Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ภูเก็ตยุคสุโขทัย:ประสิทธิ ชิณการณ์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2008
ภูเก็ตยุคสุโขทัย:ประสิทธิ ชิณการณ์


ยุคสุโขทัย

 

ชาวไทยภาคเหนือได้สถาปนาอาณาจักรกรุงสุโขทัยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๑ โดยกษัตริย์ชื่อ พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ได้ร่วมกันขับไล่ขอมออกไป แล้วยกให้พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ชาวบ้านขนานนามว่า พระร่วงเจ้า)

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยรัชกาลที่ ๓ขึ้นครองราชในพ.ศ.๑๘๒๐ แล้วทรงแผ่พระราชอาณาเขตออกกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้เป็นส่วนใหญ่ แล้วแผ่อำนาจลงมาทางใต้ และมีชัยชนะเหนือศิริธรรมนครใน พ.ศ.๑๘๒๓

ภูเก็จ ซึ่งเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราชลำดับที่ ๑๑ ก็ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสุโขทัย เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในภาคใต้ ตลอดคาบสมุทรมลายู

 

สุโขทัยปกครองนครศรีธรรมราชในลักษณะของ "เมืองประเทศราช" กล่าวคือมิได้ส่งเชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการผู้ใกล้ชิดของกษัตริย์ลงมาทำการปกครอง หากแต่ปล่อยให้เจ้านครศรีธรรมราชปกครองอยู่เช่นเคย โดยต้องจัดส่ง "ส่วย" เป็นบรรณาการต่อกรุงสุโขทัยอย่างสม่ำเสมอมิให้ขาดตอน "ส่วย" ซึ่งมีความสำคัญในสมัยนั้นจากนครศรีธรรมราช และภูเก็จ ก็คือ "ดีบุก" ที่สุโขทัยมีความต้องการใช้จำนวนมาก ในการหล่อพระพุทธรูป และเทวรูปทองสัมฤทธิ์ อันสวยงาม ทรงคุณค่า และมีชื่อเสียงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

"ทองสัมฤทธิ์" ที่ใช้หล่อพระพุทธรูปและเทวรูปต่าง ๆ นั้น ต้องใช้ดีบุกผสมกับทองแดง(และบางโอกาสก็มีทองคำผสมด้วย)

สุโขทัยสามารถเอาชนะนครศรีธรรมราชได้ก็เท่ากับได้แหล่งดีบุกแหล่งใหญ่เข้าไว้ใอำนาจการสร้างศิลปะทางปฏิมากรรมด้วยทองสัมฤทธิ์จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วและอย่างมีคุณค่า ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ( : ๒๖) "ศิลปะในประเทศไทย" (โดยอมรินทร์การพิมพ์ กรุงเทพ ฯ ) ตอนหนึ่งว่า

"---ศิลปะแบบสุโขทัยจัดได้ว่าเป็นศิลปะไทยที่งดงามที่สุด และมีลักษณะเป็นของตนเองมากที่สุด โดยเฉพาะในการสร้างพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัยได้ติดต่อรับพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทนิกายลังกาวงศ์มาจากเกาะลังกา เหตุนั้นอิทธิพลของศิลปะของลังกาจึงมีต่อศิลปะสุโขทัยบ้าง แต่ส่วนมากมีอยู่แก่สถาปัตยกรรมยิ่งกว่าประติมากรรมพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ลอยตัวปางลีลาของสมัยสุโขทัยงดงามไม่แพ้ประติมากรรมชิ้นเอกอื่น ๆ ในโลก ----"

"---ในสมัยนี้มีการหล่อเทวรูปสัมฤทธิ์ขึ้นหลายองค์ เป็นต้นว่า รูปพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม และพระหริ หรือพระอิศวรและพระนารายณ์ผสมกันเป็นองค์เดียว---"

