Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow มนุษยศาสตร์ arrow แนวคิดการจัดการวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์
แนวคิดการจัดการวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์   
อังคาร, 14 พฤษภาคม 2013
 

แนวคิดการจัดการวัฒนธรรมเผ่าพันธุ์

 

 

 

สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

 โทร. 081 326 2549

 Facebook : Sommai Pinphutsin

 FB. : สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

 www.phuketdata.net

 ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 

วัฒนธรรมมีหน้าที่รักษาวิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์   แต่ละวิถีชีวิตของเผ่าพันธุ์มีเป้าหมายที่จะรักษาเผ่าพันธุ์ด้วยความเชื่อโดยองค์รวมแตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์   เผ่าพันธุ์อื่นจะไปรักษาดูแลเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ของตนได้เพียงภายนอก(วัฒนธรรมที่สัมผัสได้ทางทวาร ๕ (ตา หู จมูก ลิ้นและกาย))  ส่วนวัฒนธรรมทางจิตของเผ่าพันธุ์  ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม  จักต้องรักษาด้วยตนเอง

 

นักจัดการวัฒนธรรมต่างเผ่าพันธุ์สามารถเรียนรู้จิตของเผ่าพันธุ์อื่นได้  และใช้เทคนิควิธีของเผ่านั้นเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงจิตของเผ่าพันธุ์ที่นักจัดการวัฒนธรรมพึงปรารถนาได้

 

พุทธภาษิต ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน  จึงใช้ได้กับทุกคนของทุกเผ่าพันธุ์ที่จักเรียนรู้วัฒนธรรมของเผ่าตน  แม้กระบวนการเรียนรู้ก็เป็นไปตามนัยนี้  ครูไม่สามารถเรียนรู้ให้มีความรู้ (รวมทั้งทักษะและเจตคติ) แทนนักเรียนที่ครูสอนได้  ครูเป็นเพียงสื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อนักเรียนจักได้มีความรู้ (ความจำ  ความเข้าใจ การนำไปใช้  การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และ/หรือการประเมินค่า) ทักษะและเจตคติ  เหล่านี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน  ไม่ใช่ของครู  แต่ครูมีผลพลอยได้คือทักษะในกระบวนการเปลี่ยนพฤติกรรมให้กับผู้เรียน  และหากในกระบวนการจัดการการเรียนรู้มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นก็จักเป็นฐานความรู้ในการจัดการการเรียนรู้ในครั้งต่อไป

 

กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียน(ของเผ่าพันธุ์)ในอันที่จะเปลี่ยนข้อมูล (Data) ไปเป็นความรู้ (Knowledge)  เป็นไปตามลำดับ  เริ่มต้นจากความพร้อม(Readiness)  ประสบการณ์ (Experience) การรับรู้ (Perception)  มโนภาพ (Conception)  มโนคติ (Ideal)  จึงถึงเป้าหมายสูงสุด (Goal)  ข้อมูลจึงกลายเป็นความรู้ของผู้เรียน(ของเผ่าพันธุ์หรือของนักจัดการวัฒนธรรม)  เมื่อฝึกฝนจนชำนาญก็เป็นทักษะ (Skill) ของผู้เรียน  และผู้เรียนมีจิตสำนึกที่ดี (เจตคติ (Attitude)) ต่อวิถีชีวิตตนและในสังคมของเผ่าพันธุ์ได้ตามความแตกต่างของบุคคล (หรือดั่งดอกบัว ๓ เหล่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก)

 

นักการจัดการวัฒนธรรมต้องมีความรู้ในเผ่าพันธุ์ที่ตนพึงปรารถนาจะไปจัดการวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์  นักจัดการวัฒนธรรมก็ต้องกระทำตนให้เป็นนักเรียนที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองไปตามกระบวนการเรียนรู้  เพื่อให้ตนเองมีความรู้ในวัฒนธรรมของชนเผ่า  แล้วนำความรู้ของชนเผ่าไปหาเทคนิควิธีการ (อาจนำเทคนิควิธีการของชนเผ่าใดก็ได้เป็นสื่อ) นำสารไปจัดการวัฒนธรรมให้ชนเผ่า  เพื่อชนเผ่าจะได้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชนเผ่าให้ชนเผ่ามีความรู้ในวัฒนธรรม  มีทักษะที่จะบริโภควัฒนธรรม  และมีเจตคติที่ดีต่อวัฒนธรรมชนเผ่าแห่งตน

 

