Skip to content

Phuketdata

default color
Home arrow Search
จารึกภาษาจีน PDF พิมพ์ อีเมล์
เขียนโดย ปาณิศรา ชูผล มทศ.   
จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008

๓.๒.๓(๒) จารึกภาษาจีน

ประตูศาลเจ้าเซ่งเต็กเบ่วกวนอิมไตซือ
ถนนตะกั่วทุ่ง(บางเหนียว)   จังหวัดภูเก็ต

ดิลก วุฒิพาณิชย์.                             
--------------------

ศาลเจ้าเซ่งเต็กเบ่วกวนอิมไต่ซือ คือ พุทธสถานอภิคุณธรรมแห่งพระอวโลกิเตศวร มหาโพธิสัตว์ หรือพระแม่กวนอิม

ศาลเจ้าแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ถนนตะกั่วทุ่ง(บางเหนียว) ในเขตเทศบาลเมืองภูเก็ต  อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ศาลเจ้าเซ่งเต็กเบ่วฯ เป็นศาลเจ้าสำคัญในงานพิธี"พ้อต่อ"หรือวันเทศกาลสารทจีน เริ่มตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ จนถึงวันสิ้นเดือนตามปฏิทินจันทรคติจีน 

ในงานนี้ ทางศาลเจ้าได้จัดทำพิธี"ป่าย ปั๋ว" คือ ประเพณีนิทรรศการประดับจานอาหารศิลปประดิษฐ์สวยงาม สำหรับบวงสรวงโดยประกวดประชันกัน ในช่วงเทศกาลสารทจีนวันพ้อต่อนั้นด้วย

Image  Image

อาหารบวงสรวงมีนานาชนิดประกอบด้วยผลไม้ และขนมต่าง ๆ  ซึ่งจะต้องมีขนมอั่งกู้ (ขนมเต่า) รวมอยู่ด้วย

 

อั่งกู้ คือ ขนมที่มีชื่อภาษาจีน แปลว่า เต่าสีแดง ซึ่งไม่มีเนื้อเต่าเจือปนแม้เพียงน้อยนิด แต่ทำจากแป้งข้าวเหนียวและน้ำตาล มีรสหวาน ห่อไส้ถั่วเขียวบดละเอียด และปรุงกลิ่นหอม ชวนชิมยิ่งนัก

 อั่งกู้จำลองลักษณะเหมือนตัวเต่า อัดเข้าเบ้าพิมพ์รูปตัวเต่ากลมยาว วัดขนาดหัวท้าย ประมาณ ๔ เซ็นติเมตร

ปัจจุบัน ขนมเต่าเล็กอาจลดขนาดให้เล็กลงๆ สมชื่อตามยุคของแพง มีขายทั่วไปถือเป็นอาหารว่าง เลือกรับประทานได้ทุกเวลาตามชอบ

สมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน อั่งกู้ที่วางขาย ทั่วไป ราคาชิ้นละ ๑ สตางค์ ปัจจุบัน ราคาชิ้นละ ๒ บาท ขนาดชิ้นขนมมีแนวโน้มเล็กลง ๆ  แต่ราคากลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ขนมเต่าที่วางขายทั่วไป ปัจจุบันไม่นิยมผสมสีแดง ซึ่งอาจมีสารพิษเจือปน เพื่อให้ถูกหลักอนามัย จึงไม่อัดพิมพ์รูปเต่า  กลายร่างเป็นขนมรูปกลมรีแบน สีขาวซีด หรือสีตองอ่อน หากปรุงสีด้วยใบเตยหอม  ก้อนขนมรองด้วยใบตองขนาดพอดีเท่าชื้นขนม  ผิวหน้ายังคงแต่งให้มันวาวสะท้อนแสงเหมือนเดิม ชาวบ้านจึงให้ชื่อเรียกเสียใหม่ว่า "ขนมหัวล้าน"

อั่งกู้ หรือเต่าสีแดงมีพื้นฐานความเชื่อมาจากคตินิยมของชาวจีนที่ว่า สีแดงเป็นสีมงคลนำโชคลาภมาให้

อั่งกู้ตามธรรมเนียมเดิม สำหรับตั้งบูชาหน้าพระในศาลเจ้าทุกแห่งหรือใช้เป็นขนมในงานพิธีมงคลต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส วันตรุษ วันสารท เป็นต้น

