Skip to content

Phuketdata

default color
Home
หอสมุดประชาชนจังหวัดภูเก็ต:ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 09 เมษายน 2008

หอสมุดประชาชนจังหวัดภูเก็ต


ราชัน กาญจนะวณิช
--------

เมื่อผมได้เดินทางมาฝึกหัดงานที่บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด ในจังหวัดภูเก็ตในปี พ.ศ. 2549 นั้น สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าจำเป็นต่อชีวิตแต่หาไม่ได้ ก็คือหนังสือต่าง ๆ ที่จะใช้ค้นคว้า เพราะหนังสือของผมเองนั้นมีจำกัด ผมจึงได้ติดต่อกับสำนักข่าวสารอเมริกัน ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า U.S. INFORMATION SERVICE ที่สถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกรุงเทพฯ ให้ช่วยพิจารณาช่วยเหลือให้จังหวัดภูเก็ตสามารถตั้งห้องสมุดที่สมบูรณ์ขึ้น ตามทัศนะของผมนั้นการตั้งห้องสมุดไม่จำเป็นต้องใช้อาคารใหญ่โต เพียงแต่ขอให้มีห้องเก็บหนังสือจำนวนมากก็แล้วกัน แต่เมื่อปรึกษากับทางจังหวัดและทางเทศบาลดูก็เป็นที่เข้าใจว่าทางราชการนั้นเห็นว่าอาคารเป็นหัวใจสำคัญของห้องสมุด

 

การที่จะหาที่ดินและอาคารใหม่นั้นเป็นสิ่งที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ในยุคนั้นเพราะประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สองมาใหม่ ๆ ซึ่งในสงครามครั้งนั้นประเทศไทยต้องแพ้ถึงสองครั้ง คือครั้งแรกต้องถูกญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าประเทศ จนต้องยอมหยุดยิงให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 และประเทศไทยต้องประสบความพินาศทางเศรษฐกิจอย่างยับเยิน เพราะทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาบังคับเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ ตลอดจนการลดค่าเงินบาทให้เท่ากับเงินเยนอันไร้ค่าของญี่ปุ่น ต่อมารัฐบาลไทยได้ร่วมรุกรบกับญี่ปุ่นประกาศสงครามต่อสู้กับฝ่ายสหประชาชาติ และส่งทหารเข้าไปในมลายูและพม่าอันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2488 ไทยจึงต้องเป็นผู้แพ้สงครามอีกครั้งหนึ่ง และต้องชดใช้ค่าเสียหายตลอดจนต้องส่งข้าวจำนวนมากให้แก่อังกฤษผู้ชนะสงคราม

เมื่อบ้านเมืองไม่อยู่ในฐานะที่จะมีเงยสร้างอาคารห้องสมุดที่ภูเก็ตได้ ผมจึงได้แต่เพียงขวนขวายหาหนังสือต่าง ๆ ให้ทางราชการ

ในต้นปี พ.ศ. 2549 ผมก็ได้รับจดหมายจากแมรี่ แองเกิลไมเออร์ (MARY ANGLEMYER) ผู้อำนวยการฝ่ายบริการห้องสมุดของสถานเอกอัครราชทูตอเมริกัน ในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน แจ้งว่าได้ติดต่อขอหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้สำเร็จ และหนังสือตำราต่าง ๆ เป็นจำนวนกว่า 300 เล่มก็ได้มาถึงกรุงเทพฯ แล้ว แต่ทางสถานทูตได้ทราบข่าวว่าทางภูเก็ตยังดำเนินการตั้งห้องสมุดไม่สำเร็จและจะให้ช่วยเหลืออย่างไร

ผมได้ปรึกษากับเพื่อนข้าราชการในจังหวัดภูเก็ตก็เล็งเห็นว่า การที่จะขอให้สถานเอกอัครราชทูตอเมริกัน มาเปิดห้องสมุดในจังหวัดภูเก็ตย่อมไม่เหมาะสมและเป็นไปไม่ได้ เพราะภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีพลเมืองน้อยมาก เมื่อฝ่ายอเมริกันพร้อมที่จะส่งหนังสือตำรามาให้และสัญญาว่าจะส่งวารสารต่าง ๆ มาให้อีกด้วย ก็น่าที่ทางจังหวัดควรจะจัดหาสถานที่พอให้ใช้เป็นห้องสมุดชั่วคราวให้ได้

ในที่สุดทางราชการจึงได้จัดโรงไม้เล็ก ๆ ที่ถนนแม่หลวนใกล้ ๆ ที่ว่าการอำเภอให้เป็นห้องสมุดประชาชนของจังหวัดภูเก็ต และผมเข้าใจว่าคุณสอาดจิตร เขียวหวาน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบรรณารักษ์คนแรกของห้องสมุดประชาชนของจังหวัดภูเก็ต

ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498  ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2500  ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทศมนตรีร่วมกับคุณศิลป์ บูรยขจร และคุณวิบูลย์ เธียรสุคนธ์ ซึ่งได้เริ่มงานก่อสร้างอาคารเทศบาลเมืองภูเก็ตหลังใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมระหว่างถนนภูเก็ตกับถนนมนตรี ต่อมาได้มีการสร้างหอนาฬิกาขึ้นที่กลางวงเวียนหน้าสำนักงานเทศบาลเมือง และมีการสงวนที่ดินข้างวงเวียนไว้เป็นที่ตั้งห้องสมุดประชาชนอีกด้วย ในการรับตำแหน่งเป็นเทศมนตรีเมืองภูเก็ตครั้งนั้น ผมมีวัตถุประสงค์สำคัญเพียงแต่จะสร้างสะพานที่ถนนมนตรีสองสะพานให้สำเร็จ และเมื่อสร้างสะพานทั้งสองนี้สำเร็จ ผมก็ได้ลาออกจากตำแหน่งเทศมนตรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2500

ผมได้รับแต่งตั้งเป็นเทศมนตรีเมืองภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2502 หลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และทางราชการได้ให้ข้าราชการประจำเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรีแทนสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกตั้ง ร.ต.ต. นคร เมนะคงคา ปลัดจังหวัดได้รับแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ต และ ร.ต.ท. ชม เสวกวรรณ นายอำเภอเป็นเทศมนตรี ผมในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทศมนตรีร่วมกับข้าราชการประจำ ซึ่งทางจังหวัดแจ้งให้ทราบว่าเพื่อเป็นผู้ประสานระหว่างข้าราชการประจำกับสมาชิกสภาเทศบาล เท่าที่ผ่านมาแล้วผมรับงานเทศมนตรีก็เพราะมีวัตถุประสงค์แน่วแน่ว่าจะเข้าไปทำอะไรให้เป็นรูปธรรม มาในครั้งนี้เป็นการแต่งตั้งปัจจุบันทันด่วน ผมจึงตัดสินใจว่าจะเข้าไปทำอะไรให้ท้องถิ่น ในที่สุดผมจึงได้ตกลงจะเข้าไปทำงานผลักดันให้มีการสร้างห้องสมุดประชาชน ที่ดีกว่าเดิมในจังหวัดภูเก็ต ทางเทศบาลเมืองภูเก็ตจึงได้ดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน เพื่อก่อสร้างอาคารห้องสมุดเป็นตึกชั้นเดียวทรงไทยที่บริเวณที่ดินริมวงเวียนหอนาฬิกาหน้าสำนักงานเทศบาล

ผมยังคงมีทัศนะเดิมที่ว่าหัยใจของห้องสมุดนั้นมิได้อยู่ที่อาคาร แต่อยู่ที่ปริมาณและคุณภาพของหนังสือที่เก็บเอาไว้ให้ประชาชนได้เข้ามาอ่านหรือค้นคว้า เป้าหมายสำคัญของผมก็คือต้องแสวงหาหนังสือที่มีคุณภาพให้ห้องสมุด เทศบาลเมืองภูเก็ตเองนั้นไม่เคยมีงบประมาณที่จะซื้อหนังสือจำนวนมาก ๆ ให้ห้องสมุด ซึ่งเป็นบริการที่ขึ้นอยู่กับศึกษาธิการจังหวัด ด้านวารสารและหนังสือพิมพ์นั้น ทางราชการและองค์การต่าง ๆ เช่น สำนักข่าวสารอเมริกันได้ช่วยสนับสนุนอยู่แล้ว ผมจึงต้องพยายามหาทุนซื้อหนังสือจากผู้อื่น

เมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ที่ญี่ปุ่นได้ยาตราทัพเขาประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ในจังหวัดภูเก็ตได้มีสโมสรของชาวอังกฤษในภูเก็ตตั้งอยู่สโมสรหนึ่งมีชื่อว่า “ดิ ยูไนเต็ด คลับ” (THE UNITED CLUB) สโมสรแห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเนื้อที่ 4 ไร่เศษ มุมถนนนริศรตัดกับถนนสุรินทร์ใกล้ๆ กับศาลากลางจังหวัด เมื่อก่อนสงครามโลก ชาวอังกฤษในเกาะภูเก็ตใช้สโมสรแห่งนี้เป็นที่พบปะ เล่นกีฬาเทนนิส และบางครั้งสมาชิกสโมสร ดิ ยูไนเต็ด คลับ ก็จัดการแข่งขันเทนนิสกับสโมสรข้าราชการซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ยกทัพเข้าประเทศไทย และไทยได้ประกาศสงครามที่จะรบกับฝ่ายอังกฤษแล้ว ที่ดินและอาคารของ ดิ ยูไนเต็ด คลับ จึงได้ตกอยู่ในข่ายทรัพย์สินของชนชาติศัตรู และก็ได้มีการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ จนตกเป็นของเทศบาลเมืองภูเก็ต เมื่อสงครามได้สงบลง ประเทศไทยผู้แพ้สงครามจึงมีหน้าที่ตามสัญญาสมบูรณ์แบบที่จะต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่เจ้าของเดิม

