Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ชนเผ่าดั้งเดิมในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
ศุกร์, 15 กุมภาพันธ์ 2008
ข้อมูล ภูเก็ต:ชนเผ่าดั้งเดิม:ประสิทธิ ชิณการณ์ 


ชนเผ่าดั้งเดิม

 

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าชนเผ่าดั้งเดิมที่ยังสามารถพบเห็นได้ในปัจจุบันในคาบสมุทรมลายู ได้แก่ พวกซาไก (Sakai) และพวกชาวน้ำ(C ‘ hau Nam )

พันเอก พระสารสาสน์พลขันธ์ (จี.อี. เจรินี) ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในวงการประวัติศาสตร์ไทยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ "เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ถลาง" (Historical Retrospect of Junkceylon Island) แปลโดยสุเทพ ปานดิษฐ์และสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ความว่า

"---ประวัติศาสตร์ถลางในยุคก่อน เป็นเรื่องที่ยังคงลี้ลับอยู่มาก ทำได้แต่เพียงวินิจฉัยสถานะของเกาะถลางจากหลักฐานที่เป็นสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจากคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งเกาะถลางได้เข้าไปปรากฏในประวัติศาสตร์โลกเป็นครั้งแรก ชนกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก็คือพวกซาไก(Sakai) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพวกเซมัง(Semang) ซึ่งในปัจจุบันอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู และกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะขนาดใหญ่ในทะเลอันดามันนั้น ก็อยู่ทางตะวันตกของหมู่เกาะ ข้อเท็จจริงที่ว่าเกาะถลางอยู่ระหว่างดินแดนทั้งสองส่วนที่ยังมีพวก ซาไกอาศัยอยู่ในทุกวันนี้เป็นหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่า กลุ่มคนดั้งเดิมของเกาะถลาง คือ พวกซาไก ต่อมาได้มีชนชาติมอญจากพะโคมาอยู่ในดินแดนแถบนี้คือพวก เซลัง (Selang หรือ Salon)กลุ่มคนพวกนี้ชำนาญในการดำน้ำ จึงเรียกว่า ชาวน้ำ (C'hau Nam) กลุ่มคนพวกนี้ยังคงอาศัยอยู่ในหลายเกาะแถบเมืองมะริดซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะถลาง

"หลังจากนี้ก็มีพวกนักเดินทางชาวอินเดียใต้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบนี้ มีการทำเหมืองแร่ที่เมืองถลางด้วยนอกเหนือจากที่ได้ไปทำเหมืองแร่ที่ตะกั่วป่า ด้วยเหตุผลที่เกาะถลางตั้งอยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือสายเก่าจากอินเดียผ่านอ่าวเบงกอลมายังชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ทำให้เกาะถลางเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินเรือยุคต้น ๆ โดยแท้จริงแล้วไม่ได้มีการกล่าวถึงเกาะถลางอย่างเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด ปรากฏในเรื่องราวที่เขียนโดยนักเดินทางและพ่อค้าในสมัยนั้นเพียงแต่ได้มีการเรียกชื่อเกาะถลางและบริเวณที่อยู่ตอนเหนือของเกาะขึ้นไปจนถึงอ่าวปากจั่น (Pak Chan) รวมกันว่า ตะโกลา (Takola) โดยตะโกลานี้เป็นท่าเรือและศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญในบริเวณนั้น ----- นักเดินเรือชาวอาหรับในยุคต้นได้บันทึกไว้ใน ค.ศ.๘๔๐-๙๑๖ โดยอาบู ซาอิด (Abu Zaid) กล่าวว่า เกาะถลางเป็นศูนย์กลางการค้าขายไม้กฤษณา, งาช้าง, ไม้ฝาง, ดีบุก และอื่น ๆ โดยขึ้นอยู่กับอาณาจักร Zabej อิบฮ์ เกร์ดาด์บิฮ์ (Ibh Khurdadbih) ได้เขียนไว้ใน ค.ศ.๘๖๔ ว่าเกาะ ถลางนี้ขึ้นกับ Jabah ของอินเดีย ซึ่งจากชื่อนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเขาหมายถึง Pegee ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่าพวกนักเดินเรือในยุคต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเกาะถลางนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตะกั่วป่า ---- เมื่อพิจารณาจากจารึกที่พบที่ตะกั่วป่า จะพบว่าชาวอินเดียที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จะต้องเป็นพวกดราวิเดียน(Dravidans)จากแคว้นกลิงค์และแคว้นอื่น ๆ ทางใต้ของดินแดนชายฝั่งตะวันออกของอินเดียซึ่งพูดภาษาทมิฬ แม้พวกนักเดินทางเหล่านี้จะเข้ามาค้าขาย และได้ครอบครองดินแดนในแถบนี้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้สร้างอาณาจักรที่มั่นคงในดินแดนแถบนี้ จนกระทั่งถึงตอนกลางของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ดินแดนแถบนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรพะโค ซึ่งเป็นอาณาจักรที่สร้างขึ้นโดยนักเดินทางจากแคว้นกลิงค์เช่นเดียวกัน แต่มีอำนาจมากกว่าในปี ค.ศ.๑๐๕๐-๑๐๕๗ อาณาจักรพะโคตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราชเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงได้ผนวกเมืองถลางและเมืองข้างเคียงเข้าไว้ภายใต้การปกครอง-----เมืองนครศรีธรรมราชมีอำนาจแผ่ไปทั่วบริเวณตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู อย่างไรก็ตามนครศรีธรรมราชในเวลานั้นก็อยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรกัมพุช ซึ่งมีอำนาจอยู่ในบริเวณแถบอ่าวไทยมาหลายศตวรรษ----"

