Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ปากบอนเพราะฝากะลามะพร้าว:ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 31 พฤษภาคม 2008

ปากบอนเพราะฝากะลามะพร้าว

 

ราชัน กาญจนะวณิช

-----------------

หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบของจอมพลแปลก  พิบูลสงคราม  มาเป็นการปกครองภายใต้ระบบของจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์แล้ว  ผมได้มีโอกาสพบ  นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันคนหนึ่ง  ซึ่งมีอายุมากกว่าผม  3-4  ปี  เขาชื่อเกรแฮมซึ่งเป็นชาวต่างชาติคนหนึ่ง  ที่ผมและชาวภูเก็ตรักใคร่ชอบพอเพราะเป็นคนที่คบหาสมาคมได้กับคนทุกชั้น

เกรแฮมทำงานอยู่กับบริษัทอเมริกันบริษัทหนึ่ง  ซึ่งได้รับการติดต่อให้เข้ามาลงทุนในการสำรวจทำเหมืองแร่และถลุงดีบุกในประเทศไทยในยุคนั้น  โดยได้รับสิทธิพิเศษบางประการในหารสำรวจแหล่งแร่ดีบุกในทะเล  เมื่อเกิดสงครามในภาคแปซิฟิก  กองทัพเรือญี่ปุ่นได้เปิดฉากโจมตีฐานทัพเรืออเมริกันที่เพิร์ล  ฮาร์เบอร์  ในปี  พ.ศ. 2484  นั้นเกรแฮมได้ศึกษาจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยซัทเทร์น  แคลิฟอร์เนีย  ที่ลอสแอนเจลลิสไปแล้ว  และได้ไปเริ่มงานในอเมริกากลาง  และประเทศฟิลิปปินส์  เกรแฮมจึงโชคร้ายที่ต้องถูกญี่ปุ่นควบคุมตัวไว้เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าไปในฟิลิปปินส์

 

เกรแฮม  และเพกกี้ภรรยา  มีนิสัยโอบอ้อมอารี  ช่วยเหลือและเห็นใจคนทั่วไปจึงมีเพื่อนฝูงมาก  ทั้งในหมู่ชาวต่างประเทศและคนไทย  นอกจากการทำงานที่ภูเก็ตแล้ว ในช่วงหลัง ๆ เกรแฮมถูกย้ายเข้ากรุงเทพฯ  และมาเช่าอพาร์ทเมนท์อยู่ที่อาคารแห่งหนึ่งในซอยทองหล่อ  หรือที่เรียกกันว่า  สุขุมวิท  55  ครั้งหนึ่งผมกำหนดจะเข้ามาทำธุระในกรุงเทพฯ  และจะพักอยู่นานประมาณ  2  สัปดาห์  ซึ่งปกติผมมักจะใช้โรงแรมเอราวัณเป็นที่พัก เพราะคณะกรรมการบริษัทเจ้าของโรงแรมลดราคาให้เป็นพิเศษ  แต่ในครั้งนั้นเกรแฮมบอกว่าเขาและครอบครัวจะเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาไปพักผ่อน  จึงขอเชิญให้ผมและครอบครัวไปใช้อพาร์ทเมนท์ของเขาซึ่งมีคนทำความสะอาดและทำอาหารอยู่พร้อม  เมื่อได้รับเชิญจากเพื่อนด้วยความจริงใจ  ผมจึงตกลงรับปากว่าจะเจ้าไปพักที่บ้านของเกรแฮม  เมื่อใกล้จะถึงกำหนดวันที่เกรแฮมจะเดินทางไปพักร้อนในสหรัฐอเมริก  ทางเจ้าของอพาร์ทเมนท์ก็ได้แจ้งให้เกรแฮมทราบว่า  อาคารที่เกรแฮมเช่าอยู่นั้น มีข้อกำหนดห้ามมิให้คนไทยเข้าไปเช่าหรือพักอาศัยอยู่  แม้แต่คนรับใช้ก็ให้เดินทางกลับในเวลาค่ำคืน  ข้อห้ามพิสดารนี้ทำให้เกรแฮมไม่สบายใจมาก  ที่เขาเองเป็นคนต่างชาติยังยินดีต้อนรับคนไทยยิ่งกว่าคนไทยที่เป็นเจ้าของอาคารเสียอีก  อย่างไรก็ดี  เมื่อทางฝ่ายเจ้าของอาคารซึ่งมีน้องชายเป็นเพื่อนกับน้องของผม  ทราบว่าเพื่อนของเกรแฮมที่จะมาพักในอาคารนั้น  คือ  ผมและครอบครัว เขาก็ยินดีที่จะยกเว้นข้อบังคับพิสดารนั้นเสีย  ผมนั้นทราบดีว่าที่เจ้าของอาคารหลายแห่งในกรุงเทพฯ  รังเกียจคนไทยด้วยกัน  เพราะคงมีคนไทยบางคนทำให้ผู้เช่าอื่น ๆ เกิดความรำคาญต่าง ๆ นานามาแล้ว

