Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ไหว้ตายายผีถลาง PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008

๓.๒.๖(๔) ประเพณีไหว้ตายายผีหลาง

เลียบ ชนะศึก และอรุณรัตน์ สรรเพ็ชร
-------------------------------------- --

 ประเพณีเปรียบเสมือนกระจกเงาของสังคมที่สามารถสะท้อนและถ่ายทอดให้เห็นถึงวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่  นิสัยใจคอ  และสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆ ในแต่ละยุคสมัยที่สืบทอดกันมาเป็นระยะ ทำให้ทราบถึงวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบัน (อรุณรักษ์  พ่วงผล ๒๕๔๐ : ๘๓) จึงแสดงให้เห็นว่าประเพณีเป็นมรดกทางสังคม  ซึ่งอนุชนรุ่นหลังได้รับช่วงสืบต่อจากบรรพบุรุษของตนให้เจริญงอกงาม  โดยเฉพาะความเจริญงอกงามทางด้านจิตใจของผู้คนที่มีความสมัครสมานสามัคคี  พร้อมใจกันปฏิบัติเพื่อดำรงไว้ซึ่งประเพณีแห่งท้องถิ่นตน(สุเมธ เมธาวิทยากูลและคนอื่น ๆ  ๒๕๔๐ : ๑๘๖–๑๘๗) และประเพณีจะบ่งให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นขนบธรรมเนียมประเพณีมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้สังคมอยู่กันอย่างมีความสุข (อรุณรักษ์  พ่วงผล ๒๕๔๐ : ๘๓)

 ความกตัญญูรู้คุณเป็นคุณธรรมที่สูงส่งของความเป็นคน  การแสดงความรู้คุณต่อสิ่งต่างๆ มักจะแสดงออกในรูปของพิธีกรรมซึ่งในแต่ละท้องถิ่นอาจจะมีพิธีกรรมที่เหมือนหรือแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ (สุพจน์  พฤกษะวัน ๒๕๔๐ : ๒๐) และประเพณีที่แสดงถึงความกตัญญูรู้คุณในบรรพชน  ชาวใต้ถือว่าความกตัญญูและความรักในเชื้อสายเหล่ากอเป็นคุณธรรมที่จะส่งเสริมให้เกิดสุข และความสำเร็จในการประกอบอาชีพ (ปรีชา นุ่นสุข ๒๕๓๗ : ๒๑)

 
ท้าวเทพกระษัตรี  (ท่านผู้หญิงจัน)
พญาถลางเทียน  (พญาเพชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง) เมืองภูเก็จ พญาทุกรราชเทียน (จดหมายพญาเทียน)
 

 

 การเกิดขึ้นของประเพณีไหว้ตายายผีหลาง*  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  เกิดจากต้องการแสดงความกตัญญูกตเวทีและความสำนึกในบุญคุณของบรรพบุรุษ รวมทั้งยังเป็นการพบปะระหว่างเครือญาติ และยังถือว่าเป็นวันรวมญาติอีกด้วย

องค์ประกอบของพิธีไหว้ตายายผีหลาง

 ประเพณีไหว้ตายายผีหลาง  มีองค์ประกอบของการทำพิธีดังต่อไปนี้

 ๑. ผู้นำในการประกอบพิธี  จะต้องเป็นผู้มีความรู้ในด้านการประกอบพิธีกรรมเป็นอย่างดี สามารถจัดลำดับขั้นตอนของพิธีกรรมได้อย่างถูกต้อง มีความกล้าหาญ มีเวทย์มนต์คาถาสามารถ ป้องกันตนเองจากภูติผีปีศาจได้

 ๒.ตายายผีหลางที่ได้รับเชิญมาร่วมประกอบพิธีไหว้ตายายผีหลาง จะมีวิญญาณที่ได้รับเชิญมาในพิธี  เช่น แม่ธรณี  กรุงพลี ภูมิเจ้าที่ ตาหลวงดาบทอง ตาหลวงเพชรมณีสิน แม่ยายเจ้าแม่ขุนนาง ตาหลวงคินทศมาส  เจ้าในเกาะ พระยาถลาง ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เจ้าแม่โต๊ะย่า พ่อตาโต๊ะแซะ และบริถิว* เป็นต้น

