Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ประเพณีกินผัก : ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 เมษายน 2008

ประเพณีกินผัก


ราชัน กาญจนะวณิช
***********

การทำพิธีบนบานศาลกล่าว คือขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย และเมื่อสำเร็จแล้วจะประกอบพิธีตอบแทนหรือเซ่นไหว้ เป็นพิธีที่มนุษย์ปฏิบัติกันอยู่เกือบทั่วทุกแห่ง และเกือบทุกชาติภาษา เมื่อผมมาอยู่ภูเก็ตก็รู้สึกประทับใจในความพร้อมเพรียงของชาวภูเก็ตที่ได้ร่วมทำพิธี “เจี๊ยะฉ่าย” หรือเข้าร่วมประเพณีกินผักกันอย่างแพร่หลาย โดยมีศาลเจ้าต่างๆ เป็นศูนย์รักษาวัฒนธรรมนี้ไว้ พิธีเจี๊ยะฉ่ายนี้จะจัดให้มีขึ้นใน 9 วันแรกของเดือน 9 ในปีปฏิทินจันทรคติของจีน ผู้ที่เข้าร่วมพิธีถือศีลกินเจนี้ จะต้องยึดมั่นในข้อปฏิบัติ 9 ข้อ คือ:-

1. บุคคลที่อยู่ในระหว่างไว้ทุกข์ ห้ามเข้าร่วมพิธีกินผัก
2. บุคคลที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ เข้าร่วมพิธีกินผักได้ แต่จะไปไหว้พระที่ศาลเจ้าหรือไปดูการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในขณะที่พระเข้าทรงที่ศาลเจ้าไม่ได้
3. บุคคลที่มีประจำเดือน เข้าร่วมพิธีกินผักได้ แต่จะไปไหว้พระที่ศาลเจ้าหรือไปดูการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในขณะที่พระเข้าทรงที่ศาลเจ้าไม่ได้
4. บุคคลที่เข้าร่วมพิธีกินผัก  ห้ามร่วมประเวณีโดยเด็ดขาด
5. บุคคลที่เข้าร่วมพิธีกินผัก ห้ามดื่มสุราและของมึนเมาโดยเด็ดขาด
6. บุคคลที่เข้าร่วมพิธีกินผัก ห้ามรับประทานอาหารคาวโดยเด็ดขาด
7. บุคคลที่เข้าร่วมพิธีกินผัก ต้องชำระร่างกายให้สะอาดก่อนเข้าพิธีและรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ
8. บุคคลที่เข้าร่วมพิธีกินผัก ต้องประพฤติชอบทั้งกาย วาจา และใจ
9. บุคคลที่เข้าร่วมพิธีกินผัก จะต้องใช้เครื่องแต่งกายสีขาวในพิธีต่างๆ ที่ศาลเจ้า

 

ผู้ที่เข้าร่วมพิธีเจี๊ยะฉ่ายที่เคร่งครัด จะเน้นถึงความสำคัญของการปฏิบัติทั้งกายวาจา และใจ แม้แต่อาหารเจที่ทำเป็นรูปสัตว์หรือมีลักษณ์คล้ายเนื้อสัตว์ ก็จะละเว้น

คุณไชยยุทธ ปิ่นประดับ ได้ค้นคว้าเขียนไว้ว่า ชาวกะทู้ได้รื้อฟื้นประเพณีโบราณของจีน ขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วหลังจากที่เกิดโรคระบาดขึ้น และคณะนักแสดงงิ้วได้ระลึกว่าชาวจีนที่กะทู้มิได้ประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายมานาน จึงได้รื้อฟื้นขึ้นมา จนโรคระบาดได้เบาบางลงและหายไปในที่สุด เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อรื้อฟื้นพิธีนี้ขึ้นนั้น ชาวกะทู้ยังขาดอุปกรณ์สำคัญในการประกอบพิธีบางอย่างรวมทั้งผงธูป บทสวดมนต์ คัมภีร์ และตำราซึ่งต้องส่งมาจากประเทศจีนโดยเรือใบมาถึงอ่าวทุ่งคาที่บางเหนียวในวันที่เจ็ดของพิธีในปีหนึ่งซึ่งต่อมาก็มักจะมีการแห่พระกิ้วอ๋องต่อเต่ (พระราชาธิราชเก้าพระองค์) ไปเซี้ยโห้ยที่สะพานหินเป็นประจำ

ปัจจุบันนี้ ประเพณีกินผักของชาวภูเก็ตได้ขยายกว้างขึ้น จนเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวภูเก็ตในช่วงปลายฤดูฝน โดยเฉพาะพิธีลุยไฟที่จัดขึ้นตามศาลเจ้าต่างๆ

ความจริงพิธีลุยไฟนี้ ก็มีอยู่ทั่วไป เริ่มตั้งแต่ครั้งโบราณในประเทศกรีก อินเดีย และจีน ในปัจจุบันยังคงปฏิบัติกันอยู่ในอินเดีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน เกาะฟิจิ เกาะตาฮิติ และโซไซเอดี นิวซีแลนด์ เมาริเซียส บัลกาเรีย สเปญและไทย

