Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ภูเก็ตยุคตามพรลิงค์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2008

  

ภูเก็ตยุคตามพรลิงค์

 

:ประสิทธิ ชิณการณ์ 

 

 

ยุคตามพรลิงค์-ศิริธรรมนคร(หรือศรีวิชัย) อาณาจักรตามพรลิงค์ และศิริธรรมนครหรือที่เคยกล่าวขานกันว่า "ศรีวิชัย" นั้น มีความสำคัญเกี่ยวกับภูเก็จค่อนข้างมาก เนื่องจากศูนย์กลางแห่งอาณาจักรนี้อยู่ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งมีอำนาจครอบคลุมคาบสมุทรมลายูโดยตลอด (รวมถึงเกาะภูเก็จด้วย) เป็นระยะเวลานานร่วม ๖๐๐ ปี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ หนังสือ “ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา สมัยศรีวิชัย” ของนายธรรมทาส พานิช (๒๕๒๑ : ๓๒) ได้กล่าวถึงชื่อเมืองท่าต่าง ๆ ว่า

"---เมืองท่าชวาและตัมพะลิงค์ ในคัมภีร์มหานิเทศ --- ในคัมภีร์มหานิเทศ (ไตร.ล.๒๙ น.๕๐๔ บ.๘๑๐) มีข้อความว่า--- เมื่อเขาแสวงหาทรัพย์ ก็แล่นเรือไปในมหาสมุทร ลำบากอยู่ด้วยความร้อนหนาว สัมผัสอันเกิดแต่เหลือบ ยุง ลม แดด ความหิวกระหายบีบคั้นอยู่ ย่อมไปสู่ (เมืองท่าต่อไปนี้ คือ)

เมืองท่า คุมพา (ฉบับมอญเป็น ติคุมพา) เมืองท่าก่อนถึงตะโกลา (มะริด ตะนาวศรี)


เมืองท่าตักโกลา เมืองตะกั่วป่า
เมืองท่าตักกสิลา อยู่ในแดนมอญ
เมืองท่ากาลมุข (แปลว่าหน้าต่าง หรือหน้า ราหู)
เมืองท่ามรณะ (แปลว่า ฝั่งแห่งความตาย พายุจัด)
เมืองท่าเวสุงคะ
เมืองท่าเวราบท
เมืองท่าชวา เมืองชวาที่ไชยาโบราณ
เมืองท่าตัมพะลิงค์ เมืองตามพรลิงค์ที่ นครศรีธรรมราช
เมืองท่าวังกะ (อาจเป็นพังงา)
เมืองท่าเอฬะ-วัทธนา
เมืองท่าสุวัณณกูฏ เมืองท่าในประเทศ มอญ(เมืองสะเทิน)
เมืองท่า สุวัณณภูมิ เมืองอู่ทอง

"---อาร์ บแรตเต็ล ได้พยายามศึกษาเรื่องคาบสมุทรมลายาได้เขียนเรื่องราวชื่อ การศึกษาเรื่องราวโบราณในมลายา และได้เขียนแผนที่ขึ้นใหม่ ตามที่ได้ร่องรอยจากภูมิศาสตร์ปโตเลมี ดังได้คัดแผนที่มาลงไว้ในที่นี้---"

ในแผนที่ตามที่กล่าวอ้างข้างต้นนี้เราจะพบเมืองท่าสมัยนั้นอยู่หลายเมืองที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันว่าคือเมืองสำคัญในคาบสมุทรมลายู ที่ยังคงสภาพเป็นเมืองท่าอยู่จวบจนทุกวันนี้เช่น เมืองตักโกลา (ตะกั่วป่า)เมืองชวา (ไชยา) เมืองตัมพะลิงค์ (นครศรีธรรมราช) เป็นต้น

ข้อที่ควรสังเกตและนำมาเข้าประเด็นในประวัติศาสตร์ภูเก็จยุคตามพรลิงค์ ก็คือ ชื่อเมืองวังกะ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่าวพังงา

