Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
ศาสนาอิสลามในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008

ศาสนาอิสลาม

 คำว่า "อิสลาม" หมายถึงยอมมอบตนต่อพระประสงค์ของอัลเลาะห์ มีหะดิษ หนึ่งที่อธิบายความหมายของคำว่าอิสลามได้อย่างดีที่สุดเล่าจาก อุมัร บุตรอัลก๊อตตอบ (ร.ด) ได้กล่าวว่า ในวันหนึ่งขณะที่พวกเราอยู่กับท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.)  ได้มีชายแปลกหน้าคนหนึ่งโผล่เข้ามาที่พวกเรา  เขาสวมใส่ด้วยเสื้อผ้าสีขาวเอี่ยม ผมดำจัด  ไม่ปรากฏร่องรอยของการเดินทางให้เห็น และไม่มีใครสักคนในหมู่พวกเรารู้จักเขา  จนกระทั่งเขาได้ทรุดตัวลงนั่งใกล้ ๆ ท่านนบี (ซ.ล.) โดยเอาหัวเข่าทั้งสองข้างของเขาวางบนขาอ่อนทั้งสองข้างของท่านนบี  และได้วางฝ่ามือทั้งสองข้างของเขาลงบนขาอ่อนทั้งสองข้างของท่านนบี แล้วกล่าวว่า โอ้ มูฮำหมัด จงบอก  “อิสลาม” แก่ข้าพเจ้า ท่านรอซูลุ้ลเลาะห์ (ซ.ล.) ได้กล่าวตอบว่าอิสลามคือ การที่ท่านต้องให้สัตย์ปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ คือ การที่ท่านต้องดพรงละหมาด ต้องจ่ายซะกาต ต้องถือศีลอดในเดือนรอมฎอน  และต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ถ้าหากท่านมีความสามารถ ชายแปลกหน้าได้กล่าวว่า ถูกต้องแล้ว

 มุสลิม หมายถึง ผู้ที่ยอมมอบตนต่อพระประสงค์ของอัลเลาะห์ได้แก่ผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติตนดังนี้
 ๑. ปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นนอกจากอัลเลาะห์   และมูฮัมมัดเป็นรอซู้ลของพระองค์
 ๒. ทำละหมาดวันละ ๕ เวลา
 ๓. จ่ายซะกาต
 ๔. ถือศีลอดในเดือน รอมฎอน
 ๕. ไปฮัจญ์ ณ เมืองมักกะฮ์ เมื่อสามารถไปได้
 คำว่ามูฮัมมัด แปลว่า ผู้ได้รับการสรรเสริญ ความจริง นบีได้รับการตั้งชื่อว่า อะหมัด ตามที่มะลาอิกะฮ ได้มาบอกแก่อามีนะฮ์ ผู้เป็นมารดาในความฝัน แต่ปู่ของท่าน คือ อับดุล มุตตอลิบ ตั้งชื่อให้ว่า "มูฮัมมัด" ดังที่อับดุล มุตตอลิบกล่าว

 

 ๑. วัสลาม
 ๒. หะดิษ คือการกระทำหรือคำกล่าวของท่าน ศาสดามูฮัมมัด
๓. รอซู้ล    คือ      ผู้ที่ได้รับเกียรติจากอัลเลาะห์ให้เป็นผู้นำบัญญัติของพระองค์มาเผยแพร่ (ศาสนทูต)  
 ๔. ฟัฏฏอล อะหมัด มูฮัมมัด ศาสดาแห่งอิสลาม

หลักคำสอนที่สำคัญของศาสนาอิสลาม

 เนื่องจากหลักคำสอนของศาสนาอิสลามเป็นวิถีชีวิตของชาวมุสลิมทุกคนมิได้แยกเป็นหลักคำสอนทางศาสนาโดยเฉพาะเหมือนศาสนาอื่น ๆ หลักคำสอนในคัมภีร์อัล-กุรอ่าน จึงประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ ส่วน คือ หลักปฏิบัติและหลักศรัทธา  ซึ่งจะต้องมีพร้อมกันจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้

 หลักศรัทธา  หมายถึง  ความเชื่อมั่นด้วยจิตใจโดยปราศจากการระแวงสงสัยหรือโต้แย้งใดๆ  ประกอบด้วย ๖ อย่าง คือ

 ๑. ศรัทธาในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า
 ๒. ศรัทธาในเทวทูตของพระเจ้า
 ๓. ศรัทธาในพระคัมภีร์ที่อัลเลาะห์มอบให้แก่มนุษยชาติโดยผ่านศาสดาองค์ต่าง ๆ
 ๔. ศรัทธาต่อศาสนทูตหรือบรรดาศาสดาองค์ต่าง ๆ
๕. ศรัทธาต่อวันสุดท้ายและวันเกิดใหม่(วันอาคีเราะฮ์)
๖. ศรัทธาในกฎสภาวะลิขิตของพระเจ้า

หลักปฏิบัติ ประกอบด้วยหลักสำคัญ ๕ ประการ คือ

๑. การปฏิญาณตน  ชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิญาณตนว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์และมูฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์”
๒. การปฏิบัติละหมาด ซึ่งหมายถึงการนมัสการพระเจ้า เป็นข้อกำหนดที่ชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน วันละ ๕ เวลา
๓. การถือศีลอด  การถือศีลอดหรือเรียกในภาษาอาหรับว่า “อัศ-ศิยาม” หมายถึงการงด ละ ยับยั้ง ควบคุม หลักการปฏิบัติในข้อนี้จะกระทำในเดือน ๙ ทางจันทรคติของอิสลาม เรียกว่าเดือนรอมฎอน
๔. การบริจาคทรัพย์ (อัซ-ซะกาต) ชาวมุสลิมถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องสละทรัพย์ในอัตรา ๒.๕ % เพื่อแบ่งปันแก่ผู้อื่น
๕. การประกอบพิธีฮัจญ์  หมายถึง การเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ เมืองมักกะฮ์  ประเทศซาอุดิอาระเบีย  หลักปฏิบัติในข้อนี้เฉพาะผู้ที่บรรลุนิติภาวะ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์  มีสุขภาพดี  มีทุนทรัพย์เพียงพอ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถไปได้ก็ไม่บังคับ