 ๓. ระยะเวลาของการประกอบพิธี    พิธีไหว้ตายายผีหลางจะประกอบพิธีในเดือน ๔ หรือเดือน ๖ ไทย  วันที่สามารถประกอบพิธีได้ คือ วันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ในวันข้างขึ้น  เวลาที่สามารถประกอบพิธีได้คือเวลาที่ดวงอาทิตย์เริ่มจะลับขอบฟ้า จนถึงรุ่งเช้า

 ๔. สถานที่จัด  ในอดีตจะจัดกันบริเวณบ้านเจ้าเมืองถลาง หรือบ้านลูกหลานเจ้าเมืองถลาง เช่น บ้านลิพอน บ้านดอน บ้านสาคู บ้านเหรียง เป็นต้น  ปัจจุบันจัดรวมกันที่วัดม่วงโกมารภัจจ์  บ้านเหรียง ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง

 ๕. โรงครู  เป็นโรงที่ใช้สำหรับประกอบพิธีไหว้ตายายผีหลาง  มีลักษณะการก่อสร้าง
ง่าย ๆ ด้วยการปลูกเสา ๖ เสา (เพื่อความเป็นสิริมงคล) ไม้ที่นำมาใช้ทำเสาสามารถใช้ไม้ได้ทุกชนิด ยกเว้นไม้ที่ใช้ทำราวตากผ้า เพราะถือว่าไม่เป็นมงคล  หลังคามุงด้วยจาก มีหน้าจั่ว ๓ ด้าน หน้าจั่วแต่ละด้านจะใช้จากด้านละ ๓ ตับ เพดานโรงครูใช้ผ้าขาวโดยให้วางผ้าไว้เฉย ๆ อย่าผูกมุม ให้ใช้ที่หนีบหนีบเอาไว้เพื่อไม่ให้หลุด โรงครูจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามที่ตั้งของเครื่องบวงสรวง ภายในโรงครูจะมีคาดนัก* ทำด้วยไม้ไผ่ผูกกั้นด้วยหวาย อวด หรือย่านนาง ไว้ ๔ มุม  ที่ต้องมีคาดนักเพราะว่าที่แสดงให้เห็นถึงการแบ่งเขตไว้เฉพาะให้วิญญาณที่ได้รับเชิญมาเท่านั้น พื้นโรงครูจะทำไว้ ๒ ระดับ ชั้นบนสำหรับไว้วางเครื่องบวงสรวง  ชั้นล่างไว้สำหรับผู้ประกอบพิธี  ส่วนด้านหลังผู้ประกอบพิธีจะให้นักดนตรีนั่ง

 ๖. อุปกรณ์ในการประกอบพิธี  ประกอบด้วย สายสิญจน์ หม้อน้ำมนต์ ผ้าขาว ข้าวสารเสก (สำหรับขับไล่ผีตายโหง ผีตายพราย)  มีดหมอ ธูปเทียน กำยาน (เพื่อให้มีกลิ่นหอมไปไกลถึง ๑๐๐ โยชน์)  หมากพลู ข้าวตอก ดอกไม้ ขนมแดง ขนมขาว กล้วย อ้อย ถั่ว งา ข้าวเหนียวเหลือง-ขาว ไข่เป็ด เหล้าขาว ปลามีหัวมีหาง แกงเลียงยอดผัก น้ำชุบยอดเหนาะ* บายศรี สำหรับบายศรีที่ใช้บูชาครูจะมี ๓ ถึง  ๙ ชั้น แล้วแต่ความเหมาะสม ซึ่งชั้นบนสุดของบายศรีจะใส่ไข่เป็ดต้ม ๑ ฟอง หมาก ๓ คำ และของคาวหวานเล็กน้อย  ส่วนชั้นอื่น ๆ จะใส่ผลไม้  ของหวาน และหมาก ๑ คำ

