Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
การสร้างเรือขุดแร่ในป่าโกงกาง : ราชัน กาญจนะวณิช PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
อาทิตย์, 16 มีนาคม 2008

การสร้างเรือขุดแร่ในป่าโกงกาง

ราชัน กาญจนะวณิช

-----------------

เมื่อผมเดินทางไปฝึกงานที่จังหวัดภูเก็ต บริษัทกำมุนติง ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด มีเรือขุดทำการขุดแร่ดีบุกอยู่ 2 ลำ ที่จังหวัดพังงา บริษัทมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ตำบลนบปริง อำเภอเมือง ที่บริเวณสำนักงานมีโรงซ่อมและโรงไฟฟ้าซึ่งส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงไปยังเรือขุดทั้งสองลำที่ทำงานอยู่ในลุ่มแม่น้ำหรือแคว 2 สาย ลำหนึ่งเดินอยู่ในลุ่มแม่น้ำพังงาหรือคลองพังงา ส่วนอีกลำหนึ่งเดินอยู่ในลุ่มแม่น้ำหรือคลองหรา จากสำนักงานมีทางรถไฟเล็กแยกออกเป็น 2 สาย ไปยังเรือขุด การขนส่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนไปทำงานบนเรือขุด หรือส่งแร่ดีบุกมาล้างที่โรงแต่งแร่ใกล้สำนักงาน ต้องอาศัยรถไฟเล็กทั้งสิ้น บริษัทได้รับสัมปทานพิเศษให้มีรถไฟเล็กได้ และมีทางรถไฟรวมกันยาวทั้งสิ้น ประมาณ 25 กิโลเมตร หัวรถจักรที่ใช้นั้นเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลหลายคัน แต่มีรถจักรไอน้ำเก่าอยู่คันหนึ่ง ซึ่งถูกขนานนามว่า “ไอแวน สเปนซ์” ตามชื่อของประธานกรรมการบริษัทลอนดอนทิน คอร์ปอเรชั่น และบริษัทกำมุนติง ทิน เดรดยิง ลิมิเต็ด ก็เป็นสมาชิกในเครือเดียวกัน มร.สเปนซ์ซึ่งทำงานอยู่ในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ คงยังไม่ทราบชื่อรถจักรไอน้ำคันนั้น แต่บรรดาพนักงานตั้งชื่อให้เพราะเห็นว่าเก่าแก่เท่า ๆ กัน

ในปี พ.ศ. 2494 นั้น แหล่งแร่ของบริษัทกำลังใกล้ ๆ จะหมดสิ้นอยู่แล้ว บริษัทก็ได้เตรียมหาแหล่งแร่สำรองไว้ล่วงหน้าแล้ว และได้ตกลงเจรจาซื้อประทานบัตรจากบริษัทบางเตยปรอสเปกติง กำปะนี ลิมิเต็ด แหล่งแร่ดีบุกของบริษัทบางเตยนั้นอยู่ในป่าโกงกางใกล้ปากแม่น้ำพังงา ห่างจากบริเวณที่เรือขุดของบริษัทกำมุนติงทำงานอยู่ประมาณ 20 กิโลเมตร แหล่งแร่ซึ่งอยู่ระหว่างประทานบัตรของบริษัทกำมุนติง กับ บริษัทบางเตยเป็นแหล่งแร่ของบริษัทพังงาทิน ลิมิเต็ด ซึ่งก่อนสงครามญี่ปุ่น ก็เคยมีเรือขุดเดินอยู่ 2 ลำเช่นเดียวกัน แต่ในระหว่างสงครามเรือขุดได้จมลงเสียหายไปลำหนึ่ง หลังสงครามบริษัทพังงาทินจึงมีเรือขุดเหลืออยู่เพียงลำเดียว

