Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
สารทเดือนสิบ : ประเทือง อัฐพร PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2008

สารทเดือนสิบ


ประเทือง อัฐพร
ภาควิชาภาษาไทย สหวิทยาลัยทักษิณ ภูเก็ต
มีนาคม ๒๕๒๓


ประเพณีของชาติแต่ละชาติย่อมแตกต่างกันไป ประเพณีของชาติใดก็แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของชาตินั้น ๆ ประเพณีของไทยเรามีอยู่มากมาย เป็นต้นว่า ประเพณีโกนจุก ประเพณีบวชนาค ประเพณีทำบุญวันสารท ประเพณีทอดกฐิน ประเพณีทอดผ้าป่า ฯลฯ บางอย่างก็เหมือนกันทั่วประเทศ บางอย่างก็แตกต่างกันออกไปตามความเชื่อถือและความเป็นอยู่ของคนไทยแต่ละท้องถิ่น ว่าโดยส่วนรวมแล้วประเพณีของไทยเรามุ่งกระทำเพื่อการทำบุญการกุศลเป็นส่วนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยเรานิยมทำความดีมากกว่าทำความบาป ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะประเพณีทำบุญวันสารทของชาวใต้ ซึ่งประเพณีแปลกกว่าภาคอื่น ๆ

ชาวไทยเราถือว่าวันสารทคือวันสิ้นเดือน ๑๐ นั้น เป็นวันทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือที่เรียกว่า “บุพเปตพลี” ชาวใต้มีความเชื่อถือกันว่าบรรพบุรุษของตนที่ล่วงลับไปแล้ว บางพวกก็ไปสู่ที่ดีที่ชอบ บางพวกก็ไปสู่ที่ชั่วได้รับทุกข์ทรมานต่าง ๆ นานา และได้รับความอดอยากแสนสาหัสอีกด้วย

 

วันสารทของชาวใต้มี ๒ ครั้ง ในเดือน ๑๐ เพียงเดือนเดียว ครั้งแรกเดือน ๑๐ วันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ กลางเดือน กับครั้งหลังเดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ สิ้นเดือน ครั้งแรกต้อนรับ เปตชน ที่ถือว่าได้รับการปลดปล่อยมาในวันนั้น ครั้งหลังทำเพื่อส่งเปรตที่จะต้องกลับไปตกนรกหมกไหม้ตามวิบากกรรม

ในระยะที่เปตชนได้รับการปล่อยขึ้นมานี้ คนแก่คนเฒ่าที่เคร่งในศาสนาจะห้ามลูกหลานของตนไม่ให้ยิงนก ตกปลา และฆ่าสัตว์ประเภทนี้จะเป็นกรรมมาก คือ เมื่อมันถูกฆ่าแทนที่จะได้รับบุญกุศลจากญาติมิตรก็ต้องรับกลับลงนรก เหตุผลอาจจะหย่อนอยู่สักหน่อย แต่ทำเอาพวกเด็กที่ชอบทำลายสัตว์ ต้องเว้นกระทำบาปกรรมไปตาม ๆ กัน เพราะกลัวจะถูกสาปแช่งหมดสุขไปตลอดทั้งชาติ พิธีทำบุญในวันสารทครั้งแรกกับวันสารทครั้งหลังเหมือนกัน ๆ

ก่อนถึงวันสารท ชาวบ้านต่างกุลีกุจอเตรียมการทำขนมวันสารท ของที่จำเป็นจะต้องเตรียมมี ๓ อย่าง แป้ง น้ำตาล น้ำมะพร้าว ขนมในวันสารทผิดกับกระยาสารทางภาคกลางมาก เพราะแต่ละอย่างมีความหมายอยู่ในตัวตามชนิดและชื่อสิ่งของของที่จะทำบุญนั้นขนมลาเป็นของสำคัญ

