                อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว  ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถค้นคว้าข้อมูลท้องถิ่นทางด้านประวัติศาสตร์ย้อนหลังให้ไปเกินไตรมาสสุดท้ายของศตวรรษที่ 18 ได้แต่ก็ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญๆแก่เรามากมายซึ่งไม่สามารถหาได้จากที่อื่นอีก ข้าพเจ้าสามารถหาหลักฐานต่างๆที่มีอยู่อย่างจำกัดมาได้ รวมทั้งบันทึกในสมัย 3 รัชกาลแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย นอกจานนี้ยังได้ประโยชน์จากร่องรอยต่างๆ ในปัจจุบันที่ทำให้สามารถค้นคว้าเรื่องราวต่าง ๆ ตั้งแต่ตอนกลางศตวรรษที่ 19 ถึงปัจจุบันได้มีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ จำนวนมากเพียงพอสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาประวัติศาสตร์เมืองถลาง  เพราะว่ามีข้อเขียนของชาวยุโรปและข้อมูลท้องถิ่นจากปากคำของคนในท้องถิ่นที่มีอายุมาก ทำให้สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวมาถึงปัจจุบันได้ง่ายขึ้น ข้อสังเกตเกี่ยวกับชื่อเกาะ

                เกี่ยวกับชื่อเกาะที่มีที่มาจากหลายที่มานั้นไม่มีชื่อใดเลยที่ข้าพเจ้าพอใจ Yule และ Burnell ได้เขียนไว้ในหนังสือของ  Hobson-Jobson   โดยอ้างว่า   Thomas Forrest ได้เรียกเกาะนี้ว่า  Jsn Sylan และได้กล่าวว่าที่ถูกต้องควรจะเป็น Ukong Sylang Ujong เป็นภาษามลายู  แปลว่าแหลม  Yule  และBurnell  ยังได้เสริมต่อไปอีกว่าชื่อนี้สอดคล้องกับที่ Crawfurd ได้เรียกว่าแหลม Salang  แต่ W.Crooke  ผู้แก้ไขหนังสือของ Hobson-Jobson ในการพิมพ์ครั้งใหม่ ได้ใส่ข้อสังเกตของ Skeat  เอาไว้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ว่า  Jong Salang  นั้น  Jong หมายถึง  Junk ซึ่งแปลว่าเรือ และ Salang  เมื่อใช้กับเรือ หมายถึงโยนตัวตามคลื่น ส่วนอีกความหมายหนึ่งของคำว่า  Salang  นั้นหมายถึง ปักอกด้วยกริช  เป็นศัพท์แสงของมลายูที่หมายถึงการประหารชีวิตซึ่งจะแทงกริชจากกระดูกไหปลาร้าไปยังหัวใจ ข้าพเจ้ากล้าที่จะบอกว่าที่กล่าวมาเป็นการสันนิษฐานทั้งสิ้น ตัวของ Skeat นั้น ถึงแม้จะมีความรู้ดีในเรื่องของมลายู แต่ในเรื่องนี้ไม่ใช่ความถนัดของเขา ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เช่นที่เขาตั้งข้อสังเกตงานของของ  Hobson-Jobson ในเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศไทยและดินแดนส่วนอื่นๆ ของคาบสมุทรอินโดจีนที่อยู่นอกเหนือประเทศมาเลเซีย

 

                ข้อสังเกตที่เก่าที่สุดย้อนหลังไปถึง ค.ศ. 1512 ชื่อของเกาะคือ lunsalam  หรือ  lunsalan  นั้นประชาชนที่อยู่อาศัยเรียกว่า ฉลาง(C,halang) และถือว่าเป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับในพระราชพงศาวดารของประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุดและในบันทึกต่อมา แม้แต่บันทึกของท้องถิ่นก็ได้ผันแปรไปเป็น ถลาง (Thalang) ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้ง เป็นการแน่นอนว่าผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นควรจะรู้ชื่อของถิ่นที่อยู่อาศัยดีกว่าคนต่างถิ่น ดังนั้น ไม่น่าที่จะมีปัญหาในเรื่องความถูกต้องของชื่อเกาะมาช้านานแล้ว คือควรใช้ชื่อว่า ฉลาง(C,halang) ส่วนคำว่า  Salang นั้นเป็นภาษามลายู รับมาในช่วงที่คนเชื้อสายมลายูแผ่อำนาจมาจากฝั่งสุมาตรามายังคาบสมุทรมลายู ซึ่งเริ่มใช้ในไตรมาสสุดท้ายของศตวรรษที่ 13 ในการเดินทางลาดตระเวนและโจมตีชายฝั่งคาบสมุทรมลายู  คนเชื้อสายมลายูเหล่านี้ ได้สังเกตเห็นเกาะถลางและจากรูปร่างลักษณะของเกาะ ที่มองดูแล้วคล้ายกับแหลมที่ยื่นออกมาจากแผ่นดินใหญ่ เขาจึงคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ จึงตั้งชื่อว่า  Ujong Salang  คือ แหลมสลาง (Salang Headland) นั้นเอง เพราะในภาษามลายูไม่มีตัวอักษรใดที่จะมาแทน C,h   ได้ S Sh  หรือ Z จึงเป็นตัวอักษรที่ใกล้เคียงที่สุด ในการแก้ไขครั้งหลัง ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็น เกาะ แต่ชื่อก็ยังคงอยู่จนทุกวันนี้เป็นกรณีหนึ่งสำหรับกรณีอื่นที่มีการประยุกต์อย่างผิดพลาดควรจะได้รับการแนะนำในฐานะที่เป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งนักเดินทางเชื้อสายมลายูในยุคต้นนั้น  ขณะที่ได้ตระหนักถึงรูปร่างไปประยุกต์ในการตั้งชื่อว่า  Ujong Salang   หรือ แหลมสลาง เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าตอนใต้ของเกาะนั้น มีลักษณะคล้ายแหลมที่ยื่นออกมา อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าทัศนะแรกที่ได้อธิบายไป มีโอกาสมากว่าทัศนะอื่น และไม่ข้อกังขาแต่ประการใดเลย มาจาก Jong Salang ซึ่งเป็นชื่อสั้นๆ ของ Ujong Salang    เป็นที่มาของการตั้งชื่อของชาวยุโรปในสมัยต้นว่า lunsalam, Junsulam, Junsalam ซึ่งข้าพเจ้าจะได้แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในตอนต่อไป

                ดังนั้น การวินิจฉัยของ Forrest และ Crawfurd   น่าจะถูกต้องเป็นเวลานานมาแล้ว ที่ที่มาของคำจากชาวยุโรปและรูปแบบชื่อของเกาะตามภาษามลายู   มีความเกี่ยวข้องกัน   แต่ในกรณีนี้ ผู้เขียนเอกสารเหล่านี้ และรุ่นต่อมาผิดพลาดที่คิดว่า   Ujong Salang  หรือ  Jong Salang  เป็นชื่อเดิมของเกาะมาจากภาษามลายูและนำไปสู่การยอมรับว่านักเดินทางชาวมลายูจากเกาะสุมาตราและเกาะชวาสร้างและพัฒนาแบบแผนอารยธรรมในคาบสมุทรมลายู และคาบสมุทรใหญ่อินโดจีน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านก่อนชาวยุโรปจะเข้ามา

                 แนวความคิดเรื่องอิทธิพลของนักเดินทางชาวมลายูดังกล่าว ค่อนข้างจะขาดเหตุผลรองรับ และขาดความน่าเชื่อถือ  ในปัจจุบันนี้ เมื่อมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่าอิทธิพลของชาวมลายูที่มีต่อคาบสมุทรอินโดจีนนั้น เป็นช่วงระยะเวลาในสมัยหลังมากกว่าและก็มีอิทธิพลต่อพื้นที่เป็นบริเวณที่จำกัดมาก แม้ว่าจะมีการบุกโจมตีเป็นครั้งคราวจากหมู่เกาะเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และบริเวณทางตอนใต้ของคาบสมุทรมลายูนั้นจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรที่เข้มแข็งอาณาจักรหนึ่ง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาเลมบัง (Palambang) ทางตะวันออกของเกาะสุมาตรามาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของศตวรรษที่ 7    แล้วก็ตาม   อาณาจักรปาเลมบังนี้เหมือนกับดินแดนอื่นๆ ของคาบสมุทรอินโดจีนคือเจริญเติบโตมาจากการสร้างของนักเดินทางชาวอินเดียซึ่งเป็นนักล่าอาณานิคมและผู้สร้างอารยธรรมในสมัยเก่า ดังนั้นอิทธิพลจากอาณาจักรปาเลมบังที่มีต่อบริเวณทางตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู จึงควรจะมีลักษณะความเป็นอินเดียมากว่ามลายู อิทธิพลของชาวมลายูโดยแท้จริงแล้วเริ่มต้นในสมัยก่อตั้งอาณาจักร Menang-kabau ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ในตอนปลายของศตวรรษที่ 13 แล้วการขยายตัวของอาณาจักร มัชปาปาหิต Majapahit ของชวาเกิดขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 14 อย่างไรก็ตามชาวมลายูก็ไม่ได้แผ่ขยายอำนาจขึ้นไปทางบริเวณด้านเหนือแต่อย่างใด ยังคงมีดินแดนเท่ากับประเทศมาเลเซียในทุกวันนี้ ดังนั้น จึงสามารถที่จะกล่าวได้ว่า ชาวมลายูไม่มีอิทธิพลต่อเกาะถลาง เลย ในสมัยก่อนในช่วงเวลาเริ่มต้นของคริสตศักราชนั้น กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่คือพวกซาไก (Negrito) ต่อมาชนชาติมอญได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ โดยมาจากพะโค (Pegu) และประเทศสยาม ต่อมานักเดินทางหรือชาวอินเดียได้ใช้ดินแดนแถบนี้เป็นศูนย์กลางการค้าขายกับประเทศของตนและประเทศตะวันตกโดยมีเรือสินค้าเข้ามาทำการค้าขายมาก และมีการทำเหมืองแร่ดีบุกด้วย

                จากสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้คิดได้ว่า เกาะถลางน่าจะมีชื่ออยู่แล้วในเวลานั้น และมีความเป็นไปได้ที่ว่าชื่อนั้นคือ ฉลาง (C’halang) คำว่า ฉลาง นี้ไม่ใช้ภาษาไทย ภาษามลายู หรือภาษาอินเดีย แต่จึงน่าจะเป็นภาษามอญหรือภาษาของพวกซาไกเหมือนกับชื่อเฉพาะอื่นในเกาะถลางและบริเวณต่างๆทางชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู เราจึงต้องเรียนรู้ภาษาของชนเผ่าเซมัง (Semang) ซาไก (Sakai)  และเซลัง (Selang  หรือ Salon) ซึ่งพวกหลังนี้ยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของเกาะและจากทางตอนกลางของเกาะขึ้นไปทางตอนเหนือ

                 เรื่องชื่อของเกาะถลางนี้จึงต้องปล่อยให้เป็นปัญหาต่อไปโดยไม่มีข้อยุติ ข้าพเจ้ามีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้หาข้อยุติได้ กล่าวคือทางชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราใกล้อ่าว Rigas มีบริเวณแห่งหนึ่งชื่อว่า Chellang   ซึ่งชื่อที่น่าจะถูกต้องกว่าก็คือ Chelang   ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ว่าได้ถูกตั้งขึ้นโดยบุคคลเดียวกับผู้ที่ตั้งชื่อเกาะถลางว่า Chelang เป็นสิ่งที่คิดได้โดยไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่มาของคำนี้ มาจากคาบสมุทรมลายูแล้วจึงไปสู่เกาะสุมาตรา เพราะได้พบว่ามีสถานที่จำนวนมากทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราที่มีชื่อเหมือนกับสถานที่ในคาบสมุทรมลายูและบริเวณที่อยู่ทางตอนเหนือขึ้นไป ข้าพเจ้าคิดว่ากลุ่มชนที่นำชื่อสถานที่ไปยังเกาะสุมาตราไม่น่าจะเป็นชนชาติอื่นนอกจากชนชาติมอญซึ่งข้ามมาจากคาบสมุทรมลายูไปยังเกาะสุมาตราในสมัยนั้น ทั้งนี้เพราะภาษาที่ใช้กันในเกาะสุมาตราบางบริเวณนั้นมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับภาษามอญในปัจจุบันนี้

                ยิ่งกว่านั้นยังเป็นไปได้อีกว่าชื่อนี้มีที่มาจากอินเดียโดยพ่อค้าชาวอินเดียที่อยู่ทางตอนใต้ได้ตั้งชื่อท้องถิ่นทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราเช่นเดียวกับดินแดนทางฝั่งตะวันออกของอ่างเบงกอล แต่การตั้งชื่อดังกล่าวข้างต้นนั้นขาดตัวอย่างที่ทำให้แน่ใจจากบริเวณเกาะสุมาตราและอ่างเบงกอล ปัญหาที่ยังมีอยู่คือว่า C’halang   ไม่ใช่คำภาษามอญหรืออินเดียแต่เป็นคำที่มาจากภาษาซาไกซึ่งเป็นกลุ่มชนที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้

 

การตรวจสอบประวัติศาสตร์ถลางในยุคก่อน

            ประวัติศาสตร์ถลางในยุคก่อนเป็นเรื่องที่ยังคงลี้ลับอยู่มาก ทำได้เพียงวินิจฉัยสถานะของเกาะถลางจากหลักฐานที่เป็นสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งเกาะถลางได้เข้าไปปรากฏในประวัติศาสตร์โลกเป็นครั้งแรก ชนกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก็คือพวกซาไก (Negritos) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพวกเซมัง ( Semang) ซึ่งในปัจจุบันอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูและกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะขนาดใหญ่ในทะเลอันดามันนั้น  ก็อยู่ทางตะวันตกของหมู่เกาะ ข้อเท็จจริงที่ว่าเกาะถลางอยู่ระหว่างดินแดนทั้งสองส่วนนี้ยังคงมีพวกซาไกอาศัยอยู่ ในทุกวันนี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า กลุ่มชนดั้งเดิมของเกาะถลางคือ พวกซาไก ต่อมาได้มีชนชาติมอญจากพะโคมาอยู่ในดินแดนแถบนี้ คือพวก เซลัง ( Selang  หรือ Salon )  กลุ่มคนพวกนี้ชำนาญในการดำน้ำ จึงเรียกกันว่า ชาวน้ำ (C’hau  Nam) กลุ่มคนพวกนี้ ยังคงอาศัยอยู่ในหลายเกาะแถบเมืองมะริดซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะถลาง

                หลังจากนี้ ก็มีพวกนักเดินทางชาวอินเดียได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบนี้ มีการทำเหมืองแร่ที่เมืองถลางด้วย นอกเหนือจากที่ได้ไปทำเหมืองแร่ที่ตะกั่วป่า ด้วยเหตุผลที่เกาะถลางตั้งอยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือสายเก่าจากอินเดียผ่านอ่าวเบงกอลมายังชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ทำให้เกาะถลาง เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินเรือยุคต้นๆ โดยแท้จริงแล้วไม่ได้มีการกล่าวถึงเกาะถลางอย่างเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใดปรากฏในเรื่องราวที่เขียนโดยนักเดินทางและพ่อค้าในสมันนั้นเพียงแต่ได้มีการเรียกชื่อเกาะถลางและบริเวณที่อยู่ตอนเหนือของเกาะขึ้นไปจนถึงอ่าวปากจั่น (Pak Chan) รวมกันว่า ตะโกลา (Takola) โดยตะโกลานี้เป็นท่าเรือและศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญในบริเวณนั้น ซึ่งตะโกลานี้ในปัจจุบันก็คือ ตะกั่วป่า นั่นเอง คือตะโกลาได้รับการกล่าวแถบนี้อ้างอิงถึงไว้ในช่วงระยะเวลาเริ่มต้นของคริสต์ศวรรษ

                ในหนังสือภาษาบาลีชื่อ มิลินท์ปัญหา (Milinda Panha ) ต่อมาตอนกลางของคริสต์ศวรรษที่ 2 ปโตเลมีก็ได้กล่าวถึง ตะโกลา ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู ซึ่งเป็นแหลมที่ยื่นลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ผ่านช่องปากพระโดยรวมเอาเกาะถลางไว้ด้วย  ดังนั้นแนวความคิดของชาวมลายูที่ว่าเกาะถลางเป็นแหลม จึงสอดคล้องกับแนวความคิดที่กล่าวมาแล้วอยู่เดิม ปโตเลมี  ก็ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า ถลาง เป็นแหลมที่ยื่นออกมาจากตะโกลานักเดินเรือชาวอาหรับในยุคต้นได้บันทึกไว้ใน ค.ศ.880-916โดย Abu Zaid ได้บันทึกว่าเกาะถลางเป็นศูนย์กลางการค้าขายไม้กฤษณา งาช้าง ไม้ฝาง ดีบุก และอื่นๆ โดยขึ้นอยู่กับอาณาจักร Zabej

 

lbn Khurdadbin ได้เขียนไว้ใน ค.ศ.864 ว่าเกาะถลางนี้ขึ้นกับ Jabah ของอินเดีย ซึ่งจากชื่อนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเขาหมายถึง Pegee ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนมากกว่าพวกนักเดินเรือในยุคต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเกาะถลางนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตะกั่วป่า และนักเดินเรือเหล่านี้ก็ไม่ได้สนใจจะค้นหาชื่อดั้งเดิมของเกาะ และก็ไม่ได้บันทึกชื่อที่รู้กันในเวลาต่อมาไว้เลยถึงแม้ว่าพวกเขาจะรู้จักเกาะถลางนี้อยู่เป็นประจำ

                เมื่อพิจารณาจากจารึกที่พบที่ตะกั่วป่า จะพบว่าชาวอินเดียที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จะต้องเป็นพวกดราวิเดียน ( Dravidians  จากแคว้นกลิงค์และแคว้นอื่นๆ ) ทางใต้ของดินแดนชายฝั่งตะวันออกของอินเดียซึ่งพูดภาษาทมิฬ แม้ว่าพวกนักเดินทางเหล่านี้จะเข้ามาค้าขาย และได้ครอบครองดินแดนในแถบนี้ และพวกเขาก็ไม่ได้สร้างอาณาจักรที่มั่นคงในดินแดนแถบนี้จนกระทั่งถึงตอนกลางออของคริสตศตวรรษที่ 11  ดินแดนแถบนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรพะโคซึ่งเป็นอาณาจักรที่สร้างขึ้นโดยนักเดินทางจากแคว้นกลิงค์เช่นเดียวกัน แต่มีอำนาจมากกว่า ในปี ค.ศ.1050-1057 อาณาจักรพะโคตกเป็น เมืองขึ้นของพม่า เจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราชเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงได้ผนวกเมืองถลางและเมืองข้างเคียงเข้าไว้ภายใต้การปกครอง เมื่อพิจารณาจากหลักฐานเท่าที่มี พบว่าอำนาจการปกครองของพม่าบนฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายา ก็ไม่ได้ขยายไปไกลเกินกว่าเมืองตะนาวศรี ในทางกลับกัน เมืองนครศรีธรรมราชมีอำนาจแผ่ไปทั่วบริเวณตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู อย่างไรก็ตาม นครศรีธรรมราชในเวลานั้นก็อยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรกัมพุช ซึ่งมีอำนาจอยู่ในบริเวณแถบอ่าวไทยมาหลายศตวรรษ และยังมีอิทธิพลต่อไปถึงช่องแคบมลายู โดยมีพรมแดนติดต่อกับอาณาจักรปาเลมบัง (Pelembang)

