Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
พุทธศาสนาในภูเก็ต PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008

๓.๒.๕ ศาสนา พิธีกรรมและความเชื่อ

ศาสนา

 เนื่องจากความหลากหลายของกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดภูเก็ต กลุ่มชนเหล่านั้นต่างนำเอาค่านิยม ความเชื่อและการนับถือศาสนาของเขาเข้ามาด้วย จึงทำให้วิถีชีวิตของชาวภูเก็ตมีความแตกต่างกันออกไปตามคำสอนและความเชื่อความศรัทธาในศาสนานั้นๆ ศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในจังหวัดภูเก็ตคือศาสนาพุทธ รองลงมาคือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาสิกข์ และศาสนาฮินดู

ศาสนาพุทธ

ในด้านพระพุทธศาสนา ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า พระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานในประเทศไทยราว พ.ศ. ๕๐๐ นับถืออย่างมั่นคงสืบมา อาณาจักรแรกที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา คือ อาณาจักรทวาราวดี ชนพื้นเมืองในแถบนี้ ที่ยอมรับนับถือคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ พวกมอญ ขอม ละว้า นับเป็นชนกลุ่มแรกในสุวรรณภูมิที่นับถือ พระพุทธศาสนา

 ส่วนในดินแดนภาคใต้นั้น ระยะที่ อาณาจักรศรีวิชัยเรืองอำนาจราว พ.ศ. ๑๓๐๐ ได้เข้าครอบครองดินแดนแถบนี้ และได้นำเอาพระพุทธศาสนานิกายมหายานเข้ามาเผยแผ่ ดังหลักฐานที่ปรากฏคือ พระบรมธาตุไชยา และพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะศรีวิชัย  ต่อมาในราว พ.ศ. ๑๘๐๐ สมัยอาณาจักรสุโขทัย พระภิกษุไทยซึ่งได้รับการศึกษาเล่าเรียน ณ ประเทศลังกาได้กลับมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เมืองนครศรีธรรมราช และได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ ครอบเจดีย์สมัยศรีวิชัย เป็นสถูปแบบลังกา ความเจริญของพระพุทธศาสนานิกายหินยานในภาคใต้จึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงได้ขยายอาณาเขตปกครองอาณาจักรไทยตลอดแหลมมลายู พระองค์เห็นความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่นครศรีธรรม-ราช จึงได้อาราธนาพระเถระจากนครศรีธรรมราชไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุโขทัย ฉะนั้นจึงพอสรุปได้ว่าพระพุทธศาสนานิกายหินยาน เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนตลอดแหลมมลายู

 

 สำหรับจังหวัดภูเก็ตก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในภูเก็ตนั้น ชาวภูเก็ตรุ่นแรก ๆ คงจะนับถือผี วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เวทมนต์ คาถา มาก่อน เพราะชนพื้นเมืองดั้งเดิมของภูเก็ตคือ เงาะซาไก และโอรังลาโอด ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานถาวร  กลุ่มชน กลุ่มต่อมาคือ พวกแมง หรือมอญ อินเดีย และนักแสวงโชคชาวจีนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต และได้ขับไล่ชนกลุ่มแรกออกไป (ปัจจุบันยังคงเหลือแต่กลุ่มชาวเล เท่านั้น) ต่อมากลุ่มคนไทยก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ต กลุ่มคนไทยได้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากกว่าพวกเดิม ประกอบกับกลุ่มคนไทยมีภาษา วัฒนธรรม ที่มั่นคงกว่าชนกลุ่มเดิม จึงสามารถยึดครองดินแดนนี้ไว้ได้ และกลุ่มคนไทยเป็นกลุ่มที่ยอมรับนับถือศาสนาพุทธ ทั้งนี้เพราะภูเก็ตเป็นเมืองเล็กในฐานะเมืองบริวารของเมืองนครศรีธรรมราช อิทธิพลศาสนาพุทธจะต้องแผ่มาถึงบริเวณนี้แน่นอน  แต่เนื่องจาก คนไทยยอมรับวัฒนธรรมคนอื่นได้ง่าย จึงได้รับเอาอิทธิพลของศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ ของคนดั้งเดิมเอามาผสมผสานกับความเชื่อของตน ฉะนั้นชาวพุทธในภูเก็ต จึงมีความเชื่อในเรื่อง พระนารายณ์ พระพรหม พระอิศวร ในขณะเดียวกัน ก็เคารพบูชา เซียนองค์ต่าง ๆ ที่มีอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นชาวพุทธ ที่ดี เมื่อถึงเทศกาล สำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธในภูเก็ต ก็จะนำอาหารคาวหวาน ไปวัด ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธ ศาสนา หิ้งพระในบ้านของชาวภูเก็ต จึงประกอบด้วย พระพุทธรูป ปุนเถ้ากง เซียนองค์สำคัญ ๆ ตลอดจนเจ้าแม่กวนอิม(ปุดจ้อ) และจะเป็นลักษณะเช่นนี้เกือบทุกบ้าน ยกเว้นเฉพาะบ้านที่เป็นคนไทยแท้ ก็จะมีพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว

หลักธรรมคำสอนที่สำคัญในพระพุทธศาสนา

 ไตรลักษณ์   ลักษณะสามอย่าง หมายถึงกฎธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วไปในสรรพสิ่ง ๓ ประการ ได้แก่ อนิจจา ความไม่เที่ยงแท้ ทุกขตา  ความทนอยู่ไม่ได้ อนัตตา ภาวะที่ไม่ใช่ตัวตน

 ขันธ์ ๕  ขันธ์ ๕ เป็นการแสดงถึงองค์ประกอบของชีวิต หรืออาจจะเรียกอีกอย่างว่าเบญจขันธ์ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

 อริยสัจ ๔  อริยสัจ ๔ แปลว่าความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ ทุกข์ ความจริงว่าด้วยทุกข์ สมุทัย ความจริงว่าด้วยเหตุแห่งทุกข์ นิโรธ ความจริงว่าด้วยการดับทุกข์ มรรค ความจริงว่าด้วยวิถีทางแห่งการดับทุกข์


พุทธสถาน

วัดมงคลนิมิต

สภาพฐานะและที่ตั้งวัด

 วัดมงคลนิมิตรเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๓ ตำบลตลาดใหญ่  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต
 บริเวณใกล้เคียง ทิศเหนือติดต่อกับเขตสวนของเอกชน  ทิศใต้ติดต่อกับถนนดีบุก ทิศตะวันออกติดต่อกับถนนเทพกระษัตรี  ทิศตะวันตกติดต่อกับถนนเยาวราช
 ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของบริเวณที่ตั้งวัดเป็นที่ราบเรียบ  ตั้งอยู่กลางใจเมืองภายในเขตเทศบาล

 ประชาชนนิยมเรียกวัดนี้ว่า “วัดกลาง” เพราะว่าตั้งอยู่ใจกลางเมือง วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๒๓ ในสมัยที่เกาะถลางยังเป็นมณฑลภูเก็จ สันนิษฐานกันว่าเป็นเจ้าเมืองเป็นผู้สร้างและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ.๒๔๒๘

 เหตุที่เปลี่ยนชื่อ “วัดกลาง” มาเป็น “วัดมงคลนิมิตร” เพราะวัดนี้อยู่ในใจกลางเมือง  ทั้งในสมัยเมื่อยังเป็นมณฑลภูเก็ตอยู่  ทางราชการใช้เป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทุก ๆ ปี  และเป็นที่ทำพิธีน้ำมุรธาภิเศก ในรัชกาลที่ ๔,๖ และ ๗ ตลอดจนรัฐพิธีและราชพิธีต่าง ๆ ก็ทำที่วัดนี้มาโดยตลอด  มายกเลิกเสียเมื่อคราวยุบเลิกมณฑลจึงนับว่าเป็นวัดที่ทางราชการและประชาชนนิยมนับถือว่าเป็นวัดที่ให้มงคลเกิดขึ้น  ทางราชการจึงได้ขอเปลี่ยนนามวัดนี้ใหม่ว่า “วัดมงคลนิมิตร” และได้รับพระราชทานยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงในปี พ.ศ.๒๔๙๖

 ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่จำนวน ๑๕ ไร่ ๑ งาน ๙๒ ตารางวา มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์คือโฉนดที่ ๒๙๓๕  นอกจากนั้นยังมีที่ธรณีสงฆ์อีก ๒ แปลง  แปลงที่ ๑ ตั้งอยู่ที่ตำบลตลาดใหญ่  อำเภอเมือง  จังหวัดภูเก็ต  มีเนื้อที่จำนวน ๙ ไร่ ๓ งาน ๒๔ ตารางวา มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ คือ โฉนดที่ ๓๗๕๑ และแปลงที่ ๒ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าเรือ อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์คือ โฉนดที่ ๑๗๐

