Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ความเชื่อของชาวภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008

ความเชื่อของชาวภูเก็ต 

 ภูเก็ตเป็นเกาะแยกออกจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้ชาวภูเก็ตอยู่อย่างอิสระไม่ได้ติดต่อกับคนภายนอกมากนัก นอกจากพ่อค้า และนักแสวงโชคที่แวะพักภูเก็ตเพื่อเติมเสบียงอาหาร และน้ำ สำหรับเดินเรือต่อไป การแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว มาแต่ดั้งเดิม ประกอบกับภายในเกาะที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องอาศัย ความช่วยเหลือ จากรัฐบาลกลาง แร่ดีบุกเป็นทรัพยากรสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประชากร การติดต่อซื้อขาย ก็สามารถติดต่อกับปีนัง สิงค์โปร์ มากกว่าที่จะติดต่อกับทางกรุงเทพฯ แร่ดีบุกเป็นทรัพยากรที่จูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในภูเก็ต คนภูเก็ต จึงคุ้นเคยกับคน แปลกหน้าเป็นอย่างดี อาจจะเป็นเพราะ ชาวต่างชาติต่างภาษามากมายที่เข้ามาในภูเก็ต ทำให้คนภูเก็ตไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อชาวต่างชาติมากนัก ในอดีตเคยขับไล่ชาวฮอลันดาที่เข้ามาค้าดีบุกและเอาเปรียบคนท้องถิ่นทำให้ชาวท้องถิ่นไม่พอใจ แต่โดยทั่วไปแล้วคนภูเก็ต ไม่ชอบการทะเลาะวิวาท การนัดชุมนุมประท้วง การเรียกร้องใด ๆ เพราะคนส่วนใหญ่เป็นคนจีน มุ่งมั่นที่จะทำมาหากิน มากกว่า จะมามีปัญหากับคนต่างชาติ มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ผู้หญิงชาวภูเก็ตที่ว่างจากการงานที่บ้านก็จะไปร่อนหาแร่ มาขายได้รายได้ดี ชาวภูเก็ตจึงไม่ค่อยกระตือรือร้นในการทำงาน ร้านอาหารที่มีชื่อส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด ชาวภูเก็ตจะเป็นนักบริโภคมากกว่า ผู้ขายฉะนั้นพ่อค้า แม่ค้า ตั้งแต่ร้านอาหารจนถึงสินค้าเสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จึงเป็นของคนต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่

 ชาวภูเก็ตมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เวทย์มนต์คาถา และสิ่งเร้นลับต่าง ๆ หลายเรื่องด้วยกัน     โดยเฉพาะเกี่ยวกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ

การตั้งศาลพระภูมิ

มีความเชื่อกันว่าศาลพระภูมิเป็นที่สิงสู่วิญญาณเจ้าของที่ หรือที่เรียกว่า "เจ้าที่เจ้าทาง" ผู้มีมาครอบครองที่ดินหรือสิ่งก่อสร้าง  มักจะทำพิธีบวงสรวงเพื่อเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางเพื่อความเป็นสวัสดิมงคล และคุ้มครองผู้ที่อยู่อาศัย มีการตั้งศาลพระภูมิ และอันเชิญดวงวิญญาณของเจ้าที่เจ้าทางมาสถิต และบวงสรวงบัดพลีด้วยอาหารคาวหวาน มักนิยมทำพิธีวันเสาร์ หรือวันอังคารข้างขึ้นเดือนสี่ หรือเมื่อมีการสร้างบ้านใหม่ หรือมีพิธีมงคลสมรส.

ความเชื่ออื่น ๆ

ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนบูชาเทวดา "ถี่ก๋ง" ซึ่งอัญเชิญไว้ที่หิ้งเล็ก ๆ ติดตั้งไว้ที่เสาบ้านด้านซ้ายมือของตัวบ้าน ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เพื่อคุ้มครองปกปักรักษาผู้ที่อยู่ในบ้าน

 การปฏิบัติตนบางอย่าง ชาวภูเก็ตรุ่นเก่า มักจะห้ามลูกหลานนอนในเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำโดยอ้างว่าตะวันจะข่มดวงตา (หวั้นข่มตา) ห้ามนอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก เพราะมีความเชื่อว่าเป็นทิศที่สำหรับผู้เสียชีวิตแล้ว เมื่อได้กลิ่นหรือสิ่งผิดปกติห้ามทักในเวลากลางคืน ห้ามออกไปนอกบ้านในเวลาพลบค่ำ เพราะเชื่อว่าเป็นเวลาของวิญญาณ ภูติผีปีศาจเริ่มออกหากิน ให้เลยเวลานั้นแล้วจึงจะออกไปได้ ห้ามกวาดขยะในเวลากลางคืน เพราะเชื่อว่าจะกวาดโชคลาภเงินทองออกไปจากบ้าน ห้ามจ่ายเงินในขณะรับประทานอาหาร เพราะเชื่อว่าถ้าจ่ายในช่วงนั้นจะทำมาหากินไม่ขึ้นเก็บเงินทองไม่อยู่ เสร็จธุระในเรื่องการกินเสียก่อนจึงจะจ่ายเงิน ไม่วาจะเป็นการจ่ายเงินเพื่ออะไรก็ตาม ห้ามขานรับเมื่อมีเสียงเรียกในเวลากลางคืน

