ด้วยระยะทาง ๓๐๐ กว่ากิโลเมตร ทำให้คณะ ฯ ต้องแวะจอดเป็นระยะเพื่อถ่ายน้ำที่ติดตัวออก แต่อย่างที่รู้ห้องน้ำในอินเดีย สรรพคุณเกินบรรยาย ขนาดห้องน้ำของสถานีบริการน้ำมัน ถ้าไม่จำเป็นในชีวิตนี้ก็ไม่อยากย่างกรายไปหา ในเมื่อลำบากนัก เราก็ใช้ห้องน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกซะเลย (ยืมคำพูดพระอาจารย์มหาจูมมาใช้) สำหรับฉันเคยมีประสบการณ์ลักษณะนี้มาแล้วเมื่อตอนไปประเทศเวียดนาม เลยรู้สึกไม่ค่อยอายฟ้าดินเท่าไหร่ (5555) ด้วยคิดว่าทำอย่างไรให้ตัวเองอยู่ได้ในทุกสถานการณ์แล้วเราจะไม่ทุกข์ไม่ว่าอะไรจะมาเยือน (สาธุ)
ห้องน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกหน้าตาเป็นเยี่ยงนี้เอง ระหว่างทางที่แวะพัก ฉันเห็นพระอาจารย์มหาจูมสั่งอะไรเป็นแก้ว จากร้านเล็ก ๆ ข้างทางมาฉัน เมื่อมองดูร้านฉันก็ทำหน้าแหย ๆ พระอาจารย์คงขำ ๆ ที่ฉันทำหน้าเหมือนจะร้องไห้เมื่อท่านเชิญชวนให้ดื่ม แถมฉันยังตั้งคำถามอันไม่ฉลาดออกไปอีกว่า “ทานได้เหรอคะ” เอ๋า ทำไมจะทานไม่ได้ในเมื่อคนเค้าดื่มกันทั้งประเทศ (นี่แหละฉันถามเองตอบเอง) เมื่อตามไปสำรวจอย่างจริงจังพบว่าสิ่งที่หลาย ๆ คนดื่มเป็นชานมแบบบ้านเรา เพียงแต่นมที่ใส่เป็นนมแพะหรือนมวัวแทนนมข้นหวาน อินเดียเรียกว่า “การัมจาย” กลิ่นหอมเย้ายวนใจยิ่งนัก แต่เมื่อฉันลองลิ้มชิมดู กลิ่นคาวของนมวิบวับเข้าจมูกจนต้องคืนคนที่ยื่นมาให้ แต่คนอื่น ๆ ที่ดื่มได้เค้าบอกว่าอร่อยล้ำ จากนั้นลองกัด”จาปาตี” ไปกับเค้า ๑ แผ่น รสชาติของแป้งนุ่มนวลกว่าโรตีบ้านเรามากมาย ที่อินเดียจะกินจาปาตีร่วมกับแกงผักแบบมังสวิรัตที่ประโคมใส่เครื่องเทศลงไปอย่างเผ็ดร้อน (คนอินเดียไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ ) ฉันขอลองกะเค้ามั่ง สุดท้ายถอยออกมายืนทำหน้าตาว่ากินไม่ได้อีกเช่นเคย พร้อมทั้งคิดต่อว่าเจ้า “จาปาตี” เนี่ยนะถ้าอยู่เมืองไทยฉันจะเอามาทานมข้นหวานและน้ำตาลกินกับชาดำเย็นคงสุดยอดไปเลย คณะ ฯ ใช้รถทัวร์เป็นภัตตาคารสำหรับพระฉันอาหารเพล และอาหารเที่ยงของพวกเรา ฉันรู้สึกสนุกสนานเอามาก ๆ กับการกินนอนบนรถแบบนี้ กินเสร็จก็เดินทางต่อ สายฝนที่โปรยปราย กับอากาศหนาวในรถ ชวนให้หลับใหลซะนี่กระไร แต่ฉันต้องฝืน เพราะอยากรู้อยากเห็น ฉันจึงทอดสายตามองไปด้านข้างรถ เห็นผืนนาเป็นทิวแถวยาวเหยียดสุดลูกตา อินเดียมีพื้นที่มากจริง ๆ ฉันค้นข้อมูลมาได้ว่าประเทศอินเดียมีพื้นที่ ๓,๒๘๗,๕๙๐ ตารางกิโลเมตร มีการเกษตรเป็นเศรษฐกิจหลัก ฉันจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสองข้างทางจึงมีพื้นที่ในการทำนาเป็นระยะไปโดยตลอด ฉันได้เห็นแขกกำลังถอนกล้า ไถคราดนาด้วยวัว และช่วยกันดำนา นี่คือการลงแขกจริง ๆ เพราะคนแขก (อินเดีย) ช่วยกันทำ ไม่แน่ใจว่าที่คนไทยใช้คำว่าลงแขกจะได้รากศัพท์มาจากแขกอินเดียช่วยกันดำนาหรือเปล่า ? (วิเคราะห์เอาเองนะ) ลงแขกดำนา (ลงแขกจริง ๆ เพราะแขกทำ) เช้านี้....