Skip to content

Phuketdata

default color
ราชคฤห์ RAJGIR PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย สมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์   
ศุกร์, 09 ธันวาคม 2011

กามนิตวาสิฏฐี

วรรณกรรมพุทธจากกามาสู่นิพพาน 

 

ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคิรีนครคือราชคฤห์ เป็นเวลาจวนสิ้นทิวาวารแดดในยามเย็นกำลังอ่อนลงสู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังสาลีเกษตร แลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา ดูประหนึ่งมีหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว ต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทองไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่ว ๆ เรี่ย ๆ รายลงจดขอบฟ้า ชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน ต่างพากันดุ่ม ๆ เดินกลับเคหสถานเห็นไร ๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียว ก็ยืดยาวออกทุกที ๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง อันกำแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมกรุงรวมทั้งทวารบถทางเข้านครเล่า มองดูในขณะนั้นเห็นรูปเค้าได้ชัดถนัดแจ้งดั่งว่านิรมิตไว้ มีสุมทุมพุ่มไม้ดอกออกดกโอบอ้อมล้อมแน่นเป็นขนัด ถัดไปเป็นทิวเขาสูงตระหง่าน มีสีในเวลาตะวันยอแสงปานจะฉาบเอาไว้เพื่อแข่งกับแสงสีมณีวิเศษ มีบุษยราคบัณฑรวรรณและก่องแก้วโกเมน แม้รวมกันให้พ่ายแพ้ฉะนั้น

พระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรภูมิประเทศดั่งนี้ พลางรอพระบาทยุคลหยุดเสด็จพระดำเนิน มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วยโสมนัสอินทรีย์ในภูมิภาพที่ทรงจำมาได้แต่กาลก่อน เช่นยอดเขากาฬกูฏไวบูลยบรรพต อิสิคิลิและคิชฌกูฏ ซึ่งสูงตระหง่านกว่ายอดอื่น ยิ่งกว่านี้ทรงทอดทัศนาเห็นเขาเวภาระอันมีกระแสธารน้ำร้อน ก็ทรงระลึกถึงคูหาใต้ต้นสัตตบรรณอันอยู่เชิงเขานั้น ว่าเมื่อพระองค์ยังเสด็จสัญจรร่อนเร่แต่โดยเดียว แสวงหาพระอภิสัมโพธิญาณ ได้เคยประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในที่นั้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเสด็จออกจากสังสารวัฏเข้าสู่แดนศิวโมกษปรินิพพาน

สมัยเมื่อล่วงแล้วแต่ปางหลัง ครั้งยังมีพระชนมายุในพระเยาวกาล เมื่อพระเกศายังดำเป็นมันขลับ เสวยอิฏฐารมณ์ผงมต่อความบันเทิงสุขโดยอุดมอันควรแก่ผู้อยู่ในวัยหนุ่มนั้น พระองค์ยังทรงสละสรรพสุขศฤงคารเสียได้ แล้วเสด็จออกจากพระราชสกุลวงศ์แห่งศากยชนบทในอุตรประเทศ เข้าสู่เขตลุ่มแม่น้ำคงคา บรรลุถึงเชิงเวภารบรรพตอันสูงลิ่ว ได้เสด็จประทับอยู่ที่นั้นเป็นปฐมกาลตลอดเวลาได้ช้านาน และเสด็จภิกขาจารในกรุงราชคฤห์ทุกบุพพัณหเวลา

สมัยนั้น และในคูหานั้น พระเจ้าพิมพิสาร ท้าวพญาแห่งมคธราษฏร์ได้เสด็จมาเฝ้าเยี่ยมพระองค์ ทรงอ้อนวอนอัญเชิญเสด็จให้กลับคืนแคว้นศากยะ เพื่อเสวยความสุขแห่งโลก แต่พระตถาคตมิทรงหวั่นไหว กลับประทานพระธรรมเทศนา จนพระเจ้าพิมพิสารบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัทธรรม ต่อมาได้เป็นอุบาสกสำคัญของพระพุทธองค์เจ้า

