Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow พมร.กะทู้ arrow ดาราศาสตร์จากท้องฟ้า
ดาราศาสตร์จากท้องฟ้า PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 03 มกราคม 2008

ดาราศาสตร์จากท้องฟ้า

LESA พัฒนาระบบการเรียน

 

โดย ผู้จัดการออนไลน์2 มกราคม 2551 08:34 น.

 

       ในยามค่ำคืน เมื่อเราแหงนหน้าขึ้นไปบนท้องฟ้า เคยมีใครสงสัยและตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า ทำไมจึงปรากฏดวงดาวและเทหวัตถุต่างๆ อยู่ในท้องฟ้ามากมาย แล้วในดาวดาวเหล่านั้น จะมีสักดวงบ้างไหมหนอที่มีสิ่งมีชีวิตเหมือนกับโลกมนุษย์ หรือเกิดความสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ทำไมดวงดาวเกิดขึ้นได้อย่างไร มีความสัมพันธ์กันอย่างไรและมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหน
       
       คำถามเหล่านี้คือจุดเริ่มของวิชาดาราศาสตร์ ซึ่งต้องบอกว่า มีความสำคัญยิ่ง
       
       อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยแล้ว การเรียนการสอนวิชาดาราศาสตร์ยังถือว่ามีจุดอ่อนอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
       
       

  • กำเนิดแห่ง LESA
           

           สุชาดา  ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บอกว่า ในฐานะ สกว.ที่เป็นหน่วยงานการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาคนและสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ จึงได้มีการสร้างหลักสูตรใหม่ให้กับโรงเรียนที่เน้นทางด้านดาราศาสตร์โลกและวิทยาศาสตร์ กับโครงการ LESA (Learning center for Earth Science and Astronomy) พร้อมทั้งให้สนับสนุนในการสร้างเนื้อหา สื่ออุปกรณ์ในการเรียนการสอนให้แก่ครูและนักเรียนได้อย่างกว้างขวาง
     
  •   
           “LESA เป็นโครงการที่สร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจให้เยาวชนเกิดความสนใจเรียนรู้เรื่องระบบโลก และดาราศาสตร์ ที่เชื่อมโยงเรื่องราวของธรรมชาติและการปกป้องโลก ตลอดทั้งเป็นแหล่งที่พัฒนาศักยภาพของครูด้านการสอนวิชาวิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ โดยใช้กระบวนการวิจัยจัดเป็นกิจกรรมที่ใช้ประกอบสื่อการเรียนการสอนให้ทันสมัยให้แต่นักเรียน”
           
           ทั้งนี้ โครงการ LESA ได้รับความรวมมือจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักดาราศาสตร์ไทยที่กำลังศึกษาอยู่ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ที่เชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ทำการวิจัยเชิงลึกด้านดาราศาสตร์ ทำการศึกษาข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบมาเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้เพื่อช่วยพัฒนาครูและนักเรียนในการเรียนการสอนทางด้านดาราศาสตร์ อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจาก University of Michigan ในการทำงานวิจัยขั้น Advance โดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ROTSE ซึ่งติดตั้งไว้ทั่วมุมโลกจำนวน 4 แห่ง ในการถ่ายภาพท้องฟ้าตลอด 24ชั่วโมง รวมถึงโครงการ Digital Sky Survey ของ University of Arizona ซึ่งเป็นโครงการค้นหาดาวหาง ดาวเคราะห์น้อยและดาวแปรแสง หรือแม้แต่การเฝ้าระวังวัตถุที่จะเข้ามาใกล้โลกอีกด้วย

           สุชาดา เล่าว่า เมื่อเกิดความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศทำให้เกิดการนำภาพของจักรวาลทั้งหมดมาใส่ไว้หน้าจอคอมพิวเตอร์ของเด็กนักเรียนให้ได้เรียนรู้ในส่วนของข้อมูลท้องฟ้าและข้อมูลดาวต่างๆ พร้อมทั้งก่อให้เกิดงานวิจัยทั้งระดับนักเรียนและครูขึ้นมา
           
           “สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่การส่องกล้อง แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นภาพจนได้เกิดผลงานวิจัยของเด็กขึ้นมากมาย จึงเห็นว่าเมื่อเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลักสูตรการเรียนอย่างกว้างขวางและไม่ได้ทำเฉพาะในโรงเรียนหรือในเครือข่ายแต่ได้มีการพัฒนาเป็นหลักสูตร E-Learning หรือแม้แต่หลักสูตรการเรียนทางไกลเพื่อขยายวงกว้างขึ้นอีก”
           
           “การเรียนดาราศาสตร์ในยุคแรกๆ มีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ตอนนี้เมื่อทำในโครงการ LESA จึงได้รับข้อมูลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง เมื่อเด็กเริ่มสนใจจึงเกิดการสร้างจินตนาการและเกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตามมาและพัฒนานำไปสู่ความเป็นนักดาราศาสตร์ยุคใหม่” สุชาดาแจกแจงถึงข้อดี

           
  • จากครูผู้เสพ-สู่ครูผู้สร้าง
           
           จากการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน จึงทำให้ “หรรษา ด่านสกุล” อาจารย์โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ถูกจับย้ายมาสอนในวิชาโลกดาราศาสตร์ ถึงแม้ไม่ได้จบมาทางด้านนี้โดยเฉพาะก็ตาม
           
