Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ผ้าบาติกกะทู้ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 10 พฤษภาคม 2008

ผ้าบาติกกะทู้

 ตำบลกะทู้  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต
       
โดย สภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต
และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต
โทร. ๐-๗๖๒๒-๓๖๑๗
โทรสาร ๐-๗๖๒๒-๓๖๕๔

 

บาติก (BATIK) หรือ ปาเต๊ะ  เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ผ้าบาติกบางชิ้นอาจจะผ่านขั้นตอนการปิดเทียน แต้มสี ระบายสี และย้อมสีนับเป็นสิบ ๆ ครั้ง ส่วนผ้าบาติกอย่างง่าย อาจทำโดยการเขียนเทียน หรือพิมพ์เทียน แล้วจึงนำไปย้อมสีที่ต้องการ  (http://www.library.nrru.ac.th/rLocal)


สารบัญ


เรื่อง.....................................................................................................................................   หน้า

บทที่ ๑   บทนำ …………………………………………………… 
   
บทที่ ๒  เอกสารที่เกี่ยวข้อง...........................................................................................  

บทที่  ๓  ผลการศึกษาการทำผ้าบาติก........................................................................... 

บทที่ ๔  ข้อมูลภาพและเสียง…………………………………………………. 
  บรรณานุกรม…………………………………………. 

ภาคผนวก………………………………………………………………………

 คณะผู้จัดทำ......................................................................................................
          


บทที่ ๑

บทนำ

ภูมิหลัง


 มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ด้วยอาศัยปัจจัยสี่ และเครื่องนุ่งห่มก็เป็น ๑ ใน ๔  ปัจจัยหลักของมนุษย์ที่ไม่สามารถขาดได้ เครื่องนุ่งห่มเกิดขึ้นเพราะประโยชน์ใช้สอยในการปกปิดร่างกาย และต่อมาได้พัฒนามาสู่ความงดงามทางด้านศิลปะ  จัดเป็นงานฝีมือ   และงานฝีมือใดที่สามารถตอบสนองชีวิตชุมชนได้  งานฝีมือนั้นก็สามารถดำรงอยู่ได้ต่อไป


เครื่องนุ่งห่มอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมากก็คือผ้านุ่งหรือผ้าปาเต๊ะของภาคใต้  จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีการทำผ้าปาเต๊ะใช้กันมาประมาณ ๒,๐๐๐ ปีแล้ว
จากการศึกษาค้นคว้าของ N.J.Kron นักประวัติศาสตร์ ชาวดัชท์ สรุปได้ว่าการทำโสร่งปาเต๊ะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนที่จะติดต่อค้าขายกับอินเดีย แต่นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าผ้าปาเต๊ะหรือผ้าบาติกกำเนิดในประเทศอินเดีย  บางคนเชื่อว่ามาจากอียิปต์หรือเปอร์เซีย  และบางคนกล่าวว่าเป็นของดั้งเดิมในอินโดนีเซีย มีการค้นพบผ้าบาติกที่อียิปต์ อินเดีย และญี่ปุ่น    ส่วนคนไทยรู้จักผ้าปาเต๊ะในชื่อว่า‘ผ้าบาติก’ คนรุ่นเก่าเรียกผ้าปาเต๊ะที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทยว่า‘ผ้ายาวอ (JAVA)’ หมายถึงผ้าของชาวชวา และเรียกชื่อตามลักษณะของผ้า เช่น  จาวอตูเลส (JAVA TULIS ) ใช้เรียกผ้าปาเต๊ะที่ใช้เทคนิคการเขียนเทียนด้วยจันติ้ง (เครื่องมือที่ใช้เขียนขี้ผึ้งด้วยมือ) ตลอดทั้งผืน จาวอตูเก (ผ้าชวากระบอกไม้ไผ่ ) เป็นผ้าคุณภาพชั้นดี เนื้อดี เบาบาง และสามารถม้วนเก็บไว้ได้เพียงหนึ่งกำมือเท่านั้น  จาวอบือเละ  หมายถึงผ้าพันชวา คือผ้าที่มีความยาวประมาณ 3.5 - 4 หลา เป็นลักษณะของผ้าที่ไม่เย็บตะเข็บผ้าให้ติดกัน แต่จะใช้วิธีนุ่งแบบพันรอบตัว   จาวอซือแปะ ใช้เรียกผ้าชวาตราดอกจิกที่เป็นผ้าถุงคุณภาพดี มีตราดอกจิกเป็นเครื่องหมายการค้า และเป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้ที่มีฐานะดี


ปัจจุบันผ้าบาติกหรือปาเต๊ะได้แพร่หลายและเป็นที่นิยมอย่างมากสามารถดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น ผ้าเช็ดหน้า, ผ้าผันคอ, ผ้าคลุมผม, เสื้อ และอื่น ๆ และมีเทคนิคในการผลิตหลายแบบ เช่น