ขนมลาวิธีทำใช้แป้งข้าวเหนียวผสมแป้งข้าวเจ้าพอสมควร ผสมน้ำหมักทิ้งไว้นานหน่อย คล้ายแป้งขนมจีน แล้วนำมาผสมน้ำตาลนิยมใช้น้ำตาลโตนด เพราะรักษาเส้นขนมได้ดีกว่าน้ำตาลชนิดอื่น ผสมน้ำตาลกับแป้งเข้ากันดี จนแป้งหยดเป็นเส้นไม่ขาดสาย จึงใช้ขันอะลูมิเนียมเจาะรูเล็ก ๆ ทั่วท้องขัน ใส่แป้งในขันแล้วแกว่งในกะทะซึ่งมีน้ำมันผสมไข่แดงฉาบอยู่ทั่วกะทะ แกว่งวนเวียนหรือกลับไปกลับมาเป็นตาหมากรุกแล้วแต่พอใจ ระยะเพียงครึ่งนาทีก็สุกได้ขนมลา ๑ แผ่น จึงใช้ไม้ไผ่บาง ๆ หรือเหล็กบาง ๆ ช้อนขึ้นมา

อีกวิธีหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต วิธีทำขนมลา มีวิธีดังนี้ คือ เอาแป้งข้าวเจ้ามาตำให้ละเอียดและผึ่งทิ้งไว้จนแห้ง แล้วก็เอามาคลุกเข้ากับน้ำตาลซึ่งเคี่ยวไว้เกือบเป็นยางมะตูม แต่ต้องทิ้งไว้ให้เย็นเสียก่อนจึงจะคลุกได้ ถ้ามิฉะนั้นแป้งก็จะเลยสุกเสีย

เมื่อคลุกเสร็จแล้วก็เทลงในกระโหลกหรือกะลาที่เจาะให้เป็นรูเล็ก ๆ หลายรูและมีด้ามสำหรับจับ หรือเอามือเคาะได้ด้วย ให้แป้งนั้นไหลลงไปในกะทะน้ำมันมะพร้าวตั้งอยู่บนเตาซึ่งทิ้งไว้จนเดือด แต่น้ำมันในกะทะนี้ต้องมีน้อยมาก เพื่อที่จะให้แป้งที่โรยลงไปนั้น ไปติดอยู่ข้างกะทะทั้งสองข้างได้ แป้งที่ไหลลงไปนี้จะจับเป็นแบบขนมจีบโดยไม่ต้องมีคนจับอีกคนคิดว่าสุกดีแล้วก็เอาไม้ช้อนขึ้นมา ก็เสร็จเป็นขนมลา

การที่เรียกว่า “ขนมลา” นี้ น่าจะเรียกว่า “ขนมกะลา” มากกว่า เพราะโรยแป้งลงในกะทะด้วยกะลา แต่ทั้งนี้คงจะเนื่องจากสำเนียงของชาวไทยปักษ์ใต้พูดห้วน ๆ และสั้น ๆ เลยเรียกว่า “ขนมลา” หรือ “หนมลา” การไปทำบุญของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดนี้ เมื่อถึงวันนี้ก็จะพากันไปวัดแทบทุกหลังคาเรือน ของที่นำไปทำบุญที่วัดจึงมีเป็นนี้ เมื่อถึงวันนี้ก็จะพากันไปวัดแทบทุกหลังคาเรือน ของที่นำไปทำบุญที่วัดจึงมีเป็นจำนวนมาก ขนมลาที่ทำกันมีลักษณะเป็นเส้น เพราะถือว่า เปตชน ที่มีช่องปากขนาดเล็กเท่ารูเข็ม จะได้กินขนมลาได้ โดยสอดใส่ปากทีละเส้น

ขนมอีกชนิดหนึ่งได้แก่ ขนมพอง วิธีทำใช้ข้าวเหนี่ยวที่หุงสุกแล้วไปตากแดดให้แห้ง โดยทำเป็นรูป ต่าง ๆ แล้วนำมาทอดในกะทะน้ำมันที่เดือดจนพองลอยขึ้นมาบนน้ำมันแล้วตักออกเป็นอันสำเร็จ ขนมชนิดนี้ไม่ต้องผสมน้ำตาล ถ้าจะให้หวานก็ฉาบน้ำตาลเอาทีหลัง ที่ทำขนมพองชนิดนี้ก็เพราะนึกถึงญาติพี่น้องที่แก่เฒ่า ไม่มีฟันจะได้กินได้ เพราะเพียงแต่ใส่ปากไม่ต้องเคี้ยวก็ละลายไปกับน้ำลายทันที