                                 ในปี ค.ศ.1257 (พ.ศ.1800) อาณาจักรสยามก็สามารถปลดแอกจากอาณาจักรกัมพุชได้สำเร็จ และมีความเข้มแข็งมากถึงขนาดเข้าโจมตีอาณาจักรกัมพุช ทำให้อาณาจักรนี้ล่มสลายไป ในที่สุดดินแดนต่างๆ ในแหลมมลายูจึงเป็นอิสระจากอาณาจักรกัมพุชและมาอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรสยาม ซึ่งขณะนั้นมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงสุโขทัย เมืองถลางซึ่งขึ้นกับนครศรีธรรมราชจึงขึ้นกับสุโขทัยด้วยสถานะใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราชมีหลักฐานปรากฎในหลักศิลาจารึกของกรุงสุโขทัยในช่วง ค.ศ.1283-1306 (พ.ศ.1826-1849) ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ว่า หลังจากที่เมืองสุโขทัยได้พ่ายแพ้แก่อยุธยาในปี ค.ศ.1350 (พ.ศ.1893) เมืองต่างๆ ในคาบสมุทรมลายูก็มาอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอยุธยา เมืองนครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งใน 8 เมืองที่มีฐานะเป็นเมืองพระยามหานครคอยควบคุมบรรดาเมืองขึ้นต่างๆ ในคาบสมุทรมลายู เช่น ตะนาวศรี ทวาย อุยองตะหนะ มะละกาวรวารี

                 กาลเวลาส่วงมา เมื่อนครศรีธรรมราชมีอำนาจมากเกินไปและกระด้างกระเดื่อง ทางกรุงศรีอยุธยาจึงแบ่งแยกไปเป็นสงขลา พัทลุง และพังงาออกจากการปกครองของนครศรีธรรมราช ให้ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาโดยตรง ต่อมาไม่นาน ถลาง ภูเก็ตและตะกั่วป่า ก็ถูกแยกออกจากพังงาอีกต่อหนึ่ง

                 ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมถึงต้องแยกถลาง ภูเก็ตและตะกั่วป่าออกจากพังงานั้น ก็ไม่เป็นการยากอย่างใดที่จะสันนิษฐานเอาได้ หลังจากที่ชาวยุโรปได้เข้ามาใน East lndies   ในฐานะที่เป็นพ่อค้านักแสวงหาอาณานิคมและผู้สร้างอาณาจักร   ซึ่งเป็นผลมาจากบันทึกการเดินเรือของวาสโก ดา กามา (Vasco da cama ) ก็ได้เกิดการฟื้นตัวของการค้าข้ามมหาสมุทรขึ้นมาอีกหลังจากที่เกือบจะหยุดเลิกไปตั้งแต่ยุคสมัยของอาหรับแม้ว่าจะมีความพยายามของสาธารณรัฐอิตาลีในสมัยกลางและของจีนที่จะฟื้นฟูการค้าข้ามมหาสมุทรขึ้นมา โดยมีความมุ่งหมายที่จะนำทรัพยากรธรรมชาติจากอินเดีย อินโดจีนและมลายูไปใช้เส้นทางเดินเรือของชาวโปรตุเกสที่ค้นพบนี้เหนือกว่าเส้นทางเดินเรือในทิศทางเดียวกันของชาวกรีก และชาวซีเรีย ในสมัยโบราณ เพราะไม่เพียงแต่เป็นนักเดินทางเรือชาวตะวันตกรุ่นแรกเท่านั้นที่เดินทางมาถึงอินเดีย แต่ยังได้เดินทางไปไกลกว่าอินเดียอีกด้วย

                 การค้นพบเส้นทางเดินเรือนี้มีผลกระทบต่อการค้าในระยะหลังมาก นักเดินเรือชาวยุโรปชาติอื่นได้ทำตามชาวโปรตุเกส ทำให้เกิดการแย่งชิงผลประโยชน์กันขึ้นในอินเดียตะวันออก การแย่งชิงผลประโยชน์นี้ได้ดำเนินมาแสวงหาผลประโยชน์กัน ก็มีประเทศไทยด้วยประเทศหนึ่ง สำหรับประเทศไทยนั้นชาวยุโรปได้เข้ามาค้าขายผลผลิตต่างๆ และที่เหนือกว่านั้นคือได้มาทำเหมืองแร่ดีบุก

                 บริเวณที่ชาวยุโรปเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุก ก็มีเมืองตะกั่วป่า ซึ่งรวมเอาเกาะถลางไว้ด้วย และเปรัค (Perak) อย่างไรก็ตาม เหมืองแร่ที่เปรัคในเวลานั้นยังพัฒนาไม่เต็มที่ ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ เหมืองแร่ในเกาะถลาง จึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ในบรรดาเมืองต่างๆ ของประเทศไทยในคาบสมุทรมลายู เหมืองแร่ที่เกาะถลาง ตลอดจนที่ตะกั่วป่าจึงได้รับความสนใจมากกว่าที่เคยเป็นมา โดนในสมัยหนึ่ง ถึงกับว่าการทำเหมืองแร่ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงเกิดมีความจำเป็นที่ต้องมีการควบคุมโดยตรงจากรัฐบาลกลาง ตะกั่วป่า ถลางและภูเก็ต จึงถูกแยกออกจากพังงา และอยู่ใต้การควบคุมโดยตรงของรัฐบาลกลางที่อยุธยา

                  มาตรา 37 ของกฎหมายลักษณะอาญาหลวงที่ออกใน ค.ศ.1623 (พ.ศ.2166) ได้กำหนดเขตพื้นที่และด่านเก็บภาษีขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวต่างประเทศเข้ามาลักลอบซื้อไม้กฤษณา ไม้ฝางและดีบุกจึงเห็นได้ว่ากฎหมายมาตรานี้มีความประสงค์จะให้มีการผูกขาดโดยพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้รับอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้ามาค้าขายได้ไม่เฉพาะที่เกาะถลางเท่านั้น แต่ยังทำได้อีกหลายเมืองบนคาบสมุทรมลายู บริษัท East lndia ได้เข้ามาซื้อผลผลิตที่กล่าวมาแล้วในชุมพร ไชยา พุนพิน (สมัยรัชกาลที่ 5 คืออำเภอบ้านดอน) และท่าทอง (ปัจจุบันคืออำเภอกาญจนดิษฐ์) พื้นที่ต่างๆ ที่กล่าวมานี้ได้มีการทำเหมืองด้วย

                ในเรื่องเกี่ยวกับเกาะถลางนี้ ได้เกิดมีความเข้าใจผิดกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษที่สุราษฎร์ธานีกับเสนาบดีผู้รับผิดชอบด้านการต่างประเทศของอยุธยา สืบเนื่องจากดีบุกที่เกาะถลางได้หายไปจากเอกสารของชาวยุโรปในยุคนี้ เราได้ทราบว่าการทำเหมืองแร่ในเกาะถลางได้ดำเนินไปอย่างเต็มที่ทำให้เกิดมีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งชาวยุโรปโดยมีชาวฝฝรั่งเศล 2 คน ปกครองในช่วงค.ศ.1683-1689 (พ.ศ.2226-2232)

                 การค้าต่างประเทศมีความเจริญเติบโตยิ่งขึ้นสถานการณ์ต่างๆ ก็ทวีความยุ่งยากขึ้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องโอนเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ของประเทศไทยซึ่งรวมด้วยเมืองถลางด้วย มาอยู่ภายใต้การปกครองของกรมท่าแทนกระทรวงกลาโหมอย่างที่เคยเป็นมา ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในปี ค.ศ.1782 (พ.ศ.2325) ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง พังงา  ถลาง และเมืองอื่นๆ ได้ตกมาอยู่ใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหมเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในศตวรรษที่ 15 และ 16

                 ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ที่จะต้องทำให้การค้นคว้าที่กำลังทำกันอยู่ครอบคลุมมาถึงระยะเวลาสมัยปัจจุบันมากนัก เพราะว่าทั้งเอกสารของไทยและของชาวยุโรป มีความสมบูรณ์เพียงพอในการพิจารณาประวัติศาสตร์ของเมืองถลาง ในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา เอกสารดังกล่าวนี้ เราจะได้พิจารณากันในตอนต่อไป ถ้าเอกสารของท้องถิ่นขาดความสมบูรณ์ในระยะเวลาในตอนต้น ก็เนื่องมาจากความจริงที่ว่าเมืองถลางนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของเมืองนครศรีธรรมราช จึงมีเอกสารจำนวนน้อยหรือไม่มีเลยที่ได้ส่งไปยังกรุงศรีอยุธยา ความจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็คือ เอกสารของท้องถิ่นมีความชัดเจน เป็นความจริงที่ว่าไม่ได้มีการอ้างอิงเรื่องเมืองถลางไว้ในพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาถึงแม้วาสจะเป็นช่วงเวลาภายหลังที่เมืองถลางอยู่ภายใต้การปกครองของกรมท่า แต่เนื่องจากเอกสารจำนวนน้อยที่ได้บันทึกในสมัยอยุธยาอยู่ในลักษณะที่ขาดความสมบูรณ์ เราจึงต้องสรุปว่า เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองถลางได้หายไป หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่มีความสำคัญมาก ที่ผู้บันทึกเห็นว่ามีค่าพอที่จะนำมาบันทึกไว้ 

                ในทางกลับกัน  การสงครามอันยาวนานระหว่างไทยและพม่า ที่ทำให้เกิดตามมาก็คือการเสียกรุงศรีอยุธยา และการตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงเทพมหานครนั้น เมืองถลางมีความสำคัญเป็นอันมากและเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจเป็นเบื้องต้นจากคู่ปรปักษ์ทั้งสองผลจากเหตุการณ์ที่น่าสนใจที่สุดนี้ได้วิวัฒนาการไปทำให้เอกสารของท้องถิ่นให้ข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ดีกว่าหลักฐานจากต่างประเทศ 

 

ตอนที่ 2

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเกาะถลางเรียงตามลำดับก่อนหลัง

                1. ยุคเก่า ค.ศ.1200-1782 (พ.ศ.1743-2325 ) ประมาณปี ค.ศ.1200 เอกสารอ้างอิงในเรื่องเกาะถลางที่เก่าแก่ที่สุดที่ข้าพเจ้ามีอยู่เป็นบันทึกทางตะวันออกกล่าวคือเป็นบันทึกของรัฐเคดาห์ (Kedah) แปลโดยร้อยเอกโลว์ (ภายหลังเจมส์โลว์เป็นพันเอก) ในหนังสือเล่มที่ 3 ของ Journal of lndian-Archipelago จาก หนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่า Marong Mahavamsa ผู้ก่อตั้งรัฐเคดาห์ เคยเดินทางจากอินเดียเลียบชายฝั่งพะโค (pegu) และได้ผ่านทะวาย (Tavoy) มะริด (Mergui) จนกระทั่งมาถึงเกาะฉลาง (Salang) ได้จอดทอดเสมออยู่ที่เกาะสลางนี้   และขออนุญาตผู้ปกครองเกาะนำน้ำจืดและไม้ไปใช้ในเรือ   จากการพิจารณาหลักฐานจำนวนมาก ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปว่าผู้ก่อตั้งรัฐเคดาห์คงจะเดินทางในปี ค.ศ.1200 (พ.ศ. 1743 ) หรือหลังจากนั้นไม่นานนัก  ทำให้เชื่อได้ว่าเกาะถลางนี้จะต้องเป็นเส้นทางเดินเรือในการเดินทางไปและมาจากอินเดียในสมัยโบราณ

บันทึกของ Galvano เมื่อ ค.ศ. 1512 (พ.ศ. 2055)

                บันทึกของชาวยุโรปที่เก่าแก่ที่สุดในเรื่องเกาะถลางที่ข้าพเจ้าทราบ ก็คือบันทึกของกาลวาโน (Galvano)   ในปี ค.ศ.1557 (พ.ศ.2100) โดยได้ย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1512 (พ.ศ.2055) Albuquerque ได้ส่งคณะทูตชุดที่ 2   นี้ได้ผ่านเมือง Peen และผ่าน อุนซาลัม (lunsalam) ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากอาศัยอยู่ตามชายฝั่ง

                บันทึกของ   Mendez Pinto เมื่อ ค.ศ. 1539  (พ.ศ.2082)

                เมนเดช พินโต้   ( Mendez Pinto) เคยมาที่เกาะถลางและได้เขียนถึงเกาะถลางไว้ดังนี้

                ค.ศ.1539  (พ.ศ.2082)  ข้าพเจ้าเดินทางผ่านเมืองท่าจันซาลัน (Juncalan)

                 ค.ศ.1545  (พ.ศ.2088)  จันซาลันเป็นหนึ่งในเมืองท่าที่มีการค้าตามชายฝั่ง

                ค.ศ.1548 (พ.ศ. 2091) มีพื้นที่บริเวณหนึ่ง เรียกว่า ที่ลาว  (Tilau) ปากลาว (Pak Lau) หรือตรัง (Trang) ซึ่งอยู่ห่างจากจันคาลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่ลาว   (Tilau)   นี้อยู่ใกล้รัฐเคดาห์   โดยอยู่ห่างจากมะละกา 420 ไมล์บันทึกของ Ralph  Fitch เมื่อ ค.ศ. 1588 (พ.ศ. 2131 )

                 วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2123   Ralph  Fitch   ได้เดินทางจากพะโค (pegu) เพื่อที่จะไปยังมะละกา (Malacca) ได้ผ่านเกาะ ตะนาวศรี อุนซาโลน (lunsaloan) และสถานที่อื่น ๆ

              บันทึกของ Linschoten เมื่อ ค.ศ.1583-1592 (พ.ศ.2126-2135)

                ลินสโคเตน ( Linschoten   ) เขียนไว้ว่า มีเกาะๆหนึ่ง ชื่อว่า กันซาลัน (Gunsalan) อยู่ชายฝั่งเดียวกับรัฐเคดา (Queda)  โดยห่างออกไป 30 ไมล์ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  เป็นเกาะที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยดีบุกบันทึกของ Barker เมื่อตุลาคม ค.ศ. 1592 (พ.ศ.2135)

                 ชาวยุโรปคนแรกที่มาถึงเกาะถลาง คือ Edmund Barker ซึ่งเป็นทหารยศร้อยโทในกองทัพเรือของ เซอร์เจมส์ แลนคาสเตอร์ (Sir James Lancasters) ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่เขาเล่าซึ่งน่าสนใจมาก

                เราเดินทางจากมะละกา (Malacca) มาถึงอาณาจักร Junsalaom ซึ่งอยู่ระหว่างมะละกาและพะโค การเดินทางชองเรานั้นทำมุม 8 องศากับแนวทิศเหนือ จุดประสงค์ในการเดินทางมาที่ Junsalaom   เพื่อหาน้ำมันยางไปใช้ในการซ่อมแซมเรือ    เมื่อมาถึงแล้ว     เราก็ส่งกำลังทหารออกไปติดต่อกับประชาชนเพื่อหาซื้อน้ำมันยาง    เราได้ส่งสินค้าไปยังเจ้าผู้ปกครองนครของเขา เพื่อแลกเอาขี้ปลาวาฬ นอแรด และเราก็ได้สิ่งที่ประสงค์ทั้ง 2 อย่าง ในตอนสุดท้ายผู้ปกครองเกาะไม่ยอมที่จะให้ทหารของเราขึ้นมาบนเรือ เราต้องบอกไปว่าเราจะให้เสื้อเกราะและขวานด้ามยาวให้เขา  จึงยอมปล่อยตัวทหารให้ขึ้นมาบนเรือ ดังนั้นเราจึงสามารถเดินทางต่อไปได้

                 ถึงแม้ว่าเรื่องที่เขาเขียนข้างต้นนี้จะไม่ได้กล่าวถึงการทำเหมืองแร่ที่เกาะถลางนี้ก็ตาม   แต่ก็ได้ให้รายละเอียดหลายอย่างแก่เรา  ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคุณค่ามีค่ามากและเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด สำหรับศตวรรษที่ 16 เป็นที่น่าสังเกตว่า เกาะถลางในที่นี้มีฐานะเป็นราชอาณาจักรแห่งหนึ่งและมีเจ้าผู้ครองนครพระองค์หนึ่ง สิ่งเหล่านี้ยืนยันความจริงที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้วตอนต้นในเรื่องของเกาะว่า มีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเมืองถลาง เป็นเมืองขึ้นของประเทศไทยถึงแม้จะอยู่ภายใต้การดูแลโดยตรงของเมืองนครศรีธรรมราชท่าเรือที่เรือรบจอดทอดเสมอนั้นแน่นอนคืออ่าวท่าเรือ (Tha Rua) ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

                ท่าเรือนี้มีเรือต่างๆแวะมาจอดพักเป็นประจำน้ำมันดินที่ใช้ในการซ่อมแซมเรือก็คือชันยาเรือหรือน้ำมันยางจากต้นยางนั้นเอง

                 การที่กล่าวถึง ขี้ปลาวาฬว่าเป็นสินค้าออกที่สำคัญอย่างหนึ่งนั้นนับว่ามีความสำคัญมาก และเราก็ได้พบเรื่องนี้อีกในอีกเกือบครึ่งศตวรรษให้หลัง มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากที่ได้รู้ว่าชาวเมืองถลาง สามารถที่จะรวบรวมผลผลิตที่มีค่าบริเวณชายฝั่งของเกาะเพราะว่าสภาวการณ์ต่างๆ ย่อมไม่เหมือนในปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังคงมี ขี้ปลาวาฬ อยู่มากเพียงพอในทะเลที่อยู่รอบเกาะ กล่าวโดยรวมๆ แล้วจะเห็นได้ว่า นอกจากจะมีดีบุก นอแรด ขี้ปลาวาฬ ชันยาเรือต้นยาง และอื่นๆ ที่จะใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างประเทศทั้งยังมรอ่าวที่ใช้หลบลมพายุได้ดีแล้ว เกาะถลางยังมีสิ่งจูงใจอื่น ๆ อีก ที่ทำให้มีเรือสินค้าต่างประเทศมาแวะจอดพักเป็นจำนวนมาก

บันทึกของ Hakluyt เมื่อ ค.ศ.1598 (พ.ศ.2141)

                 Hakluyt   ได้เขียนไว้ในหนังสือ “Epistle Dedicatorie ที่เขาแต่งโดยเรียกเกาะถลางว่า แผ่นดินใหญ่จันซาโลน (The mainland of Juncalaon) เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่รู้ว่า ถลาง มีลักษณะเป็นเกาะบันทึกของโบคาโร (Bocarro) ค.ศ.1606 (พ.ศ.2141) 

               แอนโทนิโอ โบคาโร (Antonio  Bocarro) ได้เขียนไว้ในหนังสือ Decada 13 da Historia da lndia” ที่เขาแต่งโดยได้กล่าวถึงเกาะถลางไว้ดังนี้ 

               ค.ศ.1606 (พ.ศ.2149) จันซาเลา (Juncalao) เป็นเมืองท่าแห่งหนึ่ง

                ค.ศ.1615 (พ.ศ.2158) ponta de Juncalao ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า  เขาหมาถึงบริเวณทางตอนใต้ของเกาะซึ่งมีลักษณะเป็นแหลม เป็นการสนับสนุนทัศนะที่ว่า พวกชาวมลายูเรียกชื่ออูจอง สลาง (Ujong Salan)นั้น โดยแท้จริงแล้วหมายถึงบริเวณทางทิศใต้ของเกาะซึ่งมีลักษณะเป็นแหลมเท่านั้น

