Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
การกินโต๊ะจีนในงานมงคล PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008
๕.๒(๔) (ชุด ๒) เอกลักษณ์วัฒนธรรมอาหารการกิน
การกินโต๊ะจีนในพิธีมงคลสมรส

 ในสมัยโบราณ (ก่อน พ.ศ.๒๕๐๐) เมื่อมีการมงคลสมรสระหว่างคนไทยเชื้อสายจีน เจ้าภาพจะนำบัตรไปเชิญแขกให้มาร่วมรับประทานอาหารในงานมงคลสมรส  ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องชวนเพื่อนบ่าว(เกี๋ย) ๒ คน เป็นเพื่อนเพื่อนำบัตรไปเชิญ(แจก)แขกผู้ใหญ่หรือญาติสนิทที่เจ้าบ่าวให้ความเคารพนับถือถึงที่บ้าน  ซึ่งจะวางบัตรเชิญพร้อมด้วยบุหรี่ ๒ มวน

 การแจกบัตรเชิญในสมัยก่อน จะเชิญเฉพาะพ่อบ้านเท่านั้น จะไม่เชิญลูกชาย ยกเว้นเพื่อนชายที่สนิทของเจ้าบ่าวจึงจะได้รับเชิญไปเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว(เกี๋ย)

 ส่วนแม่บ้านหรือลูกสาว จะได้รับเชิญหรือบอกกล่าวด้วยวาจา(บอกกินงาน)จากเจ้าภาพทั้ง ๒ ฝ่าย  เพื่อให้ไปร่วมรับประทานอาหาร(กินงาน)  ลูกสาวที่ได้รับเชิญจะช่วยงานครัว เพราะสมัยก่อนนิยมจัดพิธีมงคลสมรสที่บ้านของคู่สมรส  ซึ่งส่วนมากจะจัดที่บ้านเจ้าบ่าว


การเตรียมอาหารแบบเลี้ยงโต๊ะจีน

 เมื่อใกล้วันมงคลสมรส  ชาวไทยเชื้อสายจีนฝ่ายเจ้าภาพ ต้องเตรียมอาหารแห้งหรืออาหารสำเร็จรูปประเภทบรรจุกระป๋องไว้ หรือมีการเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ดไก่ไว้ล่วงหน้า  เพื่อจะได้นำเนื้อหมู เป็ด ไก่ เหล่านั้นมาปรุงอาหารคาว

การเตรียมอาหารหวานคาวและผลไม้

 เจ้าภาพฝ่ายเจ้าสาวจะเลี้ยงแขกบ้างเล็กน้อย ในกรณีที่จัดงานเลี้ยงใหญ่ที่บ้านเจ้าบ่าว  การเลี้ยงแขกจำนวนมากมักเป็นฝ่ายเจ้าบ่าว เมื่อถึงกำหนดวันเวลางาน เจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องจัดทำอาหารหวานคาว  ผลไม้กระป๋องเป็นจำนวนมากให้พอแขกเหรื่อทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวที่จะมาร่วมพิธี

อาหารโต๊ะจีนในพิธีมงคลสมรส

 เจ้าภาพต้องจัดอาหาร ๑ ชุดต่อ ๑ โต๊ะ  แต่ละรายการมี ๑ จาน  คือ ไก่ต้ม (แป๊ะสะ) หั่นเป็นชิ้น, เป็ดตุ๋นเปื่อยทั้งตัว, เกี้ยนหมูทอด (เจี้ยน), หูปลาฉลาม ปู เนื้อไก่ เห็ดหอม (หู่ฉี่), ผัดถั่วลันเตากระป๋องกับเครื่องในหมู-ไก่,  เนื้อหมูตุ๋นกับเห็ดหอม(ห้องบ้ะ), แกงจืดกระเพาะหมูกับหอยเป๋าฮื้อ และมีน้ำต้มสำหรับล้างถ้วยกับช้อนอีก ๑ ถ้วย

 อาหารที่เป็นของหวาน เจ้าภาพนิยมเลี้ยงผลไม้กระป๋อง  แต่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในบางโอกาส  เจ้าภาพจะเลือกเพียง ๑ รายการจากของหวานดังต่อไปนี้ คือ ลิ้นจี่กระป๋อง (ไล่จี้) ลำไยกระป๋อง (เง่งเง้ง) หรือถั่วลิสงต้มใส่น้ำตาล (ถ่อต่าวหยีนถึ้ง)


อาหารขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม

 ในช่วงพบปะสนทนาระหว่างแขกเหรื่อเพื่อรอเวลาฤกษ์ เจ้าภาพจะเสิร์ฟของขบเคี้ยวซึ่งประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้ คือ กล้วยข้าว เมล็ดแตงโม ส้มโอ อ้อยหั่นชิ้นเล็ก ๆ  ส้มเขียนหวาน อย่างละ ๒ จานมีน้ำส้ม-น้ำหวาน (น้ำบิหลิด) ๔ ขวด  และเหล้า ๑ ขวดใหญ่


สิ่งของประกอบการจัดโต๊ะจีน


 สิ่งของประกอบเพื่อจัดเป็นโต๊ะจีน  ๑ ชุด ให้แขกนั่งได้ ๘ คน  ประกอบด้วย โต๊ะ ๑ ตัว เก้าอี้ ๘ ตัวหรือม้านั่งยาว ๔ ตัว(นั่งได้ตัวละ ๒ คน) ผ้าปูโต๊ะสีแดง ๑ ผืน ตะเกียบ ๘ คู่  แก้วน้ำ ๘ ใบ ถ้วยซุปขนาดเล็ก ๘ ใบ และช้อนกระเบื้อง ๘ คัน
 พ่อบ้านฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมจัดโต๊ะเก้าอี้พร้อมอุปกรณ์ ทุกโต๊ะปูด้วยผ้าแดง  และจะต้องวางถ้วยเล็ก,ช้อน,ตะเกียบ ตรงหน้าผู้นั่ง ส่วนกล้วยข้าว, ส้มเขียวหวาน, อ้อย, ส้มโอ, เมล็ดแตงโม, น้ำส้ม, น้ำหวาน และแก้วน้ำ จะต้องวางที่มุมโต๊ะทั้งสี่มุม 

