Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
กล้วย : ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พฤหัสบดี, 10 เมษายน 2008

กล้วย

ราชัน กาญจนะวณิช
----------------

ที่เกาะภูเก็ตมีกล้วยขายทั่วไปหมดทุกแห่งหน มีทั้งกล้วยข้าว กล้วยเล็บมือนาง และกล้วยหอม ชาวภูเก็ตและผู้ที่ไปเที่ยวภูเก็ตจึงโชคดีที่มีกล้วยรับประทานโดยไม่ขาด

เรื่องกล้วยควรจะเป็นเรื่องกล้วย ๆ ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร แต่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ภูเก็ตแล้ว ปัญหาเรื่องกล้วยเป็นปัญหาใหญ่ ที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย กล่าวกันว่ามีประชากรทั้งที่จดทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ที่นั่น หรืออยู่ในจังหวัดอื่น ๆ แต่ไปอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ รวมกันแล้วเชื่อว่าไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ซึ่งคงรวมทั้งชาวต่างประเทศที่แอบเข้ามาหรือเข้ามาทำงานอย่างเปิดเผย เมื่อมีคนมากเช่นนั้น จึงเป็นปัญหาสำหรับคนที่ชอบกล้วยจะหากล้วยดี ๆ รับประทานได้ยาก

กล้วยเป็นผลไม้ที่ดีเลิศ เพราะราคาพอสมควร ไม่มีเมล็ด มีโปแตสเซียมสูง ไม่หวานจนเป็นภัยต่อสุขภาพ และที่สำคัญก็คือปอกเปลือกได้ง่ายกว่าทุเรียนมากนัก กล้วยที่มีขายในกรุงเทพฯ ส่วนมากมักจะบอบช้ำจากากรขนส่งจนไม่น่ารับประทานและเก็บเอาไว้ไม่ได้นาน ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานว่าประเทศไทยมีกล้วยปลูกกันอยู่ถึง 28 ชนิด แต่ที่กรุงเทพฯ มักจะมีกล้วยหอมขายอยู่ชนิดเดียว กล้วยอื่น ๆ เช่น กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า หรือกล้วยเล็บมือนางหาซื้อได้บ้างเป็นบางครั้งบางคราว

 

ชาวอัฟริกันตะวันออกและชาวเกาะแคริบเบียนรับประทานกล้วยเป็นอาหารหลักคือ ใช้กล้วยกินแทนข้าวของคนไทย หรือแทนมันฝรั่งของคนอเมริกันหรือยุโรปบางแห่ง กล้วที่ใช้เป็นอาหารหลักนี้ เอาไปต้มหรือทอดตั้งแต่กล้วยยังไม่สุกและยังมีสีเขียวอยู่ กล้วยประเภทนี้ลูกยาวกว่ากล้วยหอม เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า PLANTAIN หรือ COOKING BANANA MUSU PARADISIACA ส่วนกล้วยหอมที่ชาวยุโรปหรืออเมริกันชอบรับประทานนั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า MUSA SAPIENTUM เนื่องจากยุโรปและอเมริกันนิยมรับประทานกล้วยกันมาก จึงมีการปลูกกล้วยในทางพาณิชย์ขนาดใหญ่บนเกาะแคนารีของสเปญ ในอเมริกากลาง เช่น คอสตาริกา ฮอนดูรัส กัวติมาลา ตลอดจนอเมริกาใต้ เช่น บราซิล โคลัมเบีย อิควัวดอร์ ในอัฟริกาก็มี เช่น เอธิโอเปีย แคมเมอรูน กินนี และไนจีเรีย ส่วนในเอเชียก็มีที่ เกาะใต้หวัน

เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ซื้อกล้วยจากตลาดโลกเกือบครึ่งหนึ่ง บริษัทอเมริกันจึงได้ลงทุนทำไร่กล้วยขนาดใหญ่ในอเมริกากลางหลายแห่ง บริษัทยักษ์ใหญ่ที่สำคัญก็คือ โดล (DOLE) เจ้าของไร่สัปปะรดใหญ่ในหมู่เกาะฮาไวอะ เดลมอนติ (DELMONTE) ผู้ผลิตผลไม้รายใหญ่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และชิควิตตา (CHIQUITTA) เดิมเรียกกันในนามยูไนเต็ด ฟรุทส์ (UNITED FRUITS CO.) บริษัทยูไนเต็ด ฟรุทส์ นี้มีอิทธิพลมาก เมื่อปี พ.ศ.2497 เคยได้รับการสนับสนุนและปกป้องจากรัฐบาลอเมริกัน มิให้ถูกประธานาธิบดีจาโคโบ อาร์เบนซ์ (JACOBO ARBENZ) ของกัวติมาลาเข้ายึดครองเป็นของรัฐ หน่วยงานราชการลับ C.I.A. ของสหรัฐได้โค่นล้มรัฐบาลกัวติมาลาสำเร็จ และรัฐบาลใหม่ก็เลิกล้มนโยบายสังคมนิยม ไม่เข้ายึดครองไร่กล้วยของบริษัทยูไนเต็ด ฟรุทส์

