Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ห้ามทำเทียมสมบัติของชาติ 9 ชิ้น PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 01 พฤษภาคม 2009

เปิดกรุกรมศิลป์

สมบัติของชาติ 9 ชิ้น

ห้ามทำเทียมและนำออกนอกประเทศ!

  จากกรณีที่มีข่าวว่าพบพระเศียรทองคำของไทย ถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์อาเซียนอาร์ต มิวเซียม นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้กำลังหาทางที่จะทวงคืนอยู่นั้น ได้ก่อให้เกิดกระแสความรักและหวงแหนในโบราณวัตถุของชาติเป็นอย่างมาก เพราะโบราณวัตถุแต่ละชิ้นนั้นถือเป็นประวัติศาสตร์ของชุมชนของประเทศ
        แม้ว่ารัฐจะออกกฎหมายมาควบคุมการส่งหรือ นำออกซึ่งโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุโดยออกเป็น ‘พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ’ มาควบคุมตั้งแต่ พ.ศ.2477 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2504 และในปี พ.ศ.2535 เพื่อคุ้มครอง ดูแลและป้องกันการลักลอบนำออกซึ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยได้วางบทลงโทษ ไว้ในมาตรา 39 ว่า
        “ผู้ใดส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วออกนอกราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 22 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท”


        มาตรา 22 ห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือนำโบราณวัตถุหรือ ศิลปวัตถุไม่ว่าโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นจะเป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ ออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
        การขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
        ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ศิลปวัตถุที่มีอายุ ไม่เกินห้าปีและไม่ได้ขึ้นทะเบียน และการนำโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุผ่านราชอาณาจักร”
        อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านๆมายังคงมีข่าวโบราณวัตถุถูกลักลอบขโมยออกนอกประเทศอยู่เสมอ โดยเฉพาะพระพุทธรูปจากวัดต่างๆ และนอก จากจะเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่จัดเป็นโบราณวัตถุแล้ว พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ก็นิยมลักลอบนำออกนอกประเทศเช่นกัน และที่พบเป็นข่าวบ่อยครั้งก็คือเศียรพระ นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าในปัจจุบันมีการผลิตและการค้าสิ่งเทียมโบราณวัตถุและสิ่งเทียมศิลปวัตถุเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีระบุข้อห้ามและบทลงโทษไว้ใน กฎหมายเช่นเดียวกัน
        แต่อาจจะเป็นด้วยบทลงโทษที่ไม่รุนแรง จึงทำให้ปรากฏข่าวคราวการลักลอบนำโบราณวัตถุและศิลปวัตถุออกนอกประเทศอยู่เสมอ
        อีกประการหนึ่งอาจมีน้อยคนนักที่จะรู้ข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ และความไม่รู้นี้เองที่นำมาซึ่งความสับสนจากปากสู่ปากว่า ‘ทางการไม่ให้นำพระพุทธรูปออกนอกประเทศ’ ดังนั้น จึงต้องใช้วิธีลักลอบสถานเดียว
        ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และปฏิบัติกันได้อย่างถูกต้องในเรื่องกฎระเบียบว่า ‘อะไรที่ห้าม’ และ ‘อะไรที่ไม่ห้าม’ รวมถึงขั้นตอนในการดำเนินการอย่าง ถูกต้องตามกฎหมาย ‘ธรรมลีลา’ จึงได้ไปพูดคุยกับเจ้า หน้าที่ของกรมศิลปากรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้
       