ศรีศักร วัลลิโภดม (๒๕๒๘ : ๒๒๙)กล่าวว่า "---ตามที่ได้ศึกษามานั้น เห็นว่ารอบอ่าวพังงา ซึ่งภูเก็จหรือถลางก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีพัฒนาการของมนุษย์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โดยเฉพาะยุคแรก ตั้งแต่ยุคหินกระเทาะซึ่งสมัยนั้นคนคงไม่ตั้งหลักแหล่งเป็นแน่นอนอาจอพยพเร่ร่อนไปจนกระทั่งมาถึงยุคหินขัดซึ่งระยะนี้มีการสร้างภาชนะดินเผาใช้ --ซึ่งเทคโนโลยีดีขึ้นแล้วก็ก็เริ่มเห็นชัดเจนว่า กลุ่มชนที่อยู่ในเขตรอบอ่าวพังงานี้ มีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนที่อยู่ทางเขตบ้านเก่าหรือเลยไปถึงมาเลเซีย เราได้เห็นพัฒนาการที่คลี่คลายไป เพราะดินแดนในแถบนี้มีความเก่าแก่มานานเหมือนกัน ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถจะกำหนดอายุได้ระยะนี้ก็ตาม แต่เห็นขั้นตอนพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมเป็นลำดับไป--- สิ่งที่น่าสนใจคือว่า ทางฝั่งนี้ไม่ได้พบพวกกลองสำริด หรือมโหระทึกสำริด ซึ่งทางตะวันออกได้พบ คือ แถบฝั่งทะเลตะวันออกนั้นได้มีการพบเครื่องมือสำริด กลองมโหระทึกสำริดของพวกวัฒนธรรมดองซอน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพัฒนาการทางฝั่งตะวันออกนั้น มีการติดต่อกันทางทะเลกับบ้านเมืองชุมชนในเอเซียอาคเนย์อย่างเวียดนาม หรือสุมาตรา หรือชวานั้นได้---

"---ทีนี้ต่อมาถึงยุคประวัติศาสตร์ ก็มีการถกเถียงกัน แต่เดิมถกเถียงกันว่าเมื่อมีการติดต่อทางทะเลนั้น มักจะไม่เดินผ่านช่องแคบ คือจะไม่เดินเรือสำเภาลอดช่องแคบตลอดไปยังประเทศจีนแต่จะมาหยุดอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งตรงคาบสมุทรนี้ แล้วก็เดินทางข้ามคาบสมุทรไป แต่ประเด็นได้วางไว้ว่าส่วนใหญ่มองที่ตะกั่วป่า คือมองที่เกาะคอเขา ซึ่งมีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีมากมายเพราะเวลานี้ก็พบ แล้วเขาบอกว่าเดินจากตะกั่วป่าไปยังอ่าวบ้านดอนได้ คือ เขาศก แล้วลงไปตามลำน้ำพุมดวงหรือลำน้ำคีรีรัฐ