(วันที่ ๒ กค.) โปรแกรมของการเดินทางหลังจากอาหารเช้า คือ ไปบ้านนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแก่เจ้าชายสิทธัตถะ ที่ใต้ต้นไทร ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เมื่อไปถึงบ้านนางสุชาดาหรือที่เรียกอีกชื่อว่า “สุชาฎากุฎี” จะเห็นลักษณะเนินดินสูงประมาณ ๓ เมตร ที่ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีและก่ออิฐขึ้นรูปไว้ให้พอมองเห็นเค้าโครงคล้ายสถูป เชื่อกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้าง ฉันชื่นชมประเทศอินเดียมากเรื่องโบราณสถาน เพราะจะไม่มีการล่วงล้ำกร้ำกรายหรือบุกรุกเด็ดขาด จะปล่อยให้เป็นสมบัติของชาติโดยไม่ทำอะไรรุกล้ำแนวเขต ฉันเห็นผู้หญิงใช้ศีรษะทูนของเดินกันเป็นแถว นี่เองคงเป็นที่มาของคำว่า “เมืองแห่งคนใช้หัว” ซึ่งคำกล่าวนี้ไม่เกินความเป็นจริงเลย และที่บ้านนางสุชาดาเช่นกันทำให้ฉันเห็นขบวนการขอทานเริ่มปฏิบัติการเพียงแต่ยังไม่รุนแรง มีขอทานตามรถพวกเรามาหลายช่วงอายุคน และมาขอด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน บางคนใช้ภาษามือ และส่งสายตาเว้าวอน พร้อมพูดว่า อาจ๊าน อาจาน หรือไม่ก็เรียกว่า รานี,มหารานี โอ..ฉันควรจะภาคภูมิใจไหมนี่ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นถึงรานี ส่วนบางคนที่พูดอังกฤษได้ก็ขอรับบริจาคเงินให้โรงเรียน เป็นต้น และที่ตรงนี้เช่นเดียวกันที่ทำให้ต่อมช๊อปปิ้งของฉันเริ่มทำงานอย่างเป็นจังหวะ เพราะพ่อค้าหนุ่มแขก สีผิวเข้มข้น ตาคม (แพ้คนผิวเข้ม เอื๊อก ๆ ) ได้เดินตามตื้อฉันไปทุกย่างก้าวของการเดินวนรอบบ้านนางสุชาดา ด้วยภาษาอังกฤษที่ไม่ค่อยแข็งแรงทั้งของฉันและคนขาย ทำให้เราเหน็ดเหนี่อยไปตาม ๆ กันเพราะใช้ภาษามือ ฉันรู้สึกสงสารแกมรำคาญเลยตัดสินใจซื้อสร้อยคอที่ทำจากเรซิ่นมา ๑๒ เส้น สนนราคา ๑๐๐ บาท จากราคาที่บอกครั้งแรก ๕๐๐ บาท (ดู่ดู๊ดูดูเธอทำ)
บริเวณบ้านนางสุชาดา
เมืองแห่งคนใช้หัว (จริงมั้ยดูเอาเอง) จากนั้นเดินทางต่อมาที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สถานที่พระพุทธเจ้าอธิษฐานจิตลอยถาดทองคำ แล้วทรงอธิษฐานว่า “ถ้าจะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาโพธิญาณ ก็ขอให้ถาดทองนี้ลอยทวนกระแสน้ำไป” แม่น้ำเนรัญชรามีความยาวประมาณ ๑๕๐ ไมล์ กว้างประมาณครึ่งกิโลเมตร ในฤดูร้อนน้ำในแม่น้ำจะแห้งจนหมดเหลือเป็นหาดทราย ซึ่งสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาระหว่างบ้านนางสุชาดาและฝั่งพุทธคยาได้ เป็นโชคดีของฉันที่มาในช่วงมีน้ำ เลยทำให้ฉันจินตนาการย้อนอดีตไปในสมัยก่อนพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงอธิษฐานจิตได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากนั้นคณะ ฯ ไปทอดผ้าป่าที่วัดไทยเนรัญชรา ที่สร้างอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ขบวนการขายสินค้าก็ยังปั่นจักรยานมาตามตื้อให้ซื้ออีก โดยพ่อค้าหน้ามลคนเดิม รวมไปถึงขบวนการขอทาน ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ต่อด้วยการเดินทางไปนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตอนที่คณะ ฯ ของเราไปมีนักท่องเที่ยวบางตา ขอทานก็ไม่มากนัก คณะ ฯ ลงไปสวดมนต์ไหว้พระที่บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ และรับศีล ๘ ส่วนฉันโน่นเลย พอลงจากรถตรงลิ่วไปหาร้านขายของที่เรียงรายอยู่สองฟากฝั่งถนน ได้หนุ่มพ่อค้าผิวเข้ม นามว่า โมนา คนเดิมที่ขายสร้อยฉันเมื่อตอนเช้า ที่พยายามตามตื้อมาตลอดเส้นทาง มาเป็นไกด์พาเข้าร้านขายกำไล ตอนแรกฉันแวะร้านขายผ้าเพื่อหากระโปรงตามที่เจ้าต๋อยสั่ง