Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
หยดน้ำตา ณ สาลวโนทยาน:อรุณรัตน์ สรรเพ็ชร PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 17 สิงหาคม 2008

หยดน้ำตา ณ สาลวโนทยาน

อรุณรัตน์ สรรพ็ชร

 

ฉันถูกปลุกให้ตื่นด้วยเสียงจากห้องข้าง ๆ ที่ลุกมาอาบน้ำดีดตัวขึ้นจากที่นอนเพราะจำได้ว่าวางร่มไว้ด้านหน้าระเบียงที่พัก  กลัวว่าอาจจะมีลมแรงพัดเอาร่มคันกระจิ๊ดริดของฉันลอยละลิ่วปลิวละล่องไปอยู่ไหนก็สุดจะคาดเดา เมื่อแง้มประตูออกมาก็พบว่าร่มยังสิงสถิตย์อยู่ ณ ตำแหน่งเดิมแถมยังแห้งสนิท   เลยกลับมาชำระร่างกาย ขณะที่อาบน้ำอย่างสบายอุราอยู่นั้น  ไฟเกิดดับวูบลง ยืนตัวแข็งทื่อไปชั่วครู่ เพราะมืดมาก ยังปรับสายตาไม่ได้ ร้องเรียกอาจารย์ต๋อย ซึ่งอยู่ห้องข้าง ๆ ซะลั่น...อาจารย์ขายังอยู่ไหมคะ..ได้ยินเสียงขานรับ ใจชื้นขึ้นอักโข กลัวว่าไฟจะดับยาว เลยรีบ ๆ อาบเพื่อกลับเข้าห้องโดยเร็วพลัน
 

สักพักไฟมา เก็บสัมภาระวางไว้หน้าห้อง คนงานของวัดจะทำหน้าที่ขนกระเป๋าให้ พวกเราพักอยู่ชั้น ๒ กระเป๋าแต่ละใบยังกะย้ายบ้านมาอยู่อินเดียก็ไม่ปาน เสร็จภารกิจเรื่องเก็บสัมภาระก็ลงมาเดินกินลมชมวิวด้านล่าง รอกินข้าวเช้า  ถือโอกาสสำรวจอาณาบริเวณวัดตามประสาคนอยู่ไม่สุข นึกถามตัวเองเหมือนกันว่า อยู่นิ่ง ๆ กับเค้าบ้างได้ไหม คำตอบคือ ได้ แต่ไม่นาน ฮา ๆ แวะเวียนไปดูสระน้ำที่มีดอกบัว  ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับที่พักดื่มน้ำร้อนเย็นทั้งเมื่อตอนค่ำและเช้านี้  ฉันยืนพินิจพิจารณาดอกบัวในสระค่อนข้างยาวนาน  รำพึงรำพันกับตัวเองว่า.......ไม่รู้ทำไมฉันจึงชอบดอกบัวเป็นหนักหนา ชอบจริงชอบจัง ชอบมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ชอบสีสัน ความสวยงาม ชอบความเรียวของกลีบบัวที่ละม้ายคล้ายดัชนีนาง  และชอบที่มาของคำว่า บัว หรือบงกช อันแปลว่า เกิดแต่ตม  ยืนมองดอกบัวแล้วย้อนมามองตัวเอง  ก็ให้ภูมิใจเหลือคณาว่า ฉันก็พร้อมจะเป็นเหมือนดอกบัวที่โผล่พ้นจากโคลนตมเพื่อรับแสงสว่างทางปัญญา เฉกเช่นที่ได้เดินทางมาสังเวชนียสถานในครั้งนี้   

 

    หยดน้ำตา ณ สาลวโนทยาน

                      พระพุทธรูปปางเบบี้บุดดาหรือปางประสูตร

 

