Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow วัฒนธรรมวรรณภาษ arrow พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่
พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 21 พฤษภาคม 2008

เปิดลับแลม่านฟ้าเกาะพญามังกรทอง

 

ภูเก็ต เป็นชื่อที่ใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2452 แทนชื่อภาษาไทยว่า “ภูเก็จ” (ภู หมายถึงภูเขา, จำนวนมาก; เก็จ คือรัตนะหมายถึงแก้วมีค่ายิ่ง) ซึ่งตรงกับความหมายที่ชาวทมิฬเรียกเมืองนี้ว่า “มณินครัม” ตามหลักฐานในศิลาจารึกเมื่อ พ.ศ.1568   เดิมใช้ จังค์ ซีลอน (คือสิลัน สลาง ฉลาง ถลางหรือเกาะภูเก็ต ในปัจจุบัน) ตามแผนที่ของคลอดิอุส ปโตเลมีเมื่อ พ.ศ.700 เป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดียโดยผ่านแหลมมลายูและสิงคโปร์


ภูเก็ตเป็นเมืองที่เติบโตมาจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ซึ่งต้องใช้ดีบุกผสมทองแดงเป็นสัมฤทธิ์ และนำไปเคลือบโลหะกันสนิมมากว่า 500 ปี จึงทำให้ชาวยุโรป(โปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศสและอังกฤษ) และชาวจีนฮกเกี้ยน(ทั้งที่ผ่านมาจากสิงคโปร์และปีนังหรือมาจากจีนโดยตรง)หลั่งไหลเข้ามาทำเหมืองและตั้งหลักแหล่งในภูเก็ต มีวัฒนธรรมผสมผสานไทย ยุโรปและจีน ทำให้มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น อาทิ สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส อาหารพื้นเมือง ภาษา การบูชาเทพเจ้า การแต่งกาย การแต่งงาน รวมไปถึงน้ำทะเลใสสีคราม หาดทรายสะอาดและแดดเมืองร้อน จนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ ไข่มุกแห่งอันดามัน เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก้องโลก


ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวที่มีสภาพเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  ตั้งอยู่ทางฝั่งภาคใต้ในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ 543 ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ตจากทิศเหนือจรดทิศใต้ 48.7 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก 21.3 กิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 3 อำเภอ คืออำเภอเมือง อำเภอถลางและอำเภอกะทู้

โปท้องหง่อก่ากี่ 

ชินวิถี 

อัญมณีนายหัวเหมือง

 

สถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส (CHINO-PORTUGUESE STYLE) (ชิโนหมายถึงจีน ส่วนโปรตุกีสหมายถึงยุโรป ๔ ชาติ คือ โปรตุเกส ฮอลลันดา ฝรั่งเศสและอังกฤษ) สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 จนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ร.8  ส่วนใหญ่เป็นอาคารสองชั้นทั้งหลังเดี่ยว(อังมอเหลา)และห้องแถว กำแพงหรือผนังอาคารก่ออิฐฉาบปูนหนาตั้งแต่ 60 เซนติเมตรขึ้นไป ใช้รับน้ำหนักอาคารทั้งหมด(ยุคหลังใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก) การใช้กำแพงรับน้ำหนักนี้ทำให้อาคารมั่นคงแข็งแรง หลังคามีความลาดชัน มุงกระเบื้องดินเผาแผ่นเล็กรูปตัว v วางสลับคว่ำ-หงาย  บานประตูหน้าต่างชั้นล่างส่วนใหญ่เป็นแบบสถาปัตยกรรมจีน มีการแกะสลักลวดลายธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์ตามคติความเชื่อของจีน ประตูหน้าต่างและช่องลมประดุจปากตาและคิ้วพญามังกร ช่องแสงเหนือหน้าต่างไว้ระบายอากาศเป็นลายลบมุมทั้งสี่จากรูปค้างคาว ส่วนชั้นบนมีหน้าต่างยาวถึงพื้นเรียกหน้าต่างแบบฝรั่งเศส บานหน้าต่างเป็นบานเกล็ดไม้ปรับมุมได้ ลวดลายตกแต่งผนังเป็นปูนปั้นมักเป็นลายที่มาจากสถาปัตยกรรมยุโรปในยุคนีโอคลาสสิกหรือยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (RENAISSANCE)  มีเสาอิงที่มีลวดลายหัวเสาตามรูปแบบของโรมันและกรีกคลาสสิกหลายชนิด เช่น โครินเธียน(CORINTHIAN) ดอริก(DORIC) ไอโอนิก(IONIC) {{ทัสคัน (TUSCAN) คอมโพสิต(COMPOSITE)}}  รวมทั้งซุ้มโค้งหน้าต่างมีการตกแต่งลวดลาย เป็นการผสมผสานของหลายยุคศิลปะมารวมไว้ในอาคารเดียวเรียกว่า ECLECTICISM
 องค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งของอาคารแบบชิโนโปรตุกีส คือการมีเฉลียงหรือช่องทางเดินมีหลังคาคลุมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีและป้องกันแดดฝน เรียกว่าหง่อกากี่ (ARCADE)


