Skip to content

Phuketdata

default color
Home
ถนนถลางเมืองภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 01 พฤษภาคม 2009

ขอบเขตวิดิทัศน์เรื่อง

ถ น น ถ ล า ง

  

ประสิทธิ  ชิณการณ์

 ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๘สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ปรับความแก้คำ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๘

------------------------

                 การจัดวิดิทัศน์เรื่อง ถนนถลางเมืองเก่า โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที เพื่อนำเสนอมุมมองอันน่าสนใจต่อผู้ชมนั้น ย่อมมีขอบเขตจำกัดอยู่ด้วยเวลา ไม่อาจนำเสนอได้ทุกมุม และแม้แต่ในมุมมองบางมุมที่หยิบยกมาเสนอ ก็ไม่อาจมองได้ในรายละเอียดเท่าที่ควร                ผู้ทำสคริปต์จึงต้องใช้ความพยายามที่จะนำเสนอภาพและคำบรรยายที่รวบรัดและย่นย่อแต่จับประเด็นสำคัญได้ในแนวลึกและแนวกว้างอย่างเต็มความสามารถ เพื่อดึงดูดผู้ชมให้เกิดความสนใจอยู่ตลอดเวลา 10 นาที                ข้อเขียนต่อไปนี้ ไม่ใช่สคริปต์เรื่อง แต่เป็นเพียงการรวบรวมเนื้อหากว้าง ๆ ที่เกี่ยวกับถนนถลางทั้งในอดีตและปัจจุบันมาเป็นปัจจัย เพื่อผู้ทำสคริปต์จะได้คัดเลือกออกไปสร้างภาพ และคำบรรยายตามวิธีการและเทคนิคของงานวิดิทัศน์ต่อไป โดยจะแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ                1. เรื่องสถานที่น่าดู                2. เรื่องบุคคลน่ารู้                3. เรื่องราวน่าฟัง---------------------------------------- 1.เรื่อง สถานที่น่าดู                สถานที่น่าดูของถนนถลาง ได้แก่ อาคารแบบชิโน-โปรตุกีส ซึ่งมีลักษณะการก่อสร้างเป็นอาคารตึกแถว เพื่อการอยู่อาศัยและประกอบการพาณิชย์คู่กันไป                อาคารดังกล่าวนี้เริ่มต้นขึ้นที่ถนนถลางก่อน และค่อย ๆ สร้างเพิ่มเติมติดต่อกันไปถึงถนนกระบี่ ถนนเยาวราช และถนนดีบุก                ย่านถนนถลาง เคยเป็นย่านสถาปัตยกรรมอาคารชิโน-โปรตุกีส มานานร่วม 100 ปีแล้ว ปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเกือบหมดสิ้น โดยเฉพาะส่วนหน้าบ้านที่เคยเป็นแบบมีประตู 1 ช่อง และหน้าต่าง 2 ช่อง ช่อง ซ้าย-ขวา นั้น ความจำเป็นในการทำการค้ายุคใหม่ได้บีบบังคับให้ต้องรื้อลงแล้วสร้างประตูเหล็กยืด หรือประตูเหล็กม้วนขึ้นแทนที่                แม้แต่บ้านบางหลังที่สร้างขึ้นในสมัยสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสเคยรุ่งเรือง ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อประกอบการค้า ไม่เหมาะสมที่จะสร้างหน้าบ้านประตู 1 ช่อง และหน้าต่าง 2 ช่องตามรูปแบบของชิโน-โปรตุกีสดั้งเดิม แต่ได้สร้างเป็นประตูแผ่นกระดานเข้าลิ้นหลาย ๆ แผ่นมาประกบติดกัน สามารถถอดออกและยกปิด-เปิดได้สะดวกเพราะเบาแรง (เช่น ยังมีตัวอย่างเหลืออยู่ที่บ้านเลขที่ 60 ถนนถลาง ซึ่งเป็นร้านยี่ห้อ จ่วนถ่าย (ชวนไทย) เป็นต้น) สมัยต่อมา ประตูกระดานแบบนี้ (ภาษาตลาดภูเก็ตเรียกว่า เตี้ยมทั้ง) ก็ถูกรื้อออกและใช้ประตูเหล็กยืดเข้ามาแทนที่ตามความเจริญของบ้านเมือง                อาคารแบบชิโน-โปรตุกีส ตามรูปแบบดั้งเดิมของภูเก็ต ยังคงมีเหลืออยู่มากย่านถนนดีบุก ซึ่งเป็นอาคารที่มีอายุประมาณ 80-90 ปี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อาคารเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบ้านพักอาศัย มีการดัดแปลงแก้ไข เพื่อประกอบการค้าแต่เพียงส่วนน้อย จึงสามารถรักษารูปแบบของชิโน-โปรตุกีส ไว้ได้มากตลอดมา                อาคารแบบชิโน-โปรตุกีส เป็นสถาปัตยกรรมที่ภูเก็ตได้รับอิทธิพลมาจากเมืองเกาลูนเขตเช่าของชาวโปรตุเกสในประเทศจีน ผ่านมาทางเกาะปีนังและสิงค์โปร สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์                ผู้เป็นเจ้าของอาคารแบบนี้ไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นพ่อค้า-นายเหมืองชาวจีนฮกเกี้ยนผู้มีฐานะร่ำรวย ที่เคยเป็นเจ้าของอาคารแบบตึกดินที่ได้รับอิทธิพลดั้งเดิมจากเมืองจีน เมื่อมีฐานะดีขึ้น จึงเกิดค่านิยมในการที่จะปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจเป็นแบบสมัยใหม่ คือ แบบชิโน-โปรตุกีส โดยต้องนำช่างก่อสร้างและวัสดุในการก่อสร้าง เช่น เหล็ก กระเบื้อง และกระจก แม้กระทั้งหินแกรนิตที่ปูขอบพื้นทางเดินหน้าบ้าน (หงอข่ากี่) มาจากเมืองปีนังทั้งสิ้น เนื่องจากยังไม่ได้ผลิตเองในเมืองไทย                จะสังเกตเห็นว่า อาคารบางหลัง