Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ประเพณีลอยเรือชาวเล :สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2008


ประเพณีลอยเรือชาวเล

 

สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์

เพลงตนโหย้ง เพลงร็องเง็ง 


ภาคใต้ของไทยในอดีตมีชนพื้นเมืองอยู่ 4 กลุ่ม คือ กาฮาซี เซมัง ซาไก และชาวเล ชนพื้นเมืองดังกล่าว ที่ยังคงมีอยู่จนปัจจุบันคือ ซาไกที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา และที่อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง และชาวเลที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสตูล

ชาวเลเป็นชนพื้นเมืองที่เร่ร่อนหาเลี้ยงชีพในทะเล ในปัจจุบันชาวเลส่วนใหญ่ขึ้นมาสร้างบ้านเรือนอยู่บนบกและอาบน้ำจืดแทนน้ำทะเล อย่างไรก็ตามการเร่ร่อนไปในทะเลซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิมชีวิตของชาวเลจึงผูกพันกับเรือ ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งบ้านเรือนของเขา ชาวเลจึงมีพิธีเกี่ยวกับเรือถึงปีละ 2 ครั้ง ชาวเลเรียกตนเองว่าโมเค็น (MOKEN) หรือเมาเค็น (MAWKEN) สิงคโปร์เรียกโอรังลาโอด (ORANG LAUT) หรือายัตเลาต์ (RAYAT LAUT) อินโดนีเซียเรียกบาโจ (BADJO) บาโรก (BAROK) เซกะฮ์ (SEKAH) รายัต (RAYAT) หรือยูรู (JURU) ชาวพม่าเรียกว่า เซลัง (SELANG) เซลอง (SELONG) หรือเซลอน(SELON) ชาวเกาะบอร์เนียวเรียกดยัคทะเล (SEADYAK) ในข้อเขียนของพันเอกเยรินีเรียกชาวน้ำ ชาวภูเก็ตเรียกพวกพี่น้องไทยใหม่และชาวเล ส่วนชาวกระบี่ พังงา ระนอง สตูล เรียกชาวเล

 

ชาวเลในภาคใต้ของไทยมีอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสตูล จำแนกตามกลุ่มที่ใช้ภาษาได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโอรังลาโอด มอแกล๊น และมาซิง กลุ่มโอรังลาโอดมีประชากรมากที่สุดคือ มีประมาณ 3,000 คน ในจังหวัดภูเก็ตอาศัยอยู่ที่บ้านแหลมตุ๊กแก ตำบลรัษฎา บ้านราไวย์ ตำบลราไวย์ บ้านสะปำ ตำบลเกาะแก้ว ที่จังหวัดกระบี่อาศัยอยู่ที่เกาะพีพีดอน เกาะจำ และเกาะลันตา ที่จังหวัดสตูลอาศัยอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ กลุ่มมอแกล๊นมีประชากรประมาณ 500 คน อยู่ที่บ้านแหลมหลา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ส่วนกลุ่มมาซิงมีประชากรประมาณ 500 คน อาศัยอยู่ที่หมู่เกาะสุรินทร์ และเกาะพระทองในจังหวัดพังงา

เนื่องจากชีวิตของชาวเลผูกพันอยู่กับเรือดังกล่าวแล้ว ชาวเลกลุ่มโอรังลาโอด และชาวเลมอแกล๊นจึงมีประเพณีเกี่ยวกับเรือ เรียกว่า ประเพณีลอยเรือหรือพิธีลอยเรือ โดยทั้งสองกลุ่มจะประกอบพิธีลอยเรือในช่วงกลางเดือน 6 และเดือน 11 เช่น ชาวเลโอรังลาโอด ที่บ้านสะปำลอยเรือตอนเช้ามืดวันขึ้น 14 ค่ำ ชาวเลโอรังลาโอดบ้านแหลมตุ๊กแกลอยเรือตอนเช้ามืดวันขึ้น 15 ค่ำ และชาวมอแกล๊นบ้านแหลมหลาจะลอยเรือในวันขึ้น 15 ค่ำ เช่นกัน แต่จะลอยเรือในเวลา 18.00 นาฬิกา เป็นต้น

