Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow พมร.กะทู้ arrow พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้
พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
เสาร์, 22 ธันวาคม 2007
 
วันเสาร์ที่ 22 เดือนธันวาคม พศ. 2550
  มติชนออนไลน์ 
 

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

มิติใหม่พิพิธภัณฑ์ไทย

'ทำเรื่องเรียนเป็นเรื่องสนุก'

 

...พิพิธภัณฑ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 เมษายน 2551 'พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ' นั้น ต้องนับเป็น 'มิติใหม่' ของการทำพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยเลยทีเดียว...

ไม่แปลกเลยที่พอเอ่ยคำว่า 'พิพิธภัณฑ์' ขึ้นมาแล้วจะทำให้คนฟัง (ส่วนใหญ่) เบื่อหน่าย หมดความสนใจ

ยิ่งเป็น พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ด้วยแล้ว ยิ่งห่อเหี่ยว หมดเรี่ยวหมดแรงที่จะเข้าไปเดินดู

เพราะคำว่า 'พิพิธภัณฑ์' ทำให้นึกเห็นภาพของ-ของเก่าที่เก็บตั้งเรียงรายไว้มากมาย ราวกับเดินในโกดังเก็บของ เป็นความน่าเบื่อ ไม่สนุก!

เหมือนกับวิชาประวัติศาสตร์ ที่ต้องท่องจำชื่อกษัตริย์ ชื่อราชวงศ์ต่างๆ เท่านั้นยังไม่พอต้องจำตัวเลขปี พ.ศ. ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ

เรียนรู้แห่งชาติ

แต่ครั้งนี้ความคิดเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ อาจต้องลบล้างทิ้งไป เพราะพิพิธภัณฑ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 เมษายน 2551 'พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ' นั้น ต้องนับเป็น 'มิติใหม่' ของการทำพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยเลยทีเดียว

เพราะนั่นหมายถึง ความทันสมัยของเทคโนโลยี ความสนุกสนานจากการเข้าไปดูเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ ความตื่นตาตื่นใจกับเทคนิคการนำเสนอแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

'พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ' หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ แต่ถ้าว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำการปรับปรุงขึ้นใหม่บริเวณกระทรวงพาณิชย์เดิม แถวปากคลองตลาด หลายคนถึงบางอ้อ นึกภาพออก

ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ผู้บริหารระดับสูง บริษัท ปิโก้ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับหน้าที่ออกแบบ 'พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ' บนพื้นที่อาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม ถนนสนามไชย อธิบายว่าแรกทีเดียวความคิดหรือคอนเซ็ปต์ของการออกแบบอยากทำเป็น 'ดิสคัฟเวอรี่ มิวเซียม' ซึ่งเมืองไทยยังไม่เคยมีมาก่อน

'ดิสคัฟเวอรี่ คือการค้นหาคำตอบเอาเอง จริงๆ แล้วไม่อยากใช้คำว่า มิวเซียม เพราะมันจะหลงทิศหลงทางไปหมด น่าจะเป็น ศูนย์การเรียนรู้ มากกว่า เพราะผมไม่ต้องการแสดง ของเก่า แต่อยากเน้นไปที่กระบวนการเรียนรู้มากกว่า คือเมื่อไรก็ตามที่คุณพยายามจะเน้นเนื้อหาให้เป็นสิ่งที่เรียกว่า มิวเซียม เมื่อนั้นมันปิดประตูไม่ให้คิดต่อ..'เสียงบอกเล่าของคนออกแบบ

ศีลชัย ยกตัวอย่างการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มักจะจัดแสดงโบราณวัตถุ ซึ่งคนที่มีความรู้ในด้านนั้น หรือสนใจประวัติศาสตร์เท่านั้น จึงจะดูรู้เรื่อง ได้ประโยชน์ ขณะที่คนไม่มีความรู้ด้านนั้นเข้าไปดูก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากดูเพื่อความสวยงาม

'แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ จะเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ ให้เกิดการคิดต่อยอด ไม่ใช่การนำเสนอเนื้อหาเป็นหลัก แต่จะเป็นการตั้งคำถามแบบเปิดเพื่อกระตุ้นให้คนดูเกิดความสงสัย เกิดการตั้งคำถามว่า แล้วไปหาคำตอบเอาเอง จากที่ไหนก็ได้ นี่คือหัวใจสำคัญของ 'ดิสคัฟเวอรี่ เซ็นเตอร์' ของเรา

ภายในพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ จะแบ่งออกเป็นห้องๆ เพื่อจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ซึ่งมีทั้งหมด 16 ห้อง