ข้อห้ามในศาสนาอิสลาม

๑. ห้ามตั้งภาคีหรือข้อยึดถือนำสิ่งอื่นมาเทียบเคียงองค์อัลเลาะห์  ไม่ว่าเงินตรา ชื่อเสียง วงศ์ตระกูล เกียรติยศ ประเพณี หรือแม้แต่อารมณ์ที่นำมาเป็นใหญ่ในตัวเอง
๒. ห้ามกราบไหว้บูชารูปเคารพ หรือสิ่งสมมุติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้น วัตถุ ต้นไม้ ก้อนอิฐ ดวงดาว ดวงอาทิตย์ หรือผีสางนางไม้ต่าง ๆ  จะเห็นได้ว่าในศาสนาอิสลามจะไม่มีเจ้าที่เจ้าทางหรือการเซ่นไหว้บูชาใด ๆ ทั้งสิ้น
๓. ห้ามเชื่อเรื่องดวงหรือผูกดวง ห้ามดูหมอ ดูโชคชะตาราศรี ดูลายมือ ห้ามถือโชคลาง ห้ามเล่นเครื่องรางของขลัง
๔. ห้ามเล่นการพนันทุกชนิด ห้ามเสี่ยงทาย   เสี่ยงโชค
๕. ห้ามกินสัตว์ที่ตายเอง สัตว์ที่มีโรค

 เลือดที่ได้จากการฆ่าสัตว์แล้วรองเอามา เช่น เลือดหมู เลือดไก่ ห้ามกินหมู  ห้ามกินสัตว์ที่ถูกนำไปเซ่นไหว้  สัตว์ที่ถูกรัดคอให้ตายโดยมิได้เชือดให้เลือดไหล  สัตว์ที่ถูกเชือดโดยมิได้กล่าวนามพระอัลเลาะห์  ห้ามกินสัตว์ที่มีลักษณะน่ารังเกียจ สัตว์ที่ตะปบสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร  ห้ามกินดอกเบี้ย
๖.  ห้ามเสพสิ่งมึนเมาทุกชนิด เช่น เหล้า เบียร์ กระแช่ น้ำตาลเมา กัญชา ฝิ่น หรืออะไรก็ตามที่เสพเข้าไปแล้วทำอันตรายต่อร่างกาย
๗. ห้ามผิดประเวณีกับหญิงทุก ๆ คน ไม่ว่าด้วยการยินยอม ตกลงสมัครใจกันทั้งสองฝ่าย  ข้อห้ามเรื่องนี้มิใช่ห้ามการผิดประเวณีอย่างเดียว  แต่ยังห้ามสื่อซึ่งนำไปสู่การผิดประเวณี เช่น การสังคมระหว่างเพศต้องมีขีดจำกัด ห้ามสุงสิงกันเกินขอบเขต
๘. ห้ามการฆ่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ศาสนาไม่อนุมัติ
๙. ห้ามการประกอบอาชีพที่ไม่ถูกต้องศีลธรรม หรืออาชีพนั้นจะนำประชาชนไปสู่ความหายนะ  เช่น ตั้งซ่อง ตั้งโรงเหล้า  บาร์ อาบอบนวด ปล่อยเงินกู้ กินดอกเบี้ย เป็นต้น
๑๐.ห้ามบริโภคอาหารที่หามาได้โดยไม่ชอบธรรม
          ๑๑. ห้ามกักตุนสินค้าจนราคาสูงขึ้นแล้วจึงนำสินค้านั้นออกมาขาย
          ๑๒. ห้ามกระทำการใด ๆ ที่จะสร้างความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น  (เสาวภา ธานีรัตน์ วรรณคดีศาสนา โครงการตำราและเอกสารวิชาการ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช หน้า ๒๑๑)

จุดหมายปลายทางของศาสนาอิสลาม

ผู้ที่ยึดมั่นอยู่หลักศรัทธา และปฏิบัติชอบตามหลักปฏิบัติจะได้เดินบนสวรรค์อยู่รวมกับพระผู้เป็นเจ้า มีความสุขนิรันดรอยู่บนสวรรค์

ศาสนสถานอิสลาม

 ศาสนาอิสลามเข้ามาภูเก็ตเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน  หลักฐานที่พอจะอ้างถึงการเข้ามาของศาสนาอิสลามในภูเก็ต คือ มีชาวมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตอยู่แล้ว และเนื่องจากภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ใกล้ชิดกับมาเลเซีย และสิงคโปร์มาก การเดินทางไปมาหาสู่กันเพื่อติดต่อค้าขายย่อมจะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ศาสนาอิสลามจึงเข้ามาพร้อมกับชาวมลายูที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตก็ได้ หรือจากหลักฐานความเจริญรุ่งเรืองของเมืองถลางในระยะปี พ.ศ.๒๓๐๒–๒๓๑๐  ในพงศาวดารเมืองถลางบันทึกเรื่องราวไว้ว่า “เมืองถลางแต่ก่อน จอมร้างบ้านตะเคียนเป็นเจ้าเมือง เมียจอมร้างเป็นแขกเมืองไทร ชื่อ หม่าเสี้ยลูกมหุ่มเฒ่า”  จากเรื่องราวในประวัติศาสตร์พอจะประมาณได้ว่าชาวมุสลิมเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตตั้งแต่สมัยอยุธยา

