Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ยุคทวารวดี:ประสิทธิ ชิณการณ์ PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2008

ยุคทวารวดี:ประสิทธิ ชิณการณ์ 

ยุคทราวดี


อาณาจักรทราวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ มีอิทธิพลแผ่กว้างออกไปตลอดภาคกลางของประเทศไทย และครอบคลุมไปจนถึงภาคอีสาน ภาคตะวันออกรวมทั้งภาคใต้บางเมืองด้วย

สิริวัฒน์ คำวันสา (๒๕๔๑ : ๒๐)เขียนไว้ในหนังสือ "ประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศไทย" ความว่า

"----สถานที่ซึ่งพบวัตถุ-สถานโบราณ สมัยทวารวดี มีหลายจังหวัด คือ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี ลำพูน ปัตตานี สิ่งที่พบมีพระพุทธรูป รูปคน รูปเทวดา รูปพระโพธิสัตว์ แผ่นธรรมจักร แผ่นจารึก เครื่องประดับนักดนตรี นักฟ้อน ทำด้วยหิน ดินเผา ปูนปั้น โลหะ เงิน ดีบุก ทองคำ"

หลักฐานการสำรวจทางโบราณคดี ซึ่ง ศรีศักร วัลลิโภดม (๒๕๒๕ : ๙๙-๑๐๐) ได้เขียนรายงานไว้ในหนังสือโบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ความตอนหนึ่งว่า

 

"---สิ่งที่น่าสนใจในเขตเมืองนครศรีธรรมราชที่จะกล่าวถึง คือ เมืองโบราณที่เรียกว่า "เมืองพระเวียง" เมืองนี้ตั้งอยู่บนเส้นรุ้งที่ ๘ องศา ๒๓ ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ ๙๙ องศา ๕๘ ลิปดา ตะวันออก ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชลงมาทางใต้ประมาณ ๗๐๐ เมตร ตั้งอยู่บนสันทรายเช่นเดียวกัน ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ ๑ กม. กว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร ทางด้านตะวันตกมีคู ๒ ชั้น คูเมืองด้านนอกกว้างประมาณ ๓๖ เมตร กำแพงก่อด้วยดิน ภายในเมืองมีซากวัตถุโบราณและเนินดินขนาดใหญ่ซึ่งคงเป็นพระสถูปประมาณ ๑๑ แห่ง มีเศษกระเบื้องถ้วยชามตกอยู่เกลื่อนกลาด ส่วนมากเป็นกระเบื้องถ้วยชามของสุโขทัย ซึ่งคุณกระจ่าง โชติกุล เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลวัดบรมธาตุ กรุณาเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมมีฐานเจดีย์ใหญ่อยู่ในเขตวัดพระเวียงร้างต่อมาได้รื้อฐานเจดีย์นั้น เพื่อสร้างบ้านนครศรีธรรมราช ของกรมประชาสงเคราะห์ พบพระพิมพ์เป็นจำนวนมากที่ฐานพระเจดีย์นั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นพระพิมพ์เหล่านั้น พบว่าบางองค์เป็นแบบศรีวิชัยตอนปลาย และมีพระพิมพ์สมัยลพบุรีปนอยู่ด้วยเมืองนี้ควรแก่การบำรุงรักษาและการขุดค้นพบทางโบราณคดี---"

ศรีศักร วัลลิโภดม ยังได้เขียนไว้ในในรายงานที่อ้างอิงข้างต้นต่อไปว่า

"---หันมาพิจารณาศึกษาโบราณสถานในเมืองนครศรีธรรมราชดูบ้าง โบราณสถานในเขตเมืองนครศรีธรรมราชที่เห็นว่าเก่าแก่ถึง พ.ศ.๑๗๐๐ ขึ้นไป ในขณะนี้คือพระเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น พระเจดีย์องค์นี้มีผู้เชื่อว่าสร้างคลุมทับพระเจดีย์องค์เดิม เป็นรูปมณฑปแบบศรีวิชัย ซึ่งยังคงเห็นรูปจำลองของพระเจดีย์องค์เดิมนี้ได้ข้าง ๆ พระวิหารของวัดนี้ แต่โบราณสถานแห่งนี้ก็ยังไม่เป็นหลักเพียงพอที่จะยืนยันว่า เมืองนครศรีธรรมราชเก่าไปกว่าเมืองพระเวียง เพราะเมืองโบราณสมัยก่อน ๆ ตั้งแต่สมัยทวาราวดีลงมานั้นนิยมสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตและสำคัญไว้นอกเมือง เห็นได้จากเมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง เมืองพระรถ ในเขตนครพนัสนิคม และเมืองศรีมโหสถ ในเขตอำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นตัวอย่าง องค์พระปฐมเจดีย์อันเป็นพระสถูปสำคัญอยู่นอกตัวเมือง---"

จากรายงานของนักวิชาการที่เชื่อถือได้ข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า อาณาจักรทวารวดีซึ่งมีอิทธิพลยิ่งใหญ่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ นั้นมิได้เข้าครอบงำคาบสมุทรมลายูมากนัก แม้วัฒนธรรมบางอย่างของมอญ เช่น รูปแบบการปลูกสร้างบ้านเรือน,ประเพณีการนิยมนกหงส์ หรือแม้การที่อาจจะมีการสมรสระหว่างชนเผ่ามอญ กับชนเผ่าอื่น ๆ ในคาบสมุทรมลายูก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดอยู่ในกลุ่มนักเดินเรือ,พ่อค้า,และนักแสวงโชคจากการขุดหาแร่ดีบุกตามมรสุมที่อำนวยให้เท่านั้น ชาวทวารวดีส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งหลักแหล่งในภูเก็ตหรือในคาบสมุทรมลายูคงเนื่องจากดินแดนส่วนนี้มีภูเขาสลับซับซ้อน หาที่ราบลุ่มได้น้อย ไม่เหมาะแก่การทำนา ซึ่งในยุคก่อนมีความจำเป็น สำหรับชุมชนขนาดใหญ่อย่างยิ่งชาวทวารวดีพอใจที่จะตั้งถิ่นฐานในภาคกลางหรือในที่ราบลุ่มของแม่น้ำมากสายของประเทศไทยมากกว่าภาคใต้เพราะมีมิประเทศเหมาะแก่การทำเกษตรมากกว่า 
 
 
  

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้606
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2905
mod_vvisit_counterทั้งหมด10716110