Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 21 พฤษภาคม 2008

เปิดลับแลม่านฟ้าเกาะพญามังกรทอง

 

ภูเก็ต เป็นชื่อที่ใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2452 แทนชื่อภาษาไทยว่า “ภูเก็จ” (ภู หมายถึงภูเขา, จำนวนมาก; เก็จ คือรัตนะหมายถึงแก้วมีค่ายิ่ง) ซึ่งตรงกับความหมายที่ชาวทมิฬเรียกเมืองนี้ว่า “มณินครัม” ตามหลักฐานในศิลาจารึกเมื่อ พ.ศ.1568   เดิมใช้ จังค์ ซีลอน (คือสิลัน สลาง ฉลาง ถลางหรือเกาะภูเก็ต ในปัจจุบัน) ตามแผนที่ของคลอดิอุส ปโตเลมีเมื่อ พ.ศ.700 เป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดียโดยผ่านแหลมมลายูและสิงคโปร์


ภูเก็ตเป็นเมืองที่เติบโตมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งต้องใช้ดีบุกผสมทองแดงเป็นสัมฤทธิ์ และนำไปเคลือบโลหะกันสนิมมากว่า 500 ปี จึงทำให้ชาวยุโรป(โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศสและอังกฤษ) และชาวจีนฮกเกี้ยน(ทั้งที่ผ่านมาจากสิงคโปร์และปีนังหรือมาจากจีนโดยตรง)หลั่งไหลเข้ามาทำเหมืองและตั้งหลักแหล่งในภูเก็ต มีวัฒนธรรมผสมผสานไทย ยุโรปและจีน ทำให้มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น อาทิ สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส อาหารพื้นเมือง ภาษา การบูชาเทพเจ้า การแต่งกาย การแต่งงาน รวมไปถึงน้ำทะเลใสสีคราม หาดทรายสะอาดและแดดเมืองร้อน จนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ ไข่มุกแห่งอันดามัน เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก้องโลก


ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวที่มีสภาพเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  ตั้งอยู่ทางฝั่งภาคใต้ในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ 543 ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ตจากทิศเหนือจรดทิศใต้ 48.7 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก 21.3 กิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 3 อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภอถลางและอำเภอกะทู้

โปท้องหง่อก่ากี่ 

ชินวิถี 

อัญมณีนายหัวเหมือง

 

สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส (CHINO-PORTUGUESE STYLE) (ชิโนหมายถึงจีน ส่วนโปรตุกีสหมายถึงยุโรป ๔ ชาติ คือ โปรตุเกส ฮอลลันดา ฝรั่งเศสและอังกฤษ) สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 จนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ร.8  ส่วนใหญ่เป็นอาคารสองชั้นทั้งหลังเดี่ยว(อังมอเหลา)และห้องแถว กำแพงหรือผนังอาคารก่ออิฐฉาบปูนหนาตั้งแต่ 60 เซนติเมตรขึ้นไป ใช้รับน้ำหนักอาคารทั้งหมด(ยุคหลังใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก) การใช้กำแพงรับน้ำหนักนี้ทำให้อาคารมั่นคงแข็งแรง หลังคามีความลาดชัน มุงกระเบื้องดินเผาแผ่นเล็กรูปตัว v วางสลับคว่ำ-หงาย  บานประตูหน้าต่างชั้นล่างส่วนใหญ่เป็นแบบสถาปัตยกรรมจีน มีการแกะสลักลวดลายธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์ตามคติความเชื่อของจีน ประตูหน้าต่างและช่องลมประดุจปากตาและคิ้วพญามังกร ช่องแสงเหนือหน้าต่างไว้ระบายอากาศเป็นลายลบมุมทั้งสี่จากรูปค้างคาว ส่วนชั้นบนมีหน้าต่างยาวถึงพื้นเรียกหน้าต่างแบบฝรั่งเศส บานหน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ปรับมุมได้ ลวดลายตกแต่งผนังเป็นปูนปั้นมักเป็นลายที่มาจากสถาปัตยกรรมยุโรปในยุคนีโอคลาสสิกหรือยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (RENAISSANCE)  มีเสาอิงที่มีลวดลายหัวเสาตามรูปแบบของโรมันและกรีกคลาสสิกหลายชนิด เช่น โครินเธียน(CORINTHIAN) ดอริก(DORIC) ไอโอนิก(IONIC) {{ทัสคัน (TUSCAN) คอมโพสิต(COMPOSITE)}}  รวมทั้งซุ้มโค้งหน้าต่างมีการตกแต่งลวดลาย เป็นการผสมผสานของหลายยุคศิลปะมารวมไว้ในอาคารเดียวเรียกว่า ECLECTICISM
 องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งของอาคารแบบชิโนโปรตุกีส คือการมีเฉลียงหรือช่องทางเดินมีหลังคาคลุมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีและป้องกันแดดฝน เรียกว่าหง่อกากี่ (ARCADE)


อาคารสาธารณะแบบชิโนโปรตุกีสที่โดดเด่นคือสถานีตำรวจภูธรตลาดใหญ่ซึ่งมีหอนาฬิกาอยู่ชั้นบน, ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว, สมาคมภูเก็ตฮกเกี้ยนสามัคคี, โรงแรมออนออน และอาคารเอกวานิช 


