Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow PHUKETDATA arrow จากแดนพญามังกรสู่มังกรเกาะ:หรินทร์ สุขวัจน์
จากแดนพญามังกรสู่มังกรเกาะ:หรินทร์ สุขวัจน์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 26 พฤษภาคม 2008

(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว)

จากแดนพญามังกรสู่มังกรเกาะ

หรินทร์ สุขวัจน์

 

ประเทศจีน ดินแดนพญามังกรที่มีประชากรมากที่สุดในโลก อู่อารยธรรมที่ชนชาติหนึ่งได้สืบทอดประวัติศาสตร์อันยาวนานไม่น้อยกว่าห้าพันปี กำเนิดบุคคลที่ควรจดจำ คัมภีร์ที่ให้ศึกษาเรียนรู้ และตำนานเล่าขานมากมาย  หนึ่งในเรื่องราวอันกลายเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของหลายชนชาติในโลกคือการเดินทางของชาวจีนไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งทางบกและทะเล เกิดการผสมผสานกับชนพื้นเมือง ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง  พื้นที่และเกาะแก่งฝั่งทะเลอันดามันด้านทิศตะวันตกของไทย อันรวมถึงเกาะแห่งหนึ่งซึ่งในอดีตเคยได้รับสมญา“ฮ่ายเหลง:มังกรทะเลแห่งมหาสมุทรอินเดีย”ก็ร่วมอยู่ในเรื่องราวดังกล่าวนี้ด้วย

  
สุวรรณภูมิ : ตะวันตกพบตะวันออก

 

 ภูเก็ตมีชาวป่าซาไกและชาวน้ำ(ชาวเล)ชนเผ่าเร่ร่อนแห่งทะเลใต้เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมมาเป็นพันๆ ปีแล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ไม่มีผู้อพยพเข้าไปตั้งหลักแหล่ง ชุมชนย่อยจึงดำรงอยู่เป็นเวลานาน ไม่สามารถทำการเกษตรขนาดใหญ่พัฒนาเป็นสังคมได้  ราวสองพันปีก่อน เมื่อเริ่มมีการเดินเรือเลียบไหล่ทวีป ทั้งการผจญภัย สำรวจ และทำการค้าแลกเปลี่ยนสิ่งของ โลกก็เริ่มรู้ว่า มีดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ของจากป่า และแร่ธาตุ นามว่า“สุวรรณภูมิ” หรือดินแดนผืนแผ่นดินใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อุษาคเนย์) อันมีชนพื้นเมืองต่างเผ่าพันธุ์อยู่กัน ตั้งอยู่ระหว่าง 2 มหาสมุทร คือมหาสมุทรอินเดียทางทิศตะวันตก และมหาสมุทรแปซิฟิกทางฝั่งตะวันออก

หลัง พ.ศ.500 เป็นต้นมา เริ่มเข้าสู่ยุคการค้าทางทะเล ชาวอาหรับ-เปอร์เซีย(อิหร่าน) ชาวสิงหล(ลังกา) และชาวชมพูทวีป(อินเดีย)ที่มาจากตะวันตกก็เริ่มลงหลักปักฐานในอนุภูมิภาคอันเป็นเส้นทางการค้าสำคัญในยุคแรก นำเอาศาสนา อักษร วรรณคดีเข้ามา  ขณะที่ชาวจีนจากทางตะวันออกได้นำเอาเครื่องมือของใช้ ภาษา และอาหารการกินเข้ามา โดยจีนเรียกดินแดนนี้ว่า“จินหลิน”หรือ“กิมหลิน” ซึ่งมีความหมายเดียวกับชื่อสุวรรณภูมิว่า แผ่นดินทอง หรือแหลมทอง


การค้าโลกตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000 ขยายตัวมากกว่าแต่ก่อนหลายเท่า โดยเฉพาะอินเดียและจีนซึ่งใช้เส้นทางเดินเรือผ่านบริเวณสุวรรณภูมิสะดวกกว่าเส้นทางการค้าทางบกโบราณที่รู้จักกันในชื่อ เส้นทางสายไหม  แต่เนื่องจากเทคโนโลยีการต่อเรือยังไม่สามารถสร้างเรือแล่นอ้อมช่องแคบมะละกาได้ เรือสินค้าจากทางแถบอินเดียจึงต้องจอดยังฝั่งตะวันตกของสุวรรณภูมิ บริเวณเมาะตะมะ(ในพม่าปัจจุบัน) เพื่อขนถ่ายสินค้าทางบกไปลงอ่าวไทยต่อไปยังกวางตุ้ง-กวางสีในจีน  สำเภาจากจีนซึ่งเริ่มเข้ามายังสุวรรณภูมิตั้งแต่ราชวงศ์ถัง(พ.ศ.1161-1450) อันเป็นยุคทองของจีน ก็ต้องมาถ่ายสินค้าลงเรือเลียบชายฝั่งไปยังอินเดียและตะวันออกกลาง  เส้นทางการค้าเช่นนี้ผลักดันให้บ้านเมืองบริเวณสุวรรณภูมิเติบโตขึ้นเป็นรัฐขนาดใหญ่มากมายจนเป็นอาณาจักรต่อไปข้างหน้า กล่าวเฉพาะทางใต้ของไทย ได้แก่ รัฐไชยา รัฐตามพรลิงค์ รัฐปัตตานี และรัฐไทรบุรีทางฝั่งตะวันตก โดยมีกลุ่มศรีวิชัยเป็นเสมือนคนกลาง  เกิดการประสมประสานกันทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมกับชนพื้นเมืองเดิมบนส่วนที่ต่อมาเรียกว่าคาบสมุทรมลายู อันรวมถึงชุมชนและสถานีการค้าตามชายฝั่งทะเลอันดามัน  เกาะภูเก็ตแม้จะยังไม่เป็นเมือง ก็ได้รับอิทธิพลจากพัฒนาการของบ้านเมืองรอบๆ ตลอดมา