"ทีนี้ประเด็นต่อไปว่า เส้นทางข้ามคาบสมุทรนี้ ถ้าผ่านจากอ่าวพังงาแล้วจะไปทางไหนผ่านเข้าไปทางซอกเขาหินปูนต่าง ๆ ก็มีทางไปลงน้ำเหลืองหรือก็ลำน้ำตาปีขึ้นไปผ่านเวียงสระ แล้วก็อาจไปอ่าวบ้านดอนได้ หรือว่าจะจากเวียงสระหรือบริเวณนั้นแยกไปยังนครศรีธรรมราชก็ได้ แล้วลงร่องรอยต่าง ๆ เหล่านี้สัมพันธ์กับโบราณวัตถุอื่น ๆ ที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ ที่ ๘ ลงมา โดยเฉพาะงานของศาสตราจารย์สแกเลีย โอ คอนเนอรี่ ซึ่งพยายามจะศึกษารูปแบบของพระนารายณ์สวมหมวกแขก ถือสังข์เหนือตะโพก ซึ่งพบที่ไชยาและนครศรีธรรมราช บอกว่าอันนี้เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลศิลปมะกุรา เป็นเทวรูปที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยหรือในเอเซียอาคเนย์ มีปัญหาว่าเทวรูปนี้ผ่านมาจากทางไหน ถ้าเรามีการติดต่อกับอินเดีย ก็แน่นอนที่สุดเลยว่า แหล่งที่ชาวอินเดียจะเข้ามานั้นก็คงจะมาอยู่ในเขตอ่าวพังงานี้เอง อันนี้พูดถึงประเด็นยุคต้น ๆ ประวัติศาสตร์ ซึ่งอ่าวพังงามีความสำคัญอย่างมากในแง่หลักฐานโบราณคดี และเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอารยธรรมอินเดียได้ผ่านเข้ามาสู่ตะวันออกหรือเคลื่อนย้ายขึ้นไปสู่ภาคกลางของประเทศไทย ในสมัยต่อ ๆ มาเราก็พบว่ามี การคลี่คลายในเขตนี้มาก เราได้เห็นว่าบริเวณคลองท่อมก็มีร่องรอยของการตั้งชุมชน ซึ่งอาจสัมพันธ์กับกลุ่มชาวอินเดียก็ได้ แล้วบริเวณเกาะคอเขาที่ตะกั่วป่าก็มีความสัมพันธ์กับการตั้งหลักแหล่งชุมชนของชาวอินเดีย หรือของชาวเปอร์เซีย นอกจากนั้นยังมีเครื่องถ้วยชามสังคโลกของจีนสมัยราชวงศ์ถังอยู่มากเหมือนกัน และตั้งแต่อ่าวพังงานี้เรื่อยไปจนกระทั่งเลยเขตอำเภอตะกั่วป่าขึ้นไปก็เคยพบสิ่งเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่ามีการตั้งหลักแหล่งมานาน ทีนี้ถ้าเรามองในแง่ของชายทะเลในเขตนี้ จะว่าเป็นผลที่เกิดชุมชนตั้งหลักแหล่งในการที่ว่าเป็นสถานีผ่านสินค้าเท่านั้นหรือก็อาจเป็นไปได้ แต่อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือบริเวณนี้มีทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างเช่นแร่ดีบุกเป็นจำนวนมากคนในสมัยโบราณไม่ได้เสาะหาของเหล่านี้มาใช้ประโยชน์บ้างหรือเปล่า-----

"จึงเป็นไปได้ไหมว่าตรงนั้นเป็นสถานีพักสินค้าอาจเป็นแหล่งที่ทำอุตสาหกรรมด้วยเพราะว่าบริเวณนั้นพบการทำแก้วและทำลูกปัดเป็นจำนวนมาก แล้วบริเวณลำน้ำคลองท่อมเองก็พบเศษแร่เป็นจำนวนมากด้วย”

จากหลักฐานเอกสารอ้างอิงข้างต้น ประกอบกับความจริงที่ปรากฏว่าไม่มีโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยในภูเก็จให้ยืนยันว่า ชาวศรีวิชัยได้เคยตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองนี้ จึงสรุปได้ว่าชาวศรีวิชัยได้ตั้งหลักแหล่งอย่างมั่นคงอยู่บริเวณอ่าวตะกั่วป่า และอ่าวพังงา ซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมถึงเกาะภูเก็จ อันเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญนี้ด้วย ชาวศรีวิชัยสร้างศาสนสถานอย่างถาวรมั่นคงในเมืองไชยา, เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นเมืองใหญ่ระดับนครหลวง ไม่มีการสร้างศาสนสถานไว้ที่อ่าวพังงา, ตะกั่วป่า และภูเก็จ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ที่มีประโยชน์เพียงการขุดหาแร่ดีบุก และจอดพักเรือสินค้าเพื่อการซ่อมแซม, ลำเลียงน้ำจืด, และซื้อหาสินค้าประเภทของป่ากับของจากทะเลเท่านั้น

หลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ได้แก่ตำนานพงศาวดารตลอดจนประวัติศาสตร์ในยุคต่อมาได้บ่งบอกว่าเมืองภูเก็จเคยขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชมาก่อน ดังเช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ระบุว่า ในบรรดาเมืองบริวารอันเรียกว่า "เมืองสิบสองนักษัตร" ของนครศรีธรรมราชโบราณ (ตั้งแต่ พ.ศ.๑๐๙๘) นั้น “เมืองตะกั่วถลาง” เป็นเมืองลำดับที่ ๑๑ ชื่อว่า “เมืองสุนัขนาม” หรือเมืองประจำปีจอ มีตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข และนัยว่าผู้ปกครองเมืองภูเก็จในสมัยก่อน ก็ได้ถือเอารูปสุนัขมายกย่องนับถือไว้ประจำเมืองตลอดมา จนเมื่อ นายทหารอังกฤษผู้หนึ่ง ชื่อ ร้อยโท เจมส์ โลว์ ได้เดินทางมาถึงเมืองถลาง ประมาณ พ.ศ.๒๓๖๗ ก็ได้บันทึกไว้ว่า

"สิ่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่พอให้เห็นประเพณีการนับถือสุนัขในเมืองถลางก็คือ รูปปั้นของสุนัขตั้งอยู่ใกล้ ท่าเรือ (Tha-Rooa)ซึ่งชาวมลายูบางคนได้นำเอารูปปั้นสุนัขนี้ออกไปจากเกาะเมื่อ ๒ ปีมาแล้วนี้เอง ข้าพเจ้าได้ทราบความจริงมานานแล้วว่า ความเชื่ออย่างผิด ๆ นี้ยังคงมีอยู่ในเกาะ ถลางต่อมาจนแม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ และบรรดาผู้ที่ได้เห็นรูปจำหลักดังกล่าวก็ ได้ยืนยันเรื่องนี้แก่ข้าพเจ้า-- “จดหมายเหตุเจมส์โลว์” แปลโดยนันทา วรเนติวงศ์ กรมศิลปากรพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๙ หน้า ๒๘, ๒๙)

ที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีตำบลบ้านอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตกของเกาะ ปัจจุบัน มีชื่อทางราชการว่า "ตำบลกมลา" แต่ชาวบ้านโบราณเรียกขานกันว่า "บ้านกราหม้า" มีความหมายว่าเป็นหมู่บ้าน "ตราหมา"ซึ่งสอดรับกับตราประจำเมืองภูเก็จในสมัยเป็นเมือง "สุนัขนาม" ของนครศรีธรรมราช

จากหมู่บ้านชายทะเล "กมลา" หรือ"ตราหมา" แห่งนี้ มีพื้นที่ราบกว้างใหญ่ติดต่อเข้าสู่ตัวเกาะภูเก็ตตลอดมาถึงฝั่งตะวันออก ในระหว่างฟากตะวันตกกับฟากตะวันออกของที่ราบนี้ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีชื่อเรียกขานกันว่า "บ้านมานิค" นักวิชาการทางโบราณคดีหลายท่าน ยอมรับกันว่าเป็นชื่อที่สืบทอดมาจากภาษาทมิฬโบราณ แปลว่า ทับทิม หรือ แก้ว กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ สันนิษฐานว่า เป็นชื่อผันแปรมาจากคำว่า “มนิกกิมัม” ในจารึกภาษาทมิฬที่ค้นพบจากอำเภอตะกั่วป่าใกล้ ๆ กับเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ที่เขาพระนารายณ์มานานแล้ว