แหล่งแร่ดีบุกของบริษัทบางเตยปรอสสเปกติง กำปะนี นั้นก็มีมีประวัติยาวนานที่น่าสนใจเดิมทีบริษัทอเมริกันชื่อ ยูคอน โกลด์ (YUKON GOLD) ได้เข้ามาสำรวจพบแหล่งแร่ดีบุกในป่าโกงกางแห่งนี้ แต่เมื่อบริษัทยูคอน โกลด์ ยื่นเรื่องรวามขอประทานบัตรและเมื่อได้รังวัดชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้ว ก็ปรากฏว่าได้มีคนเป็นจำนวนมากได้พากันมาคัดค้าน โดยอ้างว่าพวกเขาทำประโยชน์อยู่โดยปลูกจากไว้ในป่าโกงกาง บริษัทยูคอน โกลด์ พิจารณาเห็นว่าที่ขอประทานบัตรเป็นป่าโกงกางน้ำทะเลท่วมถึงและเป็นป่าสงวน เมื่อได้รับอนุญาตจากรมป่าไม้และได้ชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้กรมป่าไม้แล้วก็ไม่น่าจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้คัดค้านที่อ้างว่าได้ปลูกจากไว้อีก บริษัทยูคอน โกลด์ จึงได้ขอร้องให้กรมป่าไม้ดำเนินคดีฟ้องร้องขับไล่ผู้ที่อ้างสิทธิ์ผลเก็บกินในป่าสงวน ในชั้นแรกทางกรมป่าได้ก็เห็นชอบในหลักการ แต่ในทางปฏิบัตินั้นก็ยังมิได้ดำเนินการแต่อย่างใด จนในที่สุดบริษัทยูคอน โกลด์ อดทนไม่ไหวจึงได้ถอนเรื่องราวขอประทานบัตร ให้บริษัทบางเตยปรอสเปกติง กำปะนี ดำเนินการขอประทานบัตรต่อไป

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อบริษัทกำมุนติง พยายามหาแหล่งแร่สำรองก็ได้ทำสัญญาซื้อสิทธิจากบริษัทบางเตยโดยตกลงจะดำเนินการขอประทานบัตรให้ เพราะบริษัทกำมุนติงมีกิจการเป็นล่ำเป็นสันอยู่ในบริเวณใกล้เคียงอยู่แล้ว งานชิ้นแรกที่บริษัทกำมุนติงต้องทำก็คือการขจัดปัญหาการมีคนคัดค้านการออกประทานบัตร และงานชิ้นนี้ก็สำเร็จไปด้วยดี เมื่อนายวอเรน เจ.พาร์สัน และผู้ช่วยได้ขอให้ทางอำเภอเชิญผู้คัดค้านมาพบ และได้นำเงินสดใส่ถุงไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่อ้างสิทธิเก็บกินในเขตประทานบัตรในต้นปี พ.ศ. 2494 และก็ได้ประทานบัตรในที่สุด สำหรับแหล่งแร่ที่บางเตยนี้ ตั้งแต่เริ่มสำรวจจนกระทั่งได้ประทานบัตร ต้องใช้เวลารวมทั้งสิ้น 16 ปีเศษ ธุรกิจเหมืองแร่นั้นต้องตั้งอยู่บนความอดทน

ในการขอประทานบัตรที่บางเตยนั้น บริษัทใช้หลักการเดิมที่ได้เคยทำมาแล้วที่อ่าวทุ่งคาในจังหวัดภูเก็ต โดยเสนอแผนผังโครงการที่จะขุดคลองให้เรือเดินชายฝั่งเข้าถึงเขตประทานบัตรได้พร้อมทั้งทำถนนจากเมืองพังงาไปยังท่าเรือที่จะสร้างขึ้นริมคลองและจะสร้างที่ทำการด่านศุลกากรขึ้นใหม่ด้วย เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีถนนติดต่อไปยังด่านศุลกากรที่ปากแม่น้ำพังงา