 เกษม  กูสลามัต  ได้ให้ข้อสังเกตว่าชาวไทยมุสลิมในภูเก็ตนั้นมาจาก ๒ สาย คือ สายหนึ่งมาจากมาเลเซีย  สังเกตจากการแต่งกายของผู้ชายมุสลิมจะสวมหมวกหนีบสีดำอันเป็นลักษณะเด่นชัดของผู้ชายมาเลเซีย  และอีกสายหนึ่งมาจากอาหรับ  การแต่งกายของผู้ชายนั้นจะสวมหมวกสีขาว (ปีเยาะห์) ปัจจุบันความนิยมที่จะสวมหมวกหนีบสีดำหมดไป  เพราะชาวมุสลิมส่วนใหญ่ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย  และได้รับวัฒนธรรมการแต่งกายแบบสวมหมวกสีขาว และการโพกผ้าโพกหัวมาใช้ในภูเก็ต  แม้แต่การเทศนาสั่งสอนของโต๊ะอิหม่ามในสมัยเดิมนั้นจะต้องเทศนาเป็นภาษาอาหรับแล้วแปลเป็นภาษามาเลย์  ปัจจุบันโต๊ะอิหม่ามจะอ่านพระคัมภีร์เป็นภาษาอาหรับแล้วแปลเป็นภาษาไทย

 ปัจจุบันในภูเก็ตมีครอบครัวชาวไทยมุสลิมเป็นจำนวนมาก  ในเขตอำเภอเมือง ได้แก่ ที่บ้านบ่อแร่ บ้านอ่าวน้ำบ่อ บ้านแหลมพันวา บ้านอ่าวมะขาม บ้านไสยวน บ้านเกาะแก้ว เกาะมะพร้าว เกาะโหลน และบ้านบางคณฑี  ในเขตอำเภอถลาง ได้แก่ บ้านบางเทา บ้านบางโจ บ้านบางลา บ้านผัดฉีด บ้านยามู อ่าวปอ อ่าวกุ้ง เกาะนาคา แหลมทราย บ้านบางโรง  บ้านบางแป  อ่าวโต๊ะขุน  บ้านคอเอน  บ้านพารา  บ้านพรุสมภาร  และบ้านบางม่าเหลา  ในเขตอำเภอกะทู้  ได้แก่ บ้านกมลา บ้านป่าตอง  และบ้านกะหลิม  ทุกหมู่บ้านจะมีมัสยิดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน

 

จังหวัดภูเก็ตนั้นก็มีชาวมุสลิมจำนวนมาก ปลูกสร้างบ้านเรือนใกล้เคียงเป็นหมู่บ้านหลายแห่ง  แต่ละแห่งมีมัสยิดประจำหมู่บ้าน ได้แก่


 ชื่อมัสยิด   สถานที่ตั้ง   อำเภอ
  ๑. ยาเมี๊ยะ   ๔๗ หมู่ ๘ ซ.ตลิ่งชัน ต.ตลาดใหญ่ เมือง
  ๒. กอรีอ๊ะ   ๒๑ หมู่ ๖ ต.เกาะแก้ว เกาะมะพร้าว เมือง
  ๓. ลิวาอุลีอิสลาม  หมู่ ๒ ซ.บางชีเหล้า เกาะแก้ว  เมือง
  ๔. ยาบรรนูรค์   หมู่ ๕ ซ.หัวควน เกาะแก้ว  เมือง
  ๕. นูเร็นอิสมิยะฮ์  หมู่ ๑ ถ.วิเศษ บ้านไสยวน ต.ราไวย์ เมือง
  ๖. อิซซาตุ้ลอิสลาม  ๑๓ หมู่ ๗ ถ.ศักดิเดช ต.วิชิต  เมือง
  ๗. ดารุลอิสลาม  ๒๔ หมู่ ๓  บ้านเกาะโหลน ต.ราไวย์ เมือง
  ๘. กามาลียะห์   หมู่ ๗ ซ.แหลมหิน เกาะแก้ว  เมือง
  ๙. เอ้าวาลุ้ลฮีดายะห์  หมู่ ๓ ซ.ร่วมใจ ต.ราไวย์   เมือง
๑๐. นู่รนอิสลามียะห์  หมู่ ๘ ถ.ศักดิเดช ต.วิชิต   เมือง
๑๑. นู่รศดีนียะห์  ๑๔ หมู่ ๔ ถ.วิเศษ ต.ราไวย์  เมือง
๑๒. กียามุดดิน   หมู่ ๖ ซ.บ้านบ่อแร่ ต.ราไวย์  เมือง
๑๓. นูรุลอีบาดายะห์  หมู่ ๑ ต.ไม้ขาว    ถลาง
๑๔. บ้านคอเอน   หมู่ ๒ ต.ไม้ขาว    ถลาง
๑๕. บ้านพารา   หมู่ ๔ ต.ป่าคลอก   ถลาง
๑๖. บ้านบางโรง   หมู่ ๓ ต.ป่าคลอก   ถลาง
๑๗. บ้านอ่าวปอ   หมู่ ๖ ต.ป่าคลอก   ถลาง
๑๘. บ้านผักฉีด   หมู่ ๑ ต.ป่าคลอก   ถลาง
๑๙. บ้านพรุสมภาร  หมู่ ๘ ต.เทพกษัตรี   ถลาง
๒๐. มูกัรร่ม(บางเทา)  หมู่ ๒ ต.เชิงทะเล   ถลาง
๒๑. บ้านหยิด   หมู่ ๗ ต.ไม้ขาว    ถลาง
๒๒. บ้านนาใน   หมู่ ๗ ต.เทพกระษัตรี   ถลาง
๒๓. บ้านบางลา   หมู่ ๘ ต.ศรีสุนทร   ถลาง
๒๔. บ้านบางโจ   หมู่ ๔ ต.ศรีสุนทร   ถลาง
๒๕. บ้านเกาะนาคา  หมู่ ๕ ต.ป่าคลอก   ถลาง
๒๖. บ้านแหลมทราย  หมู่ ๖ ต.เทพกระษัตรี   ถลาง
๒๗. ยามีอุ้ลอีบาดะห์  หมู่ ๙ ต.ป่าคลอก   ถลาง
๒๘. ดารุ้ลมุตตากีน  หมู่ ๗ ต.ป่าคลอก   ถลาง
๒๙. บ้านบ่อสอม  หมู่ ๔ ต.ไม้ขาว    ถลาง
๓๐. นูรนอิสลามียะห์  หมู่ ๑ ต.ป่าตอง    กะทู้
๓๑. หวะด้านิย้าตุ้ลอิสลามิย้ะ หมู่ ๕ ต.ป่าตอง    กะทู้
๓๒. ผดุงศาสน์   หมู่ ๕ ต.กมลา    กะทู้
๓๓. บ้านกมลา   หมู่ ๒ ต.กมลา    กะทู้
๓๔. อัลมาดีนะห์  หมู่ ๖ ต.ตลาดใหญ่   เมือง
๓๕. นูสรุ้ลเอี๊ยะซาน  หมู่ ๖ ต.กมลา    กะทู้
๓๖. ดารุลฮิกมะฮ์  หมู่ ๔ ต.ป่าคลอก   ถลาง
๓๗. นูรุลฮาดา   หมู่ ๑ ต.ป่าตอง    กะทู้
๓๘. บ้านบางม่าเหลา  หมู่ ๑ บ้านบางม่าเหลา ต.สาคู  ถลาง
๓๙. บ้านบ่อกรวด  หมู่ ๑ บ้านบ่อกรวด ต.เทพกระษัตรี ถลาง
๔๐. บ้านบางดุก   หมู่ ๑ ต.ไม้ขาว    ถลาง


