Skip to content

Phuketdata

default color
Home
การทำเหมืองแร่ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 07 พฤษภาคม 2008

การทำเหมืองแร่


หรินทร์ สุขวัฒน์

๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑

 

แม้ความเป็นศูนย์กลางการทำเหมืองแร่ดีบุก สินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทยมานานกว่าสามร้อยปีจะสิ้นสุดลงไป(ประมาณปี พ.ศ.2530) แทบไม่มีสิ่งที่เป็นแก่นสารหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน(พ.ศ.2551) แล้วก็ตาม  แต่ประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างตัวของเกาะภูเก็ตขึ้นมาจากทรัพย์ในดินนี้ก็คือสมบัติทางความรู้ที่มีค่ามากตลอดไป ไม่เฉพาะในทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การปกครองและการต่างประเทศเท่านั้น  หากรวมถึงประวัติอารยธรรมของแถบถิ่น วิถีชีวิตจิตใจ และธรรมชาติศึกษาที่มีคุณค่าด้วย


ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึง“เมืองตะกั่วถลาง” หนึ่งในบริวารเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราชโบราณนั้น หมายถึงเมืองถลางหรือภูเก็ตเป็นแหล่งผลิตดีบุก(แต่เดิมชาวพื้นเมืองรู้จักดีบุกว่าเป็น“ตะกั่วดำ”)มานับพันปีแล้ว  

จากหลักฐานที่ปรากฏ การทำเหมืองแร่ในภูเก็ตเริ่มมีมาแต่ในปี 2069 สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยา  ก่อนหน้านั้นไม่นานโปรตุเกสยึดครองเมืองท่ามะละกาเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ถึงปี 2126 จึงเข้ามาตั้งห้างค้าแร่ดีบุกในเมืองถลาง 

 

ปี 2169 ดัตช์มีอิทธิพลบนเกาะชวา ส่งผลให้พระเจ้าทรงธรรมยอมทำสัญญาให้ดัตช์ผูกขาดการรับซื้อแร่ดีบุกที่ถลาง  พอถึงปี 2210 ชาวถลางลุกขึ้นสู้การกดขี่ของพวกดัตช์และขับไล่ไปจากเกาะ  ปี 2228 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงให้ฝรั่งเศสมาตั้งห้างผูกขาดการค้าแร่ดีบุกขึ้นบนเกาะอีกครั้ง แต่ได้ยกเลิกไปในสมัยสมเด็จพระเพทราชา(2231-2246)ซึ่งทรงตัดความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส

ปี 2315 กัปตันฟรานซิส ไลท์ ชาวอังกฤษเข้ามาตั้งสถานีการค้าที่บ้านท่าเรือ มีความสนิทสนมเป็นอันดีกับเจ้าเมืองถลาง  ปี 2367 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองที่บ้านท่าเรือขึ้นใหม่หลังจากร้างไปแต่ครั้งศึกถลางครั้งที่ 2 (2352) ช่วงเวลานั้นได้มีการพบสายแร่ที่บ้านเก็ตโฮ่(กะทู้) และต่อมาที่บ้านทุ่งคา(อำเภอเมืองในปัจจุบัน)  ถึงปี 2368 ไทยทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษส่งผลให้เกิดการค้าขายโดยตรงกับเมืองท่าต่างๆ ในแหลมมลายู คือ ปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ ทำให้กิจการเหมืองแร่เจริญขึ้น มีชาวจีนอพยพเข้ามาทำเหมืองมากขึ้น  ขณะนั้น การขุดแร่ดีบุกใช้วิธีการ“ร่อนแร่”ด้วยเครื่องมือง่ายๆ ตามแม่น้ำลำธาร ผู้ที่มีทุนรอนจะทำเหมืองแล่นหรือเหมืองคราโดยอาศัยพลังน้ำพังทลายดินบริเวณที่ราบควนเขา

การขุดแร่ด้วยกำลังคนและเครื่องมือนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ในสมัยนั้นยังมีการทำเหมืองรูหรือเหมืองปล่องด้วยการขุดเข้าไปในชั้นดินและหินผุตามสายแร่บริเวณชายเขา  เหมืองหาบจะใช้แรงคนอย่างน้อย 100 คนทำการเป็นบริเวณกว้าง  เหมืองเจาะงันเป็นวิธีการทำกับพื้นที่มีสายแร่ที่เป็นหิน

