Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow มนุษยศาสตร์ arrow กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว สมถะ ซื่อตรงและขยันขันแข็ง:ราชัน กาญจนะวณิช
กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว สมถะ ซื่อตรงและขยันขันแข็ง:ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 31 พฤษภาคม 2008

กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว สมถะ ซื่อตรงและขยันขันแข็ง

 

ราชัน กาญจนะวณิช

-----------------

 

  ในช่วงเวลา  25  ปีที่ผมทำงานกับบริษัทอังกฤษหลายบริษัทที่ได้เข้ามาดำเนินการอยู่ในจังหวัดภูเก็ตนั้น  ได้มีโอกาสรู้จักชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก  และในบรรดาชาวต่างประเทศเหล่านี้ก็มีหลายคนที่มีชีวิตที่เด่นและน่าสนใจ

  ชาวต่างประเทศคนแรกที่ผมรู้จักดี  ก็คือ  นายวอเรน  เจ. พาร์สันส์  (WARREN  J.PARSONS)  ชาวออสเตรเลียที่ได้ชักชวนให้ผมไปทำงานที่ภูเก็ต  เขาเริ่มต้นวิชาชีพด้วยการฝึกหัดงานตามโรงงานในออสเตรเลีย  และเข้ามายังประเทศสยามหลังเปลี่ยนแปลงปกครอง  เมื่อปี  พ.ศ. 2475  โดยการเข้ามาทำงานหน้าที่เป็นหัวหน้ากะบนเรือขุดของบริษัทระเงง  ทิน  โนไลอาบิลิตี ที่จังหวัดภูเก็ต  และย้ายมาทำงานในบริษัททุ่งคาฮาเบอร์  ทินเดรคยิง  ลิมิเต็ด  เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2479 -80  เมื่อกลุ่มบริษัทลอนดอน ทิน คอร์ปอเรชันของอังกฤษได้เข้ามาซื้อบริษัทเหมืองแร่ดีบุกหลายสิบบริษัทที่มีเหมืองอยู่ในประเทศมาเลเซียและประเทศสยาม  ด้วยความสามารถในการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว  กล้าหาญ  เด็ดขาดและความสามารถในการพูดจาภาษาไทย  มลายูและจีนฮกเกี้ยน  วอเรน  พาร์สันส์  จึงก้าวหน้าในอาชีพ  จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการเหมืองและผู้จัดการเขตตามลำดับ  เมื่อเกิดสงครามในยุโรป  ในปี  พ.ศ. 2482  และมีท่าทีว่าญี่ปุ่นจะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ  นายวอเรน  พาร์สันส์จึงได้รับการชักชวนจากรัฐบาลอังกฤษ  ให้ร่วมมือในการต่อต้านญี่ปุ่น  ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะยาตราทัพเข้ามาในประเทศไทย  เพื่อบุกโจมตีมาลายาสและสิงคโปร์ของอังกฤษ  นายวอเรน  พาร์สันส์  เคยเล่าให้ฟังว่า  ได้เคยนำเรือยนต์ออกไปรับอาวุธและเครื่องมือสื่อสารจากเรือรบอังกฤษ  เพื่อนำมาเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับญี่ปุ่น  ในการนำเรือออกในกิจการพิเศษเช่นนี้  นายวอเรน  พาร์สันส์ไว้ใจและออกไปกับขุนเลิศโภคารักษ์แต่ผู้เดียว

 

  เมื่อกองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้าประเทศไทยในวันที่  8  ธันวาคม  พ.ศ. 2484  นายวอเรน  พาร์สันส์พร้อมกับวิศวกรชาวอังกฤษและออสเตรเลียจากเหมืองแร่ต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตและพังงา  จึงสามารถเข้าควบคุมสนามบินไม้ขาวที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อเตรียมต้อนรับเครื่องบินอังกฤษที่จะบินมาช่วยเหลือตามแผนการที่กำหนดไว้เดิม  แต่อาศัยเหตุที่ทางกองทัพอังกฤษในมาลายามีกำลังจำกัดไม่เพียงพอที่จะส่งเครื่องบินมายังภูเก็ตได้  จึงจำเป็นต้องใช้เรืออพยพชาวเครือจักรภพอังกฤษหนีญี่ปุ่นออกไปยังมาลายา

