พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น : ถลาง-ภูเก็จ-ภูเก็ต
ประสิทธิ ชิณการณ์ : เรียบเรียง (จถล.2320) ภูเก็ต เป็นเมืองเล็ก มีความสัมพันธ์กับเมืองต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ตลอดมา การกล่าวถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภูเก็ต จึงไม่อาจที่จะละเว้นในการกล่าวถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองที่อยู่ใกล้เคียงได้เช่นเดียวกัน เมืองต่าง ๆ ที่จำต้องกล่าวถึงในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภูเก็ตนั้น ได้แก่ เมืองตะกั่วป่า, พังงา, กระบี่, ตรัง, นครศรีธรรมราช และไชยา หรือสุราษฎร์ธานี เป็นต้น นักปราชญ์ทางโบราณคดี ได้เน้นถึงแหล่งโบราณคดีในบริเวณอ่าวพังงา เป็นจุดอันพึงศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของชุมชนโบราณเกี่ยวกับการตั้งหลักแหล่งถิ่นฐาน, พัฒนาการของชุมชนและอื่นๆตามที่ต้องการค้นคว้าศึกษา บริเวณอ่าวพังงาที่กล่าวถึงนี้ หมายถึงบริเวณตะกั่วป่า,ภูเก็ต, พังงา, กระบี่ (อ่าวลึก) ทะลุออกสู่บ้านดอน (สุราษฎร์ธานี) (คำค้น):- ถลางภูเก็จภูเก็ต
ศรีศักร วัลลิโภดม (๒๕๒๘ : ๒๒๓-๒๒๔) ซึ่งรู้จักกันดีในวงการโบราณคดีและมานุษยวิทยาได้แสดงความเห็นไว้ในสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง พ.ศ. ๒๕๒๗ ตอนหนึ่งว่า “-----เราเห็นว่าบริเวณอ่าวพังงามีจุดสำคัญน่าสนใจในการศึกษาทางโบราณคดีมาก โดยเฉพาะในแง่ของชุมชน เพราะชุมชนที่เกิดบริเวณรอบอ่าวพังงานี้มีเงื่อนไขที่เกิดขึ้นต่างกับที่อื่น เป็นชุมชนที่อยู่ชายฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมไทยแล้วก็เป็นชุมชนที่พัฒนาขึ้นมาแทนที่จะเป็นชุมชนจากสังคมที่เป็นเกษตรกรรมจากชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ กลับเป็นชุมชนที่พัฒนาขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมถลุงแร่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นลักษณะพิเศษของชุมชนที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนี้ที่ไม่เหมือนใครอันเป็นสิ่งท้าทายให้เรามาศึกษา แต่การศึกษาของเรานี้ไม่สามารถมองเพียงจุดใดจุดหนึ่งได้ เพราะฉะนั้นรอบอ่าวพังงาจึงรวมถึงถลางด้วย ที่นี้เราศึกษาว่ามีเงื่อนไขอะไรไหมนอกจากชุมชนจะพัฒนาขึ้นมาจากการเป็นแหล่งแร่ที่มีอุตสาหกรรมถลุงแร่ก็คงจะมาดูกันในตำแหน่งภูมิศาสตร์แล้วก็มีสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องด้วย ก็คือเส้นทางค้าขาย----การที่เราจะพูดถึงถลางโดยตรงนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะเรารู้ว่าถลางมีความสัมพันธ์กับรอบอ่าวพังงานี้แน่นอน----” ๒.๑ การตั้งถิ่นฐาน ยุคก่อนประวัติศาสตร์ การค้นหาร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในภูเก็ต ปรากฏว่าไม่ได้พบร่องรอยของสถานที่พักอาศัย เช่น ถ้ำ หรือเพิงผา อันควรจะเป็นที่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์แต่อย่างใด คงพบแต่เครื่องมือหิน โดยเฉพาะขวานหินที่มีลักษณะไม่สู้สมบูรณ์นักและไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าความไม่สมบูรณ์นั้น ๆ เกิดจากสภาพเช่นนั้นมาแต่เดิม หรือเกิดจากฝีมือมนุษย์ชั้นหลังกระทำให้เกิดขึ้น เนื่องจากวัตถุดังกล่าวนี้มักพบได้จากขุมเหมืองแร่และใต้พื้นดินที่ถูกทับถมอยู่นาน ทั้งผู้พบบางรายยังสารภาพว่ามีการนิยมกระเทาะเอาสะเก็ดของขวานเหล่านี้ไปผสมยาแผนโบราณด้วย พรชัย สุจิตต์(๒๕๒๘:๒๒๗ - ๒๒๘) ได้ให้ความเห็นไว้ในการสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง พ.ศ. ๒๕๒๗ ตอนหนึ่งว่า “-----บนเกาะภูเก็ตนี้มีร่องรอยอะไรบ้างตามที่ผมได้สำรวจมีชาวบ้านได้เคยเก็บ(หิน) ที่เขาเรียกกันว่า ขวานฟ้าได้ในบริเวณเกาะภูเก็ต ซึ่งเขาบอกว่าเวลาไปทำเหมืองฉีดน้ำไล่ดินเพื่อหาแร่บางทีก็พบออกมาส่วนมากก็ได้จากการทำเหมืองอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งเป็นพวกขวานฟ้าที่เป็นหินขัดที่มีบ่าขนาดไม่ใหญ่เท่าไร ชาวบ้านเขาเขียนเอาไว้เองว่า หินขวานฟ้า ผมถามพวกเขาว่าทำไมจึงเรียกขวานฟ้าเขาบอกว่าฟ้าผ่าทีไรแล้วลงไปสำรวจที่ตรงนั้นก็จะพบขวานประเภทนี้เขาว่าอาจตกจากฟ้าหรืออย่างไร...ลักษณะของขวานหินขัดอีกอันหนึ่งพบที่บ้านกมลา อยู่ที่อำเภอกะทู้ ที่นั่นชาวบ้านเก็บได้มากทีเดียวเพราะหลังบ้านกมลาเป็นภูเขาชาวบ้านก็ได้จากการทำไร่ทำสวนเขาก็เก็บกันไว้มีจำนวนค่อนข้างมากทีเดียวแล้วก็มีรูปแตกต่างกันหลายแบบ เช่นแบบที่เขาเรียกกันว่า Axe เป็นพวกขวานถาก บางอันมีรอยที่กระเทาะออกไปไม่ทราบว่ากระเทาะโดยการใช้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือเปล่า หรือว่าพึ่งกระเทาะในสมัยหลังเพราะทราบว่าสมัยหลัง ๆ นี้มีการเอาขวานฟ้าพวกนี้ไปทำยาหรือนำเอาไปขูดอะไรต่อมิอะไรอีกอย่างหนึ่ง---จากการสำรวจร่องรอยพัฒนาการทางด้านวัฒนธรรมของมนุษย์ในภาคใต้ด้านฝั่งตะวันตกตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยี่การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ก็ดีหรือทางด้านศิลปะซึ่งแสดงออกมาในรูปของภาพเขียนสีก็ดีเขาได้วิวัฒนาการของเขาอยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นว่าบนเกาะภูเก็ตนี่เองก็มีร่องรอยของพวกนี้อยู่เหมือนกันโดยเฉพาะเราก็รู้ว่าถึงอย่างน้อยเมื่อสองสามพันปีมาแล้วนี้ ก็มีมนุษย์อาศัยอยู่บนเกาะภูเก็ตนี้ โดยมีการใช้เครื่องมือหิน คงจะใช้ในการทำมาหากินอะไรอย่างหนึ่งก็ได้ทิ้งร่องรอยไว้มากทีเดียวและเป็นที่น่าเสียดายที่เรายังไม่พบแหล่งที่เป็นที่อยู่อาศัยของพวกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์บนเกาะภูเก็ตนี้---” เนื่องจากเรายังไม่สามารถค้นพบถ้ำ หรือเพิงผา อันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ได้บนเกาะภูเก็ตดังกล่าวแล้วข้างต้นนักโบราณคดีจึงหันไปค้นหาหลักฐานเหล่านี้ในบริเวณใกล้เกาะภูเก็ตคือบริเวณรอบอ่าวพังงา สุวิทย์ ชัยมงคล (๒๕๓๒ : ๑๙-๖๙) เขียนไว้ในเรื่อง “หลักฐานก่อนประวัติศาสตร์ริมฝั่งทะเลอันดามันบริเวณอ่าวพังงา อ่าวลึก” (พิมพ์ในหนังสือเรื่องถลาง ภูเก็ต และชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยกรมศิลปากร พ.ศ. ๒๕๓๒ หน้า ๑๙-๖๙) ตอนหนึ่งว่า “----เรื่องราวทางโบราณคดีของภาคใต้ฝั่งตะวันตกก่อนหน้านี้ จึงมีลักษณะเป็นจุด ๆ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน คนงานทำเหมืองแร่ และนักเดินเรือ การศึกษาเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกสารชิ้นแรกสุดของดินแดนแถบนี้ และมีการอ้างอิงอยู่เสมอคือ “ความเรียงเรื่องโบราณคดีของสยาม”(Essai d’ Inventaire Archeoloioque du Siam) ของนายเอเดียน เอ็ดมองค์ ลูเนต์ อาจงกิแยร์ (E.E Lunet de Iajorquiere) พิมพ์ที่ปารีสในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ หรือเมื่อประมาณ ๗๖ ปีมาแล้ว นับว่าเป็นเอกสารก่อนประวัติศาสตร์เรื่องแรกของประเทศไทยด้วยเช่นกันโดยกล่าวถึงภาพเขียนสีบริเวณอ่าวพังงาหลังจากนั้นมีการสำรวจเก็บข้อมูลโดยนักวิชาการจากที่ต่าง ๆ หลายครั้งที่สำคัญมากและเป็นตัวบ่งบอกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตกนี้เป็นดินแดนที่มนุษย์เข้ามาอาศัยในช่วงแรกๆ เลยทีเดียวคือการขุดค้นพบถ้ำหลังโรงเรียน (Lang Rongrien Rockshelter) ตำบลทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๘ การขุดค้นพบนี้สามารถกำหนดอายุโดยวิธีการคาร์บอน๑๔ (Carbon 14 Dating) ของชั้นดินทางโบราณคดีที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในชั้นดินที่ ๘, ๙, และ ๑๐ มีอายุอยู่ในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (Upper Pleistocene) ประมาณ ๒๗,๐๐๐ - ๓๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว นับเป็นอายุที่เก่าแก่ที่สุดของหลักฐานโบราณคดีในประเทศไทยปัจจุบัน “หลักฐานก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้ เด่นชัดขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๑ โดยกรมศิลปากรในการดำเนินงานของโครงการโบราณคดีของประเทศไทยภาคใต้ (Southern Thailand Archeologicai Research Project) หรือโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีภาคใต้ ได้สำรวจ ขุดค้น พื้นที่บริเวณอ่าวพังงา เขตจังหวัดพังงา อ่าวลึก เขตจังหวัดกระบี่ พื้นที่ของอ่าวทั้งสองมีอาณาเขตติดต่อกัน พบว่าบริเวณเพิงผาและถ้ำ (Shelter and Cave) ตามภูเขาหินปูนเคยเป็นที่พักอาศัยและทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมากที่สำรวจพบในปัจจุบันมีมากกว่า ๕๐ แหล่ง แบ่งเป็นแหล่งที่พักอาศัยและแหล่งภาพเขียนสี---” จากเอกสารข้างต้น พอสรุปได้ว่า เกาะภูเก็ตเคยเป็นที่พักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน เช่นเดียวกับพังงาและกระบี่ หากแต่เกาะภูเก็ตมีความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิศาสตร์มากกว่าพังงา และกระบี่ ร่องรอยของถ้ำ และเพิงผาที่พักของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์จึงอาจถูกลมมรสุมจากทะเลตะวันตกทำลายจนไม่เหลือร่องรอยให้สำรวจพบได้ ชนเผ่าดั้งเดิม นักวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าชนเผ่าดั้งเดิมที่ยังสามารถพบเห็นได้ในปัจจุบันในคาบสมุทรมลายู ได้แก่ พวกซาไก (Sakai) และพวกชาวน้ำ(C ‘ hau Nam ) พันเอก พระสารสาสน์พลขันธ์ (จี.อี. เจรินี) ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในวงการประวัติศาสตร์ไทยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ "เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ถลาง" (Historical Retrospect of Junkceylon Island) แปลโดยสุเทพ ปานดิษฐ์และสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ ความว่า "---ประวัติศาสตร์ถลางในยุคก่อน เป็นเรื่องที่ยังคงลี้ลับอยู่มาก ทำได้แต่เพียงวินิจฉัยสถานะของเกาะถลางจากหลักฐานที่เป็นสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจากคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งเกาะถลางได้เข้าไปปรากฏในประวัติศาสตร์โลกเป็นครั้งแรก ชนกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก็คือพวกซาไก(Sakai) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพวกเซมัง(Semang) ซึ่งในปัจจุบันอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู และกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะขนาดใหญ่ในทะเลอันดามันนั้น ก็อยู่ทางตะวันตกของหมู่เกาะ ข้อเท็จจริงที่ว่าเกาะถลางอยู่ระหว่างดินแดนทั้งสองส่วนที่ยังมีพวก ซาไกอาศัยอยู่ในทุกวันนี้เป็นหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่า กลุ่มคนดั้งเดิมของเกาะถลาง คือ พวกซาไก ต่อมาได้มีชนชาติมอญจากพะโคมาอยู่ในดินแดนแถบนี้คือพวก เซลัง (Selang หรือ Salon)กลุ่มคนพวกนี้ชำนาญในการดำน้ำ จึงเรียกว่า ชาวน้ำ (C'hau Nam) กลุ่มคนพวกนี้ยังคงอาศัยอยู่ในหลายเกาะแถบเมืองมะริดซึ่งอยู่ตอนเหนือของเกาะถลาง "หลังจากนี้ก็มีพวกนักเดินทางชาวอินเดียใต้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบนี้ มีการทำเหมืองแร่ที่เมืองถลางด้วยนอกเหนือจากที่ได้ไปทำเหมืองแร่ที่ตะกั่วป่า ด้วยเหตุผลที่เกาะถลางตั้งอยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือสายเก่าจากอินเดียผ่านอ่าวเบงกอลมายังชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ทำให้เกาะถลางเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินเรือยุคต้น ๆ โดยแท้จริงแล้วไม่ได้มีการกล่าวถึงเกาะถลางอย่างเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด ปรากฏในเรื่องราวที่เขียนโดยนักเดินทางและพ่อค้าในสมัยนั้นเพียงแต่ได้มีการเรียกชื่อเกาะถลางและบริเวณที่อยู่ตอนเหนือของเกาะขึ้นไปจนถึงอ่าวปากจั่น (Pak Chan) รวมกันว่า ตะโกลา (Takola) โดยตะโกลานี้เป็นท่าเรือและศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญในบริเวณนั้น ----- นักเดินเรือชาวอาหรับในยุคต้นได้บันทึกไว้ใน ค.ศ.๘๔๐-๙๑๖ โดยอาบู ซาอิด (Abu Zaid) กล่าวว่า เกาะถลางเป็นศูนย์กลางการค้าขายไม้กฤษณา, งาช้าง, ไม้ฝาง, ดีบุก และอื่น ๆ โดยขึ้นอยู่กับอาณาจักร Zabej อิบฮ์ เกร์ดาด์บิฮ์ (Ibh Khurdadbih) ได้เขียนไว้ใน ค.ศ.๘๖๔ ว่าเกาะ ถลางนี้ขึ้นกับ Jabah ของอินเดีย ซึ่งจากชื่อนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเขาหมายถึง Pegee ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่าพวกนักเดินเรือในยุคต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเกาะถลางนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตะกั่วป่า ---- เมื่อพิจารณาจากจารึกที่พบที่ตะกั่วป่า จะพบว่าชาวอินเดียที่เดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จะต้องเป็นพวกดราวิเดียน(Dravidans)จากแคว้นกลิงค์และแคว้นอื่น ๆ ทางใต้ของดินแดนชายฝั่งตะวันออกของอินเดียซึ่งพูดภาษาทมิฬ แม้พวกนักเดินทางเหล่านี้จะเข้ามาค้าขาย และได้ครอบครองดินแดนในแถบนี้ แต่พวกเขาก็ไม่ได้สร้างอาณาจักรที่มั่นคงในดินแดนแถบนี้ จนกระทั่งถึงตอนกลางของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ดินแดนแถบนี้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรพะโค ซึ่งเป็นอาณาจักรที่สร้างขึ้นโดยนักเดินทางจากแคว้นกลิงค์เช่นเดียวกัน แต่มีอำนาจมากกว่าในปี ค.ศ.๑๐๕๐-๑๐๕๗ อาณาจักรพะโคตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราชเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงได้ผนวกเมืองถลางและเมืองข้างเคียงเข้าไว้ภายใต้การปกครอง-----เมืองนครศรีธรรมราชมีอำนาจแผ่ไปทั่วบริเวณตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู อย่างไรก็ตามนครศรีธรรมราชในเวลานั้นก็อยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรกัมพุช ซึ่งมีอำนาจอยู่ในบริเวณแถบอ่าวไทยมาหลายศตวรรษ----" ปัจจุบันพวกซาไก ไม่ปรากฏอยู่ในภูเก็ต เนื่องจากชนเผ่านี้รักสงบ กลัวคนแปลกหน้า ฉะนั้นเมื่อภูเก็ตมีคนต่างเผ่าพันธุ์ ต่างถิ่นอพยพเข้ามาอาศัยมากขึ้น พวกซาไก ก็ถอยร่นหนีเข้าป่าลึก ในที่สุดก็ข้ามภูเขาไปยังแผ่นดินผืนใหญ่ฟากตะวันออก ได้แก่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ภูเก็ตคงเหลือเผ่าชนดั้งเดิมเพียงพวกชาวน้ำ ที่คงใช้ชีวิตผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม สำหรับชาวน้ำชนเผ่าดั้งเดิม ที่คงเหลืออยู่จำนวนน้อยในภูเก็ตขณะนี้ ซึ่งตามความเห็นของ จี.อี. เจรินี เห็นว่าเป็นพวกมอญโบราณจากพะโคเข้ามาตั้งถิ่นฐานนั้น นักวิชาการปัจจุบันกลับมีความเเห็นว่าชาวน้ำเป็นชนเผ่าหนึ่งที่เร่ร่อนอยู่ตามเกาะต่าง ๆ ในแถบทะเลใต้ การศึกษาค้นคว้าแหล่งกำเนิดและเหตุผลในการเร่ร่อนของชนเผ่านี้ยังไม่ปรากฏชัดอุปสรรคสำคัญในการศึกษาค้นคว้าชีวิตของชาวน้ำนั้นคือชนเผ่านี้ไม่มีหนังสือที่จะใช้ขีดเขียน มีเพียงภาษาพูด แตกต่างจากมอญ ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาเนิ่นนาน มีหนังสือเป็นของตนเองและยังดำรงความเป็นชนชาติมอญอยู่จนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ชนชาติมอญก็คงเคยเข้ามาอาศัยในภูเก็ต เช่นเดียวกับอินเดียและพม่า เพราะรูปแบบบ้านเมืองของพื้นเมืองภูเก็ตสมัยโบราณ มีลักษณะเช่นเดียวกับบ้านเรือนของชาวมอญที่เมืองมะริด โดยเฉพาะบ้านเรือนของคนไทยเชื้อสายผู้ดีของภูเก็ต และบ้านเรือนชาวไทยมุสลิมซึ่งอาศัยอยู่ในแถบชายทะเล นอกจากนี้วัดสำคัญบางวัด (คือวัดไชยธาราราม ที่ตำบลฉลอง) ก็ยังมีเสาธงที่ประดับด้วยรูปหงส์ตามประเพณีนิยมของชาวมอญ ปรากฏอยู่ที่หน้าวัดตั้งแต่โบราณมาจนพึ่งจะถูกฟ้าผ่าทำลายลงเมื่อประมาณ ๗๐ ปีมานี้เอง แสดงว่าศิลปวัฒนธรรมของมอญยังมีการสืบทอดต่อเนื่องอยู่นาน แต่ชาวมอญจากพะโคที่เข้ามาอาศัยในภูเก็จสมัยโบราณ ตามความเห็นของ จี. อี. เจรีนี นั้นต่อมาคงจะมีการสมรสกับผู้เข้ามาใหม่ เช่น อินเดีย, ไทย, มลายู, และจีน กลายเป็นชนรุ่นใหม่เช่นเดียวกับชาวมอญที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ ฯ เพราะด้วยศักยภาพของเผ่าพันธ์ที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน การที่จะกลายสภาพเป็นชาวน้ำ มีชีวิตอันไร้หลักฐานเช่นนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ยุคทราวดี อาณาจักรทราวดีมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ มีอิทธิพลแผ่กว้างออกไปตลอดภาคกลางของประเทศไทย และครอบคลุมไปจนถึงภาคอีสาน ภาคตะวันออกรวมทั้งภาคใต้บางเมืองด้วย สิริวัฒน์ คำวันสา (๒๕๔๑ : ๒๐)เขียนไว้ในหนังสือ "ประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศไทย" ความว่า "----สถานที่ซึ่งพบวัตถุ-สถานโบราณ สมัยทวารวดี มีหลายจังหวัด คือ เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี ลำพูน ปัตตานี สิ่งที่พบมีพระพุทธรูป รูปคน รูปเทวดา รูปพระโพธิสัตว์ แผ่นธรรมจักร แผ่นจารึก เครื่องประดับนักดนตรี นักฟ้อน ทำด้วยหิน ดินเผา ปูนปั้น โลหะ เงิน ดีบุก ทองคำ" หลักฐานการสำรวจทางโบราณคดี ซึ่ง ศรีศักร วัลลิโภดม (๒๕๒๕ : ๙๙-๑๐๐) ได้เขียนรายงานไว้ในหนังสือโบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ความตอนหนึ่งว่า "---สิ่งที่น่าสนใจในเขตเมืองนครศรีธรรมราชที่จะกล่าวถึง คือ เมืองโบราณที่เรียกว่า "เมืองพระเวียง" เมืองนี้ตั้งอยู่บนเส้นรุ้งที่ ๘ องศา ๒๓ ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ ๙๙ องศา ๕๘ ลิปดา ตะวันออก ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชลงมาทางใต้ประมาณ ๗๐๐ เมตร ตั้งอยู่บนสันทรายเช่นเดียวกัน ลักษณะเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ ๑ กม. กว้างประมาณ ๖๐๐ เมตร ทางด้านตะวันตกมีคู ๒ ชั้น คูเมืองด้านนอกกว้างประมาณ ๓๖ เมตร กำแพงก่อด้วยดิน ภายในเมืองมีซากวัตถุโบราณและเนินดินขนาดใหญ่ซึ่งคงเป็นพระสถูปประมาณ ๑๑ แห่ง มีเศษกระเบื้องถ้วยชามตกอยู่เกลื่อนกลาด ส่วนมากเป็นกระเบื้องถ้วยชามของสุโขทัย ซึ่งคุณกระจ่าง โชติกุล เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลวัดบรมธาตุ กรุณาเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมมีฐานเจดีย์ใหญ่อยู่ในเขตวัดพระเวียงร้างต่อมาได้รื้อฐานเจดีย์นั้น เพื่อสร้างบ้านนครศรีธรรมราช ของกรมประชาสงเคราะห์ พบพระพิมพ์เป็นจำนวนมากที่ฐานพระเจดีย์นั้น ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นพระพิมพ์เหล่านั้น พบว่าบางองค์เป็นแบบศรีวิชัยตอนปลาย และมีพระพิมพ์สมัยลพบุรีปนอยู่ด้วยเมืองนี้ควรแก่การบำรุงรักษาและการขุดค้นพบทางโบราณคดี---" ศรีศักร วัลลิโภดม ยังได้เขียนไว้ในในรายงานที่อ้างอิงข้างต้นต่อไปว่า "---หันมาพิจารณาศึกษาโบราณสถานในเมืองนครศรีธรรมราชดูบ้าง โบราณสถานในเขตเมืองนครศรีธรรมราชที่เห็นว่าเก่าแก่ถึง พ.ศ.๑๗๐๐ ขึ้นไป ในขณะนี้คือพระเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น พระเจดีย์องค์นี้มีผู้เชื่อว่าสร้างคลุมทับพระเจดีย์องค์เดิม เป็นรูปมณฑปแบบศรีวิชัย ซึ่งยังคงเห็นรูปจำลองของพระเจดีย์องค์เดิมนี้ได้ข้าง ๆ พระวิหารของวัดนี้ แต่โบราณสถานแห่งนี้ก็ยังไม่เป็นหลักเพียงพอที่จะยืนยันว่า เมืองนครศรีธรรมราชเก่าไปกว่าเมืองพระเวียง เพราะเมืองโบราณสมัยก่อน ๆ ตั้งแต่สมัยทวาราวดีลงมานั้นนิยมสร้างศาสนสถานที่ใหญ่โตและสำคัญไว้นอกเมือง เห็นได้จากเมืองนครปฐม เมืองอู่ทอง เมืองพระรถ ในเขตนครพนัสนิคม และเมืองศรีมโหสถ ในเขตอำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นตัวอย่าง องค์พระปฐมเจดีย์อันเป็นพระสถูปสำคัญอยู่นอกตัวเมือง---" จากรายงานของนักวิชาการที่เชื่อถือได้ข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า อาณาจักรทวารวดีซึ่งมีอิทธิพลยิ่งใหญ่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ นั้นมิได้เข้าครอบงำคาบสมุทรมลายูมากนัก แม้วัฒนธรรมบางอย่างของมอญ เช่น รูปแบบการปลูกสร้างบ้านเรือน,ประเพณีการนิยมนกหงส์ หรือแม้การที่อาจจะมีการสมรสระหว่างชนเผ่ามอญ กับชนเผ่าอื่น ๆ ในคาบสมุทรมลายูก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดอยู่ในกลุ่มนักเดินเรือ,พ่อค้า,และนักแสวงโชคจากการขุดหาแร่ดีบุกตามมรสุมที่อำนวยให้เท่านั้น ชาวทวารวดีส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งหลักแหล่งในภูเก็ตหรือในคาบสมุทรมลายูคงเนื่องจากดินแดนส่วนนี้มีภูเขาสลับซับซ้อน หาที่ราบลุ่มได้น้อย ไม่เหมาะแก่การทำนา ซึ่งในยุคก่อนมีความจำเป็น สำหรับชุมชนขนาดใหญ่อย่างยิ่งชาวทวารวดีพอใจที่จะตั้งถิ่นฐานในภาคกลางหรือในที่ราบลุ่มของแม่น้ำมากสายของประเทศไทยมากกว่าภาคใต้เพราะมีภูมิประเทศเหมาะแก่การทำเกษตรมากกว่า ยุคตามพรลิงค์-ศิริธรรมนคร(หรือศรีวิชัย) อาณาจักรตามพรลิงค์ และศิริธรรมนครหรือที่เคยกล่าวขานกันว่า "ศรีวิชัย" นั้น มีความสำคัญเกี่ยวกับภูเก็จค่อนข้างมาก เนื่องจากศูนย์กลางแห่งอาณาจักรนี้อยู่ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งมีอำนาจครอบคลุมคาบสมุทรมลายูโดยตลอด (รวมถึงเกาะภูเก็จด้วย) เป็นระยะเวลานานร่วม ๖๐๐ ปี ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ หนังสือ “ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา สมัยศรีวิชัย” ของนายธรรมทาส พานิช (๒๕๒๑ : ๓๒) ได้กล่าวถึงชื่อเมืองท่าต่าง ๆ ว่า "---เมืองท่าชวาและตัมพะลิงค์ ในคัมภีร์มหานิเทศ --- ในคัมภีร์มหานิเทศ (ไตร.ล.๒๙ น.๕๐๔ บ.๘๑๐) มีข้อความว่า--- เมื่อเขาแสวงหาทรัพย์ ก็แล่นเรือไปในมหาสมุทร ลำบากอยู่ด้วยความร้อนหนาว สัมผัสอันเกิดแต่เหลือบ ยุง ลม แดด ความหิวกระหายบีบคั้นอยู่ ย่อมไปสู่ (เมืองท่าต่อไปนี้ คือ) เมืองท่า คุมพา (ฉบับมอญเป็น ติคุมพา) เมืองท่าก่อนถึงตะโกลา (มะริด ตะนาวศรี) เมืองท่าตักโกลา เมืองตะกั่วป่า เมืองท่าตักกสิลา อยู่ในแดนมอญ เมืองท่ากาลมุข (แปลว่าหน้าต่าง หรือหน้า ราหู) เมืองท่ามรณะ (แปลว่า ฝั่งแห่งความตาย พายุจัด) เมืองท่าเวสุงคะ เมืองท่าเวราบท เมืองท่าชวา เมืองชวาที่ไชยาโบราณ เมืองท่าตัมพะลิงค์ เมืองตามพรลิงค์ที่ นครศรีธรรมราช เมืองท่าวังกะ (อาจเป็นพังงา) เมืองท่าเอฬะ-วัทธนา เมืองท่าสุวัณณกูฏ เมืองท่าในประเทศ มอญ(เมืองสะเทิน) เมืองท่า สุวัณณภูมิ เมืองอู่ทอง "---อาร์ บแรตเต็ล ได้พยายามศึกษาเรื่องคาบสมุทรมลายาได้เขียนเรื่องราวชื่อ การศึกษาเรื่องราวโบราณในมลายา และได้เขียนแผนที่ขึ้นใหม่ ตามที่ได้ร่องรอยจากภูมิศาสตร์ปโตเลมี ดังได้คัดแผนที่มาลงไว้ในที่นี้---" ในแผนที่ตามที่กล่าวอ้างข้างต้นนี้เราจะพบเมืองท่าสมัยนั้นอยู่หลายเมืองที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันว่าคือเมืองสำคัญในคาบสมุทรมลายู ที่ยังคงสภาพเป็นเมืองท่าอยู่จวบจนทุกวันนี้เช่น เมืองตักโกลา (ตะกั่วป่า)เมืองชวา (ไชยา) เมืองตัมพะลิงค์ (นครศรีธรรมราช) เป็นต้น ข้อที่ควรสังเกตและนำมาเข้าประเด็นในประวัติศาสตร์ภูเก็จยุคตามพรลิงค์ ก็คือ ชื่อเมืองวังกะ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่าวพังงา ศรีศักร วัลลิโภดม (๒๕๒๘ : ๒๒๙)กล่าวว่า "---ตามที่ได้ศึกษามานั้น เห็นว่ารอบอ่าวพังงา ซึ่งภูเก็จหรือถลางก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีพัฒนาการของมนุษย์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์โดยเฉพาะยุคแรก ตั้งแต่ยุคหินกระเทาะซึ่งสมัยนั้นคนคงไม่ตั้งหลักแหล่งเป็นแน่นอนอาจอพยพเร่ร่อนไปจนกระทั่งมาถึงยุคหินขัดซึ่งระยะนี้มีการสร้างภาชนะดินเผาใช้ --ซึ่งเทคโนโลยีดีขึ้นแล้วก็ก็เริ่มเห็นชัดเจนว่า กลุ่มชนที่อยู่ในเขตรอบอ่าวพังงานี้ มีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนที่อยู่ทางเขตบ้านเก่าหรือเลยไปถึงมาเลเซีย เราได้เห็นพัฒนาการที่คลี่คลายไป เพราะดินแดนในแถบนี้มีความเก่าแก่มานานเหมือนกัน ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถจะกำหนดอายุได้ระยะนี้ก็ตาม แต่เห็นขั้นตอนพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมเป็นลำดับไป--- สิ่งที่น่าสนใจคือว่า ทางฝั่งนี้ไม่ได้พบพวกกลองสำริด หรือมโหระทึกสำริด ซึ่งทางตะวันออกได้พบ คือ แถบฝั่งทะเลตะวันออกนั้นได้มีการพบเครื่องมือสำริด กลองมโหระทึกสำริดของพวกวัฒนธรรมดองซอน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพัฒนาการทางฝั่งตะวันออกนั้น มีการติดต่อกันทางทะเลกับบ้านเมืองชุมชนในเอเซียอาคเนย์อย่างเวียดนาม หรือสุมาตรา หรือชวานั้นได้--- "---ทีนี้ต่อมาถึงยุคประวัติศาสตร์ ก็มีการถกเถียงกัน แต่เดิมถกเถียงกันว่าเมื่อมีการติดต่อทางทะเลนั้น มักจะไม่เดินผ่านช่องแคบ คือจะไม่เดินเรือสำเภาลอดช่องแคบตลอดไปยังประเทศจีนแต่จะมาหยุดอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งตรงคาบสมุทรนี้ แล้วก็เดินทางข้ามคาบสมุทรไป แต่ประเด็นได้วางไว้ว่าส่วนใหญ่มองที่ตะกั่วป่า คือมองที่เกาะคอเขา ซึ่งมีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีมากมายเพราะเวลานี้ก็พบ แล้วเขาบอกว่าเดินจากตะกั่วป่าไปยังอ่าวบ้านดอนได้ คือ เขาศก แล้วลงไปตามลำน้ำพุมดวงหรือลำน้ำคีรีรัฐ "ทีนี้ประเด็นต่อไปว่า เส้นทางข้ามคาบสมุทรนี้ ถ้าผ่านจากอ่าวพังงาแล้วจะไปทางไหนผ่านเข้าไปทางซอกเขาหินปูนต่าง ๆ ก็มีทางไปลงน้ำเหลืองหรือก็ลำน้ำตาปีขึ้นไปผ่านเวียงสระ แล้วก็อาจไปอ่าวบ้านดอนได้ หรือว่าจะจากเวียงสระหรือบริเวณนั้นแยกไปยังนครศรีธรรมราชก็ได้ แล้วลงร่องรอยต่าง ๆ เหล่านี้สัมพันธ์กับโบราณวัตถุอื่น ๆ ที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ ที่ ๘ ลงมา โดยเฉพาะงานของศาสตราจารย์สแกเลีย โอ คอนเนอรี่ ซึ่งพยายามจะศึกษารูปแบบของพระนารายณ์สวมหมวกแขก ถือสังข์เหนือตะโพก ซึ่งพบที่ไชยาและนครศรีธรรมราช บอกว่าอันนี้เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลศิลปมะกุรา เป็นเทวรูปที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยหรือในเอเซียอาคเนย์ มีปัญหาว่าเทวรูปนี้ผ่านมาจากทางไหน ถ้าเรามีการติดต่อกับอินเดีย ก็แน่นอนที่สุดเลยว่า แหล่งที่ชาวอินเดียจะเข้ามานั้นก็คงจะมาอยู่ในเขตอ่าวพังงานี้เอง อันนี้พูดถึงประเด็นยุคต้น ๆ ประวัติศาสตร์ ซึ่งอ่าวพังงามีความสำคัญอย่างมากในแง่หลักฐานโบราณคดี และเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอารยธรรมอินเดียได้ผ่านเข้ามาสู่ตะวันออกหรือเคลื่อนย้ายขึ้นไปสู่ภาคกลางของประเทศไทย ในสมัยต่อ ๆ มาเราก็พบว่ามี การคลี่คลายในเขตนี้มาก เราได้เห็นว่าบริเวณคลองท่อมก็มีร่องรอยของการตั้งชุมชน ซึ่งอาจสัมพันธ์กับกลุ่มชาวอินเดียก็ได้ แล้วบริเวณเกาะคอเขาที่ตะกั่วป่าก็มีความสัมพันธ์กับการตั้งหลักแหล่งชุมชนของชาวอินเดีย หรือของชาวเปอร์เซีย นอกจากนั้นยังมีเครื่องถ้วยชามสังคโลกของจีนสมัยราชวงศ์ถังอยู่มากเหมือนกัน และตั้งแต่อ่าวพังงานี้เรื่อยไปจนกระทั่งเลยเขตอำเภอตะกั่วป่าขึ้นไปก็เคยพบสิ่งเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่ามีการตั้งหลักแหล่งมานาน ทีนี้ถ้าเรามองในแง่ของชายทะเลในเขตนี้ จะว่าเป็นผลที่เกิดชุมชนตั้งหลักแหล่งในการที่ว่าเป็นสถานีผ่านสินค้าเท่านั้นหรือก็อาจเป็นไปได้ แต่อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือบริเวณนี้มีทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างเช่นแร่ดีบุกเป็นจำนวนมากคนในสมัยโบราณไม่ได้เสาะหาของเหล่านี้มาใช้ประโยชน์บ้างหรือเปล่า----- "จึงเป็นไปได้ไหมว่าตรงนั้นเป็นสถานีพักสินค้าอาจเป็นแหล่งที่ทำอุตสาหกรรมด้วยเพราะว่าบริเวณนั้นพบการทำแก้วและทำลูกปัดเป็นจำนวนมาก แล้วบริเวณลำน้ำคลองท่อมเองก็พบเศษแร่เป็นจำนวนมากด้วย” จากหลักฐานเอกสารอ้างอิงข้างต้น ประกอบกับความจริงที่ปรากฏว่าไม่มีโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัยในภูเก็จให้ยืนยันว่า ชาวศรีวิชัยได้เคยตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองนี้ จึงสรุปได้ว่าชาวศรีวิชัยได้ตั้งหลักแหล่งอย่างมั่นคงอยู่บริเวณอ่าวตะกั่วป่า และอ่าวพังงา ซึ่งมีอิทธิพลครอบคลุมถึงเกาะภูเก็จ อันเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญนี้ด้วย ชาวศรีวิชัยสร้างศาสนสถานอย่างถาวรมั่นคงในเมืองไชยา, เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นเมืองใหญ่ระดับนครหลวง ไม่มีการสร้างศาสนสถานไว้ที่อ่าวพังงา, ตะกั่วป่า และภูเก็จ ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ที่มีประโยชน์เพียงการขุดหาแร่ดีบุก และจอดพักเรือสินค้าเพื่อการซ่อมแซม, ลำเลียงน้ำจืด, และซื้อหาสินค้าประเภทของป่ากับของจากทะเลเท่านั้น หลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ ได้แก่ตำนานพงศาวดารตลอดจนประวัติศาสตร์ในยุคต่อมาได้บ่งบอกว่าเมืองภูเก็จเคยขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชมาก่อน ดังเช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ระบุว่า ในบรรดาเมืองบริวารอันเรียกว่า "เมืองสิบสองนักษัตร" ของนครศรีธรรมราชโบราณ (ตั้งแต่ พ.ศ.๑๐๙๘) นั้น “เมืองตะกั่วถลาง” เป็นเมืองลำดับที่ ๑๑ ชื่อว่า “เมืองสุนัขนาม” หรือเมืองประจำปีจอ มีตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข และนัยว่าผู้ปกครองเมืองภูเก็จในสมัยก่อน ก็ได้ถือเอารูปสุนัขมายกย่องนับถือไว้ประจำเมืองตลอดมา จนเมื่อ นายทหารอังกฤษผู้หนึ่ง ชื่อ ร้อยโท เจมส์ โลว์ ได้เดินทางมาถึงเมืองถลาง ประมาณ พ.ศ.๒๓๖๗ ก็ได้บันทึกไว้ว่า "สิ่งสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่พอให้เห็นประเพณีการนับถือสุนัขในเมืองถลางก็คือ รูปปั้นของสุนัขตั้งอยู่ใกล้ ท่าเรือ (Tha-Rooa)ซึ่งชาวมลายูบางคนได้นำเอารูปปั้นสุนัขนี้ออกไปจากเกาะเมื่อ ๒ ปีมาแล้วนี้เอง ข้าพเจ้าได้ทราบความจริงมานานแล้วว่า ความเชื่ออย่างผิด ๆ นี้ยังคงมีอยู่ในเกาะ ถลางต่อมาจนแม้เมื่อเร็ว ๆ นี้ และบรรดาผู้ที่ได้เห็นรูปจำหลักดังกล่าวก็ ได้ยืนยันเรื่องนี้แก่ข้าพเจ้า-- “จดหมายเหตุเจมส์โลว์” แปลโดยนันทา วรเนติวงศ์ กรมศิลปากรพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๙ หน้า ๒๘, ๒๙) ที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีตำบลบ้านอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตกของเกาะ ปัจจุบัน มีชื่อทางราชการว่า "ตำบลกมลา" แต่ชาวบ้านโบราณเรียกขานกันว่า "บ้านกราหม้า" มีความหมายว่าเป็นหมู่บ้าน "ตราหมา"ซึ่งสอดรับกับตราประจำเมืองภูเก็จในสมัยเป็นเมือง "สุนัขนาม" ของนครศรีธรรมราช จากหมู่บ้านชายทะเล "กมลา" หรือ"ตราหมา" แห่งนี้ มีพื้นที่ราบกว้างใหญ่ติดต่อเข้าสู่ตัวเกาะภูเก็ตตลอดมาถึงฝั่งตะวันออก ในระหว่างฟากตะวันตกกับฟากตะวันออกของที่ราบนี้ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีชื่อเรียกขานกันว่า "บ้านมานิค" นักวิชาการทางโบราณคดีหลายท่าน ยอมรับกันว่าเป็นชื่อที่สืบทอดมาจากภาษาทมิฬโบราณ แปลว่า ทับทิม หรือ แก้ว กลุ่มผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองภูเก็จ สันนิษฐานว่า เป็นชื่อผันแปรมาจากคำว่า “มนิกกิมัม” ในจารึกภาษาทมิฬที่ค้นพบจากอำเภอตะกั่วป่าใกล้ ๆ กับเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ที่เขาพระนารายณ์มานานแล้ว คำว่า "มนิกกิมัม" ซึ่งแปลว่า "เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว" นี่เอง เป็นที่มาของความพยายามของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองภูเก็จ ที่จะให้จังหวัดภูเก็ต กลับไปมีการเขียนชื่อในภาษาไทยว่า "ภูเก็จ" ซึ่งแปลว่า " เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว" ตามนัยแห่งความหมายแต่โบราณกาล จากการศึกษาประวัติศาสตร์-โบราณคดีในยุคต่อมา ทำให้ได้พบความสัมพันธ์ระหว่างเกาะภูเก็จกับคำว่า "มนิกกิมัม" เพิ่มขึ้น เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร (๒๕๐๖ : ๘๐-๘๒) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์-โบราณคดีภาคใต้ ได้เขียนไว้ในเรื่อง "ปัทมโคตรหรืออาณาจักรศรีธรรมราช" "วารสารทักษิณ" สมาคมชาวปักษ์ใต้ ตอนหนึ่งว่า "---หินจารึกหลักนี้ มีคำจารึกไว้ด้วยหนังสือภาษาทมิฬว่า ๑. ...รวรฺมนฺ กุ (ณ)... ๒. (ม)านฺ ตานฺ นฺงคูรไฑ... ๓. (ต) โตฏฏ กุฬฺม เปรฺ ศฺรี (อวนิ) ๔. นารณมฺ มณิกฺกิรามตฺตรฺ (ก) ๕. (กุ) มฺ เศณามุคตฺตารฺกฺกุมฺ ๖. (มุฬุ) ทารูกฺกุมฺ อไฑกฺกลม คำแปล สระชื่อศรีอวนินารณัม ซึ่ง...........รวรรมน คุณ.............ได้ขุดเองใกล้ (เมือง) นงคูร อยู่ในการรักษาของสมาชิกแห่งมณิครามและของกองทัพระวังหน้า กับชาวไร่นา(๑-------- (๑) แปลจากประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ ๒ ศาสตราจารย์ฮูลซ์ ชาวเยอรมันเป็นผู้อ่านแปล-เยี่ยมยง----------------------------- ความในหินจารึกนั้น ชำรุดขาดหายไปบ้างไม่เต็มความ แต่จับเอาที่ยังคงความอยู่ ซึ่งผู้แปลมิได้เรียงคำตามประโยคไว้ไม่ แต่ก็ใด้ความตรงกับความในภาษาทมิฬใช้ได้ ในที่นี้จะหาที่ตั้งเมือง ๒ เมือง คือที่ชื่อ "เมืองนงคูร" กับ "เมืองมนิคคราม" ที่ปรากฏชื่อในหินจารึกเหล่านั้น ที่ว่าเมืองนงคูรอยู่ในความปกป้องของสมาชิกแห่ง "มนิคราม" ร่วมกับกองทัพระวังหน้านั้นเมืองนงคูร ณ ที่ใด จะขอชี้จุดที่ตั้งของเมืองนี้ก่อนโดยไม่ต้องเดากันในต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมืองตะกั่วป่ามีเมืองขึ้นอยู่ ๔ เมือง คือ เมืองเกาะราพังงา คูระ คูรอด หินจารึกหลักนี้ได้กล่าวแล้วว่า เดิมอยู่ที่บ้าน คูระ บ้านคูระมีซากร่องรอยของสระน้ำใหญ่และซากบ้านเมืองเก่าได้เห็นเมื่อ ๓๐ ปีกว่ามาแล้ว บริเวณแห่งนี้ได้เคยพบเทวรูปและโบราณวัตถุมาแล้ว เจ้าบ้านผ่านเมืองสมัยนั้นจะนำไปส่งไว้ที่ใดก็ไม่ทราบได้ "เมืองนงคูร" ในหินจารึกคือ "บ้านคูระ" ในบัดนี้ และแหล่งนี้เอง เมื่อ พ.ศ.๑๕๖๘ อันเป็นคราวที่พวกทมิฬโจฬะทำการรุกรานพิฆาตแหลมไทยกองทัพระวังกองหน้ากองหนึ่งของเจ้าพระยาราเชนทรโจฬะที่ ๑ ที่มีแม่ทัพชื่อ....รวรรมัน ได้เข้าทำการยึดแล้วตั้งมั่นอยู่แล้วแม่ทัพโจฬะผู้นั้นมีตำแหน่งนอกเหนือออกไปในคณะหนึ่งอีก ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง"มนิกคราม" ซึ่งภาษาไทยว่า "เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว" ก็ได้ แล้วเมืองนี้ยังอยู่แหล่งใด.. ทางฝั่งทะเลตะวันตก ใต้อำเภอเกาะคอเขา และอำเภอตะกั่วป่าและบ้านคูระ ลงมาทางหัวนอนมีเกาะ ๆ หนึ่ง ใหญ่กว่าเกาะใดหมดในย่านนั้น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมีชื่ออยู่ในจำนวนเมือง ๑๒ นักษัตร มีชื่อว่า "เมืองตะกั่วถลาง" ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาสันสฤตว่า "นาคาถลางค์" แปลว่าเกาะตะกั่วหรือเกาะดีบุก แล้วยังเรียกกันอีกมีหลายชื่อ เช่น เกาะทุ่งคา-เกาะถลาง-เกาะภูเก็จ ในตัวเกาะที่กล่าวมาแล้วนี้ มีหมู่บ้าน ชื่อ "บ้านมนิก" - "บ้านเกาะแก้ว"- "บ้านนาคา" ทั้ง ๓ ชื่อมีความหมายตามชื่อเกาะที่กล่าวแล้วทั้งนั้น บ้านมนิก เวลานี้อยู่ในท้องที่อำเภอถลาง เมื่อเอามณิก บวก คราม ก็เป็น "มนิกคราม" ได้แก่เมืองซากเก่าที่บ้านมนิกในเกาะภูเก็จ" -- วิเคราะห์ตามข้อเสนอของเยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร ข้างต้น อาจสรุปได้ว่า ทมิฬโจฬะยกเข้ารุกรานอาณาจักรตามพรลิงค์ ที่นครศรีธรรมราช (พ.ศ.