Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
เลียบ ชนะศึก : สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 25 เมษายน 2008

ประวัติและผลงาน

เลียบ  ชนะศึก

นายเลียบ  ชนะศึก เป็นชาวถลาง อาสาปฏิบัติงานวัฒนธรรมเป็นอาชีพ เดินทางด้วยพาหนะที่นายเลียบ ชนะศึก ตั้งชื่อเรียกเองว่า รถเครื่องร้ายเหว้นจบ ได้รับค่าตอบแทนด้วยคำว่า ขอบคุณ มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕๐ ปี  งานอาสาวัฒนธรรมก็สิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ สิริอายุรวม ๘๑ ปี 

นายเลียบ ชนะศึก เป็นบุตรนายคลอ และนางเอี่ยม ชนะศึก  มีพี่สาว ๑ คน คือนางลาภ มีบุตร ๙ คน  นางเสนอภรรยาให้กำเนิดนางบุญบาย สมรสกับนายชนะ บุรีรักษ์ เป็นบุตรเขย บุตรคนที่ ๒ นางเบญจะ สมรสกับนายวิริยะ ก่ออินทร์ เป็นบุตรเขย บุตรคนที่ ๓ นางเนียน สมรสกับนายแปว ธรรมดี เป็นบุตรเขย: นางจับจิตต์ นามสกุลเดิม สณฑ์เพชร ผู้ภรรยา ให้กำเนิดบุตรคนที่ ๔ ของนายเลียบ ชนะศึก คือนายยืนยง ชนะศึก สมรสกับนางนภารัตน์ เป็นบุตรสะใภ้ บุตรคนที่ ๕ นางสาวอมฤต ชนะศึก บุตรคนที่ ๖ นางสมหญิง สมรสกับนายอ๊อด บุญอินทร์ เป็นบุตรเขย  บุตรคนที่ ๗ นางงามขำ สมรสกับนายปรีชา ฤกษ์อรุณรัตน์ เป็นบุตรเขย บุตรคนที่ ๘ นางสมใจ  สมรสกับนายนิยม ประดิษฐ์ขวัญ เป็นบุตรเขย และบุตรคนสุดท้องคือ นายสมยศ ชนะศึก  และนายเลียบ  ชนะศึก มีบุตรบุญธรรม ๑ คนคือนางจุรีพร ตั้งเจริญพล

 

ับปริญญา  

 

นายเลียบ ชนะศึก สำเร็จการศึกษาประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดพระนางสร้าง อำเภอถลาง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑

นายเลียบ ชนะศึกสำเร็จมัธยมปีที่ ๓ จากโรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ อันเป็นปีเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒  ญี่ปุ่นวางกองกำลังไว้ทั่วเกาะภูเก็ต  นายเลียบ ชนะศึก จึงต้องประกอบอาชีพทำนาที่บ้านเหรียงบ้านเดิมของตน พร้อมศึกษางานแพทย์พื้นบ้านจากพ่อคลอ ชนะศึก จนมีความสามารถเป็นแพทย์สมุนไพร ผู้ป่วยจึงเอ่ยชื่อเรียกนายเลียบชนะศึกว่าหมอเลียบมาตั้งแต่นั้น

พ.ศ.๒๕๑๕ - ๒๕๒๙ นายเลียบ ชนะศึกเป็นแพทย์ประจำตำบลเทพกระษัตรี ๑๔ ปี

พ.ศ.๒๕๒๓ เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จร่วมกับนายประสิทธิ ชิณการณ์(ขุมทรัพย์วัฒนธรรมภูเก็จ) และนายสกุล ณ นคร(อดีตบรรณาธิการ นสพ.ปักษ์ใต้)  พัฒนาหอวัฒนธรรมภูเก็จในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเป็นศูนย์ปฏิบัติการ  ตระเวนรวบรวมสมบัติวัฒนธรรมเข้าหอวัฒนธรรมภูเก็จไม่น้อยกว่า หนึ่งหมื่นรายการ ด้วยพาหนะคู่ชีพ “รถเครื่องร้าย เหว้นจบ”

