Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ประเพณีกินผัก : หรินทร์ สุขวัจน์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 06 ตุลาคม 2008

ชื่อเสียงของภูเก็ตนอกจากความเป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศระดับโลกแล้ว “งานกินผัก” หรือ “เจียะฉ่าย” งานใหญ่ของพี่น้องชาวไทยจีนในราวปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปีก็เป็นเสมือนภาพลักษณ์หนึ่งที่ทั่วโลกรู้จัก

 เทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีกินผัก เป็นประเพณีของคนจีนที่สืบทอดมาช้านาน เชื่อกันว่าภูเก็ตคือแห่งแรกในภาคใต้ที่จัดงานนี้ขึ้น  ในปี พ.ศ.2368 สมัยพระยาถลาง(เจิม) ได้ย้ายเมืองถลางมาหักล้างถางพงตั้งเมืองใหม่ที่บ้านเก็ตโฮ่ (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอกะทู้) แหล่งแร่อันอุดม มีชาวจีนอพยพเข้ามาจำนวนมาก ครั้งหนึ่งเกิดโรคระบาดขึ้น  คณะงิ้วเร่จากเมืองจีนซึ่งมาเปิดการแสดงอยู่ จึงจัดให้มีพิธีกินผักขึ้น ณ โรงงิ้วเพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นการสะเดาะเคราะห์ เมื่อโรคร้ายหายไปชาวบ้านที่เลื่อมใสก็ได้มีการปฏิบัติสืบมา สถานที่ใกล้เคียงกับการจัดพิธีในครั้งนั้นก็ถูกสร้างขึ้นเป็นศาลเจ้ากะทู้  ไม่นาน ด้วยศรัทธาแรงกล้าและต้องการจะดำรงประเพณีนี้ไว้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของชาวจีนโพ้นทะเลในภูเก็ต จึงมีการส่งตัวแทนไปนำขี้เถ้า ควันธูป(เหี่ยวโห้ย คือการจุดธูปต่อเนื่อง) คัมภีร์ และวัตถุพิธีจากมณฑลกังไส ประเทศจีนกลับมาปฏิบัติและบูชาที่ศาลเจ้ากะทู้เป็นแห่งแรก โดยเรือมาขึ้นที่ท่าบางเหนียว บริเวณสะพานหินในปัจจุบัน

 

งานกินผักเป็นประเพณีโบราณที่ผสมผสานกันระหว่างคติความเชื่อและหลักธรรมในการนับถือผีหรือเหล่าเทพยดาฟ้าดิน ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ และพุทธศาสนานิกายมหายาน มีพระพุทธเจ้า 7 องค์และพระมหาโพธิสัตว์ 2 องค์เป็นองค์บุคลาธิษฐาน ทรงมีปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงแบ่งภาคเป็นเทพยเจ้า 9 พระองค์ เรียกว่า “กิวอ๋อง” หมายถึง นพราชา ซึ่งตีความตามตำราโหราศาสตร์จีนคือดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ที่มีอิทธิพลต่อโลกธาตุทั้ง 5 (ดิน น้ำ ไฟ ลม และทอง)  ในทุกวันขึ้น 1 ค่ำถึง 9 ค่ำ ในเดือน 9 ตามจันทรคติ(จีน) จะเสด็จลงมาประทานพรอำนวยความสุขแก่ผู้ประพฤติดี และลงโทษบุคคลผู้ประพฤติชั่ว  ศาสนิกชนที่ร่วมงานจะต้องรักษาศีล หรือข้อห้าม 16 ข้อให้ยึดถือปฏิบัติคู่ไปกับการกินผัก ประกอบด้วยศีล 5 และการบำเพ็ญในเรื่องเกี่ยวกับทาน เมตตา และภาวนา  โดยที่ประเพณีกินผักของชาวจีนต่างจากการรับประทานอาหารมังสวิรัติ เพราะจะเว้นผักบางชนิดที่มีผลต่อร่างกายหรือจิตใจด้วย ได้แก่ ประเภทหอม(ต้นหอม หอมแดง หอมขาว ใบหอม) กระเทียม หลักเกียว กุยช่าย และใบยาสูบ(บุหรี่ ยาเส้น สิ่งเสพติด)

ก่อนพิธี 1 วันจะมีการเตรียมความพร้อมของศาลเจ้า(คนภูเก็ตเรียก อ๊าม) และยกเสาโกเต้ง เพื่อการอัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้าผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9 หรือ กิวอ๋องไต่เต้ หรือกิวอ๋องฮุดโจ้ว  วันแรกจะมีการบูชาเจ้าด้วยเครื่องเซ่นต่างๆ  เมื่อผู้ร่วมพิธีกินผักครบ 3 วันถือว่าผู้นั้นสะอาดบริสุทธิ์ เรียกว่า เช้ง  ตอนนี้จะมีการทำพิธีเชิญเจ้า 2 องค์ ชื่อ ลำเต้า ทำหน้าที่สำรวจผู้มาเกิด  อีกองค์สำรวจผู้ที่ตาย ชื่อ ปั้กเต้า  ในระหว่างที่กิวอ๋องไต่เต้เข้าประทับในโรงพระ(คนภูเก็ตเรียกเจ้าว่า พระ) จะมีพิธีสวดมนต์วันละ 2 ครั้งตอนเช้าและย่ำค่ำ เรียกว่าพิธีซ้องเก็ง  ในตอนกลางคืนหลังจากมีการสวดบทปักเต้าเก็ง ก็จะมีการตักซ้อ คือการอ่านรายชื่อของผู้เข้าร่วมกินผักที่มาแจ้งไว้ ต่อหน้าแท่นบูชาพระกิวอ๋อง เสมือนเบิกตัวเข้าเฝ้าเจ้า