เมื่อผมมาอยู่ภูเก็ตในปี พ.ศ. 2494 นั้น “ดิ ยูไนเต็ด คลับ” ได้เลือกนายวอเรน เจ. พาร์สัน รองกงสุลอังกฤษเป็นนายกสโมสร และนายชาลส์ สก็อตต์ เป็นเลขาธิการ ทั้งสองท่านนี้ได้พยายามติดต่อขอที่ดินคืนจากทางราชการ ถึงแม้ว่าทางราชการจะไม่ได้ใช้ที่ดินแปลงนี้ให้เป็นประโยชน์แต่อย่างใด การคืนที่ดินดังกล่าวให้แก่สโมสรนั้นก็ประสบปัญหาต่าง ๆ มากมายหลายประการ ทั้งทางด้านข้อบังคับสมาคมและระเบียบแบบแผนของกรมที่ดิน อันเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่คนต่างด้าว ปัญหาการโอนกรรมสิทธิ์นี้ยืดเยื้ออยู่หลายปี จนกระทั่งนายวอเรน เจ. พาร์สัน  เห็นว่าจำนวนคนอังกฤษที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตได้ลดน้อยลงจนไม่อาจที่จะหาสมาชิกมาสนับสนุนกิจการของ ดิ ยูไนเต็ด คลับ ให้ดำเนินไปได้ จึงต้องเลิกล้มความประสงค์เดิมที่จะฟื้นฟูสโมสรขึ้นใหม่ และขอรับเงินเป็นการชดเชยค่าที่ดินที่ต้องเสียกรรมสิทธิ์ไปนั้น ทางราชการได้ตีราคาที่ดินแปลงนี้ไว้เป็นเงิน 55,000 บาท การเบิกเงินชดเชยนี้ก็ใช้เวลาอยู่นาน เพราะต้องดำเนินการผ่านเทศบาลผู้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินไป

เมื่อทาง ดิ ยูไนเต็ด คลับ มีความประสงค์จะเลิกกิจการหลังจากที่นายวอเรน เจ. พาร์สัน ต้องย้ายไปอยู่ประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2501 ทางสโมสรจึงต้องพิจารณาว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชีจำนวน 55,000 บาทนั้นจะมอบให้การกุศลใด ตามข้อบังคับของสโมสร

ผู้ที่เสนอตัวขอรับเงินการกุศลนี้ก็คือ สุสานคริสเตียนที่ซอยตลิ่งชัน สุสานนี้ใช้เป็นที่ฝังศพชาวคริสเตียนในจังหวัดภูเก็ตมาช้านาน โดยที่บริษัทของอังกฤษต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตช่วยกันออกเงินเป็นค่าบำรุงรักษา ผู้จัดการธนาคารชาเตอร์ทำหน้าที่เป็นผู้เรียกเก็บเงิน ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นาน ๆ จึงจะมีการฝังศพสักครั้ง เมื่อก่อนผมจะมาอยู่ภูเก็ตนั้นก็ได้ทราบข่าวว่ามีการฝังศพกันครั้งหนึ่งเมื่อ นายฮอลล์ ผู้จัดการเหมืองของบริษัทกำมะรา ทินเดรดยิง ลิมิเต็ด เกิดหัวใจวายเสียชีวิตลงโดยปัจจุบันทันด่วนบนเรือขุด นายชาลส์ สก็อตต์ เล่าให้ฟังว่าครั้งนั้นก็ขลุกขลักมาก เพราะการขออนุญาตฝังศพนั้น ผู้จัดการสุสานจะต้องลงนามในเอกสารต่าง ๆของทางราชการ แต่ปรากฏว่าสุสานแห่งนี้ไม่มีผู้จัดการตามทะเบียน จึงต้องเสียเวลาไปกว่าครึ่งวัน กว่าจะสามารถฝังศพนายฮอลล์ได้ ที่ยุ่งยากที่สุดก็คือเมื่อฝังนายฮอลล์ไปแล้วได้ทราบว่า ทางเหมืองกำมะรา ทินเดรดยิง ลิมิเต็ด ไม่สามารถเปิดตู้นิรภัยและห้องเก็บแร่ได้ เพราะนายฮอลล์ได้เอากุญแจตู้นิรภัยและห้องแร่ใส่กางเกงไว้ และเพื่อนฝูงก็มิได้ตรวจค้น รีบฝังนายฮอลล์ไปรวมทั้งกุญแจด้วย จึงจำเป็นต้องขุดศพนายฮอลล์ เพื่อค้นในกระเป๋ากางเกงเอากุญแจคืนมาแล้วจึงฝังเป็นครั้งที่สอง