นอกจากการส่งส่วยด้วยดีบุกจากนครศรีธรรมราช สุโขทัย ยังได้แหล่งระบายสินค้าประเภทถ้วยชามสังคโลก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมของสุโขทัย ที่ได้รับมาจากประเทศจีนและสามารถทำออกจำหน่ายแก่ประเทศข้างเคียง เช่น เมาะตะมะ และจำหน่ายภายในประเทศ เช่น ในตลาดปสาน ตลอดจนขายมายังภาคใต้ คือ ไชยาและนครศรีธรรมราช ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบเศษกระเบื้องถ้วยชามสมัยสุโขทัยมากมายที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (ศรีศักร วัลลิโภดม ในเรื่องโบราณคดีไทยในศตวรรษที่ผ่านมา ที่อ้างแล้วข้างต้น) นอกจากการค้าขายถ้วยชาม, การรับส่วยดีบุก, การได้พระพุทธสิหิงค์แล้ว กิจกรรมยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งที่ได้จากนครศรีธรรมราชก็คือ พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ที่เจริญก่อนแล้วในนครศรีธรรมราชและภาคใต้ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของกรุงสุโขทัย กล่าวถึงการที่สุโขทัย รับเอาพระเถระผู้ใหญ่ (ปู่ครู) ไปจากนครศรีธรรมราชไว้ชัดเจน

ทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรมฝ่ายพระพุทธศาสนา ก็มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ระหว่างสุโขทัยและนครศรีธรรมราชพอสมควร

ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า "---นอกจากลักษณะพระพิมพ์และกระเบื้องถ้วยชามของสุโขทัยแล้ว ยังมีซากโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง ---คือ ซากฐานพระสถูปวัดศพเดิมซึ่งรวมอยู่ในเขตวัดท้าวโคตร --- ตอนบนของฐานพระปรางค์องค์นี้มีร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า ถูกเปลี่ยนให้เป็นองค์ระฆังของพระเจดีย์ทรงกลม เมื่อสรุปแล้ว พระสถูปองค์นี้คงจะมีอายุระหว่าง พ.ศ.๑๗๐๐ ถึง ๑๙๐๐ รับกันกับพระพิมพ์และเศษกระเบื้องถ้วยชามสมัยสุโขทัยที่พบในตัวเมือง ---" (โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา เมืองโบราณ,๒๕๒๕ ,หน้า ๑๐๐)

และเมื่อมีการศึกษาศิลปะสุโขทัยทางฝ่ายเหนือเราพบว่า ศิลปะสถาปัตยกรรมในยุคสมัยศิลปะศรีวิชัย ก็เดินทางไปสู่อาณาจักรสุโขทัยเช่นเดียวกัน

ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ว่า

"---เจดีย์แบบศรีวิชัย คือเจดีย์ฐานและองค์ระฆังสูงทำเป็นสี่เหลี่ยมบางทีมีคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปบางทีก็ไม่มี ตอนบนเป็นพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาและเจดีย์องค์เล็ก ๆ ประกอบอยู่ที่สี่มุม เป็นต้นว่า มณฑปวัดเขาใหญ่ และเจดีย์รายบางองค์ในวัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ศิลปะศรีวิชัยคงแพร่หลายขึ้นมาเมื่ออาณาจักรสุโขทัยแผ่อำนาจลงไปทางใต้ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช---"(ศิลปะประเทศไทย, : หน้า ๒๙)