๑๕๖๘) โดยยาตราทัพเรือเข้ายึดพื้นที่บริเวณตะกั่วป่า,คุระบุรี,เกาะภูเก็จ-พังงา แล้วจึงเดินทัพส่วนนี้ข้ามคาบสมุทรมลายูทางด่านคุระบุรี, ด่านพังงา-อ่าวลึก ไปสู่อ่าวนครศรีธรรมราช, อ่าวไชยา ทำการพิชิตศึกที่นครศรีธรรมราชอันเป็นนครหลวงของตามพรลิงค์ ได้สำเร็จ ข้อเสนอของ เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร เป็นการโต้แย้งความเห็นของนักวิชาการอย่างน้อยก็หนึ่งท่านคือ ศาสตราจารย์นิลกันตะ ศาสตรี ซึ่งกล่าวว่า “นังคุรอุไทยัน เป็นนามของบุคคลซึ่งบังคับบัญชากองทหารอยู่ที่ นังคุระ หมู่บ้านในแคว้นตันชอร์ ประเทศอินเดียภาคใต้ และมีชื่อเสียงในการรบพุ่ง ส่วน มนิกกิรมัม ก็คือสมาคมพ่อค้าซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น คำว่า อวนินารายณ์ ก็เป็นพระนามของพระราชาแห่งราชวงศ์ปัลลวะ ผู้ทรงพระนามว่า นันทิวรมันที่ ๓ และครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๓๖๙ - ๑๓๙๒ ----" ("สภาพการณ์ภาคเอเชียอาคเนย์ก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐" พระนิพนธ์ของศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล รวมอยู่ในหนังสือ"ประวัติพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหารฯ” พิมพ์โดยกรมศิลปากร พ.ศ.๒๕๒๐หน้า ๙๑) จากความเห็นของ ศาสตราจารย์นิลกันตะ ศาสตรี ทำให้เข้าใจว่า ชื่อ มนิกคราม และ นังคุระ จะไม่ใช่ชื่อท้องถิ่นในละแวกคาบสมุทรมลายู คือ บริเวณพังงา-ตะกั่วป่า-ภูเก็จ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ข้ออันพึงสังเกตประการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ สถานที่อันศิลาจารึกหลักนี้ตั้งอยู่นั้นศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ว่า "---หลักฐานทางโบราณคดีระหว่าง พ.ศ. ๑๓๕๐ -๑๔๐๐ ก็คือจารึกสั้น ๆ ภาษาทมิฬซึ่งค้นพบที่ อำเภอตะกั่วป่า ไม่ห่างจากเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายแห่งเขาพระนารายณ์นัก หลักฐานทั้งสองอย่างก็อาจสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันจารึกกล่าวถึงสระน้ำชื่อว่าอวนินารนัม (Avani-maranam) ซึ่งนังคุรอุไทยัน (Nangurudaiyan) เป็นผู้ให้ขุดและอยู่ในความดูแลรักษาของสมาชิกแห่ง มนิกกิรมัณ (Manikkiramum) ชวนให้สันนิษฐานว่า ข้อความในจารึกดังกล่าวน่าจะมีความหมายแก่สถานที่ที่จารึกนั้นตั้งอยู่บ้าง ไม่น่าจะเป็นเพียงการประกาศแสนยานุภาพของทมิฬโจฬะในกาลครั้งนั้นแต่เพียงประการเดียว อีกอย่างหนึ่ง ในการสำรวจโบราณคดีของศรีศักร วัลลิโภดม เวลาต่อมาได้มีการกล่าวสรุปไว้ในการสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง พ.ศ.๒๕๒๗ ตอนหนึ่งว่า "---ก็พูดมาถึงการตั้งหมู่บ้านของชาวอินเดีย ผมมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า ในสมัยตอนราว ๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ นั้น บริเวณทางเขตอ่าวพังงาจะเป็นที่ตั้งหลักแหล่งของกลุ่มชาวอินเดียที่เรียกว่าพวกโจฬะ และพวกโจฬะจะมีอิทธิพลอย่างมากในการทำลายล้างอำนาจศรีวิชัย รวมทั้งอาจจะได้เตรียมเข้าไปครอบครองศรีธรรมราช เพราะมีวัฒนธรรมของชาวโจฬะอยู่ในเขตนั้นมาก อย่างไรก็ตาม ผมเพียงเสนอสมมุติฐานว่า หลักฐานที่ผมแนะนี้จะตีความได้ว่า จะมีการตั้งหลักแหล่งของพวกอินเดียชาวโจฬะอยู่ในชายทะเลด้านเขตนี้ รวมทั้งที่อ่าวพังงานี้ด้วย (ศรีศักร วัลลิโภดม ๒๕๒๘ : รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง พ.ศ.๒๕๒๗ : ๒๓๐ ) ทมิฬโจฬะ เข้าครอบครองอาณาจักรตามพรลิงค์ จาก พ.ศ. ๑๕๖๘ จนถึง พ.ศ.๑๖๐๒ เป็นเวลาประมาณ ๓๔ ปี กษัตริย์แห่งตามพรลิงค์ ก็สามารถขับไล่พวกทมิฬโจฬะออกไปได้สำเร็จ แล้วตั้งศิริธรรมนครขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของอาณาจักรไทยภาคใต้ สามารถดำรง อิสรภาพอยู่ได้นานประมาณ ๒๒๐ ปี ก็ต้องสูญเสียเอกราชให้แก่กรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ.๑๘๒๓ ยุคสุโขทัย ชาวไทยภาคเหนือได้สถาปนาอาณาจักรกรุงสุโขทัยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๑ โดยกษัตริย์ชื่อ พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ได้ร่วมกันขับไล่ขอมออกไป แล้วยกให้พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (ชาวบ้านขนานนามว่า พระร่วงเจ้า) พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยรัชกาลที่ ๓ขึ้นครองราชในพ.ศ.๑๘๒๐ แล้วทรงแผ่พระราชอาณาเขตออกกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้เป็นส่วนใหญ่ แล้วแผ่อำนาจลงมาทางใต้ และมีชัยชนะเหนือศิริธรรมนครใน พ.ศ.๑๘๒๓ ภูเก็จ ซึ่งเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราชลำดับที่ ๑๑ ก็ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสุโขทัย เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในภาคใต้ ตลอดคาบสมุทรมลายู สุโขทัยปกครองนครศรีธรรมราชในลักษณะของ "เมืองประเทศราช" กล่าวคือมิได้ส่งเชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการผู้ใกล้ชิดของกษัตริย์ลงมาทำการปกครอง หากแต่ปล่อยให้เจ้านครศรีธรรมราชปกครองอยู่เช่นเคย โดยต้องจัดส่ง "ส่วย" เป็นบรรณาการต่อกรุงสุโขทัยอย่างสม่ำเสมอมิให้ขาดตอน "ส่วย" ซึ่งมีความสำคัญในสมัยนั้นจากนครศรีธรรมราช และภูเก็จ ก็คือ "ดีบุก" ที่สุโขทัยมีความต้องการใช้จำนวนมาก ในการหล่อพระพุทธรูป และเทวรูปทองสัมฤทธิ์ อันสวยงาม ทรงคุณค่า และมีชื่อเสียงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน "ทองสัมฤทธิ์" ที่ใช้หล่อพระพุทธรูปและเทวรูปต่าง ๆ นั้น ต้องใช้ดีบุกผสมกับทองแดง(และบางโอกาสก็มีทองคำผสมด้วย) สุโขทัยสามารถเอาชนะนครศรีธรรมราชได้ก็เท่ากับได้แหล่งดีบุกแหล่งใหญ่เข้าไว้ใอำนาจการสร้างศิลปะทางปฏิมากรรมด้วยทองสัมฤทธิ์จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วและอย่างมีคุณค่า ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ( : ๒๖) "ศิลปะในประเทศไทย" (โดยอมรินทร์การพิมพ์ กรุงเทพ ฯ ) ตอนหนึ่งว่า "---ศิลปะแบบสุโขทัยจัดได้ว่าเป็นศิลปะไทยที่งดงามที่สุด และมีลักษณะเป็นของตนเองมากที่สุด โดยเฉพาะในการสร้างพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัยได้ติดต่อรับพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทนิกายลังกาวงศ์มาจากเกาะลังกา เหตุนั้นอิทธิพลของศิลปะของลังกาจึงมีต่อศิลปะสุโขทัยบ้าง แต่ส่วนมากมีอยู่แก่สถาปัตยกรรมยิ่งกว่าประติมากรรมพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ลอยตัวปางลีลาของสมัยสุโขทัยงดงามไม่แพ้ประติมากรรมชิ้นเอกอื่น ๆ ในโลก ----" "---ในสมัยนี้มีการหล่อเทวรูปสัมฤทธิ์ขึ้นหลายองค์ เป็นต้นว่า รูปพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม และพระหริ หรือพระอิศวรและพระนารายณ์ผสมกันเป็นองค์เดียว---" นอกจากการส่งส่วยด้วยดีบุกจากนครศรีธรรมราช สุโขทัย ยังได้แหล่งระบายสินค้าประเภทถ้วยชามสังคโลก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมของสุโขทัย ที่ได้รับมาจากประเทศจีนและสามารถทำออกจำหน่ายแก่ประเทศข้างเคียง เช่น เมาะตะมะ และจำหน่ายภายในประเทศ เช่น ในตลาดปสาน ตลอดจนขายมายังภาคใต้ คือ ไชยาและนครศรีธรรมราช ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบเศษกระเบื้องถ้วยชามสมัยสุโขทัยมากมายที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (ศรีศักร วัลลิโภดม ในเรื่องโบราณคดีไทยในศตวรรษที่ผ่านมา ที่อ้างแล้วข้างต้น) นอกจากการค้าขายถ้วยชาม, การรับส่วยดีบุก, การได้พระพุทธสิหิงค์แล้ว กิจกรรมยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งที่ได้จากนครศรีธรรมราชก็คือ พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ที่เจริญก่อนแล้วในนครศรีธรรมราชและภาคใต้ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของกรุงสุโขทัย กล่าวถึงการที่สุโขทัย รับเอาพระเถระผู้ใหญ่ (ปู่ครู) ไปจากนครศรีธรรมราชไว้ชัดเจน ทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรมฝ่ายพระพุทธศาสนา ก็มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ระหว่างสุโขทัยและนครศรีธรรมราชพอสมควร ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า "---นอกจากลักษณะพระพิมพ์และกระเบื้องถ้วยชามของสุโขทัยแล้ว ยังมีซากโบราณสถานอีกแห่งหนึ่ง ---คือ ซากฐานพระสถูปวัดศพเดิมซึ่งรวมอยู่ในเขตวัดท้าวโคตร --- ตอนบนของฐานพระปรางค์องค์นี้มีร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า ถูกเปลี่ยนให้เป็นองค์ระฆังของพระเจดีย์ทรงกลม เมื่อสรุปแล้ว พระสถูปองค์นี้คงจะมีอายุระหว่าง พ.ศ.๑๗๐๐ ถึง ๑๙๐๐ รับกันกับพระพิมพ์และเศษกระเบื้องถ้วยชามสมัยสุโขทัยที่พบในตัวเมือง ---" (โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา เมืองโบราณ,๒๕๒๕ ,หน้า ๑๐๐) และเมื่อมีการศึกษาศิลปะสุโขทัยทางฝ่ายเหนือเราพบว่า ศิลปะสถาปัตยกรรมในยุคสมัยศิลปะศรีวิชัย ก็เดินทางไปสู่อาณาจักรสุโขทัยเช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ว่า "---เจดีย์แบบศรีวิชัย คือเจดีย์ฐานและองค์ระฆังสูงทำเป็นสี่เหลี่ยมบางทีมีคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปบางทีก็ไม่มี ตอนบนเป็นพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาและเจดีย์องค์เล็ก ๆ ประกอบอยู่ที่สี่มุม เป็นต้นว่า มณฑปวัดเขาใหญ่ และเจดีย์รายบางองค์ในวัดเจดีย์เจ็ดแถว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ศิลปะศรีวิชัยคงแพร่หลายขึ้นมาเมื่ออาณาจักรสุโขทัยแผ่อำนาจลงไปทางใต้ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช---"(ศิลปะประเทศไทย, : หน้า ๒๙) ผลจากการที่สุโขทัยเข้าครอบงำภาคใต้ หรือศิริธรรมนคร และเมืองบริวารในฐานะเมืองประเทศราช จาก พ.ศ. ๑๘๒๓ จนถึงพ.ศ.๑๙๒๑ รวมเวลาประมาณ ๙๘ ปี ก็คือ การได้แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างภาคใต้กับภาค อื่น ๆ ของประเทศไทย ด้วยการถ่ายเทประชาชนชาวไทยจากภาคกลาง และภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ เช่นเดียวกับที่ประชาชนชาวภาคใต้ก็ถ่ายเทขึ้นไปสู่ภาคเหนือ-ภาคกลางบ้าง ก่อให้เกิดการผสมผสานทั้งในด้านการแต่งงานระหว่างกัน และในด้านภาษาพูดซึ่งได้ค่อย ๆ ผสมกลมกลืนกันมากขึ้น ช่วยให้มีการสื่อความหมายเข้าใจกันเพิ่มขึ้นตามลำดับเป็นพื้นฐานให้สามารถรวมกันเข้าเป็นราชอาณาจักรไทยอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในระยะเวลาต่อมาซึ่งจำนวนผู้คนพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น การสัญจรไปมาติดต่อระหว่างเมืองต่อเมืองเป็นที่นิยมมากขึ้นตลอดจนการค้าขายแลกเปลี่ยนได้เพิ่มมูลค่าและปริมาณมากขึ้น ทำให้ภูเก็จหรือเกาะถลางในสมัยนั้นได้เป็นที่รู้จักและสนใจของชาวไทยตลอดจนชาวต่างประเทศมากขึ้นด้วย อาจถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่การตั้งหลักแหล่งอยูอาศัยที่เกาะถลางที่เคยเป็นป่าดงพงทึบมาก่อนเริ่มเป็นที่แน่นอนและก้าวเข้าสู่ยุคพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านการเมือง การเศรษฐกิจ และสังคมในเวลาต่อมา ๒.๒ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย มีอำนาจปกครองเหนือดินแดนนครศรีธรรมราช และหัวเมืองต่าง ๆ ทางคาบสมุทรมลายูอยู่เพียง ๙๘ ปี ก็สูญเสียเอกราชให้แก่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๒๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพงัว) แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เกาะภูเก็จหรือเกาะถลาง ซึ่งเป็นเมืองบริวารของนครศรีธรรมราช ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพระนครศรีอยุธยาเช่นเดียวกับหัวเมืองอื่น ๆ ในภาคใต้ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภูเก็จ ที่พอจะมีเอกสารหลักฐานอ้างอิงก็ได้เกิดขึ้นในยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีระบบการปกครองที่พัฒนามากขึ้นกว่ากรุงสุโขทัย อย่างไรก็ตาม ในสมัยศรีอยุธยาชื่อภูเก็ต ยังมิได้ปรากฏขึ้นในทางราชการของไทย มีแต่เพียงชื่อ เกาะถลาง เมืองถลาง เท่านั้น ซึ่งบางครั้งคำว่า "ถลาง " ก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก แต่มีการเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง “คำให้การชาวกรุงเก่า ภาค ๒” คลังวิทยา ๒๕๑๕ หน้า ๑๗๖ - ๑๙๖ ความตอนหนึ่งว่า“---ตำนานและทำเนียบต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยา---ตั้งใจทำสำหรับประโยชน์ของผู้ศึกษาโบราณคดี เพื่อจะได้อ่านเข้าใจเรื่องโดยง่าย--- ชื่อเมือง หัวเมืองปักษ์ใต้ ---- ๒๒. เมืองกุย (ตรง) ๒๓.เมืองตานาว (เมืองตะนาวศรี) ๒๔. เมืองปริศ เมืองมะริด ๒๕. เมืองชะลิน (เมืองฉลาง)---" ฤดี ภูมิภูถาวร (๒๕๓ : ๒๑) กล่าวว่า "---จนถึงสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถ (พ.ศ. ๒๑๔๘-๒๑๖๓) ปรากฏชื่อเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองถลาง เป็นหัวเมืองขึ้นกับฝ่ายกลาโหมทั้งสามเมือง" เรื่องชื่อเมืองภูเก็ตนั้น มีปัญหาว่าได้ปรากฏมีขึ้นในพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยใด ผู้ค้นคว้าและนักศึกษาเกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีหลักฐานใด ๆ จะอ้างอิง นอกจากจะประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ ภาคต่าง ๆ ที่นำเอาสำเนาสัญญาการค้าระหว่างเมืองไทยกับต่างประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายไทยก็จะทำเป็นเอกสารภาษาไทยเรียกชื่อเมืองถลางว่า เมืองถลางหรือเมืองถลางบางคลี ไม่มีการเอ่ยชื่อถึงเมืองภูเก็ตเลย แต่เอกสารฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งไทยไปได้รับมาจากฝรั่งเศส นำมาแปลเป็นภาษาไทยนั้น จะเรียกเมืองถลางว่า เมืองภูเก็ตตลอดโดยไม่มีการเอ่ยชื่อถึงเมืองถลางเลยทั้งนี้ก็เนื่องจากไทยพึ่งไปได้เอกสารต่างๆ มาจากฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ แล้วได้ทำการแปลเรื่อยมา ซึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ นั้น เมืองถลางได้กลายสภาพเป็น "อำเภอถลาง” ขึ้นต่อจังหวัดภูเก็ตไปแล้ว จึงเข้าใจว่า ผู้แปลจะแปลชื่อเมืองถลางที่มักจะเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า”ยองเซลัง (Joncelang) และ“ยองซะลัม” (Jonsalam) ว่า “เมืองภูเก็ต” เพื่อความเข้าใจของผู้อ่าน ซึ่งมีความรู้จักคุ้นเคยกับเมืองภูเก็ตมากกว่าเมืองถลางแล้วกรมศิลปากรได้เขียนคำอธิบายเกี่ยวกับจดหมายคณะพ่อค้าฝรั่งเศสที่เข้ามาค้าขายในเมืองไทยซึ่งเป็นเจ้าของจดหมายเหตุต่าง ๆ ที่ไทยเรารับมาแปล และตีพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ หลายวาระ รวมทั้งตีพิมพ์รวมไว้ในหนังสือประชุมพงศาวดารต่าง ๆ นั้นด้วย ดังนี้ "---จดหมายเหตุของพ่อค้าฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้ มีความทั้งสิ้น ๗ ภาค ที่ได้กล่าวมาแล้ว ๔ ภาค นอกนั้นตีพิมพ์เป็นประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔๔ ภาคที่ ๔๖ และภาคที่ ๔๗ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ สรุปได้ว่า "จดหมายเหตุคณะพ่อค้าฝรั่งเศสเรื่องนี้ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เลขานุการราชบัณฑิตยสภา ได้ขอคัดมาจากประเทศฝรั่งเศส คราวออกไปเยี่ยมบ้านเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓---" (ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑๐ ก้าวหน้า ๒๕๐๗ : ๓) ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ ภาคที่ ๔๐ ได้แสดงคำแปลจดหมายของมองซิเออร์ เดลานต์ ซึ่งมีไปถึง มองซิเออร์ บารอง ลงวันที่ ๒๖ เดือน ธันวาคม ค.ศ.๑๖๘๓ (พ.ศ.๒๒๒๕) มีความตอนหนึ่งว่า "---มองซิเออร์คอนสตันตินฟอลคอน ได้มาบอกข้าพเจ้าว่า เจ้าเมืองบาตาเวีย ได้มีหนังสือมาถวายพระเจ้ากรุงสยาม ขอพระราชทานเกาะภูเก็ตให้แก่ฮอลันดา และขอทำการค้าขายในเกาะนี้ได้แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่มองซิเออร์คอนสตันตินฟอลคอลได้บอกข้าพเจ้าว่า หนังสือเจ้าเมืองบาตาเวียฉบับนี้ ยังหาได้ถวายไม่ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจว่า ถึงแม้ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ายังไม่ได้รับคำสั่งจากท่านก็จริงอยู่ แต่เป็นการสมควรที่ข้าพเจ้าจะขอเกาะภูเก็ตนี้ให้แก่บริษัท เพราะฉะนั้นเมื่อเจ้าพระยาพระคลังได้กลับลงมาจากเมืองลพบุรีแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ทำเรื่องราวยื่น ขอให้ไทยยกเกาะภูเก็ตให้แก่บริษัทฝรั่งเศส อีกสองสามวันเจ้าพระยาคลังก็ตอบเรื่องราวของข้าพเจ้าว่า พวกฮอลันดาได้ขอเกาะภูเก็ตนี้และพวกฮอลันดาคิดจะเอาให้ได้ ถ้าไทยได้ยกเกาะภูเก็ตให้แก่เราและไม่ให้แก่ฮอลันดาแล้ว ก็จะเป็นการทำให้ไทยกับฮอลันดาแตกร้าวกัน ซึ่งจะยอมให้เป็นไปไม่ได้เพราะฉะนั้น ขอให้บริษัททำการค้าขายอย่างที่เคยทำมาแล้วเถิด และขอให้รู้สึกว่า เมื่อราชทูตสยามได้กลับมาแล้ว เจ้าพระยาพระคลังจะได้จัดการให้บริษัทฝรั่งเศสทำการค้าขายอย่างสะดวกที่สุด "การที่เจ้าพระยาพระคลังได้ตอบมาดังนี้ ก็ตรงกับที่ข้าพเจ้าได้คาดไว้ และตรงกับความต้องการของข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจึงได้ขอให้พระยาคลังสั่งไปยังเจ้าเมืองภูเก็ตขอให้ช่วยเหลือเกื้อหนุนเจ้าพนักงานของบริษัทเจ้าพระยาคลังก็ได้รับรองว่า จะได้สั่งไปตามคำขอของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้ทราบว่า เจ้าพระยาพระคลังก็ได้สั่งไปตามนั้นแล้ว---"(ประชุมพงศาวดารฯ เล่ม ๑๐ ก้าวหน้า,๒๕๐๗ : ๒๗-๔๔) มีเอกสาร ๒ ฉบับ ที่ควรจะได้เปรียบเทียบกันดู คือหนังสือสัญญาการค้าระหว่างไทยกับฝรั่งเศสซึ่งได้ทำกันขึ้นระหว่าง เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ เอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส กับ มองซิเออร์คอนสตันตินฟอลคอน ผู้แทนสมเด็จพระนารายณ์พระเจ้ากรุงสยามพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสส่งพ่อค้าฝรั่งเศสมาทำการค้าขายในอินเดียตะวันออกสัญญาฉบับนี้ทำที่เมืองลพบุรี (เข้าใจว่าต้นฉบับคงเป็นภาษาฝรั่งเศส) ลงวันที่ ๑๑ เดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๘๕ พ.ศ.(๒๒๒๘) มีข้อความสัญญาทั้งหมด ๙ ข้อ ได้กล่าวถึงเมืองภูเก็ต(ที่จริงคือ ถลาง) ในข้อ ๖ ว่า "๖. เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสขอพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทฝรั่งเศสได้ค้าขายดีบุกที่เมืองภูเก็จ และเมืองขึ้นของภูเก็จได้ฝ่ายเดียว โดยห้ามมิให้ประเทศอื่น ๆ ค้าขายดีบุกในเมืองนั้นได้และเพื่อบริษัทจะได้ทำการค้าขายดีบุกได้โดยสะดวก จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทได้ปลูกห้างขึ้นในที่แห่งหนึ่งแห่งใด อันสมควร ข้างฝ่ายบริษัทจะต้องส่งเรือมาจากคอรอมันดเลบรรทุกสินค้าต่าง ๆ มายังเมืองภูเก็จปีละ ๑ ลำทุก ๆ ปี "สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทค้าขายดีบุกในเมืองภูเก็จ และเมืองขึ้นของเมืองภูเก็จได้ฝ่ายเดียว โดยห้ามมิให้ประเทศอื่นๆ ค้าขายดีบุกในเมืองนั้นได้และโปรดพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทสร้างห้างในเมืองภูเก็จได้ แต่บริษัทจะต้องส่งแบบห้าง ให้เสนาบดีฝ่ายสยามดูเสียก่อน เมื่อเสนาบดีเห็นชอบแล้ว บริษัทจะต้องสร้างห้างตามแบบนั้นทุกประการ จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างหนึ่งอย่างใดมิได้เป็นอันขาดและฝ่ายบริษัทจะต้องนำสินค้าต่าง ๆ อันจำเป็นสำหรับการค้าขายของพลเมืองภูเก็จและเมืองขึ้นของภูเก็ตเพื่อมิให้ชาวเมืองภูเก็จต้องไปเที่ยวหาสิ่งจำเป็นจะต้องใช้สอยจากที่อื่น ถ้าแม้ว่าบริษัทมิได้กระทำตามที่ได้กล่าวมาในข้อนี้จนถี่ถ้วนทุกประการแล้ว พลเมืองภูเก็จและเมืองขึ้นของภูเก็จ จะไปทำการค้าขายกับประเทศอื่น ๆ ก็ได้ แล้วบริษัทจะหาว่าทำผิดสัญญาข้อนี้มิได้ ถ้าเช่นนั้นพระเจ้ากรุงสยามจะโปรดให้เก็บภาษีดีบุกในเมืองภูเก็จ และเมืองขึ้นของภูเก็จตามธรรมเนียมที่เคยเก็บมาก็ได้โดยบริษัทจะร้องคัดค้านอย่างใดมิได้"(ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ ภาค๔๐ ก้าวหน้า ๒๕๐๗ : ๑๓๙-๑๔๐) ส่วนสัญญาการค้าระหว่างไทยฝรั่งเศส อีกฉบับหนึ่งลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๒๓๐ ลงนามฝ่ายฝรั่งเศสโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูต กับตัวแทนฝ่ายไทย โดยออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีสุบราชพิริยภาหุ ตำแหน่งโกษาธิบดี ลงนามสัญญาที่เมืองลพบุรี (เต้นฉบับเป็นภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส) มีข้อสัญญารวม ๑๒ ข้อ และกล่าวถึงเมืองถลางไว้ในข้อ ๖ ดังนี้ "๖. ข้อหนึ่ง สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่ พระราชทานให้กุมปันหญีฝรั่งเศสไปตั้งซื้อขายในเมืองถลางบางคลีก็ดี แลในจังหวัดที่นั้น แลห้ามจังกอบขนอนแลริดชาดุจในข้อสองข้อสาม แลพระราชทานให้ดีบุกในเมืองถลางบางคลีทั้งปวง แลห้ามมิให้ผู้อื่นผู้ใด ๆ ซื้อดีบุกนอกกุมปัน หญีฝรั่งเสดนั้นได้ ถ้าแลผู้ใดลอบลักซื้อขายนอกกุมปันหญีฝรั่งเสดไซร้ ให้ริบเอาและให้ทำเป็นสี่ส่วน ให้สองส่วนให้แก่ชาวคลังเป็นของหลวง ส่วนหนึ่งให้แก่ผู้โจท ส่วนหนึ่งพระราชทานกุมปันหญีฝรั่งเสด แลให้กุมปันหญีฝรั่งเสดเอาสินค้าตามต้องการ ณ เมืองนั้นไปขายจงอุดม อย่าให้ราษฎรชาวเมืองนั้นขาดสินค้าซึ่งต้องการนั้นได้ แลราคาสิ้นค้าซึ่งกุมปันหญีเอามาขายก็ดี ราคาดีบุกซึ่งกุมปันหญีจะซื้อก็ดี ให้เจ้าเมืองแลกรมการแลผู้เฒ่าผู้แก่แลกุมปันหญีนั่งด้วยกัน ว่าราคาสินค้าซึ่งกุมปันหยีจะขายแลราคาดีบุกซึ่งกุมปันหญีจะซื้อนั้น ให้ว่าให้ขาดทีเดียว แลอย่าให้กุมปันหญีขึ้นลงราคาให้เป็นเคืองแค้นแก่ราษฎร ถ้าแลราคานั้นมิลงกัน ก็ให้บอกข้อซึ่งขัดสนนั้นเข้ามาแลสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่โปรดประการใดก็ให้ทำตาม "ประการหนึ่งดีบุกส่วยสาอากร ณ เมืองถลางแลจังหวัดนั้น ก็ให้ชาวคลังเรียกเอา ตามทำเนียม แลแต่ในเดือนสิบ ปีมะโรงสำฤทธิศกในเมื่อหน้า อย่าให้ชาวคลังปลงดีบุก แก่ราษฎรด้วยดีบุกนั้นมีพอกุมปันหญีฝรั่งเสดจะซื้อขาย "ประการหนึ่งถ้าแลกุมปันหญีฝรั่งเสดมิได้เอาสินค้าไปซื้อขายตามสัญญา แลราษฎร ขาดสินค้าแลเอาดีบุกซื้อขายแก่ลูกค้าอื่นก็อย่าให้เจ้าพนักงานริบเอาลูกค้าซึ่งซื้อขายดีบุกแก่กันนั้นเลย จึงสรุปได้ว่าชื่อของเมืองภูเก็ตในสมัยอยุธยานั้นยังไม่มี คงมีแต่ชื่อเกาะถลาง หรือเมืองถลาง เท่านั้น (ชื่อเมืองภูเก็จ เพิ่งเกิดขึ้นสมัยกรุงธนบุรี) ดังได้กล่าวมาแต่ตอนต้นแล้วว่า เมืองตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และเมืองถลาง มีชื่อขึ้นอยู่กับฝ่ายกลาโหมในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.๒๑๔๘-๒๑๖๓) จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเมืองถลางจะต้องมีเจ้าเมืองซึ่งได้รับการแต่งตั้งมาจากกรุงศรีอยุธยาตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินในสมัยนั้นแต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ชี้ชัดว่ามีใครบ้างที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าเมืองถลางในสมัยก่อนจากรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า ชื่อเจ้าเมืองถลางปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ มองซิเออร์ เรอเนอ ชาร์บอนโน ดังที่ท่านพันเอก เจรินี ได้เขียนไว้ในเรื่อง "เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์เกาะถลาง" ว่า "___ชาร์บอนโน (Re’ ne’ Charbonneau) เดินทางมาถึงประเทศไทยใน ค.ศ.๑๖๗๗ (พ.ศ.๒๒๒๐) และได้เข้าทำงานในโรงพยาบาลที่พระมหากษัตริย์ไทยเป็นผู้สร้างขึ้นประมาณปีค.ศ.๑๖๘๑-๑๖๘๖ (พ.ศ.๒๒๒๔-๒๒๒๘) พระมหากษัตริย์ไทยทรงแต่งตั้งให้ชาร์บอนโนเป็นเจ้าเมืองถลาง เหตุที่เขาได้รับการแต่งตั้งนี้เพราะชาร์บอนโนได้ไปสร้างป้อมบริเวณพรมแดนไทยติดกับพะโคได้สำเร็จ การที่ชาวฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าเมืองถลางนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจของฝรั่งเศสนั้นมีมากกว่าประเทศยุโรปอื่น เช่น โปรตุเกส ฮอลันดาและอังกฤษ เกาะถลางในเวลานั้นเป็นอย่างที่ Gervaise และ Deslandes ได้บอกไว้ว่า เป็นที่ต้องการของฮอลันดาที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ชาร์บอนโน เป็นเจ้าเมืองอยู่ ๔ ปี ก็ได้ลาออกและกลับไปอยุธยาผู้มาดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองถลางแทน คือ บิลลี่ (Billi) ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่พักของเชอวาเลีย เดอ โชมองต์ การแต่งตั้งให้บิลลี่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผลมาจากสนธิสัญญาการค้าฝรั่งเศส-ไทย ที่คณะทูตซึ่งมี โชมองต์ เป็นหัวหน้าได้ทำไว้ในปีค.ศ.๑๖๘๕(พ.ศ.๒๒๒๘)---"(เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์เกาะถลาง" ของ พันเอก จี.อี.เจรินี แปลโดยสุเทพ ปานดิษฐ์ บรรณาธิการโดยสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์, อำเภอถลางพิมพ์ พ.ศ.๒๕๔๐ หน้า ๕๘) ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว เมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติได้เกิดความแตกร้าวระหว่างฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยากับข้าราชการขุนนางไทยอย่างรุนแรง ชาวฝรั่งเศสถูกขับออกนอกประเทศจำนวนมาก มองซิเออร์บิลลี่ ผู้เป็นเจ้าเมืองถลางถูกปลดออกจากราชการ พงศาวดารเมืองถลางซึ่งมีการจดบันทึก พ.ศ.๒๓๘๔ ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้กล่าวไว้เพียงเล็กน้อยว่า "---ฝ่ายบ้านลี้พอนจอมสุรินคิดมิชอบ จะตั้งตัวเป็นใหญ่ มีตราออกมาให้จับจอมสุรินฆ่าเสียเพราะเป็นโทษขบถต่อแผ่นดิน ---" จอมสุรินผู้นี้จะเป็นคนเดียวกับมองซิเออร์บิลลี่หรืออย่างไร ไม่มีหลักฐานยืนยัน หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยาในช่วงปี พ.ศ.๒๒๓๑-๒๒๓๒ ซึ่งเป็นระยะแรกที่สมเด็จพระเพทราชาเสด็จขึ้นครองราชสมบัตินั้นแล้ว ชื่อเสียงของเมืองถลางก็เลือนหายไปเป็นเวลานาน เจรินี ได้เขียนไว้ในเรื่อง "เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์เกาะถลาง" อีกตอนหนึ่งว่า "---การเปลี่ยนแปลงใน ปีค.ศ. ๑๖๘๘(พ.ศ.๒๒๓๑) ทำให้การพัฒนาประเทศและการค้าขายกับต่างประเทศที่เคยเป็นมาในช่วง ๓๐ ปี ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนั้นหยุดชะงักไปและยังทำให้เกิดผลเสียต่อเกาะถลางอีกด้วย กล่าวคือไม่มีเรือรบไว้ป้องกันชายฝั่ง ทำให้เกิดมีพวกโจรสลัดมลายูออกเที่ยวปล้นเรือสินค้า เจ้าเมืองในอดีตแต่ก่อนเป็นชาวยุโรปก็เปลี่ยนเป็นคนจีนที่ขาดศีลธรรมมุ่งแต่จะกอบโกยแสวงหาผลประโยชน์ ---"(เจรินี,เรื่องเดิม, หน้า ๖๐) ในพงศาวดารเมืองถลาง ซึ่งบันทึกคำให้การชาวถลาง เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๔ ได้กล่าว เพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า "---สิ้นเชื้อผู้ดีลงเมืองถลางว่าง พระยาถลางคางเซ้ง ชาวกรุงออกมาเป็นเจ้าเมือง--"(ประชุมพงศาวดารฯ ภาคที่ ๒ เล่ม ๑ ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ หน้า ๔๙๗-๔๙๘ สันนิษฐานว่า"พระยาถลางคางเซ้ง" ผู้นี้คงเป็นคนจีนที่เป็นเจ้าเมืองถลาง ตามที่เจรินี ได้เขียนไว้และอาจจะมีการสืบทอดความเป็นเจ้าเมืองโดยสายตระกูลคนจีน จากปี พ.ศ.๒๒๓๔ ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ตลอดมาจนถึง ปี พ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายลงโดยพม่า เมืองถลางจึงกลับไปขึ้นกับนครศรีธรรมราชตามเดิม เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นเจ้าเมืองถลางอีกครั้งหนึ่ง โดยเจ้านครศรีธรรมราช เป็นผู้ประสาทการ สรุปเหตุการณ์สำคัญของภูเก็ต(ถลาง) สมัยกรุงศรีอยุธยา เกาะถลาง หรือเมืองถลาง อันเป็นนามเดิมของเกาะภูเก็ตที่รับรู้เป็นทางราชการในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมานั้น ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งพอจะสรุปได้เป็นข้อมูลสำคัญ ดังต่อไปนี้ ชื่อเมือง ซึ่งเอกสารอันเป็นหลักฐานอ้างอิงมักจะขัดแย้งกันอยู่ โดยบางฉบับก็เรียกว่าเกาะถลาง เมืองถลาง บางฉบับก็เรียกว่าเกาะภูเก็ต เมืองภูเก็ต จนเกิดความเข้าใจสับสนว่าเกาะแห่งนี้มีสองเมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อได้ตรวจสอบเอกสารที่อ้างอิงเหล่านั้นโดยรอบคอบแล้ว ก็จะพบว่าความแตกต่างดังกล่าวนี้เกิดจากการใช้ถ้อยคำในการแปลเอกสารต่างประเทศเป็นภาษาไทย ซึ่งเกิดขึ้นต่างยุคต่างสมัยกันเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วเกาะแห่งนี้ชาวต่างประเทศรู้จักในชื่อ "จังซีลอน" หรือ "อุยังซาลอน" ฯ ผู้แปลบางท่านก็แปลคำนี้ว่า"ถลาง"บางท่านแปลว่า "ภูเก็ต" ทั้ง ๆ ที่เอกสารต้นฉบับที่แปลนั้นเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในช่วงเวลาเดียวกัน แต่กลับเรียกชื่อในภาษาไทยแตกต่างกัน ทั้งนี้ตรวจค้นดูได้จากจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศส ที่แปลเป็นภาษาไทยกับเอกสารของราชสำนักไทยที่ทำต้นฉบับเป็นภาษาไทยโดยตรงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในประชุมพงศาวดารภาคต่างๆ ที่ว่าด้วยเอกสารเหล่านี้. ชื่อ "เมืองภูเก็จ" พึ่งเกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าเมืองคนแรกคือ "เมืองภูเก็จ" (เทียน) โดยเป็นเมืองที่ทำการขุดหาและค้าขายแร่ดีบุกในยุคนั้น ขึ้นตรงต่อเมืองถลาง. ชาวต่างประเทศเข้ามายังเกาะภูเก็ต ตามประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงการเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาของชาวต่างประเทศหลายครั้ง และส่วนมากมักจะเกี่ยวข้องกับเมืองถลางในการค้าขายสินค้าต่าง ๆ แลกเปลี่ยนกับแร่ดีบุก และของป่านานาประเภท รวมทั้งทรัพยากรทางทะเล เช่น อำพันทอง ไข่มุก เป็นต้น ชาวต่างประเทศเหล่านั้น ได้แก่ ชาวจีน ชาวจีนได้เข้ามายังเกาะถลางเมื่อใดไม่ปรากฏชัด แต่สันนิษฐานว่าในยุคที่อาณาจักรตามพรลิงค์กำลังรุ่งเรืองนั้น ดินแดนคาบสมุทรมลายูเป็นศูนย์กลางของการติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับอินเดีย คนจีนจึงคงรู้จักเกาะถลางตั้งแต่สมัยนั้น และยังคงจะเดินทางแสวงโชคในการค้าขายกับชาวพื้นเมืองจนตกลงใจตั้งรกรากอยู่ที่เมืองนี้ เป็นชนวนให้ญาติมิตรทางเมืองจีนค่อย ๆ เดินทางมาสมทบเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังที่ เจรินี ได้ เขียนไว้ว่า เมื่อเมืองถลางสุดสิ้นเจ้าเมืองฝรั่งชาวยุโรปลงแล้ว ชาวจีนก็ได้เป็นเจ้าเมืองขึ้นแทนในช่วง ๓๐ ปี หลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตแล้วใน พ.ศ. ๒๒๓๑ คือ ประมาณ พ.ศ. ๒๒๖๑ เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ปรากฏว่าคนจีนได้ร่วมทำการค้าแร่ดีบุกกับท้าวเทพกระษัตรีในพ.ศ. ๒๓๒๙ ตามจดหมายเหตุเมืองถลาง ซึ่งเป็นจดหมายของท้าวเทพกระษัตรีมีถึงกปิตัน ฟรานซิส ไลท์ ก็ระบุถึง ชาวจีนที่คุมแร่ดีบุกจากเมืองถลางไปยังเกาะปีนัง (จดหมายเหตุเมืองถลาง ฯ ศวภ.๑๗ ศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๒๘) ชาวโปรตุเกส โปรตุเกสได้เข้ามาสู่ราชอาณาจักรไทยเมื่อ พ.ศ.๒๐๕๔ รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ดังมีจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๖ เดือนพฤศจิกายน ๕.ศ.๑๖๘๖ (พ.ศ.๒๒๒๙)ข้อความตอนหนึ่งว่า "---ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยได้มีนักพรตของศาสนามาอยู่ในเมืองนี้เลย เว้นแต่มิชชั่นนารี ชาวโปรตุเกสซึ่งได้เล่าเรียนในโรงเรียนของเราที่กรุงศรีอยุธยาคนเดียวเท่านั้น มิชชั่นนารีคนนี้ได้มาอยู่ที่เมืองภูเก็ตได้ ๓ ปีแล้ว และได้กลับไปเสีย ๑๕ ปีมาแล้ว---"(ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔๔เล่ม ๑๑ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า หน้า ๕๕-๖๑ พ.ศ.๒๕๑๓) เมื่อคำนวณเวลา ๑๕ ปีก่อน พ.ศ. ๒๒๒๙ ก็จะเป็น พ.ศ.๒๒๑๔ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตอนต้นรัชกาล แม้ว่าตามหลักฐานจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสจะแจ้งว่าชาวโปรตุเกสมีที่ภูเก็ตเพียงคนเดียวและกลับไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.๒๒๑๔ แต่ เมื่อสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารฯ เสด็จยังเมืองถลาง พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งซึ่งขออัญเชิญมาอ้างไว้ ณ ที่นี้ว่า "อนึ่ง เมืองถลางมีคนอยู่ข้างจะแปลกอยู่พวกหนึ่ง คือชาวถลางเรียกกันว่าฝรั่ง ได้เรียกตัวมาสนทนาซักไซ้ดูคนหนึ่ง รูปร่างหน้าตาก็เป็นไทย ๆ ชื่อปอด บอกว่าตนถือศาสนาฝรั่ง คือถือวันอาทิตย์เป็นวันพระ ถามว่าวันอาทิตย์ทำอะไรบ้าง ตอบว่าสวดมนต์ภาวนา ลองให้สวดฟังดูก็เหมือนกับพวกเข้ารีตในกรุงเทพฯสวดนั่นเอง ว่าเป็นคำไทย ถามว่ามีหนังสือหรือเปล่า ตอบว่ามีเป็นตัวฝรั่งแต่อ่านออกสำเนียงเป็นไทย ถามว่าตัวนายปอดเองนั้นมีชื่อที่พ่อให้หรือเปล่า ตอบว่ามี พ่อให้รับศีลแล้วให้ชื่อว่าดอมินิโค ภรรยาเป็นคนไทยยังไม่ได้รับศีล มีบุตรได้รับศีลแล้ว ๒ คน คนหนึ่งเป็นหญิงพ่อให้ชื่อว่า นาตาเลีย อีกคนหนึ่งเป็นชาย พ่อให้ชื่อว่า เปา (คือเปาโลหรือปอล) ถามว่าได้ถือพระฝรั่งมานานแล้วหรือ ตอบว่าถือต่อ ๆ กันมาหลายชั่วคนแล้ว แต่พึ่งมาสวดภาวนาอย่างที่สวดเดี๋ยวนี้ได้เมื่อพ่อออกมาเมื่อไม่กี่ปีมาแล้ว เมื่อก่อนที่พ่อออกมามีแต่ถือวันอาทิตย์เป็นวันพระหยุดการทำงานเท่านั้น เดี๋ยวนี้นอกจากวันอาทิตย์มีสวดมนต์ย่อทุกวัน คือแตะที่ยอดอกแล้วว่าพระบิดาแตะที่ชายโครงว่าพระบุตร แตะที่ไหล่สองข้างว่าพระจิตร ถามว่าแปลว่ากระไร ก็บอกว่าไม่รู้ พ่อสอนให้ทำเช่นนั้น ก็ทำตาม ถามว่ารู้หรือไม่ว่าชั้นเดิมทำไมพวกฝรั่งจึงได้มาอยู่เมืองถลาง ตอบว่าไม่รู้ ตามความที่จริงพวกนี้บางที่จะเป็นลูกหลานของชาวโปรตุเกสที่ได้มาอยู่ในเมืองถลางแต่ครั้งโบราณ หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นแต่ลูกหลานคนไทย ๆ ที่เข้ารีตตั้งแต่ครั้งชาวโปรตุเกสมาสอนไว้" (อัญเชิญจากพระราชนิพนธ์ฯเรื่องเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒). ในหนังสือเรื่อง"พระยาราชกปิตัน (ฟรานซิส ไลท์) พิมพ์โดยกรมศิลปากร พ.ศ.๒๕๑๗ นันทา วรเนติวงศ์ ผู้เรียบเรียง ได้กล่าวไว้ว่า "ภรรยาของฟรานซิส ไลท์ เป็นลูกครึ่งโปรตุเกสไทย และเธอเป็นชาวเมืองถลาง มีชื่อว่ามาร์ติน่า โรเซลล์ ปรากฏว่า ฟรานซิส ไลท์ ไปเยือนเมืองถลางครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๔ (ค.ศ.๑๗๗๑) นายมองค์ตัน(Monckton) กล่าวว่า กัปตันไลท์ไปตั้งรกรากอยู่บนเกาะถลางในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๓๑๙ (ค.ศ.๑๗๗๒) ภายหลังจากที่แผนการที่จะจัดตั้งอาณานิคมของบริษัทอินเดียตะวันออกในไทรบุรีได้ล้มเหลวไปแล้ว ศาสตราจารย์ อี.เอช. สจ๊วต ซิมมอนด์ อาจารย์สอนภาษาไทยของมหาวิทยาลัยลอนดอน ได้กล่าวถึง มาร์ตินา โรเซลล์ ไว้ ในเรื่อง"ฟรานซิส ไลท์ กับบรรดาสุภาพสตรีเมืองถลาง" ของเขาว่า "กัปตันไลท์ ได้สนิทสนมกับมาร์ตินา โรเซลล์ เมื่อราว พ.ศ.๒๓๑๕ (ค.ศ.๑๗๗๒) และได้อยู่กินเป็นสามีภรรยากับเธอตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา----" (พระยาราชกปิตัน (ฟราน ซิส ไลท์) นันทา วรเนติวงศ์ เรียบเรียง กรมศิลปากรพิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๗ หน้า ๔-๕) จากเอกสารเหล่านี้แสดงว่า เชื้อสายของชาวโปรตุเกสยังคงมี่อยู่ในเมืองถลาง ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๒๐๕๔ จวบจนกระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์พ.ศ.๒๔๕๒ โดยค่อย ๆ ผสมกลมกลืนกับคนไทยในท้องถิ่นกลับกลายเป็นคนไทยไปในที่สุด. ชาวฮอลันดา ประมาณ พ.ศ. ๒๑๔๖ ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริษัท วี.โอ.ซี.ของชาวฮอลันดา ได้เข้ามาสู่ประเทศไทย โดยมาตั้งสถานีการค้าที่เมืองปัตตานีก่อน แล้วส่งทูตไปเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในพ.ศ.๒๑๔๗ เป็นผลให้ได้เปิดสถานีการค้าขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ไทรบุรี และภูเก็ต (หรือเกาะถลาง) สินค้าที่ฮอลันดาต้องการ ได้แก่ ไม้ฝาง หนังสัตว์ ขี้ผึ้ง น้ำตาล รังนก ไม้กฤษณา และดีบุก (ประวัติศาสตร์ไทย,การปกครอง,สังคม,เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์กับต่างประเทศก่อนสมัยสุโขทัยจนถึงพ.