                ค.ศ.1639 (2182) บันทึกของ แมนเดลสโล (Mandelslo)  แมนเดลสโล ได้เขียนถึงเมืองถลางโดยเรียกว่าเมืองจันซาโลน (Juncalaon) โดยเขาเข้าใจผิดคิดว่าอยู่ในรัฐมะละกาซึ่งเขาหมายถึงคาบสมุทรมลายู

                ค.ศ.1662-1663 (พ.ศ.2205-2206) บันทึกของ De Bourges De Bourges ได้ระบุว่า เอียนซาลัม (Iansalan) เป็นเมืองหนึ่งใน 11 เมืองของประเทศไทย

                ค.ศ.1671 (พ.ศ.2214) คณะผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์นิการโรมันคาทอลิก ในปี ค.ศ.1671 (พ.ศ.2214) หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย Bishop de Berythe ได้ส่งคณะผู้สอนศาสนาคริสต์นิการโรมันคาทอลิก ซึ่งมีนายเปเรซ (perez) เป็นหัวหน้า มาเผยแพร่ศาสนายังเมืองถลาง คณะผู้สอนศาสนาชุดนี้เป็นชาวโปรตุเกส ได้มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองถลางนี้เป็นจำนวนมากและการทำงานก็ประสบผลสำเร็จอย่างดี แต่เนื่องจากว่าที่ศูนย์กลางขาดคนทำงาน    นายเปเรซ จึงถูกเรียกตัวกลับไปยังอยุธยาในปี ค.ศ.1673 (พ.ศ.2217) และในเดือนพฤษภาคมของปีนั้นเขาก็ได้ต้อนรับ Bishop of Helioholis    ซึ่งผู้เดินทางมาจากทวีปยุโรปค.ศ.1677 (พ.ศ.2220)

                 ในปี ค.ศ.1677 (พ.ศ.2220)  ได้เกิดการเข้าใจผิดกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ของอังกฤษที่สุราษฎร์ธานีและเสนาบดีผู้รับผิดชอบด้านกิจการต่างประเทศที่อยุธยา เนื่องมาจากแร่ดีบุกได้หายไปที่เมืองถลาง

                ค.ศ.1681-1685 (พ.ศ.2224-2228) บันทึกของ Gervaise Gervaise ได้มาทำการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิการโรมันคาทอลิกที่ประเทศไทยในช่วง ค.ศ.1681-1685 (พ.ศ.2224-2228) เขาได้เขียนไว้ว่าจอนซา Gervaise เป็นท่าเรืออยู่ทางทิศตะวันตกของคาบสมุทรมลายูเส้นละติจูดที่ 8 องศา ท่าเรือนี้อยู่ระหว่างพื้นแผ่นดินใหญ่และเกาะแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อแล้วและอยู่ห่างออกไปเพียง 6 ไมล์เท่านั้น ข้อเสียของท่าเรือนี้ก็คือว่าน้ำไม่ลึกพอที่จะให้เรือขนาดใหญ่เข้าไปจอดได้ แต่ก็มีพื้นที่ราบขนาดใหญ่อยู่ใกล้ฝั่งเหมาะสำหรับเป็นที่จอดเรือ ท่าเรือแห่งนี้จึงเป็นที่หลบภัยของเรือจากลมมรสุมซึ่งมักจะเกิดขึ้นเสมอในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมดังนั้นท่าเรือแห่งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับการค้าในย่านอ่าวเบงกอล เมืองพะโคและเมืองอื่น ๆ ที่เป็นเพื่อนบ้าน เห็นได้ชัดว่าท่าเรือที่เขากล่าวถึงนี้คือท่าเรือที่บริเวณตำบลท่าเรือในปัจจุบัน เขายังได้เขียนต่อไปอีกว่า พวกฮอลันดาได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อเกาะจอนซาลาม (Jonsalam) นี้ ก็เพราะว่าเป็นเกาะที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยดีบุก อีกทั้งยังมีทองขี้ปลาวาฬ ที่ใช้ทำน้ำหอมอีกด้วย แต่พระมหากษัตริย์ของไทยได้แต่งตั้งชาวฝรั่งเศสชื่อ ชาร์บอนโน่ (Char-bonneau) เป็นเจ้าเมืองถลาง และไม่ยอมให้พวกฮอลันดาเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในเกาะจอนซาลามนี้ค.ศ.1685 (พ.ศ.2228) บันทึกของ Choisy

                Abbe de Choisy ได้เขียนไว้ในวารสารปารีส (paris) ว่าโจนซีลาง (Joncelang) เป็นเมืองท่าทางชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู มีดีบุกมาก และยังมีขี้ปลาวาฬ 

               ค.ศ.1685 (พ.ศ.2228) บันทึกของโชมอง (Chaumont)

                 โชมอง (Chaumont) ได้เขียนไว้ว่า โจนซีลาง  (Joncelang) เป็นเมืองหนึ่งใน 11 เมืองของประเทศไทยซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะลอกมาจากที่ De Bourges ได้เขียนไว้และเขาได้เขียนเพิ่มเติมอีกว่าได้มีการส่งดีบุกโดยทางเรือไปประเทศจีน Coromandel Coast และสีราษฎร์ธานี

                สนธิสัญญาการค้าฝรั่งเศส-ไทย ค.ศ.1685 (พ.ศ.2228) อนุญาตให้ฝรั่งเศสผูกขาดแร่ดีบุกที่เกาะ   ทูตฝรั่งเศส 2 คน คือ Chaumont และ Choisy    รู้เรื่องราวของเกาะมากกว่าที่เขาได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่องที่เขาไม่ได้เขียนไว้ก็คือ การดำเนินการทางการเมืองเพื่อสร้างอำนาจและผูกขาดสินค้าของฝรั่งเศสในประเทศไทย แต่เราก็สามารถทราบได้เป็นอย่างดีจากเอกสารสมัยนั้นที่เก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุของฝรั่งเศสว่า สนธิสัญญาฝรั่งเศส-ไทย นอกจากจะให้สิทธิพิเศษต่างๆ    แก่คณะผู้สอนศาสนาแล้ว    ยังได้อนุญาตให้ฝรั่งเศสเข้ามาผูกขาดการค้าดีบุกที่เกาะโจนซีลาง (Joncelang )     นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ฝรั่งเศสตั้งโรงงานถลุงแร่ได้  ไม่ว่าจะได้มีการตั้งโรงถลุงแร่หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่การที่ได้มีการแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสเป็นเจ้าเมืองนี้ แสดงว่า จะต้องมีชาวฝรั่งเศสมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกาะถลางแล้ว

                ค.ศ.1687 (พ.ศ.2230)  บันทึกของ ลา ลูแบร์ (La Loubers

                ในบรรดาผู้ที่บันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ ลา ลูแบร์ ( La Loubers )       ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ให้ข้อมูลสำคัญมากเกี่ยวกับประเทศไทยและเกาะถลาง เขาได้เขียนไว้ว่า

                 เกาะจอนซาลาม  ( Jonsalam )  อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ดีบุกโดยแร่ดีบุกทั้งหมดในประเทศไทยเป็นของพระมหากษัตรย์ พระองค์ทรงขายให้กับชาวต่างประเทศและพลเมืองในความปกครอง ยกเว้นที่เกาะจอนซาลามเนื่องจากว่าอยู่ไกลมากจากอยุธยา พระองค์จึงทรงอนุญาตให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในเกาะเป็นผู้ขุดแร่ดีบุกโดยการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่พระมหากษัตริย์เพียงเล็กน้อย ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังคงเป็นเช่นนี้จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1821 (พ.ศ.2232) จึงมีการผูกขาดการทำเหมืองแร่ดีบุกที่เกาะถลาง

                 เขายังได้เล่าต่อไปอีกว่า ชาร์บอนโน(Char-bonneau) เดินทางมาถึงประเทศไทยใน ค.ศ.1677 (พ.ศ.2220 )    และได้เข้าทำงานในโรงพยาบาลที่พระมหากษัตริย์ไทยเป็นผู้สร้างขึ้น ประมาณปี ค.ศ.1681-1685 (พ.ศ.2224-2228) พระมหากษัตริย์ไทยทรงแต่งตั้งให้ชาร์บอนโนเป็นเจ้าเมืองถลาง เหตุที่เขาได้รับการแต่งตั้งนี้ เพราะชาร์บอนโนได้ไปสร้างป้อมบริเวณพรมแดนไทยที่ติดกับพะโคได้สำเร็จ การที่ชาวฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าเมืองถลางนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจของฝรั่งเศสนั้นมีมากกว่าประเทศยุโรปอื่น เช่น โปรตุเกส ฮอลันดาและอังกฤษ เกาะถลางในเวลานั้นเป็นอย่างที่ Gervaise   และ   Deslandes  ได้บอกไว้ว่าเป็นที่ต้องการของฮอลันดาที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์  ชาร์บอนโน เป็นเจ้าเมืองอยู่ 4 ปี ก็ได้ลาออก และกลับไปอยุธยา ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองถลางแทน ก็คือ บิลลี่ (Billi) ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องที่พักของ เชวาเลียเดอโชมองต์ (Chevalier de Chaumont ) การแต่งตั้งให้บิลลี่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผลมาจากสนธิสัญญาการค้าฝรั่งเศส-ไทย ที่คณะทูตซึ่งมีโชมองต์เป็นหัวหน้าได้ทำไว้ในปี ค.ศ.1685 (พ.ศ.2228) สิ่งนี้แสดงให้เห็นโดยข้อเท็จจริงที่ว่าผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องที่พักของโชมองต์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง

                ค.ศ.1689 (พ.ศ.2232) การแสดงกำลังทางเรือของฝรั่งเศสที่เกาะถลาง 

               เนื่องจากได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นในสยามใน ค.ศ.1688 (พ.ศ.2231) สมเด็จพระเพทราชาทรงขึ้นครองราชย์ Desffarges ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทางทหารของฝรั่งเศสที่กรุงเทพมหานครได้เคลื่อนย้ายกำลังทหารภายใต้การบังคับบัญชาของเขาในวันที่ 2 พฤศจิกายน  ค.ศ.1688  (พ.ศ.2231) ไปยังชุมชนที่ชาวฝรั่งเศสตั้งถิ่นฐานอยู่โดยไปถึง 2 สัปดาห์ก่อนที่กองทหารฝรั่งเศสซึ่งประจำอยู่ที่ มะริด (Mergui) จะพ่ายแพ้ ทหารฝรั่งเศสได้จับตัวเจ้าหน้าที่ของไทยทั้งทหารและพลเรือนเอาไว้ Desffarges ตกลงใจที่จะไปยึดเกาะถลางไว้เพื่อจะได้มีอำนาจในในการต่อรองกับกษัตริย์ใหม่ของสยาม โดยในการนี้ ทหารฝรั่งเศสยังคงจับกุมเจ้าหน้าที่คนสำคัญๆ ของฝ่ายไทยไว้เป็นตัวประกัน 3 คนด้วยกันDesffarges  เดินทางด้วยเรือ 5 ลำ และกำลังทหารอีก 330 คนมุ่งตรงไปยังเกาะถลางในเดือนกุมภาพันธ์ ในทันทีที่จอดเรือทอดเสมอที่บริเวณท่าเรือ(Tharua) Desffarges  ได้วางแผนที่จะมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยอีกเขาได้เขียนจดหมายถึงพระคลังว่าชาวฝรั่งเศสในประเทศไทยต้องการสันติภาพและต้องการให้รัฐบาลไทยปล่อยชาวฝรั่งเศสที่ถูกจับไว้ เขสจึงจะยอมมเดินทางกลับไปพบรัฐบาลไทยพร้อมตัวประกันบาทหลวง Pallegois  ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการชักจูงใจรัฐบาลไทยให้ใช้โอกาสนี้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศล  รัฐบาลไทยปฏิเสธความคิดนี้และได้มีคำสั่งไปยังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ถลางไม่ให้อาหาร น้ำ หรือสิ่งอื่นใดแก่ทหารฝรั่งเศสโดยให้ถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

                ถึงแม้ว่าจะผิดหวังในท่าทีสนองตอบจากรัฐบาลไทย) Desffarges   ก็ใช้ความพยายามอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 27 สิงหาคม โดยได้ส่งตัวประกันคนหนึ่งกลับพร้อมด้วยจดหมาย 2 ฉบับ ถึงพระคลัง จดหมายฉบับที่ 1   Desffarges   เขียนเอง   เขาเรียกร้องให้ส่งทูตพร้อมด้วย Bishop of  Hetellopolis  มาที่ถลางเพื่อเจรจาทำสัญญาอีกฉบับหนึ่งเขียนโดย Veret   ผู้แทนการค่าของฝรั่งเศสที่อยุธยา ใจความเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าและเรียกร้องให้ยกเกาะถลางเป็นเหมือน West Indes 

                หลังจากที่เจรจากันเป็นระยะเวลายาวนานทางฝ่ายไทยได้ตอบกลับไปว่า รัฐบาลไทยจะส่งตัวชาวฝรั่งเศสที่ถูกจับตัวไว้คืนให้ ก็ต่อเมื่อ Desffarges   ปล่อยตัวประกันที่เหลืออยู่ 2 คนสียก่อน ในที่สุดฝ่ายฝรั่งเศสก็ยอมยกเลิกข้อเรียกร้องต่างๆ เนื่องจกช่วงฤดูในการเดินเรือทางทะดลมาถึงแล้ว  หลังจากการปล่อยตัวประกันอีกหนึ่งคน  Desffarges  ก็ออกเดินทางไปยังอ่าวเบงกอลพร้อมด้วยเรือ 3 ลำ หลังจากนี้ อีก 12 วัน M.de Vertesale ผู้ที่มีอำนาจรองมาจาก Desffarges      กับชาวฝรั่งเศสที่เหลืออยู่ก็ออกเดินทางจากเกาะถลางโดยก่อนออกเดินทางก็ได้ปล่อยตัวประกันคนสุดท้ายด้วย โดยได้ส่งล่ามมาด้วย 2 คนคือ Feereuse   และ  Pinchero  เพื่อชี้แจงให้รัฐบาลไทยได้เข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องที่ชาวฝรั่งเศสได้ยึดเกาะถลางเอาไว้  คนทั้งหมดได้มาถึงอยุธยาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ.1689 (พ.ศ.2223) พร้อมกับมีการออกประกาศรับเรือฝรั่งเศสได้ออกจากเกาะถลางไปแล้วโดยมุ่งหน้าตรงไปอ่าวเบงกอลดังนั้นจึงเป็นการสิ้นสุดความพยายามที่ไม่มีผลแต่อย่างใดที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศไทย Lanier กล่าวว่าเป็นการยึดเกาะถลาง แต่เขาก็ได้ให้เหตุผลสนับสนุนด้วยว่า มันดูเหมือนกับไม่ใช่การยึดเกาะถลางที่แท้จริงโดนเรือของฝรั่งเศส เพียงแต่ทอดสมอจอดที่ท่าเรือเท่านั้นและถ้าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นั้เกาะถลางทำตามคำสั่งจากอยุธยาอย่างเคร่งครัดชาวฝรั่งเศสก็ไม่มีโอกาสแม้แต่เพียงย่างเท้าขึ้นฝั่งของเกาะถลาง มร.บิลลี่เจ้าเมืองถลางก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มากมายแต่อย่างใด ถ้าจะมีการยึดกันจริงๆ ก็น่าจะเป็นการยึดเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งบริเวณท่าเรือมากกว่า สิ่งที่น่าสนใจควรตั้งข้อสังเกตในเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือว่ามีเกาะอยู่เกาะหนึ่งซึ่งพวกนักเดินเรือเรียกกันว่า เกาะฝรั่งเศส (French Island) สันนิษฐานว่าอาจจะเนื่องมาจากการถูกยึดไว้เป็นการชั่วคราวโดยลูกเรือชาวฝรั่งเศส หรือเป็นที่รู้จักกันได้เพราะลูกเรือชาวฝรั่งเศส การยึดเกาะที่ทำไปนั้นเป็นการแสดงกำลังทางเรือโดยสงบและไม่มีการเสียชีวิตเลือดเนื้อแต่อย่างใด แต่โดยแท้จริงแล้ว เป็นการทำลาบชาวฝรั่งเศสที่อยุธยา เพราะว่าการกระทำของ Desffarges     ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีและนำไปสู่การตอบโต้แก้แค้นต่อชาวฝรั่งเศสที่อยุธยา

                 ค.ศ.1700-1719 (พ.ศ.2243-2262) บันทึกของ Hamilton

                 ในปี  ค.ศ.1700-1719 (พ.ศ.2243-2262) ร้อยเอกอเลกซานเดอร์ ฮามิลตัน (Captain Alexander Hamilton) นักเขียนผู้มีชื่อเสียงได้เดินทางมายังเกาะถลาง โดย ฮามิลตันได้แต่งหนังสือชื่อ เรื่องราวใหม่ของอินดีสตะวันตก (New Account of the East lndies) ตามความคิดของศาสตราจารย์ Laughton แล้วเป็นหนังสือสมัยใหม่ที่พอจะเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ของ Herodotus ได้เขาได้เขียนเรื่องเกาะถลางไว้ว่า

                บริเวณที่มีการค้าขายกันทางด้านชายฝั่งเกาะจองซีโลน (Jonhceyloan) ซึ่งขึ้นกับสยามระหว่างเมืองมะริด (Mergui) และเกาะจองซีโลนนี้มีท่าเรือดีๆ อยู่หลายแห่งสำหรับจอดเรือแต่ชายฝั่งทะเลจะมีประชาชยอาศัยอยู่น้อย เพราะมีโจรสลัดคอยรบกวน บริเวณตอนปลายทางด้านเหนือของเกาะนั้นอยู่ห่างจากพื้นแผ่นดินใหญ่มากกว่า 6 ไมล์   บริเวณระหว่างเกาะและพื้นแผ่นดินใหญ่นั้น มีท่าเรือที่ดีอยู่ท่าเรือหนึ่งสำหรับหลบลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และทางด้านชายฝั่งตะวันตกของเกาะมีอ่าวป่าตอง เป็นท่าเรือสำหรับหลบลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เกาะแห่งนี้มีไม้ที่เหมาะสมสำหรับทำเสาเรือ มีแร่ดีบุกมากแต่ประชาชนที่อยู่อาศัยไม่มีสิทธิ์ที่จะขุดแต่อย่างใดเพราะว่ารัฐบาลไทยได้ให้สิทธิ์ในการขุดแร่ดีบุกแก่เจ้าเมืองถลางซึ่งเป็นคนจีน เจ้าเมืองถลางปกครองประชาชนอย่างกดขี่ขูดรีดเป็นอันมากทำให้มีฐานะร่ำรวย ส่วนประชาชนก็มีแต่ความยากจนลงเรื่อยๆ ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย และเกียจคร้านประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งก็มีการค้าเล็กๆ น้อยๆ กับเรือที่มาจากฝั่ง Choromandel Coast  และอ่าวเบงกอลนอกจากนี้ฮามิลตันยังได้กล่างถึงเรื่องช้างเผือกที่เขาได้พบหลายครั้งที่บางคลี ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เกาะจองซีโลน ว่ามีสีขาวนวลเหมือนกับช้างเผือกที่เขาได้เคยเห็นที่อยุธยา จึงเป็นที่เห็นกันได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในปี ค.ศ.1688 (พ.ศ.2231) ทำให้การพัฒนาประเทศและการค้าขายกับต่างประเทศที่เคยเป็นมาในช่วง 30 ปีก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนั้นหยุดชะงักไปและยังทำให้เกิดผลเสียต่อเกาะถลางอีก กล่าวคือไม่มีเรือรบไว้ป้องกันชายฝั่ง ทำให้เกิดมีพวกโจรสลัดมลายูออกเที่ยวปล้นเรือสินค้า เจ้าเมืองในอดีตที่แต่ก่อนเป็นคนชาวยุโรปก็เปลี่ยนเป็นคนจีนที่ขาดศีลธรรมมุ่งแต่กอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือการกล่าวถึงอ่าวป่าตองของฮามิลตัน (พันเอกเยรินีเสนอความเห็นว่า ฮามิลตันเป็นนักเขียนคนแรกที่กล่าวถึงอ่าวป่าตอง) ซึ่งจะต้องเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักเดินเรือมานานแล้วว่าเป็นบริเวณที่หลบลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนที่ฮามิลตันจะได้ มาพบเรื่องราวต่างๆ ที่เขาเขียนนี้ก็นับได้ว่าถูกต้องใกล้เคียงกับข้อเขียนของชาวยุโรปคนอื่นๆ ในช่วงที่เมืองหลวงของสยามยังอยู่ที่อยุธยาค.ศ.1179(พ.ศ.2322) บันทึกของ Dr.Koenig