       กรมศิลป์วางมาตรการเข้มนำพระพุทธรูปออกนอกประเทศ

        สมลักษณ์ เจริญพจน์ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการโจรกรรม พระพุทธรูปที่เป็นโบราณวัตถุที่ล่ำค่า จากวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และมีการลักลอบนำพระพุทธรูปออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกรมศิลปากรเป็นห่วงมากที่สุด เพราะปัญหาที่พบมากก็คือ ส่วนใหญ่จะนำพระพุทธรูปไปตกแต่งตามร้านค้า ร้านอาหาร และในสถานบันเทิง ซึ่งไม่เหมาะสม จึงได้มีการ วางมาตรการในการนำพระพุทธรูปออกนอกประเทศให้ยากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับเราวิ่งไล่จับโจร โจรก็ยังมีอยู่
        “การตามตรวจเดี๋ยวนี้กฎหมายจะเป็นแบบมาตรฐานสากล คือสร้างจรรยาบรรณในสถาบันต่างๆในต่าง ประเทศ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีการร่วมมือกันระหว่างตำรวจสากล สถานเอกอัคราชทูตของประเทศต่างๆ และศุลกากรหลายๆประเทศ เมื่อมีการจับกุมยึดโบราณวัตถุไว้ได้ ก็จะมีการแจ้งมายังประเทศไทย ให้ไปตรวจสอบว่าเป็นโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบมา จากประเทศไทยหรือเปล่า ในกรณีนี้ถือว่าเป็นการช่วยเหลือแบบสากล สิ่งที่ดีที่สุดคือช่วยกันอนุรักษ์ช่วยกันปกป้อง ไม่ให้มีการโจรกรรมนำพระพุทธรูปไปขาย ให้กับชาวต่างชาติ เราจะต้องสร้างแนวร่วมแล้วมีการสร้างเครือข่ายให้มีผู้ช่วยในหน่วยงานต่างๆ อบรมอาสาสมัคร ที่สำคัญที่สุดอยากได้แนวร่วมจากท้องถิ่นและประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะกรมศิลปากรซึ่งมีหน้าที่ ในการปกป้องคุ้มครองอนุรักษ์สมบัติของชาติ ไม่มีกำลังที่จะดำเนินงานให้สำเร็จได้โดยลำพัง เพราะจำนวนข้าราชการที่เรามีอยู่อย่างจำกัด ดิฉันคิดว่าถ้าเราขาดซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ไม่ช่วยกันรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไว้ ก็เหมือนกับชาติที่ไม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม่มีอารยธรรม ก็เหมือนกับสิ้นชาตินั่นเอง”
       
       ตรวจทั้งของเก่าของใหม่

        การตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ที่จะส่ง หรือนำออกนอกราชอาณาจักรนั้น อธิบดีกรมศิลปากร ได้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านโบราณวัตถุหรือศิลปเป็น ‘คณะกรรมการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ขออนุญาตส่งหรือนำออกราชอาณาจักร’ หรือเรียกว่าตำแหน่ง ‘ภัณฑารักษ์’ คณะกรรมการดังกล่าวจะทำการตรวจพิสูจน์เพื่อกำหนด อายุ สมัย ขนาด รูปลักษณะ และราคาประเมินของโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ พร้อมทั้งตรวจสอบดูว่าเป็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนหรือห้ามทำการค้าหรือไม่
        วิสันธนี โพธิสุนทร ภัณฑารักษ์ 8 สำนักพิพิธ-ภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งมีประสบการณ์ในการตรวจสอบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มาเป็นเวลา 25 ปี กล่าวถึงขั้นตอนในการปฏิบัติหน้าที่เรื่องการตรวจสอบว่า พระพุทธรูปที่ประชาชนส่วนใหญ่นำมาขออนุญาตออกนอกราชอาณาจักรนั้น มีทั้งของเก่าและของใหม่ ถ้าเป็นพระพุทธรูปเก่าต้องมาดูอายุสมัยว่าอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อยุธยา สุโขทัย หรือว่าอู่ทอง หากมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็จะไม่อนุญาตให้นำออกไป แต่ถ้าเป็นพระพุทธรูปที่ทำขึ้นมาใหม่ก็จะนำเสนอผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ให้อนุมัตินำออกไปบูชาได้
        “พระพุทธรูปที่ถือว่าใหม่ต้องดูว่ามีอายุไม่เกินห้าสิบปี แต่พระพุทธรูปที่ถือว่าเก่าจะต้องมีอายุมากกว่าร้อยปีขึ้นไป ในหนึ่งอาทิตย์จะมีคณะกรรมการอยู่ 5 ชุด ชุดละ 3 คน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาตรวจสอบในแต่ละวัน ขั้นตอนในการตรวจจะใช้ความชำนาญที่ได้ศึกษามาเป็นหลัก โดยไม่ได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพราะจะมีการศึกษารูปแบบของวัตถุแต่ละ ชิ้น ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปที่เป็นไม้แกะสลัก โดยทั่วๆ ไปจะพยายามทำให้ดูเหมือนเป็นของเก่า จะมีบางอย่างที่ทำไม่ได้ อย่างไม้ที่แกะเป็นพระพุทธรูป ไม้มันก็เก่าอยู่แล้ว เราจะดูรูปแบบศิลปะ ว่ามีหลักเกณฑ์เป็นรูปแบบสมัยไหน ลวดลายทำมาในยุคใด ความคมชัดในการแกะสลักพระพุทธรูปชิ้นนั้น โดยช่างในยุคปัจจุบันไม่สามารถที่จะเลียนแบบได้เหมือน เมื่อตรวจสอบแล้วคณะกรรมการจะมีการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่ถ้ามีความเห็นไม่ตรงกันก็จะมีการหารืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้จะพบไม่ค่อยบ่อย เพราะพระพุทธรูปแต่ละองค์จะมีความโดดเด่นในตัวเอง สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน”
       