มีภาพปั้นดินเผาเป็นตุ๊กตาเรื่องราวตำนานจีน ซึ่งต้องสั่งผ่านเมืองปีนังมาจากประเทศจีน (ที่หน้าบ้านอาคารสิริรัตน์ และไชน่าอินน์)                สัญลักษณ์ภายนอกของอาคารชิโน-โปรตุกีส ที่สังเกตโดยง่าย คือ ด้านหน้าอาคารแต่ละหลัง ชั้นบน (ชั้นเหล่าเต้ง) จะมีหน้าต่างบานเกล็ดเปิดตลอดจากใต้ช่องแสง ลงมาถึงพื้นห้องหรือคานรองรับพื้นชั้นสอง ซึ่งถอดแบบหน้าต่างบัลโคนีมาจากยุโรป ส่วนอาคารด้านล่าง จะมีประตู 1 ช่อง ประกอบด้วยหน้าต่าง 2 ช่อง ซ้าย-ขวา รับอิทธิพลมาจากบ้านจีนดั้งเดิม ซึ่งสมมุติว่าประตู คือ ปาก และหน้าต่าง คือ ตาของมังกร อันถือกันว่า เป็นสัตว์มงคลมาแต่โบราณ                ปัจจุบันนี้ จะสังเกตเห็นว่า ถนนถลางและถนนสายอื่น ๆ  อันเป็นย่านธุรกิจที่เคยมีอาคารชิโน-โปรตุกีส แบบดั้งเดิม คือ ประตู 1 ช่อง และหน้าต่าง 2 ช่อง นั้น ได้ถูกรื้อลงแล้วสร้างประตูเหล็กยืด หรือประตูเหล็กม้วนขึ้นแทนที่ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากประตู 1 ช่อง และหน้าต่าง 2 ช่อง แบบชิโน-โปรตุกีส ไม่สะดวกในการทำมาค้าขาย                แต่น่าแปลกตาอยู่ประการหนึ่ง ที่ได้เห็นฝรั่งเข้ามาเช่า หรือซื้ออาคารชิโน-โปรตุกีส ที่ยังรักษารูปแบบเดิมอยู่นั้น เปิดทำการค้าโดยไม่รื้อประตูและหน้าต่างลง ฝรั่งก็ยังค้าขายได้ และขายได้ดีด้วย เพราะปรากฏว่า มีลูกค้าประเภทหนึ่งที่ยังสนใจ และพอใจจะเข้าซื้อและเช่าในอาคารแบบเก่าอยู่ อย่างที่คนภูเก็ตเองคาดคิดไม่ถึงเหมือนกัน                อาคารที่น่าดูย่านถนนถลางมีอยู่หลายหลัง แต่จะนำท่านไปชมเพียงบางหลัง เช่น                อาคารสิริรัตน์  เป็นอาคารชิโน-โปรตุกีสเก่าแก่ มีภาพปูนปั้นตุ๊กตาจีนอยู่เหนือคานชั้น 2 ซึ่งเจ้าของอาคารเดิมพยายามอนุรักษ์ไว้จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าประตูและหน้าต่างชั้นล่างจะถูกรื้ออก เพื่อสร้างประตูเกล็ดแทนที่ แต่หน้าต่างบานเกล็ดและลวดลายปูนปั้นที่ปรากฏอยู่ใต้คานหลังคาของอาคารยังแสดงรูปแบบของชิโน-โปรตุกีสชัดเจน                อาคารหลังนี้ เคยเป็นร้านถ่ายรูปของช่างถ่ายรูปชาวญี่ปุ่นมาแต่สมัยแรกเริ่มมีการถ่ายรูปเกิดขึ้นในภูเก็ต คือ ประมาณสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อว่า ร้านนิกโก้  ต่อมาเมื่อชาวญี่ปุ่นเลิกกิจการกลับไป ช่างถ่ายภาพคนไทยคนแรกในภูเก็ต แต่เป็นชาวพระนคร ก็รับช่วงร้านแห่งนี้แทน คือ นายสว่าง และผู้รับช่วงกิจการต่อจากนายสว่าง คือ ร้านสุภาพ ก่อนที่จะกลายสภาพเป็นร้านเสริมสวย ดัดผม แต่งผมสตรี ชื่อ ทิพย์สะอาด แล้วเปลี่ยนเป็นร้ายขายผ้า สิริรัตน์ ในปัจจุบัน                อาคารบ่านจิ้นท่าย เจ้าของอาคารสร้างขึ้น เพื่อทำกิจการค้าเครื่องเหล็ก อันเป็นอุปกรณ์การก่อสร้าง และการเหมืองแร่ จึงไม่มีประตู 1 ช่อง และ หน้าต่าง 1 ช่องตามที่ควรจะมี แต่สร้างประตูเฟี้ยม ซึ่งประกอบ ด้วยแผ่นกระดานหนาหลาย ๆ แผ่น ทำร่องลิ้นเพื่อประกบกันได้แนบสนิท เมื่อยามปิดหน้าร้าน และถอดออกได้สะดวกในยามเปิดหน้าร้าน ประตูแบบนี้ภาษาตลาดภูเก็ตเรียกกันว่า เตี้ยมทั้งยังมีตัวอย่างให้ดูได้ที่หน้าอาคารถนนถลาง เลขที่ 60 ซึ่งเคยเป็นร้านขายเครื่องมือก่อสร้างมาก่อน ชื่อร้าน จ่วนถ่าย (ชวนไทย) บัดนี้เลิกกิจการไปนานแล้ว                สัญลักษณ์ชิโน-โปรตุกีสของอาคารบ่านจิ้นท่าย อยู่ที่หน้าบ้านชั้นบน ยังมีบานเกล็ดหน้าต่างแบบยุโรปอยู่ และภายในอาคารยังมีช่อง สกายไลท์ หรือฉิ่มแจ้ คือ ลานซักล้างบริเวณบ่อน้ำภายในบ้านปรากฏอยู่ ตามขนบธรรมเนียมจีนโบราณ                อาคารบ่านจิ้นท่าย สร้างโดยมีขนาดกว้างกว่าอาคารทั่วไป และมีความลึกจากถนนถลางไปจรดถนนพังงา ซึ่งด้านถนนพังงา ได้สร้างอาคารขึ้นอีกหลังหนึ่ง เพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมชื่อ โรงแรมออน-ออน หรือ ออนโฮเต็ล นับเป็นโรงแรมแห่งแรกของภูเก็ตที่ยังคงดำเนินกิจการต่อมา โดยสมาชิกครอบครัว ธารสิริโรจน์ เจ้าของอาคารผู้เข้าใช้อาคารหลังนี้ สามารถเดินเท้าจากด้านถนนถลางทะลุออกไปยังถนนพังงาได้อย่างสะดวกสบาย นับเป็นสิ่งน่าดูอย่างหนึ่งในย่านนี้                อาคารไชน่า อินน์ เป็นตึกสำนักงานของพระพิทักษ์ชินประชา (ตันม่าเสียง ตัณฑวณิช) ซึ่งประกอบกิจการหลายอย่าง คือ เป็นนายเหมือง เป็นตัวแทนซื้อ-ขายเงินตราต่างประเทศ เป็นเจ้าของกิจการสวนยางพารา                อาคารหลังนี้ประกอบด้วยลวดลายปูนปั้นที่หลากหลาย ทั้งแบบยุโรปและแบบจีน มีอักษรภาษาจีนจารึกบอกประเภทธุรกิจที่ประกอบ อยู่เหนือหน้าต่าง 2 ช่อง