อาคารสาธารณะแบบชิโนโปรตุกีสที่โดดเด่นคือสถานีตำรวจภูธรตลาดใหญ่ซึ่งมีหอนาฬิกาอยู่ชั้นบน, ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว, สมาคมภูเก็ตฮกเกี้ยนสามัคคี, โรงแรมออนออน และอาคารเอกวานิช 


ในส่วนของคฤหาสน์หลังเดี่ยวที่เรียกว่า อังมอเหลา (อังมอ แปลว่าผมแดงคือชาวยุโรป, เหลาแปลว่าตึก) เช่น ตึกพระอร่ามสาครเขตร ตึกพระพิทักษ์ชินประชา ตึกชินประชา ตึกหลวงอนุภาษภูเก็ตการ
 อาคารตึกแถวที่มีหง่อก่ากี่เยี่ยมชมได้ที่เมืองทุ่งคาคือถนนถลาง ถนนพังงา ถนนเทพกระษัตรีบริเวณแถวน้ำ ถนนภูเก็ต ถนนเยาวราช หากต้องการชื่นชมบานประตูสุดสวยต้องดูที่ตึกแถวถนนดีบุก

 

เรืองดารากร


กำเนิดดวงอาทิตย์

 ระบบสุริยะจักรวาลเกิดมาท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศ โดยกลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองที่เรียกว่า เนบิวลา จะหมุนวนรอบตัวเองอย่างช้าๆคล้ายการหมุนของวงล้อ ก๊าซส่วนใหญ่ของเนบิวลา คือ ไฮโดรเจน การควบแน่นของเนบิวลานี้จะดึงดูดก๊าซ และฝุ่นละอองต่าง ๆ เข้าสู่ศูนย์กลาง เนื่องจากอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง และเริ่มเปล่งรังสีออกมาเนื่องจากความดันและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากเวลาผ่านไปนับพันล้านปี การควบแน่นและหดตัวจะก่อให้เกิดมวลสะสมขนาดมหึมา จวบจนกระทั่งอุณหภูมิและความดันที่ใจกลางสูงพอจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ฟิวชันขึ้น จนมีรูปร่างคล้ายลูกบอลสีแดงขนาดยักษ์ ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นของดาวฤกษ์ดวงใหม่ “ดวงอาทิตย์” ซึ่งได้แผ่พลังงานความร้อน แสงสว่างและแรงดึงดูดห่างออกไป 13 พันล้านกิโลเมตร เป็นศูนย์กลางระบบสุริยจักรวาล มีดาวเคราะห์บริวาร ๘ ดวง คือดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน (พลูโตเป็นดาวเคราะห์แคระ)

 

กำเนิดโลก


โลกได้เริ่มก่อกำเนิดจากการรวมตัวของกลุ่มก๊าซแล้วเย็นตัวลงเมื่อ 4,560 ล้านปีที่แล้ว โลกเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่สาม ห่างจากดวงอาทิตย์ 150 ล้านกิโลเมตร มีอุณหภูมิที่เหมาะสมและแรงดึงดูดสูงที่ทำให้น้ำคงสภาพอยู่กับโลกได้ และเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีวิวัฒนาการจนมีออกซิเจนในบรรยากาศ ปัจจัยทั้งสามประการส่งผลให้ "โลก" กำเนิดสิ่งมีชีวิตเมื่อ 4,300 ล้านปีที่แล้ว

โลกแบ่งออกเป็นชั้นต่าง ๆ รวม 4 ชั้น อันประกอบด้วย

1. แก่นโลกชั้นใน   เป็นของแข็งที่แข็งมาก ประกอบด้วยเหล็กและนิกเกิล
2. แก่นโลกชั้นนอก    เป็นชั้นของเหลวที่มีเหล็ก ออกซิเจน และกำมะถัน เป็นองค์ประกอบหลัก เคลื่อนที่ได้
3. เนื้อโลก     ซึ่งเป็นชั้นของเหลวเรียกว่าหินหนืด ประกอบด้วยซิลิคอน อลูมิเนียม และแมกนีเซียมออกไซด์เป็นส่วนใหญ่เคลื่อนที่อยู่เป็นนิจ บางส่วนที่สัมผัสเปลือกโลกแล้วเย็นตัวลงจะเป็นหินอัคนีเช่นหินแกรนิต  ทะลุทะลวงออกสู่ผิวโลกเป็นภูเขาไฟพ่นควันและหินหนืดออกมาเป็นลาวาเย็นตัวลงเป็นหินบะซอลต์เป็นต้น ดันเปลือกโลกเคลื่อนเป็นทวีปแปรเปลี่ยนขนาดและรูปทรงเป็นพื้นราบสูงบ้าง ภูเขาบ้าง ทะเลบ้างไปตามกาล
4. เปลือกโลก    ประกอบด้วนธาตุที่เบากว่า เช่น ซิลิคอน ลอยอยู่บนชั้นของเหลว แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนแผ่นดินที่เป็นหินแกรนิต และส่วนแผ่นมหาสมุทรซึ่งเป็นหินบะซอลต์รองรับ


ส่วนชั้นบรรยากาศที่อยู่ล้อมรอบโลก เป็นแก๊สซึ่งประกอบด้วยไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์  ฯลฯ