ศ.๒๔๗๕ บังอร ปิยะพันธ์ โอเดียน สโตร์ ๒๕๓๘ : ๑๗๒-๑๗๕) การซื้อแร่ดีบุกของชาวฮอลันดาในภูเก็ตครั้งนั้นเป็นไปอย่างขาดความเป็นธรรม จึงถูกชาวเมืองภูเก็ต และชาวมลายู ทำการต่อต้านด้วยการเผาสถานีสินค้าและฆ่าฟันชาวฮอลันดาตายเสียหมดสิ้น เป็นผลให้ชาวฮอลันดาออกจากภูเก็ตไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (ดูจดหมายเหตุของพ่อค้าฝรั่งเศส ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔๔ ซึ่งอ้างแล้วในตอนต้น ๆ ) ชาวอังกฤษได้เข้ามายังประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๑๖๐ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏว่าได้มาทำการค้าที่เมืองถลางแต่ประการใด คงทำการค้าอยู่เฉพาะในกรุงศรีอยุธยา แล้วไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากถูกกีดกันจากชาวญี่ปุ่นและฮอลันดา ประกอบกับเจ้าหน้าที่ในบริษัทการค้าของอังกฤษที่กรุงศรีอยุธยาทุจริตต่อบริษัทจนทำให้บริษัทขาดทุนอย่างมากมาย จึงต้องเลิกลาไปเมื่อพ.ศ.๒๑๖๕ อังกฤษกลับเข้ามาทำการค้าในกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ.๒๒๒๗ แต่อังกฤษก็ไม่ได้เข้ามาซื้อขายแร่ดีบุกในเกาะถลาง เนื่องจากเกาะถลางมีเจ้าเมืองเป็นคนฝรั่งเศสชื่อ ชาร์บอนโน (Charbonneau) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เป็นเจ้าเมืองถลางตั้งแต่ พ.ศ.๒๒๒๔ (จนถึง พ.ศ.๒๒๒๘) การค้าแร่ดีบุกบนเกาะถลาง จึงอยู่ในมือของฝรั่งเศส อังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อแร่ดีบุกได้ที่เมืองไชยา ชุมพร และพัทลุง อังกฤษกลับมามีบทบาทสำคัญในเมืองถลางอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าขึ้นที่บ้านท่าเรือ ในสมัยกรุงธนบุรี คือเมื่อพ.ศ ๒๓๑๕ ดังที่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารประวัติศาสตร์แพร่หลายเป็นที่รู้จักและเข้าใจกันดีแล้วนั้น. ชาวฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๒๑๖ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นผลให้กรุงศรีอยุธยาแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสชื่อชาร์บอนโน (Charbonneau) มาเป็นเจ้าเมืองถลางระหว่าง พ.ศ.๒๒๒๔-๒๒๒๘ และแต่งตั้ง มองซิเออร์ บิลลี่ (Sieur de Billi) มาเป็นเจ้าเมืองต่อจากชาร์บอนโนต่อมาจนสิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระนารายมหาราช ครั้นสมเด็จพระเพทราชา ขึ้นครองราชย์ กรุงศรีอยุธยาก็ได้เป็นปฏิปักษ์กับฝรั่งเศสค่อนข้างรุนแรงเป็นเหตุให้นายทหารฝรั่งเศส ชื่อ นายพล เดฟาสจ์ (Desfarges)นำกำลังเรือรบจำนวน ๔ ลำ มายึดเกาะถลางระหว่าง พ.ศ.๒๒๓๑-๒๒๓๒ ปรากฏรายละเอียดอยู่ในเอกสารทั้งจดหมายเหตุฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายไทย ซึ่งได้รวบรวมไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๕ และภาคที่ ๓๖ นั้นแล้ว. เจ้าเมืองถลางถูกประหารชีวิต ในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณว่าคงจะเป็นในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีเจ้าเมืองถลางผู้หนึ่ง ชาวถลางเรียกกันว่า "จอมสุริน" ซึ่งเมื่อประมวลความตามขนบธรรมเนียมประเพณีการแต่งตั้งขุนนางเมืองถลางสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วก็สันนิษฐานว่า น่าจะมีนามเต็มว่า "พระยาสุรินทราชา" ตามยศบรรดาศักดิ์และราชทินนามประจำตำแหน่งสมัยนั้น เจ้าเมืองถลางผู้นี้ตั้งบ้านเมืองอยู่ที่ "บ้านลี้พอน" คือบ้านลิพอนในปัจจุบัน พงศาวดารเมืองถลาง ในประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ก้าวหน้า ได้กล่าวถึงคำให้การของชาวเมืองถลาง เมื่อพ.ศ.๒๓๘๔ ท้าวความย้อนหลังขึ้นไปยังสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งอาจประมาณระยะเวลาได้ว่าไม่น่าจะเกิน ๑๕๐ ปี คือ เหตุการณ์คงจะเกิดขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๒๓๓ หรือ พ.ศ.๒๒๓๔ ซึ่งเป็นขณะที่สมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติใหม่ ๆ กำลังทำการกำจัดฝรั่งเศสและผู้ที่เอาใจเผื่อแผ่แก่ฝรั่ง เศสอย่างรุนแรงพงศาวดารเมืองถลางกล่าวว่า "---ฝ่ายบ้านลี้พอนจอมสุรินคิดมิชอบ จะตั้งตัวเป็นใหญ่มีตราออกมาให้จับจอมสุรินฆ่าเสีย เพราะเป็นโทษขบถต่อแผ่นดิน สิ้นเชื้อผู้ดีเมืองถลางว่างพระยาถลางคางเซ้ง ชาวกรุงออกมาเป็นเจ้าเมือง---"(ประชุมพงศาวดารฯ เล่ม ๑ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ หน้า ๔๙๘) เจรินี กล่าวไว้ในหนังสือ "เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ถลาง" (Historical Retrospect of Junkceylon Island) ว่า หลังจากชาวฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งจากกรุงศรีอยุธยา ๒ คน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในระยะต่อมาก็ได้คนจีนมาเป็นเจ้าเมืองถลาง จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่า "พระยาถลางคางเซ้ง" ที่เป็นคำให้การของชาวถลางในพงศาวดารเมืองถลางผู้นี้ ก็คงจะเป็นคนจีนที่กรุงศรีอยุธยาแต่งตั้งให้มาเป็นเจ้าเมืองถลางขึ้นใหม่นั่นเอง และราชทินนามก็คงจะเป็นพระยาสุรินทราชา ตามยศและตำแหน่งเดิม แต่ชาวบ้านนิยมเรียกระบุชื่อตัวเพื่อมิให้สับสนกับพระยาสุรินทรคนก่อน ๆ ชาวถลางปล้นเรืออังกฤษ ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งราชการบ้านเมืองในกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง เนื่องจากการแย่งชิงราชบัลลังค์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าเอกทัศกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และมีการสงครามระหว่างพม่าเข้ามาติดพันอีกด้วย ความระส่ำระสายในแผ่นดินจึงเกิดขึ้นทั่วไป ตามจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศส ชื่อมองซิเออร์บรีโกต์ เขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๕ เดือน ธันวาคม ค.ศ.๑๗๖๒ (พ.ศ. ๒๓๐๕) ความตอนหนึ่งว่า "---ตั้งแต่ครั้งสมัยก่อน ๆ มา พระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเท่ากับกฎหมายในเมืองนี้ ครั้นมาบัดนี้ เจ้านายผู้หญิงทุกองค์ก็มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน และข้าราชการก็ต้องเปลี่ยนกันอยู่เสมอ แต่ก่อน ๆ มาผู้ที่มีความผิดฐานเป็นขบถ ฆ่าคนตาย และเอาไฟเผาบ้านเรือนต้องรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต แต่มาบัดนี้ความโลภของเจ้านายผู้หญิงได้เปลี่ยนการลงโทษความผิดชนิดนี้เพียงแต่ริบทรัพย์ และทรัพย์ที่ริบไว้ได้นั้น ก็ตกเป็นสมบัติของเจ้าหญิงเหล่านี้ทั้งสิ้น ฝ่ายพวกข้าราชการเห็นความโลภของเจ้านายผู้หญิงเป็นตัวอย่าง ก็หาหนทางที่จะหาประโยชน์บ้าง ถ้าผู้ใดเป็นถ้อยความแล้ว ข้าราชการเหล่านี้ก็คิดหาประโยชน์จากคู่ความให้ได้มากที่สุดที่จะเอาได้ การทำเช่นนี้ ก็ปิดความหาให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบไม่ แต่ถ้าห่างพระเนตรพระกรรณออกไปแล้ว ข้าราชการเหล่านี้ก็ลักขโมยอย่างไม่กลัวทีเดียว เมื่อปีกลายนี้ พวกข้าราชการที่เมืองภูเก็ตได้ปล้นเรืออังกฤษลำหนึ่ง ซึ่งได้หนีจากเมืองเบงกอล แวะเข้ามาที่เมืองภูเก็ตเพื่อหนีท่านเค้าน์ เดซแตง เมื่อปีนี้พวกข้าราชการเมืองภูเก็ตได้แนะนำให้เรืออังกฤษอีกลำหนึ่ง เข้าไปซ่อมแซมเรือที่ฝั่งเมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ใกล้เมืองโตยอง (Teyon) ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนเข้ารีตมากที่สุดในแถบเกาะภูเก็ตนี้ ครั้นเรืออังกฤษได้ไปทอดที่เมืองแตร์แฟมตามคำแนะนำของข้าราชการเมืองภูเก็ตแล้ว พวก ไทยและมลายู ซึ่งอยู่ที่เมืองนั้น รู้กันกับข้าราชการเมืองภูเก็ต จึงได้ฟันแทงพวกอังกฤษ และขึ้นปล้นเรือเก็บสินค้าในเรือนั้นไปหมดสิ้น ฝ่ายข้าราชการเมืองภูเก็ต คิดจะปิดบังความผิดของตัว จึงคิดอุบายหาความว่า พวกเข้ารีตที่เมืองโตยองเป็นผู้ที่ปล้นและทำร้ายเรืออังกฤษ ลงท้ายที่สุดพวกเข้ารีตเหล่านี้ก็พลอยฉิบหายไปเปล่าๆ ยังมีบาทหลวงคณะฟรังซิซแกง เป็นชาติโปรตุเกสคนหนึ่งได้ตายด้วยความตรอมใจและถูกทรมานเพราะเจ้าพนักงานเมืองภูเก็ตได้จับบาทหลวงคนนี้ขังไว้ในระหว่างพิจารณาความเกือบเดือนหนึ่ง" (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓๙ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๘ เล่ม ๙ หน้า ๓๙๕ - ๓๙๖) เมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ในจดหมายฉบับนี้ สันนิษฐานว่า เป็นชื่อที่ฝรั่งเศส ใช้เรียกชื่อ "บ้านท่าแครง" ในปัจจุบันนี้ เพราะก่อนนี้บ้านท่าแครง เคยเป็นทำเลที่มีลำคลองสายใหญ่และลึก สามารถให้เรือกำปั่นเข้าเทียบท่าได้ แม้กระทั่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งท้าวเทพกระษัตรี มีอำนาจอยู่ในเมืองถลาง ก็เคยมีจดหมายเหตุเมืองถลางกล่าวถึงกัปตันเรือสินค้าของชาวอังกฤษ เข้ามารับแร่ดีบุกที่บ้านท่าแครงแห่งนี้ด้วย (ศวภ. ๕๑) อีกประการหนึ่ง คำว่า "เมืองภูเก็ต" ในจดหมายฉบับนี้ ที่ถูกต้องน่าจะเป็น "เมืองถลาง" ทั้งหมดเพราะเป็นการแปลจากภาษาต่างประเทศซึ่งรู้จักเมืองถลางในขณะนั้นในชื่อ จังซีลอน (Junkceylon) ส่วนทางราชการใช้ว่า "เมืองถลาง" และ "ถลางบางคลี" ส่วนเมืองภูเก็ตยังไม่ปรากฏชื่อในเอกสารใด ๆ ส่วนเมืองโตยอง (Toyon) นั้น สันนิษฐานว่าคือ “บ้านตลาดนั่งยอง” ตำบลฉลอง ในปัจจุบันนี้ ซึ่งสมัยก่อนเคยมีคลองบางใหญ่ ที่เป็นสายน้ำขนาดใหญ่เกิดจากแนวภูเขานาคเกิดทางทิศตะวันตกของตำบลฉลอง ไหลลงสู่ทะเลทางทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ต มีความกว้างและความลึกให้เรือกำปั่นแล่นเข้าสู่ชุมชนเมืองโตยอง หรือตลาดนั่งยองได้อย่างดี สมัยกรุงธนบุรี เกาะภูเก็ตนี้ เมื่อมีการตั้งถิ่นฐานหลักแหล่งของชุมชนขึ้นใหม่ ๆ ก็เป็นไปในแบบที่แยกกลุ่มแยกเผ่าพันธุ์กันอยู่เป็นหมู่ ๆ หรือหย่อม ๆ ในทำเลที่ค่อนข้างจะห่างกัน ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเป็นไปเช่นนั้น เกาะภูเก็ตมีธรรมชาติของภูมิศาสตร์เอื้ออำนวยต่อการตั้งหลักแหล่งดังกล่าวนี้ เนื่องจากเป็นเกาะ มีทะเลล้อมรอบ มีท่าเทียบเรืออยู่ทั่วไป มีภูเขากำบังลม มีที่ราบสำหรับทำนา และมีแหล่งแร่ดีบุกกระจายกันอยู่ ตลอดจนมีทรัพยากรทางบก พร้อมกับมีทรัพยากรทางน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ ประชุมพงศาวดารฯ ได้กล่าวถึงจดหมายเหตุของสมาชิกคณะพ่อค้าชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ซึ่งได้รับคำสั่งให้เดินทางมาสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของเกาะถลางในครั้งที่เข้ามาตั้งสำนักงานค้าขายในกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้เขียนจดหมายรายงานแก่หัวหน้าของตนเมื่อวันที่ ๒๖ เดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๖๘๖ (พ.ศ. ๒๒๒๙) มีความตอนหนึ่งว่า "--เมืองภูเก็ต(อันที่จริงคือเมืองถลาง Joncellang หรือ Jonsalam-ผู้เรียบเรียง) ซึ่งข้าพเจ้าอยู่ในบัดนี้นั้น เป็นเกาะเล็ก วัดโดยรอบยาวประมาณ ๓๕ ไมล์ ตั้งอยู่ริมชายทะเลฝั่งตะวันตกแหลมมาลากา ห่างจากฝั่งประมาณระยะทางปืนสั้น และอยู่ในระหว่าง ๖ และ ๘ ดีกรีของแลติจูดเหนือ ในเกาะนี้มีคนน้อยที่สุด ทั้งหมดคงจะมีพลเมือง ราว ๖,๐๐๐ คน รวมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ตามเกาะภูเก็ต (เกาะถลาง-ผู้เรียบเรียง) นี้เต็มไปด้วยป่าไม้ทึบซึ่งมีแต่เสือ ช้าง แรด และสัตว์ร้ายอย่างอื่นอาศัยอยู่เท่านั้น และแรดนั้น บางทีพวกเราก็ต้องรับประทานเป็นอาหารต่างเนื้อโคก็มี เกาะภูเก็ตนี้ไม่เหมือนเมือง มีแต่ราษฎรพลเมืองอยู่เป็นหมู่ ๆ แต่ถึงอย่างนั้นพลเมืองอยู่เป็นหมู่ ๆ และหมู่บ้านนั้นก็มีอยู่ชายป่าห่าง ๆ กันแต่ถึงอย่างนั้นก็เรียกหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดว่าเมือง "ในระหว่างเวลาที่มองซิเออร์ เรอเนอ แชร์บอนโน มารักษาราชการอยู่ในเมืองนี้ ก็ได้สร้างป้อมเล็ก ๆ ทำด้วยไม้กระดานป้อมหนึ่งซึ่งมีหอคอย ๔ หอ ซึ่งดูก็งดงามอยู่บ้าง พลเมืองในเกาะนี้เป็นคนป่าคนดงหรือถ้าจะใช้คำให้ดีสักหน่อยก็เป็นคนที่ไม่รู้จักกิริยาสุภาพ--" (ประชุมพงศาวดารฯ ภาคที่ ๔๔ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๑๓ เล่ม ๑๑ หน้า ๕๕-๖๑) และในจดหมายฉบับเดียวกันนี้ ยังได้เขียนบรรยายไว้อีกตอนหนึ่งเกี่ยวกับเมืองเล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่กับเมืองถลาง ว่า "---เมื่อจะอธิบายถึงเรื่องแปลก ๆ ในเกาะภูเก็ตนี้ให้หมดสิ้น ก็จำเป็นจะต้องเล่าว่าอากาศในเมืองนี้เป็นอากาศที่ไม่ดีอย่างยิ่ง และถ้าเป็นคนต่างประเทศแล้วยิ่งทนอากาศอย่างนี้ไม่ใคร่จะได้เลย ที่ฝั่งซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะนี้ก็มีประเภทเดียวกัน ผู้คนพลเมืองกลับมีน้อยกว่าที่เกาะภูเก็ตแต่ถึงดังนั้นก็ยังตั้งเมืองเล็ก ๆ ๔ เมือง ซึ่งขึ้นกับเกาะภูเก็ตทั้ง ๔ เมือง เมืองหนึ่งนั้นผู้รักษาเมืองเป็นชาวฝรั่งเศส ชื่อ รีวาล ---" ทางฝั่งใกล้เกาะภูเก็ต คงหมายถึงบริเวณพื้นที่แผ่นดินผืนใหญ่นับจากจังหวัดพังงาปัจจุบันนี้ตลอดไปทางฝั่งทะเลตะวันตก เมือง เล็ก ๆ ที่อยู่ทางฟากดังกล่าวนี้ น่าจะได้แก่เมืองตะกั่วทุ่ง,เมืองตะกั่วป่า, เมืองคุระบุรี และเมืองปากพระ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชายทะเล มีอ่าวให้เรือสินค้าจอดเทียบท่าได้ ทั้งเป็นแหล่งบริเวณที่เคยเป็นแหล่งตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยก่อนมาแล้ว ส่วนพังงาสมัยนั้นยังไม่เป็นเมือง. นอกจากนี้แล้ว ในเกาะถลางเองก็มีชุมชนขนาดต่าง ๆ ที่รวมกลุ่มกันอยู่เป็นหมู่บ้านเล็กบ้างใหญ่บ้างต่าง ๆ กัน หมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่เรียกกันว่า "บ้านเมือง" เช่น เมืองลี้พอน, เมืองบ้านดอน, เมืองบ้านตะเคียน,เมืองโตยอง(ฉลอง-ตลาดนั่งยอง), เมืองแตร์แฟรม (ท่าแครง) เป็นต้น บ้านเมืองเหล่านี้เจริญเติบโตขึ้นมาในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันโดยกลุ่มชนที่แตกต่างเผ่าพันธุ์กันบ้าง ที่ผสมผสานกลมกลืนเข้าเป็นกลุ่มชนเดียวกันทางการสมรส และการประสานประโยชน์ระหว่างกันก็มีบ้าง แต่ทุกเมืองก็จะขึ้นต่อเมืองถลาง ซึ่งมีเจ้าเมืองที่ได้รับแต่งตั้งมาจากรัฐบาลกรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์รวมการค้าขายแร่ดีบุก แลกเปลี่ยนกับสินค้าต่าง ๆ จากพ่อค้าชาวฝรั่งเศส และชาวยุโรปอื่น ๆ ตามยุคสมัย มองซิเออร์ เรอเนอ แชร์บอนโน ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้มารักษาราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองถลางระหว่าง พ.ศ.๒๒๒๔ - ๒๒๒๘ นั้น สันนิษฐานว่าน่าจะออกมาตั้งเมืองอยู่ที่ทำเลซึ่งตั้งอยู่ระหว่างบ้านดอนกับบ้านเคียน เรียกว่า"บ้านดอน" เนื่องจากบริเวณแห่งนี้มีพื้นที่ราบกว้างขวางมากและอยู่ประชิดกับลำน้ำใหญ่ที่เรียกว่า คลองบางใหญ่ หรือคลองอู่ตะเภา อยู่ริมทะเลฝั่งตะวันตกของเกาะถลาง แชร์บอนโน ได้สร้างป้อมเล็ก ๆ ขึ้นไว้ ประกอบด้วยหอคอย ๔ หอ ตามที่จดหมายพ่อค้าฝรั่งเศสได้บรรยายไว้นั้น ป้อมเล็กๆ ที่สร้างด้วยไม้กระดานดังกล่าวนี้ สันนิษฐานว่าคงจะมีอายุยืนยาวมาจนถึงปี พ.ศ.๒๓๒๘ ให้ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร และขุนนางเมืองถลางได้ใช้ต่อสู้พม่าจนได้ชัยชนะ แม้ว่าอายุของป้อมจะยาวนานมาประมาณ ๑๐๐ ปี ในสมัยศึกถลาง แต่ก็พอจะรับฟังได้ว่า ป้อมที่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง และมีการทนุบำรุงอยู่ไม่ทอดทิ้งนั้น ย่อมจะยังสามารถใช้งานได้ดีอยู่พอสมควร เรื่องป้อมหรือ"ค่ายสู้พม่าของท้าวเทพกระษัตรี" แห่งนี้ ชนรุ่นหลังเข้าใจกันว่าท้าวเทพกระษัตรีและทหารชาวถลางได้สร้างขึ้นในสมัยที่เกิดศึกพม่าพ.ศ.๒๓๒๘ จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๒ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสเมืองถลาง ได้ทรงสอบถามชาวถลาง แล้วทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งว่า "---ที่ถลางเดี๋ยวนี้มีบ้านช่องอยู่เป็นหมู่ใหญ่ ในอำเภอนี้มีคน ๘,๐๐๐ คน สังเกตว่าที่ดูจะเป็นทุ่งนาอยู่มาก แต่ไม่มีสิ่งใดที่จะสังเกตได้ว่าจะเป็นเมือง เพราะเมืองนี้ไม่มีกำแพงแรงเตยอะไร บ้านท้าวเทพกระษัตรีก็ยังชี้ได้ บัดนี้อยู่ข้างวัดพระนางสร้าง แต่วัดนี้ผู้กล่าวว่าไม่ใช่ท้าวเทพกระษัตรีเป็นผู้สร้าง จะเป็นใครสร้างก็ไม่ได้ความชัดเจนลูกหลานท้าวเทพกระษัตรีก็ยังมีอยู่หลายคน ได้ถ่ายรูปหมู่มาไว้แล้ว ในพวกผู้ชาย ๆ มีเป็นกำนันอยู่ที่ถลางคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งไปเป็นสัสดีอยู่ที่เมืองกระบี่ส่วนค่ายที่ท้าวเทพกระษัตรีย์สร้างขึ้นรับพม่านั้นบัดนี้อยู่กลางทุ่งนาห่างจากวัดพระนางสร้างนัก ได้ความว่าเดิมมีเสาค่ายระเนียดยังเหลืออยู่บ้าง แต่ผู้ที่ทำนาทางนี้ได้ขุดถอนขึ้นเสียหมดแล้ว ในเวลานี้จึงไม่แลเห็นอะไรปรากฏอยู่เลย---" (อัญเชิญจากพระราชนิพนธ์ “จดหมายเหตุเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ร.ศ.๑๒๘”ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร) เรื่องนี้คงจะเกิดเพราะชาวถลางมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงได้กราบบังคมทูลว่าท้าวเทพกระษัตรีได้สร้างค่ายต่อสู้พม่า เพราะเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารประวัติศาสตร์เมืองถลางแล้ว เห็นว่าในการศึกครั้งนั้นท้าวเทพกระษัตรีและทหารชาวถลางไม่อาจสร้างค่ายขึ้นใหม่ได้ทันท่วงที เนื่องจากทัพพม่ายกมากระชั้นชิดกับเวลาที่ท้าวเทพกระษัตรีถูกพระยาธรรมไตรโลกเกาะเอาตัวไปไว้ยังค่ายปากพระ เป็นเหตุให้ชาวถลางส่วนใหญ่ขาดผู้นำ จึงพากันอพยพหนีภัยสงครามเข้าป่าเข้าดงไป ดังปรากฏเอกสารจดหมายเหตุของท้าวเทพกระษัตรีมีไปถึงพระยาราชกปิตัน ณ เมืองปีนัง ข้อความตอนหนึ่งว่าดังนี้ “---แลอนึ่งเมื่อพม่ายกมานั้น พระยาธัมไตรโลกให้เกาะเอาตัวตูข้าไปไว้ ณ ปากพระ ครั้นพม่ายกมาตีปากพระได้ กลับแล่นหนีมา ณ บ้านและคนซึ่งให้รักษาบ้านเรือนอยู่นั้นแล่นทุ่มบ้านเรือนเสีย เข้าของทั้งปวงเป็นอัณรายมีคนเก็บริบเอาไปสิ้น---” (จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้, เอกสาร ศวภ.๑๗) จดหมายฉบับนี้ลงวันที่ ๒๙ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๓๒๙ ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนห้าปีมะเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ หลังจากรบชนะพม่าแล้ว ๑ ปีเศษ ๆ การศึกพม่าในครั้งนั้นต่อสู้กันติดพันกันประมาณเดือนเศษ ตามเอกสารจดหมายเหตุของเจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก มีไปถึงพระยาราชกปิตัน เมื่อวันพุธ เดือน ๕ ขึ้น สิบสี่ค่ำ ปีมะเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ ๒๓๒๙ ตอนหนึ่ง ความว่า "---ด้วยพม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางครั้งนี้ เดชะพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปกเกล้าปกกระหม่อม แลทแกล้วทหารชาวเมืองถลางได้รบพุ่งต้านต่อด้วยพม่ารั้งรากันอยู่ถึงประมาณเดือนหนึ่ง ฝ่ายพม่าล้มตายเจ็บป่วยลงประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน พม่ายกเลิกแตกไปแต่ ณ วันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมะเส็งสัพศกนั้น---" (จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้,เอกสาร ศวภ.๑๖) เมื่อนับย้อนหลังจากวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง กลับไป ๑ เดือน ก็จะเป็นวันเดือน ๓ ขึ้นหรือแรมโดยประมาณ พระบริหารเทพธานี สันนิษฐานไว้ใน ประวัติชาติไทย เล่ม ๒ หน้า ๓๘๓ ว่า พม่ายกขึ้นล้อมเมืองถลาง ประมาณวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๓๒๘ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ในปีมะเส็งจุลศักราช ๑๑๔๗ เป็นวันที่พม่ายกเข้าโจมตีเมืองถลางโดยประมาณ ท้าวเทพกระษัตรี มีจดหมายถึง พระยาราชกปิตัน ครั้งล่าสุดก่อนจะถูกเกาะเอาตัวไปไว้ ณ ปากพระ เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๔๗ (วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๓๒๘) ความตอนหนึ่งว่า "---แลซึ่งว่าแต่งกำปั่นแล้วจะลากลับไป แลมีราวข่าวว่า พม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพญาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจริง ข้าเจ้าจะได้พึ่งพาลาโตกเป็นหลักที่ยึดต่อไป---"(จดหมายเหตุเมืองถลางและหัวเมืองปักษ์ใต้,ศวภ.๑๕) ท้าวเทพกระษัตรี หวังที่จะขอร้องให้พระยาราชกปิตัน อยู่เมืองถลางช่วยรบพม่าด้วย แต่พระยาราชกปิตัน ไม่ยอมหยุดยั้งอยู่รีบออกกองเรือสินค้าไปยังเมืองเบงกอลในเวลาไม่นานนัก. เทียบเคียงวันเดือนปีในจดหมายฉบับนี้ (เดือนธันวาคม) กับระยะเวลาที่พม่ายกเข้ามาตีถลาง เมื่อประมาณเดือน ๒ (หรือมกราคม) ปีเดียวกันแล้ว จะเห็นว่าระยะเวลาห่างกันเพียง ๑ เดือนเท่านั้น และในระหว่าง ๑ เดือนนี้เองที่พระยาธรรมไตรโลกได้เกาะเอาตัวท้าวเทพกระษัตรีไปไว้ ณ ค่ายปากพระอีกด้วย ครั้นพม่าเข้าตีปากพระได้สำเร็จ พระยาธรรมไตรโลกกับพระยาพิพิธโภคัยพากันหนีพม่าไปทางเมืองพังงา และคงจะกลับไปรายงานตัวกับแม่ทัพใหญ่ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งเสด็จนำทัพมาทางฝั่งตะวันออกไปสู่นครศรีธรรมราชและสงขลา ส่วนท้าวเทพกระษัตรีถอยกลับมาหวังจะตั้งหลักสู้พม่าที่เมืองถลาง ปรากฏว่าบ้านช่องถูกทอดทิ้ง เพราะคนเฝ้ากลัวศึกพม่าพากันหนีเข้าป่าเข้าดงไปหมดสิ้น ทรัพย์สินข้าวของก็ถูกผู้คนเก็บริบเอาไปไม่มีเหลือ ต้องดิ้นรนป่าวร้องเกลี้ยกล่อมผู้คนให้เข้ามาร่วมใจรวมตัวกันเพื่อสู้พม่ากันใหม่ ดังนี้คงจะไม่มีเวลาที่จะสร้างค่ายขึ้นตั้งรับพม่าได้ทัน จึงน่าจะได้ใช้ป้อมเก่าที่แชร์บอนโนสร้างไว้ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง เป็นค่ายต่อต้านพม่าอย่างฉุกเฉินประกอบด้วยสติปัญญาในเชิงยุทธการของท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร จึงสามารถเอาชนะเหนือพม่าได้อย่างที่แม้แต่ ฟรานซิส ไลท์ หรือ พระยาราชกปิตันเองก็คาดไม่ถึงดังจดหมายของท้าวเทพกระษัตรี ฉบับลงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๓๒๙ ที่อ้างถึงข้างต้นแล้ว ได้กล่าวความตอนหนึ่งว่า "---ด้วยมีหนังสือฝากให้แก่นายเรือตะนาวถือมาเถิงเป็นใจความว่า เมื่อท่านอยู่ ณ เมืองมังคลา รู้ข่าวไปว่า พม่ายกมาตีเมืองถลาง จะได้เมืองถลางประการใด แลตูข้าลูกเต้าทั้งปวงจะได้ไปด้วยฤาประการใด มิได้แจ้งต่อท่านมาถึงเมืองไซ รู้ไปว่าเมื่อถลางไม่เสียแก่พม่า แลตูข้าลูกเต้าทั้งปวงอยู่ดีกินดี ค่อยวางใจลง ในหนังสือมีเนื้อความเป็นหลายประการนั้น ขอบใจเป็นหนักหนา---" ดังนี้ แสดงถึงความคิดของพระยาราชกปิตันว่า ศึกถลางครั้งนั้นเมืองถลางคงไม่อาจเอาชนะพม่าได้ เพราะพระยาราชกปิตันอยู่เมืองถลางมานาน รู้เรื่องราวและชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่นดี และเมื่อตอนจากไปนั้น ก็รู้ถึงวิกฤติการณ์เกี่ยวกับทางรัฐบาลที่กรุงเทพมหานครเป็นอย่างดีอีกด้วย การที่ท้าวเทพกระษัตรีสามารถเอาชัยชนะเหนือกองทัพพม่าได้จึงเป็นเรื่องน่าประหลาด กล่าวมาทั้งหมดนี้เพียงเพื่อวิเคราะห์ในข้อสันนิษฐานว่า "ค่ายท้าวเทพกระษัตรี" ที่ชาวถลางกราบบังคมทูลสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น น่าจะเป็นความเข้าใจผิดพลาดไป อันที่จริงแล้ว เป็นป้อมเก่าที่เหลือซากมาจากฝีมือการสร้างของ เรอเนอ แชร์บอนโน เจ้าเมืองถลางชาวฝรั่งเศส ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ.๒๒๒๔- ๒๒๒๘ มากกว่า. สิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว เจ้าเมืองถลางเป็นคนจีน ซึ่ง เจรินี กล่าวว่า ไม่สู้จะมีความเป็นธรรมในการปกครองมากเท่าไรนัก เจ้าเมืองถลางเชื้อสายจีนที่ชาวบ้านเรียกชื่อว่า"พระยาถลางคางเซ้ง" และลูกหลานผู้สืบสกุลอาจไม่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านลี้พอนซึ่งเป็นสมบัติของพระยาถลางที่ชื่อ "จอมสุริน" ผู้ถูกประหารชีวิตไปแล้ว แต่อาจสร้างเมืองขึ้นใหม่ตามธรรมเนียม "กินเมือง" สมัยโบราณซึ่งเจ้าเมืองมักจะเลือกชัยภูมิที่ตั้งเมืองได้ตามความพอใจของตนเอง ครั้นล่วงถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปีพ.ศ. ๒๓๘๕ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองขึ้นแก่นครศรีธรรมราช โดยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงโปรดให้พระยาไชยาธิเบศร์ออกมาเป็นผู้สำเร็จราชการยังเมืองนครศรีธรรมราช รับพระราชทานสุพรรณบัฏบรรดาศักดิ์ในราชทินนามว่า"เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช" ซึ่งตำแหน่งนี้มีลำดับยศสำคัญรองลงมาจากสมุหนายกและสมุหพระกลาโหม เป็นใหญ่กว่าเสนาบดีชั้นจตุสดมภ์เมือง วัง คลัง นา (ประชุมพงศาวดาร ฯภาคที่ ๒ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ เล่ม ๑ หน้า ๔๓๔) แม้ว่าเมืองถลางจะเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงฝ่ายสมุหพระกลาโหมในทางระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่ในทางปฏิบัตินั้น นครศรีธรรมราช ยังมีความสำพันธ์กับเมืองถลางในด้านตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองอยู่ โดยเจ้านครศรีธรรมราชมีโอกาสที่จะปฏิบัติการในด้านให้คำปรึกษาต่อกรุงศรีอยุธยา ดังเช่นข้อความในประชุมพงศาวดารกล่าวว่า "--- อนึ่ง กรมการใดที่หาตัวมิได้ ก็ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชปรึกษาด้วยกรมการจัดเอาผู้มีชื่อซึ่งมีสติกำลังมั่งคั่งสัตย์ซื่อมั่นคงดีนั้น จัดตั้งขึ้นไว้ให้ครบตามตำแหน่งที่มีราชการจะได้กะเกณฑ์เอาราชการสะดวกจัดได้ผู้ใดเป็นที่ใดก็ให้บอกเข้าไปยังลูกขุน ณ ศาลา เอากราบทูลพระกรุณาให้มีตราเจ้าพนักงานตั้งออกมาตามธรรมเนียม---"(ประชุมพงศาวดาร ฯ อ้างแล้วหน้า ๔๗๒) และในทางปฏิบัตินั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางนครศรีธรรมราชครั้งใด ก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นเจ้าเมืองถลางไปด้วยทุกครั้ง ดังจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งค่อนข้างจะมีหลักฐานทางเอกสารยืนยันได้มากกว่าสมัยอยุธยา พระยาไชยาธิเบศร์ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศนั้น มีพระปลัดเมือง ชื่อเดิมชื่อหนู ซึ่งเคยเป็นขุนนางในกรุงศรีอยุธยาที่ หลวงสิทธินายเวร พื้นเพเป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราชมาก่อน เมื่อได้รับตำแหน่งเป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ก็มีบริวารและเครือญาติชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับการสนับสนุนให้ได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงหลายคน ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อความสะดวกและเหมาะสมแก่การไว้วางใจในราชการแผ่นดินในยุคก่อนสมัยก่อน (แม้ยุคนี้สมัยนี้ก็ยังคงใช้กันอยู่ไม่น้อย) พงศาวดารเมืองถลาง กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "---ท้าวเทพกระษัตรีนั้น เมื่อหนุ่มสาวเป็นเมียหม่อมศรีภักดี หม่อมศรีภักดีเล่าก็เป็นชาวตะกั่วทุ่งลูกคุณชีบุญเกิด คุณชีบุญเกิดเดิมอยู่ตะกั่วทุ่งได้กับจอมนายกอง จอมนายกองเป็นชาวนคร อยู่บ้านลายสาย ออกมาเป็นผู้สำเร็จราชการ ได้กับคุณชีบุญเกิดนั้น มีลูกชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ชายชื่อหม่อมศรีภักดี มีเมีย ณ เมืองถลาง ---"(พงศาวดารเมืองถลาง,ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒ อ้างแล้ว หน้า ๔๙๘) ท้าวเทพกระษัตรี เป็นบุตรสาว"จอมรั้ง" เจ้าเมืองถลางสมัยนั้น ซึ่งก็คือผู้มีความเกี่ยวดองในเครือญาติของพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราชนั่นเอง พงศาวดารเมืองถลางกล่าวอ้างว่า เจ้าเมืองถลางจอมรั้ง มีพี่ชายร่วมบิดาต่างมารดาอยู่คนหนึ่งชื่อ "จอมเฒ่า" เป็นเจ้าเมืองอยู่เมืองถลางบ้านดอน สองพี่น้องมีความรักใคร่กลมเกลียวกันมาก จอมเฒ่ายังมีชื่อที่ชาวถลางเรียกขานกันอยู่อีกชื่อหนึ่งคือ "จอมทองคำ" คงจะเป็นชื่อตัวที่แท้จริง เพราะจอมทองคำมีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ "ทองพูน" ได้เป็นพระยาถลางในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ภายหลังจากเมืองถลางชนะศึกพม่า ปี พ.ศ.๒๓๒๘ แล้ว โดยที่ประเพณีไทยโบราณนั้น เมื่อผู้ชายเข้าพิธีสมรส ก็จะต้องไปอยู่บ้านผู้หญิง หม่อมศรีภักดีบุตรจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่ง เมื่อเข้าพิธีสมรสกับท้าวเทพกระษัตรี(สมัยยังเป็นคุณจัน) บุตรจอมรั้งบ้านตะเคียนเมืองถลาง จึงต้องมาอยู่เมืองถลางบ้านของฝ่ายภรรยา ซึ่งก็เป็นการเหมาะสม เนื่องจากจะได้ช่วยราชการงานเมืองของจอมรั้ง ในขณะที่สูงอายุ แต่มีเพียงบุตรีคนโต คือคุณจันเท่านั้นที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการปกครองบ้านเมือง เพราะบุตรชาย คือคุณอาดและคุณเรืองยังอยู่ในวัยเด็กมากไม่อาจให้ช่วยราชการได้ แต่หม่อมศรีภักดีบุญน้อย พอมีบุตรกับท้าวเทพกระษัตรี (คุณจัน) ได้ ๒ คน คือ คุณปรางซึ่งเป็นบุตรี และพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม (คุณเทียน) ซึ่งเป็นบุตรชาย หม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรมลง ท้าวเทพกระษัตรีจึงตกพุ่มหม้าย ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยากำลังระส่ำระสายด้วยการผลัดแผ่นดินจากสมเด็จพระเจ้าบรมโกศมาเป็นพระเจ้าอุทุมพร แล้วเปลี่ยนเป็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ และกลับเปลี่ยนเป็นพระเจ้าอุทุมพรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการสู้ศึกพม่าซึ่งยกทัพเข้ามุ่งโจมตีกรุงศรีอยุธยายืดเยื้อติดต่อกันนับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๓๐๑ อันเป็นปีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.๒๓๑๐ อันเป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลายลง ความเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาของพระมหากษัตริย์ผู้สถิตเหนือพระราชบัลลังค์เช่นนั้น ก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในระหว่างข้าราชการและขุนนางที่จำต้องกลับตัวหันเหไปตามกระแสการเมือง ทันบ้างไม่ทันบ้าง เป็นความปั่นป่วนระส่ำระสายไปสิ้น ไม่อาจตั้งสติยึดมั่นในหลักแหล่งที่ควรจะพึ่งพาได้ ต่างก็พากันหาทางที่จะเอาตัวรอดเป็นที่ตั้ง ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เจ้าพระยานครพระยาไชยาธิเบศร์ก็ถูกเรียกตัวเข้าไปช่วยราชการการศึกที่กรุงศรีอยุธยา แล้วก็ถึงแก่อนิจกรรมมิได้กลับมายังนครศรีธรรมราชอีก พระปลัดหนู จึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะประกาศอิสรภาพให้แก่นครศรีธรรมราช ซึ่งเคยเป็นเมืองอิสระมาแต่โบราณกาล จึงตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๐๗ เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง "ไทยรบพม่า" ตอนหนึ่งว่า "กองทัพมังมหานรธา" ยกไปถึงเมืองทวายเมื่อเดือนอ้าย ปีวอก พ.ศ.๒๓๐๗ หุยตองจาต่อสู้เหลือกำลังก็พาครอบครัวลงเรือมาอาศัยอยู่ที่เมืองมะริด มังมหานรธาให้มาขอตัวหุยตองจาไทยไม่ยอมส่งให้ มังมหานรธาจึงให้กองทัพเรือ ๖๐ ลำ ยกมาตีเมืองมะริดก็ได้เมืองโดยง่าย หุยตองจากับกรมหมื่นเพทพิพิธพากันลงเรือหนีพม่ามายังเมืองกระบุรี มังมหานรธาจึงให้กองทัพหน้าติดตามลงมา ส่วนมังมหานรธาขึ้นไปตีเมืองตะนาวศรีได้อีกเมืองหนึ่ง แล้วรอทัพหน้าอยู่ที่เมืองตะนาวศรีนั้น ฝ่ายกองทัพพม่าที่ติดตามหุยตองจา มาถึงเมืองไหนก็ให้จับผู้คนเอาไปเป็นเชลยแล้วก็ริบเอาทรัพย์สมบัติแบ่งปันกันและเผาบ้านเรือนเสียหายตลอดทางที่มา ด้วยครั้งนั้นเจ้าเมืองกรมการไม่มีกำลังจะต่อสู้พม่าจึงตีได้เมืองมลิวัน เมืองกระ เมืองระนอง ตลอดมาจนเมืองชุมพร เมืองไชยา แล้วย้อนกลับขึ้นมาตีเมืองปทิว เมืองกำเนิดนพคุณ และเมืองคลองวาฬ เมืองกุย เมืองปราณ ตลอดจนมาถึงเมืองเพชรบุรี แต่เมืองเพชรบุรีนั้นกองทัพพระยาพิพัฒน์โกษากับพระยาตากสินยกลงไปจากกรุงศรีอยุธยา ไปถึงทันรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ได้---"(ไทยรบพม่า,พระนิพนธ์ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, คลังวิทยาพิมพ์, พ.ศ.๒๕๑๔ หน้า ๓๕๔-๓๕๕) จากเรื่องราวในพระนิพนธ์ข้างต้นนี้ จะเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาไม่มีกำลังมากพอที่จะเข้าดูแลหัวเมืองฝ่ายปักษ์ใต้ได้แล้ว พระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ก็เริ่มเกลี้ยกล่อมสะสมกำลังฝ่ายปักษ์ใต้ไว้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันตัวเองเมื่อถูกพม่ารุกรานและเพื่อประกาศตนเป็นอิสระเมื่ออยุธยาหมดอำนาจลง พระยาพิมลขัน เจ้าเมืองกระบุรี ซึ่งยังมีบรรดาศักดิ์เสมอเพียงพระกระในครั้งนั้น หนีศึกพม่ามายังเมืองนครศรีธรรมราช เจ้านครคนใหม่จึงส่งให้มาช่วยราชการอยู่ที่เมืองถลางแทนหม่อมศรีภักดี สามีท้าวเทพกระษัตรี (สมัยที่ตกพุ่มหม้าย) ที่ถึงแก่อนิจกรรมลง พระกระได้รับสถาปนาบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิมล และได้สมรสกับท้าวเทพกระษัตรีซึ่งกำลังตกพุ่มหม้ายอยู่ในเวลาต่อมา เมื่อสิ้นบุญจอมร้าง (เจ้าเมืองถลางบ้านเคียน) ก็เกิดปัญหาเรื่องมรดกเมืองถลางว่าใครควรจะได้สืบทายาทความเป็นเจ้าเมืองต่อไป พระยาพิมลขัน สามีท้าวเทพกระษัตรี (สมัยที่ยังเป็นคุณหญิงจัน) ซึ่งได้ช่วยราชการมานานพอสมควร และสูงด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ ปัญญาวุฒิ สมควรแก่ตำแหน่งเจ้าเมืองถลางในครั้งนั้น แต่เนื่องจากมิใช่ผู้เป็นทายาทรับมรดกโดยตรงของจอมรั้ง ซึ่งยังมีบุตรชายอยู่ ๒ คน และมีหลานชาย คือ คุณเทียน ผู้ได้เป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามในภายหลัง อันคุณหญิงจัน เกิดกับหม่อมศรีภักดี สายตระกูลเมืองนครอยู่อีกด้วย คุณหญิงจัน เป็นกุลสตรีที่มีความกล้าหาญ รักเกียรติศักดิ์ และเชื่อมั่นในตนเองสูง จึงไม่ยินยอมให้มรดกเมืองถลางตกแก่พระยาพิมลสามีใหม่ เพราะเกรงต่อข้อครหาที่ว่าหลงใหลสามียิ่งกว่าน้องชายร่วมสายโลหิตเดียวกัน คือ คุณอาด และคุณเรือง เป็นเหตุให้พระยาพิมลขันมีความน้อยใจ จึงแยกตัวออกจากเมืองถลางไปสู่นครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง ขณะนั้นทั้งสองยังไม่มีบุตรีหรือบุตรชายร่วมกันเลย พงศาวดารเมืองพัทลุงกล่าวว่า "ครั้งนั้นพระราชอาณาจักรเป็นจลาจล ต่างคนก็ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าเอกราช ฝ่ายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็ถึงอนิจกรรม พระปลัดจึงตั้งตัวเป็นเจ้านครศรีธรรมราช ให้หลานชายมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่ท่าเสม็ด นัยหนึ่งเรียกว่าตำบลปราน กับให้กรมการไปเป็นหลวงสงขลา รักษาปากน้ำเมืองพัทลุงด้วย ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงว่าราชการอยู่ ๒ ปี ถึงแก่กรรม แล้วเจ้านครให้พระยาพิมลขันธ์ ผัวท้าวเทพสัตรีเมืองถลางมาเป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุง (แต่เวลานั้นแตกร้าวกันกับท้าวเทพสัตรี และท้าวเทพสัตรียังไม่มีชื่อด้วยพม่ายังไม่มาตีเมืองถลาง) พระยาพิมลขันธ์ตั้งเมืองที่ตำบลควนมะพร้าว (ภายหลังเรียกว่า "บ้านพระยาขันธ์" อยู่ในตำบลพระยาขันธ์เดี๋ยวนี้) ว่าราชการอยู่ ๒ ปี ครั้น พ.ศ.๒๓๑๑ (จ.ศ.๑๑๓๐) ปีชวด พระเจ้าตากเสด็จขึ้นปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินในกรุงธนบุรีแล้ว ถึงปีฉลู เอกศก พ.ศ.๒๓๑๒ (จ.ศ.