ก่อนที่จะมีการลอยเรือ ชาวเลจะจัดเตรียมหาไม้มาเป็นส่วนประกอบของเรือพิธี ชาวเลโอรังลาโอดจะใช้ไม้ทองหลาง และไม้ระกำเป็นส่วนประกอบ ส่วนชาวเลมอแกล๊นจะใช้ไม้สักหินและต้นกล้วย ชาวเลโอรังลาโอดผู้ชายบ้านแหลมตุ๊กแกจะไปตัดไม้ในช่วงตอนเช้าของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 แล้วช่วยกันแบกหามหรือบรรทุกเรือมากองไว้นอกหมู่บ้าน ครั้นใกล้เที่ยงจึงช่วยกันตัดถาก และกลึงเกลาไม้ทองหลางให้เป็นโครงแกนท้องเรือ หัวเรือ ท้ายเรือ และจังกูด และที่สำคัญคือการแกะสลักเป็นรูปคนสูงประมาณ 8 นิ้ว จำนวน 12 ตัว ไว้เป็นฝีพายประจำเรือพายไปสู่เมืองออกและเมืองพลัด เศษไม้ทองหลางที่เหลือจะแกะเป็นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น มีด จวัก หม้อ เตา ตะกร้า เป็นต้น ส่วนไม้ระกำที่ตัดมาเป็นท่อนยาวท่อนละประมาณ 4-6 เมตร จำนวน ไม่ต่ำกว่า 40 ท่อนนั้นชาวเลโอรังลาโอดจะลอกเปลือกนอกทิ้ง แล้วผูกไว้เป็นมัด ๆ เพื่อใช้ประกอบเป็นลำเรือ นอกจากนี้ชาวเลจะช่วยกันเหลาไม้ไผ่เป็นซี่เพื่อใช้แทนตะปู และเตรียมก้อนหินไว้ตอกแทนค้อนด้วย

ก่อนการประกวดพิธีลอยเรือสักเล็กน้อยคือในเวลาประมาณ 16.00 นาฬิกา ชาวเลโอรังลาโอดจะทำพิธีบูชาโต๊ะตามี่ที่ “หลา” หรือศาลพระภูมิซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของโต๊ะตามี่ หัวหน้าผู้ติดต่อกับโต๊ะตามี่เรียกว่า โต๊ะหมอเครื่องประกอบพิธีได้แก่ ไก่ย่าง เหล้า น้ำ เปลือกหอย ข้าวตอกและกำยาน ส่วนสิ่งของอื่น ๆ ที่ชาวเลโอรังลาโอดคนอื่น ๆ นำมาร่วมพิธีด้วยอาจจะมี ขนมหัวล้าน เทียน หมากพลูและยาสูบ โต๊ะหมอจะนั่งประกอบพิธีศาลพระภูมิโดยเผากำยานในกะลายื่นส่งให้ชาวเลที่อยู่รอบ ๆ วนไปทางขวามือรอบศาลพระภูมิจนครบ 3 รอบ จึงจุดเทียนติดไว้บนศาลพระภูมิ แล้วโปรยและซัดข้าวตอกไปที่ศาลพระภูมิทั้งสี่ทิศ ก่อนที่โต๊ะหมอจะซัดข้าวตอกจะเปล่งเสียงโฮ่ 3 ครั้ง หลังจากนั้นจะปักธงขาวไว้ทั้งสี่ทิศของศาลพระภูมิเป็นการเสร็จพิธี ต่อจากนั้นชาวเลโอรังลาโอดจะนำขนมของตนซึ่งนำมาร่วมพิธีแจกจ่ายกันกิน จะต้องกินให้หมดในที่บริเวณพิธี จะนำกลับไปบ้านไม่ได้ ต่อจากนั้นชาวเลโอรังลาโอดก็จะหาไม้และวัสดุเตรียมสร้างเรือพิธี ส่วนชาวเลมอแกล๊นจะประกอบพิธีที่ศาลพระภูมิในตอนเย็น วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ในเวลาประมาณ 17.00 นาฬิกา เครื่องประกอบพิธีกรรม และการประกอบพิธีกรรมจะคล้ายคลึงกับของชาวเลโอรังลาโอด แต่ชาวเลที่มาร่วมพิธีจะนั่งเป็นรูปครึ่งวงกลมใกล้โต๊ะหมอทางด้านหน้าศาลพระภูมิ และโต๊ะหมอจะให้ชาวเลคนหนึ่งถือกะลาใส่กำยานเผาวนซ้ายรอบศาลพระภูมิ 3 รอบ โต๊ะหมอใช้ข้าวตอกซัดไปที่ศาลพระภูมิ และใช้มือกำควันกำยานมาลูบไล้ตัว พร้อมกับสวดคาถาแล้วดับเทียน ต่อจากนั้นชาวเลก็รับถาดอาหารของตนแจกจ่ายกันกิน เป็นการเสร็จพิธี