 ๗. เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงในพิธีไหว้ตายายผีหลาง ได้แก่ ทับสั้น ๑ คู่ กลอง ๑ ใบ ซอด้วง ๒ คัน โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ และรำมะนา นักดนตรีมีประมาณ ๗ คน  ทำนองเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ  เป็นทำนองร้องเชิญ ใช้เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และดวงวิญญาณ

 ๘. เครื่องบวงสรวง  ในการประกอบพิธีบวงสรวงตายายผีหลาง จะมีเครื่องบวงสรวงต่างๆ เช่น ห่อหมก เบือทอด* ลูกชิ้น ปลาดุก ปลาช่อนปิ้ง แกงเลียง แกงสมพรม (แกงผักหลายชนิดรวมกัน) เกลือเคย* หอยอัว (หอยทอด) พร้าวหมกเครื่อง* แกงยอด(ต้มกะทิยอดหวายพวน ยอดชก ยอดเรียน) น้ำชุบเมืองหลาง ๘ อย่าง* คือ  น้ำชุบเยาะ*  หยำ*  เคย  ไคร  หมก เสียก คั่ว และน้ำชุบเมือง พร้อมผักเกล็ด (ผักเคียง) ลูกตอลูกเนียง ลูกเหรียง ผลไม้ของหวาน เช่น ขนมโค บัวลอย เหนียวแดง-ขาว เหนียวกวน ขนมห่อ ต้ม ลา เทียน ท่อนไต้ ถั่ว ก้านบัว จู้จุน อ้อย แตงโม สับปะรด ลูกจันทน์ หมากอ่อน ยาเส้นใบจาก(บุหรี่ใบจาก) หมากพลู ขี้สามเฉ้ง* เป็นต้น

 ๙. ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม  มีดังนี้
๙.๑ ผู้ประกอบพิธีเชิญครูอาจารย์
๙.๒ บริกรรมคาถาปิดประตูหน้าต่างเพื่อกันไม่ให้ผีเข้ามา
๙.๓ เสกข้าวสาร ๑ ถ้วย น้ำมัน ๑ ขัน เพื่อกันไม่ให้ผีเข้ามา
๙.๔ เริ่มตั้งนโมตัสสะ…. ๓ จบ

๙.๕ ไหว้สัตดี ๑ จบ  บทไหว้มีว่า
ศรี ๆ สวัสดีเจ้าข้าเอย   เชิญท่านมาสิงเอา  ข้าหราข้าน้อย  เรียนอรรถ  ขัดทั้งคาถา  ศัตรูนึกมาขอให้วินาศวินายสาย  ศรี ๆ จำเริญสุขสรรพทุกข์จงเหือดหายลาภมาอย่าขาดสาย  ขอให้สวัสดีมีไชยเย  มือข้าทั้งสิบนิ้ว… ฯลฯ
๙.๖ ไหว้สักเค….. ๑ จบ
๙.๗ ไหว้พระอรหัง…. ๑ จบ
๙.๘ ออกชื่อบริถิว แม่นางธรณี กรุงพลี พระภูมิเจ้าที่  เป็นต้น
๙.๙ ร้องเชิญประกอบดนตรี

บทเบิกโรง
ได้ฤกษ์เบิกโรง 
ไม่โอ่โถง ข้าจะไหว้เทวดา
นะโมตัสสะภะคะวะโต 
อิติปิโสภะคะวา
เอเยปิติ-อะสุสะลา  ธรรมมา
พระวิภังแต่งหู  พระสังคนีแต่งตา
พระธรรมเจ้าข้า  แต่งหมูกลูกยา
ได้หายใจ ดินน้ำลมไฟ  พร้อมไป
ในร่างกา-ยา…..