                นักเดินทางคนต่อไปที่เดินทางมาเกาะถลางคือ  Dr.Koenig  นักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวเดนมาร์กเขาเป็นลูกศิษย์ของลินเนียส (Linnaeus) ตั้งแต้ปี ค.ศ.1768 (พ.ศ.2311)  เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น ผู้ช่วยแพทย์ นักธรรมชาติวิทยาในอินเดีย ในปลายปี ค.ศ.1778 (พ.ศ.2321) เขาได้เริ่มต้นการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกรุงธนบุรี ในการเดินทางกลับอินเดียในปี ค.ศ.1779 (พ.ศ.2322) เขาได้แวะพักที่เกาะถลางเป็นเวลาหลายเดือนซึ่งเขาได้ใช้เวลาในช่วงนี้สำรวจสัตว์และดอกไม้โดยได้ทำการสำรวจเกาะเล็กอื่นๆ ที่อยู่ข้างเคียงด้วยความสนใจหลักของเขาคือเรื่องความเป็นมาของธรรมชาติดังนั้นเขาจึงไม่มีความสนใจในเรื่องอื่นๆเลย แต่กระนั้นก็ตามเรื่องที่เขาเขียนก็ยังได้ให้ข้อมูลในเรื่องของภูมิศาสตร์  และการเมืองของประเทศที่เขาไปเยือน   Dr.Koenig  ถือได้ว่าเป็นผู้รู้คนแรกที่ได้ศึกษาเรื่องสัตว์และดอกไม้ของเกาะถลาง การเดินทางครั้งที่ 1 วันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1779 (พ.ศ.2322)  Dr.Koenig   เดินทางไปยังเกาะต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงเกาะถลางโดนเรือชื่อบริสตอล (Bristol) ซึ่งผู้บังคับบัญชา คือ ร้อยเอกฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) เจ้าเมืองปีนัง เขาได้เขียนไว้ว่า เราได้ผ่านเกาะยาวใหญ่ (Pulo Pan Jang ) และได้เดินทางตรงไปเรื่อยๆ ผ่านช่องแคบที่ไม่กว้างมากนักแห่งหนึ่ง เราได้พบหินรูปร่างแปลกๆ จำนวนมากโผล่ขึ้นมาจากทะเลก้อนที่ใหญ่ที่สุดก็มีรูปร่างแปลกที่สุด เราได้จอดเรือตอนบ่าย 3 โมงที่เกาะยาว (Pullo Salang) ซึ่งประกอบด้วยเกาะ 2 เกาะเกาะหนึ่งเล็กกว่าอีกเกาะหนึ่ง

                วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2322 ข้าพเจ้าได้ออกเดินทางไปยังโรงงานถลุงแร่ดีบุกตั้งแต่เช้าตอนบ่าย 4 โมงเย็น เราก็ได้มาถึงหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง คือ โรงเรื่อย ( Ring  Luei )  อีก 1 ชั่วโมงต่อมาเราก็มาถึง Kockren ( คอเอน?) ในตอนเย็นข้าพเจ้าได้ไปที่โรงงานถลุงแร่เพื่อดูวิธีการในการถลุงแร่

                วันที่ 25 มีนาคม 2322 ข้าพเจ้าได้ไปที่เหมืองแร่ซึ่งอยู่ห่างจาก   Kockren    หนึ่งส่วนสี่ไมล์    ทางที่จะไปยังเหมืองนั้นเป็นป่าทึบ ต่อจากนั้นเราก็ไปยังบริเวณแห่งหนึ่งซึ่งมีการนำดีบุกมาใช้

                 วันที่ 26 มีนาคม 2322 เราเดินทางกลับบ้านด้วยการข้ามภูเขาเวลาประมาณ 12 นาฬิกา ก็มาถึงท่าเรือ (Tarmah) ซึ่งในเวลานั้น ท่าเรือเป็นเมืองหลวงของภูเก็ต

                วันที่ 28 มีนาคม 2322 ข้าพเจ้าได้ไปที่เกาะยาวน้อย ( Pullu  Salang Minor ) ด้วยเรือ ลูกเรือที่ไปด้วยต้องการไปตัดไม้เพื่อนำไปใช้กับเรือสินค้า ข้าพเจ้าได้พบสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจจำนวนมาก ตอน 5 โมง เรือสินค้าของเราก็สามารถออกเดินทางได้

                การเดินทางของเราต้องไปพบกับพายุแรงจัดใกล้บริเวณ  (Nicobars) เนื่องจากเรือที่ใช้เดินทางครั้งนี้เป็นเรือเก่า ทำให้ไม่มีความปลอกภัยที่จะเดินทางต่อไปจึงจำเป็นต้องเดินทางกลับถลางและมาถึงในวันที่ 30 เมษายน 2322  

 

การเดินทางครั้งที่ 2 

               วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2322 เราเดินทางมาถึงหมู่เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของแหลมหงาและอยู่ทางทิศใต้ของเกาะยาวเราได้ทอดเสมอที่เกาะมาลีและได้พบเรืออังกฤษ 2 ลำ เป็นของร้องเอกเจมส์ สกอตต์ (Captain James Scott) และร้อยเอกปีเตอรส์  (Captain  Peters) แสดงว่า เกาะมาลีเป็นบริเวณที่มีเรือจำนวนมากแล่นผ่าน

                วันที่ 1 พฤษภาคม 2322 ในตอนบ่าย ข้าพเจ้าได้ไปที่เกาะมะพร้าวหรือเกาะพร้าว (Koh Phrau) ข้าพเจ้าสนใจบริเวณจุดสูงสุดของภูเขาเป็นอันดับแรกบริเวณนี้ประกอบด้วยหินที่สวยงามมากเหมือนหินที่มีหลายสีที่พบมากที่สุดคือ สีเทา นอกนั้นก็มีสีเขียว สีดำสีชมพู หินเหล่านี้ไม่ได้ประกอบกันขึ้นเป็นก้อนหินขนาดใหญ่แต่อย่างใด เนื่องจากมีรอยแตกสีน้ำตาลปนแดงแยกหินออกเป็นส่วนต่างๆ ที่ไม่เสมอกัน คนไทยใช้หินชนิดนี้เขียนตัวหนังสือบนกระดาษแข็งพวกเขาทำได้โดยตัดหินออดเป็นแท่งเล็กๆ จำนวนมาก ยาวประมาณ 1 นิ้ว หนาประมาณครึ่งหนึ่งของก้านขนนก

                วันที่ 3 พฤษภาคม ตอนเที่ยงวัน ข้าพเจ้าได้ออกไปที่เกาะมะพร้าว อีกครั้งหนึ่ง ก่อนอื่นข้าพเจ้าได้ไปที่กระท่อมของชาวมลายู พวกเขาได้แสดงวิธีการปรุงอาหารจากปลิงทะเล ว่าทำได้โดยต้มปลิงทะเลในน้ำเกลือก่อน หลังจากนั้นก็นำไปวางบนที่ตั้งที่ทำจากไม้ไผ่ที่สูงประมาณครึ่งหนึ่งของคน กว้างและยาว 6 ฟุต หลังจากนั้นก็จุดไฟให้ลุกสว่างเพื่อเผาและรมควันปลิงทะเล

                วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2322  ข้าพเจ้ามุ่งเดินทางไปยังเกาะขบ ซึ่งอยู่ห่างจากเรือของเราไปทางทิศเหนือ 1 ไมล์ ข้าพเจ้าไม่สามารถจะทำการสำรวจพันธุ์พืชต่างๆ ได้ เพราะว่าเรือโจรสลัดมลายู 7 หรือ 8 ลำได้แล่นมาถึง เราจึงมุ่งหน้าเดินทางไปยังท่าเรือ (Tarmah) ที่เราได้เคยไปอยู่มาแล้ว 

                วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2322   เราเดินทางอยู่ระหว่างเกาะยาวใหญ่ (Pullu Panjang) และเกาะยาวน้อยและได้ไปไกลถึงเกาะฝรั่งเศส (เยรินี ว่าหมายถึง เกาะแพะ) เรือเดินทางต่อไปไม่ได้ ดังนั้นจึงทอดเสมอจอดเรือ

                 วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2322   ตอนบ่าย 4 โมงเย็นเราก็มาถึงท่าเรือ (Tarmah

                วันที่ 22  พฤษภาคม พ.ศ.2322   ข้าพเจ้าเดินทางไปสู่ Cockreu (โคกกลอย?) โดยทางถนนซึ่งเต็มไปด้วยโคลนและบ่อบครั้งที่ถูกตัดขาดโดยแม่น้ำสายเล็กๆที่ไหลผ่านตามบริเวณที่เป็นป่าทึบ จะพบแรดอยู่ทั่วไป

                วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2322   ข้าพเจ้าเดินทางไปยังบริเวณแห่งหนึ่งในป่า ซึ่งถูกน้ำทะเลท่วมบ่อยครั้ง

                วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2322   เสือตัวหนึ่งได้มายังที่พักของเราและคาบเอาห่านไป 1 ตัว ไปยังถ้ำของมันในป่า ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักของเรา 200   หลา 

               วันที่ 27-28 พฤษภาคม พ.ศ.2322   ข้าพเจ้าทำการสะสมแมลงต่อไป ตอนเย็นเจอช้างป่าตัวหนึ่งข้าพเจ้าจึงหลบหนีเอาตัวรอด

                วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2322   เราเดินทางไปยังเรือของเราที่ท่าเรือ แต่การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เพราะมีต้นไม้จำนวนมากลอยน้ำขวางทางอยู่โดยต้นไม้เหล่านี้ถูกพายุพัดหักลงมา

                วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2322    ข้าพเจ้าเดินทางไปยังเกาะยาวใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะยาวน้อยไม่มากนัก เกาะยาวใหญ่นี้มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของเกาะยาวน้อยและตั้งอยู่ในลักษณะที่ขนานกับเกาะถลางตามแนวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากน้ำลดแล้วเราก็เดินทางกลับไปยังเรือซึ่งจอดอยู่ห่างจากเกาะยาวใหญ่ถึง 3 ไมล์

                วันที่ 1-2 มิถุนายน พ.ศ.2322 ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสที่จะส่งข่าวเรื่องความเป็นอยู่ของข้าพเจ้าให้เพื่อนที่ชายฝั่งอ่าวเบงกอลทราบได้ ทั้งนี้เพราะว่ากัปตันปีเตอร์   (Captain  Peters)  จะเดินทางไปที่นั่น

                วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2322 กัปตันปีเตอร์รับจดหมายจากข้าพเจ้า เรือของเขาได้บรรทุกดีบุกจากผู้บังคับการเรือของเรา เรือได้ออกเดินทางจากท่าเรือในเวลาบ่ายเพื่อมุ่งไปยังจุดหมายปลายทาง

                วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2322   ข้าพเจ้าเดินทางไปยังเกาะยามู  ( Pullu Jambu) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีลักษณะเป็นเกาะ แต่โดยความเป็นจริงแล้วควรเรียกว่าแหลมมากกว่า สาเหตุที่บริเวณนี้กลายเป็นเกาะเนื่องจากว่าเวลาน้ำท่วมสูง บริเวณแห่งนี้จะถูกแยกจากเกาะถลาง

                เกาะแห่งนี้อยู่ด้านเดียวกันกับเกาะยาวโดยเมื่อจะเดินทางไปยังท่าเรือนั้น เกาะแห่งนี้จะอยู่ทางด้านขวามือ เกาะยามู ประกอบไปด้วยภูเขาขนาดเล็ก 2 ลูก สูงประมาณ พื้นที่ระหว่างภูเขา 2 ลูกนี้เป็นหุบเขา บริเวณด้านหน้าของเกาะแห่งนี้มีต้นไม้สูงจำนวนมากบริเวณหุบเขามีลักษณะเป็นเนินเขา มีหญ้าขึ้นปกคลุมไม่รกนัก แต่ไม่มีต้นไม้ เมื่อมองจากระยะไกลจะเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามมาก อย่างไรก็ตามหญ้าที่ว่านี้สูงมากเท่ากับความสูงของคน และยังมีอ้อยอยู่ชนิดหนึ่งการมีไม้ไผ่และอ้อย ทำให้ช้างมาอาศัยในเกาะแห่งนี้ดังนั้นใครก็ตามที่เข้ามายังป่าบริเวณนี้จะได้เห็นทางเดินของช้าง มีคนบอกข้าพเจ้าว่ามีช้างเผือกอยู่ 1 ตัว อาศัยอยู่ในบริเวณนี้กับลูกของมัน โดยลูกช้างนี้เป็นช้างธรรมดา แต่ข้าพเจ้าไม่กล้าที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อพิสูจน์ว่าคำยืนยันดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่

                วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2322   หลังจากที่รับประทานอาหารเช้า ข้าพเจ้าได้ออกไปดูที่ซ่อนตัวของแรด แรดที่ว่านี้จะมาที่เกาะยามูเป็นครั้งคราว

                วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2322   ข้าพเจ้าได้ไปบริเวณที่ชายฝั่งของเกาะ พบเห็นปะการังมีอยู่มากมายตอนเย็นมีคนมารับข้าพเจ้าเดินทางไปยังเรือของกัปตันเวลล์ ซึ่งเพิ่งจะเดินทางมาจากเกาะสุมาตรา

                วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2322   ข้าพเจ้าได้ไปดูพืชชนิดหนึ่งซึ่งคนไทยนิยมกินกัน ลำต้นของมันมีสีแดงเข้ม พวกเขาเรียกพืชชนิดว่า Kalch (เยรินี ว่าอาจจะเป็นข่า ไพล เปราะ หรือ เร่ว-บุกง) ช้างชอบกิน Kalch  มาก

                ในตอนบ่าย ข้าพเจ้าให้คนรับใช้และคนไทยไปนำตัวบึ้งมาให้ดู พวกเขาบอกว่าตัวบึ้งนี้สามารถที่จะขุดรูอยู่ใต้ดินในระดับลึก 1 ฟุต บริเวณที่ชอบมากได้แก่บริเวณที่ช้างมาถ่ายมูลทิ้งไว้ ในตอนเย็นพวกเขาก็กลับมาพร้อมด้วยบึ้ง 15 ตัว มีขนาดใหญ่แตกต่างกัน พวกคนไทยก็นำตัวบึ้งไปล้างน้ำแล้วจึงทอดกินด้วยความเอร็ดอร่อย และได้ชวนพวกเรากินด้วย โดยบอกว่ารสชาติดีมาก ผู้บังคับการเรือของเราได้ทดลองกิน เขาบอกว่าเป็นอย่างที่คนไทยพูดจริง ข้าพเจ้าแน่ใจว่าตัวบึ้งนี้มีไขมันมาก

                วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2322   ข้าพเจ้าได้เตรียมตัวตั้งแต่เช้าเพื่อเดินทางไปเมืองท่าเรือ ในตอนบ่ายข้าพเจ้าได้เดินทางไปเกาะยามูด้วย โดยใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการไปเกาะยามูครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้ดูต้นโกฏสอ และนกกระฮาง

                วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2322   ความเป็นอยู่ไม่ค่อยจะปลอดภัยนักสำหรับชาวยุโรปในช่วงเวลาสุดท้ายของการอยู่ที่นี่เพราะว่าได้เกิดการขัดแย้งกันขึ้นระหว่างผู้บังคับการเรือชาวอังกฤษและเจ้าเมืองถลาง ข้าพเจ้าถูกตามให้กลับไปที่เรือ ก่อนที่ข้าพเจ้าจะกลับไป ก็ได้สำรวจต้นไม้ต่างๆ พ่อค้าชาวจีนซึ่งอยู่ในบริเวณเมืองท่าเรือได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่ามีการค้นพบดีบุกบนยอดเขาสูง เนื่องจากฝนได้ตกลงมาชะดินทำให้สามารถหาดีบุกได้แล้วก็นำไปยังโรงถลุงแร่ หญิงชราผู้นี้ได้รับดีบุกกลับคืนมาเศษสี่ส่วนห้าของดีบุกที่นำไป เพราะว่าเป็นธรรมเนียมของบริเวณนี้ ที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของโรงถลุงแร่เศษหนึ่งส่วนห้าสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการถลุงแร่ แต่ก่อนนี้การค้นหาดีบุกในเกาะยาวใหญ่ก็ใช้วิธีการดั้งเดิมแบบที่กล่าวมาไม่มีการขุดกันเหมือนในบริเวณเมืองท่าเรือ นอกจากนี้ดีบุกก็มีไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนจำนวนมากยึดเป็นอาชีพได้ ยิ่งกว่านั้นยังมีโจรสลัดมลายูออกปล้นฆ่าประชาชนเหล่านี้ ทำให้ต้องหลบหนีภัยโจรสลัดไปอยู่ที่อื่น ทางด้านชายฝั่งมลายูนั้นประชาชนยังใช้วิธีการค้นหาดีบุกแบบดั้งเดิมอยู่ จึงไม่มีการขุดดีบุกเหมือนกับที่นี่

                วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2322 วันนี้ข้าพเจ้าอยู่ที่ที่ทำการของกัปตันไลท์และเราก็กล้าพอที่จะเดินทางเข้าป่าลึก เพราะว่าคนจำนวนมากที่ได้เดินทางไปกับเรานั้นมีอาวุธไปด้วย เราเดินทางลึกเข้าไปเรื่อยๆบริเวณนี้เป็นป่าทึบ มีต้นไม้สูงๆ จำนวนมาก บนพื้นดินเต็มไปด้วยผลไม้ซึ่งหล่นลงมาและเราก็ได้เก็บติดตัวไปบ้าง 

               วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2322  ข้าพเจ้าขอเรือกัปตันไลท์ 1 ลำ และคนพายเรือจำนวนหนึ่ง เราพายเรือไปตามลำธารที่อยู่เชิงเขาสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมากก็คือข้าพเจ้าได้ต้นหมาก 2 ชนิด คือ หมากขาวและหมากแดง โดยในบริเวณนี้มีต้นหมากทุกชนิด

                วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2322 ข้าพเจ้าป่วยเป็นโรคท้องเสียอย่างแรง นอกจากยังมีไข้และอ่อนเพลียเกิดความวิตกกังวลกันว่าข้าพเจ้าอาจถึงตายได้ ข้าพเจ้าตัดสินใจเดินทางไปกับเรือของกัปตันสกอตต์ (Captain Scott) ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปยังมะละกา

                ดังนั้นจึงจบเรื่องการเดินทางมาเยือนถลางของ Dr.Kocnig ซึ่งมีประโยชน์มาก เขาเดินทางไปถึงมะละกาโดยปลอดภัยและได้เดินทางต่อไปยังเคดาห์โดยแวะสถานที่ต่างๆ หลายแห่งในระหว่างเดินทางในที่สุดเขาก็เดินทางไปถึงอินเดียซึ่งเขาเสียชีวิตที่ Jagernatiporoum ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ.1785 (พ.ศ.2328) โดยมีอายุรวมได้ 57 ปี ถึงแม้ว่าเขาจะได้เขียนถึงสภาพการณ์ทางสังคมของถลางเพียงเล็กน้อยก็ตามแต่ข้อสังเกตของเขาเกี่ยวกับเมืองท่าเรือ เกาะต่างๆ   ที่อยู่ใกล้คียงการทำเหมืองแร่ดีบุกในเวลานั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเราได้รู้ว่าในสมัยนั้นโจรสลัดมลายูได้คุกคามอย่างต่อเนื่อง  ทำให้การทำเหมืองแร่ดีบุกบริเวณเกาะยาวใหญ่ต้องหยุดลง ยิ่งกว่านั้นเรายังได้รู้ว่าประชาชนได้รับสิทธิในการทำเหมืองแร่ดีบุก โดยต้องจ่ายเศษหนึ่งส่วนห้าเป็นค่าใช้จ่ายในการถลุงและต้องจ่ายอีกเศษหนึ่งส่วนสี่ของผลิตผลสุทธิที่ได้มาแก่เจ้าเมือง ซึ่งจะได้ส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดที่พังงา และตะกั่วป่า เพื่อนำไปยังเมืองหลวงของสยามตามเส้นทางที่จะได้บรรยายต่อไป ส่วนการถลุงแร่โดยชาวจีนซึ่งมาตั้งถิ่นฐานกันมากที่เกาะถลางนั้น ชาวจีนจะนำผลิตผลที่ได้นี้ส่งออกไปยังต่างประเทศดีบุกก็ยังถูกส่งออกโดยชาวยุโรปด้วยเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า การผูกขาดดีบุกที่เป็นอยู่ในสมัยอยุธยาไม่ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาทำกันอีกในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือถ้ายังคงมีอยู่ก็เป็นในลักษณะที่ไม่มีระเบียบแบบแผน

                DR. Kocnig   ไม่ได้เขียนถึงขี้ปลาวาฬ เป็นไปได้ว่า เนื่องมาจากเขาไม่ได้ไปยังบริเวณชายฝั่งตะวันตกของเกาะถลาง เป็นบริเวณที่มีขี้ปลาวาฬมากนอกจากนี้เขายังได้เขียนถึงการที่เขาได้พบแรด เสือ ช้าง จำนวนมาก และแม้กระทั่งช้างเผือก สัตว์เหล่านี้หายาก ยิ่งขึ้นหลังจากเวลานั้นมา ในเรื่องที่ว่ามีการทำดินสอกระดาน ชนวนที่เกาะมะพร้าวนั้น ข้าพเจ้าไม่ต้องการที่จะกล่าวถึง ที่น่าเสียดายก็คือว่าผู้เขียนไม่ได้เขียนถึงเมืองท่าเรือมากมายนักเมื่อเทียบกับเรื่องราวที่นักเขียนคนอื่นเขียนทั้งที่เมืองท่าเรือเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากในเวลานั้น แต่เราก็ต้องยอมรับว่าเรื่องราวที่เขาได้บันทึกไว้นั้นทีรายละเอียดที่น่าสนใจเป็นพิเศษของเกาะถลาง นับตั้งแต่ที่ฮามิลตันได้เขียนไว้โดยเป็นเวลาเพียง 2-3 ปี หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ.1767 (พ.ศ.2310) และการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรีในปี ค.ศ.1768 (พ.ศ.2311)

                 บันทึกเหตุการณ์ในเมืองถลาง ก่อน ค.ศ.1782                (พันเอกเยรินี ได้ตัดทอนข้อความบางส่วนมาจากเอกสารที่เขียนขึ้นโดยข้าราชการของท้องถิ่นใน ค.ศ.1841 (พ.ศ.2384) โดยได้เขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนค.ศ.1782 (พ.ศ.2325) เพื่อทำให้ข้อเขียนเรื่องประวัติศาสตร์เมืองถลางมีความสมบูรณ์)

                ถลางมีเจ้าเมืองที่เป็นพี่น้องกันอยู่ 2 คน เกิดจากบิดาเดียวกันแต่ต่างมารดากัน คนหนึ่งชื่อ จอมร้าง อยู่ที่บ้านเคียนและเป็นเจ้าเมืองถลาง ได้แต่งงานกับหญิงหม้ายชาวมลายูซึ่งหนีมาจากเคดาห์ (Kedah) จอมร้างมีบุตรชาย 2 คน บุตรสาว 3 คน บุตรสาว 2 คนของจอมร้างในภายหลังได้เขียนเกียรติยศที่สูงยิ่งซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไปบุตรชายคนโตได้เป็นเจ้าเมืองในภายหลัง อีกคนหนึ่งคือ จอมเฒ่าอยู่ที่บ้านดอนมีความกลมเกลียวกันเป็นอย่างดี แต่หลังจากนั้นความสงบในเมืองถลางก็สิ้นสุดลง

                 หลังจากที่จอมสุรินบ้านลิพอนได้ก่อการกบฏและถูกประหารชีวิตไปโดยคำสั่งของกรุงศรีอยุธยาก็ไม่มัคนที่มีความสามารถพอที่จะปกครองเมืองถลางได้ ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งคางเซ้ง (Khang Seng) มาเป็นเจ้าเมือง ต่อมาจอมร้างได้เป็นเจ้าเมืองถลางแทน

                หลังจากที่จอมร้างตายลง บุตรชายคนโตก็ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ต่อมาก็ถูกคนร้ายยิงตาย ถลางจึงปราศจากเจ้าเมือง ด้วนเหตุนี้ ชาวมลายูที่มาจากเคดาห์ จึงตั้งตนเป็นเจ้าเมือง แต่ในไม่ช้าชาวเมืองถลางก็ก่อการจลาจลโดยตั้งค่ายรบที่บ้านไม้ขาว บ้านสาคู และตั้งรอ?(Tang-ro) สามารถขับไล่พวกมลายูออกไปได้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหรือหลัง ค.ศ.1780 (พ.ศ.2323) ไม่นานนัก เป็นเหตุให้เกิดความคลาดเคลื่อนในข้อเขียนเกี่ยวกับถลางของ Horsburgh ที่ว่าเกาะถลางตกอยู่ใต้อำนาจของเคดาห์ (Kedah) จนกระทั่งค.ศ.1810(พ.ศ.2353) หลักฐานต่างๆที่เราได้เสนอไปแล้วแสดงให้เห็นว่าข้อเขียนดังกล่าวขาดความน่าเชื่อถือและผู้เขียนก็ไม่มีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้านการเมืองของเคดาห์นั้นหลังจากก่อตั้งได้ไม่นานนักก็เป็นเมืองขึ้นของประเทศสยามมาตลอด ยกเว้นช่วงเวลาสั้นๆที่ก่อการจลาจลขึ้น ซึ่งก่อเป็นผลทำให้ทางฝ่ายประเทศไทยทำการควบคุมเคดาห์อย่างเข้มแข็งมากขึ้น ในระหว่างนั้นหม่อมศรีภักดีซึ่งเป็นบุตรของ จอมนายกองเจ้าเมืองตะกั่วทุ่งได้แต่งงานกับจัน บุตรสาวคนโตของจอมร้างบ้านเคียนและมีบุตร 2 คน หม่อมศรีภักดีตายในช่วงเวลาใกล้ค.ศ.1785 (พ.ศ.2328) ในช่วงเวลาที่จะสิ้นปีนั้น ท่านผู้หญิงจันซึ่งเป็นวีรสตรีของเมืองถลางเป็นภรรยาของเจ้าเมืองถลางซึ่งแสดงให้เห็นว่าหม่อมศรีภักดีจะต้องปกครองเมืองถลางอยู่ระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะเสียชีวิตไป และจุดนี้ข้าพเจ้าจะขอโต้แย้งกับประวัติศาสตร์ของเมืองถลางที่เป็นอยู่ 

               ภูเก็ตแต่ก่อนนี้เป็นเมืองที่สำคัญ  ต่อมาได้ถูกรวมเข้ากับถลางเจ้าเมืองคนแรกคือ หลวงภูเก็ต (Khang Khot) และต่อมานายศรีชาติที่ซึ่งเป็นผู้ดูแลได้เป็นพระยาภูเก็ต เมืองหลวงคือท่าเรือ เป็นเมืองเล็กๆที่มีความสำคัญมาก ตั้งอยู่ห่างจากสายน้ำเล็กๆชื่อเดียวกัน ห่างไประยะทาง 1 ไมล์ครึ่ง มีชุมชนขนาดใหญ่ของชาวโปรตุเกสอยู่ที่นี่ มีถนนที่ทำด้วยอิฐขนาดใหญ่ มีบ้านกว้างขวางใหญ่โตของชาวยุโรปสำหรับอยู่พักอาศัยขณะที่จอดเรืออยู่ที่ท่าเรือ เขตแดนระหว่างภูเก็ตและถลางเป็นดังนี้ 

               ทิศตะวันตก หินชายปลายตะโหนด (หาดสุรินทร์)

                ทิศตะวันออก เกาะมะพร้าว อ่าวตุ๊กแก แหลมหงา แหลมพับผ้า ขึ้นกับเมืองภูเก็ต ตลอดออกไปยังเกาะยาว เกาะอลัง เกาะกล้วย แหลมยามู เกาะแรด เกาะนาคา เกาะระวะ เกาะปาโญ้ย เกาะชงำ อ่าวพารา เกาะยาหนัด เกาะคูลาครด(?) ไปถึงแหลมคอเอน ปากคลองบ้านด่านหยิก แหลมปากพระท่าข้ามน้ำหมอนและปากพระ ซึ่งแยกภูเก็ตออกเมืองตะกั่วทุ่ง ช่องปากพระเป็นแนวแบ่งเขตแดนระหว่างตะกั่วทุ่งและถลาง 

               จากเอกสารที่เรามีอยู่ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งจะขอกล่าวโดยย่อดังนี้ 

               ตะกั่วทุ่งในช่วงปีสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาเจ้าพระยาอินทวงษาได้มาเลือกสถานที่เพื่อจะสร้างบ้านเรือนของตนเองแต่ก็ยังไม่ได้เริ่มต้นแต่อย่างใดก็ตายเสียก่อน

                ในปี ค.ศ. 1768 (พ.ศ.2311) พระยาตากได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ได้ส่งข้าราชการระดับสูงตำแหน่งเจ้าพระยาและพระยามาประจำที่นี่ ข้าราชการเหล่านี้ได้สร้างบ้านเรืออาศัยอยู่ที่ช่องปากพระ

                ข้าราชการเหล่านี้ก็มีพระยาธรรมไตรโลก เจ้าพระยาฦาราชนิกุล พระยาพิพิธโภไคย (หลักฐานช่วงนี้แตกต่างจากหลักฐานที่กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จค้นคว้าไว้ คือ เจ้าพระยาอินทวงษา เป็นพระสหายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มาดูแลฝั่งตะวันตกต่างพระเนตรพระกรรณตั้งแต่เมื่อโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเจ่าพระยานคร ไปครองนครศรีธรรมราชส่วนพระยาธรรมไตรโลกและพระยาพิพิธโภไคย เป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้มาปราบเจ้าพระยาอินทวงษาในปี พ.ศ.2328 : สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์)

                ภาษีและค่าธรรมเนียมที่เก็บจากเหมืองและผลิตผลอื่นรวมทั้งสินค้าต่างประเทศที่มาขึ้นที่เกาะถลางถูกส่งไปที่ตะกั่วทุ่ง แล้วส่งต่อไปที่ตะกั่วป่าจากตะกั่วป่า สิ่งของจำพวกแร่ดีบุก ผ้าต่างๆ อาวุธปืน ถูกนำบรรทุกข้ามเขาโดยผ่านช่องทางเขาศก ต่อไปยังท่าพนมทางด้านตะวันออก แล้วก็นำลงเรือไปตามคลองพนมไปสู่ไชยาแล้วก็เดินทางสู่กรุงศรีอยุธยาโดยทางเรือต่อไป การเดินทางเส้นทางนี้ใช้กันมาเป็นระยะเวลายาวนานมาก จนกระทั่งมีการรุกรานจากพม่าในปีค.ศ.1786 (พ.ศ.2329) การเดินทางตามเส้นทางดังกล่าวไม่สามารถทำได้อีกต่อไปเป็นระยะเวลาที่นานมาก จึงได้มีการหาเส้นทางอื่นในการติดต่อกับส่วนกลาง

                2.ช่วงระยะเวลาที่ 2 ค.ศ.1782-1851 (พ.ศ.2325-2394)

                 ข้าพเจ้าได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในตอนแรกของข้อเขียนชิ้นนี้ไว้แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ในปี ค.ศ.1782 (พ.ศ.2325) มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านบริหาร กรมท่าหมดอำนาจในการควบคุมเกาะถลางและคาบสมุทรมลายู กรมกลาโหมเป็นฝ่ายควบคุมดูแลอย่างที่เคยเป็นมา และเป็นเช่นนี้จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการบริการในปีค.ศ.1893 (พ.ศ.2436)

                 การมีเจตนารมณ์ที่จะให้ประชาชนได้รับรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม นับตั้งแต่เวลาที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะแต่ประชาชนไทยเกท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อชาวต่างประเทศที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอีกด้วย เพราะเหตุว่าในสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีการขัดขวางการเผยแพร่ศาสนาคริสต์อย่างหนัก คณะผู้เผยแพร่ศาสนาจำต้องล้มเลิกการทำงานลงในปลายปีค.ศ.1782 (พ.ศ.2325) อย่างไรก็ตาม Josep Coude ได้อยู่ที่ถลางต่อไปอีกช่วงหนึ่ง เขาได้พบผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จำนวนมากซึ่งต้อนรับเขาด้วยความยินดี   ข้าพเจ้าคิดว่าคนเหล่านี้ส่วนมากคือพวกลูกครึ่งโปรตุเกสและชาวยุโรปชาติอื่นๆ ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองท่าเรือ กับลูกหลานของคนไทยในบริเวณนี้ ที่ได้รับการสอนศาสนาในช่วง ค.ศ.1671-1673 (พ.ศ.2214-2217) จากพระในคริสต์ศาสนาทั้ง 2 นิกายที่ได้เดินทางมาเยือนเกาะถลาง

                ในเวลาต่อมา Coude ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Bishop ประจำที่กรุงเทพฯ เขาได้เดินทางกลับมาเยี่ยมเยือนชาวคริสต์อีกครั้งหนึ่งที่ถลางและตะกั่วทุ่ง โดยเดินทางข้ามคาบสมุทรมลายู ซึ่งจะย่นระยะเวลาการเดินทางได้ 8-10 วัน (แน่นอนว่าเป็นเส้นทางที่ผ่านช่องทางเขาศก) แต่การเดินทางตามเส้นทางสายนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก Coude เกิดอาการป่วยหนักและตายในขณะที่กำลังเดินทางในวันที่ 8 มกราคมค.ศ.1785 (พ.ศ.2328)

                การเดินทางมาถลางของกัปตันฟอเรสต์( Captain  James Forrest) นับว่ามีความสำคัญมาก ของเขาได้ให้รายละเอียดที่มีคุณค่าในเรื่องภูมิประเทศท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ การค้าขาย การบริหารชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน งานเขียนของเขาเขียนขึ้นในช่วงทีมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากที่สุด ความถูกต้องของข้อมูลที่เขาเขียนขึ้นทำให้เราสามารถตรวจสอบและเสริมเหตุการณ์ต่างๆในบันทึกของท้องถิ่นที่ยังขาดความสมบูรณ์ได้ เนื่องจากว่าเขาเป็นผู้สังเกตที่ดี เป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ที่ตรงไปตรงมา

                 หลังจากที่อ่านงานเขียนของกัปตันฟอเรสต์แล้วทุกคนจะต้องเสียดายที่ว่าเขาไม่มีโอกาสเดินทางไปยังเมืองต่างๆที่อยู่บนผ่นดินใหญ่ฝั่งตรงกันข้ามเกาะถลาง ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลต่างๆที่มีคุณค่าที่ยังเป็นที่ไม่รู้กันอีกมากเขาได้กล่าวถึงเมืองถลางไว้ดังนี้

1.                   ที่ตั้งของเกาะ เกาะแจนซีลัน (Jan Sylan) ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของอ่าวเบงกอล ถูกแบ่งออกจากฝืนแผ่นดินใหญ่ โดยคอคอดที่เป็นหาดทรายยาว 1 ไมล์ กว้างเศษหนึ่งส่วนสองไมล์ เวลาน้ำขึ้นสูงจะมองไม่เห็นคอคอดนี้ เพราะจะถูกน้ำท่วม ทางตอนเหนือของเกาะมีท่าเรือที่ดีเยี่ยมแห่งหนึ่ง คือท่าเรือปากพระ Pak  Phrah

2.                   ชื่อ Jan Sylan มาจากคำว่า Ojong Sylan (แหลมซีลัน) เนื่องจากทางตอนใต้มีลักษณะเป็นแหลมที่ยื่นออกไปในทะเลเล็กน้อย ชื่อที่ได้มาก่อนที่จะเป็นเกาะแยกออกจากพื้นแผ่นดินใหญ่อย่างที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ คำว่า Ojong Sylan   เป็นคำภาษามลายูแปลว่าแหลม เหตุที่ภาษามลายูมีความสำคัญก็เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่พูดภาษามลายูแต่จากการพิจารณาดูแล้วถลางเป็นเกาะ

3.                   เกาะที่อยู่ใกล้เคียง  มีเกาะเล็กๆอยู่หลายเกาะที่อยู่ติดกับเกาะแจนซีลัน เกาะเหล่านี้มีเส้นรอบวงตังแต่ 1-6 ไมล์ เกาะยาวใหญ่ เป็นเกาะที่สวยงามอยู่ห่างออกไปทางตะวันออก 16 ไมล์ ยาว 23 ไมล์ กว้าง8 ไมล์ สูงจากระดับน้ำทะเลพอประมาณมีความลาดชันเล็กน้อยจากตอนกลางของเกาะไปสู่ชายฝั่งริมทะเล

4.                   ภูเขาและท่าเรือเกาะแจนซีลัน มีแต่ภูเขาทีมีความสูงปานกลางและที่สามารถคาดคะเนได้จากขนาดของเกาะคือไม่มีแม่น้ำ มีแต่สายน้ำเล็กๆไหลจากตอนในของเกาะสู่ทะเล บริเวณชายฝั่งทะเลยังถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพธรรมชาติ ข้าพเจ้าคิดว่าที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการปกป้องการรุกราน และการเดินทางด้วยเรือขนาดเล็กไปยังบริเวณที่ราบตอนกลางของเกาะซึ่งมีการปลูกข้าวกันมาก

5.                   ท่าเรือ นอกจากท่าเรือที่ช่องปากพระที่กล่าวมาแล้ว ยังมีท่าเรืออีก 2 แห่ง คือที่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะแห่งหนึ่ง (เยรินีมีความเห็นว่าคือบริเวณอ่าวป่าตอง) และอีกแห่งหนึ่งเป็นเกาะเล็กๆเชื่อมต่อกับเกาะแจนซีลันได้ในเวลาน้ำทะเลขึ้นยังไม่สูงระยะห่างระหว่างเกาะเล็กๆแห่งนี้กับเกาะแจนซีลันเป็นระยะทางที่สามารถขว้างก้อนหินกันได้ บริเวณนี้มีถนนดี