ในช่วงตอนเย็นประมาณ 17.00 นาฬิกา ชาวเลโอรังลาโอดทั้งชายหญิงจะบอกเล่าให้ชายเลในหมู่บ้านไปช่วยกันขนวัสดุที่จะประกอบเป็นเรือพิธีซึ่งกองอยู่นอกหมู่บ้านแห่เข้ามาในบริเวณพิธีกลางหมู่บ้าน หน้าขบวนแห่มีดนตรีพื้นเมืองนำหน้า เครื่องดนตรีที่บรรเลงได้แก่ รำมะนา ฆ้อง และฉิ่ง การบรรเลงดนตรีดังกล่าวนี้ได้ใช้เป็นจังหวะให้ชาวเลรำเดินหน้าขบวน และดนตรีจะบรรเลงในขณะที่ประกอบลำเรือด้วย ชาวเลจะช่วยกันประกอบลำเรือพิธีกันอย่างจริงจัง เรือพิธีดังกล่าวจะประกอบเสร็จเรียบร้อยโดยใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง เรือของชาวเลโอรังลาโอดที่เสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีความยาว 5-7 เมตร ส่วนกว้างที่สุดของลำเรือประมาณ 1 เมตร ความสูงระหว่างท้องเรือถึงกราบขอบเรือประมาณ 70 เซนติเมตร มีเสากระโดงเรือขนาดนิ้วหัวแม่มือ 3 เสา แต่ละเสาสูงประมาณ 1.50 – 2 เมตร โดยมีผ้าขาวเป็นใบเรือ ส่วนชาวเลมอแกล๊นจะใช้ต้นกล้วยทั้งต้นเป็นโครงแกนท้องเรือ ใช้ไม้สักหินขนาดหัวแม่มือเป็นแกนยึดต้นกล้วยไว้ด้วยกัน กราบเรือจะใช้กาบกล้วยแทนกระดานขนาบด้วยไม้สักหิน ผูกด้วยหวาย หัวเรือทำด้วยก้านเครือกล้วยทั้งท่อน ส่วนท้ายเรือจะมีรูปทรงคล้ายท้ายเรือสำเภา ชาวเลมอแกล๊นจะช่วยกันประกอบเรือพิธีให้เสร็จเรียบร้อยโดยใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง สำหรับขนาดของเรือพิธีที่ประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีความยาวประมาณ 3 เมตร ส่วนกว้างที่สุดของลำเรือประมาณ 1.50 เมตร ส่วนสูงประมาณ 1.30 เมตร และมีเสากระโดงสูงประมาณ 2 เมตร