       พระแก้วมรกต พระพุทธโสธร พระพุทธชินราช พระพุทธรูปยอดฮิตของนักทำเลียนแบบ

        ประพิศ พงษ์มาศ ภัณฑารักษ์ 8 สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เล่าว่า ในช่วงหลังๆ ไม่ค่อยพบพระพุทธ รูปเก่า แต่จะเป็นพระพุทธรูปที่ถูกทำเลียนแบบของเดิม ส่วนพระพุทธรูปที่ถูกทำเลียนแบบของเดิมมากที่สุด ได้ แก่ พระแก้วมรกต พระพุทธโสธร และพระพุทธชินราชการตรวจสอบจะมีขั้นตอนในการจำแนกรายละเอียดของวัตถุที่นำมาสร้าง ถ้าเป็นทองเหลือง ต้องดูถึงลักษณะการหล่อ ตั้งแต่รูปทรง ประติมากรรมวิทยา ว่าถูกต้องตามพุทธวิธีแค่ไหน ดูรูปแบบวัตถุที่ใช้ในการทำ
        อย่างไรก็ดี ‘ประพิศ’ ยอมรับว่า การตรวจสอบยัง มีความบกพร่องตรงที่ว่า ไม่สามารถไปตรวจสอบได้ว่า เมื่อมีการนำออกนอกประเทศแล้วเอาไปไว้ที่ไหน ไม่ได้มีการติดตามว่าเขานำไปบูชาจริงหรือเปล่า