 ผู้หญิงมีครรภ์ห้ามจัดเตรียมเครื่องเด็กอ่อนไว้ล่วงหน้า  เพราะกลัวว่าจะทำให้เด็กที่จะมาเกิดเสียชีวิตเสียก่อน   ขณะที่เกิดจันทรุปราคา หญิงมีครรภ์จะต้องเอาเข็มซ่อนปลายกลัดติดชายพกไว้ ห้ามกินผลไม้ที่มีโจ (ขวดใส่น้ำแขวนไว้ตามต้นผลไม้) จะทำให้ท้องป่องไม่ยุบ ไม่กินของของคนแปลกหน้าไม่รู้จักกัน เพราะเกรงจะทำของใส่ หรืออาจจะเป็นการมบ ก็ได้

 เด็กทารกที่ผู้ใหญ่รักใคร่เอ็นดู ห้ามผู้ใหญ่ชม หรือกล่าวชมเด็กว่าน่ารัก สวย ดี วิเศษ แต่ให้กล่าวคำที่น่าเกลียดน่าชังแทน เพราะเกรงว่าภูติผีปีศาจจะมานำตัวเด็กไป เข้าทำนองว่าคนดีผีไม่ไว้ ทารกที่ยิ้มหัวใจขณะนอนหลับ เชื่อว่า แม่ซื้อทัก (หยอกเหย้า) และหากเกิดไม่สบายประเภทตัวร้อนหรือร้องไห้ หรือชักโดยไม่มีสาเหตุ เชื่อว่าถูกวิญญาณบรรพบุรุษมาเตือน หรือแกล้ง เนื่องจากลูกหลานกระทำผิด    ครอบครัวที่นับถือ "ตายาย" ขณะที่รับประทานอาหารห้ามเอ่ยคำว่า อร่อย ชอบ หรือคำชมใด ๆ เพราะเชื่อว่าจะได้ยินถึงหูของตายาย และจะทำให้ตายายไม่พอใจ เพราะไม่มีส่วนร่วมด้วย หากจะทำการใด ๆ ที่เป็นพิธีการที่สำคัญจะต้องบอกกล่าวให้ตายายทราบด้วย ฉะนั้นจะเกิดอาการไม่สบาย หรือผิดอาเพสแก่ลูกหลานคนใดคนหนึ่งได้ในช่วงของการจัดงาน

 ความเชื่อเกี่ยวกับยากลางบ้าน และการปัดเป่ารักษา สมัยก่อนการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่ได้รับความนิยม เมื่อเกิดเจ็บป่วยไม่สบายจะรักษาหมอกลางบ้าน (แพทย์แผนโบราณ) ชาวภูเก็ตนั้นนอกจากจะรักษาความป่วยไข้กับหมอยากลางบ้านแล้ว บางคนรักษาด้วยการถามคนทรงเจ้าเข้าผี รักษาโดยวิธีเซียมซีถามเทพเจ้า ตามศาลเจ้า เช่น ศาลเจ้าปุดจ้อ และน่าแปลกที่หลายรายมากราบด้วยกันที่ได้รับยาจากการเซียมซีแล้วมีอาการทุเลาลงและหายป่วยไข้

 ความเชื่อของชาวเล ชาวเลหรือชาวน้ำ เป็นกลุ่มชนที่อพยพมาตั้งรกรากอยู่นานจนกลายเป็นชาวภูเก็ตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฉพาะกลุ่ม สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ (๒๕๒๘ : ๒๓๘-๒๓๙) ได้กล่าวถึงประเพณีลอยเรือของชาวเลเกาะสิเหร่ว่า ประเพณีนี้เกิดจากความเชื่อที่เกิดจากความเสี่ยงภัยในการดำเนินชีวิตตามสภาพที่ชนกลุ่มนี้ต้องเผชิญอยู่ แม้ชาวเลจะได้สมญาว่า "เจ้าทะเล" แต่พวกเขาต้องผจญภัยในทะเลเกือบตลอดเวลา และเคยเอาชีวิตสังเวยทะเลเป็นจำนวนไม่น้อย คลื่นลมคือมัจจุราชที่ฉกาจ จึงต้องหันมาพึ่ง "ชิน" (ผีฟ้าพวกหนึ่งว่าลงมาจากสวรรค์อาศัยอยู่ในทะเลมีลักษณะเป็นดวงไฟมีสีต่าง ๆ) คือเทพเจ้าแห่งเกาะ ซึ่งอาจบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้นพิธีลอยเรือจึงกระทำเพื่อขออำนาจเจ้าเกาะช่วยคุ้มครองพวกเขา และเพื่อขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากหมู่เกาะ ความเชื่อที่เกิดเป็นนิสัยฝังลึกจนเกิดเป็นกิจกรรม เสาะหาไม้มาต่อเรือ สลัก ตุ๊กตาเป็นผีพาย การทำตุ๊กตาสะเดาะเคราะห์เท่าจำนวนสมาชิกในแต่ละครอบครัว และเข้าร่วมพิธีกรรมตามคำแนะนำของ "โต๊ะหมอ" ผู้นำในการทำพิธีลอยเรือและบางทีมีฐานะคล้ายหมอผี

 ความเชื่อเรื่องการเกิดของชาวเล จะต้องจัดสิ่งของต่าง ๆ ใส่สอบราด สำหรับตั้งราดให้แก่หมอตำแย เพื่อให้การคลอดปลอดภัย ได้แก่ ข้าวสาร ๑ กระป๋องเล็ก ด้ายดิบ ๑ ขด เทียน ๑ เล่ม หมาก ๕ คำ พลู ๕ ใบ เงินแล้วแต่จะให้

 ความเชื่อเรื่องการฝังศพ เมื่อฝังผู้ตาย ๑ ศพ ต้องปลูกมะพร้าวไว้ ๑ ต้น.

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้962
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1537
mod_vvisit_counterทั้งหมด10724425