ในส่วนของคฤหาสน์หลังเดี่ยวที่เรียกว่า อังมอเหลา (อังมอ แปลว่าผมแดงคือชาวยุโรป, เหลาแปลว่าตึก) เช่น ตึกพระอร่ามสาครเขตร ตึกพระพิทักษ์ชินประชา ตึกชินประชา ตึกหลวงอนุภาษภูเก็ตการ
 อาคารตึกแถวที่มีหง่อก่ากี่เยี่ยมชมได้ที่เมืองทุ่งคาคือถนนถลาง ถนนพังงา ถนนเทพกระษัตรีบริเวณแถวน้ำ ถนนภูเก็ต ถนนเยาวราช หากต้องการชื่นชมบานประตูสุดสวยต้องดูที่ตึกแถวถนนดีบุก

 

เรืองดารากร


กำเนิดดวงอาทิตย์

 ระบบสุริยะจักรวาลเกิดมาท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศ โดยกลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองที่เรียกว่า เนบิวลา จะหมุนวนรอบตัวเองอย่างช้าๆคล้ายการหมุนของวงล้อ ก๊าซส่วนใหญ่ของเนบิวลา คือ ไฮโดรเจน การควบแน่นของเนบิวลานี้จะดึงดูดก๊าซ และฝุ่นละอองต่าง ๆ เข้าสู่ศูนย์กลาง เนื่องจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง และเริ่มเปล่งรังสีออกมาเนื่องจากความดันและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากเวลาผ่านไปนับพันล้านปี การควบแน่นและหดตัวจะก่อให้เกิดมวลสะสมขนาดมหึมา จวบจนกระทั่งอุณหภูมิและความดันที่ใจกลางสูงพอจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ฟิวชันขึ้น จนมีรูปร่างคล้ายลูกบอลสีแดงขนาดยักษ์ ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของดาวฤกษ์ดวงใหม่ “ดวงอาทิตย์” ซึ่งได้แผ่พลังงานความร้อน แสงสว่างและแรงดึงดูดห่างออกไป 13 พันล้านกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางระบบสุริยจักรวาล มีดาวเคราะห์บริวาร ๘ ดวง คือดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน (พลูโตเป็นดาวเคราะห์แคระ)

 

กำเนิดโลก


โลกได้เริ่มก่อกำเนิดจากการรวมตัวของกลุ่มก๊าซแล้วเย็นตัวลงเมื่อ 4,560 ล้านปีที่แล้ว โลกเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่สาม ห่างจากดวงอาทิตย์ 150 ล้านกิโลเมตร มีอุณหภูมิที่เหมาะสมและแรงดึงดูดสูงที่ทำให้น้ำคงสภาพอยู่กับโลกได้ และเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีวิวัฒนาการจนมีออกซิเจนในบรรยากาศ ปัจจัยทั้งสามประการส่งผลให้ "โลก" กำเนิดสิ่งมีชีวิตเมื่อ 4,300 ล้านปีที่แล้ว

โลกแบ่งออกเป็นชั้นต่าง ๆ รวม 4 ชั้น อันประกอบด้วย

1. แก่นโลกชั้นใน   เป็นของแข็งที่แข็งมาก ประกอบด้วยเหล็กและนิกเกิล
2. แก่นโลกชั้นนอก    เป็นชั้นของเหลวที่มีเหล็ก ออกซิเจน และกำมะถัน เป็นองค์ประกอบหลัก เคลื่อนที่ได้
3. เนื้อโลก     ซึ่งเป็นชั้นของเหลวเรียกว่าหินหนืด ประกอบด้วยซิลิคอน อลูมิเนียม และแมกนีเซียมออกไซด์เป็นส่วนใหญ่เคลื่อนที่อยู่เป็นนิจ บางส่วนที่สัมผัสเปลือกโลกแล้วเย็นตัวลงจะเป็นหินอัคนีเช่นหินแกรนิต  ทะลุทะลวงออกสู่ผิวโลกเป็นภูเขาไฟพ่นควันและหินหนืดออกมาเป็นลาวาเย็นตัวลงเป็นหินบะซอลต์เป็นต้น ดันเปลือกโลกเคลื่อนเป็นทวีปแปรเปลี่ยนขนาดและรูปทรงเป็นพื้นราบสูงบ้าง ภูเขาบ้าง ทะเลบ้างไปตามกาล
4. เปลือกโลก    ประกอบด้วนธาตุที่เบากว่า เช่น ซิลิคอน ลอยอยู่บนชั้นของเหลว แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนแผ่นดินที่เป็นหินแกรนิต และส่วนแผ่นมหาสมุทรซึ่งเป็นหินบะซอลต์รองรับ


ส่วนชั้นบรรยากาศที่อยู่ล้อมรอบโลก เป็นแก๊สซึ่งประกอบด้วยไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์  ฯลฯ

 

หิน

 