อั่งกู้อีกชนิดหนึ่ง คือ ขนมเต่าสีแดงขนาดใหญ่ ไม่มีไส้ มีรสหวานจัด  ทำจากแป้งข้าวสาลี คลุกน้ำตาลทราย และนวดจนเหนียวข้นแข็ง วางทาบลงบนกระทะใบบัวคว่ำขนาดใหญ่ที่สุด แต่งทาสีแดงเข้ม  ผิวหน้าแต่งด้วยลวดลายต่าง ๆ  หลากสีแบบขนมเค้กฝรั่ง แล้วจารึกคำมงคลและชื่อบุคคล ฯลฯ เป็นต้น 

อั่งกู้ชนิดใหญ่นี้มีน้ำหนักมาก ขนาดและน้ำหนักเกือบเท่าเต่ามะเฟืองตัวจริงตัวใหญ่ที่สุด เวลาเคลื่อนย้ายต้องใช้คนช่วยยกหลายคน และต้องใช้รถบรรทุกขนส่ง

อั่งกู้ใหญ่ บ้างเรียกว่า "ตั่วกู้" แปลว่า ตัวเต่าขนาดใหญ่ ทำขึ้นสำหรับใช้บูชาพระในศาลเจ้างานพิธี "พ้อต่อ" หรือ "ป่ายปั๋ว" โดยเฉพาะ

ผู้ศรัทธาจะนำอั่งกู้ใหญ่มาถวายพระ เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ตนและสมาชิกครอบครัวทุกคนได้อยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน  พิธีบวงสรวงด้วยอั่งกู้ใหญ่เป็นกิจกรรมพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะของศาลเจ้าแห่งนี้ ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว  
  
อภิปรัชญาศาลเจ้าเซ่งเต็กเบ่วฯ ได้แก่ จารึกภาษาจีนที่เสาประตูด้านหน้าศาลเจ้า ปรากฏบนเสาหินทางเข้าประตูทั้งสองข้าง เป็น"คำกลอนคู่"(ตุ้ยเหลียนหรือเหลี่ยนตุ่ย) ประกอบด้วยอักษรจีน ข้างละ ๘ ตัวอักษร และถัดไปภายในศาลเจ้าก็มีจารึกภาษาจีนบน

เสาหินอีกสองข้าง ประกอบด้วยอักษรจีนข้างละ ๗ ตัวอักษร ดังปรากฎในแผนภูมิ   

 

กลอนคู่ที่อยู่ด้านหน้า มี"กระทู้อักษร"ว่า "เซ่ง-เต็ก" ซึ่งมาจากป้ายชื่อศาลเจ้า "เซ่งเต็กเบ่ว"  เริ่มด้วยคำจารึกข้างประตูทางขวามือของผู้อ่านก่อนแล้ว จึงอ่านคำจารึกทางซ้ายมือ  ส่วนกลอนคู่ที่อยู่ด้านหลังภายในศาลเจ้าก็มี"กระทู้อักษรว่า"ปุด-จ้อ"ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้า 

กลอนคู่ทั้งสองบท เรียบเรียงคำแปลได้ ดังนี้

กลอนคู่ที่อยู่ด้านหน้า

เสาขวามือ (๑)
"คุณความดีสูงส่งปราศจากอคติ สร้างบุญบารมีแผ่กระจายสู่นานาประเทศ"

เสาซ้ายมือ (๒)
"คุณธรรมยิ่งใหญ่มีอนุภาพเลิศล้นเปี่ยมบุญราศี ปวงชนทุกระดับ ไม่ว่าสูงหรือต่ำศักดิ์ ต่างได้รับประโยชน์โดยทั่วกัน"


กลอนคู่ที่อยู่ด้านหลัง
เสาขวามือ (๑)
"พุทธานุภาพคุ้มครองปวงชน ประทานสิริมงคลเสมอกันทั่วหน้า"

เสาซ้ายมือ (๒)
"พุทธจักษุมีญาณพิจารณาหยั่งรู้สรรพธรรม ด้วยจิตเกษมปราศจากธุลี"


กลอนคู่ทั้งสองบท ประพันธ์เป็นคำกลอนได้ ดังนี้

อัครธรรม จำรุญ บุญโอฬาร
    สุดตระการ ไร้อคติ ดำริสม
    แผ่กฤดา บารมี ศรีอุดม
    สรณคมน์ กว้างไกล ในปฐพี

คุณธรรม ประจำใจ ใฝ่พิพัฒน์
    จริยวัตร เปี่ยมคุณ บุญราศี
    ไม่แบ่งชั้น วรรณะ ละปรานี
    บารมี ตั้งมั่น นิรันดร์กาล