 

หิน

 

 หิน หมายถึง มวลของแข็งที่ประกอบขึ้นด้วยแร่ชนิดเดียวกันหรือหลายชนิดรวมตัวกันอยู่ตามธรรมชาติ  แบ่งตามลักษณะการเกิดได้เป็น 3 ชนิด

1.หินอัคนี  เกิดจากหินหนืดที่อยู่ใต้เปลือกโลกแทรกดันขึ้นมา แล้วตกผลึกเป็นแร่ต่าง ๆ และเย็นตัวลงจับตัวแน่นเป็นหินที่ผิวโลก แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1.1 หินอัคนีแทรกซอน  เกิดจากการเย็นตัวลงอย่างช้า ๆ ของหินใต้เปลือกโลก มีผลึกแร่ขนาดใหญ่น้อยกว่า 1 มิลลิเมตร เช่น หินแกรนิต  หินไดออไรต์  หินแกบโบร  เป็นต้น
1.2 หินอัคนีพุ หรือ หินภูเขาไฟ   เกิดจากการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วของหินหนืดที่ดันตัวพุ่งออกมานอกผิวโลกเป็นลาวา  ผลึกแร่มีขนาดเล็กหรือไม่เกิดผลึกเลย เช่น หินบะซอลต์  หินแอนดีไซต์  หินไรโอไลต์
2. หินชั้นหรือหินตะกอน  เกิดจากการทับถมและสะสมตัวของตะกอนต่าง ๆ ได้แก่ เศษหิน แร่ กรวด ทราย ดินที่ผุพัง  หรือสึกกร่อนถูกชะละลายมาจากหินเดิม  โดยกระบวนการธรรมชาติ คือ ธารน้ำ ลม ธารน้ำแข็งหรือคลื่นในทะเล  พัดพาไปทับถมและแข็งตัวเป็นหินในแอ่งสะสมตัว  หินชนิดนี้แบ่งตามลักษณะเนื้อหินได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
2.1 หินชั้นเนื้อประสม  เป็นหินชั้นที่เนื้อเดิมของตะกอนพวกกรวด ทราย เศษหินและดินยังคงสภาพให้พิสูจน์ได้ เช่น หินทราย  หินดินดาน  หินกรวดมน  เป็นต้น
2.2 หินชั้นเนื้อประสาน เป็นหินที่เกิดจากตกผลึกทางเคมีหรือจากสิ่งมีชีวิต  เนื้อประสานกันแน่น ไม่สามารถพิสูจน์สภาพเดิมได้ เช่น หินปูน  หินเชิร์ต  เกลือหิน  ถ่านหิน  เป็นต้น
3. หินแปร  เกิดจากการแปรสภาพโดยการกระทำของความร้อน  ความดันและปฏิกิริยาทางเคมี  ทำให้เนื้อหิน แร่ประกอบหินและโครงสร้างเปลี่ยนไปจากเดิม  การแปรสภาพของหินจะอยู่ในสถานะของแข็ง  ซึ่งจัดแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
3.1 การแปรสภาพบริเวณไพศาล  เกิดเป็นบริเวณกว้างโดยมีความร้อนและความดันทำให้เกิดแร่ใหม่หรือผลึกใหม่เกิดขึ้น  มีการจัดเรียงตัวของแร่ใหม่ และแสดงริ้วขนาน เช่น หินไนส์  หินชีสต์  และหินชนวน เป็นต้น
3.2 การแปรสภาพสัมผัส เกิดจากการแปรสภาพโดยความร้อนและปฏิกิริยาทางเคมีของสารละลายที่ขึ้นมากับหินหนืดมาสัมผัสกับหินท้องที่ ไม่มีอิทธิพลของความดันมากนัก  ปฏิกิริยาทางเคมีอาจทำให้ได้แร่ใหม่บางส่วนหรือเกิดแร่ใหม่แทนที่แร่ในหินเดิม  หินแปรที่เกิดขึ้นจะไม่มีการจัดเรียงตัวของแร่ใหม่  ไม่แสดงริ้วขนาน เช่น หินอ่อน หินควอร์ตไซต์ เป็นต้น

 

ธาตุ


 
ธาตุ เป็นสารชนิดหนึ่งซึ่งประกอบด้วยอะตอมเพียงชนิดเดียว  อะตอมมีลักษณะเป็นอนุภาคเล็ก ๆ และเป็นองค์ประกอบของสารทุกชนิด  ตัวอย่างเช่น  กำมะถัน  ฮีเลียม  หรือดีบุก   เป็นธาตุ  ประกอบด้วยอะตอมของกำมะถัน  ฮีเลียม  หรือดีบุกเพียงชนิดเดียว และไม่สามารถแตกตัวเป็นสสารที่เล็กไปกว่านี้ได้

 

การจัดกลุ่มธาตุ

 

 จนถึงปัจจุบันได้ค้นพบธาตุ 115 ชนิดแต่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเพียง 90 ชนิด สามารถแบ่งประเภทธาตุได้เป็นโลหะ  อโลหะ  และกึ่งโลหะ   และจัดเรียงในรูปแบบตารางที่เรียกว่า  “ตารางธาตุ” (PERIODIC TABLE)