เมื่อประกอบเรือพิธีเสร็จ ชาวเลโอรังลาโอดจะทยอยกันไปที่เรือพิธีตั้งแต่เวลา 4.00 นาฬิกาของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 สิ่งของที่แต่ละครอบครัวนำไปใส่ในเรือพิธีคือ ไส้ไม้ระกำที่แกะเป็นตุ๊กตาแทนคนในครอบครัวจำนวนเท่ากับสมาชิกในครัวเรือน เล็บ ผมและข้าวตอก ก่อนจะซัดข้าวตอกใส่เรือ ชาวเลโอรังลาโอดจะกำข้าวตอกลูบไล้ตามตัวตั้งแต่หัวจดเท้า ด้วยมีความเชื่อว่าข้าวตอกจะได้นำเอาความชั่วร้ายออกจากร่างกายของตนมาสู่ข้าวตอกและล่องลอไปกับเรือพิธี ส่วนโต๊ะหมอะมาสวดคาถาที่ท้ายเรือเมื่อเวลา 6.00 นาฬิกา ต่อจากนั้นชาวเลโอรังลาโอดที่เป็นผู้ชายจะช่วยกันแบกหามเรือพิธีลงไปบรรทุกเรือหางยาวที่เตรียมไว้ เรือหางยาวจะนำเรือพิธีไปสู่ทะเลเพื่อป้องกันมิให้ความชั่วร้ายในลำเรือพิธีนั้นย้อนกลับมาสู่หมู่บ้าน หลังจากลอยเรือพิธีกลางทะเลลึกแล้ว ถ้าหากว่าเรือพิธีย้อนกลับมาสู่หมู่บ้าน พวกชาวเลโอรังลาโอดก็จะต้องเริ่มทำพิธีกันใหม่จนกว่าเรือพิธีจะไม่ย้อนกลับมาสู่หมู่บ้านอีก ส่วนชาวเลมอแกล๊นจะมีการนำสิ่งของไปใส่ในเรือพิธีแตกต่างกันกับชาวเลโอรังลาโอด กล่าวคือ จะนำเอาเสื้อผ้าเก่า ๆ ตุ๊กตากาบกล้วยแทนคนในครอบครัวเท่าสมาชิกในครัวเรือน และกระทงน้ำใส่ไว้ในเรือพิธีตั้งแต่เวลา 15.00 นาฬิกา ของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 นอกจากนี้ชาวเลมอแกล๊นจะถือจานใส่ข้าวสารซึ่งย้อมเป็นสีต่าง ๆ เช่น แดง เหลือง เขียว ฟ้า ส้ม เป็นต้น พร้อมด้วยด้าวสีแดงมามอบให้โต๊ะหมอสวดคาถาใส่จานให้ แล้วจึงนำข้าวสารไปซัดรอบ ๆ บ้านของตน ส่วนโต๊ะหมอก็ประกอบพิธีที่เรือพิธีไปตามปกติ ขณะประกอบพิธีห้ามมิให้ผู้ใดเดินผ่านหัวเรือโต๊ะหมอจะเดินวนซ้ายรอบเรือพิธี 3 รอบ รอบสุดท้ายจะเปล่งเสียงโห่นำทิศละลา พวกชาวเลมอแกล๊นจะซัดข้าวสารที่เหลือใส่เรือพิธี ต่อจากนั้นเมื่อโต๊ะหมอส่งสัญญาณให้ยกเรือพิธี พวกชาวเลก็จะช่วยกันยกเรือพิธีไปบรรทุกเรือหางยาวนำไปลอยกลางทะเลลึกเช่นเดียวกับกลุ่มชาวเลโอรังลาโอด แต่มีข้อห้ามซึ่งแตกต่างจากกลุ่มชาวเลโอรังลาโอดคือเมื่อลอยเรือพิธีแลวจะหันกลับไปดูอีกไม่ได้

ในพิธีลอยเรือของชาวเลทั้งชาวเลโอรังลาโอด และชาวเลมอแกล๊น มีการร่ายรำแบบหนึ่งซึ่งใช้ประกอบการทำพิธีด้วย คือ การร่ายรำที่พวกเขาเรียกว่ารูเงะหรือรูเง้ก ชาวภูเก็ตเรียกว่าการร่ายรำชนิดนี้เรียกว่า รองเง็ง ชาวเลโอรังลาโอดจะรำรองเง็งกันทั้งเด็กเล็กและคนชรา โดยจะเริ่มรำกับตั้งแต่คืนวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ชาวเลบางส่วนจะรำวนรอบเรือพิธีตั้งแต่เรือวางแกนท้องเรือไปจนประกอบเรือพิธีเสร็จ พวกเขาเชื่อกันว่าใครก็ตามที่รำรอบเรือพิธีมากรอบที่สุดจะได้บุญมากเท่าจำนวนรอบที่รำ ส่วนชาวเลมอแกล๊นจะรำรองเง็งในคืนวันขึ้น 14 – 15 ค่ำ แต่ไม่มีการรำรอบพิธีในตอนกลางวันเช่นเดียวกับชาวเลโอรังลาโอด