ผลจากการที่สุโขทัยเข้าครอบงำภาคใต้ หรือศิริธรรมนคร และเมืองบริวารในฐานะเมืองประเทศราช จาก พ.ศ. ๑๘๒๓ จนถึงพ.ศ.๑๙๒๑ รวมเวลาประมาณ ๙๘ ปี ก็คือ การได้แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างภาคใต้กับภาค อื่น ๆ ของประเทศไทย ด้วยการถ่ายเทประชาชนชาวไทยจากภาคกลาง และภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ เช่นเดียวกับที่ประชาชนชาวภาคใต้ก็ถ่ายเทขึ้นไปสู่ภาคเหนือ-ภาคกลางบ้าง ก่อให้เกิดการผสมผสานทั้งในด้านการแต่งงานระหว่างกัน และในด้านภาษาพูดซึ่งได้ค่อย ๆ ผสมกลมกลืนกันมากขึ้น ช่วยให้มีการสื่อความหมายเข้าใจกันเพิ่มขึ้นตามลำดับเป็นพื้นฐานให้สามารถรวมกันเข้าเป็นราชอาณาจักรไทยอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในระยะเวลาต่อมาซึ่งจำนวนผู้คนพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น การสัญจรไปมาติดต่อระหว่างเมืองต่อเมืองเป็นที่นิยมมากขึ้นตลอดจนการค้าขายแลกเปลี่ยนได้เพิ่มมูลค่าและปริมาณมากขึ้น ทำให้ภูเก็จหรือเกาะถลางในสมัยนั้นได้เป็นที่รู้จักและสนใจของชาวไทยตลอดจนชาวต่างประเทศมากขึ้นด้วย อาจถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่การตั้งหลักแหล่งอยูอาศัยที่เกาะถลางที่เคยเป็นป่าดงพงทึบมาก่อนเริ่มเป็นที่แน่นอนและก้าวเข้าสู่ยุคพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านการเมือง การเศรษฐกิจ และสังคมในเวลาต่อมา

๒.๒ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

สมัยกรุงศรีอยุธยา

กรุงสุโขทัย มีอำนาจปกครองเหนือดินแดนนครศรีธรรมราช และหัวเมืองต่าง ๆ ทางคาบสมุทรมลายูอยู่เพียง ๙๘ ปี ก็สูญเสียเอกราชให้แก่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๒๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพงัว) แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เกาะภูเก็จหรือเกาะถลาง ซึ่งเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพระนครศรีอยุธยาเช่นเดียวกับหัวเมืองอื่น ๆ ในภาคใต้ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภูเก็จ ที่พอจะมีเอกสารหลักฐานอ้างอิงก็ได้เกิดขึ้นในยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีระบบการปกครองที่พัฒนามากขึ้นกว่ากรุงสุโขทัย

อย่างไรก็ตาม ในสมัยศรีอยุธยาชื่อภูเก็ต ยังมิได้ปรากฏขึ้นในทางราชการของไทย มีแต่เพียงชื่อ เกาะถลาง เมืองถลาง เท่านั้น ซึ่งบางครั้งคำว่า "ถลาง " ก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก แต่มีการเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น

สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “คำให้การชาวกรุงเก่า ภาค ๒” คลังวิทยา ๒๕๑๕ หน้า ๑๗๖ - ๑๙๖ ความตอนหนึ่งว่า“---ตำนานและทำเนียบต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยา---ตั้งใจทำสำหรับประโยชน์ของผู้ศึกษาโบราณคดี เพื่อจะได้อ่านเข้าใจเรื่องโดยง่าย--- ชื่อเมือง หัวเมืองปักษ์ใต้ ----

๒๒. เมืองกุย (ตรง)
๒๓.เมืองตานาว (เมืองตะนาวศรี)
๒๔. เมืองปริศ เมืองมะริด
๒๕. เมืองชะลิน (เมืองฉลาง)---"
ฤดี ภูมิภูถาวร (๒๕๓ : ๒๑) กล่าวว่า

"---จนถึงสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถ (พ.ศ. ๒๑๔๘-๒๑๖๓) ปรากฏชื่อเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง เป็นหัวเมืองขึ้นกับฝ่ายกลาโหมทั้งสามเมือง"