6.                บ้านท่าเรือ ทางตอนใต้ของเกาะเล็กๆ ที่ใช้เป็นท่าเรือนั้น เป็นบริเวณปากแม่น้ำท่าเรือ จากปากแม่น้ำนี้เราสามารถเดินทางไปสู่หมู่บ้านท่าเรือได้ หมู่บ้านนี้มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 80 หลังคาเรือนกัปตันฟอเรสได้เขียนไว้ว่า หลังจากที่ต้องประสบกับความลำบากในการเดินทางไปตามลำน้ำที่แคบมาก ในช่วงตอนบนของสายน้ำต้องใช้เรือเล็กในการเดินทางเท่านั้นนอกจากนี้กระแสน้ำยังไหลเชี่ยวมากเราก็ยังมาถึงหมู่บ้านท่าเรือ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระยาพิมลเจ้าเมืองถลาง เมื่อข้าพเจ้าได้ไปพบเจ้าเมืองคนนี้ในปีค.ศ.1784 (พ.ศ.2327)มีผู้ช่วยหรืออาจจะเป็นผู้ร่วมงานก็ได้อยู่ 3คนคือพระยาทุกรราช พระยาสุรินทรราชา และพระยาลังการักษ์ บุคคล 3 ท่านนี้ มีลูกน้องอยู่ท่านละ 60 คน บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลทีมีอำนาจสูงสุดในชุมชนเนื่องจากได้รับท่าตอบแทนน้อย จึงขูดรีดประชาชน อาวุธที่คนเหล่านี้ใช้คือ ปืนคาบศิลา ดาบปลายปืน ดาบและกริช

7.                เมืองและหมู่บ้าน

เมืองหรือหมู่บ้านในเกาะมี

บ้านท่าเรือ

บ้านเคียน (Bankian)

บ้านดอน (Bandon)

ปากพระ (Pakra)

บ้านนาใน (Banay)

บ้านลิพอน Ban Li-Phon)

บ้านท่ายาง (Tha-Yang)

บ้านชายทะเล (C’hai Thale)

บ้านโคกยาง    (Ban Khok-Yank) 

บ้านบางกะเทา (Baqn Bang-Kathau)

บ้านกะรน (Ban Karon)

บ้านบางครอง (Bang-Khrong)

บ้านสาคู(Ban-Sakhu)

บ้านระเงง (Ban Ra-ngeng)

บ้านผักฉีด (Pank-chet) Tallong

บ้านป่าตอง (Patong)

ประชาชนทั้งหมดมีประมาณ 12,000 คน

8.                   การเดินทางไปตามพื้นที่ตอนใน เราเดินทางไปยังพื้นที่ตอนในอีก 8 กิโลเมตรจากท่าเรือ ตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อที่จะไปยังบ้านอีกหลังหนึ่งของพระยาพิมล บ้านของพระยาพิมลทั้งหลังทำด้วยไม้ขนาดใหญ่ หลังคามุงด้วยปาล์มเช่นเดียวกับบ้านในประเทศมาเลเซีย (ตามความคิดของผู้เขียนบริเวณที่เป็นบ้านของพระยาพิมลคือบริเวณบ้านดอน) กัปตันฟอเรสได้เขียนถึงการเดินทางไว้ดังนี้ ข้าพเจ้าไปกับกัปตันเจมส์สกอต (Captain James Scott) ซึ่งมาค้าขายอยู่ที่เมืองบท่าเรือ เรือของเขาจอดอยู่ที่ท่าเรือปากพระ เราเดินทางด้วนเท้าไปตามทางเดินแคบๆซึ่งปูด้วยหินที่ราบเรียบ ทางเดินนี้มีรอยเท้าช้างเต็มไปหมดบริเวณที่เดินทางผ่านก็เป็นป่า เมื่อเดินทางจากท่าเรือมาได้ 2 ไมล์ เราก็มาถึงทุ่งโล่ง ซึ่งประชาชนใช้ทำนาปลูกข้าว น้ำที่ใช้ในการทำนาก็บริบูรณ์ เราใช้เวลาในการเดินทางไป 3 ชั่วโมง ก็มาถึงยังบ้านของเจ้าเมืองบ้านหลังนี้กว้างขวางกว่าบ้านที่ท่าเรือและมีระยะทางห่างกัน 7 ไมล์ ในสวนของเจ้าเมืองปลูกมะนาว ส้ม chysong บุตรชายของชาวจีน ซึ่งข้าพเจ้าอาศัยอยู่ด้วยเล่าว่าเกาะแจนซีลันมีความอุดมสมบูรณ์เพราะปลูกพืชผลไม้เมืองร้อนได้ดี อากาศค่อนข้างเย็น เขายังได้เขียนต่อไปอีกว่า เจ้าเมืองเลี้ยงอาหารค่ำแก่เราอย่างดี โดยที่ท่านไม่ได้รับประทานร่วมกับเรา ในการสนทนาร่วมกับเรานั้น ท่านไม่ได้พูดภาษามลายู แต่ใช้ล่ามที่สามารถพูดภาษาโปรตุเกสได้ เครื่องดื่มก็มีกาแฟและน้ำผลไม้ หลังอาหารค่ำก็มีรายการบันเทิงโดยนักดนตรี 3 คน เครื่องดนตรีเป็นประเภทที่ใช้สายเหมือนกับเครื่องดนตรีของชาวจีนที่เมืองกวางตุ้ง

9.                   สัตว์และภูมิอากาศ มีช้างจำนวนมาก มีวัวและควายสำหรับใช้งาน มีกวางป่า แพะ สุนัข แมว เป็ด ไก่ อากาศดีไม่ร้อนมากเกินไป ฝนจะตกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ฝนก็ไม่ได้ตกตลอดมีการทิ้งช่วงบ้างทำให้สามารถปลูกผักได้เช่นเดียวกับที่กัลกัตตา

10.                การค้าฝิ่น: การนำเข้า และการส่งออกการค้าขายฝิ่นที่เกาะแห่งนี้ได้ทำมานานแล้ว ประมาณ 30-40 ปี ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากในเวลานั้นเป็นเมืองท่าเสรี พ่อค้าชาวอังกฤษเป็นผู้นำมาจากย่านอ่างเบงกอล ชาวมลายูเอาดีบุกมาแลกเปลี่ยนกับฝิ่นชาวมลายูส่วนใหญ่จะนำฝิ่นไปขายที่เกาะเซเลเบส (Celebes) และเกาะอื่นๆของมาเลเซีย ดีบุกที่ชาวมลายูนำไปแลดเปลี่ยนกับฝิ่นนั้นก็ซื้อมาจากผู้ที่อาศัยอยู่ที่เกาะแจนซีลันนั้นเอง โดยสินค้าที่ชาวมลายูนำมาขายให้ได้แก่ ผ้าตาหมากรุกจากเกาะเซเลเบส ผ้าและเครื่องถ้วยชามจากจีน ภาชนะทองเหลืองวจากชวา ยาสูบจากจีนและชวา เขายังได้เขียนเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการห้ามนำฝิ่นเข้า ห้ามประชาชนสูบฝิ่น มีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงสำหรับการส่งดีบุกไปขายต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นคำสั่งของรัฐบาลกลาง ทำให้การค้าขายลดปริมาณลงไปมากสินค้าที่นำเข้ามากได้แก่ เหล็ก ตะกั่ว มีดกรรไกร และผ้าจากประเทศยุโรป ชาวมลายูที่เคยเข้ามาค้าขายกันมากก็ลดลง ยังคงมีอยู่บ้างแต่น้อยจากเคดาห์ ช่องแคบมะละกา และเกาะปีนัง โดยนำสินค้าดังกล่าวข้างต้นจากจีนมาขายในปี ค.ศ.1782 (พ.ศ.2325) เพื่อเป็นการตอบแทนไทยที่ขายสินค้าให้จีนโดยวิธีการข้ามแดนพ่อค้าชาวมลายูได้ขายดีบุกให้ไทยเป็นการตอบแทนด้วยวิธีเดียวกัน การค้าขายเช่นนี้ได้ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ.1784 (พ.ศ.2327) เพราะว่าต้องเสียค่าใช่จ่ายสูงในการขนดีบุกข้ามช่องแคบ

11.                การทำเหมืองแร่ดีบุก เจ้าของเหมืองดีบุกตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบกว่าที่เคยเป็นมาแต่ก่อนเพราะว่ามีชาวจีนคนหนึ่งได้รับสิทธิ์ขาดในการถลุงแร่จากรัฐบาลเจ้าของเหมืองจะต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของโรงถลุงแร่ในอัตราร้อยละ 12 ของแร่ที่นำไปถลุง และยังต้องให้แร่ดีบุกจำนวนหนึ่งโดยมีอัตราที่แน่นอนด้วย ดังนั้นเจ้าของเหมืองจึงเสียค่าใช้จ่ายถึง 2 อย่างด้วยกันก่อนที่จะได้แร่ดีบุก ค่าใช้จ่ายอย่างนี้ถือว่าหนักที่สุดและไม่เหมาะสม  ก่อนที่จะส่งแร่ดีบุกไปขายยังต่างประเทศได้ นายเหมืองต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลในอัตราร้อยละ 25 ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากให้แก่เจ้าของเหมือง พวกเขาต้องการที่จะเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลที่กรุงเทพฯเป็นที่กล่าวกันว่า ถ้าพระยาพิมลเห็นดีเห็นงามด้วยก็สามารถทำได้การที่เขามีผู้ช่วยถึง 3 คน ก็เป็นไปได้ว่าเพื่อป้องกันการลุกขึ้นต่อต้านของพวกเจ้าเหมือง ข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายเรื่องนี้ถูกต้องได้ อาจเป็นไปได้ว่าการแต่งตั้งผู้ช่วย 3 คนอาจเป็นความต้องการของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ หรือพระยาพิมลแต่งตั้งเองโดยอ้างว่าเป็นความต้องการของรัฐบาลที่กรุงเทพฯ มีคนบอกข้าพเจ้าว่า มีการส่งแร่ดีบุกไปขายต่างประเทศปีละ 500 ตัน ซึ่งน้อยกว่าแต่ก่อนนี้มาก เกาะปีนังซึ่งเป็นถิ่นฐานใหม่ของเราก็ยังทำได้มากกว่านี้และก็เช่นเดียวกับเคดาห์

12.                เจดีย์ที่เมืองท่าเรือ  ที่บริเวณเมืองท่าเรือมีเจดีย์อยู่ 1 องค์ สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่มีใบปาล์มปกคลุมอยู่ มีพระภิกษุดูแลเจดีย์นี้อยู่ 20 รูป โดยอยู่ในกุฏิเล็กๆ ซึ่งอยู่ใกล้กับเจดีย์ กุฏินี้ยาวประมาณ 50 ฟุต พระเหล่านี้โกนผมหมดไม่มีสิ่งใดปกคลุมศีรษะ ห่มจีวรสีเหลืองในมือมีไม้สีขาวยาวประมาณ 6 ฟุต

13.                เงินตราและแบบการค้าขาย เขาได้เขียนถึงเรื่องเงินตราไว้ว่า ชิ้นดีบุกรูปร่างคล้ายตอนล่างของรูปทรงกรวยแบ่งครึ่งหรือก้อนน้ำตาลที่ถูกตัดเรียกว่า ปึก (Puk   หรือ  Poot) ชิ้นดีบุกนี้ถูกใช้เป็นเงินตรามีน้ำหนักประมาณ 3 ปอนด์ ถ้านำชิ้นดีบุกที่ใช้เป็นเงินนี้ส่งออกนอกประเทศ ค่าของดีบุกชิ้นหนึ่งก็มีตั้งแต่ 12-13 เหรียญสเปน ในเรื่องการค้าขายนั้น เขาได้เขียนไว้ดังนี้ เมื่อข้าพเจ้าพักอยู่ที่นี้ได้มีเรือสินค้ามาจากอ่าวเบงกอล ผู้ควบคุมเรือคือ กัปตันลอยด์  (Captain Lioyd) เขาขายสินค้าให้กับพระยาพิมลแน่นอนว่าสินค้าบางส่วนนั้นเป็นของกษัตริย์และขุนนางที่ส่วนกลาง สุลต่านของมาเลเซียทุกพระองค์ เป็นพ่อค้าหมด แต่ว่าขายสินค้าอย่างเอาเปรียบผู้ซื้อ ทำให้ประชาชนที่อยู่ใต้ความปกครองเดือดร้อน เรือสินค้าของสุลต่านมาเลเซียมารับสินค้าจากเกาะแจนซีลันไปโดยไม่ต้องเสียภาษีแต่เมื่อไปขายที่มาเลเซีย พวกพ่อค้าที่ซึ่งเป็นคนของสุลต่านนี้กลับขายแพงกว่าที่ซื้อมาถึงร้อยละ 25 มีการใช้เงินเหรียญของอินเดียด้วยทุกชนิด แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็ได้แก่เงินเหรียญของสเปน ที่ไม่นิยมเลยได้แก่เงินที่ทำจากสังกะสีที่เรียกว่า petis

14.                ประชาชนที่อยู่ที่เกาะ ประชาชนของเกาะแจนซีลันพูดภาษาไทย  ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเข้าใจภาษามลายู เนื่องจากในสมันั้นมีการติดต่อกับชาวมลายูมาก การเขียนหนังสือก็เหมือนกับที่เราเขียนหนังสือจากซ้ายไปขวาพวกเขาเขียนตรงดีมาก ถึงแม้ว่าจะเขียนโดยไม่มีเส้นบรรทัดก็ตาม พวกเขามีลักษณะหน้าตาคล้ายชาวมลายู ท่าทางคล้ายชาวจีนมาก รูปร่างผอม ผู้ชายคนหนึ่งมีภรรยาได้หลายคน โดยภรรยาหลวงเป็นใหญ่เช่นเดียวกับชาวจีนและชาวพะโคทางด้านสภาพทางเมืองและเศรษฐกิจของเกาะในปี ค.ศ.1784 (พ.ศ.2327) อยู่ในสภาพที่ไม่เลวร้ายนัก แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า เจริญรุ่งเรืองความเป็นอยู่มีโอกาสที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้ ถ้าสามารถขจัดเจ้าหน้าที่ซึ่งทุจริตได้เช่นเดียวกับ ฮามิลตัน กัปตันฟอร์เรสต์ได้กล่าวถึงการที่ผู้ปกครองเอารัดเอาเปรียบประชาชนว่าเป็นสาเหตุให้ประชาชนหมดกำลังใจที่จะพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ การปกครองของกรุงศรีอยุธยาในยุคปลายนั้นไม่ดีและอ่อนแอทำให้บรรดาหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้น มีความไม่พอใจและเอาใจออกห่างเป็นสาเหตุให้กรุงศรีอยุธยาต้องแตกในที่สุด ประเทศก็เกิดการแตกแยกออกเป็นชุมนุมต่างๆ และเกิดการสู้รบกัน ออกเป็นสงครามกลางเมืองแต่ด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประเทศไทยจึงมีความเป็นปึกแผ่นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่รัชสมัยของพระองค์มีระยะเวลาสั้น ทำให้ระยะหลังต่อมาต้องมาเริ่มต้นสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาอีกจากสภาพดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการด่วนเกินไปที่จะคาดหวังความรุ่งเรืองของเกาะถลาง แต่เนื่องจากกรุงรัตนโกสินทร์  มีความเข้มแข็งจึงสามารถที่จะควบคุม หัวเมืองต่างๆที่อยู่รอบนอกได้ ถึงแม้ต้องทำสงครามกับพม่าอยู่ตลอดเวลาก็ตาม การแต่งตั้งพระยาพิมล อดีตเจ้าเมืองกระบุรีเป็นเจ้าเมืองถลางและให้พระยาสุรินทรราชาเป็นผู้ช่วย นับได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ส่วนการแต่งตั้งผู้ช่วยอีก 2 คน ถึงแม้ว่าจะไม่มีการบันทึกในเรื่องความสามารถของเขาไว้ แต่เราสามารถตัดสินได้จากการแต่งตั้งพระยาพิมลและพระยาสุรินทรราชา บุคคลทั้ง 4 ท่านนี้ ได้ดำเนินการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้เข้ารูปเข้ารอย และเป็นไปได้ว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐเป็นเรื่องที่หนักมากทำให้จิตใจของผู้ปกครองไขว้เขวได้ และอาจจะเป็นไปได้อีกว่าพระยาพิมลและผู้ช่วยได้รับความสนับสนุนอย่างเพียงพอ จากส่วนกลาง และในที่สุดก็รู้สึกหมดหวังในเรื่องความสำเร็จๆไปจนถึงขั้นที่กัปตันฟอร์เรสต์บอกว่ามีความคิดว่าที่จะแยกตัวออกไปสิ่งนี้สามารถพิสูตรได้ว่าพระยาพิมลและผู้ช่วยมีความตั้งในที่จะพัฒนาเมืองถลาง เมื่อเวลาได้ผ่านไปเขาก็ได้เกิดความเชื่อมั่นในสเถียรภาพของรัฐบาลที่ส่วนกลางว่าสามารถจะนำประเทศไปในทางที่ดีได้ แต่การที่พม่าโจมตีเมืองถลางทำให้ความหวังที่สดใสพังทลายลงเมืองถลางจึงต้องรอคอยวันแห่งความรุ่งเรืองที่จะกลับมาอีก

 

สงครามระหว่างพม่ากับเมืองถลางครั้งที่ 1

                สงครามระหว่างพม่าและไทย ที่มีมาตลอดนับตั้งแต่ตอนกลางของคริสต์ศวรรษ ที่ 18 เป็นต้นมานั้นบริเวณที่เป็นสนามรบก็ได้แก่บริเวณที่เป็นตอนกลางและตอนของประเทศไทย แต่ในปี ค.ศ. 1785 (พ.ศ.2328)พม่าได้เปลี่ยนแผนการโดยตกลงที่จะโจมตีประเทศไทยจากด้านเหนือ ตะวันตก และใต้ พร้อมกันโดยทางทิศใต้ก็มีเป้าหมายที่คาบสมุทรมลายู ในการนี้ได้จัดกองทัพเรือเพื่อที่จะโจมตีเมืองต่างๆ ของไทยที่อยู่บนฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู

                กองทัพเรือของพม่าภายใต้การนำของยี่หวุ่นได้ออกเดินทางจากมะริดตอนต้นเดือนธันวาคม พ.ศ 2328 และได้เข้าโจมตีตะกั่วป่า และตะกั่วทุ่ง ซึ่งไม่ได้มีการเตรียมพร้อมในการรบ กองทัพพม่าจึงสามารถยึดทั้ง 2 เมืองได้อย่างง่ายดาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ช่องปากพระพยายามต่อสู้แต่ก็ต้องพ่ายแพ้  พระยาธรรมไตรโลก เสียชีวิตในการต่อสู้ (ประสิทธิ ชิณการณ์ ได้อ่านจดหมายเมืองถลาง พบว่าในช่วงนี้ยังไม่เสียชีวิต:สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์) พระยาพิพิธโภไคย หนีไปที่พังงาและข้ามเขาไปตามช่องเขาซึ่งตอนหลังตั้งชื่อว่าด่านพระยาพิพิธ