อัตราความเร็วในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางจิตของเผ่าพันธุ์ได้อย่างน้อย ๑ ชั่วอายุคน  ช่วงวัยที่เหมาะสมคือช่วงวัยเด็กของทุกชนเผ่าดั่งที่รู้กันแล้วว่า ไม่อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก  หากปล่อยทิ้งไว้ให้วัยผ่านไปนานเนิ่นดั่งไม้แก่แล้วไซร้  การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางจิต(เจตคติ)ก็เป็นไปได้ด้วยความเฉื่อยชาและช้าเกินความจำเป็นกว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้หมดดั่งนี้ก็เสียการ

 

พระธรรมทูตในอินเดียมักกล่าวปลอบใจชาวพุทธไทยที่ไปแสวงบุญอยู่เสมอว่า  จงมองอินเดียอย่างที่อินเดียเป็น  อย่ามองอินเดียเหมือนที่ใจเราอยากให้เป็น  หากสรุปให้สั้นชนิดกำปั้นทุบดินก็จะได้  อินเดียคืออินเดีย  อินเดียไม่ใช่ไทย  และไทยก็ไม่ใช่อินเดีย  ก็ใช้แนวความคิดนี้เป็น จงมองชนเผ่าอย่างที่ชนเผ่าเป็น  อย่ามองชนเผ่าเหมือนที่ใจเราอยากให้เป็น  หรือ ชนเผ่าก็คือชนเผ่า  ชนเผ่าไม่ใช่เรา  และเราก็ไม่ใช่ชนเผ่า  แต่มีสัจจะอยู่หนึ่งคือ ทุกคนร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ด้วยภราดรภาพ

 

แม้วัฒนธรรมเดียวกันที่นักจัดการวัฒนธรรมประสงค์จะเร่งรัดให้เวลากระชั้นเข้า ก็ยังกระทำในหลายเรื่องไม่ได้  ยิ่งต่างวัฒนธรรมด้วยแล้ว  คงต้องทำใจก่อนการประเมินปลอบใจไว้ก่อนว่าประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลที่ได้คงไม่เสถียรยั่งยืนแต่ประการใด

 

เมืองไทยเป็นเมืองร้อน  กลางวันวันใดที่มีอุณหภูมิสูง  ก็จักสวมใส่เสื้อผ้าบาง ๆ   หลายคนคงนึกจะเปลื้องผ้าทิ้ง  แต่ทำมิได้ดังใจนึก  เมื่อเห็นชาวยุโรปอาบแดดอยู่ชายหาด  ชาวไทยยังอายแทนคนอาบแดด (เพราะนึกว่าเราคือเขา หรือนึกว่าเขาคือเรา)  จะมีชาวไทยสักกี่คนที่จะเปลื้องผ้าดั่งชาวยุโรปที่อาบแดดนั้น  จะต้องใช้เวลากี่เดือนจึงจะปรับตนให้เปลื้องผ้าอาบแดดได้ดั่งชาวยุโรป

 

สุภาพสตรีชาวจีนเข้าห้องน้ำในชนบทจีน  เธอจะหันหน้ามาทางที่คนอื่นกำลังรอคิวอยู่  เธอก็ทำธุระส่วนตนไปตามปรารถนา  เมื่อสตรีไทยเข้าไปใช้บริการบ้าง  เหตุไฉนคุณหล่อนจึงหันข้างให้คนรอคิว  เหตุไฉนคุณหล่อนไทยจึงไม่เข้าเมืองตาหลิ่วแล้วก็หลิ่วตาตาม

 