เดินเรื่อย ๆ ไปเรียง ๆ ดูโน่น อ่านนี่ จนได้เวลากินข้าวเช้า ทุกคนพร้อมกันไปที่อู่ข้าว โรงทาน  กักตุนอาหารให้พอเพียงถึงเที่ยงนี้  เสร็จแล้วได้เวลาทำบุญร่วมกัน ณ  อุโบสถวัดไทยลุมพินี  ที่วิจิตรสวยงาม ตระการตา สีขาวทั้งหลัง มองดูผ่าน ๆ ตอนค่ำคิดว่าจะเหมือนกับวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ พอมาดูตอนเช้าก็เห็นว่าสถาปัตยกรรมแตกต่างกันมาก   อุโบสถวัดไทยลุมพินีออกแบบโดยศิลปินแห่งชาติ  อาจารย์ภิญโญ สุวรรณคีรี คนจังหวัดสงขลา  รู้สึกภูมิใจสุด ๆ ที่คนใต้ได้มาฝากฝีมือเอาไว้ยังแดนพุทธภูมิแห่งนี้  จากลักษณะสถาปัตยกรรมของอุโบสถ อ.ปู่ ให้ทัศนะว่าแปลก เพราะเป็นอุโบสถไม่มีช่อฟ้า มีแต่ใบระกา  และตรงตำแหน่งของช่อฟ้าลวดลายคล้ายกับเรือกอและ  แถบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

 