ขนมพองอุทิศให้เปตชนใช้เป็นแพสำหรับข้ามห้วยทะเลกรรม ตามคติทางพุทธศาสนา

ขนมเทียน ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีใส่ไส้ ห่อด้วยใบตองเป็นเหลี่ยม อุทิศให้เป็นดอกไม้ที่ จะสักการะบูชาพระพุทธเจ้า

ขนมท่อนไต้ ทำจากแป้งข้าวเหนียวเช่นกัน ใช้ใบตองห่อเป็นรูปกลม ๆ ยาว ๆ คล้ายท่อนไต้ที่ใช้จุดไฟ อุทิศให้เป็นประทีปนำทางไปสู่แสงสว่างหรือความหลุดพ้น

นอกจากนี้ก็ยังมีขนมเจาะหู ทำด้วยแป้งข้น ๆ ทำเป็นวงกลมด้วยวงแหวนทอดในน้ำมันเดือดจนสุก เผื่อเปตชนจะได้ใช้ทำแหวน หรือร้อยเป็นพวงมาลัย หรือกำไลมือเท้า ขนมกระถิน ขนมสะบ้า (กลม ๆ เหมือนลูกสะบ้า) ขนมด้วง ทำเหมือนรูปตัวด้วง ขนมจูจุน (หรือขนมผักบัว) ใช้แป้งขนมลา ทำคล้าย ๆ ถ้วยหรือจาน ความหมายของประเภทหลังที่ทำง่าย ๆ นี้ มุ่งไปในทางให้เป็นเครื่องประดับและของเล่นสนุกแก่เปตชนมากกว่า

ใครจะเป็นเจ้าความคิดออกแบบขนมยังสืบไม่ได้ เพราะทำตาม ๆ กันมานานและยังทำอยู่ในปัจจุบันเมื่อถึงวันสารท

เมื่อเตรียมขนมได้ตามต้องการแล้ว เขาจะจัดขนมประเภทต่าง ๆ นั้นไว้ใส่บาตรพระก่อนรับประทาน ถ้ารับประทานก่อนพระถือว่าเป็นบาป แล้จึงนำขนมเหล่านั้นไปให้ปู่ย่าตายาย หรือคนแก่ที่ตนนับถือ บ้านไหนมีคนแก่ที่คนนับถือมากก็ได้ขนมที่ลูกหลานนำไปให้มากหน่อย โดยเฉพาะหลวงพ่อ หรือพ่อหลวง หลวงตา หรือตาหลวง (ชาวปักษ์ใต้เรียก พระที่มีอายุมาก ว่า ตาเจ้าบ้าง พ่อท่านบ้าง หรือเรียกพระที่มีอายุน้อยลงมาว่า พ่อเจ้าบ้าง หรือบางท้องถิ่นก็เรียกว่า พี่หลวง ชาวภูเก็ตพังงาเรียก พ่อท่าน เช่น พ่อท่านแช่ม) หรือพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่มีอายุมากเกือบไม่มีที่เก็บขนมไปเลย

ก่อนถึงวันสารทนี้ จะเห็นหนุ่มสาวหรือเด็ก ๆ เดินถือขนมไปสู่บ้านโน้นบ้านนี้ขวักไขว่ บางทีไปต่างจังหวัดขึ้นรถลงเรือ นำไปให้คนแก่ที่อยู่เมืองไกล ๆ แล้วทำบุญวันสารทเสียทีนั่นเลยก็มีมาก การทำแบบนี้มีผลได้ ๓ ประการคือ

๑. เพื่อเยี่ยมญาติถิ่นไกล
๒. เพื่อท่านเหล่านั้นจะได้ช่วยส่งบุญไปให้ถึง ปู่ ย่า ตาทวดของตน
๓. เพื่อสมนาคุณท่านเหล่านั้นด้วย

ขนมที่ทำนี้ถ้าไม่มีโอกาสนำไปให้ในคราวทำบุญสารทครั้งแรก ก็ต้องให้วันสารทครั้งหลัง จะขาดเสียมิได้ ถ้าอยู่ใกล้ ๆ ก็ให้ทั้งสองคราว