บุคลากรที่มีหน้าที่เกี่ยวกับมัสยิดนั้นมีทั้งหมด ๓ คนคือ
 อิหม่าม คือ ผู้นำในทุกเรื่อง มุสลิมทุกคน จะต้องปฏิบัติตามอิหม่าม
 คอเต็บ คือ รองจากอิหม่าม หรือแปลว่า ผู้ปาฐกถาธรรมในวันศุกร์
 บิหลั่น คือ ผู้อาซาน คือ เรียกร้องให้มาทำละหมาด (มุอัซซิน)

 บุคลากรทั้ง ๓ คน มีความสำคัญมาก เพราะจะทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชนในด้านต่าง ๆ
จัดการทั่วไปในกิจกรรมต่าง ๆ  ของมัสยิด ซึ่งเปรียบได้กับศูนย์กลางในการบริหารมัสยิดและของชุมชนนั้น ๆ

 สำหรับในประเทศไทยนั้นมัสยิดแห่งแรกที่สร้างขึ้นคือ มัสยิดกุฎีทอง ซึ่งสร้างโดยพระยาเฉกอะหมัดฯ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดและมีความสวยงามที่สุด คือ มัสยิดนูรูลอิสลาม ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

ประวัติความเป็นมาของมัสยิด

มัสยิดมูกัรร่ม บ้านบางเทา

 ได้สร้างขึ้นประมาณ ๒๙ ปีแล้ว โดยเนื้อที่ส่วนใหญ่จะเป็นของชาวบ้านบางเทาเกือบทั้งหมดโดยใช้เวลาสร้างประมาณเกือบ ๒ ปีมาแล้ว เสร็จและได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ลักษณะของมัสยิดจะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมชั้นครึ่งหลังคามีโคมใหญ่อยู่และมีโคมเล็กอยู่อีก ๔ โคมล้อมรอบโคมใหญ่อยู่ มีบันไดวนขึ้นถึงยอดของโคมใหญ่ได้ลักษณะของโคมจะเป็นรูปดอกบัวตูม มีกระจกใสติดที่ฐานดอกบัวเพื่อให้แสงสว่างลอดเข้าไปได้ ด้านหน้าของมัสยิดจะมีที่อาบน้ำละหมาดสำหรับ ชาย หญิง แยกไว้เป็นสัดส่วน หลังคาใช้เหล็กเสริมคอนกรีต ภายในบริเวณของมัสยิดมีพื้นหินขัด มีเสาถึง ๖๖ ต้นเสา มีลักษณะเป็นห้องโถงใหญ่ มีประตูทั้งหมด ๒๔ บาน      ภายในแยกที่ละหมาดสำหรับ ชาย หญิง ไว้เป็นสัดส่วนจะมีที่ให้โต๊ะอิหม่าม ขึ้นคุตบะฮ์ เพื่อสั่งสอนชาวมุสลิมในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญ  สำหรับหินทีนำมาวางศิลาฤกษ์นั้นได้นำมาจาก