เรื่องชื่อเมืองภูเก็ตนั้น มีปัญหาว่าได้ปรากฏมีขึ้นในพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยใด ผู้ค้นคว้าและนักศึกษาเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีหลักฐานใด ๆ จะอ้างอิง นอกจากจะประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ ภาคต่าง ๆ ที่นำเอาสำเนาสัญญาการค้าระหว่างเมืองไทยกับต่างประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายไทยก็จะทำเป็นเอกสารภาษาไทยเรียกชื่อเมืองถลางว่า เมืองถลางหรือเมืองถลางบางคลี ไม่มีการเอ่ยชื่อถึงเมืองภูเก็ตเลย แต่เอกสารฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งไทยไปได้รับมาจากฝรั่งเศส นำมาแปลเป็นภาษาไทยนั้น จะเรียกเมืองถลางว่า เมืองภูเก็ตตลอดโดยไม่มีการเอ่ยชื่อถึงเมืองถลางเลยทั้งนี้ก็เนื่องจากไทยพึ่งไปได้เอกสารต่างๆ มาจากฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ แล้วได้ทำการแปลเรื่อยมา ซึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ นั้น เมืองถลางได้กลายสภาพเป็น "อำเภอถลาง” ขึ้นต่อจังหวัดภูเก็ตไปแล้ว จึงเข้าใจว่า ผู้แปลจะแปลชื่อเมืองถลางที่มักจะเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า”ยองเซลัง (Joncelang) และ“ยองซะลัม” (Jonsalam) ว่า “เมืองภูเก็ต” เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน ซึ่งมีความรู้จักคุ้นเคยกับเมืองภูเก็ตมากกว่าเมืองถลางแล้วกรมศิลปากรได้เขียนคำอธิบายเกี่ยวกับจดหมายคณะพ่อค้าฝรั่งเศสที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยซึ่งเป็นเจ้าของจดหมายเหตุต่าง ๆ ที่ไทยเรารับมาแปล และตีพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ หลายวาระ รวมทั้งตีพิมพ์รวมไว้ในหนังสือประชุมพงศาวดารต่าง ๆ นั้นด้วย ดังนี้

"---จดหมายเหตุของพ่อค้าฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้ มีความทั้งสิ้น ๗ ภาค ที่ได้กล่าวมาแล้ว ๔ ภาค นอกนั้นตีพิมพ์เป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔๔ ภาคที่ ๔๖ และภาคที่ ๔๗ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ สรุปได้ว่า

"จดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศสเรื่องนี้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เลขานุการราชบัณฑิตยสภา ได้ขอคัดมาจากประเทศฝรั่งเศส คราวออกไปเยี่ยมบ้านเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓---" (ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑๐ ก้าวหน้า ๒๕๐๗ : ๓)

ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ ภาคที่ ๔๐ ได้แสดงคำแปลจดหมายของมองซิเออร์ เดลานต์ ซึ่งมีไปถึง มองซิเออร์ บารอง ลงวันที่ ๒๖ เดือน ธันวาคม ค.ศ.๑๖๘๓ (พ.ศ.๒๒๒๕) มีความตอนหนึ่งว่า

"---มองซิเออร์คอนสตันตินฟอลคอน ได้มาบอกข้าพเจ้าว่า เจ้าเมืองบาตาเวีย ได้มีหนังสือมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม ขอพระราชทานเกาะภูเก็ตให้แก่ฮอลันดา และขอทำการค้าขายในเกาะนี้ได้แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่มองซิเออร์คอนสตันตินฟอลคอลได้บอกข้าพเจ้าว่า หนังสือเจ้าเมืองบาตาเวียฉบับนี้ ยังหาได้ถวายไม่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจว่า ถึงแม้ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ายังไม่ได้รับคำสั่งจากท่านก็จริงอยู่ แต่เป็นการสมควรที่ข้าพเจ้าจะขอเกาะภูเก็ตนี้ให้แก่บริษัท เพราะฉะนั้นเมื่อเจ้าพระยาพระคลังได้กลับลงมาจากเมืองลพบุรีแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ทำเรื่องราวยื่น ขอให้ไทยยกเกาะภูเก็ตให้แก่บริษัทฝรั่งเศส อีกสองสามวันเจ้าพระยาคลังก็ตอบเรื่องราวของข้าพเจ้าว่า พวกฮอลันดาได้ขอเกาะภูเก็ตนี้และพวกฮอลันดาคิดจะเอาให้ได้ ถ้าไทยได้ยกเกาะภูเก็ตให้แก่เราและไม่ให้แก่ฮอลันดาแล้ว ก็จะเป็นการทำให้ไทยกับฮอลันดาแตกร้าวกัน ซึ่งจะยอมให้เป็นไปไม่ได้เพราะฉะนั้น ขอให้บริษัททำการค้าขายอย่างที่เคยทำมาแล้วเถิด และขอให้รู้สึกว่า เมื่อราชทูตสยามได้กลับมาแล้ว เจ้าพระยาพระคลังจะได้จัดการให้บริษัทฝรั่งเศสทำการค้าขายอย่างสะดวกที่สุด