 เทคนิคการเขียนด้วยมือ (Batik Tulis) จัดเป็นผ้าบาติกชั้นสูง จะใช้เขียนเทียนด้วยเครื่องมือที่ เรียกว่า 'จันติ้ง' (Canting) มีลักษณะคล้ายปากกาลูกลื่น ตรงปลายเป็นกรวยเพื่อให้น้ำเทียนไหลออกการเขียนเทียนต้องเขียนทั่วทั้งผืนขณะที่น้ำเทียนกำลังร้อน ๆ ไหลติดซึมลงไปในเนื้อผ้า ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้เขียนเทียน ก็คือพื้นที่ที่จะใช้สีลงตามแบบที่ต้องการ แล้วจึงนำผ้าไปต้มเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายออก
ผ้าปาเต๊ะลายพิมพ์ (Mem Batik Cap) จะใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากไม้, ทองแดง, หรือโลหะ โดยการใช้แม่พิมพ์จุ่มเทียนที่กำลังร้อนพอเหมาะพิมพ์ลวดลายบนผ้า จากนั้นจึงแต้มสีหรือนำไปย้อมต่อไป


           ในส่วนของประเทศไทย ชาวไทยรู้จักบาติกในชื่อ ผ้าปาเต๊ะ  นิยมทำผ้าปาเต๊ะหรือบาติกในภาคใต้บริเวณสามจังหวัดชายแดน คือ ยะลา ปัตตานี  และนราธิวาส  ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยอิสลาม  มีการทำโสร่งปาเต๊ะกันมานาน  โดยได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย ผ่านมาเลเซีย เข้าสู่ชายแดนภาคใต้  ซึ่งอาจเป็นอิทธิพลทางการค้าและศาสนา    การทำผ้าปาเต๊ะนับเป็นงานฝีมือพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันมาหลายชั่วอายุคน และปัจจุบันได้มีการประยุกต์นำเอางานฝีมือเหล่านั้น มาใช้ในการประดิษฐ์ผ้าปาเต๊ะเพื่อการประดับตกแต่งร่างกาย  เช่น การเขียนลายที่ประยุกต์รูปแบบ และรวมถึงการประดิษฐ์ขึ้นเป็นผ้าพันคอ ผ้าคลุมผม เป็นต้น นิยมเขียนเป็นภาพดอกไม้ ใบไม้ ภาพสัตว์ และลวดลายเครือเถาต่าง ๆ การทำผ้าปาเต๊ะหรือบาติกของชาวไทยแถบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทำกันเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว สร้างรายได้ที่ดีให้กับชาวบ้าน และยังเป็นสินค้าพื้นเมืองประจำท้องถิ่นที่ส่งออกไปขายตามแหล่งต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและต่าง ประเทศ


  นอกจากภาคใต้แล้ว ยังมีการผลิตผ้าบาติกในแถบเหนือสุดของประเทศ โดยชาวเขาเผ่าม้ง นิยมเขียนเป็นรูปทรงเรขาคณิต นำมาต่อกันให้เกิดลวดลาย มีการทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งคาดว่าคงได้รับอิทธิพลมาจากทางพรมแดนตอนใต้ของประเทศจีน
 ปัจจุบันงานช่างฝีมือพื้นบ้านของภูเก็ตหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก   อาจจะสืบเนื่องมาจากภูเก็ตได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว  จึงทำให้วิถีชีวิตหลายอย่างของผู้คนเปลี่ยนไป  และจากการที่ภูเก็ตกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว  ทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าที่ระลึกขึ้นเป็นจำนวนมาก  ผ้าบาติกก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าที่ระลึกยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ผ้าบาติกจึงได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนามาโดยตลอด  โดยเฉพาะผ้าบาติกที่ผลิตในเขตจังหวัดภูเก็ต  จัดได้ว่าเป็นผ้าที่มีลวดลาย  สีสัน และรูปแบบที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนที่อื่น ๆ  เพราะในการผลิตต้องใช้เทคนิคขั้นสูง และสลับซับซ้อน  ให้เกิดลวดลายที่วิจิตรตระการตา  ก่อให้เกิดคุณค่าทางด้านจิตใจนอกเหนือจากประโยชน์ของการใช้สอย  ทำให้เกิดผลงานที่มีคุณค่าสามารถสนองจิตใจและอารมณ์ของมนุษย์ทั้งด้านวิจิตรศิลป์และประยุกต์ศิลป์รวมทั้งมีความเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นก็คือวัฒนธรรมการแต่งกายที่ปรากฎในรูปแบบผ้าบาติกที่หลากหลาย  ซึ่งบาติกภูเก็ต  ใช้วิธีการเขียนเทียนด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า  ปากกาเทียนหรือชันติ้ง (TJANTING)  และบาติกที่เป็นลักษณะเฉพาะของจังหวัดภูเก็ต  คือ ภาพจิตรกรรมในรูปต่างๆ สำหรับจังหวัดภูเก็ตมีการสอนบาติกในสถาบันการศึกษาครั้งแรกที่สถาบันราชภัฎภูเก็ต  เป็นการริเริ่มของอาจารย์ชูชาติ   ระวิจันทร์  และอาจารย์สมชาย  พรหมสุวรรณ    ที่ได้ทุ่มเทให้กับการสอนการทำบาติก  ซึ่งได้พัฒนาและคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ  จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของบาติกภูเก็ต  คือ  เป็นการนำเทคนิกบาติกมาทำเป็นงานจิตรกรรมที่เฉียบขาดด้วยเส้นและสดใสด้วยสีแสงโดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ใต้ท้องทะเล  เช่น ปะการัง ดอกไม้ทะเล และหมู่ปลามาทำเป็นงานจิตรกรรมเป็นครั้งแรก


จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า  งานช่างฝีมือพื้นบ้าน  โดยเฉพาะผ้าบาติก กลายเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดนักท่องเที่ยว ควรที่จะได้รับการบันทึกขั้นตอนและวิธีการทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งผลจากการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ทำให้ทราบถึงภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์งานศิลปะ และเป็นการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการในการผลิตไว้เป็นลายลักษณ์อักษร อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและสืบค้นในทางวิชาการต่อไป  รวมทั้งหน่วยงานราชการ และเอกชน สามารถใช้ผลการศึกษาเป็นข้อมูลในการนำมาพัฒนา ปรับปรุงรูปแบบของการผลิตลวดลายผ้าบาติกให้สอดคล้องและเหมาะสมกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน  เป็นประโยชน์ทางวิชาการในการใช้เป็นเอกสารอ้างอิง และเป็นแนวทางในการศึกษาเรื่องทำนองเดียวกัน หรือประเด็นอื่นกับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า


 การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาการทำผ้าบาติกกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  ในประเด็นต่อไปนี้
๑. เพื่อศึกษาประวัติของช่างทำผ้าบาติก
๒. เพื่อศึกษาขั้นตอนและวิธีการทำผ้าบาติก

ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า


 ผลของการศึกษาค้นคว้ามีความสำคัญดังต่อไปนี้
๑. เพื่อให้ทราบถึงภูมิปัญญาการสร้างสรรค์งานช่างฝีมือพื้นบ้าน  และเป็นการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ในการทำผ้าบาติกกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  นำมาจัดระบบเป็นลายลักษณ์อักษร
๒. หน่วยงานราชการและเอกชนสามารถใช้ผลการศึกษาเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนางานฝีมือทางด้านนี้ให้สอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาพปัญหาและวิถีชีวิตในปัจจุบัน
๓. เป็นประโยชน์ในทางวิชาการที่จะใช้เป็นเอกสารอ้างอิง และเป็นแนวทางในการศึกษาเรื่องในทำนองเดียวกันหรือในประเด็นอื่นกับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า


 การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ได้กำหนดขอบเขตของการศึกษา ดังนี้
๑. ขอบเขตด้านข้อมูล  โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามจากแหล่งข้อมูลที่บ้านกะทู้ ตำบลกะทู้  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต
 ๒. ขอบเขตด้านเนื้อหา  การศึกษาครั้งนี้ได้กำหนดประเด็นที่จะศึกษา  ดังนี้
      ๑. เพื่อศึกษาประวัติของช่างทำผ้าบาติก
     ๒. เพื่อศึกษาขั้นตอน และวิธีการทำผ้าบาติก

นิยามศัพท์เฉพาะ


 ช่าง   หมายถึง  คนที่มีฝีมือในการทำผ้าบาติกในบ้านกะทู้  อำเภอกะทู้   จังหวัดภูเก็ต
ผ้าบาติก   หมายถึง  ผ้าที่ผลิตขึ้นในบ้านกะทู้  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  ซึ่งมีลักษณะลวดลาย     เฉพาะถิ่น

วิธีการดำเนินการศึกษาค้นคว้า 


 การศึกษาค้นว้าครั้งนี้   ได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
๑. ขั้นสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวข้อง  โดยการสำรวจและศึกษาเอกสารที่ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษา  จากแหล่งเอกสารต่าง ๆ เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการเขียนเค้าโครง
๒. ขั้นเก็บรวบรวม
๒.๑  การเก็บรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลภาคสนาม  โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามจากพื้นที่ที่กำหนดไว้ในขอบเขตด้านแหล่งข้อมูล  โดยใช้การสัมภาษณ์ สังเกต บันทึกวิดิทัศน์ และถ่ายภาพประกอบ ตามลำดับขั้นตอนดังนี้
  ๒.๑.๑ สำรวจผู้บอกข้อมูลในแหล่งข้อมูลที่ศึกษา  โดยกำหนดผู้บอกข้อมูลจากบุคคลดังต่อไปนี้  ผู้ที่มีความสามารถในการทำผ้าบาติก 
  ๒.๑.๒ สัมภาษณ์ผู้บอกข้อมูลตามข้อ ๒.๑.๑ โดยการสัมภาษณ์ตามประเด็นที่กำหนดไว้ในขอบเขตด้านเนื้อหา  โดยการจดบันทึกและ/หรือบันทึกลงแถบบันทึกเสียงและ/หรือวิดิทัศน์  พร้อมทั้งใช้วิธีสังเกต และถ่ายภาพประกอบ 
  ๒.๑.๓ สังเกตการทำผ้าบาติกในพื้นที่ศึกษา  บันทึกผลโดยวิธีจดบันทึก  ถ่ายวิดิทัศน์ และถ่ายภาพประกอบ
 ๓. ขั้นจัดกระทำกับข้อมูล
  ๓.๑ ถอดข้อความการสัมภาษณ์ที่บันทึกไว้ในแถบบันทึกเสียงด้วยวิธีสรุปสาระสำคัญ
  ๓.๒ สรุปสาระสำคัญตามขอบเขตด้านเนื้อหา  จากการจัดบันทึก ถ่ายวิดิทัศน์ และถ่ายภาพประกอบ         
  ๓.๓ วิเคราะห์ข้อมูล  นำข้อมูลที่ได้จากข้อ ๓.๑ และ ๓.๒ มาจัดหมวดหมู่ และวิเคราะห์ข้อมูลตามขอบเขตเนื้อหาที่กำหนดไว้
  ๓.๔ ขั้นเสนอผลการศึกษาค้นคว้า  นำเสนอผลการศึกษาด้วยวิธีพรรณาวิเคราะห์ และมีภาพประกอบ