 ๑. เขาพระแทว
 ๒. เขาค้อ บางเทา
 ๓. เขานางพันธุรัต เกาะแก้ว
 ๔. เขาเมืองถลาง

 มัสยิดแห่งนี้สามารถจุคนได้ประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าคน และในปัจจุบันก็ยังใช้เป็นที่อบรมสอนศาสนาอิสลามในเวลากลางคืนสำหรับผู้ใหญ่ สำหรับเยาวชนนั้นจะใช้บริเวณด้านข้างของมัสยิดจะมีโรงสอนและอบรม ปัจจุบันนี้ อิหม่ามคือ นายรอราก วรรณสมรนกุลย์ คอเต็บคือ นายอาหมาด กาวิเขต และบิหลั่นคือ นายหมุด สาเหล่ ในปัจจุบันนี้ มัสยิดมุกัรร่ม บ้านบางเทานี้ ก็ได้เป็นมัสยิดกลางประจำจังหวัดภูเก็ต

มัสยิดกียามุดดีน (บ้านบ่อแร่)

จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๒  มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๖ ต.วิชิต  อ.เมือง จ.ภูเก็ต
 เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ตั้งอยู่ในที่ดินของนายหลงสัน สมบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓ ตำบลอ่าวมะขาม อำเภอเมือง ภูเก็ต

ลักษณะตัวอาคาร

เป็นอาคารยกพื้น ใต้ถุนโล่ง ปูกระดาน ฝาไม้ไผ่ขัดแตะมุงจาก มีนายละใบอี โชคเกื้อ เป็นอิหม่าม มีอายุการใช้งานประมาณ ๒๔ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๗) และหลังจากนั้นไม่สามารถใช้ประกอบศาสนกิจได้อีกเนื่องจากชำรุดทรุดโทรมมาก

มัสยิดหลังที่ ๒ ชื่อมัสยิดบ้านบ่อแร่

 ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๗  จึงได้ย้ายมาสร้างอาคารมัสยิดในที่ดินของนายละใบอี โชคเกื้อ ห่างจากที่เดิมประมาณ ๕๐๐ เมตร ซึ่งได้มอบที่ดินให้ทั้งแปลงประมาณ ๑ ไร่เศษ ให้เป็นที่วาก๊าฟ (สาธารณประโยชน์) ได้ปลูกสร้างอาคารมัสยิดโดยการสละแรงและบริจาคเงินของชาวสัปบุรุษในบ่อแร่

 ต่อมามีปวงสัปบุรุษมากขึ้น ทำให้พื้นที่ประกอบศาสนกิจ ไม่สามารถอำนวยความสะดวกได้จึงได้เคลื่อนย้ายอาคารมัสยิด (โดยวิธีหาม) ไปไว้ที่ใกล้จะก่อสร้างอาคารหลังใหม่ในราวต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๔

มัสยิดหลังที่ ๓ ชื่อมัสยิดกียามุดดีน
 (บ้านบ่อแร่)

 คณะกรรมการมัสยิดกียามุดดีน ซึ่งประกอบด้วยอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ได้ยื่นขอที่ดินที่นายละใบอี วาก๊าฟให้นั้น ขอทำโฉนดทั้งแปลงในนามของมัสยิดกียามุดดีน ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดหมายเลขที่ ๑๒๓๒๔ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ พ.ศ. ๒๕๑๔ ในนามของ "มัสยิดกียามุดดีน" เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ

 การก่อสร้างอาคารได้เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ และได้ทำพิธีเปิดในวันนั้น และนายหลิม โชคเกื้อ เป็นอิหม่าม เวลาต่อมามีปวงสัปบุรุษเพิ่มมากขึ้นทำให้การประกอบศาสนากิจไม่สามารถทำได้โดยสะดวก จึงได้มีการขยายตัวอาคารมัสยิดไปทางทิศใต้ กว้างอีก ๖ เมตร ยาวเท่าอาคารเดิม อาคารที่ขยายออกไปนั้น พื้นเสาหลังคาใช้คอนกรีตเสริมทั้งสิ้นในการประกวด        ตามโครงการประกวดศาสนสถาน ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ของจังหวัดภูเก็ต มัสยิดกียามุดดีน ได้รับรางวัลชนะเลิศของจังหวัดภูเก็ต และได้รับใบประกาศวุฒิบัตรโครงการประกวดศาสนสถานเมื่อวันที่  ๒๘  พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๓๔

มัสยิดอับอิศลาฮียะห์ (บ้านคอเอน)

 นับเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดมัสยิดหนึ่งจากหลักฐานปรากฏว่ามัสยิดนี้ได้สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๐ เป็นศาสนสถานตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๒ ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายอิบรอเฮม นัยนา เป็นอิหม่าม จากนั้นจึงได้มีการรื้อถอนมัสยิด และสร้างมัสยิดใหม่ขึ้นแทนอีก ๓ ครั้ง (รวมทั้งมัสยิดหลังปัจจุบันนี้ด้วย)

 มัสยิดหลังที่ ๒ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ มีนายการีม ใสดี เป็นอิหม่าม
 มัสยิดหลังที่ ๓ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ มีนายมุดตอฤ สมาน เป็นอิหม่าม
 มัสยิดหลังที่ ๔ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังปัจจุบัน

 ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เลขทะเบียน ๒ โดยมีนายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้วางศิลาฤกษ์ วางรางฐานมีนายอะหมาก สำเภารัตน์ ซึ่งเป็นประธานกรรมการอิสลามจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานก่อสร้างร่วมกับคณะกรรมการมัสยิดบ้านคอเอน ปวงสัปบุรุษแล้วผู้มีเกียรติอื่น ๆ และมีนายจิ นัยนา เป็นอิหม่าม