        “การอนุญาตให้นำออกไปได้นั้น ลักษณะองค์พระ

       จะต้องเต็มองค์ ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่ขาดหายไป หรือมีเพียงแค่ส่วนเดียว เช่น เศียรพระ ซึ่งชาวต่างชาติส่วน มากจะไม่รู้กฎเกณฑ์ อยากจะนำแต่เศียรพระออกไป เราก็จะไม่อนุญาตอย่างเด็ดขาด บางรายบอกว่าจะนำไปบูชาจริงๆ ดิฉันก็จะบอกว่าชาวพุทธแท้ๆจะบูชาทั้งองค์ ไม่ได้บูชาเป็นส่วนๆหรอก ถ้าคุณเป็นชาวพุทธ และนับถือศาสนาพุทธจริงๆ คุณต้องบูชาทั้งองค์ แค่นี้เขาก็จะเข้าใจได้เป็นอย่างดี”
        ส่วนสุดา ฐานิสสร เจ้าหน้าที่พิพิธภัณท์ 5 งานควบ คุมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กล่าวเสริมว่า การตรวจสอบ ในเมืองไทยเราจะเข้มงวดมาก ถือว่าเป็นด่านแรก เพราะการที่จะตามไปตรวจสอบในต่างประเทศนั้นทำได้ยากมาก เราไม่มีบุคลากรเยอะถึงกับจะให้ไปประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง
        ด้านสมศักดิ์ ทวีแก้ว ผู้จัดการฝ่ายขนส่ง บริษัทแพรนด้า จิวเวลลี่ เปิดเผยว่าบริษัทในเครือของตนได้ มีการผลิตรูปปั้น รูปหล่อ เพื่อส่งออกต่างประเทศ ซึ่งทางบริษัทได้ทำหนังสือขออนุญาต กับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ในการส่งออกสินค้า โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมาติดต่อนำพระพุทธรูปส่งออก แต่ครั้งนี้เป็นพระพิฆเนศที่ทำขึ้นมาใหม่ โดยมีความสูง ประมาณ 3 ซม.
        “ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ สนใจที่จะนำไปห้อยคอ เลยว่าจ้างบริษัทเราสร้างขึ้นมา เลยมาสอบถามดูก่อนว่า การส่งพระพิฆเนศไป จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ทางเจ้าหน้าที่ก็ให้คำแนะนำเป็นอย่างดีสามารถนำออกได้ แต่ต้องทำหนังสือจากทางบริษัทมา ให้ชัดเจนว่าส่งออกในรูปบริษัท ระบุว่าจำนวนกี่องค์ นำออกไปเพื่ออะไร ผมเห็นว่าการที่จัดให้มีการดำเนิน การขออนุญาตที่ถูกขั้นตอนเป็นสิ่งที่ดี จะได้ไม่มีการส่งสินค้าอย่างผิดกฎหมาย แต่ที่น่าเป็นห่วงในการนำพระพุทธรูปออกนอกประเทศก็คือ เมื่อนำออกไปแล้ว เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเขาได้นำไปบูชาจริงหรือเปล่า เพราะปัญหาที่ผ่านมาที่เห็นเป็นข่าวส่วนมากจะนำพระพุทธรูปไปวางในที่ที่ไม่เหมาะสม”
       
       โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ 9 ชิ้น ที่ห้ามทำเทียมและห้ามนำออกนอกประเทศ

        อนึ่ง โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม และห้ามนำออกนอกประเทศโดยเด็ดขาดนั้น ได้ มีการวางบทกำหนดโทษตามมาตรา 36 ไม่แจ้งรายการ สิ่งที่ตนผลิตต่ออธิบดี หรือไม่แสดงให้ปรากฏสิ่งที่ตน ผลิตว่าเป็นสิ่งที่ได้ทำเทียมขึ้น อาศัยอำนาจตามความ ในมาตรา 18 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโบราณ สถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่ง ชาติ พ.ศ.2504 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 กำหนดให้โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร หรือที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้และมีประโยชน์หรือคุณค่าเป็นพิเศษในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี เป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามรายการ รวมทั้งหมด 9 ชิ้น ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง, ธรรมจักร, พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, พระเจ้าชัยวรมันที่ 7, พระอิศวร, ตู้พระธรรม, ช้างทรงเครื่อง พระคชาธาร, พระเต้าทองคำ และพระแสงขรรค์
       
 โดยในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้ มาตรา 5 ได้ระบุบทนิยามคำว่า
“สิ่งเทียมโบราณวัตถุ” “สิ่งเทียมศิลปวัตถุ” และ “ทำเทียม” ดังต่อไปนี้
“สิ่งเทียมโบราณวัตถุ” หมายความว่า สิ่งที่ทำเทียม โบราณวัตถุหรือส่วนของโบราณวัตถุ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่อยู่ในครอบครองของกรมศิลปากร
“สิ่งเทียมศิลปวัตถุ” หมายความว่า สิ่งที่ทำเทียมศิลปวัตถุหรือส่วนของศิลปวัตถุ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือที่อยู่ในครอบครองของกรมศิลปากร
“ทำเทียม” หมายความว่า เลียนแบบ จำลอง หรือทำเอาอย่างด้วยวิธีการใดๆ ให้เหมือนหรือคล้ายของจริง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีขนาด รูปลักษณะ และวัสดุอย่างเดิมหรือไม่”
       