 

บทที่ ๒ 
เอกสารที่เกี่ยวข้อง

 การศึกษาครั้งนี้  ผู้ศึกษาได้ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง  และนำเสนอโดยแยกประเด็น  ดังนี้
 ๑. เอกสารที่เกี่ยวกับผ้าบาติก
 ๒. เอกสารที่เกี่ยวกับจังหวัดภูเก็ต
 
๑. เอกสารที่เกี่ยวกับผ้าบาติก


๑.๑ ความหมายของผ้าบาติก


 สุดารา  สุจฉายา (๒๕๔๓ : ๑๗๗) ได้ให้ความหมายของคำว่าบาติกไว้ว่า “วิธีการสร้างลวดลายบนผืนผ้าโดยการปิดทับเนื้อผ้าส่วนที่ไม่ต้องการให้สีติด ด้วยตัวกันสีชนิดใดชนิดหนึ่ง  โดยทั่วไปนิยมใช้ขี้ผึ้งหลอมละลายหรือเทียนไข”
 มาโนชญ์  บุญญานุวัตร และนเรศ  ศรีรัตน์ (๒๕๔ : ๔๗๓๑)  ได้ให้ความหมายของคำว่า ปาเต๊ะ (Batik) ไว้ว่า “เป็นภาษาชวา ใช้เรียกผ้าย้อมสีชนิดหนึ่งที่รวมเอาศิลปะทางด้านฝีมือและเทคนิคการย้อมสีเข้าด้วยกัน”
ผ้าบาติก (Batik) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าผ้าปาเต๊ะเป็นภาษาที่ชาวอินโดนีเซียหรือชวาใช้เรียกชื่อผ้าพื้นเมืองชนิดหนึ่งที่เกิดจากการใช้ฝีมือเขียนให้เกิดลวดลายและการย้อมสีบนผืนผ้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ สำหรับประเทศไทยตามหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าคงรับเอาอิทธิพลและวัฒนธรรมมาจากประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เห็นได้จากทางจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการทำผ้าบาติกกันอย่างมากมาย ผ้าบาติก เป็นชื่อเรียกของผ้าประเภทหนึ่ง ที่นิยมใช้กันมากในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนี เซีย มาเลเซีย บรูไนดาลุซาลาม หมู่เกาะทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของประเทศไทย
จากเวปไซด์ http://web.nfe.go.th/index/content/ และเวปไซด์ http://www.thaitextile.org/dataarticle/  ได้กล่าวถึงความหมายไว้ว่า  ผ้าบาติก เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำลวดลายผ้าโดยการใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการๆให้สีติด และระบายสีในส่วนที่ต้องการให้สีติด "บาติก" หรือ "ปาเต๊ะ" เป็นคำในภาษาชวามาจากคำว่า "ติติ๊ก"หรือ "ติก"มีความหมายว่า เล็กน้อยหรือจุดเล็กๆ โดยใช้การหลอมเหลวของแว๊ก (WAX) หยดหรือเขียนที่เรียกว่า "การเขียนน้ำเทียน" เป็นกรรมวิธีที่จะระบายเทียนที่หลอมเหลวให้เข้าไปในเนื้อผ้า จากนั้นนำไปย้อมตามขบวนการการทำสีผ้าบาติก คือ ย้อมในส่วนที่ไม่ปิดแว๊กให้ติดสีย้อมคือแต้มหรือระบายลงไปในส่วนที่ต้องการให้สีติด เมื่อเสร็จกรรมวิธีแล้วจึงลอกเทียนออกด้วยการนำไปต้มในน้ำเดือด  "บาติก" จึงเป็นการตกแต่งผ้าวิธีหนึ่งที่ทำกันมากในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงประเทศไท  ซึ่งมีการนำเสนอลวดลายผ้าที่ออกมาจากความคิดจินตนาการของผู้ทำรวมทั้งเทคนิคในการทำที่แตกต่างกันของกลุ่มชนในแต่ละประเทศที่เป็นเอกลักษณ์แสดงถึง อารยธรรม และวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสถานที่นั้น ๆ


            ธวัชชัย ทุมทอง (๒๕๔๑ : ๓)  ได้ให้ความหมายของคำว่า บาติก ว่า  หมายถึง วิธีการสร้างลวดลายบนผืนผ้า  โดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี หรือปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีซ้ำอีก  และใช้วิธีระบาย แต้ม ย้อม ส่วนที่ต้องการให้ติดสี  ส่วน ปาเต๊ะ (Batik) เป็นภาษาชวา  ใช้เรียกผ้าย้อมสีชนิดหนึ่งที่มีฝีมือทางศิลปะและเทคนิคย้อมสีเข้าด้วยกัน       