๑๑๓๑) เสด็จมาตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ พระยาพิมลขันธ์มีความกลัวหนีไปเมืองแขกกับด้วยเจ้านครฯ ครั้นพระเจ้าตากได้ตัวเจ้านครมาจากปัตตานีแล้ว ก็เสด็จกลับกรุงธนบุรี ส่วนเมืองนครฯ และเมืองพัทลุงนั้น โปรดให้พระเจ้าหลานเธอเจ้านราสุริยวงศ์อยู่ครองเมืองนครศรีธรรม ราช โปรดให้นายจันมหาดเล็กมาว่าราชการเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่บ้านม่วง ตำบลพระยาขันธ์เดี๋ยวนี้ นายจันมหาดเล็กว่าราชการอยู่ ๓ ปี ถอดออกจากราชการ(ครั้งนั้นเมืองพัทลุง สงขลา คงจะขึ้นเจ้านราสุริยวงศ์ผู้ครองเมืองนครฯแต่ไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ)---" (พงศาวดารเมืองพัทลุง, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๗ เล่ม ๙ หน้า ๓๔๑-๓๔๒) ฝ่ายเมืองถลาง เมื่อพระยาพิมลขันแยกตัวไปอยู่เมืองพัทลุงแล้ว คุณอาดบุตรจอมรั้ง ผู้เป็นน้องชายคุณหญิงจันก็ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นเจ้าเมือง ชาวบ้านเรียกกันว่า พระถลางอาด ส่วนน้องชายที่ชื่อเรือง ก็ได้เป็นพระพลจางวางด่าน ผู้ช่วยเจ้าเมือง พระถลางอาดว่าราชการอยู่ไม่นาน ถูกผู้ร้ายยิงเสียชีวิต พวกสลัดแขกไทรบุรีเข้ายึดเอาเมืองถลางไว้ระยะหนึ่งแต่ชาวถลางเชื้อสายไทยไม่ยอมให้แขกไทรบุรีปกครอง จึงคิดอ่านส้องสุมผู้คนอยู่ที่บ้านสาคู และบ้านไม้ขาว รอเวลาที่จะทำการยึดเอาเมืองคืน และสามารถทำการสำเร็จได้ในคืนเดียวโดยเป็นคืนหนึ่งวันเดือนสิบ ซึ่งเป็นวันสารทสำคัญของชาวถลาง มีการชุมนุมแห่กระจาดนำพืชพันธุ์ผลไม้และอาหารแห้งไปบำเพ็ญบุญยังวัดตามประเพณีไทยภาคใต้ ชาวถลางได้ซ่อนอาวุธไว้ในภาพสัตว์และพาหนะที่ผูกโครงขึ้นด้วยไม้ไผ่ ไม้ระกำ และหวายอย่างแยบยล ครั้นได้เวลาที่นัดหมาย ต่างก็นำเอาอาวุธจากที่ซ่อนนั้น รวมกำลังกันจู่โจมเข้าปล้นที่พักของเจ้าเมืองคนใหม่ชาวไทรบุรีนั้น ฝ่ายพวกแขกเจ้าเมืองใหม่ไม่ทันเตรียมตัวจะต่อสู้ ก็ตกใจพากันหนีลงเรือล่าถอยไปทิ้งทรัพย์สินและดีบุกที่เก็บสะสมไว้ หาได้ทันจะรวบรวมนำติดตัวไปไม่ สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ได้เขียนถึงเรื่องราวตอนนี้ว่า "---ความตอนนี้ไปปรากฏคำอธิบายอยู่ในเอกสารเรื่องพรรณนาเกาะถลางซึ่งกล่าวไว้อีกว่า "ภายหลังการเสียประเทศสยามแล้ว ชาวมลายูได้ปกครองเกาะ และแม่ทัพเรือไทรบุรีได้มีอำนาจปกครองอย่างเฉียบขาด ปฏิบัติต่อคนไทยเยี่ยงทาสจนกระทั่งได้มีอุบัติเหตุอย่างหนึ่งเกิดขึ้นดลใจ (ชาว) เกาะให้เกิดความคิดปลดแอกออกเป็นอิสระและเขาก็ทำการนี้ได้สำเร็จในคืนเดียว ในการชุมนุมฉลองพระศาสดาของคนไทย ชาวเกาะคนหนึ่งที่ไม่มีอาวุธได้ต่อสู้กับชาวมลายูคนหนึ่งที่มีกริช ชาวเกาะผู้นั้นเป็นผู้ชนะ และตีชาวมลายูผู้ถือกริชจนตาย หัวหน้าคนไทยชี้แจงแก่พรรคพวกของเขาว่าเป็นที่อับอายขายหน้าที่ต้องอยู่ใต้การปกครองของผู้ที่อ่อนแอกว่าตนอย่างมากทีเดียว เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องสงวนเรื่องปลดแอกเป็นอิสระไว้เป็นเรื่องลับ จึงมีผู้ชายที่รับคัดเลือกแล้ว ๗๐ คน มาชุมนุมกันในตอนดึกเงียบสงัด เขาเหล่านั้นได้ยกเข้าโจมตีเมืองที่ชาวมลายูอาศัยอยู่ ได้ฆ่าฟันผู้คนล้มตายและเอาไฟจุดเผาบ้านเรือน ฝ่ายแม่ทัพเรือเมื่อเห็นชาวเกาะทั้งหมดกระทำการแข็งเมืองก็หนีไปลงเรือพร้อมกับพวกของเขา ครั้นรุ่งเช้าก็ไม่มีชาวมลายูเหลืออยู่เลยแม้แต่เพียงคนเดียว ชาวมลายูได้ทิ้งปืนดีบุก เงิน และสินค้าไว้ให้แก่ชาวเกาะและไม่กล้ากลับมาอีก---" (สุนัย ราชภัณฑารักษ์,ภูเก็ต,พ.ศ.๒๕๑๗ หน้า ๑๕๒-๑๕๓) หลังจากขับไล่พวกแขกมลายูพ้นจากเมืองถลางแล้ว พระยายกบัตรชู หัวเรี่ยวหัวแรงในการทำงานครั้งนี้ ก็ได้รับแต่งตั้งจากเจ้านครศรีธรรมราช ให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ชาวบ้านเรียกกันว่า "พระยาถลางชู หรือพระยายกรบัตร" เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงระยะที่กรุงศรีอยุธยากำลังมีศึกพม่าติดพันอย่างหนักและเสียกรุงใน พ.ศ.๒๓๑๐ ครั้นล่วงถึงปี พ.ศ.๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีเมืองนครได้ ทรงโปรดให้เจ้านราสุริยวงศ์ออกมาครองเมืองนครศรีธรรมราช ในปีนั้น เหตุการณ์ทางเมืองถลางดำเนินไปอย่างไร พงศาวดารไม่ได้แจ้งไว้ชัดเจน แต่โดยทางปฏิบัติสันนิษฐานได้ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าเมืองเกิดขึ้นแน่นอน เช่น เมืองพัทลุง เมืองสงขลา ที่ได้มีการถอดถอนเจ้าเมืองเก่าและแต่งตั้งเจ้าเมืองใหม่ในปีนั้นด้วย ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๒ ถึง ๑๓๑๙ เป็นระยะเวลา ๗ ปีนั้น ไม่อาจสืบค้นได้ว่า มีเจ้าเมืองถลางกี่คน และมีชื่ออย่างไรบ้าง แต่หลักฐานเกี่ยวกับการค้าแร่ดีบุก ปรากฏว่า ชาวอังกฤษที่มีชื่อว่า "กัปตัน ฟรานซิส ไลท์" พ่อค้าในสังกัดบริษัทอินเดียตะวันออก ได้นำเรือกำปั่นแวะเวียนมาทำการค้าขายที่เมืองถลางอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๕ จนได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวถลางลูกครึ่งโปรตุเกสไทย ชื่อ "มาร์ตินา โรเซลล์" (นันทา วรเนติวงศ์,พระยาราชกปิตัน (ฟรานซิสไลท์) กรมศิลปากร,พ.ศ.๒๕๑๗ หน้า ๕) กัปตันฟรานซิส ไลท์ สร้างสถานที่พักอาศัยและสำนักงานบริษัทอยู่ที่บ้านท่าเรือตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๕ เป็นต้นมา (นันทา วรเนติวงศ์,พระยาราชกปิตัน ฯ อ้างแล้ว) --------------------------(ต้นฉบับให้ตัดตั้งแต่หน้านี้)-----------ไปจนถึง ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๒ ถึง พ.ศ.๒๓๑๔ พระยาพิมลขันถูกเกาะกุมเอาตัวเข้าไปไว้ยังกรุงธนบุรี พร้อมด้วยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ท้าวเทพกระษัตรี (ซึ่งขณะนั้นยังเป็นคุณหญิงจัน) ตกพุ่มหม้ายอยู่ ณ เมืองถลาง ในฐานะสามัญชน พร้อมด้วยน้องสาวชื่อมุก ลูกสาวคนโตชื่อปราง และบุตรชายคนโตชื่อเทียน ต้องพยายามกอบกู้ฐานะที่เคยรุ่งเรืองแล้วกลับถดถอยลง ด้วยการค้าแร่ดีบุกให้แก่ชาวต่างประเทศ โดยผ่านเจ้าเมืองถลาง ลุถึง พ.ศ.๒๓๑๔–๒๓๑๕ กัปตัน ฟราน ซิส ไลท์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ได้เข้าไปขอพระบรม ราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อตั้งสำนักงานผูกขาดแร่ดีบุกเมืองถลาง ขึ้นที่บ้านท่าเรือ ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาตตามความประสงค์ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระราชดำริอยู่แล้วที่จะฟื้นฟูฐานะของเมืองไทยหลังภาวะสงคราม ซึ่งต้องเลี้ยงดูผู้คนทั้งชาวไทยในพระนครธนบุรีโดยตรง และชาวไทยหัวเมืองที่กวาดต้อนเข้าไว้ในพระนครจนแออัด อดอยากยากแค้น ข้าวยากหมากแพง เป็นที่น่าห่วงใยอย่างยิ่ง การค้าแร่ดีบุกจึงเป็นหนทางช่วยเหลืออันมีประโยชน์อย่างแท้จริงทางหนึ่ง นับว่า กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ เป็นคนฉลาดที่ใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้เหมาะสม ฝ่ายพระยาพิมลขันนั้น ขณะที่รับราชการอยู่ที่กรุงธนบุรี ในฐานะขุนนางผู้จงรักภักดีต่อเจ้านาย คือ เจ้านครศรีธรรมราช เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว เมื่อเจ้านครศรีธรรมราช ได้รับความดีความชอบเนื่องจากการไปราชการสงครามตามพระราชโองการของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระยาพิมลขันก็จะได้รับความดีความชอบไปด้วยกัน ฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดพระเจ้านครศรีธรรมราช พระยาพิมลขันก็ได้รับความไว้วางพระหฤทัยไปด้วยเช่นกัน (ความซื่อสัตย์และจงรักภักดีของพระยาพิมลขัน จะพิสูจน์ได้ คือ การทำอัตวินิบาตกรรมและเสียชีวิตไปในคราวที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ถูกถอด เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๗ ก่อนพม่าจะยกมาตีเมืองถลางเพียง ๑ ปี) เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงไว้วางพระทัย ในพระยาพิมลขันอยู่มาก จึงโปรดให้พระยาพิมลขันออกมากำกับดูแลการค้าแร่ระหว่างเมืองถลางกับ กัปตัน ฟรานซิส ไลท์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๔ สืบมาจนกระทั่งได้ทรงแต่งตั้งพระยาพิมลขันให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ในปี พ.ศ.๒๓๑๙ เหตุนี้พระยาพิมลขันจึงได้กลับมาอยู่เมืองถลางร่วมชีวิตกับท้าวเทพกระษัตรีอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๓๑๔ และมีบุตรคนแรกด้วยกันใน พ.ศ.๒๓๑๕ เป็นบุตรหญิง ชื่อทอง ซึ่งต่อมาได้นำเข้าไปถวายตัวในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ ซึ่งทรงโปรดสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าจอมมารดาทอง เนื่องจากได้ประสูตรพระราชธิดาหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอุบล เมื่อ พ.ศ.๒๓๓๔ (ราชสกุลวงศ์ กรมศิลปากร ๒๕๓๖ : ๑๒) ระหว่างที่ท้าวเทพกระษัตรีและครอบครัว ทำการค้าดีบุกอยู่เมืองถลางในฐานะสามัญชนนั้น คุณเทียน (บุตรท้าวเทพกระษัตรี) ได้ค้นพบแหล่งแร่ดีบุกขนาดใหญ่ในบริเวณป่าดงดิบอันอุดมด้วยแม่น้ำลำธารและแร่ดีบุกอย่างที่ไม่มีแหล่งแร่ดีบุกใด ๆ ในเกาะถลางจะเทียบได้ (ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงประจักษ์อยู่แม้กระทั่งปัจจุบันนี้) บริเวณนี้อยู่ในท้องที่ที่มีชื่อว่า บ้านตะปำ (คือสะปำ คำนี้เพี้ยนมาจาก “สลาปัม” ภาษาทมิฬ ชาวอินเดียใต้ที่เคยรุกรานและยึดครองแผ่นดินแถบนี้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงพุมทธศตวรรษที่ ๑๖) พระยาพิมลขันเห็นว่าเป็นผลประโยชน์แก่แผ่นดินอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตามประเพณีแบแผนที่เคยปฏิบัติมา เป็นผลให้ทรงโปรดตั้งคุณเทียนเป็น “เจ้าเมืองภูเก็จ” มีราชทินนามว่า “เจ้าเมืองภูเก็จ” (เพราะอายุไม่ครบ ๓๑ ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนหรือหลวง อันเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางในทำเนียบอย่างเจ้าเมืองทั่วไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องชื่อเมืองภูเก็ตไม่มีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฯ) ส่วนท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งยังอยู่ในยศคุณหญิงตามฐานะของสามีผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยานั้น เมื่อบุตรชายได้รับพระราชทานความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ ก็พลอยได้รับพระราชทานความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษตามไปด้วย คือ ทรงโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็น “ท่านผู้หญิง” แต่ครั้งนั้น เหตุการณ์นี้ไม่มีจารึกหลักฐานใด ๆ ที่จะอ้างอิงได้เป็นการเฉพาะ หากแต่อาศัยการสันนิษฐานวิเคราะห์ตามสิ่งแวดล้อมและประเพณีกำหนดกฎหมาย ซึ่งทำให้กล่าวได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๓๑๔–๒๓๑๙ ก่อนพระยาพิมลขันจะได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง กรณีบุตรทำความดีความชอบที่มีผลต่อบุพการีเช่นนี้ เคยมีประเพณีมาก่อน เช่น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า นายอานซุยบุตรขุนสีขรจารินทร์ คล้องได้นางช้างเผือกประมาณสามศอกเศษ พระยาจักรีจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ก็ทรงโปรดให้รับช้างไว้ ทำการสมโภชทำขวัญครบสามวัน พระราชทานนามช้างนั้นว่า พระอินทไอยราวรรณวิสุทธิราชกิริณี ส่วนนายอานซุยบุตรขุนสีขรจารินทร์ ซึ่งคล้องช้างได้นั้นให้ชื่อเป็นขุนคเชนทร ไอยราวิสุทธิกิริณี และขุนสีขรจารินทร์ผู้เป็นบิดานายอานซุยนั้น ก็เลื่อนขึ้นเป็นหลวงเศวตคตเชนทร (พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน คลังวิทยา ๒ ๕๑๕ หน้า ๓๙๑–๓๙๒) "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเล่าว่า เคยได้ยินเล่ากันในหัวเมือง ว่าเดิมมีข้าราชการคนหนึ่ง ทำความชอบในการจับช้างเผือกถวาย พระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานบำเหน็จ ขุนนางคนนั้นทูลขอเป็นเจ้าเมือง พระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริเห็นจะไม่สามารถปกครองได้ แต่เมื่อออกพระโอษฐ์ประทานพรแล้วก็ต้องเลยตามเลย โปรดให้ตั้งเมืองมโนรมย์ขึ้นให้ขุนนางคนนั้นเป็นเจ้าเมือง แต่จำกัดอาณาเขตเพียงสุดเสียงช้างร้อง" (ส.พลายน้อย ขุนนางสยาม หน้า ๑๗๐) เรื่องราวอันมีมาแต่โบราณเช่นนี้ พอจะประเมินความเป็นไปในเมืองถลางสมัยกรุงธนบุรีได้เช่นเดียวกันว่า เมื่อคุณเทียนบุตรชายคุณหญิงจันพบแหล่งแร่ใหม่ที่บ้านสะปำ เป็นแหล่งแร่ดีบุกมากมายอันจะเป็นประโยชน์แก่กรุงธนบุรี ซึ่งขณะนั้นกำลังสูญเสียทางเศรษฐกิจเพราะสงครามเป็นอย่างสำคัญ เช่นนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ย่อมทรงมีพระทัยปีติและโปรดเกล้า ฯ พระราชทานโอกาสให้คุณเทียนเลือกเอาบำเหน็จตามที่เห็นสมควร ซึ่งคุณหญิงจันก็คงจะสนับสนุนให้บุตรชายขอตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่บริเณอันได้พบแร่ดีบุกแห่งนั้น เพื่อยกฐานะครอบครัวอันต้องตกต่ำมานานขึ้นใหม่ เมืองภูเก็จ จึงเกิดขึ้นในครั้งนั้น แต่เนื่องจากคุณเทียนยังอยู่ในวัยหนุ่ม อายุยังไม่ครบสามสิบเอ็ดปี ตามพระราชกำหนดของแผ่นดินซึ่งได้ตราไว้ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศว่า ผู้ที่จะเป็นขุนนางมียศเป็นพระ หลวง ขุนหมื่น ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการ ย่อมต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ ประการคือ มีชาติวุฒิ,วัยวุฒิ,คุณวุฒิ,และปัญญาวุฒิ (ส.พลายน้อย,ขุนนางสยาม.อ้างแล้ว หน้า ๑๗๗) พระราชกำหนดนี้พึ่งมาเลิกใช้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ๔ ประการตามพระราชกำหนด โดยเฉพาะอายุยังน้อยอยู่จึงโปรดพระราชทานให้เป็นได้เพียง "เมืองภูเก็จ" ดังกล่าว ผู้เป็นเจ้าเมือง ซึ่งไม่มียศศักดิ์เป็น ขุน หลวง หรือพระเช่นนี้ สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ได้รวบรวมไว้ในข้อเขียนเรื่อง "ชื่อถลางและภูเก็จ" ตอนหนึ่งว่า "---ตำแหน่งนี้จากทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เช่น เมืองพินิจภักดีศรีสงคราม ถือศักดินา ๖๐๐ เมืองรามธานี ๘๐๐ และเมืองภักดีสงคราม ๑๐๐๐ ดังนั้นเมืองภูเก็จขณะนั้น อาจจะมีศักดินา ๖๐๐-๑๐๐๐"(รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง พ.ศ.๒๕๒๘ หน้า ๒๗) คุณหญิงจันผู้เป็นมารดาของ "เมืองภูเก็จ" (เทียน) มีความชอบได้เลื่อนยศจากคุณหญิง ขึ้นเป็น "ท่านผู้หญิง" ปรากฏตามเอกสารจดหมายเหตุเมืองถลางหลายฉบับที่เป็นจดหมายของท่านผู้หญิงจัน มีถึงพระยาชกปิตัน (ฟรานซิสไลท์) จะใช้สรรพนามแทนตัวท่านเองว่า "ท่านผู้หญิง" ทุกฉบับ ครั้นล่วงถึงปี พ.ศ.๒๓๑๙ เจ้านราสุริยวงศ์ ผู้ครองนครศรีธรรมราช ถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชดำริเห็นว่า เจ้านครที่ถูกนำตัวขึ้นไปไว้ ณ กรุงธนบุรีนั้น ได้ปฏิบัติประพฤติดีตลอดมาด้วยความจงรักภักดีและได้ถวายบุตรีคนหนึ่งเป็นบาทบริจาริกาแสดงถึงความมั่นคงในจิตใจพอจะไว้วางพระราชหฤทัยได้ จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้านคร ขึ้นเป็นเจ้าประเทศราชครองเมืองนครศรีธรรมราชแทนเจ้านราสุริยวงศ์ ในครั้งนั้น ทรงโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาบดี คุมกองทัพเรือจำนวนทหาร ๕๐๐ นาย จำทูลพระสุพรรณบัฏรัตนราชโองการและตราพระครุฑพ่าห์ ออกมาพระราชทานมอบเมืองให้พระเจ้านครศรีธรรมราชรับราชการผ่านแผ่นดินเมืองนครสืบไป เสร็จแล้วโปรดให้เจ้าพระอินทวงศาอยู่ชำระว่ากล่าวเร่งรัดส่วยสาอากรในเมืองนครแว่นแคว้นหัวเมืองขึ้นแก่เมืองนครนั้นด้วย เจ้าพระยาอินทวงศา จึงมาตั้งวังอยู่ที่ปากพระฝั่งเมืองตะกั่วทุ่ง เพื่อดูแลเร่งรัดภาษีดีบุก อันเป็นภาษีสำคัญของเมืองถลางบางคลี,เมืองตะกั่วทุ่ง,เมืองตะกั่วป่า,เมืองคุระ เมืองคูรอด,เมืองเกาะรา (ตราสูง) เมืองพังงา และเมืองภูเก็ต รวม ๘ หัวเมือง เรียกว่า หัวเมืองฝั่งตะวันตก (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒ เคยอ้างแล้ว หน้า ๔๙๘) พระยาพิมลขัน ซึ่งเคยให้ความภักดีต่อเจ้านครมาแต่เดิม ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกันได้กลับมาเป็นเจ้าเมืองถลางในครั้งนั้นด้วย โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่ตามตำแหน่งเจ้าเมืองถลางซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี (เพิ่งมาเปลี่ยนแปลงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์) ว่า "พระยาสุรินทราชา (พระยาพิมลขัน)" ปรากฏหลักฐานเอกสารอ้างอิงได้จากจดหมายเหตุเมืองถลางฉบับหนึ่งความว่า "หนังสือท่านพระยาสุรินทราชาพระยาพิมลขัน ให้ไว้แก่กปิตันบังเกน ด้วยกปิตันบังเกน บรรทุกปืนชาติตุระหมัดมาจำหน่าย ณ เมืองถลางสี่ร้อยเก้าสิบบอก คิดหกบอกต่อภารา เป็นดีบุกแปดสิบเอ็ดภารา ห้าแผ่น สามบาทสลึง และได้รับเอาปืนชาติตุระหมัดสี่ร้อยเก้าสิบบอกไว้แล้ว และดีบุกนั้นฝ่ายกปิตันบังแกนว่าจะไปเมืองมะละกาก่อน จึงจะกลับมารับเอาดีบุก ถ้ากปิตันบังเกนกลับมาแต่เมืองมะละกาแล้ว จึงจะส่งดีบุกค่าปืนให้ตามหนังสือสัญญาซึ่งทำให้นี้ ปิดตราให้ไว้ ณ วันอังคาร เดือนเก้า ขึ้นสองค่ำ ศักราชพันร้อยสามสิบเก้า ปีระกานพศก (จดหมายเหตุเมืองถลาง ศวภ.๓). ปีระกานพศก ศักราช ๑๑๓๙ คือปี พ.ศ.๒๓๒๐ คำว่ากปิตันบังเกน เป็นชื่อนายเรือชาวอังกฤษ ซึ่งคนไทยมักเรียกเพี้ยนไปจากชื่อจริงของเขา แต่ก็ยังค้นหาไม่พบว่าชื่อจริงนั้นคืออย่างไร ส่วนปืนตุระหมัด คือปืนที่ทำจากประเทศเยอรมัน,บางแห่งเรียกปืนชาติเจะรอมัด และเรียกชื่อนายเรือผู้นี้ว่า กปิตันมังกู (จดหมายเหตุเมืองถลาง ศวภ.๒) ในการกลับมาเป็นเจ้าเมืองถลางอีกครั้งหนึ่งของพระยาสุรินทราชาพระยาพิมลขันนั้น ได้แต่งตั้งกรมการเมืองถลางขึ้นใหม่หลายคนตามตำแหน่งหน้าที่ซึ่งได้ระบุไว้ในทำเนียบขุนนางหัวเมืองฝ่ายปักษ์ใต้ที่ถือปฏิบัติอยู่ทั่วไปและมีตำแหน่งกรมการเมืองอยู่คนหนึ่งชื่อ "พระยาทุกราช" (โปรดสังเกตว่า เขียนทุกราช ไม่ใช่ ทุกขราษฎร์ ดังเช่นที่เขียนในที่หลาย ๆ แห่ง) เป็นตำแหน่งช่วยราชการซึ่งบางเวลาก็ทำหน้าที่ปลัดเมืองได้อีกด้วย บรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พระยาทุกราช” ตำแหน่งที่ปรึกษาหรือปลัดเมืองนี้ สมัยพระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขัน เป็นเจ้าเมืองถลางนั้น ได้แก่ คุณทองพูน บุตรจอมเฒ่า (หรือจอมทองคำ) ผู้มีอำนาจเสมอเจ้าเมืองอยู่ที่บ้านดอน คุณทองพูน เป็นบุตรผู้พี่ของท้าวเทพกระษัตรี จึงมีศักดิ์เป็นคุณลุงของคุณเทียน บุตรท้าวเทพกระษัตรีด้วย พระยาทุกราชทองพูน เป็นปลัดเมืองถลางอยู่ระหว่าง พ.ศ.๒๓๑๙ จนถึง พ.ศ.๒๓๒๗ ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพระยาฦาราชนิกูลพระยาธรรมไตรโลก ข้าหลวงผู้มีอำนาจสำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้ง ๘ หัวเมืองครั้งนั้น (พ.ศ.๒๓๒๗–๒๓๒๘) ให้ขึ้นรั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองถลาง แทนพระยาสุรินทราชาพระยาพิมลขัน ซึ่งถูกถอดถอนออกจากราชการ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ครั้งถึง พ.ศ.๒๓๒๘ พระยาพิมลขัน (สุรินทราชาเจ้าเมืองถลางนอกราชการ) ถึงแก่อนิจกรรมลง ประจวบกับพม่ายกเข้ามาตีเมืองถลาง พระยาทุกราชทองพูน ได้ร่วมกับท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร และทแกล้วทหารชาวถลาง ต่อสู้ขับไล่พม่าถอยกลับไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรด เกล้า ฯ พระราชทานตราตั้ง พร้อมเครื่องอุปโภคต่าง ๆ ในชุดเครื่องเจียดทอง ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ฯ เจ้าเมืองถลาง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒ช (จนถึง พ.ศ.๒๓๓๒) ชาวถลางเรียกกันว่า “พระยาถลางเจียดทอง” นับเป็นการเปลี่ยนแปลงราชทินนามในตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง จาก “พระยาสุรินทราชา” เป็นอย่างอื่นตามความเหมาะสมในเวลาต่อมา เมืองถลางระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๐ ถึง ๒๓๒๕มีการค้าขายแร่ดีบุกเป็นล่ำเป็นสัน เอกสารจดหมายเหตุเมืองถลางหลายฉบับ กล่าวถึงการซื้อหาอาวุธปืนจากต่างประเทศโดยใช้ดีบุกเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน เอกสารบางฉบับกล่าวถึงการสั่งทำผ้าพระกระบวรจากเมืองเทศ (อินเดีย) เพื่อใช้ในราชสำนัก กัปตันฟรานซิส ไลท์ ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยพระราชทานทุนค้าขายด้วยดีบุกบางจำนวน เช่น จดหมายเหตุฉบับลงวันศุกร์ เดือนแปด ทุตวิยลาต (เดือนแปดหลังในปีที่มีเดือนแปด ๒ ครั้ง) ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีระกานพศก ความว่า -------(ในต้นฉบับให้ตัดถึงตรงนี้) "กฎหมายให้แก่ กปิตันมังกูด้วยกปิตันเหล็ก ให้กปิตันมังกูอยู่รับดีบุกในจำนวนพระราชทานร้อยภารา ค่าปืนหกร้อยยี่สิบหกบอก ร้อยภาราแล้ว ให้กปิตันมังกูคุมเอาปืนเก้าร้อยยี่สิบหกบอกเข้าไปส่ง ณ กรุงเทพมหานคร และบัดนี้กปิตันมังกูมีน้ำใจรับเอาปืนและพรรณผ้าแพรซึ่งข้าหลวงกรมการจัดซื้อเข้ามาส่งด้วย เป็นปืนชาติเจะรอมัดเก้าร้อยบอก เข้ากับปืนชาติสุตันเก้าร้อยยี่สิบหกบอก เป็นปืนพันแปดร้อยยี่สิบหกบอก กับพรรณผ้าและแพร -------พับได้ส่งให้กปิตันมังกูบรรทุกกำปั่นเข้าไปยังกรุงเทพมหานคร และดีบุกค่าผ้า/ค่าปืนซึ่งข้าหลวงกรมการซื้อทั้งนี้ได้จัดดีบุกค่าผ้า/ค่าปืน ให้แก่เจ้าผ้า/เจ้าปืน ณ เมืองถลาง ตามรัดรายราคาอยู่แล้ว กฎหมายให้ไว้ ณ วันศุกร์ เดือนแปด ทุตวิยลาด ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีระกา นพศก" ปีระกานพศก จุลศักราช ๑๑๓๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๒๐ อยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี "ดีบุกในจำนวนพระราชทานร้อยภารา" ในจดหมายเหตุฉบับนี้ หมายถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชทานให้กปิตันเหล็ก (ฟรานซิส ไลท์) ยืมเป็นทุนสำรองไปจัดซื้อปืนจากต่างประเทศ ซึ่งดีบุกจำนวนนี้ต่อมากลายเป็นปัญหาขึ้นระหว่างพระยาธรรมไตรโลก กับ กปิตันเหล็ก คือพระยาราชกปิตัน ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชว่า มีการทุจริตเบียดบังฉ้อโกงกัน จนพระยาราชกปิตันโกรธเคือง ไม่เข้ามาทำการค้าขายกับเมืองถลางเสียเป็นเวลานาน. สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ แล้วได้ทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งภายในพระนคร และหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อความเหมาะสม จนถึงปี พ.ศ.๒๓๒๗ ทรงเห็นว่าหัวเมืองฝ่ายใต้ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองบริวารหลายเมืองไม่เต็มใจถวายความจงรักภักดีตามควรแก่เหตุการณ์จึงโปรดให้ขุนนางใหญ่ (เข้าใจว่าคงเป็นพระยาธรรมไตรโลก) เชิญสารตราตั้งออกมาแต่งตั้งเจ้าอุปราช (พัฒน์) อันเป็นบุตรเขยเจ้านคร (หนู) ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช แต่ให้มียศเพียงเจ้าพระยาตามประเพณีเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ส่วนเจ้านคร (หนู) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าประเทศราชแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ทรงโปรดให้ถอดออกเสียจากตำแหน่งพระเจ้านครศรีธรรมราช ให้กลับเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ ฝ่ายพระยาธรรมไตรโลก ซึ่งเลื่อนขึ้นกินตำแหน่งเจ้าพระยาฦาราชนิกูล พร้อมด้วยพระยาพิพิธโภคัย นั้นเมื่อได้จัดการมอบเมืองนครศรีธรรมราชให้แก่เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ฯ คนใหม่แล้วก็เดินทางมายังเมืองตะกั่วทุ่ง เพื่อถอดถอนเจ้าพระยาอินทวงศา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกอีกด้วย เจ้าพระยาอินทวงศา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก และพระยาสุรินทราชาพระยาพิมลขันนั้นเป็นขุนนางผู้ถวายความภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างสูงสุดเช่นเดียวกับพระยาพิชัยดาบหัก โดยเฉพาะเจ้าพระยาอินทวงศานั้นมีตำแหน่งสูงสุดในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถึงชั้นอัครมหาเสนาบดี การที่จะเปลี่ยนใจกระทันหันมาถวายความภักดีต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่นั้น ย่อมไม่อาจจะกระทำได้โดยง่าย ฉะนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจระหว่างการยิมยอมให้พระยาธรรมไตรโลก ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ มีอำนาจอาญาสิทธิเด็ดขาด เกาะกุมเอาตัวไป หรือกระทำการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวอันเป็นการเสี่ยงต่อการถูก "จับตาย" เจ้าพระยาอินทวงศาจึงเลือกเอาวิธีอย่างอื่นคือกระทำอัตนิวิบาตกรรมก่อนที่จะถูกจับตาย พระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขัน เจ้าเมืองถลางก็ยอมฆ่าตัวตายเพื่อมิให้ได้ชื่อว่าเป็น "ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย" และได้ถึงแก่อนิจกรรมลง ณ เมืองถลาง ก่อนหน้าที่พม่าจะเข้าโจมตีเพียงประมาณ ๑ เดือน คงเหลือเพียงท่านผู้หญิงจันกับ เมืองภูเก็จ (เทียน) เจ้าเมืองภูเก็จและเครือญาติที่ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนเข้าอยู่ในบังคับบัญชาของพระยาธรรมไตรโลก ผู้สำเร็จราชการเมืองถลางกับทั้งหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้ง ๘ หัวเมืองแต่โดยดี พระยาธรรมไตรโลก แต่งตั้งให้พระยาทุกราช (ทองพูน) ตำแหน่งกรมการปลัดเมืองถลางแต่ครั้งพระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขัน ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมืองถลาง ปรากฏหลักฐานตามเอกสารจดหมายเหตุเมืองถลาง ฉบับลงวันที่ ๒๗ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๒๘ วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะเส็ง สัพศก จุลศักราช ๑๑๔๗ ความตอนหนึ่งว่า ดังนี้ "ออกหลวงเพชรภักดีศรีพิไชยสงคราม ยุกรบัตร บอกมายังท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยท่านพระยาทุกราช ผู้ว่าราชการเมืองถลาง สั่งว่า ด้วยให้นายทองดีหลานท่านคุมเอาสิ่งของท่านพระยาราชกปิตันเข้าไปทูลเกล้า ฯ ถวาย มีตรารับสั่งตอบออกมาข้อหนึ่งว่า ได้ส่งตัวอย่างพระกระบวร ให้ท่านพระยาราชกปิตันคุมออกไปทำ ณ เมืองเทศ และให้เชิญท่านพระยาราชกปิตันมาฟังตรารับสั่ง ณ วัดนาล่าง หนังสือมา ณ วันอาทิตย์ เดือนสิบสอง แรมสิบเอ็ดค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบเจ็ด ปีมะเส็งสัพศก" พระยาราชกปิตัน (กัปตัน ฟรานซิส ไลท์) นำกองเรือสินค้าอังกฤษแวะเข้ามาทำการค้าขายที่เมืองถลาง ตั้งแต่พ.ศ.๒๓๑๕ สนิทสนมกับครอบครัวพระยาสุรินทราชา พระยาพิมลขัน และท่านผู้หญิงจันเป็นอย่างดียิ่ง ครั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองขึ้นกับเมืองถลาง ก็เห็นเป็นการไม่สะดวกที่จะอยู่เมืองถลางต่อไป ประกอบกับมีความขัดแย้งกับพระยาธรรมไตรโลกด้วยเรื่องดีบุกจำนวนหนึ่งร้อยภารา ซึ่งรับพระราชทานเป็นทุนสำรองมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชครั้งแผ่นดินธนบุรี เพื่อจัดหาซื้อปืนจากประเทศยุโรป และภารกิจอันนั้นได้เสร็จสิ้นลงแล้ว แต่พระยาธรรมไตรโลกยังกล่าวหาว่า พระยาราชกปิตัน คงค้างเงินค่าดีบุกจำนวนนี้อยู่ กับอีกประการหนึ่ง พระยาราชกปิตันมีพ่อค้าบริวารที่เดินเรือระหว่าง ตะนาวศรี ทวาย มะริด และเมืองถลางอยู่ประจำ ได้ข่าวเป็นที่แน่นอนว่า พม่ากำลังสะสมเสบียงและเตรียมกำลังทัพเพื่อที่จะยกมาตีเมืองถลางในเวลาที่ไม่นานนัก หากพระยาราชกปิตันอยู่ยังเมืองถลาง ก็คงจะถูกท่านผู้หญิงจันขอร้องให้ช่วยรบ พม่า ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อความพ่ายแพ้มากกว่าชนะ เนื่องจากคาดคะเนว่า เมืองถลางกำลังขัดแย้งกันอยู่กับแม่ทัพจากกรุงเทพฯ คือพระยาธรรมไตรโลก และกองกำลังฝ่ายไทยมีจำนวนน้อย คงไม่อาจเอาชนะพม่าซึ่งยกมาเป็นทัพใหญ่ได้แน่นอน ฉะนั้นพระยาราชกปิตัน จึงรีบทวงหนี้จากเมืองถลาง ซึ่งก็ไม่ได้สมตามที่ใจคิดแต่แม้ไม่ได้หนี้สินคืนอย่างที่ต้องการ พระยาราชกปิตัน ก็รีบเร่งออกกองเรือสินค้าถอยจากเมืองถลางไป ก่อนที่กองทัพพม่าจะเข้ามาถึง จุดหมายของพระยาราชกปิตันที่ไปคือ บังคลาเทศ หรือเมืองมังค่า ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุเมืองถลางสมัยนั้น. พ.ศ. ๒๓๒๘ เมื่อพม่ายกมาตีได้เมืองตะกั่วป่า เนื่องจากเมืองนี้มีพลเมืองน้อยไม่อาจต้านทานกองทัพได้ เจ้าเมืองจึงอพยพผู้คนหนีศึกละทิ้งเมืองเข้าป่า พม่าก็กวาดต้อนเอาทรัพย์สิน และปืนใหญ่น้อยเข้าเป็นของตน แล้วยกลงมาถึงค่ายปากพระซึ่งเจ้าพระยาฦๅราชนิกูล พระยาธรรมไตรโลก และพระยาพิพิธโภไคย ตั้งกำลังรักษาอยู่ พระยาธรรมไตรโลก ในฐานะผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกบังคับบัญชาเมืองถลาง จึงเกาะเอาตัวท่านผู้หญิงจันจากเมืองถลางไปไว้ที่ค่ายปากพระ ละทิ้งเมืองถลางให้ผู้คนอพยพหนีเข้าป่า พม่าเข้าโจมตีค่ายปากพระ พระยาธรรมไตรโลก และพระยาพิพิธโภไคย สู้ไม่ได้ต้องหลบหนีไปทางเมืองพังงา ในพงศาวดารเมืองถลางให้ถ้อยคำว่า พระยาธรรมไตรโลกตาย ในสนามรบ แต่ความจริงปรากฏตามเอกสารจดหมายเหตุเมืองถลาง ในปีพ.ศ.๒๓๓๐ ว่า พระยาธรรมไตรโลกยังมีชีวิตอยู่และถูกลงโทษด้วยคดีฉ้อฉลพระยาราชกปิตันเกี่ยวกับเงินค่าดีบุกหนึ่งร้อยภาราที่สมเด็จพระเจ้าตากสินพระราชทานแก่พระยาราชกปิตัน( ศวภ.๓๓) เมื่อค่ายปากพระเสียแก่พม่า และแม่ทัพใหญ่หนีไปทางฝั่งตะวันออก ท่านผู้หญิงจันและบริวารจำต้องถอยกลับมายังเมืองถลางเพื่อตั้งหลักสู้ใหม่ ตามที่ได้เล่าขานกันว่าท่านผู้หญิงจันและทหารเมืองถลางได้สร้างค่ายเป็นพิเศษขึ้นต่อสู้กับพม่าเป็นพิเศษนั้น เมื่อศึกษาข้อเท็จจริงแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้ เนื่องจากท่านผู้หญิงจันทราบข่าวศึกจากพระยาราชกปิตัน ในเดือนอ้าย ปีมะเส็ง ขณะที่พระยาสุรินทราชาพระยาพิมล (ขัน) กำลังป่วยหนักอยู่แล้วก็ถึงแก่อนิจกรรมลง หลังจากนั้นพระยาธรรมไตรโลกก็มาเกาะเอาตัวท่านผู้หญิงจันและบริวารไปยังค่ายปากพระ เมื่อแตกจากค่ายปากพระ ท่านผู้หญิงจันกลับมายังเมืองถลาง พม่าก็ยกกำลังติดตามมาและเข้าโจมตีในเดือน ๒ (บางแห่งว่าเดือนยี่ข้างแรม) นั่นเอง ไม่มีเวลาเหลือให้ท่านผู้หญิงจันและทหารเมืองถลางทำการสร้างค่ายได้ทัน ค่ายที่ใช้ในการต่อสู้จึงเป็น”ป้อมค่ายของเรเนอ แชร์บอนโน” เจ้าเมืองถลางชาวฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.๒๒๒๔ - ๒๒๒๘ สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ยังคงเหลือซากให้พออาศัยใช้ต่อสู้พม่าได้เท่านั้น แต่อาศัยสติปัญญาในเชิงยุทธการ เช่น การล่อหลอกให้ข้าศึกเข้าใจผิดคิดว่าฝ่ายเมืองถลาง มีกำลังหนุนมาจากนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นทุกวัน กับการใช้อาวุธปืนที่จัดซื้อไว้เพื่อส่งต่อไปยังกรุงเทพมหานคร แต่ยังรอมรสุมอยู่ กับปืนสำหรับรักษาเมืองถลางที่เจ้าเมืองทุกคนเอาใจใส่จัดซื้อไว้นั้น เข้าทำการระดมยิงด้วยยุทธวิธี “ปูพรม” ดังที่เรียกขานกันในสมัยนั้นว่า “พิรุณสังหาร” ทำให้ข้าศึกล้มตายลงอย่างไม่คาดคิดมาก่อน จนเสียขวัญ และไม่กล้าจู่โจมอีก ในที่สุดก็ต้องล่าถอยไปภายใน ๑ เดือน เป็นชัยชนะด้วยสติปัญญา ซึ่งเป็นความประหลาดใจของผู้คนทั่วไปอย่างยิ่ง เป็นบทเรียนของพม่าที่ได้นำมาแก้แค้นอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ และเป็นครั้งสำคัญที่เมืองถลางต้องเสียหายอย่างยับเยิน จนต้องทิ้งร้างอยู่นานถึง ๑๘ ปี (จาก พ.ศ.๒๓๕๒ ถึง พ.ศ.๒๓๗๐) เสร็จศึกพม่าลงเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง สัพศก จุลศักราช ๑๑๔๗ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๓๒๘ แล้ว กรมการเมืองถลางก็มีใบบอกเพื่อกราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ตามความในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่าดังนี้ “ฝ่ายกรมการเมืองถลาง ครั้นทัพพม่าเลิกกลับไปแล้ว ได้ข่าวว่าทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว จึงบอกข้อราชการมากราบทูลพระกรุณาขณะเมื่อทัพหลวงยังเสด็จอยู่ที่เมืองสงขลาฉบับ ๑ บอกเข้ามากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพพระมหานครฉบับหนึ่ง และขณะที่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จกลับเข้าถึงพระนครแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชโองการโปรดใช้มีตราออกไปยังเมืองถลาง ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่ แล้วโปรดตั้งจันทร์ภรรยาพระยาถลางเก่า ซึ่งออกต่อรบพม่านั้นเป็นท้าวเทพสตรี โปรดตั้งมุกน้องหญิงนั้นเป็นท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง ๒ คน ตามสมควรแก่ความชอบในการสงครามนั้น แล้วโปรดตั้งให้หลวงสุวรรณคีรีเป็นพระยาสงขลา----” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร อนุญาตให้สำนักพิมพ์คลังวิทยาพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๕ หน้า ๑๒๗-๑๒๘) แต่พระราชพงศาวดาร ฯ มิได้มีรายละเอียดถึงสำเนาสารตราตั้ง และไม่มีรายชื่อเจ้าเมืองถลางซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่นั้น แต่ประการใด ขุนนรภัยพิจารณ์ (ไวย์ ณ ถลาง) ผู้เรียบเรียงประวัติตระกูล ณ ถลาง ได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “---ครั้นถึงปีมะเมีย อัฐศก ศักราช ๑๑๔๘ (ตรงกับ พ.ศ.๒๓๒๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้มีท้องตราออกมาเมืองถลางตั้งผู้มีความชอบในการสงครามดังนี้ คือ โปรดเกล้า ฯ ให้นายทองพูนบุตรชายคนที่ ๓ ของจอมทองคำ เป็นพระยาถลางว่าราชการเมืองถลางต่อไป--- ” (ขุนนรภัยพิจารณ์, ประวัติตระกูล ณ ถลาง, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอกพระยาภักดีพิพัฒนผล (เจริญ ณ ถลาง) พ.ศ.๒๔๙๙ หน้า ๑๗) ความข้อนี้สอดรับกับพงศาวดารเมืองถลาง ในประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “---ขุนนางเมืองถลางนั้น จอมเถ้าอยู่บ้านดอน จอมร้างอยู่บ้านตะเคียน จอมเถ้ากับจอมร้างเป็นลูกพ่อเดียวกันคนละมารดา ลูกหลานมะหุมอยู่บ้านดอนได้เป็นพระยาถลางเจียดทอง---”(ประชุมพงศาวดาร, ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ เล่ม ๑ หน้า ๔๙๗) หนังสือ “ประวัติตระกูล ณ ถลาง” ของขุนนรภัยพิจารณ์ (ไวย์ ณ ถลาง) ยังได้กล่าวเนื้อความต่อไปอีกว่า “เมื่อมีชัยชนะแก่ข้าศึกพม่าแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาถลางว่าราชการเมืองถลางต่อไป จึงเป็นอันว่าบรรดาข้าราชการในเมืองถลางตั้งแต่เดิมมาเพิ่งจะมีพระยาถลาง (ทองพูน) นี้เป็นคนแรกที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ในกาลครั้งนั้น จึงจัดว่าเมืองถลางได้มีเกียรติยศฟุ้งเฟื่องขึ้นเสมอหัวเมืองชั้นใน----” (ประวัติตระกูล ณ ถลาง, อ้างแล้ว, หน้า ๒๔) ในตอนต้นได้กล่าวถึงคุณทองพูน บุตรจอมเฒ่า (หรือจอมทองคำ) บ้านดอน ไว้แล้วว่า ครั้งที่พระยาสุรินทราชาพระยาพิมล (ขัน) มาเป็นเจ้าเมืองถลางเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ นั้น คุณทองพูน ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นพระยาทุกราช กรมการเมืองถลาง ที่ปลัดเมือง ครั้นพระยาสุรินทราชาพระยาพิมล (ขัน) ถูกถอดถอนออกจากราชการเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พระยาธรรมไตรโลก ผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ ก็ได้แต่งตั้ง พระยาทุกราช (ทองพูน) ขึ้นเป็นผู้ว่าราชการเมือง ถลาง ในปี พ.ศ.