        หยดน้ำตา ณ สาลวโนทยาน

                                   อุโบสถวัดไทยลุมพินี  ประเทศเนปาล

เสร็จจากทำบุญ  คณะร่ำลาพระสงฆ์วัดไทยลุมพินี  ลาอู่ข้าว โรงทาน และอู่นอน เรือนพักกาย เพื่อไปเยือนสังเวชนียสถานที่ต่อไปคือ กุสินารา แดนปรินิพพาน  รถวิ่งผ่านเส้นทางเดิมเพื่อออกไปยังด่านโสเนาลี  ตอนถึงด่านฯ ฉันลงรถเดินไปหากระเป๋าใส่ผ้าอีกใบเพราะรู้สึกว่ากระเป๋าหนักเพิ่มขึ้นทุกวัน  แถมทำท่าจะปริเอาซะอีก  เพลิดเพลินเจริญใจกับการเลือกรื้อซื้อหา จนรถผ่านหายเข้าเขตประเทศอินเดีย ทิ้งฉันไว้ที่ตะเข็บชายแดนเนปาล  ก็เพราะมาโนชลากฉันให้ไปช่วยซื้อของให้ภรรยา  มาโนชนี่น่ารักจริง ๆ  ซื้อของให้ภรรยาได้หมดทั้งนอกและใน  ฉันยืนยิ้มขำๆ คิดในใจว่า หากรู้สักนิดว่าผู้ชายอินเดียน่ารักปานมาโนช   ฉันคงตกลงปลงใจกับหนุ่มจากเมืองบังกลอร์ นามว่า อับดุล ที่บังเอิญมาพบกันในโลกไซเบอร์ ผ่านโปรแกรมสื่อสาร ICQ เมื่อสี่ซ้าห้าปีที่แล้วเป็นแน่แท้  หนุ่มแขกคนนี้เพียรพยายามโทรหาฉันข้ามประเทศอยู่บ่อยครั้งด้วยภาษาอังกฤษที่รัวเร็ว จนฉันฟังไม่ทัน  และยังติดตามหาฉันในโปรแกรม ICQ จนฉันแทบไม่เป็นอันทำงาน  แต่ฉันกลับไม่สนใจใยดีในไมตรีจิตที่เค้ามอบให้ (รู้สึกเสียดายเล็ก ๆ เมื่อเห็นมาโนชปฏิบัติต่อครอบครัวดีเยี่ยงนี้ ฮา ๆ  แค่คิดก็ผิดแล้ว เพราะไม่อย่างนั้นคงได้รู้ซึ้งถึงที่มาของคำว่าม้าอินเดีย เมียฮินดู)   มาโนชซื้อของเสร็จเดินไปติดต่อเรื่องเอกสารการเดินทาง  ฉันเร่งรีบเดินไปขึ้นรถที่จอดรออยู่  จนมาโนชมาถึง เราจึงได้อำลาแดนดินถิ่นประสูติเพื่อเดินทางต่อรถวิ่งมาพักให้เข้าห้องน้ำที่ พุทธวิหาร สาลวโนทยาน ๙๖๐ อีกครั้งเพื่อเข้าห้องสุขา และพักดื่มน้ำชากาแฟ  จากนั้นเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง คือ เมืองกุสินารา โดยต้องผ่านเมืองโครักขปูร์เหมือนครั้งที่มา  และแน่นอนอาหารเที่ยงวันนี้บนภัตตาคารเคลื่อนที่ คือรถคันที่เรานั่งมานั่นเอง  ไม่เห็นต้องอนาทรร้อนใจอะไร (ยกเว้นไม่อยากตื่นเช้าบ้างในบางวัน) กับวันที่ ๗ ของการเดินทาง เป็นชีวิตที่ปลอดโปร่ง โล่งสบายเอามาก ๆ เพราะไม่ต้องเร่งรีบ ร้อนรน แข่งขัน สารพัดสารพันกับปัญหา  อยู่ที่นี่ถึงแม้อากาศข้างนอกจะร้อนปานใด แต่รับรองได้ว่าในใจฉันเยือกเย็น อดแปลกใจไม่ได้ว่าฉันผู้เป็น working woman ในสายตาคนอื่นจะเย็นยะเยือกได้ปานนี้  เพราะที่เมืองไทยแต่ละวันฉันจะหมุนเป็นลูกข่างในที่ทำงาน วุ่นวายกับกองเอกสาร โต้ตอบเอกสาร ผลิตงานวิชาการ  รับแขก บรรยาย นำชม ติดต่องานร้อยแปด ทำงานจนบางวันไม่รู้ว่าเลยเวลาเลิกงานไปแล้วกี่ชั่วโมง แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่ตัวตนอย่างนั้นหายไป  เป็นฉันคนใหม่ที่เยือกเย็น ปล่อยวาง สุขุมคัมภีรภาพ พร้อมจะเปิดใจรับฟังสาระธรรมและความรู้ที่ได้จากคณะวิทยากรอย่างเต็มเปี่ยม  เพราะเหตุว่าคนเราเลือกจะสุขได้มิหรือ?รถวิ่งผ่านบ้านเมือง ฉันสังเกตดูบ้านเรือนของคนอินเดีย บ้านที่สร้างด้วยอิฐก็เหมือนสร้างไม่เสร็จ เช่น ชั้นสองจะปล่อยโล่งเอาไว้ เหมือนกันแทบทุกบ้าน มาถึงบางอ้อก็ต่อเมื่อแม่ชีบอกว่าคนอินเดียนิยมสร้างบ้านไว้อย่างนั้น เพื่อประโยชน์ใช้สอย คือใช้ตากผ้า ตากข้าว หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ หนึ่ง และเพื่อให้ผู้เป็นลูกได้มีโอกาสต่อเติมในส่วนที่พ่อแม่วางรากฐานไว้ให้หนึ่ง  ก็เป็นอันเข้าใจหลังจากที่หลงอยู่บางงงตั้งนาน   ฉันยังสอดส่ายสายตาหาสิ่งหนึ่งต่อ สิ่งนั้นคือ ขี้วัว ที่ชาวอินเดียขยำรวมกับพวกเศษฟางข้าวและเศษหญ้า เอามาแผ่แปะติดไว้ข้างฝาบ้านเพื่อตากแดดให้แห้ง  แล้วนำมาทำเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหาร      ปิ้งจาปาตี      หรือใช้ปิ้งข้าวโพดที่ฉันกินที่สาวัตถี   เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาคราใดทำเอาฉันรู้สึกผวาข้าวโพดปิ้งทุกครั้ง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเสน่ห์ของอินเดียที่รู้จักบูรณาการของรอบตัวมาใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าอัศจรรย์รถวิ่งผ่านเข้าเขตตำบลกาเซีย หรือเขตเมืองกุสินารา รัฐอุตระประเทศ  พระอาจารย์จูมได้เล่าถึงแดนปรินิพพานให้ฟังพอเป็นปฐมภูมิก่อนเข้าสู่สถานที่จริงไว้ว่า เมืองกุสินารา เป็นเมืองที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเลือกที่จะดับขันธปรินิพพานและถวายพระเพลิง แทนที่จะเลือกเมืองสาวัตถี เมืองราชคฤห์ เมืองโกสัมพี  เมืองพาราณสี หรือเมืองอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าเมืองนี้  เพราะเหตุว่ามีความเหมาะสมไม่น้อยกว่า ๓ ประการ ได้แก่  ๑. เป็นการเหมาะสมที่จะประกาศมหาสุทัสสนสูตร  ๒. พระสุภัททปัจฉิมสาวก กำลังอยู่ที่กุสินารา  ๓.โทณพราหมณ์ซึ่งอยู่ในเมืองกุสินาราจะเป็นผู้แก้ปัญหาการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