ให้แสดงตารางธาตุ


โลหะ


 มากกว่า 3 ใน 4 ของธาตุทั้งหมดเป็นโลหะ (METAL) ธาตุที่เป็นโลหะส่วนใหญ่หนาแน่นและมันวาว มีประโยชน์ใช้สอยมากมายเนื่องจากมีความแข็งแรง และสามารถตกแต่งรูปร่างได้ง่าย นอกจากนี้ยังเป็นตัวนำไฟฟ้าและตัวนำความร้อนได้ดี โดยปกติจะพบโลหะรวมตัวกับธาตุอื่นในเปลือกโลก

 

อโลหะ


 พบธาตุอโลหะ (NON-METAL) ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ 16 ชนิด ซึ่งนำความร้อนและไฟฟ้าได้ดี (ยกเว้นแกรไฟต์ ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของคาร์บอน) ที่อุณหภูมิห้อง  อโลหะ 4 ชนิดเป็นของแข็ง (ฟอสฟอรัส คาร์บอน  กำมะถัน และไอโอดีน) ส่วนโบรมีนเป็นของเหลว   อโลหะนอกจากนี้อีก 11 ชนิด  เป็นก๊าซ

 

อโลหะ         

                                                                      
ไฮโดรเจน กำมะถัน
ฮีเลียม คลอรีน
คาร์บอน อาร์กอน
ไนโตรเจน โบรมีน
ออกซิเจน คริปตอน
ฟลูออรีน ไอโอดีน
นีออน ซีนอน
ฟอสฟอรัส เรดอน

 

กึ่งโลหะ


 ธาตุกึ่งโลหะ (SEMI-METAL หรือ METALLOID) นำไฟฟ้าได้ไม่ดีเช่นเดียวกับอโลหะ แต่สามารถปรับปรุงให้นำไฟฟ้าได้ดีเช่นเดียวกับโลหะได้ ด้วยเหตุนี้ธาตุกึ่งโลหะ จึงเรียกว่า สารกึ่งตัวนำ (SEMICONDUCTOR) ธาตุกึ่งโลหะมีทั้งสิน 9 ชนิด ทั้งหมดเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง

 

กึ่งโลหะ 


โบรอน พลวง
ซิลิคอน เทลลูเรียม
เจอร์เมเนียม พอโลเนียม
สารหนู แอสทาทีน
ซีลีเนียม 

 

ธาตุในโลก


 ชั้นนอกสุดของโลก  คือ  เปลือกโลก (CRUST) ส่วนประกอบด้วยธาตุเพียง 5 ชนิด ธาตุเหล่านี้เกิดขึ้นโดยลำพังยาก แต่อาจพบบางชนิด เช่น ทอง ที่พบมากมักมีสารชนิดอื่นเป็นองค์ประกอบ (COMPOUND)


ธาตุบริสุทธิ์และสารประกอบที่พบในเปลือกโลกเรียกว่า  แร่  (MINERAL) แร่ที่ประกอบด้วยโลหะ เรียกว่า สินแร่ (ORE)

 

ธาตุสามัญ


 ออกซิเจนเป็นธาตุสามัญที่สุดในเปลือกโลก  มักเกิดในลักษณะรวมตัวกับซิลิกอนซึ่งเป็นธาตุสามัญอันดับที่สอง  และรวมตัวกับอลูมิเนียมและเหล็ก  ซึ่งเป็นโลหะสามัญที่สุด

 

การเกิดแร่


 แร่ส่วนใหญ่เกิดจากแมกม่าร้อน (MAGMA คือ หินหลอมเหลวที่มีก๊าซละลายอยู่) ถูกผลักดันขึ้นมาจากส่วนลึกใต้เปลือกโลกและเย็นตัวลง แล้วแข็งตัว สภาวะของแหล่งแมกมาที่แข็งตัวลงเป็นตัวกำหนดชนิดรูปแบบของแร่รูปทรงเรขาคณิตที่เรียกว่า ผลึก (CRYSTAL) จะเกิดขึ้นเมื่อแร่เย็นตัวลงอย่างช้า ๆ กระบวนการเย็นตัวลงอาจเร็วมากจนกระทั่งไม่มีการตกผลึก ในสภาวะเช่นนี้จะเกิดแร่เป็นรูปแบบแก้วสีดำเป็นมันวาว ที่เรียกว่า ออบซิเดียน

 

หมู่ของแร่


 แร่แบ่งเป็นหมู่ตามชนิดของธาตุองค์ประกอบ  แร่ซึ่งประกอบด้วยธาตุเพียงชนิดเดียว  เรียกว่า  ธาตุโดยธรรมชาติ (NATIVE ELEMENT)
คาร์บอเนต (CARBONATE) เป็นแร่ซึ่งประกอบด้วยธาตุอื่น ๆ รวมตัวกับคาร์บอนและออกซิเจนเป็นแร่ที่พบมากที่สุดรองจากซิลิเกต
ฟอสฟอรัส (PHOSPHATE)  เป็นแร่ที่เกิดขึ้นเมื่อฟอสฟอรัสทำปฏิบัติกิริยากับออกซิเจนและธาตุชนิดอื่น ๆ