"การที่เจ้าพระยาพระคลังได้ตอบมาดังนี้ ก็ตรงกับที่ข้าพเจ้าได้คาดไว้ และตรงกับความต้องการของข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้พระยาคลังสั่งไปยังเจ้าเมืองภูเก็ตขอให้ช่วยเหลือเกื้อหนุนเจ้าพนักงานของบริษัทเจ้าพระยาคลังก็ได้รับรองว่า จะได้สั่งไปตามคำขอของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้ทราบว่า เจ้าพระยาพระคลังก็ได้สั่งไปตามนั้นแล้ว---"(ประชุมพงศาวดารฯ เล่ม ๑๐ ก้าวหน้า,๒๕๐๗ : ๒๗-๔๔)

มีเอกสาร ๒ ฉบับ ที่ควรจะได้เปรียบเทียบกันดู คือหนังสือสัญญาการค้าระหว่างไทยกับฝรั่งเศสซึ่งได้ทำกันขึ้นระหว่าง เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส กับ มองซิเออร์คอนสตันตินฟอลคอน ผู้แทนสมเด็จพระนารายณ์พระเจ้ากรุงสยามพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสส่งพ่อค้าฝรั่งเศสมาทำการค้าขายในอินเดียตะวันออกสัญญาฉบับนี้ทำที่เมืองลพบุรี (เข้าใจว่าต้นฉบับคงเป็นภาษาฝรั่งเศส) ลงวันที่ ๑๑ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๕ พ.ศ.(๒๒๒๘) มีข้อความสัญญาทั้งหมด ๙ ข้อ ได้กล่าวถึงเมืองภูเก็ต(ที่จริงคือ ถลาง) ในข้อ ๖ ว่า

"๖. เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสขอพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสได้ค้าขายดีบุกที่เมืองภูเก็จ และเมืองขึ้นของภูเก็จได้ฝ่ายเดียว โดยห้ามมิให้ประเทศอื่น ๆ ค้าขายดีบุกในเมืองนั้นได้และเพื่อบริษัทจะได้ทำการค้าขายดีบุกได้โดยสะดวก จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทได้ปลูกห้างขึ้นในที่แห่งหนึ่งแห่งใด อันสมควร ข้างฝ่ายบริษัทจะต้องส่งเรือมาจากคอรอมันดเลบรรทุกสินค้าต่าง ๆ มายังเมืองภูเก็จปีละ ๑ ลำทุก ๆ ปี

"สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทค้าขายดีบุกในเมืองภูเก็จ และเมืองขึ้นของเมืองภูเก็จได้ฝ่ายเดียว โดยห้ามมิให้ประเทศอื่นๆ ค้าขายดีบุกในเมืองนั้นได้และโปรดพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทสร้างห้างในเมืองภูเก็จได้ แต่บริษัทจะต้องส่งแบบห้าง ให้เสนาบดีฝ่ายสยามดูเสียก่อน เมื่อเสนาบดีเห็นชอบแล้ว บริษัทจะต้องสร้างห้างตามแบบนั้นทุกประการ จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างหนึ่งอย่างใดมิได้เป็นอันขาดและฝ่ายบริษัทจะต้องนำสินค้าต่าง ๆ อันจำเป็นสำหรับการค้าขายของพลเมืองภูเก็จและเมืองขึ้นของภูเก็ตเพื่อมิให้ชาวเมืองภูเก็จต้องไปเที่ยวหาสิ่งจำเป็นจะต้องใช้สอยจากที่อื่น ถ้าแม้ว่าบริษัทมิได้กระทำตามที่ได้กล่าวมาในข้อนี้จนถี่ถ้วนทุกประการแล้ว พลเมืองภูเก็จและเมืองขึ้นของภูเก็จ จะไปทำการค้าขายกับประเทศอื่น ๆ ก็ได้ แล้วบริษัทจะหาว่าทำผิดสัญญาข้อนี้มิได้ ถ้าเช่นนั้นพระเจ้ากรุงสยามจะโปรดให้เก็บภาษีดีบุกในเมืองภูเก็จ และเมืองขึ้นของภูเก็จตามธรรมเนียมที่เคยเก็บมาก็ได้โดยบริษัทจะร้องคัดค้านอย่างใดมิได้"(ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ ภาค๔๐ ก้าวหน้า ๒๕๐๗ : ๑๓๙-๑๔๐)

ส่วนสัญญาการค้าระหว่างไทยฝรั่งเศส อีกฉบับหนึ่งลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๒๓๐ ลงนามฝ่ายฝรั่งเศสโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูต กับตัวแทนฝ่ายไทย โดยออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีสุบราชพิริยภาหุ ตำแหน่งโกษาธิบดี ลงนามสัญญาที่เมืองลพบุรี (เต้นฉบับเป็นภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส) มีข้อสัญญารวม ๑๒ ข้อ และกล่าวถึงเมืองถลางไว้ในข้อ ๖ ดังนี้

"๖. ข้อหนึ่ง สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่ พระราชทานให้กุมปันหญีฝรั่งเศสไปตั้งซื้อขายในเมืองถลางบางคลีก็ดี แลในจังหวัดที่นั้น แลห้ามจังกอบขนอนแลริดชาดุจในข้อสองข้อสาม แลพระราชทานให้ดีบุกในเมืองถลางบางคลีทั้งปวง แลห้ามมิให้ผู้อื่นผู้ใด ๆ ซื้อดีบุกนอกกุมปัน หญีฝรั่งเสดนั้นได้ ถ้าแลผู้ใดลอบลักซื้อขายนอกกุมปันหญีฝรั่งเสดไซร้ ให้ริบเอาและให้ทำเป็นสี่ส่วน ให้สองส่วนให้แก่ชาวคลังเป็นของหลวง ส่วนหนึ่งให้แก่ผู้โจท ส่วนหนึ่งพระราชทานกุมปันหญีฝรั่งเสด แลให้กุมปันหญีฝรั่งเสดเอาสินค้าตามต้องการ ณ เมืองนั้นไปขายจงอุดม อย่าให้ราษฎรชาวเมืองนั้นขาดสินค้าซึ่งต้องการนั้นได้ แลราคาสิ้นค้าซึ่งกุมปันหญีเอามาขายก็ดี ราคาดีบุกซึ่งกุมปันหญีจะซื้อก็ดี ให้เจ้าเมืองแลกรมการแลผู้เฒ่าผู้แก่แลกุมปันหญีนั่งด้วยกัน ว่าราคาสินค้าซึ่งกุมปันหยีจะขายแลราคาดีบุกซึ่งกุมปันหญีจะซื้อนั้น ให้ว่าให้ขาดทีเดียว แลอย่าให้กุมปันหญีขึ้นลงราคาให้เป็นเคืองแค้นแก่ราษฎร ถ้าแลราคานั้นมิลงกัน ก็ให้บอกข้อซึ่งขัดสนนั้นเข้ามาแลสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่โปรดประการใดก็ให้ทำตาม