บางเรื่องที่พบกับตนเอง  ผ่านไปเป็นยี่สิบปี  ก็ยังหาเหตุผลมาให้พึงใจมิได้ว่าเป็นเพราะอันใดฤๅ  นอกจะตอบว่าคงเป็นวัฒนธรรมชองชนเผ่าเขากระมัง  เรื่องมีว่า  นักศึกษา ๒๐ คนจะไปเช่าเรือหางยาวของชาวเลที่บ้านราไวย์ไปเกาะบอน  เรือรับคนได้ ๑๕ ๒๐ คน  กราบเรือก็ลดระดับลงใกล้ผิวน้ำทะเล  ชาวเลเจ้าของเรือ ๕ คนก็ขึ้นเรือไปด้วย  นักศึกษาไม่กล้าไปถ้ามีคนบนเรือถึง ๒๕ คน  จะเช่าเรือ ๒ ลำก็เสียค่าเช่าเรือสูงขึ้น  จึงร่วมกันต่อรองให้ชาวเลเจ้าของเรือไปเพียง ๒ คนก็พอจะทำใจไปด้วยกันได้(บ้าง)  ชาวเลบอกว่า  ทั้ง ๕ คนเป็นเจ้าของเรือ  ไปไหนต้องไปด้วยกัน  ขาดคนใดคนหนึ่ง จะให้เช่าเรือไม่ได้  นั่งเจรจา  ยืนเจรจา  นักศึกษามาช่วยเจรจาต่อรอง  ยกตัวอย่าง  สาธกโวหาร  ให้ชาวเลยืมกล้องส่องทางไกล(ที่นักศึกษาติดตัวมา)ดูเรือเมื่อออกไปไกล ๆ  เรือไปถึงเกาะบอนก็สามารถดูเห็นได้จากกล้อง  หากเรือจะกลับมารอคนอื่นคณะอื่นเช่าเรือก็กลับได้ ...  ทุกกระบวนท่าเพียงว่าให้ชาวเลไปเพียง ๒ คน  ให้ชาวเลมั่นใจว่า เรือไม่หายไปไหน  เงินค่าเช่าเรือก็แบ่งเท่ากันทุกคน  เจ้าของเรือที่ไม่ขึ้นบนเรือก็ได้เงินเท่ากับคนที่ไป  เกือบชั่วโมงผ่านไป  ผลคือ  ชาวเลเจ้าของเรือต้องไปทั้ง ๕ คนจึงจะให้เช่าเรือ  นักศึกษาก็ไม่ประสบผลในการเช่าเรือลำนั้น  เสียเวลาเกือบชั่วโมงเพราะช่วยกันคิดแทนชาวเลชนเผ่าเจ้าของเรือ

 

พระครูสิทธิปรียัติวิเทศ (พระมหา ดร.ฉลอง จันทสิริ)  เจ้าอาวาสวัดไทยไวสาลี ปรารภอยู่เสมอว่า  พระภิกษุจากเมืองไทย(พระธรรมทูต) มาเผยแผ่พุทธธรรมในอินเดีย  เห็นผลได้ในระดับหนึ่ง  ไม่ยั่งยืนเท่ากับให้ยุวชนชาวอินเดียมาบรรพชาเป็นสามเณร  เมื่อครบอายุที่จะอุปสมบทได้  ก็หาทุนหาผู้อุปัฏฐากแนะแนวให้มีโอกาสอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จะได้เป็นกำลังในการแผ่พุทธธรรมเข้าไปในหมู่ชนชาวอินเดีย  แผ่ธรรมด้วยภาษาของเขาเอง จะได้ผลในการแผ่ธรรมสูงมาก  แม้ลาสิกขามาเป็นฆราวาส  พุทธะก็ยังอยู่กับเขา  มีโอกาสก็ได้แสดงธรรมแก่ผู้ใกล้ชิดแวดล้อมไปตามธรรมชาติ  มีโอกาสก็เข้าไปร่วมกิจกรรมกับชาวพุทธชาติอื่น  สืบเนื่องไปอย่างนี้  ก็จะมีชาวพุทธที่ยั่งยืนในแผ่นดินอินเดีย

 

วัดไทยนาลันทา นครราชคฤห์  ก็สืบการเผยแผ่ธรรมดั่งวัดไทยไวสาลี  พระครูปริยัติธรรมวิเทศ (พระมหา ดร.พัน แตะกระโทก) ได้บรรพชายุวชนชาวอินเดียเป็นสามเณร   ซึ่งเดิมยุวชนชาวอินเดียเหล่านั้นมีอยู่รอบวัดไทยนาลันทาเข้ามาเพื่อขอรับบริจาคทานจากผู้มาแสวงบุญ  ยุวชนหญิงก็ได้มีโอกาสบวชชีพราหมณ์  ทั้งสามเณรและชีพราหมณ์ได้รับการศึกษาอบรมแทนการมารอขอรับบริจาคทาน  เมื่อคณะพระคุณเจ้าได้เห็นคุณสมบัติพิเศษของยุวชนชาวอินเดียบางคน  ก็จะได้รับการคัดเลือกเพื่อสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาให้เหมาะกับที่คาดว่าจะพึงเป็น  (ดูใน http://www.youtube.com/watch?v=9Z2dmiEj2Rs)  

 