เสนาสนะที่ปลูกสร้างของวัด

 พระอุโบสถ   สร้างประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐  และได้ปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒  สมัยอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๒  ครั้นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ ถึงแก่มรณภาพแล้วอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ก็ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อมาจนสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐   มีขนาดกว้าง ๑๒.๕๐ เมตร ยาว ๒๘ เมตร ลักษณะทั่วไป  เป็นโบสถ์ขนาดใหญ่ทรงไทยใช้อิฐโบราณแผ่นใหญ่ เป็นวัสดุในการก่อสร้างเสาสี่เหลี่ยมและผนังก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ  หลังคาหล่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กมุงด้วยกระเบื้องดินเผาสีน้ำตาลและเขียว  มีช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้สักลงรักปิดทอง  บานประตูทำด้วยไม้สักมี ๔ ช่อง และบานประตูแต่ละบานมีรูปแกะสลักเป็นลวดลายกนก  มีรูปยักษ์เฝ้าประตูเรียกกันว่า ยักษ์ทวารบาลขี่ราชสีห์และคชสีห์ข้างละบาน  ส่วนหน้าต่างทำด้วยไม้สักมีทั้งหมด ๑๒ ช่อง หน้าต่างทุกบานเขียนเป็นลายรดน้ำ  ทำด้วยทองธรรมชาติมีรูปเทพบุตรยืนถือพระขรรค์บ้าง  เป็นรูปเทวดาเหน็บพระขรรค์ยืนประนมมือบ้าง   ภายใต้รูปเทวดาเขียนเป็นภาพประกอบคำบรรยายภาษิตไทยโบราณ ๑ ภาษิต ทุกช่อง อาทิเช่น รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา  เป็นต้น

 พระวิหาร  สร้างเสร็จประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐ มีขนาด ๙x๙ เมตร ลักษณะทั่วไปเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบจีน โครงสร้างหลังคาไม้มุงด้วยกระเบื้องรางดินเผา  ปัจจุบันใช้เป็นตึกห้องสมุด

 หมู่พระเจดีย์ ๑๑ องค์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ภายในวัดมีพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง  ลักษณะโครงสร้างแบบลังกาวงศ์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน  ท่านเจ้าอาวาสองค์ก่อนได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากประเทศลังกา  บรรจุไว้ในพระเจดีย์และได้จัดงานฉลองเป็นการใหญ่เมื่อปี ร.ศ.๑๒๒

 ศาลาการเปรียญ  สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔  สมัยอดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนมาสมัยหลวงพ่อพระราชวิสุทธิมุนี  ได้บูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งมีขนาดกว้าง ๑๒.๒๐ เมตร ยาว ๑๘.๗๐ เมตร ลักษณะเป็นอาคาร ครึ่งตึกครึ่งไม้ชั้นเดียวยกพื้นใต้ถุนสูง ๑ เมตร โดยเสาหล่อด้วยคอนกรีต อาคารทำด้วยไม้ทั้งหลัง  หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงส์และพระพุทธรูปทองคำ

 กุฏิถาวร ๑๔ หลัง  สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑  ก่อสร้างด้วยไม้  หลังคามุงสังกะสี ๗ หลัง  ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒ หลัง และตึกคอนกรีต ๖ หลัง

 นอกจากนี้ยังมีหอระฆัง  อาคารโรงเรียนต่าง ๆ ตึกอาคารต่าง ๆ ที่ให้เช่าและห้องน้ำ ห้องส้วม  ซึ่งสร้างไว้อย่างเป็นระเบียบเป็นแถวเป็นแนวเป็นส่วน ๆ ไม่ปนกัน
ปูชนียวัตถุของวัด

 หลวงพ่อขาว  พระประธานประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางมารวิชัย  หน้าตักกว้าง ๖ ศอกคืบ สูง ๘ ศอก  ก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง  ชาวเมืองภูเก็ตเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อขาว” เพราะสมภารผู้สร้างเดิมได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นโดยการฉาบทาปูนขาวทั้งองค์  แล้ววางไว้กับพื้นธรรมดาไม่มีพระแท่นรองรับ  ต่อมาหลวงพ่อพระราชวิสุทธิมุนี เป็นเจ้าอาวาสได้จัดการยกขึ้นให้สูงโดยสร้างพระแท่นรองรับ  และซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ลงรักปิดทองเป็นพระพุทะรูปที่สวยงามคู่บ้านคู่เมืองภูเก็ตตลอดมา

 พระพุทธรูปปางลีลา  ประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ  พระพุทธรูปองค์นี้หล่อด้วยทองเหลืองปนนาค  เงิน ทอง ทั้งองค์ สูง ๓ เมตร ๒๕ เซ็นติเมตร

 พระพุทธรูปทองคำ  ประดิษฐานอยู่ในศาลาการเปรียญ มีอายุประมาณ ๗๐๐ ปี หน้าตักกว้าง ๒๘ นิ้ว  เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ถูกพอกไว้ด้วยปูน สันนิษฐานว่าเพื่อความปลอดภัยจากการถูกโจรกรรม  นายช่างในสมัยนั้นจึงได้เอาปูนพอกองค์พระไว้ แล้วแต่งพระพักตร์ให้ดูน่ากลัวทำให้คนมาบูชาเกิดความกลัวเมื่อเห็นพระพักตร์  ทั้งนี้เพื่อมิให้คนสนใจและมองเห็นเป็นธรรมดา  จนกระทั่งปีพ.ศ.๒๕๐๐  อันเป็นปีที่รัฐบาลในสมัยนั้นได้ทำการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
ทางวัดมงคลนิมิตรได้ปฏิสังขรณ์ซ่อมพระพุทธรูปต่าง ๆ ภายในวัด  บังเอิญพระพุทธรูปองค์นี้มีรอยปูนกระเทาะออกเล็กน้อย  ทำให้มองเห็นทองคำภายในองค์  ทางวัดได้กะเทาะออกปรากฏว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทองคำทั้งองค์สวยงามมาก

 รอยพระบาท  ประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์ของวัดเป็นพระพุทธบาทแกะสลักด้วยหินอ่อน มี ๔ รอย คือ แกะเป็นรอยใหญ่ ๑ รอย  แล้วมีรอยเล็ก ๆ ย่อส่วนลงมาเป็นลำดับอยู่ในรอยใหญ่อีก ๓ รอย ท่านพระครูศรีขรรัฐสมานคุณ (ไข่) อดีตเจ้าอาวาสวัดนี้ให้ช่างฝีมือแกะสลักสร้างไว้เมื่อพ.ศ.๒๔๔๔ เพื่อให้ประชาชนได้นมัสการ  ชาวบ้านเรียกว่าพระพุทธบาทสี่รอย

 บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์  มีอยู่ ๒ บ่อใหญ่ ชาวภูเก็ตเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำวิเศษ  กว้างประมาณ ๔ เมตร ลึกประมาณ ๑๐ เมตร น้ำใสเย็นสะอาดไม่เคยแห้งเป็นบ่อน้ำเลี้ยงชาวภูเก็ตทั้งเมือง

การศึกษาและการสาธารณสงเคราะห์

 วัดมงคลนิมิตรมีโรงเรียนปริยัติธรรม ๑ แห่ง นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนราษฎร์ของวัด  หอสมุดและพิพิธภัณฑ์ของวัดอีกด้วย

วัดอนุภาษกฤษฎาราม

 วัดอนุภาษกฤษฎาราม  ตั้งอยู่เลขที่ ๒๕  บ้านเก็ตโฮ่  ถนนวิชิตสงคราม หมู่ที่ ๑ ตำบลกะทู้  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินทั้งวัดเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๐๑  มีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง เนื้อที่ ๒๐ ไร่ ๓ งาน ๓๕ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๓๖๕

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่เนินเขา  สภาพแวดล้อมมีป่าไม้ธรรมชาติสงบเงียบ  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถหลังใหม่ขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๒๔.๕๐ เมตร สำหรับหลังเดิมเป็นอุโบสถไม่ถาวรสร้าง พ.ศ.๒๔๗๙  ศาลาการเปรียญกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๔๘๙  กุฎีสงฆ์ จำนวน ๑๖ หลัง  สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปโบราณสร้างมาพร้อมกับวัด ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อด้วน”

