ถนนเทพกระษัตรี |
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ. | |
พฤหัสบดี, 23 เมษายน 2009 | |
(จถล 2308)
ถนนเทพกระษัตรี นามพระราชทาน ครบ ๑๐๐ ปี (พ.ศ.๒๔๕๒ - ๒๕๕๒) ------ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ จังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๔ - ๓๐ เมษายน ๒๔๕๒ ในวโรกาสนั้น พระองค์ทรงพระราชทานนามถนนในจังหวัดภูเก็ต จำนวน ๓ สาย คือถนนภูเก็ตและถนนวิชิตสงครามในวันที่ ๒๘ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๘ และถนนเทพกระษัตรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๒ ใน “จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘” ของ “นายแก้ว”(พระนามแฝงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ความว่า “เวลาเช้าวันนี้(๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๒)(สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร)เสด็จไปทรงเปิดถนนซึ่งเชื่อมเมืองภูเก็ตกับเมืองถลาง เจ้าพนักงานได้ปลูกปะรำไว้ที่ถนน ซึ่งอยู่ริมโรงพยาบาลมณฑล(ภูเก็จ) ได้อาธานาพระสงฆ์มานั่งในประรำนี้ มีเจ้าคุณอริยกระวี เจ้าคณะมณฑลเป็นประธาน หม่อมเจ้าประดิพัทธ์ได้อ่านรายงานการสร้างถนนสายนี้ เเล้วกราบบังคมทูลเชิญเสด็จทรงเปิดถนน มีพระราชดำรัสตอบ พระราชทานนามถนนว่า ถนนเทพกระษัตรี ตามนามท้าวเทพกระษัตรีที่ได้ต่อสู้กับพม่าป้องกันเมืองถลางไว้ได้ มีนามปรากฏอยู่ในพระพงศาวดาร ทรงชักผ้าแพรคลุมป้ายนามถนน(เทพกระษัตรี) พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ปี่พาทย์ประโคม แล้วทรงพระราชดำเนินไปทรงตัดแพรแถบที่ขึงขวางถนน เสด็จขึ้นทรงรถยนต์ขับไปตามถนนเทพกระษัตรีต่อไป” ถนนเทพกระษัตรี(พ.ศ.๒๕๕๒)ยาวประมาณ ๔๓ กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ถนนภูเก็ตติดถนถลาง บริเวณแถวน้ำ ในเขตเทศบาลนครภูเก็ตไปทางทิศเหนือผ่านหน้าโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย หน้าวัดโฆษิตวิหาร ควนดินแดงเขต อบต.รัษฎาและ อบต.เกาะแก้ว ตัดข้ามคลองบางคูคดอันเป็นเขตแดนเมืองภูเก็จกับเมืองถลาง เข้าสู่อำเภอถลางในพื้นที่ อบต.ศรีสุนทร ผ่าน ด้านหลังจวนเจ้าเมืองภูเก็จพระยาวิชิตสงครามทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (สร้าง พ.ศ.๒๔๑๙ ในพื้นที่ของพญาถลางเจ๊ะมะเจิม ผู้เป็นบิดาของพญาภูเก็จแก้วหรือปู่ของพญาภูเก็จทัต) ผ่านสี่แยกบ้านท่าเรือต้นถนนศรีสุนทรและถนนเจ้าคุณคินเกตุ บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ผ่านเมืองถลางบ้านลิพอน ถึงบ้านนครัม ข้ามบางปูสู่บ้านหินรุ่ย เขตเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี “...แต่ถนนไม่หมดอยู่เพียงนี้ ยังมีต่อไปอีกจนถึงท่ามะพร้าวฝั่งทะเล ตอนนี้(พ.ศ.๒๔๕๒)ยังไปไม่ได้เพราะตะพานยังทำไม่แล้ว... ถนน(ช่วงหน้าวัดโฆษิตวิหารถึงบ้านท่าเรือ)โรยศิลาแล้วแน่นหนาเรียบดี ตอนตั้งแต่(บ้าน)ท่าเรือ ไป(บ้านเคียนถลาง)ยังไม่ได้โรยศิลา...” “...ต้องนึกชมว่าท้าวเทพกระษัตรีนี้ เป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง ผู้หญิงที่จะได้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในตำนานของชาติเรามีน้อยนัก...เพราะฉะนั้น เป็นการสมควรแล้ว ที่จะมีอนุสาวรีย์ไว้ให้คนระลึกถึงและจำได้ต่อไปชั่วกาลนาน การที่พระราชทานนามถนนสายถลางนั้น ตาม(นาม)ท้าวเทพกระษัตรี จึงเป็นการสมควรสมควรอย่างยิ่ง” |
|
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พฤหัสบดี, 22 มีนาคม 2018 ) |
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|