หน้าอาคาร และยังมีประตูอยู่ 1 ช่อง ระหว่างหน้าต่างทั้ง 2 แบบวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีน ไม่ได้ถูกทำลายลงเช่นอาคารส่วนใหญ่ในถนนถลาง ฝรั่งเข้าใช้ประโยชน์ในอาคารหลังนี้โดยจัดเป็นโรงแรมขนาดเล็กชื่อว่า ไชน่า อินน์หรือ บ้านจีนแม้ว่าชั้นบนของอาคารจะถูกรื้อแล้วสร้างใหม่ผิดไปจากรูปแบบเดิม แต่ด้านหน้าส่วนล่างของอาคาร ยังคงสภาพรูปแบบชิโน-โปรตุกีสอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง                อาคารหลังนี้มีความกว้างขนาด 2 ห้องแถว มีความลึกจากถนนถลางไปจรดถนนพังงา และท่านเจ้าของอาคารเดิม คือ พระพิทักษ์ชินประชา ยังได้สร้างคฤหาสน์สำหรับการอยู่อาศัยของท่านขึ้นไว้ทางด้านถนนพังงา เป็นคฤหาสน์ใหญ่โตรโหฐานสมตามฐานะมหาเศรษฐีใหญ่ของภูเก็ตสมัยเมื่อ 80 ปีก่อน ต่อมาภายหลัง ได้ขายกรรมสิทธิ์ให้ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือ บี.บี.ซี. รื้อคฤหาสน์หลังนี้ลง แล้วสร้างเป็นตึกสำนักงานขึ้นแทนที่ และกลายเป็นตึกร้างอยู่ในปัจจุบัน                อาคารหงวน ซุน ต๋อง  อยู่ติด    กับอาคารไชน่า อินน์ หรือบ้านจีน เป็นอาคารเก่าแก่มีป้ายยี่ห้อว่า หงวน ซุน ต๋อง ประกอบการพาณิชย์จำหน่ายและปรุงยาตามตำรับจีนแผนโบราณ                อาคารหงวน ซุน ต๋อง นับได้ว่ายังรักษารูปแบบชิโน-โปรตุกีสส่วนสำคัญอยู่ได้หลายอย่าง เช่น หน้าต่างบานเกล็ดเปิดตลอดใต้ช่องลม หรือช่องแสงสว่างลงมาจรดพื้นห้องชั้น 2 ยังมีสภาพเรียบร้อย ไม่ได้รื้อออกแต่อย่างใด หลังคากระเบื้องดินเผาแบบครึ่งกระบอก ที่ต้องสั่งซื้อจากปีนัง ก็ยังคงมีมุงอยู่บนหลังคา แม้ว่าหน้าร้านหรือเตี้ยมทั้งจะถูกรื้อออก แล้วทำประตูเหล็กยืดมาใช้แทนตามยุคสมัย แต่ช่อง สกายไลท์ หรือ ฉิ่มแจ้ ลานซักล้างบริเวณบ่อน้ำภายในบ้าน ก็ยังคงมีให้ดูไม่เปลี่ยนแปลง                หงวน ซุน ต๋อง ดำเนินกิจการค้าและปรุงยาจีนแผนโบราณให้เป็นที่พึ่งของผู้คนชาวภูเก็ตมายาวนานร่วม 100 ปี ตั้งแต่สมัยที่การแพทย์และการรักษาพยาบาลยังไม่เจริญขึ้นในภูเก็ต จวบจนปัจจุบัน ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันเติบโตเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว แต่หงวน ซุน ต๋อง ก็ยังคงรักษาสถานภาพของตนไว้ได้อย่างมั่นคงยิ่งตลอดมา นับเป็นสถานที่น่าดูอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ควรพลาด                จากอาคารหงวน ซุน ต๋อง ทะลุออกไปหลังบ้าน จะมีอาคารเก่าแก่อายุ 100 ปี อีกหลังหนึ่งประดิษฐานอยู่ นั่นคือ ศาลเจ้าแสงธรรม ของชาวจีนฮกเกี้ยนตระกูล แซ่ตัน ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของบรรดาชาวแซ่ตันทั้งหลายในภูเก็ตเมื่อยุค 100 ปีก่อน                อาคารศาลเจ้าแสงธรรม สร้างด้วยวัสดุที่เป็นไม้ส่วนใหญ่ ผนังเขียนลวดลายเป็นนิยายโบราณของชาวจีนที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ ซิยิ่นกุ่ย บุรุษผู้ทรงพลังที่รับประทานข้าวครั้งละ 7 กะทะ เพื่อเกิดมาปราบยุคเข็ญในแผ่นดินยามคับขัน นับเป็นนิยายกำลังภายในที่น่าสนใจอย่างยิ่ง-*------------------------------------------------บนถนนถลางยังมีสถานที่น่าดูอีกหลายแห่ง แต่เนื่องจากมีความจำกัดเรื่อง เวลา จึงขอนำชมเพียงเท่านี้ แล้วจะเลยไปชมถนนกระบี่อีกต่อไป---------------------------------------------------ถนนกระบี่----------------                บนถนนกระบี่ มีอาคารเก่าแบบชิโน-โปรตุกีสอยู่หลายหลัง แต่จะขอนำเสนอเพียงอาคาร โรงเรียนภูเก็ตไทยหัวเดิม ที่กำลังดำเนินการก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแสดงวิถีชีวิตคนจีนภูเก็ตอยู่ขณะนี้                อาคารหลังนี้ ดูเพียงภายนอกด้านหน้า จะมองเห็นรูปร่างเป็นอาคารแบบยุโรปมาก กว่าจะเป็นอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส เนื่องจากมีความสง่างาม ด้วยทรวดทรงที่สูงเพรียวแบบ อังมอเหลาอยู่เต็มตา แต่เมื่อมองหน้าบัน หรือหน้าจั่วของอาคาร ที่มีอักษรจีนและลายปูนปั้นรูปค้างคาว (ซึ่งคตินิยมฝ่ายจีน ถือว่า เป็นสัตว์มงคล หมายถึง ความฉลาดแหลมคมในการเลี้ยงชีพ และการหลบหลีกป้องกันตัว จึงนำเป็นสัญลักษณ์ของการศึกษาอบรม ค้างคาวจึงมีโอกาสกลายเป็นลวดลายประดับประดาตกแต่งอาคารบ้านช่องทั่วไป ทั้งในรูปแบบของภาพมิติ และภาพย่อเป็นลายเส้นโดยสังเขปดังที่สังเกตเห็นได้ทั่วไปตามบัวเชิงเสา หรือลายตามหน้าต่าง หรือปูนปั้นตามมุมผนังในสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสของภูเก็ต) ก็พลันเข้าใจได้ทันทีว่า