    
 บาติก  (BATIK)  เป็นภาษามาลายัน (MALAYAN)  มีความหมาย “วาดด้วยขี้ผึ้ง”  บาติกเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอียิปต์โบราณ  (ประมาณ ๒,๐๐๐ – ๑,๐๐๐ ปีก่อน ค.ศ.)  และได้แพร่หลายไปทั่วโลกทั้งในจีน อินเดีย และชวา  โดยเฉพาะที่ชวาบาติกได้รับการพัฒนามากที่สุด  เริ่มจากการทำบาติกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๗ ต่อมาพ่อค้าชาวฮอลแลนด์  ได้นำบาติกเข้าไปสู่ยุโรปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ 


 บาติก (BATIK) หรือ ปาเต๊ะ  เป็นคำที่ใช้เรียกผ้าชนิดหนึ่งที่มีวิธีการทำโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี และใช้วิธีการแต้ม ระบาย หรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี ผ้าบาติกบางชิ้นอาจจะผ่านขั้นตอนการปิดเทียน แต้มสี ระบายสี และย้อมสีนับเป็นสิบ ๆ ครั้ง ส่วนผ้าบาติกอย่างง่าย อาจทำโดยการเขียนเทียน หรือพิมพ์เทียน แล้วจึงนำไปย้อมสีที่ต้องการ  (http://www.library.nrru.ac.th/rLocal)

 ๑.๒ ขั้นตอนการทำผ้าบาติก 


 มาโนชญ์  บุญญานุวัตร และนเรศ  ศรีรัตน์ (   : ๔๗๓๑ – ๔๗๓๒) ได้ศึกษาขั้นตอนการทำผ้าบาติก
ว่ามีอยู่ทั้งหมด ๔ ขั้นตอน  ดังนี้
๑. ขั้นการออกแบบลาย
๒. ขั้นการเขียนขี้ผึ้ง
 ๓. ขั้นการย้อมสี
 ๔. ขั้นการเอาขี้ผึ้งออก


 ธวัชชัย  ทุมทอง (๒๕๔๑ : ๓) ได้ศึกษาถึงขั้นตอนการทำบาติก มีดังนี้ ใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี  ใช้วิธีการระบายสี แต้มย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี  เคลือบสีให้ติดเนื้อผ้า และต้มละลายเทียนออก 


 สุดารา สุจฉายา (๒๕๔๓ : ๑๗๘ – ๑๗๙) ได้กล่าวถึงขั้นตอนการทำผ้าบาติกไว้ดังนี้   วาดลวดลายที่ต้องการด้วยดินสอลงบนผืนผ้า  ใช้แจนติ้งเขียนเทียนตามลายเส้น  ระบายสีอื่น ๆ ตามต้องการ  ตากให้แห้ง เคลือบด้วยน้ำยาโซเดียมซิลิเกตทิ้งไว้ ๑๒ ชั่วโมง นำผ้าไปล้างน้ำ แล้วตากให้แห้ง  


๒. เอกสารเกี่ยวกับจังหวัดภูเก็ต


 ๒.๑. ประวัติความเป็นมา
 จังหวัดภูเก็ตเดิมเป็นแหลมเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ของประเทศ  เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คือ แร่ดีบุก  ในสมัยศรีวิชัย  ภูเก็ตรู้จักกันในชื่อเมืองสิลัน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นถลาง  สมัยกรุงศรีอยุธยา  มีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายที่เกาะภูเก็ต และในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ปรากฎวีรกรรมของ
สองวีรสตรีคือท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร  ในการทำสงครามกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘  และได้อพยพเคลื่อนย้ายคนจากเมืองถลางมาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณที่ราบเหนืออ่าวทุ่งคา ในเขตอำเภอเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน  และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการรวบหัวเมืองชายทะเลตั้งเป็นมณฑลภูเก็ตเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕  และต่อมา พ.ศ.๒๔๗๕  มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้จัดระเบียบบริหารราชการเป็นจังหวัดและอำเภอ  จึงยกเลิกมณฑลภูเก็ตและเปลี่ยนเป็นจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่นั้นมา
  ๒.๒. ที่ตั้งและอาณาเขต 
  จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกของภาคใต้ในทะเลอันดามัน   มหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๗ องศา ๔๕ ลิปดา ถึง ๘๐ องศา ๑๕ ลิปดาเหนือ  เหนือ และเส้นแวงที่ ๙๘ องศา ๑๕ ลิปดา  ถึง ๙๘ องศา ๔๐ ลิปดา ตะวันออก อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ๘๙๐  กิโลเมตร  เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  มีเกาะบริวารอีก ๓๒ เกาะ  เช่น เกาะสิเหร่  เกาะแก้ว เกาะมะพร้าว เกาะโหลน เกาะเฮ  เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย เป็นต้น  รวมเนื้อที่ประมาณ ๕๗๐ ตารางกิโลเมตร  ส่วนกว้างที่สุดของเกาะเท่ากับ  ๒๑.๓ กิโลเมตร  ส่วนยาวที่สุดของเกาะภูเก็ตเท่ากับ ๔๘.๗ กิโลเมตร  มีอาณาเขตดังนี้
  ทิศเหนือ จดช่องปากพระจังหวัดพังงา  เชื่อมโดยสะพานสารสินและ
    สะพานท้าวเทพกระษัตรี
  ทิศใต้  จดทะเลอันดามัน
  ทิศตะวันออก จดทะเลเขตจังหวัดพังงา
  ทิศตะวันตก จดทะเลอันดามัน
  