ซิลิเกต (SILICATE) คือ แร่ซึ่งประกอบด้วยซิลิกา (silica) คือซิลิกอนรวมตัวกับออกซิเจน เป็นกลุ่มแร่ที่ใหญ่ที่สุด คือมีถึง 92 % ในเปลือกโลก


เฮไลด์ (HALIDE) เป็นหมู่ของแร่ซึ่งประกอบด้วยธาตุ ฮาโลเจน
ซัลไฟด์ (SULPHIDE) เป็นหมู่ของแร่ซึ่งประกอบด้วยธาตุอื่นรวมตัวกับกำมะถัน

 ธาตุจำนวนมากรวมตัวกับออกซิเจนในเปลือกโลกทำให้เกิดหมู่ของแร่ที่เรียกว่า  ออกไซด์ (OXIDE)  หมู่ของแร่อื่น ๆ อีกจำนวนมากประกอบด้วยออกซิเจน ทั้งหมดมีชื่อลงท้ายด้วย “เอต” (ATE) ส่วนแรกของชื่อ แสดงถึงธาตุชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

แร่ ธาตุ


อาร์เซเนต สารหนู
โบเรต โบรอน
โครเมต โครเมียม
โมลิบเดต โมลิบดินัม
ไนเตรต ไนโตรเจน
ซัลเฟต กำมะถัน
ทังสเตน ทังสเตน
วานาเดต วาเนเดียม

 

สายแร่แห่งชีวิต

 

 การทำเหมืองแร่ดีบุกในจังหวัดภูเก็ต  เริ่มในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ปี พ.ศ.2069 และในปี พ.ศ.2228 มีการซื้อขายแร่ดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสันในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีชาวฝรั่งเศสมาตั้งบริษัทรับซื้อแร่ดีบุกเป็นการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในจังหวัดภูเก็ต 
การทำเหมืองดีบุกในภูเก็ต นับจากอดีตจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการทำเหมืองแร่ดีบุกขนาดเล็ก พึ่งพาแรงงานคน(ไม่ใช้เทคโนโลยี) โดยที่ชาวบ้านจะร่อนหาแร่ตามลำธาร ส่วนเจ้าเมืองหรือพวกที่มีทุนรอนขึ้นมา ก็ทำเหมืองแล่น เหมืองครา
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชาวจีนอพยพเข้ามามากขึ้น และมีการนำเทคนิคในการทำเหมืองแบบใหม่ที่ต้องอาศัยทักษะ แรงงาน และเงินทุนสูงขึ้นเข้ามาด้วย คือ การทำเหมืองหาบและเหมืองปล่อง เจ้าเมืองและนายหัวเหมืองชาวจีนจึงเปลี่ยนไปทำเหมืองแบบดังกล่าวแทน โดยเฉพาะเหมืองหาบนับเป็นวิธีการทำเหมืองที่นิยมมากที่สุด จนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 การทำเหมืองได้พัฒนาเทคนิควิธีการขึ้นไปอีกขั้นเป็นเหมืองฉีด เหมืองสูบ และเรือขุดแร่

 

เหมืองแล่น

 

 เหมืองแล่นเป็นวิธีการทำเหมืองแร่เปิดในแหล่งแร่ชนิดลานแร่พลัดหรือแหล่งแร่บริเวณเชิงเขา โดยใช้แรงงานคนหรือการสูบน้ำส่งผ่านกระบอกฉีด ไปฉีดพังหน้าเหมือง แล้วปล่อยให้ดินปนแร่ไหลรวมกับน้ำไปตามคูดินที่ขุดไว้ไปสู่รางกู้แร่ (Palong) การทำเหมืองประเภทนี้ นิยมทำในช่วงฤดูฝน และเหมาะกับผู้ที่มีเงินทุนน้อย

 

เหมืองรูหรือเหมืองปล่อง

 

 เหมืองรู (ปล่อง) เป็นวิธีการทำเหมืองใต้ดินที่ใช้ในแหล่งแร่ชนิดลานแร่ ที่มีเปลือกดินหนามากและไม่มีแร่ในชั้นเปลือกดิน โดยใช้แรงงานทำการเปิดปล่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กกรุไม้  และติดตั้งเครื่องกว้านแร่ทำด้วยไม้หมุนมือสำหรับขนดินหินปนแร่ขึ้นมาด้านบน ใต้ดินจะทำเป็นอุโมงค์และมีการเว้นปล่องเพื่อระบายอากาศ คนงานเหมืองจะจุดเทียนไขไว้ในอุโมงค์เพื่อใช้วัดปริมาณออกซิเจน  ป้องกันคนงานไม่ให้ขาดอากาศหายใจ

 

เหมืองหาบ

 

 เหมืองหาบเป็นวิธีการทำเหมืองเปิดในแหล่งแร่ชนิดลานแร่บริเวณไหล่เขา โดยการเปิดหน้าดินด้วยการขุดเจาะหรือการใช้ระเบิดให้เป็นบ่อกว้างจนถึงชั้นดินที่มีแร่  แล้วใช้แรงงานคนหรือรถตัก รถบรรทุกขนดินปนแร่ไปสู่กระบวนการล้างแร่ในโรงแต่งแร่  โดยจะต้องบดย่อยหินปนแร่ให้แตกหรือหลุดจากกันก่อน โดยการใช้เครื่องมือย่อยหรือบดแร่ แล้วจึงนำดินหินปนแร่ที่ย่อยแล้วไปลงรางไม้  และล้างเก็บเอาแร่ออก