"ประการหนึ่งดีบุกส่วยสาอากร ณ เมืองถลางแลจังหวัดนั้น ก็ให้ชาวคลังเรียกเอา ตามทำเนียม แลแต่ในเดือนสิบ ปีมะโรงสำฤทธิศกในเมื่อหน้า อย่าให้ชาวคลังปลงดีบุก แก่ราษฎรด้วยดีบุกนั้นมีพอกุมปันหญีฝรั่งเสดจะซื้อขาย

"ประการหนึ่งถ้าแลกุมปันหญีฝรั่งเสดมิได้เอาสินค้าไปซื้อขายตามสัญญา แลราษฎร ขาดสินค้าแลเอาดีบุกซื้อขายแก่ลูกค้าอื่นก็อย่าให้เจ้าพนักงานริบเอาลูกค้าซึ่งซื้อขายดีบุกแก่กันนั้นเลย

จึงสรุปได้ว่าชื่อของเมืองภูเก็ตในสมัยอยุธยานั้นยังไม่มี คงมีแต่ชื่อเกาะถลาง หรือเมืองถลาง เท่านั้น (ชื่อเมืองภูเก็จ เพิ่งเกิดขึ้นสมัยกรุงธนบุรี)

ดังได้กล่าวมาแต่ตอนต้นแล้วว่า เมืองตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และเมืองถลาง มีชื่อขึ้นอยู่กับฝ่ายกลาโหมในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๖๓) จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเมืองถลางจะต้องมีเจ้าเมืองซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากกรุงศรีอยุธยาตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยนั้นแต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ชี้ชัดว่ามีใครบ้างที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าเมืองถลางในสมัยก่อนจากรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า ชื่อเจ้าเมืองถลางปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ มองซิเออร์ เรอเนอ ชาร์บอนโน ดังที่ท่านพันเอก เจรินี ได้เขียนไว้ในเรื่อง "เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์เกาะถลาง" ว่า

"___ชาร์บอนโน (Re’ ne’ Charbonneau) เดินทางมาถึงประเทศไทยใน ค.ศ.๑๖๗๗ (พ.ศ.๒๒๒๐) และได้เข้าทำงานในโรงพยาบาลที่พระมหากษัตริย์ไทยเป็นผู้สร้างขึ้นประมาณปีค.ศ.๑๖๘๑-๑๖๘๖ (พ.ศ.๒๒๒๔-๒๒๒๘) พระมหากษัตริย์ไทยทรงแต่งตั้งให้ชาร์บอนโนเป็นเจ้าเมืองถลาง เหตุที่เขาได้รับการแต่งตั้งนี้เพราะชาร์บอนโนได้ไปสร้างป้อมบริเวณพรมแดนไทยติดกับพะโคได้สำเร็จ การที่ชาวฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าเมืองถลางนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจของฝรั่งเศสนั้นมีมากกว่าประเทศยุโรปอื่น เช่น โปรตุเกส ฮอลันดาและอังกฤษ เกาะถลางในเวลานั้นเป็นอย่างที่ Gervaise และ Deslandes ได้บอกไว้ว่า เป็นที่ต้องการของฮอลันดาที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ชาร์บอนโน เป็นเจ้าเมืองอยู่ ๔ ปี ก็ได้ลาออกและกลับไปอยุธยาผู้มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองถลางแทน คือ บิลลี่ (Billi) ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่พักของเชอวาเลีย เดอ โชมองต์ การแต่งตั้งให้บิลลี่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผลมาจากสนธิสัญญาการค้าฝรั่งเศส-ไทย ที่คณะทูตซึ่งมี โชมองต์ เป็นหัวหน้าได้ทำไว้ในปีค.ศ.๑๖๘๕(พ.ศ.๒๒๒๘)---"(เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์เกาะถลาง" ของ พันเอก จี.อี.เจรินี แปลโดยสุเทพ ปานดิษฐ์ บรรณาธิการโดยสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์, อำเภอถลางพิมพ์ พ.ศ.๒๕๔๐ หน้า ๕๘)

