Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ทิศทางพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย:สุลักษณ์ ศิวรักษ์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 25 กันยายน 2008

ทิศทางพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย

Image
สุลักษณ์ ศิวรักษ์       
หรินทร์ สุขวัจน์ เรียบเรียง

 คำว่าพิพิธภันฑสถาน บัญญัติใช้เมื่อรัชกาลที่ 5 ที่ 6 นี่เอง แปลมาจากคำว่า มิวเซียม(museum)ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า มิวเซ่ หรือมิวส์(muse) ซึ่งแปลว่าเทพธิดาแห่งความรู้ โดยเฉพาะความรู้ทางอักษรศาสตร์ เน้นหนักไปทางความงาม  คำว่ามิวส์ในภาษาฝรั่งเศสอ่านว่า มูเซ่ มาจากคำว่ามิวสิค ซึ่งแปลว่าความงามความไพเราะ แล้วก็ควบคู่ไปกับองค์ความรู้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากครับ 

ทีหลังที่กลายมาเป็นอาคารสถานรวบรวมสรรพวิชาความรู้มันเกิดขึ้นเมื่อฝรั่งเริ่มอำนาจในทางที่ตั้งตัวเป็นจักรวรรดิ  จะเห็นได้ที่กรุงลอนดอน ที่สำคัญที่สุดคือ บริติชมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ของชนชาติบริติช  เขาถือตัวว่าปกครองโลกเกือบทั้งโลก บริติชเอ็มไพร์(British Empire)เป็นจักรวรรดิที่กล่าวว่าพระอาทิตย์ไม่ตกดิน  แถบบ้านเราเขาได้ดินแดนที่เป็นมลายูทั้งหมด สิงคโปร์ พม่า  สมัยหนึ่งก็ได้อินโดนีเซียด้วย ทีหลังมาแลกกันกับฮอลันดา  อีกนัยหนึ่ง บริติชมิวเซียมเป็นที่รวมสรรพความรู้ทั้งหมดที่อยู่ในอำนาจจักรวรรดิอังกฤษ  มองในแง่ดี เป็นสิ่งวิเศษรวมสรรพวิชาความรู้  เพราะบริติชมิวเซียมนอกจากมีพิพิธภัณฑ์ พิพิธแปลว่ามากมายหลายอย่าง ภัณฑะคือสิ่งของต่าง ๆ  แล้วยังเป็นหอสมุดแห่งชาติ(British Library)อยู่ในนั้นด้วย ถือเป็นหอสมุดที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ 



ไทยเราได้ความคิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์มาจากฝรั่ง พิพิธภัณฑ์ของไทยครั้งแรกก็เรียกหอมิวเซียม ตั้งอยู่ที่ศาลาสหไทยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง และบรรณารักษ์คนแรกเป็นคนอังกฤษชื่อ เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์(Henry Alabuster) และเป็นคนซึ่งแปลหนังสือของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษ  เจ้าพระยาทิพากรวงษ์เป็นนักปราชญ์คนสำคัญในรัชกาลที่ 4 ถึง 5 และเป็นลูกศิษย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งตั้งคณะธรรมยุตขึ้น  การตั้งคณะธรรมยุตนั้นท่านแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีอิทธิพลของศาสนาพุทธซึ่งเป็นสากลเข้าได้กับหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งตอนนั้นมิชชันนารีเข้ามาโจมตีไทย บอกว่าศาสนาพุทธของไทยนั้นล้าหลัง ว่าเราเป็นคนงมงายเชื่อในสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ  เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นหลักความเชื่อของคนไทยขึ้นอยู่กับเรื่องไตรภูมิพระร่วง ไตรภูมิพระร่วงนั้นก็มีความรู้ในเรื่องโลกสันฐานต่าง ๆ  ที่ได้อิทธิพลมาจากฝ่ายพราหมณ์ซึ่งเชื่อว่าโลกนี้แบน มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ปลาอานนท์หมุนโลกอยู่ เป็นต้น  เป็นหนังสือที่พระยาลิไทยแต่งขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยและมีอิทธิพลมาตลอด  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าปฏิเสธไตรภูมิ กลับไปหาพระไตรปิฎกโดยท่านอ้างว่าพระไตรปิฎกนั้นมีความทันสมัยไม่แพ้วิทยาศาสตร์ของตะวันตก  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เอาคำสอนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเรียบเรียงเป็นหนังสือ ชื่อหนังสือแสดงกิจจานุกิจ  ปรากฏว่าพวกมิชชันนารีไม่ยอมพิมพ์ให้  แต่ก่อนโรงพิมพ์มีอยู่ 2 โรง ของหมอบรัดเลย์โรงพิมพ์หนึ่ง หมอสมิธโรงพิมพ์หนึ่ง  ฝรั่งไม่ยอมพิมพ์ให้ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์ท่านสั่งให้บ่าวไพร่จารลงบนหินอ่อนแล้วเอาหินอ่อนมาพิมพ์  หนังสือแสดงกิจจานุกิจแสดงจุดยืนของคนไทย ว่านี่คือพุทธสมัยใหม่  อาลาบาศเตอร์เข้ามารับราชการสถานทูตอังกฤษ เป็นรองกงสุล และทะเลาะกับกงสุล เลยย้ายมารับราชการไทย ท่านก็เสนอความคิดใหม่ ๆ  หลายอย่าง รวมทั้งการตั้งมิวเซียมด้วย  ก่อนหน้านั้นท่านได้แปลหนังสือแสดงกิจจานุกิจเป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า The Wheel of the Law พิมพ์ที่กรุงลอนดอน  อันนี้เป็นจุดยืนแสดงความทันสมัยของศาสนาพุทธซึ่งไปจากเมืองไทยเป็นครั้งแรก 