 

เหมืองฉีด

 

 เหมืองฉีดเป็นวิธีการทำเหมืองเปิดที่ใช้กับแหล่งแร่ชนิดลานแร่ โดยใช้เครื่องดูด (HYDRAULIC ELEVATOR) ในการสูบแร่ขึ้นรางกู้แร่หรือเครื่องอุปกรณ์แต่งแร่ “จิ๊ก”(JIG) โดยใช้น้ำที่กักเก็บไว้ในทำนบน้ำบนที่สูงเป็นพลังงานในการดูดดินปนแร่ แทนการใช้ปั้มดูดทราย (GRAVEL PUMP) เหมืองฉีดมีค่าดำเนินการที่ต่ำมาก แต่ต้องลงทุนในการสร้างทำนบและการเดินท่อน้ำค่อนข้างสูง

 

เหมืองสูบ

 

เหมืองสูบเป็นวิธีการทำเหมืองเปิดสำหรับแหล่งแร่ชนิดลานแร่ โดยการสูบฉีดน้ำไปพังดินหน้าเหมือง บางแห่งอาจใช้รถตักดิน รถไถดิน หรือการระเบิดช่วย ดินปนทรายและแหล่งแร่ที่พังทลายได้จะถูกปล่อยลงสู่ขุมสูบ แล้วจึงใช้ปั้มสูบทราย (GRAVEL PUMP) สูบดินปนแร่ขึ้นสู่รางกู้แร่ (PALONG) หรือเครื่องมือแต่งแร่อย่างอื่น เช่น จิ๊ก (JIG) การทำเหมืองสูบเป็นวิธีการที่แพร่หลาย เพราะเป็นวิธีการที่มีกำลังการผลิตสูง ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก และไม่ต้องการบริเวณแหล่งแร่กว้างใหญ่

 

เหมืองเรือขุด

 

 การทำเหมืองเรือขุดจะใช้ดำเนินการในแหล่งแร่ชนิดลานแร่ขนาดใหญ่ ที่ผ่านการสำรวจว่าเป็นแหล่งที่มีความสมบูรณ์ของแร่เพียงพอต่อความคุ้มค่าในการลงทุน เรือขุดที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นประเภทลูกเชอตักดิน (BUCKET LADDER DREDGES) ใช้ขุดเปิดหน้าดินใต้น้ำ ไปจนถึงดินชนิดที่มีแร่ปนอยู่ขึ้นมาเทในรางเหล็ก (DROP CHUTE) บนเรือ จากนั้นจะทำการคัดแยกดินทรายและแร่ละเอียดด้วยตะแกรงหมุน และทำการแยกแร่ด้วย จิ๊ก (JIG) โดยกระบวนการทุกขั้นตอนจะดำเนินการอยู่บนเรือทั้งหมด

 

เรือขุดแร่ลำแรกของโลก

 

 เป็นเรือขุดแบบลูกเชอตักดิน(BUCKET LADDER DREDGES) ด้วยการขุดเปลือกดินตลอดจนชั้นแร่ด้วยลูกเชอ (BUCKETS) ซึ่งร้อยเป็นพวงด้วย BUCKET PINS ประมาณ 30-100 ลูก แต่ละลูกมีขนาด 0.2-0.33 ลูกบาศก์เมตร นำดิน ทรายและหินปนแร่เข้าสู่การคัดแยกหินด้วยตะแกรงหมุน การแยกขนาดเม็ดทรายและแร่ลงสู่รางกู้แร่ (PALONG) หรือเครื่องแยกแร่แบบจิ๊ก(JIG) ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บแร่


 ในการเดินเรือขุดจะใช้ลวดสลิง อันประกอบด้วยสายข้างและสายหัว ซึ่งใช้เครื่องกว้านเป็นตัว ขึงตึงหรือหย่อนสายโดยปลายข้างหนึ่งยึดติดกับหลุมสมอบนตลิ่ง หรือเดินด้วย SPUDS 2 อัน ที่ยก ขึ้น-ลง โดยเครื่องกว้านเช่นกัน การตักดินจะสามารถทำได้ประมาณ 45,000 – 170,000 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน พลังงานที่ใช้ในเรือขุดส่วนใหญ่จะมีเครื่องกำเนิดพลังงานแบบเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องแก๊ส หรือเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ในลำเรือนั่นเอง


 ภายในเรือขุดจะมีเครื่องมืออุปกรณ์ล้างแร่และแต่งแร่ ได้แก่รางกู้แร่(PALONG) และเครื่องมือแต่งแร่แบบจิ๊ก (JIG) เพื่อทำการแต่งแร่ ให้ได้หัวแร่สะอาด โดยไม่ต้องนำไปแต่งในโรงแต่งแร่อีก

 

นิรมิตเล่นแร่แปรธาตุ

 