อาคารนี้เป็นอาคารชิโน-โปรตุกีส ที่ซ่อนรูปอยู่ในลักษณะของ อังมอเหลานั่นเอง ยิ่งเมื่อได้เห็นสัดส่วนภายในที่ยังมีช่อง สกายไลท์ หรือ ลานซักล้างบริเวณบ่อน้ำภายในด้วยแล้ว ข้อกังขาทั้งหลายก็หมดไป                อาคารภูเก็ตไทยหัว สร้างทับลงในพื้นที่อาคารศาลเจ้า เกี้ยนเต็กครั้งโบราณ ซึ่งประกอบด้วยอิฐและไม้แปรรูปในลักษณะของสถาปัตยกรรมจีน ที่นำเข้ามาโดยชาวฮกเกี้ยนรุ่นเก่า อาคารศาลเจ้าเดิมเคยเป็นสำนักงานของอั้งยี่สำนัก ยี่หิ้นเกี้ยนเต็กซึ่งมีอิทธิพลสำคัญในการก่อการจลาจลสมัย พ..2410 และ พ..2419 อาคารนี้จึงถูกรัฐบาลยึดเข้าเป็นของหลวงชั่วคราว                ครั้น พ..2452 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ ได้ขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนให้ชาวจีนในภูเก็ตจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้น โดยให้ใช้อาคารศาลเจ้าเก่านี้เป็นสถานที่สอน อาคารศาลเจ้านี้จึงได้กลายเป็นอาคารโรงเรียนสอนภาษาจีนขึ้นตั้งแต่สมัยนั้น โดยมีชื่อว่า โรงเรียนภูเก็ตหัวบุ๋น และได้ซ่อมแซมก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารเก่า ซึ่งทรุดโทรมและคับแคบให้เติบโตขึ้นเรื่อยมา จนเมื่อโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวได้สร้างอาคารใหม่ ในที่ดินโรงพยาบาลจีนเก่าที่สามแยกสนามสุระกุล อาคารภูเก็ตไทยหัวจึงว่างลง ไม่มีการใช้ประโยชน์ แต่จะได้ดำเนินการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตชาวจีนในภูเก็ต ดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้---------------------------------2.เรื่องบุคคลน่ารู้                บุคคลที่น่ารู้เกี่ยวข้องกับถนนถลาง มีอยู่มากมาย โดยเฉพาะผู้ที่ถือกำเนิด และอาศัยอยู่บนถนนสายนี้นับแต่โบราณมาก็มากหลาย ไม่อาจจะสาธยายหรือเล่าสู่กันฟังได้หมดสิ้นในเวลาอันจำกัด จึงขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่างเพียงบางคน ดังต่อไปนี้                พระยาวิชิตสงคราม รามฤทธิเดช โลหเกษตรารักษ์ พิทักษ์ สยามรัฐสีมา มาตยานุชิต พิพิธภักดี พิริยพาหะ จางวางวิเศษ (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)                ท่านผู้นี้เป็นผู้บุกเบิกบ้านทุ่งคา ซึ่งรกร้างว่างเปล่ามาเนิ่นนาน ให้เป็นเมืองทุ่งคา ที่มีแร่ดีบุกส่งจำหน่ายต่างประเทศ มูลค่ามหาศาล เมื่อประมาณ พ..2392 เป็นต้นมา นับถึงทุกวันนี้ก็ประมาณ 150 กว่าปีล่วงมาแล้ว                พระยาวิชิตสงคราม มีบิดาเป็นไทยเชื้อสายแขกมัทราส ชื่อ พระภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ ชื่อเดิม ชื่อ แก้ว เป็นเจ้าเมืองภูเก็จอยู่ที่บ้านกะทู้ หรือบ้านเก็ตโฮ่ ปัจจุบันนี้                สมัยพระยาวิชิตสงครามเป็นจางวางวิเศษ ตำแหน่งที่ปรึกษาดูแลราชการอยู่เหนือตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็ตอีกชั้นหนึ่งนั้น ได้เกิดความวุ่นวายเรื่องอั้งยี่ภูเก็ตขึ้นในปีพ..2419 แต่ทางราชการได้ใช้วิธีเจรจาออมชอมลงเป็นผลสำเร็จ พระยาวิชิตสงครามไปสร้างบ้านอยู่ที่บ้านท่าเรือ อำเภอถลาง เพราะกลัวอั้งยี่เกิดซ้ำรอยใหม่ ยังเรียกชื่อว่า บ้านพระยาวิชิต อยู่จนทุกวันนี้                 ประวัติละเอียดของพระยาวิชิตสงคราม ไม่อาจเล่าได้ทั้งหมดในบทบรรยายนี้ แต่ก็สรุปได้ว่า คุณความดีของท่านผู้นี้มีต่อชาวถนนถลางอย่างมากมาย เพราะเป็นผู้บุกเบิกบ้านทุ่งคา ให้เกิดเป็นเมืองทุ่งคา เป็นเมืองภูเก็จ และเป็นจังหวัดภูเก็ตในที่สุด นับเป็นบรรพชนคนถนนถลางคนหนึ่ง อย่างไม่ควรลืม                 บุคคลน่ารู้คนต่อมาของถนนถลาง คือ พระขจรจีนสกล (ตันเลียนกี วงศ์ขจร) ท่านผู้นี้เป็นคนจีนฮกเกี้ยน เกิดที่ปีนัง บิดาชื่อ ตันต๋ำ ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช เมื่อ พ..2415 ว่า หลวงอร่ามสาครเขตร วิเสสสงคราม สยามรัชภักดี เป็นกรมการพิเศษเมืองภูเก็จ ตำแหน่งปลัดฝ่ายจีน มีศักดินา 800                สำหรับบุตรชาย คือ ตันเลียนกี วงศ์ขจร นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงขจรจีนสกล ในพ..2433 และเลื่อนเป็น พระขจรจีนสกล ใน พ..2438                ทั้งหลวงอร่ามสาครเขตร์ (ตันต๋ำ) และพระขจรจีนสกล (ตันเลียนกี วงศ์ขจร) เป็นครอบครัวนายเหมืองใหญ่ ที่อาศัยอยู่ย่านถนนถลางในช่วง 100 กว่าปีที่ผ่านมา โดยได้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนขึ้นในบริเวณที่เป็นโรงแรม ภูเก็ตทาวน์อินน์ ปัจจุบันนี้ เป็นคฤหาสน์อาศัย