บาทหลวงที่เข้ามาแผ่คริสตธรรมในสยามด้วยการรักษาสุขภาพให้กลุ่มเป้าหมาย  ชาวโปรตุเกสชาติแรกและชาวฮอลันดาชาติที่สอง ที่เข้ามาในเกาะถลางตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  ชาวฝรั่งเศสและชาวอังกฤษเข้ามาเกาะถลางเป็นชาติที่สามและสี่ มามีความสำคัญขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  สมเด็จพระเพทราชไม่ทรงโปรดชาวฝรั่งเศสที่ลุแก่อำนาจ  เป็นเหตุให้นายพลเดฟาสต์นำเรือรบไปยึดเกาะถลางเพื่อต่อรองอำนาจบางประการกับสยาม  มีสิ่งปรากฏหลายอย่างที่ชาวเลรับไว้สืบมาให้เห็นร่องรอยของชาวยุโรปมาเกาะถลางคือท่าเต้นรองเง็ง  ทำนองเพลงรองเง็ง  ไวโอลิน  และกายูผฮาดั๊กเป็นไม้กางเขนจำนวน ๗ เสาแทนจำนวน ๗ วันปักไว้ในวันพิธีลอยเรือชาวเลกลาง เดือน ๖ และกลางเดือน ๑๑

 

พิธีลอยเรือชาวเลเป็นประเพณีในการถ่ายทอดการสร้างเรือไว้เป็นที่อาศัยและใช้งาน  เป็นเรือนหอของหนุ่มสาวที่เริ่มชีวิตการมีครอบครัว  เป็นวันรวมญาติที่ห่างหายไปเป็นเวลา ๖ เดือน  เป็นการหลีกภัยธรรมชาติที่กระแสลมแปรปรวนเปลี่ยนทิศเปลี่ยนทางลมจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ไปเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ   และการนับประชากรจากตุ๊กตาต่างตัวที่แต่ละครอบครัวนำมาใส่ไว้ในเรือ  รำลึกถึงบรรพชนชาวเลและเคารพอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของผู้ดูแลเผ่าพันธุ์ตามความเชื่อเช่นโต๊ะทาหมี้  สุภาพสตรีชาวเลฝึกทำและถ่ายทอดการปรุงอาหารจากสัตว์ปีกสัตว์บกและขนมให้ยุวชน   นันทนาการด้วยการร้องรำทำเพลงรองเง็ง  ยิ่งเต้นรำรองเง็งรอบลำเรือได้มากรอบถือว่าได้บุญมาก  จึงให้โอกาสหนุ่มชาวเลคัดเลือกสาวชาวเลเป็นคู่ครองเพื่อรักษาประชากรเผ่าพันธุ์สืบไป  ยุวชนชาวเลไม่สามารถสร้างเรือพิธีได้เพราะชาวเลไม่ได้ใช้เรือเพื่อชีวิตดั่งบรรพชน  เพลงรองเง็งเป็นสื่อเกี้ยวสาวที่เคยใช้ภาษาชาวเลเปลี่ยนมาเป็นเพลงตนโหย้ง(ตันหยง)  และเปลี่ยนเป็นเพลงไทยเดิม  เพลงลูกทุ่งและเพลงสตริง  เล่นกีตาร์ตามแนวเพลงในสังคมเมืองทิ้งไวโอลินบรานาไว้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ประจำเผ่าพันธุ์โดยไม่รู้ความหมาย  ทิ้งภาษาชาวเลที่ฝังวิญญาณวิถีชาวเลไว้อย่างแยบยลมาใช้ภาษาถิ่นไทยใต้  ทิ้งนิทานพญานาคพ่นน้ำที่เคยเป็นเครื่องเตือนภัยสึนามิ  พิธีลอยเรือชาวเลเริ่มหมดหน้าที่ในการถ่ายทอดวิถีชาวเล  พิธีลอยเรือชาวเลมีหน้าที่รับใช้เผ่าพันธุ์ตามวิถีดั้งเดิม ไม่อาจรับใช้ชีวิตชาวเลรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนวิถีตามอำนาจการสื่อสารมวลชนให้เป็นพลเมืองเลียนแบบชาวเมืองชนบทชาวเมืองใหญ่และชาวเมืองหลวง  ในช่วงเดียวกับที่ชาวเมืองชนบทชาวเมืองใหญ่และชาวเมืองหลวงรับวิถีศิวิไลซ์ต่างชาติ  ชาวเลจะตามศิวิไลซ์ไปทันกันที่กาลเวลาใด

 

