Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง : บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 30 มีนาคม 2008

แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง


ร้อยเอกบุณยฤทธิ์  ฉายสุวรรณ
สำนักศิลปากรที่ ๑๕ จังหวัดภูเก็ต
--------------

 

แหล่งโบราณคดีภูเขาทองตั้งอยู่ที่หมู่ ๔  ตำบลกำพวน  กิ่งอำเภอสุขสำราญ  จังหวัดระนอง ภูเขาทองเป็นเขาลูกเล็ก ๆ อยู่ติดกับถนนเพชรเกษมระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๗๐๐-๗๐๑  อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลอันดามันประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร  จากหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี รวมถึงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านขุดพบ สามารถกล่าวได้ว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นเมืองท่ายุคแรก ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการติดต่อทางการค้ากับอินเดียอย่างชัดเจน

จากลักษณะทางกายภาพและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ที่เป็นส่วนหนึ่งของแหลมมลายูอันเป็นจุดปะทะของเส้นทางการเดินเรือนั้น  พ่อค้าชาวอินเดียได้พากันมาตั้งนิคมการค้าตามเมืองท่าต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งวรรณกรรมโบราณของอินเดียเรียกว่าดินแดนสุวรรณภูมิ ดั้งได้ปรากฏสินค้าจากเมืองท่าต่าง ๆ ของอินเดียที่มีการตั้งสถานีการค้าของโรมัน จึงมีทั้งสินค้าของอินเดียและโรมันรวมทั้งสินค้าเลียนแบบโรมันหลั่งไหลเข้ามายังเมืองท่าโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากจะมีพ่อค้าชาวอินเดีย พ่อค้าซิเถียนแล้ว อาจมีพ่อค้าชาวโรมันเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง รวมแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง อันประกอบด้วย บ้านบางกล้วยนอก และเขากล้วย(บางคลัก) เรียกรวมว่า กลุ่มแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง นั้นในพื้นที่แถบนี้พบลูกปัดทั้งแก้ว และหินเป็นจำนวนมาก และมีหลักฐานมากพอที่จะกล่าวได้ว่า เป็นแหล่งผลิตลูกปัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากพบก้อนแก้ว หิน วัตถุดิบในการทำลูกปัดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งลูกปัดแก้วที่หลอมรวมติดกันเป็นก้อน และลูกปัดหินที่ยังทำไม่เสร็จเป็นจำนวนมาก ลูกปัดแก้วที่พบส่วนใหญ่เป็นลูกปัดสีเดียวที่เรียกว่า “ลูกปัดอินโดแปซิฟิค”  ส่วนลูกปัดหินพบหินคาร์เนเลียน หินอาเกต เป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้พบลูกปัดที่ระบายสีด้วยกรดลงบนเนื้อหินจนเกิดเป็นลายแบบที่เรียกกันว่า etched beads รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังพบลูกปัดทองคำที่ทำโดยใช้เทคนิคด้วยการนำเม็ดทองเล็ก ๆ มาติดไว้ (Granulated gold beads) เหมือนกับที่พบที่อิหร่านด้วย


 ในพื้นที่กลุ่มแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ พบสิงห์ครึ่งตัวอยู่ในท่าหมอบทำจากหินควอทซ์ (Quartz) ในประเทศไทยพบสิงห์ทำจากหินคาร์เนเลี่ยนที่ บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี และที่ท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รูปสิงห์ที่แกะสลักจากหินต่าง ๆ พบเป็นจำนวนมากที่เมืองตักษิลาแล้ว ยังพบอยู่ในเมืองโบราณในภูมิภาคตะวันตกในสมัยราชวงศ์สาตวาหนะอีกด้วย เช่น ที่เมืองสัมภร (Sanbhar) เมืองนาสิก(Nasik) ในประเทศพม่าพบหินคาร์เนเลียนรูปสิงโตและเสือ จำนวนหลายตัวที่เมืองฮาลิน และพินกะนะด้วย


โบราณวัตถุที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่พบได้แก่ จี้หรือหัวแหวนแผ่นหินคาร์เนเลียนรูปกลมรีขนาดเล็กสลักเป็นรูปสัตว์ เช่น ไก่ ม้า คนขี่ม้ารวมถึงรูปบุคคลแบบกรีก-โรมัน ซึ่งพบตามเมืองท่าโบราณทั้งในโลกตะวันตก และตะวันออกที่มีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรโรมัน และพบแพร่หลายอยู่ตามเมืองท่าโบราณของอินเดียที่มีการติดต่อค้าขาย และมีการตั้งถิ่นฐานของชาวโรมันช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖-๗


หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการติดต่อกับอินเดียอย่างชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ ภาชนะดินเผาแบบรูแลตด์ (rouletted ware) ภาชนะดินเผาประเภทนี้เรียกตามเทคนิคที่ใช้ตกแต่งผิวภาชนะโดยการกลิ้งล้อที่เป็นฟันเฟืองลงบนผิวภาชนะขณะที่ยังไม่แห้ง ทำให้เกิดรอยกดลึกอย่างเป็นระเบียบบนผิวภาชนะ เนื้อดินเนียนละเอียดสีเทาขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนเร็ว ส่วนมากทาน้ำดินสีดำทั้งด้านในและด้านนอกมีการขัดผิวจนขึ้นเงา ภาชนะดินเผาชนิดนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นแหล่งผลิตที่แน่ชัดนัก แต่อาจจะผลิตที่ Tamil Nadu ในประเทศอินเดีย
ภาชนะดินเผาแบบรูแลตด์ (rouletted ware) นอกจากจะพบกระจายตัวอยู่ตามชายฝั่งทะเลตะวันออกของอินเดียที่สำคัญเช่นที่ Arikamedu  แล้ว ยังพบตามแหล่งโบราณคดีในประเทศศรีลังกา บังกลาเทศ และกระจายตัวมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในประเทศไทยนอกจากพบเป็นจำนวนมากที่แหล่งโบราณคดีภูเขาทองแล้ว ยังพบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพรด้วย สำหรับอายุภาชนะดินเผาประเภทนี้ยังมีการกำหนดอายุที่ไม่ตรงกันนักแต่มีอายุโดยประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
จากหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ที่พบสามารถกล่าวได้ว่าแหล่งโบราณคดีภูเขาทองมีการติดต่อกับดินแดนโพ้นทะเล ที่มีการเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้าพื้นเมืองในแถบนี้ได้แก่ เครื่องเทศ ของป่า  อาจรวมไปถึงดีบุกซึ่งเป็นโลหะที่มีอยู่มากมายในแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นแหล่งผลิตลูกปัดที่สำคัญที่พบอีกแหล่งหนึ่งในประเทศไทย สำหรับอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้น่าจะมีการอยู่อาศัยมาอย่างต่อเนืองยาวนาน เนื่องจากมีการขุดค้นทางโบราณคดีในชั้นดินบน ๆ พบเครื่องถ้วยเปอร์เซีย หรือบาสราแวร์  (Basra ware) ซึ่งเป็นภาชนะดินเผาจากตะวันออกกลางมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ดังนั้นในเบื้องต้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้จึงน่าจะมีอายุประมาณ ๑,๒๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 28 เมษายน 2008 )
 
< ก่อนหน้า

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้376
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1659
mod_vvisit_counterทั้งหมด10719635