การเชิญแขกมาร่วมงานเลี้ยง


 เมื่อฝ่ายเจ้าภาพได้กำหนดไว้ว่าจะเลี้ยงแขกเวลา ๑๙.๓๐ น. ฝ่ายเจ้าบ่าวกับเพื่อนเจ้าบ่าวจะต้องไปเชิญแขกที่อยู่ใกล้บ้านถึงที่บ้านแขกที่อยู่ใกล้เคียงอีกครั้ง ถ้ามีรถยนตร์ก็ใช้รถยนตร์ไปรับ แขกที่อยู่ห่างไกล แขกจะเดินทางไปเอง หากผู้ใหญ่ที่ได้รับเชิญไม่สามารถไปร่วมงานได้ จะมอบให้ลูกชายไปงานแทน และจะห่ออั้งเป้าฝากไปช่วยงาน ๑ ห่อ เรียกว่าล่าวยั้วะ
 เวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. ฝ่ายเจ้าภาพจะจุดประทัดหนึ่งกล่องเป็นสัญญาณ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมว่าเริ่มเบิกฤกษ์งาน คือเปิดงานกินเลี้ยง (ขุ่ยโต๊ะ)  เจ้าภาพจะทยอยเสิร์ฟอาหารออกมาตามลำดับดังนี้
 ตามธรรมเนียมของชาวจีนโบราณจะเสิร์ฟไก่ต้ม(แป๊ะสะ) เป็นจานเบิกฤกษ์ และต้องวางอยู่บนโต๊ะตลอดไป ห้ามยกออกโดยเด็ดขาด จนกว่าจะเสร็จงานเลี้ยง

ลำดับการเสิร์ฟอาหารแบบโต๊ะจีน


 อาหารชุดที่ ๑  ไก่ต้มแป๊ะสะหั่นเป็นชิ้น     ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๒  เป็ดตุ๋นเนื้อเปื่อย     ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๓  เกี้ยนทอด (เจี้ยน)     ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๔ หูปลาฉลาม,ปู,เนื้อไก่,เห็ดหอม (หู่ฉี่)  ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๕  ผัดถั่วลันเตากระป๋องกับเครื่องในหมู-ไก่  ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๖  เนื้อหมูสามชั้นตุ๋นเปื่อยกับเห็ดหอม (ห้องบ๊ะ) ๑ จาน
 อาหารชุดที่ ๗  แกงจืดกระเพาะหมูกับหอยเป่าฮื้อ   ๑ ถ้วย
   น้ำร้อนสำหรับล้างถ้วยกับช้อน   ๑ ถ้วย
 ของหวานชุดที่ ๘ ลิ้นจี่,ลำไย หรือถั่วลิสงต้ม อย่างใดอย่างหนึ่ง ๑ ถ้วย
 
อาหารในงานเลี้ยงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นชุดเล็กหรือชุดใหญ่ สามารถลดลงตามฐานะของเจ้าภาพ ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น  เมื่อได้ทยอยอาหารออกมาวางครบตามจำนวนที่กำหนด เจ้าภาพจะจุดประทัดอีกหนึ่งกล่องเพื่อเป็นสัญญาณเลิกงานเลี้ยง

มรรยาทในการกินโต๊ะจีนในงานมงคลสมรส

 เมื่อได้สัญญาณประทัดดังครั้งแรก  แขกแต่ละโต๊ะจำนวน ๘ คนนั้น ผู้อาวุโสน้อยกว่าจะต้องเชิญแขกอาวุโสสูงสุดเป็นผู้เริ่มรับอาหารชุดแรก และรินเหล้ามอบให้ ถัดไปจะเชิญผู้อาวุโสรองลงมาเป็นลำดับ มารยาทที่ควรระวังอีกประการหนึ่งคือจะต้องไม่เอาช้อนหรือตะเกียบเขี่ยหรือเลือกหยิบอาหารด้านตรงหน้าแขกผู้อื่น หรือใช้ตะเกียบเลือกหยิบแล้ววาง ถือว่าผิดธรรมเนียมและไม่มีมรรยาท

 ในระหว่างที่แขกกำลังรับประทานอาหาร  เพื่อนเจ้าบ่าว ๒ คน และเพื่อนเจ้าสาว ๒ คน  จะพาเจ้าบ่าวกับเจ้าสาวออกเยี่ยมแขกทุกโต๊ะ เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวจะต้องจับขวดเหล้าด้วยกัน แล้วรินเหล้าให้แขกทุก คน กล่าวขอบคุณแขก ส่วนแขกที่มาจะต้องเตรียมอังเป้าหนึ่งห่อมอบให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว  กำหนดเวลาขอบคุณแขกโต๊ะสุดท้ายต้องให้ทันกับของหวานที่เสิร์ฟและรับประทานหมดพอดี จึงมีเสียงประทัดครั้งที่ ๒ ดังขึ้นเป็นสัญญาณเลิกงาน.

 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1272
mod_vvisit_counterเมื่อวาน2264
mod_vvisit_counterทั้งหมด10735492