เมื่อชาวเลโอรังลาโอดลอยเรือพิธีในตอนเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ไปแล้ว ตอนบ่ายของวันเดียวกันชาวเลกลุ่มนี้จะร่วมกันไปแห่ไม้ฮาดั๊กจำนวน 7 ต้น ซึ่งตัดเตรียมไว้พร้อมกับไม้สร้างเรือพิธี ไม้ฮาดั๊กเป็นไม้เสาโตขนาดต้นแขนยาวต้นละ 2.5 – 3 เมตร ใช้ไม้ขนาดเดียวกันยาว 2 เมตร ผูกติดเป็นไม้ขวางเหมือนกับไม้กางแขน ติดใบกะพ้อไว้ที่ปลายไม้กางแขนทั้ง 3 ปลาย ไม้ที่ติดทางขวางเปรียบเสมือนแขน ใบกะพ้อเปรียบเสมือนนิ้วชาวเลโอรังลาโอดจะช่วยกันนำไม้นี้ปักไว้ที่ชายหาดระหว่างหมู่บ้านกับทะเลในเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ด้วยความเชื่อว่าไม้ฮาดั๊กจะช่วยป้องกันและโบกพัดมิให้โรคภัยไข้เจ็บและผีร้ายทั้งหลายเข้ามาคุกคามหมู่บ้านนั่นเอง แต่สำหรับชาวเลมอแกล๊นไม่มีพิธีกรรมเกี่ยวกับไม้ฮาดั๊กเหมือนกับชาวเลโอรังลาโอด

อย่างไรก็ตามยังมีชาวเลโอรังลาโอดบางกลุ่มไม่ได้จัดพิธีลอยเรือดังที่กล่าวมาแล้ว เช่น ชาวเลโอรังลาโอด ที่บ้านราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต แต่ได้จัดทำพิธีทำน้ำมนต์ในช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวเลอื่น ๆ ทำพิธีลอยเรือ ชาวเลกลุ่มนี้จะทำพิธีในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 การทำพิธีเริ่มด้วยชาวเลโอรังลาโอดผู้หญิงจะช่วยกันทำขนมและคลึงเทียนให้เสร็จก่อนเวลา 16.00 นาฬิกา แล้วนำไปทำพิธีปากบางใกล้แหลมกา ส่วนเด็ก ๆ จะช่วยกันแกะสลักหุ่นเป็นภูตผีปีศาจ แล้วนำไปตั้งวางไว้ที่ประตูทางเข้าสถานที่ประกอบพิธีโต๊ะหมอจะสวดมนต์คาถาที่ศาลาชั่วคราวกลางวงพิธี ปักธงขาวล้อมรอบศาลา อัญเชิญโต๊ะตามีมารับของเซ่นสรวงขณะทีเผากำยานเป็นควันฟุ้งกระจายรอบศาลา ต่อจากนั้นโต๊ะหมอก็ส่งสัญญาณแก่ชาวเลทั้งหลายให้นำขนมที่ใช้เซ่นไหว้แจกจ่ายกันกินโดยจะต้องกินให้หมดในสถานที่นั้น หลังจากนั้นชาวเลก็กลับไปยังหมู่บ้าน เมื่อกลับถึงหมู่บ้านชาวเลผู้ชายจะช่วยกันแบกโอ่งไปวางไว้กลางลานหมู่บ้าน และช่วยกันตักน้ำใส่จนเต็ม ต่อจากนั้นนำจานใส่เทียนและมะกรูดมาวางไว้หน้าโต๊ะหมอ โต๊ะหมอจะทำพิธีประกอบอัญเชิญโต๊ะตามี่มาเป็นประธานด้วยการอัญเชิญเป็นทำนองเพลงโบราณ ขณะเดียวกันจะมีชาวเลบางคนตีรำมะนาประกอบการทำพิธีด้วย เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนโต๊ะหมอจะนำเทียนและมะกรูดไปยังโอ่งน้ำผ่ามะกรูดและบีบน้ำมะกรูดลงในโอ่งน้ำทุกโอ่ง ส่วนชาวเลหนุ่มสาวจะมีการเต้นรำรองเง็งไปจนกระทั่งถึงเวลา 5.00 นาฬิกา ของวันขึ้น 14 ค่ำ (แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากการเต้นรองเง็งเป็นรำวง) แล้วทุกคนจะไปอาบน้ำที่โอ่งน้ำของตนกลางลานพิธี เมื่ออาบน้ำเสร็จก็ถือว่าเสร็จสิ้นการประกอบพิธี