ปัจจุบันพวกซาไก ไม่ปรากฏอยู่ในภูเก็ต เนื่องจากชนเผ่านี้รักสงบ กลัวคนแปลกหน้า ฉะนั้นเมื่อภูเก็ตมีคนต่างเผ่าพันธุ์ ต่างถิ่นอพยพเข้ามาอาศัยมากขึ้น พวกซาไก ก็ถอยร่นหนีเข้าป่าลึก ในที่สุดก็ข้ามภูเขาไปยังแผ่นดินผืนใหญ่ฟากตะวันออก ได้แก่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ภูเก็ตคงเหลือเผ่าชนดั้งเดิมเพียงพวกชาวน้ำ ที่คงใช้ชีวิตผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม

สำหรับชาวน้ำชนเผ่าดั้งเดิม ที่คงเหลืออยู่จำนวนน้อยในภูเก็ตขณะนี้ ซึ่งตามความเห็นของ จี.อี. เจรินี เห็นว่าเป็นพวกมอญโบราณจากพะโคเข้ามาตั้งถิ่นฐานนั้น นักวิชาการปัจจุบันกลับมีความเเห็นว่าชาวน้ำเป็นชนเผ่าหนึ่งที่เร่ร่อนอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในแถบทะเลใต้ การศึกษาค้นคว้าแหล่งกำเนิดและเหตุผลในการเร่ร่อนของชนเผ่านี้ยังไม่ปรากฏชัดอุปสรรคสำคัญในการศึกษาค้นคว้าชีวิตของชาวน้ำนั้นคือชนเผ่านี้ไม่มีหนังสือที่จะใช้ขีดเขียน มีเพียงภาษาพูด แตกต่างจากมอญ ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาเนิ่นนาน มีหนังสือเป็นของตนเองและยังดำรงความเป็นชนชาติมอญอยู่จนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ชนชาติมอญก็คงเคยเข้ามาอาศัยในภูเก็ต เช่นเดียวกับอินเดียและพม่า เพราะรูปแบบบ้านเมืองของพื้นเมืองภูเก็ตสมัยโบราณ มีลักษณะเช่นเดียวกับบ้านเรือนของชาวมอญที่เมืองมะริด โดยเฉพาะบ้านเรือนของคนไทยเชื้อสายผู้ดีของภูเก็ต และบ้านเรือนชาวไทยมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ในแถบชายทะเล นอกจากนี้วัดสำคัญบางวัด (คือวัดไชยธาราราม ที่ตำบลฉลอง) ก็ยังมีเสาธงที่ประดับด้วยรูปหงส์ตามประเพณีนิยมของชาวมอญ ปรากฏอยู่ที่หน้าวัดตั้งแต่โบราณมาจนพึ่งจะถูกฟ้าผ่าทำลายลงเมื่อประมาณ ๗๐ ปีมานี้เอง แสดงว่าศิลปวัฒนธรรมของมอญยังมีการสืบทอดต่อเนื่องอยู่นาน แต่ชาวมอญจากพะโคที่เข้ามาอาศัยในภูเก็จสมัยโบราณ ตามความเห็นของ จี. อี. เจรีนี นั้นต่อมาคงจะมีการสมรสกับผู้เข้ามาใหม่ เช่น อินเดีย, ไทย, มลายู, และจีน กลายเป็นชนรุ่นใหม่เช่นเดียวกับชาวมอญที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ เพราะด้วยศักยภาพของเผ่าพันธ์ที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน การที่จะกลายสภาพเป็นชาวน้ำ มีชีวิตอันไร้หลักฐานเช่นนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้


 
 
  

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1657
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1779
mod_vvisit_counterทั้งหมด10694069