คนเล่ายกตัวอย่าง 'ห้องก่อนสยามประเทศ' ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ก่อนจะมาเป็นประเทศสยาม เมื่อคนเข้าไปดูแล้วอาจจะเกิดความสงสัย ว่าสยามประเทศ หรืออยุธยา หรือสุโขทัยจริงๆ แล้วมีความเป็นมาอย่างไร แต่ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด คนดูจะต้องค้นหาคำตอบเอาเอง โดยดูเอาจากเรื่องราวที่จัดแสดงไว้ ซึ่งเรื่องนี้มีคำบอกเล่าอยู่ทั้งหมด 5 ตำนาน

'ดูแล้วต้องคิดหาคำตอบเอาเอง ลักษณะนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการโต้แย้งและถกเถียง เพื่อที่จะหาความรู้ที่ชัดเจนมากยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วก็มีคำตอบไว้ให้เสร็จสรรพคนดูไม่ต้องคิด'

สำหรับรูปแบบการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์นั้นแปลกตากว่าที่อื่น เพราะเป็นการนำเสนอโดยใช้ 'สายรุ้ง' เป็นตัวนำเรื่อง ซึ่ง เพทาย พันธุ์มณี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ปิโก้ฯ กล่าวอธิบายตรงนี้ ว่าความคิดของการนำ 'สายรุ้ง' มาใช้นำเรื่องราวต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ ได้มาจาก 'กลองมโหระทึก' ที่พบในหลายประเทศในแถบอินโดจีน เป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีกรรมขอฝน ขอความอุดมสมบูรณ์ของสังคมกสิกรรม ซึ่งสัญลักษณ์ของความชุ่มชื้นอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหลังฝนตกก็คือ 'รุ้ง' จึงใช้รุ้งเป็นตัวเดินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มตั้งแต่ห้องรับรองที่ชั้นล่าง เรื่อยไปในรูปแบบที่แล้วแต่ว่าจะดีไซน์ออกมาในรูปแบบไหน

อีกสิ่งหนึ่งที่แปลกใหม่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ 'ตัวละคร' ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ มีประมาณ 6-7 ตัว อาทิ พ่อค้า-แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว เจ้าแม่ (นางพญาโคกพนมดี) ครู เป็นต้น

ตัวละครเหล่านี้จะมีการแนะนำให้คนดูรู้จักก่อนในห้องแรก คือ 'ห้องเบิกโรง' ว่าเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร จากนั้นคนดูจะไปเจอตัวละครเหล่านี้ปรากฏในห้องอื่นๆ ตามเรื่องที่ผูกไว้เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง

พิพิธภัณฑ์ทั้งหมดมี 3 ชั้น เมื่อจบจากชั้นที่ 1 จะมีลิฟต์แก้วเหมือนเป็น 'ไทม์ แมชชีน' นำผู้ชมผ่านชั้น 2 ลัดขึ้นไปชั้น 3 เพื่อไปยังห้อง 'เปิดตำนานสุวรรณภูมิ' จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

เพทายบอกว่า จริงๆ ทางขึ้นมีทั้งลิฟต์แก้ว และบันได ซึ่งในส่วนของบันไดทางขึ้นนั้น จะมีการออกแบบนำสายตาด้วยโมบายรูปตัวโลโก้ของพิพิธภัณฑ์ฯ จำนวน 1,000 ตัวอยู่ตรงช่องกลางบันได แต่ละตัวจะมีคาแร็กเตอร์ที่แปลกและแตกต่างกัน เช่น รูปคนทำสำริด ไล่ไปจนถึงปัจจุบันเป็นรูปคนถือไอพอด (i-pod) ฯลฯ

เมื่อขึ้นไปยังชั้น 3 'ห้องเปิดตำนานสุวรรณภูมิ' จะทำหน้าที่เล่าว่าสุวรรณภูมิคืออะไร นับตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ จนยุคสุวรรณภูมิ ไฮไลต์อยู่ที่ 'หลุมฝังศพ' จะมีโครงกระดูกของมนุษย์โบราณ เมื่อคนดูเข้าไปใกล้ในรัศมีของเซ็นเซอร์ จะทำให้เครื่องเซ็นเซอร์ทำงานด้วยการฉายภาพลงไปบนโครงกระดูกเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผ่านตัวละคร 1 ใน 7 ตัวที่แนะนำไว้ตั้งแต่ห้องเบิกโรง