เด็กหญิงยาวัตยุวชนเงาะมันนิเทือกเขาบรรทัดที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มีแขนกางออกไม่ได้เพราะผิวหนังและเนื้อเยื่อสมานติดแขนท่อนบนไว้กับท่อนปลายแขน  สาเหตุจากแม่เงาะมันนิกลัวลูกสาวยาวัตเจ็บปวดที่ล้มลงในกองไฟจึงพันผ้าไว้เป็นแรมเดือน  ลูกสาวยาวัตหายเจ็บปวดแล้วจึงแก้ผ้าพันแผล(ผ้าถุงเก่า)ออก  สะท้อนให้เห็นว่านักสมุนไพรมือหนึ่งในเผ่าพันธุ์มันนิขาดการถ่ายทอดไปโดยสิ้นเชิง  ชาวมันนิคงจำได้เพียงชื่อพืชพันธุ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นภาคปฏิบัติการสมุนไพรได้อีกแล้ว

 

พระธรรมทูตไทยในอินเดียได้ใช้วิธีการเผยแผ่พุทธธรรมดั่งบาทหลวงในอดีตด้วยการรักษาสุขภาพ  ปฐมพยาบาลบำบัดความเจ็บป่วยให้ชาวอินเดียในละแวกรอบวัดไทยในอินเดีย  จัดแพทย์อาสาไปจากเมืองไทย  รับเวชภัณฑ์ไปจากเมืองไทย  ในระยะเริ่มงานพยาบาลเมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมาก็ส่งผลให้เห็นว่าเวชภัณฑ์ไทยใช้ได้ผลน้อยกว่าเวชภัณฑ์อินเดีย เพราะสารเคมีในร่างผู้ป่วยชาวอินเดียมีขนาดแตกต่างจากสารเคมีที่อยู่ในร่างคนไทย  และสารเคมีในร่างผู้ป่วยอินเดียก็ไม่เหมาะกับเวชภัณฑ์ไทยหลายขนาน   แพทย์ไทยอาสาสื่อสารกับชาวอินเดียผู้ป่วยเจ็บสื่อสารกันไม่เข้าใจ  สื่อสารจนเมื่อยมือก็ยังจัดเวชภัณฑ์บำบัดรักษาไม่ตรงโรค  ปัญหาที่จะให้แพทย์ไทยอาสาศึกษาภาษาฮินดีก่อนไปรักษาชาวอินเดียนั้น  แม้จะไม่ถึงหนทางตันแต่ก็เป็นอุปสรรคที่จะต้องแก้กันต่อไป  ทางออกในขณะนี้ก็คือรับแพทย์ชาวอินเดียมาดูแลรักษาโรคของชาวอินเดีย และใช้เวชภัณฑ์ของอินเดียแทนเวชภัณฑ์ในเมืองไทย  แต่เวชภัณฑ์สมุนไพรไทยหลายขนานยังคงใช้ได้ดีกับชาวอินเดีย และเวชภัณฑ์สมุนไพรอินเดียหลายขนานก็สามารถใช้ได้ดีกับชาวไทย  ก็ให้เป็นหน้าที่ของเภสัชกรปฏิบัติงานไปตามวิถีหน้าที่แห่งตนสนับสนุนงานแผ่พุทธธรรมของพระคุณเจ้าพระธรรมทูตในต่างแดน

 

วัฒนธรรมของทุกชนเผ่ามีการเกิดและพัฒนารับใช้วิถีชีวิตชนเผ่าจนหมดหน้าที่ ก็จักเสื่อมสลายไปเป็นดั่งนี้ดังส่วนหนึ่งในไตรลักษณ์คือความเป็นอนิจจัง วัฒนธรรมไม่ได้เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน  มีเกิดมีปรากฏก็เสื่อมลดบทบาทสูญหายสลายไปตามกาล   แต่การลดบทบาทจะค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปตามบทบาทที่รับใช้ผู้คนที่ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องใช้วัฒนธรรมดั้งเดิมนั้น  เมื่อคนที่ใช้วัฒนธรรมเก่าลดจำนวนลงไปตามธรรมชาติ    การค่อย ๆ ลดบทบาทนั้นเป็นธรรมชาติของผู้คนที่รับวัฒนธรรมนั้น  หากลดหายไปทันทีทันใดอย่างผิดธรรมชาติ  จะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมชนเผ่าทันทีด้วยเช่นกัน  เพราะคนที่ยังคงใช้วัฒนธรรมยังมีชีวิตอยู่  การหายไปทันที  จะเกิดความเครียดซึ่งมีผลไปสู่การทำลายชีวิตอย่างฉับพลันด้วย  นักจัดการวัฒนธรรมที่รู้เท่าถึงการณ์จึงไม่ควรละเลยในประเด็นนี้  ในพุทธศาสนาที่สอนให้คนละเว้นความชั่ว๑  กระทำความดี๑  และต้องกระทำจิตให้บริสุทธิ์ด้วย๑  ก็เพื่อรักษาชีวิตให้ยั่งยืนและสิ้นสูญไปตามอายุขัย  การทำจิตใจให้บริสุทธิ์เป็นการรักษาชีวิตให้ยืนยาว  มีผู้คนช่วยสร้างประโยคให้ฟังง่ายขึ้นเป็น หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจิตให้บริสุทธิ์  ในทางกลับกัน  การทำจิตให้หมองไม่ผ่องใส (เครียด) ก็จักเป็นหนทางแห่งความตาย  ผู้สูงวัยยังต้องการวัฒนธรรมเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้ผ่องใส  ผู้ใดทำลายวัฒนธรรมอันเป็นเชื้อแห่งความสุขของผู้สูงวัย  ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ยื่นความตายให้ผู้สูงวัยก่อนกาล