มีบริเวณกว้างขวางตามฐานะผู้มั่งคั่งร่ำรวย และสร้างอาคารพาณิชย์ขึ้นในซอย หังหล่ายหรือ ซอยรมณีย์ในปัจจุบันกับสร้างอาคารพาณิชย์ในย่านถนนถลางอีกด้วย แต่อาคารในยุคนั้น จะเป็นอาคารแบบ บ้านจีนคือ ประกอบด้วยวัสดุที่เป็นอิฐ ดินเหนียว ปูนขาว และไม้แสม มุงกระเบื้องดินเผาทรงครึ่งกระบอก เนื่องจากสมัยนั้น ปูนซิเมนต์ยังไม่แพ่หลาย และสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส ยังไม่ผ่านเข้ามาถึงภูเก็ต                เมื่อสิ้นสมัยพระขจรจีนสกล (ตันเลียนกี วงศ์ขจร) ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ถูกเปลี่ยนมือไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนายเหมืองและพ่อค้ารุ่นใหม่ เช่น หลวงชนาทรนิเทศ (ตันเฉ่งฮ้อ ทองตัน) แม้กระทั่งบริษัท งานทวีพี่น้อง จำกัด และครอบครัวบ่านจิ้นท่าย ก็มีส่วนในการรับซื้อกรรมสิทธิ์ของครอบครัวนี้ในโอกาสต่อมา                ความดีของหลวงอร่ามสาครเขตร (ตันต๋ำ) และพระขจรจีนสกล (ตันเลียนกี วงศ์ขจร) ย่อมปรากฏแก่ชาวถนนถลางรุ่นเก่า เนื่องจากบรรดาศักดิ์ขุนนางราชสำนักไทย บ่งบอกอยู่แล้วว่า ครอบครัวนี้ประกอบอาชีพนายเหมือง และช่วยราชการบ้านเมืองตลอดมา จึงถือว่าเป็นบุคคลน่ารู้ของถนนถลาง                คุณพระของถนนถลางอีกท่านหนึ่ง คือ พระพิทักษ์ชินประชา (ตันม่าเสียง ตัณฑวณิช) ซึ่งเป็นบุตรชายของหลวงบำรุงจีนประเทศ (ตันอุ๋ยหยี) นายเหมืองเก่าผู้มีประทานบัตรครอบคลุมตลอดแนวคลองบางใหญ่ไปจรดปากอ่าวภูเก็ตที่บ้านบางเหนียว                มีสำนักงานธุรกิจอยู่ถนนถลาง ชื่อ เลียนบี้กงษี ทำธุรกิจค้าเงินตราต่างประเทศ และรับทำโพยก๊วน บริการแก่ชาวจีนทั่วไปในภูเก็ต                ในช่วงชีวิตการงานของพระพิทักษ์ชินประชา ท่านได้อุทิศตนให้แก่ทางราชการ และสร้างประโยชน์แก่ชาวบ้านมาโดยตลอด จนได้รับความดีความชอบถึงระดับสูงสุดของบุคคลนอกราชการ คือ บรรดาศักดิ์คุณพระ จึงเป็นบุคคลน่ารู้อีกท่านหนึ่งของถนนถลาง                นอกจากนี้ถนนถลางยังมีบุคคลอีกหลาย    ท่านที่ควรรู้ เช่น คุณอ๋องซิมผ่าย ถาวรวงศ์, คุณตันเคกิ๋ว, ท่านขุนเลิศโภคารักษ์, คุณหงอฮั่นก๋วน เป็นต้น ซึ่งบทบรรยายนี้ต้องขออภัยที่ไม่อาจนำรายชื่อของทุก    ท่านมาบันทึกไว้ด้วยเวลาอันจำกัดนี้ได้                อย่างไรก็ตาม ยังมีบุคคลอีกท่านหนึ่ง ซึ่งชาวถนนถลางย่อมไม่ผ่านเลยไป นั่นคือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ ในช่วงพ..2444 ถึง พ..2456                พระยารัษฎาฯ คอซิมบี้ เป็นผู้เกาะติดอยู่กับถนนถลางตลอดเวลา ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาเมืองภูเก็ต ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ซึ่งได้ทรงเจาะจงเอาตัวพระยารัษฎาฯ ไว้ตั้งแต่พ..2433 เพื่อให้มาช่วยพัฒนาเมืองภูเก็จโดยเร็วที่สุด แต่ต้องทรงรอคอยมาถึง 11 ปี จนถึงปี พ..2444 จึงสมพระราชประสงค์ ทั้งนี้เนื่องจาก พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ยังมีภารกิจในการพัฒนาจังหวัดตรังอยู่ตามรับสั่งของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ไม่สิ้นเสร็จลง จึงย้ายมาภูเก็ตไม่ได้                ครั้นพระยารัษฎาฯ มีโอกาสย้ายมารับภาระทางภูเก็ตเต็มที่ ก็ตั้งใจพัฒนาถนนถลางเป็นจุดแรก ด้วยการปรับปรุงถนนดินกรวดให้มีสภาพดีขึ้น สนับสนุนให้นายเหมืองและพ่อค้าปลูกอาคารพาณิชย์ด้วยการนำเอารูปแบบของชิโน-โปรตุกีส มาใช้แทนแบบตึกดินหรือถ่อข่อฉู่ ตามที่คนส่วนมากนิยมทำกันมาก่อน อาคารชิโน-โปรตุกีส แบบมีทางเดิน (หง่อข่ากี่) อยู่ภายในด้านหน้าตัวตึก จึงเกิดขึ้นแพร่หลายในภูเก็ต ตั้งแต่ครั้งนั้น เป็นต้นมา                พระยารัษฎาฯมารับหน้าที่พัฒนาเมืองภูเก็จอยู่นาน 12 ปี จนถึง พ.. 2456 จึงถึงแก่อนิจกรรม เนื่องจากถูกผู้ร้ายยิงที่จังหวัดตรังจนเสียชีวิตที่เมืองปีนัง                น่าเสียดายที่เมืองภูเก็จ ต้องสูญเสียบุคคลผู้เปี่ยมล้นด้วยคุณความดีไปด้วยสาเหตุที่ไม่เหมาะสม เป็นผลให้การพัฒนาบ้านเมืองต้องชะลอตัวลงอย่างกระทันหัน ถนนสายสุดท้ายที่พระยารัษฎาฯ ได้สร้างไว้เป็นอนุสรณ์ก่อนเสียชีวิต คือถนนดีบุก ตั้งแต่บริเวณถนนสี่แยกตัดถนนเยาวราชไปจรดสามแยกถนนสตูล ซึ่งชาวภูเก็ตเรียกว่า ซินหล่อ หรือ ถนนใหม่ติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะได้ตั้งชื่อเป็น ถนนดีบุกมาหลาย 10 ปีแล้วก็ตาม                พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ จึงเป็นบุคคลที่น่ารู้ของถนนถลางอีกท่านหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากที่สุด---------------------------------------------3.