๒๓๒๗ ครั้นเกิดศึกพม่าขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พระยาทุกราช (ทองพูน) ท่านผู้หญิงจัน และเมืองภูเก็จ (เทียน) ก็ได้ร่วมกันต่อสู้พม่าจนเลิกทัพกลับไป สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทจากใบบอกของกรมการเมืองถลาง ถึงชัยชนะต่อพม่า ซึ่งควรแก่การพระราชทานปูนบำเหน็จแก่ผู้มีความชอบในการสงคราม และโดยเหตุที่ท่านผู้หญิงจัน กับคุณมุกนั้น แม้จะมีความสามารถสูงส่งในการรวบรวมผู้คนและอำนวยการรบด้วยยุทธวิธีที่ล้ำเลิศ จนสามารถขับไล่พม่าให้ถอยกลับไป แต่เนื่องจากสถานภาพเป็นสตรีเพศ ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า ได้รับการยกย่องให้เป็นถึงเจ้าเมือง ก็ต้องให้เป็นไปตามประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมา จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้ได้เป็น “ท้าวเทพกระษัตรี” ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติยศสูงส่งอันหาได้ยากเช่นกัน ส่วน เมืองภูเก็จ (เทียน) บุตรชายท้าวเทพกระษัตรีนั้น เนื่องจากยังมีอายุน้อยอยู่ และยังมีญาติผู้ใหญ่ คือ พระยาทุกราช (ทองพูน)ผู้ว่าราชการเมืองถลาง เป็นผู้ประกอบความดีในการสงครามเป็นที่ปรากฏอยู่อีกคนหนึ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ เมืองภูเก็จ (เทียน) เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นพระยาทุกราช (เทียน) เป็นเจ้าเมืองภูเก็จ ตามเดิม และให้เป็นกรมการเมืองถลางในตำแหน่งปลัดเมืองอีกด้วยแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนพระยาทุกราช (ทองพูน) ผู้ว่าราชการเมืองถลางระหว่างสงครามพม่า ซึ่งยังไม่มีตราตั้งเป็นทางราชการให้มีตราตั้งขึ้นใหม่โดยให้เจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) เป็นผู้อัญเชิญสารตราตั้งออกมาจากกรุงเทพมหานครมาถึงเมืองถลางเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ และทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) เป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้ง ๘ หัวเมืองในคราวเดียวกันนั้นด้วย พระยาถลาง (ทองพูน) จึงได้เป็นพระยา ถลางคนแรกที่ได้รับพระราชทานเจียดทอง และตราตั้งเป็นทางราชการ ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะมีราชทินนาม ว่า “พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม นิคมคามบริรักษ์ ฯ” แต่ไม่อาจจะค้นหาสำเนาตราตั้งได้ ถึงกระนั้นก็พอมีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมยืนยันได้อีกสถานหนึ่งนั่นคือ ราชทินนามนี้ได้เป็นราชทินนามสืบทอดแก่ขุนนางตระกูล ณ ถลาง ในโอกาสต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองถลางขึ้นในบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า “พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม นิคมคามบริรักษ์ สยามพิทักษ์ภักดี (หนู)” ท่านผู้นี้มีฐานะเป็น “เหลน”ของพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม ฯ (ทองพูน) สมัย พ.ศ. ๒๓๒๙ (สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ๒๕๑๗ : ๑๖๔ และบัญชีเครือญาติต้นตระกูล ณ ถลาง,หนังสือประวัติตระกูล ณ ถลาง, ขุนนรภัยพิจารณ์ ฯ อ้างแล้วหน้า ๒๖ ) เมืองภูเก็จ (เทียน) ผู้ได้รับเลื่อนยศขึ้นเป็นพระยาทุกราชเจ้าเมืองภูเก็ตและปลัดเมืองถลางในครั้งนั้นมีความปรารถนาและมีความหวังอันแรงกล้าที่จะได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองถลางปรากฏตามจดหมายที่มีไปถึงพระยาราชกปิตัน ที่เกาะปีนัง ในปีนั้นเอง ความว่า “หนังสือท่านเจ้าเมืองภูเก็จผู้เป็นพญาทุกราช ให้มายังท่านพญาราชกปิตันด้วยท่านพญาราชกปิตันให้กปิตันสินทุกข้าวสารมาจำหน่ายให้แก่เจ้าคุณมารดาบ้างนั้น คุณของท่านพญาราชอยู่แก่ข้าพเจ้ามากหาที่สุดมิได้อยู่แล้ว แล้วข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าของหลวง ณ เมืองสงขลาครั้งนี้ไปโดยขัดสน หามีของซึ่งจะเอาไปถวายเป็นอันมากไม่ ข้าพเจ้าได้แต่ดินอีหรอบไปถวายหีบหนึ่งกับปืนสุตันแปดกระบอก แล้วข้าพเจ้าอดษากราบทูลด้วยเงินหลวงซึ่งค้างอยู่แก่เจ้าคุณผู้ตาย แลภาษีดีบุก ซึ่งให้เรียกภาราชั่งนั้น ก็โปรดให้ซื้อขายเหมือนแต่ก่อน จึงมีรับสั่งว่าแก่ข้าพเจ้าว่า ให้ข้าพเจ้าเป็นพญาทุกราชออกไปก่อนเถิด เข้ามาครั้งหลังจึงจะให้เป็นพญาถลาง ออกไปนั้น ในของหลวงวังหน้าเห็นดูข้าพเจ้าเป็นอันมากอยู่ และ ณ เดือนสามข้างแรม ข้าพเจ้ากับเจ้าคุณมารดา จะเข้าไปเฝ้าของหลวง ณ กรุงเทพ แลจะไปทางเกาะตะลิโบง ให้โตกพญาท่านช่วยเห็นดูจัดเรือใหญ่ให้มารับสักลำ จะได้ให้เจ้าคุณมารดาขี่ไป แล้วตัวข้าพเจ้าจะไปกราบเท้าโตกพญาท่านให้เถิง ณ เกาะปุเหล้าปีนัง ให้โตกพญาท่านช่วยจัดปืนแลของจะได้เอาไปถวาย เพราะบุญของโตกพญาท่าน ข้าพเจ้าก็จะได้เป็นใหญ่ต่อไป แลอนึ่ง ณ เมืองถลางทุกวันนี้ ข้าพเจ้ากับเจ้าพญาถลางก็วิวาทกัน หาปกติกันไม่ แลข้าพเจ้าแต่งให้นายเพชร นายทองแก้ว นายทิดพรม มากราบเท้าโตกท่านบอกให้รู้ข่าวพลางก่อน ให้โตกพญาท่านช่วยจัดปืนน้อยอย่างดี ข้าพเจ้าจะถือยิงเองให้มาด้วยสักบอกหนึ่ง แล้วถ้าข้าพเจ้าเข้าไปบางเกาะครั้งนี้ เจ้านายโปรดสมความคิดออกมา เถิงมาทว่าโตกท่านจะต้องการดีบุกเมืองถลางมากน้อยเท่าใด ข้าพเจ้าไม่ให้ขัดสน ปราณีบัติมา ณ วัน (ลบเลือนอ่านไม่ได้) ปีมะเมีย อัฐศก. (จดหมายเหตุเมืองถลาง ฯ ศวภ. ๒๓) วันเดือนปีในจดหมายฉบับนี้ลบเลือนด้วยตราตำแหน่งที่ประทับลงบนเลขบอกวันเดือนปีของจดหมายพอดี จึงอ่านไม่ได้ความว่าเป็นวันอะไร เดือนอะไร คงมีแต่ปีมะเมียอัฐศก ซึ่งเป็นจุลศักราช ๑๑๔๘ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๙ ที่มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองถลางขึ้นใหม่ หลังสงครามพม่า อนึ่ง ตามวิธีปฏิบัติในการเขียนจดหมายติดต่อกับพ่อค้าอังกฤษที่เมืองปีนังของขุนนางเมืองถลางสมัยนั้น มักจะเขียนในหน้ามรสุมลมสินค้า คือหลังฤดูฝนผ่านพ้นไปแล้ว เพื่อจะได้ฝากไปกับนายเรือกำปั่นที่เข้ามาเทียบท่าทำการขนถ่ายสินค้าจากยุโรป และอินเดียลงจำหน่ายที่เมืองถลางแล้วรับเอาสินค้าแร่ดีบุก และของป่า ผลิตภัณฑ์ทางทะเลจากเมืองถลางเป็นการแลกเปลี่ยนกลับออกไป ขุนนางเมืองถลางจึงถือโอกาสนี้เขียนจดหมายฝากไปถึงบุคคลที่รู้จัก หรือพ่อค้าที่เคยติดต่อซื้อขายกันมาก่อนยังเกาะปีนัง เพื่อส่งข่าวคราวหรือสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการ ซึ่งจดหมายดังกล่าวนี้มักจะเขียนขึ้นในระยะเวลาที่พร้อมกันหรือใกล้เคียงกันเกือบทุกฉบับ ฉะนั้น วันเดือนปีที่ลบเลือนหายไปในจดหมายฉบับที่อ้างอิงข้างต้น จึงอาจเทียบเคียงค้นหาจากจากจดหมายฉบับอื่น ๆ ที่มีผู้เขียนขึ้นในช่วงเวลานั้นได้บ้าง เช่น จดหมายของท้าวเทพกระษัตรี ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๙ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเมียอัฐศก จุลศักราช ๑๑๔๘ ไปถึงพระยาราชกปิตัน ความบางตอนมีว่า “---แลอยู่ทุกวันนี้ ณ เมืองถลาง พม่าตีบ้านเมืองเป็นจุหลาจลอดข้าวปลาอาหารเป็นหนักหนา ตูข้ายกมาตั้งทำดีบุกอยู่ ณ ตะปำ ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อยเอาซื้อข้าวแพงได้เท่าใดซื้อสิ้นเท่านั้น-----อนึ่งตูข้าจัดได้ดีบุกสิบภารา เป็นส่วนของเจ้าหลิบแปดภารา ส่วนตูข้าสองภาราจัดให้มาแก่ท่าน แลเจ้าหลิบนั้นได้แต่งให้จีนเฉี่ยวพี่ชาย แลตูข้าได้แต่งนายแช่มจีนเสมียนอิ่ว คุมเอาดีบุก ไปถึงท่านให้ช่วยซื้อข้าวให้ อนึ่งถ้าข้าว ณ เกาะปุเหล้าปีนังขัดสน ขอท่านได้ช่วยแต่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปช่วยจัดซื้อข้าว ณ เมืองไซย ถ้าได้ข้าวแล้วนั้น ขอให้ท่านช่วยแต่งสลุปกำปั่นเอามาส่งให้ทัน ณ เดือนสิบเอ็ด เห็นว่าจะได้รอดชื่อเห็นหน้าท่านสืบไป เพราะใบบุญของท่าน และธุระซึ่งว่ามาทั้งนี้แจ้งอยู่แก่ใจกปิตันสินสิ้นแล้วทุกประการได้ว่าหนักใจมาเป็นหนักหนา หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น สิบเอ็ดค่ำ เดือนห้า ปีมะเมียอัฐศก” (จดหมายเหตุเมืองถลาง, ศวภ. ๑๗) จดหมายฉบับนี้ สันนิษฐานว่าคงจะเขียนขึ้นในเวลาเดียวกันกับจดหมายของพระยาทุกราชเจ้าเมืองภูเก็จ เล่าเรื่องสถานภาพทางเมืองถลางหลังสงครามพม่าว่าอดอยากขัดสนด้วยข้าวสารจะบริโภค และแจ้งแก่พระยาราชกปิตันว่า ท้าวเทพกระษัตรี พร้อมด้วยครอบครัวและบริวาร มิได้อยู่ที่เมืองถลางแล้ว แต่ได้ยกออกมาตั้งทำดีบุกอยู่ที่ตะปำ คือบ้านสะปำ บริเวณที่เมืองภูเก็จ บุตรชายได้ค้นพบแหล่งแร่ดีบุกขนาดใหญ่ จนได้รับพระราชทานปูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองใหม่ขึ้นในชื่อบรรดาศักดิ์ “เมืองภูเก็จ” ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กรุงธนบุรี สาเหตุที่ต้องยกออกมาอยู่ ณ บ้านสะปำ ก็เนื่องจากเหตุการณ์ตามจดหมายของ พระยาทุกราช ที่เขียนขึ้นในเวลาเดียวกันคือ “ ณ เมืองถลางทุกวันนี้ ข้าพเจ้ากับเจ้าพญาถลางก็วิวาทกัน หาปกติกันไม่ --” นั่นเอง การทะเลาะวิวาทกันระหว่างเจ้าพญาถลาง (ทองพูน) กับพระยาทุกราช (เทียน) ซึ่งมีศักดิ์และฐานะเป็นลุงกับหลานครั้งนี้ คงไม่มีเรื่องราวอื่นใด นอกจากเรื่องของการที่มีความประสงค์ตรงกันในตำแหน่งเจ้าเมืองถลางหลังสงครามพม่า ซึ่งผู้เป็นลุงได้รับแต่งตั้งจากทางราชการไปก่อนแต่หลานเพียงแต่ได้รับคำมั่นสัญญาจาก” ในของหลวงวังหน้าว่า ให้เป็นพระยาทุกราชออกไปก่อน เข้ามาครั้งหลังจึงจะให้เป็นพระยาถลางออกไป---” จึงกลายเป็นศึกสายเลือดเมืองถลางขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยเกิดขึ้น ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสิ้นบุญ “จอมร้าง” บิดาของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวเทพกระษัตรี - ท้าวศรีสุนทร และ พระยาทุกราช (เทียน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองภูเก็จ และควบตำแหน่งกรมการปลัดเมืองถลางอยู่ด้วย มีความแตกแยกไม่ลงรอยกับพระยาณรงค์เรือง ฤทธิประสิทธิสงคราม (ทองพูน) เจ้าเมืองถลาง ชวนกันยกออกมาตังหลักทำดีบุกอยู่ที่บ้านสะปำในเขตเมืองภูเก็จ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์ที่สุดในเกาะถลาง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๙ เมื่อขุดหาแร่ดีบุกได้ ก็ส่งขายให้กับพ่อค้าชาวอังกฤษในสังกัดของพระยาราชกปิตัน ซึ่งไปเช่าเกาะปีนังจากพระยาไทรบุรี ตั้งเมืองขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ แร่ดีบุก เป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้อย่างสำคัญแก่เกาะถลางและแก่เมืองไทยมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ยิ่งในสมัยที่กรุงธนบุรี พึ่งฟื้นตัวจากสงครามกู้ชาติ จำต้องเร่งรีบแก้ไขความอดอยากยากแค้นของประชาชน และพัฒนาเมืองด้วยแล้วพูดได้ว่าแร่ดีบุกมีความสำคัญยิ่งกว่าช้างเผือกที่เคยช่วยสามัญชนให้ได้เป็นเจ้าเมืองเสียด้วยซ้ำไป ครั้นล่วงถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็เป็นช่วงที่เมืองไทยต้องการเงินตราจากต่างประเทศเพื่อทนุบำรุงบ้านเมืองไม่ยิ่งหย่อนกว่าสมัยกรุงธนบุรี แร่ดีบุกก็ยังเป็นที่ต้องการของแผ่นดินอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน เหตุนี้ การที่ท้าวเทพกระษัตรีและบุตรชาย ได้ยึดเอาแหล่งผลิตแร่ดีบุกขนาดใหญ่ของเกาะถลางไว้ในอำนาจปกครอง จึงเป็นการได้เปรียบทางปัจจัยที่จะดำเนินการต่อสู้แย่งชิงเอาตำแหน่งเจ้าเมืองถลางมาให้แก่พระยาทุกราช (เทียน) ตามแผนการที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบ จดหมายเหตุเมืองถลางบางฉบับ และบางตอนที่ตัดทอนมาพิมพ์ประกอบไว้ต่อไปนี้จะช่วยอธิบายและยืนยันถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วได้เป็นอย่างดี เช่น วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๓๐ พระยาทุกราช ได้เขียนจดหมายถึงพระยาราชกปิตัน ณ เมืองปีนังความว่า “หนังสือข้าพเจ้าพระยาทุกราชผู้เป็นพระยาปลัด ขอบอกมายังโต๊ะท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยมีตราทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมา ณ เมืองถลาง ว่ากรมการเมืองถลางกับพระยาธรรมไตรโลก พระยาฦๅเจ้าราชกูล ออกมาแต่ก่อนคิดอ่านหักเอาเงินของโต๊ะพระยาท่านไว้ว่าโต๊ะพระยาท่านติดเงินแต่ครั้งพระยาตากเป็นเจ้า นั้นบอกท้องตราซึ่งให้พระยาธรรมไตรโลก เจ้าราชกูลถือมาทำให้โตกพระยาท่านโกรธขึ้ง นั้นทรงพระกรุณาเอาโทษแต่พระยาธรรมไตรโลกเจ้าราชกูลข้าหลวงและกรมการ ณ เมืองถลางซึ่งได้คิดอ่านพร้อมกันฉ้อเอาเงินโตกพระยาท่านนั้น ล้นเกล้าล้นกระหม่อมประภาษทรงวิตกคิดเถิงจะใคร่ได้พบโตกพระยาท่านปรึกษาราชกิจบ้านเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมีตราให้จมื่นชำนาญไภยชนถือออกมาเถิงโตกพระยาท่านแล้ว ให้โตกพระยาท่านคิดอ่านให้ชอบข้อราชการในทางพระไมตรี แลถ้าโตกพระยาท่านคิดอ่านตลอดสะดวกไปได้ให้ชอบในกระแสข้อการครั้งนี้ เถิงมาทว่าเมืองถลางจะทำดีบุกได้มากน้อยประการใดเห็นไม่พ้นเงื้อมมือโตกพระยาท่านเป็นเที่ยงแล้ว ข้าพเจ้าผู้เป็นลูกหลานข้างนี้ก็จะได้เป็นที่พึ่งที่ยึดสืบไปแลให้โตกพระยาท่านคิดความตักตวงดูในน้ำใจแต่ที่ชอบ ข้าพเจ้าขอปราณีบัติมา ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรมสิบสี่ค่ำ จุลศักราชพันร้อยสี่สิบเก้า ปีมะแม นพศก” (ศวภ.๓๓ ) และจดหมายอีกฉบับหนึ่ง ความว่า “หนังสือท่านพระยาปลัดผู้เป็นเจ้า พระยาถลางบอกมายังท่านโตกพระยาราช ด้วยมีตราออกมาแต่กรุงครั้งนี้ว่า หลวงคลังเข้าไปกราบทูลให้เอาภาษีภาราละชั่งเหมือนครั้งก่อน และของหลวงให้มีตราออกมาถามข้าพเจ้าว่ายังจะเอาภาษีแก่ราษฎรภาราละชั่งได้หรือมิได้ในท้องตรามีเนื้อความเป็นหลายประการนั้น ข้าพเจ้าจะบอกขอภาษีเสีย แลโตกพระยาราชได้เห็นดูช่วยจัดของถวายให้มา แลข้าพเจ้าให้ยี่ลิบผู้เป็นขุนล่ามพลอยสลุป กปิตันวิราเสนบรรทุกดีบุกมาสิบห้าภารา ให้ท่านช่วยจัดของ ปืนสุตัน สักร้อยบอก ผ้าแพรอัดตหลัด ผ้าขาว ผ้าลายพรม แลเงินเหรียญ จะได้จ่ายซื้อดีบุกให้แก่ราษฎรสักสามพันสี่พัน แลข้าวสารสักสิบเกวียน เกลือสักสองเกวียน ของทั้งนี้ท่านได้เห็นดูช่วยจัดให้มาจะได้ใช้การขัดสน ข้าพเจ้าจะขอติดหนี้ท่านสักห้าสิบภารา มาเถิงเมืองถลางจะใช้ให้ครึ่งหนึ่งก่อน แลดีบุกราษฎรจะทำขึ้นไปอีกในมรสุมนี้ ข้าพเจ้าจะจัดแจงแก้ไขให้คงได้ไป ณ เกาะปุเหล้าปีนังทั้งนั้น แลการที่จะรบพม่านั้น ของหลวงโปรดให้คนมาช่วยรักษาเมืองถลางสองพันแล้ว แลแต่ราษฎร ณ เมืองถลางจะให้ขึ้นขุดแต่ต้นมรสุม แลการ ณ เมืองถลางทุกวันนี้ไป ข้าพเจ้าทำอยู่เหมือนหนึ่งเกาะปุเหล้าปีนังของท่านเองเหมือนกัน แลให้ท่านเห็นดูเร่งให้ยี่ลิบผู้เป็นขุนล่ามกลับมาเมืองถลางโดยเร็ว จะได้เอาของไปให้กับ (อ่านไม่ได้) --หนังสือมา ณ วันอังคาร เดือนสิบ ขึ้นหกค่ำ ปีระกานักษัตร เอกศก” (ศวภ.๓๖) วันอังคาร เดือนสิบ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๕๑ ตรงกับ พ.ศ.๒๓๓๒ เทียบกับสุริยคติแล้ววันอังคาร เดือนสิบ ที่เขียนจดหมายฉบับนี้ จะตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำ ไม่ใช่ ๖ ค่ำ คลาดเคลื่อนไปเพียงหนึ่งวัน ส่วนวัน เดือน และปี จะตรงกับวันที่ ๒๕ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๓๓๒ จากจดหมายฉบับนี้ จะเห็นความคืบหน้าในการที่พระยาทุกราช (เทียน) เลื่อนจากตำแหน่งพระยาปลัดเมืองถลาง ขึ้นเป็น “เจ้าพระยาถลาง” ในราชทินนามเดิม ส่วนจดหมายอีกฉบับหนึ่งความว่า “หนังสือท่านพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม เจ้าพระยาถลาง บอกมายังท่านพระยาราชกปิตันผู้เป็นเจ้าเมืองเกาะปุเหล้าปีนัง ด้วยปะลิบกอหริกมาบอกว่า ท่านพระยาราชกปิตันสั่งมาว่า แขกเสกหะลีเหล่าร้ายซึ่งเป็นโจร พ้นเกาะปุเหล้าปีนังมาเข้า ณ ปากน้ำเมืองไทร แลเห็นว่าพระยาไทรเป็นใจคิดอ่านเข้าด้วยกันกับแขกเหล่าร้ายจะคิดอ่านตีแห่งใดยังมิรู้ แลอย่าให้ข้าพเจ้าไว้ใจแก่ราชการ ให้ตระเตรียมอยู่นั้น เป็นพระคุณของท่านซึ่งบอกมาให้รู้ตัวนั้นเป็นหนักหนาอยู่แล้ว แลข้าพเจ้าให้จัดแจงตั้งค่ายปากน้ำ ให้ผู้คนลงไปประจำรักษาค่ายปากน้ำอยู่ทุกแห่งอ่าวทุ่ง เถิงมาทว่าพระยาไทรจะพาแขกเสกหะลีมาตี ณ เมืองถลางนั้น จะได้กลัวเกรงแก่แขกเหล่านี้หามิได้ มาหว่ามันจะยกมามากสักเท่าใด ก็จะต่อสู้จนสิ้นชีวิตจะได้กลัวเกรงหามิได้ อย่าให้ท่าน พระยาราชกำดิงแก่น้ำจิตเลย อนึ่ง ถ้ากำปั่นเรือบรรทุกปืนคาบศิลา ปืนบอเรียม มาจำหน่ายแก่เมืองถลาง ข้าพเจ้าจะจัดดีบุกให้ตามราคามิให้ขัดสน อนึ่ง ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่แก่คนทั้งแปดหัวเมือง แล้วให้ข้าพเจ้าคิดอ่านรักษาบ้านเมืองอย่าให้เสียแก่ข้าศึกศัตรูสิ่งใดได้ แลข้าพเจ้าขัดสนด้วยดินผะสิวดำแลปืนซึ่งจะรักษาบ้านเมือง แลถ้าสลุปกำปั่นบันทุกปืนและดินผะสิวดำเข้ามามากน้อยเท่าใด ให้ท่านพระยาราชช่วยคิดอ่านว่ากล่าวให้นายกำปั่นเข้ามาค้าขาย ณ เมืองถลาง ข้าพเจ้าจะจัดดีบุกซื้อปืนและดินนั้นไว้รักษาบ้านเมืองต่อไป แลข้าพเจ้าจัดได้ลูกแตงจีน แลไก่ให้มาแก่ท่าน ลูกแตงจีน ๕๐ ลูก ไก่ ๑๐๐ ตัว ให้มาแก่ท่านเป็นกับข้าวไปพลางก่อน หนังสือมา ณ วันอังคาร เดือนยี่ ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีจอโทศก” (ศวภ.๓๙) จดหมายฉบับนี้ตรงกับวันที่ ๑๘ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๓๓๓ สรุปใจความได้ว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระยาทุกราช เลื่อนขึ้นเป็นพระยาเพชรคีรีศรี (พิไชย) สงคราม (รามคำแหง) ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ๘ หัวเมือง แทนเจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) ซึ่งทรงพระราชดำริจะขอให้เข้าไปอยู่กรุงเทพมหานคร เพื่อโปรดให้เป็นอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ แต่เจ้าพระยาสุรินทราชายังกราบทูลปฏิเสธอยู่ เพราะเห็นว่าอยู่บ้านนอกสบายกว่าอยู่ในกรุง นามเต็มของพระยาเพชรคีรี ฯ นั้น คือ พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง แต่เห็นทีอาลักษณ์จะเขียนตกไปบางคำ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจดหมายฉบับอื่นแล้วจะพบว่าผิดไปคือ จดหมายฉบับลงวันที่ ๕ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๓๕ ความว่า “หนังสือท่านพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง ท่านพระยาถลาง มายังท่านโตะพระยาราชกปิตัน เจ้าเมือง ณ เกาะปุเหล้าปีนัง ด้วยมีตราโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกมา ให้ตูข้ายกทัพไปตีเมืองมฤท แลบัดนี้ตูข้าให้ขุนชำนาญ นายหมุนมาเถิงท่านจะขอให้ช่วยของซึ่งขัดสนจะเอาไปเป็นเสบียงทัพให้ท่านให้มาแก่กำปั่นให้ทัน ณ เดือน ๑๒ ข้างแรม อนึ่งขุนชำนาญขัดสนจะขอปันเอาสินค้าภาราหนึ่งสองภาราก็ดี ให้ท่านให้แล้วให้มีหนังสือมาจะเจียดเอาค่ามาให้ หนังสือมา ณ วันจันทร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด จัตวาศก” (ศวภ.๔๗) พ.ศ.๒๓๓๕ ทรงพระราชดำริการศึกเมืองทวายมะริด ซึ่งถูกพม่าเข้ายึดครองเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยซึ่งมีอยู่เหนือเมืองทั้งสองนี้ จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จนำกองทัพเรือลงมาเตรียมกำลังอยู่ที่ช่องสิงขร ประจวบคีรีขันธ์ และโปรดให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งปวงเป็นกองทัพเรือยกกำลังไปสมทบกองทัพเรือของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร ฯ ณ ช่องสิงขรนั้นด้วย พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงคราม รามคำแหง พระยาถลาง จึงได้ตระเตรียมเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วเคลื่อนกำลังทัพเรือจากเมืองถลางไปสู่ช่องสิงขรตามพระราชโองการในโอกาสนั้นตามหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุที่นำมาอ้างอิงไว้ข้างต้นนี้ ผลการสงครามกับพม่าในครั้งนั้น ปรากฏตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติว่า “ฝ่ายสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกออกไปต่อเรือรบที่สิงขร เร่งต่อทำทั้งกลางวันกลางคืนจนเรือแล้วเสร็จ โปรดให้พระยาจ่าแสนยากร พระยาไกรโกษา ซึ่งไปเกณฑ์กองทัพแล้ว ตามเสด็จมากับพระยาพิไชยบุรินทรา พระยาแก้วเการพ นายทัพนายกอง คุมเรือออกไปเมืองทวาย ส่งกองทัพแล้ว เสด็จกลับมาประทับอยู่แขวงเมืองชุมพร ครั้นกองทัพยกไปถึงเมืองมะริดได้ข่าวว่า เมืองมะริดกลับใจเป็นกบฏ กองทัพจึงยกเข้าตีเมืองมะริด ปืนป้อมและปืนหน้าเมืองระดมยิงหนาแน่นนักเข้าเมืองหาได้ไม่ ก็แจวเรือเข้าหาเกาะหน้าเมืองมะริด เกาะหน้าเมืองนั้นมีเขาอยู่ พระยาเสน่หาภูธรทำพิณพาทย์อยู่ในเรือ เมื่อข้ามจะไปเข้าเกาะนั้นปืนพม่ายิงถูกวงฆ้องๆ กระจายไปถูกคนตีฆ้องเจ็บแต่หาตายไม่ พระยาไกรโกษา พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาจ่าแสนยากร พระยาแก้วเการพ และนายทัพนายกองไปถึงเกาะเข้าพร้อมกัน เอาปืนใหญ่ขึ้นบนเขาช่วยกันยิงระดมเข้าไปในเมืองมะริด พม่าทนลูกปืนมิได้ ขุดหลุมทำสนามเพลาะเอากระดานบังตัวกันลูกปืน ปืนที่เมืองมะริดก็ซาลงยังแต่จะแตก--” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์,เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), กรมศิลปากรอนุญาตให้สำนักพิมพ์คลังวิทยาพิมพ์, พ.ศ.๒๕๐๕ หน้า ๑๙๙-๒๐๐) ความในพระราชพงศาวดารฯ ยังมีต่อไปอีกมาก สรุปผลการสงครามว่า ทัพเรือของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มิได้พ่ายแพ้แก่พม่าเมืองมะริด หากกำลังจะยึดเมืองมะริดได้อยู่แล้ว แต่บังเอิญทัพบกซึ่งเป็นทัพหน้า ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยามหาเสนา(ปลี) ไปเสียทีแก่พม่า ถึงกับต้องเสียตัวแม่ทัพ คือ เจ้าพระยามหาเสนาในสนามรบ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช “ทรงพระราชดำริว่าจะทำการต่อไปไม่ตลอด จึงโปรดให้ถอยกองทัพทั้งปวงลงมาแม่น้ำน้อย-----แล้วโปรดให้นายฉิมมหาดเล็กเป็นเชื้อชาวชุมพร ถือตรารีบไปเฝ้าสมเด็จพระอนุชาธิราช สถานมงคล ฉบับ ๑ นายฉิมได้ตราแล้วรีบไปขึ้นที่เมืองเพชรบุรี เดินบุกไปเฝ้าที่เมืองกระกราบทูลราชการเมืองทวายตามท้องตรา สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ เสียพระทัยนัก รับสั่งว่าการจะสำเร็จอยู่แล้วกลับไม่สำเร็จไปได้ จึงสั่งให้ขึ้นไปบอกนายทัพนายกองให้ล่าทับจากเมืองมะริด พอกองทัพพม่ายกลงมาถึงเมืองมะริด กองทัพไทยจัดการจะล่าทัพเรือ พม่าก็เข้าตีกองทัพไทย ได้รบกัน กองทัพไทยต่อเรือรบครั้งนั้นมีตะกูดทั้งหน้าทั้งท้าย ล่าถอยเรือเอาท้ายลงมา ยิงปืนหน้าเรือรับพม่าแข็งแรงพม่าก็ยิง ต่างคนต่างยิงกัน ถึงฝั่งจึงทิ้งเรือเสียขึ้นบก พม่าก็ขึ้นบกติดตามกองทัพไทย พระยาจ่าแสนยากร (ทุเรียน) รับพม่าแข็งแรง พม่าหาอาจล่วงเกินเข้ามาได้ไม่ นายทัพนายกองก็ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย เสียแต่เรือรบและปืนบาเหรี่ยมสำหรับเรือ----”(พระราชพงศาวดารกรุง รัตนโกสินทร์ คลังวัฒนา ๒๕๐๕ หน้า ๒๐๒–๒๐๓) พระยาเพชรคีรีพิไชยสงคราม รามคำแหง (เทียน) จึงได้กลับมายังเมืองถลางดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง และผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกทั้ง ๘ สืบต่อมา ส่วนเจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) นั้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้มีตราให้หาเข้าไปกรุงเทพ ฯ ว่าจะให้เป็นที่อัครมหาเสนาบดี แทนที่เจ้าพระยากลาโหมเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในการศึกเมืองทวาย-มะริด พ.ศ. ๒๓๓๖ เจ้าพระยาสุรินทราชาเข้าไปถึงกรุงเทพฯ แล้วพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์โปรดพระราชทานเสื้อผ้าจะเอาไว้ให้อยู่ ณ กรุงเทพฯ เจ้าพระยาสุรินทราชาคิดเห็นว่าอยู่บ้านนอกได้ความสุขมาก จึงอ้อนวอนเจ้าคุณพลเทพบิดาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ขอให้กราบทูลพระกรุณาคิดจะไม่อยู่กรุงเทพฯ ว่าด้วยชรา เป็นเสนาบดีขึ้น เจ้าชีวิตเสด็จพระราชดำเนินไปถึงไหนก็ต้องตามไปถึงนั่น ก็จะมีความลำบาก จึงทำเรื่องราวขอกราบทูลพระกรุณาว่า จะขอออกมาอยู่เมืองนอกตามเดิม จะจัดแจงทางรับส่งพระราชทรัพย์เมืองพังงา เมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่ง จะขนขึ้นไปเขาศกก็กันดาร เชี่ยวแก่งเป็นหลายแห่ง พระราชทรัพย์ก็สูญหายเป็นอันตรายเสียหลายครั้งมาแล้ว เห็นว่าทางบกระยะป่าเดินมาช้าแต่สองคืนไม่สู้กันดาร ถึงพนมล่องตลอดลงไปถึงพุนพิน ตลอดออกไปถึงพุมเรียง ที่รับส่งพระราชทรัพย์ไม่สู้กันดาร ขอพระราชทานช้างเกณฑ์บรรทุกเมืองนคร ๑๐ ช้าง เมืองไชยา ๑๐ ช้าง รวมช้าง ๒๐ ช้าง ให้หลวงพิทักษ์คชกรรม์เป็นนายกองคุมช้างคอยรับส่งพระราชทรัพย์ พระราชทานช้างและที่ปากพนมปากลาว ได้มาตามเรื่องราวเจ้าพระยาสุรินทราชาให้กราบทูลพระกรุณา มีแจ้งอยู่ในท้องตราพระคชสีห์นั้นแล้ว-----”(ประชุมพงศาวดารฯ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ เล่มที่ ๑ หน้า ๕๐๑-๕๐๒) เจ้าพระยาสุรินทราชา (จัน) ถึงแก่ อสัญกรรมเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๕๐ มีบุตรชายสืบสกุลที่เมืองถลางชื่อเริก (หรือฤกษ์) สมรสกับคุณทุ่มบุตรีของพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง (เทียน) ต่อมาหลังศึกพม่า พ.ศ.๒๓๕๒ แล้ว คุณฤกษ์ผู้นี้ได้เป็นเจ้าเมือง ถลาง ชาวถลางเรียกขานกันว่า พระยาถลางฤกษ์ (สุนัย ราชภัณฑารักษ์,ภูเก็ต พ.ศ.๒๕๑๗ หน้า ๑๖๑) พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง เจ้าเมืองถลาง ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองต่อเนื่องกันนานร่วม ๒๐ ปี เป็นระยะเวลาที่ปลอดศึกสงครามจากพม่า บ้านเมืองร่มเย็น ราษฎรพลเมืองจึงมีเวลาตั้งหน้าตั้งตาประกอบการอาชีพขุดหาแร่และถลุงดีบุกขายแก่พ่อค้าชาวอังกฤษ แลกเปลี่ยนสินค้าและเงินเหรียญเข้าสู่บ้านเมืองได้โดยสม่ำเสมอ ก่อให้เกิดความมั่งคั่ง สมบูรณ์อยู่กินแบบพอเพียงเรื่อยมา ครั้นลุถึงปี พ.ศ.๒๓๕๒ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมโอรสาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งได้สำเร็จราชการในตำแหน่งพระมหาอุปราชอยู่แล้ว ก็ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติในกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๒ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ในวันถัดมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้เริ่มขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑ (พ.ศ.๒๓๕๒) ติดตามด้วยกิจการต่าง ๆ อันเนื่องต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นต้นว่า พระราชพิธีอุปราชาภิเษก, การแต่งตั้งพระสมณศักดิ์ทางพระพุทธศาสนา, การสถาปนาพระเกียรติยศเจ้านายในพระราชวงศ์, การแต่งตั้งขุนนางชั้นผู้ใหญ่, ทั้งหลายเหล่านี้กว่าจะเสร็จสิ้นลงก็ถึงเดือน ๑๑ ปีเดียวกัน ฝ่ายพระเจ้าประดุงแห่งพม่า ได้ตระเตรียมกองทัพเพื่อจะยกมาทำสงครามกับไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๕๑ แต่ต้องเลิกล้มความตั้งใจลงเนื่องจากการเกณฑ์ผู้คนเข้ากองทัพเป็นไปด้วยความขัดข้องระส่ำระสาย ไม่อาจจะรวบรวมกำลังรี้พลให้ครบถ้วนตามความประสงค์ได้ จึงให้ยับยั้งการเคลื่อนกองทัพมายังเมืองไทยไว้ก่อน แต่อะเติ่งวุ่นแม่ทัพผู้ตระเตรียมรี้พลและเสบียงอาหารไว้ได้จำนวนหนึ่งแล้ว ขอนำทัพมาตีเมืองชุมพร, เมืองตะกั่วป่า,เมืองตะกั่วทุ่ง และเกาะถลาง กวาดต้อนครอบครัวหาทรัพย์สินมาใช้คืนทุนรอนที่ได้ลงไป พระเจ้าปะดุงก็ทรงอนุญาต อะเติ่งวุ่นจึงยกกองทัพลงมาตั้งอยู่ที่เมืองทวาย กะเกณฑ์ให้ต่อเรือรบใหญ่น้อยเป็นอันมาก ครั้น ถึงเดือน ๑๑ ปีมะเส็ง เอกศก พ.ศ.๒๓๕๒ อะเติ่งวุ่นจึงให้แยฆองเป็นนายทัพคุมพล ๔,๐๐๐ คน ลงเรือรบมาตีเกาะถลาง (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฯ ฉบับหอสมุด พิมพ์ที่คลังวิทยา, พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๓๙๗) คำให้การของเชลยพม่าที่ไทยจับได้ในศึกครั้งนั้น ชื่อ งะษาตะนะออง หรือ เจยะดุเรียงกะยอ ให้ปากคำว่า “ ณ วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็งเอกศก (ศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒) อะเติงวุ่นเกณฑ์ให้งะอูเจ้าเมืองทวายเป็นแม่ทัพ อ้ายเจยะดุเรียงกะยอ เป็นปีกขวา สิงคะดุเรียงเจ้าเมืองมะริดเป็นปีกซ้าย คุมกองทัพ อะเติ่งวุ่น ๖,๐๐๐ คน เจ้าเมืองทวาย ๓,๐๐๐ คน เจ้าเมืองมะริด ๑,๐๐๐ คน รวม ๑๐,๐๐๐ คน ปืนหลัก ๒๐๐ ปืนคาบศิลา ๓,๕๐๐ ปืนหน้าเรือกระสุน ๓ นิ้ว ๒๐ ให้พละยางอองทวาย กับงะมยตเลทวายเป็นยกบัตรทัพ ดินดำเสมอบอก ๓๐๐ นัด เข้ากัน ๓,๗๒๐ บอก ข้าวสารคนละ ๓ สัด เรือ ๒๓๐ ลำ ให้ยกไปตีเมืองถลาง กองทัพยกลงไปพร้อมมูลกันอยู่ เรือหาหลบหลีกหนีหายแลเรือแตกไม่ ครั้นไปถึงเมืองตะกั่วป่า อ้ายเจยะดุเรียงกะจอ เป็นปีกขวาคุมคน ๓ ทัพยกเข้าตีเมืองตะกั่วป่า ชาวเมืองหาสู้รบไม่ แตกหนีไป ได้ปืนหลัก กระสุน ๓ นิ้ว ๑๓ กระสุน ๔ นิ้ว ๒ ปืนคาบศิลา ๙ รวม ๒๔ กระบอก ข้าวเปลือกประมาณ ๒ พันสัด ขนใส่เรือ จับได้หญิงแก่ ๒ คนครั้นรุ่งขึ้น สิงคะดุเรียงปีกซ้าย คน ๕ พัน เข้าตีบ้านนาเตย ๆ หาสู้รบไม่ หนีไป ได้ปืนหลัก กระสุน ๓ นิ้ว ๒๐ กระสุน ๔ นิ้ว ๕ ปืนคาบศิลา ๑๓ รวม ๓๘ บอก ข้าวเปลือกประมาณ ๓,๐๐๐ สัด จึงบอกหนังสือไปถึง งะอู แม่ทัพ ๆ ยกมาตั้งอยู่นาเตย คน ๓ พัน อ้ายเจยะดุเรียงกะจอ คน ๓.๐๐๐ ยกไปทางเรือกองหนึ่ง เกณฑ์ให้ อ้ายสิงคตุเรียง คน ๓,๐๐๐ ยกไปทางบกกองหนึ่ง ให้อยู่รักษาเรือ ๑,๐๐๐ คนกำหนดกองทัพบกเรือพบกัน ณ ปากพระ แล้วกองอ้ายเจยะดุเรียงกะจอ ยกข้ามไปถึงบ้านสาคู พบกองตระเวนไทยได้รบสู้กันครู่หนึ่งไทยถอยไป ตามไปถึงบ้านตะเคียน ไทยถอยไปเข้าค่ายเมืองถลาง กองทัพพม่าตั้งอยู่บ้านตะเคียน ๗ วัน สิงคตุเรียงให้กองทัพหนุนมาอีก พันหนึ่ง จึงเข้าไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลาง ๑๕ ค่ายได้สามด้าน ๆ ใต้ตั้งอยู่ยังไม่รอบ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก ศักราช ๑๑๗๑ (พ.ศ. ๒๓๕๒) เพลากลางคืนเข้าตีค่ายเมืองถลาง ไพร่ถูกปืนใหญ่ตายประมาณ ๕๐๐ เศษ ป่วยเจ็บเป็นอันมาก ถอยเข้าค่ายมีหนังสือแม่ทัพพม่าให้ปลัดซ้ายจำเอาอ้ายเจยะดุเรียงกะจอลงไปท่าเรือ อ้ายเจยะดุเรียงกะจอรับอาสาว่าจะตีเอาเมืองถลางให้จงได้ แม่ทัพถอดปล่อยกลับมา แล้วมีหนังสือปลัดซ้ายมาว่างะอูแม่ทัพป่วยตายแล้ว ให้เลิกทัพถอยกลับมาตั้งอยู่ ณ ปากจั่น ประมาณเดือนเศษ อะเติ่งวุ่นให้งะซ่านเป็นแม่ทัพลงมาให้ฆ่าอ้ายเจยะดุเรียงกะจอปลัดขวา อ้ายสิงคะตุเรียงปลัดซ้าย เสีย ให้ตั้งแยจักตะกุนเป็นปลัดขวา แยละสุระจอเป็นปลัดซ้าย นายทัพนายกองทั้งปวงพร้อมกันปรึกษาว่า จะขอรับประกันตัวไว้ให้เป็นกองหน้าไปตีเอาเมืองถลางให้จงได้ ถ้ามิได้จึงให้ฆ่าเสีย งะซ่านแม่ทัพจึงงดไว้ไม่ให้ฆ่า ให้ยกไปตีเมืองถลาง อะเติ่งวุ่นมีหนังสือลงมาถึงงะซ่านแม่ทัพว่าได้ให้ตุเรียงษาละกะยอคุมคน ๘ พัน ยกเข้าไปเมืองชุมพรแล้ว กองทัพพม่าป่วยเจ็บล้มตายหนีหายเสียเป็นอันมาก คงได้คนไปล้อมเมืองถลาง ๖ พัน ตั้งล้อมอยู่ ๒๐ วัน ตุเรียงษาละกะยอยกกองทัพมาอีก ๕ พันเข้าตีเมืองถลางพร้อมกัน เมืองถลางแตก ได้ปืนใหญ่กระสุน ๓-๔ นิ้ว ๘๔ กระบอก ปืนหลัก ๒๑ ปืนคาบศิลา ๕๐ รวม ๑๕๕ กระบอก ครอบครัว ๓๐๐ เศษ ดีบุก ๓ พันปึก ส่งปืนใหญ่น้อยครอบครัวไป ณ เมืองทวาย อะเติ่งวุ่นให้ อ้ายโมและอ้ายยักภูลงมาฟังราชการ ณ เมืองถลาง บอกว่าอะเติ่งวุ่นมีหนังสือส่งตัวเจ้าเมืองถลางขึ้นไปเมืองอังวะ ว่าให้ตุเรียงษาละกะยอ คุมคน ๑๒,๐๐๐ ไปตีเมืองถลางแตกแล้วได้ปืนใหญ่ปืนน้อยและครอบครัวส่งมาเมืองทวาย ให้กองทัพตั้งรักษาเมืองถลางอยู่ เจ้าอังวะให้ตั้งอะเติ่งวุ่นเป็นมหาเสนา และตุเรียงษาละกะยอเป็น... จารึกชื่อใส่แผ่นทองมาให้อะเติ่งวุ่น พระราชทานกลอง... ๗ ใบมาให้ด้วย และงะซ่านแม่ทัพ ให้งะพยุชาวมะริดเป็นอคุบจเรพี่เมียลักษมานา คุมคน ๓๐ คน ถือหนังสือไปเมืองไทรลำหนึ่ง เคมันฝรั่งย่างกุ้งคุมไพร่ลูกเรือ ๒๕ คน เอาดีบุก ๓ พันปึกบรรทุกสลุปลำหนึ่งไปแลกดินดำ ณ เกาะหมาก ในหนังสือไปเมืองนั้นว่า แต่ก่อนเมืองไทรขึ้นแก่เมืองพม่า บัดนี้ตีเมืองถลางได้แล้ว เกาะรังนกทั้งปวงจะยกให้สิ้น ให้พระยาไทรจัดแจงดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปถวายตามอย่างธรรมเนียม งะพยุและเคมันฝรั่งก็ลงเรือไปประมาณ ๑๕ วัน เคมันฝรั่งนายสลุปกลับมาถึงเมืองถลาง บอกงะซ่านแม่ทัพว่า แลกดินดำหาได้ไม่ ได้แต่ผ้าอัตหลัด ๓ ม้วน ผ้ากำมะหยี่แดง ๒ ม้วน กำมะหยี่เขียวม้วนหนึ่ง ผ้าแพรเขียว ๓ ม้วน สักหลาดแดง ๓ พับ สักหลาดเขียว ๒ พับ รวมเป็น ๕ พับ ผ้าขาวบาง ๒ พับ ยาสูบ ๒๐๐ ชั่ง ปลาแห้งหาง ๓๐๐ ชั่ง มาส่งให้งะซ่านแม่ทัพแล้ว เคมันฝรั่งหนีไป กองทัพงะซ่านซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองถลางนั้นแตกไปถึงเมืองปากจั่น อะเติ่งวุ่นให้ลงมาจับเอาตัวงะซ่านแม่ทัพ และแยจักตุคนปลัดทัพขึ้นไปเมืองทวาย ไปได้ ๒ วัน เรือซึ่งไปเมืองไทรกลับมาพบกองทัพ ณ ปากจั่น พระยาไทรมีหนังสือตอบให้ขุนนางแขกมาด้วยคนหนึ่ง มีผ้าขาว ๓ พับ เทียนใหญ่ ๕๐ เล่ม แพรแดง ๒ ม้วน แพรเขียว ๓ ม้วน ใส่หีบมาใบหนึ่ง เป็นของฝากมาให้อะเติ่งวุ่น ในหนังสือพระยาไทรนั้นว่า กองทัพไทยก็ออกไปเฝ้าอยู่ ๓ พัน ครั้นจะเข้าโจมตีก็เห็นยังขัดอยู่ ขอกองทัพพม่าสัก ๖ พัน ยกออกไปตีเมืองไทรจึงจะเข้าได้โดยสะดวก ---(คำให้การของเชลยพม่า ฯ ถ่ายสำเนาไมโครฟิล์มเก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุในหอสมุดแห่งชาติ พิมพ์เผยแพร่โดยอำเภอถลาง พ.ศ.๒๕๔๐) คำให้การของเชลยพม่าที่ชื่อ งะษาตะนะออง หรือเจยะดุเรียงกะยอ ซึ่งถูกทหารไทยจับได้ภายหลังที่เมืองถลางแตก เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ ผู้นี้ ยังมีข้อความอีกมาก แต่ตัดตอนมาเพียงบางส่วน เพื่ออ้างอิงว่าเมืองถลาง ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ นั้น กำลังรุ่งเรือง พม่าจึงมุ่งหมายมาตีเพื่อปล้นสะดมเอาทรัพย์สิน โดยระดมพลจำนวนมากถึง ๑๒,๐๐๐ คน เมืองถลางครั้งนั้นทำการป้องกันเมืองอย่างเข้มแข็ง มีปืนใหญ่กระสุน ๓-๔ นิ้ว ร่วม ๑๐๐ กระบอก พม่ากวาดเอาไปได้ถึง ๘๔ กระบอก ปืนหลัก ๒๑ กระบอก ปืนคาบศิลา อีกจำนวนหนึ่ง พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม เจ้าเมืองถลางคงมุ่งหมายจะรักษาเมืองโดยใช้ปืนใหญ่เป็นกำลังสำคัญในการยิงแบบ “ปูพรม” ซึ่งเคยประสบชัยชนะมาในการทำสงครามเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ เนื่องจากมีกำลังทหารน้อย จึงต้องอาศัยอาวุธปืนจำนวนมากเข้าต่อสู้ และก็ได้รับผลในระยะต้น ๆ กล่าวคือ ครั้งแรกที่พม่ายกเข้าโจมตี ก็ถูกระดมยิงด้วยปืนใหญ่น้อย ล้มตายลงถึง ๕๐๐ คนเศษ บาดเจ็บอีกต่างหาก ถึงกับผู้บัญชาการทัพหน้าของพม่าถูกจับตัวไปเพื่อลงโทษฐานปล่อยให้เสียกำลังทหารอย่างมากมายแต่เมื่อพม่าเรียนรู้ถึงยุทธวิธีฝ่ายไทย ก็ทำอุบายล่าถอยไปพักอยู่ไกลถึงปากจั่นใกล้เมืองมะริด แล้วเข้าจู่โจมใหม่อีกครั้งในยามที่ไทยกลับตัวไม่ทัน ในการจู่โจมครั้งใหม่นั้น พม่าใช้ยุทธวิธีใหม่ ด้วยการลำเลียงปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งบนเนินเขาทางทิศตะวันตกของเมืองถลาง คือเขาพระแทว แล้วยิงลงใส่ตัวเมืองกระทำเช่นเดียวกับที่สมเด็จพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกระทำเอากับเมืองมะริดในศึกไทยพม่า พ.ศ.