 หิน หมายถึง มวลของแข็งที่ประกอบขึ้นด้วยแร่ชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดรวมตัวกันอยู่ตามธรรมชาติ  แบ่งตามลักษณะการเกิดได้เป็น 3 ชนิด

1.หินอัคนี  เกิดจากหินหนืดที่อยู่ใต้เปลือกโลกแทรกดันขึ้นมา แล้วตกผลึกเป็นแร่ต่าง ๆ และเย็นตัวลงจับตัวแน่นเป็นหินที่ผิวโลก แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1.1 หินอัคนีแทรกซอน  เกิดจากการเย็นตัวลงอย่างช้า ๆ ของหินใต้เปลือกโลก มีผลึกแร่ขนาดใหญ่น้อยกว่า 1 มิลลิเมตร เช่น หินแกรนิต  หินไดออไรต์  หินแกบโบร  เป็นต้น
1.2 หินอัคนีพุ หรือ หินภูเขาไฟ   เกิดจากการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วของหินหนืดที่ดันตัวพุ่งออกมานอกผิวโลกเป็นลาวา  ผลึกแร่มีขนาดเล็กหรือไม่เกิดผลึกเลย เช่น หินบะซอลต์  หินแอนดีไซต์  หินไรโอไลต์
2. หินชั้นหรือหินตะกอน  เกิดจากการทับถมและสะสมตัวของตะกอนต่าง ๆ ได้แก่ เศษหิน แร่ กรวด ทราย ดินที่ผุพัง  หรือสึกกร่อนถูกชะละลายมาจากหินเดิม  โดยกระบวนการธรรมชาติ คือ ธารน้ำ ลม ธารน้ำแข็งหรือคลื่นในทะเล  พัดพาไปทับถมและแข็งตัวเป็นหินในแอ่งสะสมตัว  หินชนิดนี้แบ่งตามลักษณะเนื้อหินได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
2.1 หินชั้นเนื้อประสม  เป็นหินชั้นที่เนื้อเดิมของตะกอนพวกกรวด ทราย เศษหินและดินยังคงสภาพให้พิสูจน์ได้ เช่น หินทราย  หินดินดาน  หินกรวดมน  เป็นต้น
2.2 หินชั้นเนื้อประสาน เป็นหินที่เกิดจากตกผลึกทางเคมีหรือจากสิ่งมีชีวิต  เนื้อประสานกันแน่น ไม่สามารถพิสูจน์สภาพเดิมได้ เช่น หินปูน  หินเชิร์ต  เกลือหิน  ถ่านหิน  เป็นต้น
3. หินแปร  เกิดจากการแปรสภาพโดยการกระทำของความร้อน  ความดันและปฏิกิริยาทางเคมี  ทำให้เนื้อหิน แร่ประกอบหินและโครงสร้างเปลี่ยนไปจากเดิม  การแปรสภาพของหินจะอยู่ในสถานะของแข็ง  ซึ่งจัดแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
3.1 การแปรสภาพบริเวณไพศาล  เกิดเป็นบริเวณกว้างโดยมีความร้อนและความดันทำให้เกิดแร่ใหม่หรือผลึกใหม่เกิดขึ้น  มีการจัดเรียงตัวของแร่ใหม่ และแสดงริ้วขนาน เช่น หินไนส์  หินชีสต์  และหินชนวน เป็นต้น
3.2 การแปรสภาพสัมผัส เกิดจากการแปรสภาพโดยความร้อนและปฏิกิริยาทางเคมีของสารละลายที่ขึ้นมากับหินหนืดมาสัมผัสกับหินท้องที่ ไม่มีอิทธิพลของความดันมากนัก  ปฏิกิริยาทางเคมีอาจทำให้ได้แร่ใหม่บางส่วนหรือเกิดแร่ใหม่แทนที่แร่ในหินเดิม  หินแปรที่เกิดขึ้นจะไม่มีการจัดเรียงตัวของแร่ใหม่  ไม่แสดงริ้วขนาน เช่น หินอ่อน หินควอร์ตไซต์ เป็นต้น

 

ธาตุ


 
ธาตุ เป็นสารชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยอะตอมเพียงชนิดเดียว  อะตอมมีลักษณะเป็นอนุภาคเล็ก ๆ และเป็นองค์ประกอบของสารทุกชนิด  ตัวอย่างเช่น  กำมะถัน  ฮีเลียม  หรือดีบุก   เป็นธาตุ  ประกอบด้วยอะตอมของกำมะถัน  ฮีเลียม  หรือดีบุกเพียงชนิดเดียว และไม่สามารถแตกตัวเป็นสสารที่เล็กไปกว่านี้ได้

 

การจัดกลุ่มธาตุ

 

 จนถึงปัจจุบันได้ค้นพบธาตุ 115 ชนิดแต่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเพียง 90 ชนิด สามารถแบ่งประเภทธาตุได้เป็นโลหะ  อโลหะ  และกึ่งโลหะ   และจัดเรียงในรูปแบบตารางที่เรียกว่า  “ตารางธาตุ” (PERIODIC TABLE)