  ต่อมานายวอเรน  พาร์สันส์ได้รับงานสงครามกับกองพัน “ซินดิด”  ภายใต้นายพลออด  วินเกต  (ORDE  CHARLES  WINGATE)  ในการรังควานกองทัพญี่ปุ่นหลังแนวรบพม่า  และมียศเป็นนายพันโท  และได้เข้าขับไล่ญี่ปุ่นออกจากพม่าในกองทัพของจอมพลเซอร์  วิลเลียม  สลิม  (F.M.SIR W. J. SLIM)  หลังสงครามได้กลับมาบูรณะเหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทยและได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองกงสุลอังกฤษประจำจังหวัดภูเก็ต  นายวอเรน  พาร์สันส์  ใช้วิธีจัดการแบบทหารและนาน ๆ ครั้งก็พาวิศวกรไปฝึกหัดในป่าแบบทหารกองพัน “ซินดิด”  ซึ่งพนักงานอาวุโสบางคนไม่เห็นสนุกด้วย

  นายวอเรน  พาร์สันส์  เป็นผู้ที่รักภูเก็ตและประเทศไทย ในสมัยหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา  ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยตามสัญญาสมบูรณ์แบบ  ให้แก่ชนชาติเครือจักรภพอังกฤษ  เพราะไทยได้ประกาศสงครามร่วมมือกับญี่ปุ่น  นายวอเรน  พาร์สันส์ เป็นชาวเครือจักรภพคนเดียวที่เห็นใจประเทศไทย  และไม่ยื่นคำเรียกร้องค่าเสียหายส่วนตัว  เพราะถือว่าสงครามที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เกิดจากความผิดของประเทศไทย

  นายวอเรน  พาร์สันส์  ย้ายจากภูเก็ตไปอยู่กัวลาลัมเปอร์ในประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2500  และอีกไม่กี่ปีต่อมาก็เลิกทำงานเหมืองแร่  กลับไปทำไร่ที่เมืองเจม  บรุค ในรัฐวิคตอเรีย  ในประเทศออสเตรเลีย  เมื่อมีชาวภูเก็ตไปเยี่ยม  นายวอเรน  พาร์สันส์ ก็จะยกห้องนอนให้พัก  ส่วนตัวเองและภรรยากลับไปนอนในครัว  เป็นการแสดงน้ำใจเผื่อแผ่อย่างจริงใจต่อมิตรเก่า  ๆ จากภูเก็ต
 

 

  นอกจากชาวออสเตรเลียที่ได้กล่าวมาแล้ว  ก็ยังมีชาวอังกฤษอีกหลายคนที่มีชีวิตที่น่าสนใจ และบางคนก็เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย  ชาวอังกฤษผู้หนึ่งที่มีชีวิตที่น่าสนใจก็คือ  วินเซนท์  ลิธ วีมส์  (VINCENT  L.  WEMYSS)  วิค  วีมส์  เข้ามาทำงานเหมืองแร่ดีบุกในประเทศไทยตั้งแต่อายุได้  18  ปี  เพราะบิดาทำงานอยู่ในเหมืองแร่ดีบุกอยู่แล้ว  วิค  วีมส์  เริ่มทำงานเรือขุดที่เหมืองสิชลของบริษัทระตรุต  เบซิน  ทิน  เดรคยิ่ง  ลิมิเต็ด  ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและได้ย้ายมาอยู่ที่เหมืองนบปริงของบริษัทกำมุนติง  ทิน  เดรคยิง  ลิมิเต็ดที่จังหวัดพังงาเมื่อเกิดสงครามญี่ปุ่นยกทัพเข้าประเทศไทย  วิค  วีมส์  จึงมีโอกาสมาร่วมกับชาวอังกฤษต่าง ๆ ที่สนามบินไม้ขาวในจังหวัดภูเก็ตก่อนที่จะต้องอพยพออกจากประเทศไทย  เมื่อหนีไปมาลายา  วิค  วีมส์  ได้เข้าประจำการในกองทัพอังกฤษในการต่อต้านญี่ปุ่น  และต่อมาได้เข้ามีบทบาทสำคัญในหน่วย  316  ของอังกฤษที่ได้ร่วมงานกับเสรีไทยด้วยการใช้เครื่องบินแคตาลีนา  (CATALINA)  ซึ่งเป็นเครื่องบินน้ำสามารถลงทะเลในที่หลบซ่อนต่าง ๆ ได้ แม้แต่บุคคลสำคัญ  เช่น  คุณดิเรก  ชัยนาม  หลวงชาตินักรบ  และคุณถนัด  คาร์มันต์  ก็เป็นเสรีไทยที
่วิค วีมส์ได้มีโอกาสพาออกจากประเทศไทยไปประชุมที่แคนดีในเกาะซีลอน