 วัดอนุภาษกฤษฎาราม สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๔๔  ไม่ทราบนามผู้สร้าง  เดิมมีนามว่า “วัดเก็ตโฮ่”  ตามชื่อบ้าน เมื่อวัดชำรุดทรุดโทรมประกอบกับที่ตั้งวัดเดิมเป็นที่ลุ่มถูกน้ำท่วม  กาลต่อมาจึงย้ายวัดมาสร้างขึ้นใหม่ในที่ตั้งปัจจุบัน  และได้มีนามวัดใหม่ว่า “วัดอนุภาษกฤษฎารม” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑  ในด้านการศึกษาทางวัดเปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐  นอกจากนี้ยังจัดให้มีห้องสมุดไว้บริการประชาชนทั่วไปอีกด้วย

วัดกะทู้

 วัดกะทู้  ตั้งอยู่เลขที่ ๗๖ บ้านกะทู้  ถนนวิชิตสงคราม  หมู่ที่ ๔  ตำบลกะทู้  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๓ งาน ๗๘ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๒๘๕ อาณาเขต ทิศเหนือยาว ๒๔๕ เมตร  ติดต่อกับภูเขา  ทิศใต้ยาว ๒๕๐ เมตร ติดต่อกับถนนวิชิตสงคราม  ทิศตะวันออกยาว ๑๗๐ เมตร ติดต่อกับที่เอกชน  ทิศตะวันตกยาว ๒๐๙ เมตร ติดต่อกับสถานที่ราชการ  สถานีตำรวจภูธรอำเภอกะทู้  และที่ว่าการอำเภอกะทู้  มีที่ธรณีสงฆ์ ๓ แปลง เนื้อที่ ๔๕ ไร่  โฉนดเลขที่ ๒๓๐

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบสูงลาดตามไหล่เขา มีลักษณะเป็น ๓ ชั้น  ชั้นสูงเป็นเขตพุทธาวาส  ชั้นกลางเป็นเขตสังฆาวาส  ชั้นต่ำสุดเป็นเขตจัดประโยชน์ทำสวน  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถกว้าง ๑๐.๕๐ เมตร  ยาว ๒๔ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๒๔   โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก  หลังคา ๓ ชั้น เป็นอุโบสถหลังใหม่  หลังเก่านั้นเป็นอาคารไม้ สร้าง พ.ศ.๒๔๙๒ ชำรุดหมดแล้ว  ศาลาการเปรียญกว้าง ๒๒ เมตร  ยาว ๓๖ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๑๙  โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก  หลังคาชั้นเดียว กุฎีสงฆ์จำนวน ๕ หลัง เป็นอาคารไม้และคอนกรีต สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานประจำวัด  ชาวบ้านเรียก “หลวงพ่อไม้เรียบ” นับว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณที่ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง

 วัดกะทู้  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๖  ไม่ปรากฏหลักฐานผู้ใดสร้างขึ้น  เดิมที่ตั้งวัดเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมลำบากในการประกอบศาสนกิจและบำเพ็ญกุศลของพุทธบริษัท  ต่อมาหลวงอำนาจนรารักษ์  ซึ่งเป็นกำนันในสมัยนั้น จึงได้ทำการย้ายวัดมาสร้างขึ้นใหม่ในที่ตั้งปัจจุบัน  ทำให้ทางวัดและชาวบ้านได้รับความสะดวกสบายขึ้น  จึงดำริที่จะขอเปลี่ยนนามวัดเพื่อสนองศรัทธาไว้เป็นอนุสรณ์แก่หลวงอำนาจนรารักษ์ต่อไป  วัดกะทู้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๔๙๔  เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ในด้านการศึกษาได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙  นอกจากนี้ยังจัดตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลขึ้นในวัดด้วย

วัดกิตติสังฆาราม

 วัดกิตติสังฆาราม  ตั้งอยู่เลขที่ ๑๓๔  บ้านกะตะ  หมู่ที่ ๒ ตำบลกะรน  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต   สังกัดคณะสงฆ์มหา นิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๔๘ ไร่ ส.ค.๑ เลขที่ ๔๓๙  อาณาเขต  ทิศเหนือติดต่อกับควนเขา  ทิศใต้ติดต่อกับที่สวนนายเอียด  ทิศตะวันออกติดต่อกับที่สวนนางซิบ  เครือบุตร  ทิศตะวันตกติดต่อกับที่สวนนางจิบ  ทวีสมาน  มีที่ธรณีสงฆ์ ๔ แปลง เนื้อที่ ๗๖ ไร่ ๑ งาน ๘๒ ตารางวา ส.ค.๑ เลขที่ ๔๓๗,๔๓๘, ๔๔๐,๔๔๑

 พื้นที่ตั้งวัด  เป็นที่ราบสูงลาดต่ำลงมาตามแนวเชิงเขา  สภาพแวดล้อมเป็นภูเขาและทะเล  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๔๗๔  โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กศาลา การเปรียญกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๔๒๔  เป็นอาคารคอนกรีตกุฎีสงฆ์จำนวน ๓ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมไม้สองชั้น ๒ หลัง  ชั้นเดียว ๑ หลัง และหอฉันอีกหลังหนึ่ง  สำหรับปูชนียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถพระเพลากว้าง ๔๒ นิ้ว  ที่ศาลาการเปรียญพระเพลากว้าง ๔๒ นิ้ว ที่หอฉันพระเพลากว้าง ๓๖ นิ้ว นอกจากนี้มีอนุสาวรีย์หลวงพ่อฉ้วนกว้าง ๔.๕๐ เมตร ยาว ๖ เมตร

 วัดกิตติสังฆาราม  สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๗๕  โดยมีพระเพชรเป็นประธานนำชาวบ้านสร้างและได้ปกครองวัดมาเป็นรูปแรก  เดิมมีนามว่า “วัดกะตะ” ตามชื่อบ้าน  ได้รับพระราชทานวิสุงคาม สีมาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๒  เขตวิสุง คามสีมากว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔   ในด้านการศึกษา เปิดสอนพระปริยัติธรรมโดยเฉพาะแก่พระนวกะทุกปี  นอกจากนี้ได้ให้ทางราชการสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่  ซึ่งมีอาคารเรียน ๒ หลัง

วัดขจรรังสรรค์

 วัดขจรรังสรรค์  ตั้งอยู่เลขที่ ๒๖ บ้านตลาดเหนือ  หมู่ที่ ๑ ตำบลตลาดเหนือ  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๘ ไร่ ๓๒ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๒๙๓๖   อาณาเขตทิศ เหนือยาว ๑๒๐ เมตร  ติดต่อกับที่ดินเลขที่ ๑๗๑–๒๓๒–๗๐๙–๑๘๐ ทิศใต้ยาว ๑๐๐ เมตร  ติดต่อกับถนนระนอง  ทิศตะวันออกยาว ๖๐ เมตร ติดต่อกับที่ดินเลขที่ ๒๓๓  ทิศตะวันตกยาว ๘๐ เมตร  ติดต่อกับที่ดินเลขที่ ๗๑๔  มีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง  เนื้อที่ ๖ ไร่ ๑ งาน ๑๕ ตารางวา

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบต่ำ  อาคารเสนา สนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๔๒๕  ก่ออิฐถือปูน  ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๐๐  เป็นอาคารชั้นเดียวพื้นคอนกรีต  กุฎีสงฆ์จำนวน ๘ หลัง  มีทั้งอาคารไม้ ครึ่งตึกครึ่งไม้  และตึกชั้นเดียวและสองชั้น  นอกจากนี้มีโรงครัว  ศาลาตักบาตร  โรงรถ  ศาลาตั้งศพบำเพ็ญกุศล  และหอระฆัง  สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถ  พร้อมด้วยพระพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวน ๗ องค์  นอกจากนี้มีเจดีย์ใหญ่ ๑ องค์  และเจดีย์เล็กอีก ๗ องค์ สร้างขึ้นพร้อมกับอุโบสถ

 วัดขจรรังสรรค์  สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๒๓  ไม่ทราบประวัติความเป็นมา  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  พ.ศ.๒๔๒๕  เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๐ เมตร  ยาว ๓๐ เมตร  ในด้านการศึกษาให้ทางราชการสร้างโรงเรียนเทศบาลวัดขจรรังสรรค์ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่