ให้แสดงตารางธาตุ


โลหะ


 มากกว่า 3 ใน 4 ของธาตุทั้งหมดเป็นโลหะ (METAL) ธาตุที่เป็นโลหะส่วนใหญ่หนาแน่นและมันวาว มีประโยชน์ใช้สอยมากมายเนื่องจากมีความแข็งแรง และสามารถตกแต่งรูปร่างได้ง่าย นอกจากนี้ยังเป็นตัวนำไฟฟ้าและตัวนำความร้อนได้ดี โดยปกติจะพบโลหะรวมตัวกับธาตุอื่นในเปลือกโลก

 

อโลหะ


 พบธาตุอโลหะ (NON-METAL) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ 16 ชนิด ซึ่งนำความร้อนและไฟฟ้าได้ดี (ยกเว้นแกรไฟต์ ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของคาร์บอน) ที่อุณหภูมิห้อง  อโลหะ 4 ชนิดเป็นของแข็ง (ฟอสฟอรัส คาร์บอน  กำมะถัน และไอโอดีน) ส่วนโบรมีนเป็นของเหลว   อโลหะนอกจากนี้อีก 11 ชนิด  เป็นก๊าซ

 

อโลหะ         

                                                                      
ไฮโดรเจน กำมะถัน
ฮีเลียม คลอรีน
คาร์บอน อาร์กอน
ไนโตรเจน โบรมีน
ออกซิเจน คริปตอน
ฟลูออรีน ไอโอดีน
นีออน ซีนอน
ฟอสฟอรัส เรดอน

 

กึ่งโลหะ


 ธาตุกึ่งโลหะ (SEMI-METAL หรือ METALLOID) นำไฟฟ้าได้ไม่ดีเช่นเดียวกับอโลหะ แต่สามารถปรับปรุงให้นำไฟฟ้าได้ดีเช่นเดียวกับโลหะได้ ด้วยเหตุนี้ธาตุกึ่งโลหะ จึงเรียกว่า สารกึ่งตัวนำ (SEMICONDUCTOR) ธาตุกึ่งโลหะมีทั้งสิน 9 ชนิด ทั้งหมดเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง

 

กึ่งโลหะ 


โบรอน พลวง
ซิลิคอน เทลลูเรียม
เจอร์เมเนียม พอโลเนียม
สารหนู แอสทาทีน
ซีลีเนียม 

 

ธาตุในโลก


 ชั้นนอกสุดของโลก  คือ  เปลือกโลก (CRUST) ส่วนประกอบด้วยธาตุเพียง 5 ชนิด ธาตุเหล่านี้เกิดขึ้นโดยลำพังยาก แต่อาจพบบางชนิด เช่น ทอง ที่พบมากมักมีสารชนิดอื่นเป็นองค์ประกอบ (COMPOUND)


ธาตุบริสุทธิ์และสารประกอบที่พบในเปลือกโลกเรียกว่า  แร่  (MINERAL) แร่ที่ประกอบด้วยโลหะ เรียกว่า สินแร่ (ORE)

 

ธาตุสามัญ


 ออกซิเจนเป็นธาตุสามัญที่สุดในเปลือกโลก  มักเกิดในลักษณะรวมตัวกับซิลิกอนซึ่งเป็นธาตุสามัญอันดับที่สอง  และรวมตัวกับอลูมิเนียมและเหล็ก  ซึ่งเป็นโลหะสามัญที่สุด

 

การเกิดแร่


 แร่ส่วนใหญ่เกิดจากแมกม่าร้อน (MAGMA คือ หินหลอมเหลวที่มีก๊าซละลายอยู่) ถูกผลักดันขึ้นมาจากส่วนลึกใต้เปลือกโลกและเย็นตัวลง แล้วแข็งตัว สภาวะของแหล่งแมกมาที่แข็งตัวลงเป็นตัวกำหนดชนิดรูปแบบของแร่รูปทรงเรขาคณิตที่เรียกว่า ผลึก (CRYSTAL) จะเกิดขึ้นเมื่อแร่เย็นตัวลงอย่างช้า ๆ กระบวนการเย็นตัวลงอาจเร็วมากจนกระทั่งไม่มีการตกผลึก ในสภาวะเช่นนี้จะเกิดแร่เป็นรูปแบบแก้วสีดำเป็นมันวาว ที่เรียกว่า ออบซิเดียน

 

หมู่ของแร่


 แร่แบ่งเป็นหมู่ตามชนิดของธาตุองค์ประกอบ  แร่ซึ่งประกอบด้วยธาตุเพียงชนิดเดียว  เรียกว่า  ธาตุโดยธรรมชาติ (NATIVE ELEMENT)
คาร์บอเนต (CARBONATE) เป็นแร่ซึ่งประกอบด้วยธาตุอื่น ๆ รวมตัวกับคาร์บอนและออกซิเจนเป็นแร่ที่พบมากที่สุดรองจากซิลิเกต
ฟอสฟอรัส (PHOSPHATE)  เป็นแร่ที่เกิดขึ้นเมื่อฟอสฟอรัสทำปฏิบัติกิริยากับออกซิเจนและธาตุชนิดอื่น ๆ