ครั้งหนึ่งผมเคยพาครอบครัวเดินทางโดยรถยนต์  จากสนามบินกรุงเวียนนาในประเทศออสเตรียไปค้างที่เมืองเซนท์วาเลนติน  (ST. VALENTIN)  ริมแม่น้ำดานูป เมื่อตื่นเช้าจะออกเดินทางต่อ  พนักงานโรงแรมขอค้นกระเป๋าของลูกสาวของผม  โดยอ้างว่าผ้าเช็ดตัวของโรงแรมหาย  ลูกสาวของผมทั้งสองคนต่อว่าพนักงานโรงแรมว่าผ้าเช็ดตัวของโรงแรมเก่าดูไม่ได้  ไม่มีใครขโมยแน่ ๆ ต่อมาภรรยาผมทนไม่ได้จึงต้องนำตัวพนักงานโรงแรมไปดูที่ห้อง  ก็ปรากฏว่าผ้าเช็ดตัวเก่า ๆ ของโรงแรมยังคงอยู่ในที่เก็บผ้า  พนักงานโรงแรมจึงขออภัยและอธิบายว่าไม่ค่อยได้เห็นคนอาบน้ำใช้ผ้าเช็ดตัวตั้งแต่เช้า  พนักงานโรงแรมอาจเห็นเราเป็นคนไทยเลยพลอยเข้าใจว่าคนไทยมีนิสัยไม่ดีชอบเก็บของคนอื่นไปใช้เป็นส่วนตัว  โรงแรมในออสเตรียที่ดีมีพนักงานที่สามารถก็มี  ถ้าล่องแม่น้ำดานูปลงไปอีกไม่ไกลก็จะถึงเมือง  DURNSTEIN  ซึ่งมีปราสาทเดิมที่ใช้เป็นที่กักกันพระเจ้าริชาร์ดที่  1  หัวใจสิงห์  (COEUR  DE  LION)  ได้กลับกลายมาเป็นปราสาทใหม่ที่ตั้งโรงแรมชั้นหนึ่งทั้งที่พักและบริการ

เกรแฮมเคยสารภาพกับผมว่า  เขามีนิสัยเสียอยู่ข้อหนึ่ง  คือชอบรับประทานอาหารไทยมาก  จึงมีน้ำหนักมากผิดปกติ  แต่ข้อที่สำคัญก็คือ  เกรแฮมชอบรับประทานมะพร้าวสังขยา  และชอบที่ฝากะลามะพร้าวสังขยาเป็นพิเศษ  คนไทยมักจะห้ามเด็ก ๆ ว่าอย่ารับประทานฝากะลามะพร้าวสังขยา  เพราะจะทำให้ปากบอน  เมื่อผมเตือนมิให้รับประทานฝากะลามะพร้าว  เกรแฮมกลับเล่าให้ผมฟังว่า  เนื่องจากบริษัทที่เขาทำงานอยู่  ได้รับสิทธิพิเศษบางประการ  ในการเข้ามาทำการสำรวจแหล่งแร่ดีบุกในทะเลในประเทศไทย  ทางบริษัทจึงมีข้อตกลงกับรัฐมนตรีบางคน  ที่จะต้องจ่ายเงินพิเศษให้  และเกรแฮมเองก็รู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ  เป็นประจำเพื่อนัดพบกับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนของผมเอง  ที่ภัตตาคารซีฟู๊ด  ที่ถนนเพ็ชรบุรีตัดใหม่  ในระหว่างการรับประทานอาหารกลางวันเป็นประจำเช่นนั้น  ทั้งเกรแฮมและข้าราชการผู้ใหญ่ก็นัดเข้าห้องน้ำพร้อมกันและใช้ส้วมที่อยู่ติดกัน  และเกรแฮมก็จะส่งซองใหญ่ใส่เงินสด  สอดเข้าไปยังห้องส้วมข้าง ๆ  โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่เห็นหน้าเห็นตาซึ่งกันและกัน

เกรแฮมอธิบายว่า  ทางบริษัทอเมริกัน  ถือเสียว่าการกระทำเช่นนั้น  เป็นประเพณีของไทย  และเมื่อบริษัทอเมริกันเข้ามาทำงานในประเทศไทย  ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย  หรือที่เรียกกันว่า  เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม

ผมไม่อาจสรุปได้ว่า  ความคิดเห็นเช่นนี้จะเป็นนโยบายของบริษัทอเมริกัน  ส่วนมากหรือไม่  และจะต่างกับบริษัทอังกฤษที่ผมรู้จักและที่จะยึดมั่นในประเพณีของตน  เพราะผมมีประสบการณ์ไม่เพียงพอที่จะสามารถสรุปดังนั้นได้  แต่ผมก็เห็นใจทั้งเพื่อนชาวอเมริกันและชาวไทยที่ต้องปฏิบัติเช่นนั้น  และดีใจที่ผมไม่ต้องทำงานภายใต้ระบบเช่นนั้น

ในปัจจุบัน  สหรัฐอเมริกาได้ใช้กฎหมายใหม่ซึ่งห้ามมิให้บริษัทอเมริกันที่ไปดำเนินงานในต่างประเทศ  ให้สินบนแก่ผู้ใด  ถ้าฝ่าฝืนจะถูกลงโทษถึงขั้นจำคุก

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้590
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1980
mod_vvisit_counterทั้งหมด10696856