นายอาลาบาศเตอร์คนนี้มาตั้งหอมิวเซียมขึ้นในพระบรมหาราชวัง  เพราะความคิดในรัชกาลที่ 5 ซึ่งคิดว่าอะไรที่ฝรั่งทำได้ คนไทยก็อยากจะทำ ฝรั่งคนนี้มีลูกเป็นไทย ได้เมียไทย ลูกคนโตเป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก แล้วหลานคนโตก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศหลายสมัย เดี่ยวนี้เป็นองคมนตรี คือคุณสิทธิ เศวตศิลา  เศวตศิลานี่ก็แปลมาจากอาลาบาศเตอร์  การมีพิพิธภันฑสถานแห่งชาตินั้นจึงถือว่าจะเป็นคลังแห่งความรู้ คลังแห่งวิทยาการที่ไปได้จากฝรั่งมา  เพราะฉะนั้นคลังนี้ต้องอยู่ที่ราชธานี และเวลานั้นการตั้งพิพิธภันฑสถานแห่งชาติมันไปพร้อม ๆ  กับการรวบรวมศูนย์กลางอำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ปกครองภายในประเทศทั้งหมด  ท่านเป็นเสนาบดีองค์แรกที่เดินทางไปเกือบทั่วราชอาณาจักร ไปที่ไหน ถ้าท่านเห็นสิ่งใดว่ามีความงามความวิเศษท่านก็ขอให้เอามาตั้งไว้ในหอมิวเซียม  เช่นเมื่อเสด็จไปไชยา ไปเห็นรูปพระอวโลกิเตศวรอยู่ข้างทางก็เสด็จลงมาอุ้มเชิญไปกรุงเทพฯ ด้วย 

ทางฝรั่งเศสนั้นไม่ได้ตั้งเป็นมิวเซียมใหญ่แห่งเดียว คนฝรั่งเศสเค้ามีความคิดเป็นอิสระเสรีแสดงความเป็นตัวของตัวเองมาก เช่น เมอซิเออกีเม่ต์ ออกมาเก็บวัตถุโบราณ ศิลปวัตถุ ตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนตัวชื่อ มิวเซ่กีเม่ต์  ใครที่สนใจในเรื่องศิลปะวัตถุโบราณ พระพุทธรูปโบราณ เทวรูปโบราณงาม ๆ  ของเราและเขมรต้องไปดูที่มิวเซ่กีเม่ต์ที่ประเทศฝรั่งเศส  มองในแง่ดีเป็นของดี การรวบรวมของงาม ๆ   แต่มองในแง่ร้าย พวกนี้มาแย่งชิงเอาไปนะครับ บางครั้งใช้วิธีซื้อ บางครั้งใช้วิธีขโมย ซื้อจากนักค้าของโจร ของเก่า

 สำหรับเมืองไทยนั้น ด้วยความเคารพ เมื่ออาลาบาศเตอร์สิ้นไปแล้วพิพิธภันฑสถานของเราก็ไม่มีชีวิตชีวาอะไรเท่าไหร่ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ออกจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอให้ท่านมาทำหอพระสมุดและหอพิพิธภัณฑ์