๒๓๓๖ จนเมืองมะริดสุดปัญญาจะป้องกัน พม่าได้นำยุทธวิธีอันนี้กลับมาใช้กับเมืองถลางเป็นการตอบแทน ปรากฏตามเอกสารอ้างอิงประวัติศาสตร์ของมลายู ชื่อ “ซาแอ็ร์ สุลต่าน เมาลานา” (Syair Sultan Maulana) ซึ่งสุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ได้ปริวรรตและนำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยขอนำข้อความบางตอนมาอ้างอิง ดังนี้ “---ฝ่ายพม่านั้นยกบุกเข้าโจมตีถลาง อย่างหนัก มีการสร้างค่ายหลายแห่ง มีการเคลื่อนค่ายอยู่เรื่อย ๆ และล้อมกำแพงเมืองถลางไว้โดยรอบ คนถลางนั้นก็ยิงปืนตอบโต้ออกจากกำแพงอย่างไม่หยุดยั้งเหมือนกัน เสียงปืนดังไกลไปถึงเอโกร์นาฆา (เกาะนาคา - ผู้เรียบเรียง) กองทัพของเคดาห์ ตาลีบง สงขลาแยกกันออกเรือไปจากเอโกร์นาฆา เรือของเตอมึงฆงเกิดรั่วอย่างแรงต้องช่วยกันพยุงไปที่ช่องแคบเลเฮร์ (ช่องแคบระหว่างเกาะยาวใหญ่กับเกาะยาวน้อย-ผู้เรียบเรียง) ทำให้ขบวนกองทัพเรือต้องเสียรูป ครั้นตกคืนวันศุกร์ฤกษ์งามยามดีก็ยกกองทัพออกจากช่องแคบเลเฮร์เข้าไปใกล้ตันณงณัมบู (คือ แหลมยามู-ผู้เรียบเรียง) ระหว่างทางเรือของเตอมึงฆงเกิดรั่วเหมือนเก่าอีก เช้ามืดต้องแวะเข้าแอบอยู่เกาะปอนาฆา (เกาะนาคา-ผู้เรียบเรียง) พอใกล้สว่างก็พายเรือเข้าไปใกล้ตันณงณัมบู ส่วนกองทัพพม่านั้นพอฟ้าสว่างก็ยกขบวนไปที่ค่ายแล้วยิงปืนใหญ่เข้าใส่ก่อน เท่าที่มองเห็นพม่ามีเรือรบ ๑๙ ลำ เป็นเรือว่างเปล่า เพราะผู้คนนั้นไปรวมกันอยู่ในค่าย พม่าสร้างค่ายห้าแห่งเรียงกันอยู่บนภูเขาและติดปืนใหญ่ไว้พร้อม กองทัพไทยยกพลไปถึงชายหาดก็ระดมยิงไปที่ค่ายพม่าแตกกระเจิง---” เรื่องราวตอนนี้เป็นเรื่องราวที่เมืองถลางถูกพม่ายึดครองไว้แล้ว แต่ก็แสดงถึงยุทธวิธีของพม่าที่ตั้งปืนใหญ่ไว้บนภูเขาแล้วยิงลงมา เอกสารฝ่ายมลายูยังได้กล่าวถึงอีกตอนหนึ่ง เล่าถึงพม่าเผาเมืองถลางว่า “----มลายูและสยามถอยทัพไปตั้งหลักที่ เกาะญอร์ (เข้าใจว่าเกาะยาว-ผู้เรียบเรียง) พักทัพที่นั่นได้หนึ่งวัน คืนวันนั้นก็เห็นเพลิงลุกโชติตรงกลางเมืองถลาง รุ่งเช้าเมื่อพายเรือไปที่เกาะเปอนาฆา จึงทราบจากพวกถลางที่หนีนั้นว่า พม่าเผาเมืองถลางจนเสียหายแล้ว กองทัพเรือท้อใจมาก เพราะหวังว่าจะได้รับกำลังสนับสนุนจากกองทัพบก รอกันจนนานจนถึงสี่สิบวันแล้วยังไม่มีใครมาเสบียงก็ไม่มีเพิ่มจึงจำต้องถอยตัว กองเรือนครศรีธรรมราชและข้าหลวงนั้น ชวนกันกลับโดยไม่บอกใครเลย ทำให้กองกำลังจากตาลีบง สงขลา และเคดาห์ น้อยใจ ประกอบกับข้าวสารก็หมดและหลายคนต้องอดอยากจึงยิ่งท้อแท้หมดกำลังใจแต่พอไปถึงเกาะปัญฌัง (เข้าใจว่าเป็นเกาะลันตา-ผู้เรียบเรียง) ก็ได้พบเรือเสบียงที่นั่น เมื่อได้อาหารพอเพียงก็ยกกำลังกองเรือย้อนกลับไปที่เกาะเมอรูวะ (เกาะละวะ-ผู้เรียบเรียง) อีกครั้ง พยายามวางแผนหาลู่ทางที่จะเข้าไปช่วยถลาง แต่ติดขัดอยู่ที่ต้องรอกองทัพบกไปถึงเสียก่อน รอนานยี่สิบวันยังไม่มีกำลังทหารจากกองทัพบกไปถึงที่นั่น---” วิเคราะห์ตามยุทธนาการที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็จะเห็นว่า เมืองถลาง ที่ถูกพม่าทำลายลงใน พ.ศ.๒๓๕๒ นั้น ตั้งอยู่ที่ฟากตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ คือส่วนที่เป็น”เมืองถลางบางโรง” มิได้ตั้งอยู่ตามฟากตะวันตกดังเช่นที่เคยเข้าใจกันมาแต่เดิม กล่าวแล้วว่า พม่าตีเมืองถลางเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ นั้น ได้ว่าจ้างทหารฝรั่งเศสให้มาช่วยรบด้วย ปรากฏหลักฐานตามจดหมายเหตุของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อ มองซิเออร์ราโบ เขียนถึง มองซิเออร์เรกเตนวาลต์ ที่เกาะปีนัง เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ค.ศ.๑๘๑๐ (พ.ศ.๒๓๕๓) ความว่า “ที่เกาะหมากคงจะได้ทราบข่าวกันแล้ว ในเรื่องที่พม่าได้เผาเมือง และเผาป้อมที่เมืองภูเก็ต ข่าวนี้เป็นข่าวที่จริง พม่าได้มาล้อมเมืองภูเก็ตอยู่ ๔ อาทิตย์ ไทยกับพม่าได้สู้รบกันอย่างสามารถ ได้ล้มตายเป็นอันมากทั้งสองฝ่าย จนผลที่สุดพม่าได้แหกเข้าเมืองได้ จึงได้เอาไฟเผาป้อม ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชาวเกาะภูเก็ตเสียหมดสิ้น พวกชาวบ้านได้ถูกอาวุธตายบ้างก็มี พม่าได้จับชาวเมืองเป็นเชลยก็มาก แต่โดยมากพวกพลเมืองได้แตกหนีเข้าป่าหมด ส่วนตัวข้าพเจ้านั้น ได้มาถึงเมืองภูเก็ตเมื่อวันเสาร์ เวลา ๒ ยาม รุ่งขึ้นได้ทราบว่าจะเกิดรบกันขึ้นแล้ว และว่าพม่าได้ลงจากเรือขึ้นบกมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงฉวยหนังสือสวดมนต์กับเครื่องยาถุงหนึ่งซึ่งข้าพเจ้ามีติดตัวอยู่เสมอสำหรับรักษาคนป่วยไข้ แล้วข้าพเจ้าก็ได้หนีเข้าไปอยู่ในป้อม ในเวลาที่พม่าล้อมเมืองอยู่นั้น ข้าพเจ้าได้พักอยู่ในป้อมตลอดเวลา และมีความหวาดหวั่นไม่หยุดเลย แต่โดยที่พระเป็นเจ้าได้ช่วยข้าพเจ้าหาได้ถูกบาดเจ็บไม่ ในระหว่างนั้นข้าพเจ้าได้เป็นธุระรักษาคนป่วยเจ็บ และเอาพระนามของพระเยซูเที่ยวสั่งสอนคนทั่วไป พระเป็นเจ้าได้โปรดให้คนเข้ารีต มีผู้ใหญ่ ๓ คน เด็กเล็ก ๆ ๒๐ คน ในผู้ใหญ่ ๓ คน นั้น เป็นพระสงฆ์เสีย ๒ คน ในคืนที่ข้าศึกจะตีป้อมแตกนั้น ข้าพเจ้าได้ให้น้ำมนต์แก่คนเหล่านี้เข้ารีตก่อนที่พม่าได้มาในป้อม เมืองถลาง ซึ่งดำรงความมั่งคั่งสมบูรณ์สืบกันมาไม่น้อยกว่า ๔๐ ปี นับแต่แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี จนถึงพ.ศ. ๒๓๕๒ ต้องถูกพม่าทำลายลงด้วยกำลังพลรบมหาศาล ถึง ๑๒,๐๐๐ คน เรือรบกว่า ๒๐๐ ลำ เหลือกำลังที่ชาวเมืองเล็ก ๆ อย่าง ถลางจะสามารถต่อต้านไว้ได้ แม้จะมีอาวุธร้ายคือปืนใหญ่ ปืนหลัก และปืนเล็กไม่น้อยกว่า ๒๐๐ กระบอกประกอบด้วยเชิงยุทธการที่เข้มแข็งแต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่กำลังพลมหึมาผสมด้วยยุทธวิธีอันเด็ดขาดที่ไทยได้ใช้มาก่อน นั่นคือ การลำเลียงปืนใหญ่ขึ้นตั้งไว้บนภูเขา แล้วยิงระดมใส่ลงในตัวเมืองทำลายทั้งทรัพย์สินและขวัญของทหารให้หมดสิ้นลงถึงกับต้องยอมจำนนในการศึกเพื่อรักษาชีวิตราษฏรทั้งเด็กเล็กผู้ใหญ่และคนชราเอาไว้ตามธรรมเนียมประเพณีการสงครามสมัยก่อน พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง พระยาถลาง พร้อมด้วยครอบครัว และบริวารตลอดจนขุนนางคนสำคัญของเมืองถลาง ถูกพม่าจับตัวกวาดต้อนเอาไปยังกรุงอังวะ ตามกฎแห่งการทำสงครามแห่งสมัยนั้นเช่นเดียวกัน ชาวถลางชั้นไพร่ ข้าทาส และสามัญชน ต่างบ้านแตกสาแหรกขาด หลบหนีทหารพม่าเข้าป่าเข้าดงไปจนเกือบจะหมดแผ่นดิน ครั้นกองทัพไทยยกออกมาเพื่อขับไล่พม่าที่กำลังเข้ายึดครองเมืองถลางอยู่ พม่าเห็นว่าจะสู้กองทัพหลวงของไทยไม่ได้ ก็ทำการเผาเมืองถลางที่ยึดไว้นั้นเสีย แล้วพากันหลบหนีกลับไป ทิ้งแต่เพียงซากเมืองถลางที่มอดไหม้ไว้ให้แก่ไทย ล่วงถึงปี พ.ศ. ๒๓๗๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเห็นความสำคัญของการค้าขายและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน ทรงพระราชดำริว่า เมืองถลางเคยรุ่งเรืองและมั่งคั่งสมบูรณ์มาก่อนเนื่องจากเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญ สามารถทำเป็นสินค้าขาออก ที่นำผลประโยชน์มาสู่ประเทศได้เป็นอย่างดี กลับต้องมาเป็นเมืองร้างไร้ผู้คนเข้าไปทำมาหากินขุดหาแร่ดีบุกอย่างเป็นล่ำเป็นสันเหมือนแต่ก่อนมา จึงโปรดให้มีการฟื้นฟูขึ้นใหม่ โดยชักชวนชาวถลางเดิมที่ละทิ้งถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ ณ ฟากฝั่งพังงา ให้กลับมาตั้งถิ่นฐานยังบ้านเดิมที่เมืองถลางอีกครั้งหนึ่งเมืองถลางจึงก่อขึ้นใหม่เรียกว่า “เมืองถลางใหม่” หรือ “เมืองใหม่” ฝังหลักเมืองลงในพื้นที่ราบกว้างทางส่วนเหนือของเกาะถลาง ริมคลองเมืองใหม่ ซึ่งไหลไปออกทะเลทางทิศตะวันเหนือ บริเวณที่เรียกขานกันต่อมาว่า “ท่ามะพร้าว” ระหว่างเวลาก่อนจะได้รับการฟื้นฟูใหม่นั้น บ้านเมืองแตกแยกระส่ำระส่าย ผู้คนอพยพด้วยกลัวภัยพม่ากระจัดกระจายไปอยู่หลายแห่ง เช่น พังงา และกระบี่ เป็นต้น ส่วนในเมืองถลางเองนั้นมีขุนนางเชื้อสายแขกมัทราษฎร์อยู่คนหนึ่งคือ หลวงล่าม ไม่ได้หนีออกจากเมืองถลางไปอยู่ ณ ที่แห่งใด จึงรวบรวมผู้คนเท่าที่เหลืออยู่ขณะนั้น ตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นตามเหตุการณ์ที่จำเป็น แล้วขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งยังมีกำลังเข้มแข็งอยู่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชจึงตั้งให้หลวงล่าม แขกมัทราษฎร์ผู้นี้เป็น พระถลาง (เจิม) เจ้าเมืองถลาง (สุนัย ราชภัณฑารักษ์,ภูเก็ต, พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๑๕๘)---------แทรกถูกไหม--------- ชาวถลางส่วนใหญ่หนีออกจากเมืองถลางข้ามฟากไปทางพังงา แล้วรวมกลุ่มก่อตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่ที่ริมแม่น้ำพังงา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาถลางบุญคง ออกมาเป็นที่พระยาถลาง ซ่องสุมรวบรวมผู้คนไว้ได้ตั้งเป็นถิ่นฐานบ้านเรือนลง ชาวถลางได้ดำรงชีวิตสืบสายเลือดถลางยังดินแดนใหม่ต่อมา ร่วม ๑๘ ปี (ประชุมพงศาวดาร ภาค ๒ สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พ.ศ.๒๕๐๖ เล่ม ๑ หน้า ๕๐๓) ครั้นต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๓๗๐ ในรัชกาลที่ ๓ ได้โปรดยกเมืองถลางกลับเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงเทพ ฯ ตามเดิม พระถลางเจิมก็คงจะได้เลื่อนเป็นพระยาถลางสืบต่อมา ฝ่ายเมืองภูเก็ต พงศาวดารไม่ได้ชี้ชัดไว้มากนัก กล่าวเพียงว่า “หลวงภูเก็จข้างคดเป็นเจ้าเมือง แล้วได้นายศรีชายนายเวรเป็นพระภูเก็จ แล้วได้มาบิดาหลวงปลัดอุด”(พงศาวดารเมืองถลาง,ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒ อ้างแล้วหน้า ๔๙๙) ย้อนความไปยังปี พ.ศ.๒๓๓๒ ซึ่งพระยาทุกราช (เทียน) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาถลาง (ตามเอกสารจดหมายเหตุเมืองถลาง ศวภ.๓๙) ย่อมแสดงว่าตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็จจะต้องว่างลง ฉะนั้นผู้จะเป็นเจ้าเมืองภูเก็จในขณะนั้นก็น่าจะเป็น หลวงภูเก็จข้างคด ตามที่พงศาวดารกล่าวถึง หลังจากสิ้นสมัยหลวงภูเก็จข้างคด ก็จะเป็นสมัยของนายศรีชายนายเวรได้เป็นพระภูเก็จสืบต่อมา สิ้นสมัยนายศรีชายนายเวรซึ่งเป็นพระภูเก็จ เมืองถลางถูกพม่าตีแตก พร้อม ๆ กับเมือง ภูเก็จก็ถูกทำลายด้วยในช่วงแห่งความระส่ำระส่ายนี้ เมืองภูเก็จจึงได้แก่บิดาหลวงปลัดอุด ซึ่งวิเคราะห์ตามคำให้การชาวถลางแล้ว เห็นว่าไม่ค่อยจะมีผู้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามดีนัก เมื่อหลวงล่ามเจิม ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นพระยาถลางในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระยาถลางเจิม มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อแก้ว ซึ่งสุนัย ราชภัณฑารักษ์ สันนิษฐานไว้ว่า “----จึงอาจเป็นได้ว่า เมื่อพระยาถลางเจิมได้เลื่อนเป็นพระยาถลางขึ้นกรุงเทพฯแล้ว ก็คงจะได้คิดอ่านตั้งเมืองภูเก็จเป็นเมืองขึ้นของเมืองถลางขึ้นมาใหม่ โดยให้บุตรชายชื่อแก้วออกไปเป็นเจ้าเมือง---”(สุนัย ราชภัณฑารักษ์. ภูเก็ต. พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๑๖๕) พระยาถลางเจิม เป็นคนไทยเชื้อสายแขกมัทราษฎร์ มีความคิดอ่านโน้มเอียงไปทางทำมาค้าขายตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งได้เดินทางจากประเทศอินเดียมาสู่ราชอาณาจักรสยาม ฉะนั้นจึงไม่เป็นการแปลกแต่อย่างใดในการที่ครอบครัวของพระยาถลางเจิม ผู้คุ้นเคยกับกิจการของบ้านเมืองถลางมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่เมืองถลางกำลังรุ่งเรืองด้วยการค้าแร่ดีบุก จนกระทั่งเมืองถลางล่มสลายลงเพราะฝีมือพม่า จะรู้ลึกซึ้งถึงแหล่งแร่ดีบุกสำคัญของเกาะถลางว่ามีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในบริเวณที่เป็นเมืองภูเก็จ คือบ้านสะปำ, บางคู, สามกอง และกะทู้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงสนับสนุนให้นายแก้ว ผู้บุตรชายได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองภูเก็จ นายแก้วได้รับบรรดาศักดิ์ เป็น พระภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ ตั้งสำนักว่าราชการเมืองอยู่กลางบริเวณอันเป็นแหล่งแร่ดีบุกมหาศาลที่หมู่บ้านในตำบลกะทู้ ซึ่งต่อมาชาวจีนได้ขนานนามใหม่ว่า “บ้านเก็ตโฮ่” หรือ “เกียดโห” ตามเหตุการณ์ในสมัยหลัง หมู่บ้านนี้อยู่ริมคลองบางใหญ่ ซึ่งตั้งต้นที่เทือกเขานาคเกิด ไหลคดเคี้ยวผ่านที่ราบกว้างของหมู่บ้านกะทู้, หมู่บ้านสามกอง, หมู่บ้านทุ่งคา ออกสู่ทะเลอ่าวภูเก็จทางทิศตะวันออก เรือกำปั่นสามารถแล่นเข้าไปรับส่งสินค้าได้ตั้งแต่ปากน้ำอ่าวภูเก็จตลอดไปจนถึงหมู่บ้านเก็ตโฮ่ ที่สำนักราชการของเจ้าเมืองตั้งอยู่. นับเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมแก่การตั้งเมืองในสมัยก่อนนั้นมาก สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถนัดการค้าขายกับนานาประเทศทรงสนพระทัยในการพัฒนาเหมืองแร่ดีบุก เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นสินค้าสำคัญของประเทศในยามนั้น กิจการเหมืองแร่ดีบุกของเมืองภูเก็จจึงจำเริญรุ่งเรืองขึ้นในบ้านกะทู้อย่างรวดเร็ว จนแรงงานชาวพื้นเมืองมีไม่พอจะทำการขยายกิจการเหมืองแร่ให้ได้ตามความประสงค์ ต้องนำคนจีนเข้ามาช่วยในด้านแรงงานเป็นจำนวนมาก พระภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ (แก้ว) เจ้าเมืองภูเก็จ มีบุตรชายชื่อทัต รับราชการเป็นกรมการเมืองภูเก็จฝ่ายมหาดไทยมีบรรดาศักดิ์หลวงพิทักษ์ทวีป ตั้งแต่ราชการที่ ๓ แล้วได้เป็น พระภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ (ทัต) ในรัชกาลที่๔ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูเก็จสืบแทนบิดาต่อมา (สุนัย ราชภัณฑารักษ์,ภูเก็ต,หน้า ๙๓) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์กิจการเหมืองแร่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น คนจีนจากต่างแดน คือ ปีนังและสิงคโปร์เดินทางเข้ามาใช้แรงงานในกิจการเหมืองแร่เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม มีการเกาะกลุ่มรวมพวกเกิดเป็นคณะอั้งยี่ ขึ้นปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายจนก่อให้มีการจลาจลฆ่าฟันกันเอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ ซึ่งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ในหนังสือ ”นิทานโบราณคดี” ว่า เมืองภูเก็ตเจริญเติบโตขึ้นด้วยกิจการเหมืองแร่ในความดูแลของพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัต) และครอบครัว ซึ่งนอกจากจะทำเหมืองแร่และตั้งเมืองอยู่ที่บ้านเก็ดโฮ่ ผ่านที่ราบลงมาในบ้านสามกองและบ้านทุ่งคาซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะภูเก็ตอีกด้วย หมู่บ้านดังกล่าวนี้ อุดมสมบูรณ์ด้วยสินแร่ดีบุกเป็นอันมาก พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัต) และครอบครัว จึงได้บุกเบิกเปิดการทำเหมืองแร่ในทำเลเหล่านี้เพิ่มขึ้น เป็นผลให้อาณาเขตเมืองภูเก็ตขยายเติบโตตามขึ้นไปด้วย พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัต) จึงย้ายสถานที่ทำการของเจ้าเมืองจากบ้านกะทู้มาตั้งขึ้นที่บ้านทุ่งคา ริมฝั่งคลองบางใหญ่ที่ไหลผ่านไปออกอ่าวภูเก็ตทางฝั่งตะวันออก ผลประโยชน์อันรัฐบาลกลางพึงจะได้จากกิจการเหมืองแร่ ก็คือ ภาษีอากร ซึ่งนอกจากภาษีอากรอันเกิดจากการซื้อขายดีบุกแล้ว ก็ยังมีภาษีอากรจากกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ภาษีสุรา อาการบ่อนเบี้ย ภาษีฝิ่น และภาษีร้อยชักสาม จากสินค้าที่มีการซื้อขายจากต่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ (ทัต) ขึ้นเป็นพระยาวิชิตสงคราม จางวาง (วิเศษ) เมืองภูเก็จ และแต่งตั้งนายลำดวน บุตรชายพระยาวิชิตสงครา (ทัต) ขึ้นเป็นพระยาภูเก็จโลหเกษตรารักษ์ ผู้ว่าเมืองภูเก็จอีกด้วย พระยาวิชิตสงคราม (ทัต) และครอบครัว ประกอบอาชีพผูกขาดภาษีอากรจากรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จัดเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ในเมือง ภูเก็ตพร้อม ๆ กับที่ดำรงตำแหน่งเป็นจางวางและ ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตควบกันไปด้วย โดยมีลักษณะคล้ายจะถ้อยทีถ้อยอาศัยในการที่จะให้ช่วยทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งสยามตลอดมา จึงมีอัตราค่าภาษีอากรที่พระยาวิชิตสงคราม (ทัต) จะพึ่งจัดส่งยังกรุงเทพมหานครเพียงปีละ ๑๗,๓๖๐ บาทตลอดมาเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๑๕ ได้เกิดมีคนจีนชาวสิงคโปร์คนหนึ่ง ชื่อ ตันกิมเจ๋ง ซึ่งได้รับราชการเป็นตัวแทนของเมืองไทยประดุจกงสุลประจำเมืองสิงคโปร์มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระพิเทศพานิชสยามพิชิตภักดี ตำแหน่งกงสุลประจำเมืองสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๖ (อุษณีย์ ฉวีกุลรัตน์, ระบบเหมาเมืองในหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก, วิทยานิพนธ์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, พ.ศ.๒๕๒๙ หน้า ๙๗) ใน ปี พ.ศ.๒๔๐๙ พระพิเทศพานิชสยามพิชิตภักดี ได้เข้ามาขอพระบรมราชานุญาตเปิดการทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองกระบุรี จึงโปรด เกล้า ฯ ตั้งพระพิเทศพานิช (ตันกิมเจ๋ง) เป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา เจ้าเมืองกระบุรี เพื่อประโยชน์ในการทำเหมืองแร่ดีบุก และจัดเก็บภาษีอากรส่งส่วนกลางตามพระราโชบายในขณะนั้นด้วย (สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๐ เรื่องตำนานเมืองระนอง, พิมพ์แจกงานยืนเสาชิงช้า พ.ศ.๒๔๗๔หน้า ๒๓) พ.ศ.๒๔๑๕ พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง) ประสบความล้มเหลวในการทำเหมืองแร่ที่กระบุรี ได้เสนอเรื่องราวเข้าไปทางกรุงเทพ ฯ ขอประมูลผูกขาดภาษีอากรเมืองภูเก็ต ด้วยจำนวนเงินปีละ ๓๒๐,๐๐๐ บาท ภายในเรื่องที่เสนอ พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง) ได้แจกแจงรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต(พระยาวิชิตสงคราม ทัต) ว่า มีรายได้มากมายจากการผูกขาดอากรดีบุก ภาษีสุรา อากรบ่อนเบี้ย ภาษีฝิ่น และภาษีร้อยชักสาม แต่กลับส่งเงินภาษีผลประโยชน์ให้ทางกรุงเทพฯเพียงปีละ ๑๗,๓๖๐ บาท จากอากรดีบุก ภาษีฝิ่น และภาษีร้อยชักสาม เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) รับเป็นสื่อกลางในฐานะผู้เคยทำหน้าที่เสนาบดี สมุหกลาโหมควบคุมหัวเมืองภาคใต้ ได้ไปว่ากล่าวกับพระยาวิชิตสงคราม (ทัต) ขอให้เพิ่มเงินภาษีผูกขาดสูงกว่าจำนวนเงินที่พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง) เสนอ เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองที่มีผลประโยชน์สูงตกเป็นคนในบังคับอังกฤษ (พระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง) เป็นคนในบังคับอังกฤษ) การเจรจายุติลงเมื่อพระยาวิชิตสงคราม (ทัต) ยินยอมเพิ่มเงินภาษีอากรเมืองภูเก็ตที่ส่งกรุงเทพ ฯ จากปีละ ๑๗,๓๖๐ บาท เป็นปีละ ๓๓๖,๐๐๐ บาท การเปิดประมูลภาษีผูกขาดเมืองภูเก็ต พ.ศ.๒๔๑๕ ของพระยาอัษฎงคตทิศรักษา (ตันกิมเจ๋ง) ครั้งนั้น นอกจากจะเพิ่มพูนรายได้แก่รัฐบาลส่วนกลางแล้วยังสะท้อนถึงความหละหลวมและขาดประสิทธิภาพในการควบคุมผลประโยชน์ของรัฐบาลส่วนกลาง แสดงว่ารัฐบาลมีขีดจำกัดเรื่องการดูแลหัวเมืองห่างไกลและการที่ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตกล้าทุ่มเงินประมูลให้สูงกว่าจำนวนเงินประมูลเดิมของตนเองถึง ๑๙ เท่า เช่นนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจะต้องคุ้มค่ามาก จึงยอมเสี่ยงลงทุนในอัตราสูง (อุษนีย์ ฉวีกุลรัตน์, วิทยานิพนธ์เรื่องระบบเหมาเมือง ฯ อ้างแล้ว. หน้า ๑๐๓) ด้วยเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจ คือ การทำเหมืองแร่ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาลนั้น การแบ่งปันเฉลี่ยผลประโยชน์ระหว่างนายทุนเจ้าของเหมืองแร่กับกุลีเหมืองแร่มิได้เป็นไปบนมาตรการของความยุติธรรม, ก่อให้เกิดความยากจนค่นแค้นขึ้นในกลุ่มกรรมกรผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ประการหนึ่งกับเงื่อนไขทางสังคม คือ ชาวจีนได้เข้ามาประกอบธุรกิจเหมืองแร่เป็นจำนวนมากทั้งที่เป็นนายทุนและกรรมกร จนมีพลเมืองจีนดังกล่าวนี้มากกว่าคนไทยผู้เป็นเจ้าของถิ่นเดิม และเงื่อนไขประการที่สาม คือ เงื่อนไขทางการเมือง เนื่องจากภูเก็ต เป็นหัวเมืองห่างไกลจากศูนย์บริหารที่กรุเทพฯ การดูแลไม่สู้จะกวดขัน รัฐบาลส่วนกลางไม่รู้จักท้องที่อย่างถี่ถ้วนและเข้าใจสภาพความเป็นจริงเท่าที่ควร เมื่อเงื่อนไขต่าง ๆ เดินเข้าสู่จุดวิกฤติ เหตุการณ์วุ่นวายจนเป็นการจลาจล ก็ได้เกิดขึ้นในเมืองภูเก็ตอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๔๑๙ เสร็จจากการปราบอั้งยี่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ทรงโปรดฯ ปูนบำเหน็จให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (ชื่น บุนนาค) เป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก พร้อมทั้งพระราชทานสมณศักดิ์ให้ท่านเจ้าอาวาสวัดท่าฉลอง เป็นที่พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์ญาณมุนี สังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต นามเดิมของท่านพระครู ฯ ชื่อ แช่ม ชาวบ้านเรียกขานท่านว่า “พ่อท่านวัดฉลอง” และต่อมาก็เรียกท่านว่า “พ่อท่านสมเด็จเจ้า” อีกด้วย สำหรับคนจีนคหบดีเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นหัวหน้าต้นแซ่จีน ที่ได้ช่วยราชการยับยั้งการก่อความไม่สงบครั้งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างเหรียญติดอกเป็นเครื่องหมายความชอบ (ซึ่งมาเปลี่ยนเป็นเหรียญดุษฎีมาลาเมื่อภายหลัง) พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบทุกคน แต่นั้นมาพวกอั้งยี่เมืองภูเก็ตก็ราบคาบ ขณะที่มีการวุ่นวายเพราะอั้งยี่ก่อการจลาจลนั้น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัต) ชราภาพมากแล้ว สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ในสาส์นสมเด็จว่า “ก. เมืองภูเก็ต เป็นที่มีแร่ดีบุกมากและอยู่ใกล้ตลาดขายดีบุกที่เมืองปีนังกว่าเมืองอื่น พระยาภูเก็ต (ทัต) จึงได้กำไรรวยกว่าใคร ๆ ถึงสามารถเข้าไปสร้างบ้านเรือนที่พักเป็นตึกรามโตใหญ่ที่ในจังหวัดธนบุรี อันตกเป็นของคุณหญิงเลื่อมแล้วทอดมาถึงพระยามนตรี (เชียร บุนนาค) อยู่ในบัดนี้ พระยาภูเก็ต (ทัต) เป็นฉลาดเอากำไรส่วนมากไปสร้างตึกให้เช่าทั้งเมืองปีนังและเมืองสิงคโปร์หลายแห่ง ครั้นแก่ชราลงเกิดโรคจักษุมืด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาวิชิตสงคราม ตำแหน่งจางวางและทรงตั้งบุตรคนโตชื่อ“ลำดวน” เป็นพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์แทน เมื่อพระยาวิชิตสงครามถึงอนิจกรรม ทรัพย์สมบัติเป็นมรดกแตกแยกกันไปเป็น ๓ เจ้าของ คือ พระยาภูเก็ต (ลำดวน) ดูเหมือนจะได้มากกว่าคนอื่น คน ๑ คุณหญิงเลื่อม คน ๑ พระยามนตรี (ชื่น) ซึ่งเป็นลูกเขยคน ๑ พระยาภูเก็ต (ลำดวน) ต้องรับผิดชอบในการทำภาษีอากร แต่ไม่ฉลาดทั้งเป็นคนเผลอเลอ สุรุ่ยสุร่าย ในไม่กี่ปีทรัพย์ที่ได้มรดกก็หมด และเงินหลวงที่คั่งค้างทับถมหนักขึ้น จนลงที่สุดต้องถูกถอด และต้องเอาบ้านเรือนทั้งของบิดาและของตัวเองตีใช้หนี้หลวง จึงได้ใช้บ้านพระยาภูเก็ตเป็นศาลารัฐบาล และที่พักข้าราชการต่อมา “เมื่อไม่มีผู้ว่าราชการเมืองที่รับผูกภาษีได้อย่างพระยาภูเก็ต (ทัต) การปกครองเมืองภูเก็ตก็ตกมาอยู่ในหน้าที่ข้าหลวงซึ่งเคยเป็นแต่พนักงานเร่งเรียกเก็บเงินมาแต่ก่อน จึงต้องแยกภาษีอากรให้ว่าประมูลผูกขาดเป็นอย่าง ๆ ไป ดังแต่ก่อน แต่การทำเหมืองใหญ่ก็ยังมีอยู่มาก เพราะพวกเถ้าแก่นายเหมืองชั้นแรกมามีเชื้อสายนายทุนรอน ตั้งภูมิลำเนาเป็นชาวเมืองภูเก็ตรับมรดกทำเหมืองต่อมา ถึงกระนั้นการทำเหมืองไม่มีเงินทุนพอที่จะลงมากเหมือนเมื่อครั้งพระยาภูเก็ต (ทัต) จำนวนคนทำก็น้อยลง เลยเป็นเหตุให้เงินภาษีอากรลดน้อยลงด้วย” (สาส์นสมเด็จ พ.ศ.๒๕๔๑ หน้า ๑๒๔-๑๒๕) นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๘ เป็นต้นมา หัวเมืองฝั่งตะวันตกต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะราคาดีบุกในตลาดโลกลดลง บรรดาผู้ว่าราชการเมืองฝ่ายตะวันตก และนายเหมืองต่างก็พากันร้องเรียนต่อกรุงเทพฯ เพื่อขอลดภาษีดีบุกและภาษีผูกขาดรายเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯให้คณะเสนาบดีพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วก็ตกลงผ่อนปรนลดให้ตามสมควร ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๒๕ ปรากฏว่าราคาดีบุกโลกได้เขยิบสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่บรรดาผู้ว่าราชการเมืองต่าง ๆ ก็หาได้ขอส่งเงินค่าภาษีเพิ่มขึ้นให้แก่รัฐบาลไม่ ยังคงส่งเงินภาษีผูกขาดรายปีจำนวนเท่าเดิมพระยาอัษฎงคตทิศรักษา(ตันกิมเจ๋ง) กงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ เมืองสิงคโปร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งให้เป็น “สปิกเชี่ยลกอมมิชชั่นเนอร์” ทำหน้าที่สืบการค้าขายและการภาษีอากรหัวเมืองฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะ จึงได้ทำเรื่องราวยื่นต่อรัฐบาลไทย ขอผูกขาดภาษีอากรหัวเมืองฝ่ายตะวันตกเสียเองอีกครั้งหนึ่ง หัวเมืองต่าง ๆ ได้แก่ กระบี่ ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า พังงา และระนอง ต่างก็ยินยอมเข้าทำการประมูลภาษีโดยตั้งจำนวนเงินเพิ่มสูงขึ้นทุกเมือง เว้นแต่เมืองภูเก็ตเท่านั้นที่ยังคงยืนกรานไม่ยอมเพิ่มเงินภาษีให้ โดยพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ลำดวน) อ้างเหตุผลว่า ไม่มีความสามารถที่จะจัดเก็บภาษีเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราที่จะต้องเพิ่มนั้นได้ ขุนนางผู้ใหญ่ในคณะเสนาบดีบางคน พยายามผ่อนปรนให้พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ลำดวน) ได้ทำการผูกขาดภาษีในอัตราเดิมต่อไป แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเห็นด้วยโปรดให้เพิกถอนสิทธิในการเก็บภาษีอากรของผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตเสีย แล้วเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษีอากรเป็น “ภาษีของรัฐ” หรือ “ภาษีคอเวอนเมนต์” คือผู้ว่าราชการเมืองทำหน้าที่ช่วยรัฐเก็บภาษีอากรทั้งหมดแล้วส่งมอบกรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯก็จะตอบแทนแบ่งเงินผลประโยชน์คิดเฉลี่ยอัตราร้อยละ ๕ ของรายได้ที่เก็บได้แต่ละปี หลังจากหักค่าใช้จ่าย ต่าง ๆ แล้ว (อุษณีย์ ฉวีกุลรัตน์ วิทยานิพนธ์ ระบบเหมาเมืองฯ อ้างแล้ว หน้า ๑๕๑-๑๖๐) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในสาส์นสมเด็จ ว่า “๑๗. ตั้งแต่เลิกวิธีให้ผู้ว่าราชการเมืองผูกภาษีอากร เงินหลวงที่ได้จากหัวเมืองทั้ง ๔ ลดน้อยลงโดยลำดับ รัฐบาลจึงคิดการแก้ไขด้วยตั้งกรมราชโลหกิจ หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่า “กรมแร่” หาฝรั่งผู้ชำนาญเข้ามาจัดการกรมนั้น ระเบียบการที่รัฐบาลอนุญาตให้ทำเหมืองแร่และเก็บผลประโยชน์จากเหมืองแร่ก็เริ่มแปรไปเป็นอย่างฝรั่งแต่นั้นมา ส่วนการที่จะเร่งเรียกเงินภาษีอากรต่าง ๆ ก็ตั้งคนสำคัญ (คือพระยาทิพโกษา หมาโต โชติกเสถียร) ออกไปบัญชาการให้มีอำนาจบังคับบัญชาผู้ว่าราชการมืองคล้ายกับสมุหเทศาภิบาลซึ่งจัดเมื่อภายหลัง พระยาทิพโกษากวดขันการเร่งเงินหลวงได้มากขึ้นบ้าง แต่ไปเกิดการร้าวฉานกับผู้ว่าราชการหัวเมืองเหล่านั้นในส่วนตัว พาให้ลำบากถึงราชการ เป็นเช่นนั้นมาจนถึงสมัยเมื่อโปรดฯ ให้โอนหัวเมืองที่เคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมและกรมท่า มารวมอยู่ในบังคับ และความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว เวลานั้นหม่อมฉันกำลังสาละวนจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองมณฑลชั้นใน ทางมณฑลภูเก็จก็ได้แต่พยายามรักษาบรรดาการที่ยังดีให้คงอยู่ และแก้ไขความขัดข้องเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้าว่าเฉพาะเมืองตะกั่วป่าและเมืองพังงา ตั้งแต่สิ้นพระยาเสนานุชิต(เอี่ยม) และพระยาบริรักษ์ภูธร(ขำ) แล้ว ผู้ว่าราชการเมืองก็หาคนที่ดีส่งไปจากกรุงเทพฯ ทั้ง ๒ เมืองมาตั้งต้นจัดการบำรุงหัวเมืองฝ่ายตะวันตกอีกครั้งหนึ่งในสมัยเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยายารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองตรัง เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ---” (สาส์นสมเด็จ,เล่ม ๘ คุรุสภาพิมพ์ พ.ศ.๒๕๔๑, หน้า ๑๐๓-๑๓๒) มณฑลภูเก็จได้รับการตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ ขณะที่ยังขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม มีพระยาทิพโกษา (หมาโต โชติกเสถียร) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นคนแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕จนถึงพ.ศ.๒๔๓๗ แล้วโอนมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยพระยาทิพโกษา ยังคงดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๑ จึงเปลี่ยนเป็นพระยานริศรราชกิจ (สาย โชติกเสถียร) (สุนัย ราชภัณฑารักษ์, ภูเก็ต พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๒๐๒) ฝ่ายเมืองถลางนั้น หลังจากพระยาถลางเจิม (พ.ศ.๒๓๕๒-๒๓๘๐) ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ตำแหน่งเจ้าเมืองก็ได้แก่ พระยาถลางฤกษ์ (บุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา จัน จันทโรจวงศ์) ผู้เป็นบุตรเขยของพระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง (เทียน ประทีป ณ ถลาง) ได้ปกครองเมืองถลางอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๐ จนถึง พ.ศ.๒๓๙๑ โดยได้ย้ายเมืองถลางมาตั้งอยู่ที่บ้านบางโรง ซึ่งเคยเป็นเมืองเก่าของบิดาภรรยาก่อนจะถูกพม่าทำลายลงในปี พ.ศ.๒๓๕๒ เนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดี ใกล้ท่าเรือ และใกล้เมืองภูเก็จ พระยาถลางฤกษ์ ถึงอนิจกรรมเมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๙๑ ตำแหน่งเมืองถลางได้แก่ พระยาถลางทับ บุตรพระยาถลางฤกษ์ สืบต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๔๐๕ พระยาถลางทับถึงอนิจกรรม ตำแหน่งเจ้าเมืองได้แก่พระยาถลางคินบุตรพระยาถลางทับ จนถึง พ.ศ.๒๔๑๒ จึงได้แก่พระยาถลางเกด ผู้เป็นน้องชายของพระยาถลางคิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสายตระกูล “จันทโรจวงศ์” ของเจ้าพระยาสุรินทราชา ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตก ระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๙ ถึง พ.ศ.๒๓๕๐ ล่วงถึงปี พ.ศ.๒๔๓๓ พระยาถลางเกด ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระยศภักดียกรบัตรเมืองภูเก็จเป็นพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม นิคมคามบริรักษ์ สยามพิทักษ์ภักดี เป็นผู้ว่าราชการเมืองถลาง ขึ้นอยู่กับเมืองภูเก็จ (สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ๒๕๑๗ : ๑๖๔) พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิ สงครามฯ ผู้นี้มีนามเดิมว่า หนู เป็นเหลนของพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงครามฯ (ทองพูน ณ ถลาง) เจ้าพระยาถลาง ซึ่งได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตราตั้งให้เป็นเจ้าเมืองถลางครั้งเมื่อเสร็จศึกพม่า พ.ศ.๒๓๒๘ และได้รับพระราชทานเครื่องยศชั้นเจียดทอง เป็นคนแรกของเมืองถลางอีกด้วย (ขุนนรภัยพิจารณ์ ไวย์ ณ ถลาง, ประวัติกูล ณ ถลาง, อ้างแล้ว) ตำแหน่งเจ้าเมืองถลาง ได้เปลี่ยนสายตระกูลใหม่ จาก “จันทโรจวงศ์” เป็น “ณ ถลาง” แต่ก็ยังเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกันอยู่ พระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิ สงครามฯ (หนู) เป็นเจ้าเมืองถลางอยู่จนถึง พ.ศ.๒๔๓๕ ได้ย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่ที่บ้านดอน ซึ่งเป็นท้องถิ่นมรดกเดิมของตระกูล ณ ถลาง มาแต่ก่อน ตั้งแต่ครั้ง “จอมเฒ่า” เป็นเจ้าเมืองถลางบ้านดอน และพระยาณรงค์เรืองฤทธิประสิทธิสงคราม (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าพระยาถลาง (พ.ศ.๒๓๒๘) อนึ่ง มีข้อควรสังเกตว่า บรรดาศักดิ์และราชทินนามในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง หรือเมืองถลางนั้น เคยใช้ที่พระยาสุรินทรามาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยธนบุรี แล้วเปลี่ยนเป็นที่ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม นิคมคามบริรักษ์ ฯ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์(พ.ศ.๒๓๒๘ - ๒๓๓๒) และเปลี่ยนเป็นที่พระยาเพชรคีรีศรีพิไชยสงคราม รามคำแหง อยู่ระยะหนึ่งเพียงชั่วอายุคน (พ.ศ.๒๓๓๒ - ๒๓๕๒)ก็กลับเปลี่ยนเป็นที่ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ฯ อีกตามเดิม โดยเริ่มจาก พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ฯ (หลวงล่ามภาษาเจิม เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๐ในรัชกาลที่ ๓ ) ได้ใช้สืบต่อมาจนถึง พ.ศ.๒๔๓๗ สิ้นสุดลงที่พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ฯ (หนู) เนื่องจากทางราชการได้ยุบเมืองถลางลงเป็นอำเภอถลาง ขึ้นอยู่กับจังหวัดภูเก็จ ตำแหน่งเจ้าเมืองถลางจึงหมดไป สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ครั้งทรงบังคับบัญชาการไปรษณีย์และโทรเลข ในการเสด็จออกทรงตรวจราชการ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.๑๒๑” ว่า “---๔.๓๒ ถึงบ้านท่าเรือเป็นบ้านหมู่ใหญ่มีตลาด มีวัดเก่า มีทางลงทะเล มีคลองด้วย มีค่ายพระยาภูเก็จ จางวาง ที่นี่มีกำแพงสูง ๖ ศอก ใบเสมาศอกคืบอย่างจีน กำแพงบางไม่มีเชิงเทินคิดแต่พอสู้เจ๊ก ๖๐ วากว้าง ด้านหนึ่ง ๔ เหลี่ยม มีหอรบ ๔ ด้าน แบ่งในเป็นสามตอน ข้างหน้าตอนหนึ่งข้างในตอนหนึ่ง ข้างหลังตอนหนึ่ง ข้างหน้ามีตึกศาล แลหอนั่ง ข้างในมีตึกโรงละครและสระละครอาบน้ำ แลว่ามีเรือนไม้อีกมาก พังเสียหมดแล้วตอนหลังเป็นที่ยุ้งข้าว ตึกเหล่านี้พังหมดแล้ว เหลือแต่ผนังอยู่บ้าง หลวงพลเป็นผู้ทำ ทำเมื่อเจ๊กลุก พระยาจางวางคิดจะหนีมาอยู่ที่นี่ แต่ไม่ทันมา พอจวนแล้วก็เจ็บตามืด หยุดพักร้อนที่นี่เยี่ยมพระยาถลาง (พ่อพระยาสุนทร) ซึ่งอยู่ในค่ายนี้ ตามืด หูตึง อายุเจ็ดสิบเก้า ค่ายมีประตูใหญ่แห่งหนึ่ง ตลาดมีตึก.๕.๒๕ ออกจากค่ายไปรับเรื่องราวพระยาถลางมาด้วย นอกค่ายมีรอยฐานอิฐเก่า ๆ เห็นอยู่ข้างทางจะเป็นวัดเก่าฤๅอะไรไม่ทราบ พระพลว่าเป็นตลาดเก่าก่อนรบพม่า เมื่อรบกันฉิบหายหมด ที่นี่เป็นพรมแดนถลางต่อภูเก็จ---”(สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์, “จดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู ร.ศ.๑๒๑,”กรมศิลปากรพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมคิด โชติกวณิชย์ (อดีต)อธิบดีกรมศิลปากร, ๑๔ มิถุนายน ๒๕๔๐ หน้า ๑๗) กองอิฐเก่าที่สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงสอบถามใครก็ไม่ทราบเรื่องราวแห่งนี้ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นซากบ้านของพระยาราชกปิตัน (ฟรานซิส ไลท์) พ่อค้าชาวอังกฤษ ซึ่งได้เข้ามาตั้งสำนักงานและบ้านพักอยู่ที่บ้านท่าเรือ แต่ครั้ง พ.ศ.๒๓๑๕ จนถึงพ.ศ.๒๓๒๘ และถูกพม่าทำลายลงในศึกครั้ง พ.ศ.๒๓๕๒. ฝ่ายเมืองภูเก็จเดิมที่บ้านกะทู้นั้น เมื่อพระยาวิชิตสงคราม (ทัต) ย้ายเมืองมาตั้งที่ตำบลทุ่งคา ใกล้ปากน้ำหน้าอ่าวภูเก็จแล้ว ก็ยังได้รวมเอาบ้านกะทู้เมืองเดิมเข้าไว้ในเขตของเมืองภูเก็จใหม่นี้ด้วย ครั้นเมืองภูเก็จถูกยกฐานะขึ้นเป็นมณฑลในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ตำบลบ้านกะทู้ ซึ่งมีพลเมืองเพิ่มหนาแน่นขึ้น จึงได้รับการยกฐานนะขึ้นเป็นอำเภอหนึ่ง เช่นเดียวกับอำเภอเมืองภูเก็จและอำเภอถลาง ทำให้เมืองภูเก็จ ประกอบด้วย ๓ อำเภอ อำเภอกะทู้ ถูกลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ แล้วกลับยกฐานะขึ้นเป็นอำเภออีกครั้งหนึ่ง เมื่อพ.ศ.๒๕๐๔(ไชยยุทธ ปิ่นประดับ, ประวัติศาสตร์กะทู้, หนังสือที่ระลึกงานเปิดศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้,คณะกรรมการศูนย์ฯ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๕๔๐ หน้า ๑๘-๒๑) พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอมซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ ผู้ได้ชื่อว่า เป็นผู้พัฒนาเมืองภูเก็ตขึ้นสู่ระดับนานาชาติเป็นคนแรก ได้ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ทิ้งผลงานปกครอง และงานพัฒนาไว้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนรุ่นหลังมากมายหลายประการ หลังจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ก็สืบทอดต่อมาอีก ๔ ท่าน คือ พลโทพระยาสุรินทราชา (ภายหลังเป็น พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร นามเดิม คือ หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์), พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล),หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร, และพระยาศรีเสนา (ฮะ สมบัติศิริ) ซึ่งแต่ละท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามตัวบทกฎหมายที่บัญญัติไว้ ไม่มีวิธีการผิดแปลกแตกต่างไปจากขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นวิธีลัดหรือกโลบายใด ๆ เช่นที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้เคยปฏิบัติมา ทุกท่านมีผลงานตามสมควรแก่ตำแหน่งหน้าที่ซึ่งได้รับผิดชอบในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ ดังปรากฏอนุสรณ์เป็นชื่อถนนสายต่าง ๆ เช่น ถนนสุรินทร์, ถนนศักดิเดช, ถนนวิเศษ, ถนนสุทัศน์, ถนนศรีเสนา และสนามกอล์ฟหาดสุรินทร์ ให้ได้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ภูเก็จ ดำรงสถานภาพ “มณฑล” อยู่นานกว่า ๔๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๕ จนถึง พ.