พุทธานุภาพ ซาบซึ้งจิต
    ธรรมนิมิต ขจรไกล แผ่ไพศาล
    อนุวัต ศรัทธา สาธุการ
    บุญประทาน ปวงชน มงคลชัย

         พุทธญาณ พิจารณ์ดู หยั่งรู้ธรรม
    สิ่งครอบงำ ทั่วธรณี โลกีย์วิสัย
    ล้วนอนัตตา มายาการณ์ บันดาลใจ
    สัจธรรมใด ฤานิมิต  "จิตเกษม" 

 “จิตเกษม”   ในอุดมมงคล ข้อ ๓๘  คือ  เขมํ หมายถึง มีจิตใจปลอดโปร่งไร้ความวิตกกังวล เป็นจิตปราศจากธุลี กิเลส

เขมํ หรือ จิตเกษม คือ ผลจากการฝึกภาคปฏิ-บัติ  จนกระทั่งสภาพจิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องประกอบผูกมัดทั้งปวง เพราะมี "โยคะ" เป็นเครื่องผูกเหนี่ยวรั้งตัวเราไว้        
       
โยคะ คือ "เครื่องผูก" หมายถึง กิเลสเครื่องประกอบ คือ ประกอบสัตว์ไว้ในภพ หรือผูกสัตว์ดุจเทียมไว้กับแอก มี ๔ ประการ ได้แก่ กามโยคะ ภวโยคะ ทิฐิโยคะ และอวิชชาโยคะ

๑. กามโยคะ คือกิเลสเครื่องประกอบจิตให้ยินดีในกามคุณทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส                                                
๒ ภวโยคะ คือ กิเลสเครื่องประกอบจิตให้ยินดีในภพ คือ กามภพ รูปภพและอรูปภพ
๓.ทิฐิโยคะ คือ กิเลสเครื่องประกอบจิตให้ยึดถือความคิดเห็นที่ผิด ๆ ของตนเอง  
๔.อวิชชาโยคะ คือ กิเลสเครื่องประกอบจิตให้ยึดถืออวิชชา ไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม

โยคะทั้ง ๔ นี้ ผูกมัดจิตของสัตว์โลกทั้งหลายให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีที่สิ้นสุด

จิตเกษม จึงเป็นสภาพจิตที่หมดกิเลสผูกมัด ทำให้ปลอดโปร่งคล่องตัว เป็นจิตชั้นสูงสุดยอด ตีฝ่าวงล้อมแห่งภัย คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เข้าสู่พระนิพพาน (ดิลก วุฒิพาณิชย์.๒๕๔๑:๔๒) 
 

บรรณานุกรม

คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย.พจนานุกรมพุทธศาสนาจีน-สันสกฤต-อังกฤษ-ไทย.กรุงเทพฯ:ชาญพัฒนาการพิมพ์.๒๕๑๙.
พระราชวรมุนี(ประยุทธโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์.กรุงเทพฯ:มหาจุฬาลงกรณ-ราชวิทยาลัย,๒๕๒๗                  
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน.๒๕๒๕.(ซีดีรอม).กรุงเทพฯ:ราชบัณฑิตยสถานและศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนอกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งขาติ,๒๕๓๙.
     สำนักพิมพ์พุทธศึกษา(จีน).สือย่งโฝเสวฺฉือเตี่ยน(ปทานุกรมพุทธศาสตร์ประยุกต์)ฉบับรวมเล่มสมบูรณ์.ไทเป:บริษัทโรงพิมพ์ซินเหวินฟงหุ้นส่วนจำกัด.๑๙๗๔.๑๙๓๖ หน้า.
สำนักพิมพ์กวางหมิงกว๋อเสวฺ.โฝเสวฺฉางเจี้ยนฉือหุ้ย(ปทานุกรมพุทธศาสตร์ทั่วไป).ไถจง:บริษัทสำนักพิมพ์ไต้หวันหุ้นส่วนจำกัด.๑๙๙๕.
ดิลก วุฒิพาณิชย์(สันติกโร ณ มงคลนิมิต).
มงคลชีวิต๓๘ฉบับโลกาภิวัฒน์(พิมพ์ครั้งที่๓).ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิง นายวิระ ชวนกำเนิดการ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑.

 

 

 

 

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( จันทร์, 11 กุมภาพันธ์ 2008 )
 
< ก่อนหน้า   ถัดไป >

สมุดภาพเหมืองแร่

Counter

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้1259
mod_vvisit_counterเมื่อวาน1139
mod_vvisit_counterทั้งหมด10701704