  ๓.๓. การปกครอง  
  แบ่งการปกครองออกเป็น ๓ อำเภอ  คือ  อำเภอเมืองภูเก็ต  อำเภอถลาง  และอำเภอกะทู้

๓.๔. ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ภูมิประเทศของจังหวัดภูเก็ต มีลักษณะยาวเรียวจากเหนือไปใต้  สภาพพื้นที่จังหวัดภูเก็ตประมาณร้อยละ ๗๐ เป็นภูเขาสลับซับซ้อน  ทอดจากแนวทิศเหนือลงทิศใต้ ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ  มียอดสูงสุดประมาณ ๕๒๙ เมตร  คือยอดเขาไม้เท้าสิบสอง  อยู่ในเขตตำบลป่าตอง  อำเภอกะทู้  อีกประมาณร้อยละ ๓๐  เป็นที่ราบอยู่ตอนกลาง  และตะวันออกของเกาะ  ส่วนพื้นที่ฝั่งตะวันตกเป็นภูเขาและหาดทราย  นอกจากนั้นยังมีลำคลองเล็กๆ อาทิ  คลองบางใหญ่  คลองท่าจีน  คลองท่าเรือ  คลองบางโรง  เป็นต้น 
  สภาพภูมิอากาศ โดยทั่วไปอบอุ่นตลอดปี  มีฤดุกาลสำคัญเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูฝน  ประมาณ ๗ – ๘ เดือน  ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน และฤดูร้อนประมาณ ๔ – ๕ เดือน ตั้งแต่เดือน
ธันวาคม - เดือนมีนาคม  
  ๓.๕. สภาพสังคมและวัฒนธรรม
       ๓.๕.๑ ประชากรส่วนใหญ่  เป็นชาวพุทธเชื้อสายจีน  รองลงมาคือ  การนับถือศาสนาอิสลาม  และศาสนาอื่น ๆ  คือ ศาสนาคริสต์  ซิกข์  และฮินดู  การนับถือศาสนาของชาวภูเก็ตนับถือตามบรรพบุรุษและการแต่งงานระหว่างกลุ่มทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งใด ๆ
     ๓.๕.๒ ขนบธรรมเนียมประเพณี  ประชาชนจังหวัดภูเก็ตมีประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะประเพณีจีน ซึ่งได้คลอบคลุมไปทุกส่วนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต  เนื่องจากความเจริญในด้านวัตถุ  และขนบธรรมเนียมประเพณีของจีนที่หลั่งไหลเข้าสู่ภูเก็ต  เกิดการผสมผสานกันขึ้นระหว่างวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมจีน ชาวพุทธเชื้อสายจีนมีการปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวพุทธเชื้อสายไทย  เพียงแต่มีการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับประเพณีจีน  เช่น กินผัก ไหว้เทวดา งานพ้อต่อ เช็งเหม็ง  การบูชาบรรพบุรุษ การบูชารูปของเซียนองค์ต่างๆ  เพื่อขจัดปัดเป่าภัยอันตราย  นอกจากนี้  ยังมีการบูชาเทวดา  ที่เรียกว่า”ถี่ก๋ง”  ซึ่งอัญเชิญไว้ที่หิ้งเล็กๆ  ติดไว้ที่เสาบ้านด้านซ้ายมือของตัวบ้าน  ด้วยเหตุผลเดียวกัน  คือ เพื่อคุ้มครองปกปักรักษาผู้อยู่อาศัยในบ้าน  ส่วนชาวไทยเชื้อสายพุทธก็จะมีประเพณีปล่อยเต่า   ประเพณีสารทไทย  ส่วนชาวเลก็มีประเพณีลอยเรือ เป็นต้น
 ๓.๕.๓ ศิลปวัฒนธรรม   รูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรมของชาวภูเก็ตที่ยังมีให้เห็นในปัจจุบัน  ทั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ  วัดวาอาราม  มีอยู่ด้วยกัน ๓ แบบ ได้แก่  รูปแบบบ้านเรือนภูเก็ต   รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน  ซึ่งบ้านเรือนแบบจีนสร้างด้วยดิน  เรียกว่า ตึกดิน หรือกว้านดิน  เนื่องจากวัสดุที่ใช้ก่อสร้างทำด้วยดินหรือดินเผา  ดินที่ใช้ในการสร้างบ้านเรือนแบบนี้  นัยว่าเป็นดินที่ผสมด้วยวัสดุบางอย่างเพื่อให้มีคุณสมบัติเกาะยึดติดแน่นไม่เปราะและไม่ผุพังง่าย  ชาวจีนใช้ดินผสมนี้อัดกระทุ้งให้เรียบสนิท  เสริมให้สูงขึ้นจากพื้นดินจนเป็นรูปกำแพง  และใช้เป็นฝาผนังบานทั้งสี่ด้าน  มีประตู หน้าต่าง  ใช้ไม้แก่นเนื้อแข็ง  เป็นวงกบประตูหน้าต่างและบานประตู  และแบบสถาปัตยกรรมผสมที่เรียกว่า “ชิโนโปรตุกีสสไตส์” ซึ่งลักษณะบ้านเป็นแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจีนกับสถาปัตยกรรมโปรตุเกส  อังกฤษ อินเดีย และฮอลันดา ฝรั่งเศสบ้างเล็กน้อย