ศ.๒๔๗๖ จึงถูกยุบลงเหลือเพียงสภาพ “จังหวัด” เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ และรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนวิธีบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยออกพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.๒๔๗๖ ซึ่งได้จัดแบ่งราชการออกเป็น ๓ ส่วน คือ ราชการบริหารส่วนกลาง,ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ตำแหน่งประมุขของจังหวัดตามระเบียบราชการใหม่เรียกว่า“ข้าหลวงประจำจังหวัด” ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดคนแรกของภูเก็ต คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา แต่ทรงอยู่ในตำแหน่งไม่ถึงปี ทางราชการก็ย้ายเข้ากรุงเทพฯไป แล้วให้นายพันเอกพระยาสุรเดชรณชิต (ชิต ยุวนะเตมีย์) มารับตำแหน่งแทนอยู่ได้ ๒ ปี ก็เปลี่ยนเป็นพระยาศิริชัยบุรินทร์(เบี๋ยน หงสะเดช) ในปีพ.ศ.๒๔๗๘ แล้วเปลี่ยนเป็นพระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ (จิตร จิตตะยโศธร) มาอยู่ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๐ ก็เปลี่ยนเป็น นายร้อยเอก หลวงเธียรประสิทธิสาร(มงคล เทียนประสิทธิ์) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งจนถึง พ.ศ.๒๔๘๖ พ.ศ.๒๔๘๒ ได้เกิดสงครามโลกขึ้น โดยเยอรมันได้เข้ายึดครองเช็คโกสโลวาเกียและโปแลนด์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นเหตุให้อังกฤษ ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมัน เกิดการสู้รบกันอย่างรุนแรงในยุโรป ประเทศไทยประกาศตัวเป็นกลาง ชาวยุโรปทั้งสัญชาติอังกฤษ,ฝรั่งเศสและเยอรมัน ยังคงอยู่อย่างปลอดภัยในเมืองภูเก็ต ในปีพ.ศ.๒๔๘๒ เรือสินค้าขนาดใหญ่ สัญชาติอิตาเลียน ซึ่งเดินขนส่งสินค้าระหว่าง ยุโรป และเอเซีย จำนวน ๓ ลำ บรรทุกสินค้า ต่าง ๆ ประกอบด้วย รถยนตร์นั่ง, เครื่องเหล็ก, น้ำตาล และไม้กระดาน ได้แวะเข้าจอดพักในอ่าวภูเก็ต ขอหยุดการออกเดินทางตามปรกติเนื่องจากเกรงภัยจะเกิดจากสงคราม ซึ่งประเทศอิตาลีได้ประกาศเข้าเป็นฝ่ายร่วมรบของเยอรมัน เรียกว่า “ฝ่ายอักษะ” ทางรัฐบาลไทยและจังหวัดภูเก็ต ได้ให้ความอารักขาและช่วยเหลือลูกเรือสินค้าทั้ง ๓ ลำ ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี ครั้นวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ที่ฟิลิปปินส์ และยกพลขึ้นบกที่ภาคใต้ของประเทศไทย คือที่จังหวัดสงขลา,นครศรีธรรมราช,ปัตตานี,สุราษฎร์ ธานี และประจวบคีรีขันธ์ กับที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขอนำกองทัพผ่านประเทศไทยไปโจมตีประเทศมลายู, สิงคโปร์, พม่าและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศอาณานิคมของจักรภพอังกฤษ กองทัพไทย กองกำลังตำรวจภูธรและหน่วยยุวชนทหาร รวมทั้งข้าราชการพลเรือนและประชาชน ได้ร่วมกันต่อสู้ต้านทาน ยอมเสียสละชีวิตเป็นพลี เพื่อปกป้องแผ่นดินไทยด้วยความรักประเทศชาติอันเป็นวัฒนธรรมสืบทอดมาแต่โบราณ การสู้รบดำเนินไปหลายชั่วโมง ตั้งแต่เวลา ๑ นาฬิกาของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ จนกระทั่งสาย ทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อลงเป็นจำนวนมาก รัฐบาลซึ่งนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ ซึ่งได้มีสัญญาป้องกันร่วมกันอยู่ แต่ฝ่ายอังกฤษตอบว่า ไม่สามารถจะช่วยเหลือไทยได้ เพราะมีกำลังประจำอยู่ทางฝ่ายเอเซียจำนวนน้อย ป้องกันประเทศต่าง ๆ ในเครือจักรภาพ คือ มลายู, สิงคโปร์, พม่า, และอินเดีย ก็จะไม่พอเพียงอยู่แล้ว รัฐบาลไทย จึงต้องตัดสินใจยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศไทย ผ่านเข้าโจมตีประเทศมลายู สิงคโปร์และพม่า ได้ตามจุดประสงค์ ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ นั้นเอง เรือสินค้าของอิตาลี ๓ ลำ ที่จอดอยู่ในอ่าวภูเก็ต ถูกทำลายลงโดยการตัดสินใจของกัปตัน ซึ่งไม่แน่ใจในสถานการณ์ว่าจะเลวร้ายไปในทางใด เกรงว่าเรือและสินค้าในเรือจะตกไปเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายอังกฤษ ซึ่งมีเรือดำน้ำเข้ามาวนเวียนอยู่นอกอ่าวภูเก็ตบ่อยครั้ง กัปตันจึงสั่งเผาเรือทั้ง ๓ ลำ เสียในเช้าวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ฝ่ายชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส ที่อาศัยอยู่ในภูเก็ตมาก่อน โดยเฉพาะชาวอังกฤษ ผู้ประกอบธุรกิจเรือขุดแร่ ในเครือบริษัท แองโกล-โอเรียนตัล คอปอเรชั่น ผู้บริหารบริษัท ทุ่งคาฮาร์เบอร์ ตินเดรดยิ่ง, บริษัทระเงงติน เอ็น.แอล., บริษัท ตินเล ตินเดรดยิ่ง, บริษัท กะทู้ติน เดรดยิ่ง, และบริษัทพังงาตินเดรดยิ่งฯนั้นทางอังกฤษ ได้มอบหมายให้นายทหารนอกราชการผู้หนึ่งยศร้อยเอกทหารบกแห่งกองทัพอังกฤษ ซึ่งมาทำหน้าที่นายช่างใหญ่บริษัท ทุ่งคาฮาร์เบอร์ตินเดรดยิ่งจำกัด อยู่นานแล้ว มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับพ่อค้าและข้าราชการในจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างดี สามารถพูดภาษาไทย, ภาษาจีน, และภาษามาเลย์ ได้คล่องแคล่ว เป็นผู้ดูแลชาวยุโรปทั้งหมดที่ประสงค์จะเดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต ไปลงเรือดำน้ำที่ฝั่งชายทะเลไม้ขาว ก่อนเกิดสงคราม,ชาวญี่ปุ่นหลายคนได้เข้ามาภูเก็ตในลักษณะของพ่อค้าธรรมดา เป็นที่รู้จักของทางราชการและพ่อค้าประชาชนชาวภูเก็ตพอสมควร ครั้นถึงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ชาวญี่ปุ่นเหล่านี้ก็สวมเครื่องแบบนายทหารยศตั้งแต่นายร้อยเอกลงมา แสดงตนเป็นคนของรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าพบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการที่กองทัพญี่ปุ่นต้องขอผ่านประเทศไทยด้วยความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ นายทหารเหล่านี้มีแผนที่เกาะภูเก็ตอย่างละเอียด แสดงตั้งแต่สถานที่สำคัญตลอดจนแม้กระทั่งบ่อน้ำจืดขนาดใหญ่ที่กองทัพสามารถจะใช้ประโยชน์ได้ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่ด้วย ในทำนองเดียวกันกับญี่ปุ่น ชาวอังกฤษที่เข้ามาทำงานเรือขุดแร่ ซึ่งมียศนายร้อยเอกแห่งกองทัพบกอังกฤษ ก็อาศัยคราบของนักอุตสาหกรรมลักลอบนำเอาอาวุธสงครามเข้ามาในรูปของชิ้นส่วนอุปกรณ์เรือขุด และน้ำมันจาระบีชนิด ๒๐๐ ลิตร ซึ่งบางถังก็บรรจุชิ้นส่วนของปืนกลมือแบบใหม่, ปืนเล็กยาว, กระสุนปืน และลูกระเบิดมือ, ตลอดจนเครื่องวิทยุสื่อสารความถี่สูง โดยเล็ดลอดสายตาของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งไม่เคยรู้ระแคะระคายหรือสงสัยแต่อย่างใด เนื่องจากการทำพิธีการศุลกากรเพื่อนำเข้าอุปกรณ์เรือขุดคราวละมาก ๆ นั้น ก็เป็นงานหนักสำหรับเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว เมื่อไม่ระแคะระคายว่าจะมีการ “สอดไส้” สิ่งต้องห้ามเข้ามา เจ้าหน้าที่ก็มักจะอนุโลมให้ผ่านด่านได้ตามปกติ จึงเป็นช่องทางให้นายทหารอังกฤษสามารถนำเอาอาวุธสงครามเล็ดลอดเข้ามาในภูเก็ตได้ตามความจำเป็น และเก็บงำไว้นานพอสมควร ครั้นเกิดสงครามขึ้นและจำเป็นต้องใช้งาน นายทหารผู้นี้ก็สั่งการให้คณะทำงานนำเอาอาวุธออกมาแจกจ่ายแก่ผู้ที่ใช้งานเป็น แล้วรวมกำลังคนทั้งหมดลงเรือเร็วออกจากสำนักงานบริษัท ทุ่งคาฮาร์เบอร์ตินเดรดยิ่ง ที่อ่าวภูเก็ต ไปขึ้นฝั่งที่หาดไม้ขาว ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินภูเก็ต เข้ายึดสนามบินไว้ชั่วคราว ฝ่ายทางราชการเมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยยุวชนทหาร ซึ่งมีนายทหารบกจากกองทัพภาคที่ ๔ นครศรีธรรมราช มาเป็นครูฝึกอยู่นั้น ก็ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงให้ทำการอารักขาสถานที่สำคัญของทางราชการ ตลอดจนสนามบินภูเก็ต ด้วยเกรงว่าทหารญี่ปุ่นจะเข้าทำการยึดเอาไว้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่า ทหารญี่ปุ่นจะซ่อนตัวแอบแฝงอยู่ ณ ที่ใด และในรูปแบบใดบ้าง กำลังตำรวจและหน่วยทหารยุวชนกลุ่มหนึ่ง จึงเร่งขึ้นไปยังสนามบินไม้ขาว เพื่อจะเข้าอารักขาสนามบินไว้ตามแผนการป้องกัน แต่ต้องไปเผชิญหน้ากับกองกำลังของชาวอังกฤษที่เข้าทำการยึดครองสนามบินไว้ก่อนหน้าแล้ว โดยได้จัดวางสิ่งกีดขวาง เช่น ลวดหนาม และยามรักษาการพร้อมด้วยปืนกลรุ่นใหม่ ที่ฝ่ายตำรวจและยุวชนทหารไทยไม่มีใช้ คงมีแต่ปืนพระราม ๖ และปืนมัลลิเคอร์ เท่านั้น ทั้งสองฝ่ายตั้งกำลังตรึงกันไว้ แล้วเปิดการเจรจา ชาวอังกฤษและคณะ แจ้งความประสงค์ขอยึดสนามบินไว้ชั่วคราว เพื่อรอเครื่องบินของอังกฤษลงจอดรับผู้อพยพ หรือมิฉะนั้น ก็รอจนกว่าเรือรบของอังกฤษจะเข้ามาใกล้ฝั่งหาดไม้ขาวก็จะได้ถอยไปลงเรือ แล้วจะคืนสนามบินให้ตามเดิม กองกำลังฝ่ายไทย ไม่อาจตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ต้องรายงานมายังศาลากลางจังหวัดภูเก็ตเพื่อขอคำสั่งใหม่ ร้อยเอก หลวงเธียรประสิทธิสาร ข้าหลวงประจำจังหวัดภูเก็ต เรียกประชุมฉุกเฉินคณะกรมการจังหวัด ปรึกษาหารือวิธีปฏิบัติต่อชาวอังกฤษกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน หลังจากถกเถียงกันด้วยเหตุผลโดยรอบคอบแล้ว ข้าหลวงประจำจังหวัดภูเก็ตผู้มีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของจังหวัดตามแผนการป้องกันยามฉุกเฉิน ก็สั่งให้กองกำลังฝ่ายไทยตรึงพื้นที่อยู่เช่นนั้น ไม่ให้รุก ไม่ให้ถอย และไม่ให้ทำการยั่วยุใด ๆ อันจะก่อให้เกิดการปะทะกันขึ้นด้วยกำลังอาวุธ ชาวอังกฤษกลุ่มนั้น จึงใช้วิทยุสื่อสารส่งข่าวออกไปยังเรือดำน้ำของอังกฤษที่แอบเข้ามาใกล้ฝั่งภูเก็ตอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้เข้ามารับคณะผู้อพยพออกไปโดยเร็ว เรือดำน้ำได้เข้ามาใกล้ฝั่งและสั่งให้กลุ่มผู้อพยพลงเรือยนตร์ออกไปนอกฝั่งในตอนค่ำของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ แล้วนำผู้อพยพทั้งหมดเดินทางจากเกาะภูเก็ตโดยปลอดภัย ต่อมาภายหลังเมื่อสงครามโลกสงบลงแล้ว นายทหารอังกฤษผู้นั้น ก็ได้เดินทางกลับมายังเมืองภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับการเลื่ยนยศขึ้นเป็น นายพันโทแห่งกองทัพบกอังกฤษ และมารับหน้าที่ผู้จัดการอำนาจเต็มของ บริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ตินเดรดยิ่ง พร้อมกับควบตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำเกาะภูเก็ตอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ไทยได้ ประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เพื่อประโยชน์ในการพิทักษ์ทรัพย์สินและควบคุมบุคคลสัญชาติอังกฤษ และสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะถ้าไม่ประกาศสงครามเป็นทางการ ไทยก็ไม่สามารถรับเอาทรัพย์สินของอังกฤษและอเมริกันซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศไทยนั้นเข้ามาอารักขาไว้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย บุคคลสัญชาติอังกฤษ สัญชาติอเมริกัน และทรัพย์สินของบุคคลทั้งสองสัญชาตินี้ ซึ่งมีอย่างมากมายในประเทศไทย ก็จะตกอยู่ในความดูแลของญี่ปุ่นทั้งหมด เพราะญี่ปุ่นได้ประกาศตัวเป็นคู่สงคราม แต่ไทยไม่ได้ประกาศตัวเป็นคู่สงคราม สิทธิในการควบคุมและอารักขาชนชาติศัตรู จึงไม่มี เป็นจุดบกพร่องที่จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยขึ้นในยามที่สงครามสงบลง เพราะเราไม่สามารถจะควบคุมญี่ปุ่นมิให้ทำร้ายบุคคล หรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ซึ่งเกิดขึ้นและตั้งอยู่ในประเทศเรา แต่ตกไปอยู่ในความดูแลของญี่ปุ่นได้ อีกประการหนึ่ง คนไทยที่ตกค้างอยู่ในอังกฤษและอเมริกาจำนวนมาก ที่มีความประสงค์จะกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน แต่กลับมาไม่ได้ เพราะถ้าไม่สมัครเข้าเป็นเสรีไทย ก็จะถูกอังกฤษ-อเมริกัน ควบคุมอยู่ วิธีจะให้คนไทยเหล่านี้กลับมาประเทศไทยได้ ก็ด้วยการใช้วิธีการแลกเชลยระหว่างกัน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ คือ ไทยต้องควบคุมคนอังกฤษ-อเมริกัน ไว้ในฐานะชนชาติศัตรู แล้วเจรจาขอแลกกับคนไทยที่ฝ่ายอังกฤษ-อเมริกัน ควบคุมไว้นั้น จึงจะเป็นผลสำเร็จ ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้นนี้ ไทยมีความประสงค์จะประกาศสงครามกับอังกฤษ-อเมริกา ตั้งแต่วาระแรกที่ยอมให้ญี่ปุ่นผ่านดินแดนไทยไปโจมตีประเทศในเครือจักรภพอังกฤษนั้นแล้ว แต่กองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยคอยยับยั้งไว้ ไม่ยอมให้ประกาศ ก็น่าจะเป็นด้วยความประสงค์ที่จะเข้ายึดครองควบคุมสถานที่ต่างๆ อันเป็นทรัพย์สินของชาวอังกฤษ-อเมริกาในประเทศไทยแล้วยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอันมีค่าเหล่านั้นไปจากประเทศไทยโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎอาศัยการศึกนั้นเอง จนเมื่อกรุงเทพฯ ถูกฝ่ายอังกฤษโจมตีทางอากาศอย่างหนัก กระทั่งพระที่นั่งอนันตสมาคมพังลงส่วนหนึ่ง ไทยจึงขอให้สถานทูตญี่ปุ่นช่วยเจรจากับกองทัพญี่ปุ่นให้ยอมแก่ประเทศไทยที่จะประกาศสงครามกับอังกฤษ-อเมริกา เป็นทางการ ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นก็ยอม ฉะนั้น ไทยจึงประกาศสงครามกับอังกฤษ-อเมริกา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของไทยตามสิทธิหน้าที่ของประเทศคู่สงครามทุกประการ (หลวงวิจิตรวาทการ,อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำโตเกียว พ.ศ.๒๔๘๕,ในเรื่อง “หลังฉากประกาศสงคราม”, พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยพานิช(สาขา)พระนคร,พ.ศ.๒๔๙๐,หน้า ๕๐-๗๐) เมื่อไทยประกาศสงครามนั้น ชนชาติอังกฤษ-อเมริกัน ไม่มีเหลืออยู่ในจังหวัดภูเก็ตอีกแล้วเพราะต่างก็ได้อพยพออกไปจากเกาะภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ทรัพย์สินของอังกฤษยังคงมีอยู่จำนวนมากคือ เรือขุดแร่, ธนาคาร,และคลังน้ำมัน ภาวะสงครามได้ทำให้ภูเก็ตขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะข้าวสาร ซึ่งต้องอาศัยซื้อมาจากกรุงเทพฯ และนครศรีธรรมราช เป็นสำคัญ เมื่อมีภาวะสงครามเกิดขึ้น น้ำมันเชื้อเพลิงก็ขาดแคลน ยานพาหนะต่าง ๆ ก็ขาดอุปกรณ์ซ่อมแซม การขนส่งจึงขัดข้องไม่สะดวกเหมือนยามปรกติ ชาวภูเก็ตซึ่งเคยทำงานด้านเครื่องจักรกลมาก่อน เพราะเป็นเมืองเหมืองแร่มานาน ได้ช่วยกันคิดค้น ผลิตชิ้นส่วนยวดยานขึ้นใช้ทดแทนของต่างประเทศ ได้แก่ ยางรถยนตร์ และรถจักรยาน ที่ไม่ต้องใช้ลมสูบอัดเข้าไว้ภายใน, ยางรถยนตร์เก่าที่นำมาอัดดอกส่วนหน้าเพิ่มขึ้นใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งาน, เชื้อเพลิงที่เปลี่ยนจากน้ำมันเบนซิน มาเป็นก๊าซจากการเผาไหม้ของถ่านไม้ธรรมดา ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนตร์โดยสาร และรถยนตร์บรรทุก ที่แม้จะมีกำลังแรงม้าอ่อนกว่าธรรมดา แต่ใช้งานได้บรรลุความประสงค์ ตะเกียงน้ำมันก๊าด ก็เปลี่ยนมาใช้น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันจากการเคี่ยวยางพาราให้หลอมละลายเป็นของเหลว ไม้ขีดไฟที่ขาดแคลนจนต้องเฉลี่ยหรือปันส่วนจำหน่ายให้กัน ก็ใช้ ตะบันไฟ ซึ่งทำด้วยเขาสัตว์มาทดแทนฯ หลายอย่างหลายประการ ที่เป็นผลจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ในยามสงครามนั้น ได้ช่วยให้การดำรงชีวิตยามสงครามมีความอยู่รอดได้พอสมควร ซึ่งถ้าภาวะเช่นนั้นมียืดเยื้ออีกต่อมาหลาย ๆ ปี ก็คงจะเกิดอุตสาหกรรมแปลก ๆ จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้เป็นอาชีพขึ้นได้ในเมืองภูเก็ตไม่น้อยทีเดียว เหมืองแร่, และสวนยาง ไม่มีตลาดสำหรับรับซื้อจึงต้องหยุดกิจการลง ประชาชนที่มีที่ดินอยู่บ้างก็หันเข้าหาอาชีพเกษตร เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ทำนา และทำไร่ เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเช่น ข้าวสาร, น้ำตาล, ไม้ขีดไฟ, นมเลี้ยงทารก ต้องจัดสรรปันส่วนจำหน่ายให้ตามความจำนวนคน, ตามอายุ, และตามอาชีพ มากน้อยไม่เท่ากัน ตามความจำเป็นโดยอาศัยความต้องการในการบริโภคเป็นมาตรฐานวัด เครื่องอุปโภคบริโภคเหล่านี้ ต้องลำเลียงมาทางเรือกลไฟ เพราะยังไม่มีถนนติดต่อระหว่างภูเก็ต-กรุงเทพฯ, ภูเก็ต-ตรัง เหมือนเช่นปัจจุบัน ยิ่งในระยะหลังสงครามจะสุดสิ้นลงอ้งกฤษได้ส่งเรือดำน้ำเข้ามาก่อกวนเส้นทางเดินเรือ กันตัง-ภูเก็ต อันเป็นสายเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงภูเก็ต ความฝืดเคืองก็ยิ่งทวีมากขึ้น เรือบางลำที่ลำเลียงข้าวสาร, น้ำตาล จากฝั่งกันตังมาภูเก็ต ถูกเรือดำน้ำของอังกฤษยิงทำลายจมลงในทะเลหน้าอ่าวกระบี่ เป็นเหตุให้เกิดความหวั่นเกรงแก่ผู้รับผิดชอบในการเดินเรือเพิ่มมากขึ้น ต้องคอยระมัดระวังมากขึ้น เรือสินค้า ๓ ลำของอิตาลี ซึ่งกัปตันเรือ ได้เผาทำลายเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ นั้น เมื่อทหารญี่ปุ่นได้ขอเข้ามาตั้งกองกำลังอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ได้ขออนุญาตจากรัฐบาลไทยทำการกู้เรือทั้ง ๓ ลำขึ้นมาใกล้ ๆ จะสำเร็จ ก็ถูกเรือดำน้ำของอังกฤษยิงด้วยตอร์ปิโด จมลงไปยิ่งกว่าเดิม ในระยะหลังสงครามนั้น หน่วยเสรีไทย ได้ขยายการปฏิบัติงานเข้ามาถึงเกาะภูเก็ต คอยส่งข่าวความเคลื่อนไหวของกองกำลังฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ในภูเก็ตจำนวนหนึ่ง และไทยก็ได้ส่งกองทหารบกจากมณฑลทหารบกที่ ๕ มาประจำอยู่ที่เมืองภูเก็ต ๑ กองพัน เพื่อถ่วงดุลกับกองทหารญี่ปุ่น นอกจากนี้ไทยยังได้ส่งกองบินน้อยที่ ๔ จากกองบินยุทธการกองทัพเรือมาประจำอยู่ที่ค่ายทหารนาวิกโยธิน ที่อ่าวฉลอง บ้านโคกตะโหนด หมู่ที่ ๙ ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต อีกด้วย โดยมีเครื่องบินรบแบบเครื่องยนตร์เดี่ยว ปีกสองชั้น ชนิดเครื่องบินน้ำ จำนวน ๒ ลำ วันหนึ่งในเดือนสิงหาคมพ.ศ.๒๔๘๘ ช่วงปลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามมหาเอเชียบูรพาใกล้จะสิ้นสุดลงกองเรือรบของอังกฤษ ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน ๑ ลำ และเรือคุ้มกันอีกไม่ทราบจำนวน ได้เคลื่อนเข้ามาใกล้เกาะรายาน้อย ซึ่งอยู่ทิศใต้ของเกาะภูเก็ต แล้วส่งเครื่องบินจากเรือบรรทุกดังกล่าว ขึ้นบินร่อนอยู่เหนือท้องฟ้าเกาะภูเก็ต ตั้งแต่เช้าประมาณ ๘ นาฬิกา เครื่องบินออกทำการเป็นหมู่ ๓ ลำ งานครั้งแรกคือ ทิ้งระเบิดอู่จอดเรือถลาง ซึ่งเป็นเรือยอร์ท กึ่งโดยสารกึ่งขนส่งสัมภาระของเทศบาลเมืองภูเก็ต ซึ่งมีอยู่เพียงลำเดียวของทางราชการ ระเบิดพลาดเป้าหมายทั้ง ๒ ลูก ตกลงในป่าชายเลนไม่ระเบิด ๑ ลูก ระเบิดแต่ไม่มีผู้ได้รับความเสียหาย ๑ ลูก เรือถลางถูกยิงด้วยปืนกลจากเครื่องบินเสียหายใช้การไม่ได้ งานขั้นต่อไปของเครื่องบินหมู่นี้ คือ มุ่งไปสู่อ่าวฉลอง อันเป็นฐานปฏิบัติการของหน่วยนาวิกโยธินไทย และเคยเป็นสนามเพลาะของทหารญี่ปุ่นมาก่อน แต่ได้ถอนทหารไปหมดแล้วที่บริเวณบ้านห้าแยกตำบลฉลอง เครื่องบิน ๑ ลำ ได้ปักหัวลงทิ้งระเบิดอาคารฐานปฏิบัติการของกองบินน้อยที่ ๔ และหน่วยนาวิกโยธิน เกิดเพลิงไหม้ทั้งอาคารต่าง ๆ และคลังแสงของฐานปฏิบัติการแห่งนี้จนหมดสิ้น รวมทั้งเครื่องบินรบ ๒ ลำ ก็ถูกทำลายด้วยปืนกลจากเครื่องบินสมรรถนะสูงของอังกฤษนั้นด้วย งานขั้นที่สามของเช้าวันที่กล่าว เครื่องบินหมู่นี้ ได้บินไปเหนือบริเวณวัดฉลอง ด้วยความเข้าใจว่า ทหารญี่ปุ่นมักชอบอาศัยวัดเป็นที่ซ่อนเร้นและพักผ่อน จึงทิ้งระเบิดพระอุโบสถวัดฉลองด้วยเครื่องบินลำสุดท้ายที่ระเบิดยังคงเหลืออยู่เต็มอัตรา แต่ระเบิดพลาดจากพระอุโบสถ ลงไปในทุ่งนาเสีย ๑ ลูก และตกลงใส่กุฏิเล็ก ข้างพระอุโบสถ ซึ่งขณะนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของนายช่างผู้รับทำการบูรณะพระอุโบสถอยู่ ภรรยาของนายถ่อเหล็ง (ช่างก่อสร้างโบสถ์วัดฉลอง) ซึ่งกำลังท้องแก่เป็นผู้รับเคราะห์เสียชีวิตพร้อมด้วยลูกในท้อง สะเก็ดระเบิดชิ้นหนึ่งกระเด็นไปเจาะเข้าที่ข้อเท้าของพระภิกษุ (เฉ่งกี่ บริสุทธิ์) บวชใหม่ ซึ่งกำลังกวาดลานวัดอยู่ กระดูกข้อเท้าแตกยับ แม้เมื่อได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีแล้วก็ยังพิการอยู่จนปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ตกตอนบ่ายประมาณ ๕ โมงเย็น เครื่องบินอีกหมู่หนึ่งบินเข้ามายังบริเวณบ้านโคกตะโหนดอาจจะทำการสำรวจผลจากการปฏิบัติการเมื่อตอนเช้าหรืออย่างไรไม่ทราบชัด ผู้เคยผ่านงานด้านทหารบางท่านอธิบายว่า เครื่องบินเครื่องดังกล่าวขึ้นมาเพื่อชี้เป้าหมายให้ปืนเรือทำการยิงเข้าฝั่ง ซึ่งก็น่ารับฟัง เพราะในระยะเวลาเพียง ๔-๕ นาทีที่ผ่านมา ปืนเรือจากเรือคุ้มกันของอังกฤษ ก็ยิงเข้ามายังบริเวณที่เคยเป็นสนามเพลาะของทหารญี่ปุ่นมาก่อนนั้น ๒ นัด เสียงระเบิดของกระสุนปืนเรือก้องกังวาลน่าสยองขวัญยิ่งกว่าเสียงระเบิดจากลูกระเบิดเครื่องบินหลายเท่านัก แต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย กระสุนปืนตัดต้นมะพร้าวขาดสะบั้นตรงกลางลำต้นไป ๑ ต้น จึงเกิดระเบิดกลางอากาศสะเก็ดระเบิดฟุ้งกระจายไปเป็นรัศมีกว่า ๕ กิโลเมตร ตกลงสู่ท้องนาและเรือกสวนของชาวบ้านให้เก็บไว้เป็นเครื่องระลึกก็หลายชิ้น ส่วนกระสุนนัดที่ ๒ ตกลงในท้องนาทั้งลูก แรงระเบิดไม่มากเท่านัดแรกและสะเก็ดระเบิดกระเด็นไปไม่ไกลมากนักคงเป็นเพราะอำนาจยืดหยุ่นของดินโคลนในท้องนาช่วยบรรเทาไว้ ทหารญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่แบบหน่วยตรวจสอบและหาข่าวปะปนอยู่กับชาวบ้านฉลองและชาวบ้านราไวย์ ออกไปตั้งกองสังเกตการณ์อยู่ที่แหลมพรหมเทพเพียง ๔-๕ คนบอกแก่ชาวบ้านว่าอีกสักครู่เครื่องบินของญี่ปุ่นจะมาจากฐานปฏิบัติการที่สุราษฎร์ธานี จะมาจมเรืออังกฤษ ใกล้ค่ำมากแล้วเครื่องบินญี่ปุ่นบินมาทางทิศเหนือของเกาะภูเก็ต ผ่านแหลมพรหมเทพ ตรงไปทางทิศใต้ ซึ่งเรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือคุ้มกันของอังกฤษกำลังปฏิบัติการอยู่ ทหารญี่ปุ่นหมู่นี้ต่างกระโดดโลดเต้นและร้องตะโกนว่า “คามิกาเช่-คามิกาเช่” หมายถึงว่า เครื่องบินของเขาคงจะไปปักหัวดำลงในปล่องควันของเรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษ ตามยุทธวิธี “คามิกาเช่” อันขึ้นชื่อของเขาเป็นแน่ แต่การจะเป็นไปเช่นไรนั้น ไม่สามารถจะทราบได้ เพราะเครื่องบินนั้นบินมาเพียงลำเดียวและบินหายไปทางทิศใต้ของเกาะภูเก็ต จะได้ปฏิบัติ “วีรกรรมคามิกาเช่” ตามความเข้าใจของทหารญี่ปุ่น หรือ จะไปถูกปืนต่อสู้อากาศยานจากเรือคุ้มกันของอังกฤษร่วงลงทะเลเสียก่อน ยังไม่มีรายละเอียดจากแหล่งข้อมูลใด ๆ ที่นำมายืนยันได้ ครั้นถึงวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ก็กระจายข่าวให้ทราบว่า ญี่ปุ่นได้ยอมจำนนต่ออังกฤษ-อเมริกา อย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว ทุกคนดีใจกันมาก เพราะไม่มีใครต้องการสงครามเลย ไทยต้องทำสัญญาสมบูรณ์แบบกับอังกฤษ เพราะอังกฤษไม่ยอมรับว่า การประกาศสงครามของไทยเป็นโมฆะ เนื่องจากความจำเป็นที่อ้างแล้วข้างต้น ฉะนั้นไทยจึงต้องชดใช้เงินค่าปฏิกรรมสงครามและต้องชดเชยค่าทรัพย์สินของอังกฤษที่สูญเสียไปในระหว่างสงครามนั้นด้วย ทรัพย์สินของอังกฤษในภูเก็ต ได้แก่ เรือขุด และอุปกรณ์ที่ไทยยึดมาดำเนินการเองแล้วเสื่อมค่าไป, ที่ดินประทานบัตรที่ไทยทำการขุดหาแร่ระหว่างสงครามเพื่อจำหน่ายแก่ ญี่ปุ่น, เป็นเหตุให้ประทานบัตรเสื่อมราคา, และเงินสดในธนาคารชาร์เตอร์ด ที่สูญหายไประหว่างที่ไทยเข้าควบคุมดูแลไว้ ตั้งแต่ตอนที่ผู้จัดการของธนาคารแห่งนี้หนีภัยสงครามไปเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ จนกระทั่งสงครามสงบลง ธนาคารชาร์เตอร์ดภูเก็ตแห่งนี้ มีหลักฐานการบัญชีของผู้ฝากเงินก่อนเกิดสงครามอยู่ครบถ้วน ครั้นสงครามเลิก และกลับมาดำเนินธุรกิจใหม่ ก็ได้ยืนยันเงินฝากเดิมของลูกค้าเหล่านั้นโดยครบถ้วนทุกบัญชีเช่นเดียวกัน ฉะนั้น เงินที่ขาดหายไป รัฐบาลไทย จึงต้องรับผิดชดใช้แทนจนครบถ้วนด้วย เมื่อสงครามสงบลง กิจกรรมเหมืองแร่ดีบุกก็เริ่มต้นกันใหม่ เพราะเมืองภูเก็ตนั้น เป็นเมืองของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกเกือบทั้งหมด ชุมชนภูเก็ตเป็นชุมชนที่เกิดจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นหลัก และมีอุตสาหกรรมการทำสวนยางพาราเป็นส่วนประกอบเพิ่มขึ้นตั้งแต่สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑล เป็นต้นมา กิจการเหมืองแร่ดีบุกหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นกิจการเหมืองแร่ที่ได้พัฒนาตัวเองขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยอาศัยการใช้เครื่องมือกลมากขึ้น เครื่องจักรกลบางชนิดเป็นวัสดุเหลือใช้จากการผลิตเพื่อใช้ในกองทัพของอเมริกา-อังกฤษ เช่น เครื่องยนต์ที่ผลิตเพื่อใช้กับเรือยนตร์,เครื่องยนต์ที่ผลิตเพื่อใช้กับรถถัง, เครื่องยนต์รถจี้ปขนาดกลาง ตลอดจนรถจี้ปกลาง,จี้บเล็กและรถบรรทุก ลำเลียงพลจากโรงงานที่ตั้งขึ้นในยามสงคราม เมื่อสงครามสงบลงสิ่งเหล่านี้ไม่อาจนำไปขายแก่รัฐบาลหรือประเทศพันธมิตรได้ ก็ขายออกมาในลักษณะของเครื่องจักรอุตสาหกรรม จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ในภูเก็ต ที่จะจัดหาซื้อมาใช้ได้ในราคาที่ไม่สูงนัก เหมืองแร่ซึ่งแต่ก่อนมาเคยใช้แต่เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ แรงม้าสูงเพื่อการสูบฉีดหน้าเหมืองและสูบดินทรายปนแร่ขึ้นสู่รางล้างแร่ก็สามารถใช้เครื่องจักรกลขนาดเล็ก แรงม้าไม่สูงนักเข้ามาแทน เป็นการลดต้นทุนในการจัดซื้อ, ต้นทุนในการติดตั้ง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานช่วยให้ผู้ลงทุนขนาดย่อม ขนาดเล็ก มีทุนน้อยสามารถเข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ได้มากรายขึ้น ผลผลิตจึงเพิ่มขึ้นเป็นส่วนรวม พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมา เหมืองแร่ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่งในขณะที่กิจการสวนยางพารายังประสบกับภาวะที่ซบเซาไม่ฟื้นตัว เนื่องจากตลาดโลกยามสงครามซึ่งขาดแคลนยางธรรมชาติ ได้ค้นคิดยางสังเคราะห์ขึ้นจากผลพลอยได้ของโรงงานกลั่นน้ำมันในประเทศตะวันออกกลาง ยางสังเคราะห์นี้สามารถใช้แทนยางธรรมชาติได้ในคุณค่าประมาณ ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ของยางจากธรรมชาติ คุณสมบัติที่ขาดไป คือ ความเหนียวและความยืดหยุ่น ซึ่งมีอยู่ในยางธรรมชาติมากกว่ายางสังเคราะห์ อายุการใช้งานและประสิทธิภาพของยางสังเคราะห์จึงสู้ยางธรรมชาติไม่ได้ แต่เนื่องจากชาติยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ ซึ่งยังคงยึดครองกิจการบ่อน้ำมันในกลุ่มอาหรับไว้ได้ขณะนั้นได้ทำการผลิตยางสังเคราะห์ขึ้นไว้เป็นจำนวนมาก และสหรัฐอเมริกาก็ซื้อยางสังเคราะห์ไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมากเช่นกัน เพราะเป็นปัจจัยสงคราม เช่นเดียวกับดีบุก แต่ดีบุกไม่มีในยุโรป- อเมริกา มีแต่ในเครือจักรภพที่ไม่สะดวกในการขนส่ง และมีอยู่ในโบลิเวีย ซึ่งแม้จะมีปริมาณมาก แต่ก็ไม่ค่อยจะพอใช้ในการสงคราม จึงไม่มีสำรองในครอบครองของสหรัฐเหมือนยางสังเคราะห์ที่หาซื้อได้ง่ายกว่า แร่ดีบุกอยู่ในความต้องการใช้อย่างยิ่ง เหตุนี้ กิจการเหมืองแร่ จึงฟื้นฟูได้เร็วกว่ากิจการสวนยาง เหมืองแร่ของบรรดาบริษัทเรือขุดชาวอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ยึดไว้ระหว่างสงครามได้มีการเจรจาเรื่องเงินค่าทดแทนชดเชยที่รัฐบาลไทยจะต้องจ่ายให้แก่บริษัทเรือขุดต่าง ๆ ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น แล้วบริษัทเหล่านั้นก็ดำเนินการขุดหาแร่ต่อมา เว้นแต่ทางบริษัทซึ่งเรือขุดอยู่ในสภาพชำรุดมาก และที่ดินประทานบัตรเหลือปริมาณแร่ที่จะขุดได้น้อยเกินไป ไม่คุ้มจะดำเนินการต่อจึงโอนขายให้แก่รัฐบาลไทยรับมาอยู่ในความดูแลของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งต่อมาก็ได้ให้เอกชนผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่เป็นบริษัทของคนไทยชาวภูเก็ต เข้าทำการเช่าช่วงขุดหาแร่โดยวิธีการเหมืองสูบอีกทอดหนึ่ง เป็นการเช่าช่วงเฉพาะขุดเอาแร่ไปเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินประทานบัตร ยังคงเป็นของรัฐบาลอยู่ และได้นำมาใช้ประโยชน์ต่อสาธารณชน จนทุกวันนี้ ปี พ.ศ.๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยือนราษฎรในจังหวัดภูเก็ตเป็นโอกาสแรก ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช เสด็จออก ณ มุขหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยสมเด็จ ฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ท่ามกลางมหาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างล้นหลามนั้น พระองค์ ได้ทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเหนือเกล้า ฯ เกี่ยวกับกิจการเหมืองแร่และสวนยางในภูเก็ตในบางตอน จากกระแสพระราชดำรัสในครั้งนั้น ชาวภูเก็ตย่อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้ว่า พระองค์ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงมองเห็นความจำเป็นในการพัฒนาสวนยางและเหมืองแร่ทางด้านวิชาการสมัยใหม่ เพื่อผลผลิตที่สูงขึ้น เกิดความมั่งคั่งสมบูรณ์แก่ประชาชนราษฎรและบ้านเมืองสืบไปเบื้องหน้า จึงทรงเตือนสติไว้ในกระแสพระราชดำรัสวันนั้น ได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นว่า กิจการสวนยางพาราต้องซบเซาลงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากตลาดได้ใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติ และสหรัฐอเมริกาผู้ใช้ยางรายใหญ่ได้ซื้อยางสังเคราะห์เก็บสำรองไว้เป็นจำนวนมากนั้น เมื่อคลังสำรองยางสังเคราะห์ของอเมริกาลดน้อยลง ความต้องการยางพาราธรรมชาติก็เริ่มสูงขึ้น กิจการสวนยางในภูเก็ตก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ จนถึงขั้นรุ่งเรืองสูงสุดในเวลาต่อมา เป็นผลให้คหบดีชาวภูเก็ตผู้ประกอบสวนยางพารามาแต่เดิม ได้ขยายกิจการออกไปยังต่างจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดพังงาและสุราษฎร์ธานี ส่วนกิจการเหมืองแร่ก็ขยายปริมาณสูงขึ้นด้วยเช่นกันผู้ประกอบการเหมืองแร่ในภูเก็ตออกไปเปิดเหมืองในจังหวัดใกล้เคียงและห่างไกล เช่น พังงา, ระนอง, ตรัง, นครศรีธรรมราช,ชุมพร,ประจวบคีรีขันธ์, กาญจนบุรี แม้กระทั่งเชียงใหม่ และอุทัยธานี บางพื้นที่ก็ประสบความสำเร็จ บางพื้นที่ก็ประสบความล้มเหลว เนื่องด้วยความชำนาญ และไม่ชำนาญของผู้ประกอบการซึ่งมีทั้งบุคคลรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ ที่ประสบการณ์ไม่เหมือนกัน พ.ศ.๒๕๐๖ บริษัทสัญชาติอเมริกัน ในเครือยูเนียนคาร์ไบด์ ได้ขอตั้งโรงงานถลุงแร่ดีบุกขึ้นในจังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์ รีไฟนิ่ง จำกัด หรือ "ไทยซาร์โก" ที่บ้านอ่าวมะขาม ตำบลวิชิตสงคราม อำเภอเมืองภูเก็ต เพื่อรับจ้างถลุงแร่ดีบุกของภูเก็ตและจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย เนื่องจากก่อนหน้านี้ ไทยต้องจำหน่ายแร่ดิบ (คือยังไม่ผ่านวิธีการถลุงให้เหลือเพียงเนื้อแร่บริสุทธิ์) ไปยังต่างประเทศ เป็นเหตุให้สูญเสียค่าระวางบรรทุกวัตถุเจือปนอยู่ในเนื้อแร่ ซึ่งมีประมาณร้อยละ ๒๕ อยู่ตลอดมา "ไทยซาร์โก" มองเห็นความบกพร่อง ดังกล่าวนี้ จึงเสนอโครงการจัดตั้งโรงงานถลุงแร่ขึ้น ในรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ความจริงภูเก็ตเคยขายแร่ดีบุกถลุงมาก่อนแล้วสมัยเมืองถลางยังรุ่งเรือง และแม้กระทั่งตั้งเมืองภูเก็ตที่อำเภอทุ่งคา(อำเภอเมืองปัจจุบัน) ภูเก็ตก็ยังถลุงแร่ส่งออกอยู่ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ (ร.ศ.๑๐๙) ก็ได้เสด็จ ฯ ทอดพระเนตรโรงถลุง หรือ "โรงคลวง" แต่เมื่ออังกฤษได้ตั้งโรงถลุงแร่ขึ้นที่เกาะปีนัง และพัฒนากรรมวิธีด้วยวิชาการสมัยใหม่ทำให้เปอร์เซ็นต์ของเนื้อแร่ที่ถลุงมีความบริสุทธิ์มากขึ้น ไทยเราพัฒนาไม่ทัน แร่ที่ถลุงได้มีเนื้อแร่บริสุทธิ์ต่ำกว่า ก็ถูกกดราคาซื้อ จนในที่สุดเราต้องขายแร่ดิบออกไป การถลุงแร่ก็ล้มเลิกลง พ.ศ.๒๕๑๑ บริษัท เท็มโก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ในเครือของยูเนียนคาร์ไบด์เช่นเดียวกับโรงถลุงแร่ไทยซาร์โก ได้เปิดทำเหมืองแร่ทางทะเลขึ้นโดยมีเรือขุดแร่ขนาดใหญ่ จุดประสงค์เพื่อผลิตแร่ดิบส่งให้บริษัท ไทยซาร์โก ซึ่งมีปริมาณแร่ไม่พอจะทำการถลุงให้เต็มอัตรากำลังของโรงงาน ต่อมาบริษัท ไทยซาร์โก ฯ ได้ขายหุ้นบางส่วนให้แก่บริษัท บิลลิตัน บี.วี. บริษัท ในเครือของรอแยลดัชท์ เชลล์ ซึ่งมีความชำนาญในการทำเหมืองแร่ในทะเลอยู่ในประเทศอินโดนีเซียมาก่อน พร้อมกันนี้ บริษัท เท็มโก ก็ยินยอมให้ บริษัท บิลลิตัน เข้ามาทำการขุดหาแร่ในประทานบัตรของตน ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในธุรกิจเหมืองแร่ที่จังหวัดภูเก็ต แต่โดยที่ตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๓ เป็นต้นมา เมืองไทยได้ย่างเข้าสู่ยุคที่ประชาชนตื่นตัวในผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นส่วนรวมมากขึ้น เนื่องจากนับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ และคณะทหาร ได้ขึ้นครองอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ประชาชนได้เกิดความระแวงว่า ผู้บริหารระดับสูงของบ้านเมือง ทั้งข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ ต่างก็ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองด้วยการคอรัปชั่นยึดครองเอาทรัพยากรธรรมชาติอันควรจะเป็นผลประโยชน์ของสาธารณชน ไปเป็นประโยชน์เฉพาะตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประทานบัตร เหมืองแร่ทางทะเลของบริษัทเท็มโก ซึ่งบริษัทบูรพาเศรษฐกิจ ของจอมพลสฤษดิ์ ฯ และคณะถือหุ้นใหญ่ เข้าไปมีหุ้นในฐานะ "ผู้เริ่มก่อการ"ด้วยนั้น ประชาชนสงสัยว่าจะเป็นการออกประทานบัตรให้โดยไม่ชอบด้วยหลักการและระเบียบปฏิบัติตามกฎหมาย จึงมีการประท้วงอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้เกิดกรณีนักศึกษาและประชาชนก่อตัวรวมพลังขึ้นขับไล่รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร กับ จอมพลประภาส จารุเสถียร จนต้องเดินทางออกนอกประเทศไป กระแสนักศึกษาและประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสัมปทานการขุดหาแร่ทางทะเลของบริษัท เท็มโก โดยเร็ว พ.ศ.๒๕๑๘ รัฐบาลของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ประกาศยกเลิกประทานบัตรทำเหมืองแร่ในทะเลของบริษัท เท็มโก ทั้งหมด ตามที่ประชาชนเรียกร้อง บริษัท ไทยแลนด์สเมลติ้ง แอนด์รีไฟนิ่ง จำกัด (หรือ ไทยซาร์โก) ยังคงดำเนินกิจการตามปกติ แต่พอถึงพ.ศ.๒๕๑๙ บริษัท ยูเนี่ยนคาร์ไบด์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยซาร์โก้ ก็ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ บริษัทบิลลิตัน บี.