ประเพณีลอยเรือของชาวเลโอรังลาโอด และชาวมอแกล็นที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนับเป็นสิ่งยึดถือร่วมกันที่มีส่วนช่วยให้เผ่าพันธุ์ของชาวเลยังคงสืบมาเป็นกลุ่มเป็นเผ่าอยู่ได้ เนื่องจากประเพณีดังกล่าวทำให้ชาวเลซึ่งเร่ร่อนออกจากกลุ่มเผ่าของตนไปหาเลี้ยงชีพตามเกาะแก่งในท้องทะเลไกลต้องกลับไปทำพิธีดังกล่าวซึ่งทำกันอย่างน้อยปีละ 2 ทำให้ได้พบกับญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ความใกล้ชิดสนิทสนมกันจึงยังคงแนบแน่นอยู่อีกต่อไป ในส่วนของชาวเลหนุ่มสาวพิธีลอยเรือได้มีส่วนอย่างสำคัญทำให้ได้พบปะสนิทสนมกัน โดยเฉพาะในการจับคู่เต้นรำรองเง็ง ซึ่งเมื่อเกิดความพึงพอใจต่อกันและกันจะอยู่ร่วมกันสร้างครอบครัวใหม่ มีลูกหลานว่านเครือสืบต่อไป นอกจากนี้พิธีลอยเรือยังช่วยฝึกให้ลูกหลานได้ฝึกการทำงานต่าง ๆ ด้วย เช่น ชาวเลผู้หญิงได้ฝึกฝนการทำขนมชาวเลผู้ชายได้ฝึกฝนการต่อเรือ เป็นต้น การรู้จักเกื้อกูลเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ชาวเลมีต่อกันโดยประเพณีนี้ช่วยส่งเสริมสนับสนุนซึ่งเห็นได้จากการแจกจ่ายขนมแบ่งปันกินหลังพิธีเชิญโต๊ะตามี่ โดยห้ามนำกลับไปบ้านอย่างเด็ดขาด และที่สำคัญยิ่งอีกสิ่งหนึ่งก็คือความเชื่อที่ว่าพิธีลอยเรือได้นำเอาโรคภัยไข้เจ็บและความชั่วร้ายทั้งหลายไปจากหมู่บ้านนั้นย่อมทำให้ชาวเลในหมู่บ้านเกิดความมั่นใจในการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขมีกำลังใจ กล้าที่จะผจญภัยสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายอย่างไม่หวั่น

บรรณานุกรรม

กนก ชูลักษณ์ “พิธีลอยเรือ” ใน ประเพณีเกาะภูเก็ต หน้า 91-96 วิทยาลัยครูภูเก็ต 2522 อัดสำเนา
เขมชาติ เทพไชย “ชาวเล : ชนเผ่าพื้นเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้” ใน รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง. หน้า 246 องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต 2528, 248 หน้า
ฉันทัส ทองช่วย “ชาวเลและภาษาชาวเลเกาะสิเหร่” ใน รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง. หน้า 254 องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต 2528,248 หน้า
วิชัย อนันตมงคลกุล “บันทึกลอยเรือชาวเล” ใน บันทึกวัฒนธรรมภูเก็ต. หน้า 178 – 180 ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต 2528 ฉบับเขียน
วิสิฏฐ์ มะยะเฉียว “สภาพปัจจุบันของชาวเลภูเก็ต” ในรายงานสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง. หน้า 262 องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต 2528, 248 หน้า
สมหาย ปิ่นพุทธศิลป์ “จิ้ว ประโมงกิจ : แม่เพลงรองเง็งแห่งอันดามัน” เมืองธุรกิจ . 25 กรกฎาคม 2534 – 4 สิงหาคม 2533 – 4 กันยายน 2533 หน้า 12
---------. ชาวเล : การปรับตัว. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต 2528, หน้า อัดสำเนา
---------. ประเพณีลอยเรือชาวเล. ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมวิทยาลัยครูภูเก็ต 2529, 11 หน้า อัดสำเนา
---------. รองเง็ง. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต 2524, 2 หน้า อัดสำเนา
 
 
 
  

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 25 ธันวาคม 2010 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1435
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2221
mod_vvisit_counterทั้งหมด10648803