แต่ไม่มีในราคาที่บอกและแบบไม่ถูกใจ ไม่สวยในความรู้สึกของฉัน เลยเดินไปร้านขายกำไล สวยมาก สวยจริง ๆ ละลานตาไปหมด แต่ราคายังสูงทั้ง ๆ ที่ต่อรองแล้ว เลยเดินมาอีกร้าน ดีไซด์ไม่สวยเท่าร้านแรก แต่ก็มีที่ถูกใจหลายวง เลยสอยมาซะหนึ่งถุง (ผู้หญิงอินเดียนิยมใส่กำไลหลายวงมากยาวเกือบถึงข้อศอก) ด้วยราคา ๕๐๐ บาท หากเป็นที่เมืองไทยคงประมาณ ๒ – ๓ พันบาท จากนั้นเดินตัวปลิวตามคณะ ฯ ไปที่มหาเจดีย์พุทธคยา ช่างกล้าหาญชาญชัยมาก ที่ฉันเดินดุ่ย ๆ มาคนเดียวท่ามกลางแขกขอทานและพ่อค้าที่รายล้อมรอบตัวจนแทบจะก้าวขาไปทางไหนไม่ได้ เพราะพวกเค้ามารุมดักหน้าดักหลังจนหายใจหายคอแทบไม่ทัน พุทธคยาสำคัญอย่างไร ? ถึงต้องมาเยือน พุทธคยาเป็น ๑ ใน ๔ ของสังเวชนียสถาน ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า คือ เป็นที่ตรัสรู้ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชราที่ฉันไปเยือนเมื่อเช้า อยู่ในตำบลคยา (GAYA) รัฐพิหาร บริเวณนั้นจะประกอบไปด้วย มหาเจดีย์พุทธคยา ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย เรียกว่า “พระพุทธเมตตา” ชาวอินเดียและผู้ที่ไปจาริกแสวงบุญเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก, ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้ เมื่อวันพุธขึ้น ๑๕ เดือนหก หรือเรียกว่าวันวิสาขบูชา, พระแท่นวัชรอาสน์ หรือ “อปราชิตบัลลังก์” หรือ “รัตนบัลลังก์”เป็นที่ประทับนั่งตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์,และสัตตมหาสถาน ที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขหลังตรัสรู้แล้ว เช่น อนิมิสเจดีย์, รัตนจงกรม, ฆรเจดีย์, สระมุจลินทร์, เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธเมตตา/มหาเจดีย์พุทคยา/วัชรอาสน์/ต้นพระศรีมหาโพธิ์ กลับไปกินข้าวเที่ยง ณ วัดไทยพุทธคยาอีกครั้ง สำหรับช่วงบ่ายเดินทางไปทอดฝ้าป่า ณ วัดไทยมคธ ไม่ไกลจากวัดไทยพุทธคยามากนัก เสร็จจากทอดผ้าป่าก็แวะวัดนานาชาติ มีทั้งวัดญี่ปุ่น วัดพม่า วัดทิเบต พร้อมของขายสองข้างทาง ที่นี่เองฉันแทบเอาตัวไม่รอดจากบรรดาขอทานที่มารุมล้อมสกัดกั้นทั้งหน้าและหลัง ฉันสงสารนะเพราะโดยส่วนตัวเป็นคนสงสารคนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ฉันไม่สามารถจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่คนใดคนหนึ่งได้ เพราะถ้าให้ไปแล้วฉันไม่รู้ว่าจะสามารถพาชีวิตรอดพ้นเงื้อมมือของเค้าเหล่านั้นมาได้หรือไม่ กระโดดขึ้นไปนั่งหอบบนรถเพราะหนีขอทาน แต่ก็ยังไม่วายสอยผ้าห่มไปอีก ๒ ผืน ผืนละ ๕๐ บาท คล้าย ๆ ผ้าขาวม้าบ้านเราแต่ผืนใหญ่กว่า ผ้าจะบาง ๆ คล้าย ๆ ผ้าฝ้าย เอามาห่มกันยุงและเผื่ออากาศหนาว คนขับรถและผู้ช่วยไกด์ชาวอินเดียที่ฉันเริ่มคุ้นเคยด้วยบ้างแล้วช่วยกันพวกขอทานออกไปจากฉัน (สุดยอดจริง ๆ)
วัดนานาชาติ(วัดญี่ปุ่น,วัดทิเบต,วัดพม่า) ค่ำคืนนี้พักที่วัดไทยพุทธคยาอีกหนึ่งคืน เพื่อทอดผ้าป่า ส่วนวันพรุ่งนี้จะเดินทางต่อไปยังเมืองพาราณสีเพื่อล่องแม่น้ำคงคา คืนนี้ฉันนอนช้ากว่าเมื่อคืน เลยให้อ.เอี่ยมนภา เล่าเรื่องเมืองพาราณสีให้ฟังจนผล็อยหลับไปตอนไหนไม่รู้
วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
ตอนต่อไป ของพิมพิกา ตอนก่อนหน้านี้
แสดงความคิดเห็นของผู้อ่าน |