วี. หรือกลุ่ม ดัชท์เชลล์ เป็นการเปลี่ยนสายผู้บริหารงานจากบุคคลสัญชาติอเมริกันมาเป็นบุคคลสัญชาติดัชต์ผสมอังกฤษ ต่อมา โรงงานถลุงแร่นั้น นอกจากจะได้รับเงินค่าธรรมเนียมในการถลุงแร่จากนายเหมืองผู้ส่งแร่เข้าทำการถลุงแล้ว ยังได้รับกำไรจากความแตกต่างของราคาแร่ที่รับซื้อไว้จากนายเหมืองตามราคาขึ้นลงของราคาตลาดโลกอีกด้วย เพียงเท่านี้ยังไม่สิ้นสุด โรงงานถลุงแร่ยังมีรายได้จำบังจากผลิตผลพลอยได้ ซึ่งเจือปนอยู่ในกากแร่ หรือ "ขี้ตะกรัน" ซึ่งผู้ทำเหมืองพื้นบ้านไม่รู้จักอีกด้วย กากแร่ หรือ "ขี้ตระกรัน" ซึ่งเป็นวัสดุที่ถลุงไม่ละลายไปพร้อมกับเนื้อแร่ดีบุก ชาวเหมืองแต่ก่อนถือว่าเป็นสิ่งเจือปนที่ทำให้ดีบุกไม่บริสุทธิ์ ต้องพยายามเก็บออกจากเนื้อแร่ดีบุกแล้วทิ้งไปเช่นเดียวกับเศษหินและเศษดินที่ปะปนมากับแร่ดีบุกดิบนั้น บริษัทไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์รีไฟนิ่งจำกัด ผู้ดำเนินกิจการโรงถลุงดีบุกสมัยใหม่ พบว่ามีแร่ธาตุชนิดหนึ่งเรียกว่า "แทนทาลัมเพน ด็อกไซด์"เจือปนอยู่เกินกว่าร้อยละ ๒๕ แร่ธาตุแทนทาลัมเพนด็อกไซด์นี้ มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสมัยใหม่หลายชนิด เช่น ส่วนประกอบยานอวกาศ,อุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ ,เครื่องบิน และขีปนาวุธ ฯ กับอีกต่าง ๆ นานา ที่โลกวิทยาศาสตร์รับรู้แล้ว และยังกำลังทดสอบค้นค้นคว้าอยู่ ฉะนั้น แทนทาลัม ดังว่านี้จึงมีราคาสูงมาก แต่ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแร่ชนิดนี้ในปริมาณมากเนื่องจากเป็นผลพลอยได้จากเหมืองแร่ดีบุก ยังไม่รู้จักคุณประโยชน์และไม่ควบคุมการผลิตการส่งออกไปต่างประเทศแต่อย่างใดมาก่อนเลย ไทยซาร์โก้ ได้รวบรวมแร่แทนทาลัมซึ่งเป็นผลพลอยได้โดยไม่ต้องซื้อหา หากแต่ได้ จากการรับถลุงแร่ของผู้ประกอบการทำเหมืองในภูเก็ตปีละจำนวนไม่น้อย และขออนุญาตส่งออกนอกประเทศในลักษณะของวัสดุที่ปราศจากมูลค่าที่แท้จริงอยู่เป็นเวลานาน เป็นรายได้จำบังที่ไม่มีใครรับทราบนอกจากผู้บริหารของบริษัทเพียงบางคนเท่านั้น เมื่อความจริงได้ปรากฏขึ้นในภายหลัง และรัฐบาลได้เข้ามาควบคุมดูแลการผลิต การส่งออกของแร่ชนิดนี้ โดยใช้ระบบภาษีภาคหลวงขึ้น ราคาซื้อขายของขี้ตะกรันก็ค่อยๆปรากฏขึ้นจนเป็นที่สนใจของประชาชน และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในจังหวัดภูเก็ตรวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เช่น พังงา ตรัง กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นต้น แหล่งโบราณที่เคยมีประวัติในการตั้ง"โรงกลวง"หรือโรงถลุงแร่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มาจนสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุก เช่นที่ตำบลกระโสม จังหวัดพังงา อำเภอตะกั่วป่า ตลอดจนบริเวณเมืองถลางสมัยก่อน รวมถึงในตัวเมืองภูเก็ตสมัยใหม่ด้วย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีโรงถลุงแร่แบบพื้นเมืองตั้งทำการอยู่นั้น ได้ถูกสำรวจและขุดค้นหากองขี้ตะกรันที่ถูกฝังทับถมกันอยู่จำนวนมาก ได้มีการขุดคุ้ยนำเอาวัสดุอันไร้ราคาสมัยก่อนเหล่านั้นขึ้นมาจำหน่ายกันอย่างเป็นธุรกิจทำเงินมูลค่าสูง ด้วยเหตุที่ขี้ตะกรัน ตลอดจน "ขี้แร่" ที่ถูกทอดทิ้งอย่างวัสดุไร้ราคา ได้กลายเป็นของมีค่าขึ้น เนื่องจากมีแร่แทนทาลัมผสมอยู่ในอัตราสูงเป็นที่ต้องการของโลก จึงได้มีบริษัทอันประกอบด้วยพ่อค้าเชื้อชาติจีน ที่พยายามเข้ามาถือสัญชาติไทยภายหลัง กับผู้ประกอบการเหมืองแร่ชาวภูเก็ตที่มีฐานะดีกลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมกันยื่นโครงการต่อรัฐบาลขอทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมโรงงานผลิตแร่ แทนทาลัมขึ้นในภูเก็ต ชื่อ บริษัท ไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสตรี จำกัด หรือ "ที. ที. ไอ. ซี." เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ในระหว่างที่มีการก่อสร้างโรงงาน ได้มีความสับสนเกิดขึ้นในสังคมของภูเก็ต เนื่องจากได้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับมลพิษอันจะเกิดจากโรงงานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมของภูเก็ตก่อให้เกิดความวิตกหวาดกลัวขึ้นในกลุ่มประชาชนทั่วไป โดยรัฐบาลและผู้บริหารโรงงานไม่สามารถจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ จึงไม่อาจยับยั้งกระแสความหวาดกลัวของคนจำนวนมากให้อยู่ในความสงบได้ ประจวบกับเกิดเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล ประเทศรัสเซียชำรุด มีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและสิ่งแวดล้อมใกล้เคียงค่อนข้างจะรุนแรงเป็นข่าวแพร่กระจายไปทั่วโลก และในเวลาใกล้เคียงกันนั้น โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ ประเทศอินเดีย ก็เกิดระเบิดทำความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศอินเดียขึ้นอีกรายหนึ่ง ยิ่งเพิ่มความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นแก่ประชากรจังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่มากขึ้นอีก ต่างก็เรียกร้องให้ล้มเลิกกิจการโรงงานแทนทาลัมโดยสิ้นเชิง รัฐบาลขณะนั้นหาทางแก้ไขสถานการณ์อย่างสุดความสามารถ แต่ไม่อาจหยุดยั้งความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของประชาชนลงได้เลย วันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๙ ประชาชนจำนวนแสนร่วมชุมนุมกันที่ศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ตเพื่อรอพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งทางจังหวัดได้นัดหมายมาพบปะชี้แจงและฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่เกิดเหตุขัดข้องบางอย่างทำให้รัฐมนตรี ฯ ไม่สามารถเดินทางมาพบตามเวลาที่นัดหมายได้ จนเวลาใกล้พลบค่ำลง ประชาชนได้รับการยั่วยุจากบุคคลบางกลุ่มที่ไม่ประสงค์ดีต่อบ้านเมืองให้ก่อการจลาจลขึ้นด้วยการขว้างปาทำลายสถานที่ราชการ ทำลายเครื่องหมายจราจรและยกกำลังเข้าทำลายกำแพงโรงงานแทนทาลัมแล้วเผาโรงงานเสียหายลงในส่วนสำคัญหลังจากนั้นก็กระจายกันออกไปเที่ยวทำลายสถานที่ต่าง ๆ เช่น ธนาคารบางแห่งที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทนี้ โดยเฉพาะโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน สถานที่ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมใช้เป็นที่พบปะกับข้าราชการผู้ใหญ่ของจังหวัดพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแทนทาลัมนั้น ผู้ก่อการจลาจลมุ่งหมายจะทำการเผาทำลายด้วยความแค้นเคือง รถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และรถยนต์ส่วนบุคคลบางคัน ถูกทุบทำลายและเผาลงด้วยที่บริเวณโรงแรมเมอร์ลิน ทางราชการจังหวัดภูเก็ตร่วมด้วยหน่วยรักษาความปลอดภัยเคลื่อนที่เร็ว กองกำลังจากกองทัพภาคที่ ๔ ได้เข้าระงับเหตุการณ์ไว้ได้ในคืนวันที่ ๒๓ มิถุนายน นั่นเอง มีผู้ถูกจับกุมในข้อหาก่อความไม่สงบและทำลายทรัพย์สินของทางราชการและของผู้อื่นและทำการวางเพลิง จำนวนหลายคน (ดูรายละเอียดของเหตุการณ์ใน ๒.๓ เหตุการณ์สำคัญ ลำดับที่ ๒.๓.๒) ผลจากการจลาจลครั้งนั้น ทำให้โรงงานแทนทาลัม ของบริษัท ไทยแลนด์ แทนทาลัมอินดัสตรีจำกัด (ที ที ไอ ซี.) ที่ภูเก็ตต้องล้มเลิกลงทั้งๆ ที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอแต่เพียงวันเปิดทำงานเท่านั้น กลับต้องย้ายไปสร้างโรงงานใหม่และเปิดทำการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ธุรกิจเหมืองแร่ในภูเก็ตเริ่มมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นต้นมา เนื่องจากแหล่งแร่ที่อุดมสมบูรณ์ถูกใช้หมดสิ้นไปในการทำเหมืองแร่มานับด้วยหลายศตวรรษ เหลือเพียงแหล่งแร่ที่ด้อยคุณค่ามีปริมาณแร่น้อย ต้องลงทุนสูง ผลผลิตต่ำ การย้ายกิจการไปสู่ต่างจังหวัด ได้รับการรบกวนด้วยขบวนการคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทยที่โอบล้อมเมืองโดยใช้ป่าเป็นฐานที่มั่น ผู้ทำเหมืองได้รับความเสี่ยงสูงจนไม่กล้าลงทุน ประกอบกับราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกก็มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีวัตถุอย่างอื่นเข้ามาทดแทนในการใช้งาน นอกจากนี้แล้ว เหตุการณ์สงครามอาวุธระหว่างประเทศก็ลดน้อยลง ความจำเป็นที่จะใช้แร่ดีบุกในปัจจัยการสงครามก็หมดไปด้วย ภูเก็ต ซึ่งเคยเติบโตด้วยอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและอาชีพให้สอดคล้องกับความผันแปรของโลก เพื่อความอยู่รอด รัฐบาลจึงได้ชี้แนะแนวทางส่งเสริมให้เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวขึ้นแทนธุรกิจเหมืองแร่ ด้วยการสนันสนุนให้ทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภทสร้างโรงแรมขึ้นในจังหวัดภูเก็ต มีโรงแรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๑๙ สองสามแห่ง ทั้งในลักษณะโรงแรมระดับชั้นหนึ่ง และโรงแรมประเภทรีสอร์ทชายทะเล พ.ศ.๒๕๒๐ รัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยขึ้นในจังหวัดภูเก็ตเป็นโอกาสแรก และได้วางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวสำหรับจังหวัดภูเก็ตขึ้นเป็นขั้นตอนตามความเหมาะสม เพื่อรักษาสถานภาพการเป็นเมืองท่องเที่วแบบยั่งยืนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของความเจริญเติบโต โดยถือเอาข้อบกพร่องผิดพลาดจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี มาเป็นข้อเปรียบเทียบและแก้ไข อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาปริมาณและคุณภาพธุรกิจการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ก็คือ ความขาดประสบการณ์ และขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมของผู้ประกอบการในท้องถิ่น และความมุ่งหมายที่จะแสวงหาผลประโยชน์เฉพาะหน้าของผู้ประกอบการต่างท้องถิ่น แม้จะมีประสบการณ์เป็นอย่างดี แต่ก็ฉกฉวยโอกาสจากความอ่อนแอของท้องถิ่นไปเป็นประโยชน์ของตน ความเติบโตของธุรกิจโรงแรม ได้ส่งผลให้พื้นที่เหมืองแร่เก่าซึ่งร้างเคยได้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก กลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงแรม หรือองค์ประกอบของโรงแรม ที่มีมูลค่าสูงอย่างไม่เคยคาดหมาย ในเวลาเดียวกัน ทุ่งนา สวนมะพร้าว และสวนยางพารา ที่เคยเป็นแหล่งอาชีพดั้งเดิมของชาวภูเก็ตก็ถูกเปลี่ยนมือเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่สร้างโรงแรม, รีสอร์ท, สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ, สนามกอล์ฟ, หมู่บ้านจัดสรร, เป็นจำนวนมากไปด้วย อย่างไรก็ตาม ชาวภูเก็ตดั้งเดิมส่วนหนึ่ง ยังคงยึดมั่นอยู่กับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือ การทำสวนยางพารา, การเลี้ยงไก่เนื้อ, ไก่ไข่, เลี้ยงปลา, ทำสวนผักเพื่อประกอบอาหาร ซึ่งสินค้าประเภทสัตว์เลี้ยง, และพืชผักเหล่านี้สามารถส่งขายแก่กิจการเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ เช่น โรงแรม และภัตตาคาร แต่เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมของภูเก็ตมีจำนวนน้อย และมีข้อจำกัดเรื่องน้ำจืดที่จะใช้ในการเกษตร จึงทำการเพาะปลูกได้ในปริมาณจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการของธุรกิจโรงแรมและการบริโภคของชาวเมือง ภูเก็ตจึงต้องซื้อจากจังหวัดใกล้เคียงคือ สุราษฎรธานี นครศรีธรรมราช พังงา และบางอย่างก็ซื้อจากกรุงเทพ ฯ หรือเชียงใหม่ด้วย การปรับเปลี่ยนวิถีอาชีพของภูเก็ตจากดั้งเดิมที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหมืองแร่มาเป็นเมืองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมให้สอดคล้องไปด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอาชีพที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างท้องถิ่นและชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามายังจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมากทั้งที่เข้ามาชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวระยะสั้นและที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานระยะยาว หรืออย่างถาวร เพื่อประกอบอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น สร้างโรงแรม ภัตตาคาร สำนักงานบริการ การขนส่ง ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค และการขายแรงงาน เป็นต้น ชาวต่างท้องถิ่นและชาวต่างประเทศเหล่านี้ ต่างมีวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมแตกต่างจากชาวภูเก็ตมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่แหล่งที่มาว่าใกล้หรือไกลจากภูเก็ตมากน้อยเพียงใด ความแตกต่างของวิถีชีวิตส่วนที่เป็นวัฒนธรรมแปลกแยก และวิทยาการสมัยใหม่ ที่ชาวภูเก็ตยังมีประสบการณ์มาน้อยและไม่เคยชิน บางครั้งก็ดูดซับความสนใจของชาวภูเก็ตให้ละทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิมแล้วหันเหตามวัฒนธรรม หรือวิทยาการสมัยใหม่ไปด้วยความสมัครใจ ซึ่งบางลักษณะก็เป็นผลดี แต่บางลักษณะก็เป็นผลร้าย อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตของภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอาชีพหลักยิ่งขึ้นทุกขณะ ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงพ้นจากการผสมผสานผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมระหว่างชาวต่างท้องถิ่นหรือระหว่างชาวต่างชาติเสียได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการที่วิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของภูเก็ตจะกลับกลายเป็นวัฒนธรรมสากลไปในวันหนึ่งข้างหน้า บทผนวก "ซาแอร์ สุลต่าน เมาลานา" (Syair Sultan Maulana) เรื่องราวเกี่ยวกับกองทัพหัวเมืองปักษ์ใต้และมลายู ช่วยรบพม่าที่เมืองถลางซึ่งนำมาเป็นบทผนวกต่อไปนี้ เป็นเอกสารที่แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย จากต้นฉบับภาษายาวี โดย นางสาวรัตติยา สาและ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ นำเสนอในที่ประชุมสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่จังหวัดภูเก็ต ในเอกสารไม่ได้ระบุว่าเป็นสงครามระหว่างเมืองถลางกับพม่าครั้งใด แต่เมื่อได้วิเคราะห์ตามประวัติศาสตร์และสถานการณ์แวดล้อมตลอดจนสภาพภูมิประเทศตามเรื่องราวในเอกสารนี้แล้วก็สันนิษฐานได้ว่า เป็นการสงคราม เมื่อ พ.ศ.๒๓๕๒ ซึ่งเมืองถลางได้ถูกพม่าทำลายอย่างย่อยยับจนเมื่อกองทัพฝ่ายไทยสามารถขับไล่พม่าออกไปได้แล้ว เมืองถลางก็เหลือเพียงซากเมือง ทรัพย์สิน ผู้คน และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น เอกสารต่าง ๆ ถูกเผาไหม้พินาศไปหมดสิ้น ----------------------------------------------------- ไทย-มลายูร่วมรบพม่าที่เมืองถลาง (๑๘) เอกสารสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง ครั้งที่ ๒ : ศ.สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ "ชาแอ็ร สุลต่าน เมาลานา" เป็นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ของมลายู บรรจุเรื่องราวของการทำศึกสงครามที่เมืองถลางระหว่าง พ.ศ. - พ.ศ. โดยบันทึกไว้เป็นร้อยกรองประเภท "ชาแอร์" ที่มีความยาวทั้งหมด ๑,๑๐๒ บท เป็นเอกสารฉบับลายมือเขียนภาษามลายู อักษรยาวี มีการใช้สำนวนภาษามลายูแบบเก่า และสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของการใช้ภาษาไทยด้วย มุหัมมัด ยูโส้ฟ หาเช็ม ได้ชี้แจงว่าเอกสารเรื่องนี้อยู่ในกลุ่มเอกสารมลายูตามรายการ MS. NO.19 ในบันทึกของ K.G. Niemann ได้มาจากกองเอกสารของ J. Crawfurd ซึ่งจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอังกฤษ ต่อมามุหัมมัด ยูโส้ฟ หาเช็ม ได้ปริวรรตเป็นอักษรรูมี และจัดพิมพ์จำหน่ายโดยมหาวิทยาลัยมาลายา กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓โดยใช้ชื่อหนังสือว่า "ชาแอ็ร สุลต่าน เมาลานา" (Syair Sultar Mauiana) และ C. Skinner ได้ปริวรรตเป็นอักษรรูมี อีกหนึ่งฉบับและแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มจำหน่ายโดย The Koninklijk Instituut Voor Taal- Land-in Volkenkunde,Leiden เมื่อ ค.ศ.1983 (พ.ศ.๒๕๒๖)โดยใช้ชื่อหนังสือว่า "The Battle for Junk Ceylon" ชาแอ็รนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสงครามเมืองถลางเพิ่มเติมและเป็นการมองเหตุการณ์จากทางด้านไทรบุรี ช่วยทำให้การมองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชัดเจนยิ่งขึ้นเพิ่มเติมจากข้อมูลจากกรุงเทพ ฯ แต่อย่างเดียว เนื้อหาในเอกสารฉบับนี้ผู้รจนา เริ่มด้วยการเชิญชวนผู้อ่านให้ติดตามฟังกลอนสดุดีเจ้าผู้ครองนครเคดาร์ คือ สุลต่านอาหมัด ตาฌุดดีน (Ahmad Tajuddin) หรือ ตึงกู ปะแงรัน หรือเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) พระองค์เป็นพระราชโอรสของสุลต่าน อับดุลลอฮ์ อัลมุกัรรัมชัฮ (Sultan Abdullah Al- Mukarram Shah)ในสมัยที่พระองค์ขึ้นครองราชนั้นทรงแต่งตั้งดาโตะ มาฮราฌา ซึ่งมีศักดิ์เป็นชนก พระชายาของพระองค์เองให้เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนอัครมหาเสนาบดี โดยมีหน้าที่บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ นายทหาร และเสนาบดีทั้งหมด เมื่อท่านผู้นี้ถึงแก่อนิจกรรมจึงได้รั้งตำแหน่งนี้ไว้ชั่วคราว ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของขบถปาตานี (ปัตตานี)ซึ่งนำโดยดาโตะ เบิงกาลัน เคดาห์ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของไทยในสมัยนั้นได้รับคำสั่งจากกรุงเทพฯ โดยผ่านทางเจ้าเมืองสงขลา ให้จัดส่งกองกำลังเข้าสมทบกับกองทัพของเมืองสงขลาเพื่อลงไปปราบขบถครั้งนี้ด้วย สุลต่านอาหมัด ฯทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดาโต๊ะ มาฮา ราฌา เป็นแม่ทัพใหญ่ และปาดูกา มาฮามึนตรี เป็นรองแม่ทัพนำกำลังทหารจำนวนหนึ่ง เพื่อเดินทางไปปัตตานี แต่เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกันเองภายในกองทัพจึงทำให้การเดินทัพมีการแวะพักแรมสนุกสนานกันอยู่ที่ปาดังตือรัป และมีการต่อต้านถ่วงกำลังไม่ให้เดินทางต่อไปยังเมืองปาตานี ทางสงขลาก็พยายามส่งตัวแทนครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อไปย้ำสุลต่านอัหมัดฯ ให้รีบส่งกองกำลังไปปาตานีเพราะกองทัพจากเมืองอื่น ๆ นั้นได้ไปถึงปาตานีล่วงหน้าก่อนแล้วทั้งนั้น ทำให้สุลต่านอัหมัดฯ ทรงร้อนพระทัยมากได้โปรดเกล้าฯ ให้มาฮา ราฌา เลลา และเจ้าหน้าที่อีกหลายนายเดินทางโดยเรือไปที่ปาดังตือรัป แต่ดาโตะ มาฮา ราฌา ก็ไม่ยอมยกกำลังทหารไปเองได้แต่สั่งงานฌายา อินดึรา และมือมัต เสอตียา ฌายา กับเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเดินทางเพื่อไปสืบดูเหตุการณ์เท่านั้นเอง และทราบว่าปาตานีถูกกองทัพฝ่ายสยามและสงขลาบดขยี้จนแพ้พ่ายแล้ว สุลต่านอัหมัดฯ กริ้วมากจึงเสด็จพระราชดำเนินไปที่ปาดังตือรับด้วยพระองค์เอง ทรงปลดแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพออกจากตำแหน่งแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เตอมึงฆงคุมกำลังพลห้าพันคนไปปาตานีแทนโดยมีเสอรี ปาดูกา ตูวัน เป็นผู้ช่วย เดินทัพไปถึงปาตานีแล้วก็ไม่ได้รบกันเพราะเขารบกันเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว เจ้าเมืองสงขลาเคืองมากและเข้าใจว่าสุลต่าน อัหมัด นั้นทรงรู้เห็นเป็นใจกับดาโตะ มาฮา ราฌา จึงกักตัวเตอมึงฆง และเจ้าหน้าที่บางคนไว้ส่วนที่เหลือนั้นก็ไล่กลับไปเคดาร์พร้อมกันนั้นก็ข่มขู่จะปราบปรามเมืองเคดาห์ด้วย สุลต่านอัหมัดฯโปรดเกล้าฯให้ลักษมาณาเดินทางพร้อมผู้คนจำนวนหนึ่งไปพบเจ้าเมืองสงขลาที่ปาตานีเพื่อขอขมายอมรับโทษทุกอย่างและวิงวอนขอตัวจำเลยทุกคนที่เจ้าเมืองสงขลากักตัวอยู่นั้นกลับคืน เจ้าเมืองสงขลายอมยกโทษให้ จากนั้นไม่นานนักพม่ายกกำลังพลเป็นหมื่น ๆ และเรือเป็นร้อย ๆ ลำ เข้าโจมตีเมืองถลางพม่ายกทัพมาครั้งนี้ผิดฤดูกาลจึงสามารถนำกำลังกองทัพเข้ายึดเมืองเล็ก ๆ ในบริเวณ รอบ ๆ เกาะและก็สามารถล้อมเมืองถลางได้ ชาวถลางขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค และดินปืน จึงไม่กล้าตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกมา ได้แต่ตั้งมั่นอยู่กันภายในกำแพงเมืองทั้งวันทั้งคืน เจ้ากรุงสยามโปรดเกล้าฯ ให้พระยายมราชนำกำลังทัพบกและทัพเรือลงไปช่วย วังหน้าเตรียมกองหน้าเดินทัพโดยทางบกไปก่อนซึ่งมีพระยาจ่าเสนฯ เป็นแม่ทัพและเดินทัพไปจนถึงเมืองไชยาส่วนกองทัพพระยายมราชเดินทางโดยเรือมีกำลังพลเป็นหมื่น ๆ และมีนายทหารผู้ชำนาญการรบกับพม่าหลายนายยกพลขึ้นบกที่เมืองนครศรีธรรมราช พระยายมราชตั้งพระยาท้ายน้ำ เป็นแม่ทัพนำกำลังพลยกเดินทางไปเมืองถลางในวันนั้นเลย ส่วนตัวท่านนั้นยังคงอยู่ที่นครศรีธรรมราช ทางเมืองสงขลานั้นให้นายทหารหลายนายนำสาส์นไปเคดาห์ และเสนอเงื่อนไขที่จะคุ้มครองเคดาห์ ถ้ายอมส่งข้าวสารไปเป็นเสบียงของกองทัพสยามที่เมืองตรัง นอกจากนั้นยังได้เรียกตราคืนจากสุลต่าน อัหมัดฯ ด้วย โดยขอผ่านทาง ดาโต๊ะ มาฮา ราฌา เหตุการณ์นี้เกือบกลายเป็นชนวนสงครามระหว่างเคดาห์กับสงขลา และเปิดโอกาสให้ ดาโต๊ะ มาฮา ราฌาและปาดูกา มาฮา มึนตรี ได้แก้แค้นสุลต่าน อัหมัดฯ โดยการเสนอตัวรับใช้เจ้าเมืองสงขลาอย่างเต็มที่ เรื่องนี้ทำให้สุลต่านอัหมัดฯ กังวลมาก ในที่สุดจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ลักษมาณา เป็นแม่ทัพนำกองทัพเคดาห์ไปช่วยสยามสู้รบกับพม่าที่ยกทัพรุกรานเมืองถลาง จึงได้เตรียมกำลังพลและเรือปืนพร้อมปืนใหญ่ พร้อมกันนั้นก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเกาะลังกาวีให้เตรียมเรือและผู้คนให้พร้อมแล้วท่านจะนำกองกำลังไปรวมกันที่นั่น การจัดขบวนของเคดาห์นั้นเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีเมือง ทั้งยังมีการประกอบพีธีทางศาสนาตามราชประเพณีของการออกทำศึกสงครามด้วย เรือส่วนใหญ่นั้นสามารถแล่นไปถึงเกาะลังกาวีได้อย่างปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะมีเรือบางลำเกิดรั่วบ้างก็สามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีและก็ไปถึงที่หมายได้ ที่เกาะลังกาวีนั้นมีเสอรี เปอเกอรามา ฌายา เป็นแม่ทัพ และเสอรี ดี วังสา เป็นผู้ช่วย จากเกาะลังกาวีเรือทุกลำแล่นไปถึงเกาะกือตัม โดนลมเหนือต้านไว้ พอถึงตันฌงจินจิน คลื่นลมปั่นป่วนหนัก จำต้องหลบอยู่ที่นั่นก่อนจนกว่าลมเหนือสงบลงจึงออกเรือแล่นต่อไปยังเกาะตะรุเตาและแวะพักอยู่ที่นั่นหนึ่งวัน ผู้บังคับการเรือตะรุเตานั้นชื่อ สุลัยมาน ท่านได้เตรียมกำลังพลเข้ามาสมทบด้วยและได้ร่วมนำกองเรือเดินทางต่อไปถึงเปอรัมบง แวะพักที่นั่นได้สักครู่พระอาทิตย์เบิกฟ้าจึงออกเรือแล่นต่อไปถึงเมืองตาลีบงเมื่อตอนเที่ยงวัน แต่ก็ไม่เห็นว่ามีกองเรือสยามที่ไปล่วงหน้าก่อนแล้วนั้นหลงเหลืออยู่ หัวหน้าท้องที่เมืองตาลีบง มีตำแหน่งเป็น อาดีปาตี ชื่อ เจ้าปะแงรัน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระเจ้ากรุงสยามเป็นหลวงฤทธิสงคราม จากสงขลามีหลวงยกกระบัตรเป็นผู้ช่วยนำพลเดินเท้าจำนวน ๕๐๐ นาย ไปที่เมืองตาลีบง มีการสร้างค่ายและปักเสา มีการเตรียมเรือกันทั้งวันทั้งคืน ถึงแม้ว่ามีคนน้อยแต่ก็ได้กำลังพลของตรังเข้าสมทบอีก ๕๐ ลำเรือ ส่วนกองทัพจากนครศรีธรรมราชและพัทลุงนั้นไปล่วงหน้าก่อนแล้ว แต่แวะอยู่ที่เกาะปันฌัง ไม่กล้าเดินทางต่อไปยังเมืองถลาง เมื่อลักษมาณาเมืองเคดาห์ไปจนถึงเมืองตาลีบงก็หยุดพักรอรับข่าวสาร พออยู่ได้สองวันก็มีหนังสือจากถลางแจ้งว่าพม่าถอยทัพหนีไปแล้ว แต่ลมเหนือยังไม่ทิ้งช่วง เกรงว่าพวกพม่าจะย้อนกลับไปใหม่ พวกเขาจึงถูกขอร้องให้รีบไปที่นั่น ครั้นอีกหนึ่ง วันถัดมาก็มีหนังสือตามหลังมาอีกว่าพม่าย้อนกลับมาโจมตีถลางทุกวัน ตรงตามที่เมอฆัตไปสืบมา ดังนั้นท่านลักษณามาเมืองเคดาห์จึงได้ร่วมกันกับเจ้าปะแงรันเมืองตาลีบงยกกำลังกองทัพเรือโดยมีกองกำลังของเมืองสงขลาและสตูลเข้าสมทบด้วยและเดินทางมุ่งหน้าไปที่เกาะมูที่ยาและหลบลมเหนืออยู่ที่นั่นก่อนชั่วคราว ทางพระยาท้ายน้ำนั้นเมื่อไปถึงเมืองตรังก็ตั้งใจจะมุ่งตรงไปยังเมืองถลางแต่เนื่องจากไม่มีเรือที่จะข้ามฟากไปได้ จึงจำต้องจัดเตรียมหาเรือให้พร้อมก่อน ระหว่างนั้นก็ได้สั่งการให้หลวงคำแหงสงครามออกเรือไปสืบข่าวสารให้พลาง ๆ เมื่อแล่นเรือไปถึงเมืองตาลีบง จึงได้พบเรือที่มาจากกรมเบ็ง ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นเรือของผู้ตรวจการที่คอยติดตามและสอดส่องดูแลกรมการทุกคน และได้ทราบว่ากองทัพเคดาห์กับตาลีบงนั้นได้ผนวกเข้าเป็นทัพเดียวกันแล้วด้วย จากนั้นหลวงคำแหงสงครามจึงนำเรือออกจากรมเบ็งมุ่งไปที่ช่องแคบปันฌัง เรือทอดสมออยู่ที่นั่นได้สักครู่ก็เห็นกองเรือของพัทลุงแล่นมาจากเกาะกาลัต คนเหล่านี้ขาดเสบียงอาหารและไม่กล้ารบกับพวกพม่าซึ่งมีกำลังพลมากกว่า กองทัพนครศรีธรรมราชก็เช่นเดียวกัน ชวนกันหนีกลับไปที่ช่องแคบกอแระเพราะต้องการรอที่จะสมทบกับกองกำลังซึ่งมาจากที่อื่น เมื่อไม่เห็นว่ามีใครมาก็เคลื่อนทัพไปที่เกาะยาวทำให้ข้าหลวงฯ โกรธมาก แต่ท่านลักษมาณาเคดาห์กับหลวงฤทธิสงครามเมืองตาลีบงช่วยกันคลี่คลายปัญหา จึงทำให้กองทัพพัทลุงรอดตัวไม่ถูกทำโทษ กองทัพเคดาห์ ตาลีบง สงขลา ออกเรือมุ่งหน้าไปที่อูฌงมึรปู ค้างคืนที่นั่นได้เพียงหนึ่งคืนก็ต้องย้อนกลับเข้าไปอยู่ที่ช่องแคบอย่างเดิมเพราะว่าไม่อาจฝ่าคลื่นลมได้ ต้องพายเรือตลอดคืนไปพักทัพกันที่เอโก็รนาฆา พร้อมกันนั้นก็ได้มอบหมายให้ผู้บังคับการเรือของตาลีบงที่ชื่อ เอลัก และฝีพายที่เป็นชาวเลไปสอดแนมที่เกาะถลางและที่ตันฌงฌัมบูว่าพวกพม่าอยู่กันอย่างไรสอดแนมอยู่ที่ถลางได้สามคืนก็ได้ข้อมูลพอเพียง ดังนั้นเมื่อถึงยามนาคทัพแมลงป่อง เรือทุกลำถึงถอนสมอแล้วแล่นหน้าไปถึงที่ช่องแคบเลเฮ็รเป็นจุดแรก ฝ่ายพม่านั้นยกพลบุกเข้าโจมตีถลาง อย่างหนัก มีการสร้างค่ายหลายแห่ง มีการเคลื่อนค่ายอยู่เรื่อย ๆ และล้อมกำแพงเมืองถลางไว้โดยรอบ คนถลางนั้นก็ยิงปืนตอบโต้ออกจากกำแพงอย่างไม่หยุดยั้งเหมือนกัน เสียงปืนดังไกลไปถึงเอโก็รนาฆา กองทัพของเคดาห์ ตาลีบง สงขลาแยกกันออกเรือไปจากเอโก็รนาฆา เรือของเตอมึงฆงเกิด รั่วอย่างแรงต้องช่วยกันพยุงไปที่ช่องแคบเลเฮ็ร ทำให้ขบวนกองทัพเรือต้องเสียรูป ครั้นตกคืนวันศุกร์ฤกษ์งามยามดีก็ยกกองทัพออกจากช่องแคบเลเฮ็ร เข้าไปใกล้ตันณงฌัมบู ระหว่างทางเรือของเตอมึงฆงเกิดรั่วเหมือนเก่าอีก เช้ามืดต้องแวะเข้าแอบอยู่ที่เกาะเปอนาฆา พอใกล้สว่างก็พายเรือเข้าไปใกล้ตันณงฌัมบู ส่วนกองทัพพม่านั้นพอฟ้าสว่างก็ยกขบวนไปที่ค่ายแล้วยิงปืนใหญ่เข้าใส่ก่อนเท่าที่มองเห็นนั้นพม่ามีเรือรบ ๑๙ ลำเป็นเรือว่างเปล่าเพราะผู้คนนั้นไปรวมกันอยู่ที่ในค่าย พม่าสร้างค่ายห้าแห่งเรียงกันอยู่บนภูเขาและติดปืนใหญ่ไว้พร้อม กองทัพไทยยกพลไปจนถึงชายหาดก็ระดมยิงเข้าไปที่ค่ายพม่าแตกกระเจิง กองกำลังของนครศรีธรรมราชนั้นคอยแต่จะพ่วงท้ายเพื่อนอยู่เรื่อย พวกพม่านั้นพอถึงเวลาเที่ยงก็พากันถอยหนี ฝ่ายไทยได้ทีจึงยกพลขึ้นบกไล่ตามและปล้นสะดม พวกนครศรีธรรม- ราชนั้นแย่งของก่อนใคร ๆ และถ้าเจอพม่านอนเจ็บก็จะฆ่าทิ้งทันที ข้าหลวงฯ นั้นกระโดดขึ้นบกใช้ดาบฟันศัตรูตายทีละสามศพ ท่านใช้ดาบชำนาญมาก จากนั้นทหารสยามจึงจัดการเผาค่ายและเรือรบของพม่าจนวอดวายหมดเพราะว่าไม่มีใครจะดูแลให้ ในขณะที่กองทัพฝ่ายสยามกำลังหาลู่ทางที่จะไปช่วยเหลือคนถลางที่อยู่ในวงล้อมของพม่านั้นปรากฏว่าพวกพม่าได้ย้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นเมื่อฝ่ายสยามเห็นว่าจะเสียทีจะถอยกำลังพลไปรออยู่ที่เกาะเปอนาฆาและวางแผนที่จะเข้าโจมตีพม่าตรงช่องแคบปากพระ ที่เมืองตาลีบงนั้น พระยาท้ายน้ำกำลังป่วยหนัก แต่ก็ได้พยายามแข็งใจนำกำลังกองทัพออกจากตาลีบงไปที่ช่องแคบเลเฮ็ร ที่นั่นมีกองกำลังที่มาจากเกาะเปอนาฆารออยู่แล้ว จึงได้พากันออกเรือเพื่อจะได้เข้าไปโจมตีพวกพม่าที่ช่องแคบปากพระ ระหว่างทางก็ได้แวะพักทัพที่เกาะเมอรูวะก่อนคืนนั้นเองพระยาท้ายน้ำถึงแก่อนิจกรรม ข่าวนี้ถูกอำพรางด้วยนานาวิธีเพราะเกรงว่าทหารจะเสียกำลังใจ ความหวังดีของฝ่ายกรมการในครั้งนี้ทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจผิดหาว่าหลอกผู้อื่นเพื่อตนจะได้เป็นใหญ่แทนพระยาท้ายน้ำ จึงพากันแข็งข้อทำให้แผนการเข้าโจมตีพม่าที่ช่องแคบปากพระต้องล้มเลิกไป จนกระทั่งมาทราบข่าวว่ามีเรือกำปั่นของพม่าลำหนึ่งแล่นมาที่ตันฌงญัมบู.......ลักษมาณาและเจ้าปะแงรัน ตาลีบงจึงเชิญผู้บังคับการเรือทุกคนหารือกันเพื่อจะเข้าไปโจมตีเรือพม่าลำนั้น พอไล่หลังจวนจะถึงเรือพม่านั้นทันหนีเข้าไปในที่มั่นของเขาเสียก่อนแล้วยิงปืนเข้าใส่ฝ่ายสยามทันที บังเอิญกองเรือของนครศรีธรรมราชที่แล่นตามหลังมานั้นไปถึงจึงได้เข้าสมทบด้วย แทนที่จะได้ทีเพราะได้กำลังเพิ่มแต่กลับต้องเสียทีพม่าอีกเพราะเรือนครศรีธรรมราช ๓ ลำเกิดไฟไหม้ กู้ขึ้นมาได้สองลำ ผู้คนต้องล้มตายและบาดเจ็บหลายคน ต้องถอยหนีจึงโดนทหารพม่าโห่เยาะเย้ยไล่หลัง มลายูและสยามถอยทัพไปตั้งหลักที่เกาะญอร์ พักทัพที่นั่นได้หนึ่งวัน คืนนั้นก็เห็นเพลิงลุกโชติตรงกลางเมืองถลาง รุ่งเช้าเมื่อพายเรือไปที่เกาะเปอนาฆาจึงทราบจากพวกถลางที่หนีนั้นว่าพม่าเผาเมืองถลางจนเสียหายแล้ว กองทัพเรือท้อใจมากเพราะหวังว่าจะได้รับกำลังสนับสนุนจากกองทัพบก รอกันนานถึงสี่สิบวันแล้วยังไม่มีใครมา เสบียงก็ไม่มีเพิ่มจึงจำเป็นต้องถอนตัว กองเรือนครศรีธรรมราชและข้าหลวงฯ นั้นชวนกันกลับโดยไม่บอกใครเลย ทำให้กองกำลังจากตาลีบง สงขลา และเคดาห์น้อยใจ ประกอบกับข้าวสารก็หมดและหลายคนต้องอดอยากจึงยิ่งท้อแท้หมดกำลังใจ แต่พอไปถึงเกาะปันฌังก็ได้พบเรือเสบียงที่นั่น เมื่อได้อาหารพอเพียงก็ยกกำลังกองเรือย้อนกลับไปเกาะเมอรูวะอีกครั้ง พยายามวางแผนหาลู่ทางที่จะเข้าไปช่วยถลางแต่ติดขัดอยู่ที่ต้องรอกองทัพบกไปถึงเสียก่อน รอนานยี่สิบวันก็ยังไม่มีกำลังทหารจากกองทัพบกไปถึงที่นั่น ทหารพม่านั้นออกจากที่มั่นคิดจะเข้าไปโจมตีที่เกาะเมอรูวะ แต่คงไม่กล้านักจึงได้แต่หลอกล่ออยู่ตรงปากทางของช่องแคบปากพระ พายเรือเข้าออกอยู่ ๓ วันหวังจะยั่วให้ฝ่ายกองเรือมลายูไล่ตามประจวบกันตอนนั้นพระยาวิชิตณรงค์และพระยามหาสงครามไปถึงพร้อมกับกองกำลังของพัทลุงและกองกำลังนครศรีธรรมราชย้อนกลับไปทันถึงที่นั่นด้วยทำให้พวกพม่า เข้าใจผิดคิดว่าไทยส่งกำลังทหารเข้าเสริมจึงไม่ได้กระทำการใด ๆ ฝ่ายไทยก็ยังคงรอกำลังจากกองทัพบกต่อไป รอกันจนขาดแคลนน้ำดื่ม พระยาทั้งสองจึงได้หารือกับหัวหน้ากองเรือทั้งหมดแล้วตกลงออกเรือไปรอกองทัพบกที่ช่องแคบเลเฮ็รทุกคน ในช่วงนั้นซายิด ออสมัน ถึงแก่กรรม ตึงกู อิดริส และเตอมิงฆงไม่ลงรอยกับพระยาทั้งสอง จึงคิดอุบายเพื่อให้ได้กลับเคดาห์ เตอมึงฆงไม่สามารถกลับเมืองได้เพราะถูกตึงกู บิสนู เจ้าเมืองสตูลทัดทานไว้ จำต้องยอมย้อนกลับไปร่วมมือกับท่านแม่ทัพเดคาห์เหมือนเดิม ฝ่ายพระยาจ่าเสนฯและพระยายมราชนั้นยกพลเดินทางโดยทางบก โดยแบ่งกำลังเป็นสองกองพล สำหรับกรมการของพระยาจ่าเสนฯ แบ่งเป็นสามหมู่ มีพระยาทศโยธาเป็นกองหน้าและเดินทางล่วงหน้า เพื่อนทั้งหมดโดยออกจากเมืองไชยาไปตั้งหลักที่พังงา และมีการประลองกับพวกพม่าที่หมู่บ้านตะกั่วทุ่ง เมือพม่าถอยหนีจึงยกพลไปที่หมู่บ้านบางครีแล้วคาดจะไปร่วมกับกองทัพเรือต่อไป แต่เมื่อรู้ว่าถลางถูกพม่าตีแตกแล้วจึงเลิกล้มแผนนั้นและแอบหนีไปพบพระยาพิชัยอินทราจึงถูกชวนไปช่วยถลางด้วยกัน กองทัพของพระยายมราชนั้นเมื่อเดินทัพออกจากนครศรีธรรมราชไปได้ประมาณครึ่งทางก็ได้รับหนังสือแจ้งว่าพม่าตีถลางแตกยับเยินแล้วจึงเสียใจมาก และรีบตัดสินใจยกกำลังทัพบกรุดไปที่ตรังทันทีเพื่อจัดเตรียมเรือที่จะข้ามฟากไปยังถลางเพียงยี่สิบวันเท่านั้นกองทัพสามารถสร้างเรือขนาดเล็กขนาดใหญ่ได้แปดสิบลำในระหว่างนั้นก็ได้ส่งหนังสือไปที่ช่องแคบเลเฮ็รขอให้กองทัพเรือช่วยหาทางป้องกันตัวเองไปก่อนและถ้ามีลู่ทางก็ให้พยายามเข้าโจมตีพวกพม่าด้วยโดยให้พระยาวิชิตณรงค์เป็นหัวหน้า แต่พระยาวิชิตณรงค์กระทำการไม่สำเร็จ ทุกคนได้แต่รอรีกันอยู่ที่เกาะปันฌัง รอกันนานถึงสองเดือนจึงเห็นพระยาพิชัยสงครามไปถึงตามคำสั่งของพระยายมราชพร้อมกับมีกองกำลังของพัทลุงและปาตานี เมื่อรวมกับเรือมลายูก็เป็นหนึ่งร้อยสี่สิบลำ พระยาพิชัยสงครามนั้นเมื่อไปถึงก็สั่งการให้สร้างค่ายเพื่อเป็นที่พักของพระยายมราชทันที ในการรบครั้งนี้ลักษมาณาเคดาห์กับเจ้าปะแงรันเมืองตาลีบงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่คุมกองหน้าและคอยป้องกันพม่าทางทะเล ส่วนการโจมตีทางบกนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายสยามที่จะจัดการเอง นอกจากนั้นพระยายมราชยังได้สั่งการให้หลวงคำแหงคอยประกบตัวลักษมาณาเคดาห์ด้วยเพราะระแวงว่าจะเอาใจออกห่างสยามไปฝักใฝ่พม่า พระยามหาสงครามคุมปีกขวาโดยมีกองกำลังปาตานีหนุนด้วย พระจะนะกับเจ้าเมืองสงขลาคุมปีกซ้าย พระยาพิชัยสงครามและเจ้าเมืองพัทลุงคอยเกณฑ์คนอยู่ข้างหลังสุด พวกพม่าชำนาญในการรบภาคพื้นดินมากกว่าภาคทะเล ในที่สุดทหารฝ่ายสยามสามารถยึดค่ายที่อาเอ็ร กือลูมี กลับคืนมาได้เป็นแห่งแรกและสู้รบกันอย่างต่อเนื่องจนสามารถยึดค่ายใหญ่ของพม่าที่สร้างยาวตามแนวคลองตียงถึงหาดบางครีได้สำเร็จ และพวกพม่าก็แพ้พ่ายไป พระยาพิชัยอินทรากับพระยาทศโยธานำกำลังกองทัพเคลื่อนออกจากตะกั่วทุ่ง แล้วยึดค่ายพม่าที่หมู่บ้านโคกกลอยได้สำเร็จและตั้งกำลังคอยซุ่มตามป่าเผื่อจะมีพวกพม่าแอบซ่อนอยู่ และก็จับพวกพม่าได้หลายคน กองกำลังโดยส่วนใหญ่นั้นได้กระจัดกระจายออกไปทำธุระกันเหลือแต่ท่านลักษมาณาเคดาห์เจ้าปะแงรันเมืองตาลีบงและหลวงคำแหงเท่านั้นที่เป็นหัวหน้าคอยดูแลสถานการณ์ทั้งทางบกและในย่านทะเลบังเอิญในช่วงที่เจ้าปะแงรันออกไปทอดแหนั้นก็มีพวกพม่าอีกเกือบหนึ่งร้อยลำเรือย้อนกลับมาที่ถลางอีกครั้ง ลักษมาณาเคดาห์จึงคิดใช้กลลวงพม่า โดยให้เรือทุกลำที่มีอยู่นั้นเข้าเทียบฝั่งเรียงกันเป็นแถวหน้ากระดานตรงปากอ่าว จากนั้นให้รัวปืนใหญ่เข้าใส่พม่าอย่างหนักทำให้พรรคพวกที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ รีบรุดเข้าไปช่วย พม่าเลยเข้าใจว่าฝ่ายสยามส่งกำลังเข้าเสริมเพิ่มมากกว่าเก่าจึงถอยทัพไป ถัดจากนั้นอีกเก้าวันพระยายมราชได้สั่งการให้เรือมลายูและสยามร่วมร้อยลำออกติดตามพวกพม่าโดยมีพระสุระสงครามเป็นแม่ทัพใหญ่ ลักษมาณาเคดาห์เป็นกองหน้า บุตรเจ้าเมืองลิโฆ็รเป็นปีกขวา นายฤทธิ์เป็นปีกซ้ายร่วมกับเจ้าเมืองปาตานี เจ้าเมืองแบงรันเมืองตาลีบงไม่ต้องไปแต่ให้คอยลาดตระเวนในย่านทะเลรอบ ๆ เกาะถลางไว้ กองกำลังเหล่านี้ได้ติดตามดูแลถึงช่องแคบปากจือเกาะในเขตตะกั่วป่า และเมื่อมั่นใจว่าพม่าไม่ย้อนกลับมาแน่นอนแล้ว จึงเดินทางกลับไปถลาง ที่เมืองถลางนั้นพระยายมราชได้ตั้งพระยาพิชัยสงครามเป็นผู้รักษาราชการแทน ส่วนท่านนั้นกลับไปอยู่ที่เมืองตรัง พอสิ้นมรสุมก็มีหนังสือไปถึงพระยาพิชัยสงครามอนุญาตให้กองทัพมลายูกลับเมืองได้และเมื่อไปถึงเคดาห์ทุกคนได้เข้ากราบบังคมทูลฯ เรื่องราวการปฏิบัติราชการสงครามที่เพิ่งผ่านพ้นไปสร้างความโสมนัสยินดีแก่สุลต่านอัหมัด ตาฌุตดินเป็นล้นพ้น เพราะนอกจากได้ช่วยกอบกู้เมืองถลางให้กลับคืนเป็นของสยามได้แล้วยังเป็นการชำระความที่สยามระแวงสงศัยว่าเคดาห์เอาใจออกห่างจากสยาม จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ลักษมาณาดำรงตำแหน่งเป็น ปึนดาฮารา และปาดูกา เสอรี ราฌาเป็นลักษมาณา. พรชัย สุจิตต์ (หน้า ๒๒๘) ใน รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ๒๕๒๘ ศรีศักร วัลลิโภดม ใน รายงานสัมมนาประวัติศาสตร์ถลาง องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ๒๕๒๘ สารสาสน์พลขันธ์ (จี.อี. เจรินี), พระ เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ถลาง แปลโดยสุเทพ ปานดิษฐ์และสมหมาย ปิ่นพุทธศิลป์ สุวิทย์ ชัยมงคล “หลักฐานก่อนประวัติศาสตร์ริมฝั่งทะเลอันดามันบริเวณอ่าวพังงา อ่าวลึก” ในถลาง ภูเก็ต และชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมศิลปากร ๒๕๓๒ (ต่อ) ชนเผ่าดั้งเดิม ยุคทวารวดี ยุคตามพรลิงค์ ยุคสุโขทัย ยุครัชกาลที่ ๑ ยุครัชกาลที่ ๒ จังค์ซีลอน(Junk Ceylon) Historical Retrospect of Junkceylon lsland |