การแยกแร่ดีบุกหรือการแต่งแร่ดีบุกเพื่อแยกเอาแร่พลอยได้อื่น ที่เป็นแร่มีค่าทางเศรษฐกิจมาใช้ประโยชน์ด้วย  เช่นโคลัมไบต์ แทนทาไลต์ โมนาไซต์ ซีไลต์ เซอร์คอน และซีโนไทม์  เป็นต้น  ทั้งนี้การแต่งแร่ยังเป็นการทำความสะอาดแร่สินค้าให้ได้ตรงตามมาตรฐานการซื้อขายแร่ดีบุกของตลาดซื้อขายแร่อีกด้วย


การถลุงดีบุกในภูเก็ตนั้น มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาลงมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ผู้ขุดหาแร่ดีบุกต้องถลุงแร่ดิบให้เป็นแร่บริสุทธิ์ก่อนส่งจำหน่าย โดยใช้กรรมวิธีง่าย ๆ ด้วยการสุมไฟให้เนื้อดีบุกละลาย แยกตัวออกจากวัตถุเจือปน ต่อมาเมื่อการทำเหมืองแร่ได้เจริญจนกลายเป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และเรือขุดแร่ อังกฤษได้สร้างโรงถลุงแร่ขึ้นที่เกาะปีนัง  ภูเก็ตจึงเลิกการถลุงแร่ด้วยวิธีการแบบเก่า มาเป็นการส่งแร่ดิบออกจำหน่ายแทน  

การแต่งแร่ หรือ แยกแร่ดีบุกประกอบด้วยหลายวิธี ได้แก่
- การแยกแร่ โดยอาศัยความแตกต่างของความถ่วงจำเพาะ เช่นการใช้จิ๊ก(JIG) โต๊ะแยกแร่(SHAKING TABLE) รางกู้แร่(PALONG) เป็นต้น
- การแต่งแร่ด้วยเครื่องแยกแร่แม่เหล็ก
- การแต่งแร่ด้วยไฟฟ้าสถิตหรือไฟฟ้าแรงสูง

 

เครื่อง WILLOUGH BY WASHER

 

 นิยมใช้ในการแต่งแร่ดีบุก มีลักษณะเป็นถังสี่เหลี่ยม มีตะแกรงอยู่ที่ส่วนล่าง แผ่นตะแกรงมีรูขนาด   นิ้ว ระหว่างรูตะแกรงประมาณ 1 เซนติเมตร มีท่อสำหรับให้น้ำเข้าอยู่ใต้ระดับของตะแกรง ยาวตลอดตัวถัง และมีช่องน้ำออกตลอดแนวเช่นกัน เพื่อให้น้ำพุ่งออกทั่วภายในตัวถัง ขณะเดินเครื่องจะต้องปล่อยน้ำเข้าตลอดเวลา มีคนงานป้อนแร่ทางด้านบน แร่เม็ดเล็กและแร่เบาจะถูกพัดพาออกทางด้านบน ส่วนแร่หนักจะสะสมตัวอยู่บนตะแกรง เมื่อมีปริมาณสะสมมากพอ จะหยุดป้อนแร่ และกู้แร่บนตะแกรง

 

เครื่องแยกแม่เหล็กออกจากจาน (RING TYPE MAGNETIC SEPARATOR MACHINE)


 ตัวเครื่องประกอบด้วยจานกระจกหรือสายพานสำหรับป้อนแร่เข้าแยก และแบบที่เป็นจานกระจกทั้งสองข้าง (MULTI DOGE) ที่นิยมใช้มากกว่า โดยแร่จะผ่านเข้าสู่ใต้ขั้วแม่เหล็ก ขั้วแม่เหล็กอันล่างแบนราบ ส่วนขั้วบนอยู่เหนือสายพานเป็นจานมีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าความกว้างสายพาน มีขอบทำเป็นรูปวงแหวน เพื่อรวมกับแม่เหล็กให้มีความเข้มสูง แร่ดีบุกจะไม่ติดที่แม่เหล็ก ส่วนที่ติดจะเป็นแร่พลอยได้อื่น เช่น อิลเมไนต์ วุลแฟรม เป็นต้น ซึ่งจะถูกดูดติดขอบจานพาแร่ออกไปจนพ้นสนามแม่เหล็ก ซึ่งพ้นจากระยะความกว้างของสายพานด้วย จะถูกปล่อยลงในถังรองรับ ส่วนดีบุกที่ไม่ติดแม่เหล็ก จะค้างอยู่บนสายพานหรือจานป้อน และถูกกวาดลงที่ปลายสายพานหรือลงในที่รองรับแร่ไม่ติดแม่เหล็ก

 

เครื่องแยกแร่ด้วยไฟฟ้าสถิตย์ (ELECTROSTATIC SEPARATOR MACHINE)

 