ในอีกด้านหนึ่ง มิวเซียมของเรา พิพิธภัณฑ์ของเรานั้น ดั้งเดิมก่อนอาลาบาศเตอร์มาทำก็คือวัด  ทุกวัดนี่เป็นพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว  ทุกวัดมีความงาม มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โบสถ์วิหารแสดงสถาปัตยกรรมอย่างวิเศษ องค์พระปฏิมากรงามเลิศ เป็นที่เก็บรวบรวมพระคัวภีร์  ความดี ความงาม ความจริงอยู่ในนั้นหมด  วัดใหญ่ ๆ  เป็นอย่างนี้ทุกวัด และในหัวบ้านหัวเมืองก็เช่นเดียวกัน วัดจะสร้างให้บรรสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และจะสร้างเท่าที่กำลังความคิดความอ่านความสามารถของราษฎรในหมู่บ้านตำบลนั้น ๆ   นี่แหละครับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ของเรามีมาตั้งแต่โบราณนานไกล  แต่ตอนหลังพอเรามาใช้คำฝรั่ง สะกดให้เราคิดแบบฝรั่ง เราก็รู้สึกน้อยหน้าฝรั่ง เราจะทำอย่างฝรั่ง ซึ่งเป็นไปไม่ได้นะครับ  ยิ่งจะทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แล้วคุณไปผูกไว้กับราชการส่วนกลาง ส่วนกลางเค้าก็จะไม่เห็นคุณงามความดีของท่าน  ระบบแบบนี้ไม่เอื้ออาทรต่อท้องถิ่น และการที่จะเอื้ออาทรต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริงนั้นเราต้องปรับมาหารากเหง้าดั้งเดิมของเราไม่ใช่ไปดูที่ฝรั่ง  และเวลานี้อำนาจศูนย์กลางกรุงเทพฯ หรือที่ไหนก็ตาม นักการเมืองที่ไหนก็ตาม สยบยอมต่อทุนต่างชาติทั้งสิ้น  นี้คือโลกสันนิวาส เพราะเวลานี้บริษัทข้ามชาติมีอำนาจเหนือสุด 

นี่มันเกี่ยวอะไรกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เกี่ยวโดยตรงเลยครับ ถ้าพิพิธภันฑสถานเป็นสถานที่ที่จะอบรมความรู้ให้กับความงามความไพเราะ จะต้องรู้ว่าวัฒนธรรมไม่ได้อยู่ในสุญญากาศ วัฒนธรรมมันจะต้องอิงกับระบบเศรษฐกิจการเมือง มิเช่นนั้นจะพลาด  ถ้าสร้างให้ทัวริสต์มาเที่ยวมาชม หรือทำพิพิธภัณฑ์แบบธุรกิจทุนนิยม หรือจะให้ลูกหลานเรามาดูมาชม ถ้าทำน่าเบื่อมันก็ไม่มา แล้วส่วนใหญ่เราทำน่าเบื่อนะครับ  พิพิธภันฑสถานเป็นที่รวมความรู้ไม่ใช่ที่รวมของที่ตายแล้ว  เอาสิ่งซึ่งเป็นอดีตมาเป็นความรู้ร่วมสมัย และให้เข้าใจข้อเท็จจริง

นี่ผมดีใจนะครับ ที่เวลาเราพูดถึงท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เราพูดว่ามารดาท่านเป็นมุสลิม  นี่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เราอย่าไปปฏิเสธ นั่นเป็นความจริง ยกย่องเพื่อนของเราที่เป็นมุสลิม ยกย่องเพื่อนของเราที่มีความคิดต่างจากเรา ความเห็นต่างจากเรา ศาสนาต่างจากเรา  พิพิธภันฑสถานก็เช่นเดียวกัน เปิดให้เห็นทั้งแง่ลบและแง่บวก  มิเช่นนั้นแล้วเราจะเอาพิพิธภันฑสถานมาเป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งการหลอกลวงเพื่อชมชนชั้นปกครอง ชมชนชั้นนายทุน นายทุนเขามีความดีหลายอย่างมีข้อบกพร่องหลายอย่าง แต่เราเอาความจริงมาเปิดเผยด้วยความเคารพต่ออดีตและให้โอกาสอดีต อย่าจมทิ้งอดีตง่าย ๆ  

เมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้รับพระบรมราชานุมัติจากรัชกาลที่ 7 ให้ตั้งพิพิธภันฑสถาน ตอนนั้นยังไม่เรียกแห่งชาตินะครับ เป็นพิพิธภันฑสถานสำหรับพระนครขึ้น ท่านทูลขอเอาวังหน้าจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ นี่น่าสนใจนะครับ  เพราะหนึ่ง ตัวอาคารแสดงถึงอดีตซึ่งอดีตอันนี้ในทางโลกทัศน์ ในทางจักรวาลวิทยามีความสมบูรณ์ยิ่งกว่าวังหลวง  สอง สิ่งของต่าง ๆ  ที่จัดแสดงนั้นได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ชาวต่างประเทศ ชาวไทย ชาวจีน มากกว่าเงินงบประมาณแผ่นดิน เพราะเวลานั้นรัฐบาลไทยยังถือว่ายากจน  ในเวลานั้นใช้เงินอย่างประหยัดมัธยัสถ์มาก แม้กระทั่งหนังสือวิชาการต่าง ๆ  ที่พิมพ์ขึ้น สมเด็จกรมพระยาดำรงค์ท่านไปขอนะครับ ขอเจ้านายที่จัดพิมพ์ในงานวันประสูติ งานศพ  อันนี้ถือเป็นการมีส่วนร่วม ของที่ตั้งในพิพิธภันฑสถานก็ขอมา ถ้าเขาไม่ให้ก็ขอยืมมา

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่ารูปแบบของเรามันไม่ได้พึ่งเพียงราชการอย่างเดียว จะต้องพึ่งคนท้องถิ่นให้มาก และคนท้องถิ่นที่จะพึ่งให้มากนั้นทุกอาชีพ พ่อค้าม้าขายสำคัญ อย่าไปนึกว่าพ่อค้าม้าขายเค้าคิดเอาเงินอย่างเดียว  คุยกับเขาดี ๆ  สิครับ เชื่อเถอะเขาจะร่วมมือมาก  อยากจะพูดถึงเรื่องหนึ่งนะครับ ผมบินมาภูเก็ตครั้งแรก สมัยที่เพิ่งมีเรือบิน คนที่เชิญผมมาคือคุณเป่งเสี่ยม อัญสกุล(ผู้จัดการบริษัทเหมืองแร่จุติ) ออกค่าเรือบินให้มาพูดที่หอสมุดของภูเก็ต พูดเรื่องเจ้าคุณอนุมานราชธน นี่ผมยังนึกถึงคุณเป่งเสี่ยมอยู่ และผมเชื่อว่าพ่อค้าแบบนี้ยังมีอยู่ไม่ใช่น้อย  อย่าไปคิดเอาเงินเขาอย่างเดียว ไม่มีใครเขาชอบหรอก คิดเอาเงินเขา คิดเอามันสมองเอาความรู้เขาด้วย เอาความร่วมมือเขาด้วย  พวกพ่อค้าเขาไม่ได้คิดหาเงินเก่งอย่างเดียว เขาคิดเก่งในหลายต่อหลายอย่าง  ในกรุงเทพฯ เวลานี้เขาตั้งชมรมนักธุรกิจเพื่อสังคม ชื่อภาษาอังกฤษว่า Social Venture Network  ชมรมนักธุรกิจเพื่อสังคมตั้งมา 10 ปีแล้ว  นักธุรกิจชั้นนำด้วยนะครับ ไม่ใช่คิดเรื่องเงินอย่างเดียว แล้วเขาเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วย  พ่อค้าที่แล้ว ๆ  มามักคิดแต่จะหาเงิน คิดแต่จะเก็งกำไร ไม่ดูแลตัวเอง ทำงานมากเกินไป หนักเกินไป ไม่มีเวลาให้ลูกเมีย เอาเปรียบกรรมกร เอาเปรียบทรัพยากรทางธรรมชาติ โฆษณาสินค้าอย่างหลอกลวงผู้ซื้อ นักธุรกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ Social Venture Network ทำมา 10 ปีเปลี่ยนหมดเลยครับ มีเวลาภาวนา มีเวลาให้ลูกให้เมีย ให้กรรมกรมาถือหุ้น ให้กรรมกรมาเป็นกรรมการบริษัท กำจัดโฆษณาชวนเชื่อในทางที่เหลวไหล และกิจการก็ได้ผลดี  ตัวประธานคนปัจจุบันนี่ทำตุ๊กตาขาย ตุ๊กตาเขาได้รับยกย่องระดับโลก  ประธานคนแรกคือปรีดา เตียสุวรรณ ทำจิวเวลรี่ขายทั่วโลก แต่เขาก็มีเวลามาช่วยสมัชชาคนจน ช่วยเคลื่อนไหวทางสังคม