วิค  วีมส์  เคยเล่าให้ฟังว่าในการลักลอบพาเสรีไทยกลับเข้าประเทศไทยนั้นต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ  มิให้เสรีไทยนำนำบุหรี่อังกฤษหรือของใช้ที่ทำในอังกฤษกลับเข้ามาเพราะอาจเป็นหลักฐานพยานให้ข้าศึกทราบภายหลังได้ว่ามีการติดต่อระหว่างเสรีไทยกับกองทัพอังกฤษ  เมื่อสงครามเลิก  เพราะญี่ปุ่นต้องยอมจำนนหลังจากที่เมืองฮิโรชิมาในประเทศญี่ปุ่นถูกเครื่องบินอเมริกันทิ้งระเบิดปรมาณูเมื่อวันที่  6  สิงหาคม  พ.ศ. 2488  วิค  วีมส์  ได้มาซ่อนตัวอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับสมาชิกขบวนการเสรีไทยแล้ว

หลังสงคราม  วิค  วีมส์  ได้กลับเข้ามาทำงานเหมืองแร่ในบริษัทแองโกล – โอ เรียนเตล  ในประเทศมาลายา  และต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยเป็นผู้จัดการเหมืองสาขาร่อนพิบูลย์ของบริษัททุ่งคาเบอร์  ทิน  เดรคยิง  ลิมิเต็ด  ประมาณปี พ.ศ. 2500  จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ภูเก็ตโดยรักษาการแทนผู้จัดการเขต  ของบริษัทแองโกล – โอ เรียนเตล  จากประสบการณ์ในสงคราม  วิค  วีมส์ มีเพียงคนไทยเป็นจำนวนมาก  ทั้งในด้านมหาดไทยและกองทัพอากาศ  และชอบการเดินทางที่โลดโผน  เช่น  เดินทางด้วยเรือยนต์เล็ก ๆ จากภูเก็ตไประนองและกลับในระหว่างฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  ครั้งหนึ่งผมเคยเดินทางกลับจากทุ่งสงกับ  วิค วีมส์  แต่รถปิคอัพที่เราใช้ตกถนนรถคว่ำที่กระบี่ทับแขน  วิค วีมส์เอาไว้  ต้องช่วยกันยกรถก่อนที่จะกลับภูเก็ตได้  ทั้ง ๆ ที่ วิค  วีมส์  ซี่โครงหักก็ยังคงทนทรมานมาได้ตลอดทาง  วิค  วีมส์  ชอบทำงานกับคนไทย  และพูดจาเรียบร้อยกับคนงานไทยแต่เมื่อเผชิญหน้ากับชาวอังกฤษด้วยกันแล้ว  วิค  วีมส์  ใช้ภาษาอังกฤษที่น่ากลัวที่ผมไม่อาจแปลเขียนเป็นตัวอักษรได้  อย่างเบา ๆ ที่จำได้  ก็มักจะเตือนพนักงานว่าไม่มีใครที่หาคนแทนไม่ได้  แม้แต่พระเยซูก็ยังถูกมนุษย์ด้วยกันฆ่าทิ้งได้  วิค  วีมส์  ไม่ค่อยชอบทำงานทางด้านเอกสารแต่ชอบงานซ่อมเครื่องจักรและชอบลงมือเอง  จนบางครั้งนายเรือขุดต้องขอให้ วีค  วีมส์  กลับไปคอยที่บ้าน  เพื่อปล่อยให้คนงานทำงานเองตามวิธีการของเขา  ในปี  พ.ศ.  2501  มีการจำกัดโควตาดีบุกรุนแรง  วิค  วีมส์ย้ายกลับไปอยู่มาเลเซีย  แต่ก็มีหน้าที่มาตรวจงานในประเทศไทยเป็นประจำ  เมื่ออายุครบ  55  ปีในปี  พ.ศ. 2519  จึงได้กลับไปอยู่ในประเทศอังกฤษ  ตลอดเวลาที่  วิค  วีมส์  ทำงานในประเทศไทย  เขามีความเป็นห่วงอนาคตของประเทศไทยอยู่มาก  เมื่อเขาเห็นคนงานมาทุบสะพานที่สร้างมาได้ไม่กี่ปีตามทางหลวงสายโคกกลอย – พังงา  เพื่อจะขยายถนน  เขาก็กลุ้มอกกลุ้มใจที่รัฐบาลไทยใช้เงินโดยไม่ระมัดระวัง