เมื่อผมมาฝึกหัดงานที่จังหวัดภูเก็ตในปี พ.ศ. 2494 ทางบริษัทจึงได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างถนนและสะพาน ไปยังบริเวณที่จะสร้างเป็นท่าเรือใหม่ให้ทางราชการ งานในชั้นต้นนั้นเป็นงานในสำนักงานที่จะออกแบบวางแนวถนนและออกแบบสะพาน มร.แมคคลักเกจ เป็นผู้อำนวยการได้สอนแนะนำในการคำนวณน้ำหนักต่าง ๆ ในการออกแบบสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะว่าสะพานที่จะมอบให้แก่ทางราชการนั้นต้องเป็นสะพานถาวร งานถมดินในการสร้างถนนนั้นเริ่มในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2495 โดยใช้ผู้รับเหมา แต่ต่อมาบริษัทได้สั่งรถขุดแบบแครก ไลน์ (DRAG LINE) มาใช้ซึ่งก็ได้ผลดีกว่ามาก หลังจากที่ฝึกหัดพนักงานขับอยู่หลายเดือน เนื่องจากบริษัทเขตประทานบัตรที่บางเตยนั้นเป็นบริเวณที่ทางราชการมีโครงการที่จะสร้างทางรถไฟสายสุราษฎร์ธานี-พังงาผ่านและเป็นที่เข้าใจว่าจะเริ่มงานในไม่ช้า บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดการทำเหมืองในเขตก่อสร้างทางรถไฟให้เสร็จก่อนบริเวณอื่น นอกจากนั้นถนนที่จะสร้างขึ้น บางตอนก็เป็นถนนชั่วคราว เพราะมีเรือขุดของบริษัทพังงาทินจะต้องเดินผ่าน ฉะนั้นถนนและสะพานบางช่วงจึงเป็นถนนและสะพานชั่วคราว การสร้างสะพานชั่วคราวจึงเป็นสะพานไม้เพราะในขณะนั้นไม้ยังมีความอุดมสมบูรณ์มากในจังหวัดพังงา

ในเขตประทานบัตรที่บางเตยนั้นเป็นป่าโกงกางที่สวยงาม มีคลองใหญ่ไหลผ่านสองคลองคือคลองพังงาและคลองกลาง และมีลัดเล็ก ๆ เชื่อมคลองใหญ่ทั้งสองคลองนั้น ลัดที่สำคัญที่มีคนใช้สัญจรมาก คือ ลัดเจ้าต้า ลัดเจ้าต้านั้นกว้างเพียงสองเมตร แต่ก็เป็นทางน้ำที่สำคัญใช้เรือพายผ่านได้ตลอดเวลาไม่ว่าน้ำขึ้นหรือน้ำลง ไม้ที่ใช้สร้างสะพานชั่วคราวนั้นหาซื้อได้จากพ่อค้าในบริเวณใกล้เคียงไม้ในเขตประทานบัตรส่วนใหญ่เป็นไม้โกงกาง เช่น โกงกางใบเล็ก (RHIZOPHORA MUCROBALA) ไม้ที่ใช้ทำสะพานชั่วคราวนั้นเราใช้ไม้ที่ทนทานกว่า เช่น ตะบูนขาว (XYLOCARPUS OBOVATUS) หรือตะบูนดำ (XYLOCARPUS MALACCENSIS) ซึ่งก็เป็นไม้ที่ขึ้นตามป่าชายเลนเหมือนกัน นอกจากนั้นก็มีไม้บุนนาคที่ชาวพังงาเรียกว่า นาคบุด (MMESVA FERREA) นอกจากป่าโกงกางจะมีได้อุดมสมบูรณ์แล้ว ป่าโกงกางก็ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น ปูทะเล ปลา และลิง สัตว์พวกนี้ก็ยังเป็นนักแสดงให้ความบันเทิงแก่คนที่ต้องทำงานในป่าโกงกาง สัตว์ที่อาจเป็นอันตรายต่อเราได้ก็มีแต่จระเข้เท่านั้น แต่จระเข้ก็ไม่ดุร้ายเท่ามนุษย์ เพราะมันมักจะเสียอารมณ์ในการอาบแดดอยู่ตามฝั่งคลองและต้องตื่นวิ่งหนีลงน้ำ เมื่อมีเราเข้าไปใกล้ และชั่วระยะเวลาต่อมาอีก 5-6 ปี จระเข้ในบริเวณปากแม่น้ำเมืองพังงาก็ได้ถูกมนุษย์ฆ่าเพื่อเอาหนังไปทำกระเป๋าจนสูญสิ้น