ลักษณะการก่อสร้างตัวอาคาร

มัสยิดกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๓ เมตรเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว มีปวงสัปบุรุษในเขตมัสยิดประมาณ ๒,๘๐๐ คน ในปัจจุบันมี นายสะอาด  นารอยี เป็นอิหม่าม นายดล จิงา เป็นคอเต็บ และนายหนีด ปานดำเป็นบิหลั่น

ศาสนพิธีอิสลาม

การละหมาด

 การละหมาด หรือ นมาซ มาจากคำ อาหรับว่า อัศศอละห์ แปลว่า การขอพร การละหมาดคือ การแสดงความเคารพต่อ พระเจ้าทั้งร่างกาย และจิตใจ เป็นศาสนกิจที่สำคัญที่สุดของศาสนาอิสลามประดุจเสาหลักของศาสนา ดังนั้น การละหมาดที่มุสลิมปฏิบัติจนตราบทุกวันนี้ เป็นรูปแบบที่สำคัญ ที่ท่านศาสดา ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่าง พระเจ้า (อัลเลาะห์) ได้ทรงบัญญัติเกี่ยวกับการละหมาดไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ว่า ก่อนละหมาดนั้นจะต้องอาบน้ำละหมาดก่อนทุกครั้ง การละหมาด   แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ การละหมาดฟัรฎู คือ การละหมาดที่บังคับต้องทำ ได้แก่ การละหมาดประจำวัน ๕ เวลา และการละหมาดวันศุกร์ บังคับเฉพาะผู้ชาย เป็นต้น

 การละหมาดประเภทที่ ๒ คือ การละหมาดซุนนะห์ (ซูนัต) คือ การละหมาดที่ไม่บังคับถ้าปฏิบัติแล้วจะได้บุญ หากไม่ปฏิบัติก็จะไม่บาป การละหมาดประเภทนี้ ได้แก่ การละหมาดก่อน หรือ หลังจากการละหมาดประจำวัน, การละหมาดให้เกียรติแก่มัสยิด การละหมาดในวันตรุษทั้งสอง และ จากที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้า ได้ศึกษาการละหมาดภาคบังคับ ซึ่งมุสลิมทุกคนจะต้อง ปฏิบัติตั้งแต่บรรลุนิติภาวะ จนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยปฏิบัติวันละ ๕ เวลา คือ

 เวลาหัวรุ่ง เรียกว่า ละหมาดชูโบะห์ ๒ รอกาอัต
 เวลากลางวัน เรียกว่า ละหมาดซุฮ์โฮร์ ๔ รอกาอัต
 เวลาเย็น เรียกว่า ละหมาดฮาชา  ๔ รอกาอัต
 เวลาพลบค่ำ เรียกว่า ละหมาดมักริบ ๓ รอกาอัต
 เวลากลางคืน เรียกว่า ละหมาดอีซา ๔ รอกาอัต
 การละหมาดนี้ จะขาดไปเวลาใดไม่ได้เลย เขาจะต้องชดใช้เวลาที่เขาทำขาดไปทุก ๆ เวลา (นอกจากหญิงที่มีประจำเดือน ไม่ต้องทำการละหมาด)
 รอกาอัต คือ จำนวนครั้งของการทำละหมาดทุก ๆ เวลา (นอกจากหญิงที่มีประจำเดือน ไม่ต้องทำการละหมาด)

สถานที่ในการละหมาดนั้น เมื่อได้เวลาละหมาด มุสลิมจะละหมาดที่ใดก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นที่มัสยิดหรือสุเหร่า อาจจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน บนพาหนะ ฯลฯ ขอแต่ให้เป็นที่สะอาด สำหรับวันศุกร์และวันตรุษทั้งสองต้องละหมาดที่มัสยิด คือ สถานที่ชุมนุม และการทำละหมาด ร่วมกัน ส่วนวันอื่น ๆ หากมุสลิมสามารถไปละหมาดร่วมกันได้ที่มัสยิดจะเป็นสิ่งที่ดียิ่ง

 บุคคลที่ต้องละหมาด ก็คือ ผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้านร่างกาย คือ หญิงตั้งแต่เริ่มมีรอบเดือน หากเป็นชายก็เข้าสู่วัยหนุ่ม การละหมาดเป็นบทบัญญัติบังคับสำหรับทุกคนทั้งชายและหญิง จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต จะยกเว้นแต่เพียงบางกรณีเท่านั้น เช่น หญิงมีรอบเดือน หรือ มีเลือดหลังคลอดบุตร

 สำหรับน้ำละหมาด ก็คือ การทำความสะอาดใบหน้า มือ แขน ศีรษะ และเท้า โดยการใช้น้ำ หรือลูบใบหน้า และมือทั้งสอง

ด้วยดิน หากปราศจากน้ำ เราจึงเรียกว่าการทำตะยัมมุม สำหรับวิธีการอาบน้ำละหมาดนั้น สิ่งที่ทำให้เสียน้ำละหมาดมีมากมาย เช่น การหลับสนิท เป็นลมหมดสติ หรือการที่มือไปสัมผัสกับอวัยวะเพศ โดยไม่มีสิ่งรองรับ หรือแม้แก่การกระทบกับเพศตรงกันข้าม โดยมีความรู้สึกในความใคร่ หรือถ่ายอุจจาระหรือ ปัสสาวะ เป็นต้น ในเรื่องของน้ำที่ใช้ทำความสะอาดนั้น ต้องไม่มีสิ่งสกปรกเจือปนอยู่ เช่น น้ำฝน น้ำประปา น้ำบ่อ ฯลฯ ในกรณีที่ไม่มีน้ำนั้น ท่านศาสดาอนุญาตให้ใช้ฝุ่น ดิน แทนได้ โดยการทำตะยัมมุม