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว เมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติได้เกิดความแตกร้าวระหว่างฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยากับข้าราชการขุนนางไทยอย่างรุนแรง ชาวฝรั่งเศสถูกขับออกนอกประเทศจำนวนมาก มองซิเออร์บิลลี่ ผู้เป็นเจ้าเมืองถลางถูกปลดออกจากราชการ พงศาวดารเมืองถลางซึ่งมีการจดบันทึก พ.ศ.๒๓๘๔ ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวไว้เพียงเล็กน้อยว่า

"---ฝ่ายบ้านลี้พอนจอมสุรินคิดมิชอบ จะตั้งตัวเป็นใหญ่ มีตราออกมาให้จับจอมสุรินฆ่าเสียเพราะเป็นโทษขบถต่อแผ่นดิน ---" จอมสุรินผู้นี้จะเป็นคนเดียวกับมองซิเออร์บิลลี่หรืออย่างไร ไม่มีหลักฐานยืนยัน

หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยาในช่วงปี พ.ศ.๒๒๓๑-๒๒๓๒ ซึ่งเป็นระยะแรกที่สมเด็จพระเพทราชาเสด็จขึ้นครองราชสมบัตินั้นแล้ว ชื่อเสียงของเมืองถลางก็เลือนหายไปเป็นเวลานาน

เจรินี ได้เขียนไว้ในเรื่อง "เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์เกาะถลาง" อีกตอนหนึ่งว่า

"---การเปลี่ยนแปลงใน ปีค.ศ. ๑๖๘๘(พ.ศ.๒๒๓๑) ทำให้การพัฒนาประเทศและการค้าขายกับต่างประเทศที่เคยเป็นมาในช่วง ๓๐ ปี ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนั้นหยุดชะงักไปและยังทำให้เกิดผลเสียต่อเกาะถลางอีกด้วย กล่าวคือไม่มีเรือรบไว้ป้องกันชายฝั่ง ทำให้เกิดมีพวกโจรสลัดมลายูออกเที่ยวปล้นเรือสินค้า เจ้าเมืองในอดีตแต่ก่อนเป็นชาวยุโรปก็เปลี่ยนเป็นคนจีนที่ขาดศีลธรรมมุ่งแต่จะกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ ---"(เจรินี,เรื่องเดิม, หน้า ๖๐)

ในพงศาวดารเมืองถลาง ซึ่งบันทึกคำให้การชาวถลาง เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ ได้กล่าว เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า

"---สิ้นเชื้อผู้ดีลงเมืองถลางว่าง พระยาถลางคางเซ้ง ชาวกรุงออกมาเป็นเจ้าเมือง--"(ประชุมพงศาวดารฯ ภาคที่ ๒ เล่ม ๑ ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ หน้า ๔๙๗-๔๙๘

สันนิษฐานว่า"พระยาถลางคางเซ้ง" ผู้นี้คงเป็นคนจีนที่เป็นเจ้าเมืองถลาง ตามที่เจรินี ได้เขียนไว้และอาจจะมีการสืบทอดความเป็นเจ้าเมืองโดยสายตระกูลคนจีน จากปี พ.ศ.๒๒๓๔ ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ตลอดมาจนถึง ปี พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลงโดยพม่า เมืองถลางจึงกลับไปขึ้นกับนครศรีธรรมราชตามเดิม เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นเจ้าเมืองถลางอีกครั้งหนึ่ง โดยเจ้านครศรีธรรมราช เป็นผู้ประสาทการ


 
 
  

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1666
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1355
mod_vvisit_counterทั้งหมด10689799