ตอนเช้าตรู่ของวันสารท ท่านจะเห็นทุก ๆ บ้านทำบุญตักบาตรไม่มีเว้นสักบ้านเดียว (แต่ในปัจจุบันอาจจะละเว้นไปบ้าง แล้วแต่ฐานะและเศรษฐกิจ) ซึ่งทำความลำบากให้แก่พระท่านไม่น้อย แต่ท่านก็เต็มใจ เพราะท่านถือว่า ท่านเป็นนาบุญคือแหล่งกลางของการทำบุญ เสร็จเรื่องตักบาตรก็ยุ่งกับการจัดสำรับกับข้าว และสำรับขนมสารท (ไม่ใช่กระยาสารท) การจัดขนมสารทนี้ใช้ชามกะละมัง ถาด กระจาด เล็กใหญ่ตามสมควร หมู่บ้านหนึ่ง ๆ ก็จัดสำรับหนึ่ง ยังมีการประกวดสำรับที่ประดับสวยงาม

ในสำรับนั้นจะมี หมาก, พลู, บุหรี่, เครื่องแกง, ข้าวสาร, ไม่ขีด, ธูป, เทียน แล้วใช้ขนมลาผึ่งเป็นแผ่นทาบไว้ข้างนอก เป็นรูปกระโจมบ้าง รูปเจดีย์บ้าง มีพวงมาลัยคล้องแล้วแต่จะจัด สิ่งที่ขาดมิได้คือ “ยอดธงเงิน” จะต้องมีทุกสำรับแบบเจดีย์ทรายหรือถุงข้าวสารถ้าสำรับไหนมีเงินยอดธงมากกว่าสำรับอื่นมักจะชนะการประกวด เพราะเขามักจัดได้ดี ทั้งแสดงถึงความสามัคคีของหมู่บ้านนั้นด้วย

เมื่อเตรียมเสร็จแล้วจะมีขบวนแห่ไปวัด ขบวนหนึ่ง ๆ มีดนตรีนำบ้างไม่มีบ้าง ความนิยมอีกอย่างหนึ่งคือ วัดไหนเป็นวัดโบราณเคยมีการฌาปนกิจศพคนชรามาก ๆ วัดนั้นจะมีคนไปทำบุญมากเป็นพิเศษ การไปวัดวันสารทนั้นทุกคนในบ้านจะไปกันอย่างวันสารทไม่ครั้งแรกก็ครั้งหลังสักครั้งหนึ่ง เพราะถ้าไม่ไปทำบุญให้เปตชนเห็นสักครั้งเขาจะคร่ำครวญร้องไห้เสียอกเสียใจมาก ฉะนั้นจึงไม่ต้องกว่า ในวัดหนึ่งจะมีผู้คนคับคั่งสักเพียงไหน

ประเพณีการทำบุญในวัดสำหรับวันสารทนี้ ทางวัดจะประดับประดาสถานที่เป็นพิเศษ ถ้าวัดไหนมีพระเทศน์หลายองค์ก็จัดให้มีการเทศน์เรื่อง “เปรต” ถ้าหาไม่ก็เทศน์อานิสงส์วันสารท หรือเทศน์ตามคัมภีร์ใบลาน เวลาเทศน์ก็ต้องหลังจากเที่ยงแล้วหรือราวบ่ายโมง

ในตอนเช้าชาวบ้านจะต้องนำอัฐิของ ปู่ ย่า ตา ยาย ไปด้วยทุกครอบครัวเมื่อไปถึงวัดก็นำไปเก็บไว้แห่งเดียว และทุกคนจะต้องนำของที่นำของที่นำไปนั้นไปอุทิศแล้ววางไว้บนร้านที่ทางวัดจัดให้ เรียกว่า “ร้านเปรต” ร้านหนึ่งกว้างยาวพอสมควรแต่ยกพื้นไม้มีหลังคา เมื่อใส่บาตรพระสงฆ์ที่วัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ของที่นำไปตั้งก็คือ อาหารหวาน คาว ขนมสารท หมาก พลู บุหรี่ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ “เงิน” ซึ่งส่วนมากเป็นสตางค์เงินสลึง จนถึงห้าบาทตามฐานะที่ตั้งวางไว้ด้วย การตั้งแบบนี้เรียกว่า “ตั้งเปรต” แล้วทุกคนจะไปฟังพระสวดมนต์รับศีล ๘ หรือศีลอุโบสถ ที่รับศีล ๕ มีน้อยมาก เพราะกลัวว่าบุญที่จะส่งไปให้เปรตจะมีน้อยเมื่อรับศีลเสร็จก็ถวายสังฆทาน ฟังพระท่านถวายพรพระตอนนี้จะต้องมีสายสิญจน์เชื่อมโยงจากร้านเปรตมาถึงพระทุกรูป พอพระท่านให้พรเสร็จแล้วคำสุดท้ายว่า “ภวนตุเต” เท่านั้นท่านจะดึงสายสิญจน์กลับทันที