คำว่า "มนิกกิมัม" ซึ่งแปลว่า "เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว" นี่เอง เป็นที่มาของความพยายามของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองภูเก็จ ที่จะให้จังหวัดภูเก็ต กลับไปมีการเขียนชื่อในภาษาไทยว่า "ภูเก็จ" ซึ่งแปลว่า " เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว" ตามนัยแห่งความหมายแต่โบราณกาล

จากการศึกษาประวัติศาสตร์-โบราณคดีในยุคต่อมา ทำให้ได้พบความสัมพันธ์ระหว่างเกาะภูเก็จกับคำว่า "มนิกกิมัม" เพิ่มขึ้น

เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร (๒๕๐๖ : ๘๐-๘๒) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์-โบราณคดีภาคใต้ ได้เขียนไว้ในเรื่อง "ปัทมโคตรหรืออาณาจักรศรีธรรมราช" "วารสารทักษิณ" สมาคมชาวปักษ์ใต้ ตอนหนึ่งว่า

"---หินจารึกหลักนี้ มีคำจารึกไว้ด้วยหนังสือภาษาทมิฬว่า
๑. ...รวรฺมนฺ กุ (ณ)...
๒. (ม)านฺ ตานฺ นฺงคูรไฑ...
๓. (ต) โตฏฏ กุฬฺม เปรฺ ศฺรี (อวนิ)
๔. นารณมฺ มณิกฺกิรามตฺตรฺ (ก)
๕. (กุ) มฺ เศณามุคตฺตารฺกฺกุมฺ
๖. (มุฬุ) ทารูกฺกุมฺ อไฑกฺกลม

คำแปล

สระชื่อศรีอวนินารณัม ซึ่ง...........รวรรมน คุณ.............ได้ขุดเองใกล้ (เมือง) นงคูร อยู่ในการรักษาของสมาชิกแห่งมณิครามและของกองทัพระวังหน้า กับชาวไร่นา(๑--------

(๑) แปลจากประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ ๒ ศาสตราจารย์ฮูลซ์ ชาวเยอรมันเป็นผู้อ่านแปล-เยี่ยมยง----------------------------- ความในหินจารึกนั้น ชำรุดขาดหายไปบ้างไม่เต็มความ แต่จับเอาที่ยังคงความอยู่ ซึ่งผู้แปลมิได้เรียงคำตามประโยคไว้ไม่ แต่ก็ใด้ความตรงกับความในภาษาทมิฬใช้ได้ ในที่นี้จะหาที่ตั้งเมือง ๒ เมือง คือที่ชื่อ "เมืองนงคูร" กับ "เมืองมนิคคราม" ที่ปรากฏชื่อในหินจารึกเหล่านั้น ที่ว่าเมืองนงคูรอยู่ในความปกป้องของสมาชิกแห่ง "มนิคราม" ร่วมกับกองทัพระวังหน้านั้นเมืองนงคูร ณ ที่ใด จะขอชี้จุดที่ตั้งของเมืองนี้ก่อนโดยไม่ต้องเดากันในต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมืองตะกั่วป่ามีเมืองขึ้นอยู่ ๔ เมือง คือ เมืองเกาะราพังงา คูระ คูรอด หินจารึกหลักนี้ได้กล่าวแล้วว่า เดิมอยู่ที่บ้าน คูระ บ้านคูระมีซากร่องรอยของสระน้ำใหญ่และซากบ้านเมืองเก่าได้เห็นเมื่อ ๓๐ ปีกว่ามาแล้ว บริเวณแห่งนี้ได้เคยพบเทวรูปและโบราณวัตถุมาแล้ว เจ้าบ้านผ่านเมืองสมัยนั้นจะนำไปส่งไว้ที่ใดก็ไม่ทราบได้ "เมืองนงคูร" ในหินจารึกคือ "บ้านคูระ" ในบัดนี้ และแหล่งนี้เอง เมื่อ พ.ศ.๑๕๖๘ อันเป็นคราวที่พวกทมิฬโจฬะทำการรุกรานพิฆาตแหลมไทยกองทัพระวังกองหน้ากองหนึ่งของเจ้าพระยาราเชนทรโจฬะที่ ๑ ที่มีแม่ทัพชื่อ....รวรรมัน ได้เข้าทำการยึดแล้วตั้งมั่นอยู่แล้วแม่ทัพโจฬะผู้นั้นมีตำแหน่งนอกเหนือออกไปในคณะหนึ่งอีก ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง"มนิกคราม" ซึ่งภาษาไทยว่า "เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว" ก็ได้ แล้วเมืองนี้ยังอยู่แหล่งใด..