เพราะฉะนั้นผมเชื่อเลยว่า ถ้าเราคิดถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ต่อไปท้องถิ่นจะมีความสำคัญยิ่ง ๆ  ขึ้น นี่สำคัญมากครับ ท้องถิ่นจะมีความสำคัญยิ่ง ๆ  ขึ้นต้องรวมถึงพ่อค้า ครูบาอาจารย์ ปราชญ์ชาวบ้าน คนเหล่านี้จะต้องร่วมมือกัน ที่สำคัญคือพระสงฆ์องค์เจ้าต้องร่วมมือด้วย ผู้นำศาสนาอื่น ๆ  ต้องร่วมมือด้วย ทุกหน่วยงานนะครับ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนี่เป็นสิ่งสำคัญเลย หลายแห่งยังโดนโจมตีอยู่  มีการกินกันโกงกันซึ่งอันนี้ไม่แปลกประหลาด แต่ผมเชื่อว่าต่อไปจะดีขึ้น ตราบใดที่เลือกตั้งมันจะต้องดีกว่าแต่งตั้ง  ต่อไปผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งพิธีกรรม  ที่อื่นเป็นเหมือนกันนะครับ เขามี Lord Lieutenant มี Lord Governor มีหน้าที่อย่างเดียวคือรับเสด็จส่งเสด็จเท่านั้นเอง มีเกียรตินะครับ แต่อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่คนได้รับเลือกตั้งขึ้นมา ระยะแรกอาจมีโกงมีกินแต่ผมเชื่อว่าต่อไปจะดี เข้าสู่สุภาษิตโบราณ“น้ำฝนปนน้ำท่า”  น้ำฝนจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ  แล้วผมเชื่อเลยว่าเรามุ่งมั่นตรงนี้

โอกาสอยู่ที่พวกเรา การทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้นเราสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความงาม ความดี รวมพลังท้องถิ่น ผมว่าภูเก็ตจะเป็นแห่งหนึ่งที่ทำได้ ภูเก็ตเคยนำมาหลายต่อหลายเรื่อง หลายต่อหลายทาง  เพราะฉะนั้น คนภูเก็ตต้องร่วมกัน จังหวัดอื่นด้วยในภาคใต้ ร่วมกับทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ร่วมกันอย่างต่างฝ่ายต่างเป็นตัวของตัวเอง ต่างฝ่ายต่างเรียนกันและกัน  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ว่านี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้ ความงาม ความดี และให้การศึกษา เศรษฐกิจการเมือง โดยที่พิพิธภัณฑ์เช่นนี้จะขยายไปในสถาบันการศึกษาด้วย สถาบันการศึกษาจะต้องเรียนกันอย่างมีชีวิตชีวา เรียนเรื่องอดีตจนเข้าถึงปัจจุบัน เรียนเรื่องสัจจะ ไม่ใช่อสัจจะ  และเช่นเดียวกันครับ สื่อต่าง ๆ  จะต้องเป็นไปในทางที่ถูก หากเป็นเช่นนั้นแล้ว วัฒนธรรมท้องถิ่นก็จะกุมหัวใจคนเพื่อพวกเราทุกคน และเพื่อลูกหลานของเราในอนาคตด้วย.
   
*เรียบเรียงจากปาฐกถา“ทิศทางพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย” โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ได้รับรางวัล Alternative Nobel Peace Prize จากสวีเดน  เนติบัณฑิตอังกฤษจาก The Middle Temple)  เนื่องในวันครบรอบ 134 ปีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไทย  ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2551  โดยในช่วงแรกมีการเสวนาความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง โดย สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ และพัฒน์ จันทร์แก้ว ซึ่งเป็นสมาชิก“กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ” ผู้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อหลายสิบปีก่อน (ตีพิมพ์ใน ภูเก็ตภูมิ/Phuketscape ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 ตุลาคม-พฤศจิกายน 2551)
   

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 30 กันยายน 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้909
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1779
mod_vvisit_counterทั้งหมด10693321