ที่ร้านเปรตพวกเด็ก ๆ ที่ยืนล้อมอยู่จะวิ่งขึ้นไปบนร้านเปรต แย่งกันเก็บเงินแย่งกันเก็บขนม ซึ่งถือว่าเป็นแดนของ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นที่สนุกแก่เปตชนที่ยืนดูอยู่ให้พลอยเป็นสุขสนุกลืมทุกข์ไปชั่วขณะหนึ่ง บางวัดปลูกร้านเปรตไม่มั่นคง ร้านหักพังลงก็มีบางคนถือว่าการเก็บสตางค์หรือเงินจากร้านเปรตได้จะเป็นลาภมาก เก็บไว้เป็นเงินขวัญถุง

หลังจากพระท่านฉันเพลแล้ว ชาวบ้านก็จะแยกกันไปรับประทานอาหารตามสถานที่ต่าง ๆ ในวัดนั้นเป็นกลุ่ม ๆ เท่าที่สนิทกัน บรรดาหนุ่ม ๆ ก็ถือโอกาสหาข้าวสักจานหนึ่งเดินไปตักกับข้าว จากกลุ่มนี้ทีกลุ่มโน้นที ถ้ากลุ่มไหน มีสาว ๆ มาก หรือสวยหน่อยก็จะตักที่กลุ่มนั้นหลายช้อน นับเป็นโอกาสของเขาที่จะใกล้ชิดพูดจากับหญิงสาว

เสร็จจากการรับประทานอาหารแล้ว ทุกคนก็จะมาประชุมกันฟังพระบังสุกุลอัฐิเปตชน ซึ่งถือว่าจำเป็นและขาดไม่ได้ ลูกหลานทุกคนก็จะรวมเงินกันถวายพระที่บังสุกุลกระดูกนี้ บางทีก็นิมนต์พระไปบังสุกุลกระดูกตามบัวที่สร้างไว้ที่บริเวณกำแพงวัดและกรวดน้ำแผ่กุศลที่นั่น ต่อจากนั้นก็ฟังเทศน์จนจบ เป็นอันเสร็จพิธีที่สำคัญ หนุ่มสาวและเด็ก ๆ ก็พากันแยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วนคนแก่ ๆ มักจะนอนวัดเพื่อทำสมาธิจิตตอนกลางคืนและจะได้แผ่บุญกุศลไปให้เปตชนของตน

ความหนักใจอีกอย่างหนึ่งตกอยู่กับอุบาสกอุบาสิกาที่ใกล้ชิดกับวัด คือการแยกพวกกันทำหน้าที่จัดขนมสารทออกเป็นประเภท ขนมสารทที่จัดสำรับมาทั้งหมดเขาไม่นำกลับบ้านเลย ถวายพระหมด

ถ้าเราหลับตาดูจะเห็นว่าขนม นั้นจะมากสักขนาดไหน วัดหนึ่ง ๆ รวมขนมสารททุกประเภทแล้วจะได้ประมาณ 10 โอ่งเขาจะเอาไปไหน เขาจะเคี่ยวน้ำตาลในกะทะใหญ่จนเกือบเป็นตังเม แล้วนำขนมลาที่ทำเป็นม้วนแล้วหรือขนมพองลงเชื่อมน้ำตาลนั้น แล้วเก็บไว้ในโอ่งใช้ฝาปิดมิดชิด หรือฉาบปูนซีเมนต์ ทำเป็นฝาปิดตาย โอ่งไหนใช้ก่อนก็ไม่ต้องปิดตายเพราะพระฉันได้ตลอดปี เพราะขนมนั้นจะไม่ขึ้นเห็ดขึ้นรา ไม่มีกลิ่นฉุนแต่โอ่งนั้นไม่ใช่โอ่งปูน ซีเมนต์ใหม่ ๆ ต้องเป็นโอ่งดินที่มีผิวเรียบ