การแต่งกายของชาวมุสลิม

 การแต่งกายของมุสลิมโดยทั่วไป ว่าไปแล้ว อิสลามเป็นศาสนาที่เคร่งครัดมากในเรื่องนี้ แต่สังคมปัจจุบันทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ ค่อย ๆ กลืนไปกับประเพณีนิยมตามแบบสมัยใหม่ ทำให้ผู้พบเห็นโดยทั่วไป มองดูแล้วไม่สามารถแยกออกได้ว่าคนไหนเป็นมุสลิม คนไหนเป็นคนศาสนาอื่น ทำให้เกิดความสับสน จะมีบางคนถึงกับพูดว่า"ถ้าหากมีใครคนหนึ่งคนใดตายลงที่สาธารณะ ควรจะพาไปไว้ที่ไหนดี" มัสยิด หรือวัด เพราะไม่มีสัญลักษณ์ ของ ศาสนานั่นเอง

 การแต่งกายของ มุสลิมนั้น ถ้าหากเป็นผู้ชาย ตามแบบสมัยเดิมแล้ว มักจะนุ่งโสร่งเลยเข่า จนถึงตาตุ่ม คล้ายผู้หญิง ส่วนเสื้อมักจะสวมเสื้อแขนยาว สีสุภาพ เราอาจจะได้เห็นจากผู้ที่มีอายุแล้วเท่านั้น ในสมัยนี้ ส่วนคนรุ่นใหม่ยากที่จะค้นพบได้ หรือ มีก็น้อยเต็มที ยิ่งที่ภูเก็ตด้วยแล้ว เดี๋ยวนี้เต็มไปด้วยโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ถ้าหากใครแต่งกายแบบสมัยเก่า เพื่อน ๆ ก็อาจจะล้อได้ นี่เฉพาะการแต่งตายที่เป็นชุดลำลองอยู่ที่บ้านเท่านั้น บางคนอาจจะมีหมวกสีขาวบนศีรษะ ยิ่งทำให้เด่นมากขึ้น อย่างนี้เราก็สามารถแยกได้ว่าใครเป็นใคร

 หากเข้าพิธีตามศาสนา เช่น ไปละหมาดที่มัสยิด เราถือว่าเป็นการเข้าสักการะต่อพระเจ้าทุกคนต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ทำให้ดูสวยงาม และสะดุดตาต่อผู้พบเห็น ยิ่งนัก

 การแต่งกายเข้าพิธีละหมาดของผู้ชาย ส่วนมากเราจะเห็นเป็นโสร่ง เสื้อแขน ยาวสีอ่อน ๆ หรือ แขนสั้นก็ได้ สวมหมวก และ อาจมีผ้าโพกศีรษะอีกทีหนึ่ง ผ้าโพกศีรษะ นี้บางคนสงสัยว่า เขาโพกกันทำไม ตามธรรมดาแล้วเราทำละหมาดเราก็ได้บุญอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีผ้าโพกศีรษะอีกแล้วก็สามารถเพิ่มบุญให้แก่เราอีกต่างหาก โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลย ใจกลางเมืองภูเก็ต เรามีมัสยิด อยู่ที่ตลิ่งชัน เราจะพบเห็นผู้คนที่ไปทำละหมาดนั้น ส่วนใหญ่จะนุ่ง กางเกง นั่นก็เพราะว่าเขาอาจจะทำงานอยู่ แล้วปลีกตัวออกมาก็ได้ ไม่ผิดแต่อย่างใด  เพราะการแต่งกายของผู้ชายนั้น ง่ายกว่าผู้หญิงต้องนุ่งผ้าให้ปิดตั้งแต่สะดือลงมาจนถึงหัวเข่าก็พอ นั่นเป็นการบังคับ แต่การเข้าสักการะเราต้องแต่งกายในชุดที่สุภาพ เรียบร้อย ไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม แล้ว อีกอย่างก็อาจจะมีการพรมน้ำหอมเพื่อให้เกิดความชื่นใจอีกก็ได้ แต่น้ำหอมนั้นจะต้องไม่มีแอลกอฮอล์ปะปนเพราะอิสลามถือว่า แอลกอฮอล์เป็นสิ่งสกปรก และนั่นเป็นการแต่งกายของผู้ชาย ซึ่งมักจะพบเห็นโดยทั่วไปของชาวภูเก็ต แต่ใช่ว่าจะมีเพียงเท่านี้ และ สิ่งที่เป็นที่นิยมกันก็ คือ กางเกงนี่แหละมันง่ายดี ไปไหนมาไหนก็สะดวก แต่ต้องเลยหัวเข่ามาจึงถือว่าใช้ได้ ส่วนกางเกงตามสมัยนิยม กางเกงขาสั้น นั้นตามกฎแล้วไม่ได้ มาใส่กันเองต่างหาก ตามสมัยนิยม หารู้ไม่ว่าเป็นบาปสถานเดียว

 การแต่งกายของมุสลิมของผู้ชายยังมีอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเขาจะเคร่งมาก ก็คือการแต่งกายของพวก "ดะวะห์" หรือรู้จักกันในนามของผู้เผยแพร่ศาสนา พวกนี้จะแต่งกายแบบเดียวกับท่านศาสดา เพราะบทบัญญัติในคัมภีร์ อัลกุรอาน ว่าใครก็ตามที่ แต่งกายแบบท่านศาสดา หรือ เลียนแบบท่านจะได้รับผลบุญอย่างมากมาย ซึ่งเราเรียกว่า "ชุนนะห์" คือ แบบอย่างของท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล.)