ซิลิเกต (SILICATE) คือ แร่ซึ่งประกอบด้วยซิลิกา (silica) คือซิลิกอนรวมตัวกับออกซิเจน เป็นกลุ่มแร่ที่ใหญ่ที่สุด คือมีถึง 92 % ในเปลือกโลก


เฮไลด์ (HALIDE) เป็นหมู่ของแร่ซึ่งประกอบด้วยธาตุ ฮาโลเจน
ซัลไฟด์ (SULPHIDE) เป็นหมู่ของแร่ซึ่งประกอบด้วยธาตุอื่นรวมตัวกับกำมะถัน

 ธาตุจำนวนมากรวมตัวกับออกซิเจนในเปลือกโลกทำให้เกิดหมู่ของแร่ที่เรียกว่า  ออกไซด์ (OXIDE)  หมู่ของแร่อื่น ๆ อีกจำนวนมากประกอบด้วยออกซิเจน ทั้งหมดมีชื่อลงท้ายด้วย “เอต” (ATE) ส่วนแรกของชื่อ แสดงถึงธาตุชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

แร่ ธาตุ


อาร์เซเนต สารหนู
โบเรต โบรอน
โครเมต โครเมียม
โมลิบเดต โมลิบดินัม
ไนเตรต ไนโตรเจน
ซัลเฟต กำมะถัน
ทังสเตน ทังสเตน
วานาเดต วาเนเดียม

 

สายแร่แห่งชีวิต

 

 การทำเหมืองแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ต  เริ่มในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ปี พ.ศ.2069 และในปี พ.ศ.2228 มีการซื้อขายแร่ดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีชาวฝรั่งเศสมาตั้งบริษัทรับซื้อแร่ดีบุกเป็นการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในจังหวัดภูเก็ต 
การทำเหมืองดีบุกในภูเก็ต นับจากอดีตจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการทำเหมืองแร่ดีบุกขนาดเล็ก พึ่งพาแรงงานคน(ไม่ใช้เทคโนโลยี) โดยที่ชาวบ้านจะร่อนหาแร่ตามลำธาร ส่วนเจ้าเมืองหรือพวกที่มีทุนรอนขึ้นมา ก็ทำเหมืองแล่น เหมืองครา
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชาวจีนอพยพเข้ามามากขึ้น และมีการนำเทคนิคในการทำเหมืองแบบใหม่ที่ต้องอาศัยทักษะ แรงงาน และเงินทุนสูงขึ้นเข้ามาด้วย คือ การทำเหมืองหาบและเหมืองปล่อง เจ้าเมืองและนายหัวเหมืองชาวจีนจึงเปลี่ยนไปทำเหมืองแบบดังกล่าวแทน โดยเฉพาะเหมืองหาบนับเป็นวิธีการทำเหมืองที่นิยมมากที่สุด จนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 การทำเหมืองได้พัฒนาเทคนิควิธีการขึ้นไปอีกขั้นเป็นเหมืองฉีด เหมืองสูบ และเรือขุดแร่

 

เหมืองแล่น

 

 เหมืองแล่นเป็นวิธีการทำเหมืองแร่เปิดในแหล่งแร่ชนิดลานแร่พลัดหรือแหล่งแร่บริเวณเชิงเขา โดยใช้แรงงานคนหรือการสูบน้ำส่งผ่านกระบอกฉีด ไปฉีดพังหน้าเหมือง แล้วปล่อยให้ดินปนแร่ไหลรวมกับน้ำไปตามคูดินที่ขุดไว้ไปสู่รางกู้แร่ (Palong) การทำเหมืองประเภทนี้ นิยมทำในช่วงฤดูฝน และเหมาะกับผู้ที่มีเงินทุนน้อย

 

เหมืองรูหรือเหมืองปล่อง

 

 เหมืองรู (ปล่อง) เป็นวิธีการทำเหมืองใต้ดินที่ใช้ในแหล่งแร่ชนิดลานแร่ ที่มีเปลือกดินหนามากและไม่มีแร่ในชั้นเปลือกดิน โดยใช้แรงงานทำการเปิดปล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กกรุไม้  และติดตั้งเครื่องกว้านแร่ทำด้วยไม้หมุนมือสำหรับขนดินหินปนแร่ขึ้นมาด้านบน ใต้ดินจะทำเป็นอุโมงค์และมีการเว้นปล่องเพื่อระบายอากาศ คนงานเหมืองจะจุดเทียนไขไว้ในอุโมงค์เพื่อใช้วัดปริมาณออกซิเจน  ป้องกันคนงานไม่ให้ขาดอากาศหายใจ

 

เหมืองหาบ

 

 เหมืองหาบเป็นวิธีการทำเหมืองเปิดในแหล่งแร่ชนิดลานแร่บริเวณไหล่เขา โดยการเปิดหน้าดินด้วยการขุดเจาะหรือการใช้ระเบิดให้เป็นบ่อกว้างจนถึงชั้นดินที่มีแร่  แล้วใช้แรงงานคนหรือรถตัก รถบรรทุกขนดินปนแร่ไปสู่กระบวนการล้างแร่ในโรงแต่งแร่  โดยจะต้องบดย่อยหินปนแร่ให้แตกหรือหลุดจากกันก่อน โดยการใช้เครื่องมือย่อยหรือบดแร่ แล้วจึงนำดินหินปนแร่ที่ย่อยแล้วไปลงรางไม้  และล้างเก็บเอาแร่ออก