 

            พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประชวรอย่างหนักถึงกับอาเจียนเป็นพระโลหิต เพราะเสวยภัตตาหาร  เรียกว่า สุกรมัททวะ ที่นายจุนทะได้ถวาย  แต่ด้วยความมีขันติ พระองค์ท่านต้องอดทนต่อความเจ็บปวดอย่างมหันต์  เพื่อเดินทางมายังกุสินาราให้จงได้

 

 

            หยดน้ำตา ณ สาลวโนทยาน

 

                                               วิหารสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา

 

 

            รถจอดให้คณะลง ณ ประตูทางเข้าสาลวโนทยาน ผ่านประตูเข้าไป จะเห็นวิหารใหญ่สีขาวโดดเด่นท่ามกลางหมู่หญ้าที่เขียวขจี ดูแล้วให้สบายตายิ่งนัก สวนทางกับผู้คนที่แวะเวียนเข้ามายังสถานที่นี้อย่างไม่ขาดสาย เดินตามขั้นบันไดขึ้นไปยังวิหารหลังใหญ่ที่เห็นเป็นสง่าตั้งแต่ย่างเท้าก้าวเข้ามา  เมื่อผ่านเข้าไปด้านใน สิ่งแรกที่มองเห็นคือพระพุทธรูปปางปรินิพพาน บรรทมตะแคงขวา ตั้งพระบาทเหลื่อมพระบาท พระพักตร์อิ่มเอบ นิ่งสงบ  พระวรกายห่มคลุมด้วยแพรสีสด เหมือนท่านเพิ่งเสด็จดับขันธปรินิพพานไปไม่นาน มองผู้คนที่มาสักการะเดินวนไปทางเบื้องพระเศียรของพระองค์ และเมื่อเดินมาถึงด้านปลายพระบาทก็จะหยุดทำความเคารพโดยการเอามือมาแตะที่ปลายพระบาทแล้วเอาไปแตะที่อกตัวเอง ซึ่งถือเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด  ความรู้สึกในขณะนั้นมีบางอย่างที่เอ่อทะลักเข้ามาในใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  ฉันค่อย ๆ ทรุดตัวลงนั่งใกล้เบื้องบาทพระศาสดา  เพื่อฟังคำบรรยายจากพระอาจารย์ คณะ ฯ ได้เตรียมผ้าห่มมาเพื่อถวายพระองค์ จึงได้วนผ้ามาให้ทุกคนได้ตั้งจิตอธิษฐาน  เมื่อผ้ามาถึงฉัน จำไม่ได้ว่าอธิษฐานสิ่งใด  รู้แต่ว่าเมื่อยื่นผ้าไปให้อาจารย์เอี่ยมนภา  หยดหนึ่งของน้ำตาก็ร่วงลงมาที่หลังมือ ตามด้วยน้ำตาอุ่น ๆ ที่ไหลลงมาอย่างไม่ขาดเม็ด   ในใจตอนนั้นนอกจากจะคิดถึงพระองค์ท่านแล้ว  ฉันยังคิดถึงยาย และพ่อ ที่มีอันต้องจากไปอย่างกระทันโดยที่ฉันไม่ทันได้ร่ำลา