'เราทำเหมือนปลุกชีพโครงกระดูกขึ้นมาเล่าว่าฉันเป็นใคร อยู่ที่นี่มากี่พันปีแล้ว มีวัฒนธรรมยังไง ถ้าอยากรู้เรื่องราวต่อไปอีก ให้จับไปที่ไหซึ่งตั้งอยู่ในหลุมฝังศพ เมื่อคนดูเอามือจับไหข้างๆ ไหก็จะบอกเล่าเรื่องราวต่อ'

นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียงจะมีบอร์ดอธิบายถึงวิธีการหาอายุของกระดูก การนำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปจับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยการสังเกต เช่น คราบเลือด เศษผ้า หรือผ้านั้นเป็นวัสดุแบบไหน มีเมล็ดพันธุ์ธัญพืชอยู่หรือไม่ แล้วธัญพืชเหล่านั้นเป็นพันธุ์อะไร

'คือเราต้องการจะบอกว่า ถ้าคุณชอบหนังสืบสวนสอบสวน นี่แหละใช่เลย เรื่องราวการสืบสวนสอบสวนสามารถเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพราะทุกอย่างมันมีเหตุและผล นี่คือกระบวนการการเรียนรู้ที่เราพยายามเน้น'

สำหรับการเนรมิตอาคารเก่า คืออาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ผู้จัดทำโครงการนี้บอกว่า งบประมาณที่ใช้ในการสร้างประมาณ 150 ล้านบาท จากการสนับสนุนทั้งทางภาครัฐและเอกชน

โดยได้ทำงานร่วมกับทีมงานจากต่างประเทศ อาทิ บริษัท สตอรี่ อิงค์ ประเทศนิวซีแลนด์ บริษัท เอลเลอร์มานด์ ประเทศเยอรมนี และบริษัท สนิบบี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

'เราต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในงานนี้หลายส่วน ที่สำคัญคือ ที่นี่เป็นอาคารอนุรักษ์ เป็นอาคารเก่า จึงจำเป็นต้องวางโครงสร้างเป็นแบบลอยตัว และใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา ให้เหมาะกับพื้นที่ที่จะใช้ และให้ออกแบบมาตรงกับที่เราอยากสื่อสารให้กับคนดู'

รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับการจัดแสดง อย่างเทคนิคของการถ่ายทำภาพยนตร์ การจัดทำบอร์ดแบบที่สามารถโต้ตอบได้ มีกราฟิก

'พูดง่ายๆ คือการทำเรื่องราวที่เต็มไปด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเหมือนยาขม ให้เป็นเรื่องสนุกน่าติดตาม คิดว่าผู้ชมจะรู้สึกแปลกใจที่ได้เห็น เป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันไป แต่ลักษณะจะโดดเด่นมีเสน่ห์เฉพาะตัว ทั้งทางสังคม การค้า เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่ได้หล่อหลอมจนมาเป็นอย่างทุกวันนี้' ศีลชัย หัวเรือใหญ่ของงานอธิบาย

เขาบอกเป็นการทิ้งท้าย ว่าถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็นมิติใหม่ของพิพิธภัณฑ์ในบ้านเรา คนที่ไม่รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ก็สามารถเข้าชมได้ ไม่จำกัดเฉพาะคนที่ชื่นชอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เท่านั้น เป็นการเปิดโลกทรรศน์ของผู้ที่เข้าชม ทั้งยังได้ปลูกฝังกระบวนการคิดที่ถูกต้อง ใช้หลักเหตุผลในการหาคำตอบในทุกๆ เรื่อง'

สำหรับใครที่อยากทำความรู้จักกับ 'ศูนย์การเรียนรู้' แห่งใหม่ ที่ผู้ออกแบบการันตีว่าจะช่วยจุดประกายความคิด ความอยากรู้ อยากเห็น นำไปสู่การใฝ่รู้ แล้วพาตัวเองก้าวเข้าไปค้นหาเรื่องราวต่างๆ ต่อไปนั้น อดใจรอไม่นาน

เพราะพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติแห่งนี้ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการและให้ประชาชนเข้าใช้บริการได้แน่นอน วันที่ 2 เมษายนปีหน้า

ตอนนี้ลองหาข้อมูลและจินตนาการไปพลางๆ ก่อน โดยเฉพาะที่ว่า 'คนไทยมาจากไหน?' แล้ว 'คนไทยแท้ๆ' หน้าตาเป็นอย่างไร?