 

บทที่ ๓
ผลการศึกษาการทำผ้าบาติก

 

ชื่อทั่วไป    ผ้าบาติกตำบลกะทู้

ชื่อเฉพาะของท้องถิ่น   ผ้าบาติกกะทู้

ประเภทผลงาน  ผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า

ข้อมูลช่าง


นางสาวสมเพียร  ตันประสิทธิ์  เกิดวันที่  ๑๖  มกราคม  ๒๔๘๘  อายุ ๖๑ ปี  ที่อยู่เลขที่ ๖ ม.๕  ตำบลกะทู้  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  ๘๓๑๒๐ ได้ศึกษาการทำผ้าบาติกเมื่อ ๒๐ ปีก่อน  จากอาจารย์ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาจังหวัดภูเก็ต คือ อาจารย์อารมณ์  อ่อนศรี  ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงมาฝึกฝนจนเกิดความชำนาญจึงได้ทำเพื่อจำหน่ายจนกระทั่งปัจจุบัน  ต่อมาได้เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มแม่บ้านเกษตรอำเภอกะทู้” ซึ่งจะทำเฉพาะมีผู้สั่ง  โดยส่งไปจำหน่ายตามโรงพยาบาล  หน่วยงานราชการต่าง ๆ  รายได้ต่อเดือนประมาณ ๕,๐๐๐ บาท  นอกจากนั้นยังได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจและกลุ่มแม่บ้านตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต  เช่น  กลุ่มแม่บ้านตำบลกมลา อำเภอป่าตอง  จังหวัดภูเก็ต   เคยได้รับรางวัลผู้นำอาชีพดีเด่นจังหวัดภูเก็ต 

ประโยชน์/หน้าที่ใช้สอย
เพื่อนำไปใส่กรอบเป็นของที่ระลึก  ของประดับตกแต่งบ้าน หรือผ้าตัดเสื้อ ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดหน้า  และปลอกหมอน 

 ลักษณะพิเศษของผ้าบาติกกะทู้
 เป็นการเขียนเทียนในลักษณะภาพที่เกี่ยวกับทะเล เช่น ทิวทัศน์ ปลา    ที่ทำด้วยมือเพียงอย่างเดียวตั้งแต่ต้นจนจบเพียงคนเดียว

วัสดุที่ใช้ในการผลิต 
สามารถหาซื้อได้ในท้องถิ่น  คือที่ร้านฟองจันทร์  ตำบลกะทู้  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  ดังนี้

๑. สี  มีทั้งหมด ๓ สี  คือ  น้ำเงิน ม่วง แดง
๒. เทียน  มีลักษณะเป็นก้อน  ใช้สำหรับเขียนลายเส้นเพื่อกั้นไม่ให้สีแต่ละสีปนกัน
๓. น้ำยาเคลือบ  หรือ ไมโครพาราฟินน์แวกซ์  ชื่อเฉพาะคือ ซิลิเกต เป็นของเหลวมีลักษณะใสแต่
เหนียว   เวลาซื้อจะซื้อมาทั้งแกลลอน ใช้สำหรับเคลือบสีหลังจากระบายเสร็จแล้ว
 ๔.   ผ้าฝ้าย หรือผ้าป่าน

เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต

๑. ชันติ้ง    มีลักษณะคล้ายเทียนไข   ด้ามทำด้วยไม้  ส่วนปลายมีลักษณะแหลมคล้ายปากกา  ทำด้วยทองเหลือง   และมีกรวยที่มีปากแคบสำหรับใส่เทียน
๒. พู่กันขนาดต่างๆ  ใช้สำหรับระบายสีลงบนลวดลายที่วาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

๓. แปรงทาน้ำยาเคลือบ  ใช้แปรงทาสีที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด  และขันน้ำสำหรับใส่น้ำยาเคลือบ

๔.  เฟรมไม้   มีลักษณะเป็นโครงไม้ ใช้สำหรับขึ้นผ้า

๕. หม้อและเตาแก็ส  ใช้สำหรับละลายเทียนจากเดิมเป็นก้อนเทียน  จนเหลวจึงสามารถนำไปวาด
บนผืนผ้าได้ 

๖. ไม้พาย  มีด้ามสั้นเพื่อให้จับได้ถนัด  ใช้สำหรับกดผ้าให้จมน้ำในขณะที่ตั้งไฟให้เทียนละลาย