                 หลังจากนั้นกองทัพพม่ามุ่งไปตีเมืองถลางโดยได้สร้างป้อมขึ้นหลายป้อมรายล้อมเมืองถลางเอาไว้ เจ้าเมืองถลางเพิ่งถึงแก่อนิจกรรม และยังไม่ได้มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองใหม่ ท่านผู้หญิงจัน ภรรยาเจ้าเมืองและคุณมุกน้องสาวได้ปรึกษาหารือกับกรมการเมืองในเรื่องการรบ ในการนี้ได้ระดมชายฉกรรจ์เข้ามาและสร้างป้อมขนาดใหญ่ 2 ป้อม เพื่อป้องกันเมืองถลางท่านผู้หญิงจันและคุณมุกมีความกล้าหาญมากได้ต่อสู้กับพม่าอย่างมิได้เกรงกลัว ขณะของท่านได้ระดมกำลังกรมการและประชาชนทั้งชายและหญิงให้ยิงปืนใหญ่สู้กับพม่า และได้นะกำลังคนออกไปสู่รบกับพม่านอกค่าย ดังนั้นกองทัพพม่าจึงไม่สามารถที่จะยึดเมืองได้หลังจากสู้รบกันได้ 1 เดือน กองทัพพม่าขาดเสบียงอาหารต้องถอยทัพออกไปในที่สุด

                ข่าวกองทัพพม่าโจมตีเมืองถลาง มาถึงกรุงเทพมหานครในปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.2328 แต่ในเวลานั้นกองทัพของเมืองหลวงยังต้องต่อสู้กับข้าศึกทางด้านเหนือปละกาญจนบุรี ทางด้านตะวันตก จึงไม่สามารถที่จะส่งกองทัพไปช่วยได้ในทันทีทันใดที่กองทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีชัยชนะต่อข้าศึกก็ได้ทรงยกทัพลงมาทางใต้ ขับไล่กองทัพพม่าได้สำเร็จ โดยในการนี้ได้ทรงยกกองทัพไปถึงนครศรีธรรมราชและสงขลา ทำให้ได้เมืองปัตตานีและรัฐอื่นๆของมลายูที่แข็งเมืองกลับมาเป็นเมืองขึ้นอีกครั้ง 

               พอได้ทราบข่าวว่ากองทัพ เมืองหลวงยกกำลังมาช่วยทางเมืองถลางก็ส่งรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังกองทัพของกรมพระราชวังบวรฯ ที่สงขลาและได้ส่งไปที่กรุงเทพมหานครด้วย ความสงบจึงเกิดขึ้นในคาบสมุทรมลายู กองทัพของกรมพระราชวังบวรฯ ได้ยกกำลังกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ส่งพระราชหัตถเลขา ฉบับหนึ่งไปยังเมืองถลาง แต่งตั้งข้าราชการท้องถิ่นที่มีความสามารถสูง เป็นเจ้าเมืองถลาง (พันเอกเยรินี เข้าใจว่าคือพระยาพิมล แต่กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จสืบค้นแล้วเห็นว่าไม่ใช่พระยาพิมล:สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์) และแต่งตั้งท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี คุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร

 

 

ชีวิตในภายหลังของวีรสตรีเมืองถลาง

                ก่อนที่พระยาพิมลเป็นเจ้าเมืองถลางนั้นเคยเป็นเจ้าเมืองกระมาก่อน ตั้งแต้ปี ค.ศ.1782 (พ.ศ.2325) เป็นต้นมา พระยาพิมลได้รับมอบหมายความรับผิดชอบที่สูงมากในการดูแลเมืองถลาง  จากเหตุการณ์ที่กัปตันฟอร์เรสต์ ได้เขียนไว้และจากพระราชพงศาวดารของไทยทำให้ทราบว่า พระยาพิมลได้มาอาศัยอยู่เกาะถลางเป็นเวลาหลายปี ต่อมาได้แต่งงานกับท่านผู้หญิงจันซึ่งมีบุตรด้วยกัน 5 คนคนโตสุดเป็นผู้หญิงชื่อว่าแม่ทอง ต่อมาภายหลังพระยาพิมลได้นำเข้ากรุงเทพมหานครและถวายไว้ในพระบรมมหาราชวัง และเป็นพระราชมารดาของพระองค์เจ้าอุบล เจ้าฟ้าพระองค์นี้เป็นพระโอรสลำดับที่ 32 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และจะต้องทรงประสูติในช่วงเวลาไม่นานนัก หลังจาก ค.ศ.1800 (พ.ศ.2329) และการแต่งงานครั้งที่ 2 ของท่านผู้หญิงจันกับพระยาพิมลจะต้องมีขึ้นใน ค.ศ.1786 พ.ศ.2329) เป็นอย่างเร็ว และเป็นเวลาหลังจากกองทัพพม่ามาโจมตีเมืองถลางเล็กน้อย (กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จค้นคว้าจากหลักฐานประวัติศาสตร์ พบว่าท่านผู้หญิงจันแต่งงานกับพระยาพิมลขันก่อนศึกถลาง 2328 พระยาพิมลขันถึงแก่อนิจกรรมก่อนพม่ายกทัพเข้าตีค่ายปากพระของพระยาธรรมไตรโลก ซึ่งค่ายปากพระเดิมนั้นเป็นค่ายของเจ้าพระยาอินทวงศาพระสหายและอัครมหาเสนาบดีกลาโหมในเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช:สมหมาย  ปิ่นพุทธศิลป์) หลังจากเวลานี้ผ่านไป นายเทียน บุตรชายคนโตของท้าวเทพกระษัตรีที่เกิดจากสามีคนแรก (หม่อมศรีภัคดีภูธร  บุตรจอมนายกองตะกั่วทุ่งบางคลี) ได้ขัดแย้งกับพระยาพิมลพ่อเลี้ยงผลก็คือพระยาพิมลถูกส่งไปยังเมืองพัทลุงบุตรชายจอมเฒ่าบ้านดอนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองและในบันทึกของท้องถิ่นได้เรียกเจ้าเมืองคนนี้ว่า พระยาถลางเจียดทอง ต่อมาพระยาถลางเจียดทองได้ทำความผิดบางอย่างจึงถูกจับกุมตัวส่งไปขังที่กรุงเทพมหานคร และได้ตายลงขณะที่ถูกจำคุก นายเทียน บุตรของท้าวเทพกระษัตรีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแทนเรียกกันว่า พระยาถลางหืด  พระยาถลางหืดได้แต่งตั้งให้นายเรือง น้องชายของพระยาถลางเจียดทองเป็นพระยาปลัดหรือผู้ช่วยเจ้าเมือง และนายชูได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยายกกระบัตร (สุนัย ราชภัณฑารักษ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็จและกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จพบหลักฐานขัดแย้งกับหลักฐานของพันเอกเยรินี เช่น ไม่เชื่อว่านายเทียนจะขัดแย้งกับพ่อเลี้ยงเพราะพระยาพิมลถึงแก่อนิจกรรมของศึกถลาง 2328 นายเทียนได้เป็นพระยาทุกรราชเจ้าเมืองภูเก็ต ท้าวเทพกระษัตรีได้ไปทำเหมืองแร่ดีบุกที่บ้านสปำ เขตเมืองภูเก็ตในความครอบครองพระยาทุกรราช(เทียน) พ.ศ.2332 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพระยาทุกรราช(เทียน ประทีป ณ ถลาง) เจ้าเมืองภูเก็ตไปเป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง(เจ้าเมืองถลาง) :สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์)เกี่ยวกับท้าวศรีสุนทรนั้น หลังจากช่วงเวลานี้ผ่านไปแล้วก็ไม่มีการกล่าวถึงอีกเลยเป็นไปได้ที่ว่าท่านยังอยู่เป็นโสดและได้ตายไปในเวลาไม่นานนักโดยไม่ต้องอาศัยประวัติศาสตร์ตะวันตก ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวของวีรสตรีในทุกประเทศและทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ Boadicia จนถึง Saragoza    เราสามารถค้นหาตัวอย่างของวีรสรีที่รักชาติได้หลายคนจากพระราชพงศาวดารไทย การกระทำที่กล้าหาญของท่านทั้ง 2 คน แห่งเมืองถลางก็ไม่ได้เป็นรองการกระทำของ 2 พี่น้องสกุล       Trung    ซึ่งใน ค.ศ.43  ได้เสียชีวิตในแม่น้ำ แดงุณะ ที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของแคว้นอันนัม (คือประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) โดยได้ต่อสู้กับกองทัพจีนภายใต้การนำของนายพล Ma-Yuam  ความกล้าหาญของวีรสตรีเหล่านี้จะได้รับการจดจำตลอดไป โดยในการนี้ได้สร้างอนุสาวรีย์ให้ประชาชนรุ่นหลังได้เคารพบูชา  แต่ในกรณีของเมืองไทยนั้นยังไม่ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ให้เป็นที่บันทึกความกล้าหาญ ความรักชาติของคนปัจจุบันและอนาคตได้รับรู้สำหรับเรื่องเมืองถลางนี้ พันเอก เยรินี หวังว่าในอนาคตในไม่ไกลเกินไปกว่านี้จะได้สร้างสิ่งที่ระลึกถึงวีรกรรมของวีรสตรี ทั้ง 2 ท่าน โดยการบริจาคเงินของประชาชน(พันเอกเยรินีเขียนไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ชาวไทยได้ร่วมใจสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรไว้แล้วเมื่อพ.ศ.2509 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อ พ.ศ.2510 : สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ )

 

เส้นทางทางบกสำหรับการขนส่งดีบุกและสินค้าจากอินเดีย เหตุการณ์ของค.ศ.1785 (พ.ศ.2528)

จากเอกสารที่หาได้ยาก ทำให้เราได้รับรู้ข้อมูลในเรื่องเส้นทางทางบกซึ่งในการขนส่งค่าธรรมเนียมสำหรับดีบุกซึ่งขุดกันในเกาะถลาง และเมืองใกล้เคียงบนพื้นแผ่นดินใหญ่และสินค้านำเข้าจำนวนมาก จากชายฝั่ง Coromandel ข้ามคาบสมุทรมลายูไปยังเมืองหลวงของไทย สิ่งที่นำมาเปิดเผยนี้มีความน่าสนใจมาก และมีความเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงบางอย่างที่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากชาวยุโรปและคนรุ่นหลังของประเทศไทยก็มีน้อยที่จะรู้เรื่องนี้ดังนั้นการมาพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกที่นี้ จึงเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องการติดต่อสื่อสารและการขนส่งสินค้าจากอินเดียข้ามคาบสมุทรมลายู ไปยังเมืองหลวงของไทยเส้นทางเก่าเส้นทางนี้เริ่มจากตะกั่วป่าทางด้านตะวันตก ผ่านทางช่องทางเขาศก ซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก จากนี้ไป ขึ้นภูเขาทางด้านตะวันออกไปถึงคลองท่าพนม คลองท่าพนมเป็นสาขาของคลองท่าข้าม จากคลองท่าพนมสามารถบรรทุกดีบุกและสินค้าต่างๆโดยเรือเล็กแล่นไปตามลำน้ำไปยังบ้านดอนซึ่งจะสามารถลำเลียงต่อไปยังเมืองหลวงของไทยด้วยเส้นทางลำเลียงดังกล่าวใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึง ค.ศ. 1785(พ.ศ.2328 ) กองทัพพม่าได้รุกลามเข้ามายังเมืองต่างๆทางชายฝั่งด้านตะวันออกของแหลมมลายู ซึ่งไม่แต่เพียงทำให้การขนส่งตามเส้นทางดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุทำให้ดีบุกและสินค้าอื่นๆที่มีค่า ของพระมหากษัตริย์ที่มารวบรวมไว้ที่ช่องทางเขาศกถูกสกัดกั้นเป็นเวลาหลายปีและบางส่วนสูญหายไปเมื่อสินค้าต่างๆที่พระมหากษัตริย์ต้องพระประสงค์ได้สะสมไว้เป็นจำนวนมหาศาลด้วยความสามารถของข้าราชการเมืองถลาง ที่จะส่งสินค้าเหล่านี้ไปยังที่ตะกั่วทุ่ง และข้าราชการที่ตะกั่วทุ่ง ที่จะส่งไปยังตะกั่วป่า กระบวนการส่งสินค้าในลักษณะนี้ได้กระทำกันอย่างไม่เปลี่ยนแปลงเลยเป็นระยะเวลานาน เมื่อถลางยังไม่มีกองทัพพม่า เข้ามารุกราน ขณะที่ตะกั่วป่าตะกั่วทุ่ง ไชยา และชุมพรถูกยึดครองด้วยกองทัพพม่าดีบุกผ้าจากอินเดีย  อาวุธยุทธภัณฑ์ ถูกรวบรวมไว้ที่เขาศกและไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ หลวงเพชรทนุ(เส็ง) ข้าราชการระดับสูงจากนครศรีธรรมราชได้มายังบ้านเขาส้มโอ ที่คลองท่าพนม รวบรวมผู้คนขนสินค้าไปยังท่าเขาศก ทั้งที่ไม่มีอำนาจที่จะทำ ทางราชการกลางจึงต้องส่งข้าราชการมาสอบสวนเรื่องนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่แถบคลองท่าพนมได้หลบหนีไปทำให้ท้องถิ่นบริเวณนี้กลายเป็นป่าครั้งหนึ่ง พระตะกั่วทุ่งได้นำผ้ากระบวนมาจากอินเดียตามความพระประสงค์ของพระมหากษัตริย์มาถึงยังท่าเขาศก ก็ได้ลงเรือไปตามลำน้ำ และเมื่อไปถึงเชี่ยวประตูหลงเนื่องจากมีน้ำท่วมอย่างฉับพลัน เรือจมลงผ้าได้สูญหายไปพระตะกั่วทุ่งจึงไม่สามารถนำไปสู่เมืองหลวงคือกรุงศรีอยุธยาได้หลังจากนี้ ก็ได้มีการเสนอรายงานเพื่อจัดเรื่องการเดินทางเสียใหม่ไปยังเจ้าพระยาสุรินทรราชาข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น เจ้าพระยาสุรินทรราชามีความรับผิดชองเป็นผู้ดูแลเมืองต่างๆ ของไทยทางด้านชายฝั่งตะวันตกที่มีการขุดแร่ดีบุกท่านเห็นว่าเส้นทางที่ต้องผ่านช่องทางเขาศกนั้นมีความยากลำบากมากเกินไปเนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาที่สูงชันและเส้นทางเป็นการเดินทางบกเสียเป็นส่วนใหญ่ ท่านเสนอให้หาเส้นทางใหม่ซึ่งมีระยะการเดินทางที่สั้นและการเดินทางไม่มีความยากลำบากมากนัก และในการเดินทางเป็นการเดินทางน้ำเป็นหลักความคิดของท่านได้กรับการอนุมัติและได้ดำเนินการปฏิบัติในปี ค.ศ.1804 (พ.ศ.2347) ก่อนที่จะบรรยายในรายละเอียด ข้าพเจ้า (พันเอกเยรินี)อยากที่จะตั้งข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับเส้นทางเก่าที่ผ่านทางช่องทางเขาศก ว่าการคมนาคมตามแดนระหว่างชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูที่บริเวณตะกั่วป่าและบ้านดอน (หรือเมืองไชยา) เป็นที่รู้จักกันมาช้านาน ตั้งแต่สมัยที่ตะกั่วป่ายังเป็นดินแดนที่มีแต่ความสงบที่รู้จักกันในชื่อว่า ตะโกลา (Takola)   อันเป็นศูนย์กลางการค้าขายเป็นที่เก็บสินค้าสำหรับดินแดนภายในแถบนั้น คลองต่างๆที่ใช้ในการขนส่งมีความลึกและเรือผ่านไปมาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมืองไชยานี้ เป็นที่รู้กันดีว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เก่าๆมากมาย ซึ่งมีความจริงสนับสนุนว่า ได้มีการค้นพบจารึกภาษาสันตกฤตที่ทำขึ้นในคริสศตวรรษที่ 8-9 ที่นี่ในยุคสมัยในการเดินทางเรืออ้อมคาบสมุทรมลายูโดยผ่านช่องแคบเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก การเดินทางข้ามแดนชายฝั่งอีกด้านหนึ่งถึงแม้ว่าจะมีความยากลำบากในการบรรทุกสินค้า ก็ยังนับได้ว่าดีกว่า ดังนั้นจึงมีเส้นทางข้ามแดน 3 หรือ 4 เส้นทางคือโดยช่องทางเขามน คอคอดกระ ช่องทางเขาศก เส้นทางระหว่างตรังและนครศรีธรรมราช หรือเส้นทางระหว่างสงขลาและพัทลุง เส้นทางเหล่านี้ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ และได้ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีชาวโปรตุเกส ชาวดัทซ์และชาวอังกฤษ เข้ามาในบริเวณแถบนี้ เมื่อมีการปรับปรุงการเดินเรือ เกิดการเปลี่ยนแปลงการค้าขาย ข้ามมหาสมุทรเป็นต้นเหตุในการยกเลิกเส้นทางเก่าๆโดยใช้การเดินทางทะเลแทนการเปิดเส้นทางใหม่ในค.ศ.1804 (พ.ศ.2347) จากเอกสารที่ศึกษาได้เขียนไว้ว่าการเปิดเส้นทางใหม่ได้เริ่มต้นจากบริเวณมะรุ่ย (Marui) และต่อไปยังคลองปากลาว (Pak Lau) และTha Phame(?) เจ้าพระยาสุรินทรราชาได้ถูกเรียกตัวไปยังกรุงเทพมหานคร หลังจากเจ้าพระยากลาโหม(พลี) ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ครั้งที่ถอยทัพกลับจากทวายในปีค.ศ.1793 (พ.ศ.2336) และได้มีการเสนอให้แต่งตั้งเจ้าพระยาสุรินทรราชาดำรงตำแหน่งแทน เมื่อเจ้าพระยาสุรินทร มาถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงชักชวนให้รับราชการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่เจ้าพระยาสุรินทรคิดว่าการอยู่หัวเมืองเป็นการดำเนินชีวิตที่มีความสุขกว่า ท่านจึงได้ไปขอร้องให้เจ้าพระยาพลเทพบิดาของพระยาบดินทรเดชาให้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่าตัวท่านเองไม่ต้องการที่จะรับราชการอยู่ที่กรุงเทพมหานครและก็ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำงานในตำแหน่งเสนาบดีได้เจ้าพระยาสุรินทรราชา ได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าถ้าท่านได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับไปหัวเมืองแล้วท่านจะเปิดเส้นทางคมนาคม ในการขนส่งใหม่ข้ามคาบสมุมรมลายูจากพังงา ถลางและตะกั่วทุ่ง ช่องทางเขาศกมีความยากลำบากมากเกินไปในการเดินทางช่วงการขนส่ง ที่ใช้เรือจะต้องเจอกับกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวซึ่งทำให้ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ได้สูญหายไปหลายครั้งหลายหน เส้นทางใหม่นี้จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางให้เหลือเพียง 3 วัน และลดความยากลำบากในการขนส่งลง เส้นทางสายนี้จะไปยังท่าพนมจากที่นี่จะลงเรือไปยังพุนพินและต่อไปยังพุมเรียง เพื่อความรวดเร็วในการขนส่งท่านได้ขอช้าง 10 เชือก จากนครศรีธรรมราชและอีก 10 เชือกจากไชยาและกำลังคนภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงพิรคชกาญจน์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นด้วยกับโครงการ และได้พระราชทานช้างให้ตามที่ขอ กับทั้งยังให้มีการสร้างที่พักที่ปากพนมและปากลาว มีการสั่งการไปยังเมืองต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือที่ปากพนม ก็มีข้าราชการ 3 คน คือ ขุนทิพย์สมบัติ ขุนเพชรคีรี ขุนหลวงศรีสงคราม เป็นผู้รับผิดชอบ ที่มะรุ่ยและปากลาวหลวงฤทธิรงค์สงคราม เป็นผู้รับผิดชอบ และดินแดนที่อยู่ระหว่างมะรุ่ยและปากพนมอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าพระยาสุรินทรราขาเมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว เจ้าพระยาสุรินทรราชาก็ได้กลับไปยังเมืองของตนและได้ดำเนินการต่างๆทันทีเพื่อปฏิบัติตามโครงการ ในการนี้ได้แต่งตั้งขุนทรัพย์สมบัติเป็นหลวงรามาพิชัยและให้ประจำที่ปากพนมโดยมีคำสั่งให้ตัดทางผ่านป่าจากปากพนมไปยังพังงาท่านได้สั่งการให้หลวงฤทธิรงค์สงคราม ไปกะเกณฑ์ไพร่มาช่วยงานที่มะรุ่ยและปากลาวเพื่อที่จะได้ขนส่งสินค้าต่างๆข้ามเขาไปยังท่าพนม มอบหมายให้กับหลวงรามาพิชัยนำไปสู่จุดหมายปลายทางยิ่งกว่านั้นพระยาสุรินทรราชา ได้สร้างสถานีพัก และมีการจัดวางยามไว้ตามเส้นทางดังนี้