นับแต่นั้นมาจนถึงเวลาที่กล่าวนี้ ล่วงได้ ๕๐ ปีบริบูรณ์ และระวาง ๕๐ ปีนั้นมิใช่จะเพียงทรงเปลี่ยนแปลงพระองค์จากความเป็นผู้แสวงหาความจริง จนได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ ยังทรงบันดาลให้ความมีความเป็นแห่งสังสารโลก เปลี่ยนแปลงไปด้วยอดีตกาล เมื่อเสด็จประทับอาศัยอยู่ในถ้ำใต้ต้นสัตตบรรณครั้งกระโน้น ถ้าเทียบครั้งกระนี้ดูผิดกันห่างไกลนักหนา ครั้งกระโน้น พระองค์เป็นผู้แสวงหาความหลุดพ้นทุกข์ ต้องต่อสู้กับกิเลสมารอันหนาแน่น ต้องกระทำทุกรกิริยา ซึ่งมนุษย์อื่นที่แกล้วกล้าสามารถก็ย่อท้อทำไม่ได้ จนภายหลังทรงเห็นแจ้งซึ่งสังสารทุกข์ เสด็จออกจากทุกข์แล้ว ได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันความเป็นไปของพระองค์ครั้งกระโน้น ตลอดมาจนครั้งกระนี้ ก็เหมือนดั่งกลางวันในฤดูฝน พอรุ่งเช้ามีแสงแดดแผดจ้า แล้วนภากาศพยับอับแสงเกิดพายุแรงฟ้าคะนองก้องสะท้านซ่านด้วยเม็ดฝน ครั้นแล้วท้องฟ้าก็หายมืดมนกลับสว่างสงบเงียบ มีวิเวกเหมือนภูมิประเทศในยามเย็นที่กล่าวแล้ว จนกว่าพระอาทิตย์จะอัสดงดิ่งหายไปในขอบฟ้า

อันว่าพระอาทิตย์จะอัสดงลงฉันใด สำหรับพระตถาคตในขณะนี้ก็มีฉันนั้น พระองค์ได้ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้เห็นแจ้งซึ่งกองทุกข์ ทรงแสดงพระธรรมอันแท้จริงให้เห็นประจักษ์ และประทานหลักความหลุดพ้นจากทุกข์แก่มนุษยนิกรทั่วโลกธาตุ มีบริษัทสี่เป็นผู้สืบศาสโนวาทเผยแผ่พระธรรมของพระองค์ให้แพร่หลาย และประพฤติปฏิบัติด้วยกายวาจาใจ รักษาไว้ตลอดจิรกาลาวสาน

แม้เมื่อพระองค์เสด็จประทับยืนอยู่ขณะนั้น ก็ได้ทรงจินตนาการ อันเกิดขึ้นด้วยพระปริวิตกถึงที่ได้เสด็จมาโดดเดี่ยวตลอดวันว่า "ถึงเวลาแล้ว ในไม่ช้าเราก็จะละสังสารนี้ไป คือสังสาระซึ่งเราได้ถ่ายถอนตนหลุดพ้นแล้ว ตลอดจนยังผู้ที่มาในภายหลังให้หลุดพ้นด้วย แล้วเข้าสู่ความดับสนิทด้วยอำนาจแห่งปรินิพพานธาตุ"

พระตถาคตทอดทัศนาการภูมิประเทศอันแผ่ไพศาลอยู่เฉพาะพระพักตร์ แล้วตรัสว่า "ดูก่อน ราชคฤห์อันเป็นนครแห่งเบญจคิรี มีปริมณฑลงดงามตระการ อุดมด้วยนาสาลีและมหาสิงขรอันน่าเบิกบานหฤทัย เราได้แลดูในครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนาการ" ตรัสแล้วก็ยังประทับอยู่ ณ ที่นั้น จนภูมิประเทศที่ค่อยเลือน ๆ ลงในยามเย็นคงเหลือให้เห็นเด่นชัดแต่อุดมสถานอยู่สองแห่ง ที่ต้องแสงแดดดั่งดาดด้วยทองคำ แห่งหนึ่งคือประสาทของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระพุทธองค์ยังทรงอยู่ในวัยเป็นภิกษุหนุ่ม ซึ่งยังไม่มีใครรู้จักได้เคยเสด็จผ่านไปทางนั้น พระเจ้าแห่งแค้วนมคธ คือพญาพิมพิสาร ทอดพระเนตรเห็นพระองค์เป็นครั้งแรก โดยเหตุที่พระองค์มีพระลักษณาการดังสีหดำเนิน สถานที่อีกแห่งหนึ่งคือยอดหลังคาเทวสถาน ซึ่งแต่ก่อน ๆ มาเมื่อพระองค์ยังมิได้ประทานพระธรรมเทศนาแก่มนุษยนิกรให้พ้นจากทารุณพิธี เคยเป็นสถานที่พลีชีวิตสัตว์อันหาความผิดมิได้นับจำนวนเป็นพัน ๆ เพื่อบูชายัญเทวรูปที่ในนั้น บัดเดี๋ยวใจยอดปราสาทและยอดหลังคาเทวสถาน ก็เลือนหายเข้าสู่ความมืดแห่งสายัณหสนธยา ขณะนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสถานที่ซึ่งพระองค์กำลังจะเสด็จไปอยู่นี้ กล่าวคือทางยอดแห่งพุ่มไม้อยู่ลิบ ๆ เบื้องพระพักตร์โพ้น เป็นป่ามะม่วงที่หมดชีวกแพทย์หลวงของพญาพิมพิสาร อุทิศถวายเป็นที่ประทับของพระตถาคต