นอกจากนั้นก็ยังมีชาวอังกฤษที่มาตรวจงานที่ภูเก็ตเป็นประจำอีกคนหนึ่ง  คือ  เดวิท  มิทเชลล์  (DAVID  MITCHELL)  ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ได้รับทุนให้เรียนวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่จากบริษัทลอนดอน  ทิน  เดวิท  มิทเชลล์  เริ่มการศึกษาจากวิทยาลัย  อีตัน  และเล่าว่าดยุคแห่งเวลลิงตัน  กล่าวว่า  อังกฤษรบชนะนโปเลียนที่วอเตอลู  ก็จากประสบการณ์ในสนามกีฬาที่อีตัน  มิทเชลล์เคร่งศาสนาจึงไม่มีชีวิตโลดโผนในสงครามโลกครั้งที่สอง  แต่เป็นสุภาพบุรุษเต็มตัว  ทำหน้าที่เป็นวิศวกรวตรวจงานอย่างมีประสิทธิภาพและการณ์ไกลเขาเริ่มงานที่ไนจีเรียแล้วย้ายมาอยู่มาลายา  จนกระทั่งได้เลื่อนเป็นประธานกรรมการของบริษัทแองโกล – โอเรียนเตลในมาลายา  และในที่สุดก็ได้เป็นประธานบริษัทลอนดอน  ทิน ในอังกฤษ  นิสัยที่น่าสรรเสริญก็คือ  การประหยัด  สมถะ  ซื่อตรง  และขยันขันแข็ง  นอกจากความเฉลียวฉลาดที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เดวิท  มิทเชลล์  เคยมาช่วยผมร่างสัญญากับบริษัทบางม่วง  เพื่อเริ่มใช้เรือขุดในทะเลเปิดที่ตะกั่วป่า และจะเก็บตัวเพื่อร่างสัญญาอยู่ในห้องหนึ่งสัปดาห์  จนเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย  แม้แต่ในการเดินทางในธุรกิจบริษัท  มิทเชลล์ก็พยายามแยกบัญชีเครื่องดื่มส่วนตัวออกจากบัญชีบริษัทโดยละเอียด  ในการทำงานถึงแม้ตัดสินใจไปจนเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้ว  แต่ถ้าผู้อยู่ใต้ยังคับบัญชาอธิบายเหตุผลให้เห็นว่าไม่ควรจะทำตามที่ตัดสินใจไป  ก็ยินดีที่จะพิจารณาใหม่และฟังเหตุผลของพนักงานที่ต้องปฏิบัติในสนาม  เดวิท  มิทเชลล์ใช้ชีวิตอยู่อย่างเงียบ ๆ ใน ชนบทในประเทศอังกฤษหลังจากที่บริษัทลอนดอน  ทิน  ได้ขายหุ้นในบริษัทเหมืองแร่ต่าง ๆ ให้แก่รัฐบาลมาเลเซีย  ก่อนที่ตลาดดีบุกจะล้มทลายลง

นักศึกษาอังกฤษที่ได้รับทุนให้ศึกษาวิชาวิศวกรรมเหมืองแร่จากบริษัทลอนดอน ทิน  อีกผู้หนึ่งก็คือ  เดวิท  เดวิทสัน  (DAVID  DAVISON)  ซึ่งมีนิสัยคล้ายกันกับมิทเชลล์  แต่เดวิทสันนั้นได้ทำหน้าที่ในสงครามโลกครั้งที่สองอย่างโลดโผน  คือเป็นนักบินทิ้งระเบิดอังกฤษที่เครื่องบินถูกยิงตกในยุโรป  และต้องตกเป็นเชลยศึกของกองทัพเยอรมัน  แต่เดวิทสันกับพวกก็พยายามขุดอุโมงค์หนีออกจากค่ายคุมขังเยอรมัน

ในการทำงาน  ก็มีนิสัยประหยัด  สมถะ  ซื่อตรงและขยันขันแข็งเช่นเดียวกัน  จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นประธานกรรมการของบริษัทแองโกล – โอเรียนเตล

ผมถือว่าโชคดีที่ได้ทำงานร่วมกับท่านที่กล่าวนามมานี้  เพราะความกล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง  การประหยัด  สมถะ  ซื่อตรงและขยันขันแข็งเป็นเครื่องบังคับให้งานดำเนินไปอย่างรวดเร็วได้ผลและไม่ต้องกังวลเรื่องการเมือง  หรือการประจบวิ่งเต้นใด ๆ ทั้งสิ้นทำให้สามารถทำงานด้วยความสบายใจและด้วยเกียรติยศ  ถ้าโครงการใดแม้จะมีผลตอบแทนสูงแต่ต้องให้สินบนหรือความไม่เป็นธรรมต่อคู่สัญญาก็อย่าเข้าไปใกล้โครงการนั้น ๆ

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้56
mod_vvisit_counterเมื่อวาน855
mod_vvisit_counterทั้งหมด10697177