ต่อมาเมื่อผมมาอยู่ในจังหวัดภูเก็ตแล้ว ก็ได้มีการฝังศพชาวคริสเตียนอีกครั้งหนึ่งเมื่อนายแลมบ์ วิศวกรเรือขุดของบริษัทตะกั่วป่า แวลลีย์ ถูกคนทำร้ายจนเสียชีวิต ครั้งนั้นก็ขลุกขลักมากจนต้องของร้องให้คุณสมบุญ ศิริธร เทศมนตรีช่วยอนุญาตให้ฝังได้ บรรดาชาวอังกฤษทั้งหลายจึงได้ขอร้องให้ผมเป็นผู้จัดการสุสานแห่งนี้อยู่นายหลายปี จนกระทั่งได้มอบหน้าที่จัดการและดูแลสุสานนี้ให้แก่คณะบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิกไป

เมื่อผมได้ทราบข่าวว่าคณะบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิก ได้พยายามจะขอเงิน 55,000 บาท จากคณะกรรมการสโมสร ดิ ยูไนเต็ด คลับ ดังนั้นผมจึงต้องเสนอให้กรรมการสโมสรพิจารณาอุทิศเงิน 55,000 บาท ที่เหลืออยู่นั้นซื้อหนังสือต่าง ๆ ให้แก่ห้องสมุดประชาชนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งกำลังจะได้อาคารใหม่ที่วงเวียนหอนาฬิกาหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองภูเก็ต ผมได้ชี้แจงให้เหตุผลแก่นายชาลส์ สก็อตต์ เลขาธิการของสโมสรทราบว่าการซื้อหนังสือให้ห้องสมุดจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ส่วนทางบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิกนั้น ชี้แจงว่าต้องการเงินไปสร้างรั้วสุสานที่ซอยตลิ่งชัน ในที่สุดนายชาลส์ สก็อตต์ ก็ให้ความเห็นว่าการสร้างรั้วสุสานนั้นมีประโยชน์น้อยมาก เพราะสุสานใช้สำหรับคนตายแล้ว ไม่ต้องการกั้นรั้วป้องกันที่พิเศษแต่อย่างใด และสำหรับคนข้างนอกที่กลัวคนในสุสานรั้วก็ป้องกันไม่ได้ และได้เสนอให้กรรมการสโมสรอนุมัติจ่ายเงินของสโมสรที่เหลืออยู่ 55,000 บาท เพื่ออุทิศให้ห้องสมุดประชาชนซื้อหนังสือ คณะกรรมการสโมสรก็เห็นด้วยตามข้อเสนอนี้ แต่มีข้อแม้ว่าให้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวซื้อหนังสือเฉพาะที่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ


ทางห้องสมุดได้ใช้เงินซื้อหนังสือภาษาใดนั้นผมมิได้ติดตามดูผล เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่แล้ว และในที่สุดผมก็ได้ลาออกทางตำแหน่งเทศมนตรีในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2504 และทางจังหวัดก็ได้แต่งตั้ง พ.ต.อ. สุข พุกกะพันธ์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตเป็นเทศมนตรีแทน และจังหวัดภูเก็ตก็ไม่มีเทศมนตรีที่มาจากสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกตั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2511

ห้องสมุดประชาชนจังหวัดภูเก็ตนั้น ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ในอาคารใหม่ที่ถนนภูเก็ตซึ่งบริษัทไทยชาร์โกได้สร้างให้ ส่วนบริเวณห้องสมุดอาคารแบบไทยนั้น ได้ถูกรื้อลงและมีการสร้างอาคารพาณิชย์แทน

การสร้างห้องสมุดประชาชน และการแสงหาหนังสือให้ห้องสมุดตามที่กล่าวมานี้ ไม่ทันต่อความต้องการของผม ผมจึงได้สะสมหนังสือส่วนตัวไว้เป็นจำนวนมากเพราะถือว่าหนังสือเป็นของจำเป็นต่อชีวิต

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Polls

ชื่อใด (หรือคำใด) สื่อได้ชัดคม รู้เป้าหมายได้มากกว่า
 

Who's Online

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1537
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2221
mod_vvisit_counterทั้งหมด10648905