หอวัฒนธรรมภูเก็จร่วมจัดงานวัฒนธรรม ในเทศกาลปีใหม่ไทยของจังหวัดภูเก็ต   ณ  ศูนย์กีฬาสะพานหิน นายพูนเพิ่ม สุวรรณาคารได้สร้างเรือนรนภูเก็จให้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการวัฒนธรรม นายเลียบ ชนะศึก และนางจับจิตต์ผู้ภรรยา เต็มใจที่จะแสดงตนเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ขนย้ายมรดกวัฒนธรรมอันเป็นสมบัติของตนมาตกแต่งรนสุวรรณาคาร  ที่สะพานหิน เช่นบุดสมุดข่อยมากกว่า ๕๐ ฉบับ และสาธิตทุกวัน ตลอด ๑๐ วัน ๑๐ คืน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ นายเลียบ ชนะศึกจึงเป็นชื่อที่ผู้คนรู้จักเพิ่มจากคำเรียกขาน หมอเลียบ มาตั้งแต่ครั้งนั้น

นางจับจิตต์คู่ชีวิตของนายเลียบ ชนะศึก พร้อมลูกและหลานทุกคนของนายเลียบ ชนะศึก ได้เห็นความสุขของนายเลียบ ชนะศึกที่ได้บริจาคปัญญาเป็นวิทยาทาน ทุกคนเต็มใจช่วยรับแขกของนายเลียบ ชนะศึกด้วยไมตรียิ่ง  นายเลียบ ชนะศึกออกจากบ้านไปเป็นวิทยากร ณ แห่งหนใดก็ตาม  ทุกคนก็จะติดต่อให้ผู้เข้าพบที่บ้านสมประสงค์ตลอดมาด้วยความความกระตือรือร้น;   นายเลียบ ชนะศึกเกรงว่า คนที่มาพบนายเลียบ ชนะศึกจะรับงานที่ต้องการไปไม่สมบูรณ์  นายเลียบ ชนะศึกก็สร้างขนำน้อยปลายนา(ไม่แขวนกุญแจ)เก็บมรดกที่นายเลียบ ชนะศึกรัก ไว้ให้ค้นคว้า ให้สืบหาตามอัธยาศัย ไม่จำกัดวันเวลา เดือน ปี  ที่สำคัญแห่งน้ำใจดีของนายเลียบ ชนะศึก  แม้ตู้รับบริจาคตามอัชฌาสัย นายเลียบ ชนะศึก ก็ไม่ยอมให้เข้ามาแผ้วพานรอบขนำน้อยของตน


หลังจากนายเลียบ ชนะศึก นำประธานกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ เข้าไปดูพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ จึงได้เกิดป้ายเมืองถลางบ้านดอน ป้ายเมืองถลางบางโรง ป้ายบ้านท้าวเทพกระษัตรี ป้ายสุสานแม่หม้าเสี้ย ป้ายสุเหร่าบ้านเคียน ป้ายนบนางดัก  การศึกษาค้นคว้าสถานที่เหล่านั้นในพื้นที่จริง นายเลียบ ชนะศึกบุกเบิกเปิดทางประวัติศาสตร์ถลางภูเก็ต ด้วยงานเขียนเช่น เซียมซีวัดม่วงโกมารภัจจ์ มีเนื้อหาเป็นประวัติการศึกของเมืองถลาง และเรื่อง “เขียนภูเก็จ”  เป็นบทสรุปเป็นข้อมูลให้เกิดการสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง ในปี พ.ศ.๒๕๒๗  เป็นฐานข้อมูลจัดเฉลิมฉลอง ๒๐๐ ปีวีรสตรีเมืองถลาง ในปี พ.ศ.๒๕๒๘  สืบเนื่องให้มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง และมูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร

พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมของอำเภอถลางจากศูนย์วัฒนธรรมอำเภอถลาง โรงเรียนเมืองถลาง

นายเลียบ ชนะศึก จะร่วมเป็นเพื่อนงานศพทุกงานตลอดคืนในเขตอำเภอถลาง กิจกรรมที่ช่วยให้เจ้าภาพและผู้เข้าร่วมเป็นเพื่อนงานศพพึงใจใน “ว่ามาลัย” ติดต่อกันมาเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี นายเลียบ ชนะศึก เคยบอกแก่ผู้ร่วมงานว่า “งานเราต้องว่ามาลัยนะ”  แต่พวกเราก็หามาลัยมาว่าให้ท่านไม่ได้

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาตินำนายเลียบ ชนะศึก เข้าเฝ้ารับเสด็จ ฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๔ เพื่อรับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติในฐานะบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมภาคใต้ สาขากีฬาและนันทนาการ
   
สภามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตนำนายเลียบ ชนะศึก เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นสิ่งที่นายเลียบ ชนะศึกภาคภูมิใจ ทายาทจึงได้นำรูปมาลงไว้ที่ปกหนังสืออนุสรณ์ฯในวันนี้

อาศรมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มอบรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยพื้นบ้านดีเด่นให้นายเลียบ ชนะศึก เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘

งานสำเร็จสำคัญของนายเลียบ ชนะศึก อีกเรื่องหนึ่งคือพื้นที่นาหลวงในอำเภอถลาง  ซึ่งเคยเป็นชัยสมรภูมิครั้งศึกถลาง ๒ ๓ ๒ ๘  กรรมการได้เห็นพ้องต้องกันที่สรรค์สร้างให้ที่นั้นเป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน; เดิมเคยเรียกชื่อพื้นที่ใกล้เคียงนี้ว่า “นาโคกพม่า”  หลังการสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ได้เปลี่ยนเป็น “โคกชนะพม่า” ให้เป็นอนุสรณ์ที่วีรชนถลาง ชนะศึกพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘  ก่อนการฉลอง ๒๐๐ ปีวีรสตรีเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ นั้นคณะกรรมการได้พิจารณาชื่อที่จะไม่ให้กระเทือนต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน  พื้นที่บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่า “สมรภูมิถลางชนะศึก”  มูลนิธิท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรและกลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ เสนอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นองค์กรจัดสร้างแผนแม่บท “อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก”   ส่วนหนึ่งในแผนแม่บท กำหนดให้มีบ้านท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งนายเลียบ ชนะศึก ปรารถนาจะเห็นตั้งแต่ครั้งที่สร้างป้ายบ้านท้าวเทพกระษัตรีที่เกาะบ้านเคียน๑  ปรารถนาจะเห็นที่วัดม่วงโกมารภัจจ์๑ ปรารถนาจะเห็นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง๑ เมื่อไม่สามารถสร้างในพื้นที่ทั้ง ๓ ได้ เพราะพื้นที่ไม่อำนวย  นายเลียบ ชนะศึก จึงพุ่งมุ่งมาที่อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก ซึ่งมีพื้นที่จำนวนมากถึง ๙๖ ไร่  เตรียมแบบแปลนบ้าน เตรียมไม้ เตรียมเสา เตรียมไม้ผูกเรือน เตรียมกระบอกไม้บรรจุจดหมายเหตุ เตรียมต้นทองหลาง  เตรียมต้นตะเคียน ไว้ปลูกข้างคูน้ำเขตสถานที่  ทุกครั้งที่นายเลียบ ชนะศึกพบผู้ใด  นายเลียบ ชนะศึกสนุก ที่จะเล่าเรื่องบ้านท้าวเทพกระษัตรี เล่าเรื่องจดหมายเหตุ  เล่าเรื่องการถลุงแร่ดีบุก  เล่าเรื่องการทำนารอบบ้านท้าวเทพกระษัตรี  เตรียมวางศิลาฤกษ์บ้านท้าวเทพกระษัตรี  ... 

วันอาทิตย์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๐ เวลา ๑๔.๓๙ น.  ก็มาถึง  ก่อนที่นายเลียบ ชนะศึกจะได้เห็นบ้านท้าวเทพกระษัตรี

นายเลียบ ชนะศึก ได้ขับร้องเพลงเปลเป็นวิทยาทานทุกครั้งที่ร้องขอให้ขับกล่อม

นอนเสียหนุ่ยนอน นอนให้สบาย
แม่ซื้อทั้งหลาย โปรดได้ ผันผ่อน

พวกเราก็ขอใช้เนื้อเพลงที่นายเลียบ ชนะศึก เคยขับกล่อม

นอนเสีย พ่อเลียบนอน พ่อเลียบนอนให้สบาย
แม่ซื้อทั้งหลาย โปรดได้ ผันผ่อน
ขอพ่อเลียบจงนอน นอนให้สบาย  เออะ.

 

 

------------
ผศ.สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์
นักการพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ กะทู้
โทร. 083-1025-606
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปเพื่ออ่านมันได้
๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๐

 

***

ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์
Binbon Swan Liab Pracha
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 27 กุมภาพันธ์ 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้958
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10720217