 

เหมืองฉีด

 

 เหมืองฉีดเป็นวิธีการทำเหมืองเปิดที่ใช้กับแหล่งแร่ชนิดลานแร่ โดยใช้เครื่องดูด (HYDRAULIC ELEVATOR) ในการสูบแร่ขึ้นรางกู้แร่หรือเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่ “จิ๊ก”(JIG) โดยใช้น้ำที่กักเก็บไว้ในทำนบน้ำบนที่สูงเป็นพลังงานในการดูดดินปนแร่ แทนการใช้ปั้มดูดทราย (GRAVEL PUMP) เหมืองฉีดมีค่าดำเนินการที่ต่ำมาก แต่ต้องลงทุนในการสร้างทำนบและการเดินท่อน้ำค่อนข้างสูง

 

เหมืองสูบ

 

เหมืองสูบเป็นวิธีการทำเหมืองเปิดสำหรับแหล่งแร่ชนิดลานแร่ โดยการสูบฉีดน้ำไปพังดินหน้าเหมือง บางแห่งอาจใช้รถตักดิน รถไถดิน หรือการระเบิดช่วย ดินปนทรายและแหล่งแร่ที่พังทลายได้จะถูกปล่อยลงสู่ขุมสูบ แล้วจึงใช้ปั้มสูบทราย (GRAVEL PUMP) สูบดินปนแร่ขึ้นสู่รางกู้แร่ (PALONG) หรือเครื่องมือแต่งแร่อย่างอื่น เช่น จิ๊ก (JIG) การทำเหมืองสูบเป็นวิธีการที่แพร่หลาย เพราะเป็นวิธีการที่มีกำลังการผลิตสูง ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก และไม่ต้องการบริเวณแหล่งแร่กว้างใหญ่

 

เหมืองเรือขุด

 

 การทำเหมืองเรือขุดจะใช้ดำเนินการในแหล่งแร่ชนิดลานแร่ขนาดใหญ่ ที่ผ่านการสำรวจว่าเป็นแหล่งที่มีความสมบูรณ์ของแร่เพียงพอต่อความคุ้มค่าในการลงทุน เรือขุดที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นประเภทลูกเชอตักดิน (BUCKET LADDER DREDGES) ใช้ขุดเปิดหน้าดินใต้น้ำ ไปจนถึงดินชนิดที่มีแร่ปนอยู่ขึ้นมาเทในรางเหล็ก (DROP CHUTE) บนเรือ จากนั้นจะทำการคัดแยกดินทรายและแร่ละเอียดด้วยตะแกรงหมุน และทำการแยกแร่ด้วย จิ๊ก (JIG) โดยกระบวนการทุกขั้นตอนจะดำเนินการอยู่บนเรือทั้งหมด

 

เรือขุดแร่ลำแรกของโลก

 

 เป็นเรือขุดแบบลูกเชอตักดิน(BUCKET LADDER DREDGES) ด้วยการขุดเปลือกดินตลอดจนชั้นแร่ด้วยลูกเชอ (BUCKETS) ซึ่งร้อยเป็นพวงด้วย BUCKET PINS ประมาณ 30-100 ลูก แต่ละลูกมีขนาด 0.2-0.33 ลูกบาศก์เมตร นำดิน ทรายและหินปนแร่เข้าสู่การคัดแยกหินด้วยตะแกรงหมุน การแยกขนาดเม็ดทรายและแร่ลงสู่รางกู้แร่ (PALONG) หรือเครื่องแยกแร่แบบจิ๊ก(JIG) ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บแร่


 ในการเดินเรือขุดจะใช้ลวดสลิง อันประกอบด้วยสายข้างและสายหัว ซึ่งใช้เครื่องกว้านเป็นตัว ขึงตึงหรือหย่อนสายโดยปลายข้างหนึ่งยึดติดกับหลุมสมอบนตลิ่ง หรือเดินด้วย SPUDS 2 อัน ที่ยก ขึ้น-ลง โดยเครื่องกว้านเช่นกัน การตักดินจะสามารถทำได้ประมาณ 45,000 – 170,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน พลังงานที่ใช้ในเรือขุดส่วนใหญ่จะมีเครื่องกำเนิดพลังงานแบบเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องแก๊ส หรือเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ในลำเรือนั่นเอง


 ภายในเรือขุดจะมีเครื่องมืออุปกรณ์ล้างแร่และแต่งแร่ ได้แก่รางกู้แร่(PALONG) และเครื่องมือแต่งแร่แบบจิ๊ก (JIG) เพื่อทำการแต่งแร่ ให้ได้หัวแร่สะอาด โดยไม่ต้องนำไปแต่งในโรงแต่งแร่อีก

 

นิรมิตเล่นแร่แปรธาตุ

 