                          หยดน้ำตา ณ สาลวโนทยาน

                                         ภาพที่ฉันไม่อาจกลั้นน้ำตา ภายในวิหารสาลวโนทยาน
ด้วยรู้สึกสลดหดหู่ใจ จนไม่อาจต้านทานแรงความรู้สึกได้  ค่อย ๆ ย่องลุกเดินออกจากวิหารที่คณะกำลังสวดมนต์ไปอย่างเงียบ ๆ  เจอแขกเจ้าเล่ห์มาขอค่าเก็บรองเท้า ๑๐ รูปี ฉันไม่อยากต่อล้อต่อเถียง จึงบอกให้ไปเก็บจากหัวหน้าทัวร์ เพราะจำได้ว่าคนที่เก็บรองเท้าให้ไม่ใช่คนนี้  เดินลงมาถึงบันไดวิหารขั้นสุดท้าย  แขกอีกคนชี้ชวนให้ดูต้นสาละ ฉันขอบคุณและยืนมองต้นสาละอยู่ครู่หนึ่งเพื่อถอนสะอื้น  จึงถอยเดินออกมาตามทางเท้า ด้วยรู้สึกว่าร่างกายไร้เรี่ยวแรง แถมยังต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่ยังสลัดไม่หลุดพ้นจากความเศร้าสลด คิดในใจว่า คนเรานั้นเมื่อตายไปจะเหลืออะไรให้คนอื่นได้เสียใจอาลัยหาเหมือนดังพระบรมศาสดา  ดังนั้น คราเมื่อยังมีชีวิต ความดีเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องเตือนใจให้คนอื่นรำลึกนึกถึงเรา เหมือนดังบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่เราเคยท่องกันในสมัยเรียนประถมศึกษาว่า
                 พฤษภกาสร           อีกกุญชรอันปลดปลงปลง
               โททนต์เสน่งคง       สำคัญหมายในกายมี

                นรชาติวางวาย        มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
                สถิตทั่วแต่ชั่วดี       ประดับไว้ในโลกา

 