พระพุทธรูปถูกยึดไว้จำนวนมาก ไม่ให้นำออก ปัญหาเกิดจากร้านค้าส่วนใหญ่ไม่รู้ขั้นตอน
พระพุทธรูปที่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเรียบร้อย แล้วนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบจะผูกเชือก ตีตราประทับของกรมศิลปากร เพื่อแสดงว่าอนุญาตให้นำออกนอกประเทศได้ ดังนั้นเมื่อถึงด่านตรวจที่ดอนเมือง ศุลกากรเห็นตราประทับก็จะอนุญาตให้นำออกได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีก
        แต่ที่ผ่านๆมา พระพุทธรูปถูกยึดไว้ที่ด่านตรวจเป็น จำนวนมาก เพราะไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจาก กรมศิลปากร สาเหตุหลักมาจากการที่ร้านค้าส่วนใหญ่ ไม่รู้รายละเอียดขั้นตอนในการดำเนินการและการ ตรวจสอบ
        ทั้งนี้จากการที่‘ธรรมลีลา’ ได้ไปสำรวจร้านค้าที่ให้เช่าพระพุทธรูปย่านท่าพระจันทร์ สนามหลวง พบว่าส่วนใหญ่มีการให้เช่าพระพุทธรูปทั้งสมัยเก่า และสมัยใหม่ มีทั้งแบบเต็มองค์และไม่เต็มองค์ คือมีเฉพาะเศียร จากการเข้าไปสอบถามผู้ค้าส่วนมาก จะไม่ค่อยทราบเรื่องขั้นตอนในการนำพระพุทธรูปออกนอกประเทศ ว่ามีวิธีการดำเนินการอย่างไร และแต่ ละร้านก็จะไม่มีบริการจัดส่ง หรือติดต่อดำเนินการ เรื่องส่งพระพุทธรูปออกราชอาณาจักร คงปล่อยให้เป็นเรื่องของคนที่เช่าไปจัดการกันเอง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้วิธีการแล้วบอกให้ลูกค้าทราบ
        “ร้านค้าส่วนน้อยจะบอกว่าให้มาขออนุญาตที่สำนัก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร มีบางร้าน เท่านั้นที่บอกให้มาขออนุญาต เมื่อไม่ได้ทำเรื่องพอจะ นำออกนอกประเทศไปถึงด่านตรวจก็จะถูกยึดของเอาไว้ ทำให้ชาวต่างชาติเสียความรู้สึก จริงๆแล้วร้านค้าที่สามารถจะขายพระพุทธรูปหรือค้าของเก่าได้ต้องทำทะเบียนบัญชีควบคุมของในร้าน เพื่อที่กรมศิลปากร จะได้รู้ว่าร้านค้าได้นำพระพุทธรูปมาจากไหน ขายให้กับใคร” วิสันธนี โพธิสุนทร ภัณฑารักษ์ 8 กล่าว
        ในขณะที่ ‘ประพิศ พงษ์มาศ’ เล่าว่า เมื่อปีที่แล้วได้มีเหตุการณ์หนึ่งที่ชาวต่างชาติได้ซื้อเศียรพระพุทธรูปที่ร้านค้าของเก่าย่านบางรัก ด้วยราคาสี่หมื่นบาท เมื่อนำมาให้คณะกรรมการตรวจสอบแล้ว ไม่อนุญาต ให้นำออกไป เนื่องจากเป็นเศียรพระ
        “เขาก็พยายามขอความเห็นใจนะ โดยบอกว่าไม่ทราบที่ไม่ให้นำพระพุทธรูปที่มีเฉพาะเศียรออกนอกประเทศ ทางเราก็พยายามไปติดต่อกับร้านค้า ในที่สุด ก็สามารถเจรจากับเจ้าของร้านว่าเราไม่อนุญาตให้นำออก ซึ่งทางร้านก็ให้ความร่วมมือดีมากยอมรับของคืน ทางชาวต่างชาติก็ได้เงินคืน ทั้งๆที่การไปตรวจตามร้าน ค้าเราก็จะแนะนำว่า อย่าขายลักษณะที่ไม่เต็มองค์ให้กับนักท่องเที่ยว เพราะถ้ามาถึงขั้นตอนการตรวจสอบ ก็จะไม่ให้นำออก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือชอบ ขายของให้กับลูกค้าแล้วไม่บอกเกี่ยวกับกฎระเบียบที่วางไว้ ”
        ...
        มรดกของชาติมิใช่เป็นเพียงแค่วัตถุสิ่งของ แต่ทว่ายังเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชนชาตินั้นๆด้วย ความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันจะก่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน และนำมาซึ่งการอนุรักษ์ให้ดำรงคงอยู่กับประเทศชาติตราบนานเท่านาน
       