ทางฝั่งทะเลตะวันตก ใต้อำเภอเกาะคอเขา และอำเภอตะกั่วป่าและบ้านคูระ ลงมาทางหัวนอนมีเกาะ ๆ หนึ่ง ใหญ่กว่าเกาะใดหมดในย่านนั้น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีชื่ออยู่ในจำนวนเมือง ๑๒ นักษัตร มีชื่อว่า "เมืองตะกั่วถลาง" ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาสันสฤตว่า "นาคาถลางค์" แปลว่าเกาะตะกั่วหรือเกาะดีบุก แล้วยังเรียกกันอีกมีหลายชื่อ เช่น เกาะทุ่งคา-เกาะถลาง-เกาะภูเก็จ ในตัวเกาะที่กล่าวมาแล้วนี้ มีหมู่บ้าน ชื่อ "บ้านมนิก" - "บ้านเกาะแก้ว"- "บ้านนาคา" ทั้ง ๓ ชื่อมีความหมายตามชื่อเกาะที่กล่าวแล้วทั้งนั้น บ้านมนิก เวลานี้อยู่ในท้องที่อำเภอถลาง เมื่อเอามณิก บวก คราม ก็เป็น "มนิกคราม" ได้แก่เมืองซากเก่าที่บ้านมนิกในเกาะภูเก็จ" --

วิเคราะห์ตามข้อเสนอของเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ข้างต้น อาจสรุปได้ว่า ทมิฬโจฬะยกเข้ารุกรานอาณาจักรตามพรลิงค์ ที่นครศรีธรรมราช (พ.ศ.๑๕๖๘) โดยยาตราทัพเรือเข้ายึดพื้นที่บริเวณตะกั่วป่า,คุระบุรี,เกาะภูเก็จ-พังงา แล้วจึงเดินทัพส่วนนี้ข้ามคาบสมุทรมลายูทางด่านคุระบุรี, ด่านพังงา-อ่าวลึก ไปสู่อ่าวนครศรีธรรมราช, อ่าวไชยา ทำการพิชิตศึกที่นครศรีธรรมราชอันเป็นนครหลวงของตามพรลิงค์ ได้สำเร็จ

ข้อเสนอของ เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร เป็นการโต้แย้งความเห็นของนักวิชาการอย่างน้อยก็หนึ่งท่านคือ ศาสตราจารย์นิลกันตะ ศาสตรี ซึ่งกล่าวว่า “นังคุรอุไทยัน เป็นนามของบุคคลซึ่งบังคับบัญชากองทหารอยู่ที่ นังคุระ หมู่บ้านในแคว้นตันชอร์ ประเทศอินเดียภาคใต้ และมีชื่อเสียงในการรบพุ่ง ส่วน มนิกกิรมัม ก็คือสมาคมพ่อค้าซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น คำว่า อวนินารายณ์ ก็เป็นพระนามของพระราชาแห่งราชวงศ์ปัลลวะ ผู้ทรงพระนามว่า นันทิวรมันที่ ๓ และครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๓๖๙ - ๑๓๙๒ ----"

("สภาพการณ์ภาคเอเชียอาคเนย์ก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐" พระนิพนธ์ของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล รวมอยู่ในหนังสือ"ประวัติพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหารฯ” พิมพ์โดยกรมศิลปากร พ.ศ.๒๕๒๐หน้า ๙๑)