 

มีอะไรในพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มีด้วยกันทั้งหมด 3 ชั้น ภายในพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร แบ่งการแสดงออกเป็น 16 ห้องหลักๆ ดังนี้

1.'ห้องเบิกโรง' เกริ่นนำเปิดสู่เรื่องราวที่ผู้ชมจะได้พบต่อไป โดยผ่านตัวละครหลักๆ 6-7 ตัว ที่จะเป็นตัวเล่าเรื่องราวในห้องต่างๆ

 

 

 

 

 

 

2.'ห้องไทยแท้' ตั้งคำถามถึง หยิบสถานที่เด่นๆ ในประเทศไทย เช่น ศาลาเฉลิมไทย สนามมวยราชดำเนิน โรงลิเก ถนนเยาวราช เสาชิงช้า รวมทั้งสัญลักษณ์อย่าง รถตุ๊กๆ การไหว้ ฯลฯ มาไว้ในที่เดียวกัน เป็นการตั้งคำถาม...อะไรคือไทยแท้

 ห้องไทยแท้

 http://www.matichon.co.th/newspic//21-12-07-07-42-49.jpgไทยแท้แต่โบราณ

 

3.'ห้องเปิดตำนานสุวรรณภูมิ' มีไฮไลต์อยู่ที่การจำลอง 'หลุมฝังศพ' มาให้ผู้ชมได้สัมผัสและสวมบทบาทของนักโบราณคดีทำการขุดค้น วิเคราะห์ และไขความลับจากหลุมศพปริศนา

ตำนานสุวรรณภูมิ 

 

 

4.'ห้องสุวรรณภูมิ' เล่าถึงอารยธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยรอบบริเวณนี้ แบ่งเป็น 5 ส่วนหลักๆ คือ 'ผี พราหมณ์ พุทธ รากเหง้าแห่งความเชื่อ', 'การค้าโลกในแผ่นดินทอง', 'โลหะเหล่าหลอมอารยธรรม', 'เกิดบ้าน ก่อเมือง กำเนิดรัฐ' และ 'แกะรอยบรรพชน'

สุวรรณภูมิ

5.'ห้องพุทธิปัญญา' บอกเล่าถึงเส้นทางพระพุทธศาสนาที่เข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ

 

 

6.'ห้องกำเนิดสยามประเทศ' อธิบายถึงกว่าจะมาเป็น 'สยามประเทศ'

7.'ห้องสยามประเทศ' สื่อให้เห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งอดีต

8.'ห้องสยามยุทธ์' จำลองเหตุการณ์ของสยามประเทศเมื่อครั้งอยู่ในห้วงสงคราม กลยุทธ์ทางการศึก

สยามยุทธ 

 

9.'ห้องดินแดน ความยอกย้อนบนกระดาษ' สยามประเทศในยุคอาณานิคมที่ชาติตะวันตกเข้ามาขีดเส้น-แบ่งเขตแดน ปรากฏให้เห็นชัดเจนในแผนที่โบราณ

10.'ห้องกรุงเทพฯ' ภายใต้ฉากอยุธยา เดินเรื่องอยู่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จบลงที่สมัยรัชกาลที่ 3

11.'ห้องชีวิตนอกกรุงเทพฯ' ขณะที่ชีวิตเมืองกรุงกำลังฟูเฟื่อง นอกเมืองก็ยังมีการปลูกข้าวปลูกนาอยู่

12.'ห้องแปลงโฉมสยาม' สมัย รัชกาลที่ 4-5 สยามมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะการคมนาคม เริ่มมีการตัดถนนสายแรก คือถนนเจริญกรุง

13.'ห้องกำเนิดประเทศไทย' จุดเปลี่ยนจาก 'สยาม' เป็น 'ประเทศไทย'

14.'ห้องสีสันตะวันตก' ยุคสงครามเย็น ไทยรับอิทธิพลอเมริกาเข้ามา เช่น รถฟอร์ด เพลงเอลวิส ฯลฯ เรียกว่า ยุครีโทร (retro)

http://www.matichon.co.th/newspic//21-12-07-07-43-49.jpgสีสันตะวันตก

เมืองไทยวันนี้

16.'ห้องมองไปข้างหน้า' ตั้งคำถามเปิดกับผู้ชมว่า อยากให้เมืองไทยเป็นอย่างไร


โดย รัฐพงศ์ เทียมทองใบ

ที่มา หนังสือพิม์มติชน

 

มติชนออนไลน์

http://www.norsorpor.com/go2.php?t=mg&u=http%3A%2F%2Fwww.matichon.co.th%2Fnews_detail.php%3Fid%3D14305%26catid%3D3

 

 

 

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อาทิตย์, 13 มกราคม 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้443
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1292
mod_vvisit_counterทั้งหมด10683072