เรื่องราวน่าฟัง                ถนนถลาง มีเรื่องราวที่น่าฟังอยู่หลายเรื่อง แต่ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังเพียงบางเรื่องเท่าที่เวลาจะมีให้เล่าได้ เช่น                เรื่องแรก คือ เรื่องคลองบางใหญ่ ที่มองเห็นอยู่ทางทิศตะวันออกของตลาดใหญ่ คลองบางใหญ่ เป็นคลองประจำเมืองภูเก็จมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มสร้างเมือง เนื่องจากในครั้งโบราณนั้น แม่น้ำลำคลองเป็นหัวใจสำคัญของการคมนาคมและการตั้งถิ่นฐาน ดังจะเห็นได้ว่า บ้านเมืองทุกแห่งจะเริ่มต้นกันที่แม่น้ำลำคลองใหญ่    ทั้งสิ้น แม้เมืองถลางเก่า ทั้งเมืองถลางบ้านดอน เมืองถลางบ้านเคียน หรือเมืองถลางบางโรง ต่างก็อยู่ริมน้ำ หรืออยู่ติดทะเล ทั้งสิ้น                เมืองภูเก็ตเก่า เคยเริ่มต้นที่บ้านสะปำ แล้วเคลื่อนย้ายไปยังบ้านกะทู้ หรือบ้านเก็ตโฮ่ ปัจจุบันนี้ คำว่าเก็ตโฮ่นั้น เป็นคำภาษาจีน เนื่องจากคนจีนไม่ถนัดที่จะออกเสียงว่า ภูเก็ต จึงจับเอาคำว่า เก็ตคำเดียวไปผสมกับคำว่า โห(โฮ่) ซึ่งแปลว่า สามัคคีสมานฉันท์ เป็น เกียดโห แปลเป็นมงคลว่า สามัคคีสมานฉันท์แบบแนบสนิทแน่นหนา                เมืองภูเก็จ หรือ เกียดโห นี้ก็ตั้งอยู่บนริมแม่น้ำคลองบางใหญ่ ที่มีต้นน้ำจากเทือกเขานาคเกิด ไหลมาออกอ่าวภูเก็ตที่บ้านทุ่งคา ชาวภูเก็จเรียกว่า ท่องคา ซึ่งคนจีนก็ออกชื่อ ทุ่งคาหรือท่องคา ไม่ถนัดปาก จึงเรียกว่า คองคา ก็เป็นที่เข้าใจ                พระยาวิชิตสงครามฯ ตั้งเมืองภูเก็จใหม่ขึ้นที่ริมคลองบางใหญ่ ตลาดการค้าของเมืองจึงเกิดขึ้นที่คลองบางใหญ่ มีร้านค้าอาคารเรียงรายตามลำคลองบางส่วนที่เรียกกันว่า แถวน้ำ และ กระจายออกมาบนที่ราบกว้างทางทิศตะวันตกของฝั่งคลอง กลายเป็นชุมชนใหญ่ เรียกกันว่าภายหลังว่า ตลาดใหญ่ แต่ชาวจีนก็เรียกว่า ตั่วโพ้ ตามประสาคนจีน                คลองบางใหญ่ สมัยก่อนกว้างใหญ่ และลึก สมชื่อ จนเรือสำเภาสามหลักสามารถแล่นเข้ามาจากปากอ่าวทุ่งคา ลำเลียงสินค้านานาชนิดมาส่งตามริมคลอง และแล่นเลยเข้าไปบางภูเก็ตเก่า คือ เกียดโห ซึ่งยังคงปรกฎร่องรอยอยู่สมัยต่อมา ระยะทางคลองบางใหญ่ก่อนถึงเมืองภูเก็ต เกียดโห ต้องผ่านชุมชนใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่อยู่กึ่งกลางเมืองเก่ากับเมืองใหม่ ซึ่งต่อมาทางราชการเรียกว่า บ้านสามกอง                ชื่อ บ้านสามกอง เกิดขึ้นเนื่องจากชุมชนแห่งนี้ มีเส้นทางคมนาคมอยู่ 3 สาย คือ สายหนึ่ง เป็นทางบกใช้ช้างเป็นพาหนะเดินทางมาจากเมืองถลางสุดสิ้นลงที่ชุมชนแห่งนี้ ก่อนที่จะนั่งเรือทวนน้ำต่อขึ้นไปยังเมืองเกียดโห หรือ นั่งเรือล่องตามน้ำลงมาเมืองทุ่งคา                ชุมทาง 3 แพร่ง เช่นนี้ ชาวจีนฮกกี้ยนเรียกว่า ซำกังครั้นเกิดเหมืองแร่แบบเจาะบ่อ หรือ เหมืองรูขึ้นในบริเวณพื้นที่ชุมชนนี้ จึงกลายเป็นเสียง ซำกองตามสำเนียงจีนแคะ เมื่อทางราชการขึ้นทะเบียนชื่อ ซำกองเป็นชื่อทางราชการ ไม่สามารถจะใช้คำนี้ให้มีความหมายได้ จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ สามกองตั้งแต่นั้นมา                เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ หรือการมองการณ์ไกลของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ในการพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะการตัดถนนสายต่าง ๆ ในตลาดภูเก็ต ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการตัดถนนผ่านไปมามากมายหลายสายเหมือนใยแมงมุม ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมาของผู้คนสมัยก่อน ซึ่งไม่มีรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ต้องใช้วิธีเดินเท้า หรือนั่งรถม้าเป็นส่วนใหญ่                อย่างไรก็ตาม พระยารัษฎาฯได้มองการณ์ไกลล่วงหน้าไปว่า อีกไม่นานยวดยานพาหนะต่าง    ก็จะมีมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด รถม้าและเกวียนซึ่งลากจูงด้วยควาย ก็จะมีเพิ่มจำนวนขึ้นตามความเจริญของชุมชนเมือง ถนนแม้จะหลายสาย แต่ก็จะแออัดด้วยยวดยาน ถนนจึงควรกว้างขวางให้พอที่ยวดยานต่าง    จะสัญจรได้สะดวก                การตัดถนนของพระยารัษฎา จึงถือเอาโอกาสที่เหมาะสมกับพื้นที่มาเป็นเกณฑ์กำหนดขนาดของความกว้างขวาง คือ ในที่ที่บ้านเรือนตั้งอยู่แน่นหนาประชิดกันจนเหลือทางสัญจรแคบ     เช่น ถนนถลาง ซอยหังหล่าย และถนนดีบุกตอนผ่านหน้าวัดมงคลนิมิต ซึ่งเคยเป็นทางรถม้าแคบ     