 

ชาวจีนกับสยามประเทศ

 

 ในบรรดาดินแดนโพ้นทะเลที่ชาวจีนอพยพไปตั้งรกรากนั้น ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์หรือดินแดนที่ชาวจีนเรียกขานว่า“หนานหยาง” เป็นอาณาบริเวณที่ชาวจีนโพ้นทะเลมาอยู่อาศัยมากที่สุด  หลักฐานการตั้งหลักแหล่งของชาวจีนในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย อันเนื่อง
มาจากการค้าเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเชื่อว่า กลุ่มช่างปั้นถ้วยโถโอชามชาวจีนได้เดินทางสู่สยามประเทศในสมัยราชวงศ์ซ้องตอนปลาย โดยเฉพาะที่เรียกเครื่องสังคโลก(ชื่อสังคโลกนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพทรงสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากภาษาจีนว่า ซ้องโกลก  ซ้อง มาจากชื่อราชวงศ์ + โกลก= เตา  ฉะนั้น คำว่าซ้องโกลกจึงแปลว่า“เตาแผ่นดินซ้อง”)

 หลังการล่มสลายของราชวงศ์หยวนในปี พ.ศ.1911 การฟื้นฟูการค้าทางทะเลของจีนในยุคราชวงศ์หมิงคือตำนานอันประกาศความเกรียงไกรทางทะเลของจีน  กองเรือมหาสมบัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนและของโลกภายใต้การบัญชาการของแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ ประกอบไปด้วยเรือกว่า 300 ลำ บรรทุกทหาร พลเรือน พ่อค้า แพทย์ นักพฤกษศาสตร์ พ่อครัว นายช่าง ล่าม เจ้าหน้าที่ทูต นักสอนศาสนาอิสลาม และพระภิกษุในพุทธศาสนา ราว 30,000 ชีวิต ได้ออกเดินทางกระชับความสัมพันธ์กับนานาชาติชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ไปยังทิศตะวันตกกว่า 30 ประเทศในอุษาคเนย์ อินเดีย อาหรับ และแอฟริกา รวม 7 ครั้ง ในปี พ.ศ.1948-1976  ยิ่งทำให้พ่อค้าชาวจีนได้ทราบแหล่งทำการค้าและชุมชนชาวจีนในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

 การเข้ามายังไทยในลักษณะการอพยพหนีภัยคราวละมากๆ ช่วงแรกเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง(พ.ศ.2187-2454) อันเนื่องจากภัยสงครามที่พวกแมนจูเข้ายึดครองแผ่นดินและความแร้นแค้น ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา  อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ชาวจีนจำนวนมากอพยพไปสู่ดินแดนโพ้นทะเลนั้นสัมพันธ์กับยุคที่ชาติตะวันตกออกล่าอาณานิคม โดยเฉพาะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาณานิคมหลายแห่งต้องการแรงงานจำนวนมาก ทำให้ชาวจีนอพยพส่วนใหญ่หลั่งไหลสู่ดินแดนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ด้วยการอพยพในรูปแบบ“เสื่อผืนหมอนใบ” โดยมีแรงบันดาลใจในการอพยพจากคำเล่าลือกันถึงความสำเร็จของชาวจีนอพยพรุ่นก่อนๆ ประกอบกับโลกทัศน์ของชาวจีนตามเมืองท่าที่อยู่ทางภาคใต้ของจีนนั้น คือการออกสู่ดินแดนโพ้นทะเลเพื่อแสวงหาโชคลาภ หรือเพื่อชีวิตที่ดีกว่าเดิม  และก็เพราะจักรวรรดิอังกฤษต้องการบีบบังคับจีนจนเกิด“สงครามฝิ่น”ขึ้นในปี 2382 ยิ่งเสริมให้แรงงานชาวจีนอพยพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ซึ่งได้ทรงประกาศการห้ามสูบฝิ่น เพื่อส่งเสริมศีลธรรมในบ้านเมืองในปีเดียวกันนั้นเอง)


หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เมื่อปี 2309 จีนได้ถูกรุกรานโดยพม่าที่กำลังขยายแสนยานุภาพ จักรพรรดิจีนได้ส่งกำลังไปปราบปรามพม่าถึง 4 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ  เมื่อทราบว่าขุนศึกไทยเชื้อสายจีนนาม“สิน” สามารถกอบกู้เอกราชได้ ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี (ชาวจีนขนามนามว่า แต้อ๊วง) ชาวจีนจึงได้เข้ามาทำการค้าและอพยพมายังกรุงธนบุรีจำนวนมาก ทำให้ประชากรชาวจีนโพ้นทะเลในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 230,000 คนในปี 2368


ชาวจีนในภูเก็ต

 ภูเก็ตมีการทำแร่ดีบุกมาเป็นพันปี แต่เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ข้อจำกัดวิทยาการ และกำลังคนบนเกาะมีไม่มาก ยังเป็นชุมชนขนาดเล็ก จึงขยายตัวช้า  แม้จะเชื่อว่าคือ“เมืองตะกั่วถลาง”หรือ เมืองสุนัขนาม อันเป็นเมืองบริวารหนึ่งในสิบสองเมืองนักษัตรของนครศรีธรรมราชโบราณ(ราว พ.ศ.1000 เป็นต้นมา) ก็จัดอยู่ในลำดับเมืองที่สิบเอ็ด และไม่ค่อยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้เกี่ยวกับเกาะแห่งนี้ ชื่อภูเก็ตเองก็เพิ่งปรากฏขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี(พ.ศ.2310-2325)  โดยที่ก่อนหน้านั้นมีปรากฏชื่อจากบันทึกต่างๆ เช่น จังซีลอน ฉลาง ถลาง ฯลฯ  ชาวจีนที่เริ่มมาปักหลักในสมัยอยุธยามากขึ้น แต่ที่เข้ามายังภูเก็ตมักเป็นการโยกย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองรอบๆ ในแถบชายทะเลและเกาะน้อยใหญ่อันมีมะละกาเป็นศูนย์กลาง หรือข้ามมาจากทางหัวเมืองชายฝั่งอ่าวไทยซึ่งมีชาวจีนเข้าอาศัยอยู่ก่อน มิได้เป็นการอพยพคราวละมากๆ ชนพื้นเมืองดั้งเดิม และชุมชนอื่นๆ ได้แก่ ชาวมอญ ทมิฬ ไทย และมลายู ก็อยู่กระจัดกระจาย  มีการทำแร่เป็นหลัก โดยเริ่มมีชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งห้างรับซื้อแร่ขึ้นบนเกาะถลาง(ชื่อของภูเก็ตในสมัยนั้น)ตั้งแต่ปี 2126  ตามมาเป็นฮอลันดาในปี 2169

 

 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การค้ากับต่างประเทศรุ่งเรือง ชุมชนชาวจีนก็ขยายตัวขึ้นรองรับการทำเหมืองแร่สินค้าสำคัญ พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพ่อค้าชาวฝรั่งเศสขึ้นเป็นเจ้าเมืองถลาง เพื่อจัดการผลประโยชน์เกี่ยวกับแร่ดีบุกให้แก่กรุงศรีอยุธยา  ในปี 2231 หลังจากผลัดแผ่นดิน สมเด็จพระเพทราชาโปรดให้ประหารชีวิต มร.ชัวร์ เดอ บิลลี่ เจ้าเมืองถลางชาวฝรั่งเศส แล้วแต่งตั้งคนจีนฮกเกี้ยนชื่อนายคังเซ้งลงไปเป็นเจ้าเมืองแทน ชาวถลางเรียก พระยาถลางคางเซ้ง และสันนิษฐานว่าอาจมีชาวจีนเป็นเจ้าเมืองสืบต่อจนกระทั่งเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี 2310  ถลางจึงกลับไปอยู่ในอำนาจของผู้นำท้องถิ่นซึ่งเป็นสายตระกูลกลุ่มเครือญาติถลางเดิม(สืบเชื้อสายสุลต่านไทรบุรี) 

  

  ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา เมื่อมีการพบแหล่งแร่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมหาอำนาจทางยุโรปเพิ่มการทำการค้าขึ้นมาก มีการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับชาวตะวันตก ทำให้มีความต้องการแรงงานชาวจีนเพื่อมาทำเหมืองแร่อย่างมากจนกลายเป็นชนส่วนใหญ่ของภูเก็ตแต่นั้นเป็นต้นมา.


19/5/51

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้869
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2580
mod_vvisit_counterทั้งหมด10705614