ถึงแม้ป่าโกงกางจะสวยงามน่าดูเพียงใด แต่ถ้าต้องทำงานอยู่ในป่าเช่นนี้เป็นประจำ ก็คงไม่ดีต่อสุขภาพพนักงานเพราะความชื้นแฉะและฤดูฝนก็มีฝนตกมาก เช่น เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 นั้นเราวัดน้ำฝนได้กว่า 300 นิ้ว ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2495 เราตอกเสาเข็มสร้างถนนชั่วคราวพร้อมทั้งสะพาน 6 สะพานพร้อมใช้การได้ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496

ผลจากการทำงานในป่าโกงกางในฤดูฝนอย่างเร่งรีบนั้น ได้ทำให้ผมรู้สึกผิดปกติ ซึ่งเมื่อได้ตรวจดูก็ปรากฏว่าอุณหภูมิสูงกว่าปกติเล็กน้อยทุกวัน เมื่อผมไปปรึกษานายแพทย์ เอฟ.เอน. ไครเดอร์ ที่โรงพยาบาลมิชชั่นที่ภูเก็ต นายแพทย์ไครเดอร์ก็ลงความเห็นว่า มีแผลวัณโรคขนาดเล็กที่ขั้วปอด และแนะนำว่าไม่ควรทำงานหนักจนกว่าแผลจะหาย ผมไม่มีอาการอื่นใดนอกจากอุณหภูมิสูงผิดปกติเพียงหนึ่งองศาเท่านั้น ผมจึงพยายามปรึกษาแพทย์อื่น ๆ ที่ภูเก็ต แต่ก็ไม่มีใครยืนยันได้เพราะเครื่องเอ็กซ์เรย์ในสมัยนั้นไม่ได้มาตรฐานและผมก็ไม่สามารถที่จะหาภาพเอ็กซ์เรย์เก่ามาเปรียบเทียบได้ โรงพยาบาลวชิระที่ภูเก็ตซึ่งเคยมีชื่อเสียงว่าเป็นโรงพยาบาลที่มีเครื่องเอ็กซ์เรย์ก่อนโรงพยาบาลส่วนมากในประเทศไทย ก็อยู่ในระหว่างปรับปรุงขนานใหญ่ เครื่องเอ็กซ์เรย์ที่พอใช้ได้นั้นก็มีทีคลินิกของนายแพทย์วิรัช ฐิตะดิลก ที่ถนนถลาง แต่นายแพทย์วิรัชก็บอกผมไม่ได้ว่าเป็นวัณโรคตามที่นายแพทย์ไครเดอร์รายงาน เพราะอ่านภาพไม่ออก อย่างไรก็ตามผมไม่กล้าเสี่ยงต่อสุขภาพ ผมจึงต้องขี่จักรยานไปยังโรงพยาบาลมิชชั่นให้นายแพทย์ไครเดอร์ฉีดยาทุกสัปดาห์