วัดโฆษิตวิหาร

 วัดโฆษิตวิหาร  ตั้งอยู่เลขที่ ๒๒๘  ถนนเทพกระษัตรี  หมู่ที่ ๖  ตำบลตลาดใหญ่  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๘๗ ไร่ ๔๐ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๒๙๓๘  อาณาเขต  ทิศเหนือ  มีกำแพงวัดเป็นแนวเขต  ทิศใต้ ติดต่อกับถนนและบ้านคุณอาธร  ทิศตะวันออกติดต่อกับที่ป่าสงวนแห่งชาติ  ทิศตะวันตกติดต่อถนนเทพกระษัตรี  มีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง  เนื้อที่ ๑๗ ไร่  กำลังดำเนินการออกโฉนดที่ดิน

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่เนินเขา  สภาพสิ่งแวดล้อมเป็นป่าไม้และภูเขา  มีพฤกษานานาพรรณ ทั้งไม้ดอกและไม้ใบมากมาย  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๑ เมตร  สร้าง พ.ศ.๒๕๐๖  เป็นอาคารคอนกรีตหลังคาสองชั้น  ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๓.๕๐ เมตร  ยาว ๑๕ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๐๖  เป็นอาคารคอนกรีต กุฎีสงฆ์จำนวน ๑๓ หลัง  ส่วนมากเป็นอาคารคอนกรีต  ชั้นเดียว ๗ หลัง  สองชั้น ๖ หลัง สำหรับปูชนียวัตถุ มีรอยพระพุทธบาทจำลอง พระสังกัจจายน์หน้าตักกว้าง ๑.๕๐ เมตร  สร้างด้วยทองเหลือง  นอกจากนี้ก็มีรูปหล่อของหลวงพ่อรอด  และพ่อท่านสงฆ์

 วัดโฆษิตวิหาร  สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๕  เริ่มแรกได้มีพ่อท่านรอดหรือ “หลวงพ่อรอด”  ถือรุกขมูลเดินธุดงค์จาริกมาจากต่างจังหวัด  มาปักกลดพำนักอยู่ที่เชิงเขา  สาธุชนทั้งหลายเกิดศรัทธาปสาทะในปฏิปทาและคำสอนของพ่อท่านรอด  จึงได้ร่วมใจกันสร้างวัดขึ้น  และนิมนต์ให้พ่อท่านรอดอยู่พำนักเป็นผู้นำปกครองวัดสืบมา  ระยะแรกชาวบ้านเรียกว่า “วัดโคกแสร้ง”  เพราะมีต้นแสร้งขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์  ต่อมาเรียกว่า “วัดโคกแชะ” และเปลี่ยนมาเป็น “วัดโฆษิตวิหาร”  ในภายหลัง  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๕  เขตวิสุงคามสีมากว้าง  ๘ เมตร ยาว ๒๑ เมตร ในด้านการศึกษาได้ให้ทางราชการสร้างโรงเรียนภูเก็ตเทคโนโลยีในที่วัดเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ มีอาคารเรียน ๔ หลัง พร้อมกับโรงอาหาร บ้านพักครู  และโรงรถ

วัดเจริญสมณกิจ

 วัดเจริญสมณกิจ  ตั้งอยู่ที่บ้านบางงั่ว  หมู่ที่ ๖  ตำบลตลาดใหญ่  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุตมีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา
โฉนดเลขที่ ๖๓๑๐  อาณาเขต  ทิศเหนือติดต่อกับที่ดินเลขที่ ๘  คูน้ำสาธารณะและเขาโต๊ะแซะ  ทิศใต้ติดต่อกับที่ดินเลขที่ ๘  และศาลจังหวัดภูเก็ต  ทิศตะวันออกติดต่อกับที่ดินเลขที่ ๘  และถนนโทรคมนาคมขึ้นเขาโต๊ะแซะ  ทิศตะวันตกติดต่อกับที่ดินเลขที่ ๒๕ และคูน้ำสาธารณะ

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นเนินเขา  บริเวณวัดตัดแบ่งเป็นชั้น ๆ ขึ้นไปตามที่เนินสูงของเขาโต๊ะแซะ  รวมเป็น ๙ ชั้น  มีอาคารเสนาสนะปลูกสร้างตามชั้นต่าง ๆ สำหรับอุโบสถได้ปลูกสร้างขึ้นบนชั้นที่ ๙ ลักษณะเด่นพอมองเห็นได้ชัด อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๑.๗๕ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๑๑  หลังคา ๓ ลด  ช่อฟ้าใบระกาประดับด้วยกระจกสี  ศาลาการเปรียญกว้าง ๙ เมตร  ยาว ๑๔ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๔๙๘  ยกพื้นสูงใต้ถุนด้านหน้าและหลังมีที่เก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง  กุฎีสงฆ์ จำนวน ๑๘ หลัง  ส่วนมากเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยา  สำหรับปูชนียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถ และที่ศาลาการเปรียญ

 วัดเจริญสมณกิจ  ชาวบ้านได้ร่วมใจกันสร้างขึ้น  เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔  ชั้นแรกได้ติดต่อซื้อที่ดินจากนายบวร  กุลวนิช เนื้อที่ ๘ ไร่  สร้างเป็นที่พักสงฆ์ขึ้นถวายพระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์  ซึ่งเป็นหัวหน้าพระวิปัสสนาฝ่ายอรัญวาสี  ถือรุกขมูลเป็นวัตร  เดินธุดงค์มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  พร้อมด้วยพระสหจร  ต่อมานายบวร  กุลวนิช  เกิดศรัทธาปสาทะในปฏิปทาของท่าน จึงได้มอบถวายที่ดินเพิ่มสมทบ เนื้อที่ ๔ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา รวมเป็นเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๓ งาน ๔ ตารางวา แล้วดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดต่อทางราชการ  และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ ๑๒เมษายน พ.ศ.๒๕๐๓  กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งเป็นวัดโดยถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๕  โดยที่บริเวณที่ตั้งวัดอยู่ระหว่างศาลจังหวัดภูเก็ตกับเขาโต๊ะแซะ  เหมาะในการเจริญสมณธรรม  จึงได้ขนานนามวัดให้สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศว่า “วัดเจริญสมณกิจ” ชาวบ้านนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดหลังศาล” เพราะวัดตั้งอยู่ด้านหลังของศาลจังหวัดนั่นเอง  วัดเจริญสมณกิจได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๘ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร ได้ผูกพัทธสีมาวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๑  โดยมีสมเด็จพระสังฆราช  (อุฏฐายีมหาเถระ) ทรงเป็นประธานสงฆ์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีนี้ด้วย

 ในด้านการศึกษา ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙  แผนกบาลี เริ่มในปี พ.ศ.๒๕๒๕  นอกจากนี้ยังจัดให้มีห้องสมุดไว้บริการอีกด้วย

วัดเชิงทะเล

 วัดเชิงทะเล  ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐๖  บ้านศาลา ถนนศรีสุนทร  หมู่ที่ ๑  ตำบลเชิงทะเล  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๖ ไร่  ๑ งาน ๙๓ ตารางวา  น.ส.๓ เลขที่ ๒๗๗ อาณาเขต  ทิศเหนือ  ยาว ๗๒ วา  ติดต่อกับที่ดินของนายนุ้ย  กษิรักษา  ทิศใต้ ยาว ๗๒ วา  ติดต่อกับถนนสายสี่แยกท่าเรือหาดสุรินทร์  ทิศตะวันออก ยาว ๘๐ วา  ติดต่อกับที่ประทานบัตรบริษัทขุดแร่เชิงทะเล  ทิศตะวันตก ยาว ๘๐ วา   ติดต่อกับถนนสาธารณะ  มีที่ธรณีสงฆ์ ๒ แปลง      เนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๑ งาน ๖๑ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๙๒๔ น.ส.๓ เลขที่ ๖๘๘

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ในย่านชุมชนหนาแน่น  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๒  เมตร สร้างพ.ศ.๒๔๘๕  ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๒๓  กุฎีสงฆ์ จำนวน  ๒ หลัง

 วัดเชิงทะเล เดิมชื่อ “วัดตีนเล” สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๐  โดยมีพระครูชโลปมคุณ (พลับ อินทสุวณโณ)  เป็นผู้นำชาวบ้านดำเนินการสร้าง  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒  เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๗๒ วา ยาว ๘๐ วา ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๒

วัดไชยธาราราม

 วัดไชยธาราราม  ตั้งอยู่เลขที่ ๗๐ บ้านฉลอง  ถนนเจ้าฟ้า  หมู่ที่ ๖  ตำบลฉลอง  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหายาน  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๒๐ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๒๓๑  อาณาเขต  ทิศเหนือ ติดต่อกับคลองและขุมเหมือง ทิศใต้และทิศตะวันออกติดต่อกับที่นา  ทิศตะวันตกติดต่อกับที่นาและถนนหลวง  มีที่ธรณีสงฆ์ ๔ แปลง เนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๒ งาน ๑๐ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๔๒,๓๑, ๒๓๒,๒๓๓