 

นักจัดการวัฒนธรรมก็มีหน้าที่จัดเก็บวัฒนธรรมไว้เป็นมรดก  วัฒนธรรมนั้นก็มีหน้าที่แสดงอัตลักษณ์ในความหมายของ มรดก ( มร=ตาย, ด=แล้ว =ผู้ (เป็นประธานของคำที่ขยาย)) วัฒนธรรมใดที่หมดหน้าที่ในวิถีชีวิตก็เก็บรักษาไว้เป็นมรดก  รอนักจัดการสร้างสรรค์ให้มรดกนั้นมีหน้าที่ในสังคม  วัฒนธรรมนั้นก็ฟื้นคืนชีพกลับเข้าสู่สังคมได้อีก  ในพหุวัฒนธรรมบางวัฒนธรรม ที่เสื่อมสลายไปแล้วของชนเผ่าหนึ่งอาจจะรื้อฟื้นคืนชีพไปอยู่กับอีกชนเผ่าหนึ่งได้  วัฒนธรรมด้อยรวมกับวัฒนธรรมด้อยเป็นวัฒนธรรมประสมก็อาจกลายเป็นวัฒนธรรมแข็งสืบทอดต่อไปได้อีก

 

การท่องเที่ยวเป็นวัฒนธรรมใหม่  นักท่องเที่ยวมีเป้าหมายเปลี่ยนพื้นที่อันจำเจของตนไปแสวงหาท้องถิ่นใหม่เป็นท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากวิถีชีวิตของตน  ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวมี ๒ ประเภทคือทรัพยากรทางธรรมชาติ (ทะเล หาดทราย แหลม ป่าไม้) และทรัพยากรทางด้านวัฒนธรรม   วัฒนธรรมที่เสื่อมสลายไปเพราะหมดหน้าที่รับใช้ชนเผ่าจะฟื้นกลับมารับใช้นักท่องเที่ยวได้  มรดกวัฒนธรรมที่จัดเก็บรักษาไว้ในมิติหนึ่ง  สามารถนำมาปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับหน้าที่ใหม่  ให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้แสดงวัฒนธรรมมรดกเพื่อเสนอให้เป็นวัฒนธรรมทางการท่องเที่ยว  การกระทำเยี่ยงนี้ก็คือการจัดการวัฒนธรรม (ให้มีหน้าที่ใหม่) อันยังประโยชน์แก่ชนเผ่าได้อีกสืบไป

 

การจัดการวัฒนธรรมของชนเผ่ายังคงรอนักจัดการมือสร้างสรรค์ที่จักใช้เทคนิควิธีการหรือนิรมิตวิธีการให้วัฒนธรรมที่ยังความสงบสันติสุขปรากฏขึ้นรับใช้มวลมนุษยชาติสืบผาสุกสืบกาล.

 

 

 

***

มนุษยศาสตร์  จริยธรรม 2

ดูภาพประกอบการเสนอบทความนี้ใน ดูเพิ่มใน https://www.facebook.com/photo.php?fbid=422144261217820&set=a.422143787884534.1073741861.100002667505315&type=1&theater

เมื่อ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ โรงแรมพาวีเลี่ยน สงขลา

สามเณรนาลันทา

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 28 พฤษภาคม 2013 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้964
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1309
mod_vvisit_counterทั้งหมด10730572