           “ปลายปี 2548 มีโครงการวิจัย โดยการสนับสนุนของ สกว. ซึ่งโครงการนี้จะต้องเข้าไปรับการฝึกอบรมการวิจัยทางดาราศาสตร์ที่หอดูดาวเกิดแก้ว จ.กาญจนบุรี ที่เป็นสถานีวิจัยของศูนย์ LESA ระยะเวลาหนึ่งเดือน ทำให้ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการการวิจัยต่างๆ จนได้ชิ้นงานออกมาและยังได้ความรู้เพิ่มเติมในด้านซอฟต์แวร์ต่างๆรวมทั้งสามารถเรียนรู้ถึงกระบวนการของดาราศาสตร์ในส่วนที่เราข้องใจหรือยังติดขัดอยู่ ซึ่งภายในหนึ่งเดือนเราสามารถจะตักตวงแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่จากที่นี่ได้”
           
           อาจารย์หรรษายังบอกอีกด้วยว่า ก่อนจะให้ความรู้หรือทำงานวิจัยจริง เขาจะปูพื้นความรู้ให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโลกหรือดาราศาสตร์ ซึ่งทำให้ตัวเองได้พัฒนาความรู้มากกว่าที่คาดคิดเอาไว้ นอกจากนี้ หลังที่ได้กลับมาแล้ว น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ LESA ยังได้ติดต่อกลับมาบอกถึงความเปลี่ยนแปลงและความคืบหน้าทางดาราศาสตร์ตลอด
           
           “ตัวดิฉันเองพัฒนาขึ้นเยอะ จากเป็นครูดาราศาสตร์ที่ไม่ค่อยรู้อะไรและไม่รู้จะไปถามใคร อ่านหนังสือเท่าที่มีให้อ่านเท่านั้น แต่ตอนนี้ยอมรับได้เลยว่ารู้จักอะไรขึ้นเยอะและสามารถที่จะถ่ายทอดให้นักเรียนได้เข้าใจแม้แต่คุณครูด้วยกันหรือแม้แต่หน่อยงานต่างๆ ในจังหวัดอุดรธานี ดิฉันสามารถจะอธิบายและถ่ายทอดออกมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ”

  •        
  • จากเมล็ดถั่วเขียว เริ่มต้นเป็นนักวิทยาศาสตร์
           
           ตรีรัตน์ ตั้งพูลผล นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนศึกษานารี เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมฝึกวิจัยเพื่อค้นหาดาวเคราะห์น้อยกับศูนย์ LESA และได้เป็นเด็กไทยคนแรกที่ค้นพบดาวหางโดยการสังเกตและศึกษาข้อมูลภาพถ่ายที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์ของโครงการ Catalina Sky Survey เมื่อปี 2549
           
           “วิธีการคือ ใช้วิธีสลับภาพเหมือนกับการทำแอนนิเมชั่นโดยใช้ภาพหลายๆ ภาพมาต่อกันและเปิดดูเร็วๆ จนได้เห็นถึงวิธีการเปลี่ยนแปลง จึงพบวัตถุเคลื่อนที่ต่างกับดาวเคราะห์น้อย ซึ่งถ้าเป็นดาวเคราะห์น้อยจะเคลื่อนที่ทางด้านซ้ายของภาพไปยังด้านขวาของภาพ แต่วัตถุนี้เคลื่อนที่จากด้านล่างไปด้านบน จากนั้นจึงได้สอบถามไปยังอาจารย์และได้คำตอบว่ามันอาจจะเป็นดาวหางก็ได้ จึงได้ไปตรวจสอบในฐานข้อมูลออนไลน์ที่มีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลาก็ไม่พบ จึงคิดว่าเป็นดาวหางแน่ๆ เมื่อได้ตรวจสอบอีกที่กับนักดาราศาสตร์ที่อเมริกาจึงรู้ว่ามีคนค้นพบไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่แล้ว”
           
           ตรีรัตน์ เล่าด้วยว่า ระหว่างการทำงานวิจัยทำให้ได้พบปะเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งมาจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยและได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความคิดซึ่งกันและกัน รวมทั้งยังได้ลองทำในสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยได้ทำมาก่อนและยังได้ฝึกความคิดความรับผิดชอบและความอดทน รวมทั้งรู้จักการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตและการทำงานได้อีกด้วย
           
           ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการเรียนดาราศาสตร์มีมากกว่าการส่องกล้องดูดาวหรือการทำกิจกรรมแค่การมีอุปกรณ์เท่านั้น แต่นักเรียนได้ทั้งความรู้และเรียนรู้ถึงกระบวนการที่จะประสานงานในระบบการศึกษาระบบโลกได้กว้างขึ้น ถ้าหากนักเรียนไม่ได้รับโอกาส ตรงนี้ก็แค่เป็นการเรียนในหนังสือ ถ้าหากมีการสนับสนุนหลายๆ ส่วนความสามารถที่อยู่ในตัวเด็กอาจปรากฏขึ้นทางการศึกษาได้
  • แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 13 มกราคม 2008 )
     
    < ก่อนหน้า   ถัดไป >

    News

    สมุดภาพเหมืองแร่

    Counter

    mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
    mod_vvisit_counterวันนี้1331
    mod_vvisit_counterเมื่อวาน1376
    mod_vvisit_counterทั้งหมด10678919