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม  สภาพแวดล้อมเป็นท้องนาของชาวบ้าน  อาคารเสนา สนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๑ เมตร ได้บูรณะครั้งหลัง พ.ศ.๒๕๒๕  ก่ออิฐถือปูน  หลังคา ๓ ชั้น  มีกำแพงแก้ว  ศาลาการเปรียญกว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๓๐ เมตร  สร้าง พ.ศ.๒๕๐๖  กุฎีสงฆ์จำนวน ๓ หลัง  เป็นอาคารคอนกรีตและอาคารไม้  สำหรับปูชนียวัตถุมีพ่อท่านเจ้าวัดหรือหลวงพ่อเจ้าวัด   ประดิษฐานอยู่ในวิหารซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด

 วัดไชยธาราราม  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐  มีนามว่า “วัดฉลอง” ตามชื่อบ้าน ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น “วัดไชยธาราราม”   ในสมัยหพ่อท่านแช่มหรือพระครูวิสุทธิวงศาจาริย์ญาณมุนี เป็นเจ้าอาวาส  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ.๒๓๘๖  ในด้านการศึกษาทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕  แผนกบาลีเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒  นอกจากนี้ยังได้เปิดโรงเรียนสอนเด็กก่อนเกณฑ์ เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๔  เคยให้สถานที่เรียนของโรงเรียนประชาบาลและเป็นที่ตั้งหน่วย อบต.อีกด้วย

วัดถาวรคุณาราม

 วัดถาวรคุณาราม  ตั้งอยู่เลขที่ ๕๖๓/๑  บ้านบางเหนียว  หมู่ที่ ๑๑  ตำบลตลาดใหญ่  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ตสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๖ ไร่ ๔๐ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๑๖๗๓๐, ๑๖๗๓๑  อาณาเขต  ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ยาว ๑๐๐ เมตร  ติดต่อกับที่ดินของนายติลก  ทิศตะวันออกเฉียงใต้ยาว ๑๑๒ เมตร  ติดต่อกับถนนสาธารณะ  ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ยาว ๘๘ เมตร  ติดต่อกับที่ดินนายติลก  ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยาว ๑๐๖ เมตร  ติดต่อกับถนนสาธารณะ

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม  สภาพสิ่งแวดล้อมอยู่ใกล้ชายทะเลมีตลาดและหมู่บ้าน  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีศาลาการเปรียญกว้าง ๑๒ เมตร  ยาว ๑๕ เมตร กุฎีสงฆ์จำนวน ๘ หลัง   นอกจากนี้มีกอฉัน หอระฆัง และโรงครัว

 วัดถาวรคุณาราม  สร้างขึ้นโดยความร่วมใจกันของชาวบ้าน  เดิมที่ตั้งวัดเป็นป่าช้า  ในปี พ.ศ.๒๔๙๗  ได้มีหลวงพ่อเคี่ยม  วรคุโณ  พร้อมด้วยพระสหจรได้จาริกมาพำนักอยู่ที่ป่าช้าอันเป็นที่ตั้งวัดนี้  เพื่อแสวงหาความสงบทางใจ  ชาวบ้านเกิดศรัทธาปสาทะในปฏิปทา  จึงได้ร่วมใจบริจาคที่ดินเพิ่มเติมเนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๘๒ ตารางวา  รวมเข้ากับที่ดินป่าช้าเดิม  และได้ดำเนินการขออนุญาตสร้างต่อทางราชการ  ได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘  กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเป็นวัดโดยถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙  เกี่ยวกับนามวัด คำว่า “ถาวร” มาจากนามสกุลของเจ้าของที่ดิน คือ นายติลก  ถาวรว่องวงศ์  คำว่า “คุณาราม” มาจาก “วรคุโณ”  ฉายาหลวงพ่อเคี่ยม และต่อด้วยคำว่า “อาราม” ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดแสนสุข”  เพราะเป็นสถานที่สะดวกสบายมีอากาศบริสุทธิ์  คนที่เข้ามาในวัดนี้แล้วรู้สึกสบายใจจึงเรียกกันจนติดปาก  วัดถาวรคุณาราม  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์  พ.ศ.๒๕๒๓  เขตวิสุงคามสีมากว้าง  ๔๐ เมตร  ยาว ๘๐ เมตร ในด้านการศึกษาทางวัดเปิดสอนพระปริยัติธรรม   เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๓  ขณะที่ยังเป็นที่พักสงฆ์อยู่

วัดท่าเรือ

 วัดท่าเรือ  ตั้งอยู่เลขที่ ๘๓ บ้านท่าเรือ  หมู่ที่ ๓  ตำบลศรีสุนทร  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๔๗ ไร่ ๒ งาน ๔ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๙๒๓  อาณาเขต  ทิศเหนือ  ติดต่อกับที่ตั้งโรงเรียนบ้านท่าเรือ  ทิศใต้ติดต่อกับถนนกั้นเขตที่ดินของชาวบ้าน  ทิศตะวันออกติดต่อถนนเทพกระษัตรี  ทิศตะวันตกติดต่อกับคลอง  มีที่ธรณีสงฆ์ ๑ แปลง  เนื้อที่ ๘ ไร่  ๒ งาน ๓ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๙๒๓

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบสูง  มีบ้านเรือนประชาชนโดยรอบ  การคมนาคมสะดวกเพราะมีถนนเทพกระษัตรีผ่านทางทิศตะวันออกของวัด  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๒๖  ภายในใช้หินอ่อนทั้งหมด  ประตูหน้าต่างแกะสลักเป็นภาพพระเวสสันดร  ศาลาการเปรียญ กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๙ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๒๓  ภายในใช้หินอ่อนทั้งหมด  หอสวดมนต์กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๗ เมตร  สร้าง พ.ศ.๒๕๒๕  เป็นอาคารคอนกรีต  กุฎีสงฆ์จำนวน ๑๕ หลัง  เป็นอาคารคอนกรีตทั้งหมด  ปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถขนาดพระเพลากว้าง๓ เมตร

 วัดท่าเรือ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๓๓๐  เดิมมีนามว่า “วัดนอก”  คู่กับ “วัดใน”  ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน  และปัจจุบันได้กลายสภาพเป็นวัดร้างไปแล้ว  สำหรับวัดนอกก็ได้กลายสภาพเป็นวัดร้างมาช่วงระยะหนึ่ง  ได้มีการบูรณะพัฒนาให้เป็นวัดมีพระสงฆ์ที่เจริญขึ้นมาตามลำดับจนทุกวันนี้  วัดท่าเรือได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๔  ในด้านการศึกษา ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๐  นอกจากนี้ยังจัดให้มีห้องสมุดไว้บริการพระสงฆ์และประชาชนทั่วไปอีกด้วย

วัดเทพกระษัตรี

 วัดเทพกระษัตรี  ตั้งอยู่เลขที่ ๑๙๐  ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๑ไร่ ๒ งาน ๘๐ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๐๕๘  อาณาเขต  ทิศเหนือ ยาว ๗ เส้น ๑๘ วา ติดต่อกับทางเกวียน  ทิศใต้ยาว ๓ เส้น ๑๘ วา ติดต่อกับเขตที่ธรณีสงฆ์  ทิศตะวันออกยาว ๓ เส้น  ติดต่อกับที่นาของชาวบ้าน  ทิศตะวันตก ยาว ๓ เส้น  ติดต่อกับทางเกวียน  มีที่ธรณีสงฆ์ ๓ แปลง  เนื้อที่ ๘๔ ไร่ ๓ งาน ๔๗ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๐๖๗,๓๐๗๓ และ ส.ค.๑

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบสูง  ไม่ไกลจากหมู่บ้าน  การคมนาคมสะดวก อาคารเสนาสนะต่างๆ  มี อุโบสถกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๔๘๒  มีสภาพทรุดโทรม  ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๕ เมตร กำลังดำเนินการก่อสร้างเป็นอาคารถาวร  กุฎีสงฆ์จำนวน ๔ หลัง  เป็นอาคารไม้มีสภาพทรุดโทรมเพราะสร้างมานาน  ปูชนียวัตถุมีหลวงพ่อพระนอน  สร้างมาหลายร้อยปี เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่มาก ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ และมีรูปปั้นหลวงพ่อเจ้าฟ้าหรือหลวงพ่อฝา  อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัด

 วัดเทพกระษัตรี  สร้างประมาณ พ.ศ. ๒๐๑๙  เดิมมีนามว่า “วัดดอน” ตามชื่อบ้าน  ซึ่งเป็นหมู่บ้านของท้าวเทพกระษัตรี  และท้าวศรีสุนทร  ที่รู้จักกันดีในทางประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่ท้าวเทพกระษัตรีได้นำชาวบ้านสู้รบกับข้าศึกจนได้รับชัยชนะ  และได้สร้างเสนาสนะเอาไว้  โดยมีหลวงพ่อฝา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อเจ้าฟ้า” เป็นผู้ปกครองวัดรูปแรก ซึ่งท่านมีส่วนในการปกป้องรักษาบ้านเมืองเป็นอย่างมาก ต่อมาทางราชการได้เห็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ท้าวเทพกระษัตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดนี้  จึงได้เปลี่ยนนามเสียใหม่ให้มีความหมายและเป็นอนุสรณ์แก่ผู้สร้างว่า “วัดเทพกระษัตรี”  วัดนี้ตั้งอยู่ห่างจากบ้านดอนอันเป็นบ้านเดิมของท้าวเทพกระษัตรี ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑๕ เส้น เป็นวัดแรกที่สร้างขึ้นในจังหวัดภูเก็ต  การพระราชทานวิสุงคามสีมาถือว่าได้รับมาประมาณ พ.ศ.๒๐๗๕ ในด้านการศึกษาได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘ นอกจากนี้ได้ให้ทางราชการสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในที่วัด และได้อุปการะช่วยเหลือทางโรงเรียนมาโดยตลอด

วัดพระทอง

 วัดพระทอง  ตั้งอยู่เลขที่ ๑๗๐ บ้านนาใน หมู่ที่ ๒ ตำบลเทพกระษัตรี  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ๓ งาน ๙๘ ตารางวา  โฉนดเลขที่ ๑๗๖๓  อาณาเขต  ทิศเหนือติดต่อกับทางสาธารณะ  ทิศใต้และทิศตะวันออกติดต่อกับที่มีการครอบครองและคลองสาธารณะ  ทิศตะวันตกติดต่อกับที่มีการครอบครองและถนนสาธารณะมีที่ธรณีสงฆ์ ๒ แปลง เนื้อที่ ๑๘ ไร่

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ  สภาพแวดล้อมมีถนนและคลองโดยรอบ  มีซอยเข้าวัดแยกมาจากถนนเทพกระษัตรีประมาณ ๕ เส้น อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๒๔ คอนกรีตทั้งหลัง  บานประตูหน้าต่างใช้ไม้แกะสลักภาพพุทธประวัติ ภายในอุโบสถมีภาพเขียนเรื่องพาหุง  พระเจ้าสิบชาติ  เวสสันดร พื้นปูด้วยหินอ่อน ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๕๒ เมตร  เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น หอสวดมนต์ชั่วคราวกว้าง ๑๖.๕๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๐๙  เป็นอาคารไม้ กุฎีสงฆ์จำนวน ๗ หลัง เป็นอาคารไม้และคอนกรีตชั้นเดียวและสองชั้น  สำหรับปูชนียวัตถุมีหลวงพ่อพระผุด  สร้างด้วยอิฐถือปูนพอกพระผุดทองคำไว้   พระประธานสร้างในปี พ.ศ.๒๕๒๑ อีกองค์หนึ่ง ขนาดพระเพลากว้าง ๔ ศอก พร้อมด้วยพระอัครสาวก  นอกจากนี้มีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญ กุฎีสงฆ์และโรงครัว จำนวน ๒๓ องค์ โบราณวัตถุมี ปืนโบราณ ๕ กระบอก วัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง  ๑ ลูก และเครื่องลายครามประมาณ ๕๐๐ ชิ้น ทางวัดได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บรักษาของ

วัดพระทอง สร้างประมาณ พ.ศ.๒๓๒๘  แรกเริ่มมีพระธุดงค์จากสุโขทัยมาปักกลดบริเวณนี้ เห็นพระพุทธรูปทองคำโผล่เพียงพระศอ  จึงคิดสร้างวัดขึ้น ชาวบ้านให้ความร่วมมือสร้างวัดจนสำเร็จ  เรียกนามวัดกันต่าง ๆ ว่า “วัดนาใน” ตามชื่อบ้านบ้าง “วัดพระผุด” หรือ “วัดพระหล่อคอ” ตามลักษณะพระพุทธรูปบ้าง ในที่สุดก็ได้ใช้นามว่า “วัดพระทอง”  เป็นนามวัดมาจนทุกวันนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๓  เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ทางราชการเคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีมุรธาภิเษกทุกรัชกาลตลอดมา  ในด้านการศึกษาได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ 

วัดพระนางสร้าง

 วัดพระนางสร้าง  ตั้งอยู่เลขที่ ๑๔๘ บ้านตะเคียน หมู่ที ๑ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๙ ไร่ ๑ งาน ๗๙ ตารางวา  ส.ค.๑  เลขที่ ๑๔๙ อาณาเขต ทิศเหนือ ยาว ๔ เส้น ๑๘ วา ติดต่อกับคูถนนบ้านดอน  ทิศใต้ยาว ๕ เส้น ๖ วา ติดต่อที่นา ทิศตะวันออกยาว ๓ เส้น ๑๕ วา ติดต่อกับถนนเทพกระษัตรี  ทิศตะวันตกยาว ๓ เส้น ๑๗ วา ติดต่อกับคูและที่นา  มีที่ธรณีสงฆ์ ๘ แปลง เนื้อที่ ๘๔ ไร่ ๑ งาน ๒๑ ตารางวา

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบมีบริเวณสวยงาม ใกล้ตลาดสดถลาง  มีโรงเรียนอยู่ในวัด ๒ โรง  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๑๗.๕๐ เมตร เป็นอุโบสถหลังเก่าสร้างโดยใช้อิฐและปูนขาว  บูรณะมาหลายครั้ง  ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๑๒ กุฎีสงฆ์จำนวน ๓ หลัง เป็นอาคารตึกและครึ่งตึกครึ่งไม้  นอกจากนี้มี หอฉัน หอระฆัง และฌาปนสถาน  สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานปางสมาธิจำนวน ๓ องค์ ภายนอกหุ้มด้วยปูนขาว พระเพลากว้าง ๓ เมตร ภายในองค์พระทั้งสาม มีพระสมัยศรีวิชัยสร้างด้วยโลหะผสมอายุกว่า ๑,๓๐๐ ปี เข้าใจว่าพอกขาวเพื่อซุกซ่อนข้าศึกไว้ ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธไสยาสน์ยาว ๓.๕๐ เมตร เล่ากันว่ามีพระพุทธรูปทองคำอยู่ภายในองค์พระ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์

 วัดพระนางสร้าง  สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๓๐๑  ตามตำนานเล่ากันสืบมาว่า มเหสีของกษัตริย์เมืองใดไม่ปรากฏแน่ชัด ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับมหาดเล็กจะถูกประหารชีวิต พระนางได้ขอผ่อนผันไปนมัสการพระบรมธาตุที่ศรีลังกาก่อน  เมื่อกลับมาได้แวะที่เกาะถลาง และได้สร้างวัดขึ้น  แล้วเดินทางกลับ  โดยที่พระนางมีเลือดสีขาวจึงเรียกกันว่า “พระนางเลือดขาว” และเรียกนามวัดว่า “วัดพระนางสร้าง” ชาวบ้านนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดนาสร้าง”  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ในด้านการศึกษาทางวัดได้ให้ส่วนราชการสร้างโรงเรียนประถมศึกษา  และให้เอกชนสร้างโรงเรียนประถมศึกษา

วัดมงคลวราราม

 วัดมงคลวราราม  ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙ บ้านในยาง หมู่ที่ ๑ ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๒๓ ไร่ ๒๐ ตารางวา  น.ส.๓ ก. เลขที่ ๔๑๐ อาณาเขต ทิศเหนือ ยาว ๔ เส้น ๕ วา ติดต่อกับที่นาเอกชน ทิศใต้ยาว ๔ เส้น ๕ วา ติดต่อกับที่สวนของนายชวลิต  ทิศตะวันออกยาว ๖ เส้น ๘ วา ติดต่อกับหมู่บ้านในยาง  ทิศตะวันตกยาว ๖ เส้น ๑๖ วา ติดต่อกับที่นาซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดมงคลวราราม มีที่ธรณีสงฆ์ ๙ แปลง เนื้อที่ ๘๗ ไร่ ๒ งาน ๓๑ ตารางวา น.ส.๓ ก. เลขที่ ๔๑๐,๔๙๖ และหลักฐานเป็นทะเบียนที่ดิน