ปี 2404 ตั้งภูเก็ตเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ อันเนื่องจากการขยายตัวของการทำเหมืองแร่ ถลางกลายเป็นเมืองบริวารของภูเก็ต รัฐบาลเริ่มใช้วิธีเก็บภาษีอากรแบบ“เหมาเมือง”  ในปี 2410 และ 2419 ได้เกิดจลาจลระหว่างกลุ่มคนจีนเหมืองรวมพวกกันเป็น“อั้งยี่” อันเนื่องมาจากการแย่งชิงสายน้ำล้างแร่ ประกอบกับรายได้ของผู้ใช้แรงงานที่ลดลงอันเนื่องมาจากการระบบ“เหมาเมือง” และราคาแร่ดีบุกตกต่ำ

ปี 2431 มีการนำวิธีการทำเหมืองฉีดจากทางมลายูเข้ามา ซึ่งจะต้องใช้พื้นที่ป่าเขาและธารน้ำเป็นบริเวณกว้าง  ปี 2444 มีการตราพระราชบัญญัติเหมืองแร่ขึ้นเป็นครั้งแรก ยินยอมให้ชาวตะวันตกเข้ามาทำเหมืองแร่ได้  ชาวตะวันตกและนายเหมืองจากปีนังจึงย้ายมาทำเหมืองในภูเก็ตมากขึ้นเพราะดีบุกทางมลายูลดลง  อังกฤษเข้ามาตั้งธนาคารชาร์เตอร์ดเพื่อบริการทางการเงินแก่กิจการเหมืองแร่ของต่างชาติในปี 2449

ปี 2450 ในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ(คอซิมบี้ ณ ระนอง)เป็นเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต  เอ็ดวาร์ด โธมัส ไมลส์ นายเรือชาวออสเตรเลีย ตั้งบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ขึ้นเริ่มการทำเหมืองเรือขุดที่อ่าวทุ่งคา ถือเป็นการทำเหมืองทางทะเลด้วยเรือขุดแร่เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งต่อมาดัดแปลงไปใช้บนบกด้วย  การทำเหมืองเรือขุดนี้ต้องลงทุนสูงและดำเนินการในแหล่งลานแร่ที่ราบขนาดกว้างใหญ่  ต่อมาได้มีการตั้งบริษัทเรือขุดแร่ขึ้นมาอีกหลายแห่ง  

ปี 2473 ได้มีการเปิด“เหมืองเจ้าฟ้า”ซึ่งเป็นเหมืองสูบแห่งแรกในเมืองไทย เป็นการทำเหมืองในบริเวณพื้นที่ราบกว้างมาก ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์และยานพาหนะหลายชนิด ขุดคลองทำทำนบ สร้างรางกู้แร่ขนานใหญ่

ปี 2490 บริษัทเดินอากาศไทยเปิดเส้นทางการบินจากกรุงเทพฯ สู่ภูเก็ต สัญญาณแห่งธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มปรากฏ 

ปี 2506 ชาวภูเก็ตเริ่มทำเหมืองแพดูดแร่เลียนแบบเรือขุดแร่ ใช้เรือขนาดเล็กหรือแพไม้ไผ่ ส่งคนดำน้ำลงไปตักดินปนแร่ใต้ท้องทะเลความลึกประมาณ 15 เมตรขึ้นมาลำเลียงไปล้างที่ชายหาด  ต่อมาราวปี 2524 ผู้ประกอบการที่มีทุนทรัพย์ได้สร้างแพเหล็ก ใช้สว่านเจาะและสูบแทนคนดำแร่

ปี 2510 สะพานสารสินเชื่อมแผ่นดินฝั่งจังหวัดพังงากับเกาะภูเก็ตบริเวณช่องปากพระเปิดใช้  โรงแรมเพื่อการท่องเที่ยวเริ่มสร้าง

ปี 2511 บริษัทเท็มโก้ ขอเปิดทำเหมืองแร่ทางทะเล แต่ชาวภูเก็ตคัดค้าน

ปี 2516 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(อ.ส.ท. ปัจจุบันคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย-ททท.) เข้ามาวางแผนหลักเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต

ปี 2518 รัฐบาลยกเลิกประทานบัตรของบริษัทเท็มโก้ทั้งหมด  เกิดชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

ปี 2529 เกิดกรณี “แทนทาลั่ม” ประชาชนส่วนใหญ่ในภูเก็ตคัดค้านการสร้างโรงงานถลุงแร่อย่างรุนแรง  ปิดฉากการทำเหมืองแร่ เปิดยุคการท่องเที่ยวของภูเก็ต

กลางปี 2551 โครงการพิพิธภัณฑ์หมืองแร่บนเนื้อที่ 400 ไร่ ที่อำเภอกะทู้ ระยะที่ 1 แล้วเสร็จเปิดดำเนินการได้อย่างไม่เป็นทางการตั้งวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑.
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 10 พฤษภาคม 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

ขณะนี้มี 1 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1206
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1111
mod_vvisit_counterทั้งหมด10731925