Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow News arrow พมร.กะทู้ arrow ภูเก็ตมั่นใจ พร้อมเป็นศูนย์วิจัยไอทีโลก
ภูเก็ตมั่นใจ พร้อมเป็นศูนย์วิจัยไอทีโลก PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
พุธ, 27 กุมภาพันธ์ 2008
คนภูเก็ตมั่นใจว่าพร้อมเป็นศูนย์วิจัยไอทีระดับโลก
 
ความก้าวหน้าด้านไอทีของ จ.ภูเก็ต หลังถูกวางยุทธศาสตร์ให้เป็นเมืองไอทีของภาคใต้ ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานในท้องถิ่น
 
และล่าสุด! ซิป้า มีแนวคิดที่จะชวนบริษัทไอทีระดับโลกมาตั้งศูนย์วิจัยไอทีที่ภูเก็ต เพราะภูมิประเทศและศักยภาพด้านโทรคมนาคมพร้อม
 
ทันตแพทย์พงษ์ศักดิ์ เกิดวงษ์บัณฑิต ประธานอนุกรรมการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  หรือ ซิป้า สาขาภูเก็ต กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจด้านไอทีในภูเก็ตของซอฟต์แวร์ อินดัสตรีย์ โปรโมชั่น เอเจนท์ซี่-ภูเก็ต ปี ค.ศ. 2005 พบว่า ภูเก็ตมีความพร้อมด้านไอซีทีดีกว่าเมื่อเทียบกับการใช้งานด้านไอทีของประเทศไทยโดยรวม ต่อการสำรวจ 100 คน เช่น จำนวนเลขหมายโทรศัพท์ที่ให้บริการต่อ 100 คน ภูเก็ตอยู่ที่ 66.20% ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 11% จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 53.60 : 12% และสัดส่วนของสถานประกอบการที่ใช้คอมพิวเตอร์ 76.60 : 20.50%


ขณะนี้ภูเก็ตมีสายไฟเบอร์ ออพติก สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตรอบเกาะแล้ว ซึ่งซิป้าก็กำลังประสานกับหน่วยงานโทรคมนาคม เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อคุยถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเฉพาะเกาะภูเก็ต เพื่อให้การติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตระหว่างเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งในภูเก็ตมีความรวดเร็วขึ้น
 
นอกจากโครงสร้างด้านโทรคมนาคมแล้ว การเชื่อมโยงข้อมูลแบบ One Stop Service ของหน่วยงานต่าง ๆ ในภูเก็ตก็ไม่แพ้ใคร เบื้องต้นหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรวม 23 แห่ง ได้เชื่อมโยงข้อมูล ถึงกันหมด จึงสามารถรวบรวมข้อมูลของ โรคระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้ทันท่วงที รวมทั้งบริการแบบอี-เซอร์วิส    ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ภูเก็ต   ก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผู้เข้าเมืองกับโรงแรม ที่พักเพื่อตรวจสอบได้
 
และอนาคตอันใกล้ ซิป้าเตรียมเปิดตัวระบบจัดหางานเฉพาะคนภูเก็ตผ่านเว็บไซต์ โดยผู้ประกอบการและผู้สมัครงานต้องเข้ากรอกรายละเอียด ซึ่งเป็นการจับคู่จ้างงานที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้
  
ทันตแพทย์พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความพร้อมด้านโครงสร้างโทรคมนาคมใน จ.ภูเก็ต ค่อนข้างดี เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านเอดีเอสแอล ปัจจุบันมีให้บริการ 8,000 พอร์ต ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานอย่างมาก แต่โครงสร้างการให้บริการบางอย่างยังไม่มีคุณภาพจึงต้องมีการปรับปรุง
 
ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรซิป้าภูเก็ตจับมือกับเทศบาลนครภูเก็ตตั้ง “ศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ไอซีที” เปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่คนในชุมชน พร้อมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ปีละกว่า 30 ครั้ง ทั้งกับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในชุมชน
 
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตมองเรื่องไอทีมาเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมเรื่องไอทีให้กับประชาชนตั้งแต่เด็กเล็ก จนถึงประชาชนในหมู่บ้าน โดยศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ไอซีที ซิป้าจะช่วยเรื่องการวางหลักสูตรการอบรม ขณะที่เทศบาลภูเก็ตจัดหางบประมาณเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ โดยขณะนี้ตั้งเป้าใช้งบบริหารประมาณ 3 ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นงบส่วนหนึ่งของการสนับสนุนทางด้านการศึกษาของท้องถิ่นที่ได้รับจากรัฐบาล
 
ศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ไอซีทีภูเก็ตเปิดให้บริการตั้งแต่ 5 ธ.ค. 2550 มีเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับเด็กและบุคคลทั่วไป 70 เครื่อง โดยในห้องฝึกอบรมจะมีคอมพิวเตอร์บริการ 40 เครื่อง หลังเปิดให้บริการ 2 เดือนกว่า มียอดผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 17,000 คน
 
ความพร้อมด้านโทรคมนาคมที่มีศักยภาพสูง การให้ความรู้ด้าน ไอทีแก่ชุมชน และเป็นภูมิประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม ซึ่งกว่า    80% ของรายได้ในภูเก็ตมาจากการท่องเที่ยว
 
ดร.รุ่งเรือง ลิมชูปฏิภาณ ผู้อำนวยการซิป้า จึงมีแนวคิดผลักดัน จ.ภูเก็ต ให้เป็นศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไอซีทีแห่งชาติ หรือ เดอะ เวิลด์ พาราไดส์ ออฟ ไอซีที อาร์ แอนด์ ดี อินโนเวชั่น  (The World Paradise of ICT R&D Innovation) โดยกลางเดือน มี.ค.นี้ ซิป้าจะลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อศึกษาความพร้อมในการตั้งศูนย์วิจัยไอทีร่วมกับบริษัทไอทีต่างชาติ และตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความพร้อม คาดจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จึงได้ข้อสรุป
 
เป้าหมาย ช่วง 2 ปีแรกของการตั้งศูนย์วิจัยไอที คาดหวังมีบริษัทไอทีต่างชาติ 2-3 บริษัท เข้าร่วมโครงการ ก่อนขยายเป็น 20 บริษัท ใน 6 ปี ซึ่งระหว่างนี้ก็เปิดโอกาสให้บริษัทไอทีของไทยเข้าไปมีส่วนร่วมได้ โดยเงินลงทุนสำหรับการดำเนินงานขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษา ส่วนสถานที่ตั้งศูนย์วิจัยต้องหารือกับหน่วยงานท้องถิ่นในภูเก็ตรวมทั้งรัฐบาลอีกครั้ง
 
หากโครงการตั้งศูนย์วิจัยไอทีภูเก็ตสำเร็จคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ไทยได้ถึง 1 แสนล้านบาท ภายใน 3 ปี และมีรายได้เข้าภูเก็ตมากขึ้นซึ่งอาจส่งผลให้ค่าครองชีพของภูเก็ตสูงขึ้นตามไปด้วย
 
ปัจจุบันตลาดรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยปีที่ผ่านมามีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าของซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบการไทย 20% โดยคาดว่าปีนี้ตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศไทยจะเติบโตประมาณ 10% ส่วนมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์ของผู้ประกอบการไทยจากการสำรวจของศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ปี พ.ศ. 2549 พบมีมูลค่าเพียง 2 พันล้านบาท จากมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ทั่วโลก 25 ล้านล้านบาท ส่วนข้อมูลปี พ.ศ. 2550 เนคเทคไม่ได้ทำการสำรวจ.
 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้2135
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2873
mod_vvisit_counterทั้งหมด11411832