 
       โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ควบคุมการทำเทียม


        1.ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ความสำคัญของศิลาจารึกหลักนี้เป็นโบราณวัตถุจารึกภาษาไทยหลักแรกที่พบในประเทศไทย โดยเนื้อความในศิลาจารึก จะบอกถึง หลักฐานเป็นพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหงตั้งแต่ประสูติจนได้เสวยราชสมบัติ เล่าเรื่องต่างๆ และขนบธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย กล่าวถึง การสร้างพระแท่นมนังศิลา การสร้างพระธาตุเมืองศรีสัชนาลัย และการประดิษฐ์อักษรไทย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
       


 
        2.ธรรมจักร ความสำคัญ ธรรมจักรชิ้นนี้เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีคุณค่าเป็น พิเศษในทางศิลปประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เนื่องจากเป็นธรรมจักรชิ้นเดียวในประเทศไทยที่มีอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี เป็นคาถาในพระธรรมจักร จารึกอยู่ที่ดุมที่ 1 ดุมที่ 2 ที่กง และกำทั้ง 15 ซี่ อันเป็นหลักฐานให้ทราบว่าพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายเข้ามาในดินแดนอาณาจักรทวารวดี ลักษณะของพระธรรมจักรแสดงให้เห็นถึงรูปแบบศิลปะทวาราวดี ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะคุปตะของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

 
        3.พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ความสำคัญ มีลักษณะสวยงามที่สุดในประเทศไทย ขนาดเท่าคนจริง พระพักตร์กลม พระขนงทำเป็นร่อง พระเนตรมองต่ำ พระโอษฐ์เต็ม ริมพระโอษฐ์ด้านล่างหนาและย้อยลงมา ส่วนองค์อยู่ในท่าตริภังค์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกับศิลปะชวา นับว่าเป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าเป็นพิเศษในทางศิลปและประวัติศาสตร์ และมีเพียงองค์เดียวที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

 
        4.พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความสำคัญ โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นประติมากรรมรูปเคารพ ที่เป็นรูปบุคคลมีลักษณะเป็นศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็น หลักฐานและมีคุณค่าเป็นพิเศษทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในประเทศไทยพบเพียงองค์เดียว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย จ.นครราชสีมา

 
        5.พระอิศวร ความสำคัญ เป็นประติมากรรมศิลปะไทยที่เลียนแบบศิลปะขอม มีลวดลายวิจิตรงดงาม รอบฐานด้านบนมีอักษรจารึกเป็นภาษาไทย ข้อความในจารึกกล่าวว่าเป็นศิลปะขอมแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นหลักฐานและมีคุณค่าเป็นพิเศษทางประวัติศาสตร์ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานพระอิศวรองค์นี้ไว้ในเมืองกำแพงเพชร ตรงกับศักราช 1432 ปีมะเมีย (พ.ศ.2053) ซึ่งตรงกับแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเรื่องราวที่สำคัญทาง ประวัติศาสตร์ของเมืองกำแพงเพชรในสมัยนั้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ กำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร

 
        6.ตู้พระธรรม ความสำคัญ เป็นตู้ลายรดน้ำ ฐานสิงห์ มีลวดลายประณีตสวยงาม เป็นเลิศ ตู้พระธรรมหลังนี้เป็นฝีมือบรมครูวัดเซิงหวาย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแบบฉบับการผูกลายกนกเปลว เครือเถามาตกแต่งประกอบกับลายกิ่งไม้ดอกไม้ อย่างวิจิตรตระการตา สวยงามที่สุดในสมัยอยุธยา มีคุณค่าเป็นพิเศษในทางศิลปะ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

 
        7.ช้างทรงเครื่องพระคชาธาร ความสำคัญ ช้างทรงเครื่องชิ้นนี้เป็นโบราณวัตถุรูปช้างทรงเครื่องพระคชาธารที่ล้ำค่า มีความสำคัญอย่างยิ่ง สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จ พระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อันเป็นสิ่งยืนยันถึงความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองของพระนครศรีอยุธยาในสมัยนั้น และนับได้ว่าเป็นงานฝีมือปราณีต วิจิตรงดงาม เป็นตัวอย่างของการศึกษาวิวัฒนาการของลวดลายและรูปแบบสัปคับช้างได้อีกด้วย ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
       
8.พระเต้าทองคำ (สุวรรณภิงคาร) ความสำคัญ เป็นโบราณวัตถุที่มีความงามเป็นเลิศอย่างยิ่ง สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โดยฝีมือช่างสมัยอยุธยา มีคุณค่าเป็นพิเศษทางศิลปะและประวัติศาสตร์ และเป็นพระเต้าทองคำชิ้นเดียวที่พบในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นตัวอย่างของการศึกษาลวดลายฝีมือช่างที่วิจิตรบรรจง โดยเฉพาะยอดเป็นรูปพรหมพักตร์ซึ่งคล้ายคลึงกับลวดลายของศิลปะขอม เป็นหลักฐานแสดงว่ามีความนิยม ในลัทธิพราหมณ์ในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยาแล้ว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
       

 
        9.พระแสงขรรค์ ความสำคัญ เป็นโบราณวัตถุล้ำค่าอย่างยิ่ง สร้างขึ้นในแผ่นดิน สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โดยฝีมือช่างสมัยอยุธยา ฝักพระแสง
       ขรรค์ทำด้วยทองคำ ประดับอัญมณีอย่างวิจิตรงดงาม มีคุณค่าเป็นพิเศษทางศิลปะและประวัติศาสตร์ และเป็นพระแสงขรรค์ชิ้นเดียวที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสาม พระยา จ.พระนครศรีอยุธยา
       

 
       การส่งหรือนำพระพุทธรูปออกนอกราชอาณาจักร
     
 เอกสาร
1.กรอกแบบฟอร์มการขออนุญาตที่ทางราชการจัดให้ (ศก.6)
2.ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร ให้เหตุผลส่ง หรือนำไปเพื่ออะไร ไว้ที่ใดโดยละเอียด
3.ในกรณีที่นำติดตัวไปเอง ให้ถ่ายสำเนาหนังสือเดินทางของผู้ขออนุญาต 1 ชุด ส่วนในกรณีที่ส่งไป ให้ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการ
4.ให้แสดงหลักฐานเป็นเอกสารรับรองจากองค์กร องค์การ ที่เป็นที่เชื่อถือ และยอมรับจากทางราชการ ส่วนที่เกี่ยวกับสมาคม ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับศาสนา ซึ่งเป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากทางราชการ สถาบันที่เกี่ยวข้องกับศาสนา คือพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์เป็นเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส หรือเลขาธิการ สมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้ลงนามรับรอง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่เชื่อถือได้ว่าจะส่งหรือนำพระพุทธรูปออกนอกราชอาณาจักรเพื่อสักการบูชา เพื่อศึกษาวิจัย เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณ หรือเพื่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมหรือโบราณคดี
       