มีอีกอย่างหนึ่งที่ถือกันเป็นประเพณีคือ เงินที่ได้ในวันนั้น เช่นเงินยอดธงกับเงินบังสุกุล ถ้าเป็นวัดเก่าแก่ คนมากหน่อย จะมีรายได้ถึงประมาณ 5 – 6 พันบาท เงินจำนวนนี้ เจ้าอาวาสจะเก็บไว้ใช้ในสิ่งจำเป็นส่วนหนึ่ง นอกนั้นเฉลี่ยถวายพระทุกรูป แม้แต่พระที่ไม่ได้จำพรรษาในวัดนั้น แต่เคยเป็นศิษย์ของวัดนั้นมาก่อนและได้ไปศึกษาในสำนักอื่น ก็ได้รับส่วนเฉลี่ยเท่า ๆ กับพระในวัดนั้นทุกรูป ถือเป็นช่วยเหลือเอื้อเฟื้อตลอดมาทุก ๆ ปี

สำหรับความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อว่าเปรตตนใดที่ลูกหลานไม่ได้มาทำบุญแผ่กุศลให้เปรตตนนั้นก็จะเที่ยวร้องห่มร้องไห้ ด้วยความหิวโหยอย่างน่าสงสาร และยังมีความเชื่อต่อไปว่าขนมหรือของที่เหลือจากการตั้งเปรต และชิงมาจากเปรตนี้คือเป็นอาหารทิพย์ใครได้กินเข้าไปก็จะช่วยให้มีจิตใจสุขสบาย และไม่มีโรคไม่มีภัยอีกด้วย คือถือกันว่าเป็นยาอายุวัฒนะเป็นศิริมงคลตลอดไป

เรื่องทำบุญอุทิศไปให้ผู้ตาย ถือเป็นส่วนสำคัญที่ลูกหลานจะละเลยไม่ได้ถ้าคราวใดหลงลืมไปไม่ทำบุญส่งไปให้ เปรตมักมาเข้าฝัน ปรากฏให้เห็นเต็มตัวมีร่างกายโซร้องทุกข์ว่าอดอยากเต็มที เพราะลูกหลานไม่ทำบุญส่งไปให้กิน เล่ากันเป็นตุเป็นตะอย่างนี้ ท่านว่า แดนที่เปรตอยู่เปรียบเหมือนอยู่ในที่ลุ่ม การอุทิศส่วนบุญไปให้จึงต้องเป็นเหมือนกระแสน้ำไหลเทจากที่สูงไปหาที่ต่ำ เมื่อเราจะอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเมื่อพระสงฆ์ท่านอนุโมทนาผู้ทำบุญก็จะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญให้ผู้ตาย ถ้าแปลคำอนุโมทนาที่พระท่านกล่าวขึ้นต้นว่า “ยถาวริวหา ปูรปริปูเรนติ สาคร” ออกเป็นภาษาไทยว่า “ห้วยน้ำทั้งหลายเต็มแล้ว ทำทะเลให้เต็มฉันใด ทานที่ให้แก่มนุษย์นี้ สำเร็จผลแก่ผู้ที่ตายไปแล้วก็ฉันนั้น”

การที่ชาวบ้านเขาทำบุญตักบาตรถวายอาหารแก่พระสงฆ์ทุกเช้านั้น ก็เพื่ออุทิศไปให้เปรต ถ้าไม่ทำบุญอุทิศไปให้ เปรตจะได้รับความเดือดร้อนอดยากนักหนา พวกจีนที่ไหว้เจ้าก็ไหว้เพื่ออุทิศส่วนบุญไปให้พวกนี้เอง.

 

ภาพกลุ่มชนชาติพันธุ์ชาวเลร่วมรับทานในวันสารทเดือน ๑๐

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 25 ธันวาคม 2010 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้601
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2500
mod_vvisit_counterทั้งหมด10691234