การแยกแร่ดีบุกหรือการแต่งแร่ดีบุกเพื่อแยกเอาแร่พลอยได้อื่น ที่เป็นแร่มีค่าทางเศรษฐกิจมาใช้ประโยชน์ด้วย  เช่นโคลัมไบต์ แทนทาไลต์ โมนาไซต์ ซีไลต์ เซอร์คอน และซีโนไทม์  เป็นต้น  ทั้งนี้การแต่งแร่ยังเป็นการทำความสะอาดแร่สินค้าให้ได้ตรงตามมาตรฐานการซื้อขายแร่ดีบุกของตลาดซื้อขายแร่อีกด้วย


การถลุงดีบุกในภูเก็ตนั้น มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาลงมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ผู้ขุดหาแร่ดีบุกต้องถลุงแร่ดิบให้เป็นแร่บริสุทธิ์ก่อนส่งจำหน่าย โดยใช้กรรมวิธีง่าย ๆ ด้วยการสุมไฟให้เนื้อดีบุกละลาย แยกตัวออกจากวัตถุเจือปน ต่อมาเมื่อการทำเหมืองแร่ได้เจริญจนกลายเป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และเรือขุดแร่ อังกฤษได้สร้างโรงถลุงแร่ขึ้นที่เกาะปีนัง  ภูเก็ตจึงเลิกการถลุงแร่ด้วยวิธีการแบบเก่า มาเป็นการส่งแร่ดิบออกจำหน่ายแทน  

การแต่งแร่ หรือ แยกแร่ดีบุกประกอบด้วยหลายวิธี ได้แก่
- การแยกแร่ โดยอาศัยความแตกต่างของความถ่วงจำเพาะ เช่นการใช้จิ๊ก(JIG) โต๊ะแยกแร่(SHAKING TABLE) รางกู้แร่(PALONG) เป็นต้น
- การแต่งแร่ด้วยเครื่องแยกแร่แม่เหล็ก
- การแต่งแร่ด้วยไฟฟ้าสถิตหรือไฟฟ้าแรงสูง

 

เครื่อง WILLOUGH BY WASHER

 

 นิยมใช้ในการแต่งแร่ดีบุก มีลักษณะเป็นถังสี่เหลี่ยม มีตะแกรงอยู่ที่ส่วนล่าง แผ่นตะแกรงมีรูขนาด   นิ้ว ระหว่างรูตะแกรงประมาณ 1 เซนติเมตร มีท่อสำหรับให้น้ำเข้าอยู่ใต้ระดับของตะแกรง ยาวตลอดตัวถัง และมีช่องน้ำออกตลอดแนวเช่นกัน เพื่อให้น้ำพุ่งออกทั่วภายในตัวถัง ขณะเดินเครื่องจะต้องปล่อยน้ำเข้าตลอดเวลา มีคนงานป้อนแร่ทางด้านบน แร่เม็ดเล็กและแร่เบาจะถูกพัดพาออกทางด้านบน ส่วนแร่หนักจะสะสมตัวอยู่บนตะแกรง เมื่อมีปริมาณสะสมมากพอ จะหยุดป้อนแร่ และกู้แร่บนตะแกรง

 

เครื่องแยกแม่เหล็กออกจากจาน (RING TYPE MAGNETIC SEPARATOR MACHINE)


 ตัวเครื่องประกอบด้วยจานกระจกหรือสายพานสำหรับป้อนแร่เข้าแยก และแบบที่เป็นจานกระจกทั้งสองข้าง (MULTI DOGE) ที่นิยมใช้มากกว่า โดยแร่จะผ่านเข้าสู่ใต้ขั้วแม่เหล็ก ขั้วแม่เหล็กอันล่างแบนราบ ส่วนขั้วบนอยู่เหนือสายพานเป็นจานมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าความกว้างสายพาน มีขอบทำเป็นรูปวงแหวน เพื่อรวมกับแม่เหล็กให้มีความเข้มสูง แร่ดีบุกจะไม่ติดที่แม่เหล็ก ส่วนที่ติดจะเป็นแร่พลอยได้อื่น เช่น อิลเมไนต์ วุลแฟรม เป็นต้น ซึ่งจะถูกดูดติดขอบจานพาแร่ออกไปจนพ้นสนามแม่เหล็ก ซึ่งพ้นจากระยะความกว้างของสายพานด้วย จะถูกปล่อยลงในถังรองรับ ส่วนดีบุกที่ไม่ติดแม่เหล็ก จะค้างอยู่บนสายพานหรือจานป้อน และถูกกวาดลงที่ปลายสายพานหรือลงในที่รองรับแร่ไม่ติดแม่เหล็ก

 

เครื่องแยกแร่ด้วยไฟฟ้าสถิตย์ (ELECTROSTATIC SEPARATOR MACHINE)

 