นอกจากการก่อสร้างถนนและสร้างสะพานในป่าโกงกางตามที่เล่ามาแล้ว ผมยังได้รับมอบหมายให้ช่วยดูแลงานต่อเรือขุดขึ้นใหม่ที่บางเตยด้วย เรือขุดของบริษัทกำมุนติงที่พังงานั้นเป็นเรือขุดขนาดเล็ก ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 ใช้บักเกตขนาด 8 ลูกบาศก์ฟุตและขุดได้ลึกเพียง 45 ฟุต เครื่องจักรต่าง ๆ ใช้มอร์เตอร์ไฟฟ้าขับโดยอาศัยแรงไฟฟ้าที่ส่งมาจากโรงไฟฟ้าของบริษัท การที่จะใช้เรือขุด 2 ลำนี้ในเขตประทานบัตรที่บางเตย จะต้องรื้อเรือขุดออกเป็นส่วน ๆ ให้ขนย้ายไปที่บางเตยได้ แล้วประกอบขึ้นใหม่ แต่แหล่งแร่ที่บางเตยนั้นลึกกว่าแหล่งแร่เดิม จึงต้องดัดแปลงเรือขุดให้สามารถขุดได้ลึกถึง 77 ฟุต การดัดแปลงเรือขุดให้เรือขุดซึ่งเคยขุดได้ลึกเพียง 45 ฟุต มาขุดได้ลึกถึง 77 ฟุต ก็หมายความว่าจะต้องต่อเรือขุดให้ยาวกว่าเดิม และจะต้องใช้ลำเรือที่ใหญ่กว่าเดิมเพื่อรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเรือขุดเดิมทำงานตามเขตประทานบัตรจนเสร็จสิ้นไปแล้ว บริษัทก็ได้ว่าจ้างผู้รับเหมาให้ทำการถอดชิ้นส่วนต่าง ๆ ออกพร้อมทั้งใช้สีทาเป็นเครื่องหมายไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการประกอบเข้าใหม่ภายหลัง ชิ้นส่วนต่าง ๆ นี้ต้องบรรทุกรถไฟเล็กของบริษัทเพื่อส่งมายังโรงซ่อมที่ตำบลนบปริง และเมื่อได้คัดเลือกแล้วก็จะส่งขึ้นรถบรรทุกต่อไปยังบางเตยเพื่อประกอบและดัดแปลงเป็นเรือขุดใหม่ที่ใหญ่และหนักกว่าเดิม

ในการต่อเรือขุดขึ้นใหม่นั้น โดยปกติจะต้องมีอู่พิเศษที่สามารถปล่อยเรือลงได้เมื่อต่อลำเรือหรือพอนทูน (PONTOON) เสร็จเรียบร้อย ทางสำนักงานในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้แนะนำให้ต่อในประเทศมาลายา ซึ่งมีอู่และอุปกรณ์พร้อม แล้วลากจูงมายังจังหวัดพังงา แต่นายพาร์สัน ผู้อำนวยการที่ภูเก็ตมีความประสงค์ที่จะต่อในประเทศไทยเพราะจะเป็นการประหยัดกว่า และเมื่อไม่มีอู่ต่อเรือก็จำเป็นต้องขุดอู่ขึ้นในป่าโกงกาง โดยขุดให้ลึกถึงชั้นทรายที่พอจะใช้เป็นพื้นที่ให้รับน้ำหนักได้ ในระหว่างขุดอู่นั้นก็ต้องสร้างทำนบล้อมรอบเพื่อป้องกันมิให้น้ำทะเลไหลเข้ามาท่วมอู่ และเดินเครื่องสูบน้ำอยู่ตลอดเวลาเพราะจะมีน้ำทะเลไหลซึมเข้ามาได้บ้าง อู่ที่ขุดนั้นต้องให้ลึกพอที่เรือขุดจะลอยลำได้เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ส่วนความกว้างและความยาวของอู่ก็ต้องให้ใหญ่กว่าเรือขุดเพื่อว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จเรือขุดจะได้ลอยลำทำการขุดเดินหน้าออกจากอู่ไปได้ โดยเฉพาะความกว้างต้องให้กว้างเกือบ 3 เท่าของเรือขุด มิฉะนั้นเรือขุดจะไม่สามารถส่ายหน้าทำงานได้ ดินที่ได้จากการขุดอู่ก็เอาไปถมบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจะใช้เป็นลานใหญ่สำหรับวางส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ขนย้ายมา ตลอดจนแผ่นเหล็กใหม่ที่จะนำมาตัดต่อเป็นพอนทูน (PONTOON) หรือทุนลำเรือขุด ลำเรือขุดหรือ PONTOON  นั้นแบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ หลายห้องหรือหลายส่วนเพื่อให้สามารถสูบน้ำออกทีละห้องหรือทีละส่วนได้ ถ้าเกิดมีรูรั่วเพราะถ้าไม่แบ่งเป็นห้องหรือส่วนเล็กๆ เมื่อเกิดชำรุดเสียหายขึ้นมาก็จะซ่อมแซมได้ยาก