1.   เขานางหงส์

2.       ปากดานหรือปากกระดาน(Pak Dan or PakK radan)

3.       ด่านทุ่งคา (Thung Kha)

4.       มะรุ่ย (Marui)

5.       ปากพนม(Pak Phnom)

 

ได้มีการสร้างบ้านพักและมีการรวบรวมคนเพื่อการคุมครองป้องกันสินค้าดังนั้นหลังจากที่ได้เปิดเส้นทางใหม่สินค้าและอากรจากเมืองตะกั่วป่า ก็ถูกบรรทุกข้ามเขาไปทางช่องทางเขาศก และขนส่งไปตามลำน้ำไปยังท่าเขาศกดังที่เป็นมาแต่ก่อน ขณะที่สินค้าและอากรจากพังงา ถลางและตะกั่วทุ่ง ถูกนำไปรวมไว้ที่มะลุ่ยซึ่งจะใช้ช้างบรรทุกไป หลวงนาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระวิเศษสงครามเป็นผู้รับผิดชอบที่สถานีด่านเย้า งานที่รับผิดชอบคือรับสินค้าและอากรและนำลงเรือที่ปากพนม และล่องไปตามสายน้ำไปยังบ้านดอน ขุนเพชรคีรี และขุนอินทร์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเมื่อได้จัดการที่กล่าวข้างต้นเรียบร้อยแล้วเจ้าพระยาสุรินทรราชาได้ส่งขุนศรีสมพจน์ไปเฝ้าเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและได้แจ้งให้ทราบถึงเรื่องการแต่งตั้งคนประจำสถานีพักดังกล่าวจากมะลุ่ยถึงปากพนม เจ้าเมืองนครมีความเห็นว่าเจ้าพระยาสุรินทรราชา ไม่ควรทำการแต่งตั้งเช่นนั้น เพราะว่าท่านต้องการจะส่งคนของท่านไปประจำเพื่อที่จะไม่ให้เจ้าเมืองนครคนต่อไปมาวิพากษ์วิจารณ์การบริหาร และต่อว่าเอาได้ว่าเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและเจ้าพระยาสุรินทรราชาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวไปในทางที่ไม่ถูกต้องรวมและแบ่งแยกประเทศตามความพอใจ

                เมื่อเจ้าพระยาสุรินทรราชาได้ทราบถึงจุดมุ่งหมายนี้ ท่านได้ตอบไปยังเจ้าเมืองนครด้วยการชี้ให้เห็นว่าจะเป็นการดีกว่า ถ้าเจ้าเมืองนครไม่แต่งตั้งคนประจำสถานีด้วยตนเอง การที่ท่านเป็นผู้แต่งตั้งด้วยตนเอง  จะทำให้สินค้าและอากรจะถูกส่งไปโดยสอดคล้องกับแผนการต่างๆที่ได้เสนอต่อพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ท่านได้มอบหมายอำนาจมาให้ปฏิบัติ จึงทำให้ความขัดแย้งสิ้นสุดลง และสถานีพักที่มะรุ่ยและท่าพนม ก็อยู่ใต้การควบคุมของเจ้าพระยาสุรินทรราชาอย่างเต็มที่ 

               จากเอกสารที่เราศึกษาได้อธิบายถึงเมือง 8 เมืองที่อยู่ใต้การปกครองของเจ้าพระยาสุรินทรราชา ว่ามี1.       ถลาง2.       ภูเก็จ3.       ตะกั่วป่า4.       ตะกั่วทุ่ง5.       ก็รา (Kora)6.       พังงา7.       คุระ (Khurah)8.       คุรอด (Khurot)ก็รา พังงา คุระ และคุรอด เป็นเมืองขึ้นที่ขึ้นตรงต่อตะกั่วป่า

                ที่ยกมานี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการจัดการปกครองบริเวณที่มีการขุดแร่ทางชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายูระหว่างไตรมาสสุดท้ายของศตวรรษที่ 18 และช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 19 เป็นไปได้ว่า จุดเริ่มต้นของการจัดการปกครองแบบนี้ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้วและดำเนินต่อไปจนกระทั่งไตรมาสสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 หรือในแนวทางปฏิบัติก็คงอยู่จนถึงทุกวันนี้เพราะว่า มณฑลภูเก็จโดยความเป็นจริงแล้วก็ประกอบไปด้วยดินแดนที่แต่ก่อนเคยเป็นเมือง 8 เมืองดังกล่าวข้างต้น

                เกี่ยวกับเมืองภูเก็จนั้น เราได้ทราบกันแล้วจากระยะเวลาที่ศึกษาว่าเป็นเมืองที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองโดยตรงของถลาง ถึงแม้ว่าแต่ก่อนนี้จะเป็นเมืองอิสระ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นไปได้ว่าเกิดจากเมืองท่าเรือ ซึ่งคล้ายเป็นเมืองหลวงของถลาง ได้ถูกทำลายลงโดยกองทัพพม่าในปี ค.ศ.1809 (พ.ศ. 2352)ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปสงครามระหว่างกองทัพพม่ากับเมืองถลางครั้งที่ 2 : สิงหาคม พ.ศ.2352เหตุการณ์ต่างๆที่ได้เกิดขึ้นที่เมืองถลางจากเอกสารของท้องถิ่นคือการรุกรานของพม่าในปี ค.ศ.1809-1810 (พ.ศ.2352-2353 ) เรื่องราวต่างๆที่ต่อท้ายเอกสารของท้องถิ่นนี้ได้คัดมาจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 2

                 ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ค.ศ.1809 (พ.ศ.2352) กษัตริย์พม่าทรงทราบข่าวพระอาการประชวรของกษัตริย์ไทย จึงได้มีพระบรมราชโองการให้เมงนาเล (Men-na-la) เจ้าเมืองทวาย (Tavoy) ส่งคนออกสอดแนมหาข่าวในประเทศไทย เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เมงนาเล ก็ยกกองทัพซึ่งประกอบด้วยเรือ 60 ลำ และทหาร 3,000 คน มุ่งมายังเมืองถลาง เมื่อมาถึงชายฝั่งทะเลของเมืองถลาง เรือของกองทัพพม่าก็ได้จอดทอดสมอและยกพลขึ้นบกเข้ายึดหมู่บ้านต่างๆ ที่มีความสำคัญไว้ จากนั้นกองทัพพม่าก็ได้ตั้งค่ายขึ้นโดยห่างจากเมืองถลางเพียง 500 เส้น (2 กิโลเมตร)

                ชาวเมืองถลางไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะสู้รบแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเจ้าเมืองถลางก็ได้รวบรวมชายฉกรรจ์เข้ามาป้องกันเมืองเอาไว้ กองทัพพม่าได้ล้อมเมืองเอาไว้ถึง 3 ทิศทางด้วยกัน และเตรียมการบุกโจมตี จากการที่กองทัพพม่าได้บุกยึดชัยภูมิที่ได้เปรียบหลายที่หน้าเมืองเอาไว้ กองทัพพม่าสามารถป้องกันแนวการรุกจากทะเลได้ 

               วันที่ 7 สิงหาคม กองทัพพม่าก็เริ่มต้นระดมยิงปืนใหญ่ถล่มเมืองถลาง การต่อสู้ดำเนินไปได้ 8 วัน ชาวเมืองถลางไม่สามารถต่อสู้ต่อไปได้อีก เนื่องจากว่าขาดแคลนกระสุนปืน กองทัพพม่าได้ต่อสู่อย่างห้าวหาญมากและยึดเมืองถลางได้ในวันที่ 15 สิงหาคม กองทัพพม่าได้ฆ่าชาวเมืองถลางเป็นจำนวนมากและบุกปล้นสิ่งของมีค่าต่างๆ ต่อมากองทัพพม่าได้จุดไฟเผาบ้านเรือนของประชาชน ไฟได้ไหม้ลุกลามไปทั่วเมือง กองทัพพม่าได้กวาดต้อนคนไทยและทรัพย์สินต่างๆบรรทุกเรือมุ่งไปยังเมืองทวาย โดยทิ้งให้ จิกเก (Chik-ke) รองแม่ทัพพม่าอยู่ที่เมืองถลางคอยดูแลรับผิดชอบ จิกเกได้ถอยทัพพม่ากลับพม่าในอีก 2-3 วันต่อมา

                จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เจ้าเมืองถลางได้หลบหนีเข้าไปอยู่ในป่าพร้อมกับชาวเมืองจำนวนมากในช่วงเวลาก่อนที่กองทัพพม่าจะยึดเมืองได้ เมื่อกองทัพพม่ายกทัพกลับไปหมดแล้ว เจ้าเมืองถลางพร้อมด้วยชาวเมืองจึงได้กลับเข้าเมือง เนื่องจากกลัวว่ากองทัพพม่าบางส่วนจะย้อนกลับมาโจมตีใหม่ เจ้าเมืองถลางจึงได้รวบรวมชายฉกรรจ์จำนวนมากสร้างป้อมขึ้น 1 ป้อมอยู่นอกเมือง นอกจากนี้ก็ได้จัดให้มีการซ่อมแซมบูรณะแนวป้องกันที่ได้เสียหายไป

                ในเวลาช่วงเดียวกัน กองทัพเรือพม่าส่วนหลังที่จิกเกรับผิดชอบอยู่ได้ประสบกับลมพายุที่พัดแรง เรือของเขาย้อนกลับมายังชายฝั่งทะเลของเมืองถลาง เจ้าเมืองถลางและชาวเมืองจึงสามารถยึดเรือรบและจับกุมทหารพม่าจำนวนมากรวมทั้งจิกเกเป็นเชลย เจ้าเมืองถลางได้ส่งตัวจิกเกไปยังกรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้ได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปด้วย

                เมื่อรายงานเหตุการณ์ได้ไปถึงยังกรุงเทพมหานครแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงมะพระราชวินิจฉัยว่าการที่เมืองถลางถูกทำลายลงและชาวเมืองจำนวนมากถูกจับเป็นเชลยนั้นเนื่องมาจากที่เจ้าเมืองถลางขาดความสุขุมและความระมัดระวัง ดังนั้นจึงสมควรลงโทษสถานหนักถึงขั้นประหารชีวิตตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าเจ้าเมืองใดก็ตามละทิ้งเมืองปล่อยให้ข้าศึกเข้ายึดครองจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักถึงขั้นประหารชีวิต จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าเมืองถลางควรได้รับโทษอย่างเต็มที่ตามกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตามเจ้าเมืองถลางก็ได้ตระหนักถึงความผิดของตนเองด้วยการแสดงความกระตือรือร้นออกมาในการสร้างแนวป้องกันเมืองพร้อมด้วยค่ายและสามารถจับกุมข้าศึกได้จำนวนมาก ในจำนวนนี้มีนายทหารระดับรองแม่ทัพของพม่าอยู่ด้วยคนหนึ่ง แต่การทำความดีดังกล่าวของเจ้าเมืองถลางยังไม่เพียงพอที่จะลบล้างความผิดตามกฎหมายได้ ดังนั้นจึงสมควรนำตัวเจ้าเมืองถลางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อรับการพิจารณาโทษ

                 ดังนั้น พระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยากลาโหมส่งกำลังทหารจำนวนหนึ่งไปจับกุมตัวเจ้าเมืองถลางนำตัวมายังกรุงเทพมหานครเพื่อรับโทษและให้ดำเนินการแต่งตั้งกรมการเมืองถลางท่านหนึ่ง  ให้รับผิดชองป้องกันเมืองจากการโจมตีของ กองทัพพม่าครั้งใหม่ กองทหารที่ได้รับการแต่งตั้งก็เดินทางไปยังเมืองถลาง เมื่อไปถึงก็แจ้งให้กรมการเมืองถลางได้ทราบถึงพระบรมราชโองการของพระเจ้าอยู่หัว และได้นำตัวเมืองถลางมายังกรุงเทพมหานคร และขังไว้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการให้เฆี่ยนเจ้าเมืองถลาง ด้วยหวายที่หลัง 60 ที และให้นำตัวไปขังไว้

                 ส่วนจิกเก รองแม่ทัพพม่าที่ถูกจับกุมตัว ได้นั้นให้นำไปประหารชีวิตที่ป่าช้าวัดสระเกศ ส่วนเชลยพม่าที่เหลือนั้นให้นำไปจำคุกไว้ ในเวลาเดียวกันนั้น เมงนาเล ก็ได้เดินทางกลังไปถึงเมืองทวาย  และเดินทางต่อไปยังเมืองอังวะ กราบบังคมทูลให้กษัตริย์ของพม่าได้ทราบถึงความสำเร็จ กษัตริย์ของพม่าจึงมีพระราชประสงค์ที่จะส่งกองทัพขนาดใหญ่มาโจมตีประเทศไทยเพื่อยึดกรุงเทพมหานคร พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่าถลางเป็นเมืองชายแดนที่กองทัพพม่าสามารถเข้าโจมตีได้โดยง่าย    และที่เมืองถลางก็ไม่มีเจ้าเมืองที่มีความสามารถในการสู้รบป้องกันเมืองแต่อย่างใด เจ้าเมืองถลางคนก่อนก็ถูกจำคุกอยู่ พระองค์ จึงทรงมีพระราชดำริ ว่าการที่เจ้าเมืองถลางถูกจำคุกอยู่ 3 เดือน ก็เป็นการลงโทษที่พอเพียงแล้วและยิ่งกว่านั้นเขายังคงเป็นท้องถิ่นโดยกำเนิดและรอบรู้ในเรื่องความต้องการและสภาพของท้องถิ่นเป็นอย่างดี การให้อภัยโทษจะช่วยจูงใจให้ประชาชนต่อสู้อย่างเข้าแข็งต่อการโจมตีในอนาคตของกองทัพพม่า จากเหตุผลที่กล่าวมาเขาจึงได้รับการปล่อยตัวออกมาและได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองถลางตามเดิม

 

การโจมตีเมืองถลางของพม่าครั้งที่ 3(พฤศจิกายน พ.ศ.2352-มกราคม พ.ศ.2353 )

                 กษัตริย์ของพม่าได้ส่ง อะตองหวุ่น (Atong-Wun) ไปเมืองทวาย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำการโจมตีเมืองชุมพร เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งและเมืองถลาง ในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ.1809 (พ.ศ.2353) อะตองหวุ่น ก็จัดเตรียมกำลังทหารพร้อมทั้งทางบกและทางเรือ อะตองหวุ่นได้ส่งเยกอง (Ye-Khong) เป็นแม่ทัพเรือพร้อมด้วยกำลังทหาร 4,000  คนโจมตีเมืองถลางและกำลังอีก  3,000 คนโจมตี  เมืองระนอง เมืองกระ (Krah) และเมืองชุมพร

                เยกองได้นำกองกำลังทหารเรือไปยึดเมืองตะกั่วป่าไว้ได้เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม แล้วก็โจมตีเมืองตะกั่วทุ่งต่อไป ปรากฏว่าไม่มีการต่อสู้ต้านทานแต่อย่างใด ประชาชนมีความตื่นตกใจกลัวหนีเข้าป่าไปหมดเมื่อยึดเมืองตะกั่วทุ่งได้แล้วกองทัพพม่าก็มีความพร้อมที่จะโจมตีเมืองถลางโดยได้เข้ามาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ช่องปากพระ

                เมื่อเจ้าเมืองถลางทราบข่าวการเสียเมืองตะกั่วป่าและเมืองตะกั่วทุ่ง จึงได้ส่งข่าวด่วนไปยังกรุงเทพมหานครด้วยว่าพม่ากำลังจะทำการโจมตีเมืองถลางทางเมืองถลางได้เตรียมพร้อมป้องกันเมืองอย่างเต็มที่และได้เกณฑ์ประชาชนเข้าประจำป้อมค่าย

                กองทัพพม่าได้รุกคืบหน้าเข้าโจมตีเมืองถลางหลังจากที่ได้ล้อมเมืองถลางไว้ แล้วก็ได้สร้างป้อมขึ้นจำนวน 25 ป้อมป้อมเหล่านี้เชื่อมโยงถึงกันด้วยสนามเพราะเนื่องจากการต่อสู้ของชาวเมืองถลางเป็นไปด้วยความเข้มแข็ง กองทัพพม่าจึงตัดสินใจใช้กลอุบายถอยทัพกลับ หลังจากที่ได้เผาป้อมที่สร้างไปแล้ว กองทัพพม่าก็ถอนกองทัพออกไปลงเรือ เจ้าเมืองถลางได้รับรายงานจากกองสอดแนมที่ไปสำรวจความเคลื่อนไหวของกองทัพพม่าคิดว่ากองทัพพม่าถอนทัพออกไปจริงๆ ท่านจึงอนุญาตให้ประชาชนให้ไปประกอบกิจการงานของตนได้ไม่จำเป็นต้องอยู่ประจำป้อมค่ายอีกต่อไป

                หลังจากที่ได้ถอนทัพออกมาแล้วและหยุดพักทัพอยู่เป็นเวลา 2-3 วัน เยกองเชื่อว่าประชาชนชาวถลางจะต้องละทิ้งป้อมค่ายไม่อยู่ประจำอีกต่อไป ถ้ากองทัพพม่าบุกกลับไปอีกอย่างทันทีทันใด คงจะสามารถยึดเมืองถลางได้โดยง่าย ดังนั้นกองทัพพม่าจึงยกทัพย้อนกลับมาและยกพลขึ้นบกที่แหลมมลายูในเขตเมืองภูเก็จโดยเดินทัพผ่านป่าเข้าไปทางตอนในของเกาะ และโดยที่ไม่มีใครคาดคิดกองทัพพม่าก็ได้ไปถึงเมืองถลางและล้อมไว้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1809 (พ.ศ.2352 ) เจ้าเมืองถลางได้ระดมกำลังเข้าประจำป้อมค่าย แต่เวลากะทันหันเกินไปที่จะทำได้ทำให้การป้องกันเมืองขาดประสิทธิภาพ

                รัฐบาลกลางที่กรุงเทพมหานครเมื่อได้รับข่าวสารแล้วก็ได้ให้พระยาธรรมโยธา และพระยาราชประสิทธิ์นำกองทัพที่ประกอบด้วยกำลังทหาร 6,000 คนจากไชยาข้ามคาบสมุทรมลายูโดยเส้นทางปากพนมไปช่วยเมืองถลางและได้ส่งเจ้าพระยายมราช (น้อย) และพระยาท้ายน้ำ คุมกำลังทหาร  5,000  คน มุ่งไปยังเมืองนครศรีธรรมราช โดยได้มีคำสั่งให้เจ้าเมืองนครรวบรวมกำลังทหารอย่างน้อยที่สุด 1 หมื่นคน เพื่อช่วยเมืองถลาง 

(ยังไม่จบบทวิเคราะห์)

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 23 พฤษภาคม 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1404
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1243
mod_vvisit_counterทั้งหมด10646551