 สำหรับการแต่งกายของมุสลิมหญิงนั้น มุสลิมถือว่าสำคัญมาก สมัยก่อนผู้หญิงต้องอยู่บ้านเท่านั้น จะไปไหน มาไหน ก็ต้องขออนุญาตจากสามีก่อน  การแต่งกายจะต้องคลุมศีรษะ ไม่ให้เห็นแม้แต่เส้นผมแม้แต่เส้นเดียว ห้ามสวมกางเกงขาสั้นโดยเด็ดขาดเพระถือว่าเป็นบาปอย่างมหันต์

 เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของผู้หญิงมุสลิม ก็คือ เวลาแต่งตัวไปมัสยิดเพื่อละหมาด จะแต่งตัวอย่างสวยงาม คือ มีผ้าคลุมศีรษะสีสวย ๆ แต่ไม่ฉูดฉาด      เสื้อแขนยาวอาจเป็นลูกไม้หรือเรียกว่า "ย่าหยา" ก็ได้  ผ้าโสร่งลายดอกต่าง ๆ อาจมีการใส่น้ำหอมกันนิดหน่อย มองดูสวยงามมาก นั่นเป็นการแต่งกายที่พวกเขาเหล่านั้นแต่งไปมัสยิด

 เวลาไปเที่ยวหรือออกนอกบ้าน ตามกฎของศาสนา หญิงต้องคลุมศีรษะ แต่ปัจจุบัน อาจไม่ค่อยเห็นเยาวชนหญิงมุสลิมคลุมศีรษะ เพราะทุกคนต้องทำงานนอกบ้าน แต่หญิงผู้สูงอายุยังเคร่งครัดที่จะนุ่งผ้าปาเต๊ะและคลุมศีรษะ  มุสลิมชายนุ่งโสร่งและสวมเสื้อแขนยาว

ประเพณีงานศพ

ข้อบังคับที่ต้องทำแก่ผู้ตาย

 ศาสนาอิสลามบัญญัติให้มุสลิมที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องกระทำต่อผู้ตาย (ฮู่ก่มญะนาซะห์) มี ๔ ประการ

 ๑. ต้องอาบน้ำให้แก่ศพ
 ๒. ต้องห่อให้กับศพ
 ๓. ต้องละหมาดให้
 ๔. ต้องนำศพไปฝัง

 ผู้ควรอาบน้ำให้ศพได้นั้น ถ้าผู้ตายเป็นชาย ผู้อาบน้ำควรเป็นผู้ชาย ถ้าผู้ตายเป็นหญิง ผู้อาบน้ำควรเป็นหญิง และให้พี่น้องหรือผู้ใกล้ชิดเป็นผู้อาบให้ เช่น บิดา มารดาอาบให้ลูก หรือ ลูกอาบให้บิดามารดา การล้างถูขณะที่อาบน้ำควรกระทำเบา ๆ ถ้าเห็นสิ่งที่ดีงามเกี่ยวกับผู้ตาย ควรเล่าให้ผู้อื่นฟัง แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็นิ่งเสีย

 การอาบน้ำให้ศพ ควรอาบในสถานที่มิดชิด และมีผ้าปิดศพส่วนที่ควรปกปิด ความอาย วางศพไว้บนที่สูง เช่น แคร่ ชำระล้างสิ่งสกปรก(นายีส)ออกเสียก่อน ให้จุดของหอม เช่น กำยาน ธูปหอมในขณะอาบน้ำ เอาน้ำสะอาดราดให้ทั่วร่างก็ใช้ได้ แต่การอาบน้ำที่ดีควรต้องล้างเล็บ ฟัน จมูก มือเสียก่อน แล้วใช้สางผม ล้างให้สะอาดภายหลังก็ลดด้วยน้ำใบพุทราสลับกับน้ำสะอาด ๓ ครั้ง เอาน้ำพิมเสนรดเป็นครั้งสุดท้าย แล้วอาบน้ำละหมาดให้คนตายด้วย วิธีอาบก็เหมือนกับอาบน้ำละหมาดคนเป็น เมื่ออาบน้ำละหมาดเสร็จแล้ว ให้เอาสำลีหรือผ้าสะอาดซับน้ำให้แห้ง


 
วิธีการห่อศพ

 จำเป็นต้องห่อผ้าให้ผู้ตาย โดยใช้ผ้าที่สะอาด อย่างน้อยผ้าผืนเดียว ที่สามารถปิดมิดชิด ตลอดทั้งร่างกายแต่การห่อศพที่ดีนั้น สำหรับผู้ชายใช้ผ่าห่อ ๓ ชิ้น ผู้หญิงใช้ผ้า ๕ ชิ้น ได้แก่ ผ้านุ่ง เสื้อผ้าคลุมศีรษะ หรือชุดสวมละหมาด   (ตะละกง)   ๔-๕   มีผ้าห่ออีก ๒ ชิ้น

 วิธีห่อ เอาผ้าที่เตรียมไว้ตัดยาวกว่าส่วนสูง ของผู้ตาย ปูลงไปเอาของหอม เช่น ไม้จันทร์ โรยลงบนผ้า และ เอาผ้าผืนที่สองปูทับผืนที่หนึ่ง เอาของหอมใส่ลงไปอีกแล้วก็เอาผ้าผืนที่สามปูทับอีกแล้วใส่ของหอม

 แล้วหลังจากนั้นก็ยกศพลงมาวางบนผ้าให้นอนหงาย เหยียดตรง เอามือทั้งสองมาวางบนหน้าอก

 

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้542
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1537
mod_vvisit_counterทั้งหมด10724005