๗. ดินสอ  ใช้สำหรับวาดลายเส้น

๘. กรรไกร  ใช้สำหรับตัดผ้า

๙. แก้วน้ำ  ใช้สำหรับใส่สีที่ผสมน้ำ

ขั้นตอนกระบวนการผลิต 


 ขั้นเตรียมการ 
๑. นำผ้ามาตัดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 18 x 18 นิ้ว
๒. ใช้ดินสอวาดลายเส้นบนผืนผ้าที่ตัดไว้เรียบร้อยแล้ว
ขั้นการผลิต
๑.  ใช้ชันติ้งจุ่มเทียนแล้วนำไปเขียนบนลวดลายที่วาดไว้แล้ว  การเขียนต้องเขียนให้ต่อเนื่องกัน
อย่าให้เส้นขาด  มิฉะนั้นจะทำให้เส้นเทียนบางแล้วสีอื่นจะปนกันทำให้ลวดลายไม่ชัดเจน
๒. ใช้พู่กันระบายสีลงบนผืนผ้า  โดยการทำให้สีอ่อนและสีแก่ด้วยการไล่น้ำ (การผสมน้ำให้สี
อ่อนลง) 
๓. นำน้ำยาเคลือบมาผสมน้ำเล็กน้อยพอเหลว  แล้วใช้แปรงทาลงบนผ้าที่ระบายสีเสร็จเรียบร้อย
แล้ว  ทิ้งไว้อย่างน้อย ๓ ชั่วโมง 
๔. นำผ้าไปต้มให้เทียนละลายหลุดออกจากผ้า  เพื่อให้เหลือเพียงสีที่ถูกเคลือบด้วยเทียนบนผืนผ้า
ทำให้เกิดลวดลายผ้าบาติก
๕. นำผ้าไปซักน้ำเปล่าให้สะอาด  เพื่อให้น้ำยาเคลือบหลุดออกจากผ้า
๖. นำผ้าไปผึ่งแดดให้แห้ง 
๗. นำมาขึงด้วยเฟรมไม้  โดยใช้เทียนเหลวทาบริเวณขอบเฟรมเพื่อยึดผ้าให้ติดกับเฟรมไม้
 ขั้นหลังการผลิต
 - นำผ้าที่วาดลวดลายแล้ว  ไปตัดเป็นตัวเสื้อ  ผ้าเช็ดหน้า  ผ้าปูโต๊ะ  หรือนำไปใส่กรอบเป็นของประดับตำแต่งบ้าน
 ระยะเวลาในการผลิต   
๑. ภาพที่ระลึกใช้เวลา  ๔ ผืน / วัน
๒. ผ้าตัดเสื้อใช้เวลา ๒ ผืน / วัน
๓. ผ้าเช็ดหน้าใช้เวลา  ๘ ผืน / วัน

บทที่ ๔
ข้อมูลภาพและเสียง

 แผ่น CD ภาพเคลื่อนไหว  ถ่ายวิธีการทำผ้าบาติกที่บ้านเลขที่ ๖ ม.๕  ตำบลกะทู้  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  ๘๓๑๒๐
 เสียงจากการบันทึก  เล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมา  และเรื่องราวการทำผ้าบาติกของนางสาวสมเพียร  ตันประสิทธิ์ 


บรรณานุกรม

ธวัชชัย  ทุมทอง. “จากผ้าบาติกถึงบาติกกระดาษสา” ใน คน ๒๕๔๑  หน้า ๓ - ๔  ภูเก็ต : โรงพิมพ์กองทอง,
 ๒๕๔๑. ๑๒๔ หน้า
มาโนชญ์   บุญญานุวัตร และนเรศ  ศรีรัตน์. “ผ้าปาเต๊ะ” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้เล่ม  หน้า 
ศิลปากร.กรม, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์  เอกลักษณ์  และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต.
กรุงเทพ ฯ :   โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๔๕
สุดารา สุจฉายา บรรณาธิการ.  ภูเก็ต. กรุงเทพ ฯ : สารคดี, ๒๕๔๓. ๒๖๔ หน้า   ภาพประกอบ 
http://web.nfe.go.th/index/content/
http://web.nfe.go.th/index/content/
www.qru.ac.th/courseware/human/
http://www.thaitextile.org/dataarticle/
http://www.acsp.ac.th/
http://www.manager.co.th/
http://www.library.nrru.ac.th/rLocal

คณะผู้จัดทำ

ที่ปรึกษา
 ๑. นายทวิชาติ  อินทรฤทธิ์
 ๒. นายสุพจน์  สงวนกิตติพันธุ์ 
๓. นายไพโรจน์  ชัยชำนาญ   
 ๔. นางจิตราศรี  ศรีรักษาสินธุ์   
๕. นางปัทมา  รุจีวงศ์

ช่างทำผ้าบาติด
  นางสาวสมเพียร  ตันประสิทธิ์ 
 
ผู้บันทึกภาพนิ่ง
 นายสุริยา  ไชยพิทักษ์  

ผู้บันทึกภาพเคลื่อนไหว
 นายธรรมนูญ  แสวงวิทย์  

ผู้บรรยายภาพ
 นายชยต  วิสาร์ทพงศ์  

ผู้จัดทำข้อมูล
 นางสาวอรุณรัตน์  สรรเพ็ชร 

ผู้สำรวจ/เก็บข้อมูล/เรียบเรียง
 นางพรรณรัตน์  ยิ้มประเสริฐ

วันที่เก็บ/สำรวจข้อมูล  ๒๖  พฤษภาคม  ๒๕๔๙

 
< ก่อนหน้า

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1339
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2500
mod_vvisit_counterทั้งหมด10691972