ในการต่อลำเรือหรือพอนทูนนั้น เราใช้วางแผ่นเหล็กบนหมอนไม้ การใช้หมอนไม้รองรับนั้นเพื่อสามารถวางระดับให้ท้องเรือขุดอยู่ในระดับเดียวกัน และต้องวางหมอนตามแนวยาวทุกระยะประมาณ 5 ฟุต เนื่องจากพื้นดินก้นอู่เป็นดินปนทรายอ่อน จึงต้องใช้หมอนไม้เป็นจำนวนมากเพื่อให้น้ำหนักแผ่ออกไปมากที่สุด การวางแผ่นเหล็กท้องเรือขุดนั้นเริ่มจากส่วนกลางแล้วจึงเจาะแผ่นเหล็กและตีริเวทออกไปด้านข้าง ด้านหัว หรือด้านท้าย นอกจำนั้นยังต้องเอาสายลวดผูกหมอนไม้ที่รองรับไว้ทุกตัว เพราะเมื่อต่อพอนทูนหรือลำเรือเสร็จแล้ว ก็จะเปิดให้น้ำทะเลไหลเข้าในอู่ เมื่อมีน้ำเพียงพอพอนทูนเรือขุดก็จะลอยลำและสามารถดึงสายลวดเอาหมอนไม้ขึ้นจากก้นอู่ เมื่อเรือขุดลอยลำแล้วงานขั้นต่อไปก็เหมือนกับงานก่อสร้างธรรมดา คือ เป็นงานติดตั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องจักรใช้ในการขุด ตะแกรง และเครื่องแต่งแร่ ตลอดจนการเดินสายไฟฟ้าต่างๆ การติดตั้งบันไดเรือขุดนั้นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะที่เรียกว่าบันได (LADDER) นั้น ไม่ใช่บันไดสำหรับไต่ขึ้นลง แต่เป็น
โครงเหล็กใหญ่ยาว 138 ฟุต ที่หย่อนลงจากเรือขุดเพื่อรับบักเกต (BUCKETS) ที่ต่อเป็นสายลงไปขุดในระดับลึก 77 ฟุต จากผิวน้ำ บันไดนั้นมีน้ำหนักเกินร้อยตัน หลังจากที่บริษัทสามารถรื้อเรือขุดมาประกอบใหม่ได้ไปหนึ่งลำแล้ว การก่อสร้างเรือขุดอีกลำหนึ่งก็ไม่ยุ่งยาก เพราะมีแบบฉบับและบทเรียนมาแล้ว ฉะนั้นเมื่อเรือขุดอีกลำหนึ่งหยุดงานลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2496 ทางบริษัทก็ได้มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการเหมืองที่พังงาเป็นผู้ควบคุมการโยกย้ายดัดแปลงการก่อสร้างแทน โดยวิศวกรจากภูเก็ตไม่ต้องไปควบคุม นอกจากเมื่อมีปัญหาที่จะต้องปรึกษากันเป็นครั้งคราว เรือขุดทั้งสองลำนี้ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นเรือขุดที่ทันสมัย และอีกเหตุผลหนึ่งที่ทางสำนักงานเขตภูเก็ตไม่สามารถส่งวิศวกรไปช่วยเหลือ ก็เพราะ มร.พาร์สัน ผู้อำนวยการได้ป่วยแขนขาเป็นอัมพาต จนกระทั่งทางสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษต้องส่งเครื่องบินพิเศษมารับไปส่งที่ปีนัง เพื่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2496 และต่อมา มร.พาร์สัน ก็ต้องเดินทางไปรักษาตัวต่อที่ประเทศออสเตรเลีย

ฉะนั้นที่ผมได้มาฝึกหัดงานที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 2 ปีนั้น ผมก็ได้เริ่มฝึกหัดงานตั้งแต่การวิจัยผลการสำรวจในระยะ 2-3 เดือนแรก จนถึงงานก่อสร้างถนน สะพาน ตลอดจนการต่อเรือขุดแร่ในป่าโกงกาง

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้952
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1376
mod_vvisit_counterทั้งหมด10678540