ณ ป่ามะม่วงนี้ พระตถาคตตรัสให้พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากนำพระสาวกประมาณ ๒๐๐ ล่วงหน้าไปก่อน ด้วยพระองค์มีพระพุทธประสงค์จะแสวงหาความวิเวกในวันนั้นแล้ว จึงจะเสด็จดำเนินตามไปภายหลัง พระองค์ทรงทราบอยู่ว่ายังมีพระภิกษุหมู่หนึ่งจากเบื้องตะวันตก มีพระสารีบุตรอัครสาวกเป็นประธานก็จะมาสู่ป่ามะม่วงในเวลาเย็นวันนั้นด้วย โดยเหตุที่มีพระพุทธประสงค์ปวิเวกธรรม จึ่งตั้งพระหฤทัยจะไม่เสด็จกลับไปให้ถึงป่ามะม่วงในเย็นวันนั้น จะทรงแสวงหาที่แรมในชั่วราตรีตามละแวกบ้านแถวนั้นก่อน

ระวางนั้น ขอบฟ้าทางเบื้องตะวันตก เปลี่ยนจากสีทองเป็นสีดำหลัวขมุกขมัวลง ภูมิประเทศโดยรอบมืดตามลงทุกที ค้างคาวที่เกี่ยวเกาะบนต้นรังเห็นดำทะมึนทึน ตกใจด้วยได้ยินเสียงฝีเท้าคนเดินมา ก็ปล่อยเท้าที่เกาะแล้วกางปีกถลาร้องเสียงแหลมหายไปทางสวนผลไม้ในแถวนั้น

เมื่อพระตถาคตเสด็จบทจรมากว่าจะถึงละแวกพระนครก็มืดค่ำลงแล้ว ด้วยประการฉะนี้ 

 

 http://www.dhammajak.net/book-other/-3-8.html

 

ภาคพื้นดินสุดท้าย  โคบ้าขวิดกามนิต

 

ข้อสังเกต

๑. สวนมะม่วงของหมอโกมารภัจจ์

๒. เบญจคีรี เขากาฬกูฏไวบูลยบรรพต อิสิคิลิและคิชฌกูฏ

๓. ราชคฤห์ ศูนย์กลางพุทธศาสนา

๔. สาลีเกษตร ข้าวสาลี  ทุ่งนาข้าวสาลี  สารพัดขนมจากข้าวสาลี

ฝากรูป 

ข้าวสาลี 

 

๕. ชาวนา ทุ่งนามคธสู่รูปทรงผ้าไตรจีวรตามคำทูลเสนอของพระอานนท์สู่การจำพรรษา

๕. พระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก จากกรุงกบิลพัสดุ์ไปร้องไห้ที่กุสินารา

๖. พระสารีบุตร รูปร่างและวัยคล้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๗. ตโปทาราม ข้ามสะพานคลองสุรัสวดี

๘. บำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ดงคสิริ

๙. กลุ่มภาพที่น่าสนใจ โปรด LINK ไปสู่ชาวนามคธ สาธยายพระไตรปิฎก

๑๐. รอยทางเกวียน เส้นทางการค้าสมัยพุทธกาล พ่อค้ากามนิตไปโกสัมพี

๑๑. เชื่อมไปสู่แม่น้ำคงคา สวรรค์คงคา

๑๒. บทสวดมนต์อินเดีย

๑๓. คยากัสสปะ ณ ริมฝั่งเนรัญชรา อโนมา ฟัลกุ

๑๔. Link สู่ภาพไหว้พระ ๔ สังเวชนียสถาน คลังภาพ ๔ สังเวชนียสถาน

๑๕. หญ้าอินเดีย กุสะ หญ้าคาไทย แฝก โสตถิยพราหมณ์ถวายหญ้าคา  น้ำอมฤตหกราดรดต้นหญ้าคา

๑๖. บ้านดิน การใช้ผ้าไตรจีวรของพระอานนท์ในการสร้างกุฏิดิน

๑๗. วังมหันต์ ฮินดูผูมีสิทธิ์ในปฐมพุทธสถาน 

 

 

***

วัฒน์ภาษา2 วรรณกรรม1

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( เสาร์, 14 มกราคม 2012 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

News

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1450
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1745
mod_vvisit_counterทั้งหมด10712460