บทเชิญลง

เชิญลงพ่อมาลง  อย่าให้ม้าทรงมานั่งถ้า*
เชิญมาเถอะพ่อมา  มาแล้วอย่าพ้นไป
ราชครูของข้า---ลับตาไปแล้ว----
ดวงแก้วลูกหลานออกจากพก
โธ่เอยอนิจจังอนัตตา----รำลึกขึ้นมา
น้ำตาตก  เหมือนดวงแก้วลูกเหลนออกจากพก----เหมือนหนึ่งยิ่ว*พา-กาเฉียว*  พุทธโธ นิสจังอนัตตา  มาทิ้งลูกยาไว้
คนเดียว  เหมือนหนึ่งยิ่วพา-กาเฉียว-ให้ลูกเหลียวหน้าไปหาใคร จะหันหน้าพึ่ง
ผู้อื่นความชื่นลูกน้อยมีแค่ไหน
ให้ลูกเหลียวหน้าไปหาใคร
นอกจากใยราชครูของข้าอา

บทกล่อมวิญญาณเมืองถลาง 

บทขอโทษ

เชิญพ่อมาตามสายด้าย
เชิญพ่อร่ายมาตามสายไหม
มาแล้วพ่ออย่าพ้นไป
เชิญเข้าในโรงพิธี
ม้าทรงนี้พ่อไม่พอใจ
ลูกจะจัดม้าใหม่ให้เข้ามา
ลูกน้อยจะขอขมาโทษ
พ่อคุณอย่าโกรธลูกเลยหนา
ผิดพลั้งเมื่อก่อนมา
ข้าหนอขออภัย

ผู้ประกอบพิธีจะร้องขับบทเหล่านี้ซ้ำๆ ไปมาอยู่หลายเที่ยว จนวิญญาณยอมมาประทับร่างม้าทรง ซึ่งบางครั้งใช้เวลานานมากถึง ๑ วัน กับ ๑ คืน  หรือบางครั้งก็ไม่ยอมมาเข้าทรง ต้องยกเลิกพิธี แล้วเริ่มงานใหม่อีกครั้ง

ประเพณีไหว้ตายายผีหลางเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วคน   เมื่อมีการบวงสรวงที่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร  ชาวบ้านจึงเลิกราไป เพราะเข้าใจว่า การประกอบพิธีของทางราชการคงรวมถึงการระลึกถึงบรรพชนเช่นเดียวกับการไหว้ตายายผีหลาง แต่การประกอบพิธีของทางราชการไม่สมบูรณ์เท่าการประกอบพิธีกรรมของชาวบ้าน  จึงได้เพิ่มพิธีไหว้ตายายผีหลางในช่วงก่อนที่ประธานจะบวงสรวงและวางพวงมาลาสักการะท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ได้จัดติดต่อมาเป็นเวลา ๔ ปี  ต่อมาคณะกรรมการจัดพิธีกรรมเห็นควรให้จัดพิธีไหว้ตายายผีหลางที่บริเวณใกล้ที่อยู่เดิมของท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ณ บริเวณเมืองถลางบ้านเคียน  จึงได้ใช้บริเวณวัดม่วงโกมารภัจจ์ เป็นสถานที่จัดพิธี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นต้นมา

ประเพณีไหว้ตายายผีหลางเป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อบรรพบุรุษ  และยังเป็นโอกาสที่ญาติพี่น้องได้มาพบปะกันอย่างกว้างขวาง  ได้ถามสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน ได้แสดงความรักความห่วงใยซึ่งกันและกัน  และยังเป็นผลสืบเนื่องให้เกิดความรัก ความสมัครสมานสามัคคีและความสัมพันธ์อันดีของชุมชนสืบไป

ปัจจุบันประเพณีไหว้ตายายผีหลาง อาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบพิธีกรรมไปบ้าง ก็เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสม  เพื่อให้ประเพณีนี้ได้รับใช้สังคมและชุมชนต่อไป.

 

 

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( อังคาร, 13 กุมภาพันธ์ 2018 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1178
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1111
mod_vvisit_counterทั้งหมด10681282