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบต่ำบ้างสูงบ้าง สภาพแวดล้อมมีอุทยานแห่งชาติ ภูเขา ท่าอากาศยาน ทะเลอันดามัน และหาดทรายที่สวยงาม การคมนาคมสะดวก อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี  อุโบสถกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๒๒  โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคา ๒ ชั้น หน้าบันเป็นภาพปั้นเรื่องพุทธประวัติ ประตู ๔ ช่อง หน้าต่าง ๘ ช่อง พื้นปูด้วยหินอ่อน  ศาลาการเปรียญกว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๔๐.๕๐ เมตร อาคาคลังเก่าใช้เป็นหอสวดมนต์  กุฎีสงฆ์จำนวน ๘ หลัง  เป็นอาคารไม้และคอนกรีต ๒ ชั้น และชั้นเดียว  สำหรับปูชนียวัตถุมีรูปปั้นหลวงพ่อหนังเสือ  หลวงพ่อสมภารเจ้าวัด และหลวงพ่ออุปัชฌาย์รอด

 วัดมงคลวราราม   สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๐  เดิมมีนาม “วัดในยาง”  ตามชื่อบ้าน  สันนิษฐานว่าชาวบ้านร่วมใจกันสร้างขึ้น  โดยมีหลวงพ่อหนังสือเป็นประธาน และได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก  บริเวณตั้งวัดเดิมเป็นป่าไม้นานาพรรณ  และมีสัตว์ป่านานาชนิด  ในสมัยของพระสมุห์เริง นนทิโย  เป็นเจ้าอาวาส  ได้เปลี่ยนจากนามเดิมเป็น “วัดมงคลวราราม” สืบต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕  เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๖  ในด้านการศึกษาได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐นอกจากนี้ทางวัดยังได้สร้างโรงเรียน ประชาบาลให้แก่ทางราชการ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ขึ้นในที่ดินวัดมงคลวราราม  และจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้นในปีพ.ศ. ๒๕๒๒ 


วัดไม้ขาว

 วัดไม้ขาว  ตั้งอยู่ที่บ้านไม้ขาว  หมู่ที่ ๔  ตำบลไม้ขาว  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติ  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๗ ไร่  ๓ งาน  ๒ ตารางวา  อาณาเขต  ทิศเหนือยาว ๓ เส้น ๖ วา  ติดต่อกับที่สวนของนายมาต  ทิศใต้ยาว ๓ เส้น ๖ วา ติดต่อกับที่สวนของนางเกี้ยม  ทิศตะวันออกยาว ๒ เส้น ๑ วา  ติดต่อกับที่สวนของนายเต้  ทิศตะวันตกยาว  ๒ เส้น  ๑๔ วา ๓ ศอก ติดต่อกับพรุไม้ขาว

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ  สภาพแวดล้อมเป็นที่สวนของเอกชนโดยรอบ  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถ  ศาลาการเปรียญ กุฎีสงฆ์

 วัดไม้ขาว  ได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๘  โดยมีนางบี๋  แปลกฤทธิ์  เป็นผู้ดำเนินการสร้างวัดในที่ดินของตนเอง  กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐  เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาเพื่อพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ศึกษาเพื่อปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริง  จึงมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษามากตลอดปี

 วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒ กันยายน  พ.ศ.๒๕๐๑

วัดลัฏฐิวนาราม

 วัดลัฏฐิวนาราม  ตั้งอยู่เลขที่ ๕๓ บ้านโคกโตนด ถนนเจ้าฟ้า หมู่ที่ ๘  ตำบลฉลอง  อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สังกัดคณะสงฆ์มหา นิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๒๐ ไร่ อาณาเขต  ทิศเหนือ  ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกติดต่อกับที่นาชาวบ้าน  ทิศใต้ติดต่อกับคูน้ำ

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบต่ำ  สภาพแวดล้อมเป็นที่นา  ถนนและคูน้ำ  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๗ เมตร สร้าง พ.ศ. ๒๕๐๐   ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๔๘๐  เป็นอาคารไม้สองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้  หอสวดมนต์กว้าง ๑๑ เมตร  ยาว  ๑๕ เมตร  สร้าง พ.ศ.๒๔๘๒  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  กุฎีสงฆ์จำนวน ๔ หลัง  ส่วนมากเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  นอกจากนี้มีศาลาบำเพ็ญกุศลและฌาปนสถาน  สำหรับปูชนียวัตถุมี  พระประธานในอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐  พระประธานที่ศาลาการเปรียญมีผู้ถวายไว้เมื่อ พ.ศ.  ๒๕๑๐

 วัดลัฏฐิวนาราม นับเป็นวัดโบราณสถานสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๑ ต่อมาได้โยกย้ายเสนาสนะไปสร้างวัดใหม่ขึ้นมาชื่อ “วัดไชยธาราราม” หรือ “วัดฉลอง”  ทำให้ที่วัดเดิมต้องกลายสภาพเป็นวัดร้างชั่วระยะเวลาหนึ่ง  ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า “โคกวัด” ได้ใช้เป็นป่าช้าเป็นที่รกร้างป่าไม้หนาแน่น  ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๔๖  มีพระธุดงค์มาปักกลด  ชาวบ้านเลื่อมใสจึงได้สร้างเสนาสนะถวาย  และได้บูรณะพัฒนาขึ้นเป็นหลักฐานมั่นคงตามลำดับ  จนกระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในปี  พ.ศ. ๒๕๐๗  วัดลัฏฐิวนารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๐  ในด้านการศึกษาทางวัดเปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐  และได้ให้ทางราชการสร้างโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นในวัด  นอกจากนี้ยังจัดให้มีพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดไว้บริการประชาชนอีกด้วย

วัดวิชิตสังฆาราม

 ตั้งอยู่เลขที่ ๑ ถนนนริศร  หมู่ที่ ๖ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๑ งาน ๗๒ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๖ อาณาเขต ทิศเหนือติดต่อกับที่ดินจังหวัด  ทิศใต้ติดต่อกับถนนนริศร ทิศตะวันออกติดต่อกับซอยเทศา  ทิศตะวันตกติดต่อกับศาลาพ่อตาโต๊ะแซะ

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ไหล่เขา  ได้ปลูกสร้างอาคารเสนาสนะตามไหล่เขา  ซึ่งแบ่งเป็น ๓ ชั้น ลดหลั่นกัน คือ ชั้นที่ ๑ เป็นที่ตั้งศาลาการเปรียญ ชั้นที่ ๒ เป็นที่ตั้งอาคารเรียนพระปริยัติธรรม  ชั้นที่ ๓ เป็นที่ตั้งอุโบสถ หอประดิษฐานหลวงพ่อขาว

และหมู่กุฎีสงฆ์  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ก่ออิฐถือปูนหลังคาสองชั้น ศาลาการเปรียญกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๑๗  กุฎีสงฆ์จำนวน ๑๘ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น นอกจากนี้มีอาคารเรียนพระปริยัติธรรมและหอประดิษฐานหลวงพ่อขาว และเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ้ง พ.๖.ฮ.ถม เอี่ยมเอกดุลย์  เป็นผู้สร้างถวายไว้เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖

 วัดวิชิตสังฆาราม  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๑   ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับการสร้างวัด  ชาวบ้านเรียกว่า “วัดควน” มาตั้งแต่แรกที่สร้างวัด  ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๗  ในด้านการศึกษาได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔

วัดศรีสุนทร

 ตั้งอยู่เลขที่ ๒๒  บ้านลิพอน  หมู่ที่ ๕  ตำบลศรีสุนทร  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่  ๒๑ ไร่ ๒๕ ตารางวา  อาณาเขต ทิศเหนือติดต่อกับถนนเทพกระษัตรี  ทิศใต้  ติดต่อกับที่ดินของนายบัณฑิต  คันฉ่อง  ทิศตะวันออก  ติดต่อกับที่ดินของนายเวียน   เพชรวงศ์  ทิศตะวันตก  ติดต่อกับที่ดินของนายเส้ง  มีที่ธรณีสงฆ์ ๓ แปลง  เนื้อที่ ๑๐ ไร่  ๓ งาน ๒๐ ตารางวา  น.ส.๓ เลขที่ ๑๖๘,๑๖๙,๔๐๗

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่เนินสูง  สภาพแวดล้อมเป็นป่าไม้มีถนนเทพกระษัตรีเป็นทางคมนาคมสะดวก  อยู่ทางทิศเหนือซึ่งเป็นด้านหน้าวัด  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร แบบโบราณมีฝาผนังเต็มเพียงด้านหลังด้านเดียว  อีกสามด้านมีเพียงครึ่งเดียว ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๖ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๑๙  เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น  กุฎีสงฆ์ จำนวน ๒๓ หลัง  เป็นอาคารไม้และครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น  สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถ

 วัดศรีสุนทร  สร้างขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๓๓๕  เดิมมีนามว่า “วัดบ้านพอน” ตามชื่อบ้าน  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๕๐ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ในด้านการศึกษาทางวัดจัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๙  นอกจากนี้ยังจัดให้มีห้องสมุดบริการประชาชน หน่วยฌาปนกิจสงเคราะห์ และโรงเรียนวัดศรีสุนทร (มิตรภาพ ๑๕ )  อีกด้วย

วัดสว่างอารมณ์

 ตั้งอยู่เลขที่ ๒๗๖  บ้านราไวย์ ถนนวิเศษ ซอยสันติ  หมู่ที่ ๒ ตำบลราไวย์  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต   สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๓ งาน ๙๓ ตารางวา ส.ค.๑ เลขที่ ๒๔๓  อาณาเขตทิศเหนือยาว ๑๔๐ วา ติดต่อกับที่นาของนายขัน  ทิศใต้ยาว ๑๒๕ วา  ติดต่อกับที่สวนนายร่วง  มณีศรี  ทิศตะวันออกยาว ๑๒๐ วา ติดต่อกับที่สวนนายเขียว  อารีรอบ  ทิศตะวันตกยาว ๑๒๐ วา ติดต่อกับที่นายบ่าว มีที่ธรณีสงฆ์  ๒ แปลง เนื้อที่ ๔๐ ไร่ ๔๙ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๑๒๖๐๔ และ ส.ค.๑ เลขที่ ๑๐๓

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบต่ำ  สภาพแวดล้อมเป็นที่สวน ที่นาและภูเขา   อาคารเสนาสนะต่างๆ มี อุโบสถกว้าง  ๘ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๐๙   โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาสองชั้น ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๒ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๔๖๘ เป็นอาคารคอนกรีตถาวร  วิหารกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร กุฎีสงฆ์จำนวน ๖ หลัง เป็นอาคารคอนกรีตถาวรและครึ่งตึกครึ่งไม้  นอกจากนี้มีศาลาบาตร  ศาลาตั้งศพบำเพ็ญกุศล ฌาปนสถานและหอระฆัง  สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานพระเพลากว้าง ๒ เมตร  และมีพระพุทธรูปอื่นอีก ๕ องค์  ขนาดพระเพลากว้าง ๑ เมตร เท่ากันหมด

 วัดสว่างอารมณ์แรกเริ่มสร้างวัดได้มีพระบุญรอด  ธมมกาโม เดินธุดงค์มาจากอำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ในปี พ.ศ.๒๓๘๐  ชาวบ้านศรัทธาจึงได้นิมนต์ให้อยู่และสร้างที่พักถวายสงฆ์   ต่อมาได้สร้างเสนาสนะเพิ่มเติมจนเป็นหลักฐานมั่นคงมีฐานะเป็นวัดสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๘๕  ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดราไวย์” ตามชื่อบ้าน  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๙  เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓  ในด้านการศึกษาได้เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๒ นอกจากนี้เปิดโรงเรียนสอนเด็กก่อนเกณฑ์ เริ่มเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓  ให้ทางราชการสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในที่ดินประมาณ ๔ ไร่ 

วัดสุวรรณคีรีเขต

 ตั้งอยู่ที่บ้านกะรน ถนนปฏัก  หมู่ที่ ๑  ตำบลกะรน  อำเภอเมืองภูเก็ต  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๙๓.๑๐ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๒๙๖๓๖  อาณาเขต  ทิศเหนือติดต่อกับที่ตั้งโรงเรียน  ทิศใต้ติดต่อกับถนนหลวง  ทิศตะวันออกติดต่อกับที่นายสงวน  ทิศตะวันตกติดต่อกับถนนหลวง  มีที่ธรณีสงฆ์ ๖ แปลง เนื้อที่ ๒๔ ไร่ ๒ งาน ๕๗.๔๐ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๒๙๖๓๗นอกนั้นเป็นส.ค.๑

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบแวดล้อมไปด้วยทางคมนาคมและบ้านเรือนประชาชน  อาคารเสนา สนะต่าง ๆ มีอุโบสถกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๕ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๑๕  กุฎีสงฆ์จำนวน ๔ หลัง ส่วนมากเสาหล่อด้วยคอนกรีต  เครื่องบนเป็นไม้  สำหรับปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปในอุโบสถ ๓ องค์  ที่ศาลาการเปรียญจำนวน ๑๗ องค์  นอกจากนี้มีพระเชียงแสน  พระสุโขทัย และพระนารายณ์ทรงโคประดิษฐานอยู่ที่กุฎีหลังใหญ่

 วัดสุวรรณคีรีเขต  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒  เดิมมีนามว่า “วัดกะรน” ตามชื่อบ้าน  ได้เปลี่ยนเป็น “วัดสุวรรณคีรีเขต”  ในภายหลัง  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๒  เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร ในด้านการศึกษาทางวัดเปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓ เปิดโรงเรียนสอนเด็กก่อนเกณฑ์ในปี พ.ศ.๒๕๒๖

วัดสุวรรณคีรีวงก์

 วัดสุวรรณคีรีวงก์  ตั้งอยู่เลขที่ ๓ บ้านป่าตอง  หมู่ที่ ๑ ตำบลป่าตอง  อำเภอกะทู้  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๗ ไร่
 อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๘ เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีต

ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๗ เมตร โครงสร้างเป็นอาคารคอนกรีต กุฎีสงฆ์จำนวน ๗ หลัง  โครงสร้างเป็นอาคารคอนกรีต ๒ หลัง  อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ๓ หลัง อาคารไม้ ๒ หลัง หอระฆังโครงสร้างเป็นคอนกรีต  สำหรับปูชนียวัตถุมีพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานอยู่ภายในอาคารคอนกรีตที่สร้างไว้โดยเฉพาะ

 วัดสุวรรณคีรีวงก์  สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๑๒  ไม่ปรากฏนามผู้สร้างว่าเป็นผู้ใด เดิมมีนามว่า “วัดป่าตอง” ตามชื่อบ้าน  ได้เปลี่ยนเป็น “วัดสุวรรณคีรีวงก์” ในภายหลังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๓๕  ในด้านการศึกษาได้สร้างอาคารเรียนในที่วัด ๒ หลัง และจัดให้มีห้องสมุดสำหรับบริการประชาชนอีกด้วย

วัดโสภณวนาราม

 วัดโสภณวนาราม  ตั้งอยู่เลขที่ ๘๒   บ้านป่าคลอก  ถนนป่าคลอก  หมู่ที่ ๒  ตำบลป่าคลอก  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๗ ไร่  ๒ งาน ๑๖ ตารางวา  อาณาเขต  ทิศเหนือ  ยาว ๑๓๖ วา ติดต่อกับที่ดินของเอกชน  ทิศใต้ยาว ๓๓ ตารางวา ๒๐๖ วา  ติดต่อกับที่ราชพัสดุ  ทิศตะวันออกยาว ๒๑๖ วา  ติดต่อกับที่นาของเอกชน  ทิศตะวันตกยาว ๓๔ วา ติดต่อกับถนนสายป่าคลอก  มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๒ แปลง เนื้อที่ ๗ ไร่ ๖๓ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๒๐๖๕,๒๐๖๖

 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบมีต้นมะพร้าวเกือบทั่วบริเวณวัด  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๔๓๐  โครงสร้างเป็นไม้หลังคามุงสังกะสี  ศาลาการเปรียญกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้าง พ.ศ.๒๕๑๖  เป็นอาคารคอนกรีต กุฎีสงฆ์จำนวน ๓ หลัง  นอกจากนี้ยังมีหอฉัน  และฌาปนสถานอีกด้วย  สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถจำนวน ๓ องค์  ขนาดพระเพลา ๑.๕๐ เมตร  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นมีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี

 วัดโสภณวนาราม  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐  โดยมีท่านทิดนุ้ยเป็นผู้นำสร้างวัดขึ้นมา  แล้วขนานนามว่า “วัดป่าคลอก” ตามชื่อบ้าน  ต่อมาเมื่อได้มีการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น  จึงได้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “วัดโสภณวนาราม” ใช้มาตราบเท่าทุกวันนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๖  เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๒๕ เมตร ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้517
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1537
mod_vvisit_counterทั้งหมด10723980