ในกรณีที่เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้า อาวาสวัด รับรอง หรือเป็นผู้ขอนำออก ต้องมีเอกสาร ดังนี้
        1.ทำหนังสือจากวัดถึงอธิการบดีกรมศิลปากร รับรองผู้ขออนุญาตส่งหรือนำพระพุทธรูปออกนอกราช อาณาจักร
        2.สำเนาใบสุทธิประวัติเดิม และปัจจุบัน
        3.สำเนาใบแต่งตั้งสมณศักดิ์ หรือหลักฐานยืนยันชื่อ ลงนามในหนังสือรับรอง
       
ส่วนในกรณีที่ข้าราชการรับรองหรือเป็นผู้ขอนำออก (ต้องเป็นข้าราชการตั้งแต่ ระดับ 4 ขึ้นไป) ต้องใช้เอกสาร ดังนี้
        1.ทำหนังสือจากวัดถึงอธิบดีกรมศิลปากร รับรองผู้ขออนุญาตส่งหรือนำพระพุทธรูปออกนอกราชอาณาจักร
        2.สำเนาบัตรข้าราชการ ด้านหน้า ด้านหลัง พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง
        กรณีที่เป็นชาวต่างชาติให้แนบพาสปอร์ต วีซ่า และต้องกรอกแบบฟอร์มภาษาอังกฤษ (ศก.6) ทำหนังสือ
       ถึงอธิบดีกรมศิลปากร ให้เหตุผลส่งหรือนำไปเพื่ออะไร ไว้ที่ใดโดยละเอียด
       
ภาพถ่าย
        สำหรับภาพถ่ายของวัตถุที่จะนำออกนอกประเทศ จะต้องใช้ภาพสี ขนาด 3x5 นิ้ว จำนวน 2 ภาพ ต่อวัตถุ 1 รายการ ถ่ายภาพเฉพาะด้านหน้าให้ชัดเจน หากมีพลาสติกห่อหุ้มให้เอาออกก่อนถ่ายภาพ
       
การยื่นตรวจสอบ
        นำวัตถุที่จะส่งหรือนำออกทุกชิ้นไปแสดงต่อคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ฯ ในวันที่ยื่นคำร้อง (ศก.6) ณ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เลขที่ 81/1 ถนนศรีอยุธยา (อาคารกรมศิลปากรใหม่) เทเวศร์ แขวงวชิระ เขตดุสิต กทม.10300 โทร.0-2628-5033
       
ระยะเวลาการออกใบอนุญาต
        คณะกรรมการจะทำการตรวจสอบในวันทำการ 2 ช่วง คือ เวลา 10.00 น.และ 14.00 น. โดยมีระยะเวลา การออกใบอนุญาตภายใน 2 วันทำการ
       
ค่าใช้จ่าย
        เมื่อคณะกรรมการตรวจพิสูจน์พระพุทธรูปแล้วว่า สามารถนำออกนอกประเทศได้ จะต้องเสียค่าใช้จ่าย ใน

การนำออกนอกประเทศ ดังนี้
        พระพุทธรูปมีขนาดไม่เกิน 50 ซ.ม. เสียค่าใช้จ่าย องค์ละ 100 บาท
        พระพุทธรูปมีขนาดไม่เกิน 100 ซ.ม. เสียค่าใช้จ่าย องค์ละ 200 บาท
        พระพุทธรูปมีขนาดเกิน 100 ซ.ม.ขึ้นไป เสียค่าใช้ จ่ายองค์ละ 300 บาท
     
หมายเหตุ
        พระพุทธรูปที่อนุญาตให้นำออกไปนั้นไม่สามารถ เอาไปเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งได้ โดยเฉพาะเศียรพระพุทธรูป จะต้องนำออกในรูปแบบที่สมบูรณ์เต็มองค์
 

http://www.siamsouth.com/smf/index.php?topic=1583.0

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 22 พฤษภาคม 2010 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2212
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1238
mod_vvisit_counterทั้งหมด10734168