จากความเห็นของ ศาสตราจารย์นิลกันตะ ศาสตรี ทำให้เข้าใจว่า ชื่อ มนิกคราม และ นังคุระ จะไม่ใช่ชื่อท้องถิ่นในละแวกคาบสมุทรมลายู คือ บริเวณพังงา-ตะกั่วป่า-ภูเก็จ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ข้ออันพึงสังเกตประการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ สถานที่อันศิลาจารึกหลักนี้ตั้งอยู่นั้นศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ว่า

"---หลักฐานทางโบราณคดีระหว่าง พ.ศ. ๑๓๕๐ -๑๔๐๐ ก็คือจารึกสั้น ๆ ภาษาทมิฬซึ่งค้นพบที่ อำเภอตะกั่วป่า ไม่ห่างจากเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายแห่งเขาพระนารายณ์นัก หลักฐานทั้งสองอย่างก็อาจสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันจารึกกล่าวถึงสระน้ำชื่อว่าอวนินารนัม (Avani-maranam) ซึ่งนังคุรอุไทยัน (Nangurudaiyan) เป็นผู้ให้ขุดและอยู่ในความดูแลรักษาของสมาชิกแห่ง มนิกกิรมัณ (Manikkiramum)

ชวนให้สันนิษฐานว่า ข้อความในจารึกดังกล่าวน่าจะมีความหมายแก่สถานที่ที่จารึกนั้นตั้งอยู่บ้าง ไม่น่าจะเป็นเพียงการประกาศแสนยานุภาพของทมิฬโจฬะในกาลครั้งนั้นแต่เพียงประการเดียว

อีกอย่างหนึ่ง ในการสำรวจโบราณคดีของศรีศักร วัลลิโภดม เวลาต่อมาได้มีการกล่าวสรุปไว้ในการสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง พ.ศ.๒๕๒๗ ตอนหนึ่งว่า

"---ก็พูดมาถึงการตั้งหมู่บ้านของชาวอินเดีย ผมมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า ในสมัยตอนราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ นั้น บริเวณทางเขตอ่าวพังงาจะเป็นที่ตั้งหลักแหล่งของกลุ่มชาวอินเดียที่เรียกว่าพวกโจฬะ และพวกโจฬะจะมีอิทธิพลอย่างมากในการทำลายล้างอำนาจศรีวิชัย รวมทั้งอาจจะได้เตรียมเข้าไปครอบครองศรีธรรมราช เพราะมีวัฒนธรรมของชาวโจฬะอยู่ในเขตนั้นมาก อย่างไรก็ตาม ผมเพียงเสนอสมมุติฐานว่า หลักฐานที่ผมแนะนี้จะตีความได้ว่า จะมีการตั้งหลักแหล่งของพวกอินเดียชาวโจฬะอยู่ในชายทะเลด้านเขตนี้ รวมทั้งที่อ่าวพังงานี้ด้วย (ศรีศักร วัลลิโภดม ๒๕๒๘ : รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง พ.ศ.๒๕๒๗ : ๒๓๐ )

ทมิฬโจฬะ เข้าครอบครองอาณาจักรตามพรลิงค์ จาก พ.ศ. ๑๕๖๘ จนถึง พ.ศ.๑๖๐๒ เป็นเวลาประมาณ ๓๔ ปี กษัตริย์แห่งตามพรลิงค์ ก็สามารถขับไล่พวกทมิฬโจฬะออกไปได้สำเร็จ แล้วตั้งศิริธรรมนครขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของอาณาจักรไทยภาคใต้ สามารถดำรง อิสรภาพอยู่ได้นานประมาณ ๒๒๐ ปี ก็ต้องสูญเสียเอกราชให้แก่กรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ.๑๘๒๓


 
 
  

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้425
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2221
mod_vvisit_counterทั้งหมด10647793