ถ้าจะตัดถนนขนาดกว้างตามความเหมาะสม ก็จะกระทบกระเทือนบ้านเรือนของชาวบ้านให้เดือดร้อนรำคาญ ท่านก็ตัดถนนเพียงแคบ    เท่าที่พื้นที่จะอำนวย                ส่วนพื้นที่ใด ที่บ้านเรือนไม่หนาแน่น เช่น ถนนดีบุกจากถนนเยาวราชไปจรดถนนสตูล หรือถนนระนองตอนผ่านตลาดสดเทศบาลปัจจุบัน บ้านเรือนยังมีไม่มากนัก ท่านก็ขอขยายถนนให้กว้างขึ้น ซึ่งมีเกณฑ์อยู่ว่า รถม้าวิ่งเรียงกัน 10 คันจะไม่เบียดกัน                กล่าวถึงถนนดีบุกช่วงตัดถนนเยาวราชไปจรดถนนสตูลนั้น มีเรื่องน่าฟังอยู่ว่า ในครั้งนั้นที่ดินส่วนนี้เป็นสวนกล้วยของกำนันเหล่าหนั่ว ซึ่งเป็นชื่อเล่นของ นายตันควด แซ่ตัน (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากรัชกาลที่ 6 เป็น หลวงอำนาจนรารักษ์ กำนันตำบลกะทู้) พระยารัษฎาฯ ได้เจรจากับนายตันควด หรือแป๊ะเหล่าหนั่ว ในขณะนั้นว่า จะขอตัดถนนผ่านสวนกล้วยไปจรดถนนสตูล ซึ่งเป็นเนื้อที่ของแป๊ะเหล่าหนั่วทั้งหมด ขอให้แป๊ะเหล่าหนั่วจงเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง เพราะจะเป็นความเจริญต่อไปในข้างหน้า แป๊ะเหล่าหนั่วก็เห็นชอบ เนื่องจากได้มองเห็นประโยชน์ในการที่จะมีถนนผ่านที่ดินแปลงใหญ่ อันจะทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจริง ๆ                  ครั้นลงมือทำถนนสายนี้เข้าจริง     แป๊ะเหล่าหนั่วเห็นว่า พระยารัษฎาฯใช้วิสาสะที่ตนยินยอมให้แล้วนั้นตัดถนนเอากว้างมาก    จนน่าตกใจ (ถนนนี้กว้าง 15 เมตร) จึงเจรจาประท้วงต่อพระยารัษฎาฯ แต่พระยารัษฎาฯก็ดื้อดึงทำต่อไป โดยไม่ยินยอมลดลาวาศอกลงให้แต่ประการใด กลับพูดปลอบใจว่า เหล่าหนั่วเอ้ย ถนนยิ่งกว้าง ที่ดินก็ยิ่งมีค่ามากขึ้น...”                กล่าวถึงแป๊ะเหล่าหนั่ว ก็ขอเล่าเพิ่มเติมเรื่อง ตรอกสุ่นอุทิศ อีกเล็กน้อย ผู้ที่สัญจรทางถนนเยาวราช ช่วงที่ใกล้กับสี่แยกตัดกับถนนดีบุกนั้น จะพบตรอกหนึ่งชื่อ ตรอกสุ่นอุทิศ เป็นตรอกตันเริ่มต้นจากริมถนนเยาวราชตรงไปสุดทางอยู่ที่บริเวรคฤหาสน์ใหญ่สีเหลืองเลขที่ 107 ถนนดีบุก เป็นบ้านแบบชิโน-โปรตุกีสดั้งเดิมที่ยังคงสภาพมั่นคงพอสมควร เนื่องจากเจ้าของบ้านไม่ได้ทำการรื้อถอนดัดแปลงมากนัก นอกจากส่วนที่จำเป็น เช่น กระเบื้องหลังคาดินเผาทรงครึ่งกระบอก ที่ผุพังจนต้องเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่                บ้านนี้ คือ บ้านของหลวงอำนาจนรารักษ์ (ตันควด ตัณฑเวส) เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ที่ยอมให้พระยารัษฎาฯตัดถนน ซินหล่อ นั้นเอง                หลวงอำนาจนรารักษ์ (ตันควด ตัณฑเวส) หรือ ชื่อเล่น แป๊ะเหล่าหนั่ว ปลูกบ้านหลังใหญ่นี้ลงในสวนกล้วย แล้วตัดถนนส่วนตัวออกสู่ถนนเยาวราช (เนื่องจากถนนดีบุกยังไม่ได้ตัด) ในที่ดินส่วนตัว ที่ดินริมทางทั้งสองข้างจึงมีราคามากขึ้น มีเพื่อนมาขอแบ่งซื้อปลูกบ้านอาศัยอยู่กันมาก หลวงอำนาจฯแบ่งแยกที่ดินขายไปบ้าง ปลูกบ้านให้เช่าบ้าง ได้รับประโยชน์จากที่ดินสองฟากตรอกสายนี้ไม่น้อย จึงยกที่ดินถนนสายนี้ให้เป็นสาธารณะ ทางราชการจึงตั้งชื่อตรอกนี้ว่า ตรอกเหล่าหนั่ว ตั้งแต่นั้นมา ครั้นถึงสมัยท่านจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จอมพลแปลก เป็นผู้ส่งเสริมค่านิยมไทย พยายามเปลี่ยนชื่อต่าง    ที่ไม่ใช่ภาษาไทย ให้เป็นภาษาไทยทั้งหมดทั่วประเทศ ทางราชการจึงปรึกษากับทายาทของหลวงอำนาจนรารักษ์ ขอเปลี่ยนชื่อ ตรอกเหล่าหนั่ว เป็น ตรอกสุ่นอุทิศ ซึ่งเป็นชื่อตัวของบุตรชายคนโตของหลวงอำนาจนรารักษ์ ตรอกเหล่าหนั่วจึงกลายเป็นตรอกสุ่นอุทิศตั้งแต่นั้นมา                เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องความภาคภูมิใจในชาวภูเก็ตของพระยารัษฎาฯ เรื่องราวมีอยู่ว่า สมัยก่อนนั้น การตั้งงบประมาณน้อยมาก (นอกจากจังหวัดระนอง ซึ่งพลเมืองน้อยที่สุดในภาคใต้)                ความเสียเปรียบทางจำนวนพลเมือง ทำให้พระยารัษฎาฯอึดอัดใจอยู่มาก เนื่องจากทางส่วนกลางมักจะจัดงบประมาณให้น้อยจนไม่สามารถจะใช้สอยได้ตามจำเป็น จึงตัดสินใจเสนองบประมาณไปตามที่เห็นว่าจำเป็นจะต้องใช้ โดยไม่ถือเอาจำนวนพลเมืองเป็นฐานคำนวณ ผลที่เกิดขึ้น คือ ถูกทักท้องจากที่ประชุมระดับเสนาบดีว่า เมืองภูเก็ต มีพลเมืองเพียงไม่กี่คน ทำไมจึงของบประมาณมากนัก                เมื่อถูกทักท้วงกลางที่ประชุมเช่นนั้น พระยารัษฏาฯ ก็ไม่รู้จะเอาเหตุผลอะไรออกมาลบล้างข้อทักท้วง แต่ด้วยความฉลาด และกล้าหาญ ที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องในความจริงจึงแถลงว่า