 มีหลักการแยกโดยอาศัยคุณสมบัติ การเป็นตัวนำไฟฟ้าของแร่แต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกัน ในการแต่งแร่ดีบุก จะนิยมใช้เครื่องมือแต่งแร่ที่แยกดีบุกออกจากซีไลต์ที่เกิดร่วมกันในแหล่งแร่
 การทำงานของเครื่องแยกแร่ จะมีเครื่องจ่ายไฟฟ้าปล่อยกระแสเข้าสู่ขั้วประจุไฟฟ้า และหมุนลูกกลิ้งโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ขั้นตอนนี้จะเกิดการชักนำให้เกิดประจุบนผิวทุกครั้ง ซึ่งเป็นประจุตรงข้ามกัน เมื่อปล่อยแร่ผ่านระหว่างขั้วไฟฟ้ากับลูกกลิ้ง แร่ที่เป็นตัวนำจะถูกเหนี่ยวนำให้เกิดประจุตรงข้ามกับขั้วไฟฟ้าที่ผิวเม็ดแร่ ทำให้เกิดการผลักระหว่างเม็ดแร่กับผิวลูกกลิ้งที่มีประจุเหมือนกัน ส่วนแร่ที่ไม่เหนี่ยวนำจะส่งผ่านไป การผลักกันของแร่และลูกกลิ้ง จะสังเกตเห็นเป็นลักษณะของแร่ที่กระโดดออกห่างจากลูกกลิ้งไปลงช่องรับแร่ที่แยกจากแร่ที่ร่วงผ่านลูกกลิ้งไปลงอีกช่อง รับแร่อีกช่องหนึ่ง

 

 

 

ฉลาดนาวาชีวิต ลิขิตปรัชญ์สืบสาน บันซ้านบางเหนียว เก่วเกี้ยวในทู หลงผิดเสพ เทพาภรณ์ คฤหปตนินท์ บาบ๋าสินสมรส

ชาวจีนมีความอดทนและชอบการผจญภัยมาตั้งแต่สร้างแผ่นดินจีน(อพยพด้วยเรือสำเภาจีน เสื่อผืนหมอนใบ ขยันขันแข็ง ทำงานในเหมือง แต่งงานบาบ๋า สืบลูกสร้างหลานสืบกาลสืบแซ่ สร้างบ้านแปงเมืองในทู)


บ้านเก็ตโฮ่เป็นแหล่งแร่ดีบุกที่อุดมสมบูรณ์ในตำบลกะทู้ มีพ่อค้าชาวยุโรปเข้ามาตั้งบริษัทรับซื้อแร่ดีบุกตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2328 พม่ายกทัพมาโจมตีเมืองถลาง ส่งผลให้ชาวเมืองถลางบางส่วนอพยพหลบหนีไปอาศัยอยู่รวมกับชาวจีนที่ชุมชนกะทู้บ้านเก็ตโฮ่ ชุมชนกะทู้จึงขยายใหญ่ขึ้นและมีการทำเหมืองแร่ดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เริ่มจากแรงงานคนและพัฒนาไปใช้เครื่องมือจักรกลในที่สุด

 

ฉายาบทนฤมิต ภาพกิจปฐมเหตุ วรรณวิเศษปัญญภูมิ

 

ตำบลกะทู้ เดิมคือตัวเมืองภูเก็ตในสมัยที่การทำเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟู  ขณะเดียวกัน ในบริเวณนี้เต็มไปด้วยป่ารกทึบมีโรคภัยไข้เจ็บ คนจีนในกะทู้มีวิธีแก้ทุกข์ภัยด้วยการอัญเชิญพระหรือ(เทพ)เจ้าแต่ละองค์ที่ตนนับถือกราบไหว้บูชาเพื่อให้ตนอยู่เย็นเป็นสุขและพ้นจากภัยอันตราย
ประมาณปี พ.ศ.2395 คณะงิ้วจากเมืองจีนเปิดการแสดงที่บ้านกะทู้ หลังจากคณะงิ้วแสดงได้เกือบครบรอบปีก็เกิดการเจ็บป่วยขึ้นทั้งคณะเพราะคณะงิ้วคิดว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธีกินผักซึ่งเคยกระทำเป็นประจำทุกปีที่เมืองจีน จึงได้ตกลงร่วมประกอบพิธีกินผักอย่างย่อขึ้นที่โรงงิ้ว โรคภัยไข้เจ็บก็หายไป จึงสร้างความประหลาดใจให้กับชาวกะทู้เป็นอย่างมากจนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสประกอบพิธีกรรมกินผักสืบมา


ในปี พ.ศ.2398 คณะงิ้วที่ได้อาสาไปเมืองจีนได้อัญเชิญวัตถุมงคลคือเหี่ยวโห้ย(ควันธูป) คัมภีร์ตำราต่าง ๆ และเลี่ยนตุ่ย(ป้ายชื่อ)ที่ใช้ในการประกอบพิธีกินผักมาจากมณฑลกังไส โดยจุดธูปตลอดการเดินทางมาขึ้นที่หัวท่าบางเหนียว ชาวกะทู้ร่วมกันอัญเชิญวัตถุมงคลดังกล่าวจากบ้านบางเหนียวไปบ้านในทู ประกอบพิธีกินผัก(เจียะฉ่าย)อันสมบูรณ์จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่นั้น และทุกปีในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นเทศกาลกินผักสืบทอดมาถึงปัจจุบัน.


ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์


ตรวจแก้จากฉบับเดิมของบริษัท อูเอโนะ ดีไซน์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด
แก้เมื่อ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ และต้องแก้ไขปรับปรุงอีก

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 30 สิงหาคม 2009 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้512
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1111
mod_vvisit_counterทั้งหมด10731231