ประเพณีลอยกระทงนั้นไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิมของชาวภูเก็ต แต่เกิดแพร่หลายขึ้นเพราะการแนะนำส่งเสริมของทางราชการ ภูเก็ตไม่มีแม่น้ำที่สำคัญ ประชาชนจึงมิได้มีความผูกพันกับความสำคัญของสายน้ำ แต่อย่างไรก็ดี ชาวเลที่อาศัยอยู่ที่เกาะภูเก็ตก็มีพิธีลอยเรือส่งเครื่องบรรณาการที่พวกเขารอดพ้นจากภัยทางทะเลทุกปี เมื่อผมมาอยู่ในจังหวัดภูเก็ตแรก ๆ ที่บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ใช้คนงานชาวเลจากเกาะสิเหร่เป็นส่วนใหญ่ เมื่อสิ้นฤดูมรสุมจะมีพิธีลอยเรือ และคนงานชาวเลมักจะมาขอรูปถ่ายผู้จัดการเหมืองชาวต่างประเทศไปใช้ในพิธีลอยเรือ ฝรั่งเข้าใจว่าชาวเลต้องการส่งตัวแทนบาปกรรมออกทะเลไปให้พ้น

การบนบานศาลกล่าวพระพรหม หน้าโรงแรมเอราวัณที่กรุงเทพฯ ที่เกิดจากช่างก่อสร้างโรงแรกที่บนบานให้พ้นจากอุบัติเหตุ ก็ได้กลายมาเป็นพิธีประจำวันที่มีคนมุงดูอยู่ทุกวัน เพราะคงจะมีคนถูกหวยหรือหายเจ็บไข้ต้องมาแก้บนจัดละครรำอยู่เสมอ ๆ

ที่ประเทศเยอรมันนี มีเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในแคว้นบาวาเรียตีนเทือกเขาแอลป์ ชื่อเมืองโอเบอร์เมอร์เกา (OBERAMMERGAU) ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากพิธีบนบานดังกล่าว พิธีแก้บนของเมืองนี้ เป็นการแสดงละครทางศาสนาเรียกว่า PASSION PLAY ซึ่งเริ่มแสดงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1634 หรือ พ.ศ.2177 ตรงกับในสมัยพระเจ้าปราสาททองของกรุงศรีอยุธยา ก่อนหน้านั้นได้เกิดกาฬโรคระบาดทั่วทวีปยุโรป ชาวเมืองโอเบอร์เมอร์เกาได้บนบานของให้พ้นจากโรคระบาด และก็นับว่าเป็นโชคดีของชาวเมืองที่กาฬโรคได้หยุดยั้งก่อนถึงตีนเขาแอลป์ ชาวเมืองโอเบอร์เมอร์เกาจึงต้องจัดแสดงละครศาสนาแก้บนดังกล่าวด้วยความยึดมั่นในสัญญาบนบาทที่ทำไว้ ชาวเมืองโอเบอร์เมอร์เกาได้ถือเป็นประเพณีจัดงานขึ้นทุกสิบปีนับตั้งแต่ ค.ศ. 1680 จะมียกเว้นก็แต่ปี ค.ศ. 1940 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1984 ได้มีการจัดแสดงละครศาสนาพิเศษเป็นการฉลองครบ 350 ปีขึ้น เท่ากับทดแทนที่ได้งดไปในปี ค.ศ. 1940 การจัดแสดงละครประเพณีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 2000 การแสดงละครศาสนานี้มี 16 ฉาก ใช้เวลาแสดง 5 ชั่วโมงครึ่ง เป็นการแสดงประวัติช่วงสุดท้ายของพระเยซู เริ่มจากการร่วมสำรับมื้อค่ำครั้งสุดท้ายกับสาวก 12 คน จนถึงการลากไม้กางเขน การตรึงกางเขน และการคืนชีวิตในที่สุด การแสดงละครแก้บนทุกปีนี้จัดให้มีขึ้นทุกวันจากปลายเดือนพฤษภาคม ถึงปลายเดือนกันยายน ในสถานที่พิเศษจัดขึ้นกลางแจ้งโดยมีเทือกเขาแอลป์เป็นฉากหลัง การจัด PASSION PLAY ครั้งหนึ่ง ๆ จะดึงดูดผู้คนมาดูนับล้านคนในช่วง 4 เดือนของการแสดง ฉะนั้นถ้าผู้ใดมีความประสงค์จะไปชมเมืองเล็ก ๆ ที่สวยงามนี้ ก็จะต้องไม่ไปในระหว่างที่มีการแสดงละครแก้บนทุกสิบปี เพราะถ้าไปตรงกับการแสดงละคร ก็จะต้องเผชิญปัญหารถติดเหมือนในกรุงเทพฯ เพราะคนกรุงเทพฯ มักจะบนบานว่า “เจ้าประคุ้ณ ขอให้มีเงินซื้อรถเถิด รถมันจะติดกันทุกวันก็ไม่เป็นไร”

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1162
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1720
mod_vvisit_counterทั้งหมด10703327