หลังเที่ยงของวัน 3 ค่ำ 6 ค่ำ และ 9 ค่ำ จะมีพิธีโขกุ้น คือการเลี้ยงอาหารและเหล้าแก่เหล่าทหารและม้าของเจ้า  ส่วนในคืนวัน 7 ค่ำ จะมีพิธีบูชาดาว เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองผู้กินผัก มีการทำฮู้(กระดาษยันต์)แจก  บางวันจะมีขบวนพิธีแห่พระ ถือเป็นการโปรดสัตว์หรือเยี่ยมเยียนราษฎรของกษัตริย์ มีคนถือธงและป้ายชื่อนำ ในขบวนมีเกี้ยวหามพระ เป็นรูปปั้นพระต่างๆ เรียงตามชั้นยศ จาก สิ่น ง่วน โส่ย ไต่เต้ ฮุด  จากนั้นเป็นขบวนพระเกี้ยวใหญ่หรือตั่วเหรียญ 8 คนหาม มีฉัตรจีนกั้นเป็นที่ประทับของกิวอ๋องฮุดโจ้ว  ขณะที่ขบวนเคลื่อนไป ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้านและจุดประทัดต้อนรับพระและคนทรงเจ้า(ม้าทรง)เมื่อขบวนผ่าน  ในปัจจุบัน พิธีแห่พระดูจะเป็นที่สนใจที่สุด เพราะจะมีการทรมานตัวเองของม้าทรงเพื่อสะเดาะเคราะห์โดยเชื่อว่าเจ้าที่กำลังทรงจะเป็นผู้รับเคราะห์แทน  การเสียบทะลุแก้มสองข้างด้วยของมีคมนานาชนิดจะนิยมมากที่สุดมีความพิสดารต่างๆ กันไปทุกปี

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า สมัยก่อนไม่มีม้าทรงมาก อ๊ามละคนสองคน ไม่ค่อยมีการแสดงอภินิหารอะไร มีแต่ให้พรและช่วยรักษาคนเจ็บป่วยเป็นหลัก  พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมีม้าทรงมากขึ้นแต่ก็ยังมีการตรวจสอบกันละเอียดว่าเป็นใคร ลงเจ้าองค์ใด ใครจะเข้ามาง่ายๆ ไม่ได้  เพิ่งจะมาเพิ่มจำนวนมากมายนับแต่รัฐบาลประกาศปีแห่งการท่องเที่ยวไทยเมื่อ พ.ศ.2530 เป็นต้นมา (ททท.ผนวกประเพณีกินผักเข้าอยู่ในปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัด ในปี 2524)  ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะรณรงค์ให้ประเพณีนี้มุ่งไปที่เนื้อหาในทางธรรมมากกว่าพฤติกรรมที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ ลดทอนเปลือกพิธีส่งเสริมให้เข้าหาแก่นการปฏิบัติ จัดระเบียบกติกาของบรรดาบริษัทห้างร้านและปัจเจกบุคคลที่จะเข้าร่วมให้เกิดความพอดี คงความบริสุทธิ์ของประเพณี เพื่อคืนสาระสำคัญของเทศกาลและความเป็นศาสนิกชนที่ดี

วันท้ายๆ ของประเพณี มีการก่อกองไฟศักดิ์สิทธิ์ให้ม้าทรงและประชาชนทั่วไปลุยผ่าน เรียกว่า โก๊ยโห้ย ซึ่งจะไม่ร้อนทำความเจ็บปวดแก่ผู้ศรัทธาและมีศีล รวมทั้งถือเป็นการชำระความสกปรกของตนให้บริสุทธิ์  หลังพิธีลุยไฟแล้ว ผู้ที่ต้องการสะเดาะเคราะห์จะตัดกระดาษแทนรูปตัวเอง พร้อมเหรียญ 25 สตางค์ กุยช่าย 1 ต้น นำไปที่อ๊ามให้ม้าทรงประทับตราด้านหลังเสื้อที่ใส่ เรียกว่า ค้ำยิ่น

ในวันสุดท้ายของการถือศีลกินผัก ตอนกลางวันจะมีการส่งเทพเง็กเซียนฮ่องเต้ที่หน้าเสาโกเต้ง  ตกกลางคืนจะมีพิธีส่งพระกิวอ๋องฮุดโจ้วกลับสวรรค์ โดยส่งกลับทางทะเล มักไปทำพิธีกันที่บริเวณศาลเจ้าสะพานหิน ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีรับพระด้วย  เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ตะเกียงที่แขวนอยู่บนเสาโกเต้งหน้าอ๊ามจะถูกลดลง เหล่าทหารที่เรียกมาจะถูกส่งกลับ เป็นอันเสร็จพิธี. 

 

หรินทร์ สุขวัจน์

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 06 ตุลาคม 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้841
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1233
mod_vvisit_counterทั้งหมด10682178