แม้เมืองภูเก็ตจะมีผู้คนเพียงไม่กี่คนก็จริง แต่มันเป็นคนทุกคน ไม่มีใครเป็นอ้ายเสือหรืออ้ายโจรร้าย อยู่แม้แต่คนเดียว                ที่ประชุมแห่งนั้น ถึงกับตะลึงในความกล้าหาญ และดื้อดึงของพระยารัษฎา อย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน แต่ถึงกระนั้น นโยบายย่อมอยู่เหนือเหตุผลเสมอ ฉะนั้น ข้อเสนอของพระยารัษฎาฯจึงตกไป ไม่มีการอนุมัติตามที่ได้ร้องขอ                เนื่องจากการของบประมาณจากทางการไม่ได้ตามที่มีความจำเป็นต้องพัฒนาบ้านเมือง พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ จึงคิดค้นวิธีใหม่ เพื่อให้ได้เงินมาใช้สอยตามที่ตัองการ เหตุผลที่ต้องดิ้นรน เนื่องจากได้รับอาสาสมเด็จพระมหากษัตริย์มาแล้วว่า จะพัฒนาเมืองภูเก็จ ให้เข้าสู่ความเจริญ ตามพระราชดำริให้จงได้                ความคิดอันฉับไวเฉียบแหลมของพระยารัษฎาฯในเรื่องนี้ คือ การที่ได้เห็นว่า ตามทางสาธารณะต่าง    ตลอดจนในแม่น้ำลำคลองของภูเก็ต ล้วนแต่มีแร่ดีบุกอยู่มากมาย แต่ไม่สามารถจะทำการขุดหาแร่ได้ เนื่องจากกฎหมายห้ามไม่ให้ทำเหมืองในทางและลำธารสาธารณะ แม้กระทั่งที่ดินอันเป็นของทางราชการก็ทำเหมืองไม่ได้ เป็นเหตุให้ต้องสูญเสียโอกาสในการขุดหาแร่ลงไปอันมาก                พระยารัษฎาฯ จึงเสนอแผนงานต่อเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ( คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ขอพระอนุญาตให้เอกชนได้เข้าทำเหมืองในที่สาธารณะที่มีข้อห้ามนั้น โดยวางระเบียบว่า ผู้ทำเหมืองจะต้องสร้างสาธารณูปโภคนั้นขึ้นแทนที่ให้เหมือนเดิม หรือให้ดีกว่าเดิม เช่น ทำเหมืองในทางสาธารณะสายหนึ่ง ก็ต้องสร้างทางสายใหม่ขึ้นชดเชย หรือ ถ้าทางราชการเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องสร้างทางใหม่ ก็ให้จ่ายเป็นตัวเงินมูลค่าสมควรกับราคาก่อสร้างสาธารณูปโภคนั้น ๆ ได้ ซึ่งตัวเงินนี้ พระยารัษฎา ได้ทูลขอพระอนุญาตว่า จะเก็บไว้ในคลังจังหวัด โดยใช้บัญชีพิเศษ มีอำนาจเบิกจ่ายได้โดยไม่ต้องผ่านทางราชการส่วนกลางตามพิธีการงบประมาณแผ่นดิน เมื่อสมเด็จฯองค์เสนาบดีทรงอนุญาต พระยารัษฎาฯ ก็สามารถมีเงินนอกงบประมาณใช้สอยในการพัฒนาบ้านเมืองได้อย่างกว้างขวางตั้งแต่นั้นมา                ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตที่เห็นอยู่ปัจจุบันนี้ คือ อาคารถาวรหลังหนึ่ง ที่ได้มาโดยวิธีการแลกเปลี่ยนของพระยารัษฎาฯ จากการยินยอมให้บริษัท เรือขุดแร่ ทุ่งคาคัมเปานด์ ทินเดรดยิ่ง ลิมิเต็ด ของฝรั่ง เข้าทำการขุดแร่ในบริเวณจวนเจ้าเมืองเก่า(ของพระยาวิชิตสงคราม ซึ่งทางราชการยึดเอาเป็นของหลวง เนื่องจากความล้มเหลวในการชำระภาษีในสมัยทายาทของพระยาวิชิตฯ คือ พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ลำดวน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)                แต่แผนการอันแยบยล และไม่มีข้าราชการคนใดกล้าหาญเช่นที่กล่าวนี้ เป็นผลเสียต่อพระยารัษฎา ทั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่ และแม้กระทั่งเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ด้วยกัน เพ่งเล็งว่า พระยารัษฎาฯ คิดมิชอบ มีการยักยอกเงินทางราชการไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวบ้าง ส่วนทางผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ก็ทำบัตรสนเท่ห์ฟ้องไปยังเสนาบดีว่า พระยารัษฎาฯกดขี่ข่มเหง รีดเงินพิเศษในการทำเหมืองแร่จากนายเหมืองบ้าง ทำให้เกิดข้อระแวงแคลงพระทัยขึ้นแก่องค์เสนาบดีในบางโอกาส จนเคยมีการเรียกตัวเข้าไปสอบถามหาความจริงจากพระยารัษฎาฯโดยตรง ซึ่งพระยารัษฎาฯก็กราบทูลว่า                การทำงาน ย่อมมีการกระทบกระทั่ง ทำให้บางคนเสียผลประโยชน์ไปบ้าง ถ้าฝ่ายพระองค์ทรงเชื่อพวกขี้ฟ้องเหล่านี้แล้ว เกล้ากระหม่อมก็คงทำงานสนองพระเดชพระคุณไม่ได้                เป็นความองอาจกล้าหาญของพระยารัษฎาฯ ที่ดูเหมือนจะไม่สะทกสะท้านต่ออุปสรรคขัดขวาง หรือ ภัยอันตรายใด ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ได้รับพระราชทานพระราโชบายมาด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาบ้านเมืองภูเก็ต ด้วยฝีมือความสามารถโดยแท้จริง                นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ชาวถนนถลาง ที่น่าฟังอย่างยิ่ง.
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้566
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1292
mod_vvisit_counterทั้งหมด10683195