หยดน้ำตา ณ สาลวโนทยาน

                                     ภายในวิหารสาลวโนทยาน

สิ่งนี้คือสัจธรรมของชีวิต จากสูงสุดสู่สามัญที่ไม่มีผู้ใดจะหลีกลี้หนีพ้น เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง   ระหว่างที่สมาชิกสวดมนต์อยู่ ณ วิหารสาลวโนทยาน ฉันถือโอกาสเดินไปเที่ยวตลาดนัดที่อยู่ใกล้ ๆ    รู้สึกเหงาเล็ก ๆ ที่ไม่มีกล้อง ชีวิตเหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง เดินดูไปเรื่อยเปื่อย ได้กำไลแก้ววงน้อย ๆ มาฝากหลานสาวสิบกว่าวง เสร็จแล้วจึงเดินมารอคณะที่รถ สนทนากับคนขับรถและพ่อค้าที่ขายของสองข้างทางจนคณะกลับมา จึงได้เดินทางต่อไปยังมกุฎพันธนเจดีย์  ซึ่งอยู่ห่างจากมหาปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก ๑ กิโลเมตร สถานที่นี้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ พระอาจารย์นำคณะสวดมนต์เจริญจิตภาวนาอยู่ในเวลาอันสมควร จึงเดินทางออกจากมกุฎพันธนเจดีย์ไปยังวัดกุสาวดี   เส้นทางวันนี้ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ในการไปเยือนจัตุสังเวชนียสถาน อันได้แก่ สถานที่ประสูติ  (ลุมพินี) ตรัสรู้ (พุทธคยา) ปฐมเทศนา (สารนาถ) และปรินิพพาน (กุสินารา)  ฉันคิดเข้าข้างตัวเองว่าได้พบอินเดียด้วยอายตนะ ๖ เกือบสมบูรณ์แล้ว สมดังที่ได้ใฝ่และฝันมาเนิ่นนาน กลับไปเมืองไทยครานี้ฉันคงแจ่มแจ้งเรื่องอินเดียขึ้นอีกหลายเท่าตัว คงไม่ต้องมานั่งงมโข่งเหมือนเพลงไก่ตาฟาง ของธันวา ราศีธนู อีกแล้ว  เพราะมันชัดตาแจ้งใจซะขนาดนี้
          หยดน้ำตา ณ สาลวโนทยาน 
                      มกุฏพันธเจดีย์ ที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
สนธยาราตรีนี้  เราพักที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ห้องละ ๖ คน ห้องดีกว่าโรงแรมบางที่ซะอีก  สะอาดสะอ้าน ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้หลายพันธุ์  เย็นย่ำค่ำคืนรู้สึกคอแห้ง จึงลุกเดินไปหาน้ำดื่มซึ่งอยู่ห่างจากที่พัก แถมไฟฟ้าก็ยังสว่างน้อย เดินไปสักระยะก็เจอ อ.ปู่ที่คงไปหาอะไรดื่มเหมือนกัน  จึงมีเพื่อนเดินร่วมทาง  ไปเจอพระอาจารย์จูม เลยนั่งสนทนากับท่านอย่างจริงจัง  เพราะวันที่ผ่าน ๆ มาท่านต้องทำหน้าที่เป็นพระวิทยากรตลอดเส้นทาง ไม่มีโอกาสได้สนทนากันมากนัก หลากหลายเรื่องราวที่อ.ปู่และฉันได้สนทนากับพระอาจารย์ต่างก็ได้เก็บเกี่ยวสาระแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก่อนแยกย้ายกลับที่พัก  ได้ยินคำที่ อ.ปู่ฝากให้กับพระอาจารย์จูมว่าท่านคือแม่ทัพธรรมยาตราในอินเดียได้ยินคำนี้ฉันมีการบ้านให้ได้ไตร่ตรองอีกเป็นแน่แท้ ด้วยคิดว่าท่านพระอาจารย์จูมควรจะมาเป็นแม่ทัพธรรมยาตราให้กับนักศึกษาของฉันบ้าง...

 

มาถึงที่พัก สักครู่ใหญ่วัดก็ปิดไฟ (ยังสงสัยอยู่จนวันนี้ว่าปิดไฟทำไม?)  พัดลมจึงไม่สามารถทำงานได้  คนหกคน กับอากาศที่ร้อนอบอ้าว ไม่มีลมเล็ดลอดผ่านช่องหน้าต่างเข้ามา ทำเอากระวนกระวายได้พอควร  ฉันไม่อาจทนร้อนบนที่นอน จึงลุกไปนอนที่พื้นหน้าเตียง  สักพักผวาลุกขึ้นเพราะมดกัดจากการแอบกินทับทิมในห้อง (อิอิ)  โอย ทรมานสุด ๆ เดินไปเอาผ้าชุบน้ำมาห่มตัว คลายร้อนไปได้บ้าง ข่มตาให้หลับ  เพราะคิดว่าคนอื่นก็ร้อนเช่นเดียวกันหรืออาจจะร้อนมากกว่าเป็นร้อยเท่าทวีคูณ เมืองนี้มีทั้งสุขและทุกข์ให้เลือก เราต้องพยายามปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์  คิดได้เช่นนั้นก็รู้สึกผ่อนคลาย  จนหลับไปตอนไหนไม่มีใครล่วงรู้ได้... 

ตอนก่อนหน้านี้ ของพิมพิกา ชุดเที่ยวอินเดีย
ปฐมเหตุของการเดินทางไปอินเดีย 
ก้าวแรกที่โกลกัตตา
อรุณรุ่งที่พุทธคยา

 

 

 

แสดงความคิดเห็นเป็นทัศนะส่วนตน

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( พุธ, 20 สิงหาคม 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้606
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1456
mod_vvisit_counterทั้งหมด11414349