 มีหลักการแยกโดยอาศัยคุณสมบัติ การเป็นตัวนำไฟฟ้าของแร่แต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกัน ในการแต่งแร่ดีบุก จะนิยมใช้เครื่องมือแต่งแร่ที่แยกดีบุกออกจากซีไลต์ที่เกิดร่วมกันในแหล่งแร่
 การทำงานของเครื่องแยกแร่ จะมีเครื่องจ่ายไฟฟ้าปล่อยกระแสเข้าสู่ขั้วประจุไฟฟ้า และหมุนลูกกลิ้งโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขั้นตอนนี้จะเกิดการชักนำให้เกิดประจุบนผิวทุกครั้ง ซึ่งเป็นประจุตรงข้ามกัน เมื่อปล่อยแร่ผ่านระหว่างขั้วไฟฟ้ากับลูกกลิ้ง แร่ที่เป็นตัวนำจะถูกเหนี่ยวนำให้เกิดประจุตรงข้ามกับขั้วไฟฟ้าที่ผิวเม็ดแร่ ทำให้เกิดการผลักระหว่างเม็ดแร่กับผิวลูกกลิ้งที่มีประจุเหมือนกัน ส่วนแร่ที่ไม่เหนี่ยวนำจะส่งผ่านไป การผลักกันของแร่และลูกกลิ้ง จะสังเกตเห็นเป็นลักษณะของแร่ที่กระโดดออกห่างจากลูกกลิ้งไปลงช่องรับแร่ที่แยกจากแร่ที่ร่วงผ่านลูกกลิ้งไปลงอีกช่อง รับแร่อีกช่องหนึ่ง

 

 

 

ฉลาดนาวาชีวิต ลิขิตปรัชญ์สืบสาน บันซ้านบางเหนียว เก่วเกี้ยวในทู หลงผิดเสพ เทพาภรณ์ คฤหปตนินท์ บาบ๋าสินสมรส

ชาวจีนมีความอดทนและชอบการผจญภัยมาตั้งแต่สร้างแผ่นดินจีน(อพยพด้วยเรือสำเภาจีน เสื่อผืนหมอนใบ ขยันขันแข็ง ทำงานในเหมือง แต่งงานบาบ๋า สืบลูกสร้างหลานสืบกาลสืบแซ่ สร้างบ้านแปงเมืองในทู)


บ้านเก็ตโฮ่เป็นแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์ในตำบลกะทู้ มีพ่อค้าชาวยุโรปเข้ามาตั้งบริษัทรับซื้อแร่ดีบุกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2328 พม่ายกทัพมาโจมตีเมืองถลาง ส่งผลให้ชาวเมืองถลางบางส่วนอพยพหลบหนีไปอาศัยอยู่รวมกับชาวจีนที่ชุมชนกะทู้บ้านเก็ตโฮ่ ชุมชนกะทู้จึงขยายใหญ่ขึ้นและมีการทำเหมืองแร่ดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เริ่มจากแรงงานคนและพัฒนาไปใช้เครื่องมือจักรกลในที่สุด

 

ฉายาบทนฤมิต ภาพกิจปฐมเหตุ วรรณวิเศษปัญญภูมิ

 

ตำบลกะทู้ เดิมคือตัวเมืองภูเก็ตในสมัยที่การทำเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟู  ขณะเดียวกัน ในบริเวณนี้เต็มไปด้วยป่ารกทึบมีโรคภัยไข้เจ็บ คนจีนในกะทู้มีวิธีแก้ทุกข์ภัยด้วยการอัญเชิญพระหรือ(เทพ)เจ้าแต่ละองค์ที่ตนนับถือกราบไหว้บูชาเพื่อให้ตนอยู่เย็นเป็นสุขและพ้นจากภัยอันตราย
ประมาณปี พ.ศ.2395 คณะงิ้วจากเมืองจีนเปิดการแสดงที่บ้านกะทู้ หลังจากคณะงิ้วแสดงได้เกือบครบรอบปีก็เกิดการเจ็บป่วยขึ้นทั้งคณะเพราะคณะงิ้วคิดว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธีกินผักซึ่งเคยกระทำเป็นประจำทุกปีที่เมืองจีน จึงได้ตกลงร่วมประกอบพิธีกินผักอย่างย่อขึ้นที่โรงงิ้ว โรคภัยไข้เจ็บก็หายไป จึงสร้างความประหลาดใจให้กับชาวกะทู้เป็นอย่างมากจนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสประกอบพิธีกรรมกินผักสืบมา


ในปี พ.ศ.2398 คณะงิ้วที่ได้อาสาไปเมืองจีนได้อัญเชิญวัตถุมงคลคือเหี่ยวโห้ย(ควันธูป) คัมภีร์ตำราต่าง ๆ และเลี่ยนตุ่ย(ป้ายชื่อ)ที่ใช้ในการประกอบพิธีกินผักมาจากมณฑลกังไส โดยจุดธูปตลอดการเดินทางมาขึ้นที่หัวท่าบางเหนียว ชาวกะทู้ร่วมกันอัญเชิญวัตถุมงคลดังกล่าวจากบ้านบางเหนียวไปบ้านในทู ประกอบพิธีกินผัก(เจียะฉ่าย)อันสมบูรณ์จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น และทุกปีในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นเทศกาลกินผักสืบทอดมาถึงปัจจุบัน.


ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์


ตรวจแก้จากฉบับเดิมของบริษัท อูเอโนะ ดีไซน์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
แก้เมื่อ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ และต้องแก้ไขปรับปรุงอีก

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 30 สิงหาคม 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้223
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2580
mod_vvisit_counterทั้งหมด10704968