เนื่องจากประเทศเล็ก ๆ ในอเมริกากลางและหมู่เกาะแคริบเบียนหลายประเทศอาศัยกล้วยเป็นสินค้าออกสำคัญ ประเทศเหล่านี้จึงมักจะถูกเรียกกันว่า สาธารณรัฐกล้วยหรือ BANANA REPUBLICS การเคลื่อนไหวในตลาดกล้วยโลก จึงมีผลกระทบต่อประเทศเหล่านี้อยู่มาก เพราะไร่กล้วยใหญ่ๆ ใช้คนงานจำนวนมาก และต้องอาศัยเรือที่ต่อพิเศษมีห้องเย็นไว้สำหรับบรรทุกกล้วยส่งไปขายในยุโรปและอเมริกา

บรรดาประเทศเล็ก ๆ ในทะเลแคริบเบียนนั้น บางประเทศก็เป็นเกาะที่เล็กกว่าภูเก็ตเสียอีก และก็ต้องอาศัยกล้วยเป็นสินค้าออกสำคัญ เช่น เมื่อปี พ.ศ.2538 ประเทศจาไมกา (JAMAICA) ส่งกล้วยออกคิดเป็นเงินถึง 48 ล้านดอลลาร์ ไฮติ (HAITI) 48 ล้านดอลลาร์ ดอมินิกา 16 ล้านดอลลาร์ เซนท์ลูเซีย (ST.LUCIA) 66 ล้านดอลลาร์ เซนท์วินเซนท์ (ST. VENCENT) 22 ล้านดอลลาร์ และเกรนาดา (GRENADA) 1 ล้านดอลลาร์ ประเทศเล็ก ๆ เหล่านี้เคยเป็นอาณานิคมของประเทศยุโรปมาก่อนทุกประเทศจึงติดต่อขายกล้วยให้ชาวยุโรปมาช้านานแล้ว และก็เคยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาดังที่ยังคงจำกันได้ว่า สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2526 สมัยประธานาธิบดี เรแกน เคยส่งทหารเข้ายึดเกาะ เกรนาดา เพื่อป้องกันมิให้ตกไปอยู่ในอิทธิพลของฝ่ายสังคมนิยม

แต่มาในสมัยโลกาภิวัฒน์ ที่โลกนิยมให้มีตลาดเสรี จนมีการตั้งองค์การตลาดโลกขึ้น สหรัฐอเมริกาก็เปลี่ยนนโยบาย เช่นในปี พ.ศ.2537 บริษัทชิควิตตา (CHIQUITTA) ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การตลาดโลกว่า การที่ยุโรปให้สิทธิทางการค้าพิเศษแก่ประเทศเล็ก ๆ ในทะเลแคริบเบียนนั้นไม่เป็นธรรม และทำให้บริษัทต้องเสียตลาดกล้วยในช่วง 3 ปีที่แล้วมาคิดเป็นเงินกว่า 400 ดอลลาร์

หนังสือพิมพ์พากันลงข่าวว่า นายคาร์ล คินเนอร์ ประธานกรรมการบริษัทชิควิตตา ได้ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองเดมอร์แครท ของประธานาธิบดี คลินตัน เป็นเงินกว่าหนึ่งล้านเหรียญในช่วงปี พ.ศ. 2536-2539 จึงได้เกิดการฟ้องร้องกันเช่นนี้ แต่ผู้แทนการค้าของสหรัฐยืนยันว่า การฟ้องร้องนั้นเป็นไปตามหลักการของการค้าเสรีและเพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของบริษัทอเมริกัน บรรดาเหล่าผู้นำสาธารณรัฐกล้วยในทะเลแคริบเบียนจึงเผชิญกับปัญหากล้วย ที่แก้ไขอย่างกล้วย ๆ ไม่ได้ เพราะชาวไร่กล้วยที่จะต้องเลิกปลูกกล้วย ก็เหหันมาสนใจในการปลูกพืชยาเสพย์ติดแทน และกรรมกรก็หาทางเล็ดลอดเข้าไปหางานทำในสหรัฐอเมริกา

ในภูเก็ต เรายังคงไม่มีปัญหาในเรื่องกล้วย เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่าย ถึงแม้จะเป็นไม้ล้มลุก แต่ปลูกจากหน่อได้ไม่ยาก นอกจากกล้วยที่ใช้รับประทานแล้ว ยังมีกล้วยที่ปลูกเป็นไม้ประดับ เช่น กล้วยลังกา (REVENALA MADAGASCARIENSIS-TRAVELLER’S TREE) ซึ่งเดิมนิยมปลูกตามวัด ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเดินทางติดต่อกับลังกาอยู่หลายครั้งได้นำเข้ามา ตามชื่อภาษาต่างประเทศก็จะเห็นว่ากล้วยลังกามีถิ่นฐานบ้านเดิมอยู่ที่เกาะมาดากัสการ์ กล้วยไทยที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ก็คือประเภท MUSA GLAVCA ซึ่งปลูกกันมากตามวัดในภาคเหนือ กล้วยศาสนา (MUSA NEPALENSIS) ก็เคยมีผู้ปลูกที่เมืองฝาง ตามชื่อก็คงเป็นกล้วยที่มีบ้านเดิมอยู่ที่ประเทศเนปาล แต่มีพระนำมาปลูกไว้ที่ ถ้ำทับเต่า กล้วยที่นิยมปลูกตามวัดนั้นเป็นต้นกล้วยที่ไม่มีผลทางเศรษฐกิจ และใช้รับประทานไม่ได้

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้47
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1069
mod_vvisit_counterทั้งหมด10721973